วันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2550

บันทึกเรื่องพระราชพินัยกรรมรัชกาลที่ ๖ "ฉบับเต็ม"

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล


ในบทความของผมเรื่อง "ในหลวงอานันท์ขึ้นครองราชย์ตามลำดับขั้นของกฎมณเฑียรบาลหรือเพราะปรีดีสนับสนุน?" (ฉบับพิมพ์ใน ฟ้าเดียวกัน ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๒, เมษายน-มิถุนายน ๒๕๔๙ และฉบับ weblog ที่เชิงอรรถที่ ๔๑ http://somsakfootnotes.blogspot.com/2006/06/blogpost_115069195230771862.html) ผมได้อธิบายกระบวนการที่ผมพยายาม "ตามล่า" หา "พระราชพินัยกรรมรัชกาลที่ ๖" ซึ่งเคยมีการตีพิมพ์ใน ศิลปวัฒนธรรม ในปี ๒๕๒๘ อย่างไม่ครบสมบูรณ์ และทั้งผู้ตีพิมพ์คือ คุณบุญยก ตามไท และ ศิลปวัฒนธรรมเอง ไม่สามารถนึกได้ว่าได้ต้นฉบับมาจากที่ใดแล้วในขณะนี้ ผมจึงได้ประกาศหาเอกสารดังกล่าวในเว็บไซต์ "วิชาการดอทคอม" ซึ่งมีผู้สนใจเรื่องเจ้า (ในระดับที่อาจเรียกได้ว่าเป็น "อนุวัฒนธรรม" sub-culture) เป็นสมาชิกประจำอยู่หลายคน ในที่สุด คุณวีรชาติ มีชูบท กรรมการมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้กรุณานำข้อความในพระราชพินัยกรรมฉบับเต็มมาโพสต์ โดยคุณวีรชาติกล่าวว่า “วานพรรคพวกไปค้น....เลยคัดมาฝากกัน สำหรับข้อ ๔ ขออนุญาตละพระนามที่ระบุไว้ในพระราชพินัยกรรม เพราะหลานๆ ท่านยังมีชีวิตกันอยู่”

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา คุณเทพมนตรี ลิมปพยอม ผู้มีชื่อเสียง ได้แวะมาหาผมที่ที่ทำงานท่าพระจันทร์ เมื่อเจอหน้ากัน คุณเทพมนตรีก็ยื่นเอกสารถ่ายสำเนา (ซีร็อกซ์) ชุดหนึ่งให้ แล้วกล่าวว่า "ได้ข่าวว่าอาจารย์กำลังมองหาพระราชพินัยกรรมรัชกาลที่ ๖" ผมรับเอกสารดังกล่าวมาเปิดๆดู ด้วยความตื่นเต้นดีใจ เห็นเป็นสำเนาของ "พระราชพินัยกรรม รัชกาลที่ ๖" จริงๆ คุณเทพมนตรีบอกผมว่า ที่นำมาให้นี้เป็น "ฉบับสมบูรณ์" (คุณเทพมนตรีอธิบายการได้มาเหมือนกัน แต่ผมขอไม่เล่าต่อในที่นี้) ผมต้องขอขอบคุณคุณเทพมนตรีอย่างสูงมา ณ โอกาสนี้

จากการพิจารณาเอกสารที่คุณเทพมนตรีนำมาให้ ทำให้ผมได้ข้อสรุปเพิ่มเติมเกี่ยวกับ พระราชพินัยกรรม รัชกาลที่ ๖ ดังนี้



(๑) "พระราชพินัยกรรม" ฉบับที่ ศิลปวัฒนธรรม ตีพิมพ์ อันที่จริง เป็น "สำเนา" ของ "พระราชพินัยกรรม" ซึ่งรัชกาลที่ ๖ ทรงคัดลอกไว้ในสมุดจดหมายเหตุรายวัน (ไดอารี่ diary) ของพระองค์ ไม่ใช่พระราชพินัยกรรมฉบับ "จริง" เสียทีเดียว กล่าวคือ หลังจากที่รัชกาลที่ ๖ ทรงให้เขียนพินัยกรรมฉบับจริงแล้ว - ให้เจ้าหน้าที่เขียนตามที่ทรงบอก ไม่ใช่ลายพระราชหัตถเลขาของพระองค์เอง (ดูข้างล่าง) - ก็ทรงคัดลอกข้อความของพินัยกรรมนั้นลงในไดอารี่ ด้วยพระราชหัตถเลขาของพระองค์เองอีกต่อหนึ่ง ศิลปวัฒนธรรม ได้ภาพถ่ายสำเนาไดอารี่ ส่วนที่ทรงคัดลอกพินัยกรรมไว้นี้ แต่ได้มาไม่ครบ คือ ได้เพียง ๒ หน้า "พระราชพินัยกรรม" ที่ทรงคัดลอกไว้ในไดอารี่นี้ มีความยาว ๓ หน้าของไดอารี่ (นับเฉพาะตัวบทพินัยกรรมจริงๆ) ศิลปวัฒนธรรม ได้มาขาดไป ๑ หน้า เอกสารซีร็อกซ์ที่คุณเทพมนตรีนำมาให้ผม คือ สำเนาพินัยกรรมที่ทรงบันทึกไว้ในไดอารี่ทั้ง ๓ หน้า แต่มีบันทึกข้อความในไดอารี่ที่ต่อเนื่องเกี่ยวข้องกับพินัยกรรมบวกเข้ามาด้วยอีก ๔ หน้า รวมกับหน้าแรกสุด ที่เป็นซีร็อกซ์ "ปก" ของไดอารี่ที่มีสำเนาพระราชพินัยกรรมนี้แล้ว เอกสารที่คุณเทพมนตรีนำมาให้ผม จึงมีทั้งสิ้น ๘ หน้า


(๒) ข้อความในพระราชพินัยกรรมที่คุณวีรชาติ มีชูบท คัดลอกมาโพสต์ อาจจะมาจาก (สำเนา) พระราชพินัยกรรมฉบับจริง (คือฉบับที่ทรงให้เจ้าหน้าที่เขียน) ไม่ใช่จากสำเนาที่เป็นพระราชหัตถเลขาที่อยู่ในไดอารี่ก็เป็นได้ เพราะคุณวีรชาติได้คัดลอกมาว่า พระราชพินัยกรรมขึ้นต้นด้วย "พระราชลัญจกรพระบรมราชโองการ" ซึ่งในไดอารี่ไม่มี (ในบทความที่ตีพิมพ์ใน ฟ้าเดียวกัน ผมไม่ได้เอ่ยถึงการมีเครื่องหมาย "พระราชลัญจกร" ในตอนต้นของข้อความที่คุณวีรชาติโพสต์ เพราะมองข้ามเรื่องพินัยกรรมมีทั้งฉบับที่คัดลอกลงในไดอารี่ กับฉบับจริงทางราชกาาร) ถ้าเป็นไดอารี่ จะขึ้นต้นด้วย "หนังสือสั่งเสนาบดีวัง เรื่องสืบสันตติวงศ์และตั้งพระอัษฐิ [ดูรายวันน่า๑๖๑]" (ดังที่ศิลปวัฒนธรรม นำมาพิมพ์ และผมนำมาอ้างต่อ)


(๓) คุณวีรชาติ มีชูบท ได้ละพระนามของ "เมีย" ผู้หนึ่งที่รัชกาลที่ ๖ สั่งว่าอย่าเอาอัฐิมาตั้งคู่กับอัฐิของพระองค์ จากเอกสารที่คุณเทพมนตรีนำมาให้ ผมจึงได้เห็นว่า พระนามที่ละไว้คือ "สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี" (ประไพ สุจริตกุล) ซึ่งในเดือนมกราคม ๒๔๖๔ (ปฏิทินเก่า) รัชกาลที่ ๖ ทรงตั้งให้เป็น "พระอินทรามณี พระสนมเอก" ต่อมาในเดือนมิถุนายน ๒๔๖๕ ยกให้เป็น "พระอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา" ในเดือนมกราคม ๒๔๖๕ (ปฏิทินเก่า) ยกให้เป็น "สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี" (คือยกให้เป็น "ควีน") แต่แล้วในเดือนกันยายน ๒๔๖๘ กลับลดฐานะให้กลับเป็นเพียง "สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา" (คือในช่วงเดียวกับที่ทรงทำพินัยกรรมนี้เอง คำสั่งลดฐานะลงวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๔๖๘ ตีพิมพ์ใน ราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๒๘ กันยายน ๒๔๖๘ พินัยกรรมลงวันที่ ๘ กันยายน ๒๔๖๘) ข้อความทั้งหมดในพินัยกรรมตอนนี้ มีดังนี้

ข้อ ๔ ต่อไปภายหน้าก็คงจะมีเหตุเรื่องตั้งพระบรมอัษฐิ, คือ จะเอาองค์ใดขึ้นมาตั้งคู่กับฃ้าพเจ้า. ฃ้าพเจ้าขอสั่งเด็ดขาดไว้เสียแต่บัดนี้, ห้ามมิให้เอาพระอัษฐิสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีขึ้นมาตั้งเคียงฃ้าพเจ้าเป็นอันขาด; เพราะตั้งแต่ได้มาเป็นเมียฃ้าพเจ้า ก็ได้บำรุงบำเรอน้ำใจฃ้าพเจ้าเพียง ๑ เดือนเท่านั้น, ต่อแต่นั้นมาเอาแต่ความร้อนใจหรือรำคาญมาสู่ฃ้าพเจ้าอยู่เป็นเนืองนิตย์. ถ้าจะเอาผู้ใดตั้งคู่กับฃ้าพเจ้า ก็น่าจะตั้งอัษฐิสุวัทนา, ซึ่งถ้ามีลูกชายแล้วก็ไม่มีปัญหา.



(๔) ในไดอารี่ พระราชพินัยกรรมที่ทรงคัดลอกไว้ เริ่มต้นที่หน้า ๓๙๔ และจบที่หน้า ๓๙๖ (คือ ๓ หน้าไดอารี่ดังกล่าวข้างต้น) คุณเทพมนตรีได้นำซีร็อกซ์ข้อความในไดอารี่มาให้อีก ๔ หน้า คือหน้า ๓๙๗ ถึง ๓๙๙ และอีก ๑ หน้า ซึ่งเลขหน้าอ่านไม่ได้ และไม่แน่ใจว่า จะเป็นหน้าที่ต่อจากหน้า ๓๙๙ เลย (คือหน้า ๔๐๐) หรือไม่ ข้อความของไดอารี่ในหน้าต่างๆ เป็นดังนี้ (ส่วนที่ทำเครื่องหมาย ..... คือข้อความที่ผมยัง "แกะ" ลายพระราชหัตถเลขาไม่ได้ ส่วนที่มีเครื่องหมาย [?] คือข้อความที่ผมไม่แน่ใจว่า "แกะ" ถูกหรือไม่)



[สมุดจดหมายเหตุรายวัน หน้า ๓๙๗]


บำเหน็จผู้พยาบาล ฯลฯ


อนึ่งในการที่เราได้ป่วยลง ได้มีผู้ที่มีความในทางพยาบาลและช่วยความสดวกต่างๆหลายคน, จึ่งได้สั่งให้จัดให้หาของบำเหน็จให้เป็น ๒ ชั้น; ชั้นที่ ๑ เป็นซองบุหรี่ (หรือหีบ) ทอง, มีตราลงยาเป็นอักษรย่อ ร.ร.๖ กับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ประกอบติดที่ซอง และมีอักษรจารึกนามผู้รับและความชอบ; ชั้นที่ ๒ เป็นซองบุหรี่เงิน, มีตราและจารึก. ซองบำเหน็จนี้ได้แจกเมื่อคืนนี้และวันนี้ มีรายนามผู้ได้รับดังต่อไปนี้:


ชั้นพิเศษ


(ซองทองลงยา มีตราอักษรย่อ ร.ร.๖ ประดับเพ็ชร์ ของอื่นๆลงยา, มีจารึกที่หลังซอง, มีสายสร้อยทองแบบซองผู้หญิง) เจ้าจอมสุวัทนา (พยาบาลทุกอย่าง)


ซองทอง (.............)


(ซองมีสายสร้อยประกอบ)

๑. เกตุมดี. (รับใช้เบ็ดเตล็ดต่างๆ)

๒. อรุณวดี [?] (อยู่งานพัดวี [?] ถูกใจ)

๓. ท้าวศรีสุนทรนาฎ (........)



[สมุดจดหมายเหตุรายวัน หน้า ๓๙๘]

ชั้นที่ ๑


๑. เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ ณ กรุงเทพ), รับใช้ดำเนิรกระแสพระบรมราชโองการในกิจการต่างๆ, ติดต่อทั้งในและนอกพระราชสำนัก.

๒. พระยาอนิรุทธ์เทวา (หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ ณ กรุงเทพ), อำนวยการพยาบาล .........

๓. พระยาแพทย์พงศา (สุ่น สุนทรเวช), และ

๔. พระยาดำรงแพทยาคุณ (ชื่น พุทธิแพทย์), นายแพทย์ผู้ทำการบำบัดโรค.

๕. พระยานรรัตนราชมานิต (ตรึก จินตนานนท์), หัวน่าดูแลกำกับผู้ชายที่ทำการพยาบาล.

๖. เจ้าหมื่นสรรเพชรภักดี (สัน สันติเสวี), พยาบาล.

๗. หลวงฤทธิ์นายเวร (เฉลิม เศวตนันทน์), อ่านหนังสือและอยู่งานพัด

๘. นายจ่า.... (เลื้อน .......), พยาบาล.

๙. นายจ่ายวด (สืบ คงคะรัตน์), พยาบาล.

๑๐. นายพลพ่าห์ (เวียง สุนทรวายุ), พยาบาล.

๑๑. นายพินัยราชกิจ (ผล ศิวเสน), พยาบาล.

๑๒. นายสมิธ (เฉลิม [?] บุณยรัตนพันธุ์), พยาบาล



[สมุดจดหมายเหตุรายวัน หน้า ๓๙๙]


ชั้นที่ ๒


๑. พระยาราชอักษร (ใช้ อัศวรักษ์), รับคำสั่งเขียนหนังสือต่างๆ

๒. พระยาสุรินทรเสวี (เถา วัลยเสวี), สมทบช่วยพยาบาล.

๓. หลวงศักดิ์นายเวร (เนื่อง สาคริก), อยู่งานพัด.

๔. .......... พลรบ (บุญมา นิรณัยมาน), สมทบช่วยพยาบาล.

๕. พระราชเสวก (สมบุญ จารุตามรง[?]),

๖. พระบริหาร....ลดา (นุด .....),

๗. พระพิบูลย์พิริยภาพ (ถม ประถมภัฎ), สามนายนี้รับใช้วิ่งเต้นขยันดี




[สมุดจดหมายเหตุรายวัน หน้า ?]


เขียนหนังสือสั่งเรื่องสืบสันตติวงศ์ [ดูสำเนาที่น่า ๓๙๔]



ยังมีไข้อยู่อีก. นอนอยู่กับที่นอนตลอดวัน, นอกจากไปเฃ้าห้องเล็ก.


อนึ่งในการที่เราป่วยครั้งนี้ มาเกิดรู้สึกอำนาจของวัยธรรม, ไม่แน่ใจเลยว่าจะไม่ถึงแก่ความตาย, ฉนั้นในเมื่อยังมีสติสัมปะชัญญะบริบูรณอยู่เช่นนี้ จึ่งจงใจเรียกพระยาราชอักษรมาเขียนตามเราบอก, เป็นหนังสือถึงเสนาบดีกระทรวงวัง, สั่งถึงเรื่องการสืบราชสันตติวงศ์ และเรื่องตั้งพระอัษฐิ, มีข้อความพิสดารดังได้คัดสำเนาไว้ในสมุดเล่มนี้ น่า ๓๙๔. ในส่วนเรื่องสืบสันตติวงศ์นั้น เชื่อว่าแม้ใครๆตั้งอยู่ในความไม่ลำเอียง ได้ทราบแล้ว ก็คงเห็นชอบ. ส่วนเรื่องพระอัษฐินั้น, ใครจะคิดอย่างไรก็ตาม, แต่เราเห็นโดยจริงใจว่า สุวัทนาสมควรที่จะได้ตั้งคู่กับเรา เพราะประการ ๑ จะมีลูกซึ่งหวังใจว่าจะเป็นรัชทายาท และอีกประการ ๑ ตั้งแต่เราล้มเจ็บลง สุวัทนาได้พยาบาลอย่างดีที่สุด โดยไม่เห็นแก่เหนื่อยยากลำบากกายตามวิสัยของหญิงที่มีครรภ์แก่ อุตส่าห์มานั่งพยาบาล ป้อนฃ้าวหยอดน้ำ และทำกิจอื่นๆเป็น....ประการ วันละหลายชั่วโมง, นับว่าเป็นเมียดีจริงๆ.



สรุป

จากพระราชพินัยกรรมของรัชกาลที่ ๖ และข้อความในไดอารี่ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะในหน้าสุดท้าย ที่เพิ่งแสดงให้ดู แสดงให้เห็นอย่างไม่ต้องสงสัยว่า เจ้าฟ้าประชาธิปก ได้ขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๗ อย่างเป็นไปตามประเพณีของราชสำนักและตามกฎมณเฑียรบาล คือ เพราะคำสั่งของรัชกาลที่ ๖ เอง จึงไม่มีประเด็นที่ปรีดี และโดยเฉพาะสุพจน์ ด่านตระกูล จะเสนอได้ว่า เป็นการขึ้นครองราชย์ที่ "ข้าม" พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ไปอย่างไม่ชอบด้วยประเพณีและกฎมณเฑียรบาล ซึ่งทำให้ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ เมื่อรัชกาลที่ ๗ สละราชย์ในปี ๒๔๗๗ น่าจะทรงมีสิทธิในการขึ้นครองราชย์อีก (อันที่จริง พระองค์เจ้าจุลฯทรงถูก "ข้าม" ไปก่อนหน้านั้นแล้วหลายปี ดังที่ผมได้แสดงรายละเอียดให้ดูในบทความ) แน่นอน ประเพณีของราชสำนักและกฎมณเฑียรบาลเป็นเรื่องหนึ่ง แต่เมื่อรัชกาลที่ ๗ สละราชย์ในปี ๒๔๗๗ นั้น ระบอบการเมืองได้เปลี่ยนไปจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์แล้ว และการตัดสินใจของผู้ปกครองใหม่ในการเลือกกษัตริย์รัชกาลที่ ๘ จะถือเอาตามประเพณีและกฎมณเฑียรบาลหรือไม่ ย่อมเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งต้องอภิปรายกันต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: