วันจันทร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2551

พระบารมีปกเกล้า : พระสุรเสียงราชินีบนเวทีพันธมิตร


หมายเหตุ :
หากบทความนี้มีประโยชน์ต่อสาธารณะประการใด ขอมอบเป็นการแสดงความนับถือต่อ ผศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และ คุณจิตรา คชเดช

***


ช่วงวันอาสาฬหบุชาที่ผ่านมา ที่การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยบริเวณสะพานมัฆวาณ ได้เกิดเหตุการณ์ซึ่งผมเห็นว่าน่าสนใจและมีความสำคัญอย่างมาก นั่นคือ สนธิ ลิ้มทองกุล ผู้นำพันธมิตร ได้นำเทปบันทึกพระสุรเสียงของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ มาเปิดให้ร่วมชุมนุมฟัง หลังจากนั้น ได้เสนอการ “ตีความ” เนื้อหาในบันทึกพระสุรเสียงนั้น ผมเห็นว่า ในทุกด้านที่เพิ่งกล่าวมานี้ – ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาในบันทึกพระสุรเสียง, การตีความของสนธิ และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบันทึกพระสุรเสียงเท่าที่มีการเปิดเผยหรือที่แม้ไม่มีการเปิดเผยแต่เป็นคำถามที่ย่อมเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ – เหล่านี้ ล้วนมีความน่าสนใจและสำคัญทั้งสิ้น ยิ่งเมื่อพิจารณาโดยคำนึงถึงภูมิหลังบางอย่างเกี่ยวกับการชุมนุมของพันธมิตรที่ผ่านมา (เช่นกรณี “ผ้าพันคอสีฟ้า”) ดังที่ผมจะอภิปรายต่อไป

แต่ก่อนอื่น ผมขอเล่าเหตุการณ์ดังกล่าว ดังต่อไปนี้ โดยผมจะจำกัดการแสดงความเห็นของผมให้น้อยที่สุด จะเน้นเฉพาะการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์เท่านั้น

ค่ำวันพุธที่ 16 กรกฎาคม ในระหว่างการปราศัยประจำวันนั้น สนธิได้กล่าวต่อผู้ร่วมชุมนุมว่า (การถอดเทปและเน้นคำเป็นของผม)


พี่น้องครับ วันพรุ่งนี้เป็นวันอาสาฬหบูชา อยากให้พี่น้องมากันเยอะๆ พรุ่งนี้ผมมีดีวีดีเทปเสียง พิเศษสุด พี่น้องรู้มั้ยว่า สมเด็จพระนางเจ้าเรานี้ สอนธรรมะด้วย แต่พระองค์ท่านไม่เคยแสดงออกในที่สาธารณะ เทปธรรมะที่เราได้นั้นเป็นเทปธรรมะที่สมเด็จพระนางเจ้า สอนอยู่ในวัง สอนกับข้าราชบริพาร สง่างาม สวยงาม ลึกซึ้ง พรุ่งนี้ผมจะเอามาเปิดให้ฟัง 2 เรื่อง เรื่องแรกคือเรื่อง “มหามิตร” เรื่องที่สอง คือ เรื่อง “ปาฏิหาริย์ของพระธรรมวินัย” ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนั้นประยุกต์เข้าได้กับชีวิตจริงอย่างยิ่ง พรุ่งนี้พี่น้องมากัน เราจะเวียนเทียนพรุ่งนี้ เราไม่เดินเวียนเทียน พี่น้องเอาเทียนมาคนละเล่ม เราจะจุดเทียนหลังจากที่ฟังเทปของสมเด็จพระนางเจ้าเสร็จ เราจะจุดเทียนเพื่อทำเป็นพุทธบูชา และขณะเดียวกัน เราจะจุดเทียนเพื่อถวายพระพรให้กับสมเด็จพระนางเจ้า ล่วงหน้า ก่อนวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 12 สิงหาคม พี่น้องอย่าลืมนะครับพรุ่งนี้ [เสียงปรบมือ] 1


วันต่อมาวันอาสาฬหบูชา พฤหัสที่ 17 กรกฎาคม ช่วงประมาณ 19 นาฬิกา สนธิในชุดเสื้อขาวกางเกงขาวได้ขึ้นไปบนเวที เขาเริ่มต้นด้วยการประกอบพิธีจุดธูปเทียนไหว้พระและนำสวดมนต์ (บนเวทีมีการจัดโต๊ะหมู่บูชาพระ จอผ้าขนาดใหญ่ด้านหลังเวทีได้รับการฉายภาพนิ่งพระพุทธรูปขนาดใหญ่) หลังจากนั้น เขาได้ชี้แจงว่า ไม่สามารถนิมนต์พระรูปใดมาเทศน์ได้ โดยเฉพาะ ว.วชิระเมธี (ซึ่งมีข่าวก่อนหน้านี้ว่า อาจจะมาปรากฏตัว) “ท่านบอกว่า พระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่แจ้งท่านมาว่า ไม่ควรมาขึ้นเวที เพราะนี่เป็นเวทีการเมือง” สนธิ กล่าวต่อไปว่า


ผมก็เลยเผอิญโชคดี เหมือนกับว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง ธรรมะจัดระเบียบ ได้เทปดีวีดี ซึ่งเป็นพระสุรเสียงขององค์สมเด็จพระนางเจ้า ที่พระองค์ท่านได้อัดเทป เป็นการส่วนพระองค์ โดยที่ไม่มีใครอยู่ด้วย พระองค์อัดเสียงของพระองค์ท่านเอง ในเรื่องของพระอานนท์ พระอนุชา กระผมได้เลือกมา 2 ตอน ให้พ่อแม่พี่น้องได้เห็นกันนะครับ ได้ฟังกัน ตอนนึงคือเรื่อง “มหามิตร” ซึ่งประเดี๋ยวกระผมจะเปิดให้พ่อแม่พี่น้องฟัง ขอให้ตั้งใจฟังกันนิดนึง ขอให้ใช้ความสงบ 17 นาที ดื่มด่ำกับพระสุรเสียงของพระองค์ท่าน และขณะเดียวกัน ก็สามารถที่จะเข้าใจ ในเรื่องราวต่างๆที่พระองค์ท่านเล่าให้ฟัง เสร็จแล้วผมเองจะมาขยายความ ในความหมายของ “มหามิตร” ที่พระองค์ท่านได้ตรัสออกมานะครับ ซี่ง “มหามิตร” อันนี้สามารถประยุกต์เข้ากับเหตุการณ์บ้างเมืองในปัจจุบันได้อย่างสมบูรณ์แบบ เป็นเรื่องที่น่ามหัศจรรย์มาก

อันที่ 2 นั้น ผมจะขึ้นเวทีอีกครั้งตอนหลังเที่ยงคืน ก็คือช่วงล่วงเวลาเข้าวันเข้าพรรษา ก็จะเอาเทป ที่สมเด็จพระนางเจ้า ไม่เคยเผยแพร่ออกไปที่ไหนเลย มาเปิดให้ฟัง คือเรื่อง “ความมหัศจรรย์ของพระธรรมวินัย” ซึ่งนัยยะของ “ความมหัศจรรย์พระธรรมวินัย” ที่พระองค์ท่านได้อ่านให้พวกเราฟังนั้น ก็มีความหมายทางการเมืองสูงส่ง ผมอ่านแล้ว ผมฟังแล้ว ผมมหัศจรรย์มากว่า ทำไมมันทันสมัยเช่นนี้ พี่น้องต้องตั้งใจฟัง เพราะว่า 2 เรื่องนี้ อธิบายความเหตุการณ์ในบ้านเมืองได้หมด ทั้งๆที่เป็นเรื่องที่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสเอาไว้เมื่อ 2500 กว่าปีที่แล้ว แต่ว่ามาประยุกต์เหตุการณ์ได้ลงตัวอย่างแม่นยำที่สุด ทั้งๆที่เป็นเรื่องพระธรรมวินัยนะครับ
2


น่าสังเกตว่า คำอธิบายของสนธิในครั้งนี้เรื่องความเป็นมาของเทปพระสุรเสียง อาจจะแตกต่างกับคำอธิบายของเขาในวันก่อนหน้านั้น คือจากเดิมที่กล่าวว่า “เป็นเทปธรรมะที่สมเด็จพระนางเจ้า สอนอยู่ในวัง สอนกับข้าราชบริพาร” กลายมาเป็น “พระองค์ท่านได้อัดเทป เป็นการส่วนพระองค์ โดยที่ไม่มีใครอยู่ด้วย พระองค์อัดเสียงของพระองค์ท่านเอง” ซึ่งถ้าเป็นกรณีหลังนี้ ก็จะยิ่งชวนให้ถามว่า พระสุรเสียงที่ทรง “อัดเทปเป็นการส่วนพระองค์ โดยไม่มีใครอยู่ด้วย” นั้น สามารถมาอยู่ในมือของสนธิได้อย่างไร?

หลังจากนั้น สนธิได้อธิบายความสำคัญของวันอาสาฬบูชา และความหมายของอริยสัจสี่และมรรคแปด (ซึ่งเขาได้ถือโอกาสโจมตีสมัครและ “นักการเมืองขี้ฉ้อ” ว่าทำผิดพระธรรมคำสอนเหล่านี้ทีละข้อๆอย่างไร) ทั้งหมดนี้ใช้เวลาเกือบ 10 นาที แล้วสนธิได้วกกลับมาที่เทปพระสุรเสียงอีกครั้ง


พี่น้องครับ เดี๋ยวตั้งใจฟังเสียงสมเด็จพระนางเจ้า ซัก 10 กว่านาทีนะครับ อยากจะขอความสงบนิดนึงนะครับ ขอความกรุณา อย่าพูดเล่นกัน เพราะว่า ถ้าเราตั้งใจฟัง เหมือนกับเราปฏิบัติธรรมไปด้วย วันนี้วันอาสาฬหบูชา การตั้งใจฟังของเรา แล้วซึมซับ ซึมทราบ คำพูดสมเด็จพระนางเจ้า ซึ่งพระองค์ท่าน เอามาจากหลักธรรม อันนี้เนี่ย มันยิ่งกว่าการไปเดินเวียนเทียนรอบอุโบสถ ถูกมั้ยถูกพี่น้อง นะครับ เพราะฉะนั้นแล้ว เดี๋ยวผมอาจจะต้องดับไฟ แล้วก็เปิดดีวีดีให้เห็น แล้วก็ฟังเสียงให้ดีๆ พอจบแล้ว กระผมจะขออนุญาตขึ้นมาหาพ่อแม่พี่น้องอีกครั้งนึง เพื่อขยายความในรายละเอียดที่สมเด็จพระนางเจ้า ทรงมีพระเมตตาเปล่งพระสุรเสียงออกมา นะครับ เชิญครับ พ่อแม่พี่น้องครับ3


จากนั้น จอผ้าหลังเวทีได้เปลี่ยนเป็นภาพนิ่งที่มีพระบรมฉายาลักษณ์พระราชินีพร้อมคำบรรยายดังนี้

บันทึกเทปพระสุรเสียง
สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ
ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล
อ่านหนังสือธรรมะ “พระอานนท์ พุทธอนุชา”
เนื่องในวโรกาสทรงครองอิสริยยศ
สมเด็จพระราชินี ปีที่ ๕๔
เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๔๗



พร้อมกันนั้น ก็มีเสียงดนตรีบรรเลงแบบ “อินโทร” สั้นๆดังขึ้น ไม่ถึง 1 นาที (บอกไม่ได้ว่าเป็นดนตรีที่มาพร้อมดีวีดีหรือเป็นดนตรีที่จัดโดยเวทีพันธมิตรเอง) ตามด้วยพระสุรเสียง กินเวลาประมาณ 16 นาทีเศษ 4

พระสุรเสียงนั้นเป็นพระสุรเสียงที่ทรงอ่านหนังสือเล่มหนึ่งจริงๆ ซึ่งจะเรียกว่าเป็น “หนังสือธรรมะ” ก็อาจจะพอได้ แต่อันที่จริง งานเรื่อง พระอานนท์ พุทธอนุชา ที่ทรงอ่าน “อัดเทปเป็นการส่วนพระองค์ โดยไม่มีใครอยู่ด้วย” นี้ เป็นเรื่องแต่งหรือนิยาย ของ วศิน อินทสระ (วศินเองเรียกงานของเขาว่า “ธรรมนิยาย”) งานนี้ได้รับการตีพิมพ์เป็นตอนๆ ใน สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ แล้วรวมพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรก กลางปี 2509 5 และได้รับการพิมพ์ซ้ำเรื่อยมาจนปัจจุบัน (ฉบับที่ผมเคยเห็นล่าสุดคือ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 9 ปี 2540) เป็นงานที่เรียกได้ว่า “ป๊อบปูล่า” (ได้รับความนิยม) มากทีเดียวในหมู่ผู้สนใจพุทธศาสนา ทุกวันนี้ มีการนำตัวบทงานนี้ทั้งเล่มขึ้นเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับศาสนาพุทธหรือเว็บไซต์ส่วนตัวหลายแห่ง ยิ่งกว่านั้น ยังมีการบันทึกเสียงอ่านงานนี้ในลักษณะคล้ายๆอ่านบทละคร มีการใส่ดนตรีและเสียงประกอบเป็นแบ็คกราวน์บางตอน (เช่นเสียง “ช้างวิ่ง” ในตอน “มหามิตร”) แต่ใช้ผู้อ่านคนเดียวทั้งหมด เสียงอ่านนี้สามารถฟังและดาวน์โหลดได้ฟรีทางเว็บไซต์เช่นกัน 6

มองในแง่หนึ่ง การที่สนธิเสนอว่า “การตั้งใจฟังของเรา แล้วซึมซับ ซึมทราบ คำพูดสมเด็จพระนางเจ้า ซึ่งพระองค์ท่าน เอามาจากหลักธรรม อันนี้เนี่ย มันยิ่งกว่าการไปเดินเวียนเทียนรอบอุโบสถ” ถือเป็นการทำให้ไขว้เขวเข้าใจผิดได้ (misleading) เพราะความจริง เนื้อหาของพระสุรเสียงนี้ ไม่ใช่ “คำ” ของพระองค์เองที่ทรง “เอามาจากหลักธรรม” เป็นแต่เพียงทรงอ่านหนังสือ ซึ่งแม้จะเป็นงานที่พยายามนำเสนอ “หลักธรรม” แต่ถ้ากล่าวอย่างเข้มงวดแล้ว ก็เป็นเพียงเรื่องแต่งหรือนิยาย ซี่งความถูกต้องแน่นอน (authenticity) ของ “หลักธรรม” ที่สอดแทรกอยู่นั้น ยังเป็นเรื่องที่ชวนสงสัยได้ (problematic) ความเป็นนิยายหรือเรื่องแต่งของ พระอานนท์ พุทธอนุชา นี้ วศิน อินทสระ ได้อธิบายเชิงยอมรับไว้ในคำนำของการพิมพ์รวมเล่มครั้งแรกว่า (ขีดเส้นใต้เน้นคำของผม):


เรื่องพระอานนท์ พุทธอนุชา เนื้อหาของเรื่องจริงๆ มีไม่มากนัก ที่หนังสือเล่มใหญ่ขนาดนี้ เพราะการเพิ่มเติมเสริมต่อของข้าพเจ้า ในทำนองธรรมนิยายอิงชีวประวัติ ข้าพเจ้าชี้แจงข้อนี้สำหรับท่านที่ไม่คุ้นกับเรื่องของศาสนานัก อาจจะหลงเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องที่มีหลักฐานทางตำราทั้งหมด สำหรับท่านที่คงแก่เรียนในทางนี้อยู่แล้ว ย่อมทราบดีว่าตอนใดเป็นโครงเดิม และตอนใด แห่งใด ข้าพเจ้าเพิ่มเติมเสริมต่อขึ้น นอกจากนี้ยังมีหลายตอนที่ข้าพเจ้าสร้างเรื่องขึ้นเอง เพียงแต่เอาพระอานนท์ไปพัวพันกับเหตุการณ์นั้นๆ เพื่อให้นิยายเรื่องนี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และเห็นว่าไม่เป็นทางเสียหายแต่ประการใด


นี่ไม่ได้หมายความว่า เทปพระสุรเสียงที่สนธินำมาเปิดนี้จะไม่น่าสนใจหรือไม่สำคัญ อันที่จริงอาจจะยิ่งน่าสนใจและสำคัญขึ้นไปอีก แต่ไม่ใช่ในฐานะหลักฐานว่า “สมเด็จพระนางเจ้าเรานี้ สอนธรรมะ” (ดูคำปราศรัยสนธิวันที่ 16 ที่ยกมาตอนต้น) อย่างไรก็ตาม การประเมินความสำคัญของเทปพระสุรเสียงนี้มีข้อจำกัด เนื่องจากข้อมูลที่มีอยู่ไม่ชัดเจน ตั้งแต่ปัญหาพื้นๆ เช่น ที่ว่าทรงอ่าน “บำเพ็ญพระราชกุศล...เนื่องในวโรกาสทรงครองอิสริยยศสมเด็จพระราชินี ปีที่ 54” นั้น เหตุใดจึงเป็นวันที่ 12 สิงหาคม 2547 ไม่ใช่วันที่ 28 เมษายน (วันอภิเษกสมรส)? หรือในทางกลับกัน ถ้านับวันที่ 12 สิงหาคม 2547 เป็นหลัก เหตุใดจึงไม่กล่าวว่า เป็นการ “บำเพ็ญพระราชกุศล...เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา”? แต่ปัญหาสำคัญจริงๆคือ สภาพการณ์ที่ทำให้เทปนี้มาอยู่ในมือสนธิ เช่น จะใช่แบบเดียวกับที่เขาเคยอ้างว่าได้ “ผ้าพันคอสีฟ้า” มาหรือไม่? เป็นต้น (ดูประเด็นนี้ข้างหน้า) ซึ่งจะมีผลต่อการตีความนัยยะของเนื้อหาของพระสุรเสียง

แต่ก่อนอื่น ขอให้เรามาพิจารณาที่ตัวเนื้อหานั้นเอง ในเทปพระสุรเสียงที่สนธินำมาเปิดช่วงแรก พระราชินีทรงอ่าน พระอานนท์ พุทธอนุชา บทที่ 4 “มหามิตร” ทั้งบท แต่ส่วนที่สำคัญจริงๆ ผมคิดว่า คือส่วนแรกสุดของบท ดังนี้ 7


พูดถึงความจงรักภักดี และความเคารพรักในพระผู้มีพระภาค พระอานนท์มีอยู่อย่างสุดพรรณนา ยอมสละแม้แต่ชีวิตของท่านเพื่อพระพุทธเจ้าได้ อย่างเช่นครั้งหนึ่ง พระเทวทัตร่วมกับพระเจ้าอชาตศัตรู วางแผนสังหารพระจอมมุนี โดยการปล่อยนาฬาคิรีซึ่งกำลังตกมันและมอมเหล้าเสีย ๑๖ หม้อ ช้างนาฬาคิรียิ่งคะนองมากขึ้น

วันนั้นเวลาเช้า พระพุทธองค์มีพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ เข้าสู่นครราชคฤห์เพื่อบิณฑบาต ในขณะที่พระองค์กำลังรับอาหารจากสตรีผู้หนึ่งอยู่นั้น เสียงแปร๋นแปร๋นของนาฬาคิรีดังขึ้น ประชาชนที่คอยดักถวายอาหารแด่พระผู้มีพระภาค แตกกระจายวิ่งเอาตัวรอด ทิ้งภาชนะอาหารเกลื่อนกลาด พระพุทธองค์เหลียวมาทางซึ่งช้างใหญ่กำลังวิ่งมาด้วยอาการสงบ พระอานนท์พุทธอนุชาเดินล้ำมายืนเบื้องหน้าของพระผู้มีพระภาค ด้วยคิดจะป้องกันชีวิตของพระศาสดาด้วยชีวิตของท่านเอง

"หลีกไปเถิด - อานนท์ อย่าป้องกันเราเลย" พระศาสดาตรัสอย่างปกติ

"พระองค์ผู้เจริญ!" พระอานนท์ทูล "ชีวิตของพระองค์มีค่ายิ่งนัก พระองค์อยู่เพื่อเป็นประโยชน์แก่โลก เป็นดวงประทีปของโลก เป็นที่พึ่งของโลก ประดุจโพธิ์และไทรเป็นที่พึ่งของหมู่นก เหมือนน้ำเป็นที่พึ่งของหมู่ปลา และป่าเป็นที่พึ่งอาศัยของสัตว์จตุบททวิบาท พระองค์อย่าเสี่ยงกับอันตรายครั้งนี้เลย ชีวิตของข้าพระองค์มีค่าน้อย ขอให้ข้าพระองค์ได้สละสิ่งซึ่งมีค่าน้อยเพื่อรักษาสิ่งซึ่งมีค่ามาก เหมือนสละกระเบื้อง เพื่อรักษาไว้ซึ่งแก้วมณีเถิดพระเจ้าข้าฯ"

"อย่าเลย อานนท์! บารมีเราได้สร้างมาดีแล้ว ไม่มีใครสามารถปลงตถาคตลงจากชีวิตได้ ไม่ว่าสัตว์ดิรัจฉาน หรือมนุษย์ หรือเทวดา มาร พรหมใดๆ"

ขณะนั้นนาฬาคิรี วิ่งมาจวนจะถึงองค์พระจอมมุนีอยู่แล้ว เสียงร้องกรีดของหมู่สตรีดังขึ้นเป็นเสียงเดียวกัน ทุกคนอกสั่นขวัญหนี นึกว่าครั้งนี้แล้วเป็นวาระสุดท้ายที่เขาจะได้เห็นพระศาสดา ผู้บริสุทธิ์ดุจดวงตะวัน พระพุทธองค์ทรงแผ่เมตตาซึ่งทรงอบรมมาเป็นเวลายืดยาวนานหลายแสนชาติสร้านออกจากพระหฤทัยกระทบเข้ากับใจอันคลุกอยู่ด้วยความมึนเมาของนาฬาคิรี ช้างใหญ่หยุดชะงักเหมือนกระทบกับเหล็กท่อนใหญ่ ใจซึ่งเร่าร้อนกระวนกระวาย เพราะโมหะของมันสงบเย็นลง เหมือนไฟน้อยกระทบกับอุทกธารา พลันก็ดับวูบลง มันหมอบลงแทบพระมงคลบาทของพระศาสดา พระพุทธองค์ทรงใช้ฝ่าพระหัตถ์อันวิจิตร ซึ่งกำลังมาด้วยบุญญาธิการลูบศีรษะของพญาช้าง พร้อมด้วยตรัสว่า

"นาฬาคิรีเอย! เธอถือกำเนิดเป็นดิรัจฉานในชาตินี้ เพราะกรรมอันไม่ดีของเธอในชาติก่อนแต่งให้ เธออย่าประกอบกรรมหนัก คือทำร้ายพระพุทธเจ้าเช่นเราอีกเลย เพราะจะมีผลเป็นทุกข์แก่เธอตลอดกาลนาน"

นาฬาคิรีสงบนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง แล้วใช้งวงเคล้าเคลียพระชงฆ์ของพระผู้มีพระภาค เหมือนสารภาพผิด ความมึนเมาและตกมันปลาสนาการไปสิ้น

นี่แล พุทธานุภาพ !!

ประชาชนเห็นเป็นอัศจรรย์ พากันสักการบูชาพระศาสดาด้วยดอกไม้และของหอมจำนวนมาก


พระพุทธเจ้า=ในหลวง, เทวทัต/อชาตศัตรู/ช้างเมาตกมัน/ภิกษุผู้ไม่บริสุทธิ์=ทักษิณ?

ไม่เป็นการยากที่จะเห็นว่าประเด็น (theme) สำคัญของนิยายตอนนี้ คือความจงรักภักดี พร้อมจะเสียสละแม้แต่ชีวิตตนเองของพระอานนท์ เพื่อป้องกันภัยทีกำลังจะมีต่อพระพุทธเจ้า ปัญหาคือ “ความหมายของ ‘มหามิตร’ ที่พระองค์ท่าน [พระราชินี] ได้ตรัสออกมา….สามารถประยุกต์เข้ากับเหตุการณ์บ้างเมืองในปัจจุบันได้อย่างสมบูรณ์แบบ” ดังที่สนธิอ้างหรือไม่? และการ “ประยุกต์” (ตีความ) ดังกล่าว ถ้าทำได้จริง เป็นเรื่องของสนธิและพันธมิตรเองเท่านั้นหรือไม่? หรือจะเกี่ยวข้องกับคำถามที่ยังไม่มีคำตอบว่าเทปพระสุรเสียงที่ทรงบันทึก “เป็นการส่วนพระองค์....ไม่เคยเผยแพร่ออกไปที่ไหนเลย” มาอยู่ในมือและเผยแพร่ในการชุมนุมของพันธมิตรได้อย่างไร?

สนธิก้าวขึ้นเวทีอีกครั้งหลังเทปพระสุรเสียงอ่าน “มหามิตร” จบลง (จอภาพหลังเวทีเปลี่ยนกลับเป็นรูปพระพุทธรูป) เขาเริ่มต้นด้วยการสดุดีความ “รู้ลึก” ในพุทธศาสนาของพระราชินี ดังนี้


พ่อแม่พี่น้องครับ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เป็นผู้ซึ่งรู้ลึกในเรื่องพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ท่านทรงสนใจในพุทธศาสนาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทำบุญตักบาตร ทรงบาตรทุกเช้า ตกค่ำสวดมนต์ไหว้พระ พระรัตนตรัย ทรงจัดดอกไม้ที่ห้องพระด้วยพระองค์เอง ตั้งแต่ยังเป็นเด็กจนกระทั่งทุกวันนี้ พระองค์ท่านสนใจพุทธศาสนาโดยมีหลัก 3 ประการที่พระองค์ท่านยึดถือและปฏิบัติ ประการแรก พระองค์ท่านทรงเทิดทูนองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เป็นผู้ประทานองค์ความรู้และความรู้ทางด้านพระพุทธศาสนาให้พระองค์ท่านมาตลอด ประการที่สอง พระองค์ใฝ่ใจในการฟังเทปธรรมะ ตลอดจนสนทนาธรรม กับพระมหาเถระ พระอริยสงฆ์ ไม่ว่าจะเป็นองค์หลวงตามหาบัวญาณสัมปันโน สมเด็จญาณ พระองค์ท่านให้สร้างที่พักของสมเด็จญาณ ในป่าข้างๆพระราชวัง ภูพิงค์ราชนิเวศน์ และภูพานราชนิเวศน์ เพื่อให้สมเด็จพระสังฆราชไปปฏิบัติธรรม และพระองค์ท่านจะได้เสด็จไปสนทนาธรรมด้วย พระองค์ท่านสนใจในหนังสือธรรมะ อนุสาวรีย์พระองค์ท่านชอบเสด็จไปเยือนตลอดเวลาก็คือ พิพิธภัณฑ์ของหลวงปู่มั่น หลวงปู่ฟั่น หลวงปู่วัน 3 ประการนี้ทำให้แม่ของแผ่นดินองค์นี้มีความรู้ลึกซึ้งในหลักธรรมของพุทธศาสนา


ทั้งหมดนี้เหมือนเป็นเหตุผลรองรับให้กับการชักชวนผู้ฟังในประโยคถัดไป


พี่น้องครับ เรื่อง “มหามิตร” ที่พระองค์ท่านได้เปล่งพระสุรเสียง เล่าให้พวกเราฟังนั้น นัยยะที่แท้จริงอยู่ตรงไหน พี่น้องฟังให้ดีๆ


หลังจากนั้น สนธิได้สรุปและอ่านจาก “มหามิตร” ตอนที่พระอานนท์เข้าขวางหน้าช้างนาฬาคีรี (ย่อหน้าที่พระอานนท์ทูลพระพุทธเจ้าที่ผมขีดเส้นใต้เน้นคำข้างบน) แล้วเปรียบเทียบว่าเหมือนกับการเคลื่อนไหวของพันธมิตรโดยตรง:


การเสียสละเพื่อมิตร เสียชีวิตเพื่อคนที่เราจงรักภักดี เหมือนอะไร? เหมือนกับที่พวกเราประชาชนคนไทยแสดงความจงรักภักดีต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินี..... พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่มีจากร้อยพ่อพันแม่ ต่างเผ่าต่างพันธุ์ แต่เรามาร่วมกันทำความดี ใช่มั้ย เพื่อถวายความจงรักภักดีให้กับองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ปรบมือให้กับตัวเองหน่อยเถอะครับ [ผู้ชุมนุมปรบมือ]


ตอนท้าย สนธิได้นำผู้ชุมนุมจุดเทียน “ถวายเป็นพระพรให้กับองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และที่สำคัญ ถวายพระพรล่วงหน้าให้กับองค์สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เนื่องในพระราชสมภพในวันที่ 12 สิงหาคมนี้”


การเชื่อมโยงเรื่องเล่าโดยพระสุรเสียงพระราชินีเข้ากับการชุมนุมพันธมิตรของสนธิ มีขึ้นอีกครั้งในเวลาเที่ยงคืน คราวนี้ สนธิได้เปิดเทปพระสุรเสียงอ่าน พระอานนท์ พุทธอนุชา บทที่ชื่อ “ความอัศจรรย์แห่งธรรมวินัย” (บทที่ 21 ในหนังสือ พระสุรเสียงที่นำมาเปิดเป็นเพียงช่วงที่ทรงอ่านตอนกลางของบทเท่านั้น) ดังนี้8


วันหนึ่งเป็นวันอุโบสถ พอพระอาทิตย์ตกดิน พระสงฆ์ทั้งมวลก็ประชุมพร้อมกัน ณ อุโบสถาคาร เพื่อฟังพระโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงแสดงเองทุกกึ่งเดือน พระมหาสมณะเจ้าเสด็จสู่โรงอุโบสถ แต่ประทับเฉยอยู่ หาแสดงพระโอวาทปาฏิโมกข์ไม่ เมื่อปฐมยามแห่งราตรีล่วงไปแล้ว พระอานนท์พุทธอนุชาจึงนั่งคุกเข่าประนมมือถวายบังคมแล้วกราบทูลว่า

"พระองค์ผู้เจริญ! บัดนี้ปฐมยามแห่งราตรีล่วงไปแล้ว ภิกษุทั้งหลายคอยนานแล้ว ขอพระองค์โปรดทรงแสดงปาฏิโมกข์เถิด"

แต่พระพุทธองค์ก็ยังทรงเฉยอยู่ เมื่อมัชฌิมยามแห่งราตรีล่วงไปแล้ว พระอานนท์ก็ทูลอีก แต่ก็คงประทับเฉย ไม่ยอมทรงแสดงพระโอวาทปาฏิโมกข์ เมื่อย่างเข้าสู่ปัจฉิมยาม พระอานนท์จึงทูลว่า

"พระองค์ผู้เจริญ! บัดนี้ปฐมยามและมัชฌิมยามล่วงไปแล้ว ขอพระองค์อาศัยความอนุเคราะห์แสดงโอวาทปาฏิโมกข์เถิด"

พระมหามุนีจึงตรัสว่า "ดูก่อนอานนท์! ในชุมนุมนี้ภิกษุผู้ไม่บริสุทธิ์มีอยู่ อานนท์! มิใช่ฐานะตถาคตจะแสดงปาฏิโมกข์ในท่ามกลางบริษัทอันไม่บริสุทธิ์" ตรัสอย่างนี้แล้วก็ประทับเฉยต่อไป

พระมหาโมคคัลลานะ อัครสาวกเบื้องซ้าย นั่งเข้าฌานตรวจดูว่าภิกษุรูปใดเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์อันเป็นที่รังเกียจของพระศาสดา เมื่อได้เห็นแล้ว จึงกล่าวขึ้นท่ามกลางสงฆ์ว่า "ดูก่อนภิกษุ! ท่านออกไปเสียเถิด พระศาสดาเห็นท่านแล้ว" แม้พระมหาเถระจะกล่าวอย่างนี้ ถึง ๓ ครั้ง ภิกษุรูปนั้นก็ไม่ยอมออกไปจากชุมนุมสงฆ์ พระมหาโมคคัลลานะจึงลุกขึ้นแล้วดึงแขนภิกษุรูปนั้นออกไป



ถึงจุดนี้ คงไม่เป็นการยากที่จะเดาว่า สนธิจะอธิบายพระสุรเสียงตอนนี้ให้เข้ากับเหตุการณ์ปัจจุบันอย่างไร เขากล่าวทันทีหลังพระสุรเสียงจบลงว่า


พ่อแม่พี่น้องครับ ธรรมะข้อนี้มีนัยยะสำคัญมากที่สุด ที่ผมอยากจะมากล่าวกับพ่อแม่พี่น้อง และขอให้พ่อแม่พีน้องตั้งใจฟังนั้น เพราะว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยก่อนพุทธกาล กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พุทธศักราช 2551 นั้นเหมือนกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นทรงเปรียบเหมือนพระพุทธเจ้า ..... การที่พระพุทธเจ้าไม่แสดงโอวาทปาฏิโมกข์นั้น ก็เพราะว่าในบรรดาบริษัทพระภิกษุที่นั่งอยู่นั้น มีภิกษุองค์หนึ่งซึ่งทุศีล เปรียบเสมือนสังคมซึ่งมีคนไม่ดีอยู่...ต้องรอจนกว่าเราเนี่ยต้องกำจัดเอาคนไม่ดีหรือคนชั่วออกไปซะ.... กรณีนี้ ที่ประชุมสงฆ์มีเพียงพระสงฆ์ที่ทุศีลอยู่เพียงรูปเดียว พระพุทธเจ้าก็ไม่แสดงธรรมแล้ว ทีนี้เกิดอะไรขึ้น? พระโมคคัลลานะ อัครสาวกทางซ้าย...พระพุทธเจ้าทรงมีอัครสาวก 2 ข้าง ซ้ายและขวา พระสาลีบุตรอยู่ขวา พระโมคคัลลานะอยู่ซ้าย พระโมคคัลลานะ คือพระผู้มีฤทธิ์มีปาฏิหาริย์ ถ้าพระพุทธเจ้าต้องการให้สร้างปาฏิหาริย์ หรือให้ใช้ฤทธิ์ พระองค์ท่านก็จะบอกให้พระโมคคัลลานะเป็นคนทำนะครับ พระโมคคัลลานะอัครสาวกเบื้องซ้ายเป็นผู้คลี่คลายปัญหา ... พี่น้องครับ จะเห็นได้ชัดว่า พระพุทธเจ้าทรงทราบดีอยู่แล้วว่าภิกษุรูปนั้นเป็นใคร แต่พระองค์ทรงนิ่งเงียบถึง 3 ครั้ง เพราะ ข้อแรก ให้โอกาสแก่ภิกษุรูปนั้นกลับตัวกลับใจ แต่ภิกษุทุศีลไม่เข้าใจ และคิดว่าการนิ่งเฉยของพระองค์ คือพระองค์ทรงเมตตาแล้วมองไม่เห็นความชั่วของตัวเอง ข้อที่สอง พี่น้องฟังให้ดีๆ พระองค์ไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะดำเนินการด้วยพระองค์เอง หน้าที่ในการกำจัดภิกษุทุศีล จึงตกอยู่กับพระมหาโมคคัลลานะที่เป็นบุคคลใกล้ชิดพระองค์และเป็นผู้มีฤทธิ์มาก ดังนั้น ผู้มีฤทธิ์มากสามารถจัดการกับคนชั่วแทนพระองค์ได้ เมื่อมองมาในสังคมไทย.....เราจำได้มั้ยถึงพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่บอกว่า เราต้องกีดกันไม่ให้คนชั่วเข้ามามีอำนาจใช่มั้ย เราต้องให้คนดีเข้ามาปกครองประเทศ เราต้องกำจัดคนชั่ว ถามว่าใครจะเป็นผู้มีหน้าที่กำจัดคนไม่ดีออกไป คำตอบคือต้องเป็นผู้มีฤทธิ์มาก เพราะพระเจ้าอยู่หัวก็เหมือนกับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ต้องนิ่งเฉย พระองค์ไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะมาบอกว่า “ออกไป” หน้าที่นี้ ต้องตกอยู่ที่ผู้มีฤทธิ์ ใช่มั้ย? วันนี้ ผู้มีฤทธิ์นั่งอยู่ที่ไหน? [สนธิขึ้นเสียงตะโกนถาม มีเสียงผู้ชุมนุมตะโกนรับ “ที่นี่”] อยู่ที่ไหน? [“ที่นี่”] อยู่ที่ไหน? [“ที่นี่”] นอกจากผู้มีฤทธิ์ที่นี่แล้ว ทหารก็เป็นผู้มีฤทธิ์เช่นกัน ใช่มั้ย? เพราะฉะนั้นแล้ว ทำไมถึงมีผู้มีฤทธิ์เพียงกลุ่มเดียวเท่านั้นเอง ที่กระทำตนเป็นพระโมคคัลลานะ? ต้องมีพระโมคคัลลานะอีกองค์หนึ่ง ใช่มั้ย ที่เข้ามากำจัดคนชั่วออกไปเช่นกัน? เราต้องกำจัดคนชั่ว แม้มีเพียงคนเดียวก็ต้องเอาออกไป ใช่มั้ยพี่น้อง และนี่คือหลักธรรม ...........

พี่น้องครับ พระธรรมวินัย [?] เรื่องการไม่แสดงโอวาทปาฏิโมกข์ถึง 3 ครั้งอธิบายความได้ชัด พระพุทธเจ้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เหมือนพระพุทธเจ้า พระองค์ท่านไม่ได้อยู่สถานะที่จะไปบอกว่าคนนี้ดี คนนี้ชั่ว ใช่มั้ยใช่ แต่พระองค์ทรงทราบด้วยพระทัยของพระองค์เอง ใช่มั้ย ใครทำชั่วอยู่ รัฐบาลทำชั่วอยู่ รัฐมนตรีทำชั่วอยู่ ถวายสัตย์ต่อหน้าพระองค์ท่าน แล้วก็ตระบัดสัตย์วันรุ่งขึ้นทันที อย่าคิดว่าพระองค์ท่านไม่รู้ พระองค์ท่านรู้ แต่ไม่ได้อยู่ในสถานภาพที่พระองค์ท่านจะทำเช่นนั้น เหมือนพระพุทธเจ้าเช่นกัน ใช่มั้ยใช่ พระพุทธเจ้าเมื่อพึ่งพระโมคคัลลานะ เราไม่ได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นทหารเสือพระราชา ทหารเสือพระราชินี แต่เราต้องทำหน้าที่เป็นทหารเสือพระราชา ทหารเสือพระราชินี ใช่มั้ยใช่ พี่น้อง และนี่คือหน้าที่ที่พวกเราได้ทำกัน เหมือนกับสมัยก่อนพุทธกาล ที่พระโมคคัลลานะได้ทำแทนพระพุทธเจ้า พวกเราก็ทำแทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ใช่มั้ยใช่
[เสียงผู้ชุมนุมปรบมือ]


แน่นอน ประเด็น (theme) ที่สนธิพูดนี้ ว่าพวกเขากำลัง “สู้เพื่อในหลวง” ไม่ใช่สิ่งใหม่ การเรียกร้องให้ทหาร “ออกมากำจัดคนชั่ว แทนในหลวง” ก็ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่การได้เทปพระสุรเสียงอ่าน พระอานนท์ พุทธอนุชา ที่ดูเหมือนจะมีเนื้อหาไปในทำนองนี้พอดี (ขับไล่ “ภิกษุผู้ไม่บริสุทธิ์” ออกไปจากที่ประชุมสงฆ์เบื้องพระพักตร์ “พระพุทธเจ้า”) คงจะทำให้ประเด็นนี้มีพลังหรือความหมายมากขึ้นอีกในสายตาของพันธมิตรเอง คงเพิ่มกำลังใจและความหวังในการต่อสู้ให้กับพวกเขาไม่มากก็น้อย ใครก็ตามที่ให้เทปนี้กับสนธิ หวังให้เกิดผลในลักษณะนี้ใช่หรือไม่?


จาก “ผ้าพันคอสีฟ้า” ถึง
พระสุรเสียงราชินีบนเวทีพันธมิตร

ลำพังการที่สนธิและเวทีพันธมิตรสามารถเปิดเทปพระสุรเสียงที่ทรงบันทึก “เป็นการส่วนพระองค์...ไม่เคยเผยแพร่ออกไปที่ไหนเลย” ก็นับเป็นเรื่องที่น่าสนใจและมีความสำคัญมากอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเทปพระสุรเสียงนั้นมีเนื้อหาที่ดูเหมือนจะ “ประยุกต์เข้ากับเหตุการณ์บ้านเมืองปัจจุบัน” ได้ ในแบบที่สนธิทำ การ “ประยุกต์” (ตีความ) เนื้อหาในเทปดังกล่าว เป็นของผู้เปิดเทป คือสนธิเองเท่านั้น หรือของผู้ให้เทปด้วย? ใครเป็นผู้ให้เทปแก่สนธิ?

แต่ทั้งหมดนี้ ยิ่งเพิ่มความน่าสนใจและความสำคัญขึ้น ถ้าเราพิจารณาควบคู่ไปกับภูมิหลังบางอย่างของเหตุการณ์เกี่ยวกับพันธมิตรในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา

ในช่วงเดือนกันยายน 2549 ก่อนการรัฐประหารไม่กี่วัน จู่ๆผู้นำพันธมิตรที่เคยปรากฏตัวในเสื้อเหลือง “เราจะสู้เพื่อในหลวง” ก็ปรากฏตัวต่อสาธารณะโดยมีผ้าพันคอสีฟ้าผืนหนี่งพันอยู่รอบคอด้วย ในหนังสือ ปรากฏการณ์สนธิ จากเสื้อสีเหลืองถึงผ้าพันคอสีฟ้า ซึ่งตีพิมพ์ทันทีหลังการรัฐประหาร (สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์, ตุลาคม 2549) คำนูญ สิทธิสมาน ได้อธิบายเรื่องนี้ ดังนี้ 9


เรากำหนดให้แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในเวลา 19.00 น. ค่ำวันที่ 15 กันยายน 2549 ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะในวันน้นรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรคอนเสิร์ตการเมืองครั้งที่ 16 จัดขึ้นที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่อยู่ติดๆกันเป็นอาคารเดียว

เวลา 19.00 น. วันศุกร์ที่ 15 กันยายน 2549 แม้แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยทุกคน ยกเว้น พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ที่เดินทางกลับไปปฏิบัติภารกิจที่โรงเรียนผู้นำกาญจนบุรี จะสวมใส่เสื้อสีต่างกันไป แต่ทุกคนมีเหมือนกันอยู่อย่าง

ต่างพันผ้าพันคอสีฟ้า!

เฉพาะคุณสนธิ ลิ้มทองกุล จะอยู่ในเสื้อสีเหลือง พันผ้าพันคอสีฟ้า ในทุกครั้งที่ปรากฏตัวต่อสื่อมวลชนนับจากนั้น ไม่ว่าจะที่สุราษฎร์ธานี เกาะสมุย หรือสนามบินดอนเมือง

ผ้าพันคอสีฟ้าเป็นการแต่งการที่ไม่ได้วางแผนมาก่อน

แต่เมื่อมีท่านผู้ปรารถนาดีที่ไม่ประสงค์จะให้ออกนามและหน่วยงานนำผ้าพันคอสีฟ้ามาให้จำนวน 300 ผืน เมื่อเวลาประมาณ 18.00 น. วันนั้น ทั้งคุณสนธิ ลิ้มทองกุล และแกนนำอีก 3 คนที่อยู่ ณ ที่นั้น คือ คุณพิภพ ธงไชย, คุณสมศักดิ์ โกศัยสุข และอาจารย์สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ต่างพร้อมใจกันนำขึ้นมาพันคอทันที ดูเหมือนผู้สื่อข่าวก็สังเกตเห็นในเวลาแถลงข่าว แต่ไม่มีใครถามถึงความหมาย เพียงแต่มีอยู่คนหนึ่งถามขึ้นว่าจะนัดหมายให้ประชาชนพันผ้าพันคอสีฟ้ามาร่วมชุมนุมใหญ่ในอีก 5 วันข้างหน้าหรือเปล่า คำตอบที่ได้รับก็คือ ไม่จำเป็น แต่งกายอย่างไรมาก็ได้ ขอให้มากันมากๆก็แล้วกัน

แต่เมื่อคุณสนธิ ลิ้มทองกุล พันผ้าพันคอสีฟ้าในทุกครั้งที่แถลงข่าวนับจากวันนั้นเป็นต้นมา โดยเฉพาะพันให้ส่วนที่เป็นมุมสามเหลี่ยมหันมาอยู่ด้านหน้า แบบคาวบอยตะวันตก ไม่ใช่แบบลูกเสือ ก็ทำให้สื่อมวลชนสนใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะไอทีวี ได้โคลสอัพผ้าพันคอผืนนั้นมาออกจอในช่วงข่าวภาคค่ำเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2549 ด้วย

ถ้าสังเกตสักหน่อย ก็จะอ่านได้ว่า

902
74
12 สิงหาคม 2549
แม่ของแผ่นดิน


ผ้าพันคอสีฟ้าผืนนี้ พวกเราที่เป็นทีมงานเก็บไว้คนละผืนสองผืน และนัดหมายกันไว้ว่าจะพร้อมใจกันพันในวันชุมนุมใหญ่ วันพุธที 20 กันยายน 2549 เสื้อสีเหลือง "เราจะสู้เพื่อในหลวง" + ผ้าพันคอสีฟ้า "902..." ขณะเดียวกันคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ได้สั่งตัดผ้าพันคอสีฟ้าแบบใกล้เคียงกัน ต่างกันแต่เนื้อผ้า และไม่มีคำ "902" เท่านั้น เตรียมออกจำหน่ายจ่ายแจกแก่ประชาชนที่จะมาร่วมชุมนุมในวันนั้น

เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ทำให้คุณสนธิ ลิ้มทองกุล มีความมั่นใจอย่างยิ่งว่าพวกเราจะประสบชัยชนะแน่นอน

ศรัทธาที่มีอย่างเต็มเปี่ยมมาโดยตลอดกว่า 1 ปียิ่งล้นฟ้าสุดจะพรรณนา

…………………………..

เย็นวันที่ 4 กันยายน 2549 คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ได้รับการประสานทางโทรศัพท์จากสุภาพสตรีสูงศักดิ์ท่านหนึ่งให้ไปพบณที่พำนักของท่านไม่ไกลจากบ้านพระอาทิตย์มากนัก เมื่อไปพบ ท่านได้แจ้งว่าตัวท่านและคณะของท่านรวมทั้งผู้ใหญ่ที่ท่านเคารพ ขอให้กำลังใจ ขอขอบใจที่ได้กระทำการปกป้องชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ อย่างกล้าหาญมาโดยตลอด และขอให้มั่นใจว่าธรรมจะต้องชนะอธรรม ก่อนกลับออกมา ท่านได้ฝากของขวัญจากผู้ใหญ่ที่ท่านเคารพใส่มือคุณสนธิ ลิ้มทองกุล

เป็นกระเป๋าผ้าไทยลายสีม่วงทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดประมาณกระเป๋าสตางค์ของสุภาพสตรีที่เห็นทั่วไปในงานศิลปาชีพ

เมื่อนั่งกลับออกมา คุณสนธิ ลิ้มทองกุล เปิดดูพบว่า เป็นธนบัตรใหม่เอี่ยมมูลค่ารวม

250,000 บาท !

เป็นอีกครั้งหนึ่ง ที่ทำให้คุณสนธิ ลิ้มทองกุล มีความมั่นใจอย่างยิ่งว่าพวกเราจะประสบชัยชนะแน่นอน !

ศรัทธาที่มีอย่างเต็มเปี่ยมมาโดยตลอดกว่า 1 ปียิ่งล้นฟ้าสุดจะพรรณนา

ไม่ว่าอนาคตข้างหน้าจะอย่างไรก็ตาม ความทรงจำที่จะไม่มีวันลืมเลือนไปจวบวันตายก็คือ ครั้งหนึ่งในชีวิต ประชาชนช่วยจ่ายเงินเดือนเราโดยตรง แผ่นดินช่วยจ่ายเงินเดือนพวกเราโดยตรง

ช่างเป็นชีวิตช่วงที่บรรเจิดเพริดแพร้วยิ่งนัก
!


อีกเกือบ 1 ปีต่อมา สนธิได้เดินทางไปสหรัฐอเมริกา รายการ “ยามเฝ้าแผ่นดิน” ทาง ASTV ได้นำเทปการพูดของเขากับคนไทยที่นั่น มาออกอากาศเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550 ตอนหนึ่งของการพูด สนธิได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นมาของ “ผ้าพันคอสีฟ้า” ดังนี้ 10


เราสามารถที่จะรวมคนได้เป็นหมื่น หลายครั้งเป็นแสน พวกนี้ก้อ เห็นแล้วสิ เฮ้ย ไอ้เจ๊กแซ่ลิ้ม มันใช้ได้เว้ย ก็เข้ามาอยู่ข้างหลัง ตอนนี้ก็เริ่มแล้วสิ พลเอกสุรยุทธโทรมา พลเอกสนธิให้คนใกล้ชิดโทรมา ในวัง ในวังนี่มีเยอะ เส้นสายในวัง ทุกคนสนิทหมด (เสียงคนฟังหัวเราะ) แม่งสนิทกันชิบหายเลย 'ผมนี่ถึงเลยนะ ผมนี่คุณไม่ต้องพูดเลยว่าถึงไม่ถึง คุณมีอะไรคุณพูดมา รับรองถึงหู พระกรรณ' ผมไม่สนใจหรอก เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็เลยเริ่มมาหนุนหลังขบวนการเรา...

จนกระทั่ง มีสัญญาณบางสัญญาณมาถึงผม จู่ๆ ผมสู้อยู่ ก็มีของขวัญชิ้นหนึ่ง มาจากราชสำนัก ผ่านมาทางท่านผู้หญิงบุษบา ซึ่งเป็นน้องสาวพระราชินี ปรากฏว่าผมแค่ได้รับวันเดียว ผมเข้าไปรับด้วยตัวเองกับท่านผู้หญิงบุษบา โทรศัพท์มาหาผมเต็มเลย ป๋าเปรมให้คนสนิทโทรมา พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ทุกคนโทรมาหมด ถามว่า จริงหรือเปล่า ....



สุดท้าย ในระหว่างวันแรกๆของการชุมนุมยืดเยื้อครั้งนี้ที่สะพานมัฆวาณ สนธิได้ปรากฏตัวพร้อม “ผ้าพันคอสีฟ้า” (และหมวกคาวบอย) อีก เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีมหาดไทยขณะนั้น ได้พูดเสียดสีว่า สนธิ “แอ๊กอาร์ต” ในการปราศรัยบนเวทีพันธมิตรเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2551 สนธิจึงตอบโต้กลับว่า 11


เมื่อวานนี้ เค้าพูดแดกดันผม ซึ่งผมไม่สนใจหรอก แต่เผอิญ มันไปพาดพิงผ้าพันคอสีฟ้าผม ผมก็จะเล่าให้เค้าฟัง .... ผ้าพันคอสีฟ้านั้น ผมได้รับมา ก่อนเหตุการณ์วันที่ 19 กันยายน วันที่เราเปิดแถลงข่าวและชุมนุมกันครั้งสุดท้าย ที่หอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์ จำได้มั้ย ผ้าพันคอนี้ ข้าราชบริพารในสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถได้เอามาให้พวกเราคืนนั้น แล้วบอกว่า พระองค์ท่านพระราชทานมา เป็นผ้าพันคอพระราชทาน ไอ้เบื๊อก ! เป็นผ้าพันคอพระราชทานเนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พุทธศักราช 2549 คุณเฉลิม คุณจะพูดจาอะไร คุณระวังปากคุณหน่อย อย่าทะลึ่ง !


เปรม: ความรู้ประวัติศาสตร์อังกฤษที่แย่ หรือ
กุญแจไขประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย?

สนธิหรือคำนูญไม่ใช่ผู้เดียว ที่กล่าวพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ (ในที่นี้คือพระราชินี) ในบริบทของการเล่ากระบวนการที่นำไปสู่การรัฐประหาร 19 กันยา แม้แต่เปรม ก็เคยพูดอะไรที่ชวนให้คิดไปในทางเดียวกันได้

หลังรัฐประหารและการตั้งรัฐบาลสุรยุทธ จุลานนท์ ไม่กี่สัปดาห์ ขณะที่ความชอบธรรมของรัฐบาลสุรยุทธ ยังเป็นปัญหาอย่างมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2549 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้ไปกล่าวปาฐกถาที่สถาบันเทคโนโลยี่พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง โดยมีพลเอกสรยุทธ จุฬานนท์ ในฐานะนายกสภามหาวิทยาลัยของสถาบันดังกล่าวร่วมนั่งฟังอยู่ด้วย ตอนหนึ่ง เปรมได้เปรียบเทียบยกย่อง สุรยุทธ ว่าเหมือนกับวินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีสมัยสงครามโลกครั้งที่สองของอังกฤษ 12


ทุกคนต้องรู้จักมิสเตอร์วินสตัน เชอร์ชิล เป็นนายกฯของอังกฤษ สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ที่มาที่ไปก็คล้ายๆ กับคุณสุรยุทธ คือไม่ได้เป็นผู้แทนราษฎร แต่ถูกเชิญมาเพราะควีนเห็นว่าเหมาะสม คุณเชอร์ชิลพูดเรื่องเสียสละ ที่แสดงให้เห็นว่าจำเป็นต้องเสียสละเพื่อชาติบ้านเมือง นายกฯสุรยุทธก็เหมือนกัน คล้ายกับเชอร์ชิล มาเป็นนายกฯโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่เพื่อชาติบ้านเมือง


ความรู้ประวัติศาสตร์อังกฤษของเปรม อยู่ในระดับที่เรียกได้ว่า “สอบตก” เพราะความจริง เชอร์ชิล ได้รับเลือกเป็นผู้แทนราษฎรเป็นเวลานานติดต่อกันถึง 40 ปี รวมทั้งในระหว่างสงครามโลก13 มิหนำซ้ำ ขณะที่เขาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น อังกฤษมีกษัตริย์ (คิง) เป็นประมุข ไม่ใช่ราชินี (ควีน) คือ พระเจ้าจอร์ชที่หก แต่การที่เปรมแสดงความรู้น้อยเรื่องประวัติศาสตร์อังกฤษนี้ เพราะเขาอาจจะมัวแต่กำลังนึกถึงปัจจุบันของอังกฤษ (“ควีน” เป็นประมุข) แล้วเลยนึกไปถึงปัจจุบันของไทยกรณีการตั้งรัฐบาลรัฐประหาร ใช่หรือไม่?


“ผ้าพันคอสีฟ้า” - เทปพระสุรเสียง กับกรณี
“พระสมเด็จเหนือหัว” และ “36 แผนที่ชีวิตพ่อ”

ถ้านับจากการปรากฏครั้งแรกของ “ผ้าพันคอสีฟ้า” ในเดือนกันยายน 2549 การเปิดเผยข้อมูลของคำนูญในเดือนต่อมา (ซึ่งรวมเรื่องเงินสด 250,000 บาท) จนถึงการพูดของสนธิที่สหรัฐอเมริกาและถ่ายทอดมาไทยในเดือนสิงหาคม 2550 และล่าสุดการยืนยันของสนธิอีกครั้งที่เวทีพันธมิตรในต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ปริศนากรณี “ผ้าพันคอสีฟ้า” (และเงินสด 2.5 แสนบาท) ก็มีอายุประมาณ 2 ปีแล้ว

การปรากฏขึ้นอย่างประหลาด ของเทปพระสุรเสียงพระราชินีบนเวทีพันธมิตร มีแต่เพิ่มความเข้มข้นให้ปริศนานี้ ระดับ “ความเงียบ” ที่ตอบสนองต่อเรื่องทั้งหมดนี้ ของสื่อมวลชน, นักวิชาการ และ “สังคม” โดยรวม นับว่าถึงขั้นที่เรียกตามสำนวนฝรั่งว่า “ความเงียบที่ดังแสบแก้วหู” (deafening silence)

ทั้งหมดนี้ ชวนให้นึกถึงกรณีที่เกิดขึ้นในระยะเวลาเดียวกันและอาจกล่าวได้ว่า มีบางด้านคล้ายกัน คือ กรณี “พระสมเด็จเหนือหัว” ปลายปี 2550 หลังจากมีการประชาสัมพันธ์การจัดสร้างพระดังกล่าวเพียงไม่กี่สัปดาห์ เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับราชสำนักได้ลงมืออย่างรวดเร็วที่จะปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับราชสำนัก และให้ดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้จัดสร้าง (หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับราชสำนัก ที่ได้รับการรายงานข่าวคือ สำนักพระราชวัง แต่มีการระบุชื่อท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ รองราชเลขาธิการ ซึ่งสังกัดสำนักราชเลขาธิการ)

กรณีสนธิ-พันธมิตร กับ “ผ้าพันคอสีฟ้า” (และเงินสด 2.5 แสนบาท) และ “เทปพระสุรเสียง” จะเกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายใดหรือไม่ อาจจะเป็นเรื่องไม่ชัดเจนนัก แต่การชี้แจงในเชิงข้อเท็จจริง ไม่น่าจะอยู่นอกเหนือหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยราชการที่ใกล้ชิดกับราชสำนัก ถ้าไม่คิดเปรียบเทียบกับกรณี “พระสมเด็จเหนือหัว” อาจจะเปรียบเทียบกับกรณี “36 แผนที่ชีวิตพ่อ” ที่แม้จะเป็นเพียงการเผยแพร่ทางเว็บไซต์และอีเมล์ สำนักราชเลขาธิการโดยราชเลขาธิการเอง ได้มีจดหมายชี้แจงอย่างเป็นทางการว่า เป็น “การแอบอ้าง” 14

ยกเว้นแต่ว่า . . . . . .



สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

ภาควิชาประวัติศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



เชิงอรรถ

1 คลิปวีดีโอการปราศัยของสนธินี้สามารถดาวน์โหลดได้ที่ mms://tv.manager.co.th/videoclip/11News1/Footage/Sondhi_160708.wmv ขนาดทั้งหมด 19.7 MB ส่วนที่อ้าง นาทีที่ 6:38 ถึง 8:10

2 คลิปวีดีโอการปราศัยของสนธิที่รวมการประกอบพิธีอาสาฬหบูชาบนเวทีพันธมิตร พร้อมการเปิดเทปพระสุรเสียงพระราชินี สามารถดาวน์โหลดได้ที่ mms://tv.manager.co.th/videoclip/11News1/Footage/Asalha Puja_170708.wmv ขนาดทั้งหมด 21.3MB ส่วนที่อ้าง นาทีที่ 4:33 ถึง 7:15

3 เพิ่งอ้าง นาทีที่ 16:18 ถึง 17:23

4 พระสุรเสียง อยู่ระหว่าง นาทีที่ 18:06 ถึง 34:37

5 วศิน อินทสระ, พระอานนท์ พุทธอนุชา (พระนคร: สำนักพิมพ์บรรณาคาร, 2509)

6 ตัวอย่างเว็บไซต์ที่มีตัวบท “พระอานท์ พุทธอนุชา” http://se-ed.net/platongdham/pra_anon และ http://www.dhammajak.net/book/anon/index.php ที่มีทั้งตัวบทและเสียงอ่าน http://bannpeeploy.exteen.com/20071129/entry-3 และเว็บไซต์ที่สามารถฟังและโหลดเสียงอ่านเท่านั้น ได้แก่ http://audio.palungjit.com/showthread.php?t=711 , http://www.luangpee.net/forum/index.php?board=51.0 และ http://www.dhammathai.org/sounds/ananta.php ตัวนิยายแบ่งเป็น 33 บท แต่เสียงอ่านแบ่งเป็น 36 ตอน

7 การขีดเส้นใต้เน้นคำเป็นของผม ตัวบทนี้ ผมนำมาจากเว็บไซต์ที่อ้างในเชิงอรรถที่แล้ว ซึ่งตรงกับฉบับพิมพ์รวมเล่ม (ในเชิงอรรถที่ 5) อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก พระราชินีมิได้ทรงอ่านแบบนักอ่านอาชีพ จึงอาจมีบางคำตกหล่น เพิ่มเข้ามา หรือ คลาดเคลื่อนจากตัวบทจริงเล็กน้อย (เช่น “นี่แล” เป็น “นี่แหละ”, “เหลือเกิน” กลายเป็น “อย่างที่สุด”) ในการเปิดเทปพระสุรเสียงที่เวทีพันธมิตร ประโยคสุดท้ายของบท “ภิกษุทั้งหลาย ! ขึ้นชื่อว่าอุปการะผู้อื่นแม้น้อย อันบัณฑิตพึงระลึกถึงและหาทางตอบแทนในโอกาสอันควร” ถูกปิดเสียงไปก่อน เมื่อทรงอ่านถึงคำว่า “ขึ้นชื่อว่า” เท่านั้น เข้าใจว่าคงบังเอิญ (ดูช่วงเวลาของคลิปวีดีโอ ที่อ้างอิง ในเชิงอรรถที่ 4) ในเทปอ่านงานนี้ที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ บทที่ 4 “มหามิตร” จะอยู่ในช่วงหลังของตอนที่ 2 ต่อเนื่องกับช่วงแรกของ ตอนที่ 3

8 คลิปวีดีโอการปราศัยของสนธิที่รวมการเปิดเทปพระสุรเสียงอ่าน “ความอัศจรรย์แห่งธรรมวินัย” สามารถดาวน์โหลดได้จาก mms://tv.manager.co.th/videoclip/11News1/Footage/Sondhi_170708.wmv ส่วนที่เป็นพระสุรเสียงอยู่ระหว่างนาทีที่ 5:27 ถึง 9:02 ตัวบทข้างล่างนี้ ผมนำมาจากเว็บไซต์ในเชิงอรรถที่ 6 การขีดเส้นใต้เน้นคำเป็นของผม

9 คำนูญอธิบายเรื่องนี้ไว้ในบทก่อนสุดท้ายของหนังสือ (ไม่นับภาคผนวก) คือ บทที่ 24 “เสื้อสีเหลือง ผ้าพันคอสีฟ้า” ข้อความที่ยกมาข้างล่างอยู่ที่หน้า 278-279 และ 281 ข้อความตัวหนาเป็นการเน้นคำของคำนูญเอง การขีดเส้นใต้เป็นของผม

10 การขีดเส้นใต้เน้นคำของผม เทปเสียงรายการ “ยามเฝ้าแผ่นดิน” ครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 2 ตอน สามารถดาวน์โหลดได้จาก (ตอนที่ 1) http://www.managerradio.com/Radio/download.asp?strFilePath=mms://tv.manager.co.th/videoclip/radio/1002/1002-2588.wma และ (ตอนที่ 2) http://www.managerradio.com/Radio/download.asp?strFilePath=mms://tv.manager.co.th/videoclip/radio/1002/1002-2589.wma ส่วนที่ยกมาอ้างนี้อยู่ในตอนที่ 2 ระหว่างนาทีที่ 20:34 ถึง 22:33 มีผู้นำคลิปวีดีโอการพูดที่สหรัฐของสนธิเฉพาะตอนที่มีข้อความที่อ้างนี้ มาโพสต์ที่เว็บไซต์ YouTube.com ที่ http://nz.youtube.com/watch?v=DRnYDFUvGrM&feature=related

11 การขีดเส้นใต้เน้นคำของผม เทปเสียงการปราศรัยของสนธิครั้งนี้ สามารถดาวน์โหลด ได้จาก http://www.managerradio.com/Radio/download.asp?strFilePath=mms://tv.manager.co.th/videoclip/radio/1002/1002-3239.wma ข้อความที่อ้างนี้ อยู่ระหว่างนาทีที่ 2:48 ถึง 4:09

12 ข่าวสด 16 พฤศจิกายน 2549

13 ดูประวัติเชอร์เชิลจากเว็บไซต์ “หอจดหมายเหตุเชอร์ชิล” (Churchill Archive) ที่เป็นทางการ ที่ http://www.chu.cam.ac.uk/archives/churchill_papers/biography/churchill_chronology.php เขาได้รับเลือกตั้งเป็น สส.ของเขต Epping ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Essex ตลอดช่วง 1924 ถึง 1945 (ซึ่งครอบคลุมช่วงที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรียามสงคราม ระหว่าง 1940 ถึง 1945) หลังจากนั้น ก็เป็น สส.เขต Woodford จากปี 1945 ถึง 1964 (เรียกได้ว่าจนถึงแก่กรรม เขาตายเมื่อ 24 มกราคม 1965) ช่วงเป็น สส.เขต Woodford นี้ เขาได้เป็น นายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ระหว่าง 1950-1955

14 ดูภาพถ่ายจดหมายราชเลขาธิการ เรื่อง “การแอบอ้างข้อความว่าเป็นพระบรมราโชวาทเผยแพร่ในเว็บไซต์” ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2548 ได้ที่ http://www.thaiall.com/article/map36.htm


ที่มา : ประชาไท : พระบารมีปกเกล้า : พระสุรเสียงราชินีบนเวทีพันธมิตร


เพื่มเติม : สำหรับประกอบบทความ

"พระองค์ท่านทรงเป็นสตรีผู้อยู่เบื้องหลังการแก้ไขวิกฤตต่างๆ ของชาติบ้านเมืองที่เราไม่เคยรู้มาก่อน"

สนธิ ลิ้มทองกุล พูดบนเวทีพันธมิตร คืนวันที่ 10 สิงหาคม 2551

(เครดิตในการพบข้อความนี้ ไม่ใช่ผมแต่ผมสงสัยว่า ผู้ที่พบ เขาคงไม่ต้องการให้ผม acknowledge เครดิตเขาในที่นี้นัก)

http://www.managerradio.com/Radio/DetailRadio.asp?program_no=1002&mmsID=1002%2F1002%2D4535%2Ewma&program_id=16836

นาทีที่ 4:56 ถึง 6:06

พี่น้องครับ วันพรุ่งนี้จะเป็นวันที่สำคัญมาก เที่ยงคืนหนึ่งนาทีของคืนนี้ก็คือรุ่งเช้าของวันพรุ่งนี้ 00.01 ของวันที่ 11 เป็นวันที่พวกเรามาไล่อาถรรพ์ของชาติบ้านเมือง เสร็จเรียบร้อยแล้ว เมื่อทำพิธีไล่อาถรรพ์เสร็จแล้ว เราถือโอกาสถวายเป็นพระราชกุศล ส่วน 11 วันพรุ่งนี้ เที่ยงคืนหนึ่งนาทีของเช้าตรู่วันที่ 12 00.01 ของวันที่ 12 เรามาสวดมนต์ถวายพระพรให้องค์สมเด็จพระนางเจ้า ให้พระองค์ท่านทรงชนะมารทั้งหลาย เพราะว่าพระองค์ท่านทรงเป็นสตรีผู้อยู่เบื้องหลังการแก้ไขวิกฤตต่างๆ ของชาติบ้านเมืองที่เราไม่เคยรู้มาก่อน พี่น้องครับ ปรบมือให้พระองค์ท่านด้วยครับ


สมศักดิ เจียมธีรสกุล

ที่มา : เว็บบอร์ด"ประชาไท" : "พระองค์ท่านทรงเป็นสตรีผู้อยู่เบื้องหลังการแก้ไขวิกฤตต่างๆ ของชาติบ้านเมืองที่เราไม่เคยรู้มาก่อน"

บทความ "เปิดแนวรบใหม่ นอกพื้นที่อำนาจของศัตรู ?? " และ แถลงการณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขอลี้ภัยการเมืองด้วยเหตุผล"ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการยุติธรรม"


เมื่อเย็นวันอาทิตย์ที่ผ่านมานี้ มีข่าวแวบขึ้นมาว่า อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และครอบครัว ได้ยกเลิกตั๋วเครื่องบินที่จะเดินทางกลับประเทศไทยแล้ว สื่อทั้งหลายก็ตรวจสอบข่าวสารกันจ้าละหวั่นว่า เรื่องนี้มีความจริงเพียงใด และถ้าจริง จะมีความหมายอย่างไรต่อการเมืองไทย

ขบวนการต่อต้านทั้งหลาย ก็เงี่ยหูฟังสัญญาณอย่างสนใจ เพราะต้องช่วงชิงโอกาสทำคะแนนกับผู้สั่งการ ด้วยการทิ่มแทงคุณทักษิณให้ลึกลงไปอีก

ประชาชนผู้สนับสนุนคุณทักษิณก็ไม่สบายใจ เพราะมุ่งมั่นมาแล้วว่า ฝ่ายประชาธิปไตยต้องลุกขึ้นสู้อย่างเต็มกำลัง ฝ่ายอำมาตย์เขาส่งสัญญาณมาแล้วว่า เที่ยวนี้เอาตาย แล้วจะปล่อยให้เขาสมใจหรือ

ในประเด็นว่า คุณทักษิณจะกลับหรือไม่ หรือเมื่อไหร่ แนวความคิดแต่ละฝ่ายออกจะชัดเจนอยู่แล้ว เกือบจะเป็นบทละครที่เขียนไว้ล่วงหน้าได้เลย

ฝ่ายอำมาตย์จะคิดว่า ตนเองประสบความสำเร็จด้วยการไล่ทักษิณให้พ้นจากพื้นที่อำนาจของตนได้สำเร็จ ก็จะติดตามสถานการณ์ไประยะหนึ่ง หากไม่กลับมาจริง ก็จะใช้ประสบการณ์ที่เคยใช้มากับท่านปรีดี พนมยงค์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ศรีบูรพา ฯลฯ นั่นคือ ป้ายสีในประเทศให้กลายเป็นของเหม็นเน่า จนเข้าขั้นของต้องห้าม เพื่อมิให้ใครบังอาจเอ่ยถึงอีก

การทำให้ลืมไปเฉยๆ เป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่เคยใช้ได้ผลมาแล้ว เพราะเสมือนลบออกไปเสียจากประวัติศาสตร์ ทั้งที่ยังมีตัวเป็นๆ อยู่ ท่านปรีดีนั้นหายไปตั้งแต่เกิดรัฐประหาร พ.ศ.๒๔๙๐ แล้วกลับมา “เกิดใหม่” นั่นคือ มีผู้ที่กล้าเอ่ยถึง พูดถึงอีกครั้ง ก็เมื่อหลังเหตุการณ์วันประชาปีติ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๖ ห่างกันถึง ๒๖ ปีเต็ม

คราวนี้ก็จะงัดมาใช้อีกครั้งกับทักษิณ -หากไม่กลับมาจริง ฝ่ายที่สอง คือลูกน้องของอำมาตย์ ที่เขย่าบ้านเมืองอยู่ตามถนนหนทาง และตามสื่อกระแสหลักทั้งหลาย โดยเฉพาะกลุ่มพันธมิตรฯและ ASTV กลุ่มนี้จะรีบออกมาทวงว่า คุณทักษิณตัดสินใจไม่กลับ เป็นเพราะตนโดยตรง ตนเองได้โยนระเบิดลูกแล้วลูกเล่าเข้าใส่ จนเกิดผล ก็สมควรที่ตนจะได้รางวัลจากฝ่ายอำมาตย์ ที่มาใช้งานพวกตนอย่างสมราคา ตามข่าวแจ้งว่า ราคาที่ว่านั้น คือการสนับสนุนให้ตั้งพรรคการเมืองที่มีชื่อว่า “เทียนแห่งธรรม” ขึ้นมา เพื่อสืบทอดอำนาจที่กำลังจะหมดลง

แต่ผมเชื่อว่า อำมาตย์เขาฉลาดกว่านั้น เขาคงรู้ว่า การใช้งูพิษไปขบกัดศัตรูนั้นทำได้ แต่จะให้กอดงูพิษนั้นแนบอกไว้อย่างรู้บุญคุณ จนวันหนึ่งงูพิษแว้งกัดตน ก็คงจะเขลาเกินการณ์ ดังนั้น จะทำเหมือนสถานเสาวภา จับงูมารีดพิษออกเสียใหม่หมด เพื่อเอาพิษนั้น มาทำเซรุ่มแก้พิษงูตัวอื่นๆ ต่อไปอีก เพราะเปรียบไปแล้ว กลุ่มพันธมิตรฯและ ASTV เป็นเพียงงูพิษตัวหนึ่ง ในบ่อสีขาวขนาดใหญ่ของสถานเสาวภา ซึ่งเป็นหน่วยงานในความดูแลของสภากาชาดไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เท่านั้นเอง ไม่ใช่พญานาคราชแต่อย่างใด

ส่วนฝ่ายผู้สนับสนุนคุณทักษิณที่มีอยู่มากนั้น จะรู้สึกถึงเรื่องนี้ออกเป็น ๒ ทาง

ผู้คนที่รู้เรื่องลึกซึ้งจะอนุโมทนา ด้วยรู้ว่า เป็นยุทธวิธีอย่างหนึ่งในสนามรบ และไม่ใช่การยอมแพ้

ผู้คนที่รู้ไม่ลึกเท่าหรือไม่รู้อะไรนัก จะเกิดความตระหนก แม่ทัพหลบออกนอกสนามรบ ไพร่พลจะสู้กันต่อไปได้หรือ

แต่ทั้งสองกลุ่มนี้ คงจะเย็นลงทันทีที่เกิดการสื่อสารจากคุณทักษิณโดยตรง โดยเฉพาะเมื่อยืนยันว่า การถอยนั้นไม่มี จะยืนยันจากที่ไหนก็ไม่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นความคิดเห็นของฝ่ายไหนก็ตาม

ถ้าหากเรื่องนี้เกิดเป็นความจริงขึ้นมา การตัดสินใจครั้งนี้ จะส่งผลสะเทือนเลื่อนลั่นต่อราชอาณาจักรไทยทั้งหมด เพราะเท่ากับคุณทักษิณ กำลังเปิดแนวรบใหม่นอกพื้นที่อำนาจของศัตรูโดยตรง

เผด็จศึกง่ายกว่ากันเยอะ.


กาหลิบ

11 สิงหาคม 2551
นสพ.โลกวันนี้


**********

สำเนาแถลงการณ์ที่เขียนด้วยลายมือ








แถลงการณ์เรื่อง


การไม่ไปรายงานตัวต่อศาลฎีกา
แผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง



ก่อนอื่นกระผมต้องกราบขออภัยต่อคณะผู้พิพากษาคดีที่ดินรัชดาและพี่น้องประชาชนผู้สนับสนุนผมทุกท่าน ที่ผลและภรรยาได้เดินทางมาพำนักที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศที่ยึดหลักการประชาธิปไตยเหนือสิ่งอื่นใดและไม่ได้ไปรายงานตัวต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง

สิ่งที่เกิดขึ้นกับผมและครอบครัว พร้อมกับบุคคลผู้ใกล้ชิดเป็นผลพ่วงต่อเนื่องมาจากความต้องการขจัดผมออกจากการเมือง ด้วยการพยายามลอบสังหาร ตามมาด้วยการปฏิวัติรัฐประหาร แต่งตั้งคณะบุคคลที่เป็นปฏิปักษ์มาสอบสวนดำเนินคดีเฉพาะตัวผมและครอบครัวร่างรัฐธรรมนูญที่สืบทอดอำนาจเผด็จการ แต่งตั้งบุคคลที่สนับสนุนการปฏิวัติรัฐประหารทั้งทางตรงและทางอ้อมเข่าไปเป็นกรรมการในองค์กรต่าง ๆ เพื่อดำเนินการกับผม เมื่อมีการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม 2550ประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังคงเลือกพรรคพลังประชาชน ที่ผู้สมัครส่วนใหญ่มาจากพรรคไทยรักไทยเดิมให้กลับคืนมาทำหน้าที่ตัวแทนของพวกเขา

ผมคิดว่าเหตุการณ์คงจะดีขึ้น ผมคงมีโอกาสได้พิสูจน์ความบริสุทธิ์และได้ความเป็นธรรมจึงเดินทางกลับประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 ก.พ.51แต่เหตุการณ์กลับยิ่งเลวร้ายเพราะสิ่งเกิดขึ้นกับตัวผมและครอบครัวเป็นเสมือนผลที่เกิดจากต้นไม้ที่เป็นพิษ ผลของมันก็ย่อมเป็นพิษตามไปด้วย นั้นก็คือ ยังคงมีการสืบทอดระบอบเผด็จการในการจัดการ การเมืองไทยในระบอบประชาธิปไตย ตามด้วยการแทรกแซงกระบวนยุติธรรม โดยเอาผลลัพธ์ที่อยากจะได้เป็นตัวตั้ง เพื่อจัดการกับผมและครอบครัว ซึ่งบุคคลกลุ่มนี้ถือว่าผมเป็นศัตรูทางการเมือง โดยไม่คำนึงถึงระบบกฎหมาย ระบบข้อเท็จจริง

และการสอบสวนดำเนินคดีตามหลักนิติธรรมสากล ไม่ว่าจะเป็นกฏหมายว่าด้วยพยานหลักฐาน การบังคับใช้กฏหมายที่มีผลเป็นโทษย้อนหลัง ไม่ยอมใช้หลักฐานหลักนิติธรรมและหลักนิติรัฐ ผมและครอบครัวได้ถูกดำเนินการอย่างไม่เป็นธรรมเช่นนี้มาอย่างต่อเนื่อง

การแทรกแซงกระบวนยุติธรรมและการใช้ระบบ 2.มาตราฐานที่เห็นได้อย่างชัดเจน ทำให้ผมและครอบครัว พร้อมด้วยผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็นับว่าหนักหนาแล้ว แต่ยังเทียบไม่ได้กับการที่ระบบกระบวนการยุติธรรมของประเทศ และองค์กรที่เกี่ยวข้องที่มีเกียรติมีความน่าเชื่อถือสั่งสมมาเป็นเวลายาวนานต้องเสื่อมลง เพราะถูดนำมาใช้ทางการเมืองจนขาดความเป็นกลางซึ่งเป็นผลเสียต่อประเทศอย่างใหญ่หลวง

นอกจากนี้ ผมได้รับข่าวสารตลอดเวลาว่า ชีวิตของผมไม่ปลอดภัยเดินทางไปไหนมาไหน จึงต้องใช้รถกันกระสุน นี่คือ ผลที่ได้รับจากการที่ผมอาสาเข้ามาทำงานรับใช้ประเทศชาติ ราชบัลลังก์ และประชาชน ด้วยความทุ่มเททำงานอย่างหนัก มาตลอดระยะเวลาเกือบ 6 ปี ที่ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี

ผมจึงขอกราบขออภัยอีกครั้งหนึ่งที่ต้องตัดสินใจ มาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ และขอยืนยันว่า


1. ผมและครอบครัวมีความจงรักภักดีต่อ สถาบันพระมหากษัตริย์และพระราชวงค์ทุกพระองค์อย่างหาที่สุดมิได้ แม้ว่ามีผู้จงใจใส่ร้ายมาโดยตลอด

2. ถึงแม้ผมไม่ใช่คนดีสมบูรณ์แบบ แต่ผมขอยืนยันว่าผมไม่ได้เลวอย่างที่ถูกกล่าวหา เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมผมจะแถลงความจริงให้ทุกท่านทราบ วันนี้ยังไม่ใช่วันของผม ขอให้ผู้สนับสนุนผมอดทนอีกนิดนึงครับ

3. หากผมยังมีวาสนา ผมจะขอกลับมาตายบนผืนแผ่นดินไทย เฉกเช่นคนไทยทุกคนครับ


ด้วยความเคารพรัก

พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร


*********

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

จากขบวนการเสรีไทย สู่ 14 ตุลาคม 16 ถึงปัจจุบัน


ถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดเสวนา “การเคลื่อนไหวของขบวนการประชาชน จาก ขบวนการเสรีไทย (2484 – 2488) สู่ขบวนการนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน 14 ตุลาคม 2516 จนถึงปัจจุบัน” เนื่องในวาระครบรอบ 63 ปี วันสันติภาพไทย 16 สิงหาคม พ.ศ.2488 ครบรอบ 35 ปี 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ตามโครงการการจัดงานวิชาการเพื่อก้าวไปสู่การจัดงานในวาระครบรอบ 110 ปี รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ พ.ศ.2443-2553 เมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา


ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการให้ความหมาย “ขบวนการเสรีไทย” ว่าเป็น “ขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น” นั้นไม่เพียงพอ โดยให้เหตุผลว่า กลุ่มคนที่ต่อต้านญี่ปุ่นในช่วงเวลานั้นไม่ได้มีเอกภาพ แต่มีรูปแบบและมีนัยยะของการขับเคลื่อนที่ต่างกัน อีกทั้งคำว่า “เสรีไทย” นั้นยังเป็นการสถาปนาภายหลังที่สงครามโลกเสร็จสิ้นลง ซึ่งการทำงานก่อนหน้านั้นของเสรีไทยเป็นขบวนการเล็กและปิดลับ เรียกได้ว่าเป็นพวกใต้ดิน ดังนั้นน่าจะมองใหม่ในฐานะแนวร่วมชุดหนึ่งที่ประกอบด้วยหลายๆ ฝ่ายในการมีเป้าร่วมต้านญี่ปุ่น

โดยขณะนั้นกลุ่มคนที่ต่อต้านญี่ปุ่นมาก่อนอย่างเปิดเผยคือกลุ่มคนจีน เพราะกองทัพญี่ปุ่นได้เข้ารุกรานจีนแผ่นดินใหญ่ จนกระทั้งในเดือนธันวาคม พ.ศ.2484 ญี่ปุ่นบุกไทยและนั่นได้นำมาซึ่งความไม่พอใจของคนไทย จึงก่อให้เกิดกลุ่มต่อต้านญี่ปุ่นหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มไทยอิสระ กลุ่มไทยถีบ และเสรีไทย ซึ่งมีอยู่ทั้งในประเทศไทย อังกฤษ และอเมริกา โดยแบ่งเป็นสายต่างๆ

ตามความคิดของ ดร.สุธาชัย จากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ครั้งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำให้เริ่มต้นการก่อตั้งกลุ่มเสรีไทยในประเทศและนอกประเทศนั้นไม่ได้มีการติดต่อสื่อสารกัน แต่ต่อมาเกิดการเชื่อมโยงกัน เพราะการมีญี่ปุ่นเป็นเป้าหมายหลักเฉพาะหน้าร่วมกัน และแตกแยกกันไปในเวลาต่อมา

โดยมองได้จากภายหลังสงครามที่ได้มีการเลือก ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช (ขณะนั้นดำรงตำแหน่งอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ในฐานะหัวหน้าเสรีไทย สายสหรัฐอเมริกา) ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ได้รับการยอมรับจากเสรีไทยในประเทศ จึงอยู่ในตำแหน่งได้เพียงระยะเวลาสั้นๆ (17 กันยายน 2488 - 31 มกราคม 2489) และต่อมา ม.ร.ว.เสนีย์ได้ก้าวไปสู้ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์

ในส่วนความแตกต่างของ “ขบวนการเสรีไทย” และขบวนการนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน 14 ตุลาคม 2516 ดร.สุธาชัยกล่าวว่า มีความแตกต่างกันมากในส่วนรูปแบบเพราะเสรีไทยเป็นขบวนการปิดลับ แต่ใน 14 ตุลาเป็นขบวนการเปิดรับมวลชน ซึ่งเป็นขบวนการมีความแปลกใหม่ทั้งหมด และได้ผลในการโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการจอมพลถนอม กิตติขจร อีกทั้งยังมีผลทำให้การปกครองโดยระบอบเผด็จการภายหลังจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นมีระยะเวลาสั้นลง และไม่สามารถใช้เผด็จการเต็มรูปแบบได้

ดังเช่น เหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ที่มีพลเอก สนธิ บุญยรัตกลินเป็นหัวหน้าคณะ ซึ่ง ดร.สุธาชัยเชื่อว่ามีความคิดต้องการยึดอำนาจเผด็จการเต็มรูปแบบอยู่แต่ไม่อาจทำได้เพราะขบวนการต่อสู้ของมวลชนที่ผ่านมาได้สร้างให้ประชาชนมีความตื่นตัวในสิทธิเสรีภาพ ย่อมไม่ยอมตกอยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการอย่างเต็มรูปแบบ

ทั้งนี้ เหตุการณ์ 14 ตุลา ทำให้นักศึกษา กรรมกร ชาวนา ตื่นตัวทางการเมืองการปกครองที่เปิดให้หมู่ประชาชนชั้นล่างเข้ามามีส่วนร่วม โดยได้เอื้อประโยชน์ต่อนายทุนนอกระบบราชการด้วย เกิดการกระจายอำนาจที่เคยผูกขาดโดยส่วนราชการสู่ส่วนต่างๆ ถือเป็นรูปแบบของขบวนการมวลชนที่มีอำนาจการต่อรองเพิ่มมากขึ้น

ดร.สุธาชัย กล่าวต่อมาถึงการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ว่าโดยส่วนตัวคิดว่าการชุมนุมของพันธมิตรฯ ไม่ใช่ขบวนการมวลชน แต่เปรียบเทียบได้กับกลุ่มลูกเสือชาวบ้าน กลุ่มนวพล หรือกลุ่มกระทิงแดง ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่มีเป้าหมายรวมมวลชนด้วยวิธีการโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งถือเป็น “ขบวนการมวลชนเพื่อต้านมวลชน” และคิดว่าขบวนการของตัวเองมีความถูกต้องเป็นธรรม ดังเช่นความคิดของพลตรีจำลอง ศรีเมืองที่เชื้อเชิญคนมาร่วมทำบุญช่วยชาติด้วยการชุมนุม นอกจากนี้ยังได้วิพากษ์เอเอสทีวีและสื่อในเครือผู้จัดการว่าเผยแพร่ข้อมูลเชิงยั่วยุ ปลุกระดม คล้ายวิทยุยานเกราะและหนังสือพิมพ์ดาวสยามมากขึ้นทุกวัน


ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ราชบัณฑิต ผู้เขียนหนังสือ “ตำนานเสรีไทย” กล่าวว่า เสรีไทยคือความร่วมมือของประชาชนที่มีความแตกต่างหลากหลายเพื่อรับใช้ประเทศชาติให้พ้นจากเหตุการณ์คับขันของประเทศ ในช่วงสงครามอินโดจีน ราวปี พ.ศ.2484 ถึง2488 ซึ่งหากให้มองเมืองไทยในปัจจุบันคิดว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดเหตุการณ์ความร่วมแรงร่วมใจเช่นนั้นขึ้นอีก เพราะปัจจุบันปัญหาไม่ใช่เรื่องใหญ่ระดับชาติ แต่เป็นปัญหาเพียงเล็กน้อย ยังเกิดความสับสน ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ ทั้งนี้ คนไทยไทยปัจจุบันมีความแตกต่างกับคนไทยในสมัยนั้น ทั้งในด้านอุดมการณ์ จิตวิญญาณ และความคิดที่ไม่เหมือนกัน เหมือนกับเป็นคนละสายพันธ์กัน

จากประวัติศาสตร์ ความเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 เป็นมูลเหตุของความขัดแย้งในสังคม ซึ่งนับจากที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จนถึงปี พ.ศ.2484 บ้านเมืองก็ไม่ได้อยู่ในภาวะที่ที่ปรกติสุข เพราะเป็นยุคสมัยแห่งการปรับเปลี่ยนจากสิ่งเก่าที่คุ้นชินสู่สิ่งใหม่แบบขุดรากถอนโคน ผลก็คือการต่อต้านที่มีอย่างต่อเนื่อง ทั้งการก่อกบฏ การลอบยิง และลอบสังหารนายยกรัฐมนตรี ทำให้การพัฒนาประชาธิปไตยกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง ดังเช่นที่มีคนเคยกล่าวว่ากว่า 70 ปีของการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ยังก้าวไปไม่ถึงไหนก็ด้วยเหตุผลดังกล่าว

ในสภาวการณ์ความแตกแยกภายในประเทศที่คงอยู่ ปี 2484 กองทัพญี่ปุ่นบุกประเทศไทย ก็ได้ก่อเกิดความร่วมมือสมานสามัคคีเพื่อปฏิบัติภารกิจสำคัญในการปกป้องประเทศชาติไว้ โดยมีสิ่งรวมใจสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ “จิตสำนึกทางประวัติศาสตร์” เป็นเหมือนเชือกร้อยผูกพันจิตใจ ซึ่งหากไม่มีการปลูกฝัง ก็จะไม่มีวันมีจิตสำนึกร่วม และคนไทยปัจจุบันก็ขาดสิ่งนี้ไป โดยนับตั้งแต่หลักสูตรการเรียนการสอนที่ไม่ให้ความสนใจกับวิชาประวัติศาสตร์ ไม่มีการเรียนรู้ที่ใช้ประโยชน์ได้ เพราะประวัติศาสตร์ที่เรียนมีบริบทที่แตกต่างจากปัจจุบันมากจนไม่อาจผูกพันเชื่อมร้อยไปไม่ถึง และไม่อาจสรุปบทเรียนการแก้ปัญหาเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ได้ อีกทั้งบางส่วนยังรังแต่จะก่อให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อประเทศเพื่อนบ้าน

ดร.วิชิตวงศ์ กล่าวต่อว่า การมี “จิตสำนึกทางประวัติศาสตร์” ร่วมกัน ทำให้รู้ว่าประเทศชาติต้องการอะไร และนั่นทำให้ “ขบวนการเสรีไทย” เกิดขึ้นได้ โดยในส่วนของความแตกแยกที่มีเป็นเพียงเรื่องความแตกต่างวิธีการ เพราะต่างก็มุ่งสู่วัตถุประสงค์เดียวกัน และพักเรื่องความขัดแย้งเรื่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่มีมาไว้เบื้องหลัง

ด้านนายศุขปรีดา พนมยงค์ กรรมการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ทายาทของ อ.ปรีดีและท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ กล่าวถึงขบวนการเสรีไทยในอีสานว่าถือเป็นหนึ่งในการต่อสู้ของคนรากหญ้า โดยเล่าว่านับตั้งแต่ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ดินแดนอีสานได้ถูกทอดทิ้งและละเลยจากรัฐบาลส่วนกลาง จนเมื่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ทำให้เกิดการกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่นในลักษณะของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทำให้คนอีสานมีสิทธิมีเสียงในการปกครอง และต่อมาเมื่อมีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ที่เปิดโอกาสทางการศึกษาสำหรับคนทั่วไป ส.ส.อีสานจึงเกิดความตื่นตัวในสิทธิเสรีภาพอันพึงได้รับ

การเข้ามาในประเทศไทยของกองทัพญี่ปุ่นในปลายปี 2484 ทำให้ทุกคนในประเทศกระตือรือร้นในการปกป้องประเทศ รวมทั้ง ส.ส.อีสาน หลายคนก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าวโดยการเข้าร่วมในขบวนการเสรีไทย และมีการตั้งหน่วยพลพรรคในพื้นที่อีสาน เช่น “เตียง ศิริขันธ์” “สันต์ ปรายกูล” “ถวิล อุดล” “จำลอง ดาวเรือง” “ทองอินทร์ ภูริพัฒน์” ทำให้การจัดตั้งในขบวนการเสรีไทยได้ขยายไปในหมู่ครูประชาบาล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านทั่วไป

สิ่งที่น่าเสียดายเกิดขึ้น หลังจากสิ้นสุดสงครามและบ้านเมืองได้เปลี่ยนแปลงไป โดยในพฤศจิกายนปี 2490 เกิดการรัฐประหาร ทำให้กลุ่มผู้ร่วมขบวนการเสรีไทยในภาคอีสาน รวมทั้งกลุ่มครูประชาบาลถูกคุกคามอย่างหนัก มีการสังหาร 4 รัฐมนตรีโดยเครื่องมือของเผด็จการตำรวจในสมัยนั้น และอีกเหตุการณ์หนึ่งที่สำคัญคือการสั่งประหารชีวิต “ครูครอง จันดาวงศ์” ณ ที่เกิดเหตุ (ณ ลานประหาร อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร) ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งการปราบปรามคอมมิวนิสต์อย่างเข้มข้นและเหวี่ยงแหไปทุกหย่อมหญ้า ทั้งที่ครูครองไม่ใช่สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ไทย ทำให้เกิดความกดดันหมู่ประชาชนทั่วทั้งภาคอีสาน เป็นเหตุให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลรวมทั้งพรรคคอมมิวนิสต์ไทยใช้พื้นฐานตรงนี้ทำการเคลื่อนไหวในภาคอีสาน

นายศุขปรีดา กล่าวต่อมาว่า ในการเคลื่อนไหวของขบวนการเสรีไทยมีความพยายามลดความเชื่อถือของขบวนการเสรีไทย มาจากทางฝั่งสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ด้วยการเขียนหนังสือ “ขบวนการกรรมกรในการต่อสู้ญี่ปุ่น” ซึ่งขบวนการต่อสู้ญี่ปุ่นของกรรมกรจีนมีมาตั้งแต่ก่อนสงครามเพราะญี่ปุ่นได้เข้ารุกรานจีนแผ่นดินใหญ่ แต่นั่นไม่ได้เป็นการนำขบวนการเสรีไทย

นอกจากนี้นายศุขปรีดา ยังเล่าว่า เมื่อครั้งไปใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศจีนได้พบสารานุกรมจีนเล่มหนึ่งที่กล่าวถึงประวิติพรรคคอมมิวนิสต์ไทยโดยระบุว่าพรรคคอมมิวนิสต์ไทยเป็นผู้นำในการต่อสู้ญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งขณะนั้น อ.ปรีดีได้มีการต่อว่าไปทางจีน แต่ก็ไม่รู้ว่าปัจจุบันได้มีการแก้ไขหรือไม่อย่างไร

ทั้งนี้ หลังจากเสร็จสิ้นสงคราม กองทัพเจียง ไคเช็ค ต้องการเข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในประเทศไทยเหมือนที่ทำในอินโดจีน แต่กลุ่มเสรีไทยมีความหวาดกลัวว่าจะกลายเป็นเรื่องยุ่งยากหากจีนเข้ามาแล้วไม่ยอมถอนทหารออกไป ดังนี้จึงได้ยินยอมให้ฝ่ายพันธมิตร คือ อังกฤษนำทหารเข้ามาปลอดอาวุธทหารญี่ปุ่น ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศคู่สงครามไม่ใช่ประเทศผู้แพ้สงคราม ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่จีนคณะราษฎร ฝ่ายเจียง ไคเช็ค แต่สำหรับอังกฤษเองก็มีการแบ่งเป็นฝักฝ่ายทั้งฝ่ายทหารที่มองเห็นการทำงานของคณะราษฎรและเป็นมิตรต่อไทย กับฝ่ายพลเรือนที่ต้องการหนุนให้แก้แค้นคนไทยในฐานะที่เข้าร่วมกับกองทัพญี่ปุ่น


โดย : ประชาไท

ที่มา : ประชาไท : เสวนา: จากขบวนการเสรีไทย สู่ 14 ตุลาคม 16 ถึงปัจจุบัน

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

วันศุกร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2551

แอนดรูว์ วอล์กเกอร์: เศรษฐกิจพอเพียง ประชาธิปไตยพอเพียง และรัฐธรรมนูญชาวบ้าน


สัมภาษณ์โดย :
กองบรรณาธิการวารสารฟ้าเดียวกัน : 10 มกราคม 2551

จาก ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 6 ฉบับที่ 2 เมษายน – มิถุนายน 2551 ฉบับ “ขวาไทย”



ต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 10 หัวข้อย่อยจำนวนหนึ่งในการประชุมทางวิชาการครั้งนั้นเกี่ยวพันแวดล้อมเรื่องสถาบันกษัตริย์ ไล่เรียงตั้งแต่ภาพลักษณ์ของกษัตริย์ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หนังสือต้องห้าม ไปจนถึงเศรษฐกิจพอเพียง

ในโอกาสนั้นเอง ฟ้าเดียวกัน ได้นัดหมายกับแอนดรูว์ วอล์กเกอร์ (Andrew Walker) นักมานุษยวิทยาผู้หนึ่งจาก Research School of Pacific and Asian Studies มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) หลังจากเขาจบการนำเสนอผลงานชิ้นใหม่เรื่อง
“Royal Sufficiency and Elite Misrepresentation of Rural Livelihoods” ซึ่งในงานชิ้นดังกล่าว วอล์กเกอร์ได้ท้าทายวิธีคิดและการนำเสนอภาพชนบทของชนชั้นนำไทยผ่านการวิพากษ์ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งยังชวนให้เรามองเศรษฐกิจพอเพียงในฐานะที่เป็นเครื่องมือเชิงอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างหนึ่ง

วอล์กเกอร์เริ่มเข้ามาศึกษาในพื้นที่ภูมิภาคนี้ตั้งแต่ปี 2536 เพื่อทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกว่าด้วยความเชื่อมโยงของการค้าข้ามชายแดนระหว่างภาคเหนือของไทย ภาคเหนือของลาว และภาคใต้ของจีน จากนั้นเขาได้ผลิตงานวิชาการออกมาหลายชิ้นต่อเนื่องเกี่ยวกับการพัฒนาชนบท การจัดการทรัพยากร และความทันสมัยในภาคเหนือของไทย ปัจจุบันวอล์กเกอร์ยังเป็นผู้ร่วมสร้างเว็บบล็อก New Mandala ที่นำเสนอการวิเคราะห์และมุมมองใหม่ต่อภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างโดดเด่น

ล่าสุดวอล์กเกอร์เพิ่งเสร็จสิ้นการวิจัยภาคสนามที่ใช้เวลาประมาณ 4 ปี ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ ผลจากการศึกษานั้น ส่วนหนึ่งก็คือบทวิเคราะห์ว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่เขานำเสนอในที่ประชุมไทยศึกษาฯ และอีกส่วนหนึ่งคือบทความที่ชื่อ “The Rural Constitution and the Everyday Politics of Elections in Northern Thailand” ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Contemporary Asia เมื่อต้นปีนี้ ในงานชิ้นหลังนี้ เขาพยายามศึกษาการเมืองในชีวิตประจำวันในหมู่บ้าน วัฒนธรรมการเลือกตั้งของท้องถิ่น ระบบคุณค่าทางการเมืองของชาวบ้าน ก่อนที่จะนำเสนอสิ่งที่เขาเรียกว่า “รัฐธรรมนูญชาวบ้าน” เพื่อตอบโต้ทัศนคติเดิมๆ ที่เห็นว่าชาวบ้านชนบทไทยขาดคุณสมบัติพื้นฐานของการเป็นพลเมืองในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ ด้วยเป็นผู้ขาดการศึกษา โลกทัศน์คับแคบ ขาดการพัฒนาตนเอง ถูกครอบงำล่อหลอกง่าย ไปจนถึงชอบขายเสียง

ทั้งเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งเรื่องรัฐธรรมนูญชาวบ้านนี้เอง เป็นจุดเริ่มต้นของบทสนทนาระหว่าง ฟ้าเดียวกัน กับแอนดรูว์ วอล์กเกอร์

ในเวลาประมาณเพียง 1 ชั่วโมง เราพูดคุยแลกเปลี่ยนกันตั้งแต่เรื่องรากปัญหาของเศรษฐกิจพอเพียงความไม่เป็นประชาธิปไตย เนื้อแท้และผลกระทบของเศรษฐกิจพอเพียง ไปจนถึงความเชื่อมโยงกันระหว่างเศรษฐกิจพอเพียงกับประชาธิปไตยพอเพียง รัฐประหาร 19 กันยา และรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ก่อนจะจบด้วยรัฐธรรมนูญชาวบ้าน มุมมองใหม่ต่อวัฒนธรรมการเมืองในชนบทไทย การเลือกตั้งครั้งหลังสุด พร้อมข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่อปัญญาชนกระแสรอง

*
ขอขอบคุณ คุณพงษ์เลิศ พงษ์วนานต์
ผู้แปลบทสัมภาษณ์เป็นภาษาไทย

0 0 0


ฟ้าเดียวกัน: จากการศึกษาของคุณ เศรษฐกิจพอเพียงมีปัญหาอย่างไร ทั้งในเชิงปรัชญาและการนำไปปรับใช้ในการพัฒนาชนบท


แอนดรูว์ วอล์กเกอร์: เราสามารถพูดได้ว่าชนชั้นนำไม่ได้พยายามแสดงภาพที่แท้จริงของสังคมชนบท โดยเฉพาะเวลาพูดถึงเกษตรทฤษฎีใหม่มันอิงอยู่กับทัศนะที่ว่าเกษตรกรรมมีศักยภาพที่จะเป็นฐานรองรับความเป็นอยู่อย่างพอเพียงของท้องถิ่นได้ นั่นเป็นประเด็นหลักที่งานของผมพยายามจะท้าทาย ผมไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่าเกษตรกรรมมีศักยภาพที่จะเป็นฐานรองรับความพอเพียงของท้องถิ่นได้ พูดง่ายๆ คือว่าทรัพยากรทางการเกษตรมีไม่เพียงพอสำหรับรองรับวิถีชีวิตที่คนในชนบทต้องการ อาจจะมีเพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานแบบพอยังชีพเท่านั้น แต่นั่นไม่ใช่วิถีชีวิตที่คนชนบทสนใจ พวกเขาต้องการให้ลูกได้รับการศึกษา ต้องการพัฒนาที่อยู่อาศัย อยากดูโทรทัศน์ อยากมีอินเทอร์เน็ตที่บ้าน ฯลฯ เราเห็นเศรษฐกิจที่หลากหลายในพื้นที่ชนบท เพื่อรองรับความคาดหวังต่างๆ ในวิถีชีวิต ชาวบ้านในชนบทไม่สามารถที่จะพึ่งพาแต่เกษตรกรรมเพียงอย่างเดียวได้

ปัญหาหลักๆ ของเศรษฐกิจพอเพียงคือมันไม่ยอมรับความต้องการของคนเหล่านี้ เศรษฐกิจพอเพียงบอกให้คนอย่าอยากได้โทรทัศน์ คุณไม่ควรอยากที่จะส่งลูกไปเรียนมหาวิทยาลัย คุณควรจะพึงพอใจกับชีวิตชนบทที่เรียบง่าย ผมว่านี่คือสิ่งที่ไม่เป็นประชาธิปไตยโดยพื้นฐานในเศรษฐกิจพอเพียง คือไม่ยอมรับความต้องการของผู้คน และสิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกโกรธเล็กน้อยก็คือปรัชญานี้ถูกโฆษณาส่งเสริมโดยคนที่ร่ำรวยมหาศาล มันไม่เข้าท่าผมว่าเป็นเรื่องดัดจริต


ฟ้าเดียวกัน: คุณพยายามนำข้อมูลจากการวิจัยภาคสนามมาบอกว่าเศรษฐกิจที่เป็นจริงของชนบทไทยเข้ากันไม่ได้กับภาพเศรษฐกิจชนบทตามทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อแสดงให้เห็นว่าการนำเสนอภาพชนบทไทยของชนชั้นนำ (Elite representation) นั้นผิดเพี้ยนไปอย่างไร ปัญหาคือโดยทั่วไปคนไทยก็ไม่ได้เข้าใจว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวคิดที่นำเสนอภาพชนบทไทยที่แท้จริงอยู่แล้ว แต่เป็นการรณรงค์ให้ประชาชนกลับไปใช้วิถีชีวิตที่เหมาะสมดีงามมากกว่า ถ้ามองในแง่นี้ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีปัญหายังไง


แอนดรูว์ วอล์กเกอร์: ประเด็นสำคัญคือเศรษฐกิจพอเพียงเป็นวิธีคิดแบบกำกับควบคุม มันเป็นการควบคุมพฤติกรรมคน เศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้บอกว่าชีวิตชนบทจริงๆ เป็นอย่างไร ทว่ามันเป็นระบบกำกับควบคุมทางศีลธรรมว่าคนควรจะใช้ชีวิตอย่างไร และมีทัศนะเชิงลบต่อพฤติกรรมที่เป็นอยู่ คือบอกเป็นนัยว่าคนโลภมากเกินไปหรือเสี่ยงมากเกินไป

ผมคิดว่ามีแนวโน้มทางกระแสความคิดในบางแง่มุมของวิธีคิดแบบไทยที่เกี่ยวกับความชอบธรรมเชิงศีลธรรมของวิถีชีวิตชนบทที่เรียบง่าย ซึ่งคุณมองเห็นได้ในเศรษฐกิจพอเพียงและแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนทั้งหลายว่า มันมีชุดของศีลธรรมที่ชอบธรรมและแท้จริงอยู่ในวิถีชีวิตชนบท นี่เป็นแนวโน้มทางกระแสคิดในวัฒนธรรมและสังคมไทย แต่ผมก็ไม่เห็นว่ามันจะไปจนถึงขั้นที่จะบอกให้ประชาชนอพยพออกจากเมืองไปทำไร่ไถนา ผมเห็นความเป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจพอเพียงจะส่งผลกระทบต่อนโยบายสาธารณะ ในแง่การลดแรงกดดันต่อรัฐบาลในการเพิ่มการเข้าถึงบริการของรัฐในพื้นที่ชนบทให้มากขึ้น การพัฒนาโอกาสทางการศึกษา การสร้างและขยายโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เศรษฐกิจพอเพียงอาจถูกใช้เพื่อลดแรงกดดันของรัฐในการบริการประชาชน งบประมาณสำหรับการพัฒนาชนบทอาจจะถูกลดหรือตัดออกไปด้วยทัศนะที่ว่าประชาชนควรพึ่งตัวเอง เป็นต้น ผมคิดว่ามันมีนัยสำคัญในการลดภาระของรัฐบาล

ที่ผ่านมามีการหยิบยกเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในทางการเมืองด้วย เศรษฐกิจพอเพียงถูกใช้ในการโจมตีรัฐบาลทักษิณ โครงการต่างๆ เช่น กองทุนหมู่บ้าน โครงการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชน (SML) ถูกโจมตีว่าเป็นด้านตรงข้ามของเศรษฐกิจพอเพียง นี่คือสิ่งที่รัฐบาล พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ โจมตีตลอดโดยอ้างเศรษฐกิจพอเพียง


ฟ้าเดียวกัน: ชนชั้นกลางโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ดูเหมือนจะตอบรับแนวคิดส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม คุณเห็นความเชื่อมโยงระหว่างการยกย่องเชิดชูศีลธรรมของชนชั้นกลางกับการกำกับควบคุมศีลธรรมแบบเศรษฐกิจพอเพียงบ้างไหม


แอนดรูว์ วอล์กเกอร์: ผมคิดว่าชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ จำเป็นที่จะต้องมีสำนึกประเภทที่ว่าเรามีวัฒนธรรมไทยที่มีศีลธรรมชนิดที่เป็นของแท้ดั้งเดิมอยู่จริงๆ พวกเขาต้องการไปห้างสรรพสินค้า สยามพารากอน นั่งรถไฟฟ้าขณะเดียวกันพวกเขาก็ต้องการปลอบใจตัวเองว่าวัฒนธรรมไทยที่มีศีลธรรมขนานแท้นั้นมีอยู่ที่ไหนสักแห่ง พวกเขาจึงโยนไปที่ชนบท

ในแง่หนึ่งพวกเขาต้องการโยนภาระทางศีลธรรมไปไว้กับชนบทไทย เพื่อพวกเขาจะดำเนินชีวิตบริโภคนิยมต่อไปได้ มีการวิจารณ์มากมายเกี่ยวกับกองทุนหมู่บ้านของรัฐบาลทักษิณว่าสนับสนุนให้ชาวบ้านเป็นหนี้ แต่แทบไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์หนี้บัตรเครดิตในกรุงเทพฯ เลยคนกรุงเทพฯ จับจ่ายใช้สอยจนเต็มวงเงินบัตรเครดิต แต่กลับพูดกันแต่เรื่องชาวนาซื้อโทรศัพท์มือถือ พวกเขาโยนแรงกดดันด้านศีลธรรมนี้ไปให้ชาวบ้าน

เรื่องการเมืองก็เหมือนกัน มีความพยายามที่จะทำลายความชอบธรรมของอำนาจการเลือกตั้งของชนบทอยู่ตลอดเวลา ซึ่งกระทำผ่านวาทกรรมการซื้อเสียง สำหรับผม นี่คือสิ่งที่เชื่อมระหว่างเศรษฐกิจพอเพียงกับประชาธิปไตยพอเพียง เศรษฐกิจพอเพียงบอกว่าชาวบ้านทำคุณค่าแบบจารีตหล่นหายไปแล้ว ประชาธิปไตยพอเพียงบอกว่าชาวบ้านไม่ควรมีส่วนร่วมในระบบการเมืองระดับประเทศมากนักหรอก เพราะเวลามีส่วนร่วมก็เอาแต่ขายเสียง

ทั้งสองเรื่องนี้วางอยู่บนแนวคิดที่ว่าชาวบ้านไม่มีปัญญารับมือกับเศรษฐกิจยุคใหม่และระบบการเมืองสมัยใหม่ ผมคิดว่านี่เป็นเหตุผลสำคัญว่า ทำไมหลังรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 เศรษฐกิจพอเพียงจึงกลายมาเป็นส่วนสำคัญมากเหลือเกินในวาระของรัฐบาลที่จะทำลายความชอบธรรมของชาวบ้านที่สนับสนุนทักษิณ


ฟ้าเดียวกัน: อะไรคือตัวอย่างปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจพอเพียงไปลดทอนความชอบธรรมทางการเมืองของคนชนบทได้


แอนดรูว์ วอล์กเกอร์: ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการที่เศรษฐกิจพอเพียงกลายเป็นกรอบนโยบายศูนย์กลางของรัฐบาลหลังการรัฐประหาร หลายโครงการของรัฐบาลทักษิณถูกเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นโครงการเศรษฐกิจพอเพียง ในหมู่บ้านที่ผมทำงานวิจัยอยู่ โครงการลดความยากจนของทักษิณถูกขึ้นป้ายใหม่ แปะสติ๊กเกอร์ใหม่เป็นเศรษฐกิจพอเพียง

ส่วนประชาธิปไตยพอเพียงนั้นมีจุดเชื่อมโยงในเชิงวาทกรรม ผมไม่คิดว่าเราจะได้เห็นตัวบทกฎหมายเฉพาะเจาะจงที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจพอเพียงกับการเมืองว่าด้วยการเลือกตั้ง แต่ถ้าคุณมองลักษณะของการถกเถียงทางการเมืองในปีที่ผ่านมาในไทยจะเห็นว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้หนุนเสริมซึ่งกันและกัน ผมกำลังบอกว่าผมไม่สามารถให้ตัวอย่างเฉพาะได้ เพราะมันเกิดในระดับวาทกรรม ระดับสัญลักษณ์

แต่ก็มีตัวอย่างหนึ่งมีบทสัมภาษณ์พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ที่ดีมากๆ เขาพูดถึง “คลื่นใต้น้ำ” กับอันตรายของการซื้อเสียงอยู่ตลอดเวลา เขาบอกว่าเงินทำลายวิถีชีวิตชาวบ้านไทยและชาวบ้านต้องได้รับการศึกษาอย่างมากเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง นี่เป็นส่วนหนึ่งในวาทกรรมเศรษฐกิจพอเพียง


ฟ้าเดียวกัน: ในแง่นี้ถือได้ว่าผู้บริโภคเศรษฐกิจพอเพียงคือชนชั้นกลางหรือเปล่า


แอนดรูว์ วอล์กเกอร์: ผมคิดว่าใช่ เศรษฐกิจพอเพียงเป็นสินค้าสำหรับชนชั้นกลางเพื่อให้รู้สึกอุ่นใจว่าน่าจะยังมีวัฒนธรรมไทยที่มีศีลธรรมของแท้อยู่ที่ไหนสักแห่ง และมันยังช่วยให้ชนชั้นกลางรู้สึกสะดวกใจที่จะสนับสนุนรัฐประหาร การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของชาวบ้านไม่สำคัญเท่าไรเพราะพวกเขาไม่ยึดถือปฏิบัติตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง


ฟ้าเดียวกัน: อยากให้ช่วยขยายความเรื่องประชาธิปไตยแบบพอเพียง


แอนดรูว์ วอล์กเกอร์: ประชาธิปไตยพอเพียงก็คืออำนาจที่มาจากการเลือกตั้งควรมีจำกัด ระบบการเมืองไม่ควรอิงกับอำนาจจากการเลือกตั้งเพียงลำพัง อำนาจที่มาจากการเลือกตั้งควรถูกจำกัดโดยอำนาจศาลและอำนาจระบบราชการ ซึ่งแน่นอนว่าทั้งสองอำนาจนี้เชื่อมโยงกับอำนาจของกษัตริย์ เศรษฐกิจพอเพียงบอกว่าคุณไม่ควรไปข้องเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจภายนอกมากนัก ส่วนประชาธิปไตยพอเพียงบอกว่าคุณควรจำกัดการข้องเกี่ยวกับระบบการเมือง คุณไปออกเสียงเลือกตั้งได้ แต่คนที่คุณเลือกจะถูกกระหนาบโดยศาล โดยวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งครึ่งหนึ่ง โดยอำนาจต่างๆ ของราชการ ผู้พิพากษา และองคมนตรี ทั้งเศรษฐกิจพอเพียงและประชาธิปไตยพอเพียงมีหลักการเดียวกันคือจำกัดประชาชนให้เกี่ยวข้องเฉพาะเรื่องท้องถิ่นของตัวเองเท่านั้น เวลาคนพูดถึงประชาธิปไตยแบบไทยๆ หรือแบบเอเชีย ผมคิดว่ามันทำนองเดียวกัน

จากมุมมองของผม เห็นได้ชัดว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 พยายามวางกรอบจำกัดของประชา-ธิปไตย เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยพอเพียง สมาชิกวุฒิสภาครึ่งหนึ่งมาจากการแต่งตั้ง อำนาจศาลเพิ่มมากขึ้น ระบบการเลือกตั้งเปลี่ยนใหม่ เขตเดียวหลายเบอร์ ระบบสัดส่วนแตกเป็นแปดกลุ่ม ทั้งหมดพยายามลดทอนอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง


ฟ้าเดียวกัน: คุณเสนอว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่เป็นจริงหรือการพัฒนาชนบท หากไม่สอดคล้องกันจริงก็จะต้องเกิดความตึงเครียดอะไรบางอย่าง คำถามคือ ในเมื่อเศรษฐกิจพอเพียงขัดแย้งกับวิถีชีวิตที่เป็นจริงของชาวบ้านในชนบท แล้วชาวบ้านมีปฏิกิริยาต่อเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร พวกเขาเพิกเฉย ต่อต้าน หรือว่าเห็นด้วย


แอนดรูว์ วอล์กเกอร์: ประการแรกเลย ชนบทไทยมีคนหลากหลายประเภท ดังนั้นจึงมีความคิดเห็นที่หลากหลาย

ประการที่สองคือ ชาวบ้านที่ผมทำงานด้วยในหมู่บ้านมีความเป็นเหตุเป็นผลและคิดบนฐานความเป็นไปได้จริงในทางปฏิบัติ ผมตระหนักว่าในสภาวะการเมืองปัจจุบัน การใช้ภาษาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นมีประโยชน์ ถ้าผมไปขอทำโครงการจากเทศบาลหรือขอเงินมาทำอะไรสักอย่าง แน่นอนผมจะเรียกมันว่าโครงการเศรษฐกิจพอเพียง เวลาผมไปร่วมขบวนแห่ลอยกระทงในอำเภอผมก็จะต้องมีป้ายเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง ชาวบ้านก็ใช้เศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นประโยชน์ต่อพวกเขาเอง พวกเขาไม่โง่ จากประสบการณ์ที่ผมได้พูดคุยกับชาวบ้านในเรื่องนี้ สรุปได้ว่าพวกเขาเคารพเศรษฐกิจพอเพียงเพราะว่าแนวคิดนี้เป็นของในหลวง ชาวบ้านบอกว่ามันเป็นความคิดที่ดี ทฤษฎีที่ดี แต่พวกเขาก็บอกว่ามันไม่สอดคล้องกับชีวิตของเขา

ยกตัวอย่างอันแรกซึ่งเป็นเรื่องขำขัน ผมกำลังทานมื้อค่ำกับชาวนาคนหนึ่งโดยดูโทรทัศน์ไปด้วย สัญญาณภาพแย่มากเพราะอยู่บนภูเขา เขาบอกว่า ขอโทษด้วยอาจารย์ นี่เป็นโทรทัศน์ของในหลวง ผมถามว่าหมายความว่ายังไง เขาบอก “ทีวีพอเพียง” พวกเขาใช้วิธีนี้เวลามีอะไรที่ดีไม่เพียงพอก็จะบอกว่า นี่ละ “พอเพียง” ชาวนาอีกรายหนึ่งปลูกข้าวโพดแล้วผลผลิตตกต่ำ ได้ข้าวโพด น้อยมากไม่พอขาย เขาบอกว่าเขาจะกินเองแบบว่าเป็นเศรษฐกิจพอเพียง แน่นอนว่าเขาไม่ได้กิน แต่ทิ้งไปเลย ผมคิดว่าพวกเขาใช้มันอธิบายเวลาทำอะไรแล้วไม่เป็นผลว่าประชาชนควรใช้ชีวิตอย่างที่ในหลวงตรัส

ยังมีอีกตัวอย่างหนึ่ง ผู้หญิงคนหนึ่งบอกว่า เศรษฐกิจพอเพียงคือการบอกคนหนุ่มสาวในหมู่บ้านว่าอย่าออกไปแข่งขันในตลาดแรงงานในเมือง เนื่องจากคนในเมืองกังวลเรื่องการแข่งขันในตลาดแรงงาน คนชนบทมีการศึกษามากขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้คนเมืองกังวลเรื่องการแข่งขันกันหางานทำ ดังนั้นจึงบอกให้ชาวบ้านอยู่แต่ในหมู่บ้านเสีย ผมว่านี่เป็นการวิจารณ์เศรษฐกิจพอเพียงอย่างตรงไปตรงมา แต่คุณต้องรู้จักและได้รับความไว้วางใจเสียก่อนเขาจึงอยากจะพูดเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา เพราะว่าเศรษฐกิจพอเพียงสัมพันธ์กับกษัตริย์โดยตรง


ฟ้าเดียวกัน: แล้วชะตากรรมของเศรษฐกิจพอเพียงจะมีจุดจบเหมือนโครงการแผ่นดินธรรมแผ่นดินทองในสมัยรัฐบาล พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ หรือเปล่า


แอนดรูว์ วอล์กเกอร์: ผมว่ามันก็เป็นโครงการประเภทส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมทำนองนั้น คนหยิบสโลแกนเอาไปพูดโดยไม่รู้ว่ามันจะเกี่ยวกับชีวิตตัวเองยังไง บอกว่าฉันก็อยากใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง ถามว่าโทรศัพท์มือถือนี่เศรษฐกิจพอเพียงไหม ใช่! ทีวีล่ะเศรษฐกิจพอเพียงไหม ใช่! ลูกๆ ไปเรียนมหาวิทยาลัยล่ะ เศรษฐกิจพอเพียงไหม ใช่! ทุกอย่างเป็นเศรษฐกิจพอเพียงหมดเลย กลายเป็นคำที่ไม่มีความหมาย


ฟ้าเดียวกัน: ถ้าใครๆ ก็สามารถหยิบเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้และตีความให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเองได้ ฉะนั้นจะมีปัญหาอะไรหากชาวบ้านหรือปัญญาชนจะนำเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้เพื่อสร้างอำนาจให้ตัวเองหรือชุมชนหมู่บ้านเพื่อสู้กับโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่


แอนดรูว์ วอล์กเกอร์: ผมได้ฟังความเห็นที่แตกต่างกันจากอาจารย์หลายคน โดยเฉพาะอาจารย์ในเชียงใหม่ที่มองว่าโลกาภิวัตน์และรัฐเป็นตัวทำลายวัฒนธรรมหมู่บ้าน ไม่ต้องสงสัยเลยว่าทั้งโลกา-ภิวัตน์ ทุนนิยม และรัฐนั้นเข้าไปเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมหมู่บ้าน แต่ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างก็เป็นไปในทางที่ดีขึ้น ดังนั้นในแง่ทัศนะและความต้องการของชาวบ้าน การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจได้ช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของพวกเขา

ยกตัวอย่างชาวบ้านที่ผมทำงานวิจัยด้วยในภาคเหนือ เวลาพูดถึงอดีต สิ่งหนึ่งที่พวกเขาพูดถึงเป็นหลักคือความอดอยาก เมื่อก่อนพวกเขามีข้าวไม่พอกินสำหรับทั้งปี ต้องเดินข้ามภูเขาเพื่อไปหาข้าวจากหมู่บ้านอื่นหรือต้องออกไปทำงานเป็นกรรมกรในเชียงใหม่ แต่ตอนนี้พวกเขาปลูกข้าวได้พอ หรือสามารถสร้างรายได้มาซื้อข้าวได้ ดังนั้นผมจึงไม่เคยยอมรับทัศนะที่ว่าเศรษฐกิจหรือสังคมหรือวัฒนธรรมของหมู่บ้านถูกทำลายโดยโลกาภิวัตน์ เพราะฉะนั้นผมจึงไม่คิดว่าจะต้องมีการปกป้องอะไร ผมไม่คิดว่าชาวบ้านในชนบทไทยต้องการการปกป้องตนเองจากตลาดหรือรัฐ พวกเขาต้องการตลาดมากขึ้นต่างหาก ต้องการมีตลาดมากขึ้นและดีขึ้น เข้าถึงตลาดได้อย่างเท่าเทียมมากขึ้น จะได้ไม่ถูกพ่อค้าคนกลางเอาเปรียบ พวกเขาต้องการเข้าถึงตลาดโดยตรง จากประสบการณ์ของผม ชาวบ้านไม่ได้ต้องการรัฐน้อยลงด้วย พวกเขาต้องการบริการจากรัฐมากขึ้น พวกเขาต้องการให้รัฐหยิบยื่นบริการแก่พวกเขาเหมือนที่หยิบยื่นแก่คนกรุงเทพฯ อันนี้เป็นจุดที่ผมคิดต่างจากแนวทางวัฒนธรรมชุมชนมาก


ฟ้าเดียวกัน: แล้วในมุมมองของคุณ แนวคิดเศรษฐกิจชุมชนและวัฒนธรรมชุมชนที่นักวิชาการกระแสรองและเอ็นจีโอนำเสนอนั้นมีความเหมือนหรือต่างกับเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไรบ้าง


แอนดรูว์ วอล์กเกอร์: ความเหมือนคือทั้งสองอย่างนี้เน้นความสำคัญของเกษตรกรรมแบบยังชีพเป็นฐานของชีวิตในมิติด้านสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ นอกจากนี้ผมว่าแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนคล้ายกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาก พูดอย่างหยาบๆ คือมันทำให้ความยากจนกลายเป็นคุณงามความดีไป มันบอกทำนองว่าความยากจนเป็นสิ่งพึงปรารถนาและมีศีลธรรม กระแสการพัฒนาไปสู่ความทันสมัยที่เห็นในชนบทไทยเป็นตัวบ่อนทำลาย

ส่วนความต่างที่สำคัญคือ แนวทางวัฒนธรรมชุมชนเป็นแนวทางสำหรับชาวบ้านรากหญ้ามากกว่า เป็นเรื่องของการสร้างอำนาจชุมชนมากกว่า เป็นกระบวนการจากล่างขึ้นบน ขณะที่แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเป็นการผลักดันโดยรัฐ โดยคนจากนอกหมู่บ้าน แต่บางครั้งผมก็คิดว่านี่ไม่ใช่ความต่างที่ใหญ่โตอะไร บางทีผมคิดว่าแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนก็เป็นสิ่งที่มาจากภายนอก มาจากมุมมองนักวิชาการที่วิพากษ์วิจารณ์ตลาดกับรัฐ ประเด็นสำคัญสำหรับผมคือผมไม่เจอการวิพากษ์วิจารณ์ตลาดกับรัฐเวลาคุยกับชาวบ้านผมได้ยินคนบ่นเรื่องตลาด บ่นเรื่องรัฐ ทว่าชาวบ้านไม่ได้ต้องการปฏิเสธมัน แต่พวกเขาบ่นเพราะรู้สึกว่าไม่สามารถเข้าถึงมันได้ดีอย่างที่ควรจะเป็น

เวลานึกถึงความต่างระหว่างกระแสวัฒนธรรมชุมชนกับกระแสเศรษฐกิจพอเพียง เอาเข้าจริงแล้วกลับกลายเป็นว่าเหมือนกันมากเลยทีเดียว


ฟ้าเดียวกัน: คุณคงไม่ได้มองเศรษฐกิจพอเพียงในแง่เครื่องมือทางเศรษฐกิจอย่างเดียว คือมองในแง่เครื่องมือทางอุดมการณ์ด้วย ในทำนองเดียวกัน ถ้ามองเศรษฐกิจชุมชนหรือวัฒนธรรมชุมชนของเอ็นจีโอและนักวิชาการกระแสรองในแง่ที่เป็นเครื่องมือทางอุดมการณ์ มันต่างอย่างไรไหมกับเศรษฐกิจพอเพียง


แอนดรูว์ วอล์กเกอร์: ขอตอบแบบอ้อมๆ มีคนบอกว่าวัฒนธรรมชุมชนสามารถเป็นเครื่องมือทางอุดมการณ์เพื่อเสริมสร้างอำนาจของชาวบ้านได้ ผมว่ามันล้มเหลว ตัวอย่างที่ดีสำหรับเรื่องนี้คือท่าทีที่เอ็นจีโอ นักวิชาการ และนักเคลื่อนไหวจำนวนมากมีต่อเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 และรัฐบาล ทักษิณ พวกเขาได้สร้างการรณรงค์เพื่อเสริมสร้างอำนาจชาวบ้านด้วยภาพของเศรษฐกิจแบบยังชีพกับคุณค่าที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์ แล้วพวกเขาก็เห็นเกษตรกรออกไปสนับสนุนโครงการต่างๆ ของทักษิณ ดังนั้นเกษตรกรเหล่านั้นจึงไม่อยู่ในกรอบการเสริมสร้างอำนาจที่สำนักคิดวัฒนธรรมชุมชนได้ทำการรณรงค์มา ในที่สุดพอเกิดเหตุการณ์รัฐประหารขึ้นแล้วพวกสายวัฒนธรรมชุมชนทำยังไง พวกเขาเข้าข้างเกษตรกรเหล่านั้นที่เลือกทักษิณมาหรือเปล่า ผมคิดว่าพวกเขาไม่รู้จะทำยังไง นั่นเป็นส่วนหนึ่งของความล้มเหลวของการรณรงค์เสริมสร้างอำนาจชาวบ้านตามแนวคิดวัฒนธรรมชุมชน

เราน่าจะพูดถึงการใช้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเครื่องมือทางอุดมการณ์ด้วยเช่นกัน และผมคิดว่าเท่าที่ผ่านมามันแทบไม่ประสบความสำเร็จเลย บางทีผมก็คิดว่าการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2550 นั้นเป็นจุดจบของเศรษฐกิจพอเพียง ประชาชนออกเสียงไม่เอาเศรษฐกิจพอเพียง ถ้าผลการเลือกตั้งไม่ถูกขว้างทิ้งไป เราก็จะได้เห็นเศรษฐกิจพอเพียงเริ่มจางหายไป


ฟ้าเดียวกัน: นอกจากเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงแล้วงานศึกษาวิจัยของคุณยังได้นำเสนอเรื่อง “รัฐธรรมนูญชาวบ้าน” (rural constitution) ในหมู่บ้านของไทยด้วย รัฐธรรมนูญฉบับนี้แตกต่างกับรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมของนิธิ เอียวศรีวงศ์ อย่างไร


แอนดรูว์ วอล์กเกอร์: ผมเรียกมันว่ารัฐธรรมนูญชาวบ้านเพื่อเป็นการท้าทาย เวลาคนนึกถึงรัฐธรรมนูญก็จะนึกถึงเอกสารพิเศษบางอย่างที่เขียนโดยนักกฎหมายและคนบางกลุ่มแล้วถูกพระราชทานลงมา ผมพยายามจะบอกว่ายังมีรัฐธรรมนูญชาวบ้านด้วย มันเป็นคุณค่าและความเชื่อของชาวบ้านที่ว่าระบบการเมืองควรจะเป็นยังไง ผมว่ามันคล้ายกันมากกับรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมที่อาจารย์นิธิอธิบาย แต่ผมคิดว่านิธิอธิบายรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมเพียงฉบับหนึ่ง (จากที่มีอยู่หลายฉบับ) ซึ่งก็เป็นฉบับที่ค่อนข้างเป็นของชนชั้นนำ โดยกษัตริย์มีบทบาทเป็นศูนย์กลาง รัฐธรรมนูญชาวบ้านก็เป็นรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมประเภทหนึ่ง แต่ไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมของชนชั้นนำ


ฟ้าเดียวกัน: คุณคิดว่ารัฐธรรมนูญชาวบ้านมีความสำคัญต่อการเมืองในชีวิตประจำวันในชุมชนหมู่บ้านยังไง และรัฐธรรมนูญฉบับนี้สำคัญต่อการทำความเข้าใจการเมืองไทยอย่างไรบ้าง


แอนดรูว์ วอล์กเกอร์: ผมคิดว่าสิ่งสำคัญคือการท้าทายวาทกรรมการซื้อเสียงที่ครอบงำอยู่ เวลาคนพูดถึงการเมืองในชนบทของไทย มีแนวโน้มที่จะพูดเรื่องการซื้อสิทธิ์ขายเสียง แต่ผมพยายามเสนอแนวคิดเรื่องรัฐธรรมนูญชาวบ้านด้วยการบอกว่าชาวบ้านไม่ใช่เอาแต่ขายเสียง พวกเขาตัดสินใจบนฐานคุณค่าทางการเมืองอีกชุดหนึ่ง สิ่งสำคัญที่สุดที่ผมต้องการบอกคือว่า เราจำเป็นต้องทำ ความเข้าใจว่าคุณค่าทางการเมืองของชาวบ้านคืออะไร ไม่ใช่แค่ปัดไปง่ายๆ ว่าชาวบ้านขายเสียง


ฟ้าเดียวกัน: แม้เอ็นจีโอและนักวิชาการกระแสรองบางส่วนจะมีความคิดว่าชาวบ้านถูกประชานิยมของรัฐบาลทักษิณหลอก แต่ในขณะเดียวกัน เอ็นจีโอ นักวิชาการ และนักเคลื่อนไหวก็ผลิตงานที่พยายามอธิบายวัฒนธรรมทางการเมืองของชาวบ้านอีกแบบหนึ่งผ่านเรื่องขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ผ่านเรื่องประชาสังคม เพื่ออธิบายว่าชาวบ้านไม่ได้เฉื่อยเนือยหรือเป็นผู้ถูกกระทำ แต่กระตือรือร้นหรือเป็นผู้กระทำในทางการเมืองแบบหนึ่ง แนวคิดในลักษณะนี้ไม่เพียงพอหรือในการทำความเข้าใจการเมืองในชนบท อะไรคือข้อจำกัดของแนวคิดเหล่านี้ในฐานะมุมมองทางเลือกต่อวัฒนธรรมทางการเมืองในชนบทไทย


แอนดรูว์ วอล์กเกอร์: ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมหรือเอ็นจีโอหรือการเมืองรากหญ้า ในบางพื้นที่องค์กรเหล่านี้หรือประชาสังคมมีความสำคัญ แต่คนส่วนใหญ่ในชนบทไม่มีความเกี่ยวข้องกับขบวนการเหล่านี้ ผมว่าถ้าเราเขียนเกี่ยวกับการเมืองในชนบทในแง่ขบวนการภาคประชาชน เราก็จะละเลยประชากรจำนวนมากในชนบท

ผมต้องการจะบอกว่า ใช่ ขบวนการภาคประชาชนก็สำคัญ แต่เราก็ยังต้องมองการเมืองในเชิงการเลือกตั้งด้วย ขบวนการภาคประชาชนมักจะมีความเคลือบแคลงติดท่าทีต่อการเมืองในระบบเลือกตั้ง พวกเขาไม่ชอบนักการเมือง พวกเขาไม่ชอบแนวคิดเรื่องการเลือกตั้ง แต่ผมคิดว่าเราจำเป็นต้องมองถึงลักษณะที่ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการเมืองแบบเลือกตั้ง นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมผมถึงพัฒนาความคิดว่าด้วยรัฐธรรมนูญชาวบ้านขึ้นมา


ฟ้าเดียวกัน: การเลือกตั้งทั่วไปครั้งหลังสุดสะท้อนให้เห็นรัฐธรรมนูญชาวบ้านอย่างไรบ้าง


แอนดรูว์ วอล์กเกอร์: มันยังเร็วเกินไปที่จะพูดผมอยากทำวิจัยอีกมากเกี่ยวกับคุณค่าที่ชาวบ้านใช้ในการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้งครั้งหลังสุดนี้ คุณค่าหลายอันที่ผมพูดถึงในบทความอย่างเช่น ท้องถิ่นนิยม การบริหารจัดการที่ดี การเอาใจใส่ที่ได้รับจากผู้แทนราษฎร ผมว่ามันสำคัญ แต่ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เรื่องรัฐบาลทหารกับการรัฐประหารก็เป็นประเด็นที่ใหญ่มาก มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจลงคะแนนของชาวบ้าน คำตอบของผมตอนนี้คือต้องมีการทำวิจัยในเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่บอกว่าพวกเขาเป็นคนอีสานก็ต้องเลือกพรรคพลังประชาชนอยู่แล้ว นั่นมันน่าเบื่อ ต้องไปศึกษาว่าทำไมชาวบ้านจึงเลือกพลังประชาชน


ฟ้าเดียวกัน: แม้ชนชั้นนำจะพยายามดึงการเมืองให้ถอยกลับไปสู่ยุคก่อนรัฐบาลทักษิณ ผ่านการรัฐประหารหรือผ่านรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 แต่ถ้าดูจากผลการเลือกตั้ง ชนชั้นนำไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความเชื่อของชาวบ้านไม่ให้เลือกพรรคพลังประชาชนได้ จากการเลือกตั้งครั้งนี้เราสามารถบอกได้ไหมว่าการเมืองไทยจะไม่ถอยกลับไปอีกแล้ว


แอนดรูว์ วอล์กเกอร์: ผมไม่คิดว่าชาวบ้านจะยังคิดแบบเดิม พวกเขาแสดงปฏิกิริยาโต้ตอบสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น โต้ตอบการรัฐประหาร ผมยังไม่ได้กลับไปหมู่บ้านที่ผมทำงานวิจัยเลยตั้งแต่เลือกตั้ง แต่ผมก็มีผู้ช่วยวิจัยไปสัมภาษณ์ ชาวบ้านคุยเกี่ยวกับรัฐบาลทหารตลอดเวลา ทัศนะทางการเมืองของพวกเขาได้พัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปบางส่วนโดยเป็นผลจากปฏิกิริยาต่อการรัฐประหารและสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อจากนั้น และผมไม่คิดว่ามันจะเป็นเรื่องแค่ว่าพวกเขาต้องการกลับไปหาทักษิณหรือกลับไปหารัฐบาลเก่าหรือเอารัฐบาลเก่ากลับมาเท่านั้น ผมว่าพวกเขาคาดหวังถึงรัฐบาลแบบใหม่


ฟ้าเดียวกัน: การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา นโยบายของแต่ละพรรคการเมืองแทบไม่แตกต่างกัน บางพรรคเป็นประชานิยมมากกว่าไทยรักไทยด้วยซ้ำ ดังนั้นด้านหนึ่งชาวบ้านก็ไม่ต้องสนใจให้ความสำคัญกับพรรคไทยรักไทยหรือพลังประชาชนแล้วหรือเปล่า เพราะต่อให้เลือกประชา- ธิปัตย์ แต่ในแง่ของนโยบายก็มีการสนับสนุนสวัสดิการสังคมต่างๆ ให้ชาวบ้านคล้ายๆ กัน


แอนดรูว์ วอล์กเกอร์: นโยบายของแต่ละพรรคไม่ค่อยแตกต่างกัน รายงานจากหมู่บ้านที่ผมทำวิจัยอยู่บอกว่าชาวบ้านแค่ไม่เชื่อถือพรรคประชาธิปัตย์ ประชาธิปัตย์ไม่มีเครดิตว่าจะทำตามที่หาเสียงไว้จริงๆ ชาวบ้านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่มีศรัทธาหรือความไว้วางใจต่อประชาธิปัตย์ มันมีความรู้สึกว่าแม้นโยบายบนกระดาษจะดูไม่แตกต่างกันมาก แต่คนมีความเชื่อมั่นในพลังประชาชนหรือไทยรักไทย


ฟ้าเดียวกัน: เข้าใจว่ารัฐธรรมนูญชาวบ้านคงต้องมีลักษณะเฉพาะท้องที่ เพราะฉะนั้นในประเทศไทยคงมีรัฐธรรมนูญนี้หลายฉบับมาก


แอนดรูว์ วอล์กเกอร์: มีหลายฉบับมาก แต่คิดว่าอาจจะมีหลักการทั่วไปบางอย่างที่ชาวบ้านใช้ในการตัดสินใจทางการเมือง แต่ก็อย่างที่บอก เราต้องทำวิจัยรัฐธรรมนูญชาวบ้านฉบับต่างๆ แล้วมาเปรียบเทียบกัน ฉบับของภาคใต้เป็นอย่างไร ทำไมถึงเลือกประชาธิปัตย์ มันจะต้องมีคุณค่าทางการเมืองที่แตกต่างกัน ในอีสานก็จะต้องแตกต่างจากในกรุงเทพฯ เรามีการทำวิจัยน้อยมากเกี่ยวกับคุณค่าทางการเมืองของท้องถิ่นต่างๆ ในไทย คนมักจะอธิบายแค่ว่าซื้อเสียง หัวคะแนน พรรคพวก มีแต่การชักจูงของผู้นำในการลงคะแนนเสียงของชาวบ้าน ดังนั้นเราจึงละเลยวัฒนธรรมการเมืองของท้องถิ่น เราต้องไปศึกษาดูว่าวัฒนธรรมการเมืองของพวกเขาเป็นอย่างไร แน่นอนว่าต้องมีหัวคะแนน แน่นอนว่าต้องมีการซื้อเสียง แต่มันก็ไม่ใช่คำอธิบายทุกสิ่งทุกอย่าง อธิบายได้แค่บางส่วนเท่านั้น


ฟ้าเดียวกัน: เดิมเรามักจะได้ฟังแต่การวิเคราะห์ที่มองชาวบ้านชนบทไทยในเชิงที่เฉื่อยเนือยหรือถูกกระทำมาก ถูกหลอกลวง ถูกซื้อเสียง ไม่ฉลาด ไม่มีเหตุผล ไม่มีข้อมูล แต่พอมาอ่านงานของคุณเรื่องรัฐธรรมนูญชาวบ้าน ดูเหมือนว่าชาวบ้านจะฉลาดมาก มีเหตุมีผลมาก ตื่นตัวมากและมีฐานะเป็นผู้กระทำ การมองอย่างนี้มันจะสุดโต่งไปอีกแบบหนึ่งไหม


แอนดรูว์ วอล์กเกอร์: มันจะต้องมีอันที่อยู่ตรงกลาง ไม่ใช่ว่าชาวนาหรือชาวบ้านฉลาดกันทุกคน มีชาวนาที่โง่ ชาวนาที่ฉลาด ชาวนาที่ฉลาดปานกลาง ก็เหมือนมีอาจารย์โง่ อาจารย์ฉลาดพวกเขาเป็นคน ผมไม่อยากโรแมนติกโดยบอกว่าชาวบ้านไตร่ตรองรอบคอบมากในเรื่องการเมืองแต่ผมคิดว่าพวกเขามีวัฒนธรรมการเมืองที่ตื่นตัว มีวัฒนธรรมที่ตื่นตัวในการถกเถียงเรื่องการเมือง ประเมินเรื่องการเมือง คุยกันตลอดเวลา มีคนบอกว่าชาวบ้านไม่ใส่ใจเรื่องคอร์รัปชั่นของทักษิณ อันที่จริงชาวบ้านถกเถียงเรื่องคอร์รัปชั่นตลอดเวลา พวกเขาคุยทั้งเรื่องการเมืองท้องถิ่นและระดับประเทศ ชาวบ้านตัดสินใจว่า ใช่ ทักษิณทุจริตในบางแง่ แต่เขาทำอะไรอย่างอื่นที่ดี เมื่อชั่งตาชั่งแล้วพวกเขาต้องการเลือกทักษิณ ผมไม่ต้องการจะบอกเป็นนัยว่าชาวบ้านทุกคนเป็นอัจฉริยะ พวกเขาก็เป็นคนทั่วไป แต่ก็มีวัฒนธรรมการเมืองในหมู่บ้านที่ไม่เฉื่อยเนือยหรือยอมรับอะไรก็ได้


ฟ้าเดียวกัน: วัฒนธรรม/คุณค่าของหมู่บ้านในงานของคุณแตกต่างอย่างไรกับวัฒนธรรม/คุณค่าของหมู่บ้านอย่างในงานของสำนักฉัตรทิพย์ นาถสุภา


แอนดรูว์ วอล์กเกอร์: พูดง่ายๆ ก็คือผมมองว่าหมู่บ้านเป็นจุดหนึ่งในเครือข่ายที่แผ่ขยายไปยังระดับภูมิภาค ระดับประเทศ หรือบางครั้งก็ถึงกับระดับระหว่างประเทศเลย วัฒนธรรมและเศรษฐกิจเกิดขึ้นในความสัมพันธ์แบบเครือข่าย แต่พอพูดถึงเศรษฐกิจหมู่บ้านหรือวัฒนธรรมชุมชนแบบของฉัตรทิพย์ รู้สึกว่าหมู่บ้านจะมีลักษณะแยกตัวออกมากกว่า โดดเดี่ยวมากกว่า มันไม่รู้สึกว่ามีการเชื่อมโยงกัน เราควรจะมองหมู่บ้านในลักษณะที่เป็นจุดจุดหนึ่งในเครือข่าย หมู่บ้านนั้นถูกสร้างขึ้นในมิติของความสัมพันธ์กับรัฐ ความสัมพันธ์กับทุน และความสัมพันธ์กับการเมือง แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนนั้นมองสังคมและวัฒนธรรมว่าถูกสร้างขึ้นในลักษณะที่มีตำแหน่งแห่งที่ของมันเองอย่างเฉพาะเจาะจง ขาดความสัมพันธ์และเชื่อมโยง แต่ผมกลับมองอย่างเชื่อมโยงและเป็นเครือข่าย


ฟ้าเดียวกัน: เข้าใจว่าการศึกษาเรื่องรัฐธรรมนูญชาวบ้านนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นมาก แต่จากเท่าที่ศึกษามาคุณพอจะมองเห็นไหมว่ารัฐธรรมนูญชาวบ้านมีพลวัตอย่างไรบ้าง หรือมีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ภายใต้เงื่อนไขอะไร


แอนดรูว์ วอล์กเกอร์: ผมไม่คิดว่าเรารู้ เพราะเราขาดสำนึกเชิงประวัติศาสตร์ที่เข้มข้นพอเกี่ยวกับวัฒนธรรมทางการเมืองของชนบทว่าเป็นมาอย่างไร เรามีงานศึกษาอยู่บ้าง อย่างในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 ในช่วงที่มีการเคลื่อนไหวของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย เราพอรู้อยู่บ้างว่าวัฒนธรรมทางการเมืองในชนบทช่วงนั้นเป็นอย่างไรบ้าง แต่หลังจากนั้นไม่มีงานอะไรมากนัก มันจึงยากที่จะตัดสินว่าวัฒนธรรมการเมืองในชนบทพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ผมหวังว่าเรากำลังเริ่มที่จะทำความเข้าใจเรื่องนี้อย่างลึกซึ้งขึ้น เริ่มที่จะทำความเข้าใจพัฒนาการ แต่เราก็ต้องมาคิดหาหนทางในการศึกษา เพราะมันไม่ง่ายที่จะรู้วิธีศึกษาการเมืองในประเทศไทยที่ไม่เพ่งเล็งไปที่ชนชั้นนำ การวิเคราะห์การเมืองไทยจำนวนมากเน้นไปที่ชนชั้นนำ สถาบันกษัตริย์ พ่อค้า เจ้าพ่อ อะไรเหล่านี้ เราต้องเริ่มมองไปที่วัฒนธรรมการเมืองระดับหมู่บ้านแล้ว


ฟ้าเดียวกัน: คุณคิดว่าวัฒนธรรมทางการเมืองระดับหมู่บ้านเป็นส่วนหนึ่งของ “ภาคประชาชน” หรือเปล่า


แอนดรูว์ วอล์กเกอร์: นั่นขึ้นอยู่กับว่าคุณจะนิยาม “ภาคประชาชน” อย่างไร ถ้าคุณนิยามภาคประชาชนว่าเป็นเอ็นจีโอ เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ผมว่ามันไม่ได้เป็นส่วนหนึ่ง สำหรับผม ภาคประชาชนใหญ่กว่านั้นมาก อย่างชาวบ้านในหมู่บ้านที่ผมทำงานวิจัย พวกเขาไม่สนใจเอ็นจีโอ ขณะที่ใกล้แถวนั้นมีเอ็นจีโอในหมู่บ้านอื่นๆ บางแห่ง พวกเขาค่อนข้างระแวงเอ็นจีโอด้วยซ้ำ พวกเขาเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางสังคมหรือเปล่า ก็ไม่เชิง ดังนั้นผมหมายถึงวัฒนธรรมทางการเมืองแบบที่ไม่ค่อยเป็นทางการหรือนอกรูปแบบวัฒนธรรมทางการเมืองที่ไม่มีโครงสร้าง ไม่มีการจัดตั้ง ผมพูดถึงภาคประชาชนในความหมายกว้าง มันไม่ใช่รัฐ ไม่ใช่ราชการ

เวลาผมพูดถึงชนบทไทย ผมคิดว่าพวกเขามีสถาบัน พวกเขามีองค์กร แต่ผมไม่นิยามพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของภาคประชาชน และผมคิดว่ามีวัฒนธรรมที่ไม่เป็นทางการที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับองค์กร การจัดตั้ง หรือขบวนการเคลื่อนไหวใดๆผมคิดว่าภาคประชาชนจำนวนมากมีความเข้าใจที่จำกัดมากเกี่ยวกับวัฒนธรรมนี้ ภาคประชาชนจำนวนมากที่ทำงานประเด็นชนบท อย่างเช่นร่าง พ.ร.บ. ป่าชุมชน ขบวนการภาคประชาชนต้องการกฎหมายป่าชุมชนมาก แต่ชาวนาที่ผมทำงานด้วยในภาคเหนือ พวกเขาไม่สนใจร่าง พ.ร.บ. ป่าชุมชน มันไม่มีประโยชน์สำหรับพวกเขา ผมว่ามักจะมีช่องว่างอยู่เสมอระหว่างการรณรงค์ของภาคประชาชนกับประเด็นปากท้องเฉพาะหน้าของเกษตรกร


ฟ้าเดียวกัน: ถ้าชนบทไทยเปลี่ยนไปเป็นสังคมอุตสาหกรรม จะส่งผลยังไงต่อรัฐธรรมนูญชาวบ้าน


แอนดรูว์ วอล์กเกอร์: เวลาผมพูดถึงรัฐธรรมนูญฉบับหมู่บ้านหรือรัฐธรรมนูญชาวบ้าน ผมไม่ได้พูดว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเกษตร ผมว่าสิ่งสำคัญอันหนึ่งที่เราต้องแยกแยะคือ แยกหมู่บ้านออกจากเกษตรกรรม ชาวบ้านส่วนใหญ่อย่างน้อยสักครึ่งหนึ่งมีรายได้ส่วนใหญ่จากนอกภาคการเกษตร ผมจึงคิดว่าชนบทไทยไม่ได้เป็นสังคมเกษตรกรรมอีกต่อไปแล้ว ดังนั้นต่อให้เป็นสังคมอุตสาหกรรม เราก็จะยังมีรัฐธรรมนูญชาวบ้าน ยังมีรัฐธรรมนูญฉบับท้องถิ่นซึ่งไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่บนฐานของการเป็นสังคมเกษตรกรรม ผมไม่คิดว่าวัฒนธรรมหมู่บ้านของแท้จะต้องเป็นเกษตรกรรม


ฟ้าเดียวกัน: รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมของนิธิมีสถาบันกษัตริย์เป็นศูนย์กลาง แล้วในรัฐธรรมนูญชาวบ้านที่คุณพูดถึงนั้นสถาบันกษัตริย์อยู่ตรงไหน


แอนดรูว์ วอล์กเกอร์: ผมไม่เคยได้ยินชาวบ้านอธิบายการตัดสินใจทางการเมืองของตัวเองในเชิงที่เกี่ยวกับกษัตริย์ ผมไม่เคยได้ยินชาวบ้านบอกว่าจะเลือกทักษิณหรือไม่เลือกทักษิณเพราะทักษิณจาบจ้วงหรือจงรักภักดีเลย ผมว่านั่นไม่เป็นประเด็น นี่เป็นข้อแตกต่างที่สำคัญระหว่างรัฐธรรมนูญชาวบ้านของผมกับรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมของอาจารย์นิธิ ผมว่ากษัตริย์เป็น “เจ้า” ที่คนกราบไหว้ ที่คนอาจจะถือเป็นที่ยึดเหนี่ยว แต่สำหรับการตัดสินใจทางการเมืองมันเป็นเรื่องเชิงปฏิบัติ


ฟ้าเดียวกัน: เคยได้ยินประโยคที่ว่า “รักในหลวง ห่วงทักษิณ” ไหม หลังรัฐประหารมีคนอธิบายว่ามีความขัดแย้งระหว่างคนที่รักในหลวงกับคนที่รักทักษิณ แต่ก็มีบางคนอธิบายว่าชาวบ้านนั้นรักในหลวงห่วงทักษิณ คือรักทั้งคู่


แอนดรูว์ วอล์กเกอร์: ผมไม่เคยได้ยินใครพูดในเชิงว่าต้องเลือกระหว่างทักษิณกับกษัตริย์นะ ทักษิณเป็นผู้นำทางการเมือง ส่วนกษัตริย์ก็เป็นกษัตริย์ มันไม่เกี่ยวกัน แต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะทำวิจัยประเด็นนี้ เป็นเรื่องยากที่จะไปถามชาวบ้านตรงๆ ว่าคุณคิดอย่างไรเกี่ยวกับกษัตริย์และบทบาททางการเมืองช่วงรัฐประหาร


ooo

ที่มา : ประชาไท : ฟ้าเดียวกันสัมภาษณ์ “แอนดรูว์ วอล์กเกอร์”: เศรษฐกิจพอเพียง ประชาธิปไตยพอเพียง และรัฐธรรมนูญชาวบ้าน

ต้นทาง : ฟ้าเดียวกันออนไลน์ : แอนดรูว์ วอล์กเกอร์: เศรษฐกิจพอเพียง ประชาธิปไตยพอเพียง และรัฐธรรมนูญชาวบ้าน

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

วันพุธที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ถ้าผมเป็นมือที่มองไม่เห็น..!?


กระบวนทัพที่ผมจัดเอาไว้นั้นมันช่างมากมายเกินจำเป็น สิ่งสำคัญน่าจะอยู่ตรงปัญหาว่า “ผมจะควบคุมแขนงอำนาจต่างๆนั้นให้อยู่ในแถวแนวได้อย่างไรสำหรับเกมระยะยาว? เพราะตัวละครที่ปล่อยออกไปแต่ละตัวมันมีเลือดเนื้อ ชีวิตและวิญญาณ มีกิเลสตัณหาอะไรต่อมิอะไร ซึ่งเป็นรายละเอียดอยู่ในตัวเอง ทุกๆอย่างนั้นอาจใช้ได้ผลไปในเกมหนึ่งๆ แต่ก็มิใช่เป็นหลักประกันว่าจะได้ผลเช่นนั้นอยู่ตลอดเวลา...รวมทั้งตัวละครบางตัวอาจมีความเสี่ยง พร้อมที่จะย้อนกลับมาแว้งกัดได้ในจังหวะหนึ่ง หรือความลับอาจถูกเปิดโปง!

บทบาทที่หนักจริงๆจึงมิใช่เป็นบทบาทของเล่าปี่, โจโฉ หรือซุนกวน แม้จนขงเบ้ง บังทอง สุมาอี้ ฯลฯ แต่มันกลับเป็นบทบาทในฐานะของ
หลอก้วนจง ผู้เปรียบเสมือนบิดาที่ให้กำเนิดตัวละครทุกตัวตั้งขึ้นมาแล้วโลดแล่นไปตามบทบาทที่ได้บรรจงเขียนเอาไว้ด้วยปัญญาอันเลอเลิศ!

พันธมิตรฯ-ม็อบสะพานมัฆวานรังสรรค์นั่นย่อมเป็นฉากและตัวละครเพื่อไว้มุ่งชนความชอบธรรมของทักษิณ ชินวัตร โดยตรง ถ้าจะเปรียบเปรยไปแล้วย่อมเป็นกองทัพหลัก ผมจะใช้ทัพนี้กระหน่ำตีข้าศึกไปเรื่อยๆ แม้ชาติบ้านเมืองจะเสียหายหนัก แต่ก็นับว่าคุ้มค่าทีเดียวที่จะกดปฏิปักษ์เอาไว้ไม่ให้มันโงหัวขึ้นมา

ทัพจากเมืองมัฆวานรังสรรค์เป็นอำนาจหัวหอกสื่อสารมวลชนที่รุนแรง ซึ่งยังสามารถนำมาใช้ได้ผสมผสาน เป็นการสนธิกองกำลังของเครือข่ายสื่อสารมวลชนทั้งระบบ หนังสือพิมพ์ในมือก็มีอยู่หลายหัว จะเป็นทั้งหัวเถิก หัวฉอกเป็นง่าม หัวกลมหรือหัวล้านก็ล้วนอยู่ในระบบจัดตั้งแทบทั้งนั้น ยังไม่ต้องพูดถึงโทรทัศน์อีกกะบิมือหนึ่งที่ควบคุมเสียอยู่หมัด แถมมีสถานีวิทยุทั้งชุมชนและไม่ใช่ชุมชนคอยขับขานรับทอดอยู่ให้ทั้งแผ่นดิน


...แนวรบด้านนี้จะไปห่วงอะไร?

สถานะของเมืองมัฆวานฯมันมิใช่แก๊งคัดค้านอะไรที่เล็กน้อยต่อไปอีกแล้ว เป็นทั้งหัวหอกการเมืองภาคประชาชน พรรคการเมืองที่พร้อมปรับเป็นกระบวนการยึดกุมอำนาจรัฐ บ่อยครั้งยังเล่นบทบาทเป็นองค์กรอิสระคอยตรวจสอบอะไรต่างๆได้ตั้งมากมาย...นี่จึงเป็นเครื่องจักรสังหารชั้นดี ตราบใดที่มันจะไม่หันมาแว้งกัดผม?

ผมเดินเกมให้เมืองมัฆวานรังสรรค์ทำหน้าที่ไปเรื่อยๆ เพราะพวกนี้มันมีศัตรูหลักอยู่แล้วเป็น “ระบอบทักษิณ” แต่ผลข้างเคียงนั้นคงชักเสียวๆอยู่บ้าง ก็ไอ้พวกนี้ชอบอ้างตัวพร่ำเพรื่อเป็นทหารเสือของพระราชา -
พระราชินี บ่อยครั้งเล่นเลยธงกลายไปเป็นผู้บัญชาการของแต่ละเหล่าทัพเสียเอง ทำให้ผมไม่มั่นใจนักว่าสักวันหนึ่งข้างหน้าจะสามารถควบคุมพวกมันอยู่ในมือได้หรือไม่?

แต่ไม่เป็นไร? หากมันจะเสี่ยงก็ลองดู มีคดียังคาโรงคาศาลอยู่นับร้อยๆคดีเอาไว้ต่อรอง โดยเฉพาะเจ้าพวกแกนนำทั้งหลาย คงไม่น่าจะมีใครเลือกตายคาคุกแน่นอน แล้วอีกประการสำคัญผมยังมีสื่อจัดตั้งในลักษณะเป็นตัวตายตัวแทน ถ้ามันจะกล้าย้อนศรกับผมก็ขอให้รู้กันไป...

ทักษิณ ชินวัตร น่ะเรอะ!...นี้กลายเป็นเรื่องนอกสายตาไปแล้ว มันถูกหลอกให้มีความหวังว่าผมจะให้เมตตาตั้งหลายๆครั้งมันก็หลงเชื่อมาเสียจนทุกครั้ง ทางรอดของมันเห็นจะยากส์...ถูกยึดทรัพย์หมดตัวแน่นอน แผ่นดินจะมีอยู่หรือเปล่า? หรือบางทีจังหวะดีๆก็ดูท่าทางว่าถีบเข้าคุกไปเลย จะได้ถอนเสี้ยนจากเนื้อไปเสียที...ด้านหนึ่งเจอทั้งสื่อภิวัตน์ ปัญญาชนภิวัตน์ เท่านี้มันก็อ่วมเสียแล้ว ยังไม่นับตุลาการภิวัตน์ที่เที่ยงธรรมอีกต่างหาก...เรื่องนี้จบง่ายๆ!

หันไปดูข้างรัฐบาล “ลุงหมัก” ผมไม่เห็นว่าจะจัดการอะไรกันยากเย็นหนักหนา? ด้านหนึ่งผมคอยต่อรอง แต่อีกด้านผมใช้ใครที่ไหนก็ได้ทั้งนั้นคอยเตะตัดขาหรือเสียบข้างหลัง ลิดรอนมือเท้าออกไปเรื่อยๆแล้วส่งคนของตัวเองแทรกเบียดเข้าไปนั่งในเก้าอี้ต่างๆ นี้มันเป็นกลยุทธ์ยืมมือสมัครเอาไว้ยึดพรรคพลังประชาชน...ยึดและต่อรองแบบนี้จะไม่เข้าทีดีกว่าสั่งปฏิวัติรัฐประหารอีกหรือ?

ไอ้พวกขุนศึกน่ะหรือ? พวกนี้ไม่มีอะไรมากมายไปกว่าการแย่งยื้อเก้าอี้กันหรอก แยกสลายเข้าไว้ก่อน เป็น 4-5 ก๊ก มันก็รวมตัวยาก เผลอๆอยากปฏิวัติจริงจัง ใช้วิธีแต่งเป็นกองโจรแทรกเข้าไปกับม็อบมิดีกว่าหรือ? กลายเป็นสงครามกองโจรของประชาชนไปเสียเลย ให้ประชาชนหน้าโง่มันตีกันเอง ล่าล้างผลาญกันเอง ใครจะไปรู้หรือมาจับได้ไล่ทันอีก


...เป็นมือที่มองไม่เห็นก็ดีงี้แหละ
เพียงขออย่าให้ประชาชนรู้แล้วกันว่าตูเป็นใคร

เพราะมันรู้เมื่อไหร่ก็จะอยู่ไม่ได้ในแผ่นดินนี้!



ดร.ดำรงค์ เปลี่ยนศรีศร

คอลัมน์ :โต๊ะกลมระดมความคิด
หนังสือพิมพ์ :โลกวันนี้ : ประจำวัน อังคาร ที่ 5 สิงหาคม 2008



ที่มา : Thai E-News : ถ้าผมเป็นมือที่มองไม่เห็น..!?

หมายเหตุ
การเน้นข้อความ(บางส่วน)ทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ