วันอังคารที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2553

เงามืดของราชวงศ์ในดินแดนแห่งรอยยิ้ม : Royal Shadows in the Land of Smiles

Nicholas Farrelly
 ๑ มีนาคม ๒๕๕๐


ที่มา : The Oxonian Review

 
แปลและเรียบเรียง : chapter 11
 
 
พอล แฮนด์ลี่


กษัตริย์ไม่เคยยิ้ม:
พระราชประวัติของกษัตริย์ภูมิพล อดุลยเดชแห่งประเทศไทย

โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยเยล ๒๕๔๕ (๕๑๒ หน้า)
ISBN 0300106823
 
 
 
 
ดือนมิถุนายน ๒๕๔๙ อันเป็นวันฉัตรมงคลเฉลิมฉลองการขี้นครองราชย์ครบ ๖๐ ปีของกษัตริย์ภูมิพล เนืองแน่นไปด้วยราชอาคันตุกะจากรอบโลกเพื่อร่วมฉลองในกรุงเทพ ในขณะที่ประเทศไทยได้ขึ้นชื่อว่าให้การยกย่องต่อราชวงศ์ของตัวเองเป็นที่สุด ปรากฏว่ามกุฎราชกุมาร จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งภูฎานได้กลายเป็นบุคคลที่ได้รับความสนใจอย่างไม่คาดฝัน พสกนิกรที่แสดงความชื่นชมส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ติดตามพระองค์ทุกพระราชอิริยบท ต่างปลาบปลื้มกับความมีเสน่ห์และทรงมีพระสิริโฉมที่หล่อราวกับวัยรุ่น ทรงสำเร็จการศึกษาจากอ็อกซ์ฟอร์ด และทรงครองอาณาจักรแห่งพุทธ เจ้าชายจิกมีได้กลายเป็น “เจ้าชายในฝัน” ของประเทศไทย มีรายงานว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่ขอข้อมูลเพื่อเยี่ยมชมประเทศภูฎานได้เพิ่มสูงเป็นประวัติการณ์ ความหลงใหลได้ปลื้มดังกล่าวเห็นได้จาก เมื่อเจ้าชายจิกมีเสด็จกลับมากรุงเทพในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๙ เพื่อทรงเข้ารับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยรังสิต


อีกไม่นานหลังจากเดือนธันวาคม ๒๕๔๙ พระบิดาของเจ้าชายจิกมี กษัตริย์ จิกมี ซิงเย วังชุก ทรงสละราชสมบัติ เป็นการสร้างความประหลาดใจ เพราะตามแผนเดิมแล้วการมอบอำนาจควรจะเป็นปี ๒๕๕๑ “เจ้าชายในฝัน” ทรงเข้าพิธีรับการสถาปนาขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งภูฏาน ซึ่งเป็นภารกิจที่ใหญ่หลวง พระองค์ทรงมีหน้าที่เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงจากการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชไปเป็นระบอบรัฐธรรมนูญ โดยมีรัฐสภาซึ่งมาจากการเลือกตั้งตามระบบประชาธิปไตย สื่อของไทยได้ประโคมข่าวนี้อย่างครึกโครมในการแสดงความยินดีต่อการขี้นครองบัลลังก์แห่งราชอาณาจักรภูฏาน เนื่องจากภาพพจน์โดยรวมของพระองค์ที่เพียบพร้อมไปด้วยจริยธรรม พระสิริโฉม และเป็นเจ้าชายที่น่าใฝ่ปอง และได้กลายมาเป็นสมเด็จพระราชาธิบดี สังคมไทยสรรเสริญสดุดีต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขี้นอย่างสงบและมีประสิทธิภาพ ซึ่งเรื่องการสืบสันตติวงศ์ได้อยู่ในใจของหลายๆคนเช่นกัน

เป็นการหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ทุกๆราชวงศ์จะต้องเผชิญกับเรื่องการสืบสันตติวงศ์เมื่อปลายรัชกาลที่ยาวนานใกล้เข้ามา อย่างเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์รอสืบราชบัลลังก์มาหลายทศวรรษภายใต้เงาพระราชมารดา กษัตริย์ภูมิพลอดุลยเดชแห่งประเทศไทยทรงครองราชย์มาหลายทศวรรษ ข่าวลือต่างๆเกี่ยวกับอนาคตของราชวงศ์ได้สะสมมานานเกินปกติ เวลานี้เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร นายทหารทรงอยู่ในวัยกลางคน ทรงเป็นที่เลื่องลือในด้านความถือพระองค์และความเจ้าชู้ ทรงประสบความล้มเหลวที่จะทำพระองค์ให้เป็นที่รัก การปฏิบัติพระราชกรณียกิจของราชวังเพื่อที่จะยัดเยียดปิดบังภาพพจน์ของพระองค์ยังไม่สามารถช่วยได้ การพัวพันในการเมืองของราชวงศ์ไทยเป็นไปอย่างซ่อนเร้น และในบางครั้งเจือปนด้วยความรุนแรง เป็นการขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับภาพพจน์ที่ประเทศไทยพยายามเสนอต่อโลกให้เห็นว่า เต็มไปด้วยรอยยิ้มและมีความสบายๆ

เมื่อไม่นานมานี้ในเดือนกันยายน ๒๕๔๙ ได้มีการพิสูจน์ถึงภาพพจน์ของ “ดินแดนแห่งรอยยิ้ม” แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อบรรดานายพลทั้งหลายปฏิบัติการรัฐประหารในชั่วข้ามคืน ผู้สังเกตการณ์ทุกคนต่างต้องการทราบวา “การแทรกแซง” เช่นนี้เป็นการนำวันอุบาทว์เก่าๆของวงจรการทำรัฐประหารและการทำรัฐประหารซ้อนให้หวนกลับคืนมาหรืออย่างไร นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ ๒ ก่อนปี ๒๕๔๙ ครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อปี ๒๕๓๕ ประเทศไทยประสบกับการทำรัฐประหารมาถึง ๑๗ ครั้ง ตั้งแต่ช่วงปลายของปี ๒๕๓๓-๒๕๔๓ หลายๆคนได้เข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่าง (นับตั้งแต่ รัฐธรรมนูญ รัฐสภาตามแบบอย่างประชาธิปไตย และกฎหมาย) มีความมั่นคงเป็นที่สุด ความรู้สึกในตอนนั้นว่าทหารจะกลับเข้าไปอยู่ในกรมกองอย่างถาวร และในที่สุดกษัตริย์ภูมิพลทรงช่วยสถาปนาระบบประชาธิปไตยให้ยั่งยืนสถาพร แต่เป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่คิดผิด

ใครก็ตามที่หวังจะมาช่วยยืนยันว่า ความคิดของคนส่วนใหญ่ไม่ถูกต้องอย่างไร ก็ต้องอ่านกษัตริย์ไม่เคยยิ้มของพอล แฮนด์ลี่ เป็นหนังสือที่สืบสาวเรื่องราวเกี่ยวกับกษัตริย์ของประเทศไทย เพื่อพยายามทำความเข้าใจในเรื่องที่ไม่มีใครทราบมาก่อน และการวิจารณ์ทางการเมืองและด้านสังคมของราชวงศ์ ขณะเดียวกันเป็นการให้ความสว่างในความมืดที่ครอบคลุมพวกนิยมเจ้าและศักดินาการเมืองของพวกทหาร นับเป็นบรรยากาศที่ไม่แน่นอนและน่าสะพรึงกลัว สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเยลและแฮนด์ลี่เองได้ถูกแรงกดดันอย่างหนักเพื่อให้หยุดการตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ พวกเขาไม่ยอมแพ้ต่อการข่มขู่ของพวกนิยมเจ้า หรือฝ่ายประชาสัมพันธ์ของราชวัง การวิเคราะห์เหตุการณ์จากทั่วโลกในการเปลี่ยนแปลงเพื่อความเป็นประชาธิปไตย การเข้าแทรกแซงของพวกทหารศักดินา มีคุณค่าเหนือสิ่งอื่นใด ขอบคุณกับภาพพจน์ที่พยายามสร้างขึ้นมา ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องได้รับชัยชนะเสมอไป

ความพยายามด้านอื่นในการจัดการเรื่องภาพพจน์ของประเทศไทยได้รับความสำเร็จมากกว่า หลังจากเกิดรัฐประหาร รัฐบาลทหารได้พยายามโหมประชาสัมพันธ์ไปทั่วโลก ความพยายามเยี่ยงนี้ และคนดูจากทั่วโลกที่มีแต่ความเห็นอกเห็นใจ ไม่เคยเลยแม้แต่สักวินาทีเดียวที่ภาพพจน์ของประเทศไทยที่ถูกสร้างอย่างระมัดระวังว่า มีแต่ความสงบและเต็มไปด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่จะได้รับความสงสัย การทำรัฐประหารได้รับการสรรเสริญอย่างกว้างขวางว่าเป็น การแทรกแซงโดยปราศจากการเสียเลือดเสียเนื้อ เพื่อขับไล่นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ผู้ก่อให้เกิดความแตกแยก บรรดานายพลทั้งหลายเข้ายึดอำนาจโดยเบ็ดเสร็จ และทักษิณมหาเศรษฐีจากโทรคมนาคม ซึ่งได้รับเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศถึงสามสมัย นายกรัฐมนตรีที่เต็มไปด้วยความคิดอิสระ กำลังติดราชการที่ยูเอ็น นครนิวยอร์ค รัฐบาลตะวันตกได้แต่บ่น และความตกตะลึงของนักวิชาการที่สงสัยเพียงหยิบมือ ต่างไม่ได้กระทำการใดๆเพื่อที่จะลบภาพพจน์อันเจิดจรัสของการทำรัฐประหารนี้เลย ภาพแล้วภาพเล่าของนักท่องเที่ยวที่เริงร่าถ่ายรูปร่วมกับรถถัง เคียงข้างทหารที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม เสนอความสง่างามตามหน้าหนังสือพิมพ์ทั่วโลก

หลายๆคนทั้งในและนอกประเทศไทย ต่างหายใจด้วยความโล่งอกหลังจากความตึงเครียดที่ไม่มีทีท่าว่าจะยุติมาเป็นเวลานับเดือน โลกรู้สึกโล่งอกต่อการทำรัฐประหารอย่างมีพัฒนาการของประเทศไทย จะหวังสิ่งใดอีกเล่าจากดินแดนที่ผู้คนมีแต่รอยยิ้มเช่นนี้ เราได้รับการบอกเล่าว่า ไม่มีการเสียเลือดเสียเนื้อ แค่มีคนถูกจับไม่กี่คน และไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องวิตกกังวล นายพลทั้งหลายเสนอหน้าออกทีวี และประกาศอย่างเป็นทางการว่าไม่มีเหตุการณ์ผิดปกติใดๆ พวกเขาทั้งยิ้มและตั้งท่าเพื่อให้ทำการถ่ายรูป กษัตริย์ บุคคลซึ่งเรียนรู้บางสิ่งบางอย่างจากการทำรัฐประหารในการครองราชย์มาร่วม ๖๐ ปี ทรงมีพระฉายาลักษณ์ทรงร่วมปรึกษากับคณะรัฐประหารเช่นกัน หลายๆคนได้มองว่า สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณที่ว่า กษัตริย์ทรงเห็นชอบในการเข้าไปแทรกแซงของบรรดานายพลเหล่านี้

นายพลทั้งหลายประกาศยกเลิกการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือนตุลาคม ทักษิณถูกบังคับให้ออกไปพำนักในถิ่นที่หรูหราในกรุงลอนดอน คนไทยหลายๆคนได้แสดงความยินดีกับการถูกปล้นอำนาจของทักษิณ โดยเฉพาะในกรุงเทพ ชนชั้นกลางในเมืองหลวง ต่างก็เบื่อหน่ายกับสิ่งที่พวกเขามองเห็นว่า รัฐบาลยุคทักษิณมีแต่เรื่องผิดศีลธรรม การฉ้อราษฎร์ และมีแต่การใช้ความรุนแรง ภายใต้ทักษิณมีปัญหาเกิดขึ้นหลายอย่าง รวมถึงการทำสัญญาธุรกิจที่เลวทราม การกล่าวหาว่าฉ้อราษฎร์ และความฟุ้งเฟ้อ และโดยเฉพาะ “สงครามยาเสพติด” ที่เสียเลือดเสียเนื้อในปี ๒๕๔๖ อย่างไรก็ตาม คำวิจารณ์ใดๆไม่สามารถทำลายแม้แต่ปลายก้อยต่อความสำเร็จที่ได้รับจากการเลือกตั้งอย่างไม่เคยมีปรากฏการณ์เช่นนี้มาก่อน และนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามที่ทำตัวเบื้อใบ้กับการที่พวกเขาถูกบังคับให้ยกเลิกการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ปัญหาจากการปกครองของทักษิณไม่ได้เลวร้ายไปกว่าบุคคลอย่าง โทนี่ แบร์ หรือ จอร์ช ดับเบิ้ลยู บุช อย่างที่นักวิจารณ์หลายคนพยายามแสดงความเห็น ดังนั้นคำถามยังคงมีอยู่ว่า ทำไมคนอย่างทักษิณซึ่งได้รับความอับอายจากการถูกทำรัฐประหารในระหว่างที่อยู่ต่างประเทศ จึงไม่ออกแถลงการณ์ตอบโต้ที่องค์การสหประชาชาติ

เมื่อรถถังเคลื่อนเข้ายึดกรุงเทพ ไม่ว่าทรัพย์สินที่มีอยู่ หรือความสัมพันธ์ต่างๆที่มี หรือสถานะใดๆ จะช่วยทักษิณซึ่งมาจากการเลือกตั้งได้ หกเดือนผ่านไป ฝ่ายทำรัฐประหารและรัฐบาลที่ทหารแต่งตั้งมีความแข็งแกร่งขึ้น แต่ความกังวลในเป้าหมายของอนาคต และความสามารถของทหารที่จะบริหารประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและแก้ไขปัญหาต่างๆยังคงมีอยู่ ปัญหาจากพวกก่อความไม่สงบชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังครุกรุ่นอยู่ รวมถึงเศรษฐกิจที่ซบเซายังคงเป็นเรื่องหลักที่สร้างความกังวล ทั้งนายพลและโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ที่ได้รับการแต่งตั้งจากทหารต่างขานรับด้วยการพูดถึงเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” ความคิดที่คลุมเครือในเรื่องความเรียบง่ายและเพื่อความยั่งยืนถาวรตีกันให้ยุ่งกับความกำกวมและความพอใจในตัวเอง แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ เป็นแนวความคิดที่มาจากกษัตริย์ภูมิพลและที่ปรึกษาส่วนพระองค์ ในราชอาณาจักรแล้ว หลักคำสอนใดๆย่อมอยู่เหนือการตำหนิทั้งปวง

ในระหว่างวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงปลายยุค ๙๐ (ค.ศ.) กษัตริย์ภูมิพลทรงใช้คุณสมบัติพิเศษส่วนพระองค์ที่เป็นที่ยอมรับ และภาพพจน์ดั่งสมมุติเทพเพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางสังคม และเศรษฐกิจแห่งชาติ ตามแนวทางของพระองค์ บางครั้งเรียกว่า “ทฤษฎีใหม่” เป็นความคิดที่สร้างมาจากความพอใจในสิ่งที่มีอยู่อย่างเรียบง่าย “ใช้ชีวิตและการกินอยู่อย่างพอเพียง” เป็นเรื่องแปลกที่ว่า เป็นการสนับสนุนการใช้ภาษาเดียวกัน ในเรื่อง “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” ที่ทำให้ประเทศภูฏานมีชื่อเสียงว่าเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมที่เก่าแก่และแปลกใหม่ซึ่งต่างจากที่มีอยู่ในสังคม ใครก็ตามที่ได้ผ่านกรุงเทพเมื่อไม่นานมานี้ จะเห็นความขัดแย้งระหว่างประเทศไทยยุคใหม่และอุดมการณ์ของพระองค์ ภาพที่เห็นได้ชัดจากศูนย์การค้าที่อลังการของสยามพารากอนในใจกลางกรุงเทพมูลค่า ๑๑,๗๓๐ ล้านบาท สร้างบนเนื้อที่ที่เช่ามาจากสำนักงานทรัพย์สิน ไม่ว่าจะมีความขัดแย้งอย่างมากมายเพียงไร ก่อนที่จะมีการทำรัฐประหาร ทฤษฎี “เศรษฐกิจพอเพียง” ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากนักวิชาการต่างๆ เป็นสำนวนที่ฟังดูสำคัญแต่ขาดพื้นฐานต่อการวางนโยบายของรัฐ ขณะนี้การเข้ายึดอำนาจของทหารซึ่งได้รับการสนับสนุนจากในวัง และการข้องเกี่ยวของราชวงศ์ รัฐบาลย่อมหนุนแนวคิดทางเศรษฐกิจของกษัตริย์อย่างเต็มตัว

เหตุผลหนึ่งคือแทบจะไม่มีการวิจารณ์เกี่ยวกับทฤษฎีของกษัตริย์ เนื่องจากการตั้งคำถามต่อองค์กษัตริย์ หรือบุคคลใดก็ตามที่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์ไม่เพียงแค่เป็นเรื่องอันตราย หากยังผิดกฎหมายของประเทศไทย ชาวต่างชาติไม่ได้รับความคุ้มครองจากข้อกล่าวหาจากกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เช่นกัน ชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งถูกจับในปี ๒๕๓๘ ด้วยข้อกล่าวหาว่า แสดงความคิดเห็นต่อเจ้าฟ้าหญิงแห่งประเทศไทยในทางเสียหายบนเครื่องบินของสายการบินไทย และเหตุการณ์อื่นอีกสองครั้ง ครั้งหนึ่งในปี ๒๕๔๕ การโต้เถียงในฟาร์อิสเทิร์นอีโคโนมิครีวิวส่งผลให้นักข่าวที่มีชื่อสองคนถูกตั้งข้อหาหมิ่นฯ และในปี ๒๕๕๐ ชายชาวสวิสถูกจับและถูกคุกคามที่จะถูกขังคุก ๗๕ ปีในข้อกล่าวหาว่า ทำลายพระฉายาลักษณ์ของกษัตริย์ เมื่อไม่มีชาวต่างชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง การกล่าวหา “ต่อต้านกษัตริย์” ได้ถูกนำมาใช้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการปิดปากคู่ต่อสู้ทางการเมือง อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรและคู่กัด นายทุนแห่งสื่อ สนธิ ลิ้มทองกุล ทั้งคู่ต่างใช้วิธีนี้ในระหว่างการเผชิญหน้ากันในปี ๒๕๔๘-๒๕๔๙ ในเรื่องเกี่ยวกับอนาคตของการเมืองของประเทศ แต่ต่างฝ่ายต่างไม่สามารถอ้างว่าได้รับความเห็นชอบเต็มที่จากกษัตริย์ ผลก็คือมีการทำรัฐประหารเพื่อผ่าทางตันทางการเมือง

การเข้มงวดต่อการแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะเป็นประเด็นสำคัญที่ผมจะหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในครั้งนี้ เนื่องจากว่าหนังสือที่เพิ่งวางแผงของพอล แฮนด์ลี่ นักหนังสือพิมพ์อาวุโส เป็นการท้าทายกับการใช้กฎหมายหมิ่นฯของไทย หนังสือของเขาถูกสั่งห้ามขายในประเทศไทย การโฆษณาขายหนังสือเล่มนี้บนเว็บไซต์ของสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเยลถูกปิดกั้นเป็นระยะในราชอาณาจักร ผู้สังเกตการณ์ได้เห็นพ้องต้องกันว่า พระราชประวัติของกษัตริย์ภูมิพลที่เขียนขึ้นโดยไม่ได้รับพระราชานุญาตเช่นนี้ หมายถึงว่า แฮนด์ลี่อาจจะไม่ได้รับการอนุญาตให้กลับคืนสู่ประเทศไทย

หนังสือกษัตริย์ไม่เคยยิ้มของแฮนด์ลี่เป็นหนึ่งในหนังสือที่หาได้ยากมากเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะเป็นแรงบันดาลใจให้มีการถกเถียงกันในวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะนอกประเทศไทย แม้หนังสือเล่มนี้จะวางแผงเป็นเดือนแล้ว ยังคงได้รับการวิจารณ์และโต้แย้งอยู่ตลอดเวลา ที่น่าแปลกก็คือ มีหลายๆคนซึ่งอ้างว่าไม่ได้อ่าน แต่ยังรู้สึกได้ถึงความทุกข์ที่ได้รับจากหนังสือเล่มนี้ ผู้ที่ไม่สนใจหนังสือเล่มนี้อาจมาจากพื้นฐานที่ว่าเป็นหนังสือที่ตีเจ้าอย่างรุนแรง หรือพูดให้ง่ายๆก็คือ เป็นการตีชาวไทยด้วย ในทางกลับกัน หนังสือของแฮนด์ลี่ ง่ายๆก็คือเป็นการอารัมภบทที่ดีที่สุดสำหรับใครก็ตามที่จะทำความเข้าใจความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในขณะนี้ของการเมืองไทย เป็นเรื่องเกี่ยวกับเครือข่ายราชวงศ์ เมื่อไม่นานมานี้นักสังคมศาสตร์ ดันแคน แมคคาโกได้ขนานนามไว้ว่า ” เครือข่ายระบอบกษัตริย์” และการปลูกฝังรากฐานของอำนาจแห่งบัลลังก์อย่างต่อเนื่อง

เป็นที่แน่ชัดว่า เรื่องราวในหนังสือนี้ย่อมก่อให้เกิดการโต้แย้งและความซับซ้อน แฮนด์ลี่ได้เริ่มตั้งข้อสังเกตว่า กษัตริย์ภูมิพลเป็นกษัตริย์องค์เดียวที่ทรงเสด็จพระราชสมภพในสหรัฐอเมริกา ได้รับถวายการเลี้ยงดูจากนอกประเทศไทย ทรงสำเร็จการศึกษาจากยุโรป เป็นพระราชโอรสองค์ที่สองของเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช พระเชษฐาเจ้าฟ้าอนันทมหิดล ทรงเป็นยุวกษัตริย์ในปี ๒๔๗๘ แต่ก่อนที่พระองค์จะได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการ ได้พบว่าพระองค์เสด็จสวรรคตด้วยทรงต้องพระแสงปืน ด้วยสภาพเหตุการณ์อันเป็นปริศนาในปี ๒๔๘๙ รายละเอียดของการสิ้นพระชนม์ยังคงเป็นเรื่องไม่แน่ชัด แฮนด์ลี่พยายามนำหลายๆทฤษฎีมาใช้ และสรุปว่าหลักฐานที่ยังคงเหลือนั้นไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ การปกปิดอย่างรีบเร่งเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีคำตอบเล็ดลอดออกมาได้ แฮนด์ลี่เขียนไว้ว่า ในทันทีที่เกิดเหตุการณ์นั้น เจ้าชายภูมิพล “เจ้าชายที่ทรงพระปรีชาสามารถ ทรงแย้มพระสรวลและชอบตรัสแต่เรื่องตลกอยู่เสมอ…ได้รับการสถาปนาเป็นกษัตริย์แห่งประเทศ ซึ่งนับตั้งแต่มีพระชนมายุได้ ๑๘ ปี พระองค์ทรงเคยประทับอยู่ในประเทศไทยไม่ถึง ๕ ปี” และในหนังสือของแฮนด์ลี่กล่าวว่า กษัตริย์องค์ใหม่นั้น “แทบจะไม่เคยทรงแย้มพระสรวลในที่สาธารณะอีกเลย”

กษัตริย์ภูมิพลขี้นครองบัลลังก์ที่กำลังอ่อนแอในระหว่างสมัยของเผด็จการ เล่ห์เพทุบายด้านภูมิศาสตร์การเมือง และแน่นอน การทำรัฐประหารของกองทัพที่เกิดขึ้นเป็นพักๆ แฮนด์ลี่ได้แย้งว่า “นับตั้งแต่วันที่พระเชษฐาของพระองค์ได้สวรรคตอย่างน่าสงสัย พระองค์ดูเหมือนจะไม่เคยยิ้มอีกเลย มีแต่สีพระพักตร์อันโศกเศร้าเหมือนรู้สึกผิดอย่างเห็นได้ชัด ทรงมุ่งปฏิบัติพระราชภารกิจของกษัตริย์” ในการอธิบายของแฮนด์ลี่ เราได้เรียนรู้อย่างมากเกี่ยวกับชัยชนะและความยากลำบากของพระราชาที่น่าสนเท่ห์และมีความเป็นส่วนพระองค์นี้ ทรงอุทิศพระวรกายปฏิบัติพระราชกรณียกิจในฐานะกษัตริย์เพื่อสาธารณะชนมากกว่า ๖๐ ปี แฮนด์ลี่จำต้องใช้ข่าวลือในการวิเคราะห์ เพื่อหาข้อสนับสนุนประเด็นของเขา ซึ่งใช้สภาพแวดล้อมมากกว่าทางเลือกอื่น เนื่องจากมีการควบคุมข้อมูลอย่างแน่นหนาจากพระราชวัง ในเรื่องเกี่ยวกับพระราชอำนาจ จึงเป็นการสะดวกที่จะตีความว่าเป็น “ข่าวลือ”

ในประเทศไทย มีข่าวลือที่กระซิบต่อๆกันมามากมาย แต่ไม่ได้เป็นเรื่องทั้งหมดของกษัตริย์ภูมิพลหรือรัชสมัยของพระองค์ แฮนด์ลี่เสนอเรื่องราวที่ได้ตีความอย่างพิถีพิถันของจักรกลการเมืองที่ถูกควบคุมอย่างแน่นหนา จากคำของแฮนด์ลี่ เมื่อได้รับการสถาปนาเป็นกษัตริย์ “กษัตริย์ภูมิพลทรงทิ้งบุคลิกสมัยใหม่แบบอย่างชาวยุโรป เพื่อทรงนำพาราชอาณาจักรแห่งธรรมราชาที่มีวัฒนธรรมมานานกว่าสหัสวรรษ กษัตริย์ผู้ไม่เห็นแก่พระองค์ ได้ปกครองโดยใช้หลักธรรมตามหลักพุทธศาสนา”

ความถูกต้องตามแบบแผนราชวงศ์แต่โบราณ กษัตริย์ภูมิพลทรงถูกตระเตรียมให้เป็นบุคคลที่น่าเคารพบูชา และทรงได้รับการบูชา ในทุกๆปี ปีละหลายๆเดือน ทั้งในเมืองและนอกเมืองทั่วประเทศไทยได้ประดับตกแต่งด้วยธง แสงสี และเทิดพระเกียรติต่อการประกอบพระราชกรณียกิจที่ประสบความสำเร็จ และเฉลิมพระเกียรติแห่งราชวงศ์ แฮนด์ลี่ได้ให้ตัวอย่างที่ดีของลัทธิภูมิพลนี้ เขาเขียนไว้ว่า “ในเดือนธันวาคม ๒๕๔๐ สำนักพระราชวังออกประกาศว่า พระมหากษัตริย์ทรงทำสถิติโลกในด้านจำนวนปริญญาจากมหาวิทยาลัยที่ทรงได้รับ หลังจากนั้นทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถึง ๑๐ ใบรวดในครั้งเดียว"

ในขณะที่กษัตริย์ภูมิพลได้รับการเทิดพระเกียรติอย่างใหญ่หลวงทั่วทั้งประเทศและในสากล สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ พระราชโอรสและองค์รัชทายาทกลับไม่ได้รับการยกย่องเท่ากับที่พระองศ์ทรงตั้งความคาดหวังเอาไว้ แฮนลี่ได้แย้งว่านับตั้งแต่แรกเริ่ม “กษัตริย์ภูมิพลทรงเข้าพระทัยอย่างแน่ชัดว่าเจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณทรงเป็นปัญหา” อนาคตของระบอบกษัตริย์จะถูกพิสูจน์ได้จากองค์เจ้าฟ้าชายเอง เจ้าฟ้าหญิงมหาจักรีสิรินธรพระขนิษฐาอันทรงเป็นที่ชื่นชมและเป็นที่รัก อาจจะเป็นทางเลือกของคนไทยส่วนใหญ่ แต่ในหลายปีที่ผ่านมาความเด่นของเจ้าฟ้าหญิงที่มีเหนือเจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณยังคงเป็นปริศนา จากแฮนด์ลี่ที่ว่า “เป็นความผิดพลาดตั้งแต่แรกของกษัตริย์ภูมิพล ซึ่งเป็นจุดอ่อนของทุกๆราชวงศ์” พระองค์ไม่สามารถที่จะประกันได้ว่า ผู้สืบทอดราชสันตติวงศ์ตามลำดับต่อมานั้น จะเป็นกษัตริย์ที่จะทรงพระปรีชาสามารถ ไม่เห็นแก่พระองค์ และทรงพระกรุณาธิคุณเยี่ยงพระองค์เอง

“ผู้สืบทอดราชสันตติวงศ์ตามลำดับ” ดังกล่าว ได้เกิดขึ้นแล้วที่ประเทศภูฏาน แต่แฮนด์ลี่ไม่ได้คิดว่าจะไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย เขาได้สรุปว่าถ้าจะให้ดำรงอยู่ได้ “พระบรมวงศานุวงศ์ของราชวงศ์ควรจะใช้ประโยชน์จากอภิสิทธิ์เงียบอันมหาศาลของสถาบันกษัตริย์: อำนาจและสิทธิในการเปลี่ยนแปลงเพื่อเปลี่ยนตัวเองใหม่ก่อนที่คนอื่นจะทำให้” ในคำอธิบายนี้ว่า เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณจะทรงเปลี่ยนภาพพจน์ด้านบุคลิกและการปฏิบัติพระองค์ได้หรือไม่ พระองค์จะทรงเปลี่ยนให้คล้ายดั่ง “เจ้าชายในฝัน” ตามแบบอย่างของภูฐานได้หรือไม่ แฮนด์ลี่แสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงของราชวงศ์จะเป็นหนทางเดียวที่จะให้สถาบันยังคงอยู่รอดนับตั้งแต่การสถาปนาราชวงศ์จักรีในปี พ.ศ. ๒๓๒๕ กี่ครั้งต่อกี่ครั้งที่เกิดความวุ่นวายทางการเมือง ยังไม่นับการยกเลิกระบบสมบูรณาญาสิทธิราชในปี ๒๔๗๕ ราชวงศ์ไทยไม่ได้เพียงยังคงอยู่ แต่ประสบความรุ่งเรือง แฮนด์ลี่จึงได้จัดพิมพ์หนังสือเล่มแรกนี้ขึ้นมาเพื่อถวายการสนับสนุนในกษัตริย์พระองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นศูนย์รวมของเรื่องราวสมัยใหม่ในอำนาจของราชวงศ์และความสำเร็จที่เห็นได้ชัด ด้วยสถานการณ์ที่มีอุปสรรคและการเข้าถึงข้อมูลไม่ได้อย่างเต็มที่ จึงไม่น่าแปลกใจที่ว่า หนังสือกษัตริย์ไม่เคยยิ้มนี้ มีข้อบกพร่องบางอย่างจึงถูกวิจารณ์ต่อต้านอย่างหนาหู อย่างไรก็ตาม หนังสือเล่มนี้สำหรับหลายๆคนแล้วถือว่าเป็นการท้าทายและสร้างความยุ่งยาก หลายๆคนดูเหมือนมีความลังเลที่จะเปิดใจอ่านทั้งเล่ม และรับฟังการวิเคราะห์ สำหรับบางคนทั้งเหตุการณ์และบุคลิกที่ปราศจากการถูกเซ็นเซอร์นั้น แทบจะไม่สอดคล้องกับพระราชประวัติของราชวงศ์ที่พวกเขาได้รับความคุ้นเคยมาก่อน

บทวิจารณ์ที่มีมากมายของหนังสือพระราชประวัติในมุมมองกว้างๆเช่นนี้นับเป็นเรื่องที่ดี คำวิจารณ์ที่สำคัญที่สุดจาก แกรนท์ อีแวนส์ นักมนุษย์วิทยาในฮ่องกง ซึ่งแฮนด์ลี่ได้ตอบคำถามต่ออีแวนส์ด้วยตัวของเขาเองว่า คำวิจารณ์ของอีแวนส์ “ช่างเหมือนกันกับมุมมองจากราชวังและจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลที่มีต่อหนังสือของผม จุดประสงค์เพื่อชักชวนให้คนเพิกเฉยเสีย ก่อนที่จะเปิดอ่านหนังสือเล่มนี้” นักวิจารณ์อื่นๆ เช่น แอนดรูว์ วอคเกอร์ นักมนุษย์วิทยา ดันแคน แมคคาโก นักสังคมศาสตร์ นักเขียนอย่าง เอียน บูรูมา และ คริสต์ เบเกอร์ นักเขียนคนดังในกรุงเทพ ให้การวิจารณ์หนังสือเล่มนี้ในด้านบวก ดันแคน แมคคาโก จากนิวเลฟรีวิว (New Left Review) พยายามอธิบายหนังสือเล่มนี้ได้อย่างดีเยี่ยมและความน่าเชื่อถือที่มีต่อนักเขียนที่พูดไทยได้อย่างน่าทึ่งคนนี้ว่า “เป็นฝันร้ายที่สุดของผู้พิทักษ์ในราชวงศ์จักรี” แมคคาโกได้ให้ข้อแย้งว่า ในมุมมองของราชวัง “หนังสือของแฮนด์ลี่เป็นการบ่อนทำลายการประชาสัมพันธ์ที่มีมานับทศวรรษ และล่วงเกินอำนาจลึกลับของสถาบันกษัตริย์ซึ่งเปรียบเสมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์”

จุดเด่นของหนังสือกษัตริย์ไม่เคยยิ้มนี้คือ แฮนด์ลี่ไม่ได้ถูกปิดตาจากเครือข่ายอันแข็งแกร่งของบรรดาข้าราชบริพารที่รายล้อมกษัตริย์ภูมิพล ที่คอยสร้างภาพของพระองค์ให้ปรากฏต่อสาธารณะชน และปกป้องพระองค์จากคำวิจารณ์ใดๆ ที่แน่ๆสำหรับหนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับใครก็ตามที่ต้องการศึกษาการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างจริงจัง โดยเฉพาะหนทางที่ประเทศไทยดิ้นรนที่จะให้มีการประนีประนอมระหว่างสถาบันอันเก่าแก่และสถาบันสมัยใหม่นี้ คำอธิบายในเรืองนี้ สำหรับบุคคลซึ่งยังคงมองข้ามบทบาทของกษัตริย์ไทยที่มีต่อการเมือง นับได้ว่าซื่อและขาดวิสัยทัศน์ ตามการประเมินของผู้สังเกตการณ์ต่างๆที่มีข้อมูลพร้อม จึงไม่เป็นเรื่องที่น่าสงสัยเลยที่ว่า กษัตริย์ภูมิพลสนับสนุนการทำรัฐประหาร เพื่อขัดขวางโครงสร้างของอำนาจที่จะขึ้นมาทัดเทียมกันของทักษิณ ยังคงมีคำถามที่ยังไม่มีคำตอบอีกมากมายเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ว่า ในอนาคตใครก็ตามที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้ปกครองที่มีอำนาจ ซึ่งจะมีบทบาททางการเมืองที่แข็งแกร่งคล้ายๆกันจะทำอย่างไร หนังสือของแฮนด์ลี่เกี่ยวกับเรื่องราวของราชวงศ์ในประเทศไทย ไม่เพียงสะท้อนเรื่องเทพนิยายของชาวภูฏานแห่งเทือกเขาหิมาลัย แต่ยังได้เสนอเรื่องราวที่ไม่เคยมีมาก่อนเกี่ยวกับ การต่อสู้อย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นแล้วก็หายไปในบรรยากาศของกรุงเทพที่ร้อนระอุ

ขณะนี้ประเทศไทยดำเนินไปอย่างไร้เป้าหมาย โดยไม่มีแม้แต่เงาของความเป็นประชาธิปไตยแบบเดิม เหตุการณ์ไม่นานมานี้แสดงให้เห็นว่า ทั้งกษัตริย์และบรรดานายพลต่างๆของพระองค์ มีความต้องการอย่างเพ้อฝันเพื่อจะขับไล่ผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้ง ความยิ่งใหญ่ของกษัตริย์ภูมิพล จะได้รับการสืบทอดในสิทธิ์พิเศษแห่งราชวงศ์ และการแทรกแซงเหนือประชาธิปไตยต่อไปหรือไม่ พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่และทรงเป็นที่รัก ทรงจัดการความยุ่งยากทางการเมืองให้ผ่านพ้นไปได้ โดยการรวบรวบบุคคลซึ่งมีชื่อเสียง ทั้งมีเจตนาดี และมีความอดทน

อนาคตของกษัตริย์ (หรือราชินี) อาจจะไม่เป็นอย่างที่ต้องการและที่สำคัญที่สุด ไม่มีอะไรที่จะประกันได้ว่ากษัตริย์ภูมิพลจะทรงแต่งตั้ง “รัชทายาท ซึ่งพร้อมไปด้วยพระปรีชาสามารถ ไม่ทรงเห็นแก่พระองค์ และทรงพระกรุณาธิคุณเยี่ยงพระองค์เอง” ความแตกต่างเห็นได้จากภูฏาน กษัตริย์จิกมีทรงเปรียบดังแสงสว่างของพระอาทิตย์ในดินแดนแห่งเทือกเขาหิมาลัย แต่เงาแห่งกษัตริย์ภูมิพลในประเทศไทยดูเหมือนจะทอดยาวขึ้น รัชสมัยของพระองค์ที่ทั้งยาวนานและเจริญสมบูรณ์กำลังจะก้าวเข้าสู่ช่วงปลาย และจะเป็นปีที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ในเวลานี้ประชาชนแห่ง “ดินแดนแห่งรอยยิ้ม” พบว่าตัวเองกำลังจ้องมองความขัดแย้งแบบใหม่และไม่เป็นที่น่าต้องการ

 
 
The Oxonian Review


 
ที่มา : liberalthai : เงามืดของราชวงศ์ในดินแดนแห่งรอยยิ้ม

วันอาทิตย์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2553

การสืบสันตติวงศ์ : พ่อทรงร่วงโรย ลูกๆต่างขับเคี่ยว

Thailand’s succession: As father fades, his children fight


The Economist
March 18, 2010

แปลและเรียบเรียง : แชพเตอร์ ๑๑



เบื้องหลังความวุ่นวายของประเทศไทยในทุกวันนี้ คือความกลัวอันฝังหัวเกี่ยวกับการสืบสันตติวงศ์ และบรรดาผู้คนเหล่านี้อาจจะไม่พูดออกมาให้ได้ยินกันทั่วไป




ทั้งรถบรรทุก ทั้งเรือ และรถโดยสารประจำทางที่หลั่งไหลเข้าสู่กรุงเทพอย่างไม่ขาดสาย เพื่อร่วมการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง และถูกเรียกว่าเป็น “สงครามประชาชนต่อต้านศักดินา” ในวันที่ ๑๔ มีนาคม ผู้ชุมนุมที่ผ่านจำนวนหลักแสนทั้งหมดสวมเสื้อสีแดงสด แต่ละคนยิ้มแย้มด้วยความปรีดา บนเวทีปราศรัยนักพูดแต่ละคนต่างโจมตีรัฐบาล ทั้งราชวงศ์และกองทัพที่แต่งตั้งรัฐบาลนี้ขึ้นมา ป้ายต่างๆอ่านได้ความว่า “ไม่มีความยุติธรรม ความสงบไม่เกิด” อีกยกหนึ่งที่บอบช้ำในการดิ้นรนเพื่ออำนาจอันยืดเยื้อของประเทศไทย ที่กำลังใกล้เข้ามาถึงซึ่งทางออกที่ยังคงมืดมน


จนกระทั่งถึงกลางอาทิตย์ ดูเหมือนเป้าหมายของเสื้อแดงในการขับไล่นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้ออกจากตำแหน่ง และบังคับให้มีการเลือกตั้งใหม่นั้นยังไม่สัมฤทธิ์ผล กองทัพยังคงยืนกรานในการปกป้องอภิสิทธิ์ ซึ่งเข้ามามีอำนาจเมื่อ ๑๕ เดือนก่อนโดยใช้วิธีจัดการทางสภา และเป็นรัฐบาลในดวงใจของชนชั้นเศรษฐีใจแคบของกรุงเทพ เช่นเดียวกับผู้ประท้วงเสื้อเหลืองซึ่งสนับสนุนรัฐบาลปัจจุบันนี้ สำหรับประชาธิปไตยซึ่งถือว่า หนึ่งคน ต่อหนึ่งเสียงนั้น ฝ่ายซึ่งขาดเสียงกลับกลายเป็นตัวกุมอำนาจ

อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมาจากการเลือกตั้งถึงสองครั้ง และขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการลี้ภัยเข้าใจเรื่องนี้ได้อย่างลึกซึ้ง ทักษิณไม่ยอมจากไปอย่างเงียบเชียบนับตั้งแต่การทำรัฐประหารของกองทัพที่ปล้นอำนาจของเขาในปี ๒๕๔๙ เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ คำตัดสินของศาลในการยึดทรัพย์ ๔๖,๐๐๐ ล้านบาทของเขานั้น ยิ่งสร้างความโกรธแค้นให้ทักษิณเป็นทวีคูณ เสื้อแดงหลายคนมองทักษิณว่าคือผู้นำแท้จริงของประเทศ แม้เขาจะมีความมั่งคั่ง และมีชีวิตอย่างอภิสิทธิ์ชน ก็ถือเป็นเรื่องธรรมดา

นักการเมืองพรรครัฐบาลเหน็บแนมเสื้อแดงที่ต่ำต้อยว่ารับจ้างมา และไม่ได้เป็นตัวแทนความเห็นของคนส่วนใหญ่ นักการเมืองเหล่านี้ต่างบ่ายเบี่ยงต่อความคิดที่ว่า การเลือกตั้งอาจจะเป็นหนทางเดียวที่จะพิสูจน์ในประเด็นนี้ และแถว่าในช่วงวุ่นวายแบบนี้ ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่การเลือกตั้งจะเป็นไปอย่างมีระเบียบ ที่สำคัญที่สุด นักการเมืองพวกนี้ประณามทักษิณว่า เป็นตัวการของความไม่สงบ

แต่ยังมีบุคคลสำคัญอีกพระองค์หนึ่งซึ่งในแวดวงทางการเมืองที่จะต้องคำนึงถึง: กษัตริย์ภูมิพล อดุลยเดช พระชนมายุ ๘๒ พรรษา ซึ่งเป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์นานที่สุดในโลก ในสถานที่ชุมนุมนั้น มีภาพพระบรมฉายาลักษณ์ขนาดใหญ่ซึ่งสายพระเนตรแสดงความเฉยเมยมายังกลุ่มคนเสื้อแดง สำหรับการเคลื่อนไหวของพวกคลั่งเจ้าในประเทศไทยนั้น กษัตริย์ถือว่าเป็นพระบิดาของแผ่นดิน และ “การต่อสู้ของบรรดาลูกๆ” บนท้องถนนนั้นถือว่า เป็นการสร้างความโทมนัสให้กับพระองค์ บางคนถึงกับหวาดผวาว่า ปัญหาของประเทศไทยอาจจะเป็นตัวขัดขวางการหายจากอาการประชวรด้วยโรคทางเดินหายใจ ซึ่งพระองค์ทรงเข้าประทับรักษาพระวรกายในโรงพยาบาลมาตั้งแต่เดือนกันยายน

นั่นเป็นเรื่องแน่นอน เพราะ “พ่อ” กำลังจะจากไป และ “ลูกๆ” ของพระองค์กำลังต่อสู้ห้ำหั่นกัน ทุกสมัยเมื่อสิ้นรัชกาลจะเป็นเวลาแห่งโศกนาฏกรรมของชาติ และการครุ่นคิดคำนึงอยู่กับตนเอง ชาวไทยรู้สึกประหวั่นพรันพรึงในเรื่องนี้ หลายคนซึ่งรู้จักแต่เพียงกษัตริย์ภูมิพล ที่ทรงเสด็จขี้นครองราชย์ในปี ๒๔๘๙ จากสถาบันที่กำลังจะหมดความสำคัญ เมื่อกองทัพเข้าครอบครองโดยยื่นประชาธิปไตยให้เพียงครึ่งใบ พระราชวังจึงต้องรับหน้าที่เป็นตัวแทนแห่งอำนาจอันเป็นที่เคารพ แต่ความเหมาะสมชอบธรรมนั้นขี้นอยู่กับพระอัจฉริยภาพของกษัตริย์ภูมิพล และข้าราชบริพารซึ่งชักใยอยู่เบื้องหลังอย่างลับๆ

ทางพระราชวังยืนยันว่า กษัตริย์ทรงสดชื่นและทรงแข็งแรง แต่คนไทยต่างวิตกกังวลในเรื่องความไม่แน่นอนแห่งการสืบสันตติวงศ์ ยิ่งโดยเฉพาะนักลงทุน ซึ่งหวาดวิตกหนักขึ้นไปอีกเพราะกฎหมายหมิ่นฯ ซึ่งห้ามมิให้มีการถกเถียงอย่างตรงไปตรงมาในเรื่องนี้ เมื่อบริษัทตัวแทนการสำรวจระดับยักษ์ใหญ่ของไทยทำการสำรวจความเห็นจากผู้จัดการกองทุนต่างๆ เกี่ยวกับปัจจัยความเสี่ยงทางการเมืองของปี ๒๕๕๓ ความเห็นร้อยละ ๔๒ เลือกข้อที่ตัวแทนตั้งว่า “การเปลี่ยนแปลงซึ่งไม่สามารถระบุได้” ข่าวลือเกี่ยวกับการสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์ภูมิพลเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ส่งผลให้เกิดการเทขายของกองทุนในระยะเวลาแค่สองวัน และรัฐบาลถึงกับหัวเสียไล่บี้หาตัวการปล่อยข่าวลืออย่างหนัก หากเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงแล้ว ดูท่าว่าจะแซงหน้าเหตุการณ์ที่ผ่านมานี้แน่

ประเทศไทยยังคงยืนหยัดต่อความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในระยะสีปี จำนวนผู้เสียชีวิตยังถือได้ว่าต่ำ แต่ความโกรธแค้นได้ระเบิดออกมาในเดือนเมษายนที่แล้ว เมื่อเสื้อแดงปะทะกับกองทัพในกรุงเทพ เป็นเวลาเพียงแค่พริบตาเดียวแต่แสดงให้เห็นถึงอารมณ์อันบีบคั้นที่ถูกเก็บงำมาเนิ่นนาน กองทัพเองเริ่มแสดงให้เห็นถึงความแตกแยก แม้ว่าเรื่องที่น่ากลัวมากที่สุดคือ – สงครามกลางเมือง เป็นเรื่องที่ดูเว่อเกินไป จะมีเหตุผลดีกว่าหากกล่าวว่า ถ้าเป็นการเผชิญหน้าทางการเมือง และการเมืองที่เข้าขั้นอัมพาตในอีกหลายๆปีที่จะมาถึง

ราชบัลลังก์คงผ่านพ้นไปด้วยดี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ พระชนมายุ ๕๗ พรรษา ทรงเป็นพระโอรสองค์รัชทายาทที่จะสืบราชบัลลังก์ และไม่มีข้อสงสัยใดๆกับการอ้างในเรื่องนี้ การไว้ทุกข์ที่เนิ่นนาน อาจจะนานมากกว่าหกเดือน จะทำให้การต่อสู้ทางการเมืองถูกระงับลง ผู้มีบทบาทสำคัญทางการเมืองบางคนอาจสำนึก และหาทางประนีประนอม การสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์ภูมิพลอาจเป็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยสำหรับประเทศไทย: อาจจะเริ่มได้ยินความคิดจากคนรุ่นใหม่

แต่กษัตริย์พระองค์นี้จะทรงรับภารกิจอันหนักอึ้งที่จะตามมา และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเองโดยทั่วไปแล้วไม่ทรงเป็นที่ชื่นชม และทรงเป็นที่ยำเกรง คนไทยส่วนใหญ่พยายามที่จะไม่คิดถึงเรื่องการขี้นครองราชย์ของพระองค์ นักวิชาการคนหนึ่งกล่าวว่า “เมื่อรัชกาลนี้สิ้นสุดลง ก็ไม่มีใครอีกแล้ว” ผู้ปกครองคนต่อมาจะต้องตามรอยพระบาทแห่งปูชนียบุคคลผู้เปี่ยมด้วยบารมี ซึ่งพระเกียรติคุณได้รับการยกย่องเปรียบดังลัทธิบูชา บทบาทขององค์รัชทายาทในยุคสมัยที่ยิ่งใหญ่ และตกเป็นเป้าสายตาของประชาชนนั้นเป็นเรื่องไม่ง่ายในทุกที่ สำหรับในประเทศไทยแทบจะไม่มีทางเอาเสียเลย นักการทูตอาวุโสคนหนึ่งตั้งคำถามว่า “คุณจะตามรอยเท้าผู้วิเศษได้อย่างไร”


ความกังขาต่อองค์ฟ้าชาย

เป็นปริศนาที่คุ้นเคยกันดี กษัตริย์วชิราวุธ รัชกาลที่ ๖ ซึ่งทรงขี้นครองราชย์ในปี ๒๔๕๓ ทรงพบอุปสรรคกับการตามรอยพระบาทของพระราชบิดา กษัตริย์จุฬาลงกรณ์ ผู้ทรงคล่องแคล่วนำสมัย อันเนื่องมาจาก ธงชัย วินิจกุล ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ไทย มหาวิทยาลัยวิสคอนซินแห่งสหรัฐอเมริกาได้กล่าวว่า แม้ก่อนเสด็จขี้นครองราชย์ พระองค์ทรงได้รับความเสื่อมเสียจากการซุบซิบที่ออกมาจากพระราชวังกล่าวหาว่า พระองค์ทรงมีความประพฤติที่ไม่งาม กษัตริย์วชิราวุธทรงเป็น “นักกวี และนักประพันธ์อันเอกอุ” แต่ทรงไม่ประสบความสำเร็จในฐานะกษัตริย์ซึ่งทรงถูกบดบังบารมีจากความยิ่งใหญ่ของกษัตริย์องค์ก่อน ธงชัยกล่าวในการสัมมนาที่เปิดกว้างให้ประชาชนได้รับฟังเมื่อไม่นานมานี้ว่า “ราชวงศ์ต่างทำลายกันเอง”

กษัตริย์ประชาธิปก รัชกาลที่ ๗ ทรงยิ่งแย่หนักขึ้น การทำรัฐประหารอย่างไม่เสียเลือดเนื้อในปี ๒๔๗๕ ยุติการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และระบอบกษัตริย์เกือบจะหมดความหมาย กษัตริย์ประชาธิปกทรงลี้ภัยไปประทับที่ลอนดอน และทรงสละราชสมบัติในปี ๒๔๗๘ สร้างความเคว้งคว้างอย่างหนัก พระองค์ทรงมอบราชสมบัติให้รัชกาลที่ ๘ พระเชษฐาในกษัตริย์ภูมิพล ซึ่งทรงสิ้นพระชนม์ในปี ๒๔๘๙ ด้วยการถูกยิงที่พระเศียรอย่างมีเงื่อนงำ กษัตริย์ภูมิพลทรงขี้นครองราชย์ต่อมาในวันเดียวกันนั้นเอง และทรงเสด็จพระราชดำเนินกลับสวิสเซอร์แลนด์เพื่อทรงศึกษาให้สำเร็จ

ในปี ๒๔๖๙ กษัตริย์ประชาธิปกทรงมีพระราชนิพนธ์อย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับจุดอ่อนของการปกครองแห่งกษัตริย์ ในพระราชบันทึก พระองค์ทรงต่อสู้กับความขัดแย้งระหว่างสังคมที่เดินหน้า และกฎแห่งการสืบทอดราชาธิปไตย ซึ่งประเทศไทยในเวลานี้ดูเหมือนกำลังตกอยู่ในสภาพความขัดแย้งเช่นนี้ การปกครองของกษัตริย์เป็นหนึ่ง “ในอุปสรรคสำคัญ” เป็นความเห็นของสาธารณะชนที่ต่อต้านการปกครองแบบเผด็จการ ทรงวิตกว่าใครที่จะขี้นครองราชย์องค์ต่อไป พระองค์ทรงบันทึกว่า “จะต้องมีหลักประกันทางอื่นเพื่อคานกับกษัตริย์ที่ด้อยความสามารถ”

เวลาผ่านไปเกือบศตวรรษ หลักประกันนั้นยังไม่ปรากฏ และคนไทยต้องเผชิญกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชในอนาคตข้างหน้า ทรงเป็นทหารอาชีพ และทรงเป็นนักบินเครื่องบินรบ ซึ่งทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจหลายอย่างแทนพระราชบิดา ในหลายปีมานี้ พระองค์ทรงว่างเว้นจากพระราชกรณียกิจเนื่องจากทรงเสด็จประทับทางยุโรป ขณะนี้พระองค์ทรงพระราชดำเนินกลับประเทศไทย และทรงออกสู่สายตาประชาชน ซึ่งเป็นสัญญาณที่กึกก้องและชัดเจน สองอาทิตย์หลังจากพระบรมราโชวาทในวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของกษัตริย์ภูมิพล บางกอกโพสต์ลงพระราชประวัติของพระองค์อย่างยกย่องภายใต้หัวข้อว่า: “กษัตริย์ที่ทรงรอคอย”

สำหรับคนไทยซึ่งคุ้นเคยกับคุณธรรมของกษัตริย์ภูมิพล ซึ่งรวมถึงการทรงมีพระมเหสีพระองค์เดียว ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และทรงสมถะ สมเด็จพระบรมฯทรงเปรียบเทียบมิได้ เรื่องราวอุจาดของชีวิตส่วนพระองค์กลายเป็นเรื่องซุบซิบประจำวัน วิดีโอที่ออกแพร่หลายในปี ๒๕๕๐ แสดงให้เห็นถึงพระชายาองค์ที่สาม หรือเรียกกันว่า “อัครชายา” ทรงชุดเปลื้องพระองค์ในงานฉลองพระกายาหารค่ำอย่างเป็นทางการกับสมเด็จพระบรมฯ นักการทูตกล่าวว่าสมเด็จพระบรมฯ ทรงมีความแหวกแนวจนถึงขั้นพิสดาร: ตัวอย่างเช่น การฉลองอย่างหรูหราให้กับสุนัขส่วนพระองค์ “ฟูฟู” ซึ่งมียศทางทหาร และในหลายโอกาสที่นั่งร่วมกับบรรดาแขกรับเชิญในงานเลี้ยงฉลองพระกายาหารค่ำ ในช่วงปี ๒๕๒๓ มีข่าวลือว่า ทรงเกี่ยวข้องกับขบวนการอาชญากรรมใต้ดิน ซึ่งพระองค์ทรงประทานสัมภาษณ์ให้การปฏิเสธ สร้างแรงดลใจให้เกิดพระนามเล่นว่า “เสี่ยโอ”

ในทางตรงข้าม สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธรพระขนิษฐา ทรงมีภาพลักษณ์ประดุจเทพซึ่งทรงภารกิจด้านการกุศล คนไทยหลายคนหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวินาทีสุดท้ายโดยการสถาปนาพระองค์ให้ทรงขี้นครองราชย์ นายทหารบางคน และหลายกลุ่มในพระราชวังต่างกล่าวว่า ต้องการให้เจ้าฟ้าหญิงขี้นครองราชย์เป็นองค์ต่อไป ทางเลือกอีกทางหนึ่ง ซึ่งได้ยินมาเมื่อไม่กี่ปีมานี้คือ การมอบบัลลังก์ให้กับพระโอรสและธิดาในสมเด็จพระบรมฯ เช่นพระโอรสองค์สุดท้อง พระองค์เจ้าทีปังกร และผู้สำเร็จราชการแผ่นดินอาจจะเป็นเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร คลิปที่ถูกปล่อยออกมานั้นคาดว่า จะเป็นการลดความน่าเชื่อถือของเจ้าฟ้าชาย และเพื่อหาทางเลือกอื่น ทั้งนี้ทั้งนั้น กษัตริย์ภูมิพลดูเหมือนจะทรงตัดสินพระทัยไว้แล้วว่า ผู้ที่จะขี้นครองราชย์องค์ต่อไปคือ สมเด็จพระบรมฯ

พอล แฮนด์เล่ย์ ผู้แต่งหนังสือพระราชประวัติที่ไม่ได้รับพระบรมราชานุญาต หนังสือของเขาถูกห้ามจำหน่ายในประเทศไทย เขาคิดว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่กษัตริย์ภูมิพลจะทรงตัดสินพระทัยในระหว่างทรงรักษาพระองค์ ในการที่จะยกเลิกสิทธิ์ในสมเด็จพระบรมฯ เพราะต้องออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร การเสด็จแปรที่ประทับใช้ชีวิตในยุโรปนั่นค่อนข้างจะเหมาะกว่าสำหรับเจ้าฟ้าชาย ผู้ซึ่งอาจไม่ประสงค์ราชทรัพย์ หรือความสนใจ แต่สิ่งที่คาดหมายว่าจะเกิดขี้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ หากพระองค์ทรงถูกตัดสิทธิ์จากองค์รัชทายาท คือการนองเลือด นี่จึงเป็นการอธิบายว่า ทำไมทหารรักษาพระองค์จึงไม่อนุญาตให้พกอาวุธต่อหน้าพระพักตร์ของพระองค์

เหตุผลหนึ่งซึ่งทำไมวงการกองทัพจึงไม่ไว้วางใจในสมเด็จพระบรมฯ เพราะในอดีตพระองค์ทรงเคยเกี่ยวข้องกับทักษิณ ซึ่งถูกทหารทำรัฐประหารปล้นอำนาจในปี ๒๕๔๙ ทักษิณมหาเศรษฐีด้านโทรคมนาคม ผู้หันชีวิตมาเป็นนักการเมืองที่ได้รับความนิยม เคยกล่าวว่าได้เคยปรนเปรอพระองค์ นี่อาจจะเป็นเหตุผลที่แท้จริงในการทำรัฐประหาร ซึ่งดูเหมือนจะได้รับการสรรเสริญจาก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและมีหน้าที่ให้คำปรึกษาต่อองค์กษัตริย์ ความจริงที่ว่า แม้ทักษิณจะลี้ภัยอยู่ที่ประเทศดูไบ แต่ยังคงติดต่อกับเจ้าฟ้าชาย ซึ่งสร้างปัญหาอย่างหนักให้กับพวกคลั่งเจ้ากลุ่มเดิม ในการให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ของอังกฤษเมื่อไม่นานมานี้ อดีตนายกรัฐมนตรีได้เทิดทูนสมเด็จพระบรมฯ อย่างหาที่เปรียบไม่ได้

ไม่มีใครทราบได้ว่าสมเด็จพระบรมฯ จะทรงเป็นนักปกครองแบบใด สุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักสังเกตการณ์ผู้ช่ำชองเกี่ยวกับราชวงศ์ และนักเคลื่อนไหวทางสังคม กล่าวว่า พระองค์ทรงมีวุฒิภาวะมากขึ้นในระหว่างการอภิเษกสมรสครั้งที่สาม และทรงเป็นที่เคารพมากขี้นกว่าในอดีต คนอื่นกล่าวว่า พระองค์ทรงเบื่อหน่ายกับงานพระราชพิธีต่างๆ ซึ่งแตกต่างจากเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร ซึ่งทรงพระเกษมสำราญในการปฏิบัติภารกิจ ผู้สังเกตการณ์ราชวงศ์กล่าวว่า เหนืออื่นใด พระองค์ทรงต้องมีข้าราชบริพารที่มีความสามารถ ที่จะนำทางพระองค์ผ่านหนทางที่เต็มไปด้วยหลุมพรางทางการเมืองที่อยู่ข้างหน้า หลายคนเชื่อว่า สมเด็จพระบรมฯจะทรงแต่งตั้งองคมนตรีของพระองค์เองแทนคนเก่า สำหรับข้าราชบริพารรุ่นเก่าที่รับใช้กษัตริย์ และไม่ไว้ใจในการสืบบัลลังก์ของพระองค์ คงจะถูกเชิญให้ลาออก นักวิชาการต่างประเทศคนหนึ่งกล่าวว่า ข้าราชบริพารชุดใหม่ของพระองค์ “เป็นที่แน่นอนว่า จะไม่มีความสามารถ” เทียบเท่ากับชุดปัจจุบัน


ทรงพลัง แต่ขาดความสุขุม

การชิมลางในเรื่องนี้ เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว เมื่อนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ พยายามที่จะสลับขั้วอำนาจในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ บุคคลซึ่งอภิสิทธิ์เลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาตินั้นถูกขัดขวางจากสมาชิกในพรรคเดียวกัน รวมถึง นิพนธ์ พร้อมพันธุ์ ผู้ช่วยสมเด็จพระบรมฯ ซึ่งวิ่งเต้นเสนอชื่อบุคคลอื่น มีรายงานข่าวว่า ผู้อยู่เบื้องหลัง “ที่มีอำนาจ และทรงพลัง” ได้ผลักดันให้มีการแต่งตั้งตัวเลือกอันดับสอง คืออดีต ผอ.สำนักข่าวกรองแห่งชาติสมัยรัฐบาลทักษิณขึ้นดำรงตำแหน่งแทน ต่อมานิพนธ์ลาออกจากคณะรัฐบาล อภิสิทธิ์ยังไม่สามารถแต่งตั้ง ผบ.ตร. ได้ ตำแหน่งปัจจุบันนี้เป็นเพียงแค่รักษาการณ์แทน ความขัดแย้งนี้เปิดเผยให้เห็นว่า สมเด็จพระบรมฯ ทรงแทรกแซงอย่างขาดความรัดกุมเพียงใด แหล่งข่าวจากพระราชวังกล่าวว่า เรื่องนี้สร้างความหัวฟัดหัวเหวี่ยงให้กับบรรดาข้าราชบริพารในกษัตริย์ภูมิพล แหล่งข่าวกล่าวว่า สมเด็จพระบรมฯ ทรงได้รับการแจ้งว่า “เราไม่ทำเรื่องแบบนี้”

แท้จริงแล้ว พระราชวังได้อุปถัมภ์ค้ำชูกองทัพ และข้าราชการมาเป็นเวลาเนิ่นนาน นี่คือวิธีการกุมอำนาจในประเทศไทย อะไรที่ทำให้ทักษิณต้องเป็นตัวคุกคามของพระราชวัง ก็เพราะความหมายมั่นของทักษิณที่จะกุมอำนาจนี้ไว้เช่นกัน ต่อมานักการทูตเอเชียระดับสูงกล่าวว่า สมเด็จพระบรมฯ มีพระประสงค์ที่จะเข้าแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปี เพื่อขยายฐานสนับสนุนของพระองค์ ยิ่งพระองค์ทรงประสบความสำเร็จมากเท่าไร จะเป็นตัวกำหนดได้ว่าพระองค์จะทรงอำนาจได้นานแค่ไหน โอกาสอีกอย่างหนึ่งคือ การพระราชทานอภัยโทษให้ทักษิณ เพื่อที่ทักษิณจะได้เดินทางกลับมาบริหารประเทศในกษัตริย์พระองค์ใหม่ ซึ่งจะสร้างความปรีดาให้กับคนเสื้อแดง แต่จะสร้างความขวัญหนีดีฝ่อให้กับศักดินาในกรุงเทพ และสร้างความแตกแยกในกองทัพ สำหรับเสียงสนับสนุนจากสาธารณะชนนั้น ดูเหมือนว่าจะไม่น่าเป็นไปได้ ผู้ใกล้ชิดทางการเมืองคนหนึ่งกล่าวว่า สมเด็จพระบรมฯ ทรงทราบว่าพระองค์ทรงไม่ได้รับความชื่นชม แต่ “พระองค์ทรงไม่สนใจ”

ทางออกอีกทางหนึ่งสำหรับสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกแบบนี้ คือการลดขนาดของระบอบกษัตริย์ให้ลดลงเท่ากับเมื่อในอดีต การปรับปรุงสถาบันตั้งแต่ระดับสูงลงมาย่อมน่าพิสมัยมากกว่า การถูกผลักดันจากระดับล่างด้วยเสียงเรียกร้องให้มีการตั้งเป็นสาธารณรัฐ ตลาดหุ้นในรัชสมัยกษัตริย์ภูมิพลได้ตกฮวบมาตั้งแต่ตอนที่ราคาสูงสุดในเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ เมื่อพระองค์ทรงสามารถจะออกคำสั่งให้เผด็จการทหารยุติการกระทำ และระงับเสีย ในไม่กี่ปีมานี้ ได้เปิดเผยให้เห็นอำนาจอันมีจำกัดของพระองค์ ในปี ๒๕๕๑ กษัตริย์ไม่ทรงสามารถยุติการกระทำของฝ่ายพันธมิตรในการก่อความวุ่นวายในนามของพระองค์ ข้าราชบริพารระดับสูง ถอนหายใจและกล่าวว่า “พวกเราคาดหวังจากพระองค์มากเกินไป”

เป็นที่แน่ชัดว่า ประเทศไทยต้องการความสมดุลใหม่ บางคนกลัวว่า เมื่อสุญญากาศแห่งอำนาจที่ถูกระบอบกษัตริย์อันอ่อนกำลังได้ละทิ้งไป จะถูกกองทัพเข้ามายึดแทน ซึ่งเป็นอำนาจชักใยเบื้องหลังของความสวยหรูที่ฉาบทองของพระราชวังอยู่แล้ว แต่นายพลทั้งหลายซึ่งยึดอำนาจด้วยการทำรัฐประหารปี ๒๕๔๙ นั้นบริหารประเทศอย่างไร้ฝีมือ และจำต้องคืนอำนาจให้กับประชาชนผู้ลงคะแนนเสียงในอีก ๑๕ เดือนต่อมา ตระกูลนักธุรกิจทั้งหลายไม่ต้องการให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย และต้องการให้นักการเมือง และมืออาชีพบริหารประเทศแทน ส.ส.หลายคนที่ถูกห้ามเล่นการเมือง ซึ่งบางคนหวังว่าจะได้เข้าเป็นพรรคเสียงข้างมาก จะได้กลับเข้าสู่เวทีการเมืองอีกในปี ๒๕๕๕ แต่กติกาการเล่นจะต้องได้รับการเปลี่ยนใหม่

บางคนอาจแย้งว่า กษัตริย์ภูมิพลทรงมีส่วนรับผิดชอบกับการวางรากฐานของสถาบันประชาธิปไตยต่างๆ ที่ล้มเหลวในประเทศไทย แฮนด์เล่ย์กล่าวว่า แค่ขี้นอยู่กับ “คนเก่งเพียงไม่กี่คน” และกองทัพที่นำพาประเทศเข้ารกเข้าพงแบบนี้

เป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับราชวงศ์ ครั้งหนึ่งประเทศไทยเคยเป็นแนวหน้าแห่งเสรีภาพในภูมิภาคซึ่งค่อนข้างถูกบีบคั้น การเมืองอย่างกระท่อนกระแท่นไม่ได้เป็นตัวการทำให้การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจหยุดยั้งลง เหมือนกับการที่ข้าราชการต่างๆ กุมบังเหียนแน่นในการบริหารประเทศแบบเช้าชามเย็นชามเช่นนี้ ในยุคปี ๒๕๓๓ (ค.ศ.๑๙๙๐) กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนทางตะวันตกหวังว่า ประชาสังคมไทยที่มีพลวัต (Dynamism) สูงอาจจะขยายไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ แต่กลับกลายเป็นว่า ขณะนี้บางคนมองประเทศไทยว่า เป็นอุทาหรณ์ให้เห็นถึงความเป็นประชาธิปไตยแบบสุกเอาเผากิน

นั่นอาจจะเป็นการกล่าวที่รุนแรงเกินไป กลุ่มเสื้อแดง และกลุ่มเสื้อเหลืองที่เป็นอริกันในประเทศไทยนั้นแม้มีความเห็นไม่ลงรอยกันในเรื่องประชาธิปไตย แต่ทั้งสองฝ่ายต้องการระบบการเมืองที่มีความยุติธรรม ปีที่แล้วเพื่อที่จะวัดเรื่องความอดทน มูลนิธิเอเชียซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในแคลิฟอร์เนียได้ออกสำรวจความเห็นของคนไทยในเรื่องนี้ และผลสำรวจพบว่าร้อยละ ๗๙ ยอมให้พรรคการเมืองต่างๆซึ่งไม่ได้รับความนิยมเข้าเยี่ยมพื้นที่ตัวเองได้ เพียงร้อยละ ๖ เท่านั้นที่กล่าวว่า พวกเขาจะเลิกคบเพื่อนซึ่งเข้าร่วมพรรคฝ่ายตรงข้ามกับตัว นับว่าเป็นตัวเลขที่น่าชื่นชมมากกว่าอีกหลายประเทศที่เป็นประชาธิปไตยของเอเชีย เกือบจะทุกคนต่างเห็นด้วยว่า รัฐบาลประชาธิปไตยเป็นรูปแบบที่ดีที่สุด แม้ว่าร้อยละ ๓๐ จะยอมรับการปกครองแบบเผด็จการในบางสถานการณ์

ประเทศไทยยังไม่ยอมแพ้ในเรื่องประชาธิปไตย แต่การสะสางปัญหาที่สะสมทางการเมืองนั้นจะต้องรวมไปถึงการกล่าวถึงกษัตริย์ แน่นอน สำหรับความเชื่อของคนไทย การพูดเรื่องการสิ้นรัชกาลของกษัตริย์ภูมิพล ถือว่าเป็นเรื่องเลวทราม – และเป็นเรื่องอัปมงคล แต่เป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ เป็นการเสี่ยงมากเกินไป ความเคารพยำเกรง และความหวาดกลัวเป็นตัวปิดตายต่อการแสดงความคิดเห็น ใครก็ตามหากเปิดปากในเรื่องนี้จะเสี่ยงต่อการถูกจับตามกฎหมายหมิ่นฯ หรือกฎหมายคอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งออกใหม่และมีความเหี้ยมพอกัน ประชาชนหลายคนได้ถูกดำเนินคดีในข้อหาทำให้กษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์เสื่อมเสียชื่อเสียง รวมไปถึงชาวออสเตรเลียซึ่งถูกจำคุก (ต่อมาได้รับอิสรภาพด้วยการรับพระราชทานอภัยโทษ) จากนวนิยายที่เขาแต่งขึ้นมา มีเนื้อหาบรรยายถึงองค์รัชทายาทในทางเสื่อมเสีย

เบื้องหลังประตูที่ปิดตายนั้น มีการถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ถึงอนาคตของสถาบันกษัตริย์เมื่อสิ้นรัชกาล จากคำพยากรณ์ในอดีตที่ว่า ราชวงศ์จักรีจะสิ้นสุดเพียงรัชกาลที่ ๙ กษัตริย์ภูมิพลทรงเป็นพระรามาที่ ๙ มีเสียงเล็ดรอดออกมาในเรื่องเป็นสาธารณรัฐ – ซึ่งสื่อเลือกข้างในประเทศไทยไม่เคยรายงานในเรื่องนี้ บางกอกโพสต์โจมตีด้วยสำนวนแบบเดิมที่มีทั้งความภาคภูมิใจ และการข่มขู่ในคำสดุดีเฉลิมพระเกียรติพระพรชัยมงคลในวันคล้ายวันประสูติของกษัตริย์ในเดือนธันวาคมว่า: “ความรักของชาวไทยที่มีต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นช่างฝังแน่นในจิตใจของคนทั้งชาติ เจตนารมณ์อย่างอื่นนั้นให้เลิกคิดไปได้”

ในวงในของพระราชวัง เริ่มตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเริ่มต้นขึ้น พวกคลั่งเจ้าระดับอาวุโสทราบดีว่า พระบุคลิกภาพ และพระบารมีไม่สามารถถ่ายทอดไปยังรัชทายาทได้ง่ายๆ นี่คือประเด็นสำคัญที่ถึงทางตันของราชวงศ์แห่งประเทศไทย สุลักษณ์กล่าวว่า และกษัตริย์ภูมิพลทรงทราบในเรื่องนี้ สุลักษณ์กล่าวไว้ว่า กษัตริย์ “ทรงปรารถนาที่จะเห็นรัชสมัยหน้า จะไม่มีการนองเลือด”

สุดท้ายนี้ อันเนื่องมาจากสุลักษณ์ที่ว่า เมื่อไม่นานมานี้กษัตริย์ภูมิพลทรงเชิญนักการทูตที่ทรงไว้พระทัยสามคนให้ร่วมเสนอความคิดที่จะปรับปรุงสถาบัน นักการทูตคนหนึ่งได้ขอคำแนะนำจากสุลักษณ์ โดยอธิบายว่า การวินิจฉัยนั้นจะเสนอแด่องค์กษัตริย์เท่านั้น สุลักษณ์ตอบว่า พระราชวังจะต้องโปร่งใสในด้านการเงิน รวมถึงพระราชทรัพย์ประมาณ ๑,๒๐๐,๐๐๐ ล้านบาท (หนึ่งล้านสองแสนล้านบาท) ซึ่งบริหารโดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระองค์ แยกพระองค์จากกองทัพ และเปิดรับการวิจารณ์ของสาธารณะ สุลักษณ์แย้งว่า การเป็นประมุขเพียงแค่ในนามอย่างทางยุโรป จะช่วยให้กษัตริย์องค์ต่อไปในอนาคตคงดำรงอยู่ได้


เก็บรักษาต้นไม้

สุลักษณ์ถูกกล่าวหาว่า หมิ่นฯ เสมอ เขายืนยันว่าเขาเป็นผู้นิยมระบอบราชาธิปไตยอยู่เต็มสายเลือด เขากล่าวว่า “การจะโค่นต้นไม้นั้นเป็นเรื่องง่าย แต่ผมคิดว่า จะเป็นการดีกว่าถ้าจะเก็บรักษาไว้” การเลือกก้าวเดินดังกล่าวอาจจะช่วยราชวงศ์จักรีไว้ได้ แต่การทบทวนแบบวิธีสุดโต่งนี้ ดูจะเป็นไปได้ยาก การยอมให้ฝ่ายตรงข้ามโจมตีผู้ปกครองที่ขาดความมั่นคงนั้น อาจจะทำให้เกิดการขยายไปในวงกว้างอย่างรวดเร็ว ในรัชสมัยกษัตริย์ภูมิพล การปิดปากฝ่ายตรงข้ามเป็นดาบสองคม หลายคนยอมอดทนแต่ขาดซึ่งความเคารพ สมเด็จพระบรมฯ ทรงหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะพบปัญหานี้เช่นกัน

เมื่อหมดสิ้นระบอบกษัตริย์แล้ว จะมีสภาพอย่างไร ประเทศไทยอาจจะยังไม่พร้อมสำหรับเรื่องนี้ ในสเปน งบประมาณสำหรับพระราชวังต่อปีนั้นเป็นจำนวน ๔๒๐ ล้านบาท และถูกตรวจสอบโดยรัฐบาล นอร์เวย์ใส่บัญชีของราชวงศ์ทางเว็บไซต์ ไม่มีทางที่จะค้นหาว่าค่าใช้จ่ายของราชวงศ์อย่างเริดหรูนั้นจะเป็นจำนวนเท่าไร ญี่ปุ่นอาจจะเป็นแบบที่เหมาะกว่า ซึ่งสื่อแห่งชาติให้ความเคารพโดยการไม่แตะต้อง

ผลแห่งความปราชัยในสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อการเข้ายึดครองของสหรัฐฯได้จำกัดอำนาจของจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่น พระราชวังแห่งราชวงศ์อื่นๆ ก็ถูกสภาลดขนาดลงเช่นกัน และได้เกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อปี ๒๔๗๕ แต่ต่อมากษัตริย์ภูมิพลได้ทรงเปลี่ยนกลับไปใช้แบบเก่า เป็นที่แน่นอนว่า จะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางข้อ เพื่อลดบทบาทแห่งความมีอำนาจสูงสุดของประเทศ อำนาจในประเทศไทยเป็นเครือข่ายแบบอุปถัมภ์ซึ่งเริ่มต้นที่กษัตริย์ นั่นคือสาเหตุว่าทำไมบรรดารัฐมนตรีผู้มาจากการเลือกตั้งทั้งหลาย จึงสนใจแต่ตำแหน่งของตัวเอง และคอยเหลือบมองสัญญาณจากพระราชวัง นักการทูตอาวุโสชาวตะวันตกคนหนึ่งกล่าวว่า อภิสิทธิ์เอาแต่ร่วมงานตัดริบบิ้นต่างๆของราชวงศ์ จนสุดที่จะคิดว่า อภิสิทธิ์จะหาเวลาที่ไหนมาบริหารประเทศ

การเซ็นเซอร์ในเรื่องราชวงศ์ทำให้การถกเถียงต้องมีการปิดบัง เป็นเรื่องที่น่าสมเพช พระราชดำรัสที่มีชื่อเสียงของกษัตริย์ภูมิพลเมื่อปี ๒๕๔๘ ที่ว่า พระองค์ไม่ได้อยู่เหนือการวิจารณ์ แต่ไม่มีใครกล้าพร้อมจะทดสอบในเรื่องนี้ แม้ว่าอินเตอร์เน็ตจะระดมด้วยความเห็นต่างๆ แต่ข้อห้ามนั้น ยังคงถูกยืนยัน และเนื่องจากประเทศนี้ไม่เคยเปิดโอกาสให้มีการพูดอย่างอิสระ ประชาชนจึงไม่มีโอกาสเตรียมตัวเพื่อรับมือกับหนทางอันขรุขระ ซึ่งทอดยาวอยู่ข้างหน้า


The Economist


ที่มา : liberalthai : ดิอิโคโนมิสต์: การสืบสันตติวงศ์ – พ่อทรงร่วงโรย ลูกๆต่างขับเคี่ยว

หลังรัชสมัยองค์กษัตริย์ภูมิพล

After Bhumibol?

Gulf Daily News

แปลและเรียบเรียง :  แชพเตอร์ ๑๑
 
นประเทศไทย ประชาชนต้องโดนติดคุกหัวโตถ้าวิจารณ์พระราชวงศ์ สื่อไทยจึงต้องปิดปากเงียบต่อคำถามที่ว่า อะไรจะเกิดขึ้นหลังจากสิ้นรัชกาลกษัตริย์ภูมิพล อดุลยเดช

ขณะนี้กษัตริย์พระชนมายุ ๘๑ พรรษา ได้เข้ารับรักษาพระวรกายในโรงพยาบาลเป็นเวลาหนึ่งเดือนแล้ว จึงมีข่าวลือสะพัดด้วยความหวาดกลัวว่า พระองค์ทรงสิ้นแล้ว เมื่ออาทิตย์ที่แล้วเพียงวันเดียวตลาดหุ้นกรุงเทพดิ่งลงร้อยละ ๘ จากข่าวลือที่ว่า พระสุขภาพของพระองค์ทรุดลงมากกว่าที่ทางพระราชวังได้แถลงการณ์

กษัตริย์ภูมิพลทรงครองราชย์มายาวนานถึง ๖๓ ปี และทรงเป็นเคารพโดยทั่วไป ประเทศไทยตกอยู่ในวิกฤติที่ร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่เคยมีมาในทางการเมืองถึง ๓ ปี ตั้งแต่เป็นประเทศประชาธิปไตยแบบลุ่มๆดอนๆมามากกว่าสองทศวรรษ และนับได้ว่ากษัตริย์ทรงเป็นปัจจัยสำหรับการรวมศูนย์ใจและความมั่นคงที่ยังคงเหลืออยู่ การสิ้นสุดรัชกาลของพระองค์ย่อมทำให้เรื่องต่างๆยิ่งเลวร้ายลง

วิกฤติดังกล่าวมีผลเนื่องมาจากประชาธิปไตย ประเทศไทยได้เริ่มเป็นประเทศกึ่งพัฒนา นับตั้งแต่กษัตริย์ภูมิพลขี้นครองราชย์ รายได้ถัวเฉลี่ยของประชาชนได้เพิ่มขึ้นสี่สิบเท่า แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงอาศัยในชนบทและค่อนข้างยากจน คะแนนเสียงของพวกเขาได้ถูกซื้อโดยนักการเมืองท้องถิ่นที่มีอิทธิพล และส่งผ่านต่อไปยังพรรคการเมืองใดๆก็ตามที่มีพื้นฐานเป็นชาวกรุงที่จ่ายเงินให้มากที่สุด แต่มิได้เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป

นับตั้งแต่ประชาชนชาวชนบทจำนวนมากทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้รับความรู้และมีความเข้าใจมากขึ้น พวกเขาเริ่มใช้คะแนนเสียงสนับสนุนนักการเมืองต่างๆที่สัญญาว่า จะรักษาผลประโยชน์ของพวกเขา ไม่ใช่เอาแต่ไปปรนเปรอให้กับพวกศักดินาที่มีฐานะในกรุงเทพ ในปี ๒๕๔๔ พวกเขาได้เลือกนักการเมืองอันเป็นที่นิยม และมีพื้นฐานที่ถ่อมตน และเขาคนนั้นคือ ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

ทักษิณสร้างฐานะขึ้นมาจากธุรกิจโทรคมนาคม และถ้าเขาไม่ร่ำรวย เขาอาจจะไม่ชนะการเลือกตั้งก็ได้ แต่เขาได้บริหารประเทศเพื่อผลประโยชน์ของคนยากจน ในปี ๒๕๔๘ เขาได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอีกครั้งด้วยคะแนนเสียงข้างมากที่เพิ่มขี้นกว่าครั้งแรก ซึ่งเป็นสิ่งที่เราปรารถนาในเรื่องของความเป็นประชาธิปไตย สำหรับคนยากจนที่มีจำนวนมากกว่าคนร่ำรวย

แต่เป็นเรื่องที่คาดหมายได้ว่า จะต้องมีปฏิกิริยาตอบโต้อย่างรุนแรงจากศักดินาอำมาตย์หัวโบราณ ซึ่งมาในแนวของพวกพันธมิตร อันเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวของเสื้อเหลืองมีเป้าหมายเพื่อจะล้มเลิกความเป็นประชาธิปไตย พวกเขาสร้างความยั่วยุเมื่อประจันหน้าบนท้องถนนกับฝ่ายสนับสนุนทักษิณ (ซึ่งแต่งสีแดง) พันธมิตรสร้างข้อแก้ตัวให้กับกองทัพเพื่อเข้ายึดอำนาจโดยการทำรัฐประหารในปี ๒๕๔๙ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ประเทศไทยตกอยู่ในสภาวะวิกฤติอย่างถาวร

ผู้สนับสนุนพันธมิตรซึ่งเป็นคนกรุง และชนชั้นกลางเข้ายึดท้องถนนในเมืองเหลวง แม้กระทั่งกระทำการล้มรัฐบาลที่พวกเขาไม่ต้องการ แต่พันธมิตรไม่สามารถบังคับให้ชาวชนบทส่วนใหญ่เลิกความภักดีที่เขามีอยู่ได้ ประเทศถูกแบ่งแยกอย่างน่าอันตราย และการเมืองกลายเป็นอัมพาต และคนไทยหลายคนเชื่อว่า มีแต่กษัตริย์ภูมิพลพระองค์เดียวเท่านั้นที่จะทรงยึดเหนี่ยวประเทศไว้ได้


อาจจะใช่ แม้ว่าจะมีความสงสัยว่าพระองค์ทรงสนับสนุนให้ทำรัฐประหารในปี ๒๔๔๙ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ทรงยอมรับเท่านั้น (ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล อดีตนักข่าวที่มีชื่อเสียง ได้ถูกตัดสินจำคุกถึง ๑๘ ปีหลังจากที่เธอได้ทำการปราศรัยเป็นนัยว่า กษัตริย์ทรงสนับสนุนการทำรัฐประหาร) อย่างไรก็ดี การสิ้นรัชกาลนั้นย่อมทำให้วิกฤติยิ่งตกหนักมากขึ้น เนื่องจากองค์รัชทายาทที่ดูเหมือนจะสืบสันตติวงศ์นั้นไม่ทรงเป็นที่รัก

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณทรงมีชีวิตส่วนพระองค์ที่โลดโผน รวมถึงการอภิเษกสมรสถึงสามครั้ง แทบจะไม่ได้เปลี่ยนการวางพระองค์ในระยะเวลา ๕๗ ปีที่ทรงอยู่ภายใต้เงาของพระราชบิดา ในเวลาที่ปกติ พระองค์อาจจะเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญซึ่งทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจได้อย่างสมบูรณ์ แต่คนไทยได้ตัดสินใจแล้ว จะยุติธรรมหรือไม่ก็ตามที่ว่า ความภักดีที่จะมอบให้พระองค์นั้นมีไม่มากนัก

เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณทรงไม่ได้รับความเคารพเยี่ยงพระราชบิดา ซึ่งทรงมีบทบาทในการสมานความร้าวฉานและสร้างความสงบ และได้มีการเสนออย่างเงียบๆว่าพระขนิษฐา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร อาจจะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจได้ดีกว่า ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เนื่องจากแม้ว่ากฎหมายไทยได้เปลี่ยนให้ผู้หญิงขี้นครองราชบัลลังก์ได้ และรัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้สิทธิการตัดสินใจการสืบสันตติวงศ์ตกในมือขององคมนตรีทั้ง ๑๙ คน

พวกเขาคงไม่เปลี่ยนแปลงในเรื่ององค์รัชทายาท แต่จากความจริงแท้ที่ว่า อาจจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก็ได้ ซึ่งยิ่งสร้างความไม่แน่นอนและโอกาสที่จะเกิดปฏิกิริยาต่อความขัดแย้ง

การออกแถลงการณ์พระอาการของกษัตริย์ของสำนักพระราชวังเกือบจะทุกวัน ล้วนแล้วแต่สร้างความหวัง แต่การอ้างถึงแต่เรื่อง “พระปับผาสะ (ปอด) อักเสบ” อันเป็นคำพูดที่สวยหรูสำหรับการเรียกโรคนิวมอเนีย ซึ่งเป็นโรคที่มีโอกาสจะคร่าชีวิตคนในวัยชรา จึงเป็นการสมควรแล้วที่พสกนิกรชาวไทยจะมีความวิตกกังวล ขอทรงพระเจริญ


Gwynne Dyer

October 25, 2009


ที่มา : liberalthai : หลังรัชสมัยองค์กษัตริย์ภูมิพล

วันเสาร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2553

ความจริงเรื่อง “ล้มเจ้า” : จักรภพ เพ็ญแข


ณะนี้การประโคมข่าว “ล้มเจ้า” ดังจนผิดปกติ เครือข่ายอำมาตย์ในขั้วตรงข้ามกับประชาธิปไตยนั้นไม่ต้องห่วง รัวเสียราวกับวงโยธวาทิต แถมยังมีเสียงแว่วมาจาก “เวทีประชาธิปไตย” ร่วมสนุกกล่าวหาตามแห่ไปกับเขาด้วยว่ากลุ่มนั้นกลุ่มนี้คิด “ล้มเจ้า” เหมือนมุ่งจะเอาใจใครบางคน

เวลาเหมือนจะหมุนกลับไปไม่ต่ำกว่า ๔๐ ปี

เสมือนเราทุกคนยังอยู่ในยุคปลุกผีคอมมิวนิสต์ เพียงคราวนี้ใช้มาตรา ๑๑๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ ที่ว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาแทนที่ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ในยุคสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นกฎหมายเผด็จการโบราณที่ทำลายชีวิตและอนาคตของคนบริสุทธิ์ไปมากมายเหลือคณานับ

แถมใช้อย่างถี่ยิบไม่เลือกหน้าอินทร์หน้าพรหม เพราะไปหลงเชื่อคนที่คอยเสี้ยมให้เล่นงานคนนั้นคนนี้ และให้ข้อมูลผิดๆ ว่ามีอยู่ไม่กี่คน ฟันลงไปเถิด

ในที่สุดก็เกิดเป็นกระแส

ความจริงการ “ล้มเจ้า” อย่างจริงจังในประวัติศาสตร์ไทยเคยเกิดขึ้นเพียง ๒ ครั้ง นั่นคือเมื่อคราว “กบฏ ร.ศ.๑๓๐” ซึ่งล้มเหลวเพราะถูกหักหลัง และการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ หรือ “การอภิวัฒน์” ที่เริ่มต้นด้วยท่าทีเด็ดขาด แต่แล้วค่อยๆ ผ่อนท่าทีลงจนกลายเป็นการหารือร่างรัฐธรรมนูญระหว่างกัน หลังจากนั้นก็เกิดกระบวนการฟื้นฟูอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์มาเรื่อย โดยเฉพาะหลังการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จนกระทั่งทุกวันนี้

รัฐธรรมนูญถาวรกลายเป็นของพระราชทาน แทนที่จะเป็นคณะราษฎร์เสี่ยงชีวิตเพื่อให้ได้มา

ท่าทีสมานฉันท์ อย่างการตั้งรัฐบาลร่วมกันโดยเอาฝ่ายอำมาตย์แท้ๆ อย่างพระยามโนปกรณ์นิติธาดามาเป็นตัวประธานกรรมการราษฎร (นายกรัฐมนตรี) ก็กลายเป็นเปิดทางให้ฝ่ายอำนาจเก่าเขามาเอาอำนาจคืนอย่างดิบๆ ถึงขั้นเนรเทศหัวหน้าคณะราษฎร์สายพลเรือนไปต่างประเทศ ท่านที่เหลือต้องรวมกำลังกันยึดอำนาจซ้ำอีกครั้งเพื่อเอาประชาธิปไตยกลับคืนมา แต่ก็ถูกทำลายซ้ำแล้วซ้ำอีกจนแทบไม่เหลือซาก

ความจริงเมื่อวันชาติยุคหลังๆ ถูกเปลี่ยนจาก ๒๔ มิถุนายนมาเป็นวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ชัดแล้วในเรื่องระบอบ

ทวนความจำเพื่อจะบอกว่า จากนั้นไม่มีความพยายามใดๆ อีกเลย ที่จะพรากสังคมนี้จากสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งนอกจากจะปลูกฝังกันอย่างเข้มข้นเกือบทุกวันทุกเวลาแล้ว กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพยังตั้งตระหง่านอยู่ตรงนั้นด้วย ปัจจัยใดๆ จากภายนอกจะเข้ามาโยกหรือสั่นคลอนได้เล่า

เพียงดำรงพระสถานะเดิมและใช้พระราชอำนาจอย่างสมควรแก่เหตุ สถาบันนี้จะอยู่คู่สังคมไทยโดยไม่มีใครวิพากษ์วิจารณ์ลับหลัง

ผมถึงได้สงสัยว่าคนที่เจตนาพูดคำว่า “ล้มเจ้า” นั้น เขากำลังคิดอะไรอยู่ กำลังดูแคลนศักยภาพของสถาบันจนหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเสียเองหรือไม่

หรือกำลังระดมฉายไฟเข้าไปยังสถาบัน
ทำให้สถาบันกลายเป็นจุดสนใจโดยไม่จำเป็น?

ความจริงพฤติกรรมแกล้งโง่เหล่านี้ เราก็พอรู้อยู่หรอกครับ แต่ผู้ที่อยู่ในสถาบันควรทราบว่า คนที่ชิงเล่นบทจงรักภักดีโดยไม่ทำอะไรที่เป็นคุณประโยชน์ให้ ได้แต่กล่าวประณามคนอื่นว่าจงรักภักดีไม่เท่าตน หรือสาดคดีหมิ่นฯ เข้าใส่ จนสุดท้ายสถาบันต้องเป็นผู้รับผิดชอบทางสังคมแทนนั้น สุดท้ายคือผู้ที่ทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์มากที่สุด

รวมทั้งคนที่อ้างตัวว่าเป็นประชาธิปไตย แล้วทำลายคนอื่นด้วยข้อหา “ล้มเจ้า” อย่างสามานย์นั่นด้วย

การรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเหมาะสมคือการอนุวัตรไปตามโลก โดยรักษาแก่นไว้ให้มั่นคง ไม่ใช่ลืมตาตื่นขึ้นก็มองหาว่าใครจะเป็นเหยื่อในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้บ้าง

ความจริงก็คือ มีคนเป็นจำนวนไม่น้อยในขณะนี้ที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับบทบาทของสถาบัน โดยไม่ได้มุ่งหมายจะโค่นล้มหรือทำอันตรายใดๆ เพราะสามปีที่ผ่านมานี้มีการกล่าวอ้างสถาบันเพื่อการเมืองจนสังคมสับสน หากเปิดโอกาสให้ถามและตอบอย่างวิญญูชน แทนที่จะอ้างกฎหมายหมิ่นฯ มาฟาดฟันกันอย่างที่เป็นอยู่ ว่าเราจะประคองสถาบันให้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้อย่างไร ผมเชื่อว่าจะเป็นคุณกับประเทศชาติมากกว่า

สั่งให้หยุดพฤติกรรมผลักฝ่ายเดียวกันให้เป็นศัตรูเถิดครับ

มองให้เห็นว่าคนที่จะ “ล้มเจ้า” ตัวจริง ก็คือคนที่อวดอ้างความ “รักเจ้า” จนเกินกว่าเหตุและสร้างผลลัพธ์ในทางกลับกันเถิดครับ

เลิกสนุกสนานกับบทบาท “ผู้เล่น” กลับขึ้นไปเป็น “กรรมการผู้ทรงเกียรติ” ดังเดิมเถิดครับ

ใช้ตัวแทนวัฒนธรรมใหม่อย่างคุณทักษิณให้เป็น เพื่อบริหารบ้านเมืองในระยะเปลี่ยนผ่านที่ต้องใช้ทั้งภูมิปัญญาเดิมและภูมิปัญญาใหม่ผสมผสานกัน อย่าคิดกำจัดเพียงเพราะคุมโมหะจริตไม่อยู่เลยครับ

ชมคนที่ควรชม ข่มคนที่ควรข่ม

และทำในสิ่งที่ควรทำ

ผมขอตราไว้ตรงนี้ว่า คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไม่ได้ช่วยอะไรสถาบันพระมหากษัตริย์ได้เลย ความเข้าใจถูกหรือผิดต่อสถาบัน กระทำได้อย่างยั่งยืนไม่ใช่ด้วยลมปากของใคร แต่ด้วยสิ่งที่คนไทยทั่วประเทศและทั่วโลกเขามองเห็นอยู่จริง

ถ้าตั้งมั่นอยู่ในธรรมแล้ว อย่าได้หวั่นกลัวสิ่งใด เว้นแต่เงาของตนเอง

เพราะในบ้านนี้เมืองนี้ ผลกระทบใดๆ ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ย่อมมาจากสถาบันพระมหากษัตริย์เองเท่านั้น.


จักรภพ เพ็ญแข



คอลัมน์ “ผมเป็นข้าราษฎร”
Thai Red News ฉบับที่ 45


ที่มา : Thai E-News : ความจริงเรื่อง “ล้มเจ้า”