ก่อนที่ผมจะทำการเข้าเรื่อง ผมคงต้องบอกท่านผู้อ่านก่อนว่า ผมเขียนเอกสารชิ้นนี้ขึ้นในขณะที่สติสมประกอบทุกประการ ไม่ได้มีอาการวิกลจริต หรืออยู่ในภาวะเมาสุราแต่อย่างใด แต่ถึงกระนั้นผมก็ได้เขียนเอกสารที่เรียกได้ว่า “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ของสถาบันพระมหากษัตริย์ แห่งราชอาณาจักรไทย” ชิ้นนี้ขึ้น (ซึ่งหากถูกจับไป คงจะไร้ข้อแก้ตัวโดยสิ้นเชิง) เนื่องจากเห็นว่ามีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะนักรัฐศาสตร์คนหนึ่งด้วย และอีกประการหนึ่งที่ผมคิดว่าผมควรจะบอกกับท่านผู้อ่านไว้ก่อนก็คือ โดยส่วนตัวแล้วผมนั้นไม่ได้นับถือสถาบันกษัตริย์ หรือศาสนาใดๆ ทั้งสิ้น (หากจะต้องนับถือ ก็เป็นเพียงแต่อยู่ในภาวะ “เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม” เท่านั้น)
การจะพูดถึงเรื่องพระราชอำนาจ กับการปกครองไทยได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์นั้น คงจำเป็นที่ผมจะต้องเขียนถึงเหตุการณ์ในสมัย ก่อน 2475 กับ หลัง 2475 พอเป็นกระษัยบ้าง เพื่อให้ได้ภาพต่างๆ อย่างครบถ้วน กล่าวคือ ในช่วงที่รัชกาลที่ 7 ทรงครองราชย์อยู่ และประเทศไทยยังคงอยู่ภายใต้การปกครองในระบอบสมบูรณายาสิทธิราชอยู่นั้น ประเทศไทยเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำขึ้นอย่างหนัก (อันเป็นผลมาจากการภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก หรือเหตุการณ์ The Great Depression และการดำเนินนโยบายทางการคลังที่ผิดพลาดที่ต่อเนื่องมาจากรัชกาลที่ 6) จากการนี้ ทำในสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ต้องพยายามดำเนินนโยบายที่ประหยัดเงินงบประมาณของประเทศมากที่สุด นั่นก็คือ หลัก “ดุลยภาพ” ซึ่งจากหลักการนี้เอง ได้เกิดการปลดข้าราชการบางส่วนออกจากราชการ (เหลือไว้เท่าที่จำเป็นต้องใช้จริงๆ), มีการลดเงินเดือนข้าราชการ หรือแม้กระทั่งตัดค่าใช้จ่ายส่วนพระองค์เองลง แต่ถึงกระนั้นแล้วก็ยังไม่อาจจะประคองภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำเอาไว้ได้ ทำให้ความรู้สึกเคารพนับถือต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมไทยลดลงอย่างไม่มีมาก่อน หรือกล่าวได้ว่า “ความชอบธรรมในการปกครองโดยองค์พระมหากษัตริย์นั้นลดลง” ประกอบกับในช่วงเวลานั้นกระแสของการปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยนั้นรุนแรงมาก คือประเทศใดที่ไม่ได้เป็นประเทศประชาธิปไตย จะถูกมองว่าประเทศยังไม่เป็นอารยะ ดังนั้น “กลุ่มนักเรียนนอก” ที่ได้ไปศึกษาจากประเทศที่มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย แล้วเกิดติดใจขึ้นมา ซึ่งบางคนเมื่อกลับมาประเทศไทยก็รับราชการทหาร บ้างก็อยู่ในภาคพลเรือน เหล่านี้เองมาฟอร์มตัวกัน กลายเป็น “คณะราษฎร” ขึ้น และทำการโค่นล้มการปกครองแบบสมบูรณายาสิทธิราชลง แล้วสถาปนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยขึ้นมา จากจุดนี้เอง
ประเด็นสำคัญมากประการหนึ่งที่คณะราษฎรก่อการสำเร็จได้ ก็เนื่องมาจาก “ความชอบธรรมของสถาบันกษัตริย์” ในสังคมไทยขณะนั้นลดลงมากแล้ว ประชาชนลดความนับถือในสถาบันกษัตริย์ลง จากที่เคยเป็นมาก แต่ถึงกระนั้นก็ตาม แม้จะลดลงมาก แต่ก็ยังคงนับถืออยู่ และคณะราษฎรเองก็ไม่ได้โง่ที่จะมองในประเด็นนี้ไม่ออก ดังนั้นจึงได้สถาปนาระบอบประชาธิปไตย โดยยังคงมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุขอยู่ ไม่ได้โค่นล้มสถาบันนี้ลงไปดังเช่นที่เกิดขึ้นกับอีกหลายๆ ประเทศ และสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ยังคงอยู่ควบคู่กับสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง และยาวนานจนถึงปัจจุบัน
ขอบเขตของพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ในปัจจุบัน เรื่องขอบเขตของพระราชอำนาจนี้ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และยาวนานในระบบการปกครองไทย เนื่องจากรัฐธรรมนูญแทบทุกฉบับ (ยกเว้นฉบับแรกๆ ที่ร่างขึ้นโดยคณะราษฎร) ได้ให้อำนาจของพระมหากษัตริย์ไว้อย่างมากมายยิ่ง จนอาจกล่าวได้ว่า หากเรามองจากขอบเขตของรัฐธรรมนูญแล้ว พระมหากษัตริย์นั้นจะต้องไม่ใช่มนุษย์ปุถุชนแน่นอน หากแต่เป็นเทพพระเจ้า หรือเทวดาที่อวตารลงมาก็ว่าได้
เนื่องจากแม้ในทางทฤษฎีแล้ว เราจะกล่าวกันว่า พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แต่ข้อความที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติแล้วกลับตรงข้ามโดยสิ้นเชิง คือรัฐธรรมนูญ (ฉบับปี 2540) ได้บัญญัติว่า ห้ามฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทุกกรณี, นอกจากนี้พระองค์ยังทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการ “อภัยโทษ” อีกด้วย นี่คือประเด็นในแง่กฎหมาย (และยังมีกลุ่มนิยมเจ้า เช่นชัยอนันต์ สมุทรวาณิช ได้พยายามที่จะเพิ่มอำนาจของพระองค์ให้มากขึ้นไปอีก โดยการสนับสนุนให้ใช้มาตรา 7 ตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ในการขอนายกพระราชทาน ซึ่งผมอ่านกี่รอบๆ ก็ไม่เห็นว่าจะมีส่วนหนึ่งส่วนไหนของมาตรานี้ที่ให้พระราชอำนาจดังที่ชัยอนันต์ หรือสนธิ ลิ้มทองกุลได้กล่าวอ้างแม้แต่น้อย แต่สุดท้ายก็ต้องยกความดีความชอบให้กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีพระราชดำรัสออกมาว่า “รัฐธรรมนูญมาตรา 7 นั้นไม่ได้ให้พระราชอำนาจของพระองค์ในส่วนนี้” และพระองค์ก็ทรงตรัสต่อไปว่าควรจะเป็นหน้าที่ของศาล) ส่วนในแง่ปฏิบัตินั้น เห็นได้ชัดเจนในหลายประเด็นมาก กล่าวคือ
จากเหตุการณ์การขอนายกพระราชทานนั้น เมื่อพระองค์มีพระราชดำรัสลงมา ทุกฝ่ายก็ถือเป็นอันจบในทันที ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องเป็นเช่นนั้น คือรัฐธรรมนูญเองก็ไม่ได้บัญญัติเอาไว้ว่าทุกคนจะต้องคิดตรงกับที่ กษัตริย์ทรงมีพระราชดำรัสนะ ทุกคนยังคงยังมีสิทธิ์ที่จะแสดงความคิดเห็นของตนอย่างเต็มที่ตามเดิม แต่ทุกคนก็หยุด และศาลก็ออกมาทำหน้าที่ (ทั้งๆ ที่ควรจะทำตั้งนานแล้ว โดยไม่ต้องรอพระราชดำรัสดังกล่าวเลย) ในจุดนี้เห็นได้ชัดเจนเลยว่า “พระราชดำรัสเพียงประโยคเดียวมีอำนาจในทางปฏิบัติมากกว่าคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเสียอีก” เพราะพระองค์ดำรัสมา ทุกฝ่ายหยุด แต่มีคำสั่งศาลมา ทุกฝ่ายก็ยังเถียงกันต่ออยู่ดี เราจะเห็นได้ว่าในราชอาณาจักรไทยแห่งนี้
พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจอันล้นพ้นเหลือเกิน จนผมเห็นว่าเกินไป คือ ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยตรัสไว้ว่า “The King can do no wrong.” (กษัตริย์ทำผิดไม่ได้) แต่ผมกลับเห็นว่าไม่ใช่ (นี่ผมใช้สิทธิตามระบบประชาธิปไตยนะ แม้ตอนนี้ประเทศไทยจะไม่เป็นประชาธิปไตยก็ตามที) ผมเห็นว่าน่าจะเป็น “The King cannot be wrong” (กษัตริย์ไม่มีวันผิด) มากกว่า และนี่คือเรื่องจริงที่ต้องยอมรับ เพราะสังคมบ้านเมืองเราเป็นแบบนี้ ถึงแม้ท่านๆ กลุ่มนิยมเจ้า หรือสำนักพระราชวังจะมองว่าผมหมิ่น แต่ก็ต้องยอมรับข้อเท็จจริงบ้างล่ะ ว่าประเทศไทยไม่เคยมีใครกล้าออกมาพูดว่า “ผมเห็นว่าครั้งนี้พระองค์ทำผิดนะ พระองค์สมควรจะทำแบบนั้น แบบนี้” ไม่มีทางครับ ถ้าออกมาพูดนะไม่ถูกจับตัดหัว, ติดตารางโดยสำนักพระราชวัง ก็ต้องเตรียมรับ “ยำ 120 ล้านตีน” ล่ะ นี่จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลในอีกหลายเหตุผลครับที่ประชาธิปไตยไทยพัฒนาช้า เพราะสังคมเราไม่เปิดโอกาสในส่วนนี้ ผมเชื่อว่ามีนักวิชาการอีกหลายท่านที่อยากจะพูด หากแต่ “กลัวตาย” ที่ผมเขียนๆ อยู่เนี่ยไม่ใช่ว่าไม่กลัวนะครับ กลัวครับ กลัวมากด้วย แต่เห็นว่าจำเป็นแล้วที่จะต้องทำอะไรบ้าง นอกจากนี้จะได้เป็นตัวอย่างให้ผู้ใหญ่ดูด้วย
การขยายตัวของ “ความชอบธรรมในสถาบันกษัตริย์” ในสังคมไทยยุคปัจจุบัน ดังที่ผมได้กล่าวไปในข้างต้นแล้วว่า ผมมองว่าความชอบธรรมของสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นลดลงเป็นอย่างมากในสมัยรัชกาลที่ 7 แต่ความชอบธรรมของสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ได้รับการสั่งสมขึ้นมาใหม่ ในยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยรัชกาลปัจจุบัน แต่กระนั้นผมมองว่ามีตัวจุดชนวน ที่ทำให้ระดับความชอบธรรมของสถาบันกษัตริย์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อยู่ 2 อย่างคือ การสละราชสมบัติของรัชการที่ 7 และการถูกลอบปลงพระชนม์ ของรัชกาลที่ 8 ปัจจัยทั้งสองนี้เกิดขึ้นในเวลาที่ใกล้เคียงกันมาก โดยในเหตุการณ์แรกนั้นทำให้ประเทศเกิดความระส่ำระส่ายได้มากทีเดียว เพราะรัชกาลที่ 7 ทรงไม่มีรัชทายาทอย่างเป็นทางการที่จะมาสืบทอด ซึ่งในช่วงนี้จะเกิดช่องว่างทางความรู้สึกในหมู่ประชาชนขึ้นว่า “เราจะมีกษัตริย์ต่อไปหรือไม่” และทำให้ประชาชนที่ช่วงก่อนหน้าลดความศรัทธาในตัวสถาบันกษัตริย์ลงไป
กลับมาเห็นความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์อีกครั้ง เพราะจะคิดกันไปว่า “ถ้าไม่มีพระมหากษัตริย์แล้วพวกกูจะเป็นไงว่ะ?” ขึ้นมา เพราะอย่างไรก็ตามในขณะนั้น (หรือแม้แต่ขณะนี้) ภาพลักษณ์ของกษัตริย์ว่าเป็นเทพผู้คุ้มครองแผ่นดินยังมีอยู่สูงมาก แล้วด้วยการนี้เองคณะราษฎรจึงต้องคงการมีพระมหากษัตริย์ต่อไป แต่การเสาะแสวงหากษัตริย์ของคณะราษฎรก็ใช่ว่าจะโปร่งใสไปเสียหมด กล่าวคือหากศึกษาดูดีๆ แล้วจะพบว่าพระญาติที่มีลำดับใกล้ชิดกับรัชกาลที่ 7 มากที่สุดนั้นไม่ใช่อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ผมคงจะไม่พูดถึงอะไรในรายละเอียดตรงนี้อีก เพราะผมไม่ได้สนใจว่าใครจะมาเป็นพระมหากษัตริย์ หากแต่สนใจในเรื่องพระราชอำนาจของตัวสถาบันมากกว่า นั่นคือจากการเสาะหากษัตริย์องค์ใหม่ของคณะราษฎร จึงได้กษัตริย์ที่ยังคงมีพระชนม์มายุน้อยอยู่ (และที่น่าสังเกตคือ พระมารดาของพระองค์นั้นก็อาจจัดได้ว่าเป็นกลุ่ม “นักเรียนนอก” เสียด้วย) คือ รัชกาลที่ 8 นั่นเอง แต่เป็นที่น่าเสียใจยิ่งว่าพระองค์กลับเสด็จสวรรคต ในเวลาอันสั้นนักนับจากที่ขึ้นครองราชย์ เนื่องจากถูกลอบปลงพระชนม์ ซึ่งนี่เป็นตัวจุดชนวนที่รุนแรงมากทีเดียวในสังคมไทย เพราะช่วงระยะนับจากรัชกาลที่ 7 สละราชสมบัติ ซึ่งทำให้ประชาชนไทยรู้สึกต้องการพระมหากษัตริย์ กับช่วงที่พระมหากษัตริย์ที่มาตอบสนองต่อความต้องการในส่วนนั้นของประชาชนต้องจากไปนั้น สั้นมาก ไม่เพียงเท่านี้ เหตุผลยังมาจากการลอบปลงพระชนม์อีกต่างหาก ดังนั้นคนไทยจึงเกิดความรู้สึกร่วมกันในขณะนั้นหลายอย่าง เช่น “หาตัวคนร้ายมาให้ได้” (ซึ่งความรู้สึกในส่วนนี้ถูกนำไปใช้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองจนปรีดี พนมยง ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี), “เอาในหลวงของเรา (กู) คืนมา”, หรือ “เราต้องการในหลวง” เป็นต้น ซึ่งทำให้เกิดมหกรรมการคืนความชอบธรรมให้สถาบันกษัตริย์ขึ้น อันเป็นรากฐานสำคัญยิ่งต่อความชอบธรรมของสถาบันกษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบัน
สำหรับรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งถูกกล่าวขานว่าเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดพระองค์หนึ่งของประวัติศาสตร์ไทยนั้น ผมมองว่ามาจาก 2 สาเหตุสำคัญ แน่นอนว่าประการแรกต้องมาจากการดำรงตนอยู่ในทศพิศราชธรรมของพระองค์ และอีกส่วนหนึ่งนั้นมาจาก “ความชอบธรรม” ที่สูงยิ่งนับแต่เริ่มรัชกาลของพระองค์ การที่มีความชอบธรรมอย่างสูงยิ่ง นับแต่เริ่มรัชกาลนั้น ยังผลให้ประชาชนเกิดความคาดหวังในพระมหากษัตริย์องค์ใหม่เป็นอย่างมาก ซึ่งนี่เป็นจุดสำคัญมากทีเดียวที่กดดันให้ในระยะแรกของรัชกาลปัจจุบันเกิดภาวะ The King can do no wrong. ขึ้น
ดังที่พระองค์เคยตรัสไว้ (ซึ่งปัจจุบันภาวการณ์ได้เปลี่ยนไปแล้ว ดังที่ผมได้กล่าวไว้ข้างต้น) กล่าวคือในระยะนี้พระองค์จะถูกกดดันจากประชาชนทุกภาคส่วนให้ทำดี และเมื่อทำดีขึ้นมาในระดับหนึ่ง ก็จะเกิดการเผยแพร่ กระจายไปโดยทั่วกัน และโดยมากมักจะเกินความเป็นจริงด้วย กล่าวคือบางทีทำแค่ 5 แต่เขียนกัน เล่ากันเป็น 10 เป็นต้น ซึ่งในจุดนี้นอกจากจะยิ่งเป็นการกดดันให้พระองค์ต้องทำแต่ความดีเท่านั้นแล้ว ยังเป็นการเพิ่ม หรือบ่มเพาะความชอบธรรมของสถาบันกษัตริย์ให้มากขึ้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งในที่สุดความชอบธรรมของสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทย ก็มีมากกว่าความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญ โดยตัวมันเอง และก็เกิดเป็นภาวะ The King cannot be wrong. ขึ้นมาแทนที่
ดังที่ผมได้เสนอไปแล้ว จริงๆ แล้วเรื่องนี้เห็นได้ชัดเจนมากเลย จากการที่มีประชาชน (ผมว่าเผลอๆ จะถึงครึ่งประเทศ) ใส่เสื้อเหลืองกันในวันฉลองครองราชย์ครบ 60 ปี บอกตามตรงวันนั้นผมไม่ได้ใส่ แล้วนั่งอยู่บนรถส่วนตัว พอมองออกไปนอกรถแล้วรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นเซลล์มะเร็งระยะเริ่มแรกอย่างไรไม่รู้ เพราะว่ารอบตัวผมนั้น เหลืองหมดเลย เดินสยามก็เหลืองกันทั้งสยาม (มีผมใส่ดำอยู่คนเดียว) พอมาดูโทรทัศน์ เห็นปรากฏการณ์เสื้อเหลืองแห่งชาติ ยิ่งตกใจ ว่านี่คือเครื่องยืนยันชัดเจนเลยในพระราชอำนาจ ความชอบธรรม และความนิยมในหมู่ประชาชนของสถาบันกษัตริย์
สถาบันพระมหากษัตริย์ กับการเมืองไทย
ในหัวข้อนี้นั้น ผมจะไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ตัวพระมหากษัตริย์โดยตรงมากนัก หากแต่จะมุ่งเน้นไปที่ประเด็นการนำเอาความชอบธรรมของสถาบันพระมหากษัตริย์ มาเป็นประเด็นทางการเมืองมากกว่า โดยในประเด็นเรื่องการเอาความชอบธรรมของสถาบันกษัตริย์มาใช้นี้เราจะพบได้หลายกรณี แต่ที่เป็นกรณีที่ Top Hit จริงๆ ก็คงมีไม่กี่กรณี ได้แก่ การใช้เป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหาร, การใช้ความชอบธรรมของสถาบันกษัตริย์สร้างความดีความชอบส่วนตัว, การแทรกแซงทางการเมืองโดยตรงของสถาบันกษัตริย์ และการแทรกแซงทางการเมืองโดยอ้อมของสถาบันกษัตริย์ (ทั้งโดยพระองค์เอง และผ่านผู้อื่น) ซึ่งกรณีต่างๆ เหล่านี้จะใช้ได้อย่างเป็นผลจริงๆ ก็ต่อเมื่อเกิดระดับความชอบธรรมถึงภาวะ The King cannot be wrong. แล้วเท่านั้น
สำหรับตัวอย่างสำหรับกรณีแรกที่ว่าใช้เป็นข้ออ้างในการรัฐประหารนั้น ไม่ต้องมองหาอะไรไกลเลย ที่เป็นๆ กันอยู่ทุกวันนี้นี่แหละครับ ตัวอย่างเลย คือการที่ไอ้พวกก็อบลินชุดทหารนั่น มันเดินดุ่ยๆ มายึดอำนาจได้ส่วนหนึ่งก็มาจากความชอบธรรมของสถาบันกษัตริย์ ที่พวกมันเอาไปอ้างเป็น 1 ใน 4 เหตุผลของการทำรัฐประหาร (ขอเน้นว่า รัฐประหาร นะครับ ไม่ใช่ปฏิวัติ) ที่ว่า รัฐบาลคุณเหลี่ยม (เกือบจัตุรัส) หมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งจริงๆ แล้วไอ้พวกก็อบลินเหล่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่อะไร ที่จะมาตัดสินเลยว่าหมิ่น หรือไม่ หากแต่เป็นหน้าที่ของสำนักพระราชวัง แต่ที่ไม่มีใครออกมาด่าพวกแม่งในประเด็นนี้ ก็เพราะคนไทยได้ยินคำว่าหมิ่นในหลวงเป็นไม่ได้ แค่ได้ยินก็แทบจะไม่ฟังเหตุ ฟังผลอะไรกันต่อแล้ว รุมเหยียบลูกเดียว นั่นเป็นเพราะความชอบธรรมของสถาบันกษัตริย์มีสูงมาก จึงไม่อนุญาตให้ใครแตะต้อง ซึ่งจุดนี้เองที่ไอ้พวกชนชั้นนำ (จริงๆ ไม่อยากเรียกอย่างงี้เลย แต่นึกคำอื่นไม่ออก) ทางสังคมที่ด้อยพัฒนาการทางความคิด และบ้าสงครามอย่างยิ่งยวดมันจับมาใช้ เพื่อสร้างความชอบธรรมในการทำรัฐประหาร หรือกล่าวได้ว่า ใช้ความชอบธรรมของในหลวง มาเป็นฐานเพื่อสร้างความชอบธรรมให้พฤติกรรมชั่วของตนนั่นเอง (ผมมองว่าจุดนี้เป็นการหมิ่นอย่างมากเลยนะ แต่ไม่รู้ว่าทางฝ่ายนิยมเจ้า กับสำนักพระราชวังเค้าจะว่าไง)
ประเด็นที่สอง ที่ผมว่าใช้ความชอบธรรมของสถาบันกษัตริย์ เพื่อโปรโมตตัวเองนั้น จริงๆ แล้วก็คล้ายๆ กับกรณีแรกแหละครับ แต่อันนี้มักจะพบจากของฟากนักการเมือง หรือรัฐบาลมากกว่า กล่าวคือชูนโยบาย และดำเนินนโยบายที่เกี่ยวกับการดูแลสถาบันกษัตริย์อย่างเกินความจำเป็น เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตนเอง ซึ่งก็เหมือนกรณีแรกนั่นแหละว่าใช้ความชอบธรรมของในหลวง สร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง
ประเด็นที่สาม เป็นประเด็นที่ว่าด้วยการแทรกแซงโดยตรงของสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเกิดขึ้นมากทั้งในสมัยรัชกาลที่ 7 และรัชกาลปัจจุบัน แต่ในสมัยรัชกาลที่ 7 นั้นจะเห็นว่าไม่สำเร็จเท่าที่ควร อันเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้พระองค์ตัดสินพระทัยสละราชสมบัติ (ซึ่งจากความเห็นผมแล้ว ที่รัชกาลที่ 7 แทรกแซงไม่ค่อยจะสำเร็จนั้นเป็นเพราะว่าความชอบธรรมของสถาบันกษัตริย์ในรัชกาลพระองค์ไม่ได้อยู่ในระดับ The King cannot be wrong. นั่นเอง) แต่ในกรณีของรัชกาลปัจจุบันนั้นตรงกันข้ามเลย คือเมื่อถึงคราวที่พระองค์ทรงเห็นว่า “จำเป็น” ต้องแทรกแซงโดยตรงแล้วนั้นเป็นสำเร็จทุกครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม เป็นเดชบุญของพวกเราที่โดยมากการแทรกแซงโดยตรงของพระองค์นั้นเป็นไปเพื่อความก้าวหน้าของกระบวนการประชาธิปไตย
ดังจะเห็นได้จากการแทรกแซงของพระองค์ในสมัย จอมพลถนอม หรือพลเอกสุจินดา ทั้งสองครั้งนี้ช่วยให้ประเทศสามารถพัฒนากระบวนการประชาธิปไตยต่อไปได้ ซึ่งเป็นเรื่องดียิ่ง แต่การที่พระองค์ทรงทำเช่นนี้ได้นั้น เพราะถนอม และสุจินดารู้ดีว่าถ้าลองไม่ทำตามดูสิ “ตาย” ลูกเดียว ตายของผมในที่นี้คือตายจริงๆ นะครับ ไม่ใช่อุปมาอุปไมยอะไร เพราะไม่ใช่แค่ประชาชนรุมกระทืบ (อย่างที่กำลังทำอยู่ในขณะนั้น เท่านั้น) แต่ทหารชั้นผู้ใหญ่ ผู้น้อยที่เคยอยู่ฝ่ายถนอม หรือสุจินดา ก็จะหันมาเล่นพวกเขาแทน ทั้งนี้เพราะความชอบธรรมของสถาบันพระมหากษัตริย์ถึงระดับแล้วนั่นเอง แต่อย่างการรัฐประหารครั้งนี้ ผมคนหนึ่งล่ะที่ว่า King does wrong. แล้ว แต่เพราะว่า King cannot be wrong. ก็เลยจากผิด เป็นถูกไป คือผมถามจริงๆ เถอะว่าสมมติตอนที่ไอ้พวกก็อบลินชุดทหาร กับเกย์เฒ่าเข้าเฝ้านั้น พระองค์บอกไปว่า พระองค์ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร พระองค์จะไม่แต่งตั้งไอ้สนธินั่น เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารอย่างเป็นทางการ แค่นี้นะคุณคอยดูได้เลยว่ามันจะเปลี่ยนจากดอกไม้ กับอาหาร เป็นรองเท้า กับน้ำล้างจานไปเลย พระองค์มีความชอบธรรมที่จะทำได้ แต่ว่าไม่ทำ ซึ่งในส่วนนี้กลุ่มนิยมเจ้าอาจจะแย้งผมว่า หากพระองค์ทำเช่นนั้นจะเกิดความวุ่นวายขึ้นในสังคมไทย ซึ่งนั่นก็ใช่ แต่ที่ผมว่า King does wrong. นั้นจริงๆ แล้วมันอยู่ในประเด็นต่อไปมากกว่า เพียงแต่มันเชื่อมโยงมาถึงประเด็นนี้ ซึ่งผมจะขออธิบายในประเด็นต่อไป
การแทรกแซงทางอ้อมนั้น เกิดขึ้นอย่างมากมาย และบ่อยครั้งมากใน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัชกาลปัจจุบัน ทั้งโดยพระองค์เอง และผ่านผู้อื่น โดยตัวอย่างที่พระองค์ทรงแทรกแซงโดยพระองค์เองนั้น เห็นได้ชัดจาก “พระราชดำรัสต่างๆ” เนื่องจากในสังคมไทยพระราชดำรัสของพระองค์เปรียบเสมือนคำสั่งฟ้า ที่ต้องปฏิบัติตามลูกเดียว นอกจากนี้พระราชดำรัสของพระองค์ เมื่อมีออกมาก็จะได้รับการตีความ แกะเงื่อนงำอย่างละเอียดลออ จนมันไปเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองเข้าจนได้ และเมื่อไรที่ “คำแกะความ” ไหนเป็นที่ยอมรับ ก็เหมือนกับเป็นหน้าที่ๆ ต้องปฏิบัติกัน “โดยด่วนที่สุด” ซึ่งพระองค์ก็ทราบในประเด็นนี้ดี จึงได้มีการแทรกแซงในรูปแบบนี้ออกมามากมาย แต่บางครั้งที่การแกะความ หรือจะเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ แต่ผลที่ออกมาไม่เป็นไปตามที่พระองค์คาดหวัง ก็จะมีการส่งตัวแทนมาล่ะ
อย่างในการปฏิวัติครั้งนี้ก็เห็นได้ชัดว่าเป็นการ “ส่ง” ตัวแทนจากองค์มนตรี ซึ่งก็คือปู่เปรมท่านล่ะนะมา พูดเรื่องเกี่ยวกับม้า, จ๊อกกี้ และเจ้าของม้า ที่ผมกล้าพูดอย่างชัดถ้อยชัดคำว่าเป็นการ “ส่ง” มานั้น ก็เพราะเห็นได้ชัดเจนว่า องค์กรที่ขึ้นตรงกับพระมหากษัตริย์อย่างคณะองคมนตรีนั้น เกิดขึ้นได้แค่ 2 กรณี คือตัวคณะองคมนตรี มีความเข้มแข็งโดยตัวเองมากกว่าตัวสถาบันหลัก และสามารถเคลื่อนไหวได้โดยอิสระ (ดังเช่น ยุคโชกุนของญี่ปุ่น ที่โชกุนมีอำนาจเหนือพระจักรพรรดิ เป็นต้น) แต่สำหรับประเทศไทยแล้วกรณีนี้เป็นไปไม่ได้แน่ ต่อให้คณะองคมนตรีแกร่งขึ้นอีก 10 เท่า ก็ยังไม่ได้ครึ่งของสถาบันกษัตริย์เลย ดังนั้นเมื่อไม่ใช่กรณีว่าคณะองคมนตรี มีอิสระในการเคลื่อนไหว ก็ต้องแปลว่ากษัตริย์มีเอี่ยว และนี่แหละคือจุดที่ผมมองว่า The King does wrong. จริงๆ เพราะเปิดทางให้การรัฐประหาร โดยใช้ปู่เปรมเป็นตัวกลาง ไม่พอรัฐประหารเสร็จก็ไม่มีคัดค้าน สุดท้าย และหนักที่สุดก็คือการส่งหนึ่งในคณะองคมนตรีมาเป็น นายกรัฐมนตรีอีก
ข้อเสนอสุดท้าย เพื่อลดทอนพระราชอำนาจ
จริงๆ ในส่วนนี้ไม่มีอะไรมากครับ ผมแค่เชื่อว่าตอนนี้ ในประเทศไทยคงจะไม่มีใครที่อยู่จะกล้าออกมาพูดว่า “เฮ้ย เรามาลดพระราชอำนาจลงเหอะ” หรือท่านๆ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญก็คงไม่มีหน้าไหนกล้าอีกเหมือนกัน ดังนั้น วิธีการมันก็เหลือแค่วิธีเดียวคือ ไปทูลขอกับพระองค์ ให้พระองค์ท่านออกมาดำรัสเอง เพราะอย่างไรเสียพระราชดำรัส ก็เป็นประกาศิตอยู่แล้ว หากท่านบอกว่าจะลด รับรองได้ว่าเดี๋ยวก็จะมีการลดทันที และ
ผมมองว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนด้วย เพราะพระราชอำนาจของกษัตริย์เท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันมันมากเกินไป กล่าวคือหากได้กษัตริย์ดีก็รอดไป แต่สมมติว่ารัชกาลต่อๆ ไปเกิดมีกษัตริย์ไม่ดีขึ้นมาเนี่ย ผมบอกได้เลยว่าตายกันหมดนะครับ แล้วคุณคิดกันเหรอว่า คนไทยจะกล้าล้มกษัตริย์อีกเหมือนสมัย 2475 สมมติเกิดกรณีว่ามีกษัตริย์ที่เถลิงอำนาจขึ้นมา ถ้าในอนาคตอันไกลล่ะก็พอเป็นไปได้อยู่ที่จะกล้าล้มสถาบันกษัตริย์ (ไกลเนี่ยไกลมากทีเดียวนะครับ) แต่ในอนาคตอันใกล้ (ระยะสัก 30 – 40 ปีนี้) เนี่ย ผมว่าไม่มีทาง เพราะรัชกาลปัจจุบันท่านสะสมความชอบธรรม และพระราชอำนาจไว้มากเหลือเกิน (เกิด “ส่วนเกินความชอบธรรม” เยอะมาก) ขนาดที่ต่อให้กษัตริย์รัชกาลต่อๆ ไปไม่สร้างความชอบธรรมเลย ก็ยังพออยู่ได้ตลอดรอดฝั่ง ทีนี้กลับเข้าปัญหาเดิม ที่ผมว่าควรจะมีการทูลขอท่าน เพราะว่า “ถ้าท่านไม่ขอกับรัชกาลนี้ แล้วจะไปขอกับรัชกาลไหน” ผมบอกไว้ว่าผมไม่นับถือสถาบันกษัตริย์ แต่ผมก็นับถือรัชกาลปัจจุบันในฐานะตัวบุคคลนะครับ คือสมมติว่าเราเอาเรื่องที่จะทูลขอกับรัชกาลนี้ ไปขอกับรัชกาลต่อๆ ไป อาจจะโดนพานท้ายปืนฟาดปาก หรือเผลอๆ จะโดนยิงเดี้ยงคาที่ตรงนั้นเลยก็ได้ ใครจะรู้ แต่กับรัชกาลนี้ยังไงก็คิดว่าคงไม่โดนล่ะ (อย่างมากก็โดนสำนักพระราชวังเล่นเอา) ซึ่งปัญหามันก็จะอยู่ที่ใครมันจะกล้าทูลขอวะ ในจุดนี้ผมว่าหาคนกล้าๆ ซักคนมันคงพอมีล่ะวะ แต่ถ้าผู้ใหญ่มันป๊อดกันหมด ผมพูดจริงๆ ผมไปเองก็ได้ (นี่ไม่ได้อยากแสดง หรืออวดเก่ง self จัดอะไรนะครับ แต่เห็นว่าถ้ากล้าเขียนบทความนี้ได้ มันก็ต้องกล้าทูลขอล่ะว่ะ แต่ต้องมีคนจัดการให้ผมไปนะ คือผมมีหน้าที่พูดอย่างเดียว) จะได้ให้พวกผู้ใหญ่ที่เป็นนักวิชาการดีแต่ปากสำนึกซะบ้างว่าต้องให้เด็กสอน (แต่ยังไงก็หวังว่าผมคงไม่ต้องไปจริงๆ หรอกนะ)
กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2007-05-03
วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2550
พระราชอำนาจ กับการปกครองไทยในปัจจุบัน !
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 3:53 ก่อนเที่ยง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น