วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2550

พระเจ้าแผ่นดินกับประเทศของข้า : อนาคตของระบบกษัตริย์

พระเจ้าแผ่นดินกับประเทศของข้า : อนาคตของระบบกษัตริย์

ในงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี คนไทยคงเห็นแล้วว่า พระราชาธิบดีในระบบต่างๆของโลกเหลืออยู่เพียง 26 ประเทศ ในขณะที่สหประชาชาติมีสมาชิกในปัจจุบันอยู่ 192 ประเทศ ประเทศที่มีอยู่และกำลังจะเกิดขึ้นใหม่ที่ยังมิได้เป็นสมาชิกมีอยู่ไม่เกิน 10 ประเทศ เป็นที่ถกเถียงกันมาเกือบค่อนศตวรรษแล้วว่า ในที่สุดระบบกษัตริย์จะเหลืออยู่สักกี่ประเทศ คำตอบที่กวนๆแต่ไม่น่ามองข้ามก็คือ ในอนาคตจะเหลือ king ไม่เกิน 5 องค์ คือ 4 องค์อยู่ในหน้าไพ่ป๊อก อีกองค์หนึ่ง คือกษัตริย์อังกฤษ แน่นอนที่สุด ในวงถกเถียงนั้น ไม่มีผู้ที่รู้จักประเทศไทย มีข้อเท็จจริงอันไม่อาจปฏิเสธได้อยู่ 2 อย่าง คือ

(1) ประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์อันประเสริฐองค์ปัจจุบันมา 60 ปี
(2) กฎแห่งความเป็นอนิจจังของสังคม

การพูดถึงสถาบันกษัตริย์เป็นเรื่องยากลำบากมากในเมืองไทย
ทั้งนี้เพราะความล้าหลังและอวิชชาใน

1. สถาบันยุติธรรม
2. สถาบันปกครอง
3. สถาบันวิชาการ
4. สถาบันสื่อมวลชน
5. สังคมไทยโดยทั่วไป

มีบุคคลเดียวเท่านั้นที่ส่งเสริมให้วิจารณ์พระมหากษัตริย์ได้ นั่นก็คือ ในหลวง
พระอาญาไม่พ้นเกล้า เพราะผมเป็นนักเรียนวิชารัฐธรรมนูญและการเมืองไทยมาเกือบตลอดชีวิต ผมจำเป็นต้องพูดถึงระบบกษัตริย์ของไทยเป็นครั้งคราวตั้งแต่ปี 2510 เป็นต้นมา
ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2548 ผมได้ยกแนวความคิดตะวันตกมาเผยแพร่ 2 ประโยคดังต่อไปนี้

(1) popular monarchy is not always conducive to democracy แปลว่าระบอบกษัตริย์นิยมหรือกษัตริย์ยอดนิยมอาจจะไม่เป็นคุณต่อประชาธิปไตยเสมอไป

(2)weak democracy is always bad for the monarchy แปลว่าประชาธิปไตยที่อ่อนแอนั้นเป็นอันตรายต่อระบบกษัตริย์เสมอผมเป็นห่วงประโยคที่สองมากกว่าประโยคที่หนึ่ง ผมไม่เห็นว่าภายใต้สิ่งแวดล้อมของการยึดอำนาจและระบบการตัดสินใจของคมช.จะทำ ให้เราได้ประชาธิปไตยที่แท้จริง หรือประชาธิปไตยที่เข้มแข็งเลย

ต่อไปนี้ ผมจะพูดถึงสถาบันกษัตริย์อังกฤษ เพื่อให้คนไทยเกิดอนุสติ และคิดถึงสถาบันกษัตริย์ไทย ให้ยิ่งขึ้นกว่าการใส่เสื้อเหลืองหรือสำแดงความจงรักภักดีแต่ปาก

พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า กาลเวลาเป็นผู้ฆ่าทุกสรรพสิ่ง บัดนี้คนอังกฤษตระหนักดีว่า สมเด็จพระบรมราชินีนาถอลิซาเบธทรงชราภาพแล้ว

เมื่อเดือนกรกฎาคมนี้เอง มีหนังสือใหม่เรื่องอนาคตของระบบกษัตริย์ เขียนด้วยนาย Robert Blackburn ศาสตราจารย์กฎหมายรัฐธรรมนูญของ King's College London มหาวิทยาลัยที่เก่าแก่อันดับ 4 และมีชื่อเสียงที่สุดในการสอนและวิจัยทางกฎหมายของ หนังสือเล่มนี้ผู้วิจารณ์และบรรดานักวิชาการรัฐธรรมนูญพากันสรรเสริญว่า เป็นหนังสือที่ดีที่สุดว่าด้วยสถาบันกษัตริย์อังกฤษ

วันนี้ผมออกจะแก่สุภาษิต เขาว่า ถ้าเรารู้จักตั้งคำถามที่ดี เราก็จะได้รับคำตอบที่ดีแล้วครึ่งหนึ่ง หนังสือของ Robert Blackburn ตั้งคำถามเผื่อคนไทยด้วย เมื่อเจ้าชายชาร์ลขึ้นเป็นกษัตริย์ พระองค์คงต้องเกี่ยวข้องกับการเมืองในแบบที่ต่างกับพระมารดา แน่นอนที่สุด อันหนึ่งคือโอกาสที่จะพัฒนาสถาบันกษัตริย์ให้ทันสมัย แต่อันตรายก็มีเหมือนกัน คือการที่พระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่จะตกอยู่ท่ามกลางความสับสนหวาดระแวงทางการเ มือง พระเจ้าชาร์ลที่ 3 อาจประสบความลำบากและนำสถาบันกษัตริย์ไปสู่แดนสนธยาก็ได้

Blackburn กล่าวว่า กระแสของความคิด อารมณ์และความรู้สึกของประชาชนจะปรวนแปรใหญ่หลวงเมื่อชาร์ลขึ้นสู่ราชบัลลังก์ รัชสมัยพระเจ้าชาร์ลที่ 3 จะเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในการพัฒนาและปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ คำถามหรือปัญหาที่จะต้องเผชิญมีดังนี้

-สถาบันของประเทศจะมีเอกภาพเพียงไรในการสนับสนุนงานอภิเษกสมรสของชาร์ล อย่าลืมความลำบากจนต้องสละราชสมบัติของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด

-จะแก้ไขอุปสรรคและความคิดอันโต้แย้งสับสนเกี่ยวกับแผนการและการอภิเษกตามกฎหมายของกษัตริย์ชาร์ลอย่างไร

-พระราชอำนาจและพระราชภาระของอนาคตกษัตริย์ในรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร รวมทั้งขอบเขตที่กษัตริย์จะเกี่ยวข้องแทรกแซง(intervention)กิจกรรมทางการเมือง

-อะไรจะเกิดขึ้นถ้าพระเจ้าชาร์ลไม่สบายพระทัยกับร่างพรบ.ที่พระองค์ไม่เห็นด้วยและไม่ลงปรมาภิไธย เพราะขัดกับความรู้สึกและความเชื่อของพระองค์ (ซึ่งแสดงให้เห็นในโอกาสต่างๆในอดีต-ปราโมทย์)

-บทบาทของพระเจ้าชาร์ลในฐานะประมุข Church of England และพฤติกรรมส่วนตัวที่พระองค์เลือกปฏิบัติในฐานะผู้ปกป้องเสรีภาพทางศาสนา

-ควรจะยกเลิกการแอนตี้แคธอลิกและการจัดรัชทายาทจากฝ่ายชายก่อนหรือไม่

-ความนิยมอันสูงพรวดของเจ้าชายวิลเลียม และโอกาสที่พระองค์จะข้ามเจ้าฟ้าชาร์ลขึ้นสู่ราชบัลลังก์

-นามาภิไธยของราชวงศ์ จะเรียกคามิลลาว่าพระชายาหรือพระบรมราชินี

ทั้งหมดนี้เป็นอาหารสมองส่งตรงจากระบบกษัตริย์อังกฤษถึงเมืองไทย
ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือ มานะ อวิชชา และผลประโยชน์บังตา จึงทำให้ คมช.กับบุคคลเกี่ยวข้องมองไม่เห็นว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับนี้จะบั่นทอนอนาคตของสถาบันกษัตริย์
ถ้าหากผมไม่เคยได้รางวัลทุนภูมิพล ไม่เคยรับทุนเล่าเรียนหลวงจากภาษีอากรของประชาชนไปเรียนวิชารัฐธรรมนูญ ผมคงไม่มีหน้าที่หรือสำนึกถึงความจำเป็นที่จะเขียนอย่างนี้
สำหรับพระเจ้าอยู่หัวของข้า ขอจงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน
สำหรับประเทศของข้า ขอให้โชคดีในการแสวงหาประชาธิปไตย สันติภาพ และความผาสุกของปวงราษฎร
สำหรับข้า อีกไม่นานเกินรอ ก็จะมีโอกาสได้กล่าวคำว่า ลาก่อนประเทศไทย ขอฝากในหลวงและอนาคตของบ้านเมืองไว้กับคนรุ่นหลังด้วย..

โดย. ปราโมทย์ นาครทรรพ
30 กันยายน 2549

ไม่มีความคิดเห็น: