วันอังคารที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2550

บางด้านของระบอบสฤษดิ์ : ปัญหาป๋วย



บางด้านของระบอบสฤษดิ์ : ปัญหาป๋วย, การประหารชีวิตครอง และสฤษดิ์กราบบังคมทูลวิเคราะห์ลักษณะพิเศษ ของภาคอีสาน ที่เป็นสาเหตุขบวนการคอมมิวนิสต์และ "แยกดินแดน"

บทความพิเศษ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล มติชนสัปดาห์
วันที่ 06 มกราคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 26 ฉบับที่ 1325



คุณพ่อเชื่อมั่นคงในเรื่องกระบวนการยุติธรรมและสิทธิของผู้ต้องหาตลอดจนเสรีภาพทางความคิด และอุดมการณ์

จอน อึ๊งภากรณ์ 28 สิงหาคม 2547


ผมคิดว่า เป็นไปได้อย่างยิ่งที่ ดร.ป๋วยจะไม่เห็นด้วยกับการที่สฤษดิ์อาศัย "ม.17" สั่งประหารชีวิต ศุภชัย ศรีสติ, รวม วงษ์พันธ์, ครอง จันดาวงศ์ และ ทองพันธุ์ สุทธิมาศ เป็นไปได้อย่างยิ่งที่ ดร.ป๋วยจะไม่เห็นด้วยกับการใช้ ม.17 ประหารชีวิตผู้ต้องหา "วางเพลิง".... เป็นไปได้อย่างยิ่งที่ ดร.ป๋วยจะไม่เห็นด้วยกับการจับอดีตนักการเมือง นักเขียน นัก น.ส.พ. ชาวบ้าน หลายร้อยคน มาขังลืมในคุกเป็นเวลาหลายๆ ปี ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ

เป็นไปได้อย่างยิ่งว่า ดร.ป๋วยคงไม่เห็นด้วยกับสิ่งเหล่านี้ เพราะมี "ความเชื่อมั่นคงในเรื่องกระบวนการยุติธรรม..." แต่ถ้าเช่นนั้น ก็ยิ่งต้องตั้งคำถามว่า การที่ ดร.ป๋วยยังคงทำงานอยู่กับระบอบที่ทำในสิ่งตรงข้ามกับ "ความเชื่อมั่นคง" ของ ดร.ป๋วยเช่นนี้ แปลว่าอะไร?

แปลว่า "ความเชื่อมั่นคง" ในเรื่องเหล่านี้ (กระบวนการยุติธรรม, สิทธิผู้ต้องหา, เสรีภาพทางความคิด) แท้ที่จริง หาได้มีความสำคัญพอ แม้แต่จะทำให้ ดร.ป๋วย เพียงแสดงตัวออกห่าง (distance himself) จากระบอบสฤษดิ์ ไม่ต้องพูดถึงขั้นว่า แตกหัก (break) หรือออกมาวิจารณ์ด้วยซ้ำ ใช่หรือไม่?


สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล 29 สิงหาคม 2547



ป๋วยกับสฤษดิ์

เมื่อปีกลาย ผมได้แลกเปลี่ยนกับ ส.ว.จอน อึ๊งภากรณ์ เกี่ยวกับปัญหาการทำงานให้กับสฤษดิ์ของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งผมเห็นว่า มีนัยยะต่อการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ไทยยุคใกล้ โดยเฉพาะในประเด็นบทบาทของปัญญาชนเสรีนิยม ขณะที่แลกเปลี่ยนนั้น ผมมีภาพการทำงานให้สฤษดิ์ของป๋วย กรณีการรับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นสำคัญ

เมื่อเร็วๆ นี้ ในระหว่างที่รวบรวมศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับระบอบสฤษดิ์ ผมจึงได้ทราบว่า ความสัมพันธ์ในแง่การทำงานให้กับสฤษดิ์ของป๋วย มีมากกว่าการรับเป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติ และไม่ใช่เพียงในฐานะเป็นข้าราชการประจำธรรมดาทั่วๆ ไป แต่มีบทบาทสัมพันธ์กับเรื่องเชิงนโยบาย กล่าวคือ

ทันทีที่มีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นในต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2502 (ก่อนหน้านั้น ประเทศไทยปกครองด้วย "คณะปฏิวัติ" ใช้การออกคำสั่ง ไม่ต้องมีมติคณะรัฐมนตรี) สฤษดิ์ได้ตั้งให้ป๋วยเป็นผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ

อันที่จริง กล่าวได้ว่า ป๋วยเป็นข้าราชการระดับสูงคนแรกที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่ง (โปรโมต) โดยคณะรัฐมนตรีสฤษดิ์ คือในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 1/2502 วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2502 ได้มีมติรับรองการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งข้าราชการ ดังนี้

1. นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง กระทรวงการคลัง ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ สำนักงบประมาณ

2. นายมนูญ บริสุทธิ์ ผู้อำนวยการกองนิติธรรม และเลขาธิการคณะรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

3. หลวงชำนาญอักษร เลขาธิการคณะรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร ไปประจำกรม กรมตรวจราชการแผ่นดิน

4. นายปุ่น จาติกวณิช รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร ไปประจำกรม สำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน


ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2502 เป็นต้นไป...


มติ - เห็นชอบด้วยและอนุมัติให้ดำเนินการต่อไป


น่าสังเกตว่า นอกจากป๋วยแล้ว อีก 3 คนล้วนเกี่ยวข้องกับสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ผมไม่ทราบว่าสาเหตุที่หลวงชำนาญฯ และปุ่น ถูกลดตำแหน่งคืออะไร แต่ทั้งคู่เป็นข้าราชการที่ทำงานในสำนักนี้มาเป็นเวลานาน ตั้งแต่สมัยรัฐบาลคณะราษฎร (ก่อน 2490) กรณีป๋วยนั้น ในชีวประวัติมาตรฐานที่มีการเผยแพร่ทั่วไป กล่าวว่า สฤษดิ์ชวนให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่เขาปฏิเสธโดยอ้างเหตุผลเรื่องสมัยเสรีไทยเคยสาบานว่าทำเสรีไทยไม่ใช่เพื่อรับตำแหน่ง ผมไม่มีข้อมูลยืนยัน หรือปฏิเสธเรื่องเสรีไทยนี้ แต่เป็นไปได้ว่า ป๋วยอาจถูกขอให้เป็นรัฐมนตรีคลังจริง และปฏิเสธ (รัฐมนตรีคลัง จะกลายเป็นตำแหน่งที่มีปัญหา และต้องเปลี่ยนในเวลาไม่กี่เดือน) สฤษดิ์จึงขอให้เป็นผู้อำนวยการสำนักงบประมาณแทน


และนี่คงอธิบายว่า เหตุใดเขาจึงเป็นข้าราชการคนแรกที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้เลื่อนตำแหน่ง (คือถัดจากการรับตำแหน่งของรัฐมนตรีเอง)

ประเด็นที่น่าสนใจในที่นี้อยู่ที่ว่า สฤษดิ์ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับสำนักงบประมาณ อย่างที่รัฐบาลก่อนหน้านี้ ไม่เคยปฏิบัติมาก่อน คือ เขาได้กำหนดว่า "ในเรื่องการออกกฎหมายนั้น อยากจะซ้อมความเข้าใจว่า ถ้าไม่จำเป็นแล้ว อย่าออกกฎหมายเลย ในเรื่องการออกกฎหมาย พระราชบัญญัติต่างๆ อะไรเหล่านี้ ทุกฉบับควรจะได้ผ่านสำนักงบประมาณ พิจารณาก่อน เพราะอาจมีเรื่องต้องใช้เงินงบประมาณ ทางสำนักงบประมาณจะได้รู้เรื่อง จะได้จัดเตรียมงบประมาณให้" (การประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 9/2502 วันที่ 2 เมษายน 2502)

นี่คือสาเหตุที่มีข้าราชการระดับบริหารของสำนักงบประมาณเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีในสมัยนั้นเสมอ

เท่าที่ผมรวบรวมค้นคว้าได้ขณะนี้ ผมมีข้อสังเกตว่า รัฐบาลสฤษดิ์ให้ความสำคัญกับการจัดสรรงบประมาณ 3 ประเภทเป็นพิเศษ ซึ่งหมายความว่าสำนักงบประมาณจะต้องมีบทบาทสำคัญ (และหมายความว่า สฤษดิ์ต้องไว้วางใจผู้ที่เขาเลือก ให้เป็นผู้อำนวยการสำนักอย่างยิ่งด้วย) คือ งบฯ ด้านการพัฒนา, งบฯ ทางทหารรวมทั้ง "งบฯ ราชการลับ" และ งบฯ ด้านราชสำนัก เช่น การเสด็จเยือนต่างประเทศทั่วโลก การฟื้นฟูประเพณีเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ต่างๆ ได้แก่ งานวันเฉลิมพระชนมพรรษา, พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ, พิธีเสด็จพยุหยาตราทางชลมารค

(ในปีแรกที่มีงานวันเฉลิมฯ และจรดพระนังคัล งบประมาณประจำปีถูกกำหนดไปแล้ว สำนักงบประมาณ ต้องจัดสรรงบประมาณให้เป็นพิเศษ เป็นต้น)

เกี่ยวกับการพยายามหาเทคโนแครตมาช่วยงานนี้ สฤษดิ์กล่าวในโอกาสเดียวกับข้างต้นว่า "การตั้งคณะที่ปรึกษาต่างๆ ยังล่าช้าอยู่บ้าง ก็เพราะต้องพิจารณาเลือกคนที่ดีจริงๆ เข้ามาร่วมงาน จึงต้องใช้เวลาบ้าง เพราะผมก็ไม่รู้จักคนมากนัก จึงใคร่ขอให้ท่านรัฐมนตรีช่วยเสนอคนที่เห็นว่าเป็นผู้มีความรู้และเป็นคนดีมาบ้าง เพื่อจะได้มาช่วยกัน เพราะยังมีคนดีๆ ที่หวังดีต่อประเทศชาติอยู่อีกไม่น้อย และอยากจะได้คนวัย 40 ปี เพราะไม่หนุ่มหรือแก่เกินไป"

ขณะนั้นป๋วยอายุ 43 ปี หลังจากเป็นผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ในเวลาใกล้เคียงกัน สฤษดิ์ก็ตั้งให้ป๋วยเป็น 1 ในกรรมการบริหารสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ (พร้อมด้วยคนอย่าง ทวี บุญยเกต, เล้ง ศรีสมวงศ์ ม.ล.เดช สนิทวงศ์)

กล่าวได้ว่า ป๋วยไม่ใช่อยู่ในประเภทคนที่สฤษดิ์ "ไม่รู้จักมากนัก" เพราะได้รับการแต่งตั้ง ตั้งแต่แรกๆ

และด้วยความสัมพันธ์ในการทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาลสฤษดิ์ดังกล่าว (แม้จะไม่ได้เป็นรัฐมนตรี) ป๋วยได้เข้าร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2504 ซึ่งมีวาระพิจารณาอนุมัติให้สฤษดิ์ใช้ ม.17 สั่งประหารชีวิต ครอง จันดาวงศ์ และ ทองพันธุ์ สุทธิมาศ ตามบันทึกการประชุม ในครั้งนั้น มีรัฐมนตรีเข้าร่วม 15 คน (รวมทั้งตัวสฤษดิ์เอง) เจ้าหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี 3 คน (เลขาธิการและรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, หัวหน้ากองการประชุม) และมีผู้อื่นที่เข้าร่วมประชุม ดังนี้


1. พันเอกหลวงวิจิตรวาทการ ปลัดบัญชาการสำนักนายกรัฐมนตรี

2. พลโทเนตร เขมะโยธิน เลขาธิการทำเนียบนายกรัฐมนตรี

3. พลโทอัมพร จินตกานนท์ เลขาธิการบริหารของนายกรัฐมนตรี

4. นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ

5. นายประสงค์ หงสนันท์ รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์

6. พลตรีแสวง เสนาณรงค์ รองเลขาธิการทำเนียบนายกรัฐมนตรี

7. พลตรีเฉลิมชัย จารุวัสตร์ รองเลขาธิการทำเนียบนายกรัฐมนตรี

8. นายสงวน จันทรสาขา รองเลขาธิการทำเนียบนายกรัฐมนตรี

9. นายสิริ ปกาสิต รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ

10. นายบุญธรรม ทองไข่มุกด์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ


การที่มีเจ้าหน้าที่ระดับบริหารของสำนักงบประมาณเข้าประชุมถึง 3 คนนี้ เพราะวันนั้นมีการพิจารณาวาระที่เกี่ยวกับ การใช้จ่ายงบประมาณในเรื่องต่างๆ หลายเรื่อง รวมถึง 3 วาระที่ติดกัน ก่อนเรื่องการประหารครอง-ทองพันธุ์ (มีเพียงวาระหนึ่งคั่นอยู่) แน่นอนว่า ในแง่หนึ่ง กล่าวได้ว่า การที่ป๋วยเข้าร่วมประชุมครั้งนั้นหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ (รวมถึงความเป็นไปได้ที่ว่า ป๋วยอาจจะเดินออกจากห้องประชุมก่อนวาระนี้ แต่ดังที่เพิ่งกล่าวว่า วาระที่ใกล้ๆ กันก่อนหน้านี้เป็นเรื่องงบประมาณ) เพราะต่อให้ไม่เข้าร่วมประชุม การใช้ ม.17 ประหารครอง-ทองพันธุ์ เป็นเรื่องที่ยากที่ป๋วยหรือใครก็ตามที่ทำงานกับสฤษดิ์ขณะนั้นจะ "ตกข่าว" ได้ (การใช้ ม.17 ประหารชีวิตทางการเมือง ก่อนหน้านั้น 2 ครั้ง คือ ประหาร ศิลา วงศ์สิน และ ศุภชัย ศรีสติ ไม่มีบันทึกผู้เข้าร่วมประชุม)

แต่การได้เข้าร่วมการประชุมครั้งนั้นของป๋วย ทำให้ประเด็นเรื่องเขาทำงานให้สฤษดิ์ที่ "มือเปื้อนเลือด" ผู้บริสุทธิ์ (ผู้ไม่เคยถูกขึ้นศาลเลย ต้องถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์) มีลักษณะ dramatic ยิ่งขึ้น



การใช้ ม.17 ประหารชีวิต ครอง จันดาวงศ์ และ ทองพันธุ์ สุทธิมาศ

เกี่ยวกับการประหารชีวิตครอง-ทองพันธุ์ด้วย ม.17 นี้ สฤษดิ์ได้นำเรื่องเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งเดียว ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2504 ต่างกับก่อนหน้านั้น ในกรณี ศิลา วงศ์สิน และ ศุภชัย ศรีสติ ในปี 2503 ซึ่งสฤษดิ์ขอให้คณะรัฐมนตรี เห็นชอบกับการใช้ ม.17 ประหารชีวิตในการประชุมครั้งหนึ่ง แล้วขอให้ทบทวนยืนยัน ในการประชุมอีกครั้งหนึ่ง ทั้ง 2 กรณี (กรณีศิลา วันที่ 22 และ 26 มิถุนายน, กรณีศุภชัย วันที่ 1 และ 6 กรกฎาคม) ผมยังไม่มีคำอธิบายที่แน่นอนถึงความแตกต่างนี้ อาจเป็นได้ว่า สฤษดิ์เริ่ม "เคยชิน" กับการใช้ ม.17 สั่งประหารชีวิต จึงไม่ต้องทบทวนซ้ำเหมือน 2 กรณีแรก (การสั่งประหารชีวิต รวม วงศ์พันธ์ ด้วย ม.17 ในเวลาต่อมา ก็นำเสนอเพียงครั้งเดียว ในวันที่ 24 เมษายน 2505)

สฤษดิ์เสนอรายงานของกรมตำรวจว่า ได้จับกุม ครอง จันดาวงศ์ ที่อำเภอสว่างแดนดิน สกลนคร เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2504 พร้อมด้วย ทองพันธุ์ สุทธิมาศ และสมัครพรรคพวกอีกรวม 108 คน ในจำนวนนี้ได้ให้การรับสารภาพ 48 คน มีผู้มามอบตัวและสารภาพเพิ่มอีก 6 คน โดยรวมแล้วเจ้าหน้าที่ได้ทำการสอบสวนทั้งสิ้น 95 คน ผลการสอบสวน กรมตำรวจสรุปว่า


1. ภายหลังที่ ร.อ.กองแล ยึดอำนาจในราชอาณาจักรลาว เมื่อเดือนสิงหาคม 2503 เป็นต้นมา นายครอง จันดาวงศ์ ได้ชักชวนให้คนเลื่อมใสในลัทธิคอมมิวนิสต์ ก่อตั้งสมาคมลับให้ชื่อว่า "สามัคคีธรรม" จัดแยกคนที่เข้ามาเป็นสมัครพรรคพวก ออกทำหน้าที่หาพรรคพวกต่อไป เรียกเก็บเงินจากผู้ที่เข้าเป็นสมาชิก อบรมชี้แจงให้สมัครพรรคพวกเข้าใจว่า ลัทธิคอมมิวนิสต์จะสามารถนำความสุขสมบูรณ์มาให้แก่ประชาชน ประเทศคอมมิวนิสต์จะให้ความช่วยเหลือ ตั้งโรงงานให้คนมีงานทำ และบำรุงความเจริญด้วยประการต่างๆ

2. นายครอง จันดาวงศ์ กับ นายทองพันธุ์ สุทธิมาศ ได้เรียกประชุมพรรคพวก มีการประชุมกันถึง 21 ครั้งในที่ต่างๆ กัน และใช้ดงผาลาด ในเขตจังหวัดสกลนครกับหนองคายติดต่อกัน เป็นที่ประชุมและฝึกสอนการใช้อาวุธยุทธภัณฑ์ ในการประชุมอบรมพรรคพวกนี้ นายครอง จันดาวงศ์ ได้แสดงแผนการร้าย ทั้งแก่ประเทศชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

เกี่ยวกับประเทศ นายครอง จันดาวงศ์ ได้แสดงแผนการล้มล้างรัฐบาล โดยกำหนดเอาเดือนมิถุนายน 2504 นี้เป็นเวลากระทำการ เพราะคาดหมายว่าขบวนการประเทศลาวจะสามารถยึดลาวได้ทั้งประเทศ และจะส่งกำลังอาวุธมาให้ จึงจะเริ่มต้นด้วย ยึดสถานีตำรวจสว่างแดนดิน และในเขตอำเภออื่นๆ ซึ่งพลเรือนที่เป็นชาวญวนจะให้ความร่วมมือด้วย และจะมีกำลังต่างชาติเข้ามาช่วยให้การยึดอำนาจในประเทศไทย หรืออย่างน้อยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งภาค เป็นผลสำเร็จ แล้วก็จะเอาดินแดนที่ยึดได้ไปรวมกับประเทศลาวภายใต้การปกครองของระบอบคอมมิวนิสต์


เกี่ยวกับชาติ นายครอง จันดาวงศ์ ได้ตั้งเป็นภาษิตว่า "ลาวเป็นลาว" และอบรมพรรคพวกของตนว่า ดินแดนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือนี้ แต่ก่อนเคยเป็นประเทศลาวอิสระ แต่ไทยเข้ามายึดครองและกดขี่ข่มเหงชาวลาว นายครอง จันดาวงศ์ จึงเรียกร้องให้ชาวลาวกอบกู้อิสรภาพของตน ซึ่งเป็นวิธีการของคอมมิวนิสต์ ที่ชอบเผยแพร่ลัทธินี้ด้วยวิธีที่เรียกว่า ปลดแอก

เกี่ยวกับศาสนา นายครอง จันดาวงศ์ ได้ประณามพระภิกษุ สามเณรในพระพุทธศาสนาว่า เป็นบุคคลที่ไม่ทำประโยชน์อะไร และแสดงแผนการว่า เมื่อได้ปกครองโดยลัทธิคอมมิวนิสต์แล้ว ก็จะเอาพระภิกษุสามเณรมาบังคับใช้แรงงาน

เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ นายครอง จันดาวงศ์ ได้ใช้วิธีอบรมพรรคพวกด้วยการลบหลู่พระบรมเดชานุภาพอย่างแรงร้าย ปั้นเรื่องที่ไม่มีมูลความจริงขึ้นมากล่าวร้ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และแสดงแผนการว่า เมื่อลัทธิคอมมิวนิสต์เข้ามาครอบครองประเทศไทยได้ทั้งหมดแล้ว ก็จะเอาพระมหากษัตริย์มาบังคับใช้แรงงานเช่นเดียวกัน


3. ส่วน นายทองพันธุ์ สุทธิมาศ นั้น ได้เป็นกำลังช่วยเหลือ นายครอง จันดาวงศ์ และได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองหัวหน้า


อนึ่ง เพื่อให้บรรลุความสำเร็จตามแผนการที่กล่าวข้างต้น นายครอง จันดาวงศ์ และ นายทองพันธุ์ สุทธิมาศ ได้ดำเนินการบ่อนทำลาย โดยจัดแบ่งพรรคพวกออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งทำการเผยแพร่ อีกส่วนหนึ่งทำหน้าที่ปฏิบัติ คือทำโจรกรรม ลักทรัพย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์พาหนะ ชิงทรัพย์ และปล้นสะดม แสดงให้คนเข้าใจว่า บัดนี้ทางบ้านเมืองไม่สามารถจะให้ความคุ้มครองแก่ราษฎรได้ แต่ผู้ใดมาเข้าเป็นพรรคพวกของ นายครอง จันดาวงศ์ และ นายทองพันธุ์ สุทธิมาศ ผู้นั้นก็จะรอดโจรภัยต่างๆ ด้วยเหตุนี้ จึงมีการโจรกรรมมากยิ่งขึ้นในจังหวัดต่างๆ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมีคนเป็นอันมากได้เข้าเป็นสมัครพรรคพวกของบุคคลทั้งสองนี้ด้วยความกลัวโจรภัย

การกระทำของ นายครอง จันดาวงศ์ กับ นายทองพันธุ์ สุทธิมาศ ดังกล่าว เป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร และราชบัลลังก์ คุกคามความสงบของประเทศชาติอย่างร้ายแรง เป็นการกบฏทรยศต่อประเทศชาติ เข้าข่ายมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีเห็นสมควรใช้อำนาจตามมาตรา 17 นั้น สั่งการประหารชีวิต นายครอง จันดาวงศ์ กับ นายทองพันธุ์ สุทธิมาศ โดยมิต้องนำตัวขึ้นฟ้องร้องยังโรงศาล เพื่อรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงของราชอาณาจักรและราชบัลลังก์ ทั้งเพื่อให้เป็นตัวอย่างป้องกันการกระทำผิดชนิดนี้ต่อไปภายหน้า และขอมติคณะรัฐมนตรีตามความในมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร เพื่อสั่งการตามที่กล่าวแล้วนี้ต่อไป

ตามบันทึกการประชุมคณะรัฐมนตรี ในการพิจารณาเรื่องนี้ พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิระวงศ์ ผู้ทำการแทนอธิบดีกรมตำรวจ, พล.ต.ท.กระเษียร ศรุตานนท์ ผู้ช่วยอธิบดี, พล.ต.ต.พจน์ เภกะนันท์ ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล, พ.ต.อ.วิสุทธิ์ วิสูตรศักดิ์ รองผู้บังคับการตำรวจตระเวนชายแดน, พ.ต.อ.กระจ่าง ผลเพิ่ม ผู้บังคับกรเขต 4 (อุดร) และเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกจำนวนหนึ่ง "ได้เข้าร่วมชี้แจงเปิดเทปคำให้การและซักถามผู้ต้องหาและพยานบางคนด้วย"

(น่าสังเกตว่า ไม่มีรายชื่อตำรวจเหล่านี้อยู่ในกลุ่ม "ผู้อยู่ในห้องประชุม" ข้างต้น ทั้งนี้เพราะพวกนี้เพียงเข้าร่วมประชุมวาระนี้ วาระเดียว ขณะที่ผู้มีชื่ออยู่ในกลุ่ม "ผู้อยู่ในห้องประชุม" ซึ่งรวมทั้ง ป๋วย อึ๊งภากรณ์ น่าจะหมายถึง ผู้ที่อยู่ร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนั้นโดยตลอด หรือเกือบตลอด)

ไม่มีบันทึกการอภิปรายในวาระนี้ นอกจากสรุป "มติ" ของคณะรัฐมนตรีเพียงว่า "เห็นชอบด้วยตามที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีเสนอ และให้ดำเนินการประหารชีวิต นายครอง จันดาวงศ์ กับ นายทองพันธุ์ สุทธิมาศ ได้"



สฤษดิ์กราบบังคมทูลวิเคราะห์ลักษณะพิเศษของภาคอีสาน

วันรุ่งขึ้นหลังการประหารชีวิตครอง-ทองพันธุ์ สฤษดิ์ได้ทำหนังสือฉบับหนึ่ง กราบบังคมทูลในหลวง "ถึงพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แห่งพระราชอาณาจักร" ซึ่งนับว่าแปลกไม่น้อย (ไม่มีการทำหนังสือกราบบังคมทูลหลังประหารศิลาหรือศุภชัยก่อนหน้านั้น หรือหลังประหารรวมในเวลาต่อมา) ในหนังสือฉบับนี้ สฤษดิ์ได้วิเคราะห์สาเหตุที่ภาคอีสานเกิดขบวนการกบฏและแบ่งแยกดินแดนบ่อยครั้งกว่าภาคอื่น โดยเสนอว่าสาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือ ภาคอีสานไม่เคยมีประสบการณ์ต่อสู้กับการรุกรานจากศัตรูภายนอกเหมือนภาคอื่น

การ "วิเคราะห์" ในลักษณะนี้ ชวนให้สงสัยว่า หลวงวิจิตรวาทการอาจจะมีส่วนในการร่าง หรือเป็นผู้ร่างหนังสือกราบบังคมทูลฉบับนี้เอง (ตั้งแต่ปีแรกที่จัดตั้งรัฐบาล สฤษดิ์ได้แต่งตั้ง "คณะกรรมการร่างสุนทรพจน์และรายงาน" มีหลวงวิจิตรเป็นประธาน มีกรรมการคนอื่น ได้แก่ พล.ต.เนตร เขมะโยธิน, ดร.กนธีร์ ศุภมงคล, ดร.วิทย์ ศิวสริยานนท์, พ.อ.สนอง ถมังรักษ์สัตว์, มาลัย ชูพินิจ, สมัย เรืองไกร, ฉันทิชย์ กระแสสินธ์ และ จินตนา ยศสุนทร เป็นต้น หน้าที่ข้อหนึ่งของคณะกรรมการคือ ร่าง "หนังสือที่นายกรัฐมนตรีกราบบังคมทูลในเรื่องสำคัญที่มิใช่งานปรกติ" ตามคำสั่งแต่งตั้งนั้น "นายกรัฐมนตรีอาจมอบหมายงานให้บุคคลที่กล่าวนามข้างต้นนี้ ทำเป็นส่วนตัวโดยเฉพาะ หรือมอบหมายให้หลายคนทำเป็นเรื่องๆ ไป หรือให้อยู่ในดุลยพินิจของประธานกรรมการที่จะมอบผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะตัว หรือให้หลายคนร่วมมือกันทำในความรับผิดชอบของประธานกรรมการก็ได้")

ผมขอคัดลอกข้อความในหนังสือกราบบังคมทูลของสฤษดิ์มาให้ดูทั้งฉบับข้างล่างนี้ ยกเว้นบางประโยคในตอนท้าย ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาว่า ครองกับทองพันธุ์ โจมตีพระมหากษัตริย์อย่างไรบ้าง ผมตัดออก แล้วใส่เครื่องหมาย [...] แทน เนื่องจากอาจเข้าข่ายผิดกฎหมายได้

(ความจริงที่ว่า สฤษดิ์กล้าถึงขั้นเขียนข้อความเหล่านี้ลงไปในหนังสือกราบบังคมทูล นับว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง)



สำนักนายกรัฐมนตรี

1 มิถุนายน 2504


ขอพระราชทานกราบบังคมทูลพระกรุณา ทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาส กราบบังคมทูลกรุณาเพื่อทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ถึงพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือแห่งพระราชอาณาจักร โดยมีบุคคลตระเตรียม และดำเนินการบ่อนทำลายความมั่งคง ของราชอาณาจักร และราชบัลลังก์ ก่อกวนความสงบ มีแผนการอันเลวร้าย ถึงขนาดที่จะเอาภาคตะวันออกเฉียงเหนือไปรวมกับลาวภายใต้การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ เจ้าหน้าที่ได้ติดตามเหตุการณ์อย่างใกล้ชิดตลอดมา และจับกุมผู้ก่อการร้ายได้เป็นจำนวนมาก ได้ทำการสอบสวนจนเป็นที่แน่ชัด ปราศจากข้อสงสัย เห็นสมควรและจำเป็นที่จะต้องดำเนินการอย่างเฉียบขาด เพื่อป้องกันภัยของประเทศชาติ และเพื่อเป็นตัวอย่างยับยั้งการกระทำผิดคิดร้ายในทำนองนี้ต่อไปภายหน้า ข้าพระพุทธเจ้า ด้วยความสนับสนุนของมติคณะรัฐมนตรีเป็นเอกฉันท์ ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญปกครองราชอาณาจักร สั่งประหารชีวิต นายครอง จันดาวงศ์ หัวหน้าผู้ก่อการร้าย กับ นายทองพันธุ์ สุทธิมาศ รองหัวหน้า และเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ เสร็จสิ้นไปแล้ว ที่อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2504 ส่วนผู้ต้องหาอื่นๆ ก็จะได้จัดการฟ้องร้องให้พิจารณาในศาลทหารตามวิธีการในระยะเวลาที่ประกาศในกฎอัยการศึกต่อไป

ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานกราบทูลว่า การวินิจฉัยตัดสินใจสั่งประหารชีวิตบุคคลทั้งสองที่กล่าวนั้น มิได้กระทำอย่างรีบด่วน แต่ได้กระทำภายหลังที่ได้พิจารณาแล้วโดยรอบคอบและเที่ยงธรรม ฟังคำพยานและคำสารภาพที่ให้การโดยสมัครใจแล้วถึง 95 ปาก ดังแจ้งอยู่ในคำแถลงของรัฐบาลแก่ประชาชน ซึ่งได้ประกาศในคืนวันที่ 31 พฤษภาคม และสำเนาคำสั่งให้ประหารชีวิต ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานกราบบังคมทูลเกล้าฯ ถวายมาพร้อมกับรายงานกราบบังคมทูลนี้ด้วย

เป็นที่ทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทอยู่แล้ว เหตุการณ์กบฏในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนี้ ได้มีมาหลายครั้งหลายหน ทั้งในประวัติศาสตร์และในยุคสมัยใหม่ เช่น เรื่องกบฏเจ้าอนุเวียงจันทน์ เรื่องผีบุญต่างๆ ในกาลก่อน ในชั้นหลังนี้ ก็มีเรื่อง นายเตียง ศิริขันธ์ เรื่อง นายศิลา วงศ์สิน และโดยเฉพาะตัว นายครอง จันดาวงศ์ ที่ถูกประหารชีวิตครั้งนี้ ก็เคยต้องคำพิพากษาฐานกบฏ ศาลลงโทษอย่างหนักถึงจำคุก 13 ปี กับ 5 เดือน

ที่เป็นเช่นนี้ ด้วยเหตุหลายประการ เช่น


1. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือแห่งราชอาณาจักร เป็นภาคที่มีพลเมืองหนาแน่น จังหวัดโดยมากมีพลเมืองตั้งครึ่งล้าน บางจังหวัดมากกว่า 1 ล้าน แต่ละอำเภอมีพลเมืองตั้ง 4 หรือ 5 หมื่น จำนวนคนเกิดก็เพิ่มทวีรวดเร็วกว่าในภาคอื่น อันที่จริง ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็มีภาษาและขนบประเพณีเช่นเดียวกับภาคเหนือ แต่ดินแดนทางภาคเหนืออุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากร ประชาชนมีทางทำมาหาเลี้ยงชีพมาก ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น ทางทำมาหากินแร้นแค้นกว่า

2. ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่เคยประสบการรุกรานสู้รบอย่างรุนแรงในประวัติศาสตร์เหมือนภาคอื่นๆ ในสมัยที่ประชาชนในภาคเหนือ ภาคกลาง ตลอดถึงภาคใต้ ต้องร่วมเป็นร่วมตายกัน ทำการต่อสู้อย่างฉกาจฉกรรจ์ เพื่อต่อต้านการรุกรานของพม่าในอดีต ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รอดพ้นยุทธภัยอันนี้ตลอดมา ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่ได้มีโอกาสที่จะร่วมเป็นร่วมตายกับพี่น้องชาวไทยทั้งหลายเพื่อประเทศชาติ เหมือนภาคอื่นๆ นิสัยเข้มแข็ง ความเป็นนักสู้ ความรักประเทศชาติ และความรู้สึกกลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในชาติไทย จึงย่อหย่อนกว่าประชาชนในภาคอื่น มีความขวนขวายน้อย พอใจในชีวิตที่ผ่านไปเป็นวันๆ ในลักษณะของประชาชนที่เป็นเช่นนี้ ย่อมตกเป็นเหยื่อของการปลุกปั่นชักจูงไปในทางที่ผิดได้ง่าย

3. ดินแดนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นจุดล่อแหลมต่อภัยคอมมิวนิสต์มากที่สุด เนื่องจากว่าคอมมิวนิสต์ที่ลี้ภัยในสมัยที่อินโดจีน ต้องสู้รบกับฝรั่งเศสนั้น พากันเข้ามาพำนักอาศัย นายโฮจิมินห์เองก็ได้มาพักพิงอยู่ในแถวถิ่นนี้เป็นเวลานาน การเผยแพร่อบรมในลัทธิคอมมิวนิสต์ จึงได้เริ่มฝังรกรากอยู่ไม่น้อย ในบรรดาคนที่เป็นผู้ต้องหาครั้งนี้ บางคนที่ปรากฏว่ามีการศึกษาทั่วไปเพียงเล็กน้อย ยังสามารถพูดถึงเรื่อง Dialectic ในลัทธิคอมมิวนิสต์ ด้วยเหตุนี้ ข้าพระพุทธเจ้าจึงหวาดเกรงอยู่เสมอมาว่า ถ้าราชอาณาจักรลาวตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของคอมมิวนิสต์อย่างแท้จริงแล้ว การที่คอมมิวนิสต์จะแทรกซึมเข้ามาในดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นจะเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ยากที่สุด

4. เผอิญคนพวกหนึ่ง ซึ่งร่วมภาษา ร่วมขนบประเพณี และเกี่ยวพันทางสายโลหิตอย่างใกล้ชิด กับประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีจำนวนเพียง 2 ล้าน ไม่ถึง 1 ใน 4 ของจำนวนพลเมืองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้มีโอกาสเป็นราชอาณาจักร มีพระมหากษัตริย์ มีรัฐบาล มีการปกครองเป็นอิสระ เรียกว่า "ราชอาณาจักรลาว" ก็ย่อมเป็นช่องทางให้ผู้คิดร้ายจูงใจให้เห็นว่า คนเพียง 2 ล้านเท่านั้น ยังเป็นอาณาจักรอิสระได้ พลเมืองลักษณะอย่างเดียวกันถึง 9 ล้านในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำไมจึงไม่คิดเป็นราชอาณาจักรขึ้นบ้าง หรือรวมกันกับราชอาณาจักรลาว ด้วยเหตุนี้ ความคิดเรื่องแบ่งแยกดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงมิใช่ของใหม่ แต่เป็นความคิดที่มีอยู่เสมอมา ส่วนทางดินแดนภาคเหนือ คือ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน ไม่มีเรื่องชนิดนี้

พฤติการณ์ทั้งหลายที่กล่าวข้างต้นนี้ รัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวข้าพระพุทธเจ้าเอง ได้ให้คาวมสนใจในการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพิเศษ อันที่จริง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้รับการทำนุบำรุงมาแล้วไม่น้อยกว่าภาคอื่น ถ้าจะนับปริมาณถนนหนทางที่สร้างให้ก็มากกว่าภาคอื่น ในสมัยที่มีผู้แทนราษฎร พวกผู้แทนชาวตะวันออกเฉียงเหนือหรือที่เรียกว่า ชาวอีสาน ก็มีอิทธิพลยิ่งกว่าผู้แทนภาคใดๆ และได้เงินทองที่อ้างว่าจะเอาบำรุงภาคอีสานก็เป็นจำนวนมาก มาถึงรัฐบาลปัจจุบันนี้ ข้าพระพุทธเจ้าได้ตระหนักในความสำคัญและความล่อแหลมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถึงกับเดินทางไปตรวจทุกปี บางปีก็หลายครั้ง ข้าพระพุทธเจ้าได้จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาภาคอีสานขึ้นเป็นพิเศษ โดยข้าพระพุทธเจ้าเป็นประธานเอง การสร้างถนนหนทางได้เร่งรัดมากขึ้น งานชลประทานได้ทำมากขึ้น ถึงกับมีโครงการสร้างเขื่อน สร้างแหล่งกำเนิดไฟฟ้าด้วยแรงน้ำ ซึ่งบางแห่งก็หาเงินกู้ได้แล้ว และกำลังดำเนินงานอยู่ภายใต้ความควบคุมเร่งรัดของข้าพระพุทธเจ้าเอง

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กระทำให้ข้าพระพุทธเจ้าแน่ใจยิ่งขึ้นว่า รัฐบาลจะต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ แก่ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่เสมอไป และความสนใจอันนี้จะต้องกระทำเป็น 2 ทาง คือ (1) นโยบายภายนอก จะต้องทำความพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะมิให้ราชอาณาจักรลาวตกอยู่ในความครอบงำของคอมมิวนิสต์ (2) นโยบายภายในจะต้องดำเนินการอย่างเข้มงวดกวดขัน ทั้งในการปราบปรามและในการบำรุง โดยเฉพาะเรื่องการคมนาคม นอกจากจะต้องขะมักเขม้นให้มีถนนหนทางมากขึ้นแล้ว เวลานี้กำลังสร้างสถานีวิทยุกระจายเสียงที่ขอนแก่น เพื่อดำเนินงานสงครามจิตวิทยาให้มีสมรรถภาพยิ่งขึ้น ส่วนชาวญวนอพยพที่เป็นเชื้อคอมมิวนิสต์อยู่ในดินแดนภาคนี้ ก็จะได้ขนอพยพออกไปให้มากที่สุดที่จะทำได้

ข้าพระพุทธเจ้าหวังด้วยเกล้าฯ ว่า ด้วยเดชะพระบารมีและด้วยความซื่อสัตย์จงรักภักดีของข้าพระพุทธเจ้า ต่อประเทศชาติ ต่อพระศาสนา และในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท รัฐบาลนี้จะสามารถปราบปราม และแก้ไขสถานการณ์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้ดีขึ้นโดยลำดับ

โดยเฉพาะคนทั้งสองที่ข้าพระพุทธเจ้าสั่งประหารชีวิตไปแล้วนี้ เป็นคนที่สมควรจะได้รับโทษฐานหนักที่สุด ไม่มีเหตุผลอันใดที่จะให้อภัยหรือถือว่าเป็นการเมือง เพราะการกระทำของคนทั้งสองนี้ มิใช่การกระทำของนักการเมือง แต่เป็นการกบฏทรยศขายชาติ ขายประเทศ เป็นกรณีที่บ่อนทำลายราชบัลลังก์อย่างร้ายแรงที่สุด ที่ไม่เคยมีใครทำมาแต่ก่อน เพราะนอกจากจะโฆษณาชวนให้คนเชื่อไปในทางที่ว่าพระมหากษัตริย์ไม่มีประโยชน์แล้ว ยังพยายามทำลายพระเกียรติคุณ โดยโฆษณาว่า พระมหากษัตริย์ทรง [...] ร้ายยิ่งกว่านั้น ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าไม่น่าจะกราบบังคมทูลพระกรุณา แต่เห็นด้วยเกล้ากระหม่อมว่า ควรจะกราบบังคมทูลด้วยความจงรักภักดี เพื่อให้ทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า คนพวกนี้ได้จงจิตคิดร้ายต่อราชบัลลังก์เพียงไร พยานกว่า 10 ปากให้การตรงกันว่า นายครอง จันดาวงศ์ ได้กล่าวในการอบรมพรรคพวกของตนหลายครั้งหลายหนว่า ทั้งใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ [...] คนที่ทุจริตประทุษร้ายราชบัลลังก์ถึงขนาดนี้ ไม่ควรจะให้มีชีวิตอยู่ในแผ่นดินไทยต่อไปเลย



ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ

ข้าพระพุทธเจ้า จอมพล ส. ธนะรัชต์

นายกรัฐมนตรี





ไม่มีความคิดเห็น: