เช้ามืดของวันพฤหัสบดีที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘ นักโทษชายที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำกลางบางขวาง ๓ คน ได้ถูกนำตัวไปยังหลักประหารของเรือนจำ นี่ไม่ใช่การประหารชีวิตธรรมดาๆ เพราะผู้ถูกประหารทั้งสาม คือ เฉลียว ปทุมรส ชิต สิงหเสนี และบุศย์ ปัทมศริน ผู้ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนลอบปลงพระชนม์ในหลวงอานันท์ รัชกาลที่ ๘ เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ หรือเกือบ ๙ ปีก่อนหน้านั้น
การสวรรคตของในหลวงอานันท์ เป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์สังคมและการเมืองไทย ถ้าเราไม่มองว่าสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้วในประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นเช่นนั้นเสมอไป เมื่อเปรียบเทียบกับความเป็นไปได้ว่าอาจจะเกิดสิ่งอื่นหรือในแบบอื่น เราก็จะเห็นผลสะเทือนของกรณีสวรรคตว่ามหาศาลเพียงใด พูดง่ายๆคือ ลองคิดว่า “หากไม่เกิดกรณีสวรรคต . . .” (ในบรรดาความเป็นไปได้ต่างๆที่อาจจะตามมาจากการไม่เกิดกรณีสวรรคต คือการสถาปนาอย่างมั่นคงของรัฐบาลพลเรือนและประชาธิปไตยรัฐสภา เป็นต้น) มองในแง่นี้ อาจกล่าวได้ว่า ไม่มีกรณีใดในประวัติศาสตร์ที่มีลักษณะขัดแย้งกันเอง (paradox) ระหว่างความสำคัญอันใหญ่หลวง กับ การเงียบงันไม่พูดถึง มากเท่ากับกรณีสวรรคตอีกแล้ว กรณีสวรรคตเป็นจุดสูงสุดของหัวข้อที่พูดไม่ได้ (ultimate tabooed subject)
เกี่ยวกับประเด็นนี้ ในทัศนะของผม ไม่เป็นความจริงทั้งหมดที่ว่า เรื่องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไม่สามารถพูดได้ในสังคมไทย ถ้าพิจารณาให้ดีจะพบว่า ไม่มีกรณีใดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ก่อนกรณีสวรรคตที่เป็นหัวข้อต้องห้ามในลักษณะที่กรณีสวรรคตเป็น ผมขอเสนอว่า อันที่จริง ภาวะที่กลายเป็นหัวข้อที่พูดไม่ได้ของกรณีสวรรคต ก็ไม่ใช่สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นเสมอไป แต่เป็นผลของบริบททางประวัติศาสตร์ คือสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ในขณะที่เกิดกรณีสวรรคตขึ้น น่าคิดว่า หากเหตุการณ์อย่างกรณีสวรรคตเกิดขึ้นในต้นทศวรรษ ๒๔๘๐ เมื่อคณะราษฎรยังมีความเข้มแข้งรวมหมู่ (collective political strength) สูงสุด ไม่มีศัตรูคู่แข่งที่สามารถท้าทายได้ (เพราะติดคุกหรือลี้ภัยหมด) และสามารถที่จะใช้ความเข้มแข็งนี้มารับมือกับเรื่องนี้ร่วมกัน (แบบเดียวกับศาลพิเศษ ๒๔๘๒ ที่ในทางปฏิบัติวินิจฉัยว่ารัชกาลที่ ๗ เป็นกบฏด้วยการบ่อนทำลายระบอบใหม่และช่วยเหลือกบฏบวรเดช)(๑) เหตุการณ์ที่ตามมาคงจะเป็นคนละอย่างและกรณีสวรรคตก็อาจจะไม่ได้มีสถานะดังที่เป็นอยู่ แต่ในความเป็นจริง บริบทของการเกิดกรณีนี้เป็นอีกอย่างหนึ่ง (การสิ้นสุดอำนาจของคณะราษฎร การแตกหักระหว่างพิบูลกับปรีดี และการเริ่มกลับมีบทบาทของกลุ่มที่เสียอำนาจไปเมื่อ ๒๔๗๕) กรณีสวรรคตจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นและสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่สร้างจารีตการพูดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไม่ได้ขึ้นมา
ในความเงียบเรื่องนี้ ผู้ที่ได้รับผลโดยตรงที่สุดก็คือ ผู้ที่ถูกประหารชีวิตไปเมื่อ ๕๐ ปีก่อนทั้ง ๓ คนนั่นเอง ในแง่หนึ่ง การรณรงค์เพื่อกู้ชื่อปรีดีจากการถูกใส่ความกรณีสวรรคตซึ่งสุพจน์ ด่านตระกูล เป็นผู้บุกเบิกตั้งแต่ทศวรรษ ๒๕๑๐ และหลังทศวรรษ ๒๕๒๐ ได้ประสบความสำเร็จ (คือเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าปรีดีไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสวรรคต) เป็นสิ่งชอบธรรม แต่ถึงที่สุดแล้ว สามารถอภิปรายได้ว่า ปรีดี พนมยงค์มีบทบาทต่อการเมืองไทยสมัยใหม่มากเกินกว่าที่จะกลบชื่อเขาได้ตลอดไป และปรีดีเองขณะที่ต้องสูญเสียอำนาจทางการเมืองและเสียชื่อเสียงเป็นเวลาหลายปี ก็ไม่ได้สูญเสียอย่างถึงที่สุด คือชีวิต ต่างกับผู้ถูกประหารทั้งสาม ลักษณะ “ให้ความสำคัญกับชนชั้นนำ” (elitist) ของสังคมไทยแสดงออกแม้ในกรณีนี้ (ผมตระหนักว่า การรณรงค์กู้ชื่อให้เฉพาะปรีดี มีประเด็นมากกว่าเรื่อง elitist นี้ แต่ลักษณะนี้เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์อย่างไม่ต้องสงสัย)
ในประเทศไทย ไม่มีประเพณีการแก้คำตัดสินที่ผิดของศาลฎีกา หรือรื้อฟื้นชื่อเสียงอย่างเป็นทางการให้กับผู้ที่ถูกตัดสินไปผิดๆ โดยเฉพาะถ้าคดีผ่านไปหลาย ๑๐ ปีอย่างกรณีนี้ แต่การที่เฉลียว ชิต และ บุศย์ ถูกตัดสินว่ามีส่วนในการลอบปลงพระชนม์ เป็นการตัดสินที่ผิดอย่างแน่นอน ในปี ๒๕๒๓ ปรีดีได้ตีพิมพ์สำนวนคำฟ้องที่เขาเขียนขึ้น ในคดีที่เขาเป็นโจทก์ฟ้องหมิ่นประมาทชาลี เอี่ยมกระสินธุ์กับพวก โดยให้ชื่อหนังสือที่ตีพิมพ์ว่า คำตัดสินใหม่ กรณีสวรรคต ร.๘ แน่นอนว่า นั่นเป็นการเรียกอย่างเกินจริง เพราะแม้แต่คำพิพากษาของศาลแพ่งในคดีนั้นเอง ก็เพียงแต่รับรองสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างปรีดีกับจำเลยเท่านั้น “คำตัดสินใหม่” ดังกล่าว จึงเป็นเพียงสำนวนคำฟ้องของปรีดีเอง อย่างไรก็ตาม ในสำนวนคำฟ้องนั้น ปรีดีได้เสนอประเด็นที่ฟังขึ้นว่า คำพิพากษาคดีสวรรคตควรถือเป็นโมฆะ เพราะทั้งศาลชั้นต้น และศาลฎีกา ได้ทำผิดกระบวนการพิจารณาคดีตามกฎหมาย(๒)
นอกเหนือจากขัดกับหลักกฎหมายแล้ว ในแง่สามัญสำนึก ทุกวันนี้มีใครบ้างที่ยังสติดี จะคิดว่าคนอย่างชิต สิงหเสนี ที่สืบเชื้อสายมาจากตระกูลที่รับใช้ราชวงศ์มาหลายชั่วคน ผู้ซึ่ง “ตอนที่ทรงพระเยาว์อยู่ ในหลวงรัชกาลที่ ๘ ทรงขี่ข้าพเจ้าเล่นต่างม้า” หรือคนอย่างบุศย์ ปัทมศริน ที่ “บางเวลาเข้าที่สรงแล้ว โปรดให้ข้าพเจ้าเช็ดพระวรกายทั่วทุกส่วน และบางทียังโปรดให้ข้าพเจ้าหวีพระเกษาถวาย” (๓) จะมีส่วนร่วมในแผนปลงพระชนม์? แล้วจะมีใครที่วาง “แผนปลงพระชนม์” ได้อย่างโง่เขลาเบาปัญญาเช่นนั้น? (กรณีเฉลียว ปทุมรส, เรย์น ครูเกอร์ ผู้เขียนกงจักรปีศาจ พูดถูกที่ว่า ไม่มีศาลประเทศตะวันตกที่ไหนจะไม่โยนการกล่าวหาที่ไม่มีหลักฐานเชื่อมโยงเฉลียวเข้ากับการสวรรคตเลยนี้ออกนอกศาลไป แม้แต่ศาลไทยในคดีนี้เอง หลังจากความพยายามทุกวิถีทางรวมทั้งสร้างพยานเท็จของฝ่ายโจทก์ ก็ยังไม่สามารถเอาผิดเฉลียวได้ทั้งในระดับศาลอาญาและศาลอุทธรณ์ ต้องรอมาจนถึงศาลฎีกา อาศัยตรรกะที่เหลือเชื่อมาสรุปว่าเฉลียวผิด)(๔)
การเมืองของความจำ: กรณีถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ
ผมขอเสนอว่า สิ่งหนึ่งที่แสดงว่าทุกวันนี้ ไม่มีใครที่สติดีจะคิดว่าผู้ถูกประหารชีวิตทั้งสามมีส่วนร่วมปลงพระชนม์ ก็คือการที่มีความพยายามจะปฏิเสธการเป็นผู้รับผิดชอบต่อความล้มเหลวที่จะช่วยชีวิตทั้งสามไว้ในโอกาสสุดท้าย คือในขั้นตอนการถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ (ซึ่งชวนให้นึกถึงกรณี ๖ ตุลาที่ในระยะหลัง หลายคนที่ดูเหมือนเคยมีบทบาทสนับสนุน – กระทิงแดง, จำลอง ศรีเมือง, สล้าง บุนนาค, ฯลฯ – พยายามปฏิเสธว่าไม่ได้มีบทบาทอย่างที่เข้าใจกันทั่วไป)
ในหนังสือชีวประวัติจอมพล ป. พิบูลสงคราม, อนันต์ พิบูลสงคราม ได้เขียนถึงกรณีสวรรคตว่า
ข้าพเจ้าจึงระงับใจไม่ได้ที่ต้องเรียนถามจอมพล ป. พิบูลสงคราม วันหนึ่งที่ประเทศญี่ปุ่นว่า ในฐานะที่เวลานั้นท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ เหตุใดท่านจึงไม่ขอพระราชทานอภัยโทษให้จำเลยสามคนที่ถูกศาลฎีกาพิพากษาประหารชีวิต ท่านตอบข้าพเจ้าทันทีอย่างหนักแน่นว่า “พ่อได้ขอพระราชทานอภัยโทษขึ้นไปถึงสามครั้ง ได้พยายามทำหน้าที่ของพ่อจนที่สุดแล้ว” ในอดีตที่ผ่านมา มีน้อยครั้งที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องเสียใจบ้างเมื่อทำอะไรไม่สำเร็จ แต่ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นครั้งใดที่ท่านจะเสียใจหนักยิ่งไปกว่าที่ข้าพเจ้ากำลังเห็นท่านครั้งนั้นขณะเมื่อได้ตอบคำถามของข้าพเจ้าจบ ด้วยใบหน้าที่เคร่งขรึมและสนเท่ห์ใจไม่เปลี่ยนแปลง(๕)อันที่จริง โดยสามัญสำนึก ใครที่อ่านเรื่องเล่านี้แล้ว ควรจะต้องสงสัยว่า การขอพระราชทานอภัยโทษในคดีเดียวจะสามารถทำได้ “ถึงสามครั้ง” หรือ? แต่ตราบใดที่ไม่มีหลักฐานอื่น โดยเฉพาะที่เป็นลายลักษณ์อักษรมาโต้แย้งความจำ (หรือข้ออ้าง) ของจอมพล ป ก็คงทำได้เพียงตั้งข้อสงสัยเท่านั้น(๖)
อีกด้านหนึ่ง ในหนังสือ The Revolutionary King ซึ่งอาศัยข้อมูลจากการสัมภาษณ์ในหลวง พระราชวงศ์ และข้าราชสำนักจำนวนมาก, วิลเลียม สตีเวนสัน ได้เขียนบรรยายอย่างละเอียดถึงการประหารชีวิตเฉลียว ชิต และบุศย์ ในเช้ามืดวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘ (บทที่ ๑๕ Execution – การประหารชีวิต) แล้วได้ “ตัดภาพ” ไปที่พระราชวังไกลกังวล ดังนี้
King Bhumibol woke up with a jolt from a dream in which a black sun struggle to get out of the aerial roots of a Buddha bo tree and the White Raven’s wings glinted like metal as they flapped across the pond toward the study where, when he was in residence at Chtiralada, he had been lately preparing for his ordination as a monk and pondering Buddhist laws. He remembered the law that every action generates a force of energy that returns to us in like kind. He had been told nothing about the executions.
The public heard first through marketplace gossip. This allowed Phao a final touch of cruelty. The unsuspecting families continued their usual early morning routine of making the rounds to plead for their men’s lives. The dragged-out fight had beggared them. The bureaucratic processes required them to go on foot or bicycle from office to office. Finally they made their way to revisit the prisoners.
The man at the gate said, ‘It’s too early to pick them up.’ Senator Chaleo’s daughter misunderstood. She thought she had come too early to escort her father once more to freedom.
The man corrected her: ‘You’re too early to pick up the bodies.’ Then she knew that all morning she had been trying to save the lives of the already dead. No official notification was issued.
The king hurried back from Far-From-Worry when the rumours reached him. He had let the months pass without interfering with the due process of law, thinking he had won his demand for a strong and independent judiciary.In his silent rage, he saw how powerless he really was. He had insisted that every citizen had the right to petition him directly. Now he discovered that attempts to reach him by the scapegoats’ families had been stopped by courtiers subverted by Phao’s police.
Phao circulated reports that the king had approved the executions because he wanted to end speculation about his part in the murder. On Phao’s desk remained the last written appeals from the dead men for a king’s pardon. (๗)
ทำนองเดียวกับความจำของจอมพล ป อาจตั้งข้อสงสัยได้ว่า ข้าราชสำนักขณะนั้นจะถูก subverted (ดึงตัวไปเป็นพวก) โดยเผ่าได้หรือ? โดยเฉพาะสำนักราชเลขาธิการซึ่งต้องดูแลเรื่องนี้ และขณะนั้นอยู่ในการควบคุมของ ม.จ.นิกรเทวัญ เทวกุล ซึ่งทรงโปรดเกล้าแต่งตั้งด้วยพระองค์เองให้อยู่ในตำแหน่งราชเลขาธิการตั้งแต่ปี ๒๔๙๓ (จนถึงปี ๒๕๐๕ ซึ่งรวมที่ทรงโปรดเกล้าต่ออายุราชการ ๕ ครั้งจนครบตามระเบียบที่ต่อได้) แต่ก็เช่นเดียวกันกรณีความจำของจอมพล ป ที่ผ่านมายังไม่มีใครหาหลักฐานมาปฏิเสธสิ่งที่สตีเวนสันเขียน
ข้างล่างนี้ ผมขอนำเสนอหลักฐานเอกสารที่คิดว่าสามารถยืนยันได้อย่างเด็ดขาดว่าความจริงของกรณีนี้เป็นอย่างไร ดังนี้
หลังจากศาลฎีกาได้ตัดสินให้จำเลยทั้งสามมีความผิดต้องประหารชีวิต เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๔๙๗ แล้ว เกือบ ๒ สัปดาห์ต่อมา ได้มีการนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในลักษณะนี้:
๑๗. เรื่อง คำพิพากษาศาลฎีกา คดีนายเฉลียว ปทุมรส กับพวกจำเลย (กระทรวงมหาดไทยเสนอคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๔๙๗ เกี่ยวกับคดีอาญากรณีประทุษร้ายต่อพระองค์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลว่า นายเฉลียว ปทุมรส นายชิต สิงหเสนี และนายบุศย์ ปัทมศริน จำเลยได้สมคบกับพวกร่วมรู้ในการปลงพระชนม์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เป็นความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา ๙๗ ให้ลงโทษประหารชีวิตนายเฉลียว ปทุมรส นายชิต สิงหเสนี และนายบุศย์ ปัทมศริน จำเลย คดีถึงที่สุดแล้ว)
มติ ทราบ(๘)
วันที่ ๕ พฤศจิกายน จำเลยทั้งสามได้ทูลเกล้าถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ โดยยื่นผ่านกรมราชทัณท์(๙) แต่กว่าเรื่องจะขึ้นมาถึงระดับคณะรัฐมนตรีก็เป็นเวลา ๑ เดือนเต็ม วันที่ ๘ ธันวาคม ฎีกาของทั้งสามถูกนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ดังนี้
๙. เรื่อง นักโทษเด็ดขาดชาย เฉลียว ปทุมรส นักโทษเด็ดขาดชาย ชิต สิงหเสนี และนักโทษเด็ดขาดชาย บุศย์ ปัทมศริน ขอพระราชทานอภัยลดโทษ (กระทรวงมหาดไทยนำส่งฎีกาพร้อมด้วยเอกสาร การสอบสวนของนักโทษเด็ดขาดชาย เฉลียว ปทุมรส นักโทษเด็ดขาดชาย ชิต สิงหเสนี และนักโทษเด็ดขาดชาย บุศย์ ปัทมศริน เรือนจำกลางบางขวาง ต้องโทษฐานสมคบกันกระทำการประทุษร้ายต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๘ (พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล) กำหนดโทษประหารชีวิต ขอพระราชทานชีวิตให้คงไว้ มา
น.ช. เฉลียวฯ อ้างว่า ตนยังมีความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตลอดไป ไม่เคยคิดที่จะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างใด ขณะนี้ ครอบครัวขาดผู้อุปการะ
น.ช. ชิตฯ อ้างว่า บรรพบุรุษในตระกูลของตน ซึ่งมีเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) เป็นต้นตระกูล ตลอดจนบิดา ได้เคยรับราชการสนองพระเดชพระคุณมาด้วยความจงรักภักดี ซื่อสัตย์สุจริต
ส่วน น.ช. บุศย์ฯ อ้างว่า ชีวิตของตนได้เติบโตขึ้นมา ก็โดยความอุปการะในพระบรมราชตระกูล ที่ได้ทรงชุบเลี้ยง การเข้ารับราชการจึงเป็นไปด้วยความจงรักภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้สอบสวนพิจารณาแล้ว ไม่เห็นควรจะพระราชทานอภัยลดโทษให้โดยอ้างว่า เรื่องนี้เป็นการประทุษร้ายแก่บุคคลสำคัญของประเทศ ตามหลักการของกระทรวงมหาดไทยซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบด้วยแล้วนั้น จะไม่ขอพระราชทานอภัยโทษให้ ควรยกฎีกาเสีย)
มติ – เห็นชอบด้วยตามกระทรวงมหาดไทย ให้นำความถวายบังคมทูลได้(๑๐)
นี่คือหลักฐานยืนยันว่า จอมพล ป จำผิดหรืออ้างอย่างผิดๆ (คือโกหก) ว่า ตัวเองได้ช่วย “ขอพระราชทานอภัยโทษขึ้นไปถึงสามครั้ง” จะเห็นว่า ในความเป็นจริง คณะรัฐมนตรีได้นำฎีกาของทั้งสามขึ้นกราบบังคมทูล โดยมีความเห็นว่า “ไม่ควรจะพระราชทานอภัยลดโทษให้...[เพราะ]เรื่องนี้เป็นการประทุษร้ายแก่บุคคลสำคัญของประเทศ ตามหลักการของกระทรวงมหาดไทยซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบด้วยแล้วนั้น จะไม่ขอพระราชทานอภัยโทษให้ ควรยกฎีกาเสีย”
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมคิดว่าต้องย้ำทำความเข้าใจในที่นี้คือ ความเห็นของรัฐบาล (คณะรัฐมนตรี) นี้ เป็นเพียงการแสดงความเห็นตามระเบียบเมื่อมีนักโทษถวายฎีกา ไม่ได้หมายความว่าเป็นมติที่ผูกมัดต่อพระมหากษัตริย์ เพราะการอภัยโทษเป็นเอกสิทธิ์และพระราชอำนาจ (prerogative) ของพระมหากษัตริย์ และแม้รัฐบาลจะมีความเห็นในทางปฏิเสธฎีกาใด ก็ยังต้องนำฎีกานั้นขึ้นทูลเกล้าให้ทรงวินิจฉัย (๑๑)
ในกรณีคดีสวรรคต เข้าใจว่าสำนักคณะรัฐมนตรี (คือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี-สลค. ในปัจจุบัน) คงส่งฎีกาผ่านไปยังสำนักราชเลขาธิการ ภายในไม่กี่วันหลังการประชุมวันที่ ๘ ธันวาคม (ผมเดาจากการได้อ่านหลักฐานการทำงานของสลค.จำนวนมาก โดยเฉพาะการออกจดหมายต่างๆที่เป็นผลจากการลงมติของครม.) แต่กระบวนการทำงานเหล่านี้ ตัวนักโทษทั้งสามและญาติ (หรือสื่อมวลชน) ไม่รู้ พวกเขาเพียงแต่รู้ว่าได้ยื่นฎีกาไปตอนต้นเดือนพฤศจิกายน เมื่อถึงกลางเดือนมกราคม คือกว่า ๒ เดือนหลังการยื่นของพวกเขา (หรือ ๑ เดือนเศษหลังการพิจารณาของครม.) หนังสือพิมพ์บางฉบับก็เริ่มลงข่าวถามถึงความคืบหน้า(๑๒) สยามรัฐได้ไปสัมภาษณ์รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอกเดช เดชประดิยุทธ ซึ่งยืนยันว่า “ฎีกาจำเลยคดีสวรรคตถึงในหลวงแล้ว”(๑๓) ยิ่งเมื่อเข้าเดือนกุมภาพันธ์ ดูเหมือนความสนใจของหนังสือพิมพ์จะเพิ่มขึ้น สยามรัฐรายงานข่าวว่า “ค.ร.ม.กำชับเจ้าหน้าที่ให้ปกปิด ผลการถวายฎีกาของจำเลยคดีสวรรคต ถ้ารั่วไหลจะเอาผิดแก่ผู้เกี่ยวข้อง” (ซึ่งตามหลักฐานที่มีอยู่ ไม่น่าจะจริง คือไม่ได้มีการกำชับอะไร) (๑๔) ใกล้กลางเดือน หนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกันรายงานยืนยันอีกว่ารัฐบาลถวายฎีกา และ “ราชเลขาธิการฝ่ายในได้ทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้วด้วย”(๑๕) ขณะที่ สารเสรี พาดหัวตัวโตว่า “เผยฎีกาเฉลียว, ชิต, บุศย์มืดมนต์ ราชทัณฑ์ยังปิด” แต่เนื้อข่าวเพียงทบทวนความเป็นของคดีตั้งแต่ปี ๒๔๘๙ และสัมภาษณ์ญาติของจำเลยซึ่งกล่าวว่า “กำลังรอสดับตรับฟังผลของการถวายฎีกาอยู่ ทางบรรดาญาติก็ร้อนใจ ได้พยายามวิ่งเต้นติดต่อสอบถามผู้เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับราชสำนัก แต่ก็ไม่มีใครอาจตอบได้”(๑๖)
ในความเป็นจริง หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติให้กราบบังคมทูลฎีกาขออภัยโทษได้เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคมแล้ว ก็ไม่มีการพิจารณาเรื่องคดีสวรรตในครม.อีกตลอด ๒ เดือนต่อมา ยกเว้นครั้งเดียวในปลายเดือนธันวาคมที่มีการเสนอให้รางวัลแก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับคดี (ซึ่งไม่มีผลต่อนักโทษทั้งสาม):
๑๘. เรื่อง ขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าและบำเหน็จให้เจ้าหน้าที่เกี่ยวกับกรณีสวรรคตเป็นกรณีพิเศษ (จอมพลผิน ชุณหะวัณ รองนายกรัฐมนตรีรายงานเสนอความดีความชอบข้าราชการซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับกรณีสวรรคต เพื่อขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จุลจอมเกล้า ให้รวมทั้งหมด ๒๖ ราย และเสนอขอเลื่อนบำเหน็จนอกจากบำเหน็จประจำปี ให้อีกคนละ ๑ ขั้น)
มติ – การขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้านั้น ให้รอไว้ก่อน จนกว่าจะถึงโอกาสอันควร ส่วนการขอเลื่อนบำเหน็จนั้น ให้ส่งกระทรวงเจ้าสังกัดพิจารณาต่อไป. (๑๗)
สรุปแล้ว ระหว่างต้นเดือนธันวาคม ๒๔๙๗ ถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๙๘ ชะตากรรมของเฉลียว ชิต และบุศย์ อยู่กับราชสำนัก ในที่สุด ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันพุธที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘ คำตอบที่พวกเขารอคอยมากว่า ๓ เดือน (จากวันยื่นฎีกา) ก็มาถึงอย่างเป็นทางการ:
เนื่องจากท่านนายกรัฐมนตรีไปเยี่ยมเยียนราษฎรและข้าราชการต่างจังหวัดภาคใต้ คณะรัฐมนตรีจึงได้ตกลงให้ จอมพล ผิน ชุณหะวัณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานที่ประชุม เริ่มประชุมเวลา ๙.๕๐ น. เลิกประชุมเวลา ๑๒.๕๐ น.
๑. เรื่อง น.ช. เฉลียว ปทุมรส น.ช. ชิต สิงหเสนี และ น.ช. บุศย์ ปัทมศริน ทูลเกล้าฯถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ (ตามที่กระทรวงมหาดไทย ได้ส่งฎีกาของ น.ช. เฉลียว ปทุมรส น.ช. ชิต สิงหเสนี และ น.ช. บุศย์ ปัทมศริน แห่งเรือนจำกลางบางขวาง ต้องโทษฐานสมคบกันกระทำการประทุษร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล กำหนดโทษประหารชีวิต ขอพระราชทานอภัยลดโทษ พร้อมด้วยเอกสารการสอบสวนไปเพื่อดำเนินการ และท่านนายกรัฐมนตรี ได้นำความกราบบังคมทูลต่อไปแล้วนั้น บัดนี้ ราชเลขาธิการแจ้งมาว่า ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว โปรดเกล้าฯให้ยกฎีกานี้)
มติ – ทราบ(๑๘)
อาจอธิบายได้ว่า การที่ในหลวง “โปรดเกล้าฯให้ยกฎีกานี้” ทรงอาศัยเหตุผลอย่างเดียวกับคณะรัฐมนตรีคือ “เป็นการประทุษร้ายแก่บุคคลสำคัญของประเทศ” (บนสมมุติฐานว่าการพิจารณาคดีและพิพากษาถูกต้องแล้ว) ซึ่งผมจะไม่แสดงความเห็นในที่นี้ แต่เห็นได้ชัดว่า สิ่งที่สตีเวนสันเขียนใน The Revolutionary King ที่ว่าในหลวงไม่ทรงทราบเรื่องฎีกาของ “แพะรับบาป” ทั้งสาม เพราะฎีกาถูกกักไว้ “บนโต๊ะเผ่า” ที่ว่าทรงทราบเรื่องภายหลังการประหารชีวิตแล้ว ทำให้ทรงกริ้วอย่างรุนแรง (rage) เหล่านี้ ล้วนไม่เป็นความจริง
ภายใน ๒๔ ชั่วโมงหลังจากคณะรัฐมนตรีรับทราบเรื่องนี้ ชีวิตของผู้ต้องโทษทั้งสามก็สิ้นสุดลง
วันก่อนการประหารชีวิต
พระราชโองการที่ราชเลขาธิการแจ้งมายังคณะรัฐมนตรี เข้าสู่ที่ประชุมในวันพุธที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ก็จริง แต่แน่นอนว่าเรื่องต้องมาถึงก่อนวันนั้น และต้อง “ออก” จากสำนักราชเลขาธิการก่อนหน้านั้นเล็กน้อย ช่วงนั้น ครม.ประชุมทุกวันจันทร์และพุธ การประชุมก่อนหน้านั้นคือ วันจันทร์ที่ ๑๔ ซึ่งยังไม่มีวาระนี้ ผมสงสัยว่าจดหมายแจ้งเรื่องระหว่าง ๒ หน่วยงานนี้ น่าจะอยู่ในช่วงวันที่ ๑๔ และ ๑๕ (ทั้งส่งและรับ อาจจะอยู่ในวันเดียวกัน) ปรากฏว่า ก่อนที่เรื่องจะเข้าสู่ที่ประชุมครม.ด้วยซ้ำ หนังสือพิมพ์รายวันเช้า ได้รู้เรื่องนี้ และตีพิมพ์เป็นข่าวใหญ่ พาดหัวตัวโตในหน้าแรก ของฉบับวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ (แสดงว่าน่าจะได้รับข่าววันที่ ๑๔):
ประหาร เฉลียว ชิต บุศย์
สั่งยกฎีกาจำเลยคดีสวรรคต
โดยมีพาดหัวตัวรอง และเนื้อหาของข่าวดังนี้
โปรดเกล้าฯให้ยกฎีกาจำเลยทั้งสาม
เป็นหน้าที่ราชทัณฑ์จะจัดการต่อไป
ฎีกากรณีสวรรคต ซึ่งผ่านระยะเวลามากว่า ๖๐ วัน ตามเงื่อนไขแห่งกฎหมาย ที่จำเลยทั้งสามได้ทำเรื่องราวขึ้นทูลเกล้าฯถวายฎีกา เพื่อขอให้ทรงวินิจฉัยลดหย่อนผ่อนโทษ ตามที่ศาลฎีกาได้พิพากษาให้ประหารชีวิตนั้น บัดนี้ ฎีกาของจำเลยได้ถูกยกเสียแล้ว
กระแสร์ข่าวจากวงในใกล้ชิดกับรัฐบาลซึ่งผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์นี้ทราบมา แจ้งว่าฎีกาที่จำเลยทั้งสาม คือ นายเฉลียว ปทุมรส นายบุศย์ ปัทมศรินทร์ นายชิต สิงหเสนีย์ จำเลยทำขึ้นทูลเกล้าฯถวายฎีกา ได้ผ่านการพิจารณาไปเป็นขั้นๆ ตั้งแต่อธิบดี เจ้ากระทรวง และคณะรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯมีพระมหกรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯวินิจฉัย ให้ยกฎีกาจำเลยทั้งสามนั้นเสีย ทั้งนี้ โดยทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจให้เป็นไปตามบทกฎหมาย โดยศาลยุติธรรมได้พิจารณาคดีนี้ไปแล้วจนถึงศาลสูงสุด
ต่อจากนี้ อนาคตของจำเลยทั้ง ๓ จะเป็นไปตามหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ ตามคำพิพากษาของศาล โดยที่พ้นกำหนดเวลา ๖๐ วันมาแล้ว(๑๙)
ผลการลงข่าวของ เช้า ทำให้ญาติของผู้ต้องโทษทั้งสามอยู่ในอาการเสียใจสุดขีด ตามรายงานข่าวของ สยามนิกร ฉบับวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ภายใต้พาดหัวตัวใหญ่ "ภรรยาเฉลียวร่ำไห้ ..... ในหลวงยกฎีกาจำเลยสวรรคต เฉลียว-ชิต-บุศย์รอวันตายไม่มีหวังรอดแล้ว”:
ภรรยาเฉลียวว่าสามีเชื่อตัวเอง
คิดว่าคงได้พระราชทานอภัยแน่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชวินิจฉัยให้ยกฎีกาของจำเลยในกรณีสวรรคตทั้งสาม คือนายเฉลียว ปทุมรส นายบุศย์ ปัทมศิรินทร์ และนายชิต สิงหเสนียแล้ว บุคคลทั้งสามจึงจะต้องถูกประหารชีวิตในเวลาอันใกล้นี้
ภรรยาของเฉลียวจำเลยผู้หนึ่งในคดีนี้เพิ่งทราบข่าวเมื่อเช้าวันที่ ๑๕ นี้เอง นางฉลวย ปทุมรส ร้องไห้สอื้นตลอดเวลา ร่างสั่นไปทั้งร่าง เมื่อพบกับผู้แทนสยามนิกรเมื่อเช้าวันที่ ๑๕ เดือนนี้และว่าเพิ่งจะพบกับสามีครั้งสุดท้าย เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๑ เดือนนี้เอง “คุณเฉลียวพูดว่าไม่เป็นไรหรอก จนดิฉันคิดเสียว่าอย่างไรเสียก็คงจะพระราชทานอภัยโทษ คุณพูดว่าตัวเราไม่ทำผิดอะไร เมื่อพบกันครั้งสุดท้ายคุณก็มั่นใจคิดว่าไม่เป็นไร”
ญาติผู้ใหญ่ของคุณฉลวยอีกผู้หนึ่งกล่าวว่า เมื่อได้รับข่าว ทีแรกก็ยังไม่เชื่อว่าจะต้องถูกประหารจริง
ฉลวย ปทุมรส ใช้ผ้าเช็ดหน้าซับน้ำตาสอื้น เล่าให้ฟังต่อไปว่า “เคยมีเพื่อนๆมาแนะนำให้เขาหนี ถามว่าทำไมไม่หลบไปเสีย
“ความบริสุทธิ์ใจของตัวเองแท้ๆ คิดว่าเราบริสุทธิ์ก็คงไม่เป็นไรเลยไม่คิดหนี พูดกันตามความเป็นจริง เวลาที่ขึ้นศาลตั้งสามปี ถ้าคิดจะหลบหนีก็คงพ้น”
“คุณเฉลียวไม่เคยขออะไรมาเป็นพิเศษเลยค่ะ เมื่อวันศุกร์ที่พบกันก็เห็นเฉยๆ มั่นใจว่าจะไม่เป็นไร คุณเฉลียวในระหว่างรอพระราชวินิจฉัยของในหลวง ก็สบายพอควร”
“ดิฉันเพิ่งทราบข่าวเมื่อเช้านี้เอง เด็กที่อยู่ที่ธนาคารเขาโทรศัพท์ไปบอกน้องสาว ดิฉันเองไม่ได้อยู่บ้าน น้องสาวเขาทราบว่าดิฉันอยู่ที่ไหน เขาเลยโทรไปบอก”
“ดิฉันให้เด็กไปตามคุณบุญสม (ภรรยาคุณบุศย์) แล้ว แต่เด็กไม่พบ ไม่ทราบว่าไปไหน”
เมื่อผู้แทนสยามนิกรไปถึงบ้านคุณฉลวย ปทุมรสนั้น คุณฉลวยนัยตาแดงๆแต่กลั้นน้ำตาไว้เชิญให้ผู้แทนของเราเข้าไปนั่ง เมื่อเราถามว่า ได้ทราบข่าวหรือยัง เธออุตส่าห์ไปหยิบหนังสือพิมพ์ออกมาให้ดูและยังไม่ร้องไห้ ทั้งๆที่ตาแดง แสดงว่าเพิ่งจะเช็ดน้ำตาให้แห้งหายไปหยกๆ
ต่อเมื่อเธอกลับเข้าไปสวมแว่นตาดำกลับออกมาและเริ่มเล่าให้ฟังว่าเธอคิดว่าจะไม่เป็นไร เธอไม่เคยคาดคิดมาก่อนเลยว่าจะไม่พระราชทานอภัยโทษ นางฉลวยตัวสั่นไปทั้งร่าง สอื้นไห้เหมือนคนที่กลั้นน้ำตาไว้ และในที่สุด ไม่สามารถจะหักห้ามใจไว้ได้ เธอสอื้นและเช็ดน้ำตาตลอดเวลา
ในตอนเที่ยงนางฉลวยได้เดินทางไปกรมราชทัณฑ์และที่อื่นๆอีกหลายแห่ง “วันนี้ดิฉันไม่สบายใจเลยค่ะ ไม่สบายใจเลยค่ะ” เธอกล่าวย้ำครั้งแล้วครั้งเล่า
ชตากรรมของจำเลยคดีสวรรคตทั้งสาม ซึ่งผ่านการพิจารณาพิพากษาของศาลมาแล้วทั้งสามชั้น เพิ่งจะเป็นที่เปิดเผยจากวงการใกล้ชิดเมื่อเย็นวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์นี้เองว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยกฎีกาขอพระราชทานลดหย่อนโทษประหาร ทั้งนี้เพื่อที่จะได้เป็นการกอร์ปพระราชกรณียกิจให้เป็นไปตามบทกฎหมายซึ่งศาลสถิตย์ยุติธรรมได้ลงความเห็นอันชอบไว้แล้ว . . . . . (๒๐)
ขณะที่พิมพ์ไทยวันเดียวกัน พาดหัวว่า “ราชเลขาให้รอแถลงการณ์รัฐบาล ราชทัณฑ์ยังไม่ได้รับคำสั่งประหารเฉลียว ชิต บุศย์” และรายงานว่า ม.จ.นิกรเทวัญ เทวกุล ราชเลขาธิการ “ได้รับสั่งกับคนข่าวของเราว่าฎีกาของจำเลยทั้งสามคนนี้ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯถวายมาหลายวันแล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่อาจแถลงอะไรอะไรให้ทราบได้ ‘รอฟังแถลงการณ์ของรัฐบาลก็แล้วกัน’” (๒๑)
การประหารชีวิต: ๑๒ ชั่วโมงสุดท้าย(๒๒)
ถึงตอนนี้ ทั้งผู้ต้องโทษและญาติคงหมดความหวังแล้ว เย็นวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ กรมราชทัณฑ์เริ่มเดินกลไกของการประหารชีวิต ประมาณ ๕ โมง เจ้าหน้าที่เรือนจำบางขวางได้ไปติดต่อกับภิกษุเนตร ปัญญาดีโพธิ์ เจ้าอาวาสวัดบางขวางที่อยู่ใกล้ๆกันว่าคืนนั้นขอนิมนต์ไปเทศน์ให้นักโทษที่จะถูกประหารชีวิตฟัง (โดยบอกด้วยว่าคือนักโทษคดีสวรรคต) เวลาเดียวกันที่เรือนจำ ผู้บัญชาการ (ขุนนิยมบรรณสาร) เรียกประชุมพัศดี ผู้คุมและพนักงานเรือนจำทั้งหมด สั่งให้เตรียมพร้อมประจำหน้าที่ นักโทษทั้งสามถูกนำตัวออกจากห้องขังมาทำการตีตรวนข้อเท้าตามระเบียบ เฉลียว ชิต และบุศย์ รู้ตัวทันทีว่ากำลังจะถูกประหารชีวิต ดูเหมือนว่าเฉลียวมีอาการปรกติ ขณะที่ชิตกับบุศย์ตื่นตระหนก จนเฉลียวต้องหันไปดุว่า “กลัวอะไร เกิดมาตายหนเดียวเท่านั้น” เฉลียวยังพูดหยอกล้อกับผู้ตีตรวนได้ หลังตีตรวนเสร็จ ทั้งสามถูกนำไปพิมพ์ลายนิ้วมือและตรวจโรคทำบันทึกสุขภาพ แล้วถูกพาไปที่ห้องขังชั่วคราว (ปรกติเป็นห้องเยี่ยมญาติ) ขณะนั้นเวลาประมาณ ๖ โมงเย็น ที่นั่นนอกจากมีผู้คุมเฝ้าดูอย่างใกล้ชิด เข้าประกบนักโทษคนต่อคนตลอดเวลาแล้ว ยังมีแพทย์คอยสังเกตและตรวจอาการเป็นระยะๆ (เพื่อป้องกันไม่ให้ป่วยเจ็บก่อนถูกประหาร) มีเสื่อปูให้นอน แต่ไม่มีใครนอน ราว ๑๙ นาฬิกา แพทย์ฉีดยาบำรุงหัวใจให้เฉลียว ๑ เข็ม แต่โดยทั่วไปเฉลียวยังสามารถพูดคุยกับผู้คุมได้ ขณะที่ชิตกับบุศย์มีอาการกอดอกซึมเศร้า เวลา ๒๒ นาฬิกา ผู้คุมเป็นพยานให้นักโทษทั้งสามเขียนพินัยกรรมหรือจดหมายฉบับสุดท้ายถึงญาติ
ประมาณตี ๒ เริ่มขั้นตอนประหารชีวิตจริง (ก่อนหน้านั้นอาจเรียกว่าเป็นขั้นตอนการเตรียม) หัวหน้ากองธุรการเรือนจำอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้นักโทษทั้งสามฟัง และแจ้งว่า “บัดนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกฎีกาของจำเลยทั้งสามแล้ว โดยพระองค์ได้ทรงขอให้คดีดำเนินไปตามตัวบทกฎหมาย ดังที่ศาลสถิตย์ยุติธรรมชั้นสูงได้ตัดสินไปแล้ว” (๒๓) ขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมงเศษ นักโทษทั้งสามนั่งฟังโดยสงบเป็นปรกติ(๒๔) หลังจากนั้น ภิกษุเนตร (ซึ่งดูเหมือนจะมาถึงตั้งแต่ตี ๒) ได้เทศน์ให้นักโทษทั้งสามฟังใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง ตามคำบอกเล่าของพระเนตรภายหลังเหตุการณ์ ระหว่างการเทศน์เฉลียวมีอาการปรกติ ยังสามารถนำอาราธนาศีลได้ ชิตนั่งสงบขณะที่บุศย์กระสับกระส่าย เมื่อเทศน์จบแล้ว ระหว่างที่พระเนตรกำลังจิบน้ำชาและพูดคุยกับนักโทษ บุศย์ซึ่งมีอาการโศกเศร้าที่สุดและหน้าตาหม่นหมองตลอดเวลา บอกกับพระเนตรว่า “เรื่องของผมไม่เป็นความจริง ไม่ควรเลย” และพูดถึงแม่ที่ตายไปแล้วว่าเป็นห่วง ตายนานแล้วยังไม่ได้ทำศพ ส่วนเฉลียวดูเหมือนทำท่าจะสั่งเสียบางอย่างกับพระเนตร (“กระผมจะเรียนอะไรกับพระเดชพระคุณฝากไปสักอย่าง”)(๒๕) แต่ยังไม่ทันได้พูดอะไร พอดีกับ เผ่า ศรียานนท์ พร้อมด้วยบริวารเกือบ ๑๐ คน (เช่น หลวงแผ้วพาลชน ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และตำรวจ “อัศวิน” อรรณพ พุกประยูร, พันศักดิ์ วิเศษภักดี และพุฒ บูรณะสมภพ) เดินทางมาถึงและเข้ามานั่งในห้องที่เก้าอี้ด้านหลังพระเนตร (เผ่าอยู่ในชุดสูทสากลหูกระต่าย สวมหมวกแบเร่ต์สีแดง) เฉลียวเห็นเข้าก็เอ่ยขึ้นว่า “อ้อ คุณเผ่า” หลังจากนี้พระเนตรก็กลับวัด ไม่ทันเห็นว่าเผ่ากับนักโทษได้พูดอะไรกันหรือไม่
หลังพระเทศน์ นักโทษถูกนำกลับห้อง ทางเรือนจำจัดอาหารมื้อสุดท้ายให้ แต่ไม่มีใครกิน เวลาประมาณ ๔.๒๐ น. เฉลียวถูกนำตัวเข้าสู่หลักประหารเป็นคนแรก โดยอยู่ในท่านั่งงอขา (เข้าใจว่าหลักประหารเป็นรูปกางเขน แกนด้านขวางซึ่งอยู่ใกล้พื้นสำหรับนั่ง) หันหลังให้ที่ตั้งปืนกลของเพชรฆาต ห่างจากปืนกลประมาณ ๕ เมตร นักโทษถูกมัดเข้ากับหลักประหาร มือทั้งสองพนมถือดอกไม้ธูปเทียนไว้เหนือหัวมีผ้าขาวมัดไว้ และมีผ้าขาวผูกปิดตา ด้านหน้านักโทษเป็นกองดิน ด้านหลังเป็นฉากผ้าสีน้ำเงิน บังระหว่างนักโทษกับเพชรฆาต บนฉากผ้ามีวงกลมสีขาวเป็นเป้าสำหรับเพชรฆาต ซึ่งตรงกับบริเวณหัวใจของนักโทษ เมื่อได้เวลา เพชรฆาตประจำเรือนจำ (นายเหรียญ เพิ่มกำลังเมือง) ก็ยิงปืนกลรัวกระสุน ๑ ชุด จำนวน ๑๐ นัด เสร็จแล้วแพทย์เข้าไปตรวจดูนักโทษเพื่อยืนยันว่าเสียชีวิต หลังการประหารเฉลียวประมาณ ๒๐ นาที ชิตก็ถูกนำตัวมาประหารเป็นคนต่อไปในลักษณะเดียวกัน เมื่อถึงคราวบุศย์ (ห่างจากชิตประมาณ ๒๐ นาทีเช่นกัน เขามีโรคประจำตัวเป็นลมบ่อย และเป็นลมอีกก่อนถูกนำเข้าหลักประหารเล็กน้อย ต้องช่วยให้คืนสติก่อน) เพชรฆาตยิงเสร็จ ๑ ชุดแล้ว ตรวจพบว่าบุศย์ยังมีลมหายใจ จึงยิงซ้ำอีก ๒ ชุด โดยยิงรัว ๑ ชุด แล้วตามด้วยการยิงทีละนัดจนหมดอีก ๑ ชุด (ผลการยิงถึง ๓๐ นัดนี้ทำให้เมื่อญาติทำศพ พบว่าเหลือเพียงร่างที่แหลกเหลวและมือขาดหายไป)(๒๖) ก่อนประหาร เผ่าให้หลวงแผ้วพาลชน ดูหน้าชิตกับบุศย์อีกครั้งให้แน่ใจว่าใช่ทั้งคู่จริง เมื่อยิงเสร็จแต่ละคน เผ่ายังเข้าไปดูศพด้วยตัวเองทุกคน หลังการประหาร ศพทั้งสามถูกนำมาวางบนเสื่อที่ปูด้วยผ้าขาว หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งอ้างว่า เผ่ายืนจ้องศพที่วางเรียงกันสักครู่ ทำท่าคล้ายขออโหสิกรรม แล้วพูดว่า “ลาก่อนเพื่อนยาก” (๒๗)
ตอนสายวันนั้น กระทรวงมหาดไทยได้ออกแถลงการณ์ฉบับหนึ่ง ดังนี้
แถลงการณ์ของกระทรวงมหาดไทย
ตามที่ศาลฎีกาได้พิพากษาลงโทษประหารชีวิตนายเฉลียว ปทุมรส นายชิต สิงหเสนีย์ และนายบุศย์ ปัทมะศิรินทร์ จำเลยในคดีต้องหาว่าประทุษร้ายต่อองค์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล และจำเลยทั้งสามได้ทูลเกล้าฯถวายฎีกา ขอพระราชทานอภัยโทษนั้น
บัดนี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ยกฎีกาของจำเลยทั้งสามเสีย ทางราชทัณฑ์จึงได้นำตัวจำเลยทั้งสาม ไปประหารชีวิตตามคำพิพากษา ในวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘ เวลา ๐๕.๐๐ น. ณ เรือนจำกลางบางขวาง ต่อหน้าคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วยผู้บัญชาการเรือนจำกลางบางขวางเป็นประธานกรรมการ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี นายแพทย์เชื้อ พัฒนเจริญ และนายหลอม บุญอ่อน รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าแผนกควบคุมเรือนจำกลางบางขวางเป็นกรรมการ ตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทยเป็นการเสร็จไปแล้ว จึงขอแถลงมาให้ทราบทั่วกัน.
กระทรวงมหาดไทยวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘(๒๘)
ตำนานนักโทษเล่า “ความลับ”กรณีสวรรคตให้เผ่าฟังในนาทีสุดท้าย
การปรากฏตัวของเผ่าที่การประหารชีวิตคดีสวรรคต ไม่ใช่เป็นไปตามหน้าที่ (จึงไม่มีชื่อเขาอยู่ในแถลงการณ์กระทรวงมหาดไทย) แต่นอกจากจะมาสังเกตการณ์แล้ว ที่จะกลายเป็นปัญหาสำคัญต่อมาคือเขาได้ทำอะไรที่นั่นอีกบ้างหรือไม่? พิมพ์ไทย รายงานว่า หลังพระเทศน์แล้ว เผ่าได้เข้าไปพบปะพูดคุยกับนักโทษทั้ง ๓ คนที่ห้องขังประมาณ ๑๐ นาที เพื่อปลอบใจ(๒๙) ขณะที่ เช้า ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวที่นำข่าวในหลวงทรงยกฎีกาของจำเลยมาเปิดเผยได้ก่อน ได้รายงานการพูดคุยระหว่างเผ่ากับนักโทษคนหนึ่ง (เฉลียว) ในลักษณะชวนตื่นเต้นอย่างมาก ภายใต้การพาดหัวว่า “เฉลียวขอพบเผ่าแฉความลับทั้งหมดก่อนประหาร”
เมื่อเจ้าหน้าที่ผูกตาเรียบร้อยแล้ว นายเฉลียวได้ขอร้องต่อเจ้าหน้าที่ ขอให้ได้พบกับนายพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์เป็นการด่วน ดังนั้น เจ้าหน้าที่จึงรีบแจ้งไปยัง พล.ต.อ.เผ่า ถึงความประสงค์ครั้งนี้ ซึ่งพล.ต.อ.เผ่า ก็ได้รีบไปพบกับนายเฉลียวโดยด่วน
จากการพบกับพล.ต.อ.เผ่า ก่อนถึงวาระสุดท้ายของนายเฉลียวครั้งนี้ ปรากฏว่าได้ใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ ๑๐ นาที นายเฉลียวได้กล่าวคำอำลา ส่วนถ้อยคำที่นายเฉลียวได้บอกแก่พล.ต.อ.เผ่า ก่อนที่นายเฉลียวจะอำลาจากโลกนี้ไปนั้นเป็นความลับ รู้สึกว่า พล.ต.อ.เผ่า มีความสนใจเป็นอย่างมาก(๓๐)
นี่คือจุดเริ่มต้นหรือต้นตอของข่าวลือที่แพร่หลายในช่วงใกล้ถึงปี “กึ่งพุทธกาล” (๒๕๐๐) ในทำนองที่ว่า เผ่าได้รู้ “ความลับ” ของกรณีสวรรคต ซึ่งจำเลย (จะเป็นคนเดียวหรือทั้ง ๓ คนก็ตาม) ได้เล่าให้ฟังก่อนตาย บางครั้งลือกันในทำนองว่าเผ่าได้ทำบันทึก “ความลับ” ที่ได้รับการบอกมานี้ไว้ด้วย ข่าวลือนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อความเป็นใหญ่ระหว่างกลุ่มการเมือง ๓-๔ กลุ่มในขณะนั้น คือ พิบูล, เผ่า, สฤษดิ์ และพวกนิยมเจ้า ดังที่ผมได้เคยเล่าไว้ในที่อื่นแล้วว่า ก่อนหน้าสฤษดิ์จะทำรัฐประหารในเดือนกันยายน ๒๕๐๐ ไม่นาน จอมพล ป ได้แอบติดต่อกับปรีดีในจีน เพื่อขอคืนดีด้วย เพื่อหาทางร่วมมือกันในการต่อสู้กับบทบาทและอิทธิพลของพวกนิยมเจ้าที่เพิ่มมากขึ้นและมีแนวโน้มจะให้การสนับสนุนแก่สฤษดิ์ โดยจอมพล ป สัญญาว่าจะรื้อฟื้นคดีสวรรคตขึ้นพิจารณาใหม่ เขาได้ใช้ให้คนสนิทคือสังข์ พัธโนทัย เป็นผู้ดำเนินการ ฝากข้อความไปถึงปรีดี (มีทนาย ๒ คนที่อยู่ในกลุ่มผู้สนับสนุนปรีดีเป็นคนถือจดหมายของสังข์ไปจีน)(๓๑) เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีการตีพิมพ์เผยแพร่จดหมายตอบของปรีดี ถึงสังข์ ลงวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๔๙๙ แสดงความยินดีในท่าทีขอคืนดีของจอมพล ป ในจดหมายนี้ ปรีดีได้ยืนยันโดยอ้อม (เพราะฟังจากสังข์มาอีกต่อหนึ่ง) ถึงการมีอยู่ของบันทึกกรณีสวรรคตของเผ่าว่า “ผมเห็นว่าคุณได้บำเพ็ญบุญกุศลอย่างแรงในการที่คุณได้แจ้งให้ผมทราบถึงบันทึกของคุณเผ่า ได้สอบถามปากคำคุณเฉลียว ชิต บุศย์ ก่อนถูกยิงเป้าที่ยืนยันว่า ผู้บริสุทธิ์ทั้งสามรวมทั้งผมไม่ได้มีส่วนพัวพันในกรณีย์สวรรคต” (๓๒)
หลังการประหารชีวิต
แม้ว่าคงแทบไม่เหลือความหวังว่าสามีจะรอดพ้นการถูกประหารชีวิต แต่บุญสม ปัทมศริน ก็ยังมาที่เรือนจำเพื่อเยี่ยมบุศย์ในเช้าวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ โดยไม่รู้มาก่อนว่า เขาได้ถูกประหารชีวิตไปแล้ว (เข้าใจว่าเป็นประเพณีหรือระเบียบทางราชการไทย ที่ไม่ประกาศเวลาประหารชีวิตล่วงหน้าไม่ว่ากรณีใด ไม่ใช่เฉพาะกรณีนี้) เธอเพิ่งได้รับการบอกเล่าจากเจ้าหน้าที่เรือนจำเมื่อมาถึงที่นั่นว่า สามีกับพวกถูกประหารแล้ว
“ดิฉันทราบโดยบังเอิญเมื่อเช้านี้เอง เมื่อรู้ก็รีบไปบอกภรรยาคุณเฉลียว แกก็เพิ่งทราบเหมือนกัน ถึงกับเป็นลมเป็นแล้งไปหลายพัก ต่อจากนั้น ดิฉันก็ไปพบภรรยาคุณชิต ไม่พบแก พบแต่ลูกสาว ซึ่งมารับด้วย นี่แกก็คงยังไม่รู้เรื่องแน่”
นางบุญสมเล่าอย่างเศร้าหมองต่อไปว่า เธอพบกับนายบุศย์ครั้งสุดท้ายในวันเยี่ยมเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว นายบุศย์ได้สั่งซื้อของมากอย่างผิดปกติ ทั้งๆที่เธอและนายบุศย์ก็ยังไม่ทราบว่า จะมีเหตุการณ์ที่ร้ายแรงเกิดขึ้น
“ดิฉันก็ได้จ่ายของให้แกครบทุกอย่าง และจะนำมาให้วันนี้อยู่ทีเดียว โธ่ไม่น่าเลยนะคะ จะตายทั้งทีขอเห็นใจกันหน่อยก็ไม่ได้” (๓๓)
จากตอนสายถึงบ่ายของวันนั้น เมื่อข่าวการประหารชีวิตแพร่ออกไป ญาติ ประชาชน และผู้สื่อข่าว ก็ทะยอยกันมารออยู่บริเวณด้านประตูเหล็กสีแดงที่ใช้สำหรับขนศพผู้ถูกประหารชีวิตออกนอกเรือนจำ จนเนืองแน่นบริเวณ บางส่วนไปรออยู่ในลานวัดบางแพรกหลังเรือนจำ ซึ่งปรกติศพผู้ถูกประหารจะถูกขนไปฝากไว้ บ่าย ๒ โมง ชูเชื้อ สิงหเสนี ภรรยาชิต นั่งรถมาถึงลานวัด ร้องไห้เสียใจอย่างหนัก “ดิฉันเพิ่งรู้เรื่องเมื่อเที่ยงกว่านี้เอง กำลังไปจ่ายของให้เขาอยู่ทีเดียว พอกลับบ้าน คนบอกถึงได้รู้เรื่อง” ส่วนฉลวย ปทุมรส หลังจากรู้ข่าวแล้ว เสียใจจนเป็นลมหลายครั้ง ทำให้ไม่สามารถมารับศพด้วยตัวเอง ให้น้องสาวมารับแทน
ประมาณบ่าย ๓ โมง เจ้าหน้าที่เรือนจำเริ่มขนศพของทั้งสามที่บรรจุในโลงออกมาจากเรือนจำทางประตูแดง โดยให้นักโทษ ๖ คนเป็นผู้แบกครั้งละโลง ชูเชื้อ ร้องไห้ ผวาเข้าไป โดยมีลูกสาว ๒ คนคอยช่วยพยุง ศพของเฉลียวถูกนำไปไว้ที่วัดสระเกศ ของชิตที่วัดจักรวรรดิ และบุศย์ ที่วัดมงกุฏ ตามระเบียบราชการ ห้ามญาติจัดงานศพอย่างเอิกเกริกให้กับผู้ที่ถูกประหารชีวิต
เมื่อเสียชีวิต เฉลียว ปทุมรส มีอายุ ๕๒ ปี ชิต สิงหเสนี ๔๔ ปี บุศย์ ปัทมศริน ๕๐ ปี แต่ทั้ง ๓ คนถูกจับไร้อิสรภาพตั้งแต่ปลายปี ๒๔๙๐
ภาคผนวก ๑ : การปูนบำเหน็จข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับคดีสวรรคต
ดังที่กล่าวในบทความ หลังการตัดสินของศาลฎีกา แต่ในระหว่างที่รอผลการขอพระราชทานอภัยโทษอยู่นั้น จอมพลผิน ชุณหะวัณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ “รายงานเสนอความดีความชอบข้าราชการซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับกรณีสวรรคต เพื่อขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จุลจอมเกล้า ให้รวมทั้งหมด ๒๖ ราย และเสนอขอเลื่อนบำเหน็จนอกจากบำเหน็จประจำปี ให้อีกคนละ ๑ ขั้น” ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๔๙๗ แต่ที่ประชุมลงมติว่าเรื่องการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นั้น “ให้รอไว้ก่อน จนกว่าจะถึงโอกาสอันควร” ส่วนการเลื่อนบำเหน็จ “ให้ส่งกระทรวงเจ้าสังกัดพิจารณาต่อไป” ปรากฏว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ ๑๙ ตุลาคมปีต่อมา ผินได้เป็นตัวตั้งตัวตีเสนอเรื่องการเลื่อนบำเหน็จให้พิจารณาอีก ดังบันทึกการประชุมต่อไปนี้
๒๕. เรื่อง การพิจารณาปูนบำเหน็จข้าราชการผู้มีความชอบเกี่ยวกับกรณีสวรรคต (เนื่องจากกระทรวงการคลังขออนุมัติเลื่อนเงินเดือนให้ พล.ต.ต.เนื่อง อาขุบุตร รองอธิบดีกรมศุลกากร เพื่อเป็นบำเหน็จความชอบที่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีเกี่ยวกับกรณีสวรรคตแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ เป็นกรณีพิเศษอีก ๑ ขั้น ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๔๙๘ ท่านรองนายกรัฐมนตรี (จอมพลผิน ชุณหะวัณ) ได้พิจารณาแล้ว มีคำสั่งว่า มีข้าราชการที่มีส่วนร่วมดำเนินคดีนี้หลายท่านด้วยกัน จึงให้สอบถามไปยังทุกๆแห่งก่อน เพื่อจะได้รวมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเสียในคราวเดียวกัน
บัดนี้ กระทรวงเจ้าสังกัดของข้าราชการดั่งกล่าวได้รับรายงานมา ดั่งนี้ –
กระทรวงกลาโหม ได้พิจารณาปูนบำเหน็จความชอบเกี่ยวกับกรณีสวรรคตฯ แก่ข้าราชการกลาโหมเป็นพิเศษนอกเหนือจากบำเหน็จความชอบประจำปีตามปกติแล้วทุกคน เว้น พ.ต.หลวงเสนานิติการ คือ ๑)พล.ต.ไสว ดวงมณี ๒)พล.จ.หลวงคล้ายบรรลือฤทธิ์ ๓)พล.จ.บุลเดช รูปะสุต ๔)พ.อ.โพ อุณหเลขกะ ๕)ร.อ.ณรงค์ สายทอง ส่วน พ.ต.หลวงเสนานิติการ ยังมิได้รับบำเหน็จ เนื่องจากขณะกรทำความชอบในกรณีนี้ เป็นนายทหารนอกราชการ ไม่มีหลักเกณฑ์ที่จะปูนบำเหน็จเลื่อนขั้นเงินเดือนให้ได้
กระทรวงคมนาคม ขุนประสิทธิเทพไปรษณีย์ กระทรวงคมนาคมพิจารณาความดีความชอบให้แล้ว
กระทรวงมหาดไทย ก.กรมตำรวจ มีข้าราชการได้รับบำเหน็จพิเศษ ดั่งนี้ ๑)นายพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ๒)นายพลตำรวจโท พระพินิจชนคดี ๓)นายพลตำรวจตรี หลวงแผ้วพาลชน ๔)นายพลตำรวจจัตวา บรรลือ เรืองตระกูล ๕)นายพลตำรวจจัตวา ใหญ่ ฤกษ์บุตร ๖)นายพันตำรวจเอก จำรัส โรจนจันทร์ ๗)นายพันตำรวจเอก เฉียบ สุทธิมณฑล ๘)นายพันตำรวจโท นายราชภักดี ๙)นายพันตำรวจโทพยงค์ สมิติ ๑๐)นายพันตำรวจตรี ธารา ธารวณิช ๑๑)นายพันตำรวจตรี ยุทธพงษ์ พงษ์สวัสดิ์ ๑๒)นายพันตำรวจตรี สิทธิ กระแสร์เวชช์ ๑๓)นายพันตำรวจโท ปาน ปุณฑริก
ข. กรมอัยการ ๑)หลวงอรรถปรีชาธนูปการ ๒)นายเล็ก จุณณานนท์ ๓)หลวงอรรวินิจเนตินาท ๔)นายกมล วรรณประภา ๕)นายเสถียร สัตยเลขา
ค. ที่ปรึกษากระทรวงมหาดไทย ได้พิจารณาความดีความชอบให้แก่ข้าราชการ คือ ๑)หลวงการุณย์นราทร ๒)นายทวี เจิญพิทักษ์ ๓)นายยง เหลืองรังษี ๔)หลวงกำจรนิติสาร
ท่านรองนายกรัฐมนตรี (จอมพล ผิน ชุณหะวัณ) พิจารณาแล้ว มีคำสั่งว่า เป็นเรื่องของหลายกระทรวง ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา
มติ – ให้ระงับการขอเสียได้.(๓๔)
ภาคผนวก ๒ : จอมพล ป. กับโทษประหารชีวิต
ดังที่ผมได้ชี้ให้เห็นในบทความข้างต้น ความทรงจำหรือข้ออ้างของจอมพล ป. ที่ว่า เขาได้พยายามช่วยชีวิตจำเลยคดีสวรรคตทั้ง ๓ ด้วยการถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ถึง ๓ ครั้งนั้น ไม่เป็นความจริง อย่างไรก็ตาม ผมได้พบข้อมูลเล็กๆน่าสนใจขิ้นหนึ่ง ซึ่งแม้จะไม่เกี่ยวกับการประหารชีวิตจำเลยในคดีสวรรคตทั้ง ๓ โดยตรง แต่ก็อาจจะมีนัยยะที่พาดพิงถึงกันได้ นั่นคือ ในปลายปี ๒๔๙๓ ในระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งหนึ่ง จอมพล ป. ได้เสนอให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต น่าเสียดายว่า ช่วงนั้น คณะรัฐมนตรีไม่มีการจัดทำรายงานการประชุมโดยละเอียด มีเพียง “หัวข้อการประชุม” ซึ่งสรุปประเด็นที่พิจารณาและมติอย่างสั้นๆ ดังนี้
๑. เรื่อง โทษประหารชีวิต (ท่านนายกรัฐฒนตรีพิจารณาเห็นว่าโทษประหารชีวิตเป็นโทษที่ร้ายแรงที่สุด ควรจะได้เลิกเสีย จึงเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอรับหลักการออกกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ)
มติ ให้ส่งกระทรวงยุติธรรมพิจารณา.(๓๕)
ผมไม่แน่ใจว่า การที่จอมพลเสนอให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตนี้ ด้วยเหตุผลอะไร เท่าที่ผมทราบ เขาไม่เคยพูดถึงเรื่องนี้ทั้งในที่สาธารณะและในเอกสารภายในของรัฐบาล ทั้งในเวลานั้นและเวลาต่อมา และเป็นไปได้ว่า ขณะที่เขาเสนอ เขาอาจคิดถึงการลงโทษสำหรับคดีอาญาทั่วๆไป ไม่ได้คิดถึงคดีใดคดีหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ที่ชวนให้สะดุดใจก็คือ สำหรับคดีการเมือง ขณะนั้นคดีที่จำเลยต้องเผชิญกับโทษร้ายแรงถึงขั้นประหารชีวิต ก็มีเพียงคดีสวรรคตเท่านั้น (คดีกบฏอย่างกบฏเสนาธิการ ๑ ตุลาคม ๒๔๙๑ และกบฏวังหลวง ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒ เมื่อมีการดำเนินคดีก็ไม่ถึงขั้นเสนอโทษประหารชีวิต รวมทั้งกบฏแมนฮัตตัน ๒๔๙๔ หรือกบฏ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๙๕ ในเวลาต่อมาด้วย) ในปี ๒๔๙๓ คดีสวรรคตยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาสชั้นต้น จอมพลเองได้ขึ้นเป็นพยานโจทก์ในปีนั้นด้วยซ้ำ ดังนั้น คงยากที่เขาจะลืมหรือไม่คิดถึงนัยยะของการเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับคดีสวรรคตเสียเลย แต่ในทางกลับกัน ขณะนั้นจอมพลก็ไม่เคยมีท่าทีไปในทางที่ตีความได้ว่าเป็นห่วงต่อจำเลยในคดีสวรรคต คำให้การต่อศาลของเขา ตามรายงานข่าวหนังสือพิมพ์ ออกมาในลักษณะที่ปรักปรำฝ่ายจำเลยโดยอ้อม (ต่อปรีดีมากกว่าต่อตัว ๓ จำเลย)(๓๖)
ผมไม่มีหลักฐานว่า หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งนั้นแล้ว กระทรวงยุติธรรมได้นำเรื่องโทษประหารชีวิตไปพิจารณาตามมติคณะรัฐมนตรีหรือไม่ หรือคณะรัฐมนตรีเองได้นำเรื่องนี้กลับเข้าพิจารณาอีกหรือไม่ หรือมีมติในที่สุดอย่างไร ปัจจุบันรายงาน (หรือหัวข้อ) การประชุมคณะรัฐมนตรีของปี ๒๔๙๔ และ ๒๔๙๕ ตลอดทั้ง ๒๔ เดือน ได้หายไปจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ในระหว่างเวลานั้นยังมีการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญและเปลี่ยนรัฐบาลอีกด้วย แต่ที่แน่นอนคือ ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๔๙๔ ให้ประหารชีวิตชิต สิงหเสนี และศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๔๙๖ ให้ประหารชิต และบุศย์ ปัทมศริน นั่นคือ ถึงปลายปี ๒๔๙๖ หรือ ๒ ปีหลังการประชุมครม.ดังกล่าว โทษประหารชีวิตก็ยังคงมีอยู่
แต่ในต้นปี ๒๔๙๗ ได้มีการหยิบยกปัญหาโทษประหารชีวิตขึ้นมาพิจารณาในคณะรัฐมนตรีอีก ที่น่าสนใจคือ การหยิบยกครั้งนี้เกิดขึ้นเนื่องจากการมีความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันระหว่างรัฐบาลกับในหลวง ในประเด็นที่ว่าควรมีการให้อภัยลดโทษประหารชีวิตแก่นักโทษบางรายหรือไม่ หัวข้อการประชุมคณะรัฐมนตรี ได้บันทึกเรื่องนี้ไว้ ดังนี้ (เน้นความของผม)
๒๓. เรื่อง โทษประหารชีวิต และเรื่องนักโทษเด็ดขาดชาย ชด พุ่มไสว และนักโทษเด็ดขาดชาย เลี้ยน เสือหัวย่าน ขอพระราชทานอภัยลดโทษ (เนื่องจากราชเลขาธิการแจ้งว่าตามที่กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานอภัยลดโทษให้แก่นักโทษเด็ดขาดชายชด พุ่มไหว ซึ่งต้องโทษฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา กำหนดโทษประหารชีวิต และนักโทษเด็ดขาดชาย เลี้ยน เสือหัวย่าน ต้องโทษฐานชิงทรัพย์และฆ่าเจ้าทรัพย์ตาย กำหนดโทษประหารชีวิต ลดลงเป็นจำคุกตลอดชีวิตทั้งสองรายนั้น
ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว มีพระราชกระแสว่า เหตุผลที่อ้างมาเพื่อขอพระราชทานอภัยลดโทษให้แก่นักโทษเด็ดขาดชายทั้งสองรายนี้ ดูยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะพิจารณาเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาของศาลได้ กฎหมายเรื่องการลงโทษประหารชีวิตก็ได้มีมาในประเทศไทยเป็นเวลาช้านานและสืบต่อเนื่องมาจนบัดนี้ เมื่อมีกฎหมายบังคับอยู่ ถ้าจะลดหย่อนผ่อนโทษตามเหตุผลที่อ้างมานี้ ก็จะกระทบกระเทือนระดับการวางโทษของศาล
อนึ่ง ในเรื่องนี้ได้มีพระราชกระแสใคร่ทรงทราบข้อนโยบายเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตเพื่อประกอบพระราชดำริอีกด้วย
ท่านนายกรัฐมนตรีได้พิจารณาแล้วเห็นว่า นโยบายเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตก็ไม่มีอะไรนอกจากว่าใคร่ขอให้เลิกโทษประหารชีวิต และได้ขอให้เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาจัดทำอธิบายนโยบายในเรื่องนี้ประกอบด้วยตัวอย่างซึ่งมีในต่างประเทศ ซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาได้จัดทำบันทึกเรื่องโทษประหารชีวิตเสร็จแล้วเสนอมา
คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นว่า โทษประหารชีวิตนั้นในหลักการยังไม่สมควรยกเลิกกฎหมายขณะนี้ แต่ได้มีนโยบายว่า ในเวลาปรกติจะไม่ลงโทษประหารชีวิตแก่ผู้ที่มีความรู้น้อยและโฉดเขลาเบาปัญญา จึงได้ขอพระราชทานอภัยลดโทษเป็นการแปลงโทษจากประหารชีวิตเป็นจำคุกตลอดชีวิต และการลงโทษเบาลงนั้นก็เป็นการเมตตาในทางมนุษยธรรม ซึ่งฝ่ายตุลาการก็คงจะเป็นที่ชื่นชมยินดี
อย่างไรก็ดี คณะรัฐมนตรีเห็นว่า พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ พระองค์ทรงเจริญพระเมตตากรุณาแก่ประชาชนของพระองค์อยู่เป็นนิจ จึงได้กราบบังคมทูลขอพระมหากรุณามา หากจะทรงโปรดวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นแล้ว ก็เป็นพระราชอำนาจ สำหรับเรื่องนี้ ก็สุดแต่จะทรงพระมหากรุณา รัฐบาลก็พร้อมที่จะปฏิบัติตามพระราชประสงค์)
มติ เห็นชอบด้วย ให้นำความกราบบังคมทูลต่อไป(๓๗)
น่าสังเกตว่า ถ้าบันทึกการประชุมอย่างย่อๆนี้ถูกต้อง ตัวจอมพล ป.เอง พูดถึงความเห็นของเขาต่อโทษประหารชีวิตในลักษณะทั่วไปครอบคลุมหมด ไม่มีข้อยกเว้น (ดูประโยคที่ผมขีดเส้นใต้) แม้ว่าคณะรัฐมนตรีของเขาดูเหมือนจะไม่คิดไปไกลเท่าเขา (ดูย่อหน้าถัดมา) ถ้าจอมพลมีความเห็นเช่นนั้นจริงๆ ถึงจุดนั้น (มกราคม ๒๔๙๗) คงยากที่พูดว่าเขาไม่คิดถึงกรณีสวรรคตด้วยเลย (แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ เราไม่อาจสรุปได้เด็ดขาดจากหลักฐานที่มีอยู่)
เดือนเศษต่อมา ในหลวงทรงให้ราชเลขาธิการอัญเชิญพระราชกระแสตอบรัฐบาลในเรื่องนี้ ขอให้สังเกตภาษาที่ทรงใช้ ผมคิดว่า ไม่เป็นปัญหาเลยว่าข้อความของรัฐบาลประเภท “คณะรัฐมนตรีเห็นว่า พระมหากษัตริย์...ทรงเจริญพระเมตตากรุณาแก่ประชาชนของพระองค์อยู่เป็นนิจ...” ไม่เป็นที่ต้องพระราชหฤทัยนัก ดูเหมือนจะทรงอ่านในลักษณะที่ตรงข้ามกับความหมายตามตัวอักษรของข้อความเลยทีเดียว:
7. เรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษ (โทษประหารชีวิต) (ราชเลขาธิการได้เชิญพระราชกระแสเกี่ยวกับเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษมาว่า พระองค์ใช่ว่าจะมีพระราชหฤทัยเหี้ยมโหด ไม่มีความเมตตาปราณีแก่เพื่อนมนุษย์ และมีพระราชประสงค์จะให้ประหารชีวิตคนก็หาไม่ ที่ได้ทรงทักท้วงไปก็เพราะทรงเห็นว่าเรื่องควรจะได้รับการพิจารณาโดยรอบคอบและโดยมีเหตุผลจริงๆ เพื่อการได้ดำเนินไปตามตัวบทกฎหมายไม่เสียระดับเป็นการรั้งเหนี่ยวมิให้เกิดอาชญากรรมอันอุกฤษฎ์ดังนี้มากขึ้น อย่างไรก็ดี เมื่อทางรัฐบาลได้กราบบังคมทูลนโยบายในเรื่องนี้ขึ้นมา และทั้งยังยืนยันขอให้พระราชทานอภัยโทษจากโทษประหารชีวิตเป็นทางแผ่พระราชเมตตาโดยอ้างว่านักโทษทั้ง 3 นี้ กระทำความผิดไปโดยโฉดเขลาเบาปัญญาฉะนี้แล้วก็ทรงพร้อมที่จะพระราชทานอภัยโทษลดลงตามที่เสนอขอพระมหากรุณามาเท่าที่อยู่ในพระราชอำนาจจะทรงทำได้ โดยเฉพาะนักโทษเด็ดขาดชาย ขาวทองคำ ก็เป็นอันทรงพระมหากรุณาให้ลดโทษจากประหารชีวิตเป็นจำคุกตลอดชีวิต ส่วนนักโทษเด็ดขาดชาย ชด พุ่มไหว กับนักโทษเด็ดขาดชาย เลี้ยน เสียหัวย่าน นั้นข้องพระราชหฤทัยว่าจะไม่อยู่ในพระราชอำนาจที่จะทรงสั่งการพระราชทานอภัยลดโทษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้เพราะผ่านพ้นกำหนดเวลา 60 วัน ทรงเกรงว่าถ้าทรงสั่งไปจะเป็นการขัดกับบทกฎหมายนั้น
คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นว่า บทกฎหมายเกี่ยวแก่เรื่องนี้ คือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 262 ตามบทกฎหมายนี้เห็นว่าเป็นบทบัญญัติที่กำหนดเวลาไว้ว่าให้นำตัวไปประหารชีวิตได้เมื่อใด มิใช่เป็นบทบัญญัติที่ห้ามมิให้มีการพระราชทานอภัยโทษ เมื่อพ้นหกสิบวันแล้ว ฉะนั้นเมื่อยังมิได้มีการนำตัวไปประหารชีวิตเมื่อพ้นหกสิบวันแล้ว ก็ยังพระราชทานอภัยโทษให้ได้อยู่ ไม่ขัดต่อกฎหมายเพราะความประสงค์ของมาตรา 262 นี้เป็นแต่ให้อำนาจฝ่ายบริหารที่จะนำตัวไปประหารชีวิตได้ในเมื่อพระมหากษัตริย์ไม่มีพระบรมราชโองการมาภายในเวลาที่กำหนด สำหรับเรื่องนี้รัฐบาลกำลังติดต่อกับพระมหากษัตริย์และรอฟังพระบรมราชวินิจฉัยอยู่ จึงยังมิได้นำตัวไปประหารชีวิต เมื่อมาตรา 262 ไม่บังคับให้ต้องนำตัวไปประหารชีวิตเมื่อพ้นหกสิบวัน เป็นแต่อนุญาตให้นำตัวไปประหารชีวิตได้ จึงยังทรงมีพระราชอำนาจที่จะพระราชทานอภัยโทษได้)
มติ ให้นำความกราบบังคมทูลไปตามนัยดังกล่าวนี้
อนึ่ง ให้ถือเป็นหลักการว่านักโทษเด็ดขาดที่ต้องโทษประหารชีวิตนั้น ให้ขอพระราชทานอภัยลดโทษลงเป็นตลอดชีวิต และให้ถือหลักว่า ไม่มีการลดโทษให้อีกในทุกกรณี และในทางนโยบายนั้นยังไม่ยกเลิกกฎหมายว่าด้วยโทษประหารชีวิต.(๓๘)
จะเห็นว่า ตามมตินี้ คณะรัฐมนตรี “ถือเป็นหลักการ” ว่า โทษประหารชีวิตให้ขอพระราชทานอภัยลดโทษเหลือเป็นจำคุกตลอดชีวิต แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ยกเลิกโทษประหารชีวิต ในทางปฏิบัติ เมื่อถึงปลายปีนั้นที่มีการพิจารณาฏีกาขอพระราชทานอภัยโทษของจำเลยคดีสวรรคต คณะรัฐมนตรีจึงอ้างได้ว่า “เรื่องนี้เป็นการประทุษร้ายแก่บุคคลสำคัญของประเทศ ตามหลักการของกระทรวงมหาดไทยซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบด้วยแล้วนั้น จะไม่ขอพระราชทานอภัยโทษให้” (ผมไม่เคยเห็นบันทึกการพิจารณา “เห็นชอบด้วย” ของคณะรัฐมนตรีต่อ “หลักการของกระทรวงมหาดไทย” ที่ว่านี้)
ในส่วนของราชสำนักนั้น ผมคิดว่า กรณีนี้ทำให้เราทราบว่า ในหลวงทรงให้ความสนพระทัยและทรงพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนในฏีกาขอพระราชทานอภัยลดโทษประหารชีวิต แม้ในคดีอาญาธรรมดา
สมศักดิ เจียมธีรสกุล
หมายเหตุ
ประหารชีวิตคดีสวรรคต (เชิงอรรถ ๑ - ๕)
ประหารชีวิตคดีสวรรคต (เชิงอรรถ ๖ - ๘)
ประหารชีวิตคดีสวรรคต (เชิงอรรถ ๙ - ๑๖)
ประหารชีวิตคดีสวรรคต (เชิงอรรถ ๑๗ - ๒๕)
ประหารชีวิตคดีสวรรคต (เชิงอรรถ ๒๖ - ๓๘)
ที่มา : somsak's work : ๕๐ ปีการประหารชีวิต ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘
วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2550
๕๐ ปีการประหารชีวิต ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 12:51 ก่อนเที่ยง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น