วันศุกร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

มนุษย์-ต้อง-(ถูก) ห้าม : มุกหอม วงษ์เทศ


บทความนี้ก๊อบปี้ (โดยไม่ได้ปรับปรุงหรือบิดเบือนอะไรเท่าใดนัก เนื่องจากเบื่อ) มาจาก "โน้ต" ที่นำเสนอด้วยเสียงในเวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ระดับชาติครั้งที่ ๒ ในหัวข้อ มนุษยศาสตร์ต้องห้าม เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๘ ที่โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว เชียงใหม่ ขอขอบคุณ สกว. และคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สำหรับมนุษยศาสตร์ต้องห้ามนั้น ในที่นี้จะถือ "มนุษยศาสตร์" ในความหมายที่กว้างที่สุดว่าคือความรู้ การสร้างคำอธิบาย และอะไรอื่นๆ ที่เกี่ยวๆ ถากๆ กับการแสวงหาความรู้ความจริง หรือแม้แต่การผลิตเรื่องเล่า และ "ต้องห้าม" คือ การถูกห้าม, ถูกเซ็นเซอร์, ถูกปิดบังกดทับ, หรือถูกปฏิบัติต่อด้วยท่าทีที่เป็นศัตรูเป็นปฏิปักษ์

มนุษยศาสตร์ต้องห้าม อาจมองได้หลายมิติ/ระดับ จะขอลองมองเป็น ๓ แบบ ซึ่งเกี่ยวพันกัน คือ


๑. ระดับสังคมที่ความรู้ดำรงอยู่
หรือการที่การแสวงหาความจริงปะทะกับสังคมภายนอก

๒. อีกระดับหนึ่งคือในเชิงการเมืองของวงวิชาการเอง

๓. และอีกมิติหนึ่งที่ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรดี





ถ้าเริ่มจากระดับสังคมแล้ว ในทุกๆ วัฒนธรรมและตลอดประวัติศาสตร์มนุษยชาติ "ความรู้" หรือ "การแสวงหาความรู้" ไม่เคยมีเสรีภาพ เพราะ "ความรู้" เป็นเรื่องของ "อำนาจ" และอำนาจจะบอกว่าอะไรคือสิ่งที่ "รู้ได้" และอะไรคือสิ่งที่ "รู้ไม่ได้" รวมทั้งอะไรที่ถือเป็น "ความรู้ที่ชอบธรรม" และอะไรถือเป็น "ความรู้นอกรีต" นั่นก็คือ มีบางสิ่งบางอย่างที่เรา "ไม่ควรรู้"

อันที่จริง พระพุทธเจ้าก็ดูจะไม่สนับสนุนการแสวงหาความรู้เพื่อความรู้นั้นเอง อย่างที่เรารู้กันว่า ความรู้ที่ไม่นำไปสู่การหลุดพ้นเป็นความรู้ที่ไม่มีประโยชน์ และไม่พึงต้องรู้

ในวัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมอื่นๆ ความรู้หรือ "วิชา" ยังมี "ครู" หรือ มี "เจ้าของ" อีกด้วย ความรู้ไม่ได้เป็นสิ่งที่ล่องลอยอยู่ในอากาศที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้ ขนบของการถ่ายทอดวิชาความรู้ก็เป็น "ความลับ" ไม่ว่าจะวิชาช่างต่างๆ หรือดนตรีนาฏศิลป์ก็มี "ครู" ที่น่ากลัวขนหัวลุกทั้งนั้น ดังนั้นความรู้สัมบูรณ์สูงสุดจึงดำรงอยู่แล้วในโลกมาตั้งแต่โบราณกาล คนรุ่นหลังเพียงแต่พยายามเข้าถึงความรู้นั้นๆ ตามแต่บุญกรรม และต้องไม่ใช้หรือแสดงความรู้นั้นอย่างผิดบิดเบือนไปจากความรู้สัมบูรณ์นั้นๆ ด้วย งานอย่างเช่น การ "คัดลอก" คัมภีร์จึงถือเป็นงานศักดิ์สิทธิ์ ความรู้ตามจารีตจึงไม่ใช่สิ่งที่ขยายหรือเปลี่ยนแปลงได้ นอกจากนี้คนเรียนวิชาความรู้ยังต้องมีคุณธรรม มีศีลธรรม ความรู้ถ้าอยู่ในมือคนชั่วก็เป็นอันตราย แต่ในขณะเดียวกันการครอบครองความรู้ก็เป็นเรื่องของสถานภาพและอำนาจด้วย

แต่ถ้าถือตามความหมายอย่างแคบและเคร่งครัด มนุษยศาสตร์ต้องห้าม คือการแสวงหาความรู้หรือความจริงทางมนุษยศาสตร์ที่ถูก "ห้าม" ? สำหรับในเมืองไทยแล้ว การ "ห้าม" หรือ "เซ็นเซอร์" ก็เป็นกิจกรรมปกติ มนุษยศาสตร์ที่ถูกห้ามก็คือ การหาความจริงที่ถูกห้าม พูดง่ายๆ ก็คือ การเสนอข้อถกเถียงข้อโต้แย้งใดๆ ที่ตั้งคำถามหรือสั่นคลอนความเชื่อหลักของสังคมไทย ยิ่งความเชื่อนั้นถูกยกให้ศักดิ์สิทธิ์เพียงใด การใช้อำนาจก็รุนแรงขึ้นเท่านั้น

การแสวงหาความรู้ความจริง ซึ่งรวมทั้งวัฒนธรรมการวิจารณ์ในเมืองไทยที่ "ถูกห้าม" มีอยู่หลายระดับของการถูกห้าม บางเรื่องห้ามอย่างเด็ดขาด บางเรื่องพูดได้ในบางพื้นที่

จะว่าไปแล้วเรื่องต้องห้ามที่สุด ห้ามเด็ดขาดในเมืองไทยก็หนีไม่พ้นประเด็นล่อแหลมเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และสมาชิกของราชวงศ์ เรื่องห้ามที่สุดลับสุดยอดคือกรณีสวรรคต ประเด็นรองๆ ลงมาก็เป็นประเด็นที่สั่นคลอน ท้าทาย สถาบันความเชื่อความศรัทธาของสังคมไทยโดยรวมหรือของคนจำนวนมาก

เช่น เรื่องศิลาจารึกหลักที่ ๑ หรืออนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี

การเป็นสิ่งต้องห้าม คือการที่ประเด็นเหล่านั้นไม่สามารถถูกพูดถึงหรือเขียนถึงในที่สาธารณะ กลายเป็นเรื่องที่ต้อง "เลี่ยง" ด้วยการ "ไม่พูดถึงไปเลย", "พูดเป็นนัย", "ละไว้ในฐานที่เข้าใจ", หรือพูดได้เฉพาะในทางอาเศียรวาทสดุดีหรือด้วยภาษาที่เป็นเทคนิคมากๆ เป็นต้น แต่ที่แน่ๆ ก็คือเป็นเรื่องที่อยู่ในปริมณฑลของการซุบซิบนินทา การพูดคุยกันในที่รโหฐานกับบรรดาผู้ที่ไว้ใจได้ และไม่ทรยศหักหลังกันง่ายๆ หากไม่จำเป็น

ดังนั้นสำหรับสังคมไทยและความคิดเกี่ยวกับความรู้ความจริงของไทย ในระดับหนึ่ง ความจริง (Truth) จึงเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่แล้วอย่างสมบูรณ์ และในอีกระดับหนึ่ง การแสวงหาความจริงหรือการตั้งคำถามไม่เคยเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด "ความจริง" ต้องรองรับ รับใช้ และไม่ขัดแย้งกับสิ่งอื่นๆ ที่สำคัญกว่า เช่น ชาตินิยม, ความเป็นไทย, สถาบันฯ, ความเชื่อความศรัทธาของคนหมู่มาก, ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม

ทั้งนี้ทั้งนั้นการทำลายหรือกดทับ "ความจริง" หรือ "คำอธิบายชุดหนึ่งๆ" ก็ดูจะเป็นเรื่องปกติในประวัติศาสตร์ การเก็บรักษาหลักฐานข้อมูลทางประวัติศาสตร์เป็นกิจกรรมสมัยใหม่ เพราะในอดีตที่ไหนๆ ก็คงจะทำลายสิ่งที่ถูกถือว่าเป็น "อันตราย" กับความคิดจิตใจของผู้คนและระเบียบสังคม และจึงต้องมีการสร้างหรือเขียนอะไรต่อมิอะไรขึ้นใหม่ให้สอดคล้องกับอุดมการณ์ทางอำนาจในสังคม ไม่มีที่ไหนในอดีตยอมปล่อยให้มี "ความจริง" อันไม่พึงประสงค์ดำรงอยู่ในสังคม

แต่เมื่อเรื่องต้องห้ามขึ้นอยู่กับสังคม เมื่อสังคมเปลี่ยน บางทีเรื่องต้องห้ามก็เปลี่ยนไปด้วย สิ่งที่เคย "ต้องห้าม" ในสมัยหนึ่งก็อาจจะไม่ได้เป็นสิ่งต้องห้ามในอีกสมัยหนึ่ง เช่น งานเขียน "คอมมิวนิสต์" เคยเป็นหนังสือ "ต้องห้าม" ในยุคหนึ่ง แต่เดี๋ยวนี้ก็ไม่มีใครสนใจแล้ว เพราะ "คอมมิวนิสต์" ไม่ได้เป็นภัยคุกคามสังคมไทยอีกแล้ว หรือการที่หนังสือโป๊ก็มักจะเป็นหนังสือต้องห้ามในหลายๆ สังคม ดังนั้นสิ่งที่เป็น "ภัยอันตราย" ในสังคมจึงเปลี่ยนไปได้ตามยุคสมัย

และไม่ใช่ว่าการห้ามแสวงหาความจริงเป็นเพียงเรื่องในอดีตหรือเฉพาะในสังคมที่ไม่ให้อิสระทางความคิด ปัญหาทางจริยศาสตร์ในปัจจุบันส่วนหนึ่งยังคงอยู่บนฐานของประเด็นสิทธิเสรีภาพในการหาความจริงด้วย เช่น การโคลนนิ่งมนุษย์ การแสวงหาทดลองความรู้จึงมิได้มีได้อย่างไร้ขอบเขต





เรื่องต้องห้ามไม่ได้มีแต่ที่สังคมถือว่าเป็นสิ่งต้องห้าม แต่ภายในชุมชนวิชาการเองก็มีเรื่องต้องห้ามได้ด้วยเหมือนกัน เรื่องต้องห้ามในวงวิชาการกระแสหลักในตะวันตก หรือส่วนใหญ่แล้วอาจจะในอเมริกา คือสิ่งที่ถือว่าเป็น Political Incorrectness ซึ่งดูจะเป็นสิ่งที่วงวิชาการมีส่วนสร้างขึ้นมาเองด้วย

เทรนด์และบรรยากาศของมนุษยศาสตร์ปัจจุบันผูกติดอยู่กับ
"การเมืองของความถูกต้อง" (Political Correctness) น่าสนใจด้วยว่า เมื่อพรมแดนทางทฤษฎีและอาณาบริเวณของมนุษยศาสตร์เปลี่ยนแปลงและขยายออกไปเรื่อยๆ ก็กลับเกิดการกระทบกระทั่งกับ "วิทยาศาสตร์" และ "ศิลปะ" ซึ่งล้วนเป็นศาสตร์ที่มีฐานอยู่บนความภาคภูมิทางสติปัญญาและจินตนาการอันสูงส่งของมนุษย์ แต่มนุษยศาสตร์สมัยใหม่กำลังบั่นทอนหรือเปิดโปงมายาคติเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ เช่น สิ่งที่เรียกว่า "intrinsic value" หรือคุณค่าภายใน จากการทำให้ทุกอย่างที่แต่เดิมเปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางศิลปะและสุนทรียศาสตร์ หรือคุณค่าทางเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์ กลายเป็นสิ่งที่ถูกประกอบสร้างจากวัฒนธรรม การเมือง และอคติทางเพศ ชนชั้น และชาติพันธุ์ไปจนหมด นี่คือข้อวิพากษ์ที่มีต่อมนุษยศาสตร์แนวนี้ที่กลายเป็นกระแสหลักในตะวันตกเอง

การที่ Political Correctness มีความอ่อนไหวอย่างยิ่งกับประเด็นทางเพศสภาพ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ทำให้หลายสิ่งหลายอย่างที่เคยอยู่ดีกินดีมีสถานะสูงส่งมาก่อนไม่เพียงแต่ถูกบั่นทอน เซาะแซะคุณงามความดี แต่ยังถูกจัดการ กำจัด ประเมินค่าใหม่ ถูกแบน เซ็นเซอร์ด้วย เช่น นิยายเรื่อง Huckleberry Finn ซึ่งเคยเป็นงานคลาสสิคของวรรณกรรมอเมริกัน แต่หลายสิบปีที่ผ่านมาก็เคยถูกแบนตามที่ต่างๆ ในอเมริกา เช่น ห้องสมุดสาธารณะ หรือถูกเอาออกจากกลุ่มรายชื่อหนังสือที่นักเรียนต้องอ่านด้วยประเด็นทางเชื้อชาติว่าเหยียดคนผิวดำ บทละคร The Merchant of Venice ของเชคสเปียร์ ก็เคยถูกมองว่าเข้าข่ายต่อต้านยิว เป็นต้น

อาจารย์มหาวิทยาลัยในอเมริกาในบางรัฐถูกห้ามไม่ให้สอนอะไรที่มีวัตถุประสงค์ที่ชี้นำทางการเมือง อุดมการณ์ ศาสนา หรือต่อต้านศาสนา หรือดึงดันที่จะนำประเด็นที่กำลังเป็นที่โต้แย้งมาพูดในชั้นเรียนโดยไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอนโดยตรง รวมทั้งห้ามการกีดกันทางเชื้อชาติ ศาสนา เพศ แต่บางทีหลักการนี้ก็นำไปสู่อะไรแปลกๆ ได้ เช่น เคยมีกรณีที่นักศึกษาอเมริกันร้องเรียนว่าตัวเองถูกกีดกันและเลือกปฏิบัติจากบรรดาคณาจารย์และนักศึกษาที่ส่วนใหญ่เป็นพวกซ้าย พวกเดโมแครต เพราะเธอสนับสนุนจอร์จ บุช

มีกรณีที่น่าสนใจเกิดขึ้น เช่น การต่อต้านประณามการเหยียดผิว (anti-racism) ได้นำไปสู่กระแสหรือขบวนการ Afro-centrism หรือการเอาแอฟริกาเป็นศูนย์กลาง ที่ทำให้มีงานเขียนที่บอกว่าโสกราตีสและคลีโอพัตรามีเชื้อสายแอฟริกัน หรือปรัชญากรีกขโมยความคิดมาจากอียิปต์ บรรดาอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เป็น "คนขาว" ที่ศึกษาอารยธรรมกรีก (Classicist) ที่ไม่เห็นด้วยกับข้อโต้แย้งเหล่านี้ด้วยเหตุผลทางวิชาการก็รู้สึกว่าการวิพากษ์วิจารณ์พวก Afro-centrism อาจถูกกล่าวหาว่า "เหยียดผิว" ได้

หรือการที่เทรนด์กระแสหลักของการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะก็ถูกมองว่าเป็นการเมืองของทฤษฎี และเป็นการโจมตีตัวงานศิลปะขึ้นเรื่อยๆ เช่น ภาพวาดไม่ได้ถูก "มอง" ด้วยสายตาทางสุนทรียศาสตร์อีกต่อไป แต่ถูก "อ่าน" ประเด็นทางประวัติศาสตร์การเมืองทั้ง gender, race, sexuality ต่างๆ นานาที่แฝงเร้นอยู่ในภาพ

กรณีต่างๆ เหล่านี้นำไปสู่คำถามว่า มนุษยศาสตร์จะพูดถึงหัวข้อประเด็นที่ "ไม่ถูกต้องทางการเมือง" ได้อย่างไร? มนุษยศาสตร์สามารถนำไปสู่เสรีภาพทางความคิดโดยไม่มีการเซ็นเซอร์ กดทับความคิดบางอย่างได้จริงหรือ? และถ้าหากมนุษยศาสตร์ต้องการรื้อความคิดที่สถาปนาอยู่ในสังคม มันก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการพยายามทำลายความชอบธรรมของวิธีคิดแบบนั้นให้เป็นเรื่องต้องห้ามด้วยใช่ไหม? มนุษยศาสตร์กระทำการ "ห้าม" เสียเองด้วยรึเปล่า?

หรือจริงๆ แล้ว มนุษยศาสตร์อาจเป็นเรื่องของการเมืองของการต่อสู้ทางความคิดมากกว่าเรื่องของการแสวงหาอิสรภาพหรือการแสวงหายูโทเปีย ความดี ความงาม ความจริงก็ได้ ที่สำคัญก็คือ มนุษยศาสตร์ไม่ได้เป็นกลุ่มก้อนที่กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันที่มองทุกอย่างไปในทิศทางเดียวกัน แต่มนุษยศาสตร์อาจมีความขัดแย้งภายในมากมหาศาลก็ได้ และบางครั้งก็อาจจะมีความเป็นปฏิปักษ์ต่อกันและกันภายในเสียยิ่งกว่าเป็นปฏิปักษ์กับศาสตร์สาขาอื่นๆ ภายนอกก็ได้

มนุษยศาสตร์อาจเป็นพื้นที่ของ "สมรภูมิ" มากกว่า "สันติภาพ" เพราะแม้แต่จะพูดถึงเรื่องอย่างสันติภาพและความดีงาม ก็ต้องพูดกันในพื้นที่สู้รบ (เช่น เวทีเสวนา/ห้องประชุมสัมมนา!) อยู่ดี





ประเด็น "ต้องห้าม" แบบสุดท้ายที่จะขอกล่าวถึงคือ การหัวเราะ-อารมณ์ขันต้องห้าม (Forbidden Laughter and Humor)

กล่าวอย่างรวบรัดแล้ว ศาสนา ปรัชญา และสถาบันทางอำนาจทุกชนิดล้วนมีท่าทีระแวดระวัง และกระทั่งเป็นศัตรูกับการหัวเราะและอารมณ์ขัน เพราะการหัวเราะและอารมณ์ขันบั่นทอน ท้าทาย และตั้งคำถามกับการอ้างและผูกขาดอำนาจและความจริง เป็นที่ทราบกันว่า คริสต์ศาสนาโดยเฉพาะในสมัยกลางหวั่นเกรงและเกลียดชังการหัวเราะ เพราะการหัวเราะคือการ "ลืม" ทุกอย่างที่ทรงมหิทธานุภาพ ขณะที่หัวเราะ มนุษย์ลืมความตาย พระเจ้า บาป ลืมเกรงกลัวสิ่งเหล่านี้ ลืมความซีเรียสและความศักดิ์สิทธิ์ของทุกอย่าง

ประเด็นนี้เป็นธีมที่น่าสนใจในนวนิยายเรื่อง The Name of the Rose ซึ่งเป็นเรื่องของการฆาตกรรมต่อเนื่องหลายศพในโบสถ์วิหารอารามสมัยกลาง อันเป็นสมัยที่คริสต์ศาสนามีอำนาจครอบคลุมทุกมิติของชีวิต การฆาตกรรมต่อเนื่องนี้ก็มีต้นเหตุมาจากพระบรรณารักษ์คนหนึ่งที่พยายามปกปักษ์พิทักษ์หนังสือต้องห้ามเล่มหนึ่งในหอสมุด หนังสือเล่มนั้นคือหนังสือที่ว่าด้วยเรื่อง Comedy ของ Aristotle ว่ากันว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือของอริสโตเติลที่หายสาบสูญไปนานแล้ว และไม่มีใครเคยอ่าน

แต่กลับมาปรากฏอยู่ก๊อบปี้หนึ่งในหอสมุดแห่งนี้ พระที่เป็นบรรณารักษ์ผู้นี้จึงไม่ต้องการให้บรรดาพระทั้งหลายในอารามได้อ่านเรื่องที่ว่าด้วยการหัวเราะ เพราะการหัวเราะเป็นการจาบจ้วงความจริงของพระเจ้า เป็นอันตรายต่อคริสต์ศาสนา โดยให้เหตุผลว่า Comedy ทำให้การหัวเราะถูกยกขึ้นเป็น "ศิลปะ" เป็น "ปรัชญา" และถึงขั้นเป็นหนทางไปสู่ปัญญา นักปรัชญากำลังให้ความชอบธรรมกับการหัวเราะซึ่งเป็นศัตรูกับความซีเรียสจริงจัง พระบรรณารักษ์ผู้ไม่มีอารมณ์ขันรูปนี้เลยวางยาพิษไว้ที่หน้ากระดาษ คนที่มาแอบอ่านจึงถูกยาพิษตาย การหัวเราะจึงเป็นเรื่องคอขาดบาดตายตามตัวอักษรจริงๆ

พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์แบบทางการหรือรัฐพิธีที่เคร่งเครียดจึงไม่อาจยอมให้มีมิติของอารมณ์ขันในนั้นได้เด็ดขาด เพราะทันทีที่ผู้ร่วมพิธีหัวเราะในพระราชพิธี หัวเราะในพิธีที่เคร่งขรึม นั่นคือการท้าทายหรือลบหลู่อำนาจที่กำลังสำแดงอิทธิฤทธิ์อยู่ ณ ขณะนั้น ด้วยเหตุนี้บางทีเราจึงต้องมีการ "กลั้น" หัวเราะ เพราะเรารู้ว่าการหัวเราะในบางเวลาจะสร้างปัญหาได้อย่างเลวร้ายมาก

แต่เราจะเห็นอารมณ์ขันในพิธีกรรมชาวบ้านที่มีมิติของการท้าทายอำนาจ ล้อเล่นกับขนบประเพณี ความศักดิ์สิทธิ์ ลำดับชั้นสูงต่ำในสังคม ฉะนั้นการหัวเราะอาจเป็นสัญลักษณ์หรือมีมิติของอิสรภาพก็ได้ อิสรภาพที่จะไม่ถูกจองจำอยู่ในกฎเกณฑ์ใดๆ เลย แต่ถึงกระนั้นมันก็มักจะอยู่ในบริบทของพิธีกรรม ไม่ใช่ในเวลาปกติ ความศรัทธาจึงมักจะไม่สามารถไปด้วยกันได้กับการหัวเราะ เพราะการหัวเราะทำให้เราหยุดชะงักชั่วคราวกับสิ่งหรือคนที่เราศรัทธา คนที่ศรัทธาซีเรียสจริงจังกับอะไรมากๆ จึงรู้สึกว่าสิ่งหรือคนที่เขาศรัทธา แตะต้องไม่ได้ ล้อเลียนไม่ได้

อารมณ์ขันยังดูจะเป็นเรื่องต้องห้ามในเรื่องของขนบการแสวงหาความรู้ความจริงในมนุษยศาสตร์ เพราะการแสวงหาความรู้ความจริงเป็นเรื่อง "ซีเรียส" ไม่ใช่เรื่อง "ตลก" การมีอารมณ์ขันในงานวิชาการหรือการเสนอเปเปอร์ จึงอาจถือเป็นเรื่องต้องห้ามที่ไม่มีใครพูดถึง เพราะมันเหมือนเป็นสิ่งที่ละไว้ในฐานที่เข้าใจอยู่แล้ว การมีอารมณ์ขันยังอาจทำให้งานเขียนไม่น่าเชื่อถือ เพราะอ่านแล้วขำ เราจะเชื่อถือเฉพาะเรื่องที่ไม่ขำ ขำแปลว่า "เล่นๆ" ไม่จริงจัง แม้ว่าจริงๆ แล้วเรื่องจริงและความจริงจะเป็นเรื่องตลกก็ตาม แต่การแสวงหาความจริงต้องไม่ใช่เรื่องตลก ดังนั้นแม้ว่ามนุษยศาสตร์จะมีอุดมคติอยู่ที่เสรีภาพในการหาความรู้ความจริง แต่ต้องไม่หาแบบตลก คำถามคือ เราสามารถจะหัวเราะความจริงได้หรือไม่ (Laugh at the truth) การหัวเราะความจริงเป็นเรื่องน่าสะพรึงกลัวมากใช่ไหม

ที่พึงระวังอย่างยิ่งก็คือ การหัวเราะเป็นดาบสองคม เพราะในขณะที่อารมณ์ขันสามารถบั่นทอนอำนาจ แต่อารมณ์ขันก็อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อลดความน่าเชื่อถือ (Trivialize) ความซีเรียสจริงจังในประเด็นสำคัญ หรือในประเด็นที่ขัดแย้งหรือเป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายที่ใช้การหัวเราะเป็นเครื่องมือได้



เรื่องตลกต้องห้าม

ท่ามกลางบรรยากาศของ Political Correctness เรื่องตลกจำนวนมากก็เข้าข่ายเป็นเรื่องต้องห้าม หรือต้องถูกเซ็นเซอร์ ความถูกต้องทางการเมืองไม่สามารถทนทานต่อเรื่องตลกบางเรื่องได้ เพราะธรรมชาติของเรื่องขำขันอาจจะในทุกวัฒนธรรมทั่วโลกจะต้องมีการสร้างภาพแบบฉบับที่แฝงนัยของการดูหมิ่นเหยียดหยามหรือการมีอคติอยู่มากมายเต็มไปหมด เรื่องตลกเกี่ยวกับชนชาติหรือประเทศเพื่อนบ้านเป็นเรื่องสามัญที่มีอยู่ดาษดื่นที่สุด

ตัวอย่างง่ายๆ ของเราเองคือ เรื่องตลกเกี่ยวกับชาวเขา หรือการพูดล้อเลียนสำเนียงชาวเขา ซึ่งมีมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อคนกรุงเทพฯ มีปฏิสัมพันธ์กับชาวเขามากขึ้นๆ เช่น การมาเป็นคนใช้ตามบ้าน หรือการที่ภาพลักษณ์ชาวเขากลายเป็นสินค้า หากพูดตรงๆ แล้ว สำหรับคนกรุงเทพฯ ตลกเหล่านี้ก็ตลกมาก ตลกชั่วร้าย โคตรตลกจริงๆ เสียด้วย ตลกแบบชาวเขานี้คือเรื่องตลกที่คนกรุงเทพฯ ใช้ท่าทีสถานภาพที่เหนือกว่าล้อเลียนความบกพร่องทางภาษา รวมทั้งเรื่องเพศด้วย การใช้ท่าทีมุมมองที่เหนือกว่าจึงเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของเรื่องตลกแบบนี้ แต่ในอีกแง่หนึ่ง การเห็นขันกับอะไรก็ตามที่ "ต่าง" ไปจากตัวเอง ก็อาจเป็นความปกติที่มีอยู่ในความเป็นมนุษย์ทั่วไป เพราะความเป็นมนุษย์ย่อมไม่ใช่ความเป็นเทพที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง ความเป็นมนุษย์คือความมีตำหนิ ไม่สมบูรณ์แบบ

ถึงกระนั้นบางครั้งเราก็มักจะมองกันว่า เรื่องตลกที่ชอบธรรมคือเรื่องตลกที่ล้อเลียน เยาะเย้ย ถากถาง ผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า ไม่ใช่เรื่องตลกที่กระทำต่อผู้ที่มีสถานะต่ำกว่า ตลกที่ชอบธรรมจึงคือตลกต่อ "ข้างบน" ไม่ใช่ต่อ "ข้างล่าง" ตลกต่อนายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดี ไม่ใช่ตลกกับคนเร่ร่อนไร้บ้าน หรือตลกกับเหยื่อที่ถูกข่มขืน ซึ่งจะถูกถือว่าเป็นตลกที่ไร้จริยธรรม

แต่ถ้าหากเรา "ห้าม" เรื่องตลกที่ไม่ถูกต้องทางการเมือง (politically incorrect jokes) การ "ห้าม" นี้ก็อาจเท่ากับเป็นการ "กดขี่" ซ้อนสองตลบ ชั้นแรกคือตัวเรื่องตลกนั้นมีนัยกดขี่อะไรบางอย่างอยู่แล้ว แล้วเราก็ไป "กดขี่" ใช้อำนาจกับการเล่าเรื่องขำขันเหล่านั้นอีกชั้นหนึ่ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เรื่องขำขันก็มีทั้ง good joke กับ bad joke และการตัดสินว่าอะไรคือ good joke หรือ bad joke ก็คงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า ปรัชญาของอารมณ์ขันหรือการหัวเราะคือการทำให้ทุกสิ่งทุกอย่าง "คลุมเครือ" และคือการ "แขวน" การตัดสินทางศีลธรรม ฉะนั้นถ้าจะว่าไปแล้ว อารมณ์ขันย่อมต้องอยู่ก้ำกึ่ง ล่อแหลม ท้าทายกฎเกณฑ์แบบแผนทางอำนาจ ความถูกต้อง และศีลธรรมเสมอ ดังนั้นศาสนาซึ่งสร้างโลกและกฎเกณฑ์ทางศีลธรรมที่ชัดเจนจึงต้องมีปัญหากับอารมณ์ขันแน่ๆ ทำให้มักมีคำถามที่นำไปสู่การโต้แย้งที่เคร่งเครียดและไร้อารมณ์ขันว่า พระเยซูหรือพระพุทธเจ้าเคยหัวเราะหรือไม่

และอาจจะเพราะความก้ำกึ่ง ล่อแหลม ท้าทายอย่างนี้ด้วย ตามจารีตแล้ว คนที่จะทำตลกมีอารมณ์ขันได้ก็มักจะเป็น "ผู้ชาย" แทบจะทั้งนั้น เพราะแน่นอนว่าผู้ชายได้รับอนุญาตจากสังคมให้สามารถล้อเล่น ท้าทาย พลิกแพลง ทะลึ่ง หยาบคาย ใช้ไหวพริบปฏิภาณได้มากกว่า "ผู้หญิง" ที่ถูกจำกัดให้อยู่ในกรอบจารีตที่กดทับกว่า เราจึงอาจมองการหัวเราะและอารมณ์ขันโดยเฉพาะในปริมณฑลสาธารณะว่าเป็นเรื่องต้องห้ามของผู้หญิงได้อีกชั้นหนึ่งด้วย



หัวเราะตัวเอง

ถึงที่สุดแล้ว อารมณ์ขันและการหัวเราะที่สำคัญที่สุดกลับคือการหัวเราะตัวเอง (laugh at oneself) มนุษยศาสตร์รวมทั้งศาสตร์ทุกอย่างในโลกก็ต้องรู้จักหัวเราะตัวเอง การหัวเราะคนอื่นเป็นเรื่องง่ายที่สุด เป็นธรรมชาติที่สุด และเราก็ทำกันตลอดเวลา แต่คนเราควรจะรู้จักและเรียนรู้ที่จะหัวเราะตัวเอง การไม่สามารถหัวเราะตัวเองได้ คือการให้ความสำคัญ ซีเรียสกับความคิดตัวเอง และตัวตนตัวเองมากเกินไป ยึดติดว่าเราผูกขาดการตีความ การอ่าน การวิเคราะห์ หรือเป็นผู้ค้นพบหรือถ่ายทอด
"ความจริง" แล้วเปิดโปงอย่างอื่นที่ "ไม่จริง" ยิ่งพวก Fundamentalist, Ultra-conservative, หรือพวกคลั่งชาติ พวกสาวกบูชาลัทธิใดๆ ยิ่งต้องรู้จักหัวเราะตัวเอง ว่าตัวเองกำลังทำอะไรกันอยู่

การหัวเราะตัวเอง คือการลดอัตตา ละลายตัวตนบ้าง

มันคือการกระโดดออกจากตัวเอง แล้วหันกลับมามองตัวเอง แล้วหัวเราะ

และจริงๆ แล้ว ไม่มีใครในโลกนี้ ไม่มีใครเลยสักคนเดียว ไม่ว่าที่ไหนและเมื่อไหร่ ที่สำคัญและยิ่งใหญ่เสียจนไม่สามารถหัวเราะตัวเองได้


มุกหอม วงษ์เทศ

ศิลปวัฒนธรรม
วันที่ 01 ตุลาคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 26 ฉบับที่ 12

ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม : สโมสรศิลปวัฒนธรรม

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำไปโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

ผู้พิชิตสมรภูมิบางเขน ด้วยกระสุน ป.ต.อ. เพียง ๙ นัด


บทความนี้คัดจากบันทึกของ "นายหนหวย" เรื่อง "พลโทบุศรินทร์ ภักดีกุล นายทหารประชาธิปไตย ผู้พิชิตสมรภูมิบางเขนด้วยกระสุน ป.ต.อ. เพียง ๙ นัด" ซึ่งลงพิมพ์ในหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลโทบุศรินทร์ ภักดีกุล ม.ว.ม., ป.ช., ท.จ. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร วันเสาร์ที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๒

ผมได้รู้จักคุ้นเคยกับพลโทบุศรินทร์ ภักดีกุล ผู้เป็นอาจารย์รุ่นก่อตั้งโรงเรียนนายร้อยเทคนิคท่านนี้เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๐๖ เป็นการพบในราชการสนามที่โคกกระเทียม ปีนั้นมีการฝึกความพร้อมรบเป็นครั้งแรกของซีโต้ การฝึกครั้งนี้ได้ชื่อว่า "การฝึกธนะรัชต์" เพื่อให้เกียรติแก่ท่านจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายพลสามเหล่าทัพขึ้นรสบัสคันใหญ่รวมกันในฐานะผู้สังเกตการณ์ ผมเป็นผู้สังเกตการณ์ด้านสื่อมวลชน ความจริงผมได้รู้จักท่านฝ่ายเดียวมานานแล้ว

แต่ไม่เคยได้วิสาสะพูดจากัน เพราะท่านเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ เพื่อนผมที่สำเร็จออกเป็นนายทหารจากโรงเรียนนายร้อยเทคนิค ได้พูดถึงความเป็นเอตทัคคะในวิชาปืนใหญ่ และเป็นคนสำคัญคนหนึ่งในจำนวนอาจารย์ที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาการทหารชั้นสูง ท่านไม่ชอบเป็นข่าวจึงเป็นการยากที่ผู้มีอาชีพทางการข่าวอย่างผมจะเข้าไปวิสาสะ จากการติดตามข่าวทางการเมืองและการทหาร ผมรู้ว่าท่านเป็นกำลังสำคัญยิ่งของทหารฝ่ายรัฐบาลเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ที่เรียกกันว่า "ศึกบวรเดช"

วันนั้นหลังอาหารกลางวันแบบช่วยตัวเองในสนามแล้วก็เป็นเวลาพัก ผมจึงเลียบเคียงเข้าไปคุยกับท่านสองต่อสอง ขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่งเจ้ากรมแผนที่ทหาร สังเกตว่าท่านอารมณ์ดีพอสมควร ผมก็เริ่มสัมภาษณ์เรื่องในอดีตเมื่อครั้งปี ๒๔๗๖ ที่ท่านมียศร้อยโท ป.ต.อ. รุ่นแรกของเมืองไทย ท่านตรึกตรองอยู่ครู่หนึ่งแล้วก็เอ่ยขึ้นว่า

"ผมไม่อยากพูดถึงเหตุการณ์คราวนั้น เพราะมันอัปยศทหารไทยรบกันเองโดยเฉพาะผมต้องรบกับน้องชายของผมเอง"

ท่านหมายถึงร้อยโทเอกรินทร์ ภักดีกุล น้องชายร่วมสายโลหิตผู้สำเร็จวิชาทหารช่างจากเมืองนอกมาสดๆ ร้อนๆ กำลังจะเป็นมันสมองของเหล่าทหารช่าง แต่เวลานั้นโชคชะตาบันดาลให้อยู่ในตำแหน่งผู้บังคับหมวดทหารช่างในกองพันทหารช่างที่ ๑ มีที่ตั้งปกติอยู่อยุธยาร่วมกับกองพันทหารช่างที่ ๒ ทหารช่างสองกองพันนี้ พันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม นำลงเรือมาขึ้นที่รังสิตอย่างเงียบกริบในคืนวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๔๗๖ เป็นกำลังส่วนหน้าของฝ่ายปฏิวัติหลังจากเข้ายึดดอนเมืองในก่อนรุ่งอรุณของวันที่ ๑๒ แล้ว พันเอก พระยาศรีสิทธิสงครามก็สั่งให้พันตรี หลวงลบบาดาลนำทหารช่างส่วนหนึ่งที่รุกคืบหน้าเข้ามายึดสถานีรถไฟบางเขนทันที นายทหารช่างหนุ่มๆ ที่สำเร็จจากต่างประเทศมาสดๆ ร้อนๆ เพื่อเป็นมันสมองของเหล่าทหารช่างประจำการอยู่ในกองพันนี้ทั้งนั้น คือ ร้อยโทเอกรินทร์ ภักดีกุล ร้อยโท หม่อมหลวงชวนชื่น กำภู กับอีกหลายนาย ซึ่งต่อมาอยู่ในวงการวิศวกรชั้นนำของเมืองไทย

ท่านเล่าให้ฟังว่าหลังจากท่านสำเร็จวิชาทหารปืนใหญ่จากโรงเรียนโปลีเทคนิคของเบลเยียม ท่านก็กลับมาตุภูมิในปี ๒๔๗๖ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ไม่ถึงปี และก่อนวิกฤตการณ์ทางการเมืองเล็กน้อย นับได้ว่าเป็นนายทหารในระบอบประชาธิปไตยยุคเริ่มแรกและเป็นนายทหารปืนใหญ่คนล่าสุดของกองทัพบกที่สำเร็จจากยุโรปมาสดๆ ร้อนๆ ปืนใหญ่ที่ท่านเรียนสำเร็จมานั้นคือปืนใหญ่ชั้นสูง ต่อสู้อากาศยาน เป็นวิชาใหม่และเหล่าใหม่ที่ยังไม่มีในเมืองไทย แต่อยู่ในความดำริของพันโท หลวงพิบูลสงคราม ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองคนสำคัญ

ดังนั้นกองทัพบกจึงได้สั่งซื้อปืนต่อสู้อากาศยาน หรือที่เรียกกันว่า ป.ต.อ. พร้อมรถสายพานติดตั้งปืนมาเสร็จ ๑๐ คัน จากบริษัท บาโรเบราน์ตัวแทนขายในกรุงเทพฯ รถสายพานติดตั้ง ป.ต.อ. ขนาด ๔๐ มม. ทั้งรถทั้งปืนเป็นของบริษัท วิคเกอร์อาร์มสตรอง แต่ทางโรงงานส่งเข้ามาให้รุ่นแรกเพียง ๒ คัน ในเดือนสิงหาคม ๒๔๗๖ ก่อนจะเกิดการต่อสู้ระหว่างทหารรัฐบาลกับทหารหัวเมืองในสมรภูมิบางเขน เมื่อเข้ามาถึงกองทัพบกได้มอบหมายให้ร้อยโท หม่อมหลวงขาบ กุญชร ฝึกด้านการขับและเครื่องยนต์ ท่านเป็นครูฝึกการยิงปืน เวลานั้นยังไม่ได้จัดตั้งหน่วย ป.ต.อ. อาวุธใหม่จึงรวมอยู่ในกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๑ รักษาพระองค์

ท่านเล่าว่ามีเวลาฝึกอยู่เพียงเดือนเศษ โดยใช้นายทหารที่สำเร็จจากโรงเรียนนายร้อยมาใหม่ๆ ทำหน้าที่พลยิง ที่จำได้และเป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิ คือว่าที่ร้อยตรีพิสิษฐ์ ฉายเหมือนวงษ์ ขณะที่คุยกันท่านได้ชี้ให้ผมดูรถถังของทหารอเมริกัน ๔-๕ คัน ที่ขับปุเลงๆ มาจากไหนไม่ทราบเข้ามาร่วมในการฝึกด้วย ท่านพูดยิ้มๆว่า"อเมริกันเขาคุยนักว่าเขาเป็นชาติแรกที่เอาปืนใหญ่ขึ้นติดตั้งบนรถถัง ที่จริงแล้วกองทัพไทยทำมาก่อนตั้งสามสิบกว่าปี" แล้วท่านก็หัวเราะ ผมมีเวลาคุยกับท่านเพียงเล็กน้อย เพราะท่านต้องเข้าไปรวมกลุ่มนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ท่านบอกกับผมว่า"วันหลังว่างๆ พบกันใหม่ที่กรมแผนที่ทหาร"

ผมได้พบกับท่านหลายครั้งทั้งในงานราชการและงานสังคมอื่นๆ จนเรียกได้ว่าคุ้นเคย ผมได้รับความรู้ต่างๆ ทั้งด้านการทหารและการเมืองจากท่านมากมายล้วนแต่ไม่อาจจะหาเรียนได้จากที่ไหน เพราะท่านมีประสบการณ์ในชีวิตสูงกว่าคนระดับเดียวกับท่าน เท่าที่ผมได้วิสาสะมา ในปีต่อมาผมได้มีโอกาสคุยกับท่านอย่างสนุกสนานเกือบตลอดคืน เพราะพบท่านในรถนอนชั้น ๑ ของรถด่วนกรุงเทพฯ-อุบลฯ ผมไปราชการและจองตู้นอนไว้ล่วงหน้า พอขึ้นรถก็พบท่านแต่งเครื่องแบบพลโทนั่งอยู่ในตู้นอนแล้ว มีนายทหารคนสนิทยศพันตรีติดตาม ๑ คน

ผมแปลกใจจึงเรียนถามก็ได้รับคำตอบว่า ท่านจะไปจังหวัดศรีสะเกษเพื่อนำระฆังใหญ่ใบหนึ่งไปถวายวัดอะไรผมก็ลืมเสียแล้ว ทราบแต่ว่าอยู่นอกตัวจังหวัดออกไปอีก ผมเรียนถามเพราะแปลกใจที่นายทหารยศพลโทตำแหน่งเจ้ากรมสำคัญกรมหนึ่งเดินทางไปทำบุญระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร มีผู้ติดตามเพียงนายทหารคนสนิทเพียงคนเดียว ท่านบอกหน้าตาเฉยว่า "การทำบุญเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ต้องกวนใคร"

ท่านให้คนงานยกระฆังใบใหญ่หนักประมาณ ๕๐-๖๐ กิโลกรัม ขึ้นรถไฟ ชาวบ้านที่ติดต่อให้มาคอยรับที่สถานีเข้าจะยกระฆังลงเอง เสร็จพิธีถวายแล้วท่านก็จะกลับกรุงเทพฯ ในเย็นของวันเดียวกัน โดยรถด่วนขบวนเก่าขาล่อง คุยกันจนดึกท่านก็เอาแซนด์วิชที่เตรียมมาออกมาสู่ผมกินไม่ต้องไปวุ่นวายรถเสบียงให้คนเกรงใจ เพราะท่านแต่งเครื่องแบบพลโท เมื่อได้ที่แล้วผมก็เรียนถามท่านว่า


"เมื่อคราวปะทะกับฝ่ายทหารหัวเมืองที่ทุ่งบางเขนปีศึกบวรเดช ฝ่ายรัฐบาลได้เปรียบเพราะมี ป.ต.อ. ๔๐ มม. ยิงกวาดล้างจนวัดเทวสุนทรพังใช่ไหม"


ท่านเล่าอย่างไม่ปิดบังเพื่อต้องการให้คนรุ่นหลังรู้ความจริง เพราะผมบอกว่าผมจะนำเอาเรื่องราวทั้งหมดไปเขียนเป็นสารคดีออกเผยแพร่ โดยมีใจความดังต่อไปนี้


เมื่อได้ทราบว่าพระองค์เจ้าบวรเดชนำทหารต่างจังหวัดเข้ามายึดดอนเมือง ส่งส่วนล่วงหน้าขึ้นมายึดสถานีบางเขนไว้ ทหารส่วนหน้าเป็นทหารช่างอยุธยา ซึ่งน้องชายของท่านประจำการอยู่ แต่หน้าที่ก็คือหน้าที่ ท่านได้เข้าประจำกองผสมซึ่งพันโท หลวงพิบูลสงครามตั้งขึ้นโดยฉับพลันรวบรวมทหารทุกเหล่าในกรุงเทพฯ เป็นกำลังหลักทางฝ่ายรัฐบาลไม่สามารถปฏิบัติตามคำขาดซึ่งเป็นข้อเสนอของฝ่ายทหารหัวเมืองได้ จึงตัดสินใจใช้กำลังจากฐานสถานีบางซื่อเข้าตี

โดยใช้กำลังทหารราบกองพันที่ ๘ ในบังคับบัญชาของพันตรี หลวงอำนวยสงคราม ในเช้าของวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๔๗๖ เสียงปืนของทั้งสองฝ่ายกึกก้องท้องทุ่งบางเขนได้ยินไปถึงปทุมธานีและอยุธยาบางอำเภอ หลังจากการปะทะไม่กี่ชั่วโมง กองพันนี้ซึ่งรุกคืบหน้าบนรางรถไฟพร้อมกันทั้งสองราง โดยนำรถถังขึ้นบรรทุกรถ ข.ต. แล้วใช้รถจักรดันหลังให้เคลื่อนที่เข้าหาฝ่ายตรงกันข้าม ทหารราบอยู่ในรถคันหลัง มีรถบังคับการกองพันอยู่กลางขบวน เคลื่อนที่ช้าๆ ออกไปจากบางซื่อ มีวิธีเดียวเท่านี้ที่จะรุกคืบหน้าเข้าไปหาฝ่ายตรงกันข้ามในยามที่น้ำเจิ่งท้องทุ่งบางเขน

รุกเข้าไปไม่นานก็ได้รับการต้านทานอย่างหนักด้วยปืนกลของฝ่ายหัวเมืองซึ่งเป็นทหาร ม.พัน ๔ สระบุรีขึ้นมาสับเปลี่ยนทหารช่างอยุธยาเมื่อตอนค่ำของวันที่ ๑๓ สักประเดี๋ยว กองพันนี้ก็ถอยกรูดกลับมาสถานีบางซื่อ เพราะพันตรี หลวงอำนวยสงคราม ผู้บังคับกองพันผู้เป็นมือขวาของพันโท หลวงพิบูลสงคราม ถูกกระสุนปืนกลที่ยิงเฉียงเข้ามาจาก
โบสถ์วัดเทวสุนทรเลยวัดเสมียนนารีไปเล็กน้อย ร้อยตรีเผ่า ศรียานนท์ ซึ่งอยู่ในรถบังคับการร้องไห้เข้าไปรายงานพันโท หลวงพิบูลสงคราม เมื่อได้เก็บศพพันตรี หลวงอำนวยสงครามอย่างมิดชิดพร้อมกำชับให้ปิดข่าวแล้ว พันโท หลวงพิบูลสงคราม ก็ตัดสินใจเผด็จศึกด้วยอาวุธใหม่ที่เพิ่งตกเข้ามาทันที

ท่านได้เล่าให้ผมฟังถึงสมรรถนะของ ป.ต.อ. วิคเกอร์อาร์มสตรอง ขนาด ๔๐ มม. รุ่นแรกของกองทัพบกว่า ทันสมัยที่สุดในเวลานั้นเป็นชนิดเดียวกับที่ใช้ในกองทัพอังกฤษ ใช้กระสุนเจาะเกราะและกระสุนระเบิดยิงได้นาทีละ ๒๐๐ นัด ทั้งวิถีราบและต่อสู้อากาศยาน ระยะยิงไกล ๖ กิโลเมตร กับ ๑๐๐ เมตร ส่วนรถสายพานเครื่องยนต์ ๘๗ แรงม้าไต่ลาดได้ ๔๕ องศา จัดได้ว่าเป็นปืนใหญ่ที่ทรงอานุภาพที่สุดแห่งยุคทหารไทยไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อนเลย (ปืนที่ลำกล้องตั้งแต่ ๒๐ มม.ขึ้นไปจัดเข้าประเภทปืนใหญ่)

ในวันที่ได้รับคำสั่งนั้น ท่านบอกว่าได้ใช้เพียงกระบอกเดียว อีกกระบอกหนึ่งเก็บสำรองไว้ก่อน เมื่อนำรถไปขึ้นบรรทุกบนรถ ข.ต. ที่หัวลำโพงก็เคลื่อนมาที่สถานีบางซื่อแล้วเคลื่อนขึ้นไปตามทางรถไฟโดยมีรถจักรดันหลัง รถปืน ป.ต.อ. นี้ใช้ทหารประจำรถเพียง ๕ คน รวมทั้งตัวท่านเอง เมื่อเคลื่อนเลยวัดเสมียนนารีไปได้หน่อยหนึ่งก็ตกอยู่ในวิถีกระสุนของฝ่ายตรงข้าม แต่ก็ไม่ได้ยิงโต้ตอบ คงเคลื่อนที่เข้าไปช้าๆ เพราะมีเกราะกำบัง จนในที่สุดก็สังเกตเห็นได้ชัดเจนว่ารังปืนกลถาวรของฝ่ายตรงข้ามก็คือหน้าต่างโบสถ์วัดเทวสุนทร โดยพาดปืนกลเบาเข้ากับหน้าต่างโบสถ์ยิงต้านทานอย่างเหนียวแน่น เพราะได้ที่กำบังอย่างแข็งแรง เมื่อจำเป็นเช่นนี้ก็ต้องยิงทำลายที่มั่นถาวรของฝ่ายตรงข้ามเพื่อเผด็จศึกตามคำสั่ง

"ผมได้บอกทหารทุกคนที่อยู่ในรถ ป.ต.อ. ให้ยกมือไหว้ขอขมาที่จำเป็นต้องยิงโบสถ์และอธิษฐานขออย่าให้ถูกพระประธาน"

ครั้นแล้วท่านก็ทำหน้าที่พลยิงด้วยตนเอง เพราะเป็นการยิงครั้งแรกของปืนชนิดนี้ ท่านได้ใช้กระสุนระเบิดในตับติดๆ กันไปอีก ๔ นัด เท่านี้เองฝ่ายตรงข้ามก็ชะงักทันที เพราะเพิ่งเคยเห็นปืนใหญ่ยิงได้รวดเร็วราวกับปืนกลและกระสุนระเบิดแม่นยำเกินกว่าที่เคยพบเห็นมาในเวลาซ้อมยิงปืนใหญ่แบบเก่าที่เคยมีในกองทัพบก ท่านเล่าต่อไปว่าได้ส่องกล้องดูเห็นคนวิ่งหนีออกไปจากโบสถ์ ๔-๕ คน

ที่หมายต่อไปที่สงสัยว่าจะเป็นที่มั่นของฝ่ายตรงกันข้ามคือสถานีวิทยุต่างประเทศที่หลักสี่ จึงได้ยิงข่มขวัญไปอีก ๕ นัด เล็งสูงจากตัวอาคารเพราะเกรงจะได้รับความเสียหาย จากนั้นก็นำทหารราบรุกคืบหน้าไปโดยไม่ได้ยิงอีกเลย นับว่าเป็นยุทธวิธีที่ค่อนข้างแหวกแนวที่ปืนใหญ่ออกนำทหารราบและยิงวิถีราบอย่างปืนกล บทบาทของท่านมีเพียงวันเดียวฝ่ายทหารหัวเมืองถอนตัวจากดอนเมืองขึ้นตั้งรับในเทือกเขาดงพระยาเย็นต่อไป ซึ่งตอนนี้หมดภารกิจของท่านแล้ว ตกลง ป.ต.อ. รุ่นแรกของกองทัพบกได้บุกเบิกชัยชนะให้ฝ่ายรัฐบาลด้วยกระสุนเพียง ๙ นัดเท่านี้เอง


คอลัม : เล่าไว้ในวันก่อน

ศิลปวัฒนธรรม
วันที่ 01 กันยายน พ.ศ. 2548 ปีที่ 26 ฉบับที่ 11

ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม : เล่าไว้ในวันก่อน

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำไปโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

วันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

คำถามชวนคิด


๑. “กษัตริย์” เป็นสิ่งเดียวกับ “สถาบันกษัตริย์”?

๒. “กษัตริย์” หรือ “สถาบันกษัตริย์
เป็นสิ่งเดียวกับ “ชาติ” และ “ศาสนา”?

๓. ข้อความคิดว่าด้วย “พลเมือง” หรือ “ประชาชน”
ไม่มีอยู่จริงในประเทศไทย?



คำถามชวนคิดที่โพสในบล็อกตอนนี้

เกิดจากข่าวปาฐกถาของพล.อ.เปรมที่ จปร เลยสงสัย เอามาถามกันต่อ

พล.อ.เปรม บอกว่า "ทหารเป็นของชาติและพระเจ้าอยู่หัว"

เห็นแบบนี้ ไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมจึงคิดกันว่า ข้า"ราช"การ หรือ ผู้พิพากษาตัดสินคดีในพระปรมาภิไธย

ถ้าเอาข้อความคิดว่าด้วย "รัฐ" มาจับกับรัฐไทย น่าสงสัยว่า รัฐไทยแยกออกเด็ดขาดกับสถาบันกษัตริย์หรือยัง

๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ต้องการแยก "รัฐ" ออกจากสถาบันกษัตริย์อย่างชัดเจน

แต่ก็ถูกดึงกลับไป

บางที รัฐไทยอาจเป็นรัฐเดียวในโลกที่ปกครองระบอบประชาธิปไตยแต่ "รัฐ" ไม่ได้แยกออกจากสถาบันกษัตริย์

ดังนั้น หากเราเขียนงานวิชาการ คงต้องใส่เครื่องหมายอัญประกาศคร่อมคำว่า "ประชาธิปไตย" ไว้เสมอเวลาจะกล่าวถึงประชาธิปไตยของไทย เพราะ "ประชาธิปไตย"ในบริบทของไทย ไม่เหมือนที่อื่นอย่างแท้จริง

By Etat de droit


เสนอความเห็น..


ขอยกเพลงพี่เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย ที่ถูกใช้เป็นเพลงกึ่งทางการในทีวีเมื่อเดือนก่อน มาแสดงให้เห็นถึงมุมมองของ “พลเมือง” ไทยที่เชื่อ, หรือทำให้เชื่อ ถึงความสัมพันธ์ และความสำคัญของสถาบันกษัตริย์กับตัวพลเมือง ดังนี้


“เราทุกคนก็เหมือนก้อนดินแค่ก้อนหนึ่ง
บอบบางไร้ค่าไร้ความหมาย อ่อนแอเหมือนโคลน
ไหลไปตามทางเรื่อยไป เมื่อน้ำแห้งไป ก็แตกระแหง
มีพลังเพียงแค่แรงหนึ่งที่ยึดเรา เหนี่ยวรั้ง เราไว้ให้กล้าแข็ง
รวมผู้คนมากมาย ให้ทรงพลังแข็งแรง รวมเม็ดดินเล็กๆให้เป็นแผ่นดิน...”


บทเพลงนี้แสดงความที่ชัดเจนอย่างยิ่งให้เห็นแนวคิด ที่ยอมรับ (หรือถูกทำให้ยอมรับ) ว่า ประชาชนพลเมืองทั้งหลายนั้น เป็นเพียง “ก้อนดิน” ที่ “ไร้ค่า” “อ่อนแอ ไร้ความหมาย” และ อยู่ไม่ได้ ไหลไป แตกระแหง หากขาดสถาบันกษัตริย์เสียแล้ว เพลงนี้จึงช่วยส่งเสริมให้ตอกย้ำในความเชื่อลงไปในหัวใจของราษฎรไทยให้มั่นคงยิ่ง

หรือถ้าเผื่อคุณไปแสดงท่าที “ไม่เชื่อมั่น” ต่อแนวคิดเช่นว่านี้ในเวบบอร์ดสาธารณะที่เปิดกว้าง คำประณามที่คุณจะได้รับอันหนึ่ง คือ หากไม่มีกษัตริย์แล้ว โครตเหง้าสักกะหลาดคุณจะมีแผ่นดินอยู่หรือ

ซึ่งผู้พูดหมายถึงกษัตริย์ในอดีตที่กอบกู้เอกราช หรือป้องกัน “ชาติ” มิให้ถูกรุกรานจากการล่าอาณานิคม แต่ผู้พูดละทิ้งในความสำคัญของทหาร ข้าราชการ พลเรือน ประชาชนในยุคนั้นสมัยนั้นไปเสียหมด เพราะพลเมืองเหล่านั้นเป็นแค่ “ก้อนดินที่ไร้ค่า” หากปราศจากเสียซึ่งกษัตริย์ การ “มีแผ่นดินอยู่” จึงเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์เสียเท่านั้น

ข้าราชการทั้งหลาย ถูกสั่งสอนให้เชื่อว่าเป็น “ข้าราชการของพระมหากษัตริย์” ดังนั้น ข้าราชการทั้งหลายจึงมีอุปทานลึกๆ เสมอว่าหน้าที่ของตนนั้น เหนือกว่าการรับใช้รัฐ และหน้าที่ของตนนั้นเหนือกว่าพลเมืองอื่นๆ เพราะตนเป็น “ผู้รับใช้” แห่งกษัตริย์

และ “การหมิ่น หรือไม่เชื่อมั่นในสถาบันกษัตริย์” จึงเป็นอาวุธชั้นดีในทางการเมืองเสมอมา


ต่อข้อถามของผู้ตั้งประเด็น

๑. “กษัตริย์” เป็นสิ่งเดียวกับ “สถาบันกษัตริย์”?
- คำตอบนี้ต้องรอการพิสูจน์อีกราว 40 ปี
ตอนนี้ยังคงได้แต่คาดเดา

๒. “กษัตริย์” หรือ “สถาบันกษัตริย์” เป็นสิ่งเดียวกับ “ชาติ” และ “ศาสนา” ?
- ไม่ทั้งหมด แต่ “ชาติ”
นั้นคือพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์แน่ๆ

๓. ข้อความคิดว่าด้วย “พลเมือง” หรือ “ประชาชน” ไม่มีอยู่จริงในประเทศไทย?
- ไม่, ไม่มีอยู่จริง

By แซงแซวแห่งวงไฮโล



ในมุมมองของผม...

1. กษัตริย์ คือ "ตัวแทน อันดับหนึ่ง" ที่ทำหน้าที่ของ สถาบันกษัตริย์ ทั้งโดนนิตินัยและพฤตินัย

2. กษัตริย์ ในปัจจุบัน โดย Implication ของคนไทยหลายๆคน (ส่วนใหญ่ของประเทศก็ว่าได้) ต่างมีมุมมองว่า กษัตริย์ (พระองค์นี้) (ไม่ใช่สถาบันกษัตริย์) คือตัวแทนของ "ชาติ" และ "ศาสนา" ไปนานแล้ว

ถามว่านานแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับการรับข่าวสาร และพระราชกรณียกิจของคนนั้นๆที่แน่ๆ เริ่มจากสมัย สฤษดิ์

3. สถาบัน "ประชาชน" มีอยู่จริงในประเทศไทยแต่เป็นสถาบันที่มีบทบาทน้อย ในทางปฏิบัติ

กระทั่งสิ่งที่ประชาชน ไปแสดงความเห็นของประชาชนเอง โดยวิธีการเลือกตั้ง ในระดับ Major election ที่ถึงแม้เป็น snap

เสียงทีประชาชนไปแสดงนั้น ก็ถูก "freeze" หรือ "Abort" ได้โดยง่าย เพียงอาศัยการแทรกแซงของสถาบันอื่นๆ ตามกลไกที่เอื้อำนวยและอยู่ในมือ

ไม่ว่าจะไร้เหตุผล หรือ มีเหตุผลก็ตาม...

นั่นแสดงถึง ความปวกเปียกของสถาบันประชาชนในเมืองไทยที่ชัดเจน

ปล.
ผมเคยเห็น หน่วยทหารแห่งหนึ่ง เขียนข้อความไว้ข้างตึกบัญชาการเล็กๆ ของตนเองว่า

"เพื่อ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และ ประชาชน"

ผมไม่รู้ว่า ในมุมมองของผู้เขียนข้อความนั้นเขาเรียงลำดับความสำคัญของ ทั้ง 4 สถาบันนั้นไว้อย่างไร

แต่ บอกตามตรงว่า พอเห็นตอนแรก ก็ยังรู้สึกว่า นี่ยังดี ที่มันมี สถาบันอันหลังสุดอยู่

เพราะทั่วไปแล้ว ผมไม่เคยเห็นในที่อื่นมาก่อน...

By หมีpooh!


ที่มา : Etat de droit : คำถามชวนคิด (วันศุกร์, กรกฎาคม 14, 2006)

หมายเหตุ
ผมเห็นว่าประเด็นที่ตั้งคำถาม กับคำตอบที่ได้รับมีความน่าสนใจ
เลยทำสำเนามาไว้อ่านกัน...
และหวังว่าเจ้าของบล็อกคงมิว่าอะไรนะครับ

ประวัติศาสตร์ดัดจริต


ได้อ่านบทบรรณาธิการของศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมีนาคม ๒๕๔๖ "ประวัติศาสตร์ญาติพี่น้องถูกต้องและดีงามกว่าประวัติศาสตร์สงคราม" ขออนุญาตถกเถียงด้วย

ผมเห็นด้วยว่าประวัติศาสตร์แบบชาตินิยมทุกชนิดสนใจสงครามการรบพุ่งเพื่อเน้นวีรกรรมของบรรพบุรุษ ชนะก็เน้นปรีชาสามารถ แพ้ก็เน้นความเสียสละรักชาติยิ่งชีพ เน้นจนกระทั่งมองข้ามมิติอื่นๆ ของความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรต่างๆ ในภูมิภาค ลงท้ายพานนึกว่าตนเองวิเศษเหนือชาติอื่น มองเพื่อนบ้านเป็นอริราชศัตรูอยู่ร่ำไป

แต่ผมไม่เห็นด้วยว่าควรจะ "ยกเลิกประวัติศาสตร์สงคราม" เพราะถูกต้องดีงามน้อยกว่าประวัติศาสตร์ญาติพี่น้อง ประเด็นอยู่ตรงที่ว่าประวัติศาสตร์สงครามมิได้ถูกผิดดีเลวในตัวมันเอง แต่ถูกทำให้เป็นเครื่องมือเผยแพร่ความ "เท็จ" อย่างที่บทบรรณาธิการกล่าว อันที่จริงเราต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์สงครามความขัดแย้งให้หนัก แต่ต้องมิใช่ประวัติศาสตร์ "เท็จ"

ต้องไม่ใช่เพื่อการโฆษณาชวนเชื่อ กล่อมเกลาประชาชนของเราเอง หลอกตัวเองหรือเพื่อยกตนข่มผู้อื่น

คำตอบคือเราต้องเข้าใจว่าการสงครามในอดีตอยู่ภายใต้การเมืองแบบไหน บริบทอะไร เพื่ออะไร บทบรรณาธิการได้ให้คำตอบแล้วข้อหนึ่ง คือเป็นการสงครามระหว่างวงศ์กษัตริย์ มิใช่ระหว่างชาติหรือประชาชนไพร่ฟ้าพลเมือง

ผมขอเสริมอีกคำตอบว่า ในหลายกรณีเป็นสงครามระหว่างกษัตริย์และอาณาจักรที่แย่งชิงความเป็นใหญ่ในภูมิภาค แย่งกันเป็นองค์จักรพรรดิราช แต่ส่วนใหญ่ของการสงครามในอุษาคเนย์เป็นเรื่องขององค์ราชาธิราชหรือจักรพรรดิต้องการแผ่อำนาจด้วยการกำราบปราบปรามกษัตริย์และอาณาจักรที่อ่อนแอกว่าตน เพื่อสถาปนาความเป็นใหญ่เหนือวงศ์กษัตริย์อื่น นี่เป็นปรากฏการณ์ปกติของการเมืองสมัยโบราณ เป็นเรื่องที่พระราชพงศาวดารไม่เคยอับอาย ไม่ต้องอำพราง ไม่ต้องกระมิดกระเมี้ยนหรือให้เหตุผลแก้ตัว เพราะเป็นภารกิจประการหนึ่งของกษัตริย์ในสมัยโบราณ

กล่าวอย่างตรงไปตรงมา สงครามในอดีตของ "ไทย" นั้น บางครั้ง "ไทย" เป็นฝ่ายถูกรังแก หลายครั้งเป็นการปะทะเพื่อตัดสินว่า "ไทย" กับ "พม่า" ใครจะเหนือกว่ากัน แต่ส่วนข้างมากของสงครามการรบที่ "ไทย" กระทำเป็นเรื่องของการแผ่ขยายอำนาจสถาปนาความเป็นใหญ่ของกษัตริย์สยาม

ประวัติศาสตร์ที่ไม่กล้ายอมรับว่าสงครามในอดีตเป็นการอวดศักดาขยายอำนาจ และกลับทำให้คนรุ่นหลังคิดว่า "ไทยนี้รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด" เกิดจากความดัดจริตของคนไทยสมัยใหม่ ภายใต้การเมืองแบบสมัยใหม่ที่ทุกประเทศ (ควรจะ) เคารพอธิปไตยของกันและกัน ไม่รุกรานกัน จากความดัดจริตดังกล่าวเราจึงไม่กล้าเผชิญความจริงของอดีตด้วยปัญญาและใจเป็นธรรม

ประวัติศาสตร์ดัดจริตชวนให้เราหลงตนเอง ไม่สำเหนียกว่าเราสามารถเคารพอดีตได้ด้วยปัญญา เคารพเพื่อนบ้านได้ด้วยใจอุเบกขาและเป็นธรรม เราเรียนรู้ประวัติศาสตร์ได้โดยไม่จำเป็นต้องยกตนข่มผู้อื่น

หากเราเรียนประวัติศาสตร์ด้วยจิตใจวิพากษ์วิจารณ์ การสงครามยังคงเป็นเรื่องน่าเรียนรู้ จำเป็นต้องเรียนรู้ และเป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกต้อง เป็นประโยชน์ไม่ต่างจากประวัติศาสตร์เครือญาติหรือเรื่องอื่นๆ


ธงชัย วินิจจะกูล

ศิลปวัฒนธรรม
วันที่ 01 พฤษภาคม พ.ศ. 2546 ปีที่ 24 ฉบับที่ 7


ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม : บทบรรณาธิการ

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำไปตามความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

สังคมไทยอนุญาตให้มีอุดมการณ์เดียว


สัมภาษณ์
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2544

โดย.กองบรรณาธิการการเมืองใหม่


แม้ว่ามิใช่นักคิดคนสำคัญของสังคมไทยที่สามารถออกความเห็นได้ทุกเรื่องทุกเวลา แต่ในฐานะนักเรียนประวัติศาสตร์ ผู้ทุ่มเทศึกษาขบวนการฝ่ายซ้ายไทย จนสามารถสำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาเอกด้วยวิทยานิพนธ์เรื่อง The Communist Movement in Thailand ที่เขาบอกว่ามันมากกว่าวิทยานิพนธ์ แต่มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

ด้วยมุมมองที่แหลมคม และมีความเป็นตัวของตัวเองสูง ชื่อของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล มักจะเป็นชื่อแรกๆ เสมอเมื่อมีวิวาทะในประเด็น สังคมนิยม ลัทธิมาร์กซ์ ตลอดจนการเคลื่อนไหวของขบวนการฝ่ายซ้ายไทย การเมืองใหม่ – ได้รับเกียรติจากสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลมาสนทนาเกี่ยวกับแนวคิดสังคมนิยมกับสังคมไทยในแง่มุมต่างๆ


การเมืองใหม่ : ตรรกะที่ว่าสังคมนิยมเป็นสิ่งแปลกแยกจากสังคมไทย มาจากภายนอก ไม่ได้เป็นผลมาจากการต่อสู้ทางชนชั้นของสังคมไทยจริงๆ ยอมรับได้หรือเปล่า


สมศักดิ์ : ผมไม่รับตรรกะที่ว่ามาจากข้างนอกแล้วต้องแปลกแยก พุทธเดิมก็มาจากข้างนอกเหมือนกัน คือมันมีอะไรที่ไม่ได้มาจากข้างนอก เพราะฉะนั้นโดยการมาจากข้างนอกผมไม่คิดว่าเป็นปัญหา แต่มีการจับเรื่องการมาจากข้างนอกกับการที่ไม่ประสบผลสำเร็จมาอยู่ด้วยกัน เราก็เลยบอกว่าเพราะมันมาจากข้างนอกมันเลยไม่ประสบผลสำเร็จ ผมว่าไม่ใช่ ผมเห็นด้วยว่ามันไม่ประสบผมสำเร็จ

แต่ไม่ใช่เพราะว่ามาจากข้างนอก เราพูดได้ว่าสังคมนิยมประยุกต์ใช้ในที่ที่มีการรวมตัวระดับล่างด้วยตัวเองอย่างจริงจัง แต่ในสังคมไทยมันไม่มีการรวมตัวระดับนั้น เพราะฉะนั้นมันเลยไม่ประสบผลสำเร็จ อย่างนี้ก็อาจจะใช่


การเมืองใหม่ : พัฒนาการขบวนการสังคมนิยมในเมืองไทยเป็นอย่างไร


สมศักดิ์ : คือมันมาจากข้างนอก จากสายพวกนักปฏิวัติจีน เวียดนาม แต่ในสมัยนั้น การเคลื่อนย้ายของคนมันไม่ได้เป็นอย่างทุกวันนี้ เพราะฉะนั้นเมื่อในประเทศของคนพวกนี้เกิดการปฏิวัติ มันก็มีคนเข้าคนออกในประเทศแถบนี้ มาทำการเคลื่อนไหวบ้าง อพยพมาบ้าง โดนปราบหนีมาบ้าง อีกกลุ่มหนึ่งเป็นตัวบุคคล เช่น ปรีดีที่ไปรับกระแสความคิดสังคมนิยมแบบของเขาที่ฝรั่งเศส แล้วพยายามมาประยุกต์ใช้ในช่วงสั้นๆ ออกมาเป็นสมุดปกเหลือง

แต่สายปรีดี มันชั่วคราวมาก พอสมุดปกเหลืองแพ้แล้ว ก็ไม่มีหลักฐานว่าได้พยายามทำอะไรต่อ จะมีก็เพียงก่อนหน้านั้นที่สงวน ตุลารักษ์ ออกหนังสือพิมพ์ 24 มิถุนายน มีบทความเช่น โซเซียลลิสต์คืออะไร

ถึงที่สุดปรีดีก็มิใช่รับอิทธิพลสังคมนิยมจากฝรั่งเศสทั้งหมด ถ้าดูจากผลงานอย่างเช่นสมุดปกเหลือง ความคิดพื้นฐานมันมาจากวิธีคิดแบบสหกรณ์ แต่ลักษณะการวางแผนการรวมหมู่ชาวนา ผมคิดว่าเขาได้อิทธิพลจากการมองกระบวนการที่เกิดขึ้นในโซเวียตช่วงปี 1929-30


การเมืองใหม่ : จุดเริ่มของขบวนการสังคมนิยมอยู่ที่คนจีนกับคนเวียดนามมากกว่ากลุ่มปัญญาชน


สมศักดิ์ : คนที่ได้รับอิทธิพลสังคมนิยมจากที่ไปเรียนเมืองนอก ถ้าไม่นับปรีดีแล้ว มันไม่ค่อยมี แต่พวกจีน เวียดนาม เขาเข้ามาในเชิงเป็นนักปฏิวัติ เข้ามาเป็นครูโรงเรียนจีน มาสอนลูกหลานจีนแล้วมาจัดตั้งมาระดมทุนเพื่อจะส่งไปช่วยการปฏิวัติ แล้วเขาก็พยายามตั้งเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ในที่สุด

แม้ว่าจุดหลักเขาก็ยังมองที่การปฏิวัติประเทศของเขาเองเป็นหลัก แต่ว่ามันเป็นหลักการอย่างหนึ่งของคอมมิวนิสต์ ที่ระบุไว้ในระเบียบการคอมมินเทอร์นเลยว่า ชาวพรรคคอมมิวนิสต์ไม่วาไปที่แห่งใดจะต้องพยายามตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ของท้องถิ่นนั้นขึ้นมา


การเมืองใหม่ : ข้อสังเกตว่าเมื่อตั้งตอนแรกตั้งใจให้เป็นพรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขาสยาม


สมศักดิ์ : คุณไม่สามารถตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนในประเทศไทยได้หรอก รวมทั้งยังมีหลักการอีกอย่างคือ เขาถือว่าคอมมิวนิสต์ไม่มีประเทศ การที่คุณไปตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศต่างๆ ไม่ได้หมายความว่า คุณจะช่วยการปฏิวัติประเทศอื่นไม่ได้ เพราะฉะนั้นพวกนี้พอเขาพยายามตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นมา งานหลักเขายังคงพยายามปฏิวัติประเทศจีนอยู่

แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่คิดปฏิวัติในประเทศนะ มีเอกสารอยู่ชิ้นหนึ่งที่จับได้จากคนจีนสมัยนั้น มีการวิเคราะห์ชนชั้นต่างๆ ในสยาม คนเขียนตอนนั้นคงคิดถึงการปฏิวัติจีนเป็นหลัก แล้วมันเขียนในนามคณะกรรมการคอมมิวนิสต์ทะเลใต้ แต่คุณก็เห็นว่าที่มีการวิเคราะห์สังคมสยาม แต่เนื่องจากประเทศสยามเองตอนนั้นก็ไม่ได้มีอะไรที่เป็นขบวนการปฏิวัติที่เขาจะทำอะไรได้ ผมก็เลยคิดว่ากิจกรรมหลักของเขาก็ยังคงอยู่ที่ไปสัมพันธ์กับประเทศในจีนเป็นหลัก

แต่คุณต้องเข้าใจว่าวิธีคิดของคอมมิวนิสต์สมัยนั้นว่า เป็นขบวนการใต้ดิน มีไม่กี่คน มันไม่ได้ชัดเจนขนาดต้องมีการจดทะเบียนอะไร มันมีความสัมพันธ์ที่คลุมเครืออยู่ ที่ผมพูดประเด็นนี้ เพื่อที่จะบอกว่า ตอนหลังพอมีการวิจารณ์พคท. มักจะพูดในแง่ที่บอกว่านี่เป็นพรรคคอมมิวนิสต์จีน คุณรู้ได้ไง มันมีการจดทะเบียนหรือ ในความรู้สึกผม มันเป็นเรื่องของการวิวาทะทางการเมืองทีหลัง แล้วก็เลยพยายามจะบอกว่านี่เป็นจีนนี่เป็นไทย


การเมืองใหม่ : ผลกระทบของความคิดสังคมนิยมเมื่อแรกเข้ามาในสังคมไทย


สมศักดิ์ : ช่วงแรกยังอยู่ที่ชายขอบมากๆ ยกเว้นกรณีปรีดี เพราะอยู่ในศูนย์อำนาจ โดยพยายามประยุกต์ใช้ในกรณีสมุดปกเหลือง แต่มันส่งผลสะเทือนที่ลึกซึ้งมาก ผมเห็นด้วยกับประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ในแง่ที่ว่าการเสนอสมุดปกเหลืองของปรีดีเป็นความผิดพลาดที่ร้ายแรงมาก พอเสนอไป พวกที่เป็นอาวุโสในหมู่คณะราษฎรก็รู้สึกไม่ชอบ ขุนนางที่อาจจะใกล้ชิดกับพระปกเกล้าก็มีปัญหา แล้วก็นำไปสู่วิกฤตการณ์ ก็ปิดสภาแล้วก็แตกกันในคณะราษฎร ในที่สุดก็เกิดกบฏบวรเดช เกิดร.7 สละราชย์

สุดท้ายคือการขึ้นมามีอำนาจของหลวงพิบูล ซึ่งเป็น junior มาก เมื่อตอนเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยรวม คือการที่อ.ปรีดีพยายามจะผลักดันสมุดปกเหลือง ผมว่ามันส่งผลที่ไม่จำเป็นเยอะมาก เพราะฉะนั้นถ้าในแง่นี้ความคิดสังคมนิยมมันก็เลยมีบทบาทอย่างที่ไม่ควรจะมี


การเมืองใหม่ : เมื่อปฏิวัติแล้วก็ต้องเปลี่ยนแปลงอย่างถึงราก ไม่อย่างนั้นจะปฏิวัติทำไม


สมศักดิ์ : ใช่ พวกปรีดีเขาก็คิดอย่างนี้ แต่มันก็ทำให้เกิดกฎหมายคอมมิวนิสต์ ทั้งๆ ที่ความจริงมันไม่เคยมีใครคิดจะร่างกฎหมายคอมมิวนิสต์ขึ้นมาก่อนหน้านั้น หลังจากนั้นปรีดีเองก็ไม่ได้เขียนงานอะไรที่เป็นสังคมนิยมจริงๆ ในช่วงนั้น นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ผมบอกว่าคือความผิดพลาดของปรีดีที่พยายามจะผลักดันเรื่องนี้ คือยังไม่มีคนเห็นด้วยเลยแล้วก็ไม่มีคนเข้าใจ เรายังไม่นับว่าปรีดีเองเข้าใจเรื่องนี้แค่ไหน คุณอย่าลืมตอนนั้นปรีดีอายุแค่ 33 โดยภาพรวมของสังคมไทยมันไม่ควรมีผลกระทบขนาดนี้


การเมืองใหม่ : ถ้าจะให้สรุปตัวเนื้อหาแนวคิดของขบวนการสังคมนิยมในประเทศไทยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2


สมศักดิ์ : มันไม่มีแนวคิดที่ชัดเจนว่าจะปฏิวัติสังคมนิยมหรือไม่หนุนช่วยการปฏิวัติเวียดนาม จีน แต่ในสมัยนั้น คุณต้องเข้าใจว่าในขบวนการคอมมิวนิสต์ การต่อสู้ทางด้านอุดมการณ์ภายในยังไม่ชัดเจน จีนกับโซเวียตยังเป็นเอกภาพอยู่ มันยังไม่มีแยกเป็นลัทธิสตาลิน เป็นลัทธิเหมา เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้ว เวลาคนชอบมองพคท. แล้วชอบย้อนกลับไปสมัยก่อนสงครามโลก ผมถึงว่ามันไม่ค่อยมีความหมายอะไร เรื่องชนบทล้อมเมือง คุณไม่ต้องพูดเลย มันไม่มีอยู่แล้ว


การเมืองใหม่ : บทบาทของพรรคคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามโลกมีมากน้อยแค่ไหน


สมศักดิ์ : ตอนเกิดสงครามโลก มันมีขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นเยอะ แล้วพวกนี้ถามว่ามีความสัมพันธ์กันไหม ผมว่ามีความสัมพันธ์กันชัวร์ แล้วปรีดีตอนนั้นรู้จักคอมมิวนิสต์ไหม ผมว่ารู้จัก เพียงแต่แกพยายามจะบอกว่าคอมมิวนิสต์ที่แกรู้จัก เป็นคอมมิวนิสต์จีนนะ ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ไทย ผมก็จะบอกว่า มันวัดตรงไหน ที่บอกว่าคอมมิวนิสต์ไทยหรือจีน คืองานเขียนของปรีดีมีลักษณะเชิงวิวาทะ คือแกจะด่าพคท. ว่ามันจีน พูดง่ายๆ แต่คอมมิวนิสต์มีลักษณะพิเศษกว่าเขาที่เขาเน้นเรื่องกรรมกร เขาก็ตั้งสมาคมช่วยเหลือกันในหมู่กรรมกร ซึ่งตอนหลังมาเปิดเผยตัวเองเป็นสหอาชีวะกรรมกร


การเมืองใหม่ : จุดไหนเป็นหลักชี้ว่าพรรคคอมมิวนิสต์เริ่มมีผลกระทบต่อสังคมไทย


สมศักดิ์ : ผมพูดในแง่ที่ว่า มันได้ก่อรูปเป็นพรรค มันไม่ไปไหนแล้วก็คือหลังสงครามโลก ช่วงที่ปรีดีเป็นใหญ่แล้วเปิดเสรีภาพทางการเมือง พวกนี้ก็เลยตั้งสำนักพิมพ์ มหาชน ขึ้นมาได้ แล้วคนกลุ่มที่เขาเริ่มจัดตั้งก่อนสงครามและก็ในระหว่างสงคราม ซึ่งเป็นพวกที่เกิดในช่วงประมาณทศวรรษ 1920 ในช่วงประมาณเกือบจะถึงสงครามโลก พวกนี้ก็โตขึ้นมาเป็นวัยรุ่น คนรุ่นนี้ก็คืออย่างกลุ่มพวกวิรัช อังคถาวร, ธง แจ่มศรี, อุดม สีสุวรรณ, ดำริห์ เรืองสุธรรม, วิโรจน์ อำไพ หลังจากนั้นก็เริ่มมีการสัมพันธ์กับคนวงอื่นที่กว้างออกไปเช่น เริ่มสัมพันธ์กับอ.สุภา ศิริมานนท์ ซึ่งเป็นนักหนังสือพิมพ์ใหญ่ในช่วงนั้น เมื่อมีเสรีภาพบางคนอาจจะสนใจว่าคอมมิวนิสต์มันคืออะไรก็แวะไปคุยที่สำนักพิมพ์ พอพวกนี้โตเป็นหนุ่ม ก็มีที่เข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วงใกล้ๆ นี้ ไปจัดตั้งนักศึกษา


การเมืองใหม่ : กล่าวได้ไหมว่า ช่วงนี้เป็นช่วงที่ขบวนการคอมมิวนิสต์เริ่มที่จะวางรากฐานทางความคิด


สมศักดิ์ : ใช่ มันก็เริ่มที่มีการออกหนังสือพิมพ์ มหาชน ถ้าคุณเคยอ่านมันก็ไม่ได้ดีเด่นอะไร แต่เสนอแนวคิดบางอย่างที่บอกได้ว่านี่เป็นแนวคิดแบบสังคมนิยม แล้วมักจะมีแถลงการณ์ด้วยว่าชาวคอมมิวนิสต์มองเหตุการณ์นี้ยังไง มันเป็นในเชิงจุดยืนทางการเมืองที่ออกมา สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรลืม คือเขาจัดตั้งกรรมกรในระหว่างสงคราม แล้วพอหลังสงคราม เขาก็ประกาศตัวเป็นสหอาชีวะกรรมกร


การเมืองใหม่ : ก่อน 2500 นอกจากพคท. มีการเคลื่อนไหวอย่างไร


สมศักดิ์ : เอาเข้าจริงๆ แล้วสังคมนิยมไทยมีสายเดียว คือสายที่มาจากพคท. เป็นหลัก นอกนั้นเป็นตัวบุคคล แต่แยกไม่ออกจากพคท. กรณีอ.สุภา พูดได้ว่าแกเป็นอิสระ ที่ไม่ได้มีความเกี่ยวพันอะไรกับพคท. แต่ถ้าคุณอ่าน อักษรสาส์น ของแก ในที่สุดแล้วคนเขียน อักษรสาส์น ส่วนใหญ่ก็คือคนในแวดวงพคท. ทั้งนั้น หรือคนที่นิยมพคท. กรณีนายผี กระทั่งทวีป วรดิลก คนพวกนี้อาจตื่นตัวขึ้นมาจากอ.สุภา หรืออาจจะกลับไปอ่านสมุดปกเหลืองแล้วได้รับแรงกระตุ้น แต่มันไม่มีองค์กรอื่น

คุณก็ต้องเข้าไปที่พคท. อยู่ดี หรือลองไล่ดูในแวดวงธรรมศาสตร์ พคท.ก็ไปจัดตั้ง ในแวดวงหนังสือพิมพ์นักเขียน มันก็เป็นผลสะเทือนที่มาจากพคท. อย่างนายผีในที่สุดก็เข้าพคท. ไปช่วงปี 2493 คือในที่สุดมันไม่มีอันไหนที่แยกออกจากพคท. ในธรรมศาสตร์ซึ่งกลายเป็นตำนานไป เรื่องมธก. พวกนี้แรกๆ เป็นเพราะนิยมอ.ปรีดี แล้วก็ออกมาเคลื่อนไหว เพราะรู้สึกว่าธรรมศาสตร์ถูกรังแก แต่ว่าถ้าหากพวกนี้ยังอยู่ต่อไป แล้วมีแนวคิดเอียงไปทางสังคมนิยม เช่น ประจวบ อัมพะเศวต ก็มาเข้าพคท. หรือมาสัมพันธ์กับพคท. เพราะมันไม่มีสังคมนิยมอื่นที่ไม่ใช่พคท. ประเด็นผมคือตรงนี้

ยิ่งเมื่อเกิดรัฐประหาร 2490 ไม่นานจีนก็เกิดการปฏิวัติ มันก็มีการพยายามยามเสนอแนวคิดว่า ถ้าอย่างนั้นเราต้องทำแบบจีนจึงจะประสบความสำเร็จ ก็เริ่มมีการที่พยายามจะออกไปสู่ชนบทหลัง 2490 ไม่นาน ประมาณปี 2492-93 ก็มีการเสนอว่าต้องออกชนบท



การเมืองใหม่ : พูดได้ว่าตามก้นจีนหรือเปล่า


สมศักดิ์ : การปฏิวัติจีนมันส่งผลสะเทือนต่อความรู้สึกของคนเยอะมาก ไม่ว่าคุณจะเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่ก็ตาม คุณต้องพยายามจินตนาการในตอนนั้นว่าเมืองไทยมันใกล้กับเมืองจีนมาก พอจีนปฏิวัติเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ในรอบไม่รู้กี่ร้อยกี่พันปีที่ดูเหมือนจีนจะเป็นปึกแผ่นได้ ปัญญาชนทั้งหลายก็หันมาสนใจเรื่องจีน ขณะที่ในหมู่คอมมิวนิสต์เอง มันอาจจะมีเหตุผลทางด้านทฤษฎีด้วยว่ามันน่าจะใช้ทฤษฎีของจีนกับไทยได้ แต่ว่ามันมีความยากลำบากที่จะทำ เช่น ตอนสมัชชา 2 ปี 2495 ก็มีมติให้ลงสู่ชนบท ก็ไม่ได้ลงจริงๆ คือเขาพยายามลงนะ เช่น ไปจัดตั้งที่ศรีสะเกษ หมู่บ้านครูซอดอะไรพวกนี้ แล้วมันก็พังไป เพราะว่าพอถึงเวลาเคลื่อนไหวสันติภาพแล้วถูกจับ

ขณะที่ผู้นำที่เป็นคนเด่นๆ ในพรรคก็ยังอยู่ในกรุงเทพฯ คุณอุดมก็ยังเขียนหนังสืออยู่ในกรุงเทพฯ แล้วในแง่หนึ่งเขาก็ไม่มีกำลังพอที่จะไปทุ่มในชนบทมากมายเท่าไร ส่วนพวกที่ผมบอกว่าโตขึ้นมาเนื่องจากการจัดตั้งก่อนสงครามและก็คนไทยส่วนหนึ่งที่เพิ่งได้รับการจัดตั้งระหว่างสงครามหรือหลังสงครามไม่นาน เช่น คุณรวม วงศ์พันธ์ หรือคุณผิน บัวอ่อน เขาก็ส่งไปเรียนที่เมืองจีน คือมันเป็นช่วงที่เริ่มอบรมเพาะผู้ปฏิบัติงาน


การเมืองใหม่ : ผลสะเทือนของการเสนองานไทยกึ่งเมืองขึ้น ของคุณอุดม สีสุวรรณ ที่ถือว่าเป็นปัญญาชนของพรรค


สมศักดิ์ : แม้หลัง 2490 ก็เริ่มพยายามที่จะผลิตงานที่มีลักษณะเป็นแนวคิด แต่พื้นฐานของคนเหล่านี้ไม่ใช่ปัญญาชนในระดับที่ได้รับการฝึกในระดับที่สูง เพราะฉะนั้นปัญญาชนไทยก่อน 2500 ก็คือเป็นพวกนักเขียนอาชีพ นักหนังสือพิมพ์ ซึ่งงานในระดับนี้ก็งานของคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรืออ.สุภา ถือว่าดี

แต่ถ้าคุณไปมองดูยุคหลัง มันก็ยังอยู่ในลักษณะงานหนังสือพิมพ์อยู่ มีการเล่าประวัติ เล่าข่าว เล่าความเปลี่ยนแปลงในโซเวียต อะไรอย่างนี้ อ.สุภาเขียน หนังสือมากกว่าหนังสือพิมพ์ทั่วๆไปแล้วนะอย่าง อักษรสาสน์ หนังสือ แคปิตะลิสต์ ต้องถือว่ามีลักษณะเป็นทฤษฎีมากๆ แล้ว หรือคุณประเสริฐ ทรัพย์สุนทร เมื่อเข้าพรรคไปก็เขียนงานอย่างชีวทรรศน์ ปรากฏว่าคนอ่านชอบเขามาก แต่พอคุณมาอ่านในปัจจุบันก็ไม่มีอะไรเลย คือเป็นการจับเอาสังคมไทยมาพูด เช่น เรื่องบุญกรรมมีหรือไม่

ดังนั้นงานที่ออกมามันเป็นเรื่องการโฆษณามากกว่า สมัยนั้นส่วนใหญ่พอเข้าพรรคแล้ว เขาก็ส่งไปเรียนเมืองจีน จึงยังไม่มีการผลิตงานออกมา ดังนั้นนี่เป็นงานที่เขียนออกมาลักษณะโฆษณาต่อภายนอก พยายามจะประยุกต์เรื่องกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินาเข้ากับเมืองไทย ก็เหมือนกับที่อ.สุภาประยุกต์เรื่องแคปิตะลิสต์ แต่ของคุณอุดมอาจจะดูฮือฮาหน่อยตรงที่มาประยุกต์ใช้กับสังคมไทย ซึ่งโยงไปสู่อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือว่า งานที่ออกมาที่เป็นซ้าย มันเป็นงานวรรณกรรม งานบทกวี เพราะมันไม่มีปัญญาชนในแง่ที่กล่าวมา เพราะฉะนั้นงานแนวคิดสังคมนิยมจึงอยู่ในระดับวรรณกรรม ระดับที่ต่อต้านความยากจน ต่อต้านการกดขี่ขูดรีด ส่วนที่เป็นตัวทฤษฎีจริงๆ น้อยมาก ดังนั้นงานอย่างไทยกึ่งเมืองขึ้นในปี 2493 หรือโฉมหน้าศักดินาไทย ในปี 2500 จึงมีลักษณะที่โดดเด่นขึ้นมา


การเมืองใหม่ : จุดที่ยกระดับทางแนวคิดและปฏิบัติการทางการเมืองของขบวนการสังคมนิยมคืออะไร


สมศักดิ์ : หลังจากกลุ่มปัญญาชนเช่นพวกนายผี, วิรัช อังคถาวร, ธง แจ่มศรี กลับมาจากเมืองจีน เดิมทีตั้งใจกลับ 2494-2495 แต่พอเกิดกรณีกบฏสันติภาพ พวกเขาก็เลยอยู่นั่นนานกว่าที่คิด แล้วพอไปอยู่ที่นั่น ก็มีการเถียงกันว่า สรุปแล้วเมืองไทยจะปฏิวัติยังไงกันแน่ ตอนนี้เริ่มมีการเสนอว่าน่าจะใช้แบบจีนลงไปชนบทประเสริฐ ทรัพย์สุนทรก็เสนอว่าเมืองไทยใช้แบบจีนไม่ได้ เขาเสนอว่าต้องเคลื่อนไหวในเมืองแบบที่เคลื่อนไหวสันติภาพ คนจำนวนหนึ่งก็ค่อนข้างเห็นด้วย เหตุผลง่ายๆ คือว่าเมืองไทยมันมองไม่ออกว่าจะเป็นชนบทล้อมเมืองได้อย่างไร แต่ในที่สุดแล้ว กลุ่มซึ่งมันก่อตัวเป็นแกนนำพคท. ที่มารู้จักในปัจจุบัน โดยเฉพาะ 3 คน คือเจริญ วรรณงาม, วิรัช อังคถาวร กับ ธง แจ่มศรี จึงรู้สึกยังคงยืนยันว่าต้องใช้แบบจีน ถ้าเป็นคุณอุดมหรือคุณประเสริฐ แกมักจะมองว่า เป็นการแทรกแซงของจีน ผมไม่แน่ใจว่ามันเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า


การเมืองใหม่ : หลังจากนั้นพคท. เริ่มมีการลงชนบทช่วงไหน


สมศักดิ์ : พวกแกนนำกลับมาจากจีนประมาณปี 2500 กลับมาด้วยความรู้สึกที่ว่าจะมาสร้างชนบทล้อมเมือง ขณะที่เมืองไทยในทศวรรษ 2490 กระแสก็ขึ้นๆ ลงๆ พอเกิดกบฏสันติภาพก็เงียบลงไปหน่อย พอ 2498 เริ่มมีประชาธิปไตยก็เริ่มมีการออกหนังสือ คือมันยังมีคนเหลืออยู่ในเมืองไทย เช่น คุณเปลื้อง วรรณศรี ซึ่งถูกจับติดคุกพอออกมาก็เขียนหนังสือต่อ คุณอุดมก็อยู่เมืองไทย พวกนี้ก็ออก ปิตุภูมิ แล้วเข้าไปสัมพันธ์กับพวกนักหนังสือพิมพ์ มีงานกรรมกรอย่างพวกคุณสิน เติมลิ่ม ก็ทำกรรมกร 16 หน่วยขึ้นมา

แล้วก็ยังมีงานนักศึกษาอีกอันหนึ่งที่สำคัญมาก รวมศูนย์อยู่ที่มธก. งานนี้ก็ตามกระแสเหมือนกันเช่น ช่วงก่อน 2495 มีการออก ธรรมจักร โดยสโมสรนักศึกษาธรรมศาสตร์ คือผมไม่ได้บอกว่าพวกนี้คืองาน พคท. ทั้งหมดนะ แต่พคท. มีบทบาทอยู่ในหมู่พวกนี้แล้ว เช่น จัดปาฐกถาภาคฤดูร้อน การเคลื่อนไหวยึดมหาวิทยาลัยคืนว่ากันว่ามาจากการหนุนของพคท. และก็กบฏสันติภาพ พอกบฏสันติภาพถูกปราบ ขบวนการพวกนี้ก็เงียบไป 2-3 ปี

พอ 2498 ก็มีการเคลื่อนไหวออกมา เช่น ขบวนการพรรคการเมืองซ้ายๆ ที่ออกมารณรงค์ในช่วงเลือกตั้ง ในหมู่นักศึกษาก็มีการพยายามจัดตั้งสหพันธ์นักศึกษา 5 สถาบัน ที่จุฬาก็เริ่มมีขึ้นเพราะว่ามีลูกหลานพคท. ส่วนหนึ่งเข้าไปเรียนอยู่ในจุฬา ส่วนหนึ่งก็มีพวกที่ตื่นตัวขึ้นมาที่คณะรัฐศาสตร์ที่จิตร ภูมิศักดิ์ พูดถึงในบันทึกของเขาที่ว่าเขาชอบไปคุยที่รัฐศาสตร์ พวกนี้ก็เป็นจัดตั้ง พคท. ทั้งนั้น คือพวกนี้ไม่ได้ไปเมืองจีนแต่ก็คือมีการเคลื่อนไหวต่อ แต่พอพวกที่ไปเมืองจีนกลับมาก่อน 2500 ไม่นาน ก็เลยมาร่วมกัน แล้วก็เกิดรัฐประหารสฤษดิ์ พอเกิดรัฐประหารก็เริ่มทยอยไปชนบทหลัง 2500 ไม่นาน พอ 2504 ก็มีการประชุมสมัชชาอย่างเป็นทางการ


การเมืองใหม่ : แล้วในยุคสฤษดิ์ จนถึงก่อน 14 ตุลา มีการเคลื่อนไหวพัฒนาขบวนการอย่างไรบ้าง


สมศักดิ์ : ช่วงนั้นก็มีการพยายามลงชนบท คราวนี้เขาเอาจริง ผู้นำทั้งหลายก็ลงด้วย ซึ่งนอกจากการปราบผมคิดว่ามันเป็นเพราะเขาเชื่อด้วย ไม่อย่างนั้นเขาก็เพียงกบดานใต้ดินไปเรื่อยๆ ก็ได้ แต่ครั้งนี้เขาเอาจริง ในแง่ที่ว่าไปตั้งเลย ไปภูพาน ไปภาคใต้ ภาคเหนือ

แต่ตอนนั้นกำลังมันก็น้อยถ้าคุณไปจัดตั้งที่ชนบท ถึงเอาจริงมันก็น้อยมาก เบ็ดเสร็จทั่วประเทศถึงพันหรือเปล่าก็ไม่รู้ คนของพรรคที่ส่งไปอาจจะไม่กี่ร้อย อย่างกรรมกรที่จัดตั้งขึ้นมาก็ส่งไปชนบท ปัญญาชนก็พยายามไป ประเด็นหนึ่งคือว่า ลำพังแค่นี้มันก็น้อย มันไม่เท่าไหร่ ผมไม่แน่ใจ คือมันไม่มีการเขียนกัน คือพรรคได้อาสาสมัครซึ่งเคยเป็นคนจีนอพยพจากนโยบายปราบปรามคอมมิวนิสต์ช่วงจอมพลป. จำนวนหนึ่งมาตั้งเป็นกองกำลังแล้วเข้ามายึดตั้งเป็นฐานที่มั่นทางภาคเหนือเลย พวกนี้คือคนที่เสกสรรค์ไปเจอ ที่บอกว่าพวกนี้พูดภาษาจีนมากกว่าพูดไทย แล้วคนพวกนี้ก็มาปลดปล่อย ทางภาคเหนือจะเป็นแบบนี้เยอะ คือเข้ามาก็ยึดหัวภูเลย แล้วประกาศให้เป็นเขตปลดปล่อย ตามหัวภูต่างๆ

ทางภาคเหนือก็มีนายผี มีคุณทรง นพคุณ ดำริห์ เรืองสุธรรม ภาคอีสานก็มีวิรัช, เจริญ, ธง แจ่มศรี, แล้วตอนหลังอุดมก็ไปร่วม ภาคกลางก็มีผิน บัวอ่อน, สัมผัส พึ่งประดิษฐ์, รวม วงศ์พันธุ์ แล้วก็ก่อรูปขึ้นเป็นขบวนการต่อสู้ด้วยอาวุธในชนบทขึ้นมาช่วงที่สฤษดิ์ขึ้นมา ส่วนในเมืองก็เหลือน้อย เมื่อคนสำคัญลงชนบทหมด ที่อยู่ในเมืองตลอดก็มีอุทัย เทียมบุญเลิศที่ทำ มหาชน หรืออย่างประเสริฐ เอี้ยวฉาย



การเมืองใหม่ : มีการพูดว่าขบวนการในช่วงนั้นค่อนข้างเป็นชาตินิยม


สมศักดิ์ : แรกทีเดียว ตอนที่ต่อสู้ด้วยอาวุธ เขาต้องการจะทำแบบเวียดนาม คือชูธงชาตินิยมอย่างรุนแรงกำลังประสบความสำเร็จ เพราะฉะนั้นทิศทางการต่อสู้ด้วยอาวุธของ พคท. จึงพยายามเชื่อมเข้ากับแนวคิดเรื่องชาตินิยม กองกำลังครั้งแรกที่เขาตั้งขึ้นมา ตั้งในนาม พลพรรคประชาชนไทยต่อต้านอเมริกา หรือ พล.ปตอ. ก็คือพยายามชูการต่อต้านอเมริกาเข้าไว้ แนวร่วมก็ตั้งชื่อ แนวร่วมรักชาติ ไม่ได้ใช้ชื่อพรรคคอมมิวนิสต์ออกมา ทำอยู่ตั้งแต่ปี 2504-06 แล้วเพลงมาร์ชพคท. ที่จิตรแต่งให้ จริงๆ ตอนแรกแต่งในนาม มาร์ชพล.ปตอ. แต่พอตอนหลังมันไม่ได้ผล เพราะเมืองไทยมันไม่ได้เหมือนเวียดนาม เขาจึงมาเปลี่ยนชื่อและประกาศตัวว่าเป็นคอมมิวนิสต์นำเมื่อปี 2511

คุณอุดมเขาพยายามอธิบายว่า ช่วงปี 2511 กระแสการปฏิวัติวัฒนธรรมในเมืองจีนมันแรง แล้วการปฏิวัติวัฒนธรรมมันชูพรรคคอมมิวนิสต์ มันก็มีผลสะเทือนจากการปฏิวัติวัฒนธรรม ต่อไปนี้พูดอะไรต้องมีลักษณะเป็นหลักการมากขึ้น ก็มีกระแสแบบจีนชัดเจน แล้วก็มีการก่อกระแสทางภาคเหนือว่า ภาคเหนือยึดฐานที่มั่นได้แล้ว สร้างฐานที่มั่นได้แล้ว ตีรัฐบาลถอยกลับไปได้ เพราะฉะนั้นภาคเหนือจึงเป็นแนวทางที่ถูกต้องของเหมา เจ๋อ ตง ความคิดของเหมาก็มาในช่วงนั้น ประมาณ 2510 กว่าๆ ก่อนหน้านั้นก็ไม่ได้มีการเน้นในเรื่องความคิดเหมา เจ๋อ ตง เพราะเมืองจีนเองก็ไม่ได้เน้นก่อนหน้านั้น

แล้วก็เกิดการทะเลาะกันใหญ่ๆ ในป่าพวกที่อยู่ภาคเหนือก็บอกว่าทางอีสานทำตั้งนาน ทำไมยังสร้างฐานที่มั่นไม่ได้ซักที แสดงว่าเป็นลัทธิแก้ ขัดแย้งถึงระดับที่ว่าจะตั้งเป็นเขตอิสระทางภาคเหนือ โดยที่ความจริงแล้วมันเป็นการฮึกเหิมที่เพ้อฝันมากเลยถ้ามองในระยะยาว เพราะจริงๆ แล้ว เขาก็ลงที่ราบไม่ได้ พอหลังจากนั้นเขาจึงรู้ตัวว่าภาคเหนือที่ว่ามันแข็ง มันแข็งแบบชนิดที่ไม่ได้เรื่อง คือมันลงข้างล่างไม่ได้ มีมวลชนเฉพาะชนชาติส่วนน้อย

ภาคอีสานก็มีการประกาศตั้งฐานที่มั่นครั้งแรกประมาณปี 12-13 คุณอุดมมาเปิดเผยทีหลังว่า ที่ต้องประกาศฐานที่มั่นเพราะโดนภาคเหนือบีบ ก็เลยมีการประกาศเขตบางส่วนของภูพานเป็นฐานที่มั่น รัฐบาลก็โจมตีมาก แต่ก็พอดีเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาขึ้นมา พอถึงช่วง 14 ตุลา 2516 จนถึงปี 2519 ผมคิดว่าความสนใจของรัฐบาลในชนบทลดฮวบลงเลย ความสนใจอยู่กับขบวนการในเมืองแทนทั้งที่ความจริงเกิดวิกฤตใหญ่ในป่าแล้ว

ขบวนการพคท. ในเมืองสร้างขึ้นมาก่อนและหลัง 14 ตุลาเล็กน้อย มันเป็นผลพวงของ 14 ตุลา จากการที่มีอยู่ไม่กี่คน พอมันเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา มันมีขบวนการใหม่เกิดขึ้นมาคือขบวนการนักศึกษา พคท. ก็ขยายเข้ามาจนสามารถยึดกุมขบวนนักศึกษาได้ เพราะฉะนั้นขบวนการนักศึกษาก็เปลี่ยนเป็นขบวนพคท.ไป เอาเข้าจริงๆ มันเหมือนกลายเป็นพรรคใหม่เลย จากช่วงประมาณ 2514-15 จนถึง 6 ตุลาคม 2519 โดยที่มีกำลังหลักอยู่ในพวกเยาวชน นักศึกษา และอดีตนักศึกษา


การเมืองใหม่ : แต่ก่อนหน้า 14 ต.ค. ก็มีสายพคท. อยู่ในน.ศ. แล้ว


สมศักดิ์ : ในหมู่นักศึกษา กรรมกรมีแล้วแต่ไม่เยอะ อย่างการเคลื่อนไหวครั้งแรกของ น.ศ. ที่สังเกตการณ์การเลือกตั้งในปี 2512 ถ้าคุณไปดูในหนังสือสังเกตการณ์เลือกตั้ง มีการเอาบทกวีเก่าๆ ซ้ายๆ มาลง เพราะว่าตัวคนทำกลุ่มสังเกตการณ์การเลือกตั้ง มันมีลูกหลานพคท. และจากพวกนี้เขาก็สามารถไปสัมพันธ์กับนักกิจกรรมที่ไม่ใช่ลูกหลานพคท. แล้วก็รับกระแสอย่างนี้ไป แล้วสายสัมพันธ์อีกอันหนึ่งที่พคท. มีอยู่ในเมืองคือพวกนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ที่เคยมีสัมพันธ์กับพรรคมาก่อน 2500

นักศึกษาที่แสวงหามากๆ อย่างพวกพระจันทร์เสี้ยว แรกๆ ก็หันไปหาทางฝรั่ง แต่พอสักพักก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะพบว่า เฮ้ย ความจริงมันก็เคยมีแนวคิดที่ไม่ใช่กระแสหลักอะไรอย่างนี้อยู่นะ ก็แวะไปคุยกับอ.สุภาอย่างนี้ คนพวกนี้พอคุยเขาก็ให้หนังสือเก่าๆ อ่าน ก็เริ่มได้รับกระแสอิทธิพลความคิดแบบนี้ แล้วบางครั้งก็ไปถึงขั้นว่าสามารถนำไปสู่สายจัดตั้งได้ มันจึงเริ่มมีการเปลี่ยนในระดับวงแคบๆ อย่างที่บอกเรื่องการไปสัมพันธ์กับงานเขียนของคนรุ่นเก่าแล้วปัญญาชนส่วนหนึ่งเริ่มรู้สึกว่าการโฆษณาชวนเชื่อเรื่องสงครามเวียดนามมันไม่ถูก เพราะมีกระแสต่อต้านสงครามเวียดนามจากต่างประเทศด้วย เริ่มมีกระแสที่บอกว่าจริงๆ แล้วอเมริกาเป็นฝ่ายผิด โฮจิมินห์ คอมมิวนิสต์ที่แท้จริงแล้วเป็นฝ่ายถูก เพราะฉะนั้นพวกนี้จึงเริ่มปฏิเสธว่าคอมมิวนิสต์เป็นปีศาจ มันก็มีกระแสอย่างนี้อยู่

ก่อน 14 ตุลา 2516 พวกนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งในหลายๆ กระแส กระแสนิยมเจ้าก็มี กระแสประชาธิปไตยตะวันตกก็มี 14 ตุลา เป็นการรวมกันของกระแสทั้งหลายเข้าด้วยกัน แต่ในที่สุดแล้วหลังจาก 14 ต.ค. ไปไม่กี่เดือน กระแสของพคท. ที่มีอยู่แล้วก็กลายเป็นกระแสหลักไป


การเมืองใหม่ : ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น คอมมิวนิสต์หรือสังคมนิยมก็ถูกทำให้เป็นปีศาจไปแล้ว


สมศักดิ์ : ใช่ แม้ในหมู่นักศึกษาเอง แนวคิดเรื่องการต่อต้านคอมมิวนิสต์หรือสังคมนิยมมันก็ยังรุนแรงนะ ไม่อย่างนั้นจะอธิบายเรื่องที่เกิดคืนวันที่ 13 ตุลาที่มีคนกล่าวหาเสกสรรค์ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ได้อย่างไร เพราะมันฝังหัวจากการโฆษณาในยุคสฤษดิ์อย่างรุนแรงมาก โดยเฉพาะอะไรที่จะกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ก็คือมันต้องเป็นคอมมิวนิสต์ แล้วอะไรที่เป็นคอมมิวนิสต์มันต้องเป็นสิ่งที่เลว ด้านหลักของนักศึกษาที่เคลื่อนไหวตอนนั้นก็ยังเป็นอย่างนี้อยู่ มันมีข้อกล่าวหาตั้งเยอะแยะทำไมไม่กล่าวหาเสกสรรค์ ซึ่งมันเกี่ยวเนื่อจากว่ามีการเคลื่อนขบวนไปหน้าสวนจิตรฯ

หลัง 14 ตุลามีแนวคิดว่า 14 ตุลาไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่เป็นโครงสร้างที่ถึงราก ปัญหาต่างๆ ยังคงอยู่ ถ้าคุณยอมรับแนวคิดอันนี้ แล้วคุณคิดว่ามันยังต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ในที่สุดแล้วคุณจะเปลี่ยนอย่างไร แนวคิดที่ว่าต้องปฏิวัติ กระแสเรื่องลัทธิมาร์กซ์ก็ขึ้นมา มีการรื้อฟื้นหนังสือฝ่ายซ้ายทั้งชุดขึ้นมาตีพิมพ์โดยเฉพาะพวกวรรณกรรมซึ่งก็มีผลเยอะนะ ที่ผมบอกว่างานฝ่ายซ้ายสมัยก่อน 2500 ส่วนใหญ่เป็นงานวรรณกรรม ซึ่งเข้าถึงคนได้เยอะ

เหตุการณ์ 14 ตุลาที่คนทั่วไปก็มองว่านี่เป็นเหตุการณ์วันมหาวิปโยค แต่พคท. เสนอว่านี่ไม่ใช่วันมหาวิปโยค มันเป็นวันมหาปิติ ถ้าคุณลองจินตนาการว่าถ้าคุณเป็นนักศึกษา คุณจะรับแบบไหน หลัง 14 ตุลาใหม่ๆ ก็มีการต่อสู้กันทางความคิดแบบนี้ ปรีดีเองก็เริ่มพิมพ์งานมากขึ้นในช่วงนั้น ในวารสารอมธ. ฉบับต่างๆ แต่ทำไมสุดท้ายกระแสแบบพคท. จึงได้รับการยอมรับ ผมคิดว่าเป็นเพราะพลังในการเสนอมันคงเส้นคงวากว่าอันอื่น การเสนอเป็นระบบกว่า แล้วก็สถานการณ์มันให้


การเมืองใหม่ : บอกได้อย่างไรว่าพคท. มีความคิดที่เป็นระบบกว่า ทั้งที่ก่อนหน้านี้บอกว่างานของพคท. มันไม่ได้มีอะไรมาก


สมศักดิ์ : ผมหมายถึงวิธีคิดเป็นระบบกว่า อธิบายสังคมว่ามันเป็นเรื่องของโครงสร้าง เป็นเรื่องของจักรวรรดินิยม ศักดินานิยม คุณจะเปลี่ยนแปลงสังคมแบบค่อยเป็นค่อยไปไม่ได้ ต้องใช้การปฏิวัติ มันฟังดูเข้าท่ากว่า เพราะฉะนั้นไม่นานคนก็เริ่มหันมายอมรับ อย่างกรณีอนุช อาภาภิรมซึ่งเข้าพคท. ไปแล้ว มีผลมากเพราะว่าในที่สุดแล้วนักศึกษารุ่น 14 ตุลาจบแล้วทั้งนั้น

ฉะนั้นขบวนการนักศึกษาที่มันอยู่ต่อมาอีก 2-3 ปี มันต้องอาศัยกำลังใหม่ที่เข้าไปในปี 2517-18 คนที่มาทีหลังพวกนี้ส่วนหนึ่งถ้าตื่นตัวมาตั้งแต่สมัย 14 ตุลา หรือสมัยเป็นนักเรียนงานของอนุชก็จะมีผลมาก กล่าวได้ว่าเพราะ พคท. ไปประสบความสำเร็จในการจัดตั้งระดับนักเรียนตั้งแต่ก่อนระดับนักศึกษา เช่น ศูนย์นักเรียน กลุ่มยุวชนสยาม แล้วพอพวกนี้เข้าไปมหาวิทยาลัย เช่นที่รามฯ พวกนี้เข้าไปยึดพรรคสัจธรรม แต่พวกที่มาจากศูนย์นักเรียน มาจากยุวชนสยาม มันมาพร้อมกับการคิด อาวุธทางความคิดทางทฤษฎี พอเข้าไปก็ไปยึดพรรคสัจธรรม แล้วก็จัดตั้งกลายเป็นขุมกำลังใหญ่ของแนวคิดแบบพคท. ขึ้นมา ในธรรมศาสตร์ก็มีคนพวกนี้เข้าไปประมาณปี 18 กลายเป็นคนเข้าไปจัดตั้ง

ที่สำคัญที่ขบวนการนักศึกษา กลายเป็นพคท. ไม่ใช่ในแง่ของจำนวนคนที่เข้าจัดตั้งนะ จำนวนคนที่เข้าจัดตั้งเยอะขึ้นใช่ แต่ที่สำคัญมันก็เป็นเรื่องพลังของแนวคิด กรณีของการรื้อฟื้นเรื่องของจิตร ภูมิศักดิ์มีผลใหญ่อันหนึ่งคือทำให้คนรู้สึกว่ามันมีทาง คนถูกดึงดูดจากตัวอย่างกรณีจิตรใช่ไหม จากงานเขียน จากบทกวี คือพอคุณยอมรับอย่างกว้างๆ เรื่องต่อสู้ด้วยอาวุธ มันก็นำไปสู่อันอื่น แล้วพอดีช่วงนั้นมันก็มีการวิวาทะทางทฤษฎีระหว่างผิน บัวอ่อน กับสายงานในพรรค วิวาทะไปแทนที่ความคิดของพรรคจะอ่อนลง มันกลับแข็งขึ้น


การเมืองใหม่ : นอกจากพคท. แล้ว ยังมีแนวคิดสังคมนิยมกลุ่มอื่นไหมในช่วงนั้น


สมศักดิ์ : อาจจะพูดได้ว่ามันมีช่วงสั้นๆ อยู่ช่วงหนึ่งที่มีพวกสังคมนิยมที่ไม่ใช่พคท. คือพวกนักศึกษาที่แสวงหา แต่พวกนี้ก็ไม่มาก คืออาจจะได้รับแนวคิดสังคมนิยมจากหนังสือตะวันตก หรือจากกระแสการเปลี่ยนแปลงในตะวันตก แต่ในที่สุดแล้วที่มาแรงจริงๆ คือสังคมนิยมก่อน 2500 ก็คือเป็นผลงานที่มีความสัมพันธ์กับพคท. ในอดีตมาก่อน เพราะฉะนั้นผมจึงบอกว่าถ้าเราจะพูดถึงประวัติสังคมนิยมในเมืองไทย มันไม่เคยมีประวัติที่แยกออกจากพคท. ได้จริงๆ

ตัวอย่างง่ายๆ กรณีคุณรวี โดมพระจันทร์ ตอนที่แกเขียนบทกวี ตื่นเถิดเสรีชน อย่ายอมก้มหน้าฝืน ดาบหอกกระบอกปืน ฤาทนคลื่นกระแสเรา อ่านแล้วมันรู้สึกปลุกเร้ามาก ตอนนั้นไม่รู้เข้าจัดตั้งแล้วหรือยัง แต่มีความสัมพันธ์แล้ว และที่สำคัญเขียนจากการอ่านบทกวียุคก่อน 2500 ที่เป็นอิทธิพลของพคท. คนอาจจะบอกว่าพคท. ไม่ได้มีส่วนต่อกรณี 14 ตุลาคม ผมถามกลับไปว่า ความคิดแบบนี้มาจากแนวคิดแบบไหน เสรีนิยม? นิยมเจ้า? อนุรักษ์นิยม? ในที่สุดแล้วความคิดแบบที่สังคมนิยมพคท. เท่านั้นที่สามารถผลิตเป็นงานศิลปะแบบนี้ได้


การเมืองใหม่ : จะเป็นการ claim เกินไปหรือเปล่า ถ้าไม่อย่างนั้นใครอ่านงานของฝ่ายซ้ายก็ได้รับอิทธิพลของพคท. หมดหรือเปล่า


สมศักดิ์ : ถ้าใช่มันเสียหายตรงไหน ผมไม่เห็นมันจะเสียหายตรงไหนเลย ถ้าถามกลับกันว่ามันใหญ่เกินไปแล้วมันเสียตรงไหน ผมมองแบบ Eric Hobsbawn เขาพูดถึงศตวรรษที่ 20 โดยให้ภาพใหญ่ว่าแนวคิดที่กดดันให้ตะวันตกหันมาใช้รัฐสวัสดิการ เพราะลึกๆ แล้วเขาคิดว่านี่จะเป็นวิธีการที่จะหลีกเลี่ยง Bolshevism ได้ Hobsbawn บอกว่าในแง่หนึ่งพูดได้ว่า Bolshevism หรือคอมมิวนิสต์มันปกป้องทุนนิยมในหลายด้าน นอกจากจะชนะนาซีแล้ว ยังปกป้องทุนนิยมในแง่ที่ว่า ก่อนหน้านั้นสังคมมันปล่อยให้เกิดการว่างงาน การกดขี่ขูดรีด จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ เขียนไว้อย่างชัดเจนเลยว่า ถ้าไม่แก้ปัญหาเรื่องพวกนี้ ทุนนิยมจะแพ้พวกสังคมนิยม ถามว่านี่เป็นผลของสังคมนิยมไหม

ผมว่าเป็น ในบริบทของไทยมันมีกระแสแบบนี้อย่างไหนบ้าง ดังนั้นมันจึงแยกไม่ออกจากพคท. ในแง่นี้ไง เพราะฉะนั้นถามว่ามันผิดไหมที่จะพูดแบบนี้ ผมว่าไม่ผิดนะ พุทธก็ไม่เสนอแนวคิดแบบนี้อยู่แล้ว เสรีนิยมก็ไม่สอนแบบนี้ มีแต่สังคมนิยมเท่านั้นที่เสนอแนวคิดแบบนี้


การเมืองใหม่ : ที่บอกว่าพอเกิด 14 ตุลา มันเหมือนมี 2 พรรคขึ้นมาโดยที่ไม่รู้ตัว หมายความว่าถ้าไม่มี 6 ตุลา พคท. จะมีการพัฒนาไปในอีกรูปแบบหนึ่งหรือเปล่า


สมศักดิ์ : ไม่ เพราะว่าในทางทฤษฎี พรรคใหม่ที่เกิดขึ้นมันก็เชื่อว่าในป่าถูก แต่ที่ใหม่คือองค์ประกอบ เอาง่ายๆ อย่างจรัล ดิษฐาอภิชัย ในฐานะที่เป็นสมาชิกพรรค ไม่เหมือนกับเจริญ วรรณงาม จรัลเป็น พคท. จริงแต่เป็นคนที่เป็นผลิตผลของคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ แต่จรัลตอนนั้นก็คงคิดว่าในป่าเป็นฝ่ายถูก คือเขาทำในปัจจุบันเพื่อหนุนช่วยในป่า มันใหม่ในแง่ที่ว่าองค์ประกอบ มันเปลี่ยนไปคนละเรื่องเลย แต่พวกนี้ยังเชื่อว่าในป่าเป็นสุดยอดของการปฏวัติ แต่พอเข้าไปจริงแล้ว ทำไมพวกนี้จึงเป็นพวกที่ออกก่อน เพราะโดยพื้นฐาน พวกนี้เขา ไว้ต่อการที่บอกว่าเข้าไปแล้วปฏิวัติไม่ได้ ในที่สุดแล้วพวกนี้ก็เลยกลายเป็นตัวจุดชนวนไม่เห็นด้วยกับพรรค กับผู้นำเก่า

การบอกว่านี่เป็นความขัดแย้งระหว่างนักศึกษากับพคท. ผมคิดว่าอธิบายอย่างนี้ทำให้ไขว้เขว ผมมีวิธีมองที่ดีกว่าคือเป็นความขัดแย้งระหว่างคน 2 รุ่น กลุ่มหนึ่งที่โตขึ้นมาตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว กับอีกกลุ่มซึ่งก่อตัวขึ้นมาใหม่ในช่วงไม่กี่ปีของทศวรรษที่ 2510

(คำว่า "ไว้" นี้ ผมพิมพ์ตามต้นฉบับนะครับ แต่ผมคิดว่าน่าจะเป็นคำว่า "ไว" มากกว่า - GM)


การเมืองใหม่ : แล้วผลจากวิกฤตสังคมนิยมในระดับสากลมีผลอย่างไร


สมศักดิ์ : มันมีผล แต่เป็นกับคนรุ่นใหม่ มากกว่าคนรุ่นเก่า เพราะพื้นฐานมันคนละอย่าง การที่จีนเปลี่ยน เวียดนามเปลี่ยน มันมีผลต่อพวกเรามากกว่าเป็นเพราะเราเติบโตขึ้นมากับข้อมูลข่าวสาร พวกคนเก่าเขาเป็นนักปฏิวัติมาตั้งแต่ 2490 ปฏิวัติมา 20-30 ปี เรื่องพวกนี้ก็มีผลสะเทือนต่อเขานะ แต่มันคนละรุ่นแล้ว พวกเขาทั้งชีวิตเขารู้จักแต่การปฏิวัติ


การเมืองใหม่ : แล้วถ้าจะให้ประเมินค่าของพคท. ต่อการเมืองไทย


สมศักดิ์ : คล้ายกับ Eric Hobsbawn เขาพูดถึงบอลเชวิค ต่อศตวรรษที่ 20 ผมยังนึกไม่ออก ปัญหาคือการประเมินพคท. อาจจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่อย่างโดยรวมผมยังมองว่าพคท. ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ถ้ามองจากหลักการสมัยใหม่ที่ว่าพรรคการเมืองเป็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่มีเป้าหมาย มีนโยบาย ไม่มีพรรคไหนในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่เทียบกับ พคท. ได้เลยจนกระทั่งปัจจุบัน

คนชอบพูดว่า พคท. เป็นเผด็จการ ความจริงพคท. เป็นประชาธิปไตยที่สุดแล้ว อย่างเจริญ วรรณงามคุมพคท. ได้ที่ไหน คุมไม่ได้ ถ้าคุมได้มันก็ไม่แตกแบบนี้หรอก แต่ละเขตเป็นตัวของมันเอง แล้วก็มีพรรคไหนในเมืองไทยที่มีการวิวาทะกันมาขนาดนี้บ้าง พูดแบบนี้ไม่ได้เท่ากับเป็นการเชียร์ พคท. ในแง่หนึ่งการที่สังคมไทยมันล้มเหลวที่จะผลิตขบวนการทางการเมืองในลักษณะอย่างนี้ นอกจากพคท. แล้ว มันเป็นเรื่องที่น่าคิดมากว่าทำไม


การเมืองใหม่ : ช่วงเกิดวิกฤตศรัทธา ก็มีการเฟื่องฟูในการคิดค้นหาสิ่งใหม่ๆ แต่แล้วทำไมแนวคิดสังคมนิยมจังหายสาบสูญไปเลยจากสังคมไทย


สมศักดิ์ : คือการรวมกลุ่มกันมันต้องมีอุดมการณ์หรือแนวคิดที่แข็งพอ ที่คนรู้สึกว่าต้องการทำอะไรบางอย่าง ไม่ว่าคุณจะเป็นเสรีนิยม สังคมประชาธิปไตย สังคมนิยม คอมมิวนิสต์ หรืออะไรก็แล้วแต่ บทบาทของอุดมการณ์ด้านนี้จึงสำคัญ ถ้าถามผม ผมคิดว่าถึงที่สุดแล้ว สังคมไทยอนุญาตให้มีอุดมการณ์เดียว ขบวนการ NGOs เขาก็รวมอยู่ด้วยกัน แล้วก็สำเร็จในระดับหนึ่งเหมือนกัน แต่มันก็เป็นระดับแค่กลุ่มกดดันไม่ได้เป็นระดับขบวนการทางการเมืองจริงๆ

ของตะวันตก ทุกวันนี้พรรคการเมืองถูกเขาด่ากันว่าพรรคฝ่ายขวาฝ่ายซ้ายก็ขวาเหมือนกันหมด แต่ของสังคมไทยมันคนละเรื่อง ของตะวันตกอาจเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงทางสังคมหรือเป็นเพราะความพ่ายแพ้ของอุดมการณ์ก็ได้ แต่ของไทย ในทางการแล้ว มันต้องเป็นอันเดียว

อย่างพวกนักวิชาการปัจจุบัน ที่มักคิดว่าตัวเองเป็นทางเลือก ถามว่าเป็นทางเลือกในแง่ไหนบ้าง บอกว่าไม่เห็นด้วยกับระบบทุน หรือยุทธศาสตร์การพัฒนาปัจจุบัน ในที่สุดแล้วก็ไม่เห็นมีการเสนอว่าจะให้พัฒนาอย่างไร แล้ววันดีคืนดีรัฐบาลก็อาจเสนอเศรษฐกิจพอเพียง นี่จึงไม่ใช่ความแตกต่างกันจริงๆ หรอก ในที่สุดแล้วที่ใหญ่ที่สุดก็คือเรื่องการเมือง ก็คือว่าเราต้องการการเมืองในระบอบการปกครองแบบไหน


การเมืองใหม่ : แล้ววิกฤตสังคมนิยมไทยมันคลี่คลายลงยังไง


สมศักดิ์ : คือมันไม่มีทางออก เพราะว่ามันโยงกับระดับสากลด้วยเรื่องความล้มเหลวด้านสังคมนิยม วิกฤตสังคมนิยมของไทยก็มาพร้อมกับวิกฤตของจีน เวียดนาม จีนเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ หันไปใช้แนวทางแบบทุนนิยม เวียดนามก็ล้มเหลว อย่างทุกวันนี้ใครจะนึกเอาตัวอย่างอื่นนอกจากทุนนิยมบ้าง มันไม่มีทางเลือกจริงๆ มันเป็นความล้มเหลวครั้งใหญ่

บางคนก็บอกมันเป็นเรื่อง end of history จริงๆ ที่ Fukuyama บอกว่า end of history เขาไม่ได้หมายถึงไม่มีเหตุการณ์นะ แต่ไม่มีในแง่ที่ว่าไม่มีเหตุการณ์หรือขบวนการที่มันต่างจากนี้จริงๆ ซึ่งผมเห็นว่าเป็นแง่มุมที่ถูกอยู่เท่าที่เห็นในปัจจุบัน คือตราบใดที่มันไม่มีอะไร บางอย่างที่เป็นทางเลือกจริงๆ ประวัติศาสตร์ก็จะเป็นเพียงเหตุการณ์ที่มันผ่านไปเรื่อยๆ


การเมืองใหม่ : หมายความว่าขบวนการต่อต้านทุนนิยม ต่อต้านโลกาภิวัตน์ที่เกิดขึ้นในระดับสากลตอนนี้ก็ไม่ใช่ทางเลือก


สมศักดิ์ : ประเด็นมันไม่ได้อยู่ที่ต่อต้าน คำถามอยู่ที่ว่าเสนออะไร แม้แต่นักวิชาการไทย เวลาคุณฟังพวกเสน่ห์ หรือนิธิพูด คุณต้องถามเขาว่าเขาเสนออะไร เขาก็บอกว่าเขามีข้อเสนอนะแต่มันเป็นข้อเสนอที่เป็นนามธรรมมาก อย่างผมถามง่ายๆ เมืองไทยจะให้มี “การลงทุน” หรือเปล่า คุณจะหยุดไหมการลงทุน “ตลาดหุ้น” จะเอาหรือเปล่า

Perry Anderson พูดว่า ตอนนี้เป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์มนุษย์ในรอบ 500 ปี ที่ไม่มีทางเลือกจริงๆ แล้วตรงนี้ผมเห็นด้วยนะ ครั้งสุดท้ายคือช่วงที่ก่อนการปฏิรูปศาสนา ย้อนกลับมาเมืองไทย นักวิชาการชอบพูดว่าโครงสร้างมันต้องเปลี่ยน ระบบวิธีคิดมันต้องเปลี่ยน ลองถามว่าอาจารย์จะเอาตลาดหุ้นหรือเปล่า ซึ่งเขาก็จะตอบทำนองว่ามันไม่ใช่ปัญหานะ เราต้องมาพูดเรื่องนั้นเรื่องนี้ก่อน มันง่ายที่คุณจะพูดแบบเป็นนามธรรมอย่างนี้ แต่ในโลกที่เป็นจริงถ้าคุณพูดแบบนี้ก็มีค่าเท่ากันศูนย์


การเมืองใหม่ : ขบวนการฝ่ายซ้ายที่มีอยู่ในปัจจุบัน เต็มที่มันก็ทำได้แค่การอธิบาย


สมศักดิ์ : จริงๆ แม้แต่การอธิบายก็ยังใช้ไม่ได้เท่าไหร่ เพราะคำอธิบายมันก็แยกไม่ออกจากกัน อย่างที่ผมพูดเรื่องระบบความคิดของ Marx มันตั้งอยู่บนความคิดที่ว่าการกำหนดมูลค่าโดยแรงงาน labour theory of value แนวคิดเรื่องการขูดรีดทั้งหลายก็เริ่มมาจากอันนี้ ทีนี้ตัวทฤษฎีมันมีปัญหาที่แก้ไม่ตกภายใน ถ้าตราบใดที่มันแก้ปัญหาทางทฤษฎีไม่ตก ความคิดอื่นทั้งระบบมันก็อธิบายไม่ได้ จึงได้แต่ประท้วงหรือคัดค้าน
คือระบบทุกวันนี้มันไม่ดีจริง มีการขูดรีดจริง ถ้าคุณพูดถึงสังคมนิยมในแง่ที่ว่า มันคือความพยายามหรือจิตใจในการแสวงหาทางออกทางอื่นที่ไม่ใช่ทางนี้ มันก็ได้ แต่มากกว่านั้นผมยังไม่เห็นว่าใครได้เสนออะไรที่มันชัดเจนลงไป

แต่สังคมนิยมในแง่การพยายามแสงหาทางออกทางอื่น ก็ไม่ใช่ไม่มีความหมายซะทีเดียว อย่างที่ผมพูดถึง Perry Anderson เขาก็บอกว่าเขายังเป็นนักสังคมนิยม แต่เป็นนักสังคมนิยมที่ในแง่ที่คัดค้าน เปิดโปงอธิบายว่าระบบปัจจุบันมันไม่ดียังไง แล้วก็พยายามแสวงหาข้อเสนอ แต่เขาก็เสนอว่าเราต้องยอมรับความจริงว่า ทุกวันนี้มันไม่มีขบวนการองค์กรที่เป็นทางเลือกจริงๆ ซึ่งก็มีคนออกมาค้านเยอะนะ พวกที่ออกไปคัดค้านที่ซีแอตเติ้ล ก็บอกว่าทำไมพูดอย่างนี้ทั้งที่มันมี การเคลื่อนไหวใหญ่โต ก็วิวาทะกันได้


การเมืองใหม่ : ถ้าจะมองย้อนกลับไปขบวนสังคมนิยมไทยทั้งหมด มันได้สร้างผลสะเทือนอะไรให้กับสังคมไทยบ้าง ทั้งในด้าน สังคมการเมืองวัฒนธรรม


สมศักดิ์ : คงเป็นคำตอบที่มีลักษณะชั่วคราว อันหนึ่งที่เห็นว่ามนทำให้มีวาทกรรม อย่าง ภาคประชาชน หรืออะไรที่เป็นการวิพากษ์อย่างเป็นโครงสร้าง มีคนถ่ายเอกสารบทความของนิธิเรื่องนักศึกษาขายตัว นิธิพูดถึง โครงสร้าง ในย่อหน้าเดียวที่เขายกมาประมาณ 4 ครั้ง ผมก็มานั่งนึกว่าต้องเป็นโครงสร้างแบบไหนนักศึกษาถึงจะไม่ขายตัว คือวาทกรรมแบบนี้มันคงอยู่ เพราะมันมีผลไม่น้อยเลยจากขบวนการฝ่ายซ้ายสมัยก่อน idea ที่ว่าอะไรก็เป็นเรื่องโครงสร้าง หรือปัญหาทุกอย่างมันโยงเข้ากับเรื่องโครงสร้าง ขบวนการสังคมนิยมก็มีผลต่อปัจจุบันในแง่นี้

แต่ผมเริ่มไม่แน่ใจนะว่า มันเป็นผลบวกหรือผลลบ อย่างปัจจุบันที่มีการพูดถึงการเมืองภาคประชาชนทั้งหลาย มันเป็นการปิดบังการคิดถึงปัญหาอย่างจริงจังหรือเปล่า ผมไม่แน่ใจ ผมรู้สึกว่าหลังๆ NGOs กลายเป็นอาชีพอย่างหนึ่ง แต่ภาพของ NGOs ก็ยังเป็นภาพของการเคลื่อนไหวประชาชน การที่ยังคงรักษาวาทกรรมแบบซ้ายไว้ มันมีผลดีจริงๆ หรือเปล่า หรือมันทำให้คนไม่พร้อมที่จะเผชิญหน้ากับความเป็นจริง หรือวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างจริงๆ

อย่างปัจจุบันเวลาคุณพูดว่ามันมีการเมืองภาคประชาชน ก็คือคุณหลอกตัวเองว่า ประชาชนออกมาเคลื่อนไหวจริงๆ สำหรับผมสิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่สำหรับเมืองไทย คือต้องพยายามถามว่า ทำไมประชาชนไทยมันไม่มีความสามารถด้วยตัวเองเลยที่พูดด้วยตัวเอง ต้องให้ปัญญาชนมาพูดแทนว่านี่คือภูมิปัญญาชาวบ้าน
ประชาชนจริงๆ มีอยู่แหละ อันนี้ผมรู้ แต่มันเกือบจะอยู่ด้วยตัวเองไม่ได้ถ้าไม่มีพวก NGOs ไปช่วย ทำไมมันถึงไม่มี ตะวันตกมันก็ยังมีอย่างขบวนการสหภาพ

ถ้าคุณเลิกหลอกตัวเอง จะเห็นว่าการเมืองภาคประชาชนแท้ที่จริงก็คือการเคลื่อนไหวของระดับพวกมีการศึกษาจำนวนหนึ่งที่อาศัยการสนับสนุนจากต่างประเทศ คุณก็ต้องหันมาตั้งคำถามอย่างจริงจังว่าที่ประชาชนไทยไม่ขึ้นมาแสดงเสียงของตัวเองเป็นเพราะอะไร


The End


บากบั่นพิมพ์โดย : GM-Kasmos


ที่มา : ฟ้าเดียวกัน (บอร์ดเก่า) : สังคมไทยอนุญาตให้มีอุดมการณ์เดียว

วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

หลักฐานใหม่ เหลือเชื่อ! "พระราชอำนาจ" ของสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ข้อมูลที่รอการเปิดเผย


ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือพระเจ้าอยู่หัวองค์ที่ ๒ สมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นเรื่องที่คนรู้น้อย และยังเป็นเรื่องที่สับสนอยู่มาก จึงเป็นข้อมูลที่หาอ่านยาก ถึงจะมีรายงานเข้ามาบ้างนานๆ ครั้งแต่ก็ไม่สม่ำเสมอ ทั้งนี้เนื่องจากรายละเอียดของพระองค์มีผู้ยืนยันไว้น้อย และพระองค์ก็มิใช่นักเขียนประวัติศาสตร์ เอกสารเก่าร่วมสมัยทุกชนิดที่พบ จึงมีความสำคัญที่สามารถให้ความกระจ่างในระดับหนึ่ง ทำให้เราเข้าใจเหตุการณ์ในพงศาวดารดีขึ้น นี่ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่หลักฐานบางอย่างเกี่ยวกับพระองค์ได้รับการบันทึกไว้โดยผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ในสมัยนั้นและเพิ่งจะถูกค้นพบเมื่อไม่นานมานี้

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายสาเหตุของการแต่งตั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (ต่อไปจะเรียกสั้นๆ ว่าพระปิ่นเกล้าฯ-ผู้เขียน) ขึ้นเป็นพระเจ้าอยู่หัวองค์ที่ ๒ ปรากฏอยู่ในหนังสือนิทานโบราณคดี เรื่องเมืองไทยมีพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์ ว่าเป็นเพราะเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์มีดวงพระชาตาแรง ถึงขนาดจะต้องได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ดังนั้นเมื่อขุนนางชั้นผู้ใหญ่ในตระกูลบุนนาคอัญเชิญเจ้าฟ้ามงกุฎขึ้นเป็นกษัตริย์ หากทรงรับเพียงพระองค์เดียวก็จะเกิดอัปมงคลขึ้น ด้วยกีดกันบารมีพระราชอนุชา จึงทรงสถาปนาเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ที่ ๒ พร้อมกับพระองค์ด้วย(๑)

คำชี้แจงนี้เปิดเผยขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ เมื่อข้อมูลถูกเผยแพร่ในหนังสือเล่มดังกล่าว หรือภายหลังพระปิ่นเกล้าฯ สวรรคตแล้วถึง ๗๖ ปี หลังจากที่ไม่มีผู้ใดติดใจตรวจความชัดเจน จึงเป็นที่ยอมรับกันโดยไม่มีใครคัดค้านว่าพระปิ่นเกล้าฯ มีดวงพระชาตาแรง นี่คือเหตุผลที่ทราบกันในหมู่คนไทยทั่วไป แต่สำหรับชาวต่างประเทศแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับไม่ทรงใช้เหตุผลทางโหราศาสตร์ ในทางตรงกันข้ามทรงอ้างถึงความเหมาะสมอื่นๆ ดังเช่นในพระราชสาส์นถึงประธานาธิบดีเจมส์ บูแคนัน (James Buchanan) แห่งสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. ๑๘๖๐ ทรงกล่าวว่า สมเด็จพระอนุชาธิราชนั้น ทรงพระปรีชารอบรู้การในพระนครและการต่างประเทศเป็นอันมาก สมควรจะได้มีโอกาสช่วยราชการแผ่นดิน ประคับประคองประเทศชาติให้มีความมั่นคงพัฒนาถาวร คล้ายกับการที่อเมริกามีประธานาธิบดีพร้อมกัน ๒ คนนั่นเอง จึงเป็นเรื่องน่าคิดอยู่ ทว่าความไม่ชัดเจนดังกล่าวได้ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมทางการเมือง ซึ่งมีผลกระทบต่อสถาบันผู้นำของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงลำบาก

ต่อมาอีกครึ่งศตวรรษ ในเมืองไทยเริ่มมีผู้ไม่เห็นด้วยกับพระราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เกี่ยวกับดวงพระชาตาของสมเด็จพระอนุชาธิราช เพราะเมื่อพิจารณาตามหลักโหราศาสตร์อย่างละเอียด ก็ไม่พบว่าดวงพระชาตาของพระปิ่นเกล้าฯ จะมีอิทธิพลเหนือกว่า หรือแม้แต่จะเสมอกันกับดวงพระชาตาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ แต่อย่างใด นักวิชาการไทยบางท่านให้เหตุผลเป็นอย่างอื่นว่า การที่ทรงยกย่องสมเด็จพระอนุชาธิราชขึ้นมามีพระราชอิสริยยศเท่าเทียมพระองค์นั้น ก็โดยลำเอียงว่าเป็นพระอนุชาร่วมพระครรโภทรเดียวกัน ทรงรักใคร่หวังจะทะนุบำรุงถึงขนาด มากกว่าจะทรงพิจารณาถึงดวงดาวว่าดีเด่นกว่าของพระองค์แต่ประการใด กรณีที่ทรงเบี่ยงเบนประเด็นว่าดวงพระชาตาของพระอนุชาแข็งกว่าพระองค์นั้น ก็คงจะเป็นข้ออ้างเสียมากกว่าอย่างอื่น ตามหลักโหราศาสตร์มีข้อยืนยันที่ฉกรรจ์อยู่ข้อหนึ่งคือ พระลัคนาของพระปิ่นเกล้าฯ สถิตอยู่ในตำแหน่งวินาศนะต่อพระลัคนาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ซ้ำดาวพระเคราะห์เด่นๆ ยังไปอยู่ในภพอริและวินาศนะของพระองค์เสียหมด เช่นนี้ย่อมเห็นได้ว่าพระองค์ไม่ได้ทรงเกรงอิทธิฤทธิ์ความแข็งในดวงพระชาตาของสมเด็จพระอนุชาธิราชเลยแม้แต่น้อย เพราะดวงพระชาตาของพระองค์ท่านข่มไว้หมดทุกประตูอยู่แล้ว(๕)

เมื่อประเด็นเรื่องดวงพระชาตาไม่ใช่ปัจจัยสำคัญอีกต่อไป ความเห็นอื่นๆ จึงเกิดขึ้นตามมา ในอีกทัศนะหนึ่งเกิดความเป็นไปได้สูงที่จะมีสาเหตุทางการเมืองพัวพันอยู่ด้วย เหตุผลนี้ดูเข้มข้นขึ้นเมื่อศึกษาความเป็นไปได้ เบื้องหลังการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เป็นเกณฑ์

การที่มีการเมืองเข้ามาแทรก เห็นได้เป็นเลาๆ ตั้งแต่เมื่อปลายรัชกาลที่ ๒ กล่าวคือ ในปี พ.ศ. ๒๓๖๗ ขณะที่สมเด็จพระบรมชนกนาถ (รัชกาลที่ ๒) สวรรคตนั้น พระราชโอรสองค์ใหญ่คือเจ้าฟ้ามงกุฎยังทรงครองสมณเพศเป็นวชิรญาณภิกขุ และถึงจะทรงทราบว่าพระองค์ทรงอยู่ในฐานะเป็นรัชทายาทตามกฎมณเฑียรบาลที่จะเสวยราชย์ต่อไป แต่ก็ทรงตัดสินพระทัยไม่ออกจากสมณเพศ เพราะทรงไม่มีอำนาจและบารมีทางราชการ เมื่อเทียบกับกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (รัชกาลที่ ๓) ซึ่งมีอำนาจราชศักดิ์อยู่ในขณะนั้น และกำลังได้รับการสนับสนุนจากขุนนางตระกูลบุนนาคอย่างเต็มกำลังให้สืบต่อแผ่นดิน เจ้าฟ้ามงกุฎจึงทรงเลือกที่จะผนวชอยู่ต่อไป เพื่อหลบลี้ภัยทางการเมืองด้วยความเต็มพระทัย ภาวะแห่งความละเอียดอ่อนได้ผ่อนคลายลงระดับหนึ่ง อย่างน้อยก็ทำให้บ้านเมืองสุขสงบได้เป็นเวลา ๑๐ กว่าปี

การที่วชิรญาณภิกขุทรงครองสมณเพศต่อไปนั้น เป็นเหตุให้พระองค์เป็นพระบรมวงศานุวงศ์เพียงพระองค์เดียวที่ทรงมิได้มีอำนาจทางการทหารหรือไพร่พลในความดูแลปกครอง และจะกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ผลักดันให้พระองค์ทรงเป็นทางเลือกใหม่เมื่อปลายรัชกาลที่ ๓ ที่ขุนนางตระกูลบุนนาคชุดเดิมจะเลือกสนับสนุนพระองค์ให้สืบราชสมบัติต่อไป เพราะสะดวกต่อการ "ควบคุม" และประสานผลประโยชน์สำหรับกลุ่มขุนนางมากกว่าเจ้านายองค์อื่นๆ ก็ยังเป็นกระแสทางการเมืองที่แวดล้อมพระองค์อยู่โดยตรง นอกจากวชิรญาณภิกขุจะทรงเป็นพระสงฆ์ผู้อ่อนแอและไม่มีอำนาจแต่อย่างใดที่จะยุ่งเกี่ยวหรือก้าวก่ายผลประโยชน์ต่างๆ และขัดบารมีกับกลุ่มขุนนางแล้ว พระองค์ยังทรงต้องรำลึกถึงบุญคุณของคนในตระกูลบุนนาคในอนาคตอีกด้วย(๒)

จากเหตุผลด้านการเมืองนี้ ทำให้เกิดความกดดันในการวางนโยบายของผู้นำประเทศ พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ทรงตระหนักถึงความจำเป็นในการสร้างฐานอำนาจของพระองค์เองไว้เช่นกัน บุคคลที่เหมาะสมที่สุดในเวลานั้น ไม่มีผู้ใดเด่นไปกว่าพระราชอนุชาองค์รอง คือกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ผู้ทรงมีพระกิตติศัพท์โด่งดังในตำแหน่งผู้คุมกำลังด้านกองทัพมาโดยตลอดรัชกาลที่ ๓ นอกจากจะทรงเคยเป็นแม่ทัพเรือยกไปปราบญวนแล้ว ยังทรงเป็นผู้บัญชาการทหารปืนใหญ่และกองทหารต่างด้าวอีกด้วย

พระเกียรติคุณของเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ นับได้ว่าเป็นที่เลื่องลือทั้งภายในและต่างประเทศ พระองค์ทรงได้ชื่อว่าเป็นเจ้านายชั้นสูงที่มีความปราดเปรื่องในวิชาการด้านตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ ความรู้ด้านช่าง ความรู้ด้านธรรมเนียมการทูต ความรู้ด้านระบบการเมืองการปกครองของต่างประเทศ ความรู้เกี่ยวกับการต่อเรือ และโดยเฉพาะความรู้ทางด้าน "การทหาร" ย่อมเป็นที่หวาดระแวงและหวั่นเกรงของกลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคอยู่ไม่น้อย

และเนื่องจากการเมืองในระยะนั้นมีลักษณะ "ไม่นิ่ง" โดยตลอด การสถาปนากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ขึ้นสู่ราชบัลลังก์เพราะทรงมีฐานกำลังพลที่น่าเกรงขาม อีกทั้งยังเป็นมิตรที่ดีกับชาวตะวันตก จึงเป็น "ข้ออ้าง" ทางการเมืองที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ นอกเหนือจากข้ออ้างด้านโหราศาสตร์ ก็เพื่อกลบเกลื่อนพระราชวินิจฉัยส่วนพระองค์ อันเป็นการรักษาดุลยภาพของราชบัลลังก์ หรือการ "แก้เกมส์" กับกลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาค และเพื่อหาทางบั่นทอนความแข็งแกร่งของผู้ที่ผูกขาดอำนาจ

ความเป็นไปในราชสำนักสยามภายหลังรัชกาลที่ ๔ เสด็จขึ้นครองราชย์ การสถาปนากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ และความตื่นตัวของกลุ่มขุนนางในสมัยนั้น มิได้รอดพ้นสายตาอันแหลมคมของชาวตะวันตกไปได้ ครั้งหนึ่งนายแฮรี่ ปาร์คส์ (Harry Parkes) กงสุลอังกฤษ ได้รับรายงานจากนายเบลล์ ผู้ช่วยกงสุล เกี่ยวกับการต่อต้านพระปิ่นเกล้าฯ แจ้งข่าวไปยังเอิร์ลแห่งคลาเรนดอน (Earl of Clarendon) รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษในลอนดอน ดังนี้


ลอนดอน

๑๐ กันยายน ๑๘๕๕

เรียน ฯพณฯ

ข้าพเจ้าได้รับแจ้งจากนายเบลล์ เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๑๘๕๕ [พ.ศ. ๒๓๙๘] เกี่ยวกับการถึงแก่พิราลัยของสมเด็จองค์ใหญ่ [หมายถึงสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์-ดิศ บุนนาค] ซึ่งขณะนี้เป็นทั้งพระกลาโหมและพระคลังนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งบางครั้งดูเหมือนจะมีอำนาจมากที่สุดในบรรดาเสนาบดีทั้งประเทศ สมเด็จทั้งสององค์ได้ช่วยกันรักษาการสืบสันตติวงศ์ของพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน ซึ่งเป็นการขัดพระราชประสงค์ของพระเจ้าอยู่หัวองค์ก่อน และไม่รีรอที่จะสร้างอำนาจและอิทธิพลให้แก่ตนเอง ให้เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไป ด้วยการส่งเสริมให้ตนเองมีอำนาจยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ผู้ที่มีความมักใหญ่ใฝ่สูงมากที่สุดคือพระกลาโหม [หมายถึงบุตรสมเด็จองค์ใหญ่ คือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์-ช่วง บุนนาค] ผู้ซึ่งขณะนี้ดำรงตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีและแสวงหาช่องทางที่จะมีอำนาจเหนือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ที่ ๒ ผู้ซึ่งทรงปรารถนาที่จะรักษาพระราชอำนาจของพระเชษฐาไว้ แต่เป็นการยากที่จะทำเช่นกัน ดังนั้นการดำเนินงานของพระกลาโหมจึงประสบความสำเร็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ที่ ๑ ทรงไม่พอพระทัย ทั้งความสามารถของพระเจ้าอยู่หัวองค์ที่ ๒ และหวาดระแวงการรวบรวมทหารที่มีความสามารถเพื่อรักษาความปลอดภัยของพระเจ้าอยู่หัวองค์ที่ ๒ ด้วย

บางทีอาจจะเป็นเพราะความแตกต่างระหว่างวัย จึงทำให้สมเด็จองค์ใหญ่มักจะไม่มีส่วนหรือเห็นพ้องกับความมักใหญ่ใฝ่สูงของพระกลาโหม ซึ่งมักจะถูกจับตามองจนตลอดชีวิตของบิดาของท่าน การถึงแก่พิราลัยของสมเด็จองค์ใหญ่ ทำให้ฐานะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตกอยู่ในอันตรายยิ่งขึ้น นายเบลล์เขียนมาว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเศร้าโศกกับการสูญเสียครั้งนี้อย่างเห็นได้ชัด พระองค์จะเสด็จไปเยี่ยมสมเด็จองค์ใหญ่เมื่อยังประชวรอยู่วันละ ๒-๓ ครั้งเสมอ และมีพระราชประสงค์ที่จะให้พระกลาโหมจัดงานพระราชทานเพลิงให้สมเด็จองค์ใหญ่ในวังหลวง แต่ถูกปฏิเสธอย่างแข็งขันว่า สมเด็จองค์ใหญ่ได้แสดงความประสงค์ไว้ ให้พระราชทานเพลิงในวัดส่วนตัว [หมายถึงวัดประยุรวงศาวาส] สิ่งแรกที่พระกลาโหมจัดการหลังการถึงแก่พิราลัยของบิดาก็คือ การสร้างจวนใหญ่ [ปัจจุบันคือบริเวณที่ตั้งของโรงเรียนศึกษานารี] ซึ่งมีขนาดใหญ่และหรูหรากว่าวังของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และจัดเป็นที่พักของพี่น้องทุกคน เรื่องนี้เหมือนกับเป็นการท้าทายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ที่ ๒ ซึ่งแสดงพระองค์เป็นศัตรูกับท่าน การปะทะกันระหว่างพระเจ้าอยู่หัวองค์ที่ ๒ กับทหารของพระกลาโหมจึงเกิดขึ้นอยู่เสมอ [ต่อด้วยเรื่องอื่นๆ]

แฮรี่ ปาร์คส์(๔)


แต่การที่คุณสมบัติพิเศษของพระปิ่นเกล้าฯ จากการที่ได้รับแต่งตั้งขึ้นเป็นกษัตริย์เพื่อคานอำนาจกลุ่มขุนนาง จะทำให้พระองค์ทรงมีฐานะภายนอกสำคัญขึ้นกว่าเดิม ก็มิได้เป็นหลักประกันความราบรื่นเสมอไป การมีพระเจ้าอยู่หัว ๒ พระองค์ในเวลาเดียวกัน ทำให้พระองค์ทรงถูกกีดกันตลอดเวลา เพราะมีคนไม่เห็นด้วยอยู่มาก แม้แต่คำเล่าลือว่าพระปิ่นเกล้าฯ ทรงอยู่ในฐานะล้ำหน้ากว่าพระเชษฐา ก็ยังถูกหยิบยกมาเป็นขี้ปากของคำครหาอันสะเทือนใจต่างๆ ดังสำนวนที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงบริภาษให้พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) ราชทูตไทยในอังกฤษฟังว่า

"การทำสัญญาด้วยอังกฤษแลการทนุบำรุงบ้านเมืองก็ดี แต่งทูตไปก็ดี เปนความคิดวังหน้าทั้งหมด วังหลวงเปนแต่อืออือแอแอพยักพเยิดอยู่เปล่าๆ เมื่อแขกเมืองเข้ามา วังหน้าต้องแอบข้างหลังสอนให้พูดจึงพูดกับแขกเมืองได้ ท่านทั้งปวงไปพูดที่โน้นดังบอกมานี้ถึงจริงเหนเขาจะว่าปดว่าเท็จ เขาจึงลงหนังสือพิมพ์ว่า ที่จริงการแผ่นดินเปนความคิดสติปัญญาฤทธาอำนาจวังหน้าหมด ท่านทั้งปวงไม่ระวังปากระวังตัว ซ้ำไปพูดลดหย่อนทหารวังหน้าที่แข็งแรงและมากมายกว่าทหารวังหลวง ข้าพเจ้ามีความวิตกกลัวเขาจะว่าทูตไทยปดนัก"(๓)

จึงมิใช่ข้อเท็จจริงตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ

จากการค้นพบเอกสารเพิ่มเติมซึ่งเคยถูกตีพิมพ์ในสมัยนั้น ชำระแล้วไม่พบคำครหาดังกล่าวแต่อย่างใด ทำให้วิเคราะห์ได้ว่าอาจเป็นการตัดไม้ข่มนามของวังหลวงในการกำราบความกำเริบเสิบสานของพวกขุนนางตระกูลบุนนาคที่สร้างข่าวบิดเบือนเกี่ยวกับสถานภาพของราชบัลลังก์ ซึ่งส่อให้เห็นถึงการเลือกปฏิบัติของกลุ่มขุนนาง ทั้งทางลับและทางแจ้งที่ทวีความรุนแรงขึ้น โดยมีแผนการให้เกิดความร้าวฉานระหว่างพระเจ้าอยู่หัวองค์ที่ ๑ และองค์ที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงมีรับสั่งแทงใจดำขุนนางเหล่านั้น โดยเสียดสีพระปิ่นเกล้าฯ แทนการกล่าวโทษผู้อื่นโดยตรง อันเป็นการสร้างสถานการณ์และหวังผลทางการเมืองของพระเจ้าอยู่หัวทางอ้อม

หลักฐานใหม่ที่แสดงว่าภาพพจน์ของวังหลวงในการเป็นศูนย์รวมอำนาจที่แท้จริง และบทบาทของวังหน้าที่ถูกแต่งตั้งขึ้นด้วยเหตุผลทางการเมือง ได้รับการตีแผ่อย่างตรงไปตรงมาตามหนังสือพิมพ์ของชาวตะวันตก ดังตัวอย่างที่พบครั้งล่าสุดต่อไปนี้


ฉบับที่ ๑
หนังสือพิมพ์ L"ILLUSTRATION ของฝรั่งเศส ฉบับวันที่ ๒๔ มีนาคม ๑๘๖๖ พาดหัวข่าวพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ของพระปิ่นเกล้าฯ กล่าวถึงการถ่วงดุลอำนาจระหว่างพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์ ท่ามกลางความผันผวนทางการเมือง ยืนยันฐานะของพระปิ่นเกล้าฯ ไว้ว่า

"ตำแหน่งกษัตริย์องค์ที่ ๒ นั้น เป็นเพียงตำแหน่งกิตติมศักดิ์ที่ไม่มีบทบาทมากนัก พระองค์ทรงไม่มีพระราชกรณียกิจโดยตรงที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดินเลย อำนาจที่แท้จริงตกอยู่กับพระเชษฐาผู้พี่ คือกษัตริย์องค์ที่ ๑ แต่เพียงผู้เดียว"(๗)


ฉบับที่ ๒
หนังสือพิมพ์ THE ILLUSTRATED LONDON NEWS ของอังกฤษ ฉบับวันที่ ๑๗ มีนาคม ๑๘๖๖ ลงภาพข่าวด้านในพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ของพระปิ่นเกล้าฯ (แต่ลงรูปผิดเป็นรูป ร.๔) กล่าวว่า

"พระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ ๑ และองค์ที่ ๒ ทรงมีอำนาจไม่เท่าเทียมกันในทางปฏิบัติ พระราชอำนาจที่แท้จริงมากถึง ๒/๓ ของทั้งหมดเป็นของพระองค์ที่ ๑ เหลือเพียง ๑/๓ ของอำนาจที่เหลือตกเป็นของพระองค์ที่ ๒"(๘)


ฉบับที่ ๓
หนังสือพิมพ์ HARPER"S WEEKLY ของอเมริกา ฉบับวันที่ ๑๔ เมษายน ๑๘๖๖ พาดหัวข่าวการสวรรคตของพระปิ่นเกล้าฯ กล่าวเป็นเสียงเดียวกันกับในฉบับที่ ๒ แต่เพิ่มเนื้อหาขึ้นอีกว่า

"กษัตริย์องค์ที่ ๒ ตามคำบอกเล่าของเซอร์จอห์น เบาริ่ง, คงจะเป็นบุรุษที่เปี่ยมไปด้วยความสามารถหากพระองค์ไม่ถูกบดบัง (eclipsed) โดยกษัตริย์องค์ที่ ๑ ซึ่งเป็นพระเชษฐาผู้กระตือรือร้น และมีฐานะทางการเมืองสำคัญกว่ามาก"(๖)


คำให้การของผู้สันทัดกรณี สะท้อนให้เห็นภาพสถานการณ์ที่เป็นอยู่จริง ทำให้ข้อถกเถียงเรื่องพระราชอำนาจของพระปิ่นเกล้าฯ ที่ว่าการทำนุบำรุงบ้านเมือง การแต่งทูตไปต่างประเทศ และราชการแผ่นดินเป็นสติปัญญาของพระปิ่นเกล้าฯ ทั้งหมดนั้นต้องตกไปโดยปริยาย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงสถาปนาพระปิ่นเกล้าฯ ขึ้นเพื่อ "เน้น" การถ่วงดุลอำนาจเป็นกรณีเฉพาะ เพื่อตัดตอนผลประโยชน์และสลายขั้วอิทธิพลทางทหารของผู้นำกลุ่มขุนนาง ทั้งเป็นการป้องกันการผูกขาดทางการเมืองของผู้ไม่หวังดีและเสริมสร้างฐานอำนาจของราชบัลลังก์ให้มั่นคงยิ่งขึ้น เป็นเหตุให้พระปิ่นเกล้าฯ ทรงหลีกเลี่ยงจากการประกอบพระราชกรณียกิจ ซึ่งจะทำให้เป็นปฏิปักษ์ต่อพระเชษฐาเสียเอง ด้วยความเกรงพระทัย ความล้ำหน้าของพระปิ่นเกล้าฯ อันเป็นสาเหตุของความขัดเคืองพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงไม่เคยเกิดขึ้น เมื่อเกิดข่าวลือไม่สร้างสรรค์ทีไร พระปิ่นเกล้าฯ จะทรงเป็นฝ่ายถอยไปเองทุกครั้งเสมอ

หลักฐานชิ้นสำคัญชิ้นสุดท้ายพบเมื่อเร็วๆ นี้เช่นกัน อธิบายฐานะของพระปิ่นเกล้าฯ ระบุอยู่ในหนังสือของทางราชการไทยเล่มหนึ่ง กล่าวว่า


"มีเหตุผลสำคัญที่จะเชื่อว่าสถานภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ที่ ๒ ไม่ค่อยจะสะดวกสบายนัก พระองค์เป็นผู้ที่มีคนริษยาอยู่จำนวนไม่น้อย และด้วยเหตุนี้ความสุขุมรอบคอบที่สุด จึงจำเป็นสำหรับพระองค์ที่จะต้องคงไว้และปกป้องสถานภาพของพระองค์ ในราชอาณาจักรนี้ไว้ต่อไปในอนาคตด้วย"(๔)


เป็นเรื่องประหลาดเหลือเชื่อ
เรื่องหนึ่งของพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์

ที่พระเจ้าอยู่หัวพระองค์หนึ่งผู้ทรงปรีชาสามารถที่สุดในยุคสมัยของพระองค์ ต้องถูกบดบังไว้ด้วยเงื่อนไขทางการเมืองอันสลับซับซ้อน โดยมีจุดประสงค์เพื่อปกป้องราชบัลลังก์เอาไว้

แต่ด้วยความน้อยพระทัยในสถานภาพที่เสียเปรียบและเป็นรองตลอดเวลา เป็นเหตุให้ทรงปลีกวิเวกเสด็จไปประทับตามหัวเมืองไกลๆ เป็นระยะเวลายาวนาน เพื่อหนีให้พ้นคำตำหนิติเตียนต่างๆ เท่าที่จะทำได้ อาจกล่าวได้ว่าพระราชอำนาจอันจำกัดของพระปิ่นเกล้าฯ ขณะดำรงตำแหน่งพระเจ้าอยู่หัวองค์ที่ ๒ ส่งผลให้บทบาทอันมีความหมายของพระองค์ลดน้อยถอยลงกว่าที่ทรงเคยมีเมื่อครั้งทรงกรมเป็นกรมขุนอิศเรศรังสรรค์เสียอีก


ไกรฤกษ์ นานา

ศิลปวัฒนธรรม
วันที่ 01 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 ปีที่ 27 ฉบับที่ 04


เอกสารประกอบการค้นคว้า

(๑) ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. นิทานโบราณคดี. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานศพ คุณหญิงกสิการบัญชา, กรุงเทพฯ, ๒๕๐๑.

(๒) เทอดพงศ์ คงจันทร์. การเมืองเรื่องสถาปนาพระจอมเกล้าฯ. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๗.

(๓) พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ. รวมอยู่ในหนังสืองานฉลองครบรอบ ๘๔ ปี มหามกุฏราชวิทยาลัย, กรุงเทพฯ, ๒๕๒๑.

(๔) ศิวะลีย์ ภู่เพ็ชร์. บันทึกสัมพันธภาพระหว่างประเทศสยามกับนานาประเทศ. กรมศิลปากรจัดพิมพ์, ๒๕๔๑.

(๕) สมบัติ พลายน้อย. พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ กษัตริย์วังหน้า. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๕.

(๖) หนังสือพิมพ์ HARPER"S WEEKLY. New York, 14 April 1866.

(๗) หนังสือพิมพ์ L"ILLUSTRATION. Paris, 24 March 1866.

(๘) หนังสือพิมพ์ THE ILLUSTRATED LONDON NEWS. London, 17 March 1866.


ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม : เรื่องจากปก

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำไปตามความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ