วันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

อุดมการณ์ประชาธิปไตยและความเป็นธรรม ตามนัย ‘ประกาศคณะราษฎร’



ในสถานการณ์แห่งการเรียกร้องประชาธิปไตยและความเป็นธรรมทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ที่กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้นและกว้างขวางเป็นพิเศษนี้ สังคมไทยควรนำ “ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1” (ลงวันที่ 24 มิถุนายน 2475) มาศึกษากันอย่างครบถ้วนกระบวนความ และอย่างเปิดเผยกว้างขวางเป็นสาธารณะ เพื่อทำความเข้าใจความหมายของ “ประชาธิปไตย” และ “ความเป็นธรรม” ที่กำลังเรียกร้องกันอยู่ให้ชัดเจน เพื่อสร้าง “อุดมการณ์ร่วมกัน” ในการเดินหน้าต่อไป


ทำไมจึงจำเป็นต้องศึกษา “ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1” ?

คำตอบตรงไปตรงมา เพราะประกาศฉบับดังกล่าวคือ “สัญญาประชาคม” (social contract) แห่งการเริ่มต้นสังคมประชาธิปไตยไทย เมื่อแรกเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475

สัญญาประชาคมดังกล่าวจึงเป็นเสมือน “รากฐาน” ของระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทย หากประชาธิปไตยที่เราเรียกร้องไม่ได้ยึดโยงอยู่กับรากฐานดังกล่าว มันก็จะกลายเป็น“ประชาธิปไตยไร้ราก” ที่เป็นเพียงของเล่นซึ่งนำมากล่าวอ้างกันเพื่อแย่งชิงอำนาจทางการเมืองเท่านั้นเอง



สาระสำคัญของประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 อาจสรุปได้ดังนี้
[1]

1. เหตุผลของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

(1) “...กษัตริย์...ทรงอำนาจอยู่เหนือกฎหมายเดิม ทรงแต่งตั้งญาติวงศ์และคนสอพลอไร้คุณความรู้ให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญๆ ไม่ทรงฟังเสียงราษฎร ปล่อยให้ข้าราชการใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต มีการรับสินบนในการก่อสร้างและการซื้อของใช้ในราชการ หากำไรในการเปลี่ยนเงิน ผลาญเงินของประเทศ ยกพวกเจ้าขึ้นให้สิทธิพิเศษมากกว่าราษฎร กดขี่ข่มเหงราษฎร ปกครองโดยขาดหลักวิชา ปล่อยให้บ้านเมืองเป็นไปตามยถากรรม…”

(2) “...รัฐบาลของกษัตริย์มิได้ปกครองประเทศเพื่อราษฎรตามที่รัฐบาลอื่นๆ ได้กระทำกัน...ได้ถือเอาราษฎรเป็นทาส (ซึ่งเรียกว่าไพร่บ้าง ข้าบ้าง) เป็นสัตว์เดียรัจฉาน ไม่นึกว่าเป็นมนุษย์ เหตุฉะนั้น แทนที่จะช่วยราษฎร กลับพากันทำนาบนหลังราษฎร...”

(3) “…รัฐบาลของกษัตริย์ได้ปกครองอย่างหลอกลวงไม่ซื่อตรงต่อราษฎร มีเป็นต้นว่าหลอกว่าจะบำรุงการทำมาหากินอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ครั้นคอยๆ ก็เหลวไป หาได้ทำจริงจังไม่ มิหนำซ้ำกล่าวหมิ่นประมาทราษฎรผู้มีบุญคุณเสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้กิน ว่าราษฎรยังมีเสียงทางการเมืองไม่ได้ เพราะราษฎรโง่ (ขีดเส้นใต้เน้นโดยผู้เขียน) คำพูดของรัฐบาลเช่นนี้ใช้ไม่ได้ ถ้าราษฎรโง่ เจ้าก็โง่เพราะเป็นคนชาติเดียวกัน ที่ราษฎรรู้ไม่ถึงเจ้านั้นเป็นเพราะขาดการศึกษาที่พวกเจ้าปกปิดไว้ไม่ให้เรียนเต็มที่ เพราะเกรงว่าเมื่อราษฎรได้มีการศึกษา ก็จะรู้ความชั่วร้ายที่พวกเจ้าทำไว้ และคงจะไม่ยอมให้เจ้าทำนาบนหลังคนอีกต่อไป...”

(4) “...ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้ช่วยกันกู้ให้ประเทศเป็นอิสรภาพพ้นมือจากข้าศึก พวกเจ้ามีแต่ชุบมือเปิบและกวาดทรัพย์สมบัติเข้าไว้ตั้งหลายร้อยล้าน เงินเหล่านี้เอามาจากไหน? ก็เอามาจากราษฎรเพราะวิธีทำนาบนหลังคนนั้นเอง...”

(5)
“...บ้านเมืองกำลังอัตคัดฝืดเคือง ชาวนาและพ่อแม่ทหารต้องทิ้งนา เพราะทำนาไม่ได้ผล รัฐบาลไม่บำรุง รัฐบาลไล่คนงานออกอย่างเกลื่อนกลาด นักเรียนที่เรียนสำเร็จแล้วและทหารที่ปลดกองหนุนแล้วก็ไม่มีงานทำ จะต้องอดอยากไปตามยถากรรม เหล่านี้เป็นผลของกษัตริย์เหนือกฎหมาย ... ควรเอาเงินที่พวกเจ้ากวาดรวบรวมไว้มาจัดบำรุงบ้านเมืองให้คนมีงานทำ จึงจะสมควรที่สนองคุณราษฎรซึ่งได้เสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้ร่ำรวยมานาน แต่พวกเจ้าก็หาได้ทำอย่างใดไม่ คงสูบเลือดกันเรื่อยไป เงินเหลือเท่าไหร่ก็เอาไปฝากต่างประเทศ คอยเตรียมหนีเมื่อบ้านเมืองทรุดโทรม ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก การเหล่านี้ย่อมชั่วร้าย…”

(6) “...คณะราษฎรเห็นว่าการที่จะแก้ความชั่วร้ายนี้ได้ก็โดยที่จะต้องจัดการปกครองโดยมีสภา จะได้ช่วยกันปรึกษาหารือหลายๆ ความคิดดีกว่าความคิดเดียว ส่วนผู้เป็นประมุขของประเทศนั้น ...จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร… (ขีดเส้นใต้เน้นโดยผู้เขียน) และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองแบบอย่างประชาธิปไตย...”

เหตุผล (ที่ผู้เขียนสรุปเป็นข้อๆ) 6 ข้อ ดังกล่าว คือ “ความไม่เป็นธรรม” (ในสายตาของคณะราษฎร และประชาชนที่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง) ที่มีรากฐานมาจากโครงสร้างอำนาจตัดสินใจของคนเพียงคนเดียวซึ่งมีสถานะของ “กษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย”



2. สัญญาประชาคม 6 ประการ : พันธสัญญาเพื่อสังคมที่เป็นธรรม

(1) จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่นเอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง

(2) จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก

(3) ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

(4) จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้)

(5) จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก ๔ ประการดังกล่าวข้างต้น

(6) จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร



3. บทสรุปของประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1

“...ประเทศจะมีความเป็นเอกราชอย่างพร้อมบริบูรณ์ ราษฎรจะได้รับความปลอดภัย ทุกคนจะต้องมีงานทำไม่ต้องอดตาย ทุกคนจะมีสิทธิเสมอกัน และมีเสรีภาพพ้นจากการเป็นไพร่ เป็นข้า เป็นทาสพวกเจ้า หมดสมัยที่เจ้าจะทำนาบนหลังราษฎร สิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนาคือ ความสุขความเจริญอย่างประเสริฐซึ่งเรียกเป็นศัพท์ว่า “ศรีอาริยะ” นั้น ก็จะพึงบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรถ้วนหน้า”




อุดมการณ์ร่วมกันและก้าวต่อไป

“อุดมการณ์ร่วมกัน” ของสังคมไทยในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจะต้องมี “ราก” มาจากเจตนารมณ์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือ “ประชาธิปไตยที่ประมุขของประเทศอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร”

การปกป้อง “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” จะต้องชัดเจนว่า “ชาติคือประชาชน” ที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย “ศาสน์” และ “กษัตริย์” ดำรงอยู่ได้ด้วยศรัทธาและฉันทามติของประชาชนบนหลักการที่ว่า “สถาบันใดๆก็ตามจะอยู่ควบคู่ไปกับสังคมอย่างเหมาะสมกับสมัย ต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้” (ส.ศิวรักษ์,ฟ้าเดียวกัน,ตุลาคม-ธันวาคม 2551,หน้า 22)

ก้าวต่อไปของสังคมไทยที่มี “อุดมการณ์ร่วมกัน” ดังกล่าว ไม่ใช่การต่อสู้เพื่อล้ม “อำมาตยาธิปไตย” ไม่ใช่การต่อสู้เพื่อล้ม “ทุนนิยมสามานย์” เพราะนั่นเป็นเพียง “ปีศาจ” ที่มีอิทธิฤทธิ์หลอกหลอนเราอยู่ได้โดยอาศัยการดูด “พลังหลับใหล” ไปจากเรา เพราะเราต่างสยบยอมต่ออำนาจของมันด้วยมัวแต่หลับใหลไม่นำพา “สัญญาประชาคม 6 ประการ” อันเป็นพันธสัญญาแรกเริ่มก่อร่างสร้าง “สังคมประชาธิปไตย” ที่ประชาชาติเจ้าของอำนาจที่แท้จริงจะต้องร่วมกันทำพันธสัญญานั้นให้เป็นจริงด้วยสมองและสองมือ

ไม่ใช่มัวรอการหยิบยื่นจาก “ฟากฟ้าสุราลัย” หรือจากชนชั้นนำอื่นๆที่ไม่รู้ค่าความหมายของ “สิทธิเสมอภาคกัน” ไม่เคยตระอย่างจริงใจในหน้าที่ที่ “จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ..” และ “จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร”

แต่ก้าวต่อไปคือการ “ก้าวกลับเพื่อเดินทางต่อ” ก้าวกลับไปสู่จุดเริ่มต้น “อุดมการณ์ประชาธิปไตย” และ “สัญญาประชาคม” แล้วเดินทางต่อด้วยการร่วมกันสร้างพลังทางสังคมขับเคลื่อนการออกแบบโครงสร้างสังคมประชาธิปไตยที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิเสมอภาคอย่างแท้จริง มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสวัสดิการ มีเสรีภาพ มีศักดิ์ศรี และอยู่ร่วมกันภายใต้กติกาที่เป็นธรรม


นักปรัชญาชายขอบ



ที่มา : หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท : อุดมการณ์ประชาธิปไตยและความเป็นธรรม ตามนัย ‘ประกาศคณะราษฎร’

แผนการณ์ร่วมของราชวงศ์ กำลังเข้มข้น : Thailand’s royal sub-plot thickens



Inside Story Current affairs and culture

Thailand’s royal sub-plot thickens

report Nicholas Farrelly and Andrew Walker


แปลและเรียบเรียง : chapter 11



แผนการณ์ร่วมของราชวงศ์ กำลังเข้มข้น


การเปลี่ยนแนวร่วม ดันให้เรื่องที่แอบแฝงอยู่ในวิกฤติการเมืองไทย ถลำลึกลงไป



มื่อเดือนที่แล้ว เราได้เสนอบทความเรื่องการร่วมวางแผนของราชวงศ์ในประเทศไทยในอินไซด์สตอรี่ เราคิดว่าราชวงศ์ได้นำตัวเข้าไปพัวพันในความขัดแย้งของการเมืองไทย ซึ่งนำความสั่นสะเทือนให้กับประเทศไทยในระยะสามปีที่ผ่านมา การร่วมวางแผนของราชวงศ์ขณะนี้กำลังเข้มข้นด้วยการเคลื่อนไหวที่เกินคาดหมาย

เช้าตรู่ของวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๒ สนธิ ลิ้มทองกุล อภิมหาสื่อและแกนนำผู้ประท้วงเสื้อเหลืองได้เดินทางโดยรถยนต์ในกรุงเทพ รายละเอียดที่เกิดขี้นต่อจากนั้นยังคงไม่ปะติดปะต่อ รถยนต์ของสนธิได้ถูกกระหน่ำยิงจนพรุน ไม่ว่าเรื่องนี้จะเป็นการลอบสังหารที่ไร้ฝีมืออย่างน่าขบขัน หรือความพยายามที่จะการสร้างสถานการณ์ก็ตาม สนธิรอดตายไม่มีแม้แต่รอยแมวข่วน มีแต่เพียงเศษกระสุนค้างอยู่ในกะโหลก

สนธิได้ใช้ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมาทบทวนว่า ควรจะเปิดปากพูดว่าเกิดอะไรขี้น ตั้งแต่ได้ถูกรีบพาเข้าโรงพยาบาล และเรื่องที่มีการ เดาไปต่างๆนานาว่า ใครเป็นคนสั่ง “ฆ่า”

อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรและผู้สนับสนุนเสื้อแดงของเขาเป็นเป้าหมายแรกที่ถูกต้องสงสัย จากการประท้วงบนท้องถนนที่แยกฝ่ายด้วยสีที่ใส่เมื่อไม่นานมานี้ ทักษิณได้โจมตีเสื้อเหลืองฝ่ายสนธิ ทักษิณและสนธิในครั้งหนึ่งได้เคยร่วมงานทางธุรกิจและเกิดการขัดแย้งกันจนถึงขั้นไม่เผาผี การประท้วงต่อต้านทักษิณที่นำโดยสนธิได้ทวีความรุนแรงขี้น จนนำไปสู่การรัฐประหารในเดือนกันยายน ๒๕๔๙

หลังจากการทำรัฐประหารแล้ว ได้มีการเลือกตั้งในเดือนธันวาคม ๒๕๕๐ นักการเมืองฝ่ายทักษิณได้รับเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศอีกครั้ง สนธินำผู้สนับสนุนของเขาทำการประท้วงบนท้องถนนในกรุงเทพ มีการปลุกปั่นโจมตีรัฐบาลตลอดทั้งปี ๒๕๕๑ และทวีความรุนแรงขี้นเรื่อยๆจนถึงขั้นบุกยึดสนามบินนานาชาติในกรุงเทพ และขับไล่นายกรัฐมนตรีสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยของทักษิณให้ออกจากตำแหน่ง สนธิระดมกำลังจากสถาบันการเงินที่สำคัญ จากสื่อ และจากผู้มีอิทธิพลทางการเมือง โหมรณรงค์ระรอกแล้วระลอกเล่าโจมตีฝ่ายทักษิณและชาวเสื้อแดง

ดังนั้น ทักษิณก็มีเหตุจูงใจ แต่ความน่าเชื่อถือว่าทักษิณอยู่เบื้องหลังการลอบสังหารนี้เพียงไม่กี่วันก็ตกไป แต่มีข้อสันนิษฐานที่น่าติดตามโผล่ออกมาใหม่

ตัวสนธิเองที่ออกมาปฎิเสธว่าทักษิณไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ได้ชี้นิ้วไปยัง “บรรดาทหารที่มีอิทธิพล” จากการเปิดให้สื่อสัมภาษณ์เป็นครั้งแรกหลังจากถูกลอบสังหาร สนธิได้ระบุว่า ด้วยสภาพการเมืองที่เป็นสูญญากาศหลังจากทักษิณถูกปล้นอำนาจแล้วนั้น มี “ใครบางคน” หวังว่าจะเข้ามาแทนที่ สนธิได้เปิดฉากใหม่ในการดิ้นรนทางการเมือง และเป็นที่น่ากังขาว่าจะยังมีผู้หนุนหลังเหลืออยู่หรือไม่ “ถ้าผมถูกฆ่า นั่นก็หมายความว่า (นายกรัฐมนตรี) อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะเป็นเป้าหมายคนต่อไป ในประเทศนี้คนไหนที่มีอาวุธจะทำอะไรก็ได้โดยไม่คำนึงว่าเมืองไทยจะอยู่รอดได้อย่างไร”

ไม่มีใครเชื่อว่าบรรดา “บุคคลที่มีอาวุธ” จะทำงานโดยลำพัง มีการพูดเป็นนัยว่ามีคนระดับสูงหนุนหลังอยู่ สนธิได้ประกาศไว้อย่างชัดเจนว่า
“ผมสงสัยว่าอาจมีการสมรู้ร่วมคิดของผู้มีอำนาจ”

มีการเดากันไปต่างๆนาๆ และมีการกระซิบกระซาบว่าใครคือบุคคลดังกล่าว เป็นเรื่องไม่น่าเชื่อที่ทางราชวังเองถูกดึงเข้ามาเกี่ยวข้องกับข่าวลือ เมื่ออาทิตย์ที่แล้วได้มีการรายงานข่าวในสื่อของทั้งไทยและเทศอย่างแพร่หลายว่า ท่านผู้หญิงวิระยา ชวกุล สุภาพสตรีผู้ใกล้ชิดกับราชินีสิริกิติ์ ได้ปฎิเสธว่าไม่ได้มีส่วนรู้เห็นในการลอบสังหารสนธิ หนังสือพิมพ์ของสำนักพิมพ์หนึ่งได้บรรยายท่านผู้หญิงว่ามีตำแหน่งเป็นนางสนองพระโอษฐ์ การออกโรงปฎิเสธของท่านผู้หญิงนี้รังแต่จะสร้างเรื่องนินทาได้อย่างไม่จบไม่สิ้น โดยเฉพาะในขณะนี้ ท่านผู้หญิงได้กล่าวเป็นนัยว่า มีข้าราชบริพารท่านอื่นที่ไม่ได้เอ่ยชื่อ อาจจะเป็นเป้าหมายตัวจริงของกรมข่าวลือนั้น ราชวังพยายามที่จะถอยออกมาให้พ้นกับการเปิดเผยที่ก่อให้เกิดความเสียหาย โดยการยืนยันว่าท่านผู้หญิงไม่ได้มีตำแหน่งใดๆในราชวงศ์

ตั้งแต่การทำรัฐประหารซึ่งปล้นรัฐบาลทักษิณ ผู้ใกล้ชิดราชวังอีกหลายท่านได้ถูกดึงเข้ามาพัวพันกับความขัดแย้งที่เพิ่มขี้นในการดิ้นรนทางการเมือง เมื่อเดือนที่แล้ว พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ทั้งคู่เป็นบุคคลผู้ทรงอำนาจด้วยตำแหน่งองคมนตรีในกษัตริย์ภูมิพล ได้ถูกดึงเข้าสู่การขัดแย้งทางการเมืองต่อสาธารณะ เป็นเวลานานมาแล้วที่ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ข่าวลือ ที่ว่าบุคคลทั้งสองได้ให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวของเสื้อเหลืองของสนธิ ราชินีสิริกิติ์ก็ทรงเป็นผู้ให้การสนับสนุนอย่างชัดเจนต่อเสื้อเหลือง แต่ ณ เวลานี้ ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าพระองค์ยังคงทรงโปรดปรานเสื้อเหลืองอยู่อีกหรือไม่

ความสำเร็จในอดีตของสนธิและเสื้อเหลืองส่วนสำคัญมาจากการหนุนหลังของบุคคลระดับสูง ซึ่งตระเตรียมแผนการเคลื่อนไหวในทางการเมืองของเขา ขณะนี้กำลังที่เคยหนุนหลังได้ถูกทบทวนใหม่ เนื่องจากการรอดชีวิตของสนธิ ถ้าพวกเสื้อเหลืองที่ตายยากอย่างสนธิพบว่า ตัวเองไม่มีความปลอดภัยเสียแล้ว และไม่สามารถพึ่งเพื่อนเก่าทั้งหลายได้อีกต่อไป

แผนการณ์ที่น่ากลัวยิ่งกว่าอาจจะเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น



แอนดรูว์ วอคเกอร์ และ นิโคลาส ฟาร์เรลลี่


หมายเหตุ

แอนดรูว์ วอคเกอร์ และ นิโคลาส ฟาร์เรลลี่ เป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษทางด้านเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ของ วิทยาลัยเอเซียและแปซิฟิก มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย และเป็นผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ “นิว แมนดาลา” ในปี ๒๕๔๙ ซึ่งเป็นเว็บไซต์เกี่ยวกับกิจกรรมของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้


ที่มา : Liberal Thai : แผนการณ์ร่วมของราชวงศ์ กำลังเข้มข้น

ความเกลียดและกลัว สร้างรอยด่างให้ราชวงศ์ : Fear and loathing marks Thailand’s malicious monarchy



Tribune Magazine.

Fear and loathing marks Thailand’s malicious monarchy

James Anstruther


แปลและเรียบเรียง : chapter 11



ความเกลียดและกลัว สร้างรอยด่างให้ราชวงศ์


ราชวงศ์แห่งประเทศไทย ผู้ซึ่งปรามาสประชาธิปไตย เจมส์ แอนสตรัทเตอร์รายงานเรื่องกษัตริย์ภูมิพล อดุลยเดช มีการบีบบังคับต่อผู้ที่ไม่เห็นด้วยทั้งหมดอย่างไร


กษัตริย์ภูมิพล อดุลยเดช แห่งประเทศไทย ทรงแสดงอย่างแน่ชัดถึงความคิดที่จะเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยือนประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดา นับตั้งแต่กษัตริย์พระชนมายุ ๘๒ พรรษา ได้ทรงหยุดการเสด็จออกนอกประเทศตั้งแต่ช่วงปี ๒๕๐๓ แม้กระทั่งก่อนหน้านั้นพระองค์ทรงเสด็จไปยังประเทศพันธมิตร ซึ่งจะให้ผลประโยชน์กับการต่อสู้สมัยสงครามเย็นต่อต้านฝ่ายซ้ายในเวลานั้นเท่านั้น และได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปยังประเทศเวียตนามใต้ในปี ๒๕๐๒ แต่ไม่เคยทรงเสด็จไปยังประเทศเวียตนามเหนือ หรือแม้แต่ลาว และกัมพูชา ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านของไทย

พระองค์ทรงเข้าใจในความรู้สึกที่ว่าความเป็นธรรมราชา หรือทศพิธราชธรรมของพระองค์นั้นก็เพื่อแผ่นดินของพระองค์ เพื่อทรงปกป้องราชอาณาจักรที่ดูเหมือนกับว่า จะไม่มีการแบ่งแยก และไม่มีความลำบากยากเข็ญ ตัวอย่างเช่น วิกฤติการเมือง ซึ่งได้แสดงออกบนท้องถนนในกรุงเทพในระยะสามปีที่ผ่านมา แต่พระองค์กำลังจะทรงปฎิบัติต่อประเทศอินเดียเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งพระองค์ได้เคยเลี่ยงมาก่อน เนื่องจากนโยบายทางการเมืองเอียงซ้ายของอินเดีย และความมีสัมพันธไมตรีที่ดีต่อสหภาพโซเวียต

กษัตริย์ภูมิพลทรงรับเอาแนวความคิดเรื่องความมีทศพิธราชธรรมมาจากอินเดีย พระองค์ทรงได้รับการเชิดชูจากบรรดาผู้ที่จงรักภักดีว่า พระองค์ทรงอุปมาเหมือนเป็นพระนารายณ์เทพเจ้าแห่งฮินดู (การอวตารของพระวิษณุ) ตามธรรมเนียมของฮินดู ซึ่งหลอมรวมกับราชวงศ์ทางพุทธ

และความมีทศพิธราชธรรมของกษัตริย์ กำลังเป็นที่ต้องการอย่างมากสำหรับราชอาณาจักร การเกิดรัฐประหารบ่อยครั้งนับตั้งแต่การเสด็จขี้นครองราชย์ของพระองค์ในปี ๒๔๘๙ หลังการสวรรคตของพระเชษฐาจากกระสุนปืน ซึ่งทรงขี้นครองราชย์ได้เพียงสามเดือน กษัตริย์ภูมิพล .................. ................. ........ .... .....

นับตั้งแต่ทรงครองราชย์ พระองค์ไม่ได้ทรงเห็นชอบกับการทำรัฐประหารในทุกครั้ง อย่างไรก็ตาม การรัฐประหารครั้งล่าสุดนี้ เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๔๙ เพื่อขับไล่ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนเดียวแห่งประเทศที่ได้รับการเลือกตั้งมาบริหารประเทศอย่างแท้จริง และเป็นที่แน่ชัดว่าพระองค์ทรงเห็นชอบด้วย

ในประเทศไทยได้ให้คำอธิบายกษัตริย์ว่า เป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ได้มีการร่างรัฐธรรมนูญมาถึง ๑๗ ฉบับ นับตั้งแต่การสิ้นสุดการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชในปี ๒๔๗๕ รัฐธรรมนูญเหล่านี้ได้ระบุเรื่องระบบรัฐสภา และมีบางฉบับระบุให้เป็นแบบเผด็จการทางทหาร แต่รัฐธรรมนูญทุกฉบับได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับพระราชอำนาจของความเป็นพระสมมุติเทพแห่งกษัตริย์ และรวมถึงบทบัญญัติเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นฯ คือการห้ามไม่ให้มีการดูหมิ่น หรือแม้แต่วิจารณ์กษัตริย์ หรือราชวงศ์ หรือแม้แต่สถาบันกษัตริย์

เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา กษัตริย์ไม่ได้เป็นผู้ทรงวางกฎเกณฑ์ในการปฎิบัติเรื่องกฎหมายหมิ่นฯ จะปลอดภัยกว่าถ้าปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนักการเมือง นายพลทั้งหลาย หรือแม้แต่สาธารณชนบางส่วน ข้อกล่าวหาในเรื่องกฎหมายหมิ่นฯตั้งขี้นได้หลายรูปแบบ และตำรวจต้องสอบสวนทุกข้อกล่าวหาที่ได้รับเบาะแส แม้ว่าจะเป็นเพียงการกล่าวหาเพียงเล็กน้อย ละหุโทษอย่างต่ำสุดคือการจองจำในคุกถึงสามปี ในขณะที่คดีที่มีต่อชาวต่างชาติที่โชคร้ายนั้นได้ถูกรายงานไปทั่วโลก แต่การลงโทษจำคุกสำหรับประชาชนไทยที่ทำผิดกฎหมายหมิ่นฯนี้ ปกติแล้วจะได้รับโทษทัณฑ์ที่รุนแรงมากกว่าชาวต่างชาติ

กษัตริย์ภูมิพลทรงประสูติที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งพระบิดาของพระองค์ทรงกำลังศึกษาในฮาร์เวิร์ด พระองค์ทรงได้รับการศึกษาจากโรงเรียนในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง สำหรับนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน พระองค์ได้ทรงหันไปหาคนไทยซึ่งเกิดในต่างประเทศเช่นเดียวกัน นั่นก็คืออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ วัย ๔๔ ปี เป็นบุตรของนายแพทย์จากวอลเซน อภิสิทธิ์ได้รับการศึกษาจากอีตันและออกซ์ฟอร์ด และที่แน่ชัดว่าเป็นมิตรที่ดีกับ บอริส จอห์นสัน (นักการเมืองและนักข่าวของอังกฤษ) แม้ว่าจะเป็นการยากที่จะฟันธงลงไปว่า ในสองคนนี้ใครกันที่ควรจะน่าขายหน้ามากกว่ากัน

นายกรัฐมนตรีทักษิณที่ถูกปล้นอำนาจจากการทำรัฐประหารครั้งหลังสุด เป็นนักการเมืองของประเทศคนแรกที่มีความทันสมัย ทักษิณได้กระทำการรณรงค์อย่างจริงจังสำหรับผู้ที่ลงคะแนนเสียงให้เขา แทนที่จะพูดเรื่องการเมืองในห้องประชุม รัฐบาลของทักษิณเป็นเพียงรัฐบาลเดียวที่ได้รับเสียงข้างมากในสภา และได้นำนโยบายที่เป็นที่นิยมหลายนโยบาย เพื่อยกระดับสภาพความเป็นอยู่ของคนยากจนชนบท ทักษิณได้เป็นบุคคลแรกของประเทศที่ได้จัดตั้งโครงการสวัสดิการสุขภาพถ้วนหน้า

อดีตนายตำรวจซึ่งกลายมาเป็นนักธุรกิจมหาเศรษฐี ทักษิณมีบางอย่างในตัวที่ทำให้นึกไปถึงประธานาธิบดีซิลวีโอ แบร์ลุสโกนีแห่งอิตาลี และนโยบายของทักษิณไม่ได้ผ่านไปด้วยดีทั้งหมด การประจันหน้ากับโจรแบ่งแยกดินแดงมุสลิมในสี่จังหวัดภาคใต้ด้วยการใช้ความรุนแรง และการประกาศสงครามยาเสพติด ซึ่งนำไปสู่ความตายที่ควรเลี่ยงได้ แต่ทักษิณเป็นที่นิยมอย่างมหาศาลจากชาวชนบท และได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งครั้งต่อมาในปี ๒๕๔๘ เป็นการชนะอย่างถล่มทลายในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งในประเทศไทย

ไม่ใช่เพราะนโยบายต่างๆที่ทำให้ทักษิณต้องล่มสลาย ในความเป็นจริง เพราะความนิยมชื่นชอบที่มีต่อทักษิณต่างหากที่ทำให้เกิดเรื่อง เมื่อไม่สามารถเอาชนะทักษิณจากการเลือกตั้งได้ รัฐประหารเป็นหนทางเดียวที่จะกำจัดทักษิณได้ นายพลต่างๆกล่าวหาทักษิณว่าฉ้อราษฎร์บังหลวง และแน่นอนกระทำผิดต่อกฎหมายหมิ่นฯ การเดินสายหาเสียงทั่วประเทศของทักษิณ เป็นการทำให้ทักษิณเป็นที่นิยม และการเป็นที่นิยมนั้นเป็นหน้าที่ของกษัตริย์ไม่ใช่ของนักการเมือง ซึ่งเป็นเพียงแค่ไพร่ยังไม่พอแถมยังมีเชื้อสายจีนเสียอีก นั่นหมายถึงว่า ทักษิณต้องการล้มล้างอำนาจกษัตริย์และจัดตั้งสาธารณรัฐ หรือไม่อย่างนั้นก็เป็นเรื่องตามที่ถูกอ้างกัน

นายพลทั้งหลายปกครองประเทศเพื่อพวกพ้องตัวเองเป็นเวลานานมากกว่าหนึ่งปี ก่อนที่จะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และมีการจัดการเลือกตั้งขี้นมาใหม่ พวกนายพลทั้งหลายสั่งห้ามพรรคการเมืองของทักษิณ แต่พรรคต่อมาของเขาก็ยังคงได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้ง

รัฐบาลชุดใหม่ถูกโจมตีอย่างไม่หยุดยั้งจากพวกอันธพาลที่คลั่งเจ้าฝ่ายขวาจัด และถูกโจมตีจากเรื่องหนึ่งไปอีกเรื่องหนึ่ง แม้กระทั่งนักการเมืองฝ่ายสนับสนุนในสภาบางคนก็ยังถูกซื้อเสียง ตามรายงานมีสิ่งที่บอกว่า นักการเมืองเหล่านี้บางคนอาจจะได้ค่าหัวคนละประมาณ ๑๐ ล้านบาทในการย้ายพรรค และด้วยวิธีการแบบนี้ อภิสิทธิ์ วัย ๔๔ จากอีตัน จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคประชาธิปัตย์ที่มีอภิสิทธิ์เป็นหัวหน้าพรรค เป็นพรรคเก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย ก่อตั้งขี้นมาในปี ๒๔๘๙ เพื่อเชิดชูความเป็นราชวงศ์ไทย

ตั้งแต่การทำรัฐประหาร ทักษิณต้องคอยหลบหนีจากอัยการฝ่ายไทยและกองทัพที่หนุนหลังพวกเขา ผู้ซึ่งตัดสินว่าทักษิณมีความผิดในข้อหาที่ไม่ไปปรากฎตัวต่อศาล จากการถูกตัดสินว่ากระทำความผิดในครั้งนี้ ทำให้ทักษิณถูกห้ามเข้าประเทศอังกฤษ หลังจากที่ไทยได้ใช้วิธีทางการทูตกดดันต่ออังกฤษ คุณอาจจะถามว่า แล้วความคิดเรื่องการลี้ภัยทางการเมืองมีไว้เพื่ออะไร

ขณะนี้ทักษิณได้เดินทางโดยใช้หนังสือเดินทางการทูตของนิคารากัว และได้ปรากฎตัวในหลายประเทศเช่น ฮ่องกง และดูไบ ที่ซึ่งเขาได้พูดผ่านวิดิโอลิ้งค์ไปยังฝูงชนชาวไทยที่สนับสนุนเขาเป็นจำนวนมหาศาล ประชาชนซึ่งยังร้องเรียกให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพื่อเลือกรัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งจากความนิยมอย่างแท้จริง

พวกเขาคงไม่มีทางจะได้รับการเลือกตั้งใหม่ จนกว่ารัฐบาลปัจจุบัน จะหาวิธีป้องกันไม่ให้กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับทักษิณได้รับชัยชนะให้ได้เสียก่อน ในขณะเดียวกันรัฐบาลประชาธิปัตย์ซึ่งเชื่อกันว่า ให้การสนับสนุนด้านธุรกิจ กำลังรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจที่กำลังหมุนร่วงลงสู่ก้นเหว

แต่กษัตริย์ที่ทรงชราภาพไม่สามารถอยู่ได้ค้ำฟ้า ผู้สืบราชสันตติวงศ์จะนำพาไปสู่ยุคใหม่แห่งความสันติ ความเป็นประชาธิปไตย และความเจริญรุ่งเรืองได้หรือ นั่นไม่ใช่เรื่องที่น่าจะเป็นไปได้ เช่นเดียวกับศักดินาไทยหลายๆคน เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ผู้ทรงมีความประพฤติไม่เหมาะสม ขณะนี้พระชนมายุได้ ๕๖ ปี ทรงเข้ารับการศึกษาจากโรงเรียนมิลฟิลด์ ที่ต้องชำระค่าเรียนในอังกฤษ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ “ไม่เน้นด้านวิชาการ”

พระองค์ทรงไม่เป็นที่นิยมและเป็นที่หวาดกลัวทั่วประเทศไทย แม้ว่าพระองค์นั้นจะได้รับการปกป้องจากกฎหมายหมิ่นฯแล้วก็ตาม พระองค์ย่อมทรงต้องการกฎหมายนี้



เจมส์ แอนสตรัทเตอร์


หมายเหตุ

เจมส์ แอนสตรัทเตอร์ เป็นนักข่าวซึ่งทำงานในประเทศไทยจนกระทั่งปัจจุบันนี้ ชื่อที่ใช้นี้เป็นนามปากกา


ที่มา : Liberal Thai : ความเกลียดและกลัว สร้างรอยด่างให้ราชวงศ์