วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2550

ถอดรหัสนิธิ : "ชนชั้นนำ" ลงมาเล่นงานทักษิณ เป็นเรื่องดี

(หมายเหตุ : ในร่างแรกของโพสต์นี้ คำว่า "ชนชั้นนำ" ในหัวข้อ ผมใช้คำอื่น (ขึ้นต้นด้วย "ส...") แต่หลังจากคิดหลายตลบ และหลังจากได้รับการขอร้องจากเพื่อนบางคน ในที่สุด ผมก็ยอมเปลี่ยน มาใช้คำ (ที่นิธิใช้เอง) ว่า "ชนชั้นนำ" .. ความจริง กระทู้นี้ ต้องการจะ "ถอดรหัส" สิ่งที่นิธิพูด การใช้คำที่ลบไปก็เพราะเป็นการ "ถอดรหัส" นั่นเอง แต่เมื่อถูกสถานการณ์และการเอาตัวรอด บังคับให้ต้องหันมาใช้ "รหัส" แบบนิธิเอง ก็ทำไห้ความหมาย ของการ "ถอดรหัส" ลดน้อยลงบ้าง)

http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=9582&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai

" ในปลายสมัยคุณทักษิณก็เห็นได้เลยว่า สังคมไทยซึ่ง ร่วมมือกับชนชั้นนำบางส่วนด้วย ทำให้เกิดพลังไปควบคุมคุณทักษิณมากขึ้น รัฐบาลคุณทักษิณเมื่อสามสี่เดือนสุดท้ายก่อนการรัฐประหารเป็นอัมพฤกษ์เป็นอัมพาตไปแล้ว คือขยับทำอะไรไม่ได้สักอย่าง เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้วไม่ว่าคุณทักษิณจะรู้ตัวหรือไม่ แต่นักการเมืองที่อยู่รายรอบคุณทักษิณรู้แล้วว่า แบกคุณทักษิณต่อไปไม่ได้อีกแล้ว

ฉะนั้น ทั้งหมดเหล่านี้ถามว่าเกิดจากอะไร.. ผมคิดว่าเกิดจากการเรียนรู้ของสังคมพอสมควร และในแง่นี้ ถ้าไม่เกิดการรัฐประหารขึ้น จะเป็นบทเรียนที่ใหญ่มากของสังคมไทย จะเกิดความเชื่อมั่นในตัวเองว่า เราสามารถควบคุมเส้นทางของเราได้ "





ในช่วง "ปลายสมัย" ทักษิณ คือ ในช่วงวิกฤติปีกลาย สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ คือ "ชนชั้นนำบางส่วน" ที่เป็นอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ ได้เข้าแทรกแซงทางการเมืองอย่างขนานใหญ่ อย่างไม่เคยปรากฎมาก่อนเป็นเวลาหลายปี โดยไม่แยแสต่อหลักการรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย (ซึ่งนิธิเองเคยอ้างว่าเป็นเหตุผลที่เขาแอนตี้ทักษิณ คือการละเมิดหลักการรัฐธรรมนูญ) โดยเฉพาะนับจากเหตุการณ์ 25 เมษา ซึ่งเริ่มต้น สิ่งที่เรียกกันว่า "ตุลาการภิวัฒน์" คือการทำให้เป็นการเมือง (politicization) ของวงการตุลาการอย่างขนานใหญ่ ที่ต่อเนื่องมาถึงการยุบ ทรท.ในปีนี้ (ลำพังการรณรงค์ของสนธิ-ผู้จัดการ ไม่สามารถเล่นงานทักษิณได้)
สำหรับ ปัญญาชน "เครือข่ายในหลวง" อย่างนิธิ, แน่นอน นี่เป็นเรื่องดี เป็นส่วนหนึ่งของการ "เรียนรู้ของสังคม. ในการควบคุมเส้นทาง" ของตน



" ผมอยากประเมินว่า เท่าที่อยู่ในประเทศไทยมา 60 กว่าปี ผมคิดว่าไม่เคยมีการรัฐประหารครั้งไหนที่ทำความเสียหายแก่บ้านเมืองยิ่งกว่าครั้ง 19 กันยายน 2549 เพราะก่อนหน้านี้โอกาสของพลังของประชาชนมันไม่มีอยู่แล้ว แต่ครั้งนี้มันกำลังมี และคุณก็มาชิงทำรัฐประหาร ก่อนที่สังคมจะได้สิ่งที่มันมีภาพจากการที่เราจัดการทักษิณด้วยมือของเราเอง "



ผมกลับมองอย่างนี้นะครับ


รัฐประหารนี่ จะดีไม่ดี ก็เกิดไปแล้ว ไม่สามารถหวนกลับไปแล้ว
เราควรมาทางทำสิ่งดีให้เกิดขึ้น ด้วยการร่วมกัน ชักชวนพวกรัฐประหาร หาทางป้องกันไม่ให้คนอย่างทักษิณ กลับคืนสู่อำนาจได้อีก เพราะคนอย่างทักษิณและพวกนักการเมืองนี่ มันน่ากลัวยิ่งกว่าระบอบสฤษดิ์อีกครับ เราต้องช่วยๆกันครับ โอกาสอย่างนี้ ไม่มีอีกแล้ว อย่ามัวแต่หาว่าอะไรผิดอะไรถูกเลยครับ มันผ่านไปแล้ว


แน่นอน 2 ย่อหน้าที่เพิ่งเขียนไป ไม่ใช่ ทัศนะของผม แต่เป็นทัศนะของนิธิเอง เอามาเพื่อการประชดล้วนๆ สิ่งที่ผมว่า เป็นเรื่องดีของปัญญาชน ชั้นนำของไทย คือ คุณจะพูดพล่อยๆยังไงก็ได้ ("รัฐประหาร ดีไม่ดี ถูกไม่ถูก ก็ผ่านไปแล้ว...") พอกระแสเปลี่ยนไป มีคนออกมาเสี่ยงภัยต้านรัฐประหารนำทางให้ ก็เปลี่ยนน้ำเสียงได้ โดยที่คนไทยโคตรโง่ โคตรความจำสั้น (โดยเฉพาะ พวกแอ๊กติวิสต์แถวนี้ ) จึงไม่ต้อง กลัวว่า เขาจะจำคำพูดพล่อยๆ ไม่กี่เดือนก่อนของเราได้ เอิ๊กๆๆ ขำ

พูดอย่าง ซีเรียส จะเห็นว่า เหตุผลที่นิธิเสนอว่า รัฐประหารครั้งนี้ "ทำความเสียหาย" มากที่สุด คือ เป็นการหยุดสิ่งที่เขาเรียกว่า "พลังประชาชน" (ที่ "ร่วมมือกับชนชั้นนำบางส่วน") ที่ลุกขึ้นมา "ควบคุม" ทักษิณ .. ผมไม่ทราบจะหัวเราะหรือร้องไห้ ให้กับความ "พาซื่อ" (naive) แบบเหลือเชื่อนี้ดี แน่นอน การที่รัฐประหารตบหน้าคนเป็นสิบล้าน ที่เลือกรัฐบาลมา ไม่ใช่ปัญหาสำหรับนิธิ เพราะเขา (เช่นเดียวกับคณะรัฐประหาร) อธิบายว่า การเลือกตั้งนั้น "ไม่เสรี" .. แต่ที่ชวนหัวเราะ (หรือร้องไห้) คือการอธิบายขบวนแอนตี้ทักษิณ เป็น "พลังประชาชน" ที่จะ "ควบคุม" รัฐบาล โดยไม่สนใจ "ความจริงเล็กๆ" ที่ว่า "พลัง" ดังกล่าวนั้น อยู่ใต้คำขวัญ "สู้เพื่อในหลวง" และ สิ่งที่นิธิเรียกว่า "ร่วมมือกับชนชั้นนำบางส่วน" นั้น แท้จริง คือการฟื้นอำนาจนอกรัฐธรรมนูญอย่างมโหฬาร (ด้วยวิธีคิดแบบนี้ จึงไม่แปลกที่ นิธิจะออกมาเชียร์ให้คณะรัฐประหารช่วยกันหาทางป้องกันไม่ให้ทักษิณขึ้นมามีอำนาจอีก และขึ้นมาเชียร์เมื่ออำนาจมืดนั้น ใช้วิธีแบบ "ศาลเตี้ย" ล้มพรรค ทรท.ไป)

(ประเด็นหนึ่งที่ผมคิด เกี่ยวกับ "งาน" อย่างที่จัดกันในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ธรรมศาสตร์ มองในแง่ การต่อสู้ทางอุดมการณ์ งานแบบนี้คืองานอะไร? มีลักษณะก้าวหน้า หรือ ปฏิกิริยากันแน่? ในหลายปีที่ผ่านมา ที่มีงานลักษณะนี้บ่อยครั้ง และช่วยหล่อหลอมกล่อมเกลาวิธีคิดของพวกแอ๊กติวิสต์ชนชั้นกลางอย่างต่อเนื่อง บทบาทของงานเช่นนี้ ต่อการปูทางความคิด ให้เกิดสถานการณ์ที่เอื้อต่อการรัฐประหาร ....)
สำหรับผู้สนใจประเด็นนี้ (นิธิ-ทักษิณ) เมื่อไม่กี่วันก่อน ผมได้ไปดีเบตกับ ไมเคิล คอนเนอรส์ (Michael Conners) ซึ่งปัจจุบันเป็นอาจารย์ที่ ม.ลาโทรป ออสเตรเลีย ที่บล็อกของเขา

http://sovereignmyth.blogspot.com/2007/09/democracy-from-below-nidhi.html

กรณีไมเคิล เป็นเรื่องน่าช็อคและเสียใจสำหรับผม ไมเคิลเป็นนักวิชาการฝ่ายซ้าย (นิธิยังไม่ใช่) เคยมาอยู่เมืองไทยเมื่อหลายปีก่อน สอนพิเศษอยู่ที่เศรษฐศาสตร์ มธ. และใกล้ชิดกับกลุ่มของ ใจ พอควร แต่จะเห็นว่า คล้ายกับกรณีนิธิ (และนักวิชาการ "ภาคประชาชน" ของไทยจำนวนมาก หรือ แอ๊กติวิสต์ - นึกถึงกรณีอย่างคุณโชติศักดิ์) เมื่อถึงกรณีทักษิณ ความที่เกลียดทักษิณอย่างมาก ทำให้นำไปสู่การมองอย่างสายตาสั้น ในประเด็นความขัดแย้งระหว่างทักษิณ กับ (ในคำนิธิ) "ชนชั้นนำบางส่วน" ถึงขั้นที่ ในความขัดแย้งระหว่างสองฝ่าย ได้ "เข้าข้าง" ฝ่ายหลังในการมาเล่นงานฝ่ายแรก ดูความเห็นท้ายๆของผมในโพสต์ของไมเคิลข้างต้น ที่โยงไปถึงความเห็นผมในโพสต์เรื่อง The Fall of Thaksin ของเขา

http://sovereignmyth.blogspot.com/2007/09/fall-of-thaksin.html

ในประโยคแรกของโพสต์หลังนี้ ไมเคิล เขียนแทบจะเหมือนกับนิธิข้างต้น คือ การที่ "ชนชั้นนำ" ("สถาบัน") ลงมา "กระซิบ" ให้ทักษิณออก กลายเป็นเรื่องดีไป ทักษิณเอง"หนังหนา" ไม่ยอมออกตามการ "กระซิบ" นั้นเอง ....

แน่นอน ไมเคิลปฏิเสธว่า เขาไม่ได้ "เข้าข้าง" "สถาบัน" ในการเล่นงานทักษิณ แต่ผมมองไม่เห็นว่า จะตีความเป็นอย่างอื่นได้อย่างไร ในประโยคที่เขาเขียน เช่นเดียวกับ ไม่อาจตีความเป็นอย่างอื่น ในกรณีประโยคข้างต้นของนิธิ

ปัญหาของพวกที่ประกาศ "ไม่เอาทั้ง 2 ฝ่าย" ซึ่งนิธิ อ้างว่าเป็นคนหนึ่ง คือ ในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะในหมู่พวกที่เป็นปัญญาชนระดับ elite หน่อย (นิธิ, เกษียร, ชัยวัฒน์, ฯลฯ) คือ เมื่อถึงเวลาจริงๆ พวกเขาไม่ใช่ "ไม่เอาทั้ง 2 ฝ่าย" ด้วยซ้ำ แต่ รู้สึกดี(หรือเฉยๆ)กับการที่ "ฝ่ายหนึ่ง" มา "ช่วย" ("ร่วมมือ") เล่นงานอีกฝ่ายหนึ่ง และ วาดภาพ การเข้ามา "ช่วย" นี้ในลักษณะ ไม่เป็นปัญหา (อย่างกรณีไมเคิล หรือ นิธิ) แต่กลับบอกว่า การที่ ฝ่าย ทักษิณ ไม่ยอมออกนั่นแหละที่เป็นปัญหา

คนเหล่านี้ ไม่เคยยอมรับหรือมองเห็นเลยว่า ระหว่าง "2 ฝ่าย" นั้น, ตามหลักประชาธิปไตยแล้ว ฝ่ายหนึ่งต่างหากที่มีสิทธิธรรมในการอยู่... ......


โดย. อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

ไม่มีความคิดเห็น: