วันเสาร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2550

"ประเทศไทย" อายุครบ ๖๕ : ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อประเทศปี ๒๔๘๒


จากศิลปวัฒนธรรม
วันที่ 01 มิถุนายน พ.ศ. 2547 ปีที่ 25 ฉบับที่ 08

บทความพิเศษ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



วันเสาร์ที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๒ รัฐบาลของนายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม ได้ออกประกาศฉบับหนึ่ง มีข้อความดังนี้

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี

ว่าด้วยรัฐนิยมใช้ชื่อประเทศ, ประชาชน และสัญชาติ

โดยที่ชื่อของประเทศนี้ มีเรียกกันเป็นสองอย่าง คือ "ไทย" และ "สยาม" แต่ประชาชนนิยมเรียกว่า "ไทย" รัฐบาลเห็นสมควรถือเป็นรัฐนิยมใช้ชื่อประเทศให้ต้องตามชื่อเชื้อชาติและความนิยมของประชาชนชาวไทย ดั่งต่อไปนี้

ก. ในภาษาไทย ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติ ให้ใช้ว่า "ไทย"

ข. ในภาษาอังกฤษ

๑. ชื่อประเทศ ให้ใช้ว่า Thailand

๒. ชื่อประชาชน และสัญชาติ ให้ใช้ว่า Thai

แต่ทั้งนี้ไม่กะทบถึงกรณีที่มีบทกฎหมายบัญญัติคำว่า "สยาม" ไว้ ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๒ เป็นต้นไป

ประกาศมา ณ วันที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๒

พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี


วันที่มีประกาศนี้-๒๔ มิถุนายน-เป็นวันครบรอบการยึดอำนาจ "เปลี่ยนแปลงการปกครอง" ของคณะราษฎร ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่นาน รัฐบาลได้ประกาศให้ถือเป็น "วันชาติ" ด้วย มีการเตรียมเฉลิมฉลองอย่างมโหฬารในปีนั้นเป็นปีแรก อาจกล่าวได้ว่า การประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศข้างต้น เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่เกิดขึ้นในการเฉลิมฉลองวันชาติครั้งนั้น อันที่จริง ถ้าไม่นับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกลางถนนราชดำเนินที่วางศิลาฤกษ์ในวันชาติปีนั้น (และเปิดในวันชาติปีต่อมา) การเปลี่ยนชื่อประเทศ เป็นมรดกตกทอดที่เป็นชิ้นเป็นอันเพียงอย่างเดียวที่ยังเหลืออยู่จากการกำหนดวันชาติ ๒๔ มิถุนายนในปี ๒๔๘๒ อย่างอื่นๆ ทั้งตัววันชาติเอง (ที่ถูกเปลี่ยนไปเป็นวันที่ ๕ ธันวาคม) และ "สิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรม" ต่างๆ ตั้งแต่งานมหกรรมเฉลิมฉลอง ไปถึงรายการวิทยุบทสนทนานายมั่น-นายคง ล้วนแต่กลายเป็นประวัติศาสตร์ไปหมดสิ้น แต่ชื่อ "ประเทศไทย" ยังอยู่กับเรา และหากเปรียบเทียบกับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่แม้จะสำคัญต่อชีวิตทางวัฒนธรรมการเมืองไม่น้อย คงยากจะปฏิเสธว่า ชื่อประเทศที่ยังอยู่กับเรานี้มีความสำคัญกว่าอย่างมาก

ที่ผ่านมาแม้จะมีงานที่เขียนถึงยุค "ชาตินิยม" ของหลวงพิบูลสงครามในทศวรรษ ๒๔๘๐ จำนวนมาก แต่ที่พูดเจาะจงถึงเรื่องเปลี่ยนชื่อประเทศเกือบไม่มี ยกเว้นบทความของชาญวิทย์ เกษตรศิริ เมื่อไม่นานมานี้ผมไม่แน่ใจว่าทำไม ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะขาดหลักฐาน อีกส่วนหนึ่งก็อาจจะรู้สึกกันว่าจากหลักฐานที่มี ไม่มีอะไรให้พูดได้มากนัก


ความทรงจำของปรีดี

ในบรรดาหลักฐานที่มีอยู่ มีเพียงบทความของปรีดี พนมยงค์ "ความเป็นมาของชื่อ "ประเทศสยาม" กับ "ประเทศไทย"" ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ๒๕๑๗ เท่านั้น ที่เล่าถึงสิ่งที่อาจเรียกได้ว่าเป็น "เบื้องหลัง" หรือกระบวนการของการตัดสินใจเปลี่ยนชื่อประเทศครั้งนั้น ถ้าไม่นับการพูดพาดพิงถึงเพียงสั้นๆ ของหลวงวิจิตรวาทการในระหว่างการอภิปรายเรื่องชื่อประเทศของสภาร่างรัฐธรรมนูญของสฤษดิ์ที่เขาเป็นสมาชิกในปี ๒๕๐๔ แต่ปรีดีเขียนขึ้นจากความทรงจำล้วนๆ โดยไม่มีเอกสารบันทึกร่วมสมัยช่วยยืนยัน หลวงวิจิตรวาทการเองก็เล่าจากความทรงจำ ซึ่งมีส่วนแย้งกับปรีดีอยู่ (ดังผมจะได้กล่าวถึงข้างหน้า)

ในบทความนี้ ผมจะนำเสนอรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อประเทศในปี ๒๔๘๒ เป็นหลัก แต่ก่อนอื่น ผมคิดว่าเราควรทบทวนว่า ความทรงจำของปรีดีในเรื่องนี้เป็นอย่างไร เพราะความสำคัญของปรีดีในการเมืองช่วงนั้น และเพราะเป็นหลักฐานเดียวที่มีอยู่ เหตุผลสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ดังจะได้เห็นต่อไปว่า รายงานประชุมคณะรัฐมนตรีเอง ไม่ใช่ว่าจะเป็นหลักฐานที่บอกเรื่องราวได้อย่างชัดเจนเสมอไป ในบางกรณีความทรงจำอาจจะสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นได้ดีกว่า


ปรีดีเขียนว่า

สาเหตุแห่งการเปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็นประเทศไทยนั้น สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๔๘๑ นายพันเอกหลวงพิบูลสงคราม (ยศและบรรดาศักดิ์ขณะนั้น) ได้รับแต่งตั้ง...ให้เป็นนายกรัฐมนตรี ในบรรดารัฐมนตรีแห่งรัฐบาลนั้นมีข้าพเจ้าด้วยผู้หนึ่งซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และมีหลวงวิจิตรวาทการ อธิบดีกรมศิลปากรเป็นรัฐมนตรีลอย (ไม่ว่าการกระทรวง)

ต่อมาประมาณอีก ๔-๕ เดือน หลวงวิจิตรวาทการได้เดินทางไปฮานอย เพื่อชมกิจการโบราณคดีของสำนักตะวันออกไกลฝรั่งเศส เมื่อหลวงวิจิตรวาทการกลับจากฮานอย ได้นำแผนที่ฉบับหนึ่งซึ่งสำนักฝรั่งเศสนั้นได้จัดทำขึ้น แสดงว่ามีคนเชื้อชาติไทยอยู่มากมายหลายแห่งในแหลมอินโดจีน ในประเทศจีนใต้ ในพม่า และในมณฑลอัสสัมของอินเดีย

ครั้นแล้วผู้ฟังวิทยุกระจายเสียงได้ยินและหลายคนยังคงจำกันได้ว่าสถานีวิทยุกรมโฆษณาการ...ได้กระจายเสียงเพลงที่หลวงวิจิตรวาทการรำพันถึงชนเชื้อชาติไทยที่มีอยู่ในดินแดนต่างๆ และมีการโฆษณาเรื่อง "มหาอาณาจักรไทย" ที่จะรวมชนเชื้อชาติไทยในประเทศต่างๆ เข้าเป็นมหาอาณาจักรเดียวกัน ทำนองที่ฮิตเลอร์กำลังทำอยู่ในยุโรป...

ในการประชุมวันหนึ่ง นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาปัญหาด่วนนอกระเบียบวาระ โดยให้หลวงวิจิตรวาทการเป็นผู้แถลงให้เปลี่ยนชื่อ "ประเทศสยาม" เป็น "ประเทศไทย" โดยนำสำเนาแผนที่ฉบับที่สำนักตะวันออกไกลฝรั่งเศสทำไว้ ว่าด้วยแหล่งของชนเชื้อชาติไทยต่างๆ มาแสดงในที่ประชุมด้วย โดยอ้างว่า "สยาม" มาจากภาษาสันสกฤต "ศยามะ" แปลว่า "ดำ" จึงไม่ใช่ชื่อประเทศของคนเชื้อชาติไทย ซึ่งเป็นคนผิวเหลือง ไม่ใช่ผิวดำ และอ้างว่าคำว่า "สยาม" แผลงมาจากจีน "เซี่ยมล้อ

ข้าพเจ้าได้คัดค้านว่า โดยที่ข้าพเจ้าเป็นผู้หนึ่งที่ได้ค้นคว้ากฎหมายเก่าของไทย โดยอาศัยหลักฐานเอกสารที่จารึกไว้โดยพระมหากษัตริย์แต่ปางก่อน รวมทั้ง "กฎหมายตราสามดวง" ซึ่งรัชกาลที่ ๑...ให้สังคายนา...และมิใช่คำว่า "สยาม" แผลงมาจากคำจีนแต้จิ๋ว "เซี่ยมล้อ"...แต่จุดประสงค์เบื้องหลังของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีส่วนหนึ่ง ต้องการเปลี่ยนชื่อประเทศว่าประเทศไทยเพื่อรวมชนชาติไทยในดินแดนต่างๆ เข้าอยู่ในมหาอาณาจักรไทย ดังนั้นรัฐมนตรีส่วนมากจึงตกลงตามร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็น "ประเทศไทย" ข้าพเจ้าเป็นฝ่ายข้างน้อยในคณะรัฐมนตรี...

เมื่อได้ตรารัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็นประเทศไทยแล้ว ก็เกิดปัญหาว่าในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ต้องเขียนชื่อประเทศไทยนั้น จะใช้คำอังกฤษและฝรั่งเศสอย่างไร

ผู้ที่ได้รับคำยกย่องว่ามีความรู้ในภาษาต่างประเทศรวมทั้งหลวงวิจิตรวาทการ ได้เสนอให้เรียกประเทศไทยเป็นภาษาอังกฤษว่า "THAILAND" และภาษาฝรั่งเศสว่า "THAILANDE" และพลเมืองของประเทศนี้เรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า "THAILANDAIS" ซึ่งฝรั่งพากันงง

ข้าพเจ้าได้เสนอว่าควรให้เรียกชื่อประเทศไทยเป็นภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสว่า "SIAM" ตามที่คนทั่วโลกได้รู้จักชื่อประเทศของเราในนามนั้นอยู่แล้ว ทั้งนี้ก็มีตัวอย่างอยู่เช่นประเทศเยอรมันซึ่งเรียกชื่อประเทศเป็นภาษาเยอรมันว่า "DEUTSCHLAND" เขาก็มิได้กำหนดให้เรียกชื่อประเทศของเขาเป็นภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสตามชื่อภาษาเยอรมัน หากเรียกชื่อประเทศของเขาในภาษาอังกฤษว่า "GERMANY" และภาษาฝรั่งเศส "ALLEMANGNE"...

ข้าพเจ้าได้ให้ความเห็นต่อไปว่า การที่จะเอาคำว่า "LAND" ต่อท้ายคำว่า "THAI" เป็น "THAILAND" ก็ดี ย่อมทำให้คล้ายกันกับประเทศเมืองขึ้นในอาฟริกาของอังกฤษ (สมัยนั้น) และเมืองขึ้นของฝรั่งเศส (สมัยนั้น) ที่ลงท้ายด้วยคำว่า "LAND" หรือ "LANDE"...แต่ความเห็นส่วนข้างมากในคณะรัฐมนตรีให้เปลี่ยนชื่อประเทศไทยในภาษาอังกฤษด้วยตามที่มีผู้เสนอให้เปลี่ยน เป็น "THAILAND" ในภาษาอังกฤษและ "THAILANDE" ในภาษาฝรั่งเศส

ข้าพเจ้าได้เสนอต่อไปอีกว่า ถ้าส่วนข้างมากต้องการให้ชาวโลกเรียกชื่อประเทศไทยเป็นภาษาอังกฤษหรือฝรั่งเศสโดยมีคำว่า "THAI" เป็นสำคัญแล้ว ก็ขออย่าเอาคำว่า "LAND" หรือ "LANDE" ไปต่อท้ายไว้ด้วยเลย คือให้ใช้ภาษาอังกฤษหรือฝรั่งเศสทับศัพท์ตามที่สามัญชนคนไทยเรียกชื่อประเทศของตนว่า "เมืองไทย" เป็นภาษาอังกฤษ "MUANG THAI" ฝรั่งเศส "MUANG THAI" แต่ส่วนมากในคณะรัฐมนตรีไม่เห็นด้วย


คณะรัฐมนตรีพิจารณาเปลี่ยนชื่อประเทศ : หลักฐานจากรายงานการประชุม

ดังที่ผมเคยชี้ให้เห็นในบทความอื่นก่อนหน้านี้ รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ไม่เคยมีลักษณะเป็นการบันทึกแบบคำต่อคำ (verbatim) เหมือนรายงานการประชุมสภาบางช่วง อาจจะดีหน่อยที่มีการบันทึกการอภิปรายเป็นรายบุคคลไว้บ้าง ไมใช่เป็นเพียงการสรุปวาระที่พิจารณาและข้อตกลง แต่เราก็ไม่อาจแน่ใจได้ว่า การอภิปรายของบางคนที่บันทึกมานั้น ได้บันทึกครบถ้วนเพียงใด และถึงอย่างไรคงไม่ใช่ทุกคนที่อภิปรายจะได้รับการบันทึก พูดง่ายๆ คือ คงจะจดเฉพาะความเห็นที่ (คนจด) คิดว่าสำคัญ และจดอย่างสรุป นี่คือลักษณะของรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีในช่วงการพิจารณาเรื่องวันชาติที่เรากำลังจะดูกันต่อไปนี้

ปรีดีจำถูกต้องว่า การเสนอเปลี่ยนชื่อประเทศเกิดขึ้นหลังหลวงวิจิตรวาทการเดินทางไปเยือนฮานอย ห่างจากหลวงพิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี "ประมาณ ๔-๕ เดือน" ก่อนหน้านั้นรัฐบาลได้ประกาศให้ ๒๔ มิถุนา ยน เป็นวันชาติ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ๒๔๘๑ (สมัยพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี) แต่ไม่มีการเตรียมการสำหรับการฉลองแต่อย่างใด จนถึงเดือนมีนาคม ๒๔๘๑ (ตามปฏิทินเก่า หรือ ๒๔๘๒ ถ้านับตามปฏิทินปัจจุบัน) จึงมีการตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งให้ไปดำเนินการเตรียมงานฉลอง แต่คณะกรรมการนี้ไม่สามารถเรียกประชุมได้จนกระทั่งกลางเดือนต่อมา

ในเดือนเมษายนนั้นเอง คณะรัฐมนตรีมีการประชุมเพียง ๒ ครั้ง คือในวันที่ ๓ และวันที่ ๘ ในการประชุมวันที่ ๓ หลวงวิจิตรวาทการในฐานะอธิบดีกรมศิลปากรได้เสนอเรื่องขออนุมัติเดินทางไปฮานอยเข้าสู่ที่ประชุม โดยชี้แจงว่า ตามความตกลงร่วมมือทางเทคนิคระหว่างกรมศิลปากรกับ "สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพาทิศ" ฉบับวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๔๘๐ ระบุให้แต่ละฝ่ายเชิญผู้แทนอีกฝ่ายหนึ่งไปเยือนปีละครั้ง "เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นกันในปัญหาเรื่องโบราณคดี อักษรศาสตร์ และการพิพิธภัณฑ์" กรมศิลปากรได้เชิญเซเดส์ผู้ก่อตั้งสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพาทิศมากรุงเทพฯ เมื่อกลางปี ๒๔๘๑ และได้ตกลงในเรื่องขุดค้นของโบราณที่นครปฐมไปแล้ว เซเดส์ในนามสำนักจึงเชิญหลวงวิจิตรวาทการให้ไปอินโดจีนบ้าง แต่เขายังไม่ตอบรับเพราะมีงานมาก

แต่ทั้งสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพาทิศกับสถานทูตฝรั่งเศสในกรุงเทพฯ ได้แสดงให้ข้าพเจ้าทราบโดยทางส่วนตัวว่า ใคร่จะขอให้ข้าพเจ้าไปอินโดจีนอย่างน้อยสักครั้งหนึ่ง เพื่อมิให้ความตกลงอันนี้เป็นหมัน และเพื่อมิให้เป็นการแสดงว่า ฝ่ายสยามได้ยินยอมทำข้อตกลงนี้อย่างจำใจ และไม่ยินดีที่จะรับประโยชน์อย่างใดจากข้อตกลงนี้ ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่าถึงเวลาอันสมควรที่จะเดินทางไปอินโดจีนตามคำเชิญ

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้หลวงวิจิตรวาทการเดินทางไปได้ในเดือนนั้นตามที่ขอ

ในการประชุมครั้งต่อมาในวันที่ ๘ เมษายน ซึ่งหลวงวิจิตรวาทการยังเข้าร่วม ดิเรก ชัยนาม เลขาธิการ ครม. ได้เสนอเป็นวาระพิจารณาสุดท้ายว่า ที่แล้วๆ มา ในเดือนนั้น เนื่องจากสภาปิดสมัยประชุม งานเบาบางลง คณะรัฐมนตรีเคยงดประชุม และไปเริ่มประชุมต้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งที่ประชุมก็เห็นชอบด้วยให้งดกำหนดประชุมที่เหลือของเดือนนั้น เริ่มประชุมใหม่วันที่ ๑ เดือนต่อมา ช่วงที่ ครม. พักประชุมนี่เอง ที่คณะกรรมการเตรียมงานฉลองวันชาติได้เริ่มดำเนินการ

หลวงวิจิตรวาทการคงเดินทางไปฮานอยไม่กี่วัน เพราะเมื่อ ครม. เริ่มประชุมอีกในวันที่ ๑ พฤษภาคม เขาก็กลับมาเข้าร่วมแล้ว ในการประชุมครั้งต่อมา คือในวันที่ ๘ พฤษภาคม หลังจากพิจารณาเรื่องต่างๆ ไปเกือบหมด รวม ๑๕ วาระแล้ว หลวงพิบูลสงครามได้นำเสนอ "เรื่องจร" เข้าสู่การพิจารณาเป็นวาระสุดท้าย รายงานประชุมครั้งนั้น ได้บันทึกไว้ ดังนี้


๑๖. เรื่องการเปลี่ยนนามประเทศ

นายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม : ข้าพเจ้าได้พิจารณาเห็นว่า เมื่อเราได้กำหนดวันที่ ๒๔ มิถุนายน เป็นวันชาติแล้ว ฉะนั้น ควรเปลี่ยนนามประเทศ "สยาม" เป็นประเทศไทย เพราะประเทศต่างๆ เขาก็ตั้งชื่อประเทศ ตามเชื้อชาติของเขา เรื่องนี้ ข้าพเจ้าได้ปรึกษาหลวงวิจิตรวาทการแล้ว ก็เห็นชอบด้วย

หลวงประดิษฐมนูธรรม : คำว่า "ไทย" มีคนรู้จักแต่นักประวัติศาสตร์ตะวันออก ส่วนคำว่า "เสียม" คนทางยุโรปรู้จักกันมาแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ : ในหลักการนั้นเห็นด้วยในการที่จะเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นประเทศไทย แต่ในรัฐธรรมนูญ มีคำว่า "ประเทศสยาม" ถ้าจะเปลี่ยนก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญ ในระหว่างนี้ ควรให้นายกรัฐมนตรีเกริ่นไปก่อน แล้วใช้กันตามๆ ไปเป็นทางนโยบายไปก่อน

นายนาวาเอกหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ : ในแง่นโยบายปกครอง เราคงลำบากใจบางอย่าง คนในสยามมีหลายชาติ เวลานี้เขารักใคร่สยาม ถึงคราวเราพูดอะไรจะให้กินความส่วนรวมแล้ว ก็ใช้ว่า "สยาม" เขาอาจจะน้อยใจได้ ถ้าเราเลิกใช้ "สยาม" ใช้แต่ "ไทย" จะเกิดความรู้สึกว่า เอาพวกชาติอื่นออก เพราะไม่ใช่ไทย พวกปัตตานีก็ไม่ใช่ไทย ถ้าเราเรียกว่า "สยาม" ก็รวมพวกปัตตานีด้วย เขาก็พอใจ ถ้าเปลี่ยนไปอาจไม่ดูดพวกนี้มารวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันก็ได้

หลวงวิจิตรวาทการ : นายกรัฐมนตรีได้สอบถามข้าพเจ้าว่า คำว่า "สยาม" มาจากไหน ข้าพเจ้าว่าได้ตรวจพบศิลาจารึกว่า เขมรมาปกครองไทย ๒ แห่ง คือที่ลพบุรี และสุโขทัย สุโขทัยนามเดิมว่าสยาม เช่น เสียมราษฎร์ เคยชุมพล ที่นั่น ฝ่ายจีนไม่รู้จะเรียกไทยว่าอย่างไร จึ่งเอาเสียมกับละโว้มารวมกันเป็น "เสียมหลอก๊ก" ภายหลังลพบุรีหายไป ชื่อจึงเหลือแต่ "เสียมก๊ก" มาโคโปโล จดจำไปจากจีน ต่อมาขุนอินทราทิต ตีเขมรได้ ได้เปลี่ยนสยามเป็น "สุโขทัย" ฉะนั้นชื่อของประเทศไทยจึ่งไม่ใช่ "สยาม" ตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยา คำว่า "สยาม" มาใช้ในรัชชกาลที่ ๔ ฝรั่งเรียก "Siam" เราจึ่งใช้ว่า "สยาม" น้ำหนักคำสยาม มีน้ำหนักน้อย เมื่อได้ดูมูลเหตุแล้ว ทำให้นึกถึงคำว่า "ไทย" ในระหว่างที่ข้าพเจ้าไปอินโดจีนได้ไปถึงที่ๆ คนไทยอยู่ พวกนี้พูดสำเนียงไทยดีกว่าชาวเชียงใหม่ และมีจำนวนประมาณ ๖ แสนคน พวกนี้ก็เข้าใจว่าเขาเป็นไทย

เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ : คำว่า "สยาม" ต่างประเทศรู้จักแล้ว ถ้าไม่จำเป็นไม่ควรเปลี่ยนชื่อ

นายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม : เวลานี้ชาวต่างประเทศโดยมากก็ยังไม่รู้จักประเทศสยาม ถ้าเราเปลี่ยนเป็นประเทศไทยจะได้เลยถือโอกาสประกาศประเทศเราเสียด้วย

หลวงประดิษฐมนูธรรม : ปัญหาเปลี่ยนนามประเทศ ใช้ทั้งภายนอกประเทศ และภายในประเทศ หรือจะดำเนินการเป็นขั้นๆ โดยเปลี่ยนใช้ภายในประเทศก่อน

นายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม : เมื่อเราตกลงจะเปลี่ยนแล้ว วิธีดำเนินการก็พิจารณากันอีกครั้งหนึ่งได้

หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ : จะทำเป็นประกาศรัฐนิยมทำนองพระราชนิยมก่อนก็ได้ "สยาม" ที่ชาวต่างประเทศเรียก เขาก็อาจเรียกไปก่อนก็ได้ แต่เราแปลเป็นไทยว่า "ไทย" เพราะถ้าเราไม่แก้รัฐธรรมนูญ แล้วบอกกระทรวงการต่างประเทศไป เขาอาจบอกได้ว่ารัฐธรรมนูญมีคำว่า "สยาม" ถ้าเราแก้รัฐธรรมนูญแล้ว ไม่มีปัญหา

หลวงวิจิตรวาทการ : ควรทำเป็น ๒ ขั้น ขั้นแรกทำเป็นแบบรัฐนิยม มีประกาศนายกรัฐมนตรี แล้วทางราชการและโรงเรียนใช้คำว่า "ไทย" แทนคำ "สยาม" ขั้นต่อไป จะให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขอแก้รัฐธรรมนูญก็ได้

หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ : เรื่องนี้ข้าพเจ้าก็ได้คำนึงถึงคำที่ นายนาวาเอกหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ กล่าว ฉะนั้น ถ้าใช้วิธีรัฐนิยมก่อน จะได้ทราบว่าจะไปได้เพียงใด เมื่อถึงเวลาสมควรแล้ว จึ่งแก้รัฐธรรมนูญ

ที่ประชุมตกลง : รับหลักการ แต่ควรจะดำเนินการอย่างไรต่อไป กล่าวคือ จะดำเนินเป็นขั้นๆ หรือดำเนินการทีเดียว ให้มอบให้หลวงวิจิตรวาทการกับที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี [ม.จ.วรรณไวทยากร] ปรึกษาหารือกันแล้ว เสนอความเห็นขึ้นมาโดยละเอียด๑๐



น่าสังเกตว่า ลำพังรายงานการประชุมนี้ บอกไม่ได้เด็ดขาดว่า หลวงวิจิตรวาทการเป็นผู้เกิดไอเดียเปลี่ยนชื่อประเทศก่อน ไม่ใช่หลวงพิบูลสงคราม-หลวงพิบูลสงครามไม่ได้ให้หลวงวิจิตรวาทการแถลงแทนตามความจำของปรีดี และตัวหลวงวิจิตรวาทการเองพูดราวกับว่าหลวงพิบูลสงครามเป็นเจ้าของความคิด แล้วมาปรึกษาเขา-อย่างไรก็ตามผมคิดว่าไม่ต้องสงสัยว่า หลวงวิจิตรวาทการคงคิดได้ก่อนแล้วชักชวนให้หลวงพิบูลสงครามเห็นด้วย แล้วนำเสนอในนามหลวงพิบูลสงคราม๑๑ การเท้าความถึงการเยือนอินโดจีนยืนยันว่าเขาคงเป็นต้นความคิดนี้และอาจจะคิดขึ้นได้ในระหว่างหรือจากการเดินทางครั้งนั้น อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสังเกตคือ หลวงวิจิตรวาทการไม่ได้ใช้ประโยชน์จากแผนที่ที่ได้จากอินโดจีนในการเสนอครั้งแรกนี้ แม้จะได้ใช้ในโอกาสต่อไป ดังเราจะได้เห็นกัน

ในส่วนเหตุผลที่อ้างในการเสนอเปลี่ยนชื่อประเทศของหลวงพิบูลสงคราม-หลวงวิจิตรวาทการ และการถกเถียงของที่ประชุมนั้น ผมคิดว่า มีประเด็นที่ควรสนใจคือ


ประการแรก ดังเราจะได้เห็นกันต่อไป เหตุผลที่หลวงวิจิตรวาทการเสนออย่างย่อๆ ในการประชุมครั้งนี้ จะเหมือนกับที่เขาจะนำเสนออย่างละเอียดขึ้นในครั้งต่อๆ ไปในที่ต่างๆ โดยไม่เปลี่ยนแปลงทุกครั้ง (แม้กระทั่งในปี ๒๕๐๔) อาจเรียกได้ว่าเป็นเหตุผลทางประวัติศาสตร์ความเป็นมาของคำ "สยาม" และ "ไทย" ซึ่งสรุปว่า สยามเป็นชื่อเก่าที่เขมรใช้เรียกดินแดนแถบนี้ เมื่อคนไทยอพยพลงมา (จากจีน) ตั้งเป็นรัฐอิสระสมัยสุโขทัย ก็เลิกใช้ชื่อนี้ โดยใช้ชื่อเมืองหลวงเป็นชื่อรัฐ (ประเทศ) แทน แต่จีนยังเรียกตามเขมรโบราณอยู่ (สยาม-เสียมหลอก๊ก-เสียมก๊ก) แล้วฝรั่งรับเอาจากจีนไป ถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ เพราะการติดต่อกับฝรั่ง จึงเอาชื่อนี้กลับมาใช้ ทั้งที่ความจริง คนไทยในดินแดนนี้เลิกเรียกตัวเองเช่นนี้ไปตั้งแต่สุโขทัย ยิ่งกว่านั้น คนเชื้อชาติไทยในประเทศอื่นๆ ก็คิดว่าตัวเองเป็นไทย ไม่ใช่สยาม (ควรกล่าวด้วยว่า ปรีดีจำเหตุผลเรื่องนี้ของหลวงวิจิตรวาทการผิด หลวงวิจิตรวาทการไม่ได้อ้างว่าชื่อสยามแปลว่าดำ "จึงไม่ใช่ชื่อประเทศของคนเชื้อชาติไทย ซึ่งเป็นคนผิวเหลือง ไม่ใช่ผิวดำ" และไม่ได้ "อ้างว่าคำว่า "สยาม" แผลงมาจากจีน "เซี่ยมล้อ"" ๑๒)

การที่หลวงวิจิตรวาทการมักอ้างเหตุผลทางประวัติศาสตร์นี้ ชวนให้ไขว้ไขวได้ ถึงเหตุผล หรือที่สำคัญคือเจตนาที่แท้จริงของเขาในการเสนอเปลี่ยนชื่อ เพราะสมมุติว่า "ประวัติศาสตร์" ฉบับของเขาถูกต้อง คือชื่อสยามนี้ไม่ใช่ชื่อเรียกคนไทยแต่เดิม (หรือที่เคยใช้โดยขอมแต่คนไทยเองเลิกใช้ไปนานแล้ว) ในเมื่อชื่อนี้ได้ถูกเอากลับมาใช้เป็นชื่อเรียกประเทศมาเกือบ ๑๐๐ ปีแล้ว ตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ เหตุใดจึงต้องเปลี่ยน? การเข้าสู่ปัญหาเรื่องชื่อประเทศโดยทางประวัติศาสตร์ของคำจะไม่ช่วยตอบคำถามนี้ได้จริงๆ และความจริงการถกเถียงประวัติศาสตร์คำก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจได้ข้อสรุปแน่นอนอยู่แล้ว การเข้าสู่ปัญหานี้แบบนี้ จึงทำให้สับสนและหลงทางมากกว่า๑๓

เหตุผลจริงๆ ของหลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งเขาเองไม่พูดตรงๆ-ในการประชุมข้างต้นนี้ หลวงพิบูลสงครามเป็นคนพูดออกมา-ก็คือต้องการเรียกชื่อประเทศตามเชื้อชาติ คือเชื้อชาตินิยม (Racism) ยิ่งกว่านั้น ผมขอเสนอว่า ใน "เชื้อชาตินิยม" ของหลวงวิจิตรวาทการนี้ มี "องค์ประกอบ" หรือ "เนื้อหา" อย่างหนึ่งที่แยกไม่ออก คือลักษณะแอนตี้จีน (anti-Sinism) พูดอีกอย่างคือ การเสนอเปลี่ยนชื่อสยามเป็นไทยของหลวงวิจิตรวาทการ มาจากความคิดที่ต้องการเทิดทูน (glorify) เชื้อชาติไทย และปฏิเสธสถานะและสิทธิของคน (เชื้อชาติ) จีน ด้านที่แอนตี้จีนของการเปลี่ยนชื่อประเทศนี้ จะเห็นได้ชัดขึ้นเมื่อเขาออกมาพูดและเขียนต่อสาธารณะเพื่อสนับสนุนข้อเสนอนี้๑๔

แน่นอนว่า เชื้อชาตินิยม (Racism) ที่เทิดทูนเชื้อชาติหนึ่งนี้ สามารถพัฒนาไปเป็นความคิดในเรื่องรวมคนเชื้อชาติเดียวกัน ซึ่งอยู่ในรัฐอื่นเข้าไว้ด้วยกัน คือผนวกดินแดนโดยอ้างเชื้อชาติ (irredentism) ได้ และหลวงวิจิตรวาทการเอง ดังที่จะได้กล่าวต่อไป ได้พูดถึงประเด็นการมี "คนไทย" ในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ (โดยใช้แผนที่ช่วย) จริงๆ ทำให้ข้อสรุปของปรีดีที่ว่า "จุดประสงค์เบื้องหลังของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีส่วนหนึ่ง ต้องการเปลี่ยนชื่อประเทศว่าประเทศไทยเพื่อรวมชนชาติไทยในดินแดนต่างๆ เข้าอยู่ในมหาอาณาจักรไทย" ฟังดูมีน้ำหนัก อย่างไรก็ตามในความเห็นของผม เมื่อหลวงวิจิตรวาทการเสนอเรื่องเปลี่ยนชื่อประเทศในปี ๒๔๘๒ นั้น เรื่องนี้ยังไม่ใช่จุดประสงค์หรือประเด็นสำคัญ ผมขอเสนอว่า หลวงวิจิตรวาทการหรือหลวงพิบูลสงครามเพิ่งมาจริงจังเรื่องการรวมชนชาติไทยในปีต่อมา ในระหว่างที่เสนอเรื่องเปลี่ยนชื่อประเทศเพียงแต่มีด้านที่เป็นเชื้อชาตินิยมไทยแอนตี้จีน พูดอีกอย่างคือปรีดีจำแบบรวมๆ กัน เรื่องการเสนอเปลี่ยนชื่อประเทศกับสิ่งที่ตามมา กรณีหลวงวิจิตรวาทการ การพัฒนาจากเชื้อชาตินิยมไปเป็นการผนวกดินแดนเพื่อสร้าง "มหาอาณาจักรไทย" แสดงออกในปาฐกถาเดือนตุลาคม ๒๔๘๓ ระหว่างการรณรงค์ของรัฐบาลหลวงพิบูลสงครามเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส ผมคิดว่าปัจจัยชี้ขาดให้เกิดความเปลี่ยนแปลงนี้คือ การเกิดขึ้นของสงครามโลกในปลายปี ๒๔๘๒ และการล่มของยุโรปตะวันตกโดยเฉพาะฝรั่งเศสกลางปีต่อมา๑๕


ประการที่สอง จากบันทึกการประชุมคณะรัฐมนตรี จะเห็นว่าปรีดีไม่ได้คัดค้านการเปลี่ยนชื่อประเทศอย่างเข้มแข็งมากอย่างที่ชวนให้คิดจากการอ่านบทความปี ๒๕๑๗ ของเขา เหตุผลที่เขายกขึ้นค้านเป็นเหตุผลที่อ่อน : "คำว่า "ไทย" มีคนรู้จักแต่นักประวัติศาสตร์ตะวันออก ส่วนคำว่า "เสียม" คนทางยุโรปรู้จักกันมาแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช" แน่นอน ผู้สนับสนุนปรีดีอาจเสนอได้ว่า เนื่องจากความสำคัญของปรีดี หากเขาโต้แย้งอย่างเข้มแข็งจริงจังขึ้นมา อาจจะหมายถึงความแตกแยกครั้งใหญ่ในวงการรัฐบาลและผู้ก่อการ ๒๔๗๕ เพราะแม้เพียงข่าวลือว่าเขาไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนชื่อประเทศเท่านั้น ก็ทำให้หน่วยงานรัฐบาลต้องออกมาแถลงปฏิเสธ ดังจะได้เห็นข้างล่าง นี่อาจจะเป็น "คำอธิบาย" ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่ไม่อาจแก้ข้อเท็จจริงที่ว่าปรีดีไม่ได้คัดค้านการเปลี่ยนชื่อประเทศมากอย่างที่เขาอ้างภายหลัง ผู้ให้เหตุผลโต้แย้งจริงๆ คือ หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ และโต้ได้ตรงจุด (ที่หลวงวิจิตรวาทการเองไม่พูดออกมา) คือการเรียกชื่อประเทศตามเชื้อชาติหลัก เป็นการกีดกันคนที่เป็นเชื้อชาติรองๆ ในประเทศนั้น น่าสังเกตว่า หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ยกกรณี "พวกปัตตานี" เป็นตัวอย่าง แต่ผมคิดว่า ในใจของเขา และของทุกคนในที่นั้น นึกถึงคนจีนมากกว่า


หลวงวิจิตรวาทการ

ให้เหตุผลเปลี่ยนชื่อประเทศ

หลังการประชุมครั้งแรก ๒ สัปดาห์ คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเรื่องเปลี่ยนชื่อประเทศอีกครั้ง ตามที่บันทึกไว้ในรายงานการประชุม ดังนี้

๒๙. เรื่องการเปลี่ยนนามประเทศ (เนื่องจากรายงานประชุมครั้งที่ ๔/๒๔๘๒ ข้อ ๑๖)

นายดิเรก ชัยนาม : ที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรีรายงานว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้ลงมติให้ปรึกษาหารือกับหลวงวิจิตรวาทการ ในเรื่องการที่จะเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นประเทศไทย จะควรดำเนินการเป็นขั้นๆ หรืออย่างไรนั้น บัดนี้ได้ปรึกษาหารือกับหลวงวิจิตรวาทการแล้ว มีความเห็นพ้องกันว่า ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ศกนี้ ควรมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เปลี่ยนชื่อประเทศดั่งกล่าวแล้ว ถ้าจะมีการชี้แจงเพิ่มเติมประการใด ก็อาจจัดให้มีการกระจายเสียงประกอบด้วยได้ ส่วนการที่จะแจ้งไปให้รัฐบาลแห่งนานาประเทศทราบเป็นทางการนั้น ควรรอไว้จนเมื่อได้แก้รัฐธรรมนูญแล้ว

หลวงประดิษฐมนูธรรม : คำประกาศเป็นทางราชการ แต่กระทรวงการต่างประเทศยังไม่ได้บอกรัฐบาลนานาประเทศ เขาจะเป็นอย่างไร

หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ : ในชั้นนี้ เราทำเป็นเพียงรัฐนิยม

ขุนสมาหารหิตะคดี : ในวันประกาศเปลี่ยนนามนี้ ข้าพเจ้าอยากจะให้มีพิธีด้วย เพื่อเป็นประวัติศาสตร์ เพราะเป็นของสูง ควรทำให้สมกัน

นายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม : จะเสนอสภาผู้แทนราษฎรในวันเปิดสภาผู้แทนราษฎร [๒๔ มิถุนายน] ได้หรือไม่

หลวงวิจิตรวาทการ : จะเสนอในวันนั้นก็ได้ แต่ควรเชิญสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาประชุมเป็นการภายในก่อน ถ้าเห็นว่าตกลง ก็นำเสนอสภาผู้แทนราษฎรในวันเปิดประชุม

นายนาวาเอกหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ : การทำพิธีไม่ลำบากเพราะวันที่ ๒๔ มิถุนายน เราก็ทำอยู่แล้ว แยกออกไปเป็นอีกแขนงหนึ่งก็ได้ ทั้งนี้แจ้งให้กรรมการจัดงานฉลองวันชาติทราบก็พอ

นายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม : ขอให้หลวงวิจิตรวาทการ ทำบันทึกเรื่องนี้ เพื่อส่งให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส่วนการแก้รัฐธรรมนูญนั้นเห็นว่า เพียงแก้ถ้อยคำเท่านั้น ไม่สำคัญอะไร

หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ : สำหรับภายในไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญก็ได้ แต่สำหรับจะให้นานาประเทศใช้ด้วย จำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญ มิฉะนั้น เขาจะอ้างได้ว่า คำว่า "สยาม" มีในรัฐธรรมนูญอยู่

หลวงวิจิตรวาทการ : ในทางเกี่ยวกับประชาชน เวลานี้จะให้ทราบเรื่องบ้างก็ได้ โดยแพร่ข่าวไปไม่ใช่ทางราชการ แล้วฟังเรื่องดูว่า จะว่ากระไร ข้าพเจ้ารับไปดำเนินการแพร่ข่าวให้ก็ได้ การประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น ควรเป็นวันที่ ๒๒ หรือ ๒๓ มิถุนายน แล้วขอมติสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ ๒๔ มิถุนายน และประกาศมติสภาผู้แทนราษฎรในวันนั้น

นายพันโทประยูร ภมรมนตรี : การแพร่ข่าวนั้น รอไว้จวนๆ ไม่ดีหรือ

นายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม : เราทำกันอย่างตรงไปตรงมา จะแพร่ข่าวไปตั้งแต่บัดนี้ก็ไม่เป็นไร

หลวงชำนาญนิติเกษตร : เพลงชาติก็จะต้องเปลี่ยนด้วย

นายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม : เรื่องเพลงชาติก็มอบหลวงวิจิตรวาทการไปด้วย

หลวงประดิษฐมนูธรรม : คำในภาคอังกฤษ และฝรั่งเศส ขอให้คิด


ที่ประชุมตกลง ให้มอบเรื่องให้หลวงวิจิตรวาทการ เตรียมเรื่องเพื่อขอมติสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน และเมื่อได้มติสภาผู้แทนราษฎรแล้ว จะได้ประกาศมติต่อไป แล้วจึ่งพิจารณาดำเนินการในเรื่องแก้รัฐธรรมนูญภายหลัง ทั้งนี้มอบให้หลวงวิจิตรวาทการรับไปโดยมิต้องยืนยันมติไป๑๖


จะเห็นว่า ในแง่หลักการว่าควรเปลี่ยนชื่อประเทศหรือไม่ ไม่มีการถกเถียงอีก แต่ในแง่วิธีการยังไม่ลงตัวนัก เดิมหลวงวิจิตรวาทการ (และ ม.จ.วรรณไวทยากร) เพียงให้ประกาศเป็น "รัฐนิยม" เท่านั้น (ในที่นี้หมายถึงประกาศแสดงความปรารถนาของรัฐบาล ยังไม่ใช่ประกาศ "รัฐนิยม" ที่เป็นชุด series ที่รู้จักกันภายหลัง ซึ่งมีกำเนิดหลังจากนี้จากอีกเรื่องหนึ่ง ดังจะได้กล่าวต่อไป) แต่หลวงพิบูลสงครามเป็นผู้เสนอให้ขอมติสภาด้วย ในการประชุมนี้เองที่ปรีดียกปัญหาการแปลเป็นภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นครั้งแรก แม้จะไม่ได้เสนออะไร ถึงที่สุดแล้วการประชุมครั้งนี้มีข้อตกลงอย่างเดียวที่เป็นชิ้นเป็นอัน คือให้ "แพร่ข่าว" เรื่องจะเปลี่ยนชื่อประเทศได้

ผู้รับหน้าที่นี้ก็คือหลวงวิจิตรวาทการ (เช่นเดียวกับหน้าที่อื่นๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้แทบทั้งหมด ตั้งแต่ร่วมกับ "ท่านวรรณ" กำหนดขั้นตอนการเปลี่ยนชื่อ ทำบันทึกถึงสภา และเตรียมเปลี่ยนเพลงชาติ อันที่จริงหน้าที่ "แพร่ข่าว" นี้ หลวงวิจิตรวาทการอาสาเองดังที่เห็นข้างต้น) ซึ่งเขาทำในรูปของสุนทรพจน์ทางวิทยุในวันที่ ๒๕ พฤษภาคม๑๗ เนื้อหาส่วนแรกของสุนทรพจน์เป็นการเล่าความเป็นมาของคำว่า "สยาม" แบบเดียวกับที่เล่าต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ ๘ พฤษภาคม (จากขอม สู่จีน สู่ฝรั่ง สู่รัชกาลที่ ๔) ส่วนที่เพิ่มเข้ามาเป็นครั้งแรก คือการสรุปเหตุผลว่า การกลับเอาชื่อสยามเป็นชื่อประเทศในรัชกาลที่ ๔ นั้นไม่ดีอย่างไร ซึ่งหลวงวิจิตรวาทการเสนอเป็น ๔ ข้อ ผมคิดว่า ๓ ใน ๔ ข้อนี้ (ข้อ ๑, ๒ และ ๔) เป็นเหตุผลที่เห็นได้ชัดว่าอ่อน และไม่อาจจะกล่าวว่าเป็นปัญหาจริงๆ ที่ทำให้ต้องเปลี่ยนชื่อประเทศอย่างที่หลวงวิจิตรวาทการอ้าง คือ

ข้อ ๑ ทำให้คนไทยมีสัญชาติและบังคับไม่ตรงกัน สัญชาติไทย บังคับสยาม (หมายถึง jurisdiction ผมยอมรับว่า มองไม่เห็นปัญหาจริงๆ ข้อนี้ หลวงวิจิตรวาทการอ้างว่าทำให้ "ดูประหนึ่งว่าเรายังมิได้หลุดพ้นจากอำนาจความปกครองของขอมในครั้งกระโน้น" ในสายตาใคร? มีสักกี่คนที่รู้ว่าชื่อสยามมาจากขอม? ถ้ารู้กันทั่วไปหลวงวิจิตรวาทการเองคงไม่ต้องมาอธิบายแบบที่กำลังทำ หรือต่อให้รู้ มีสักกี่คนที่จะบ้าขนาดคิดว่าสยามยังไม่หลุดพ้นอำนาจขอม "ในครั้งกระโน้น" หลังจาก ๖๐๐ ปี?!)

ข้อ ๒ "ชื่อภาษากับชื่อคนไม่ตรงกัน...ประเทศสยามแต่คนพื้นเมืองพูดภาษาไทย เป็นอาณาจักรสยามแต่พลเมืองเป็นคนไทย" และ

ข้อ ๔ "การเอาคำว่า "สยาม" กลับมาใช้เป็นนามของประเทศนั้น เป็นการฝืนใจของคนไทยโดยทั่วไป" ในภาษาพูดจึงไม่ค่อยมีคนใช้คำว่าสยาม ใช้เมืองไทยเป็นส่วนมาก (เช่นกัน ผมมองไม่เห็นว่าปัญหาคืออะไร? หลวงวิจิตรวาทการกำลังสร้าง "ปัญหา" ขึ้นมาเอง [pseudo-problems] โดยที่ไม่มีใครสมัยนั้นรู้สึกเป็นปัญหา) ข้อที่ผมคิดว่าเป็นเหตุผลที่สำคัญ คือข้อ ๓ เพราะเผยให้เห็นว่า ปัญหาของหลวงวิจิตรวาทการจริงๆ คือปัญหากับคนจีนในประเทศ ดังนี้ (ควรตระหนักว่า คำว่า "ชาติไทย" ในข้อนี้ หลวงวิจิตรวาทการหมายถึงคน "เชื้อชาติไทย")

๓. ในประเทศเดียวกันเกิดมีปวงชนขึ้นเป็นสองพวก คือปวงชนชาวไทยกับปวงชนชาวสยาม ในเวลาร่างกฎหมาย หรือร่างเอกสารสำคัญของรัฐบาลก็มักมีปัญหาขึ้นบ่อยๆ แม้ในรัฐธรรมนูญเวลานี้ที่ว่าอำนาจอธิปตัยมาจากปวงชนชาวสยามนั้น ก็ทำให้เกิดข้อสงสัยเพราะคำว่าปวงชนชาวสยามย่อมจะหมายความไม่ฉะพาะแต่ชาติไทย ต้องหมายความถึงชนชาติอื่นๆ ที่เป็นชาวสยามด้วย ถ้าหากชนชาวต่างประเทศจะอ้างว่า เขาก็มีอำนาจอธิปตัยตามรัฐธรรมนูญ เขามีสิทธิจะเลือกผู้แทนของเขาบ้าง หรือว่าพระราชบัญญัติเลือกตั้งที่จำกัดให้ฉะพาะชนชาติไทยนั้น เป็นพระราชบัญญัติที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องเป็นโมฆะ เช่นนี้ก็จะเกิดปัญหาให้ต้องแปลความหมายในรัฐธรรมนูญขึ้นอีก


เช่นเดียวกับข้ออื่นๆ เหตุผลข้อนี้ โดยตัวเองเป็นปัญหาปลอมๆ ที่หลวงวิจิตรวาทการสร้างขึ้นเอง สิทธิเลือกตั้งที่จำกัดสำหรับคนสัญชาติไทย (คือเกิดที่นี่) เป็นไปตามบรรทัดฐานสากล และไม่มีใครเคยคิดว่าจะขัดอะไรกับรัฐธรรมนูญเพียงเพราะชื่อประเทศ แต่นี่เป็น "ปัญหา" ในใจของหลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งเคยแสดงออกมาแล้วก่อนหน้านี้ ในระหว่างการวิวาทะครั้งใหญ่อันเนื่องจากปาฐกถาอันอื้อฉาวของเขาในเดือนกรกฎาคม ๒๔๘๑ ที่ประณามว่าคนจีนในไทยเป็นกาฝากยิ่งกว่ายิวในยุโรป ถ้าจะใช้วิธีแบบฮิตเลอร์ที่ไล่ยิวออกนอกประเทศบ้างก็ไม่น่าจะเป็นอะไร ซึ่งในระหว่างการวิวาทะนั้นหลวงวิจิตรวาทการพยายาม "ปลุกผี" ว่าคนจีนกำลังพยายามเข้าสภา๑๘

ในตอนท้ายของสุนทรพจน์ หลวงวิจิตรวาทการได้ยกเหตุผลอีกอย่างหนึ่ง (แต่ไม่ใส่เลขข้อ) สำหรับการเปลี่ยนชื่อประเทศ คือความ "ใหญ่หลวง" ของเชื้อชาติไทย ขณะที่ "คำว่า "สยาม" เป็นชื่อของส่วนน้อย" ไม่สมกับจะเรียก "ชาติใหญ่หลวง" เช่นไทย โดยเขาได้ยกตัวเลขจำนวน "คนไทย" ที่มีอยู่ในโลก มาให้ดูว่า "ชาติไทยยังเป็นชาติใหญ่มหึมาชาติหนึ่ง" ดังนี้


จำนวนคนไทยที่อยู่ในประเทศเรา ราว ๑๓,๐๐๐,๐๐๐ คน

" ในมณฑลกวางซีของจีน " ๘,๐๐๐,๐๐๐ คน "

" กุยจิ๋ว" " ๔,๐๐๐,๐๐๐ คน "

" ยูนนาน" " ๖,๐๐๐,๐๐๐ คน "

" กวางตุ้ง" " ๗๐๐,๐๐๐ คน "

" เสฉวน" " ๕๐๐,๐๐๐ คน "

"ในเกาะไหหลำ" " ๓๐๐,๐๐๐ คน "

"ในอารักขาของฝรั่งเศส (ไม่นับเขมร)" " ๒,๐๐๐,๐๐๐ คน "

"ในปกครองของอังกฤษ" " ๒,๐๐๐,๐๐๐ คน "

รวม ๓๖,๕๐๐,๐๐๐ คน


หลวงวิจิตรวาทการยังอ้างหนังสือของ "Dr.Dodd" (หมายถึง W.C. Dodd, The Tai Race : Elder Brother of the Chinese ซึ่งแปลเป็นไทยก่อนสมัยหลวงพิบูลสงคราม และกระทรวงกลาโหมจะพิมพ์ซ้ำในปลายปีนั้น๑๙) และงานของ George B. Cressey ซึ่งเขากล่าวว่าเป็นนักวิชาการอเมริกันที่เข้าไปสำรวจในจีน เพื่อยืนยันว่า "คนไทย" ที่อยู่ในดินแดนจีนตามตัวเลขเหล่านี้เป็นคนไทยจริงๆ ขอให้สังเกตเชื้อชาตินิยมที่แอนตี้จีนไปพร้อมๆ กันของ

คนเหล่านี้ยังถือตนเป็นไทยเรียกตัวเองว่าไทย พูดภาษาไทยซึ่งสามารถจะสนทนากับพวกเราให้เข้าใจกันได้ ชื่อหมู่บ้านสถานที่ภูเขาแม่น้ำในถิ่นของพวกนี้ยังเป็นภาษาไทย คนพวกนี้แม้จะแต่งกายแบบเดียวกับชนชาวเจ้าของประเทศ ส่วนมากก็ยังใช้สีน้ำเงินแก่ ซึ่งเขาถือว่าเป็นสีประจำชาติของไทย...คนไทยในแดนจีนนั้น ถือตนเป็นพวกอิสสระ เพราะมีชื่อเป็นไทยซึ่งเขาเข้าใจความหมายว่าเป็นชาติใหญ่และไม่ได้เป็นข้าใคร Dr.Dodd เล่าว่า ความลำบากในการให้การศึกษาแก่คนพวกนี้ก็คือ เขาไม่ยอมเรียนหนังสือจีน...คนไทยในแดนจีน...แต่ไหนแต่ไรมาสตรีมิได้เคยรัดเท้าให้เล็กเหมือนจีนเลย คนไทยในแดนจีนนั้นห่างเหินกับจีนเป็นอันมาก บางแห่งถึงกับปักเขตต์เครื่องหมายว่าเป็นอิสสระไม่ยอมขึ้นแก่ใคร ถ้าหากว่าเราสามารถจะไปพบปะกับคนพวกนี้และพูดถึงประเทศสยาม เขาจะไม่รู้ ไม่เข้าใจและไม่เคยได้ยินเลย แต่ถ้าเราบอกว่าเราเป็นคนไทย เขาจะตื่นเต้นด้วยความยินดีว่า เราเป็นพวกเดียวกับเขา ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่าชาติไทยเป็นชาติใหญ่หลวง แต่ส่วนชื่อสยามเป็นชื่อส่วนน้อย


สุนทรพจน์นี้ หลวงวิจิตรวาทการได้เพิ่มเติมเล็กน้อย แล้วนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ตามรายงานการประชุม ดังนี้


๒๑. เรื่องการเปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็นประเทศไทย (เนื่องจากรายงานประชุมครั้งที่ ๖/๒๔๘๒ ข้อ ๒๙)

หลวงวิจิตรวาทการ : ด้วยตามที่คณะรัฐมนตรีได้ลงมติให้ข้าพเจ้าเตรียมเรื่องการเปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็นประเทศไทย เพื่อขอมติสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ศกนี้นั้น ข้าพเจ้าได้ยกร่างหนังสือนายกรัฐมนตรีถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอความเห็นในเรื่องนี้ เสนอขึ้นมาเพื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา ดั่งได้แจกสำเนาให้ทราบแล้ว

อนึ่ง ข้าพเจ้าขอเรียนเพิ่มเติมว่า พันธกรณีอันเกี่ยวกับเรื่องนี้นั้น ข้าพเจ้าได้พบและสนทนากับหลวงประดิษฐมนูธรรมแล้ว เห็นว่ามีข้อที่น่าระลึกอยู่บางอย่างคือ ของที่คนรู้จักดีๆ แล้ว เช่น Siam Rice เราจะได้เปลี่ยนชื่อเมื่อได้โฆษณาให้คนรู้จักชื่อประเทศไทยแล้ว ธนบัตร์ พันธบัตร์ เมื่อเปลี่ยนชื่อประเทศไทย ได้ประกาศโฆษณาไปภายนอกเป็นที่รู้จักเพียงพอแล้ว จึ่งพิจารณาเปลี่ยน นอกจากนี้สิ่งใดที่ทำไว้ในนามรัฐบาลสยาม รัฐบาลไทยก็ให้คำรับรองต่อไป

นายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม : แผนที่แนบท้ายหนังสือนั้น ไม่ควรส่งไป

เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ : ตอนต้นของร่างหนังสือนั้น ควรกล่าวว่า "คณะรัฐมนตรีได้ดำริเห็นสมควรเปลี่ยน..."

หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ : คำว่าประเทศไทยที่ใส่เลขในไว้นั้น ควรเอาเลขในออกเสีย [หมายถึงเครื่องหมายอัญประกาศ-สมศักดิ์]

ที่ประชุมตกลง ให้แก้ร่างหนังสือนายกรัฐมนตรี (ดังได้แก้แนบไว้ท้ายรายการนี้) และให้มอบให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการต่อไป๒๐

ท้ายรายงานประชุมมีเอกสารที่หลวงวิจิตรวาทการทำขึ้นในชื่อ "ร่างบันทึกของรัฐบาล เรื่องความคิดที่จะเปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็น "ประเทศไทย"" พร้อมจดหมายปะหน้า (ในนามนายกรัฐมนตรี) แนบอยู่ ตัวบทของ "ร่างบันทึก" เหมือนกับสุนทรพจน์ของเขาข้างต้น แล้วตามด้วยข้อความว่า "แผนที่ที่แนบท้ายบันทึกนี้ ได้คัดจากแผนที่ซึ่งทางการของฝรั่งเศสทำขึ้นสำหรับแสดงถิ่นที่อยู่ของชนชาติไทย ในตอนซึ่งมีจุดกลมเป็นพืดไปนั้น แสดงว่าเป็นที่ที่มีชนชาติไทยอยู่ในปัจจุบัน" แต่ข้อความนี้ถูกขีดฆ่าออก เพราะดังที่เราได้เห็นจากรายงานประชุม หลวงพิบูลสงครามสั่งไม่ให้เผยแพร่แผนที่ ตัวแผนที่ซึ่งอยู่ในหน้าที่ ๕ ของเอกสาร (แต่ไม่มีเลขหน้ากำกับแบบ "ร่างบันทึก") มีลักษณะทำนองนี้


นอกจากข้อความที่พาดพิงถึงแผนที่จะถูกขีดฆ่าออกแล้ว ยังมีอีก ๒ จุดที่ถูกขีดฆ่าออก คือ เหตุผลข้อ ๓ ("ในประเทศเดียวกันเกิดมีปวงชนขึ้นเป็นสองพวก") ที่ผมยกให้ดูข้างต้นว่า สะท้อนความรู้สึกแอนตี้คนจีนของหลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งเป็นสาเหตุแท้จริงที่เขาต้องการเปลี่ยนชื่อประเทศ และตัวเลข "คนไทย" ในดินแดนต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่คือในประเทศจีน จุดหลังนี้ถูกขีดฆ่าและแทนที่ด้วยเพียงประโยคว่า "จำนวนชนชาติไทยที่มีอยู่ในโลกเวลานี้ มีจำนวนไม่น้อยกว่า ๓๖ ล้านคน" คณะรัฐมนตรีแสดงความละเอียดอ่อนต่อทั้งปัญหาคนจีนในประเทศและความสัมพันธ์กับประเทศจีนมากกว่าหลวงวิจิตรวาทการ (หรือไม่หมกมุ่นกับการแอนตี้จีนมากเท่าลูกจีนอย่างเขา) อย่างไรก็ตามการขีดฆ่าออกนี้ไม่สู้มีประโยชน์นัก เพราะดังที่ได้เห็นกันว่า ทั้ง "เหตุผลข้อ ๓" และตัวเลข "คนไทย" ดังกล่าว ได้ถูกเผยแพร่ไปในสุนทรพจน์แล้ว (และถูกนำไปตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ด้วย๒๑)


ตอนท้ายสุดของ "ร่างบันทึก" หลวงวิจิตรวาทการยังได้เขียนสรุป ซึ่งเป็นส่วนที่เพิ่มจากสุนทรพจน์ :

โดยเหตุผลดั่งที่กล่าวมาข้างต้น รัฐบาลจึงมีความเห็นว่า ถ้าได้เปลี่ยนชื่อประเทศสยามให้เป็น "ประเทศไทย" แล้ว ผลจะมีดั่งต่อไปนี้

๑. ได้ชื่อประเทศตรงตามชื่อเชื้อชาติของพลเมือง

๒. ชนชาติไทยจะมีสัญชาติและอยู่ในบังคับอันเดียวกัน

๓. ชื่อประเทศ, ชื่อภาษาพื้นเมือง, ชื่อรัฐบาล กับชื่อประชาชนจะเป็น "ไทย" เหมือนกันหมด

๔. ตัดปัญหาเรื่องปวงชนชาวสยามและปวงชนชาวไทย

๕. จะเพิ่มพูนความรักประเทศและทำให้จิตต์ใจของพลเมืองเกิดความเข้มแข็งโดยรู้สึกระลึกถึงความเป็นไทยยิ่งขึ้น

๖. จะปลูกความสามัคคีไมตรีจิตต์ และความเกี่ยวพันอย่างสนิทในระหว่างชาวไทยในประเทศนี้กับชาวไทยที่กระจัดกระจายอยู่ในประเทศอื่นให้รู้สึกภราดรภาพในระหว่างกันและกันยิ่งขึ้น อันเป็นทางที่จะนำมาซึ่งความสุขสวัสดีแก่ชาวไทยทั่วไป

ข้อ ๔ ถูกขีดฆ่าออก เพื่อให้สอดคล้องกับการขีดฆ่าเหตุผลข้อ ๓ ข้างต้น ในส่วนจดหมายปะหน้าที่ทำในนามนายกรัฐมนตรี มีข้อความดังนี้


ร่างหนังสือนายกรัฐมนตรี ถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

เรื่อง คิดเปลี่ยนชื่อประเทศสยาม เป็น "ประเทศไทย"

จาก นายกรัฐมนตรี

ถึง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร


ด้วยคณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาลงมติว่า [คำที่ผมขีดเส้นใต้นี้ถูกขีดฆ่าออก] เห็นควรเปลี่ยนชื่อประเทศสยาม เป็น "ประเทศไทย" โดยเหตุผลดั่งได้บรรยายไว้ในบันทึกและแผนที่ที่ส่งมาพร้อมกับหนังสือนี้

การเปลี่ยนแปลงนี้ [คำที่ผมขีดเส้นใต้นี้ถูกขีดฆ่าออก แล้วเขียนใหม่ว่า "ถ้าได้ตกลงให้เปลี่ยนแปลงตามนี้แล้วก็คิดว่า"] จะได้เริ่มเปลี่ยนสำหรับการภายในประเทศก่อน ส่วนสำหรับต่างประเทศนั้นจะค่อยๆ ทำไปโดยมิให้กระทบกระเทือนถึงผลประโยชน์ทางภายนอก และเป็นที่เข้าใจกันว่าพันธกรณีย์อันใดที่ทำไว้ในนามของสยามนั้น แม้จะได้เปลี่ยนชื่อประเทศแล้ว พันธกรณีย์อันนั้นก็ยังคงใช้ได้ต่อไป

พิธีการในเรื่องเปลี่ยนชื่อประเทศนั้น รัฐบาลต้องการ [ถูกขีดฆ่าออก ใช้ "หวัง" แทน] จะทำในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ศกนี้ แต่จะควรทำเป็นพิธีการอย่างไร รัฐบาลจะได้พิจารณาโดยละเอียด ในชั้นนี้ ใคร่ขอทราบความเห็นของท่านในหลักการ [ถูกขีดฆ่าออก] ว่าท่านจะเห็นควรเปลี่ยนชื่อประเทศหรือไม่ ขอท่านได้โปรดตอบและแสดงเหตุผลมาเพื่อประกอบความดำริของรัฐบาลโดยด่วน [มีข้อความเขียนเพิ่มว่า "ขอให้ส่งมายังข้าพเจ้าภายในวันที่ ๒๐ มิถุนายน"] ข้าพเจ้าจะขอบคุณเป็นอันมาก

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง


กำเนิดคณะกรรมการธรรมนิยม-รัฐนิยม

ข่าวรัฐบาลจะเปลี่ยนชื่อประเทศนำไปสู่การแสดงความเห็นตามหน้าหนังสือพิมพ์ (รวมไปถึง The Times ในลอนดอน ซึ่งถูกนำกลับมาอ้างในหนังสือพิมพ์ไทย๒๒) เมื่อ ไทยใหม่ ฉบับวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พาดหัวว่า "มีข่าวว่าหลวงประดิษฐฯ ไม่เห็นด้วยในการที่จะเปลี่ยนชื่อประเทศสยาม" และรายงานว่ามีการโต้แย้งกันในคณะรัฐมนตรีเรื่องการเปลี่ยนชื่อประเทศและปรีดีเป็นผู้หนึ่งที่เห็นว่าไม่ควรเปลี่ยน สำนักงานโฆษณาการต้องรีบออกคำแถลงว่าไม่เป็นความจริง "ความเห็นหรือมติของคณะรัฐมนตรีนั้นเป็นความเห็นเอกฉันท์"๒๓

ขณะเดียวกันเกิดการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ที่ตอนแรกไม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อประเทศ แต่ภายหลังถูกดึงเข้ามาเกี่ยวข้องกันคือ ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ ๕ มิถุนายน หลวงพิบูลสงครามได้เสนอ "เรื่องจร" ให้ที่ประชุมพิจารณาเรื่องหนึ่ง ดังนี้

๑๑. เรื่องตั้งกรรมการธรรมนิยม

นายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม : การแต่งกายของคนไทยส่วนมากในปัจจุบันนี้ยังไม่เป็นระเบียบและเป็นที่พึงรังเกียจแก่บันดาผู้ที่ได้พบเห็น นอกจากนี้ยังมีการแสดงกิริยาและมารยาทไม่สมควรในที่ชุมนุมชนในเวลามีงานรื่นเริงหรือในที่สาธารณะสถาน เช่น ในงานบุปผชาติ เป็นต้น ความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยดั่งกล่าวแล้วอาจเป็นช่องทางให้ชาวต่างประเทศเย้ยหยันชาติไทยว่าเป็นชาติที่ขาดความเจริญ และไม่มีศีลธรรมอันดี ไม่สมกับเป็นชาติที่มีเอกราชสมบูรณ์ดั่งชาติทั้งหลาย หากไม่คิดแก้ไขแล้วจะเป็นทางนำมาซึ่งความเสื่อมโทรมของชาติและประเทศไทยได้ ฉะนั้นเพื่อแก้ไขพฤติการอันบกพร่องนี้ ควรหาทางชี้ชวนเป็นทำนองรัฐนิยม

หลวงวิจิตรวาทการ : ควรให้นายกรัฐมนตรีประกาศออกไป

หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ : ควรมีกรรมการเพื่อป้อนเรื่องเข้ามา

นายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม : รัฐนิยมนี้ออกไปแล้ว ให้ข้าราชการถือเป็นหลักปฏิบัติ

ที่ประชุมตกลง เห็นชอบด้วยและให้ตั้งกรรมการขึ้นพิจารณาเรื่องนี้คณะหนึ่งเรียกว่ากรรมการธรรมนิยม ประกอบด้วย ๑. หลวงวิจิตรวาทการ เป็นประธานกรรมการ ๒. ขุนสมาหารหิตะคดี ๓. นายพันโทประยูร ภมรมนตรี ๔. นายพันเอกหลวงสฤษฎ์ยุทธศิลป์ และ ๕. นายพันตำรวจโทขุนศรีศรากร เป็นกรรมการ๒๔

ความ irony ของเรื่องนี้คือ อีก ๔ วันต่อมา หลวงวิจิตรวาทการได้นำเรื่องกรรมการคณะนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีก เพื่อขอเปลี่ยนชื่อ ชื่อใหม่ "กรรมการรัฐนิยม" จะกลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่คนทั่วไปเชื่อมโยงกับรัฐบาลหลวงพิบูลสงครามและ "ชาตินิยม" ของเขาและหลวงวิจิตรวาทการ แต่ขอให้ดูว่า ใครคือผู้เสนอชื่อใหม่นี้ :


๑๖. เรื่องเปลี่ยนนามกรรมการธรรมนิยม

หลวงวิจิตรวาทการ : ตามที่คณะรัฐมนตรีได้ตั้งกรรมการขึ้นคณะหนึ่งมีนามว่า "กรรมการธรรมนิยม" เห็นว่ายังไม่เหมาะสมและดำเนินการไปไม่ได้สะดวก เช่น เราจะชักชวนไม่ให้นุ่งโสร่งเป็นต้น ฉะนั้นจึ่งใคร่จะขอให้พิจารณาเปลี่ยนเสียให้เหมาะสม

หลวงประดิษฐมนูธรรม : เพื่อให้ศักดิ์สิทธิ์และเหมาะสม ควรเปลี่ยนนามว่า "กรรมการรัฐนิยม"

ที่ประชุมตกลง ให้เปลี่ยนนาม "กรรมการธรรมนิยม" เป็น "กรรมการรัฐนิยม"๒๕


ความเห็นนายอาร์. กียอง

ในส่วนการเปลี่ยนชื่อประเทศนั้น ครั้งหลังสุดที่มีการพิจารณาในคณะรัฐมนตรี (๓๑ พฤษภาคม) เรื่องได้กลับมาอยู่ที่ตัวหลวงพิบูลสงครามเอง ("ให้แก้ร่างหนังสือนายกรัฐมนตรี...และให้มอบให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการต่อไป") ผมไม่แน่ใจว่ามีการ "ดำเนินการต่อไป" อย่างไรบ้าง เท่าที่เห็น มีการออก "คำชักชวน" ในนามกระทรวงกลาโหมให้ประชาชนเรียกชื่อประเทศใหม่ ซึ่งแม้ว่าหลวงพิบูลสงครามในฐานะรัฐมนตรีกลาโหมจะเป็นผู้ลงนาม แต่ผมคิดว่าน่าจะเป็นผลงานของบรรดา "ลิ่วล้อ" ในกระทรวงทำขึ้นมากกว่า๒๖ ส่วน "ร่างบันทึก" ที่หลวงวิจิตรวาทการทำและมีการแก้แล้ว จะมีการส่งไปให้สมาชิกสภาตามที่ตกลง หรือมีสมาชิกตอบกลับ "ภายในวันที่ ๒๐ มิถุนายน" บ้างหรือไม่ ผมไม่อาจยืนยันได้ หลวงพิบูลสงครามกล่าวในสภาไม่กี่เดือนต่อมาทำนองว่ามีการส่งและสมาชิกส่วนใหญ่ตอบรับในเชิงสนับสนุน อย่างไรก็ตามไม่มีการกล่าวถึงเรื่องนี้ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีกเลย๒๗ ยิ่งกว่านั้น ตามที่ตกลงกันไว้แต่เดิม ให้มีการเรียกประชุมสมาชิกสภาเป็นการภายใน ก่อนวันที่ ๒๔ มิถุนายน ถ้าสมาชิกส่วนใหญ่เห็นชอบด้วย ก็ให้เสนอขอมติสภาอย่างเป็นทางการในวันที่ ๒๔ ส่วนเรื่องแก้รัฐธรรมนูญนั้น หลวงพิบูลสงครามเองพูดทำนองว่าไม่สำคัญนัก ไว้ทำหลังจากนั้นก็ได้ ซึ่งคณะรัฐมนตรีก็เห็นชอบด้วย (ดูบันทึกการประชุมวันที่ ๒๒ พฤษภาคมข้างต้น : "การแก้รัฐธรรมนูญนั้นเห็นว่า เพียงแก้ถ้อยคำเท่านั้น ไม่สำคัญอะไร...เมื่อได้มติสภาผู้แทนราษฎรแล้ว จะได้ประกาศมติต่อไป แล้วจึ่งพิจารณาดำเนินการในเรื่องแก้รัฐธรรมนูญภายหลัง") อาจจะถือกันว่า การทำเป็น "ร่างบันทึก" ถึงสมาชิกดังกล่าว เป็นวิธีการแทนการเรียกประชุมภายใน ถ้าเช่นนั้น และถ้าสมาชิกส่วนใหญ่ตอบรับเชิงสนับสนุนอย่างที่หลวงพิบูลสงครามอ้างภายหลังจริง ก็น่าจะมีการเสนอญัตติเปลี่ยนชื่อประเทศเข้าสู่สภาในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ซึ่งเป็นวันเปิดประชุมสมัยสามัญประจำปี และในความเป็นจริง ในระหว่างที่คณะรัฐมนตรีประชุมเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน มีการพิจารณากันตามปกติ เรื่องการเปิดสมัยประชุมสภาที่จะมาถึง ก็ยังมีการแสดงความตั้งใจว่ารัฐบาลอาจจะเสนอญัตติเรื่องเปลี่ยนชื่อประเทศในวันนั้นด้วย (ปกติวันเปิดสมัยประชุมสภา มีเพียงพระราชพิธีเปิด แล้วก็ปิดประชุมในวันนั้นเลย ไปเริ่มพิจารณาเรื่องต่างๆ ในการประชุมคราวต่อไป)๒๘

แต่แล้วในวันที่ ๑๔ มิถุนายน จู่ๆ หลวงพิบูลสงครามก็เสนอวาระจรเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ดังนี้


๙. เรื่องการเปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็นไทย

นายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม : เรื่องการเปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็นไทยนั้น ควรให้นายอาร์. กียอง ทำบันทึกขึ้นมาเพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป

ที่ประชุมตกลงว่า เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายที่จะเปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็นประเทศไทย ฉะนั้นให้ส่งเรื่องให้นายอาร์. กียอง ที่ปรึกษาในการร่างกฎหมาย ทำบันทึกเสนอประกอบการพิจารณาว่าควรจะทำประการใด เป็นต้นว่าจะต้องออกพระราชบัญญัติทำนองพระราชบัญญัติเทียบตำแหน่งรัฐมนตรีกับตำแหน่งเสนาบดีแต่ก่อน พ.ศ. ๒๔๗๕ หรือประการใด๒๙

ผมสงสัยว่า หลวงพิบูลสงครามอาจจะเกิดความลังเลใจเมื่อใกล้จะถึงวันที่ ๒๔ มิถุนายน ว่าปัญหาในเชิงกฎหมายของการเปลี่ยนชื่อประเทศ อาจจะไม่ใช่ "เพียงแก้ถ้อยคำเท่านั้น ไม่สำคัญอะไร" จึงเสนอเรื่องนี้ขึ้นมา หลังจากนั้น ๑ สัปดาห์ หรือเพียง ๓ วันก่อนวันที่ ๒๔ มิถุนายน บันทึกที่นายอาร์. กียองทำขึ้น ก็ถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี :


๑. เรื่องการเปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็นประเทศไทย (เนื่องจากรายงานประชุมครั้งที่ ๑๕/๒๔๘๒ ข้อ ๙)

นายดิเรก ชัยนาม : ตามที่คณะรัฐมนตรีได้ลงมติให้นายอาร์. กียอง ที่ปรึกษาในการร่างกฎหมาย ทำบันทึกเรื่องที่จะเปลี่ยนชื่อประเทศเสนอมาเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีนั้น บัดนี้นายอาร์. กียองได้เสนอบันทึกมาแล้ว สรุปความได้ว่าจะทำเป็นแบบแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือแบบพระราชบัญญัติตามปกติก็ได้ ดั่งบันทึกความเห็นและร่างที่ได้แจกเสนอไปแล้ว (แนบท้ายรายงานนี้)

หลวงวิจิตรวาทการ : ชั้นแรกได้ดำริจะเอาผลในทางพฤตินัยก่อน คือขอมติสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ถ้าจะเอาผลในทางนิตินัยควรเลือกเอาวิธีแก้รัฐธรรมนูญดีกว่า แต่ถ้าจะเลือกเอาวิธีนี้ จะให้ทันวันที่ ๒๔ มิถุนายนไม่ได้

นายพันโทประยูร ภมรมนตรี : เราขอนโยบายจากสภาผู้แทนราษฎรก่อนได้ ส่วนวิธีการในกฎหมายก็ดำเนินการกันต่อไป

หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ : เราจะประชุมสมาชิกสภาภายในเพื่อซ้อมความเข้าใจหรือให้รับนโยบายเท่านั้นไม่พอ กรณีย์อยู่ที่ว่าจะแก้อย่างไร ถ้าคิดว่าจะได้คะแนนเสียง ๓ ใน ๔ ก็ควรเสนอขอแก้รัฐธรรมนูญดีกว่า

หลวงวิจิตรวาทการ : ในชั้นนี้ควรเอาเพียงในวันที่ ๒๔ มิถุนายน นายกรัฐมนตรีออกประกาศเปลี่ยนนามประเทศก็น่าจะพอ

นายนาวาเอกหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ : ตามบันทึกของนายอาร์. กียอง มีวิธีทำ ๒ วิธี คือ ๑. แก้รัฐธรรมนูญ ๒. ออกเป็นพระราชบัญญัติ ในเรื่องนี้อย่างไรก็ดี อย่างน้อยต้องทำเป็นพระราชบัญญัติ เราควรตกลงว่าจะเอาอย่างไรเสียก่อน ส่วนที่จะทำประการใด เมื่อใดนั้น พูดกันทีหลังได้ สำหรับนายอาร์. กียอง รักในทางให้แก้รัฐธรรมนูญ ในทางนโยบายนั้น รัฐบาลออกเป็นพระราชบัญญัติดีกว่าแก้รัฐธรรมนูญ เพราะแก้รัฐธรรมนูญต้องลงคะแนนเสียง ๓ ใน ๔

นายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม : ควรใช้วิธีแก้รัฐธรรมนูญ การลงคะแนนเสียงจะแพ้หรือชะนะก็ตาม

หลวงวิจิตรวาทการ : ถ้าวันที่ ๒๔ มิถุนายน ไม่พูดถึงเรื่องนี้เลยในสภา รัฐบาลก็ทำได้ ๒ วิธี คือ ๑. ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีว่า ในวงราชการของรัฐบาล จะใช้คำว่า "ไทย" แต่บัดนี้ไป ๒. ประกาศเป็นสุนทรพจน์ของนายกรัฐมนตรี ให้ประชาชนใช้คำว่า "ไทย" แล้วจะได้เสนอแก้รัฐธรรมนูญต่อไป ข้าพเจ้าใคร่จะขอให้มีการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดในวันที่ ๒๔ มิถุนายน เพื่อให้ได้ชื่อว่าเปลี่ยนวันที่ ๒๔ มิถุนายน

นายนาวาเอกหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ : เปลี่ยนนามประเทศนั้นตกลงเปลี่ยน แต่จะทำวิธีใดก็ตาม ถ้าครึกโครมน้อยและมีเรื่องน้อยเป็นดีที่สุด การแก้รัฐธรรมนูญไม่เชื่อว่าจะมีเสียงมากในสภา ฉะนั้นจึ่งเห็นว่าถ้าออกเป็นพระราชบัญญัติได้จะดี แต่อย่างไรก็ดี ถ้าแก้รัฐธรรมนูญได้เป็นดีที่สุด

นายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม : เราประกาศจนเห็นว่าคนไทยชอบดีแล้ว ภายหลังจะแก้รัฐธรรมนูญหรือออกพระราชบัญญัติก็แล้วแต่ สมาชิกสภาจะเสนอว่าควรทำอย่างไร ก็ให้เป็นหน้าที่ของเขา

ที่ประชุมตกลงว่า ให้มอบเรื่องนี้ให้กรรมการรัฐนิยม ยกร่างประกาศเสนอมาต่อไป๓๐


ขอให้สังเกตว่า คำพูดของหลวงวิจิตรวาทการ (ที่ผมเน้นอันแรก) ดูเหมือนจะยืนยันข้อสันนิษฐานของผมที่ว่า หลวงพิบูลสงครามเองคงเปลี่ยนใจให้ลองหาทางว่าจะเปลี่ยนชื่อประเทศโดยกฎหมายได้หรือไม่ ทั้งที่เดิมตั้งใจจะให้เพียงประกาศหรือขอมติสภา "ทางพฤตินัย" ก่อนเท่านั้น และเมื่อพูดถึงการใช้กฎหมาย หลวงพิบูลสงครามมีแนวโน้มไปในทางให้ทำแบบเต็มที่ คือแก้รัฐธรรมนูญไม่ใช่เพียงออกพระราชบัญญัติเรียกชื่อ ("ควรใช้วิธีแก้รัฐธรรมนูญ การลงคะแนนเสียงจะแพ้หรือชะนะก็ตาม") เมื่อเห็นว่าการใช้กฎหมายเปลี่ยนชื่อประเทศไม่สามารถทันวันที่ ๒๔ มิถุนายน จึงหันกลับมาให้ใช้ "ทางพฤตินัย" อีก แต่ไม่เรียกประชุมสภาขอมติแบบความตั้งใจเดิม เหลือแต่ให้ประกาศเฉยๆ เข้าใจว่าอาจจะเพราะไม่ทันแล้วเช่นกัน ขอให้สังเกตคำพูดของหลวงวิจิตรวาทการ (ที่ผมเน้นอันที่ ๒) ซึ่งย้ำความสำคัญเชิงสัญลักษณ์ของการ "ได้ชื่อว่าเปลี่ยนวันที่ ๒๔ มิถุนายน" ถึงตรงนี้ "คณะกรรมการรัฐนิยม" ที่ตั้งขึ้นเพื่อจัดการกับเรื่องอื่น (มารยาทสังคม) จึงเข้ามามีบทบาท ถูกมอบหมายให้ไปร่างประกาศนี้มา นับเป็นงานชิ้นแรกสุดของคณะกรรมการ ซึ่งต้องรีบเรียกประชุมอย่างเร่งด่วนเป็นครั้งแรกในวันที่ ๒๒ เพื่อเรื่องนี้ (ดังจะได้เห็นข้างล่างว่า ตอนแรกประกาศที่ร่างโดยคณะกรรมการไม่ได้ใช้ชื่อ "รัฐนิยม" ด้วยซ้ำ)๓๑ การเปลี่ยนชื่อประเทศซึ่งเริ่มต้นด้วยความตั้งใจจะให้เป็นเรื่องใหญ่โตในวันชาติปีแรก จึงเหลือเพียงแค่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับเดียว๓๒


ร่างคำประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศ

วันศุกร์ที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๔๘๒ ก่อนวันชาติครั้งแรก ๑ วัน คณะรัฐมนตรีได้ประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องชื่อประเทศเพียงวาระเดียว มีรัฐมนตรีเข้าประชุม ๑๗ คน (หลวงพิบูลสงครามถูกระบุชื่อ ๓ ครั้งตาม ๓ ตำแหน่ง) พร้อม ม.จ.วรรณไวทยากร และนายดิเรก ชัยนาม ขาดประชุม ๖ คน (เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ หลวงโกวิท หลวงชำนาญ หลวงนาวา หลวงสฤษฎ หลวงสังวร) ใช้เวลา ๑ ชั่วโมงครึ่ง (จาก ๙.๓๐ ถึง ๑๑.๐๐ นาฬิกา) ดังนี้


๑. เรื่องชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติ

นายดิเรก ชัยนาม : คณะกรรมการรัฐนิยมรายงานว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้คณะกรรมการฯ ร่างประกาศรัฐนิยมเกี่ยวกับชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาตินั้น บัดนี้คณะกรรมการฯ ได้ยกร่างเสร็จแล้ว จึ่งขอเสนอมาเพื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา (ดั่งได้แนบไว้ท้ายรายงานนี้)

นายพลเรือตรีหลวงสินธุสงครามชัย : คำคุณศัพท์ใช้อย่างไร

หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ : ใช้ Thai

หลวงประดิษฐมนูธรรม : ภาคไทยตกลงกันได้ เราใช้ชื่อ "ไทย" ให้คนรู้จักเราดีขึ้น แต่ในภาคต่างประเทศ ชาวต่างประเทศรู้จักเราในนาม Siam ควรให้คง Siam หรือ Siamese ไว้ก่อน

อนึ่ง เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับกฎหมายด้วย โดยเฉพาะกระทรวงการคลังมีพระราชบัญญัติเงินตรา เรียกเงินตราว่า เงินตราสยาม ฉะนั้นถ้าจะเติมความใด ยกเว้นกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ได้ก็จะเหมาะสมดี

นายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม : ตามที่หลวงประดิษฐมนูธรรมกล่าว ข้าพเจ้าไม่ขัดข้อง

นายพันตำรวจเอกหลวงอดุลเดชจรัส : คำพูดในกฎหมายใดมีคำว่า "สยาม" จะยกมาอ้างก็ได้ แต่ถ้าไม่เกี่ยวกับกฎหมาย ให้ปฏิบัติตามนี้

นายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม : เติมลงอีกข้อหนึ่งก็ได้ว่า บรรดาคำว่า "สยาม" ที่ใช้อยู่ในกฎหมาย หรือในกรณีย์ผูกพันกับกฎหมายใดๆ ก็ให้ใช้คำว่า "สยาม" ต่อไปได้

ที่ประชุมตกลงว่า ให้แก้ร่างประกาศนี้ ๑. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรัฐนิยมใช้ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติ ๒. ให้เติมความลงในตอนท้ายว่า "แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงกรณีย์ที่มีบทกฎหมายบัญญัติคำว่า "สยาม"" ไว้ ๓. ให้แก้ถ้อยคำเล็กน้อย ดั่งได้แก้ไว้ด้วยหมึกแดง.๓๓


ผมขอจำลองต้นฉบับร่างประกาศฉบับนี้ พร้อมร่องรอยการแก้ไข มาให้ดูกันในที่นี้ (ส่วนที่แก้ ความจริงเป็นลายมือ เข้าใจว่าอาจจะของนายดิเรก ชัยนาม เขียนด้วยหมึกแดง) ดังนี้

ขอให้สังเกตว่า ปัญหาการใช้คำภาษาอังกฤษนั้น ปรีดีเพิ่งเสนอเป็นครั้งแรกในที่ประชุมครั้งนี้ ว่าควรคงคำว่า Siam และ Siamese ไว้ (หลังจากเพียงเตือนให้ "ขอให้คิดให้ดีด้วย" ในการประชุมวันที่ ๒๒ พฤษภาคม) และความจริง หลวงพิบูลสงครามยอมรับแล้ว ปรีดีไม่ได้ถูกคัดค้านอย่างมากในเรื่องนี้อย่างที่เขาเขียนในบทความปี ๒๕๑๗ แต่มติที่ประชุมตามบันทึกกลับไม่ได้ระบุไว้ (ให้คง Siam) อาจจะเป็นด้วยเหตุนี้ ทำให้ไม่มีการแก้คำภาษาอังกฤษที่คณะกรรมการฯ ร่างมา อย่างไรก็ตาม ๔ วันหลังการประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศ ปรีดีและ ม.จ.วรรณไวทยากร ได้เสนอเรื่องต่อไปนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี



๑๐. เรื่องคำชี้แจงวิธีเขียนชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติ

นายดิเรก ชัยนาม : เนื่องจากประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๒ ว่าด้วยรัฐนิยมให้ใช้ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติของไทยแล้วนั้น บัดนี้ ที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี และหลวงประดิษฐมนูธรรม ได้ยกร่างคำชี้แจงเพิ่มเติมเสนอมา ดั่งต่อไปนี้

ในภาษาไทย ไม่มีข้อที่น่าสงสัย

ในภาษาอังกฤษ คำว่า Thai ซึ่งเป็นชื่อประชาชนและสัญชาตินั้น ให้ใช้ได้ทั้งที่เป็นนาม และคุณศัพท์ และถ้าเป็นนามพหูพจน์ ให้ใช้ s เติมท้าย เป็น Thais

อนึ่ง ในเวลาเริ่มแรกใช้ และคำว่า Thailand หรือ Thai ยังไม่แพร่หลายรู้จักกันเพียงพอเช่นนี้ ให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจ ถ้าเห็นว่าเขียนฉะพาะคำ Thailand หรือ Thai ผู้อ่านจะยังไม่ทราบ ก็ให้วงเล็บคำ Siam หรือ Siamese ต่อท้ายให้เข้าใจชัดแจ้ง

ที่ประชุมตกลง เห็นชอบด้วย และให้แจ้ง ให้กระทรวงทะบวงกรมทราบ เพื่อถือเป็นหลักปฏิบัติต่อไป๓๔

จะเห็นว่า รายงานการประชุมครั้งนี้ เช่นเดียวกับครั้งที่แล้ว ก็ไม่สนับสนุนการเล่าของปรีดีในบทความปี ๒๕๑๗ ที่ว่าเขาโต้แย้งเรื่องคำภาษาอังกฤษอย่างหนัก แต่ก็ยืนยันว่า เขามีความห่วงใยเรื่องนี้ในสมัยนั้นจริง ถึงกับไปยกร่างมตินี้มา อย่างไรก็ตามขอให้สังเกตว่า ข้อเสนอของเขาก็เพียงแต่ให้ใส่วงเล็บชื่อ Siam ไว้หลัง Thailand "ในเวลาเริ่มแรกใช้" เท่านั้น (แม้แต่ในการประชุมวันที่ ๒๓ มิถุนายนข้างต้น เขาก็เพียงกล่าวว่า "ควรให้คง Siam และ Siamese ไว้ก่อน"-คือชั่วคราวเท่านั้น) ยิ่งกว่านั้น ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ ๗ กรกฎาคม เมื่อเรื่องชื่อประเทศในภาษาอื่นเข้าสู่การพิจารณาอย่างเป็นประเด็นสำคัญ (ทีเดียว ๓ ภาษา และเรื่องที่นั่งในสันนิบาตชาติ) ก็ไม่ปรากฏว่าปรีดีได้แสดงความเห็นอะไรเป็นพิเศษ :


๗. เรื่องกระทรวงการต่างประเทศหารือคำว่า Thailand และ Thai ในภาษาต่างประเทศ

นายดิเรก ชัยนาม : กระทรวงการต่างประเทศหารือว่า ๑. จะใช้ Thailand และ Thai ในภาษาฝรั่งเศส, เยอรมัน, อิตาลี ประการใด ๒. ในสันนิบาตชาติ จะให้ผู้แทนไทยนั่งในลำดับ Thailand หรือในลำดับ Siam ๓. รัฐบาลไทยจะบอกแก้ชื่อประเทศไปยังไปรษณีย์สากลหรือไม่

หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ : เรื่องนี้เคยถามทูตอิตาเลียนว่าใช้อย่างไร ทูตบอกว่า ชื่อประเทศใช้ว่า Thailandia คนไทยใช้ว่า Thai สำหรับฝรั่งเศส เลขานุการสถานทูตว่าได้ใช้โดยอนุโลมว่า La Thailande สำหรับเยอรมันนั้นไม่มีปัญหา คงใช้ว่า Thailand แต่บนตัว i มีจุด ๒ จุด

ที่ประชุมตกลงว่า

๑. ภาษาฝรั่งเศส ใช้ La Thailande และ Thai

๒. ภาษาเยอรมัน ใช้ Thailand และ Thai

๓. ภาษาอิตาเลียนใช้ Thailandia และ Thai


ผู้แทนไทยนั่งในลำดับ Thailand ให้ทำเท่าที่จะทำได้๓๕

ควรกล่าวด้วยว่า ขณะที่ปรีดีกล่าวในปี ๒๕๑๗ ว่า คำว่า Thailand เป็นการยืนกรานของ "ผู้ที่ได้รับคำยกย่องว่ามีความรู้ในภาษาต่างประเทศรวมทั้งหลวงวิจิตรวาทการ" แต่หลวงวิจิตรวาทการเองกลับยืนยันระหว่างการอภิปรายเรื่องชื่อประเทศในสภาร่างรัฐธรรมนูญปี ๒๕๐๔ ว่า

คำว่า "ไทยแลนด์" นี่กระผมสารภาพว่ากระผมเองก็ไม่ชอบคำว่า "ไทยแลนด์" ในสมัยที่เปลี่ยนแปลงชื่อประเทศนั้น กระผมอยู่ในคณะรัฐมนตรี กระผมได้เสนอให้ใช้คำว่า "ไทย" เฉยๆ อย่าไปเอา "แลนด์" เข้า แต่ก็รังเกียจกัน บอกว่าชื่อประเทศพยางค์เดียวนั่นมันจะไม่ดี ผมก็ว่าประเทศอื่นก็มีอย่างฟร้านซ์ อย่างกรีซ มีเหมือนกัน ทำไมเราจะใช้คำว่าไทยเฉยๆ ไม่ได้ แต่ท่านผู้ใหญ่ในสมัยนั้นท่านยืนยัน จะเอาไทยแลนด์ เราก็ปล่อยไป๓๖

แต่รายงานประชุมคณะรัฐมนตรีก็ไม่ได้สนับสนุนข้ออ้างของหลวงวิจิตรวาทการเช่นกันที่ว่าเขาเสนอให้ใช้ คำว่า Thai เฉยๆ (คงจำได้ว่า ปรีดีเองก็อ้างว่าเขาเสนอว่าถ้าไม่เอา Siam ก็ให้ใช้ Muang Thai) ผมสงสัยว่า อาจเป็นได้ที่หลวงวิจิตรวาทการจะจำคลาดเคลื่อน คือความจริง ไม่ได้มีการถกเถียงในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แต่เป็นในที่ประชุมคณะกรรมการรัฐนิยม (วันที่ ๒๒ มิถุนายน) ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ก็อาจเป็นได้ว่า "ท่านผู้ใหญ่" ที่ยืนกรานให้ใช้ Thailand จริงๆ คือ ม.จ.วรรณไวทยากร ที่ปรึกษาคณะกรรมการ (ปรีดีเองพูดถึง "ผู้ที่ได้รับคำยกย่องว่ามีความรู้ในภาษาต่างประเทศ" ราวกับมีคนอื่นนอกจากหลวงวิจิตรวาทการด้วย ซึ่งในกรณีนี้ก็มีแต่ "ท่านวรรณ" เท่านั้น)


"ประเทศไทย" อายุครบ ๖๕

ความจริง ดังที่รัฐมนตรีทุกคนย่อมทราบแก่ใจเป็นอย่างดี "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรัฐนิยมใช้ชื่อประเทศ, ประชาชน และสัญชาติ" นี้ ไม่มีผลในทางกฎหมายจริงๆ อีก ๒ เดือนต่อมา ในวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๔๘๒ รัฐบาลจึงได้นำเสนอ "ร่างพระราชบัญญัติรัฐธรรมนูญขนานนามประเทศ" ต่อสภาผู้แทนราษฎร คำแถลงของหลวงพิบูลสงครามไม่พยายามปิดบังว่า การต่อต้านคนจีน คือแรงผลักดันการเรียกชื่อประเทศใหม่ :

การที่เราใช้คำว่า ประเทศสยามนั้น นอกจากจะไม่ตรงกับเชื้อชาติของเราแล้ว ในต่อไปภายหน้าคนชาวต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในประเทศของเรา ก็อาจที่จะถือเอาสิทธิประเทศของเราเป็นประเทศของเขาก็ได้ คือเราเป็นชาวไทย เราก็อยู่ในประเทศสยาม ชาวจีนก็อยู่ในสยาม ถ้าหากว่าการที่อพยพของชาวต่างประเทศมากขึ้นในต่อไปข้างหน้าตั้งพันปี เราก็อาจจะไม่เข้าใจว่าประเทศสยามนี้เป็นของไทยหรือของจีน หรือของคนอื่น๓๗

ที่น่าสังเกตคือ ไม่มีสมาชิกสภาคนใดแสดงความเห็นคัดค้าน หรือยกประเด็นความเป็นไปได้ที่ชื่อใหม่จะทำให้เกิดความรู้สึกแบ่งแยกสำหรับคนที่ไม่ใช่เชื้อชาติไทย ทำนองเดียวกับที่หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์เสนอในการอภิปรายเรื่องนี้ครั้งแรกในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นับว่าแปลกพอสมควร หากคำนึงถึงว่า ๑ ปีก่อนหน้านั้น เมื่อหลวงวิจิตรวาทการปาฐกถาแอนตี้จีน ยังทำให้เกิดการตั้งกระทู้ในสภา ๒ ครั้ง ประเด็นเดียวที่มีการถกเถียงกันเป็นเรื่องทางเทคนิคว่าควรถือว่ากฎหมายที่จะออกเป็นการ "แก้ไข" หรือ "เพิ่มเติม" รัฐธรรมนูญ (ความจริง ในทางกฎหมายไม่ต่างกัน เพราะการ "เพิ่มเติม" ก็เป็นการ "แก้ไข" อย่างหนึ่ง มาตรา ๖๓ ของรัฐธรรมนูญเขียนไว้ด้วยกันว่า "แก้ไขเพิ่มเติม"!) ในที่สุดก็ให้ลงคะแนนในฐานะที่เป็นการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องใช้คะแนน ๓ ใน ๔ คงจำได้ว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเคยมีการแสดงความกังวลเรื่องนี้ แต่ปรากฏว่าสมาชิกสภาที่เข้าประชุมทุกคนลงคะแนนเห็นชอบให้เรียกชื่อประเทศใหม่อย่างเป็นเอกฉันท์ ๑ เดือนต่อมา เมื่อกฎหมายนี้ถูกนำเข้าพิจารณาในวาระสุดท้ายอีกครั้งในชื่อใหม่ "ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยขนานนามประเทศ" (ตามบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ว่าถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญต้องเว้นระยะห่างระหว่างวาระแรกกับวาระสุดท้าย ๑ เดือน) ประเด็นเดียวที่ถกเถียงกัน และใช้เวลาถึง ๑ ชั่วโมง คือ ชื่อใหม่ควรเขียนโดยมี "ย" หรือไม่ ปรากฏว่า การลงมติออกมาใกล้กันมาก คือให้มี "ย" ๖๔ เสียง ไม่ให้มี "ย" ๕๗ เสียง เมื่อถึงเวลาลงมติรับรองครั้งสุดท้าย ทุกคนที่มาประชุมก็ให้การเห็นชอบเป็นเอกฉันท์อีก๓๘

แน่นอนว่า ปัญหาชื่อประเทศไม่ได้ยุติลงที่การออกกฎหมายนี้ ความ irony อย่างใหญ่หลวงของเรื่องนี้คือ ขณะที่ระหว่างการเปลี่ยนชื่อ มีความเป็นเอกฉันท์ชนิดไม่มีการอภิปรายทั้งในสภาและในคณะรัฐมนตรี แต่หลังจากนั้น เมื่อความเป็นไปได้ของการกลับไปใช้ชื่อเดิมมีน้อยลงๆ การถกเถียงกลับเป็นไปอย่างแข็งขัน (อย่างน้อยในสภา) ช่วงเดียวในประวัติศาสตร์หลังเปลี่ยนชื่อเป็นไทย ที่ผมคิดว่ามีความเป็นไปได้มากที่สุดที่จะเปลี่ยนชื่อกลับเป็นสยาม คือเมื่ออำนาจทางการเมืองผ่านมาอยู่ในมือปรีดีหลังสงคราม (และสถาปนิกสำคัญของการเปลี่ยนชื่อเป็นไทยทั้งหลวงพิบูลสงครามและหลวงวิจิตรวาทการกลายเป็นผู้ต้องหาในคุก ไม่ต้องพูดถึงการเสียเครดิตของเชื้อชาตินิยมของพวกเขา) ถ้าหากในปลายปี ๒๔๘๘ ปรีดีจะเสนอกฎหมายยกเลิกการแก้รัฐธรรมนูญปี ๒๔๘๒ ไม่มีปัญหาเลยว่าเขาจะได้รับเสียงเพียงพอในสภา (๓ ใน ๔) หรือจะยิ่งได้ผลกว่านั้นคือถ้าใช้ชื่อสยามในรัฐธรรมนูญใหม่ที่เขาชี้นำการร่าง แต่แทนที่จะทำเช่นนั้น ปรีดีเพียงแต่ให้รัฐบาลทวี บุณยเกตุ ประกาศให้ใช้ Siam กับ Siamese ในภาษาอังกฤษ "ส่วนชื่อในภาษาไทยให้คงใช้ว่า "ไทย" ไปตามเดิม" ซึ่งไม่เป็นการยากอะไรที่จอมพล ป. จะยกเลิกเมื่อกลับมีอำนาจอีกครั้ง๓๙ หลังปรีดีปล่อยให้โอกาสเปลี่ยนชื่อประเทศคืนผ่านไปแล้ว การถกเถียงเรื่องชื่อไทยหรือสยามครั้งใหญ่ ๒ ครั้ง คือ ในสภาร่างรัฐธรรมนูญปี ๒๔๙๑ และในสภาร่างรัฐธรรมนูญปี ๒๕๐๔ ก็มีลักษณะเชิง "วิชาการ" มากขึ้น คือไม่สัมพันธ์กับกระแสการเมืองรอบข้างนัก (ไม่มีกระแสหรือขบวนการชาตินิยม-เชื้อชาตินิยมในสังคมวงกว้าง) แม้ว่าครั้งแรกจะลงเอยด้วยมติที่คะแนนเสียงใกล้กันมาก คือ ไทย ๑๘ เสียง สยาม ๑๔ เสียง แต่พอถึงครั้งหลัง ลักษณะเชิง "วิชาการ" ยิ่งชัดเจนขึ้น เพราะขณะที่คุณภาพของการอภิปรายโดยทั่วไปเหนือกว่าปี ๒๔๙๑ มาก (รวมทั้งการให้เหตุผลสนับสนุนชื่อสยามที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีการให้กันมา โดย พลตรีแสวง เสณาณรงค์) และใช้วันประชุมถึง ๓ ครั้ง แต่คะแนนที่ออกมาเห็นได้ชัดถึงความเป็น "วิชาการ" ของการถกเถียงทั้งหมด คือ ไทย ๑๓๔ เสียง สยามเพียง ๕ เสียง (แสดงว่า ไม่มีกระแสในเรื่องชื่อนี้จริงๆ เท่าไร ไม่สอดคล้องกับเวลาที่อุทิศให้) เมื่อถึงการร่างรัฐธรรมนูญปี ๒๕๑๗ ก็มีสมาชิกสภานิติบัญญัติเสนอเรื่องชื่อขึ้นมาอีกอย่างผ่านๆ ประปรายเพียง ๒-๓ คน ซึ่งเกือบไม่ได้รับความสนใจจากสมาชิกคนอื่นเลย๔๐ โดยสรุปคือ ปัญหาชื่อไทยหรือสยามได้ "ตาย" ไปในทางการเมืองและสังคมนานแล้ว อย่างไรก็ตาม "เสียงสะท้อน" ของการวิวาทะเรื่องนี้กลับเป็นจุดเริ่มต้นให้กับการผลิตงานวิชาการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดชิ้นหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย ในสถานที่ที่ไม่ใครคาดถึง : ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ ของ จิตร ภูมิศักดิ์...

แต่นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่ต้องพูดถึงต่างหากออกไป.



เชิงอรรถ

๑. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๖. วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๒, หน้า ๘๑๐.

๒. ผมได้เล่ารายละเอียดของการกำหนดวันชาติ ๒๔ มิถุนา และกิจกรรมเฉลิมฉลองต่างๆ ที่ตามมา ในบทความที่อยู่ระหว่างการตีพิมพ์เรื่อง "ประวัติศาสตร์วันชาติไทย จาก ๒๔ มิถุนา ถึง ๕ ธันวา" เพลงชาติปัจจุบันซึ่งเกิดขึ้นในปีนั้นและยังอยู่กับเราเช่นกัน เป็นผลมาจากการเปลี่ยนชื่อประเทศอีกทีหนึ่ง ผมจะเขียนถึงกำเนิดเพลงชาติในอีกบทความหนึ่งต่างหาก

๓. Charnvit Kasetsiri. "From Siam to Thailand : What is in a Name?", Paper given at "International Conference on Post Colonial Society and Culture in Southeast Asia", 16-18 December 1998. Yangon, Myanmar ผมใช้ฉบับที่นำมาเสนอซ้ำในการสัมมนาวิชาการ "ไทย-สยาม : นามนั้นสำคัญไฉน" จัดโดยภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๒.

๔. ทั้งบทความของปรีดี และการอภิปรายของสภาร่างรัฐธรรมนูญปี ๒๕๐๔ ได้รับการรวมอยู่ใน สุพจน์ ด่านตระกูล. ไทยหรือสยาม. สำนักพิมพ์สันติธรรม, ๒๕๒๘. ปรีดีกล่าวว่า บทความของเขา "เรียบเรียงจากเค้าความบางตอนในต้นฉบับของหนังสือ Ma vie mouvememte et mes 21 ans d"exil en chine populaire" ของเขา อย่างไรก็ตาม ตัวหนังสือ "ต้นฉบับ" กล่าวถึงเรื่องนี้น้อยมาก (ดูในหน้า ๑๕-๑๘ ของหนังสือดังกล่าว)


๕. สุพจน์ ด่านตระกูล. ไทยหรือสยาม. หน้า ๘-๑๓.

๖. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. "การประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙", ศิลปวัฒนธรรม. ตุลาคม ๒๕๔๖.

๗. รายละเอียดใน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. "ประวัติศาสตร์วันชาติไทย".

๘. รายงานประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๑/๒๔๘๒, วันที่ ๓ เมษายน ๒๔๘๒.

๙. รายงานประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๒/๒๔๘๒, วันที่ ๘ เมษายน ๒๔๘๒.

๑๐. รายงานประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๔/๒๔๘๒, วันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๔๘๒.

๑๑. ในบทความ "ประวัติศาสตร์วันชาติไทย" ผมได้กล่าวถึงลักษณะเฉพาะตัวของหลวงวิจิตรวาทการอย่างหนึ่ง ที่มักแสดงต่อคนอื่นว่าเป็นเพียงผู้สนองความคิดของผู้นำ ทั้งที่ความจริงเขาเองเป็นเจ้าของความคิดนั้นและริเริ่มผลักดันให้ผู้นำหยิบไปเสนอ (ดูเชิงอรรถที่ ๔๖ ของบทความดังกล่าว)

๑๒. ดังที่เห็นข้างต้น หลวงวิจิตรวาทการเห็นว่าสยามเป็นชื่อดินแดนของขอม และจีนเอาชื่อสยาม ("เสียมหลอก๊ก") ไปจากขอมอีกทีหนึ่ง เขาจะกล่าวถึงประเด็นแรกไว้อย่างชัดเจนในปาฐกถาเรื่องนี้ในไม่กี่สัปดาห์ต่อมา (ดูข้างล่าง) ดังนี้ : "คำ "สยาม" นี้...ได้มีผู้พยายามคิดค้นและแปลกันไปต่างๆ เช่นแปลว่าผิวคล้ำหรือผิวดำ เลยอธิบายกันต่อไปว่า เพราะชนชาติไทยมีผิวดำคล้ำจึงได้นามว่าสยาม ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ คำว่า "สยาม" เป็นแต่ชื่อเมืองเมืองหนึ่งซึ่งเป็นแหล่งการปกครองของขอมในสมัยโบราณเท่านั้น ชื่อ "สยาม" นี้มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องอันใดกับชนชาติไทยเลย" หลวงวิจิตรวาทการ. "สยามกับไทย", ประชาชาติ. วันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๔๘๒.

๑๓. ปรีดีเองในบทความปี ๒๕๑๗ ดังกล่าว พยายามเถียงความเป็นมาของคำเหมือนกัน นอกจากประเด็นที่เขาจำผิดเรื่องหลวงวิจิตรวาทการเสนอว่าสยามแปลว่าดำหรือมาจากจีน (ซึ่งเขาเถียงว่าไม่ใช่) ข้างต้นแล้ว ปรีดีอ้างกฎหมายตรา ๓ ดวงที่เขาเคยเป็นบรรณาธิการ มายืนยันว่า "สยาม" เคยเป็นชื่อเรียกรัฐไทยมานานแล้ว คือก่อนสมัยรัชกาลที่ ๔ ตามที่หลวงวิจิตรวาทการอ้าง (สุพจน์ ด่านตระกูล. ไทยหรือสยาม. หน้า ๑-๘.) อันที่จริง ในระหว่างที่มีการถกเถียงทางหน้าหนังสือพิมพ์เรื่องเปลี่ยนชื่อประเทศในปี ๒๔๘๒ (ดูข้างล่าง) มีผู้พูดเรื่องนี้เหมือนกันว่า สยามมีใช้อยู่ในกฎหมายตรา ๓ ดวง และในเตลงพ่ายที่แต่งก่อนรัชกาลที่ ๔ แต่เขายังยืนยันว่า ควรเปลี่ยนชื่อเป็นไทย (๔๔๔, "ความเห็นสายกลางเรื่องเปลี่ยนชื่อประเทศ", ประชาชาติ. ๑๒ มิถุนายน ๒๔๘๒.)

๑๔. ลักษณะแอนตี้จีนของหลวงวิจิตรวาทการ หรือผู้นำใหม่หลัง ๒๔๗๕ คนอื่นๆ เป็นสิ่งที่รู้กันทั่วไป แต่ผมคิดว่า ยังไม่มีงานใดที่เขียนถึงเรื่องนี้ได้ดีจริงๆ โดยเฉพาะในประเด็นที่ตัวหลวงวิจิตรวาทการเอง และผู้นำคนอื่นๆ (เช่นพระยาพหลพลพยุหเสนาหรือปรีดี) มีเชื้อสายจีน พูดอีกอย่างคือ ความเป็นลูกจีนของผู้นำ "ไทย" เหล่านี้ มีผลอย่างไร ต่อลักษณะ "ชาตินิยม" แอนตี้จีนของพวกเขา? เรื่องนี้ ตามที่ผมเข้าใจ มีเพียงสกินเนอร์เคยพูดถึงอย่างตรงๆ เมื่อ ๔๐ กว่าปีที่แล้ว G. William Skinner. Chinese Society in Thailand : An Analytical Histoy. Cornell University Press, 1957, pp.244-253.

๑๕. หลวงวิจิตรวาทการ. "ปาฐกถาเรื่องการเสียดินแดนไทยให้แก่ฝรั่งเศส" แสดงแก่ครูอาจารย์และนักเรียนกรมยุทธศึกษา ณ หอประชุมศิลปากร วันพฤหัสบดีที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๔๘๓ ใน วิจิตรอนุสรณ์. (คณะรัฐมนตรี, ๒๕๐๕), หน้า ๑๕๗-๑๖๒. โดยเฉพาะที่หน้า ๑๕๘-๑๕๙ : "ท่านนายกรัฐมนตรีของเราได้เคยกล่าวมาหลายครั้งว่า ต่อไปนี้เราจำจะต้องเป็นมหาประเทศหรือมิฉะนั้นก็จะต้องล่มจม ที่ท่านนายกรัฐมนตรีกล่าวเช่นนี้เป็นความจริง สภาพของโลกในกาลต่อไปจะต้องมีการปฏิวัติผิดแปลกกับที่เป็นมาจนกระทั่งถึงบัดนี้ กล่าวคือจำนวนประเทศเล็กๆ จะต้องถูกกลืนหายเข้าไปในประเทศใหญ่ ประเทศเล็กๆ ซึ่งอยู่ใกล้รัสเซียได้ถูกกลืนหายเข้าไปในสหภาพโซเวียตเกือบหมดแล้ว สงครามคราวนี้เสร็จสิ้นลงเมื่อใด แผนที่โลกจะแปลกตาเราทันที ประเทศเล็กๆ น้อยๆ จะหมดไป เหลือแต่ประเทศใหญ่ๆ อุปการณ์ของโลกจะต้องเป็นเช่นนี้อย่างแน่นอน ฉะนั้นเราจึงมีทางเลือกอยู่เพียง ๒ ทาง คือเป็นมหาประเทศเสียเอง หรือล่มจมถูกกลืนหายเข้าไปในมหาประเทศใดประเทศหนึ่ง ถ้าหากเราได้ดินแดนที่เสียไปนั้นกลับคืนมา เรามีหวังที่จะเป็นมหาประเทศ เพราะว่าถ้าเราได้ดินแดนที่เสียไปนั้นกลับคืนมาทั้งหมด นอกจากเราจะได้เนื้อที่เพิ่มขึ้นกว่าที่อยู่ในเวลานี้อีกเท่าตัว และได้จำนวนพลเมืองเพิ่มขึ้นอีกราว ๔ ล้านคนแล้ว จะมีผลอันสำคัญยิ่งอีกอย่างหนึ่งคือ เราจะสามารถมีดินแดนเข้าไปถึงถิ่นไทยอันกว้างขวาง ซึ่งตั้งอยู่เหนือสิบสองจุไทย ที่นั่นมีเลือดเนื้อเชื้อไขเราอยู่ ๒๔ ล้านคน ซึ่งยังถือตนเป็นคนไทย พูดภาษาไทย มีชีวิตจิตใจเป็นไทย เราสามารถจะเปิดประตูรับพี่น้อง ๒๔ ล้านคนของเราเข้ามาหาเรา ทั้งนี้มิได้หมายความว่าเราจะไปรุกรานดินแดนเหล่านั้น เราไม่ต้องการรุกรานใคร ที่ดินของเรามีถมไป เราต้องการแต่จะให้พี่น้องของเราเข้ามาอยู่ร่วมรับความผาสุกด้วยกัน และเรื่องนี้ข้าพเจ้ามีความเชื่อมั่นว่าเราทำสำเร็จ และในไม่ช้าเราจะเป็นประเทศที่มีดินแดนราว ๙,๐๐๐,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร และมีพลเมืองไม่น้อยกว่า ๔๐ ล้านคน เราเป็นมหาประเทศ ถ้าเราไม่ทำเช่นนั้น และถ้าเรายังพอใจในความเป็นประเทศเล็กอยู่เช่นนี้ เราจะต้องถูกกลืนเข้าไปอยู่ในประเทศใหญ่ ท่านจะเลือกเอาข้างไหน เป็นมหาประเทศหรือถูกกลืน" เป็นความจริงว่า (ดังจะได้เห็นข้างล่าง) ตัวเลข "คนไทย" ใน "ถิ่นไทยอันกว้างขวาง ซึ่งตั้งอยู่เหนือสิบสองจุไทย" (หมายถึงจีนตอนใต้) ที่หลวงวิจิตรวาทการพูดถึงในปาฐกถานี้ มีที่มาจากการรณรงค์เปลี่ยนชื่อประเทศของเขาในปีก่อนหน้านั้น แต่ผมยังอยากยืนยันว่า ต้องแยกระหว่างเหตุผลตอนแรกที่หลวงวิจิตรวาทการ (และหลวงพิบูลสงคราม) เสนอให้เปลี่ยนชื่อประเทศกับพัฒนาการที่ตามมา Scot Barme ได้ตามปรีดี ในการเชื่อมโยงการเปลี่ยนชื่อประเทศเข้ากับการรณรงค์ผนวกดินแดนและความคิดเรื่องมหาอาณาจักรไทย (Luang Wichit Wathakan and the Creation of a Thai Identity. Singapore : Institute of Southeast Asian Studies, 1993, pp.147-149.) ยิ่งกว่า Barme สายชล สัตยานุรักษ์. ความเปลี่ยนแปลงในการสร้าง "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" โดยหลวงวิจิตรวาทการ. (มติชน, ๒๕๔๕), หน้า ๓๑. ยกข้อความจากปาฐกถาข้างต้น มากล่าวในหัวข้อ "บริบททางสังคมที่มีผลต่อการสร้าง "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" [ของหลวงวิจิตรวาทการ]...ในทศวรรษ ๒๔๗๐-๒๔๘๐ ประเทศสยามกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบโลกที่มีความขัดแย้งสูง" ราวกับว่าทัศนะเรื่องไทยจะต้อง "เป็นมหาประเทศเสียเอง" นี้ เป็นทัศนะทั่วไปของหลวงวิจิตรวาทการ (และหลวงพิบูลสงคราม) ในทศวรรษ ๒๔๗๐-๒๔๘๐ (ขอให้สังเกตหน่วยเวลาว่ารวมแล้วถึงประมาณ ๒๐ ปี!) ความจริง ผมเห็นว่าควรอ่านปาฐกถานี้ในลักษณะเจาะจงให้แคบลงไปกว่านั้นมาก คือเป็นการ "ตอบสนอง" (คำของสายชล) ต่อการระเบิดขึ้นของสงครามโลก เท่าที่ผมอ่านหลักฐานช่วงนั้น ลักษณะเชื้อชาตินิยมของทั้งหลวงวิจิตรวาทการและหลวงพิบูลสงคราม ยังไม่ก้าวถึงขั้นความคิดเรื่อง "มหาอาณาจักรไทย" จนกระทั่งเกิดสงครามในยุโรปจริงๆ ในปลายปี ๒๔๘๒ ข้อความในปาฐกถาของหลวงวิจิตรวาทการที่พาดพิงถึง "สงครามยุโรปเพียงชั่วขวบปีที่แล้วมานั้น ได้ให้บทเรียนอันแน่ชัดแก่เรา" สะท้อนให้เห็นว่า ลักษณะการคิดเรื่องมหาอาณาจักรไทยหรือการผนวกดินแดนนี้ เป็นพัฒนาการใหม่ที่เป็นผลอย่างสำคัญมาจากสงคราม

๑๖. รายงานประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๖/๒๔๘๒, วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๔๘๒.

๑๗. ตัวบทสุนทรพจน์ในชื่อ "สยามกับไทย" ตีพิมพ์ใน ประชาชาติ. วันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๔๘๒. ซึ่งผมใช้อ้างอิงข้างล่าง ใน ประชาชาติ ฉบับเดียวกันและฉบับวันที่ ๓๐ พฤษภาคม "ท่านวรรณ" เองทรงเขียนบทความเรื่อง "ไทยกับสยาม" โดยกล่าวว่า "เนื่องจากได้มีข่าวหนังสือพิมพ์เผยแพร่ว่ารัฐบาลดำริจะเปลี่ยนชื่อประเทศจาก "ประเทศสยาม" เป็น "ประเทศไทย" ได้มีผู้ร้องขอให้ข้าพเจ้าถกศัพท์ "ไทย" กับ "สยาม"" แต่ทรงกล่าวว่า "ในที่นี้ ข้าพเจ้าเป็นแต่เพียงถกศัพท์ ส่วนเรื่องความดำริที่จะเรียกชื่อประเทศว่า "ประเทศไทย" นั้น เป็นอีกปัญหาหนึ่ง ซึ่งจะต้องพิจารณาต่างหาก" อย่างไรก็ตามข้อสรุปจากการ "ถกศัพท์" ของ "ท่านวรรณ" สามารถอ่านได้ว่าเป็นไปในทางสนับสนุนการเปลี่ยนชื่อเช่นเดียวกัน กล่าวคือชื่อ "สยาม" มีความเป็นมาและความหมายไม่แน่ชัด และ "เป็นชื่อซึ่งชาวต่างประเทศเรียกเรา" ส่วนชื่อ "ไทย" แปลว่า ความมีอิสระ เป็นชื่อที่คนไทยใช้เรียกตัวเอง และ "ซึมซาบเป็นที่เลื่อมใส" ในจิตใจคนไทยมากกว่า

๑๘. เรื่องนี้มีรายละเอียดที่ต้องเล่าต่างหากในอีกบทความหนึ่ง ผมได้พูดถึงไว้บ้างในบทความ "ประวัติศาสตร์วันชาติไทย" ของผม

๑๙. Barme. Luang Wichit Wathakan. pp.173-174 note 42.

๒๐. รายงานประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๙/๒๔๘๒, วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๔๘๒.

๒๑. ดู ประชาชาติ ในเชิงอรรถที่ ๑๗ ข้างต้น ยิ่งกว่านั้น เมื่อถึงวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๒ ได้มีหนังสือพิมพ์ออกใหม่เป็นฉบับปฐมฤกษ์ฉบับหนึ่งชื่อ หนังสือพิมพ์ไทย บริษัทวารศัพท์ จำกัด เป็นเจ้าของ นายฉลวย ชัยทัต เป็นบรรณาธิการ นายเชื้อ อินทรฑูต เป็นผู้พิมพ์ผู้โฆษณา พิมพ์ที่โรงพิมพ์ชาตินิยม (!) ได้นำ "ร่างบันทึก" นี้ไปตีพิมพ์ ในชื่อ "สยามกับไทย โดย หลวงวิจิตรวาทการ" โดยพิมพ์ข้อความและตัวเลขที่ถูกคณะรัฐมนตรีตัดออกด้วย แต่ไม่ได้พิมพ์แผนที่ หนังสือพิมพ์ฉบับนี้มีเก็บอยู่ในเอกสารส่วนบุคคลของคุณเอก วีสกุล ใน หจช., สบ.๙.๒.๑ (เล่ม ๒) หนังสือพิมพ์ฉบับปฐมฤกษ์ (พ.ศ. ๒๔๗๕-๒๔๙๐)

๒๒. เช่น ประมวญวัน. ๑ มิถุนายน ๒๔๘๒.

๒๓. คำแถลงของสำนักงานโฆษณาการลงวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ตีพิมพ์ใน ประชาชาติ. ๓๑ พฤษภาคม ๒๔๘๒.

๒๔. รายงานประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๑๑/๒๔๘๒, วันที่ ๕ มิถุนายน ๒๔๘๒. ในจดหมายแจ้งการได้รับแต่งตั้งถึงกรรมการแต่ละคน นายดิเรก ชัยนาม เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ระบุเพิ่มเติมว่า "อนึ่งให้คณะกรรมการนี้เชิญที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี [ม.จ.วรรณไวทยากร] ไปปรึกษาได้" ดู หจช., (๒)สร.๐๒๐๑.๔๕/๖. ในระหว่างสุนทรพจน์วันชาติครั้งแรกวันที่ ๒๔ มิถุนายน ซึ่งหลวงพิบูลสงครามเปิดเผยว่ารัฐบาลของเขาเตรียมจะออก "รัฐนิยม" ชักชวนให้คนไทยปฏิบัติตาม "จรรยามรรยาทของอารยะชน" เขาได้เอ่ยถึงเหตุการณ์ในงานบุปผชาติปีนั้น วันที่ ๓ มิถุนายน (คือก่อนการประชุมตั้งกรรมการธรรมนิยม ๒ วัน) ที่มีคนเอาก้อนอิฐและขยะขว้างใส่นางบุปผชาติ ดู ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๖. วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๒, หน้า ๘๓๑-๘๓๒.

๒๕. รายงานประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๑๓/๒๔๘๒, วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๒.

๒๖. ดูตัวบท "คำชักชวน" ใน ประมวญวัน. ๖ มิถุนายน ๒๔๘๒. และคำสรุปใน ประชาชาติ วันเดียวกัน "คำชักชวน" ให้เหตุผล ๕ ข้อที่ควรเรียกชื่อประเทศใหม่ว่า ๑. ไม่สมชื่อที่เป็นเชื้อชาติไทยในการที่จะใช้ชื่อประเทศอย่างหนึ่ง แต่ชื่อพลเมืองไปอย่างหนึ่ง ๒. การใช้ชื่อประเทศสยามทำให้คนไทยมีสัญชาติอยู่ในบังคับต่างกัน กล่าวคือคนไทยแต่บังคับสยาม เป็นต้น ๓. คำว่า "สยาม" มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องแก่ไทยด้วยประการใดๆ เลย สยามเป็นเพียงเมืองเมืองหนึ่งของขอม ต่อมาเมื่อสมัยพระร่วงกู้อิสรภาพได้แล้วก็ได้ยกเลิกใช้ ๔. คำว่าสยามแม้ในเวลานี้ก็ยังใช้กันแต่เฉพาะตัวอักษร ส่วนภาษาคำพูด ยังใช้คำว่า "ไทย" อยู่ ๕. ชนชาติไทยเป็นเชื้อชาติที่ใหญ่หลวง สมควรเรียกให้สมศักดิ์ของคนไทย ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ ๗ มิถุนายน มีเรื่องจร "กระทรวงกลาโหมชักชวนให้เรียกชื่อประเทศไทย" เป็นวาระสุดท้าย ตามรายงานประชุม นายดิเรก ชัยนาม เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพียงนำเสนอว่า "กระทรวงกลาโหมรายงานว่า ได้พิจารณาเห็นว่าการที่ชาติไทยเราเรียกชื่อประเทศของตนเป็น "ประเทศสยาม" นั้น ยังไม่เป็นการเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง กระทรวงกลาโหมจึ่งได้จัดทำคำชักชวนไปยังส่วนราชการต่างๆ ของกระทรวงกลาโหม ให้เรียกชื่อประเทศของเราเป็น "ประเทศไทย" แทนคำว่า "ประเทศสยาม" ดั่งคำชักชวนซึ่งได้คัดแจกคณะรัฐมนตรีไปแล้ว" บรรทัดต่อมา รายงานประชุมเพียงบันทึกว่า "ที่ประชุมรับทราบ" รายงานประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๑๒/๒๔๘, วันที่ ๗ มิถุนายน ๒๔๘๒.

๒๗. หลวงพิบูลสงครามกล่าวในระหว่างนำเสนอร่างพระราชบัญญัติรัฐธรรมนูญขนานนามประเทศต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๔๘๒ (ผมจะกล่าวถึงเหตุการณ์นี้ข้างหน้า) ว่า "รัฐบาลเองก็ได้ถามความเห็นของท่านผู้แทนราษฎรแต่ละท่าน ก็ปรากฏว่าส่วนมากมีความเห็นว่านามนี้ [ประเทศไทย] ก็เป็นนามสิริมงคล" รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๙/๒๔๘๒ (สามัญ) สมัยที่ ๒ ชุดที่ ๓, วันเสาร์ที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๔๘๒, หน้า ๔๖๗. เป็นไปได้ว่า เขาหมายถึงการส่ง "ร่างบันทึก" และจดหมายปะหน้าข้างต้น แต่ผมไม่มีหลักฐานอื่นมายืนยัน

๒๘. รายงานประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๑๑/๒๔๘๒, วันที่ ๕ มิถุนายน ๒๔๘๒. : "ที่ประชุมตกลงว่า...เมื่อเสร็จพระราชพิธีเปิดประชุมแล้ว จะมีการประชุมเลือกประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรในวันเปิดประชุมหรือไม่นั้น โดยที่รัฐบาลกำลังดำริที่จะพิจารณาเสนอญัตติเรื่องการเปลี่ยนชื่อประเทศในวันเปิดประชุมอยู่ ฉะนั้นให้รอไว้พิจารณาอีกครั้งหนึ่งเมื่อใกล้กำหนดเปิดประชุม"

๒๙. รายงานประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๑๕/๒๔๘๒, วันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๔๘๒.

๓๐. รายงานประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๑๘/๒๔๘๒, วันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๔๘๒. ท้ายรายงานเป็นคำแปล "บันทึกเรื่องการเปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็นประเทศไทย" ของนายอาร์. กียอง ลงวันที่ ๑๘ มิถุนายน (ซึ่งแสดงว่านายกียองใช้เวลาทำเพียง ๓ วัน เพราะในบันทึกได้อ้างถึงจดหมายจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีลงวันที่ ๑๕ ขอให้เขาทำบันทึก) ตัว "บันทึก" มีความยาว ๕ หน้า และมี "ใบแนบที่ ๑" และ "ใบแนบที่ ๒" ซึ่งเป็นร่างกฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญ และร่างพระราชบัญญัติเปลี่ยนชื่อประเทศ ตามลำดับ รวมอีก ๓ หน้า ดังที่ได้เห็นจากการอภิปรายในคณะรัฐมนตรีข้างต้น นายกียองเสนอทางเลือก ๒ ทางนี้ แต่เขาได้ให้เหตุผล ๒ ประการว่า แก้รัฐธรรมนูญดีกว่า เพราะ ๑. "ในรัฐธรรมนูญเต็มไปด้วยคำ "สยามประเทศ" หรือ "ประชาชนชาวสยาม" (มาตรา ๑) หรือ "ชนชาวสยาม" (หมวด ๒) ถ้าไม่มีการแก้รัฐธรรมนูญ คำเหล่านั้นก็จะคงใช้อยู่ การแก้โดยออกเป็นพระราชบัญญัติ...จะไม่กะทบกระเทือนถึงคำดังกล่าวข้างต้น และมาตรา ๑ เป็นต้น ก็จะถูกพิมพ์หรืออ้างถึงโดยใช้คำว่า "สยามประเทศ" ฯลฯ อยู่ตลอดไป" และ ๒. "ถ้าการเปลี่ยนมิได้กระทำเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๑ แห่งรัฐธรรมนูญแล้ว ความในมาตรา ๑ ก็น่าจะอ่านไม่เข้าใจ" ในตอนต้นของ "บันทึก" นายกียองได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับชื่อประเทศว่า ๑. โดยทั่วไป ชื่อประเทศเป็นประเพณีเรียกกันต่อมา ไม่ได้มีกฎหมายกำหนด ("คำว่า "สยาม" เป็นคำใช้ตามประเพณี มิใช่คำในกฎหมาย") ถ้าออกกฎหมายใหม่ จึงไม่ต้องมีบทบัญญัติให้ยกเลิกประเพณี ("ในกฎหมายใหม่ ไม่จำเป็นต้องมีบทบัญญัติ ให้ยกเลิกชื่อ "สยาม" หรือ "ชนชาวสยาม"") ; ๒. เนื่องจากเรียกกันมาตามประเพณี "ตามปกติ น้อยนักที่กฎหมายของประเทศใดจะกำหนดชื่อประเทศเพื่อให้เป็นที่รู้จัก" ยกเว้นประเทศเกิดใหม่และไม่มีชื่อเก่าตามประเพณี ซึ่งเขาได้ยกตัวอย่างกฎหมายกำหนดชื่อประเทศของ สวิตเซอร์แลนด์, ยูโกสลาเวีย, ไอแลนด์ และสหภาพโซเวียต ; ๓. ในกรณีที่มีกฎหมายกำหนดชื่อประเทศ "ตามปกติย่อมมีปรากฏในรัฐธรรมนูญ"

๓๑. ดูจดหมาย "เรียกประชุมคณะกรรมการรัฐนิยมเป็นการด่วน" ของหลวงวิจิตรวาทการ ลงวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๔๘๒ ใน หจช., ศธ.๐๗๐๑.๒๙/๖ : "ด้วยคณะรัฐมนตรีลงมติให้เรียกประชุมคณะกรรมการรัฐนิยมเป็นการด่วนเพื่อปรึกษาเรื่องร่างประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศ ข้าพเจ้าจึงขอเชิญท่านมาประชุมที่ห้องอธิบดีกรมศิลปากร ในวันพฤหัสบดีที่ ๒๒ มิถุนายน เวลา ๙.๐๐ นาฬิกาตรง โดยเหตุที่ไม่มีเวลาพอจะทำร่างส่งมา ข้าพเจ้าจึงจะเสนอร่างในที่ประชุม" และจดหมายอีกฉบับ ในที่เดียวกัน ลงวันที่ ๒๘ มิถุนายน เรียกประชุมกรรมการเพื่อเริ่มทำงาน "ด้วยข้าพเจ้าเห็นเป็นการสมควรที่จะเริ่มประชุมคณะกรรมการรัฐนิยม เพื่อปรึกษาหารือถึงวิธีการทั่วไปของกรรมการคณะนี้ ซึ่งนับเป็นของใหม่ และไม่เคยมีตัวอย่างมาแต่ก่อน"

๓๒. ผมคิดว่า ความไม่แน่นอนว่าจะใช้วิธีใด จนถึงเพียง ๓ วันก่อน ๒๔ มิถุนายนนี้ อธิบายว่า เหตุใดในงานฉลองวันชาติครั้งแรก จึงไม่มีพิธีหรือการฉลองเรื่องนี้เป็นพิเศษ ในสุนทรพจน์วันที่ ๒๔ มิถุนายนของหลวงพิบูลสงคราม แม้จะมีการเรียกชื่อประเทศว่า "ประเทศไทย" ก็ไม่มีการกล่าวถึงการเปลี่ยนชื่อ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๖. วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๒, หน้า ๘๓๙.) หรือใน "คติพจน์" ลงวันที่ ๒๒ มิถุนายน ที่หลวงพิบูลสงครามมอบให้หนังสือพิมพ์ ประชาชาติ ฉบับพิเศษวันชาติ ก็กล่าวเพียงว่า "ประเทศสยาม ซึ่งจะเปลี่ยนนามใหม่เป็นประเทศไทยในเร็ววันนี้" (ดูในหน้า ๕ ของ ประชาชาติ ฉบับนั้น)

๓๓. รายงานประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๑๙/๒๔๘๒, วันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๔๘๒.

๓๔. รายงานประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๒๑/๒๔๘๒, วันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๔๘๒.

๓๕. รายงานประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๒๕/๒๔๘๒, วันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๔๘๒. ในบทความปี ๒๕๑๗ ปรีดีกล่าวว่า "ผู้ที่ได้รับคำยกย่องว่ามีความรู้ในภาษาต่างประเทศรวมทั้งหลวงวิจิตรวาทการ ได้เสนอ [ว่า]...พลเมืองของประเทศนี้เรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า "THAILANDAIS" ซึ่งฝรั่งพากันงง" แสดงว่าปรีดีคงจำผิด

๓๖. สุพจน์ ด่านตระกูล. ไทยหรือสยาม. หน้า ๗๕.

๓๗. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๙/๒๔๘๒ (สามัญ) สมัยที่ ๒ ชุดที่ ๓, วันเสาร์ที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๔๘๒, หน้า ๔๖๕-๔๖๖. น่าสนใจว่า เกือบ ๑๐ ปีต่อมา เพียร ราชธรรมนิเทศ อดีต "พระราชธรรมนิเทศ" ๑ ในลูกน้องคนสนิทที่สุดของหลวงพิบูลสงครามสมัยก่อนสงคราม ได้กล่าวจากความจำเรื่องการเปลี่ยนชื่อประเทศ ในสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี ๒๔๙๑ ว่า "ข้าพเจ้าจำได้ว่า พ.ศ. ๒๔๘๒ ทางราชการได้แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร...ว่าอย่างนี้ คือว่าในประเทศสยามมีบุคคลหลายหมู่หลายเหล่าหลายชาติมารวมกันอยู่ ไทยก็มี จีนก็มี ทีนี้หนักๆ เข้าไทยก็กลายเป็นถิ่นกลางแล้วมีชาติทั่วไปอพยพมาอยู่มากๆ เข้า เขาก็ตีคนไทยออกไป ประเทศสยามก็คงยังเป็นประเทศสยามแล้ว ก็แปลว่าเหมือนอย่างม้าอาศัยคอกวัวอยู่ แล้วก็เตะวัวออกไป คอกก็ยังเป็นคอกวัวอยู่แต่ Population ในนั้นไม่ใช่วัว" รายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ ๑-๑๐, วันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๔๙๑ ถึง ๒ สิงหาคม ๒๔๙๑, หน้า ๑๔๐.

๓๘. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๑๗/๒๔๘๒ (สามัญ) สมัยที่ ๒ ชุดที่ ๓ วันที่ ๒๘ กันยายน ๒๔๘๒, หน้า ๙๗๙-๑๐๓๔. และ "รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยนามประเทศ พุทธศักราช ๒๔๘๒", ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๖. วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๔๘๒, หน้า ๙๘๐-๙๘๑.

๓๙. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องการใช้ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติ", ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๒ ตอนที่ ๔๙. วันที่ ๑๑ กันยายน ๒๔๘๘, หน้า ๕๑๗. (รัฐบาลทวี บุณยเกตุ) และ "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องการใช้ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติ", ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๖ ตอนที่ ๒๗. วันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๔๙๒, ฉะบับพิเศษ หน้า ๓. (รัฐบาลจอมพล ป.)

๔๐. สำหรับการอภิปรายปี ๒๔๙๑ ดู รายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ ๑-๑๐ วันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๔๙๑ ถึง ๒ สิงหาคม ๒๔๙๑, หน้า ๑๑๙-๑๔๕, ๑๗๔-๒๐๕ ; ปี ๒๕๐๔ ดู สุพจน์ ด่านตระกูล. ไทยหรือสยาม. หน้า ๓๐-๒๗๒. (คำอภิปรายของแสวง อยู่ที่หน้า ๓๐-๔๖, ๑๙๙-๒๒๙) ; และ ปี ๒๕๑๗ ดู รายงานการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชุดที่ ๒ ครั้งที่ ๑๒, วันศุกร์ที่ ๘ มีนาคม ๒๕๑๗, หน้า ๓๗, ๔๐-๔๑, ๔๕-๔๖, ๕๒.

ไม่มีความคิดเห็น: