วันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2550

ลมเอยช่วยเป็นสื่อให้... : “ป้าลม” ภรรยาของ “นายผี” อัศนี พลจันทร


ผมอ่านข่าวการถึงแก่กรรมของวิมล พลจันทร หรือ “ป้าลม” ภรรยาของ “นายผี” อัศนี พลจันทร กวีนักปฏิวัติ เมื่อวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา (2545) ด้วยความสะเทือนใจ ไม่ใช่เพราะผมรู้จัก “ป้าลม” เป็นส่วนตัว แม้ว่าผมเกือบจะได้พบตัว “ป้า” ครั้งหนึ่ง เมื่อ 17 ปีก่อน (พ.ศ.2528) ครั้งนั้น “อาจารย์โต้ง” (ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ) วางแผนจะเป็น “นายทุน” ให้ ไพจง ไหลสกุล อดีตสมาชิกสภาหน้าโดมรุ่นแรกๆ ทำวีดีโอชุด “คนป่าคืนเมือง” ชุดหนึ่ง บังเอิญขณะนั้นผมทราบมาว่า “ป้าลม” ซึ่งเพิ่ง “คืนเมือง” กำลังพักอาศัยอยู่กับ “ป้าฉลบ” (ฉลบฉลัยย์ พลางxxxร ภรรยา คุณจำกัด พลางxxxร วีรบุรุษของขบวนการเสรีไทย) ผู้มีพระคุณต่อและเป็นที่เคารพรักของพวกผมที่เป็นอดีตนักโทษ 6 ตุลา ผมจึงเสนอว่า ผมอาจจะลองหาทางติดต่อทาบทาม “ป้าลม” ผ่านทาง “ป้าฉลบ” ให้ แต่ช่วงนั้น ผมเพิ่งกลับมาเมืองไทยเพื่อเก็บข้อมูลทำวิทยานิพนธ์ ยังไปไหนมาไหนไม่คล่อง ประกอบกับผมเองแอบมีความไม่มั่นใจต่อโปรเจ็คของคุณไพจงนัก (เกษียร เตชะพีระ เมื่อเข้าไปร่วมคุยด้วยครั้งหนึ่ง ก็ส่ายหน้าออกมาด้วยความไม่ประทับใจ คนอื่นที่ไปร่วมคุย และถึงกับให้สัมภาษณ์ถ่ายวีดีโอไว้ด้วยมี เกรียงกมล เลาหไพโรจน์, จรัล ดิษฐาอภิชัย และ เหวง โตจิราการ) ผมจึงทำท่ารอๆ ดูก่อน ว่าโปรเจ็คจะคืบหน้าไปทางไหน คุณไพจงเธอคงไม่ค่อยแฮปxxxกับความล่าช้าของผม จึงบอกว่าเธอจะไปหาทางติดต่อ “ป้าลม” เอง ผมก็ไม่ว่าอะไร (สุดท้ายไม่ทราบคุณไพจงได้เข้าไปถึงตัว “ป้าลม” หรือได้สัมภาษณ์ถ่ายวีดีโอไว้หรือไม่) อันที่จริง ผมเองควรจะไปหาคุณป้าเพราะวิทยานิพนธ์ที่ทำเป็นเรื่อง พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) แต่ก็ไม่ได้ไป เพราะรู้สึกเกรงใจ ได้ยินมาว่า คุณป้าอยากเก็บตัวอยู่เงียบๆก่อน ผมจึงไม่เคยได้เจอตัวป้าลมเลยด้วยประการฉะนี้


แต่เช่นเดียวกับอดีตฝ่ายซ้ายและผู้สนใจวรรณกรรมไทยสมัยใหม่จำนวนมาก ผมรู้สึกราวกับว่าตัวเอง “รู้จัก” ป้าลม เนื่องจากผมรู้จักงานและเรื่องราวของชีวิตนายผี ในความเป็นจริง เรารู้จักป้าน้อยมาก นสพ. คม-ชัด-ลึก (10 ตุลาคม 2545) รายงานว่า “ด้านประวัติความเป็นมาของนางวิมล พลจันทร ไม่มีการเปิดเผยชัดเจน แม้กระทั่งลูกๆ ก็ไม่ทราบความเป็นมาที่แท้จริง รู้แต่ว่าแม่เกิดวันที่ 22 ธันวาคม 2463 เป็นลูกขุนนางท่านหนึ่ง เติบโตมาในรั้วในวัง เรียนการเรือน และมีความรู้เรื่องดอกไม้นานาชนิดอย่างดี มาพบเจอนายอัศนี เมื่อคราวที่มาป็นพนักงานขายแว่นตาในร้านแห่งหนึ่ง ป้าลมและอัศนีมีลูกด้วยกัน 4 คน คือ นางวิมลมาลี ,นายโกลิศ และฝาแฝดอีก 2 คนคือ นายนกุลยและสหเทพ” ในความเรียงเรื่อง “ความงามของชีวิต” ที่ป้าลมเขียนขึ้น (ในนามปากกา “ฟองจันทร ทะเลหญ้า”) และตีพิมพ์ในโอกาส 72 ปีของนายผี (รำลึกถึงนายผี จากป้าลม ดอกหญ้า, 2533) ก็ไม่ได้เล่าภูมิหลังชีวิตของตัวเองไว้เลย (วันเดือนปีเกิด, พ่อแม่พี่น้อง, การเรียน, การทำงาน, พบนายผีอย่างไร, ฯลฯ) ผู้อ่านต้องปะปิดปะต่อเอาเอง โดยเปรียบเทียบกับข้อมูลเกี่ยวกับนายผีที่มีอยู่แล้วในที่อื่น จึงจะทราบว่า ป้ากับนายผีคงแต่งงานในปี 2487, ป้าถูก “ทิ้ง” ให้อยู่เมืองไทยดูแลลูกและดิ้นรนทำมาหากินเอง เมื่อนายผีไปศึกษามาร์กซิสม์ในประเทศจีนระหว่างปี 2495–2500, เมื่อนายผี “เข้าป่า” หลัง 2501 ตอนแรกป้าก็ไม่ได้ไปด้วย แต่ตามไปพบทีหลังที่ฮานอย ประมาณปี 2503–2504 เมื่อนายผีไปรับหน้าที่ดูแลสถานีวิทยุใต้ดินของพรรคที่ตั้งอยู่ที่นั่น หลังจากนั้นทั้งคู่จึงใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันในขบวนการปฏิวัติทั้งในเวียดนาม, จีน, ลาว และใน “ฐานที่มั่น” ทางภาคเหนือของไทย จนปลายปี 2526 เมื่อฐานที่มั่นน่านถูกรัฐบาลโจมตีใกล้แตก และนายผี “หายตัว” เข้าไปในลาว (จนถึงแก่กรรมที่นั่นในปี 2530)


เมื่อครั้งที่ ภิรมย์ ภูมิศักดิ์ พี่สาวของจิตรพิมพ์หนังสือเรื่องแม่ของจิตร ออกมาในโอกาสครบ 60 ปีจิตร ภูมิศักดิ์ (สำนักพิมพ์กำแพง, 2533) ผมไม่ชอบชื่อหนังสือเอาเลย เพราะราวกับจะบอกว่า คุณแม่แสงเงิน ไม่ได้มีความสำคัญในตัวเองแม้แต่จะเป็นชื่อหนังสือ สำคัญก็เฉพาะในฐานะเป็นแม่ของจิตรเท่านั้น (ชื่อในการพิมพ์ครั้งแรกดีกว่ามาก คือ คิดถึง…แม่ สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, 2523) จิตรไม่ได้แต่งงาน ปัญหานี้จึงเกิดกับแม่ แต่โดยทั่วไป เรามักจะพบปัญหาแบบนี้ในกรณีของภรรยา (ไม่ใช่สามีเพราะฝ่ายซ้าย เช่นเดียวกับส่วนอื่นๆ ของสังคม ผู้ชายก็มีบทบาทกว่า) คู่ชีวิตของฝ่ายซ้ายที่มีชื่อเสียง ถ้าไม่ใช่ในกรณีหายาก (อย่างเสกสรรค์ ประเสริฐกุล-จีระนันท์ พิตรปรีชา) ที่ทั้งคู่มีชื่อเสียงและผลงานของตัวเองในระดับพอๆ กัน ก็มักจะอยู่ในฐานะเพียง “เงา” ของสามี ในกรณีป้าลมนั้น ปัญหาหนักขึ้นไปอีก เพราะป้าไม่เพียงไม่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักเท่านั้น ป้าเองยังเกือบไม่มีบทบาทอะไรในขบวนปฏิวัติด้วย ขณะที่นายผีเป็นถึงสมาชิกของคณะกรรมการกลางพรรค (เปรียบเทียบกับกรณีสุรีย์ สีสุวรรณ ภรรยาคนแรกของอุดม สีสุวรรณ แม้จะไม่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักเท่าสามี แต่ก็มีบทบาทเป็นสมาชิกกรรมการกลางพรรค) จีระนันท์ พิตรปรีชา ที่เคยไปใช้ชีวิตอยู่กับนายผี (ผู้มีชื่อจัดตั้งในป่าว่า “ไฟ”) และป้าลมที่ “หน่วย 20” (“หน่วยทฤษฎี” ของพคท.) ในลาวระหว่างปี 2522 เขียนเล่าถึงเรื่องนี้ในภายหลัง (“ผู้เฒ่าเมอร์ลิน”, ถนนหนังสือ, ปีที่ 3 ฉบับที่ 4, ตุลาคม 2528, หน้า 37) ดังนี้:


"ชีวิตคู่ของลุงไฟกับป้าลมเป็นเรื่องที่หลาย ๆคนไม่ยอมทำความเข้าใจ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะลมปากของคู่ปรปักษ์เก่าๆ ที่คอยกระพือคำจำกัดความสำเร็จรูปอย่าง “ศักดินา” หรือ “ล้าหลัง” อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะความใจเด็ดยืนหยัดไม่ปฏิวัติ (วัฒนธรรม) ของป้าเอง ในขณะที่เมียสหายนำส่วนใหญ่มีตำแหน่งสำคัญ คุมหน่วยงานและคุมเสียงไปในตัว ป้าลมประกาศตัวเองว่าไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคหรือสังกัดหน่วยงานไหนทั้งสิ้น ในทางปฏิบัติป้าลมสังกัดบ้านตัวเองโดยมีลุงไฟเป็นบุคคลเพียงผู้เดียวที่ป้ายอมรับฟัง วันๆ ป้าลมใช้เวลาส่วนใหญ่ไปในการปลูกผัก ซ่อมแซมบ้าน ทำอาหาร ซักผ้า ถ้ามีเวลาเหลือก็อ่านหนังสือเก่าๆ ที่เก็บไว้ตรงหัวเตียงหรือแวะมาคุยตามบ้านของพวกเรา ในมือมักมีผลผลิตจากแปลงผักหลังบ้านหรือกาแฟมาแบ่งปัน สิ่งที่ขาดไม่ได้คือบุหรี่จินซาเจียง ที่ป้ามักจุดสูบก่อนการเล่าเรื่องราวแห่งวันเก่าๆ นานๆ ทีป้าเขียนกลอนมาให้อ่านสนุกๆ ฝีมือป้าน่าทึ่งทีเดียว ดูเหมือนจะมีผู้หญิงเพียงคนเดียวในขบวนปฏิวัติที่พูดคำว่า “ดิฮั้น” หรือ “ค่ะ” อย่างเต็มปากเต็มคำไร้กังวล น่าสลดใจที่ความเป็นตัวของตัวเองถูกตีตรา “ลัทธิเอกชน” ไปเสียหมดทุกเรื่อง ป้าลมก็เลยกลายเป็น “เอกชน” ตัวอย่างไป พูดคุยกันบ่อยครั้งข้าพเจ้าจึงพบว่า ลึกๆ แล้วป้ามีความทุกข์อยู่ในอกไม่น้อย เป็นทุกข์ที่การปฏิวัติมอบภาระให้ ….."


ป้าลมเองใน “ความงามของชีวิต” ได้พาดพิงหลายครั้งถึงความเป็น “ช้างเท้าหลัง” ที่ดีในครอบครัว (“ข้าเจ้า…ไม่มีความกังวลว่าคุณอัศนีจะกลับมาหรือไม่… ข้าเจ้าจึงไม่รู้เรื่องของคุณอัศนี จะรู้ก็ต่อเมื่อมีคำสั่งเท่านั้น” หรือ “ในระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา ไม่ว่าคุณอัศนีจะทำสิ่งใดหรือจะไปไหน ข้าเจ้าไม่เคยซักถาม นอกจากจะพูดหรือมาเล่าให้ฟัง”) และความภักดีต่อนายผีเพียงผู้เดียว (“มือซ้ายของข้าเจ้าไม่มีโอกาส ‘กำ’ และชูขึ้นปฏิญาณ มือซ้ายของข้าเจ้าคือมือที่มีไว้รักษาคุณอัศนีในยามเจ็บป่วย”)

ป้าลมเสียชีวิตเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม คือเพียง 24 วันหลังวันเกิดปีที่ 84 (เจ็ดรอบนักษัตร) ของนายผี (15 กันยายน 2461–2545) เริ่มสัปดาห์นี้ผมได้นำเอางานชิ้นสุดท้ายในชีวิตของนายผี - บทความเกี่ยวกับปรีดี พนมยงค์และมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.) ที่เขารัก - ออกเผยแพร่ ผมรู้สึกเสียดายที่คุณป้าไม่ได้มีโอกาสอยู่ดูผลงานชิ้นสุดท้ายในชีวิตของลุงไฟ ปรากฏต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก

บังเอิญปีนี้ ดูจะเป็นปีที่มีวันครบรอบโอกาสสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนรุ่นป้าลม-ลุงไฟหลายวัน นอกจากวันครบรอบ 84 ปีของลุงไฟเองที่ว่าแล้ว ยังมีวันครบรอบ 84 ปีของเสนีย์ เสาวพงศ์ เพื่อนคนหนึ่งของลุง (12 กรกฎาคม 2461), 72 ปีของจิตร (25 กันยายน 2473), 50 ปีของกบฎสันติภาพ (11 พฤศจิกายน 2495) และที่อาจจะสำคัญที่สุดคือ 60 ปีของพคท. (1 ธันวาคม 2485) นอกจากวันของจิตรแล้ว ดูเหมือนวันอื่นๆ จะผ่านไปหรือกำลังจะผ่านไปอย่างเงียบๆ (สำนักพิมพ์มติชนพิมพ์หนังสือให้เสนีย์เล่มหนึ่ง) ซึ่งนับว่าน่าเสียดายอยู่ เฉพาะกรณีลุงไฟหรือนายผี บทบาทของเขาในฐานะหนึ่งในผู้ก่อตั้งงานวัฒนธรรมแบบฝ่ายซ้ายในทศวรรษ 2490 (กวีนิพนธ์, การวิจารณ์วรรณกรรม, เรื่องสั้น) มีมากกว่าจิตร และแม้ว่างานของจิตร (และการใช้ชีวิตของเขา) จะเป็นแรงบันดาลใจแก่คนรุ่นทศวรรษ 2510 มากกว่านายผี แต่บทบาทในฐานะหนึ่งในผู้นำขบวนการปฏิวัติของนายผี มีผลอย่างกว้างขวางต่อขบวนปฏิวัติที่เขาสังกัด (ซึ่งย่อมมีผลโดยอ้อมต่อการเมืองไทยโดยรวม) ไม่ว่าจะมองว่าเป็นเรื่องดีหรือไม่ดี (กล่าวคือ ในต้นทศวรรษ 2510 นายผีร่วมกับ ดำริ เรืองสุธรรม ผู้นำเขตสามจังหวัดของพคท.ในขณะนั้น ก่อกระแสวิพากษ์ศูนย์กลางของพรรค จนเกือบจะทำให้พรรคแตกออกเป็นสองเสี่ยง)

เมื่อนายผีถึงแก่กรรมในเดือนพฤศจิกายน 2530 ขบวนปฏิวัติที่เขาอุทิศเวลาส่วนใหญ่ของชีวิตให้ก็ได้ถึงแก่อวสานโดยเด็ดขาดเช่นกัน (การจับกุมสมาชิกกรมการเมือง, คณะกรรมการกลาง และผู้ปฏิบัติงานระดับสูงของพคท.ในเดือนเมษายน 2530 ระหว่างเตรียมประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 5 ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้น) อันที่จริง การหายเข้าไปในลาวของเขาในปี 2526 เกิดขึ้นหลังการพังทลายของเขตงานปลุกระดมติดอาวุธชาว-นาในชนบททั่วประเทศที่ใช้เวลาก่อร่างสร้างตัวมา 20 ปี ป้าลมภรรยาผู้ซื่อสัตย์มีชีวิตอยู่อีก 15 ปี ได้ทันเห็นการปฏิวัติทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไทยเป็นประเทศอุตสาหกรรมในที่สุด และเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นสินค้า แม้แต่มรดกทางวัฒนธรรมของขบวนปฏิวัติที่ลุงและป้าเคยสังกัดเอง (“เพลงเพื่อชีวิต” เป็นส่วนหนึ่งอุสาหกรรมดนตรี, นักดนตรีเพื่อชีวิตเป็นพรีเซ็นเตอร์สินค้าพันล้าน, สัญลักษณ์การปฏิวัติอย่างดาวแดงตะวันแดงกลายเป็นโลโก้และแบรนด์เนม)

ทุกวันนี้นายผีเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง แต่ไม่ใช่ในฐานะนักปฏิวัติคอมมิวนิสต์ที่เขาเองต้องการเป็นที่รู้จัก หากในฐานะผู้เขียนเพลง “เดือนเพ็ญ” ที่มีผู้นำมาร้องอย่างแพร่หลายในลักษณะเพลงที่สะท้อนอารมณ์โหยหาถึงบ้าน หรือชุมชนในอุดมคติ (idealized home) ที่ไม่มีจริง ความหมายของเพลงที่พาดพิงเชิงสัญลักษณ์ถึงการดำรงอยู่ของการปฏิวัติ (“กองไฟ…คงยังไม่มอดดับดอก”) และกระตุ้นให้สหายร่วมรบขยายการปฏิวัติให้กว้างขวางออกไป (“โหมไฟให้แรงเข้า พัดไล่ความเยือกเย็นหนาว”) สูญหายไปกับเสียงเครื่องคิดเงิน (ค่าเทป) เช่นเดียวกับเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” ที่จิตรเขียนเพื่อสดุดีพรรคปฏิวัติ (“ดวงดาวน้อย…ดั่งโคมทองผ่องเรืองรุ้งในหทัย เหมือนธงชัยส่องนำจากห้วงทุกข์ทน พายุฟ้าครืนข่มคุกคาม… ดาวศรัทธายัง…ปลุกหัวใจปลุกคนอยู่มิวาย”) กลายเป็นเพียงการให้กำลังใจ เพื่อเอาชนะอุปสรรคของชีวิต ซึ่งอาจจะเป็นเพียงวิกฤตทางการเงินทางธุรกิจระลอกใหม่


สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
(มติชนรายวัน ฉบับวันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม 2545)

ไม่มีความคิดเห็น: