วันเสาร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2550

“องุ่นเปรี้ยว” ปัญญาชนไทยหลังกรณี 14 ตุลา และ 17 พฤษภา


เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินนิทานเรื่องนี้….

หมาจิ้งจอกที่กำลังหิวตัวหนึ่งเดินผ่านต้นองุ่น มองเห็นองุ่นงามพวงหนึ่งห้อยอยู่ ก็เกิดอาการอยากกินขึ้นมา พยายามกระโดดขึ้นงับหลายครั้ง แต่กระโดดไม่ถึง จึงบอกตัวเองในที่สุดว่าไม่ได้องุ่นพวงนั้นก็ไม่เป็นไร เพราะถึงอย่างไรก็คงเป็นองุ่นเปรี้ยวกินไม่ได้

คำว่า SOUR GRAPES (องุ่นเปรี้ยว) ซึ่งมีที่มาจากนิทานเรื่องนี้เป็นคำที่ฝรั่งใช้เรียกอาการของคนที่เมื่อไม่อาจได้สิ่งใดมา ก็บอกกับตัวเองและผู้อื่นว่า สิ่งนั้นไม่มีคุณค่าควรแก่การได้มาอยู่ดี

เมื่อเร็วๆ นี้นักปรัชญามีชื่อของฝรั่งคนหนึ่ง ได้นำเอาคำว่า “องุ่นเปรี้ยว” มาใช้กับพฤติกรรมอันไม่มีเหตุผล (IRRATION) ของคนเราชนิดหนึ่งที่เขาเรียกว่า ADAPTIVE PREFERENCE FORMATION หรือการเปลี่ยนความชอบสิ่งใดของตนตามเงื่อนไขอื่นที่ไม่ใช่ตามคุณลักษณะดีไม่ดีของสิ่งนั้นๆ เอง ยกตัวอย่างเช่น ในระหว่าง A กับ B ถ้าพูดกันตามคุณสมบัติแล้วเราควรจะชอบ B แต่เนื่องจากเรามีความเชื่อว่า A เป็นสิ่งที่สามารถจะได้มา ในขณะที่ B เป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะได้มา จึงสรุปกับตัวเองว่า A เป็นสิ่งที่ดีกว่า หรือดีที่สุดเท่าที่จะคิดถึงได้

(A PERSON COMES TO PREFER A TO B JUST BECAUSE HE BELIEVES THAT A IS AVAILABLE AND B IS NOT; IN OTHER WORDS, HE TREATS THE BEST HE CAN FIND AS THE BEST THAT COULD BE CONCEIVED.)

ในโลกตะวันตกในช่วงกว่าสิบปีที่ผ่านมา ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง กล่าวคือปัญญาชนจำนวนมากที่เคยตื่นตัวทางการเมืองในช่วงทศวรรษ 1960 จากผลสะเทือนของสงครามเวียดนาม การปฏิวัติทางวัฒนธรรมของจีน และการฟื้นฟูอย่างขนานใหญ่ของความคิดแบบมาร์กซ์ ปัญญาชนเหล่านี้เคยมีความเชื่อในระบอบสังคมนิยมที่ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจเข้าแทนที่การเอาเปรียบทางชนชั้น, ที่การเมืองเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์เนื่องจากประชาชนปกครองตนเอง, ที่การรับใช้เพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างเต็มใจเข้าแทนที่การแปลกแยกระหว่างมนุษย์ที่สัมพันธ์กันบนพื้นฐานแห่งความโลภและความกลัว (โลภคือเห็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเป็นเป้าของการหากำไร, กลัวคือเห็นเพื่อนมนุษย์เป็นคู่แข่ง)

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์หลายอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1970 ได้ทำให้ความเชื่อเช่นนี้เปลี่ยนไปอันได้แก่ความเป็นไปอันน่าเศร้าหลังการปลดปล่อยประเทศอินโดจีน, ความเป็นจริงอันอัปลักษณ์ของการปฏิวัติวัฒนธรรมของจีนและการเปลี่ยนทิศทางของผู้นำยุคหลังเหมา และความล้มเหลวของพรรคยูโรคอมมิวนิสต์เมื่อถึงกลางทศวรรษ 1980 ปัญญาชนฝ่ายซ้ายส่วนใหญ่ได้เลิกเชื่อในสังคมนิยมที่กล่าวข้างต้น มีจำนวนไม่น้อยที่หันไปสนับสนุนเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและการเมืองแบบรัฐสภา อาจกล่าวได้ว่านี่เป็นความเปลี่ยนแปลงในเชิง ADAPTIVE PREFERENCE FORMATION หรือ “องุ่นเปรี้ยว” คือถือว่า “สังคมในอุดมคติ” เป็นสิ่งที่ไม่อาจจะมีได้ จึงเป็นสิ่งไม่ดีพอให้เสียเวลาคิด สิ่งที่มีอยู่แล้ว - สังคมเศรษฐกิจแบบทุนนิยม - เป็นสิ่งที่ดีที่สุด

อาจมีผู้แย้งว่า ปฏิกิริยาแบบ “องุ่นเปรี้ยว” นั้นมีข้อดีเหมือนกันคือทำให้เราไม่ “หลงละเมอพ้อฝัน” และเสียเวลาทุ่มเทให้กับสิ่งที่มองไม่เห็นว่าจะทำให้เป็นจริงได้อย่างไรหรือที่ฝรั่งใช้สำนวนว่า ไม่ร้องไห้ให้กับนมที่หกไปแล้ว (NOT CRYING OVER SPILT MILK)

แต่ข้อเสียของอาการ “องุ่นเปรี้ยว” คือ การสูญเสียบรรทัดฐานที่ใช้วิพากษ์วิจารณ์สถานภาพเดิม (LOSING STANDARDS NEEDED TO GUILD CRITICISM OF THE STATUS QUO) เนื่องจากเราไปยอมรับเสียแล้วว่า สิ่งที่มีอยู่หรือมีได้ในปัจจุบันนั้น เป็นสิ่งที่ดีที่สุด

นอกจากนั้น คนที่หันไปชอบสิ่งที่มีได้ในปัจจุบัน ลืมข้อดีงามของอุดมคติที่เคยแสวงหาแต่ไม่อาจได้มาในขณะนี้ เมื่อถึงเวลาที่อุดมคตินั้นอยู่ระยะ “เอื้อมถึง” ก็จะไม่อยู่ในฐานะพร้อมที่จะเอื้อมเอามา

ในทางเป็นจริง เขาจะไม่พยายามทำให้อุดมคตินั้นอยู่ในภาวะที่ “เอื้อมถึง” แต่แรก


เมื่อหมาจิ้งจอกทำให้ตัวเองเชื่อว่าองุ่นเปรี้ยว มันก็ไม่พยายามสร้างบันไดที่อาจช่วยให้มันขึ้นไปถึงพวงองุ่นได้


หลังกรณี 17 พฤษภาคม 2535 ใหม่ๆ มีผู้กล่าวกันถึงความคล้ายคลึงของเหตุการณ์นั้นกับกรณี 14 ตุลาคม 2516 อันที่จริง นอกจากความคล้ายคลึงบางอย่างแล้ว เหตุการณ์ทั้งสองมีความแตกต่างกันหลายประการ ที่เห็นได้ชัดที่สุดประการหนึ่งคือ “บรรยากาศ” ทางวัฒนธรรม หรือทางภูมิปัญญาของสังคม

เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2516-17 แล้ว อาจกล่าวได้ว่าปัจจุบันปัญญาชนไทยจำนวนมากได้ลดบรรทัดฐานในการมองสังคมไทยลง และโดยที่รู้ตัวหรือไม่รู้ตัวได้หันไปสนับสนุนสิ่งที่เป็นไปได้ว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด (ADAPTIVE PREFERENCE FORMATION)

ผู้ที่เคยผ่านชีวิตช่วงหลัง 14 ตุลาคงจำได้ดีว่า ขณะนั้นปัญญาชนจำนวนมากได้ออกมาพูดและเขียนว่าการขับไล่ “สามทรราช” ออกไปได้ก็ดี ระบบการเลือกตั้งและรัฐสภาที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นก็ดี หาใช่สิ่งที่พึงปรารถนาโดยแท้จริงไม่ เนื่องจากสังคมไทยยังมีความแตกต่างและเอาเปรียบระหว่างชนชั้นอย่างมาก พรรคการเมืองที่เกิดขึ้นมาเป็นเพียงตัวแทนของชนชั้นที่มีทรัพย์สิน หาใช่ตัวแทนของประชาชนส่วนใหญ่แต่อย่างใด เราต้องช่วยกันแสวงหาสิ่งที่ดีกว่านั้น

หลังกรณี 17 พฤษภา อย่างมากที่สุด เท่าที่ปัญญาชนบางคนออกมาเรียกร้องคือ ให้ลงโทษผู้นำทหารในเหตุการณ์ ให้ช่วยกันทำการเลือกตั้ง “สะอาดบริสุทธิ์” ให้พรรคการเมืองบางพรรค (“พรรคมาร”) ได้รับเลือกเข้าสภาน้อยที่สุด หรือให้ช่วยกันตั้งองค์กรบางอย่างเพื่อเป็น “กระจก” สะท้อนตรวจสอบรัฐสภาใหม่

เมื่ออ่านถึงตรงนี้ หลายท่านคงแย้งว่า เป็นธรรมดาที่เราไม่เห็นปัญญาชนออกมาเรียกร้อง “สังคมใหม่ในอุดมคติ” ที่อยู่เหนือขอบเขตของ “เศรษฐกิจทุนนิยมการเมืองรัฐสภา” แบบหลัง 14 อีก เพราะสังคมไทยได้เปลี่ยนไปมากแล้วจากปี 2516-17

ผมเห็นด้วยว่าสังคมไทยได้เปลี่ยนไปอย่างมาก แต่อยากเสนอว่า สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปมากที่สุดคือ ฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของปัญญาชนเอง

ปัจจุบัน ปัญญาชนไม่ใช่นักศึกษาหรือนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ ที่รายได้ไม่มั่นคงแน่นอนอีกแล้ว ดูเหมือนว่าปัญหาความยากจน การดิ้นรนเอาชีวิตรอดของประชาชนระดับล่าง การเอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจ จะกลายเป็นสิ่งที่ปัญญาชน “รู้สึก” ได้ยากขึ้นทุกที

ปัญญาชนได้กลายเป็นนักวิชาการระดับดุษฎีบัณฑิต เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยไปมากต่อมาก ที่น่าเศร้า คืออย่าว่าแต่การพยายามสร้างเวทีทางความคิดแบบสังคมศาสตร์ปริทัศน์ หรืออธิปัตย์ หลัง 14 ตุลาเลย แม้แต่วารสารวิชาการก็ไม่มีดุษฎีบัณฑิตชนท่านใดหรือกลุ่มใด ทำออกมาอย่างสม่ำเสมอเป็นล่ำเป็นสันได้สำเร็จแม้แต่เล่มเดียว

ภาพสะท้อนหรือผลที่ตามมาของการลดบรรทัดฐานทางโลกทัศน์ของปัญญาชนไทยในปัจจุบันเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2516 มีตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ ทันทีที่เหตุการณ์ 14 ตุลายุติลง มีการอภิปรายถกเถียงอย่างกว้างขวาง เพื่อสรุปบทเรียน และเบื้องหน้าเบื้องหลังของเหตุการณ์นั้น

มีบทความประเภทดังกล่าวในสิ่งตีพิมพ์อย่างวารสารบูรณะชนบท, วิทยาสาร, สังคมศาสตร์ปริทัศน์, เอเชีย ซึ่งผู้ที่สนใจอาจหาดูได้จากหนังสือ “วันมหาปีติ” ที่องค์การนักศึกษาธรรมศาสตร์ในขณะนั้นรวบรวบพิมพ์ขึ้น (ใครหาหนังสือเล่มนี้ไม่ได้ควรถามหาจากบรรณาธิการอาวุโสของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้) หรือในหนังสือชื่อ “ขบวนการนักศึกษาไทย” โดยวิทยากร เชียงกูล, ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ และวิสา คัญทัพ

หนังสือเล่มหลังนี้เป็นตัวอย่างที่ดีถึงผลที่ตามมาของความเปลี่ยนแปลงในลักษณะ “องุ่นเปรี้ยว” ของปัญญาชนไทย กล่าวคือสมัยหลัง 14 ตุลานั้น ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เห็นเป็นเรื่องปกติที่จะเสนอการถกเถียงถึงบทเรียนและเบื้องหน้าเบื้องหลังของเหตุการณ์นั้น แต่เร็วๆนี้ เมื่อมีผู้เปิดการถกเถียงในแบบเดียวกันถึงกรณี 17 พฤษภา หนึ่งในผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ก็ออกมาเตือนว่าเป็นการ “ไม่เป็นผลดีต่อประชาชนส่วนใหญ่” เราควรทุ่มเทให้กับการเลือกตั้งและช่วยให้บรรดาพรรคการเมืองแบบ “เทพ” เอาชนะพรรค “มาร”ดีกว่า

ยังมีตัวอย่างอื่นให้เห็นได้อีก :

ปัญญาชนมีชื่อท่านหนึ่งซึ่งเคยมีบทบาทอย่างสูงสมัย 14 ตุลาและผู้ซึ่งหลังจากนั้นได้ชักชวนให้ประชาชนเห็นว่าควรเปลี่ยนระบอบสังคมนิยมเป็นอีกแบบหนึ่งตามแบบประเทศเพื่อนบ้าน โดยได้เขียนเป็นหนังสือแนะนำถึงข้อดีของ “เส้นทางสังคมนิยม” ของประเทศเหล่านั้นให้อ่านกัน ให้สัมภาษณ์เมื่อเร็วๆนี้ว่า เป้าหมายในชีวิตของท่านคือการทำให้สังคมไทยอยู่โดยปราศจากความหวาดกลัวว่าจะมีรัฐประหารขึ้นอีก

เห็นได้ชัดว่า ปัญญาชนท่านนี้ได้ลด “เป้า” ในชีวิตของท่านลงมามากโขทีเดียว

หลังกรณี 17 พฤษภาปัญญาชนอีกท่านหนึ่งเขียนบทความหลายชิ้นลงในหน้าหนังสือพิมพ์ถึง “ภารกิจทางประวัติศาสตร์ของชนชั้นนายทุนไทย” อย่างกระตือรือร้น

ปัญญาชนอีกท่านหนึ่ง ซึ่งเมื่อสิบปีก่อนเคยมีบทบาทไม่น้อยในการชักนำให้มิตรสหายในวงการหันเหออกจากการชื่นชมยกย่องแบบอย่างการดิ้นรนต่อสู้ในอดีตและปัจจุบันของประเทศเพื่อนบ้านทางเหนือ ให้หันมาสนใจแบบอย่าง “คลาสสิก” ของประเทศยุโรป ปัจจุบันได้หันมาชักชวนให้ใครต่อใคร “มองอย่างตะวันออก” และประกาศอย่างหนักแน่นว่าภารกิจของเราคือการพัฒนาทุนนิยมแบบญี่ปุ่น

ความตลกอันน่าเศร้า (IRONY) ของคำประกาศนี้ คือในญี่ปุ่นเอง มีการเรียกร้องมากขึ้นให้ความสนใจถึงสภาพสวัสดิการทางสังคม ชีวิตความเป็นอยู่ของคนแทนที่จะตั้งหน้าตั้งตาทำความเติบโตของตัวเลขทางเศรษฐกิจอย่างที่เป็นอยู่ จนเกิดภาวะที่เรียกว่า “ประเทศรวย ประชาชนจน” (RICH COUNTRY, POOR PEOPLE) กระทั่งผู้นำญี่ปุ่นเองต้องหันมาทำการรณรงค์โฆษณาว่ารัฐบาลของพวกตนสนใจใน “คุณภาพชีวิต” ของประชาชนเหมือนกัน จะเพิ่มการใช้จ่ายในเชิงสาธารณะ (PUBLIC SPENDING) ให้มากขึ้น ฯลฯ

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มีตัวอย่างรูปธรรมที่สะท้อนให้เห็นว่า “ทุนนิยมแบบญี่ปุ่น” นั้นวางอยู่บนวิธีการปฏิบัติแบบใด กล่าวคือมีการเปิดเผยว่าในปี 1992 ที่กำลังผ่านไปนี้ วงการธุรกิจญี่ปุ่นได้ใช้จ่ายเงินประเภท “รับรอง” ซึ่งหมายถึงการให้ “น้ำร้อนน้ำชา” การเลี้ยงอาหาร และอื่นๆ แก่พวกเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับต่างๆ และแก่ลูกค้าไปเฉลี่ย “วันละ” 140 ล้านเหรียญสหรัฐ

บางที นี่คือสิ่งที่เราควรศึกษาและเลียนแบบจากทุนนิยมญี่ปุ่นที่ปัญญาชนท่านนั้นกล่าวถึงกระมัง ?

หากจะมีปัญญาขนคนใดตั้งคำถามขึ้นว่า เหตุใดเราจึงต้องดิ้นรนค้นหาถึงสังคมการเมืองที่อยู่เกินขอบเขตของทุนนิยม - รัฐสภาแบบที่เรารู้จัก เหตุใดเราจึงควรพยายามแสวงหาสิ่งที่ใน “ปัจจุบัน” ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ด้วยเล่า?

คำตอบคือ เป็นหน้าที่ของผู้ที่ได้ชื่อว่าปัญญาชน (ผู้ที่ไม่ได้เป็นเพียงช่างเทคนิค) ที่จะต้องทำการสำรวจหาความเป็นไปได้ที่ยังคาดไม่ถึง (IT IS THE MISSION OF THE INTELLECTUAL TO EXPLORE UNANTICIPATED POSSIBILITIES)

และอยากจะขอหยิบยืมประโยคท้ายๆ ในจดหมายที่ฟรีดิช เองเกลส์เขียนถึงสหายรักฟรีดิช ซอร์จ เมื่อ 15 มีนาคม 1883 แจ้งข่าวการตายของคาร์ล มาร์กซ์ ในวันก่อนหน้านั้น มาถามปัญญาชนกลับ ดังนี้ :-


“WHAT ELSE ARE WE HERE FOR?”

บทความโดย : สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลครับ

ที่มา : ผู้จัดการรายวัน 5 มกราคม 2536

ไม่มีความคิดเห็น: