สงครามกลางเมืองสิ้นสุดลงในปี ๑๙๓๖ เมื่อนายพลฟรานซิสโก้ ฟรังโก้จัดการปราบกลุ่มต่างๆและขึ้นสู่อำนาจ พร้อมกับการปกครองในระบอบเผด็จการฟาสซิสต์ ด้วยมุ่งหมายให้สเปนกลับมาใช้ระบอบกษัตริย์อีกครั้งหนึ่ง นายพลฟรังโก้จึงมอบหมายให้เจ้าชายฆวน คาร์ลอส แห่งราชวงศ์บูร์บองเป็นทายาททางการเมืองของเขา ในช่วงปีสุดท้ายของชีวิต นายพลฟรังโก้ต่อสู้กับโรคพาร์กินสันจนไม่อาจบริหารประเทศได้ เจ้าชายฆวน คาร์ลอส ต้องทำหน้าที่รักษาการในตำแหน่งประมุขของรัฐ จนกระทั่งนายพลฟรังโก้เสียชีวิตเมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๑๙๗๕
เจ้าชายฆวน คาร์ลอส ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ภายใต้พระนามว่า “ฆวน คาร์ลอส ที่ ๑” เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๑๙๗๕ ประมุขของสเปนต้องเผชิญสถานการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อ กลุ่มแบ่งแยกดินแดนหลายกลุ่มโดยเฉพาะแคว้นบาสก์และแคว้นคาตาลันเรียกร้องการปกครองตนเองหนักขึ้น หลายครั้งก็รุนแรงถึงขั้นมีการก่อการร้าย สภาพเศรษฐกิจซบเซา โลกเปลี่ยนไปในทางไม่ยอมรับเผด็จการ นอกจากนี้ เหล่านักการเมือง นักศึกษา ประชาชน ผู้ใช้แรงงาน ต่างอึดอัดมานานกับระบอบฟรังโก้ เมื่อนายพลฟรังโก้เสียชีวิต ก็เหมือนมีอาณัติสัญญาณว่าฟ้าเริ่มเปิดให้พวกเขาได้มีสิทธิและเสรีภาพมากขึ้น
ด้วยเหตุที่พึ่งขึ้นสู่อำนาจและจำเป็นต้องอาศัยฐานกำลังเดิมของระบอบฟรังโก้ ทำให้ฆวน คาร์ลอส ไม่กล้าหักหาญกับระบอบเก่า จึงแต่งตั้งให้ Carlos Arias Navarro นายกรัฐมนตรีคนเก่าและหัวหน้าพรรคแนวร่วมแห่งชาติ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ประชาชนไม่อาจทนรับกับการปกครองแบบเดียวกับระบอบฟรังโก้ที่มีแกนหลักเป็นกองทัพ สภาผู้แทนที่มีแต่พวกนายพลฟรังโก้ (Cortès franquistes) และพรรคแนวร่วมแห่งชาติ (Movimiento Nacional) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองพรรคเดียวในระบอบฟรังโก้ ประกอบกับเพื่อนบ้านอย่างโปรตุเกสก็มีการปฏิวัติคาร์เนชั่นโดยกลุ่มทหารยังเติร์กที่ต้องการปฏิรูประบอบประชาธิปไตย ในขณะที่กลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายเริ่มรณรงค์ให้ยกเลิกโครงสร้างของระบอบฟรังโก้ให้หมด ส่วนกลุ่มนีโอฟาสซิสต์เรียกร้องให้รักษาระบอบฟรังโก้ไว้ มีการปะทะกันรุนแรงขึ้นจนเกรงกันว่าอาจลุกลามบานปลายกลายเป็นสงครามกลางเมืองอีกครั้งหนึ่ง
กษัตริย์ฆวน คาร์ลอส ตระหนักถึงเรื่องดังกล่าว จึงเริ่มดำเนินนโยบายปฏิรูประบอบประชาธิปไตย เริ่มจากบีบบังคับ Carlos Arias Navarro ซึ่งไม่เห็นด้วยกับแนวทางปฏิรูปของฆวน คาร์ลอส ให้ลาออกจากนายกรัฐมนตรี และแต่งตั้ง Adolfo Suarez ซึ่งเป็นที่ไว้วางใจของตนขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทนเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๑๙๗๖ พร้อมประกาศเดินหน้านโยบายเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยและทยอยยุบเลิกระบอบฟรังโก้ ตลอดเดือนกรกฎาคม รัฐบาลทยอยรับรองความชอบด้วยกฎหมายให้ทุกพรรคการเมือง และปล่อยผู้ต้องหาทางการเมืองออกจากคุก ในเดือนพฤศจิกายนรัฐบาลจัดการออกกฎหมายยุบสภาผู้แทนในระบอบฟรังโก้โดยนำมาให้ประชาชนลงประชามติ เดือนถัดมา พรรคสังคมนิยมกลายเป็นพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายพรรคแรกที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองภายหลังจากที่พรรคฝ่ายซ้ายทั้งหมดถูกยุบเลิกไปในสมัยฟรังโก้เป็นเวลานานถึง ๓๗ ปี ปีถัดมารัฐบาลผลักดันกฎหมายรับรองเสรีภาพการชุมนุมทางการเมืองและเสรีภาพในการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน ในส่วนของพรรคแนวร่วมแห่งชาติ Adolfo Suarez ในฐานะหัวหน้าพรรคก็ตัดสินใจยุบพรรค อันถือเป็นการปิดฉาก ๔๑ ปีของระบอบฟรังโก้อย่างสมบูรณ์
พระองค์เปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กว้างขึ้น ให้เสรีภาพแก่ทุกกลุ่มการเมืองในการแสดงความคิดเห็นและเข้ามามีบทบาททางการเมือง ที่เด่นชัดที่สุดคือ การอนุญาตให้พรรคคอมมิวนิสต์ (Partido Comunista de Espana, PCE) ซึ่งเป็น “ของต้องห้าม” ในสมัยนายพลฟรังโก้ ได้กลับเข้ามาสู่การเมืองในระบบ Santiago Carrilloหัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์ที่ต้องลี้ภัยการเมืองได้รับอนุญาตให้กลับมาดำเนินกิจกรรมทางการเมืองต่อได้ ในขณะเดียวกัน พรรคคอมมิวนิสต์สเปนก็ประกาศยอมรับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีรัฐสภาและมีกษัตริย์เป็นประมุขทางสัญลักษณ์ได้ ความข้อนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่าแม้พรรคคอมมิวนิสต์จะเป็นปฏิปักษ์กับสถาบันกษัตริย์ แต่ก็ไม่จำเป็นเสมอไปที่สถาบันกษัตริย์ต้องปิดกั้นพรรคคอมมิวนิสต์ ตรงกันข้ามนับแต่เมษายน ๑๙๗๗ จนถึงปัจจุบัน ผ่านมาเกือบ ๓๐ ปี สถาบันกษัตริย์และพรรคคอมมิวนิสต์ต่างก็ยังมีบทบาทร่วมกันในการเมืองสเปน
วันที่ ๑๕ มิถุนายน ๑๙๗๗ มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ นับเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกตั้งแต่ปี ๑๙๓๖ ผลปรากฏว่าพรรค Unión de Centro Democrático (UCD) พรรคการเมืองแนวขวากลางของ Adolfo Suarez ชนะการเลือกตั้ง ตามมาด้วยพรรคสังคมนิยม พรรคคอมมิวนิสต์ และพรรคประชาชนซึ่งเป็นฝ่ายขวา การร่างรัฐธรรมนูญดำเนินไปภายใต้บรรยากาศสมานฉันท์ มีตัวแทนจากพรรคการเมืองทั้งฝ่ายขวา ฝ่ายซ้าย ตลอดจนพรรคชาตินิยมแคว้นคาตาลันและแคว้นบาสก์ ในระหว่างนั้น ฆวน คาร์ลอส และรัฐบาล Adolfo Suarez ร่วมมือกันออกกฎหมายรับรองสิทธิในการปกครองตนเองของแคว้นคาตาลันและแคว้นบาสก์เพื่อประนีประนอมกับกลุ่มชาตินิยมแคว้นคาตาลันและแคว้นบาสก์ไม่ให้ก่อความไม่สงบ
๑ ปีผ่านไป สภาร่างรัฐธรรมนูญก็จัดทำรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ และให้ประชาชนลงประชามติเมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม ๑๙๗๘ ผลปรากฏว่าเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นร้อยละ ๘๗.๘ เป็นอันว่าสเปนเข้าสู่ประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีรัฐสภา มีรัฐธรรมนูญ และมีกษัตริย์เป็นประมุข รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเอกลักษณ์ คือ รับรองความเป็นนิติรัฐและหลักแบ่งแยกอำนาจ ยึดหลักเสรีภาพ ความยุติธรรม ความเสมอภาค และความหลากหลายของอุดมการณ์ทางการเมือง รับรองสิทธิทางสังคมและสวัสดิการควบคู่ไปกับเศรษฐกิจแบบกลไกตลาด ตลอดจนรับรองสถานะและสิทธิในการปกครองตนเองของแคว้นปกครองตนเอง
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญ ๑๙๗๘ ผลปรากฏว่า พรรค Unión de Centro Democrático (UCD) ของ Adolfo Suarez ได้เสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาล ตลอดระยะเวลา ๓ ปี รัฐบาล Adolfo Suarez ประสบปัญหาหลายประการ ในที่สุด Adolfo Suarez ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และ Leopoldo Calvo Sotelo ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน
การก่อการร้ายของกลุ่ม ETA ที่เรียกร้องเอกราชแก่แคว้นบาสก์ วิกฤตเศรษฐกิจ การกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกลางกับแคว้นปกครองตนเอง ตลอดจนกรณีเหล่าขุนศึกสมัยฟรังโก้ไม่เต็มใจปรับตัวตามนโยบายเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย ปัจจัยเหล่านี้เป็นชนวนให้ทหารกลุ่มหนึ่งที่ยังภักดีต่อระบอบฟรังโก้คิดก่อการรัฐประหาร วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๑๙๘๑ ในขณะที่ Leopoldo Calvo Sotelo นายกรัฐมนตรีคนใหม่กำลังแถลงนโยบายต่อสภาโดยมีการถ่ายทอดสดออกทางโทรทัศน์ กองกำลังทหารราว ๒๐๐ นายนำโดยพันโท Antonio Tejero ได้เข้ายึดสภาผู้แทนราษฎร พร้อมเอาปืนยิงขึ้นฟ้าและสั่งให้ผู้ที่อยู่ในสภาหมอบลงกับพื้น
ความตั้งใจเดิม คณะผู้ก่อการรัฐประหาร ซึ่งมีพลเอก Alfonso Armada อดีตเลขานุการของฆวน คาร์ลอส เป็นมันสมอง และพันโท Antonio Tejero เป็นฝ่ายคุมกำลัง ต้องการยึดอำนาจและจัดตั้ง “รัฐบาลเฉพาะกิจเพื่อความสมานฉันท์” เพื่อจัดการปัญหาก่อการร้ายของกลุ่ม ETA โดยเชิญชวนนักการเมืองระดับแกนนำทั้งฝ่ายซ้ายและขวาเป็นรัฐมนตรี แต่พันโท Antonio Tejero รับไม่ได้กับโผรายชื่อที่มีฝ่ายซ้ายรับตำแหน่งรัฐมนตรีสำคัญหลายคน ในระหว่างการเจรจาต่อรอง พันโท Antonio Tejero ก็ตัดสินใจเข้ายึดอำนาจทันที จากนั้นไม่นาน พลโท Jaime Milans del Bosch แม่ทัพภาคที่ ๓ ก็นำกองกำลังออกมาบนท้องถนนในเมืองบาเลนเซียและประกาศกฎอัยการศึก ราวสามทุ่ม โฆษกคณะรัฐประหารแถลงว่ากำลังจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวภายใต้การสนับสนุนของกษัตริย์
ตี ๑ ของวันถัดไป การแทรกแซงทางการเมืองครั้งสำคัญของกษัตริย์ในประวัติศาสตร์สเปนก็เกิดขึ้น เมื่อฆวน คาร์ลอส ตัดสินใจแถลงผ่านโทรทัศน์และวิทยุ ไม่สนับสนุนการรัฐประหารครั้งนี้และเรียกร้องให้กองทัพและประชาชนร่วมมือกันปกป้องประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ ๑๙๗๘ พระองค์ยืนยันว่าทหารมีหน้าที่ป้องกันรัฐบาลที่ชอบธรรมและชอบด้วยกฎหมายตามระบอบประชาธิปไตยอย่างไม่มีเงื่อนไขใดๆทั้งสิ้น
เมื่อขาดแรงสนับสนุนจากฆวน คาร์ลอส รัฐประหารก็ไม่สำเร็จ บรรดาผู้เข้าร่วมกลายเป็นกบฏโดนลงโทษจำคุก โดยเฉพาะแกนนำอย่าง พลเอก Alfonso Armada และพันโท Antonio Tejero ศาลตัดสินให้จำคุก ๓๐ ปี
เป็นอันว่า ฆวน คาร์ลอส ได้ปลดปล่อยประชาธิปไตยสเปนให้พ้นจากการครอบงำของกองทัพพร้อมกับสร้างความมั่นคงให้กับสถาบันกษัตริย์
จากวีรกรรมของฆวน คาร์ลอส ครั้งนี้ทำให้พวกนิยมคอมมิวนิสต์และพวกนิยมสาธารณรัฐปรองดองกับสถาบันกษัตริย์อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน Santiago Carrillo หัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์ ออกมายอมรับว่าฆวน คาร์ลอส เป็น “กษัตริย์ผู้กล้าหาญ” ในขณะที่บรรดานักการเมืองซ้ายจัดซึ่งโดยธรรมชาติไม่ถูกใจสถาบันกษัตริย์อยู่แล้วก็มองว่าสถาบันกษัตริย์ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการประชาธิปไตยแต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้นอดีตประธานาธิบดีในสมัยที่สเปนเป็นสาธารณรัฐที่ ๒ ถึงขนาดบอกว่า จากเหตุการณ์นี้ทำให้พวกเราทุกคนกลายเป็น monarchiste อย่างไรก็ตาม มีผู้กล่าวว่าในเมื่อแนวคิดทางการเมืองของฆวน คาร์ลอส ไม่ได้เป็นไปในทาง monarchiste ดังนั้นเราคงไม่อาจเรียกพวกที่นิยมฆวน คาร์ลอส -ไม่ว่าขวาหรือซ้าย- ได้ว่า monarchistes แต่จำต้องหาคำใหม่มาใช้เฉพาะอย่างคำว่า Juancarlistes
Francisco Medina ยืนยันในหนังสือเรื่อง “ความจริงของ ๒๓ กุมภาพันธ์” ของเขาว่า ถ้าฆวน คาร์ลอส ตัดสินใจสนับสนุนรัฐประหาร แน่นอนที่สุด รัฐประหารวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ต้องสำเร็จ กองกำลังทหารที่ออกมาต่อต้านการรัฐประหารนั้นไม่ได้ทำไปเพราะต้องการปกป้องประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ พวกเขาไม่ได้ศรัทธาสิ่งเหล่านี้ แต่ที่พวกเขาออกมาต่อต้านทหารที่ทำรัฐประหารก็เพื่อปกป้องฆวน คาร์ลอส ผู้เป็นทายาททางการเมืองของนายพลฟรังโก้ นายเก่าของพวกเขานั่นเอง
Francisco Medina ยังบอกอีกว่า การที่ฆวน คาร์ลอส ตัดสินใจแทรกแซงทางการเมืองด้วยการยับยั้งรัฐประหารครั้งนี้สร้างพระองค์ให้กลายเป็นกษัตริย์ประชาธิปไตยที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์สเปนว่า พระองค์ได้รับข้อเสนอและมีโอกาส “เผด็จ” อำนาจ แต่กลับปฏิเสธมัน และพระองค์ได้รับอำนาจเด็ดขาดอันเป็นมรดกจากนายพลฟรังโก้ แต่กลับเลือกที่จะไม่รับและทำลายระบอบฟรังโก้เสีย
ฆวน คาร์ลอสรู้ดีว่าระบอบฟรังโก้ก็ดี รัฐประหารก็ดี การปกครองประเทศโดยทหารก็ดี ตลอดจนสถาบันกษัตริย์มีอำนาจมากก็ดี ไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตยในโลกสมัยใหม่ การดันทุรังใช้แนวทางเดิมๆโดยไม่รู้จักปรับตัวเข้ากับยุคสมัยย่อมมีแต่ถอยหลังลงคลอง หากปล่อยให้มีรัฐประหาร ก็เท่ากับว่ารัฐธรรมนูญ ๑๙๗๘ ที่ประชาชนลงมติเห็นชอบท่วมท้นต้องถูกทำลาย และความพยายามปฏิรูปการเมืองตามนโยบายเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยที่ทำมาตลอด ๕ ปีต้องพังครืนลงไปทั้งหมด
พระองค์จึงตัดสินใจอย่างกล้าหาญ ปฏิเสธ “อำนาจ” และปฏิเสธ “รัฐประหาร”
ที่เล่ามาทั้งหมดเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วใน “สเปน”
ปิยบุตร แสงกนกกุล
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 16 พฤศจิกายน 2549
วันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2550
เมื่อฆวน คาร์ลอส ปฏิเสธรัฐประหาร !
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 1:40 ก่อนเที่ยง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น