วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2550

เจ้าฟ้าเหม็น รัชทายาทพระเจ้าตาก


ตัดหวายอย่าไว้หน่อ ฆ่าพ่ออย่าไว้ลูก

เจ้าฟ้าเหม็นมีพระชาติกำเนิดที่ยิ่งใหญ่ เป็นลูกของพระมหากษัตริย์ แต่ด้วยความที่เป็นลูกกษัตริย์นี่เอง กลับเป็นสิ่งที่ย้อนมาทำร้ายพระองค์เกือบตลอดพระชนมชีพ จนเรียกได้ว่าเป็นเจ้าอาภัพที่สุดพระองค์หนึ่งในพงศาวดารแต่มีการศึกษาค้นคว้าถึงเบื้องลึกเบื้องหลังคดีนี้ไว้น้อยมาก ไม่ต่างจากชื่อ "เจ้าฟ้าเหม็น" บุคคลสำคัญในระดับองค์รัชทายาทองสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็กลายเป็นเจ้านอกพงศาวดารที่แทบไม่มีใครรู้จักแม้ว่าวังท่าพระของพระองค์ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากรเดี๋ยวนี้ จะห่างพระบรมมหาราชวังแค่ข้ามถนน ก็ไม่ทำให้ชื่อ "เจ้าฟ้าเหม็น" เป็นที่รู้จักขึ้นมาแต่อย่างใด..


เจ้าฟ้าเหม็น รัชทายาทพระเจ้าตาก

การเมืองในช่วงเปลี่ยนแผ่นดินจากกรุงธนบุรีมาสู่กรุงรัตนโกสินทร์ เป็นช่วงที่ทำให้เกิดฝักเกิดฝ่ายระหว่างเจ้าเก่าแผ่นดินก่อนกับเจ้าใหม่แผ่นดินใหม่ในหมู่ข้าราชการขุนนางไม่น้อย แต่ด้วยพระบรมเดชานุภาพของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ซึ่งมีพระราชอำนาจเด็จขาดมาแต่สมัยกรุงธนบุรี ก็ทำให้คลื่นการเมืองที่รุนแรงสงบเรียบร้อยไปได้ ศัตรูทางการเมืองโดยเฉพาะกับเชื้อสายในพระราชวงศ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และขุนนางสำคัญจำนวนมากถูกกำจัดในต้นรัชกาล

พระราชโอรสบางพระองค์ในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่ยังเล็กก็มิได้ถูกกำจัดไปในคราวนั้น พระราชโอรสพระองค์หนึ่งที่ถูกเว้นโทษประหารคือเจ้าฟ้าเหม็น เนื่องจากยังทรงพระเยาว์อยู่มาก และทรงเป็น "หลานตา" ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ นอกจากจะทรงเว้นโทษแล้วยังทรงเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด เนื่องจากพระเจ้าหลานเธอพระองค์นี้ทรงเป็นกำพร้าทั้งพ่อและแม่ และยังทรงเป็นพระเจ้าหลานเธอพระองค์แรกของพระองค์ โปรดพระราชทานที่วังให้อยู่ใกล้กับวังหลวงมากที่สุด คือวังท่าช้าง "เจ้าฟ้าเหม็น" เจ้านายพระองค์แรกของวังท่าพระนั้น แม้จะมีพระประวัติอยู่น้อยในพงศาวดาร แต่ก็อยู่ในหน้าสำคัญ ตอนต้นรัชกาลที่ ๒ โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏ แทบจะทันทีที่รัชกาลที่ ๑ เสด็จสวรรคต ทั้งที่ตลอดรัชกาล ก็ไม่ปรากฏว่าทรงมีบทบาทใดๆ ในราชสำนัก หรือทางการเมือง


กำเนิดเจ้าฟ้าเหม็น..

เจ้าฟ้าเหม็น หรือสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิต เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระมารดาคือสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงฉิมใหญ่ พระราชธิดาองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ เท่ากับว่าทรงเป็น "หลานตา" องค์โตของรัชกาลที่ ๑ ประสูติในสมัยกรุงธนบุรี ในวันศุกร์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๑๐ จุลศักราช ๑๑๔๑ (๑๗ กันยายน ๒๓๒๒)

ในคราวเจ้าฟ้าเหม็นประสูติ บังเกิดเรื่องพิสดารหลายประการคือ เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก "เจ้าคุณตา" ของเจ้าฟ้าเหม็น ตีได้เมืองเวียงจัน ได้พระแก้วมรกตกับพระบาง และเกิดเหตุเป็นลางหลายอย่าง ตามจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี ดังนี้


"เจ้าฟ้ากระษัตริย์ศึกเข้าเมืองได้ ณ วันจันทร์ เดือน ๑๐ ขึ้น ๓ ค่ำ เจ้าเมืองหนี ได้พระแก้วพระบาง พระไอยกาเข้าเมืองได้ ๓ วัน เจ้าลูกทรงครรภ์ประสูตร์เจ้า ณ วันศุกร์ เดือน ๑๐ ขึ้น ๗ ค่ำ ประสูตร์เปนพระราชกุมาร ประโคมแตรสังข์ลั่นฆ้องไชย แมงมุมทั้งไข่ จิ้งจกตกพร้อมกัน แมงมุมอนิจกรรม จิ้งจกไปได้ ๑๒ วัน เจ้าแม่สิ้นพระชนม์ ส่วนเจ้าลูกให้พระพี่นางเธอเอาไปเลี้ยง ให้นามเจ้าสุพันทวงษ์..."


เจ้าฟ้าเหม็นทรงเป็นกำพร้าพระมารดามาตั้งแต่ประสูติได้เพียง ๑๒ วัน ต่อมาอีกเพียง ๓ ปี คือวันที่ ๖ เมษายน ๒๓๒๕ ก็เกิดเหตุกับพระราชบิดา สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงถูก "เจ้าคุณตา" สำเร็จโทษ พร้อมกับพระญาติอีกหลายพระองค์จนเกือบสิ้นวงศ์ เจ้าฟ้าเหม็นทรงพ้นชะตากรรมนี้มาได้ก็เพราะยังเล็ก และทรงเป็นหลานคนโต ของเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ซึ่งต่อมาก็คือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ครั้นเมื่อทรงเจริญพระชันษาขึ้น สมควรมีวังอยู่ต่างหาก จึงโปรดพระราชทานวังถนนหน้าพระลาน ด้านตะวันตก ติดกับท่าช้างวังหลวง ซึ่งก็ถือได้ว่าใกล้ชิดกับวังหลวงมาก แต่ก็ไม่ปรากฏว่าทรงว่าราชการในกรมใดตลอดรัชกาลที่ ๑


เป็นลูกเจ้าตาก ในแผ่นดินรัตนโกสินทร์..

มีหลักฐานชี้ว่าทรงเป็นหลานเธอที่ใกล้ชิดกับรัชกาลที่ ๑ พอสมควร คือเมื่อคราวชะลอพระศรีศากยมุนี มาจากสุโขทัย เจ้าฟ้าเหม็นได้โดยเสด็จเคียงข้างรัชกาลที่ ๑ ด้วยขณะนั้นทรงประชวรอยู่ แต่ก็เสด็จออกในกระบวนแห่ชักพระพุทธรูปจากประตูท่าช้างมายังวัดสุทัศน์ จนเกิดอุบัติเหตุขึ้น ตามที่กรมหลวงนรินทรเทวีได้ทรงจดไว้


"ณ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ยกทรงเลื่อนชักตามทางสถลมารค พระโองการตรัสให้แต่งเครื่องนมัสการพระทุกหน้าวัง น่าบ้านร้านตลาดตลอดจนถึงที่ ประชวรอยู่แล้ว แต่ทรงพระอุสาห เพิ่มพระบารมีที่หน่วงโพธิญาณจะโปรดสัตว์ ทำนุบำรุงพระสาศนา เสด็จพระราชดำเนิน ตามกระบวนแห่พระ หาทรงฉลองพระบาทไม่จนถึงพลับพลาเสด็จขึ้น เซพลาดเจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรารับทรงพระองค์ไว้..."


กับในงานฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ครั้งที่ ๒ ปี ๒๓๕๒ ทรงมีพระนามปรากฏอยู่ในรายนามเจ้านายที่รับผิดชอบดูแลสำรับเลี้ยงพระ ๑๕ รูป นอกจากนี้ก็ไม่ปรากฏว่าทรงว่าราชการในทางใด

แม้ว่าจะทรงเป็นหลานองค์โปรดของรัชกาลที่ ๑ แต่ด้วยพระบารมี หรืออำนาจราชศักดิ์นั้น คงเปรียบไม่ได้กับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร พระราชโอรสองค์โตในรัชกาลที่ ๑ ซึ่งทรงเป็นทั้งวังหน้า และโดยเสด็จในราชการสงครามอยู่หลายครั้ง แต่ชนักติดหลังที่ไม่มีทางลบได้คือทรงเป็น "ลูกเจ้าตาก" ซึ่งเป็นเหตุสำคัญที่นำมาสู่วาระสุดท้ายของพระองค์


คดีกบฏ..

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ เสด็จสวรรคตได้เพียง ๓ วัน ก็เกิดคดีเจ้าฟ้าเหม็นเป็นกบฏ เหตุเกิดจากมีบัตรสนเท่ห์กล่าวโทษพระองค์คบคิดกับขุนนางจำนวนหนึ่งคิดแย่งชิงราชสมบัติ เรื่องนี้จะมีข้อเท็จจริงอย่างไรไม่มีใครรู้ได้ ทั้งเรื่องราวที่เกิดขึ้นก็ออกจะพิสดารอยู่ ตามที่ปรากฏในพงศาวดารฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ดังนี้


"ครั้นเดือน ๑๐ ขึ้น ๑๒ ค่ำ มีกาคาบหนังสือทิ้งที่ต้นแจง หน้าพระมหาปราสาท พระยาอนุชิตราชาเป็นผู้เก็บได้ อ่านดูใจความว่า พระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร ซึ่งเป็นกรมขุนกระษัตรานุชิต เป็นบุตรเจ้ากรุงธนบุรี กับพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันอีกสองคนคือ นายหนูดำหนึ่ง จอมมารดาสำลีในพระบัณฑูรน้อยหนึ่ง คบคิดกับขุนนางเป็นหลายนายจะแย่งชิงเอาราชสมบัติ จึงนำความขึ้นกราบทูลแต่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวังบวรสถานมงคล โปรดให้ไต่สวนได้ความจริงแล้ว รุ่งขึ้นวันจันทร์ เดือน ๑๐ ขึ้น ๓ ค่ำ จึงให้นายเวรกรมพระตำรวจวังไปหากรมขุนกระษัตรานุชิตเข้ามาที่ประตูพิมานไชยศรีสองชั้นแล้วจับ..."


เรื่อง "กาคาบข่าว" นี้ยังปรากฏรายละเอียดเพิ่มเติมในศุภอักษร เรื่องหม่อมเหม็นกับพวกเป็นกบฏ จ.ศ. ๑๑๗๑ ว่ามีประจักษ์พยานเห็น "อีกา" กันหลายคนดังนี้


"ครั้น ณ วัน เดือน ๙ แรม ๑๑ ค่ำ ปีมแสงศก มีกาคาบกระดาษหนังสือมาทิ้งลงริมพระที่นั่งดุสิดามหาปราสาท ตำรวจในล้อมวงรักษาพระองค์ได้เห็นเปนอันมาก จึงนำเอาหนังสือไปแจ้งแก่พระยาอภัยรณฤทธิ พระยาอนุชิตราชาจางวางพระตำรวจปฤกษาด้วยเสนาบดีนำเอาหนังสือขึ้นทูนเกล้าฯ ถวาย"


เมื่อพระยาอนุชิตราชาได้หนังสือแล้วจึงนำหนังสือนี้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย รัชกาลที่ ๒ รุ่งขึ้นจึงโปรดให้จับกุมเจ้าฟ้าเหม็นมาสอบสวน ผู้ที่ทำการจับกุมก็คือพระยาอนุชิตราชานั่นเอง เหตุการณ์การจับกุมนี้ มีพระราชวิจารณ์ของรัชกาลที่ ๕ ในจดหมายเหตุกรมหลวงนรินทรเทวีว่า


"จับที่ประตูสองชั้นนี้เปนการกึกกักกันมาก ว่าปล่อยให้เสลี่ยงเข้ามาในประตูสองชั้น แล้วปิดประตูทั้งสองข้าง เมื่อเวลาจับนั้นเจ้าฟ้าเหม็นเอามือตบขา พูดติดอ่างว่าจะจับข้าไปข้างไหน"


ส่วนเจ้าจอมมารดาสำลี จำเลยอีกคนหนึ่งนั้น ทรงเป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระนามว่าพระองค์เจ้าหญิงสำลีวรรณ เป็นเจ้าจอมในกรมหลวงเสนานุรักษ์ ซึ่งต่อมาก็คือวังหน้าในรัชกาลที่ ๒ เหตุการณ์ในขณะเกิดเหตุนั้น หลวงพิสูจน์พาณิชยลักษณ์ (ม.ล.เพิ่มยศ อิศรเสนา) ได้นิพนธ์ไว้ว่า


"ในวันจันทร์ วันเดียวกันนั้น เจ้าจอมมารดาสำลีตัดผมใหม่ พระองค์ชายพงศ์อิศเรศร์ ชันษา ๙ ปี พระองค์หญิงนฤมล ชันษา ๖ ปี สามคนแม่ลูกนั่งเล่นกันอยู่ที่พระตำหนักในพระนิเวศนเดิม (ราชนาวิกสภา) สมเด็จฯ กรมหลวงเสนานุรักษ์เสด็จกลับจากพระบรมมหาราชวัง รับสั่งถามเจ้าจอมมารดาสำลีว่า กรมขุนกษัตรานุชิตเป็นขบถ เขาว่าเจ้ารู้เห็นเป็นใจด้วยจริงหรือ คุณสำลีตอบเป็นทำนองว่า จะหาว่าเป็นขบถก็ตามใจ พ่อเขาก็ฆ่า พี่น้องเขาจะเอาไปฆ่า ตัวเองจะอยู่ไปทำไม รับสั่งให้เรียกตำรวจเข้ามาคุมตัวไป คุณสำลีก็ผลักหลังลูกสองคนว่า นี่ลูกเสือลูกจระเข้ แล้วก็ลุกขึ้นตามตำรวจออกไป"


นอกจากนี้ยังมีพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีอีกพระองค์หนึ่งที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้คือนายหนูดำ หรือพระองค์เจ้าชายอรนิภา อีกพระองค์หนึ่ง


ชำระความ..

ในคดีนี้โปรดให้พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ชำระความ ซึ่งพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นี้ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงสอบสวนทวนความได้ว่า มีขุนนางผู้ใหญ่เข้าร่วมด้วยคือ


เจ้าพระยาพลเทพ (บุนนาค บ้านแม่ลา)
พระยาเพ็ชรปาณี (กล่อม)
พระยาราม (ทอง)
พระอินทรเดช (กระต่าย)
นอกนั้นเป็นชั้นผู้น้อย รวมผู้ต้องหาในคดีนี้ ๔๐ คน กับพระราชวงศ์อีก ๓ พระองค์


เจ้าพระยาพลเทพ เห็นจะเป็นผู้ที่มีตำแหน่งสูงสุดในคดีนี้ เจ้าพระยาพลเทพผู้นี้เคยมีประวัติที่ดีเด่นมาตลอดรัชกาลที่ ๑ คือเมื่อครั้งยังเป็นนายบุนนาค อยู่บ้านแม่ลา แขวงกรุงเก่า เป็นต้นคิดโค่นราชบัลลังก์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และมีเจตนาจะถวายราชสมบัติแก่เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก แผนการนี้ได้มอบให้พระยาสรรค์ดำเนินการเป็นแม่ทัพเข้าตีกรุงธนบุรี จนเกิดเหตุกบฏพระยาสรรค์ขึ้นนั่นเอง ความดีความชอบในครั้งนั้นทำให้นายบุนนาคได้รับพระราชทานยศเป็น เจ้าพระยาไชยวิชิต รักษากรุงเก่า

และต่อมาได้เป็นเจ้าพระยาพลเทพ สังกัดกรมนา ก่อนเกิดเหตุกบฏเจ้าฟ้าเหม็นเพียง ๑ ปี คือปลายปี ๒๔๕๑ เจ้าพระยาพลเทพก็ได้เป็นแม่ทัพยกไปปราบกบฏที่เมืองยิริง หัวเมืองฝ่ายใต้ พอปีรุ่งขึ้นรัชกาลที่ ๑ ก็เสด็จสวรรคต ดูเหมือนว่าท่านผู้นี้จะเป็นขุนนางที่จงรักภักดีต่อรัชกาลที่ ๑ มาตลอด แต่เหตุใดจึงตกไปอยู่ใน "บัญชีรายชื่อ" ผู้สมคบคิดโค่นราชบัลลังก์ได้ ยังน่าสงสัยอยู่

จากการสอบสวนของพระองค์เจ้าชายทับ (สถาปนาเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ปี ๒๓๕๖) ได้ทรงชี้มูลความผิดไปที่พระอินทรเดช (กระต่าย) กรมพระตำรวจนอกซ้าย ว่าเป็นต้นคิดชักชวนพรรคพวกคิดการใหญ่
สอดคล้องกับความในศุภอักษร เรื่องหม่อมเหม็นเป็นกบฏว่า


"ในหนังสือนั้นเปนใจความว่า อ้ายกระต่ายอินทรเดชะพูดกับอ้ายเมืองสารวัดว่า ล้นเกล้า กรมพระราชวังบวรฯ มีบุญแล้วไม่ทรงพระเมตตาเหมือนแต่ก่อน ถึงจะเปนเจ้าแผ่นดินก็หายอมเปนข้าไม่"


พระอินทรเดชนี้เดิมคือจมื่นราชาบาล เคยอยู่ในทัพเจ้าพระยามหาเสนา คราวรบกับทวาย แต่เสียทีแก่ทัพพม่า ถอยร่นมาจนถึงทัพของพระยาอภัยรณฤทธิ์ ซึ่งเป็นทัพหน้าของทัพหลวง แต่เมื่อเกิดเหตุคับขันนี้ขึ้นพระยาอภัยรณฤทธิ์กลับไม่ยอมเปิดประตูค่ายรับทัพเจ้าพระยามหาเสนาที่แตกพ่ายมา จมื่นราชาบาลเรียกให้เปิดประตูรับอยู่หลายครั้งก็ไม่สำเร็จ ทัพพม่าตามรุกเข้ามาตีจนถึงหน้าค่าย ทำให้แม่ทัพคือเจ้าพระยามหาเสนาตายในที่รบ เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระพิโรธมาก ถึงกับทรงสั่งประหารชีวิตพระยาอภัยรณฤทธิ์ ส่วนจมื่นราชาบาลมีความดีความชอบ ให้เป็นที่พระอินทรเดช รับราชการในกรมพระตำรวจสืบมาจนเกิดเรื่องเจ้าฟ้าเหม็นขึ้น

"สำนวนการสอบสวน" ที่กล่าวร้ายพระอินทรเดช เป็นต้นคิดล้มราชบัลลังก์นี้ อยู่ในบทพระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน

โคลงปราบดาภิเษก
เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

ไป่นานกาคาบฟ้อง ลิ่วลม มาเฮย
เหตุพระตำรวจกรม นอกซ้าย
ใจพาลพวกพาลผสม เสี้ยมพระ หลานนา
แข่งคิดทรยศร้าย เร่งล้างฤาหลอ
เสียพระญาติเจ้าหนึ่งแล้ สิบขุน นางเฮย
ทหารบ่กลัวเกรงบุญ บัดม้วย
ใครฤาไป่คิดคุณ ขบถต่อ ท่านนา
แม่นจะปลงชีพด้วย ดาพไม้จันทน์จริง



สิบขุนนางในครั้งนี้คือ

๑. เจ้าพระยาพลเทพ (บุนนาค บ้านแม่ลา)
๒. พระยาเพ็ชรปาณี (กล่อม)
๓. พระยาพระราม (ทอง)
๔. พระอินทรเดช (กระต่าย)
๕. จมื่นสท้านมณเฑียร (อ่อน)
๖. นายขุนเนน (หลานเจ้าพระยาพลเทพ)
๗. สมิงรอดสงคราม
๘. สมิงศิริบุญ (โดด) บุตรเจ้าพระยามหาโยธา
๙. สมิงพัตเบิด (ม่วง)
๑๐. สมิงปอนทละ


รวมกับข้าในกรมเจ้าฟ้าเหม็นอีก ๓๐ คน ถูกสั่งประหารทั้งสิ้น รวมเวลาปราบกบฏตั้งแต่กาคาบข่าวจนถึงสั่งประหารเสร็จสิ้นใน ๔ วัน


กบฏ...เจ้าฟ้าเหม็น

รัชทายาทพระเจ้าตากสิน ที่ชาวบ้านเรียกว่าเจ้าฟ้าเหม็นนั้น มีอยู่หลายพระนาม พระนามแรก พบในจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี...


"เจ้าฟ้ากษัตริย์ศึกเข้าเมืองได้ ณ วันจันทร์ เดือน 10 ขึ้น 3 ค่ำ เจ้าเมืองหนี ได้พระแก้วพระบาง พระไอยกาเจ้าเมืองได้ 3 วัน เจ้าลูกทรงครรภ์ ประสูติเจ้า ณ วันศุกร์ เดือน 10 ขึ้น 7 ค่ำ ประสูติเป็นพระราชกุมาร....12 วัน เจ้าแม่สิ้นพระชนม์ ส่วนเจ้าลูกให้พระพี่นางเธอเอาไปเลี้ยง ให้ นาม...เจ้าสุพันธวงษ์"


ปรามินทร์ เครือทอง เขียนเรื่องคดีกบฏเจ้าฟ้าเหม็น รัชทายาทพระเจ้าตาก ไว้ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกันยายน 2547 ว่า เจ้าฟ้าเหม็น ทรงเป็นกำพร้าพระมารดามาตั้งแต่ประสูติได้เพียง 12 วัน อีก 3 ปีต่อมา วันที่ 6 เมษายน 2325 ก็เกิดเหตุพระราชบิดา สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงถูกเจ้าคุณตาสำเร็จโทษ พร้อมพระญาติอีกมากมาย จนเกือบจะสิ้นวงศ์

เจ้าฟ้าเหม็นทรงพ้นชะตากรรมนี้ได้ เพราะยังเล็ก และทรงเป็นหลานคนโตของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และได้พระราชทานนามใหม่ เจ้าฟ้าอภัยธิเบศร์ คนทั่วไปเรียกว่าเจ้าฟ้าอภัยทศ รัชกาลที่ 1 ทรงสดับก็รับสั่งว่า พระนามนี้พ้องกับเจ้าฟ้าอภัยทศ แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ พ้องกับเจ้าฟ้าอภัย ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวท้าย-สระ ซึ่งมีชะตากรรมสุดท้าย ในช่วงผลัดแผ่นดินต้องพระราชอาญาสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์...

ไม่เป็นมงคล โปรดให้เปลี่ยนเป็นเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ ต่อมาปี พ.ศ. 2349 เป็นกรมขุนกษัตรานุชิต เมื่อทรงพระเจริญพระชันษา จึงโปรดพระราชทาน วังถนนหน้าพระลาน ด้านตะวันตกติดกับท่าช้างวังหลวง มีหลักฐานชี้ว่า ทรงเป็นหลานเธอที่ใกล้ชิดกับรัชกาลที่ 1 เมื่อคราวชะลอพระศรีศากยมุนีจากสุโขทัยมาไว้วัดสุทัศน์ กรุงเทพฯ กรมหลวงนรินทรเทวีได้ทรงจดไว้ว่า....


"ณ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ยกทรงเลื่อนชักตามทางสถลมารค พระโองการตรัสให้แต่งเครื่องนมัสการพระทุกน่าวัง น่าบ้านร้านตลาด ตลอดจนถึงที่ประชวรอยู่แล้ว แต่ทรงพระอุตสาห......เสด็จพระราชดำเนินตามกระบวนแห่พระ หาทรงฉลองพระบาทไม่ จนถึงพลับพลาเสด็จขึ้น เซพลาด เจ้าฟ้ากรมขุนกษัตราฯรับทรงพระองค์ไว้"


แม้มีพระนาม กรมขุน...แต่ไม่ปรากฏว่า ได้ทรงกรมมีบทบาทใด จนสิ้นรัชกาลที่ 1 ได้ 3 วัน ก็เกิดกรณี ที่เรียกว่า คดีเจ้าฟ้าเหม็นเป็นกบฏ ปรากฏพงศาวดาร ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ดังนี้


"ครั้นเดือน 10 ขึ้น 2 ค่ำ มีกาคาบหนังสือทิ้งที่ต้นแจง หน้าพระมหาปราสาท พระยาอนุชิตราชาเป็นผู้เก็บได้ อ่านดูได้ใจความว่า พระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์...เป็นบุตรพระเจ้ากรุงธนบุรี กับพี่น้องร่วมบิดา.....คบคิดกับขุนนางเป็นหลายนาย จะแย่งชิงเอาราชสมบัติ....โปรดให้ไต่สวนได้ความจริงแล้ว รุ่งขึ้น วันจันทร์ เดือน 10 ขึ้น 3 ค่ำ จึงให้นายเวรกรมพระตำรวจวัง ไปหากรมขุนกษัตรานุชิต เข้ามาที่ประตูพิมานไชยศรีสองชั้น...แล้วจับ....."


ชะตากรรมสุดท้าย...พระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ หรือเจ้าฟ้าเหม็น ก็เป็นเช่นเดียวกับเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ กรมขุนเสนาพิทักษ์ หรือเจ้าฟ้ากุ้ง โอรสพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ที่ทรงต้องหา เป็นชู้กับหม่อมสังวาลย์ พระสนมพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ถูกลงพระราชอาญา สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์

ปรามินทร์ เครือทอง สรุปว่า พระนามต่างๆของเจ้าฟ้าเหม็น ไม่มีพระนามใดเลยที่เป็นมงคล เหลือพระนามเดียว กรมขุนกษัตรานุชิต ซึ่งแปลว่ากษัตริย์ผู้มีชัย แต่ในชีวิตจริง ไม่ทรงมีทางเอาชนะอะไรได้...


"บาราย"

ไม่มีความคิดเห็น: