วันเสาร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

สื่อในแดนสนธยาของเสรีภาพแห่งการพูด-คิด-เขียน


“เสรีภาพในการพูด” (free speech) อันเป็นองค์ประกอบที่เป็นรากฐานของสังคมประชาธิปไตย กำลังถูกทำให้เป็นอาชญากรรมร้ายแรงในสังคมไทย และสื่อไทยกำลังเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญในการลากดึงให้สังคมนี้กลายเป็นแดนสนธยาของเสรีภาพ

ไม่ใช่แค่เสรีภาพในการพูด แต่แม้แต่เสรีภาพในความคิดและความเชื่อของบุคคลก็กำลังถูกห้าม

ทั้งๆ ที่สื่อไทยต้องการเสรีภาพในการพูด การเขียน การพิมพ์ ตลอดจนการป่าวประกาศให้สังคมเห็นพ้องต้องกัน

ยามถูกท้วงติง สื่อก็ออกมายอกย้อน กล่าวหา ป้ายยี่ห้อให้ผู้บังอาจแตะต้องเสรีภาพที่ถูกสถาปนาว่าเป็น “ฐานันดรที่สี่”

เมื่อใดก็ตามที่ถูกซักไซ้ วิพากษ์วิจารณ์ สื่อรู้สึกว่า
เสรีภาพสื่อกำลังถูกคุกคาม


สื่อรู้สึกถูกคุกคามเมื่อถูกถ่ายรูป

สื่อรู้สึกถูกคุกคามเมื่อถูกโต้ตอบด้วยท่าทีแบบเดียวกับที่กระทำกับผู้อื่น

สื่อไม่ต้องการให้ผู้ใดฟ้องด้วยเหตุจากการใช้เสรีภาพใน
การพูด การเขียน การป่าวประกาศของสื่อ


แต่เหตุใดสื่อส่วนใหญ่จึงทำให้เสรีภาพในการพูด และการคิดของนายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นอาชญากรรมร้ายแรง


กรณีการพูดของนายจักรภพ เพ็ญแข ที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศนั้น เป็นกิจกรรมปกติของสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ที่เป็นการเปิดพื้นที่เสรีภาพในการพูด การถกเถียงอย่างเสรี

การที่พรรคประชาธิปัตย์ขมักขะเม้นแปลความหาความผิดจากเสรีภาพในการพูดของนายจักรภพนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก นั่นเป็นวิถีทางการเมืองที่พรรคประชาธิปัตย์เลือกที่จะทำ ทุกคนมีเสรีภาพที่จะเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และอนาคตของพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นคำตอบในวิถีทางทางการเมืองแบบนี้เช่นกัน


แต่การที่สื่อเกือบทุกสำนักนำเสนอข่าว ราวกับว่านายจักรภพกระทำอาชญากรรมร้ายแรงนั้น เป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามถึงจุดยืนของสื่อต่อเสรีภาพต่างๆ ที่ร้องเรียกหากันมาโดยตลอด


สื่อยังต้องการให้สังคมนี้มีเสรีภาพในการพูดหรือไม่ ?

สื่อยังต้องการให้คนในสังคมนี้มีเสรีภาพในการคิดหรือไม่ ?

หากใครสักคนหรือหลายคนมีความเห็นแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ เขาจะได้รับอนุญาตให้เห็นต่างอย่างมีเสรีภาพหรือไม่ และสื่อจะยอมรับเสรีภาพที่เขาจะเห็นต่างหรือไม่ ?

หากใครสักคนหรือหลายคนมีความคิดต่อการยอมรับหรือไม่ยอมรับในจารีตใดที่แตกต่างไปจากคนส่วนใหญ่ เขามีเสรีภาพที่จะคิดหรือไม่ และสื่อจะยอมรับให้เขาคิดเช่นนั้นหรือไม่ ?


เนื้อหาในคำพูดของนายจักรภพจะละเมิดกฎหมายใด อย่างไร หรือไม่นั้น เป็นหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรม

แต่หน้าที่ของสื่อนั้น
ต้องยืนยันเสรีภาพในการพูด คิด เขียน ของบุคคลทุกคน

แทนที่จะลุกไล่ราวกับว่าการพูด
การคิดที่แตกต่างไปจากประเพณีปฏิบัติของสังคมนั้นเป็นอาชญากรรม

เว้นเสียแต่ว่า สื่อไม่ต้องการเสรีภาพใน

การพูด คิด เขียน ในสังคมนี้อีกต่อไป


สุภัตรา ภูมิประภาส


อ่านเพิ่มเติม
บทความอื่นๆ ใน Silence of the Lamp


ที่มา : ข่าวประชาไท : Silence of the Lamp: สื่อในแดนสนธยาของเสรีภาพแห่งการพูด-คิด-เขียน

หมายเหตุ
การเน้นข้อความบางส่วนทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

การอ้าง "ประชาธิปไตย" เป็นจริยธรรมพื้นฐานไปแล้ว?


ฝ่ายที่รุมยำจักรภพนั้น ชอบอ้างตลอดว่า ปกป้อง "ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" เลยคิดขึ้นได้ว่า ทำไมพวกเขาต้องอ้างคำนี้ตลอด ทั้งๆที่เนื้อหาสาระแท้จริงที่ออกมาเล่นนั้น คือ เรื่องสถาบันกษัตริย์

ทำไมไม่บอกไปตรงๆว่า กูปกป้องกษัตริย์

ทำไมต้อง "หนีบ" คำว่า "ประชาธิปไตย" ไปด้วยทุกครั้ง

ตกลง คำว่า "ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" ความสำคัญมันไปอยู่ที่ส่วนหลังใช่มั้ย กลายเป็นว่า "อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" เป็น คำนาม และ "ประชาธิปไตย" เป็น คุณศัพท์

สิ่งที่ฝ่ายต้านจักรภพออกมาเล่นนั้น คือ ปกป้องกษัตริย์ ก็บอกไปเลยว่า กูจะปกป้องกษัตริย์ ไม่ต้องเอาคำว่าประชาธิปไตยไปอ้าง เพราะ ถ้าอ้างประชาธิปไตยไปด้วย ก็ต้องยอมรับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของจักรภพ

เห็นการเคลื่อนไหวของการชุมนุมแต่ละครั้ง มักอ้าง "ประชาธิปไตย" เสมอ แม้เนื้อหาจะไม่ใช่ก็ตาม ปรากฏการณ์นี้พิสูจน์ให้เห็นว่า การอ้าง "ประชาธิปไตย" เป็นจริยธรรมพื้นฐานของนักปฎิบัติการทางการเมือง (หมายถึงนักปฏิบัติการทางการเมืองทุกระดับนะครับ ทั้ง "ใน" และ "นอก" รธน) ไปแล้ว

เพียงแต่ว่าเมื่ออ้าง "ประชาธิปไตย" ก็จะมีบทขยายความออกไปว่า รายละเอียด "ประชาธิปไตย" ของฉัน ไม่เหมือนคนอื่น

ภารกิจของพวกเรา คือ ต้องช่วยกันเผยแพร่คุณค่าและเนื้อหาอันเป็น "สากล ทั่วไป ขั้นต่ำ" ของประชาธิปไตย คือ ไม่ว่า จะอยู่ที่ไหนในโลก หากเอาประชาธิปไตยไปใช้-ไปอ้างแล้ว ต้องมีมาตรฐานขั้นต่ำอย่างไรบ้าง เช่น


เลือกตั้ง

ผู้ใช้อำนาจมหาชนทั้งหลายต้องมีความรับผิดชอบ

รับรองสิทธิและเสรีภาพ

มีขันติธรรม ในการยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง

เปิดโอกาสให้มีการถกเถียง แลกเปลี่ยนความเห็น
อย่างกว้างขวาง และ เสรี

เป็นต้น


ความสากล-ทั่วไป-มาตรฐานขั้นต่ำ ของประชาธิปไตย ไม่ใช่ เรื่อง "ของนอก" หรือ "ของไทย" ไม่ใช่เรื่อง อย่าไปสนใจเลย ของเรา"วิเศษกว่าของคนอื่น" แต่เป็นคุณค่าพื้นฐานและความซื่อตรงทางความคิด ความเชื่อ ความฝัน

หากคุณ อ้าง ยอมรับ (แม้กระทั่งต้องยอมรับแบบฝืนใจ) ในประชาธิปไตยแล้ว ก็จำเป็นต้องมีเนื้อหาสาระขั้นต่ำดังว่า หากบอกว่ามีรายละเอียดปลีกย่อยจนทำลายเนื้อหาขั้นต่ำของประชาธิปไตยไป ก็ขอจงอย่าใช้คำว่าประชาธิปไตยเลย


ป.ล. ตอนนี้กำลังเขียนเรื่อง ประชาธิปไตยขั้นต่ำอยู่ เก็บความจากบทความเรื่อง "อนาคตของประชาธิปไตย" ของ นอเบอร์โต้ บ๊อบบิโอ


ปิยบุตร


ที่มา : เวบบอร์ด "ฟ้าเดียวกัน" : การอ้าง "ประชาธิปไตย" เป็นจริยธรรมพื้นฐานไปแล้ว?

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำไปตามความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

วันศุกร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

เวลาพวกคุณบอกว่า "ไปให้พ้นการเมืองแบบ 2 ขั้ว" ช่วยกรุณา บอกให้ชัดๆหน่อยว่า "อีกขั้ว" คือใคร?


เมื่อ 2 ปีก่อน เวลา ปัญญาชน นักวิชาการ แอ๊คติวิสต์ ออกแถลงการณ์ซ้ำๆ ไล่ให้ทักษิณออกไป โจมตีการเลือกตั้ง 2 เมษา ว่า เป็นการ "ฟอกตัว" (ราวกับ ประชาชนโง่เง่า ยอมให้นักการเมืองเปลี่ยนเป็นผงซักฟอกได้ง่ายๆ - ช่างคิดเหมือนพวกผู้ดีจริงๆ)

แล้วปากก็ตะโกนว่า "เราไม่เอาทั้ง 2 ขั้ว" ฯลฯ

"ขั้วหนึ่ง" คือ ทักษิณ หรือที่พวกคุณเรียกตอนนั้นว่า "ระบอบทักษิณ" อันนี้ใครๆก็รู้กันทั่วเมือง เพราะพวกคุณเอาแต่ออกแถลงการณ์ซ้ำๆ "ทักษิณขาดความชอบธรรม ขาดคุณธรรม..." บลาๆๆ


แต่เวลา xxx ออกมาแทรกแซงในลักษณะสนับสนุน "อีกขั้ว" จริงๆ

มีใครสามารถ ออกแถลงการณ์ ประเภท
"xxx กรุณาหยุดแทรกแซงทางการเมือง" ได้หรือ?

เวลา xxx แสดงบทบาท ทำให้เกิดการยึดอำนาจ 19 กันยา ได้

มีใครสามารถ ออกแถลงการณ์ ประณาม ได้หรือ?


บทเรียนนี้ ผ่านไป 2 ปี ปัญญาชน แอ๊กติวิสต์ "2 ไม่เอา" ก็ไม่เคยยอมจำ

ความจริงคือ การ "ไม่เอาทั้ง 2 ขั้ว" ของพวกคุณ เป็นการ "ไม่เอาทั้ง 2 ขั้ว" แบบปลอมๆ เป็นการ "ไม่เอาขั้วเดียว" จริงๆ หรือ หนุนช่วยการ "ไม่เอาขั้วเดียว" จริงๆ

ในขณะนี้ "ขั้ว" ที่คุณกำลังออกแถลงการณ์วิจารณ์ ใครๆก็รู้ ว่าคือใคร : ทักษิณ-สมัคร-พปช. แต่ขอถามแบบท้าทายว่าลองบอกมาหน่อยว่า "อีกขั้ว" ที่พวกคุณอ้างว่า "ไม่เอาเช่นกัน" น่ะใคร?"

พันธมิตร" น่ะหรือ?

ถ้าระดับปัญญาชนใหญ่ๆ ไม่รู้ว่า "พันธมิตร" จริงๆ เป็นเพียง "ตัวกระจอก"ก็เลิกเป็นปัญญาชนดีกว่า


อันที่จริง อย่าว่าแต่ "พันธมิตร" เลย แม้แต่ ปชป.เอง ถ้าลำพัง สู้เฉพาะ พรรคการเมือง ต่อ พรรคการเมือง มีน้ำยาจะสู้กับ "ขั้วทักษิณ" ได้หรือ?

ระดับปัญญาชนใหญ่ๆ จะต้องรู้แน่ๆว่า "อีกขั้ว" ไม่ใช่ เฉพาะ "พันธมิตร" หรือ "ปชป." ด้วยซ้ำแต่ที่ "อีกขั้ว" มี "อำนาจกดดัน" พรรคเสียงข้างมาก ได้ขนาดนี้


ก็เพราะ "อีกขั้ว" มี "อำนาจมืด" ที่คอย "คุมเชิง" คอย "หนุนหลัง" อยู่ มาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา

"อำนาจมืด" เช่นนี้แหละ ที่ยึดอำนาจไปครั้งหนึ่งแล้ว และไม่เคยได้รับการลงโทษใดๆ

(ซึ่ง ปัญญาชน ผู้สูงส่งของเรา ก็ไม่เคยแสดงความกล้าหาญเรียกร้องให้ลงโทษ "อีกขั้ว" นี้เลย แต่กลับกลัวเสียเหลือเกินว่า ทักษิณ จะ "หลุดจากกระบวนการยุติธรรม" ฯลฯ)


พวกคุณประกาศ "ไม่เอาทั้ง 2 ขั้ว" ตอนนี้

วันดีคืนดี ถ้า xxx ออกมาแทรกแซงทางการเมือง ในลักษณะเข้าข้าง "อีกขั้ว" เหมือนเมื่อ 2 ปีที่แล้วอีก


พวกคุณมีน้ำยา ออกมาแถลงประณามหรือ?


ในความเป็นจริง เช่นเดียวกับเมื่อ 2 ปีก่อนเวลาพวกคุณออกมา ประกาศ "ไม่เอาทั้ง 2 ขั้ว"แต่ไม่สามารถแม้แต่จะ identify ว่า "อีกขั้ว" มี "ใครบ้าง" ได้จริงๆผลทางปฏิบัติคือ พวกคุณมีแต่ ช่วย "อีกขั้ว" กดดัน "ขั้วทักษิณ" ที่พวกคุณ กล่าวหาได้สบายๆด้วยคำประเภท : "ไม่ยอมฟังคำท้วงติงของคนอื่น" เท่านั้น

ที่ xxx ไม่เคยยอมฟัง "คำท้วงติง" เลย
แต่แทรกแซงการเมือง ช่วยเหลือ "อีกขั้ว" ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา


พวกคุณ เอาหัวไปมุดที่ไหนไม่ทราบ?

เมื่อไรจะเลิกโกหกตัวเอง โกหก "สังคม" เสียที?


ปล.
ทำไม "ขั้วทักษิณ" คือ ตัวทักษิณ เองนั่นแหละ "ไม่กล้า" ที่จะ "ชน" หรือ "สู้" กับ สิ่งที่เรียกว่า "ตุลาการภิวัฒน์" ตรงๆ?

ระดับปัญญาชนนักวิชาการใหญ่ๆ ไม่รู้เลยหรือ?

ไหน การไม่เอา "อีกขั้ว" ของพวกคุณ?

แน่จริง ออกมา "วิพากษ์ ตุลาการภิวัฒน์" และ "เบื้องหลัง" ของ "ตุลาภิวัฒน์" สิถึงจะอ้างว่า "ไม่เอา 2 ขั้ว" จริงๆ

(ไมใช่เฉพาะกรณีนิติรัตน์ นะ ที่ทำให้ "แถลงการณ์ " ที่อ้างว่า "ไม่เอา 2 ขั้ว" ฉบับนี้ เป็น "โจ๊ก" คนอย่าง วรศักดิ์, วีระ นี่นะหรือ "ไม่เอา 2 ขั้ว"?? ไม่ต้องพูดถึง เกษียร และอีกหลายคน (ศรีประภา เป็นต้น)ถึงบรรดาคนที่เซ็นๆทั้งหลาย เวลาเซ็นน่ะ คิดเรื่องนี้บ้างไหม?)

เป็น "โจ๊ก" ประเภท "ห่วยแตก" เหมือนเมื่อไม่นานมานี้ที่มีการสัมมนาทีจุฬาแล้วคนอย่าง โคทม, สมชาย, อังคณา ออกมาพูด "เรียกร้องความเห็นใจ" ว่า "เราถูกบีบให้เลือกข้าง เราอยากอยู่ตรงกลางแบบประชาชนธรรมดา..."นี่เป็นคำพูดจริงๆ ของอังคณา

พูด โดย หน้าไม่แดง ด้วยครับ!

เหมือนแถลงการณ์ฉบับนี้แหละ


สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล


ที่มา : บอร์ด "ฟ้าเดียวกัน" : เวลาพวกคุณบอกว่า "ไปให้พ้นการเมืองแบบ 2 ขั้ว" ช่วยกรุณา บอกให้ชัดๆหน่อยว่า "อีกขั้ว" คือใคร?


เพิ่มเติมข้อมูล :

ข่าวประชาไท : แถลงการณ์ 137 นักวิชาการ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ไปให้พ้นการเมืองแบบ 2ขั้ว

จักรภพ เพ็ญแข จำเลยสังคม ‘อุลตร้ารอยัลลิสต์’


การลาออกของนายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ณ เที่ยงวันศุกร์ที่ 30 พ.ค. เป็นชัยชนะของสื่อและบรรดานักการเมืองที่อนุรักษ์นิยม คลั่งสถาบันกษัตริย์สุดโต่ง (ultra royalist) และเป็นการตอกย้ำสร้างบรรทัดฐานผิดๆ ที่ทำให้การแสดงความเห็นที่แตกต่างหรือเท่าทันสถาบันกลายเป็นอาชญากรรมทางสังคม

หากบรรดาคนสุดโต่งเหล่านี้กระทำได้มากกว่านี้ พวกเขาก็คงจะบังคับออกกฎหมายให้มีการฝังเครื่องอ่านความคิดในสมองคนไทยทุกคน ตั้งแต่แรกเกิด เพื่อที่ว่า หากใครก็ตาม คิดตั้งคำถามหรือคิดเท่าทันต่อสถาบันก็จะเกิดสัญญาณส่งไป ณ ศูนย์ดูแลความมั่นคงภายใน เพื่อที่ทางการจะได้มารวบตัวไปเข้าตะรางอย่างทันควัน และทำให้การคิดเช่นนั้น กลายเป็นอาชญากรรมโดยทันที

หรือหากทำได้มากกว่านี้ คงจับคนไทยทุกคนเข้าผ่าตัดเอาสมองบางส่วนออก เพื่อจะได้ไม่มีใครสามารถตั้งคำถามหรือวิพากษ์สถาบันกษัตริย์ คงเหลือเพียงสมองส่วนที่พูดประจบ เทิดทูนสุดๆ (ไม่ว่าจะด้วยความจริงใจหรือไม่ก็ตาม) แต่เพียงถ่ายเดียว

“ทัศนคติอันตราย” ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวถึง (ดูข่าวไทยรัฐหน้า 1 เรื่อง “อภิสิทธิ์ถึงช็อกทัศนคติจักรภพ” ฉบับวันที่ 29 พ.ค. 51) ที่แท้จริงแล้ว หาใช่ความคิดของนายจักรภพที่แสดงในที่สาธารณะและสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ หากเป็นความคิดของคนอย่างนายอภิสิทธิ์และสื่อจำนวนมาก ที่ทำให้การตั้งข้อสังเกตและตั้งคำถามต่อสถาบันกลายเป็นอาชญากรรมทางสังคม ก่อนที่ศาลจะได้ตัดสินเสียอีก นี่แหละคือทัศนคติอันตรายที่แท้จริง เพราะเป็นความคิดเผด็จการที่ไม่ยอมรับการตั้งข้อสังเกตและตั้งคำถามต่อบทบาทของสถาบันฯ ต่อการเมืองไทย ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้คนจำนวนมากก็รู้ว่ามีคนจำนวนไม่น้อยตั้งคำถามและข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันฯ กับการเมืองและอนาคตประชาธิปไตยไทย เพียงแต่คนส่วนใหญ่มิกล้าแสดงออกในที่สาธารณะ

และผู้เขียนเชื่อว่าหลายคนที่ยัดเยียดข้อหานี้ให้แก่นายจักรภพ ซึ่งรวมถึงสื่อและนักการเมือง ก็คงคิดอย่างเท่าทันต่อสถาบันฯ ในที่ลับด้วยซ้ำไป เพียงแต่ไม่กล้ายอมรับหรือพูดในที่สาธารณะ หากชอบประจบประแจงเทิดทูนอย่างเกินพอเพียง เวลาอยู่ต่อหน้าสาธารณะ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นการตอกย้ำสร้างบรรยากาศ
แห่งความกลัวทางความคิดและการแสดงออก

คนพวกที่สนับสนุนการไล่ล่าจำเลยทางสังคมเช่นนี้คงจะบอกว่า พวกคุณไม่ต้องกลัวหรอก ตราบใดที่พวกคุณคิดเหมือนพวกเรา หรือคิดตามพวกเรา

อย่างไรก็ตาม ผลของการกระทำเช่นนี้ จะทำให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมที่อ่อนเปลี้ยทางสติปัญญาและทางความคิด เต็มไปด้วยคำประจบเกินพอเพียง หรือแม้กระทั่งคำประจบแบบสุดโลกและพร่ำเพรื่อต่อสถาบันกษัตริย์ คนไทยจำนวนมาก อาจมองว่ากษัตริย์เป็นพ่อหลวงหรือดุจบิดาแห่งแผ่นดิน แต่การพร่ำพูดแต่คำประจบเทิดทูนอย่างสุดโต่ง มาพร้อมกับการปกป้องประคบประหงมสถาบันฯ อย่างไม่รู้จบ จนใครพูดอะไร เขียนอะไรเชิงวิพากษ์ไม่ได้ จึงอยากถามว่า การปฎิบัติเช่นนี้เป็นผลดีต่อสังคมไทยในระยะยาวหรือ

หากใครเห็นดีกับคุกทางความคิดและจิตสำนึกก็ขอให้ปรบมือดังๆ ให้กับสื่อไทยและนักการเมืองอย่างนายอภิสิทธิ์ ที่ทำให้เมืองไทยมีสภาพเหมือนประเทศเกาหลีเหนือมากขึ้นทุกที (หรืออาจจะมากกว่าไปแล้วก็ได้) แต่หากท่านไม่พอใจก็ขอให้ออกมาปฎิเสธการยัดเยียดคุกทางความคิดอย่างสันติและแน่วแน่ ด้วยวิธีที่แต่ละคนพึงกระทำได้ แต่โปรดสำเหนียกด้วยว่า หากสังคมยังไม่เปลี่ยนไปในทางที่มีเสรีภาพมากขึ้น คุณก็อาจจะไม่มีโอกาสเป็นรัฐมนตรี หรือหากเป็นได้ก็จะมีจุดจบอย่างนายจักรภพ เพ็ญแข


ประวิตร โรจนพฤกษ์


ที่มา : ข่าวประชาไท : บทความประวิตร โรจนพฤกษ์: จักรภพ เพ็ญแข จำเลยสังคม ‘อุลตร้ารอยัลลิสต์’

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

วันจันทร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

"การต่อสู้ทางความคิด" กับ "การใช้วิธีการทางกายภาพ" สองความคิดสองแนวทาง


เรียน คุณสุชาติ นาคบางไทร และ
ผู้แอนตี้พันธมิตรทุกท่าน


ผมขอเสนอให้คุณสุชาติและท่านอื่นๆ ช่วยคิดและอภิปราย ดังนี้

1.
การต่อสู้ทางความคิด และทางการเมือง ต้องเอาชนะกันด้วยความคิดและการเมือง คือ ใครมีความคิดดีกว่า มีข้อเสนอ (นโยบาย ฯลฯ) ที่ดีกว่า

การใช้วิธีการ "ทางกายภาพ" (physical) ไม่ว่า จะระดับต่ำ คือ ตั้งม้อบเผชิญม้อบ ไปจนถึงระดับใช้กำลังเข้าห่ำหั่นกัน ไม่เกิดประโยชน์อันใด และยังสร้างความเสียหายให้แก่การต่อสู้ทางความคิด และทางการเมืองด้วย

ถึงจะ "สำเร็จ" ตั้งแต่ระดับ "ป่วน" ทำให้อีกฝ่าย "เสียขบวน" ไปจนถึง "ตีให้ขบวนอีกฝ่ายแตกกระจาย" แต่ความเป็นจริงแล้ว เป็นการ "แพ้" คือ "เสียการเมือง" (หรืออย่างน้อย ก็ "ไม่ได้อะไรทางการเมือง") เพราะเป็นการแสดงให้เห็นว่า คุณไม่สามารถมี ความคิด หรือ ข้อเสนอ อะไรที่ดีกว่า อีกฝ่ายหนึ่งได้ จึงต้องหันไปใช้กายภาพแทน


2.
การต่อสู้ทางความคิด และทางการเมือง ถึงที่สุดแล้ว ไม่ใช่เพียง การต่อสู้ระหว่าง "ขบวนของเรา" กับ "ขบวนของอีกฝ่าย" แต่เป็นการต่อสู้ เพื่อ "แย่งชิง คนที่อยู่ตรงกลาง" การใช้วิธีการทางกายภาพ มีแต่จะทำให้ "คนที่อยู่ตรงกลาง" ไม่พอใจกับ "ขบวนของเรา" มากกว่าจะสนับสนุน


3.
พูดอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น - และนี่เป็นประเด็นที่ผมอยากแลกเปลี่ยน กับคนส่วนใหญ่ที่เขี่ยนในบอร์ดนี้ (ซึ่งแอนตี้พันธมิตร เชียร์ทักษิณ) มานาน คือ

ผมเห็นว่า จุดอ่อนที่สำคัญมากมาโดยตลอดของฝ่ายทักษิณ รวมทั้ง ในช่วงวิกฤติที่นำไปสู่การรัฐประหาร 19 กันยา คือ การต่อสู้เพื่อ "ช่วงชิง" คนที่ปัจจุบันเรียกกันว่า "คนชั้นกลาง" ในเมือง โดยเฉพาะในกรุงเทพ

ผมคิดว่า การที่ "คนกรุงเทพ" ส่วนใหญ่ มีแนวโน้มไปในทางสนับสนุนพันธมิตร ก่อน 19 กันยา หรือ แม้ในปัจจุบัน มีแนวโน้มไปในทางแอนตี้รัฐบาลเลือกตั้ง และสนับสนุน "อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ" ส่วนหนึ่ง เพราะ "การทำงานการเมือง" ที่ไม่ดี หรือผิดพลาด ของฝ่ายทีเชียร์รัฐบาลเองด้วย

การเอาแต่โจมตี และโทษ "สื่อมวลชน" อย่างเดียว ผมไม่คิดว่า เป็นเรื่องถูกต้อง ที่ถูกคือ ต้องทั้งโจมตี (วิพากษ์) และ พยายาม "เอาชนะ" ด้วยเหตุด้วยผลด้วย

การเขียนโจมตี ในลักษณะ "เอามันส์" อย่างเดียว ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร


ที่สำคัญที่สุด ผมขอเรียกร้อง และขอเสนอให้ช่วยกันเรียกร้อง ให้ยุติ การใช้วิธีการทางกายภาพทั้งหมดทันที ตั้งแต่นี้ไป


สมศักดิ เจียมธีรสกุล


+*+*+*+*+*+*+*+*+*+*+*+


เรียนอาจารย์สมศักดิ์ครับ


ผมว่าการต่อสู้มันมีทั้งสองระดับคือ ระดับปรัชญาแนวคิดและระดับกายภาพครับ การต่อสู้ระดับปรัชญาแม้จะชนะ แต่ฝ่ายตรงข้ามก็แค่เงียบไป และหันไปใช้กำลัง สุดท้ายก็ต้องปะทะกันด้วย Physical อยู่ดี

ตัวอย่างชัดเจนคือ สงครามกลางเมืองอเมริกันครับ การถกปรัชญาการเอามนุษย์มาเป็นทาส กับเคารพความเป็นมนุษย์ ผมว่าถกอย่างไร การเอามนุษย์มาเป็นทาสก็แพ้ แต่มันก็ไม่สามารถยุติสงครามได้ เพราะฝ่ายที่แพ้ เขาก็ไม่คิดว่าเขาแพ้ สุดท้ายก็ต้องตัดสินกันด้วยกำลัง

ผมคิดว่า มนุษย์มี Basic Value Judgement ที่แตกต่างกันครับ ความเชื่อพื้นฐานที่แตกต่างกัน ไม่มีทางที่จะถกกันได้ในระดับแนวคิดว่าของใครถูกต้อง เช่น ความเชื่อเรื่องพระเจ้า กับไม่มีพระเจ้า การต่อสู้ทางความคิดตัดสินไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องใช้กำลัง

ผมจึงคิดว่าการต่อสู้นั้น จึงมีทั้งทางกายภาพ และทางด้านระดับแนวคิด

หากชนะในระดับแนวคิด ก็จะทำให้ความเข็มแข็งทางกายภาพดีขึ้น มีขวัญกำลังใจมากขึ้น ทหารที่มีขวัญและกำลังใจดี จึงจะชนะสงครามทางกายภาพที่จะเป็นตัวตัดสินแพ้ชนะในขั้นสุดท้าย

ต้องเอาชนะแนวคิด ก่อนจึงจะชนะสงคราม แต่เอาชนะทางแนวคิดอย่างเดียวไม่มีทางเอาชนะสงครามได้ หากไม่มีพลังทางกายภาพที่เข็มแข็ง

อาจารย์คิดว่า แม้อิรักจะถกชนะอเมริกันทางด้านแนวคิด อเมริกันจะยอมหรือไม่ที่จะไม่ใช้กำลัง

ผมจึงไม่ดูเบา ทั้งการต่อสู้ทางด้านแนวคิด และกายภาพครับ มันเป็นส่วนประกอบของกันและกัน มันขึ้นอยู่กับว่า เราต่อสู้กับใครเท่านั้นครับ

หากเราต่อสู้กันในวงการสัมมนาของปัญญาชนแน่นอนการใช้กำลังย่อมไม่มีประโยชน์ แต่หากเราต่อสู้กับคนป่าเถื่อน การใช้ปรัชญาก็ไม่มีประโยชน์ครับ

เครื่องมือของการต่อสู้ ทั้งสองชนิดนี้ไม่อาจแยกออกจากกันได้


เรื่องช่วงชิงคน ผมว่าไม่สำคัญเท่าไหร่แล้วครับ ตอนนี้คนเมืองได้ตัดสินไปแล้วว่าเข้าข้างพันธมิตร ดูจากผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ใน กทม. ก็จะเห็นว่า คนกรุงเทพฯ และคนชั้นกลางส่วนใหญ่สนับสนุนพันธมิตร และ ปชป.

ส่วนคนชั้นล่างและคนชนบทสนับสนุนพรรค พปช.

สถานการณ์ตอนนี้ไม่มีคน "อยู่ตรงกลาง" ที่มีมวลมากพอที่จะทำให้ "ผลการเลือกข้างของทั้งสองฝ่ายเปลี่ยนแปลงได้แล้วครับ

คนที่อยู่ตรงกลางจึงมีจำนวนเพียงน้อยนิด และไม่มีประโยชน์ที่จะเสียเวลาเอามาเป็นพวก และก็เสียเวลาอีกเช่นกันที่จะไปสนใจคน กรุงเทพฯ และคนชั้นกลางว่าจะคิดอย่างไร

พวกเขาก็มีแค่หนึ่งเสียง เหมือนคนชนบท ดังนั้นน้ำหนักในตอนเลือกตั้งจึงไม่มีความหมาย

และคนชั้นกลาง ที่ไปสนับสนุนการทำรัฐประหาร ทำไมจึงไม่คิดว่าพวกเขาผิดพลาด และทำไมต้องสนใจ คนที่สนับสนุนเผด็จการพวกนี้ด้วย

ไม่มีพรรคการเมืองใด หรือกลุ่มการเมืองใด ที่จะมีนโยบายที่ดีพอ ที่จะดึงคนสองกลุ่มที่มีแนวความคิดตรงกันข้ามกันอย่างชัดเจนให้มาสนับสนุนพรรคเดียวกันได้

พรรคพลังประชาชน ไม่มีทางผลิตชุดนโยบายที่ ดึงดูดคนชั้นกลาง และคนชนบทในเวลาเดียวกันได้

พรรคประชาธิปัตย์ก็เช่นกัน ไม่มีทางที่จะ "ชุดนโยบาย" ที่คนชนบทและคนชั้นกลางสนับสนุนพร้อมกันได้

ดังนั้น ความขัดแย้งครั้งนี้มันจึงต้องไปถึงจุดสิ้นสุดที่ว่า การดันทุรังไม่ยอมรับเสียงส่วนใหญ่นั้นมันไม่มีทางออก

คนที่ดื้อ ไร้เหตุผลในความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้ไม่ใช่ คนชนบท แต่เป็นนักวิชาการ คนชั้นนำ และคนชั้นกลางในเมือง

สุดท้ายพวกเขาจะเรียนรู้เองว่า การดันทุรัง ไม่มีทางที่จะยุติความขัดแย้งได้ การถกปรัชญาจะไม่นำไปสู่จุดนั้นได้ มันต้องถึงจุดที่ไม่มีทางไป เช่น ทำรัฐประหารก็แล้ว เดินขบวนนองเลือดก็แล้ว

เมื่อไม่มีทางออก พวกเขาจะหันกลับมาสู่หนทางที่ถูกต้องเอง


ลูกชาวนาไทย


ที่มา : บอร์ด "ประชาไท" : เรียน คุณสุชาติ นาคบางไทร และผู้แอนตี้พันธมิตรทุกท่าน

ประชาธิปัตย์ : อีกปัจจัยหนึ่งของปัญหาการเมืองปัจจุบัน


เมื่อวานผมได้นำเสนอ ข้อวิจารณ์พรรครัฐบาล ซึ่งก็คือพรรคพลังประชาชนไปแล้ว

สถานภาพจักรภพอาจมีปัญหา, กระทู้วิจารณ์ พปช.

วันนี้ผมขอเสนอข้อวิจารณ์ของพรรคฝ่ายค้านบ้าง

ความจริงถ้ายึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย แบบ Constitutional Monarchy (ขออนุญาตใช้ภาษาอังกฤษ เพราะถ้าผมแปลตามแบบคณะราษฎร Limited Monarchy ไม่แปลตามแบบนิยมในปัจจุบัน อาจมีปัญหากับชีวิตได้) ซึ่งกำหนดให้มีระบบการเมืองแบบรัฐสภา ก็ควรจะมีพรรคการเมืองหลายพรรคนำเสนอแนวทางการเมืองที่แตกต่างกันให้กับประชาชน

พูดง่ายๆว่า ระบบการเมืองแบบรัฐสภาควรจะมีพรรคการเมืองอย่างน้อยก็สองพรรคขึ้นไป ในเมืองไทยก็คงเป็นพรรคพลังประชาชน และพรรคประชาธิปัตย์นี่แหละ

สมัยพรรคประชาธิปัตย์เปลี่ยนแปลงผู้นำ จากบัญญัติมาเป็นอภิสิทธิ์ นี่ผมจำได้ว่าผมก็รู้สึกยินดีเล็กๆนะครับ เพราะเชื่อว่าคนอย่างอภิสิทธิ์ซึ่งเป็นคนหนุ่ม คงจะนำความคิดใหม่ๆมาให้ประชาธิปัตย์ (จำได้ว่าตอนไทยรักไทยได้คะแนนเสียงถล่มทลาย ผมยังเคยเขียนบทความทำนองให้กำลังใจและให้ปรับปรุงพรรค)

แต่ระยะเวลาตั้งแต่ 2548 เป็นต้นมา ผมรู้สึกผิดหวังกับพรรคนี้มากๆ

ไม่คิดว่าคนหนุ่มอย่างอภิสิทธิ์
กลับทำงานการเมืองแบบล้าหลัง และอนุรักษ์นิยม

ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอ นายกรัฐมนตรีพระราชทาน, การไม่ประณามการรัฐประหาร, ด่านโยบายประชานิยม (แต่ตัวเองก็นำเสนอเสียเอง โดยรีแบรนด์เป็นชื่ออื่น) หรือล่าสุด ให้คนอย่างเทพไท ออกมาฟ้องร้อง 29 เว็บไซต์ว่าหมิ่นฯ ซึ่ง

ผมไม่คิดว่าประชาธิปัตยจะตกต่ำได้ถึงเพียงนี้

ผมรู้สึกผิดหวัง และหงุดหงิดพรรคการเมืองพรรคนี้ได้ จนรู้สึกไม่อยากพูดถึง คิดแค่ว่าถ้ายังทำงานการเมืองแบบนี้ ก็คงรอวันล่มสลาย และเมืองไทยก็คงมีพรรคการเมืองอยู่เพียงพรรคเดียวนั่นแหละ

(แต่ผมก็ไม่รู้ว่า คนภาคใต้กลุ่มใหญ่ เขาจะเลิกเลือกพรรคการเมืองพรรคนี้หรือเปล่า)

พอเมื่อวานได้อ่านบทวิจารณ์พรรคประชาธิปัตย์ จากวีรพงษ์ รามางกูร ที่เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ ก็รู้สึกว่าพูดได้ตรงใจ (บางส่วน -- ซึ่งผมจะพูดต่อไป)

ประชาธิปัตย์ต้องการปฏิรูป : วีรพงษ์ รามางกูร

ผมก็ขอยืมข้อวิจารณ์คุณวีรพงษ์นี่แหละ มาวิจารณ์พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าพรรคจะปรับตัวตามข้อวิจารณ์นี้หรือเปล่า

ข้อวิจารณ์ของวีรพงษ์ชี้ว่า ปัญหาหลักของประชาธิปัตย์ ก็คือปัญหาเรื่องวัฒนธรรมองค์กร ที่เป็นแบบอนุรักษ์นิยม จนกระทั่งกลืนคนรุ่นใหม่ที่เข้าพรรคไปเสียสิ้น

ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อให้เปลี่ยนตัวผู้นำจากอภิรักษ์เป็นคนอื่น (say กร จาติกวณิช) ก็ใช่ว่าประชาธิปัตย์จะเปลี่ยนแปลงได้ง่ายๆ

แต่ส่วนที่ผมยังเห็นต่างจากวีรพงษ์คือ ปัญหาการเมืองไทยปัจจุบัน ไม่ได้เกิดขึ้น เพราะปัญหาจากการ ไม่ยอมปฏิรูปของประชาธิปัตย์เพียงอย่างเดียว

มันยังมีปัญหาเรื่อง การแทรกแซงการเมืองของอำนาจบางอย่างนอกรัฐสภา ซึ่งประชาธิปัตย์ก็เข้าใจพลังการเมืองแบบนี้ดี และยังอาศัยประโยชน์ซึ่งกันและกันด้วย


ปัญหาวัฒนธรรมองค์กร แบบอนุรักษ์นิยม
จึงไม่ได้เกิดแต่เพียงพรรคประชาธิปัตย์

แต่เกิดขึ้นในระดับประเทศด้วย


สหายสิกขา


ที่มา : บอร์ด "ฟ้าเดียวกัน" : ประชาธิปัตย์ : อีกปัจจัยหนึ่งของปัญหาการเมืองปัจจุบัน


เพิ่มเติม..

ร่วมรำลึกประวัติศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์ :

"สามล้อไม่ให้ขี่ กระหรี่ไม่ให้ขึ้นห้อง"

เก็บตกบทสัมภาษณ์ ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์


โดย : เซียงหยาง


วันนี้ผมจัดชั้นหนังสือเลยบังเอิญไปพลิกๆ ดู GM ฉบับครบรอบยี่สิบปี (เล่มนี้ผมชอบมาก เพราะเป็นเล่มรวมบทสัมภาษณ์ดีๆจากหลายเล่ม)พอดีเจอบทสัมภาษณ์ชิ้นหนี่ง ซึ่งคิดว่าน่าจะเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างดี จึงขอคัดลอกมาบางส่วน เพื่อให้เพื่อนๆทั้งหลาย ได้มีโอกาสร่วมรำลึกประวัติศาสตร์ของพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมกัน ว่าครั้งหนึ่งเคยมีคนให้สมญา"สถาบันการเมือง"แห่งนี้ว่าอย่างไร และเมื่อผ่านไปหลายสิบปี สถาบันการเมืองแห่งนี้ จะยังอนุรักษ์ตัวตนความเป็นประชาํธิปัตย์ไว้ได้เหนียวแน่นขนาดไหน


หัวเรื่อง: ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ คมคิดของนักเขียน


คำโปรย: เขาเป็นนักหนังสือพิมพ์รุ่นเก่า ที่เคยเปรียบเทียบตัวเองว่ายอมเป็นไดโนเสาร์ตัวสุดท้ายที่เหลืออยู่ ดีกว่าจะยอมวิวัฒนาการไปเป็น"เหี้ย" ชีวิตการทำงานในวงการน้ำหมึกของเขา เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อยังเรียนชั้นมัธยมด้วยซ้ำ จนก้าวจากการเป็นนักข่าวเต็มตัวและขึ้นมาสู่ตำแหน่งรองผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์รายวันตั้งแต่อายุเพียง 19 ปี ประวัติการทำงานของเขาดำเนินมาควบคู่กับประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองของไทย ไล่จาก "อาทิตย์รายวัน" เปลี่ยนเป็น "มาตุภูมิ" มาสู่ "สยามใหม่" จนกระทั้ง"ข่าวพิเศษ" นอกจากนี้ เขายังมีงานเขียนอีกหลายรูปแบบ ทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย บทกวี และสารคดี GM รักบทสัมภาษณ์ของเขา เพราะเขาเจาะประเด็นเหตุการณ์ทางการเมืองอย่างที่ไม่มีใครกล้าพูด


GM: คุณมักอ้างถึงคำพูดของ ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช ถึงพฤติกรรมของพรรคประชาธิปัตย์อยู่บ่อยๆ ว่า

"สามล้อไม่ให้ขี่ กระหรี่ไม่ให้ขึ้นห้อง"

ช่วยขยายความหน่อยได้ไหม เป็นอย่างไร


ชัชรินทร์: แหม! เรื่องมันยาว ถ้าในหมู่นักข่าวที่เคยทำข่าวจะรู้กันชัด อย่างเช่น บางครั้งพรรคพลังใหม่เกือบสูญพันธุ์แบบพรรคพลังธรรมในปัจจุบันนี้ พวกพรรคพลังใหม่ก็คือพวกด็อกเตอร์ทั้งหลาย ซึ่งเบบี้ด็อกเตอร์ไปเรียนรู้เทคนิคจากต่างประเทศก็คิดจะมาทำในเมืองไทย ยุคนั้นก็เกิดการกล่าวหาเรื่องคอมมิวนิสต์ เอียงซ้ายหรือเอียงขวา อะไรอย่างนี้ พรรคพลังใหม่ก็โดนกล่าวหาว่าเป็นแตงโมที่ข้างนอกสีเขียว พอผ่าออกมาข้างในสีแดง

มีการออกป้ายประกาศว่า "สังคมนิยมทุกชนิดก็คือคอมมิวนิสต์นั่นเอง" ใช้ทุกวิธีคือด่าๆๆๆ พวกทหารจะใช้ปืน แต่ประชาธิปัตย์จะใช้ปาก เล่ห์เหลี่ยมเยอะ ที่อาจารย์คึกฤทธิ์ท่านพูดแบบนี้ ท่านยังพูดด้วยว่ากระทั่งพี่ชาย-ม.ร.ว เสนีย์ ปราโมช ยังด่าน้องชายหาว่าเป็นพวกลักเพศ เพื่อว่าตัวเองจะได้ขึ้นไปเป็นนายกฯ แล้วมันก็จริง คือได้มาตั้ง 100 กว่าเสียง แต่พรรคประชาธิปัตย์ตั้งรัฐบาลไม่ได้ ไม่มีใครเอาด้วย ด่าทั้งฝ่ายซ้าย ด่าทั้งฝ่ายขวา แล้วมันก็แปลก จารีตประเพณีนี้มันก็ยังมีอยู่

จนกระทั่งผมเคยปรารภกับพรรคพวก เคยคุยกับพี่วีระ มุสิกพงศ์ ก็ถามพี่วีระว่า พี่วีระ พรรคการเมืองนี้มันเป็นยังไง คนดีๆหลายคน พอเข้าไปพฤติกรรมมันเหมือนกันหมด คนอย่างอาจารย์ปรีชา สุวรรณทัต ยุคอยู่ ป.ป.ป. (สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ) ก็ดี๊ดี พอเข้าพรรคประชาธิปัตย์ก็เหมือนกับโดนบล็อกไปรูปนั้นเลย พี่วีระก็บอกว่ามันเหมือนแดร็กคิวล่า(หัวเราะ)

ใครเข้าไป มันก็ดูดเลือดแล้วแพร่เชื้อ


[หลังจากนี้ไม่ค่อยเกี่ยวกับเรื่องการเมืองแล้วครับ เป็นเรื่องเกี่ยวกับบทบาทของสื่อมวลชน แล้วก็มุมมองของแกต่อสิ่งต่างๆ]


คัดจากบทสัมภาษณ์ ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์
จาก GM ปีที่ 11 เล่มที่ 184
ปักษ์หลัง เดือนธันวาคม 2539
สัมภาษณ์ : ทิพากร บุญอ่ำ
ถ่ายภาพ : สมบูรณ์ ตามภักดีพานิชย์


ที่มา : บอร์ด "ฟ้าเดียวกัน" : ร่วมรำลึกประวัติศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์ : สามล้อไม่ให้ขี่ กระหรี่ไม่ให้ขึ้นห้อง, เก็บตกบทสัมภาษณ์ ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์


วันเสาร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

Propaganda : การโฆษณาชวนเชื่อ


ช่วงนี้ผมได้เสพข้อมูลจากหลายแหล่งข้อมูล เกี่ยวกับเหตุการณ์ และสถานที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ที่มีความเกี่ยวข้องกับ Propaganda ก็เลยต้องเขียนถึงเสียหน่อย

จากการเปิดพจนานุกรม อังกฤษ-ไทย เยอรมัน-ไทย ไม่กี่เล่มที่มีในบ้าน พจนานุกรมเหล่านั้นต่างให้ความหมายของคำว่า Propaganda เหมือนกันคือ การโฆษณาชวนเชื่อ แต่ผมรู้สึกว่าคำว่า "โฆษณาชวนเชื่อ" ไม่ตรงกับคำว่า "Propaganda" เท่าไรนัก เพราะผลกระทบของการโฆษณาชวนเชื่อดูจะอ่อนโยนเกินไป เมื่อเปรียบเทียบกับผลกระทบของ Propaganda การใช้คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ จึงน่าจะให้ความหมายที่สื่อได้ชัดเจนกว่า

ตามความหมายใน Wikipedia ภาษาเยอรมัน (พอดีไม่เก่งภาษาอังกฤษ และไม่มีคำว่า Propaganda ใน Wikipedia ภาษาไทย) ได้ให้ความหมายของคำว่า Propaganda ไว้ว่า


" ความพยายามอย่างเป็นระบบ ในการปลูกฝังแง่มุมความคิดเห็น, เบี่ยงเบนกระบวนการรับรู้ และควบคุมพฤติกรรม เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายมีปฏิกริยาตอบสนอง ตามที่ตนเองกำหนด "


สำหรับโลกเสรีนิยมประชาธิปไตย และสังคมอุดมคติ Propaganda เป็นภัยที่น่ากลัวอย่างหนึ่ง เพราะเป็นกระบวนการที่นำเสนอข้อมูลด้านเดียว และสามารถปลุกกระแสทำให้คนส่วนใหญ่ในสังคม หรือในประเทศ ตกเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจได้ ตัวอย่างอภิมหา Propaganda ที่ถูกจาลึกไว้ในประวิติศาสตร์โลก ได้แก่ ...

Propaganda ของพรรค Nationalsocialist (Nazi) แห่งเยอรมัน ในช่วงก่อน และระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง กระบวนการ Propaganda ของ Nazi ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 1927 ด้วยหนังสือเรื่อง Mein Kampf (แปลแบบตรงตัวคือ My Fight) ของผู้นำเผด็จการ Adolf Hitler จากนั้นก็ตามมาด้วยการครอบงำสื่อประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น หนังสือ หนังสือพิมพ์ ใบปลิว ป้ายโฆษณา วิทยุ โทรทัศน์

เป้าหมาย Propaganda ของพรรค Nazi คือ การเผยแพร่ (ยัดเยียด) แนวความคิดชนชาติบริสุทธิ์แบบเหยียดชนชาติ โดยเชื่อว่าชนชาติเยอรมันเป็นชนชาติที่ยิ่งใหญ่เหนือชนชาติอื่น นำไปสู่การทำสงครามเพื่อยึดครองประเทศต่าง ๆ ตามแนวคิดชนชาติบริสุทธิ์ และการจะทำสงครามให้มีชัยชนะได้นั้น ชายเยอรมันต้องมีความกล้าหาญ มีจิตวิญญาณการต่อสู้ ผู้ที่ไม่ได้เป็นทหารต้องมีความเสียสละ จงรักภักดี ที่สำคัญที่สุด ชนชาติเยอรมันจะสามารถบรรลุเป้าหมายทุกอย่างได้ หากเชื่อผู้นำอย่าง Adolf Hitler

Propaganda ของพรรค Nazi มาถึงจุดสูงสุดในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งสอง โดยรัฐบาลเผด็จการพรรค Nazi ได้สถาปนากระทรวง Propaganda ขึ้นมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ เจ้ากระทรวงในช่วงนั้นคือ Joseph Goebbels ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความสำคัญต่อรัฐบาล Nazi มาก เป็นรองก็เพียงแต่ Hitler เท่านั้น

ความสำเร็จของ Propaganda พรรค Nazi ทำให้คนเยอรมันในสมัยนั้นเป็นชนชาติที่น่ากลัว และน่าขยะแขยง เพราะในจิตใจมีแต่ความเกลียดชังและการทำลายล้าง เนื่องจากคนเยอรมันในสมัยนั้นมีมุมมองทางความคิดเพียงด้านเดียว นั่นคือด้านที่ถูกชักนำโดยพรรค Nazi ความเกลียดชังดังกล่าวได้ทำลายล้างชีวิตผู้คนในประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งชีวิตชาวยิว


จึงไม่น่าแปลกใจนัก ที่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง Propaganda จะกลายเป็นพฤติกรรมอันน่ารังเกียจสำหรับคนยุโรป และในหลาย ๆ ประเทศ Propaganda ก็กลายเป็นพฤติกรรมต้องห้ามในทางกฏหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเยอรมัน Propaganda ทุกประเภทได้ถูกห้ามอย่างเด็ดขาด แม้แต่การเผยแพร่ศาสนา ก็ห้ามเผยแพร่ในลักษณะงมงาย เพราะถือเป็น Propaganda ประเภทหนึ่ง


หลังสงครามโลกครั้งที่สอง Propaganda ได้ขยายรากฐานของตนเองไปสู่ประเทศคอมมิวนิสต์ และประเทศที่มีผู้นำเผด็จการอื่น ๆ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ Propaganda ของสหภาพโซเวียต และรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีน ที่นำโดย เหมา เจ๋อ ตุง โดยลักษณะ Propaganda ของรัฐบาล และ/หรือ ผู้นำประเทศต่าง ๆ เหล่านี้จะไม่ต่างจากของพรรค Nazi มากนัก นั่นคือการครอบงำสื่อ การนำเสนอข้อมูลเพียงด้านเดียว เพื่อให้ประชาชนศรัทธา และเชื่อในแนวคิดของรัฐบาลหรือผู้นำ โดยขาดเหตุผลในการไตร่ตรองใด ๆ

ผลกระทบของ Propaganda ที่ชัดเจนที่สุดคือ ทำให้สังคมขาดความหลากหลายทางความคิด เพราะความคิดของคนในสังคมถูกชี้นำ (และหากจำเป็นก็ต้องบังคับ) ไปทางเดียวกันทั้งหมด สังคมที่ขาดความหลากหลายทางความคิด ก็ไม่ต่างจากขาดความหลากหลายทางพันธุกรรม ที่เมื่อถึงจุดจุดหนึ่งพัฒนาการทางความคิดก็จะหยุดอยู่กับที่ และนำไปสู่ภาวะการทำลายตัวเองในที่สุด แม้ว่าสาเหตุหลักของการล่มสลายของสหภาพโซเวียต คือการแยกตัวของประเทศต่าง ๆ ออกจากสหภาพ แต่สาเหตุหลักอีกประการที่เราไม่ควรมองข้ามคือ ความอ่อนแอของโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของสหภาพโซเวียตเอง ที่มีความเชื่อมโยงกับ Propaganda ของพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีมายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ

เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ใน Rwanda ในปี 1994 ที่มีผู้ถูกกระทำคือชาว Tutsi และมีผู้กระทำเป็นชาว Hutu ทำให้ชาว Tutsi เสียชีวิตไปเกือบหนึ่งล้านคน ! ก็มีความเกี่ยวข้องกับ Propaganda โดยตรง ความขัดแย้งระหว่างสองชนเผ่าเกิดขึ้นมายาวนาน และได้เดินทางมาถึงจุดแตกหัก เมื่อเครื่องบินของประธานธิบดีของ Rwanda ซึ่งเป็นชนเผ่า Hutu ถูกลอบยิง เป็นผลทำให้เครื่องบินตก และประธานาธิบดีเสียชีวิตในที่สุด Propaganda ของนักการเมือง Hutu บางกลุ่มก็เริ่มขึ้น โดยการพูดชักจูงทางวิทยุ ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการวางแผนของชนเผ่า Tutsi และชนเผ่า Tutsi วางแผนจะฆ่าชนเผ่า Hutu ทั้งหมด การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ Tutsi ซึ่งเปรียบดังแมลงสาบ จึงเป็นความชอบธรรมอย่างหนึ่ง

แม้แต่ในยุคที่ผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่ายอย่างปัจจุบัน กระบวนการ Propaganda ก็ยังคงไม่หมดไปจากสังคม และการเมืองโลก อภิมหา Propaganda ระดับโลกที่ยังคงมีให้เราเห็นได้แก่ การสร้างภาพความชอบธรรมของกองทัพสหรัฐ ในการบุกยึดประเทศในแถบตะวันออกกลาง และการโฆษณาชวนเชื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ในช่วงสงครามเวียดนาม ความมั่นคงของรัฐบาลสหรัฐ ฯ ต้องสั่นครอน เมื่อสื่ออเมริกานำเสนอความไร้เหตุผล และความโหดร้ายของสงคราม เป็นผลทำให้หนุ่มสาวจำนวนมากออกมาต่อต้านสงคราม จนกลายเป็นยุคฮิปปี้ในที่สุด รัฐบาลสหรัฐ ฯ เล็งเห็นศักยภาพของสื่อ จึงปรับเปลี่ยนยุทธวิธีการนำเสนอข่าวของสื่อ ภาพข่าวและเนื้อข่าวของสื่ออเมริกาหลังสงครามเวียดนาม ล้วนแต่ต้องผ่านกระบวนการกลั่นกรอง จากรัฐบาลและกองทัพอเมริกาทั้งสิ้น การชักจูงสื่อมาเป็นพวกเดียวกับกองทัพ เป็นยุทธวิธีใหม่ที่ถูกนำมาใช้

แม้ว่าด้านหนึ่งรัฐบาลอเมริกาจะอ้างว่า สหรัฐ ฯ เป็นประเทศเสรีนิยม ที่ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นของตัวเองได้ แม้แต่การแสดงความคิดเห็นการเหยียดสีผิว หรือการแสดงความคิดเห็นในเชิงก้าวร้าวและรุนแรง ก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ และกฏหมายอเมริกา แต่อีกด้านหนึ่ง สื่อกลับกลายเป็นเครื่องมือของรัฐ การนำเสนอข่าวและความคิดเห็นแบบตรงไปตรงมาของสื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหัวข้อข่าวที่เกี่ยวกับสงคราม กลับเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้

ภาพและเนื้อข่าวที่ชาวอเมริกาได้รับเกี่ยวกับสงครามในอิรัก และอัฟกานิสถาน มักจะถูกนำเสนอพร้อม ๆ กับภาพเหตุการณ์ 9/11 อย่างมีนัยะ การสร้างความชอบธรรมให้กับกองทัพ และรัฐบาลอเมริกาในการทำสงครามกับประเทศอิสลามผ่านสื่อ กลายเป็นเรื่องปกติ โดยอ้างความสัมพันธ์ของประเทศเหล่านั้น กับผู้ก่อการร้าย ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ยังไม่มีใครสามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ นักข่าวที่เข้าไปทำข่าวในพื้นที่สงคราม ต้องเข้าไปกินอยู่หลับนอนกับเหล่าทหารอเมริกาในค่ายกลางสมรภูมิ จนทำให้รู้สึกเป็นพวกเดียวกับเหล่าทหารอเมริกาในที่สุด การนำเสนอความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการทหาร พร้อมกับบทวิจารณ์เชิงปลุกใจ เพื่อให้คนรู้สึกภูมิใจในความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่กองทัพมี โดยละเลยที่จะกล่าวถึงประสิทธิิภาพในการทำลายชีวิตมนุษย์นับพันนับหมื่น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็น Propaganda ที่ถูกนำมาใช้ผ่านสื่อสมัยใหม่ทั้งสิ้น ความน่ากลัวของมันคือความแยบคาย ที่คนรับสื่อต้องกับดักโดยไม่รู้ตัว

แม้ว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนสมัยใหม่ จะไม่มีร่องรอยความเป็นคอมมิวนิสต์ให้เราเห็น จะเหลือก็เพียงแต่รัฐบาลเผด็จการทุนนิยม แม้กระนั้นก็ตาม Propaganda ก็ยังถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือ ไม่ต่างจากเมื่อครึ่งศตวรรษก่อนเท่าใดนัก รัฐบาลจีนพยายามสร้างค่าทุนนิยม ชาตินิยม พรรคนิยม ให้กับคนจีนด้วยวิธีการต่าง ๆ มากมาย การทัวร์ดูบ้านคนรวย ดูชีวิตความเป็นอยู่ของคนรวย ได้ถูกจัดขึ้นตามเมืองใหญ่ ๆ หลายเมือง ในระหว่างการเยี่ยมชม ทุกคนจะได้รับข้อมูลชุดเดียวว่า ทุกคนสามารถมีบ้านหลังใหญ่ และมีเงินทองมากมายได้ หากขยันทำงาน และทำตามนโยบายพรรคคอมมิวนิสต์ นอกจากนี้สื่อต่าง ๆ ล้วนถูกควบคุมโดยรัฐบาล มีการเซนเซอร์ และ manipulate การนำเสนอข่าวอย่างเป็นล่ำเป็นสัน คำถามก็คือ การเซนเซอร์แบบเปิดเผยในจีน กับการทำแบบอีแอบในอเมริกา อย่างไหนจะน่ากลัวกว่ากัน

ผลผลิต Propaganda รัฐบาลจีน คือประชากรชาวจีนยุคใหม่ ที่มีความเป็นทุนนิยมแบบสุดโต่ง คุณธรรม จริยธรรม สิทธิมนุษยชน และการรักษาสิ่งแวดล้อม ถูกปล่อยปละละเลย ไม่ได้รับการพูดถึงจากรัฐบาลจีน ความเปลี่ยนแปลงของคนจีน ทำให้รุ่นน้องนักเรียนไทยคนหนึ่ง ซึ่งมีเชื้อสายจีน พูดกับผมว่า "คนจีนที่ผมรู้จักทุกวันนี้ ไม่ใช่คนจีนที่ผมรู้จักที่เมืองไทย" เรื่องนี้เป็นข้อพิสูจน์ที่ว่า Propaganda เป็นเครื่องมือที่สามารถเปลี่ยนค่านิยม วัฒนธรรม และความเชื่อ ของคนทั้งประเทศได้เลยทีดียว


ลักษณะของ Propaganda ที่ผมเขียนถึง ล้วนมีลักษณะร่วมกันคือ การชักนำทางความคิด ด้วยการนำเสนอข้อมูลเพียงด้านเดียว คิดร้ายต่อผู้ที่เห็นต่าง ไม่นิยมการใช้ปัญญาและการตั้งคำถาม และโดยมากสังคมที่ตกเป็นเหยื่อของ Propaganda มักมีจุดจบที่ไม่ดีนัก เพราะขาดความหลากหลายทางความคิด ซึ่งจะนำไปสู่ความเขลา ท้ายที่สุดสังคมนั้น ๆ ก็จะแพ้ภัยตัวเอง สิ่งเดียวที่ช่วยสังคมปลดแอกออกจาก Propaganda คือการติดอาวุธทางความคิด รู้จักตั้งคำถาม และยอมรับความแตกต่าง ดังนั้น ผู้นำที่มี Propaganda เป็นเครื่องมือ มักกล่าวหาผู้ที่ตั้งคำถาม ว่าเป็น
"ศัตรูของชาติ" เสมอ


การหาลักษณะร่วมของ Propaganda พอที่จะทำให้เรารู้ว่า จริง ๆ แล้วสังคมไทยไม่ได้เป็นสังคมปลอด Propaganda ตรงกันข้าม เราถูกครอบงำทางความคิดด้วย Propaganda มากว่าห้าสิบปี โดยที่เราจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เราถูกปลูกฝังแนวคิดชาตินิยม สถาบันนิยม ตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม โดยที่คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ความหมายที่แท้จริงของคำว่าชาติ และคุณประโยชน์ของสถาบันต่าง ๆ การตั้งคำถามต่อสิ่งเหล่านี้ คือการไม่รักชาติ และเป็นโทษร้ายแรง (ทั้งที่ยังไม่รู้อยู่ดี ว่าชาติคืออะไร)

เมื่อมาถึงสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กระแส Propaganda ถูกโหมกระพือให้แรงขึ้น เพื่อใช้เป็นกระแสสร้างความชอบธรรม ในการยึดอำนาจของ จอมพล สฤษดิ์ เอง แม้ว่าทั้ง จอมพล ป. และจอมพล สฤษดิ์ ไม่ได้อยู่ในอำนาจมานานมากแล้วก็ตาม แต่ดูเหมือนว่า Propaganda ของเผด็จการทั้งสองจะยังไม่หมดไปจากประเทศไทย มีแต่จะหยั่งรากฝังลึกลงไปในสังคมไทยมากขึ้นทุกขณะ

ผมเคยตั้งคำถามว่า เหตุใด Propaganda ยังคงมีอยู่ในสังคมไทย ทั้งที่มีปัญญาชนไทยมากมาย ที่เข้าใจและรู้เท่าทัน Propaganda อีกทั้งเราอยู่ในยุคข้อมูลข่าวสาร ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ เพียงเท่านี้ Propaganda น่าจะหมด หรือถูกลดบทบาทลงได้แล้ว ผมหาคำตอบให้กับการคงอยู่ของ Propaganda ในสังคมไทยได้สามข้อคือ


1. รัฐบาลทุกยุคยังคงใช้ Propaganda เป็นเครื่องมือในการเข้าถึงอำนาจของตัวเองต่อไป

2. ความสำเร็จของ Propaganda ทำให้คนไทยมองเนื้อหาใน Propaganda เป็นศีลธรรมทางสังคมอย่างหนึ่ง
(เช่นการเชิดชูสถาบันชาติ เป็นศีลธรรมอย่างหนึ่งที่พึงปฏิบัติ)

3. การโยงเนื้อหาของ Propaganda เข้ากับความเชื่อทางศาสนา การกระทำอันผิดต่อเนื้อหาของ Propaganda ถือเป็นบาปอย่างหนึง เช่น การไม่รักชาติจะทำให้คนตกนรก


จนถึงตอนนี้ผมยังไม่สามารถจินตนาการได้ว่า Propaganda จะหมดไปจากสังคมไทยได้อย่างไร เพราะมันแทรกอยู่ในทุกส่วนของสังคมจริง ๆ ในแบบเรียน ในโทรทัศน์ กลางถนน ในเสื้อยืด ในเสียงเพลง ในโรงหนัง โดยเฉพาะในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา กระแส Propaganda ในสังคมไทยเชี่ยวกราดจนน่ากลัว ความแนบเนียนในการชี้นำทางความคิดค่อย ๆ ลดลง หลัง ๆ นิยมทำแบบยัดเยียดและโจ่งครึ้ม อาจเป็นเพราะมีการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองกันมากขึ้นก็เป็นได้

สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกว่า กระแส Propaganda ทำให้สังคมไทยมาถึงจุดวิกฤติคือ กรณีของโชติศักดิ์ไม่ยืนตรงขณะเพลงสรรเสริญพระบารมีถูกเปิดในโรงหนัง โดยส่วนตัว ผมมองว่ากรณีนี้เป็นสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของคนคนหนึ่ง ซึ่งหากพูดกันตามตรงแล้ว ไม่ทำให้ผู้ใดเดือดร้อน การไม่ยืนตรงของคนคนหนึ่ง ไม่ทำให้สถาบันใด ๆ เสื่อม ไม่ทำให้สังคมวุ่นวาย ไม่ทำให้ประเทศล่มจม หากมองในมุมมองของผู้เคารพสถาบัน ผมก็ยังไม่สามารถโยงการกระทำดังกล่าว ไปสู่การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้

แต่คำถามก็คือ เหตุใดคนบางคนหรือคนบางกลุ่ม จึงพยายามชี้ชวนให้คนในสังคมเชื่อเหลือเกินว่า เรื่องเพียงเท่านี้ อาจยังผลให้เราสิ้นชาติ ! การกระทำของกลุ่มที่ผมขอเรียกว่า ผู้คลั่งสถาบัน กลับน่ากลัวกว่าการกระทำของโชติศักดิ์เสียอีก เพราะไม่สามารถยอมรับความคิดเห็นที่ต่างได้ นิยมการใช้ความรุนแรง หลาย ๆ ความคิดเห็นส่อไปในลักษณะ ความคิดเห็นที่ยืนอยู่บนพื้นฐานความเชื่อ โดยปราศจากการใช้เหตุผล สุดท้ายแล้ว ความคิดเช่นนี้แล ที่นำไปสู่ความแตกแยก และความวุ่นวายในสังคม หลายคนเปรียบเปรยความคิดเห็นของคนเหล่านี้ว่า เป็นความเห็นที่มาจากยุคล่าแม่มด


และนี่มันคือ การ Propaganda, ผลของการ Propaganda

หรือว่า มันคือ ทั้งสองอย่าง ?


หากกลับไปอ่านสองย่อหน้าที่ผมเขียนถึงกรณีโชติศักดิ์ จะเห็นได้ว่า ผมไม่ได้เขียนถึงตัวสถาบันแม้แต่น้อย เพราะแกนหลักของเหตุการณ์ไม่ได้ข้องเกี่ยวกับสถาบัน แต่เป็นเรื่องของการใช้สถาบันเป็นข้ออ้างในการทำ Propaganda ของคนหลายกลุ่ม เพื่อดึงกระแสมวลชลมาเป็นพวกตน โดยทุกกลุ่มพยายามอ้างว่า ตนเองเทิดทูนสถาบันมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การพูดถึง และดึงสถาบันลงมาโยงกับเหตุการณ์ขี้หมูราขี้หมาแห้งเสียอีก ที่เป็นการลดเกียรติของสถาบัน เป็นการดึงสถาบันให้มาอยู่ในระดับเดียวกับพวกตน

สุดท้ายจะเห็นได้ว่า Propaganda ไม่ว่าจะมาในรูปแบบใด ล้วนแต่มีผลร้ายต่อสังคมทั้งสิ้น การเปิดใจให้กว้าง และรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น คือภูมิคุ้มกันที่จะลดดีกรีความร้ายแรงเหล่านั้นลงมาได้


bow der kleine

ที่มา : BioLawCom.De (แตกต่าง หลากหลาย บนสายใยเดียวกัน) : Propaganda


หมายเหตุ
การเน้นข้อความโดยส่วนมากทำตามความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

วันศุกร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

คำไว้อาลัยของ "คุณพูนศุข พนมยงค์" : ระลึกถึง คุณชูเชื้อ (วลี) สิงหเสนี


ข้าพเจ้า จำได้ว่าพบคุณชูเชื้อ สิงหเสนี ครั้งแรกในห้องพิจารณาคดีที่ศาลอาญาเมื่อ พ.ศ.2491 ในการพิจารณาคดีสวรรคตสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลซึ่งคุณชิต สิงหเสนี เป็นมหาดเล็กห้องพระบรรทม ในหลวงรัชกาลที่ 8

คุณชิต สามีคุณชูเชื้อ ตกเป็นผู้ต้องหาปลงพระชนม์ร่วมกับคุณเฉลียว ปทุมรสอดีตราชเลขานุการในพระองค์ฯ และคุณบุศย์ ปัทมศริน หมาดเล็กห้องพระบรรทม

ข้าพเจ้า นั่งแถวหน้าบัลลังก์พิจารณาคดี สังเกตุเห็นผู้ต้องหาทั้งสามอยู่ในความสงบ สุขุม และไม่ประหวั่นพรั่นพรึงเพราะเชื่อในความบริสุทธิ์ของตน เชื่อในความยุติธรรมของศาลทั้งๆที่อัยการฝ่ายโจทก์ สร้างหลักฐานเท็จ ใส่ร้ายกล่าวโทษ

การพิจารณาคดีสวรรคต ได้ยืดเยื้อมาอีกหลายปีในช่วงนั้นข้าพเจ้าเองก็ถูกมรสุมการเมืองรุมกระหน่ำ ถูกจับกุมในคดี"กบฏสันติภาพ" ด้วยข้อกล่าวหา "กบฏภายใน และภายนอกราชอาณาจักร"เมื่ได้รับอิสรภาพหลังจากถูกคุมขังเป็นเวลา 84 วันแล้วข้าพเจ้าก็ได้เดทางไปต่างประเทศเพื่อร่วมทุกข์ และเป็นกำลังใจให้นายปรีดีพนมยงค์ สามีของข้าพเจ้า ซึ่งลี้ภัยการเมืองในประเทศจีน

นายปรีดี กับข้าพเจ้า ติดตามข่าวการพิจารณาคดีสวรรคตอยู่เสมอนายปรีดีเชื่อในความบริสุทธิ์ของคุณเฉลียว คุณชิต และคุณบุศย์เช่นเดียวกับเชื่อในความบริสุทธิ์ของตน ที่มิได้มีส่วนพัวพันในคดีสวรรคตส่งใจช่วย และภาวนาขอให้ผู้บริสุทธิ์ทั้งสาม ได้รับอิสรภาพโดยเร็ววัน

แต่แล้วเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2497 ศาลฏีกาได้พิพากษาลงโทษให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งสามคน ซึ่งต่อมาในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2497จำเลยทั้งสาม ได้ทำหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายฏีกาขอพระราชทานอภัยโทษแต่ฏีกาได้ตกไปในที่สุด

นายปรีดี กับข้าพเจ้าตกใจยิ่งกับข่าวการประหารชีวิตของผู้บริสุทธิ์ทั้งสาม ในเช้ามืดวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2498

นายปรีดี กับข้าพเจ้ารู้สึกเศร้าเสียใจเป็นอย่างมาก เห็นใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวเหยื่อความอยุติธรรมทั้งสาม ที่ประสพความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงและขาดเสาหลักของครอบครัว

คุณชูเชื้อ สิงหเสนี เป็นภรรยาที่เข้มแข็ง เป็นกำลังใจให้สามีในขณะถูกจองจำเป็นเวลากว่า 7 ปี เป็นมารดาที่ประเสริฐ แบกรับหน้าที่เป็นทั้งพ่อและแม่ในการดูแลลูกๆทั้ง 6 คน

หลังจากที่ข้าพเจ้ากลับมาอยู่เมืองไทยเป็นการถาวรแล้วทุกวันขึ้นปีใหม่ข้าพเจ้าจะมีกระถางกล้วยไม้ ประดับข้างบันไดขึ้นบ้านซึ่งเป็นของขวัญปีใหม่จากคุณชูเชื้อ นำความชื่นใจมาสู่ข้าพเจ้าและผู้พบเห็น

2-3 ปีมานี้ ข้าพเจ้าไม่ได้พบคุณชูเชื้อทราบว่าสุขภาพของเธอไม่ค่อยแข็งแรงนักและแล้วคุณชูเชื้อก็ได้ลาจากโลกนี้ไป ตามกฏวัฏสังขาร ยังความเสียใจสู่ลูกหลาน และญาติมิตร

ขอให้กรรมดีนานาประการจงนำคุณชูเชื้อ สิงหเสนี ไปสู่สุขคติในสัมปรายภพทุกเมื่อเทอญ

ข้าพเจ้า เชื่อกฏแห่งกรรมในพุทธศาสนา บรรดาผู้ที่สร้างหลักฐานเท็จพยานเท็จ ในกรณีสวรรคต มาบัดนี้ ลูกหลาน ของเขาต้องรับกรรม และชดใช้กรรมรวมทั้งกรรมใหม่ที่ก่อขึ้นเอง ต่างกรรม ต่างวาระดังนั้นจึงเป็นที่สังวรแก่ทุกผู้ ทุกคนว่า จงทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้วทำความดีผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรม และความถูกต้อง


สัจจะ เป็นอมตะ
ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย
ประวัติศาสตร์ ย่อมให้ความกระจ่างในที่สุด


(ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์)
9 มกราคม 2549


จากหนังสืองานศพคุณ ชูเชื้อ (วลี) สิงหเสนี
ภรรยาคุณชิต สิงหเสนี หนึ่งในสามผู้ต้องหา คดีลอบปลงพระชนม์ ร. 8


โดย : mims

ที่มา : เว็บบอร์ด "ประชาไท" : คำไว้อาลัยของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

"ยักษ์หลับที่เริ่มตื่นขึ้นมาแล้ว"


คือ ทักษิณเป็นคนปลุกยักษ์คือ ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศให้รู้จักพลังอำนาจของเขา โดยที่ทักษิณเองก็คงไม่ได้ตั้งใจ

แต่หลังจากที่ทักษิณโดนเล่นงานปีกว่า ทักษิณก็ไม่ใช่ปัญหาของพวกเขาอีกต่อไปแล้ว แต่ปัญหาใหญ่ของพวกเขาตอนนี้คือ

"ยักษ์หลับทั้งหลายที่เริ่มตืนขึ้น" เริ่มตาสว่างขึ้น

การโพสต์หมิ่น เหม่ ในเว็บที่ทวีขึ้นอย่างมาก นั่นคือ ปรากฎการณ์ที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ ว่า "เกิดบางสิ่งบางอย่างขึ้นในใจของประชาชน" จำนวนมากแล้ว การปิดเว็บก็ไม่ใช่การแก้ปัญหา

ผมคิดว่าพวกเขาคงประเมินสถานการณ์ได้แล้ว เลยพยายามถอดฉนวน เช่น เรื่องยุบพรรค อัยการสูงสุดก็ตีกลับ

คดีทักษิณ ศาลก็โยนกลับ ทำให้ คตส.กลายเป็นลูกผีลูกคน

ตรงนี้ก็เป็น รูระบายไม่ทำให้เกิดวิกฤตการเผชิญหน้ากันที่ฝ่าย พปช. ก็ถอยไมได้ เมื่อ "ธง" ลดลง ความเร่งดวนในการแก้ รธน.ก็ลดลง แม้ว่ายังต้องแก้ไขอยู่ แต่ก็ไม่โดนเวลาบีบให้ ต้องทำทันที

ผมคิดว่า "คนชั้นนำ" ทั้งหลายเริ่มประเมินออกแล้วว่า ปัญหาคือ "ประชาชนเริ่มรับไมได้แล้ว"

หากใครจำได้ ก่อนปี 2549 สังคมนี้ไม่มีใครกล้าด่า พล.อ.เปรม แต่ตอนนี้คนด่าตรึมส์ แบบหมูไม่กลัวน้ำร้อน

ปี 2551 มันเลยขึ้นไปมากกว่านั้น ทำให้ประเมินได้ว่าหากปล่อยเป็นเช่นนี้ การวิจารณ์ใครบางคนก็จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ (ตอนนี้ก็เกิดขึ้นอยู่แล้ว) และสุดท้ายอาจมีสภาพเช่นเดียวกับ พล.อ.เปรม

ทักษิณนั้นไม่ใช่ปัญหาทางการเมืองอีกต่อไป แต่ "ประชาชน" คือปัญหาใหญ่ที่ต้องรีบถอดฉนวน

ปัญหาคือ "ยักษ์ที่ตื่นขึ้นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ"
ไม่ใช่ คนที่บังเอิญไปปลุกยักษ์


ลูกชาวนาไทย


ที่มา : บอร์ด " ประชาไท " : ปัญหาของพวกเขาตอนนี้คือ "ยักษ์หลับที่เริ่มตื่นขึ้นมาแล้ว" ไม่ใช่ทักษิณ

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำไปโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

ม.เที่ยงคืน ออกแถลงการณ์ ‘มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกับพรรคประชาธิปัตย์: เสรีภาพกับความโง่เขลา’


จากกรณีนายเทพไท เสนพงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า มีเว็บไซต์ 29 เว็บซึ่งส่อเค้าหมิ่นเบื้องสูง โดยเรียกร้องให้รัฐบาลและรัฐมนตรีกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ (ไอซีที) แสดงความรับผิดชอบนั้น

ล่าสุด คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งเป็นหนึ่งในเว็บไซต์ที่นายเทพไทระบุถึง (http://www.midnightuniv.org/) ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง


“มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกับพรรคประชาธิปัตย์:
เสรีภาพกับความโง่เขลา


โดยระบุว่า..

เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เป็นรากฐานสำคัญของสังคมประชาธิปไตย ในอันที่จะทำให้สังคมได้แลกเปลี่ยน เรียนรู้ และถกเถียงกันอย่างเสมอภาค บนรากฐานของเหตุผลและข้อเท็จจริง เพราะในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างซับซ้อน และเต็มไปด้วยความหลากหลายนั้น การมีความคิดเห็นแตกต่างกันเป็นเรื่องธรรมดา และจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากมุมมองที่แตกต่าง หากยึดติดกับกรอบคิดที่คับแคบตายตัว จะทำให้มองเห็นทางเลือกในการแก้ปัญหาอย่างจำกัดและยากจะปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง จนอาจนำพาสังคมไทยไปสู่จุดวิกฤตที่หาทางออกไม่ได้ในที่สุด


“เสรีภาพในแสดงความคิดเห็นมิใช่เป็นเพียงการคุ้มครองสิทธิของปัจเจกบุคคล หากแต่เป็นการคุ้มครองสังคม มิให้ตกอยู่ในความมืดมิดทางปัญญา ตลอดจนความกลัวในความเห็นที่แตกต่าง และความขลาดในการเรียนรู้ ด้วยเสรีภาพดังกล่าวนี้เท่านั้นที่จะทำให้สังคมฉลาดและมีความรู้มากขึ้น มีศักยภาพในการปรับตัวมากขึ้น และเป็นการเปิดโอกาสให้ฝ่ายต่างๆ ที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน สามารถต่อรองกันอย่างเสมอภาคและเป็นธรรมในระบอบประชาธิปไตย โดยไม่มีกำปั้นใหญ่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง คอยลงทัณฑ์ผู้ที่คิดเห็นแตกต่างออกไป อันจะนำไปสู่ความรุนแรงและความแตกร้าวภายในสังคมมากยิ่งขึ้น”


“มีแต่ผู้ที่โง่เขลาเบาปัญญาและผู้ที่มัวเมาในอำนาจเท่านั้น ที่พยายามปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงขอยืนยันในเสรีภาพนี้ และจะต่อสู้อย่างสันติจนกว่าการคุกคามหรือละเมิดต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างไม่ชอบธรรมจะหมดไปจากสังคมไทย”

แถลงการณ์ระบุ




หมายเหตุ: เว็บไซต์ 29 เว็บ ประกอบด้วย

1. http://www.youtube.com/StopleseMajeste

2. http://www.2519me.com/

3. http://hello-siam.blogspot.com

4. http://rukchard.blogspot.com

5. http://chakridynasty.googlepages.com/

6. http://www.midnightuniv.org/

7. http://www.serichon.com/

8. http://www.prachatai.com/

9. http://sapaprachachon.blogspot.com/

10. http://s125.photobucket.com/albums/p73/nicolejung99/?

11. http://www.weloveudon.net/

12. http://www.tlt-global.com/

13. http://www.secondclass111.com/

14. http://thai-journalist-democratic-front.com/

15. http://www.sameskybooks.org/

16. http://www.newskythailand.com/

17. http://www.chupong.net/

18. http://pcc-thai.com/

19. http://datopido.newsit.es/

20. http://thai-journalist-democratic-front.com/

21. http://www.mvnews.net/

22. http://www.cptradio.com/

23. http://www.thaipeoplevoice.org/

24. http://www.nationsiam.com/frontpage/Itemid,1/

25. http://www.arayachon.org/

26. http://www.siamreview.net/

27. http://warotah.blogspot.com/

28. http://killerpress.wordpress.com/

29. http://gunner2007.wordpress.com/


ที่มา : ข่าวประชาไท : ม.เที่ยงคืน ออกแถลงการณ์ ‘มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกับพรรคประชาธิปัตย์: เสรีภาพกับความโง่เขลา’


หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

วันพุธที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

คำอภิปรายจักรภพธรรมดามาก หากเทียบกับ สส สมัยก่อนนู้น


ผมได้อ่านบทความของณัฐพล ใจจริง ในฟ้าเดียวกันเล่มล่าสุด
(ผมชอบมาก แนะนำให้อ่านและเผยแพร่กันเยอะๆ)

หน้า ๑๒๖ ร.ท.ทองดำ คล้ายโอภาส ผู้แทนปราจีนบุรี อภิปรายเกี่ยวกับพระปกเกล้าฯ ว่า

“พระราชบันทึกของพระองค์ พระองค์ต้องการให้ประเทศเรามีการปกครองประชาธิปไตยอย่างอังกฤษแท้ๆ แต่พระองค์ก็บอกไว้ในนั้นเอง บอกแย้งไว้ในนั้นเองว่า จะให้ฉันทำอย่างพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ (ให้ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ขึ้นกับรัฐบาลและต้องทรงเสียภาษีพระราชทรัพย์) ไม่ได้ ทีการปกครองละก้อจะเอาอย่างอังกฤษ (กษัตริย์มีอำนาจแต่งตั้งสภาขุนนาง) แต่ไม่อยากเอาจะเป็นอย่างพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ (ในเรื่องทรัพย์สิน) เพราะฉะนั้นก็เหลือที่จะทนทานเหมือนกัน”


และจากการอ่านงานประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่หลายๆชิ้นแล้ว ก็ได้เจอคำภิปรายของผู้แทนในสมัยก่อน ที่วิจารณ์สถาบันกษัตริย์โดยตรง

มิพักต้องกล่าวถึง กรณีถวัติ ฤทธิเดช ฟ้อง ร ๗
กรณีการฟ้องเพื่อยึดทรัพย์ ร ๗

๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็น
ประชาธิปไตย กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

หากเรายังยืนยันว่าปัจจุบันประเทศไทยยังเป็นประชาธิปไตย กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญอยู่ ทำไมความเห็นจักรภพต้องเป็น

“ทัศนคติที่อันตราย” ด้วย

ก็ในเมื่อ การประชุมสภา สมัยก่อน สส ยังอภิปรายถึงสถาบันกษัตริย์ได้อย่างเต็มที่

แล้วทำไม ปัจจุบัน เพียงแค่คำอภิปรายต่อผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เชิงวิเคราะห์ เชิงวิชาการ ไม่ได้ระบุตัวบุคคล ไม่ได้ระบุชัดเจนถึงสถาบันกษัตริย์ ถึงทำไม่ได้ ทำไมถึงต้องโดนหัวหน้าพรรคการเมือง (ที่ดูเหมือนเป็นคนรุ่นใหม่ แต่ความคิดโบราณย้อนไปก่อน ๒๔๗๕) กล่าวหาว่าเป็น “ทัศนคติที่อันตราย” ด้วย?

หรือ เราไม่ได้อยู่ในการปกครองประชาธิปไตย กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เหมือนหลัง ๒๔๗๕ ?

หากฝ่ายรอแยลลิสม์ และอุลตร้า รอแยลลิสม์ ยืนยันเสมอว่า เราปกครองในระบอบ “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ผมอยากให้ ปัญญาชนฝ่ายนั้น ช่วยวิเคราะห์ สังเคราะห์ ให้ตกผลึก และเขียนเป็นงานวิชาการด้วยว่า การปกครองดังกล่าวมีลักษณะอย่างไร? แตกต่างจากประเทศอื่นๆที่มีกษัตริย์อย่างไร? แตกต่างจากประชาธิปไตย ที่กษัตริย์อยู่ใต้ รธน อย่างไร? เจาะจงใช้เฉพาะสมัยใดสมัยหนึ่งหรือไม่?


ปิยบุตร


เพิ่มเติม :ความเห็นในกระทู้ของ ธนาพล


หวังว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งต่อไป (ถ้ามี) น่าจะอภิปรายอย่างข้างล่างบ้างครับ

...........

“ร่างรัฐธรรมนูญฉะบับนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตยอันแท้จริง แต่มีลัทธิการปกครองแปลกปลาดแทรกซ่อนอยู่ ลัทธินี้ก็คือ การนิยมกษัตริย์”

นายชื่น ระวีวรรณ


“ร่างรัฐธรรมนูญฉะบับนี้เขียนไว้โดยมีความปรารถนาจะเหนี่ยวรั้งพระมหากษัตริย์เข้ามาพัวพันกับการเมืองมากเกินไป โดยการถวายพระราชอำนาจมากกว่าเดิม… ยังงี้ไม่ใช่รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย มันเป็นรัฐธรรมนูญพระมหากษัตริย์อย่างชัดๆ ทีเดียว”

นายฟื้น สุวรรณสาร


“คณะจ้าวนี่เองเป็นปัญหาใหญ่… พระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญใหม่ฆ่าคนได้โดยมีความผิด”

นายเลียง ไชยกาล


การอภิปรายในสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2492
เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2492

(อ้างจาก ธงชัย วินิจจะกูล : "ข้ามให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา" ปาฐกถา 14 ตุลา ประจำปี 2548 ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2548 ฟ้าเดียวกัน 3:4, 146)


ที่มา : กระดานสนทนา "ฟ้าเดียวกัน" : คำอภิปรายจักรภพธรรมดามาก หากเทียบกับ สส สมัยก่อนนู้น

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

วันจันทร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

กุหลาบ สายประดิษฐ์ กับอุดมการณ์ปฏิวัติสยาม พ.ศ.๒๔๗๕


ดร. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ : ผู้วิจัย
คณะอักษรศาสตร์
ภาควิชาประวัติศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ความนำ

การปฏิวัติสยาม ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ เป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญครั้งหนึ่ง ซึ่งนำมาสู่การสร้างประเทศสยามยุคใหม่ ที่น่าสนใจคือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นปัญญาชนร่วมสมัยคนหนึ่ง ซึ่งเริ่มต้นจากการเป็นนักเขียนรุ่นใหม่ ที่เขียนเรื่องอ่านเล่นธรรมดา แต่ในที่สุด กระแสแห่งแนวคิดประชาธิปไตยที่เผยแพร่ในระยะก่อนการปฏิวัติ ก็โน้มนำให้กุหลาบเปลี่ยนแปลงความคิด และกลายเป็นนักคิดที่มีอุดมการณ์แบบใหม่แห่งลัทธิประชาธิปไตย ดังนั้น เมื่อเกิดการปฏิวัติ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ กุหลาบจึงแสดงท่าทีสนับสนุนการปฏิวัติอย่างชัดเจน และได้มีบทบาทสำคัญอย่างมาก ในการวิพากษ์แนวความคิดเรื่องการถือชาติกำเนิด ซึ่งเป็นหลักสำคัญที่รักษาระบบศักดินาฐานันดรก่อนหน้าการปฏิวัติ

ต่อมา เมื่อเวลาผ่านไป จนถึง พ.ศ.๒๔๙๓ ซึ่งกุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้รับอิทธิพลแนวคิดสังคมนิยมแล้วและได้ประพันธ์นวนิยายเพื่อชีวิตเรื่อง "จนกว่าเราจะพบกันอีก" กุหลาบ ก็ยังคงยอมรับในอุดมการณ์ของการปฏิวัติ พ.ศ.๒๔๗๕ เพียงแต่เห็นว่า ในระยะเวลาต่อมา ผู้ก่อการคณะราษฎร ก็ได้กลายเป็นชนชั้นนำรุ่นใหม่ที่มิได้รักษาอุดมการณ์ของตนเอง ลักษณะความคิดเช่นนี้จะเห็นได้ชัดอีกครั้งเมื่อ กุหลาบ เขียนนวนิยายเรื่อง "แลไปข้างหน้า ภาคปฐมวัย" ซึ่งสะท้อนสังคมก่อนการปฏิวัติ จนถึงเรื่อง "แลไปข้างหน้า ภาคมัชฌิมวัย" ซึ่งเป็นเรื่องเล่าหลังการปฏิวัติ พ.ศ.๒๔๗๕ ในบทความนี้ ต้องการที่จะแสดงให้เห็นถึงอุดมการณ์ของคุณกุหลาบ ที่สอดคล้องกับคณะผู้ก่อการคณะราษฎร ที่นำมาสู่จุดยืนที่สนับสนุนการปฏิวัติอย่างไม่เปลี่ยนแปลง


๑.

อุดมการณ์ใหม่ของกุหลาบ สายประดิษฐ์

กุหลาบ สายประดิษฐ์ เกิดเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ร.ศ.๑๒๓ ซึ่งเป็นวันสิ้นปี พ.ศ.๒๔๔๗ ตามปฏิทินเก่า(*)บิดาชื่อ นายสุวรรณ เป็นเสมียนเอกกรมรถไฟ, มารดาชื่อ นางสมบุญ. กุหลาบมีพี่สาว ๑ คน ชื่อ จำรัส ได้รับการศึกษาในวัยเด็กที่โรงเรียนวัดหัวลำโพง จนจบชั้นประถม ๔ จากนั้น เข้าเรียนโรงเรียนทหารเด็กของเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุฒิ และมาเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนเทพศิรินทร์. บิดาของกุหลาบ ถึงแก่กรรมตั้งแต่เมื่อเขาอายุได้ ๖ ปี ทำให้ครอบครัวของเขาต้องอยู่ในฐานะยากจนมาก มารดาของเขาต้องรับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้า ส่วนพี่สาวยึดอาชีพแสดงละครร้อง จึงสามารถที่จะส่งกุหลาบให้เรียนจบจบชั้นมัธยมได้ จากพื้นฐานครอบครัวเช่นนี้ น่าจะทำให้กุหลาบเป็นคนที่มีความรู้สึกเห็นใจคนยากจน และให้ความสำคัญยกย่องความเป็นแม่

(*)ในขณะนั้น วันขึ้นปีใหม่เริ่มที่วันที่ ๑ เมษายน ดังนั้น การคิดว่า กุหลาบ สายประดิษฐ์ เกิด พ.ศ.๒๔๔๘ และ ฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปีใน พ.ศ.๒๕๔๘ นั้น เป็นการคิดแบบง่าย โดยการย้อนตามปฏิทินของระบบปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่อคุณสุรพันธ์ สายประดิษฐ์ ผู้บุตร ยืนยันว่า กุหลาบ สายประดิษฐ์ เกิดปีมะโรง จึงต้องเป็นปี พ.ศ.๒๔๔๗ เพราะ ปี พ.ศ.๒๔๔๘ นั้น เป็นปีมะเส็ง ดูเพิ่มเติมจาก ข้อท้วงติง ของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เกี่ยวกับ ๙๖ ปีศรีบูรพา ใน เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับ ๑๒-๑๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๔)


ในระหว่างที่ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ศึกษาอยู่ชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ เขาก็ได้เริ่มชีวิตการเขียนหนังสือ และเมื่อจบการศึกษาเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๘ แล้ว ก็ได้ประกอบอาชีพในด้านที่จะเป็นนักประพันธ์และนักหนังสือพิมพ์ (*) ที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือ ยุคสมัยที่กุหลาบเริ่มประกอบอาชีพหนังสือพิมพ์นั้น ยังเป็นสมัยของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งสถาปนาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ และยังดำรงอยู่จนถึงรัชกาลที่ ๗

(*) รายละเอียดของประวัติในช่วงนี้ ที่เรียบเรียงได้ดี และแสดงหลักฐานชัดเจน ดูได้จาก สุชาติ สวัสดิ์ศรี. "สุภาพบุรุษ...มนุษยภาพ ศรีบูรพา" กุหลาบ สายประดิษฐ์ คืออิสสรชน คือคนดี คือ ศรีบูรพา. พิมพ์ในงานรำลึก ๑๐๐ ปีชาตกาล กุหลาบ สายประดิษฐ์ ๓๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๘ : ๘๗.


ลักษณะสำคัญของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็คือ การผูกขาดอำนาจทางการเมืองไว้ที่สถาบันกษัตริย์และเจ้านายเชื้อพระวงศ์ โดยราษฎรทั่วไปไม่มีสิทธิทางการเมืองแต่อย่างใด แต่มีหน้าที่จะต้องจงรักภักดีอย่างไม่มีเงื่อนไข นอกจากนี้ในทางสังคมก็ไม่มีความเสมอภาค ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงของผู้คนเห็นได้ชัดเจน โดยมีชาติกำเนิดเป็นหลักสำคัญในการแบ่งชั้นของมนุษย์ เพราะชนชั้นเจ้านายเชื้อพระวงศ์ มีสถานะเหนือกว่าไพร่ฟ้าประชาชนทั่วไป

ราว พ.ศ.๒๔๗๐ มีสถิติว่า กลุ่มเจ้านายมีมากถึง ๑๐๘ องค์ (นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ๒๕๓๕ : ๒๕) ท่านทั้งหมดนี้อยู่ในลำดับสูงของสังคม มีภาษา มีกฎระเบียบในสังคมตนเอง ไม่อาจลดพระองค์ลงมาเท่าเทียมกับราษฎรสามัญได้ ดังนั้น ชนชั้นเจ้านายจึงทรงไว้ซึ่งสถานะอันสูงส่งด้วยชาติกำเนิด และชาติกำเนิดนำมาซึ่งผลประโยชน์จำนวนมาก เช่น ทรงมีเบี้ยหวัดเงินปีจำนวนมาก และเมื่อทรงรับราชการจะเลื่อนตำแหน่งเร็ว ได้รับตำแหน่งสูงโดยง่าย และได้รับพระราชทานเงินเดือนจำนวนมาก ทรงมีวังอันอัครฐานเป็นที่พักอาศัย มีบริวารจำนวนมาก และอยู่ในสถานะอันพึงเคารพสำหรับราษฎรอยู่เสมอ

แต่กระนั้น ระบอบกษัตริย์สมบูรณาสิทธิราชย์ ซึ่งดูเหมือนจะมั่นคง ก็ได้ถูกท้าทายในด้านแนวคิดจากอุดมการณ์ใหม่ นั่นคืออุดมการณ์ประชาธิปไตย ซึ่งมีหลักการสำคัญ ก็คือ การให้คุณค่าแก่ราษฎร โดยเสมอว่าราษฎรเป็นเจ้าของประชาคมทางการเมือง ดังนั้นระบบการเมืองแบบเก่า ที่อำนาจทางการเมืองอยู่ในมือของกษัตริย์และเจ้านายเชื้อพระวงศ์จำนวนน้อยจึงไม่ถูกต้อง ควรที่จะยินยอมให้ราษฎรเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครอง โดยผ่านระบอบปาเลียเมนต์ หรือให้มีรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งของราษฎร

นอกจากนี้ คือ การให้มีหลักประกันในด้านกฏหมายที่จะจำกัดอำนาจของกษัตริย์ ที่เรียกว่า คอนสติติวชั่น หรือ รัฐธรรมนูญ (*) ข้อเรียกร้องเหล่านี้ ถูกนำเสนอมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๘ โดย คณะกราบบังคมทูล ร.ศ.๑๐๓ นำโดย พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ และต่อมา ก็จะถูกนำเสนอในปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยเทียนวรรณ ที่กล่าวว่า ราษฎรนั้นเป็น"สายโลหิตแห่งแผ่นดิน" เป็น "แก้วตาของพระมหากษัตริย์" ดังนั้น จึงควรที่จะมีการแก้ไขวิธีการปกครองให้ทันสมัยโดยให้มีระบอบรัฐสภากล่าวคือ "จะตั้งปาลิเมนอนุญาตให้มีหัวหน้าราษฎรมาพูดธุระชี้แจงของตนต่อราษฎรได้"(**)

(*) ก่อน พ.ศ.๒๔๗๕ คำว่า ปาเลียเมนต์ และ คอนสติติวชั่น นั้นใช้ทับศัพท์ การบัญญัติศัพท์ เป็นคำว่า รัฐสภา และรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นหลัง พ.ศ.๒๔๗๕.

(**) กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้เคยเขียนบทความสดุดีความคิดของเทียนวรรณไว้ในเรื่อง "เทียนวรรณ บุรุษรัตน์ของสามัญชน" ในเดือนมกราคม พ.ศ.๒๔๙๕ เพื่อพิมพ์ในหนังสือเรื่อง เทียนวรรณ ที่ค้นคว้าเรียบเรียงโดยสงบ สุริยินทร์ และหนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรก ใน พ.ศ.๒๔๙๕ นี้เอง


แนวคิดลักษณะนี้ยังสืบทอดต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ เมื่อ เซียวฮุดเสง สีบุญเรือง ออกหนังสือพิมพ์ จีนโนสยามวารศัพท์ เพื่อเผยแพร่อุดมการณ์ของการปฏิวัติประชาธิปไตยในจีน ก็ได้ส่งผลสะเทือนต่อการเผยแพร่แนวคิดประชาธิปไตยในสยามด้วย. ดังนั้น เมื่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ ๗ กระแสเรียกร้องประชาธิปไตยยิ่งรุนแรงมากขึ้น ควบคู่ไปกับการขยายตัวของสำนึกแห่งความเท่าเทียมกันระหว่างมนุษย์ ที่จะทำให้สถานะอันสูงส่งของชนชั้นเจ้านาย เริ่มเป็นที่ไม่ยอมรับมากยิ่งขึ้น ดังปรากฏหลักฐานว่า เพียงเดือนแรกที่ขึ้นครองราชย์ ก็มีนายภักดีกับนายไทย เสนอหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ (สุวดี เจริญพงศ์ ๒๕๑๙ : ๑๐๔)

นอกจากนี้ คำว่า "ปาลิเมนต์และคอนสติติวชั่น" เป็นที่คุ้นเคยกันทั่วไป และได้มีบทความลงหนังสือพิมพ์หลายบทความที่วิจารณ์ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เช่น "เจ้านายกับขุนนาง" ใน บางกอกการเมือง (๒๘ เมษายน ๒๔๗๐) ชี้ว่า มีแต่เจ้านายและขุนนางเป็นผู้บงการประเทศ ราษฎรไม่มีสิทธิแต่ประการใด. บทความเรื่อง "ราษฎรตื่นแล้ว" ใน สยามรีวิว (๑๐ กรกฎาคม ๒๔๗๐) เสนอว่า การเรียกร้องให้มีรัฐสภาเป็นความต้องการของราษฎร ถ้าหากไม่ได้รับการตอบสนองอาจจะมีการเรียกร้องด้วยวิธีรุนแรง ที่เรียกว่า "เลือดกับเหล็ก" และ บทความชื่อ "เห็นว่าเจ้าเป็นตุ้มถ่วงความเจริญ" ออกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ราษฎร (๙ มกราคม ๒๔๗๑) วิจารณ์"พวกเจ้าราชวงศ์ของจีน"ว่าเอาแต่แสวงความสุขส่วนตัว ไม่แก้ปัญหาบ้านเมือง จนในที่สุดราษฎรต้องลุกขึ้นทำการเก๊กเหม็ง(ปฏิวัติ)โค่นเจ้าราชวงศ์เหล่านั้นลง

เมื่อกุหลาบ สายประดิษฐ์ ออกมาเป็น"นักแต่งหนังสือ" ในสมัยต้นรัชกาลที่ ๗ ในระยะแรกก็ยังเป็นเหมือนนักเขียนรุ่นใหม่ธรรมดา ที่เขียนบทความที่ถ่ายทอดความรู้และสื่อความคิด พร้อมกับแต่งเรื่องอ่านเล่น ดังนั้น เรื่องสั้นและนวนิยายที่แต่งและพิมพ์เผยแพร่ในสมัยแรก ในนามปากกาว่า "ศรีบูรพา" จึงเป็นเพียงเรื่องรักที่สอดแทรกคุณธรรมในบางลักษณะ เช่น เรื่องสั้น "วาสนาความรัก" (พ.ศ.๒๔๖๙) ก็อธิบายความเป็นไปของความรักระหว่างหนุ่มสาวด้วยเรื่องของ "วาสนา". ส่วนนวนิยายหลายเรื่องที่ศรีบูรพาแต่งขึ้น (*)๕ เช่น โลกสันนิวาส(แต่ง พ.ศ.๒๔๖๙) ชีวิตสมรส(พ.ศ.๒๔๗๐) (**) มารมนุสส์(พ.ศ.๒๔๗๐) หัวใจปรารถนา(พ.ศ.๒๔๗๐) ต่างก็เป็นเรื่องชิงรักหักสวาทอย่างธรรมดาทั้งสิ้น โดยเฉพาะเรื่อง ปราบพยศ (พ.ศ.๒๔๗๑) นั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับชายหนุ่มชื่อ โกมล ดุสิตสมิต ต้องการที่จะเอาชนะความรักของหญิงงามผู้มีหัวใจปราศจากความรัก คือ ยวนใจ โรหิตบวร ปรากฏว่าในท้ายที่สุด นายโกมลก็สามารถปราบพยศ เอาชนะหัวใจหญิงสาวได้ ซึ่งโครงเรื่องลักษณะนี้ ทำให้นวนิยายเรื่องนี้ เป็นที่นิยมอย่างมากในยุคสมัยนั้น (***)

(*) ความจริงนวนิยายเรื่องแรกที่ตีพิมพ์ของ ศรีบูรพา ใน พ.ศ.๒๔๖๗ เป็นเรื่อง "คุณพี่มาแล้ว" และ "จ้าวหัวใจ" (ดูบันทึกการแต่งหนังสือ ใน "คืออิสสรชน คือคนดี คือ ศรีบูรพา". พิมพ์ในงานรำลึก ๑๐๐ ปีชาตกาล กุหลาบ สายประดิษฐ์ ๓๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๘ : ๑๐๐-๑๐๑. รุ่งวิทย์ สุวรรณอภิชน (๒๕๒๒ : ๙๕) อธิบายว่า นวนิยายเรื่องแรก ของศรีบูรพา คือ "คมสวาทบาดจิต" แต่งานเหล่านี้ยังหาตันฉบับไม่ได้ ปรากฏว่าเรื่อง คมสวาทบาดจิต ไม่ได้ถูกเอ่ยถึงในบันทึกการแต่งเลยด้วยซ้ำ)

(**) น่าจะเป็นเรื่องเดียวกับที่ในบรรทึกการแต่ง เขียนว่า เป็น "ชีวิตวิวาห์"

(***) แต่ต่อมา เรื่อง "ปราบพยศ" กุหลาบ สายประดิษฐ์ เคยประเมินค่าเมื่ออยู่ในคุก เมื่อมีสำนักพิมพ์มาขอพิมพ์ซ้ำเรื่องนี้ในพ.ศ.๒๔๙๗ ว่า "ปราบพยศไม่ได้เรื่องอะไร ผมเขียนตั้งแต่หนุ่มๆ เราได้เงินค่าเรื่องห้าพันก็จริง แต่คนอ่านกลับงมงายตามเราไปด้วย สำนักพิมพ์เท่านั้นที่เป็นผู้ได้" (ไพศาล มาลาพันธ์ ๒๕๒๘ : ๑๘๓)


จนกระทั่งในเรื่องสั้นเรื่อง"เล่นกับไฟ" ตีพิมพ์ในนิตยสารเสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ เดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๗๑ ที่ได้เริ่มสะท้อนถึงอุดมคติในบางลักษณะ ดังที่กุหลาบได้สอดแทรกข้อความในเนื้อเรื่องว่า "ผู้ใดเกิดมาเป็นสุภาพบุรุษ ผู้นั้นเกิดมาสำหรับผู้อื่น"และในนวนิยายเรื่อง "ลูกผู้ชาย" ซึ่งกุหลาบแต่งในปี พ.ศ.๒๔๗๑ เช่นกัน แม้ว่าจะเป็นเรื่องรักประโลมโลกธรรมดา แต่ก็ได้สะท้อนให้เห็นว่า เขาได้รับผลสะเทือนจากความคิดแบบใหม่โดยเฉพาะอุดมการณ์แห่งความเสมอภาคของมนุษย์ ซึ่งหมายถึงการที่มนุษย์ที่เกิดมาย่อมมีฐานะที่เท่าเทียมกัน กุหลาบจึงไม่เห็นด้วยกับสังคมสยามในขณะนั้นที่มีความแตกต่างเหลื่อมล้ำต่ำสูง โดยเฉพาะการคัดค้านสถานะที่ได้จากชาติกำเนิด ดังนั้น นวนิยายเรื่องนี้ก็ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า คุณค่าของความเป็นมนุษย์ไม่ได้อยู่ที่ฐานะและชาติกำเนิด เพราะตัวเอกของเรื่อง คือ มาโนช รักสมาคม มาจากชนชั้นล่าง มีพ่อเป็นช่างไม้ แต่ก็สามารถที่จะอาศัยความตั้งใจจริงในระบบการศึกษา สร้างตนเองจนได้รับราชการเป็นพระวิสุทธิสัตถญาน ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ และยังเป็นคนที่มีคุณธรรมอย่างเสมอต้นเสมอปลาย จนกระทั่งศัตรูคู่แข่งก็ยังต้องยกย่องว่า เป็น"ลูกผู้ชายที่แท้จริง"(*)

(*) ดู จดหมายของตัวละคร ชื่อ คีรี สีตะกำแหง ลูกขุนนางซึ่งเป็นผู้ร้ายในเรื่องนี้ เป็นคู่แค้นที่รังแก มาโนช มาตั้งแต่เด็ก ทั้งยังเป็นชู้และชิงอาภา ภรรยาของมาโนช แต่สุดท้ายต้องยอมรับในคุณธรรมความเป็นลูกผู้ชายของพระวิสุทธิสัตถญาน ดู ศรีบูรพา. ลูกผู้ชาย (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, ๒๕๔๕) : ๒๕๓.


ความคิดเรื่องความเป็น "ลูกผู้ชายที่แท้จริง" กับเรื่อง "ความเป็นสุภาพบุรุษ" น่าจะเป็นเรื่องอันเดียวกันและเป็นเหตุผลหนึ่งในการที่ กุหลาบและเพื่อนมิตรร่วมกันออกนิตยสาร "สุภาพบุรุษ" รายปักษ์ ในเดือนมิถุนายนพ.ศ.๒๔๗๒ โดยมี กุหลาบเอง รับผิดชอบในฐานะบรรณาธิการ, อบ ไชยวสุ ซึ่งร่วมก่อตั้งนิตยสารนี้ เล่าว่า กุหลาบเป็นคนตั้งชื่อนิตยสารเอง เพราะกุหลาบได้กล่าวว่า "ผมคิดอยู่นานแล้วว่าจะใช้คำว่า "สุภาพบุรุษ"เป็นชื่อหมู่คณะที่เราจะรวมตัวกันขึ้น" (ฮิวเมอริสต์ ๒๕๓๑ : ๑๖๕) ดังนั้นในเรื่อง"พูดกันฉันท์เพื่อน" ที่กุหลาบ เขียนในนิตยสารสุภาพบุรุษฉบับปฐมฤกษ์ ได้อธิบายถึงความหมายของสุภาพบุรุษ โดยดึงเอาประโยคสำคัญมาจากเรื่อง"เล่นกับไฟ" ดังความว่า

หัวใจของความเป็นสุภาพบุรุษ อยู่ที่การเสียสละเพราะการเสียสละเป็นบ่อเกิดของคุณความดีร้อยแปดอย่าง หากผู้ใดขาดภูมิธรรมข้อนี้ ผู้นั้นยังไม่เป็นสุภาพบุรุษโดยครบครัน ถ้าจะอธิบายความหมายของสุภาพบุรุษให้กระชับเข้า ก็จำต้องยืมถ้อยคำที่ว่า "ผู้ใดเกิดมาเป็นสุภาพบุรุษ ผู้นั้นเกิดมาสำหรับคนอื่น"(อ้างใน สุชาติ สวัสดิ์ศรี ๒๕๔๘ : ๙๓) แม้ว่า ความคิดเรื่องลูกผู้ชาย และสุภาพบุรุษ ของกุหลาบในที่นี้จะโยงเข้ากับอุดมคติแห่งการเสียสละ แต่ก็ยังเห็นได้ว่า เป็นความคิดที่มีลักษณะของบุรุษนิยม หรือแนวคิดชายเป็นใหญ่ (*) ได้อย่างชัดเจน เหมือนกับแนวคิดของชายทั่วไปในสังคมสยาม

(*) แนวความคิดบุรุษนิยม หรือชายเป็นใหญ่ คือ แนวคิดที่ถือว่า ชายมีสิทธิและศักดิ์เหนือสตรี ซึ่งรวมไปถึงลักษณะการกำหนดให้คุณธรรมหรือความดีงามในบางลักษณะ ผูกโยงเข้ากับความเป็นเพศชาย เช่น ความเป็นลูกผู้ชาย หรือความเป็นสุภาพบุรุษ ที่โยงเข้ากับสัจจะหรือการรักษาคำพูด ความมีน้ำใจนักกีฬา ความสุภาพเรียบร้อย และในกรณีนี้ คือ การเสียสละต่อผู้อื่น ความจริงคุณธรรมเหล่านี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเป็นลูกผู้ชาย หรือสุภาพบุรุษอะไรเลย เพราะลูกผู้หญิง หรือ สุภาพนารี ก็มีได้เช่นกัน


กุหลาบยังมิได้มีความคิดก้าวหน้าถึงขั้นที่จะเข้าใจเรื่องสิทธิสตรี ลักษณะเช่นนี้จะเห็นได้ชัดมากขึ้นในนวนิยายเรื่อง แสนรักแสนแค้น (พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ไทยใหม่ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๓) ซึ่งกุหลาบวางโครงเรื่องให้จุไร สตรีที่เป็นคนรักของนายพโยม สิงหยรรยง ไปแต่งงานกับคนอื่น ปรากฏว่าพโยมได้ประนามจุไรอย่างรุนแรง และลงมือแก้แค้นด้วยความพยาบาท ปราศจากความเห็นใจหรือให้อภัย และจบเรื่องลงท้ายด้วยความตายอย่างไร้เกียรติของจุไร ซึ่งถ้าประเมินจากพฤติกรรมในเนื้อเรื่องแล้ว ต้องถือว่า พโยมเป็นคนชั่วยิ่งกว่าจุไรผู้ไม่ซื่อสัตย์มากมาย (*)

(*) ดู ศรีบูรพา แสนรักแสนแค้น. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, ๒๕๒๙). ความจริงน่าจะถือได้ด้วยซ้ำว่า นวนิยายเรื่องนี้ เป็นนวนิยายที่เนื้อหาแย่ที่สุดของศรีบูรพา.


ความสนใจเรื่องสิทธิของมนุษย์เห็นได้ชัดเจนเมื่อกุหลาบ สายประดิษฐ์ เขียนบทความเรื่อง "มนุษยภาพ"ลงใน หนังสือพิมพ์ไทยใหม่ เริ่มตอนแรกในฉบับวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๔ แต่บทความชุดนี้ยังไม่จบสมบูรณ์ก็เกิดปัญหา เพราะหลวงวิจิตรวาทการ(กิมเหลียง วัตนปฤดา)และคณะได้เข้ามาถือหุ้นในไทยใหม่ และมีนโยบายไม่ต้องการให้วิจารณ์ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กุหลาบจึงนำบทความมาปรับปรุงแล้วพิมพ์ซ้ำอีกครั้งเป็น ๓ ตอนในหนังสือพิมพ์ศรีกรุง เริ่มในฉบับวันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ.๒๔๗๔(ปฏิทินเก่า) ในบทความนี้ กุหลาบได้แสดงจุดมุ่งหมายในส่วนนำเกี่ยวกับความเท่าเทียมระหว่างมนุษย์ว่า - ข้าพเจ้าเขียนเรื่องนี้ ด้วยความมุ่งหมายที่จะปรับฐานะของมนุษย์ให้ได้ระดับอันทุกคนควรจะเปนไปได้ -

ในบทความ กุหลาบได้เริ่มด้วยคำถามว่า "มนุษยภาพหรือความเปนมนุษย์ หรือ ความเปนคนควรวางอยู่บนลักษณะอย่างไร" จากนั้น ก็ได้พูดถึง "สิทธิ" โดยตั้งคำถามว่า เหตุใดในประเทศสยามจึงไม่มีการนำพาในเรื่องสิทธิ. คำตอบของกุหลาบ ในเรื่องนี้ ก็คือสัจจะ หรือความจริง ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับความซื่อตรง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับความเป็นมนุษย์ จากนั้นก็ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การโกหกตอแหล การหลอกลวง ซึ่งตรงข้ามกับความจริงนั้น ได้ก่อกำเนิดจากคณะรัฐบาลและคนชั้นสูง และว่า "บุคคลผู้มีอำนาจ อันประกอบด้วยชาติตระกูล ด้วยยศศักดิ์ หรือด้วยเงินก็ตาม มักจะไม่ใคร่อยู่กันสัจจะหรือความเป็นจริง"

ปรากฏว่าบทความเรื่อง"มนุษยภาพ" นี้เองเป็นเหตุให้ พล.ต.ท.พระยาอธิกรณประกาศ (หลุย จาติกะวณิชย์) อธิบดีกรมตำรวจภูธรสั่งปิดแท่นพิมพ์ของหนังสือพิมพ์ศรีกรุง และทำให้พระยาอุปการศิลปเสรฐ(อั่น ชัชกุล) ซึ่งเป็นบรรณาธิการถูกถอนใบอนุญาต หนังสือพิมพ์ศรีกรุงปิดได้ ๙ วัน ก็ได้เปิดดำเนินการใหม่ โดยเปลี่ยนบรรณาธิการเป็น นายเจริญ วิสิษฐ์

นอกจากนี้ ใน พ.ศ.๒๔๗๔ นี้ กุหลาบ ก็ได้เขียนนวนิยายเรื่อง "สงครามชีวิต" เป็นรูปจดหมายโต้ตอบระหว่างคนรัก คือ นางสาวเพลินกับระพินทร์ ยุทธศิลป์

(*) โดยในจดหมายรักเหล่านี้ ก็ได้มีการแลกเปลี่ยนทัศนะในเชิงวิจารณ์สังคมไทย โดยเฉพาะในเรื่องช่องว่างทางเศรษฐกิจ ซึ่งสะท้อนให้เห็นสำนึกเกี่ยวกับความเป็นธรรมในสังคม เช่นการที่กุหลาบได้อธิบายถึง ความแตกต่างระหว่างคนยากจนและคนมั่งมีไว้ว่า - คนยากจนต้องต่อสู้อย่างหนัก เพื่อความเป็นอยู่อันจำเป็น คนมั่งมีต่อสู้เพื่อการสะสม แล้วในที่สุด ไปจากโลกนี้ คนทั้งสองประเภทก็ไปทำนองเดียวกัน คือไปด้วยมือเปล่าแท้ๆ - และด้วยความยากจนของคนทั้งสองนี้เอง ที่ทำให้เพลินตัดสินใจไม่แต่งงานกับระพินทร์ แต่ไปแต่งงานกับ วินัย บูรณเกียรติ ที่มีฐานะการเงินอันมั่นคงกว่า นวนิยายเรื่องนี้ จึงเป็นเรื่องชีวิตของคนยากจน ที่จบลงด้วยความไม่สมหวัง ไม่ได้จบด้วยความสุขสมหวังเหมือนนวนิยายพาฝันทั่วไป. นอกจากนี้ ยังอาจได้ตีความว่า "สงครามชีวิต" เป็นนวนิยายไทยเรื่องแรกที่มีเป้าหมายเสนอปัญหาสังคม และวิพากษ์วิจารณ์สังคมอย่างเน้นความสำคัญจนถึงเ ป็นแก่นเรื่อง (ตรีศิลป์ บุญขจร ๒๕๒๕ : ๔๒)

(*) นวนิยายเรื่อง สงครามชีวิต นี้ ศรีบูรพา นำรูปแบบการเขียนจดหมายตอบโต้ กับลักษณะเนื้อหา มาจาก นวนิยายเรื่อง "รักของผู้ยากไร้" (Poor People) ของ ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี นักเขียนชาวรุสเซีย ซึ่ง ศรีบูรพา สอดแทรกเรื่องของดอสโตเยฟสกี้ไว้ โดยที่ระพินทร์ได้เล่าเรื่องนักเขียนผู้นี้ให้เพลินทราบในจดหมายฉบับหนึ่ง และสุดท้ายก็ให้เพลินเขียนตอบไว้ตอนหนึ่งว่า "ระพินทร์จงตั้งต้นชีวิตใหม่ ชีวิตที่ลือนามของนักประพันธ์ตามความใฝ่ฝันของเธอ ดิฉันอนุญาตให้เธอนำเรื่องราวของเราเขียนเป็นหนังสือเล่มแรก ดิฉันเชื่อมั่นว่า เธอจะได้รับความสำเร็จเช่นเดียวกับที่ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี้ ได้รับจากเรื่อง Poor People ของเขา" ดู ศรีบูรพา. สงครามชีวิต. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์คลังวิทยา, ๒๕๑๘), หน้า ๒๔๓.



๒.

กุหลาบ สายประดิษฐ์กับการปฏิวัติ ๒๔๗๕

เมื่อเกิดการปฏิวัติเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ แล้ว กุหลาบ สายประดิษฐ์ จึงมีท่าทีสนับสนุนการปฏิวัติโดยทันที โดยแรกสุด หนังสือพิมพ์ศรีกรุง ที่มี กุหลาบ ร่วมในกองบรรณาธิการ ได้มีท่าทีในทางตอบรับต่อการปฏิวัติ จากนั้นใน ศรีกรุง ฉบับวันที่ ๕ กรกฏาคม พ.ศ.๒๔๗๕ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้เขียนเรื่อง "สร้างสยามใหม่ในชั่วเวลา ๗ วัน" อธิบายให้เห็นคุณูปการของการปฏิวัติครั้งนี้อย่างชัดเจนว่า ภายในเวลา ๗ วัน คณะราษฎรได้ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่กษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ทำไม่ได้ นั่นคือ การดำเนินการให้มีธรรมนูญการปกครองและให้มีสภาราษฎรในสยาม และยกย่องคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยใช้คำว่า "คณะรักชาติ" ดังใจความตอนหนึ่งว่า

"ในช่วงเวลา ๗ วัน คณะรักชาติได้พิสูจน์ให้เราเห็นความสามารถอันยิ่งใหญ่ เราได้ธรรมนูญการปกครองที่กษัตริย์อยู่ใต้กฏหมาย เปนธรรมนูญที่ให้สิทธิแก่ประชาราษฎรอย่างสมบูรณ์ ในอันที่จะแสดงความคิดเห็นในการบ้านเมือง" และแสดงความชื่นชมว่า "คณะราษฎร์ได้ยกภูเขาทั้งลูกผ่านพระเจ้าแผ่นดินไปแม้โดยใกล้ชิด ก็มิได้กระทำอาการซวนเซให้กระทบกระทั่งพระวรกายของพระองค์ คณะราษฎร์ได้ผ่านพระองค์ไปด้วยความเคารพ. จากนั้น ก็สรุปว่า การปฏิวัติครั้งนี้ เป็นไปเพื่อความดีงามของคนไทย ชาติไทย บ้านไทยเมืองไทย" ไม่ใช่เพียงแต่ในวันนี้เท่านั้น แต่จะเป็นมรดกตกทอดไปในอนาคตด้วย

การสนับสนุนของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่มีต่อ"คณะรักชาติ"ที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง มิได้เป็นเพียงการแสดงท่าทีเห็นด้วยกับการปฏิวัติเท่านั้น แต่ยังนำเสนออย่างชัดเจน ถึงอุดมการณ์แห่งการปฏิวัติ ดังนั้นกุหลาบ จึงได้เขียนบทความ ๓ ตอนครั้งใหม่ โดยบทความแรกนั้น ลงในศรีกรุง ฉบับวันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๕ ในชื่อว่า "สมรรถภาพของสยามใหม่อยู่ที่ไหน" เขาได้เสนอว่า ชีวิตของประเทศนั้นควรจะผูกไว้กับความจริง และชี้ให้เห็นว่า ในอดีตที่ผ่านมานั้น ราษฎรสยามถูกอบรมให้เชื่อมั่นในเรื่องชาติกำเนิดของบุคคลมากเกินไป ดังนี้


ตลอดเวลา ๑๕๐ ปี ในอายุของกรุงเทพฯมหานคร เราได้รับการอบรมให้มีความเชื่อมั่นและเคารพบูชาในชาติกำเหนิดของบุคคล พอเรามีเดียงสาที่จะเข้าใจความหมายของคำพูดได้ ปู่ย่าตายายก็อบรมสั่งสอนให้เราบูชาชาติกำเหนิดของบุคคล ท่านให้บูชาทุกคนที่กำเนิดมาในสกุลของราชวงศ์จักรี ท่านให้เราเรียกผู้เป็นประมุขของชาติไทยว่า เจ้าชีวิต เราถามว่าทำไมต้องเรียกเจ้าชีวิต ท่านตอบว่าเจ้าชีวิตสามารถที่จะสั่งตัดหัวใครๆ ได้ ตั้งแต่นั้นมาเราก็กลัวเจ้าชีวิต เรากลัวทุกๆ คนที่เป็นพี่น้องของเจ้าชีวิต เรากลัวโดยไม่มีเหตุผล เรากลัวเพราะถูกอบรมมาให้กลัว เราเรียกทุกๆ คนในครอบครัวอันใหญ่ที่สุดนี้ว่า เจ้านาย เมื่อเราพูดถึงเจ้านาย เราจะต้องพูดว่าเจ้านายที่เคารพทุกครั้งไป กฎหมายไม่ได้บังคับให้เราพูด แต่จารีตประเพณีและการอบรมบังคับให้เราพูดเอง

เราพากันเคารพบูชาเจ้านาย เพราะเจ้านายเป็นผู้บันดาลให้เกิดความสำเร็จแทบทุกชะนิด ทุกๆ คนที่หวังความสุข พยายามอยู่ในโอวาท และในความรับใช้ของเจ้านาย เราพากันพิศวงงงงวยในความสามารถของท่าน เราคิดว่าถ้าขาดครอบครัวของท่านเสียครอบครัวเดียว สยามจะต้องล่มจม ไม่มีใครปกครองประเทศได้ดีเท่าพวกท่าน ดังนั้นเราจึงถือความเชื่อมั่นกันมาว่า สิ่งสำคัญในตัวบุคคลคือ ชาติกำเนิด ผู้ที่เกิดมาเปนเจ้านาย จะต้องเป็นที่เคารพทุกคน เจ้านายจะต้องเปนคนดีทั้งนั้น จะเปนคนชั่วไม่ได้เลย นอกจากพวกเจ้านายแล้ว เราไม่เชื่อในความรู้ความสามารถของใคร เราไม่เชื่อว่าบุคคลอื่นจะบันดาลให้เกิดความสำเร็จได้


ต่อมาในศรีกรุงฉบับวันที่ ๑๒ กรกฏาคม พ.ศ.๒๔๗๕ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้เสนอบทความตอนที่ ๒ ที่ชัดเจนมากขึ้นในบทความที่ชื่อว่า"ชาติกำเนิดไม่ใช่สมรรถภาพของคน"โดยมีความขยายว่า -พระพุทธเจ้าสอนไม่ให้ยึดบุคคลเปนหลัก พระราชวงศ์อาจมีทั้งที่ฉลาดและโง่- ในส่วนนี้ กุหลาบ อธิบายเพิ่มเติมว่า


ตามความอบรมที่เราได้รับสืบต่อกันมา ทำให้เราเชื่อกันโดยมากว่า พระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายทุกองค์เปนผู้ทำอะไรไม่ผิด ทุกสิ่งทุกอย่างที่ท่านทรงกระทำ พวกเรายอมรับกันว่าเปนสิ่งถูกต้องดีงามอยู่เสมอ ครอบครัวของราชวงศ์จักรีเปนปาปมุติ คือ เปนผู้ที่พ้นจากบาป ไม่เคยทำอะไรผิดและจะไม่ทำผิด เรารับรองคติอันนี้โดยอาการที่เราไม่ตำหนิ หรือทักท้วงการกระทำทุกอย่างของพระเจ้าแผ่นดินและพระราชวงศ์ เราทำตัวเหมือนลิ่วล้อตามโรงงิ้ว คือ ร้องฮ้อทุกครั้ง ไม่ว่าตัวงิ้วหัวหน้าจะพูดอะไรออกมา

แท้จริงพวกเจ้านายก็เปนมนุสส์ปุถุชนเหมือนอย่างพวกเราๆ นี่เอง ย่อมจะข้องอยู่ในกิเลสอาสวะ มีราคะ โลภะ โทสะ โมหะ ดุจคนทั้งปวง เมื่อบุคคลในครอบครัวทั้งหลายอื่น ซึ่งมีอยู่ไม่กี่คนในครอบครัวหนึ่ง ก็ยังมีคนดีคนชั่ว คนทำถูก ทำผิด คลุกคละปะปนอยู่ด้วยกันทั้งสิ้นฉะนี้ เหตุใดครอบครัวของเจ้านาย...จึงกลายเปนคนดีคนทำถูกไปเสียทั้งหมด


กุหลาบได้วิพากษ์ว่า การนับถือชาติกำเนิดในลักษณะเช่นนี้ เป็นการฝ่าฝีนความเป็นจริง และขัดกับหลักธรรมของพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธองค์ไม่ได้สอนสาวกให้ยึดเอาชาติกำเนิดหรือตัวบุคคล เป็นเครื่องวินิจฉัย ดังนั้น การยกเอาชาติกำเนิดมาเป็น"เครื่องชั่งน้ำหนัก" จึงถือว่า "เป็นการหลงผิดอย่างงมงาย" แต่กระนั้น กุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็เสนออย่างชัดเจนว่า ข้อเสนอทั้งหมดนี้ มิได้กระทำโดยมุ่งที่จะละเมิดเดชานุภาพของกษัตริย์ โดยอธิบายว่า


ข้าพเจ้ามิได้ตั้งใจจะลบหลู่พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์ใดๆ ที่ได้มีอยู่กับประเทศสยาม ข้าพเจ้าย่อมรู้สึกในพระมหากรุณาธิคุณของกษัตริย์เปนอย่างดี เพียงแต่ข้าพเจ้าตั้งใจจะให้คนทั้งปวงตกหนักในความจริงว่า ชาติกำเนิดมิได้เปนเครื่องวัดความดีความชั่ว ความสามารถ และไม่สามารถของบุคคล

(ศรีกรุง ๑๒ กรกฎาคม ๒๔๗๕ : ๑)


ต่อมา ในวันที่ ๑๖ และ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๕ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็ได้เสนอตอนที่ ๓ ของบทความ ในชื่อว่า "ความเชื่อมั่นของสยามใหม่ อยู่ที่คุณวุฒิและคุณธรรมของบุคคล" โดยอธิบายว่า คุณวุฒิและคุณธรรมของบุคคลนั่นเอง คือสิ่งที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จอันชอบธรรม ไม่ใช่ชาติกำเนิดและวัยวุฒิ ข้อพิสูจน์ของเขาก็คือ ความสำเร็จของการปฏิวัติ ๒๔ มิถุนายน ซึ่งกระทำการโดยคนรุ่นหนุ่มที่ไม่สูงด้วยวัยวุฒิ และมิได้มีชาติกำเนิดอันสูงส่ง กุหลาบชี้ว่า "เราเรียกแผนการปกครองของคณะราษฎร ว่าเป็นการกระทำที่ชอบธรรมได้เต็มปาก การเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพ และสมภาพ อันผู้เรียกร้องพึงมีพึงได้นั้น ใคร่เล่าจะบังอาจคัดค้านว่า เป็นการกระทำที่มิชอบด้วยทำนองคลองธรรม"

และเสนอต่อไปว่า บุคคลที่ทำกรรมดีเท่านั้น จึงควรได้รับการยกย่องสรรเสริญ เราพึงเคารพบูชาความดีและความสามารถของคนเป็นข้อใหญ่ โดยไม่ต้องใส่ใจว่าคนๆ นั้นจะเป็นใคร เพราะแม้กระทั่งเจ้านายที่ประกอบด้วยคุณวุฒิและคุณธรรม ก็มีสิทธิเสรีภาพเหมือนกับราษฎรทั้งหลาย จากนั้นก็ได้อธิบายการปิดฉากของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ว่า


สมัยแห่งการโกหกตอแหลเจ้าเอย ขอให้เจ้าได้ตายอย่างสนิทเถิด เจ้าอย่าเพียงแต่สลบ เจ้าจงอย่าได้ห่วงใยในบุคคลที่รักของเจ้าเลย สมัยของความสัตย์จริงจะเลี้ยงดูคนที่รักของเจ้าให้มีทั้งความสุขและความเจริญ ถ้าเขาจะไม่ทำตัวเปนปรปักษ์กับสมัยของเรา เจ้าจงตายให้สนิทและไปเกิดในนรก ซึ่งเปนบ้านเกิดเมืองนอนของเจ้าเถิด ประเทศสยามได้กล่าวคำอำลาเจ้าแล้ว

(ศรีกรุง ๑๗ กรกฎาคม ๒๔๗๕ : ๕)


หลังการปฏิวัติ พ.ศ.๒๔๗๕ ม.จ.วรรณไวยากร วรวรรณ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มเจ้านายที่สนับสนุนการปฏิวัติ ต้องการที่จะออกหนังสือพิมพ์การเมืองเพื่อเสริมสร้างความรู้ในด้านประชาธิปไตยแก่ประชาชน จึงได้ชักชวนให้กุหลาบ สายประดิษฐ์ เข้ารับตำแหน่งบรรณาธิการ และชักชวนเพื่อนของกุหลาบหลายคนร่วมในกองบรรณาธิการด้วย หนังสือพิมพ์นี้ออกฉบับปฐมฤกษ์ ในวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๗๕ และกลายเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับสำคัญในสมัยแห่งการบริหารของคณะราษฎร

ใน พ.ศ.๒๔๗๘ กุหลาบ ได้เขียนลำนำสั้นเรื่อง "แม่ทำอะไรบ้างหนอ" รวมพิมพ์ในหนังสือ แม่จ๋า ซึ่งเป็น หนังสือชุมนุมบทกวี พิมพ์ในงานฌาปนกิจศพของคุณแม่บุญเกิด ปาจิณพยัคฆ์ มารดาของหลวงสารานุประพันธ์(นวล ปาจิณพยัคฆ์) ในลำนำบทนี้ กุหลาบได้เขียนยกย่องความเป็นแม่ว่า ได้ทำงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุด โดยไม่มีใครมองเห็น และที่น่าสนใจก็คือ การที่กุหลาบเปรียบเทียบผลงานที่ยิ่งใหญ่ของแม่ กับงานสำคัญจำนวนมากในโลก เช่น การค้นพบอเมริกาของโคลัมบัส การค้นพบยาแก้พิษสุนัขบ้าของปาสเตอร์ การค้นพบเครื่องจักรไอน้ำของเจมส์ วัตต์ การรวมอาณาจักรเยอรมนีของ บิสมาร์ค และพ่วงท้ายด้วยงานของ ท่านเจ้าคุณพหลฯและคณะ ที่ทำให้ประเทศสยามได้มีรัฐธรรมนูญขึ้น ซึ่งชี้ให้เห็นว่า กุหลาบ ยังถือว่าการปฏิวัติ พ.ศ.๒๔๗๕ เป็นการกระทำที่ยิ่งใหญ่อยู่เสมอ

พ.ศ.๒๔๗๙ พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีกลาโหม มีบทบาททางการเมืองมากยิ่งขึ้น ได้เกิดปัญหาในกองบรรณาธิการเพราะฝ่ายของ พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม เห็นว่า ประชาชาติแสดงท่าทีสนับสนุน พ.อ.พระยาทรงสุรเดช ซึ่งเป็นคู่แข่งทางการเมืองของตน เพื่อไม่ให้ความขัดแย้งถึงขั้นแตกหัก กุหลาบ สายประดิษฐ์ จึงลาออกจากตำแหน่งบรรณาธิการ และเดินทางไปดูงานที่หนังสือพิมพ์อาซาฮี ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลา ๖ เดือน ในระหว่างเดือนพฤษภาคม-พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๙ ซึ่งในโอกาสนี้เอง ที่เขาได้เก็บข้อมูลมาเขียนนวนิยายเรื่องสำคัญ คือเรื่อง "ข้างหลังภาพ" ลงในหนังสือพิมพ์ประชาชาติใน พ.ศ.๒๔๘๐

นวนิยายเรื่อง"ข้างหลังภาพ" นี้ เป็นเรื่องรักสะเทือนใจที่เป็นที่นิยมที่สุดของศรีบูรพา นวนิยายเรื่องนี้สะท้อนถึงภาพของ หม่อมราชวงศ์กีรติ ซึ่งเป็นสตรีชั้นสูงในสังคมเก่า ซึ่งมีแนวโน้มที่จะต้องอยู่เป็นโสดตลอดชีวิต. แต่เนื่องจากปฏิวัติ พ.ศ.๒๔๗๕ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข ที่ทำให้เชื้อพระวงศ์มีโอกาสสมรสกับสามัญชน(*) หม่อมราชวงศ์กีรติ จึงต้องเลือกแต่งงานเมื่ออายุ ๓๕ ปี กับพระยาอธิการบดี ที่เป็นขุนนางอายุ ๕๐ ปี และเดินทางไปฮันนีมูนที่กรุงโตเกียว ปรากฏว่า เธอได้ไปรู้จักกับนพพร นักเรียนไทยอายุ ๒๒ ปี และได้สนิทสนมกันจนกลายเป็นความรัก

(*) ในสังคมก่อนการปฏิวัติ มีแต่เจ้านายผู้ชายเท่านั้น ที่สามารถรับเอาสตรีสามัญเป็นชายาได้ ส่วนเจ้านายผู้หญิงต้องสมรสกับเจ้านายด้วยกันเองเท่านั้น ไม่อาจลดองค์มาสมรสกับสามัญชนได้เลย หรืออีกนัยหนึ่ง ชายสามัญชนก็ไม่อาจที่จะอาจเอื้อมไปสมรสกับสตรีเชื้อพระวงศ์ได้ กฏระเบียบลักษณะนี้ ได้ถูกคณะราษฎรยกเลิกหลังการปฏิวัติ


นพพรได้สารภาพรักกับหม่อมราชวงศ์กีรติ ขณะที่ทั้งคู่ไปเที่ยวธารน้ำตกที่มิดาเกาะ แต่หม่อมราชวงศ์กีรติ แม้ว่าจะรักนพพรก็ตาม ก็ไม่อาจจะตอบรับความรักได้ ต่อมาเมื่อหม่อมราชวงศ์กีรติกลับมาประเทศไทย และเวลาผ่านไป ความรักของนพพรก็เลือนลางจืดจางลง จนเมื่อจบการศึกษาก็กลับมาแต่งงานกับสตรีคนอื่น ขณะที่หม่อมราชวงศ์กีรติ ยังคงยึดมั่นในความรัก และต่อมาเธอก็ล้มป่วยเป็นวัณโรคและเสียชีวิตพร้อมกับความรักนั้น ความตายของหม่อมราชวงศ์กีรติ จึงถือเป็นการสะท้อนถึงการล่มสลายของชนชั้นสูงหลังการปฏิวัติ พ.ศ.๒๔๗๕

นอกจากนี้คือเรื่อง "ป่าในชีวิต" ซึ่งกุหลาบส่งลงพิมพ์เป็นตอนๆ ในหนังสือพิมพ์สยามนิกร เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๐ ในเรื่องนี้ กุหลาบ ได้แต่งให้ตัวเอกของเรื่อง คือ นายร้อยโทนิกร เสนีบริรักษ์ เป็นหนึ่งในนายทหารที่เข้าร่วมในกบฏบวรเดช และต้องถูกจับกุมติดคุกถึง ๔ ปี แต่แก่นของนวนิยายเรื่องนี้ มิได้เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองโดยตรง และกุหลาบก็ไม่ได้ต้องการสะท้อนจุดยืนว่าจะสนับสนุนฝ่ายรัฐบาลคณะราษฎร หรือฝ่ายกบฏบวรเดช เพียงแต่ต้องการอธิบายผลกระทบทางการเมืองต่อชะตากรรมของนิกร และความรักของเขากับนางเอกของเรื่องที่ชื่อ กันยา. เรื่องนี้จบลงด้วยการเสียสละของนิกร ที่ตัดสินใจไปจากชีวิตของกันยา แต่ที่น่าสนใจคือ ศรีบูรพาน่าจะเป็นคนแรกที่หยิบเอาเรื่องเหตุการณ์ทางการเมืองร่วมสมัยอันใกล้ตัว มาผูกเรื่องแต่งเป็นนวนิยาย ซึ่งยังไม่ปรากฏเห็นชัดในนวนิยายไทยสมัยก่อนหน้านี้

วันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๑ สนิท เจริญรัฐ และกลุ่มเพื่อนได้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ประชามิตร โดยมีบริษัทไทยวิวัฒน์ ของ นายวรกิจบรรหาร(พงษ์ รังควร) เป็นเจ้าของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็ได้เข้าร่วมงานด้วย ต่อมาเมื่อประชามิตรเป็นที่นิยม บริษัทไทยวิวัฒน์ก็ได้ออกหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ ขึ้นมาอีกฉบับหนึ่ง โดยกุหลาบเข้ารับตำแหน่งบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฉบับนี้จะมีบทบาทมากขึ้น ในการวิจารณ์และท้วงติงรัฐบาล เมื่อ นายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๑ เป็นต้นมา และเริ่มบริหารประเทศด้วยนโยบายรัฐนิยม พร้อมกับมีแนวโน้มในทางทหารนิยมเผด็จการมากขึ้น ที่เห็นได้ชัดในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๓ คือ การที่รัฐบาลหลวงพิบูลสงคราม สนับสนุนให้ยืดบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๔๗๕ เพื่อจะครองอำนาจไปอีก ๑๐ ปี

ในกรณีนี้ หนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ ได้แสดงความเห็นว่า สภาผู้แทนราษฎรกำลังเอาสิทธิของประชาราษฎรไปจำหน่ายโอนโดยพลการ และเสนอความเห็นว่า หากรัฐบาลต้องการยืดบทเฉพาะกาล เพื่อจะบริหารประเทศต่อไป ก็ควรที่จะให้สิทธิแก่ประชาชนในการเลือกตั้งรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศอีกครั้ง เพราะจะเป็นหนทางเดียวที่ทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลปฏิบัติตามระบอบประชาธิปไตย และเป็นรัฐบาลของประชาชนอย่างแท้จริง (นุศรา อะมะรัสเสถียร ๒๕๓๒ : ๘๑)

ต้นปี พ.ศ.๒๔๘๔ รัฐบาลหลวงพิบูลสงครามได้รับชัยชนะในสงครามอินโดจีน และได้ดินแดนคืนจากฝรั่งเศส ๔ จังหวัด ในโอกาสนี้ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ได้เลื่อนให้นายกรัฐมนตรี ได้รับยศจอมพลคนแรกหลัง พ.ศ.๒๔๗๕ เป็นจอมพล หลวงพิบูลสงคราม. กุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็ได้เขียนวิจารณ์แนวนโยบายของรัฐบาลที่โน้มไปในทางอำนาจนิยม และสนับสนุนญี่ปุ่น ต่อมาในระหว่างวันที่ ๔ พฤษภาคม - ๑๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๔ ก็ได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง "เบื้องหลังการปฏิวัติ"(*) ลงในหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ

(*) บทความนี้ เดิมใช้ชื่อว่า "เบื้องหลังการปฏิวัติ" เพราะในขณะที่เขียนเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๔ การปฏิวัติยังมีครั้งเดียว ต่อมาเมื่อมีการก่อการรัฐประหารและปฏิวัติอีกหลายครั้ง หนังสือที่ตีพิมพ์ใหม่ จึงเติม ๒๔๗๕ ลงไป เพื่อให้เป็นที่เข้าใจชัดเจน (ทวีป วรดิลก ๒๕๔๕ : ๑๔๕)


ในกรณีนี้ ได้นำมาสู่ความไม่พอใจแก่ผู้นำในคณะรัฐบาล จนในวันที่ ๑๑ มิถุนายนนั้นเอง ได้มีการกล่าวโจมตีบทความนี้ ทางวิทยุกระจายเสียงในรายการของนายมั่นนายคง ซึ่งเป็นรายการโฆษณาของฝ่ายรัฐบาล (*)๑๔ จนกระทั่ง ในวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๔ สมาชิกในสภาราษฎร ต้องตั้งข้อถามในทำนองประท้วงต่อรัฐบาล และนายกรัฐมนตรีต้องตอบต่อข้อถามในเรื่องนี้ต่อสมาชิกสภาอย่างเป็นทางการ แม้ว่าจะเกิดเหตุเช่นนั้น หนังสือพิมพ์ สุภาพบุรุษ ก็มิได้มีท่าทีอ่อนข้อจนนายกรัฐมนตรี ต้องมีจดหมายส่วนตัวมาถึงกุหลาบ ๒ ฉบับ ในวันที่ ๑๗ มิถุนายน และ ๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๔ ด้วยน้ำใสไมตรีอันปลอบประโลมใจ แต่กุหลาบ ได้เขียนตอบไปว่า "ถึงแม้มีความผูกพันฉันทไมตรีและนับถือกันดีอยู่ แต่ตราบเท่าที่อยู่ในหน้าที่แล้ว เมื่อมีเหตุการณ์สลักสำคัญที่ต้องวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ข้าพเจ้าก็จำเป็นจะต้องกระทำต่อไป" (กุหลาบ สายประดิษฐ์ ๒๔๙๐ : ๑๓)

(*) โดยข้อโจมตีก็คือ การนำเบื้องหลังการปฏิวัติมานำเสนอ จะทำให้ผู้ก่อการทุกท่านที่ยังมีชีวิตอยู่เกิดความกระดากใจ เพราะทุกท่านทำการปฏิวัติโดยเสียสละแล้วทุกอย่าง โดยไม่หวังผลตอบแทน และยังเสนอด้วยว่า การเสนอเบื้องหลังการปฏิวัติ จะก่อให้เกิดความรู้สึกกระทบกระเทือนแก่ความรู้สึกของคนบางหมู่บางคณะ ซึ่งกุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็ได้ตอบโต้ข้อวิจารณ์เหล่านี้และชี้ให้เห็นว่าเป็นข้อโจมตีอันไร้เหตุผล


นอกจากนี้ กุหลาบ สายประดิษฐ์ และหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ ยังมีบทบาทในการคัดค้านการแทรกแซงเสรีภาพส่วนบุคคล เช่น ในเรื่องการแต่งกาย สวมหมวก กินหมาก เป็นต้น และที่สำคัญ คือ การคัดค้านการที่รัฐบาลที่จะฟื้นฟูบรรดาศักดิ์กันอย่างมโหฬาร ซึ่งกุหลาบ (๒๔๙๐ : ๑๓) ได้เล่าเรื่องนี้ว่า


มีความดำริกันว่า จะสถาปนาท่านผุ้นำและสมัครพรรคพวกบริวารขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพญา เจ้าพญา ท่านพญา รวมทั้งสมเด็จเจ้าพญาหญิง เจ้าพญาหญิง ท่านพญาหญิง เป็นลำดับ เมื่อปรากฏรูปความคิดเห็นของนักปฏิวัติจอมพลและกลุ่มจอลพลออกมาดังนี้ ข้าพเจ้าก็เห็นแน่ว่า จอมพลและนักปฏิวัติกลุ่มนั้น ได้ประหารอุดมคติของเขาวินาศย่อยยับสิ้นเชิงลงแล้ว เราได้ให้โอกาสนานพอแก่คนพวกนั้น ที่จะปรับปรุงความคิดเห็นของเขาเสียใหม่ แต่เขามีแต่จะรุดหน้าไปในทางที่มิใช่เป็นที่นัดพบของเราตามที่เขาได้สัญญา และเราก็ได้รับเอาสัญญานั้น นับตั้งแต่วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ฉะนั้น เราก็จำเป็นต้องหันหลังให้กัน แม้ว่าจะได้มีไมตรีต่อกัน


ด้วยทัศนะเช่นนี้ นำมาสู่การที่ กุหลาบ สายประดิษฐ์จะถูกจับกุมเข้าคุกครั้งแรก ทั้งนี้เหตุการณ์สืบเนื่องมาจากการที่ญี่ปุ่นบุกเข้าประเทศไทย ในวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔ และรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามตัดสินใจยอมให้ญี่ปุ่นผ่านแดนและร่วมมือกับญี่ปุ่น ในวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๕ ได้มีกลุ่มคนไทยผู้รักชาติ ใช้นามว่า "คณะไทยอิสสระ" ออกใบปลิวต่อต้านญี่ปุ่น และโจมตีรัฐบาลจอมพล ป. ว่า ยอมตกเป็นเครื่องมือของญี่ปุ่น

รัฐบาลหวาดระแวงสงสัยนักหนังสือพิมพ์ว่าอยู่เบื้องหลังการทำใบปลิว ในวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๕ จึงได้จับกุม กุหลาบ สายประดิษฐ์, อารีย์ ลีวีระ, ขจร สหัสจินดา, เฉวียง เศวตทัต, ดำริห์ ปัทมะศิริ, สุรีย์ ทองวานิช, และคนอื่นๆ ในข้อหาต้องสงสัยว่าจะเป็นผู้พิมพ์ใบปลิวแจก แต่ต่อมาปลายเดือนมกราคม พ.ศ.๒๔๘๕ ทางการตำรวจได้จับกุมนายเล้ง โบราณวงศ์ ในขณะที่กำลังเตรียมใบปลิวไทยอิสสระฉบับที่ ๒ จึงได้ทราบว่า กลุ่มนักเขียนที่จับมาไม่ใช่ไทยอิสระ กุหลาบและนักหนังสือพิมพ์คนอื่นๆ จึงถูกปล่อยตัว แม้กระนั้นทางการรัฐบาลก็ยังคงคุมขังกุหลาบเอาไว้ถึง ๘๔ วัน

ในระหว่างสงคราม เนื่องด้วยภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและขาดแคลนกระดาษ รัฐบาลจึงได้เข้าควบคุมการทำหนังสือพิมพ์ จนทำให้หนังสือพิมพ์หลายฉบับต้องปิดกิจการ และที่เหลืออยู่ก็ต้องลดหน้ากระดาษ. "ประชามิตร"และ"สุภาพบุรุษ"จึงต้องยุบรวมเป็นฉบับเดียว และยังคงดำเนินกิจการมาจนถึงหลังจากที่รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม สิ้นวาระลงเพราะแพ้มติในสภาเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๗ หลังจากนั้น บรรยากาศทางการเมืองไทยก็เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และเมื่อสงครามโลกยุติลงในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๘ รัฐบาลพลเรือน ที่สนับสนุนนายปรีดี พยมยงค์ มีบทบาทสำคัญในการบริหารประเทศ หนังสือพิมพ์ก็สามารถเสนอข่าวสารได้อย่างเป็นอิสระ ในระยะนี้เอง กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้รับความช่วยเหลือจากปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ให้กู้เงินธนาคารเอเชีย ไปศึกษาด้านรัฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย เขาจึงออกเดินทางไปออสเตรเลียในวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๐



๓.

จากเรื่อง "จนกว่าเราจะพบกันอีก" ถึง "แลไปข้างหน้า"

กุหลาบ สายประดิษฐ์ เรียนอยู่ในออสเตรเลียเกือบ ๒ ปี จนถึงวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๒ ก็เดินทางกลับ ซึ่งเป็นระยะที่รัฐบาลพลเรือนได้ถูกยึดอำนาจโค่นล้มไปแล้ว โดยคณะนายทหารบกที่นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ และ พ.อ.กาจ กาจสงคราม ปรากฏว่า จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้รับเชิญให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๙๑ แม้กระนั้น สภาพทางการเมืองยังคงเป็นไปตามระบบรัฐสภา (*)๑๕ และเป็นระยะที่แนวคิดสังคมนิยมเริ่มเผยแพร่ในสังคมไทยมากขึ้น ซึ่งเป็นผลสะเทือนจากการปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศจีน

(*) ที่น่าสังเกต คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม และคณะรัฐประหาร ยังไม่ได้ใช้มาตรการเผด็จการในระยะ พ.ศ.๒๔๙๑ จนถึงหลังจากรัฐประหาร พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๔ จึงเผด็จการมากขึ้น


ที่น่าสนใจก็คือ กุหลาบ ก็ได้รับผลสะเทือนจากแนวคิดสังคมนิยมเช่นกัน หากแต่เป็นแนวคิดสังคมนิยมจากออสเตรเลีย เมื่อกลับมาจากออสเตรเลีย กุหลาบได้ตั้งสำนักพิมพ์สุภาพบุรุษ ตีพิมพ์ผลงานของตน และได้เป็นนักเขียนประจำลงในนิตยสารอักษรสาส์น ซึ่งมีสุภา ศิริมานนท์ เป็นบรรณาธิการ. นิตยสารฉบับนี้ เป็นนิตยสารสำคัญที่เผยแพร่ความคิดแบบสังคมนิยมในระยะ พ.ศ.๒๔๙๓-๒๔๙๕ ซึ่งกุหลาบก็เป็นคนหนึ่ง ที่ได้เข้าร่วมเผยแพร่แนวคิดสังคมนิยมด้วย โดยเข้ารับผิดชอบในแผนกวิชาการเมืองของนิตยสาร(*)

(*) การเผยแพร่ลัทธิมาร์กซในสังคมไทยก่อนหน้านี้ ยังอยู่ในกลุ่มคนจีน และลูกหลานจีนเป็นส่วนใหญ่ จนถึงระยะหลังการปฏิวัติจีน พ.ศ.๒๔๙๒ จึงทำให้ลัทธิมาร์กซเป็นที่สนใจของปัญญาชนในสังคมไทยมากขึ้น การออกนิตยสาร อักษรสาส์น ของสุภา ศิริมานนท์ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๒ จะมีส่วนสำคัญอย่างมากในการสร้างขบวนการลัทธิมาร์กซในหมู่ปัญญาชนไทย


และที่น่าสังเกตคือ ในระยะหลัง พ.ศ.๒๔๙๒ เป็นต้นไป กุหลาบ จะไม่เขียนอะไรที่ประสงค์เพียงแต่ความสนุกเพลิดเพลินที่สบอารมณ์เพียงอย่างเดียว หากแต่มุ่งที่จะแต่งหนังสือที่บำรุงปัญญาความคิดเป็นหลัก งานเขียนที่สำคัญของกุหลาบในระยะนี้มีหลายเรื่อง เช่น เรื่องสั้นเรื่อง คนพวกนั้น(พ.ศ.๒๔๙๓) คำขานรับ (พ.ศ.๒๔๙๓) (*)๑๗ สารคดีเรื่อง ข้าพเจ้าได้เห็นมา(พ.ศ.๒๔๙๔) และเรื่องแปลเรื่อง เขาถูกบังคับให้เป็นขุนโจร(พ.ศ.๒๔๙๕) เป็นต้น

(*) เรื่อง คำขานรับ เป็นเรื่องสั้นที่ส่งผลสะเทือนอย่างมากในยุคก่อนและหลัง ๑๔ ตุลา พ.ศ.๒๕๑๖ เนื้อหาของเรื่องกล่าวถึงนักศึกษาหนุ่มปีสุดท้าย ชื่อ ทนง ที่ตั้งคำถามกับระบบการศึกษา และในที่สุดก็ปฏิเสธปริญญาแล้วแสวงหาเส้นทางชีวิตใหม่ ที่จะนำเอาอนาคตอันแจ่มใสมาให้แก่มนุษยชาติ บทความนี้ถูกนำมาตีพิมพ์ใหม่หลายครั้ง ในหนังสือของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในสมัยนั้น


ดังนั้น กุหลาบ สายประดิษฐ์ จึงได้แต่งนวนิยายเรื่อง "จนกว่าเราจะพบกันอีก" (พ.ศ.๒๔๙๓) ซึ่งถือได้ว่าเป็นนวนิยายเพื่อชีวิตเล่มแรกในสังคมไทย โดย แถลงในจุดมุ่งหมายการแต่งว่า "นักเขียนเช่นเราๆ ไม่ต้องการอะไรยิ่งไปกว่า โอกาสที่จะได้เสนองานและความคิด ตามที่เขาเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์แก่ประชาคมที่เขาประสงค์จะได้" แม้ว่าเนื้อเรื่องของนวนิยายนี้ ดำเนินไปด้วยการสนทนา แต่ก็สะท้อนถึงการพัฒนาความคิดของกุหลาบ ที่อธิบายการเปลี่ยนความคิดของตัวละครเอก คือ โกเมศ นักเรียนไทยในออสเตรเลีย ที่ได้รับผลสะเทือนจากนักอุดมคติหญิงชาวออสเตรเลียชื่อ แนนซี เฮนเดอร์สัน ทำให้เปลี่ยนจากการดำเนินชีวิตแบบหนุ่มเสเพล มาสู่การเป็นนักอุดมคติที่มีความรักในมวลมนุษยชาติ และเปี่ยมไปด้วยความหวังที่จะกลับมาผลักดันสังคมไทย ให้เปลี่ยนไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น. ในนวนิยายเล่มนี้ กุหลาบได้วิพากษ์ความล้าหลังและไม่เท่าเทียมกันในสังคมไทยไว้ด้วย ดังคำบรรยายของโกเมศตอนหนึ่งว่า


โดโรธี เธอคงจะได้เห็นแล้วว่า ในประเทศไทยแลนด์อันอำไพด้วยแสงเดือนแสงตะวัน อันชื่นบานด้วยอากาศสดบริสุทธิ์ และความรำเพยพริ้วของลมเย็น อันระรื่นตาด้วยสีเขียวชอุ่มของต้นข้าวและใบไม้ อันได้รับประกันอดหยากจากความอุดมสมบูรณ์ของที่ดินนั้น ในอีกด้านหนึ่งคือ การปฏิบัติต่อชีวิตของเพื่อนมนุษย์ในประเทศอันน่าผาสุกนั้น เต็มไปด้วยความอัปลักษณ์โสโครกเพียงใด ด้วยอาศัยกลไกการปกครองและการจัดระเบียบสังคมอันเหี้ยมโหดเลือดเย็น และเต็มไปด้วยความอยุติธรรมอันน่าสยดสยองนั้น ชีวิตของคนเกือบทั้งประเทศถูกกดไว้ภายใต้ความต่ำทรามอันน่าทุเรศ มวลชนตั้ง ๙๐ เปอร์เซนต์ของประเทศ... ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำเพียงเพื่อจะเอาชีวิตรอดไปวันหนึ่ง และต้องนำรายได้อันมีค่าแทบทั้งหมดนั้น ไปประเคนปรนปรือความสุขสำราญเหลือเฟือของคนส่วนน้อยนิดในเมืองหลวง และด้วยการถือโอกาสแห่งความสงบเสงี่ยม และน้ำใจโอบอ้อมอารีของประชาชนผู้อาภัพเหล่านั้น บรรดาพวกอิ่มหมีพีมัน จึงคงรื่นเริงสุขสำราญต่อไปอย่างลืมตัว โดยไม่คำนึงถึงการปันส่วนรายได้เสียใหม่แต่อย่างใดเลย ในบางครั้งคราวหรือบ่อยๆ ยังใช้อำนาจกดขี่เหยียดหยามประชาชนผู้อาภัพเหล่านั้นเสียอีก

(จนกว่าเราจะพบกับอีก : ๔๗-๔๘)


การอธิบายสังคมในลักษณะเช่นนี้ ความจริงเป็นการอธิบายด้วยทฤษฎีชนชั้นลัทธิมาร์กซ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กุหลาบ สายประดิษฐ์ได้ยอมรับในหลักการลัทธิมาร์กซแล้ว ทั้งที่ ใน พ.ศ.๒๔๙๓ ขบวนการลัทธิมาร์กซในหมู่ประชาชนไทยเพิ่งจะเริ่มต้น กุหลาบ เองก็มีส่วนร่วมโดยการเขียนเรื่อง "ระบบบงการประชาธิปไตยของประชาชน"ลงในอักษรสาส์น เดือนกันยายน พ.ศ.๒๔๙๒ บทความนี้แปลมาจากเรื่อง People's Democratic Dictatorship ของเหมาเจ๋อตง ซึ่งได้แถลงในโอกาสครบ ๒๘ ปีของพรรคคอมมิวนิสต์จีน วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๑๙๔๙ ซึ่งตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ China Digest. ต่อมา กุหลาบ ก็ได้เขียนเรื่อง "ปรัชญาของลัทธิมาร์กซิส" ลงพิมพ์ในนิตยสารอักษรสาส์น ใน พ.ศ.๒๔๙๓ (*)

(*) เรื่อง "ปรัชญาของลัทธิมาร์กซิส" นี้ กุหลาบ เรียบเรียงจากคำบรรยายของเอมิล เบิร์น (Emile Burns) ได้ถูกนำมารวบรวมและตีพิมพ็เป็นเล่มโดย แนวร่วมนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๗ รุ่งวิทย์ สุวรรณอภิชน (๒๕๒๒ : ๑๐๓-๑๐๔) ได้อธิบายว่า บทความชุดนี้ มีทั้งหมด ๑๘ บท แต่คณะผู้จัดพิมพ์ "มิได้ปรึกษาผู้รู้หรือผู้เกี่ยวข้อง" จึงนำมาตีพิมพ์เพียง ๖ บทสุดท้ายเท่านั้น ทำให้ข้ามเนื้อหาที่น่าสนใจของบทความชุดนี้ไป เช่น ทฤษฎีการเมืองตอนลัทธิโซซลิสม์ หรือ ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น


นอกจากนี้ ในเรื่อง "จนกว่าเราจะพบกันอีก" กุหลาบก็ได้อธิบายความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคมไทยก่อนการปฏิวัติ พ.ศ.๒๔๗๕ ไว้ว่า


ในประเทศของฉัน สมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผู้ที่เป็นเสนาบดีหรือรัฐมนตรีมีเงินเดือนขนาดคนงานชั้นส่งนมส่งขนมปังรวมกันราว ๑๕๐ คนเห็นจะได้ และถ้าเทียบกับรายได้ของพวกชาวนาแล้ว เสนาบดีคนหนึ่งได้รับเงินเดือนเท่ากับรายได้ของชาวนาประมาณ ๔๐๐ หรือ ๕๐๐ คนรวมกัน

(จนกว่าเราจะพบกับอีก : ๔๕)


จากนั้น ก็ได้เสนอทัศนคติในเชิงวิจารณ์ผู้ก่อการคณะราษฎรว่า ผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็เพียงแต่ไล่ผู้มีอำนาจชุดเก่าไป แล้วตัวเขาก็ขึ้นนั่งบัลลังก์แทน ในชั้นต้นก็ดูว่าเขาได้พยายามจะชำระล้างความโสโครกอยู่เหมือนกัน แต่ในไม่ช้าความโลภและความเห็นแก่ตัวก็ค่อยงอกงามขึ้นในจิตใจของเขา ในที่สุดเขาก็หลงติดอยู่ในวิมาน ดังนั้น แทนที่จะทำลายวิมานอันเป็นสัญลักษณ์แห่งความอยุติธรรม เขากลับเรียกหาความร่วมมือกับผู้ที่อยู่ในวิมานนั้นมาก่อน และรวบรวมกำลังกันเข้ารักษาวิมานนั้นไว้อย่างแข็งแรง (จนกว่าเราจะพบกับอีก : ๔๖)

ต่อมาใน เดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๓ รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา โดยมีการลงนามในสัญญามิตรภาพและความร่วมมือระหว่างกัน และยังแสดงเจตนาที่จะส่งทหารไทยไปช่วยสหรัฐฯ รบในสงครามเกาหลี ทั้งนี้เพราะโดยทัศนะของรัฐบาล ก็มีความเห็นในทางเดียวกับสหรัฐฯ ว่า สงครามเกาหลีเกิดขึ้นเพราะการรุกรานของคอมมิวนิสต์ โดยเกาหลีเหนือที่เป็นคอมมิวนิสต์รุกรานเกาหลีใต้ที่เป็นประชาธิปไตย ดังนั้น สหรัฐฯจึงต้องเข้าแทรกแซง เพื่อป้องกันการรุกราน ปรากฏว่าประเทศไทยก็เป็นประเทศแรกในเอเชียและเป็นประเทศที่สองต่อจากสหรัฐฯ ที่แถลงว่าจะส่งทหารจำนวน ๔,๐๐๐ คน ไปร่วมรบในสงครามเกาหลี และต่อมา ก็ได้ส่งข้าว ๔๐,๐๐๐ ตัน ให้แก่เกาหลีฝ่ายใต้

การดำเนินการเช่นนี้ ไม่ได้เป็นที่เห็นพ้องของปัญญาชนที่ก้าวหน้าในสมัยนั้น ที่เห็นว่า การรวมเกาหลีเป็นเรื่องภายใน การที่สหรัฐฯ ส่งทหารเข้าไป จึงเป็นสงครามรุกราน และเป็นการแผ่อำนาจแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น เพราะกิจการในเกาหลี ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ และไม่มีอะไรเกี่ยวกับประเทศไทยด้วยซ้ำ ดังนั้น จึงเป็นการไม่ถูกต้องที่ไทยจะส่งทหารไปช่วยสหรัฐฯ ก่อการรุกราน ข้อเสนอสำคัญของกลุ่มปัญญาชนที่ก้าวหน้า ก็คือ การเรียกร้องให้ยุติสงคราม และแก้ปัญหาเกาหลีด้วยสันติวิธี

แต่กระนั้น รัฐบาลจอมพล ป. ก็ยังคงดำเนินโยบายส่งทหารไปรบในเกาหลีต่อไป ดังนั้น หนังสือพิมพ์การเมืองรายสัปดาห์ ที่มี เจริญ สืบแสง(ขุนเจริญวรเวชช์) ส.ส.ปัตตานี เป็นเจ้าของ และ เพทาย โชตินุชิต ส.ส.ธนบุรี เป็นบรรณาธิการ ก็ได้เป็นแนวหน้าสุดที่เปิดการรณรงค์เพื่อสันติภาพและคัดค้านสงคราม ซึ่งมีการระบุเป้าหมายก็คือการคัดค้าน "การส่งพี่น้องทหารไทย ไปตายเพื่ออเมริกาในดินแดนอันไกลโพ้น"

ต่อมา เจริญ สืบแสง ได้เป็นประธานจัดตั้ง "คณะกรรมการสันติภาพสากลแห่งประเทศไทย" ขึ้นในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๙๔ กุหลาบได้เข้าร่วมในขบวนการนี้ด้วย และเป็นหนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญในการคัดค้านสงคราม จึงได้รับเลือกให้เป็นรองประธานของคณะสันติภาพ. ในระหว่างนี้ คณะรัฐประหารได้ก่อการยึดอำนาจครั้งที่สองในวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๔ และได้มีการตั้งรัฐบาลใหม่ที่มีลักษณะเผด็จการมากยิ่งขึ้น โดยมี จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นผู้นำ แต่ขบวนการสันติภาพก็ยังคงเคลื่อนไหวต่อไป ได้มีการรณรงค์ให้ประชาชนมาร่วมกันลงชื่อคัดค้านสงคราม และเสนอให้มีการแก้ปัญหาระหว่างประเทศโดยสันติวิธี ปรากฏว่าจนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๕ นั้น มีประชาชนมาร่วมลงนามเรียกร้องสันติภาพและคัดค้านสงครามนับแสนคน ซึ่งการลงนามเรียกร้องสันติภาพนี้ กุหลาบได้นำมาเล่าไว้ในเรื่องสั้น "ประกายใหม่ในดวงตาของเขา" ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ปิยมิตร วันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๔

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๕ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้รับเชิญจากแผนกปาฐกถา ของคณะกรรมการนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ให้ไปกล่าวปาฐกถาเรื่อง "ฐานะของสตรีตามที่เป็นมาในประวัติศาสตร์" ในบทปาฐกถานี้ กุหลาบได้แสดงทัศนะที่เห็นใจสตรีอย่างชัดเจน และชี้ว่า ฐานะของสตรีในอดีตที่ผ่านมานั้น มิได้เท่าเทียมกับบุรุษ เขาได้ใช้ความรู้ในเชิงสังคมวิทยามาอธิบายว่า สถานะของสตรีนั้นเสื่อมลงจากเงื่อนไขของชีวิตครอบครัวและชีวิตสมรส เพราะแต่เดิมมาสังคมจะถือสตรีเป็นใหญ่ และนับการสืบสายแต่ทางฝ่ายหญิงเท่านั้น แต่เมื่อสังคมก้าวเข้าสู่ยุคสังคมทาส ผู้ชายชนชั้นนำได้เข้าครอบครองโภคทรัพย์ของสังคม อำนาจของผู้ชายที่มีอยู่เหนือผู้หญิงก็ถูกสถาปนาขึ้น และดำเนินไปในลักษณะเช่นนั้น. กุหลาบ ได้ตั้งความหวังกับสังคมใหม่และได้ชี้ว่า "เมื่อลัทธิสังคมนิยมได้แผ่ไพศาลไปทั่วโลกแล้ว ความขวนขวายพยายามที่จะยกฐานะของสตรีให้ทัดเทียมกับบุรุษ ก็เป็นไปในทางทะมัดทะแมงมากขึ้น" จากนั้น ก็ลงท้ายโดยการเรียกร้องให้สตรี "ก้าวออกมาจากสถานะของช้างเท้าหลัง"ออกมายืนเคียงข้างบุรุษ (กุหลาบ สายประดิษฐ์ ๒๔๙๕ : ๕๐-๕๓)

ตั้งแต่เดือน กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๕ เป็นต้นมา ได้เกิดภาวะแห้งแล้งอย่างรุนแรงในภาคอีสาน เพราะฝนไม่ตกตามฤดูกาล ดังนั้นคณะกรรมการสันติภาพสากลแห่งประเทศไทย จึงได้มีการตั้ง"คณะกรรมการสงเคราะห์ประชาชนภาคอีสานผู้อดอยาก"ขึ้น โดยมี กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นประธาน ได้ดำเนินการเผยแพร่ข่าวสาร และเรียกร้องให้ประชาชนช่วยกันบริจาคเงินและสิ่งของช่วยเหลือ โดยใช้หนังสือพิมพ์เป็นสื่อ ปรากฏว่ากรรมการสันติภาพได้รับสิ่งของมากมายรวมเป็นเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท และเป็นเสื้อผ้า ๒๑ กระสอบ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ กุหลาบสะท้อนเอาไว้ในเรื่องสั้นชื่อ "เขาตื่น" ลงในหนังสือพิมพ์ ปิยมิตร วันที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ.๓๔๙๕ โดยได้อธิบายที่มาของสิ่งเหล่านี้ว่า มีแต่คนยากจนเป็นส่วนใหญ่ที่ยินดีที่จะช่วยพี่น้องในภาคอีสาน กล่าวคือ เงินและสิ่งของที่มีราคามากมายเหล่านี้ ไม่ได้มาจากเศรษฐีและคนมั่งคั่ง หรือพวกคนใหญ่คนโตที่ไหน แต่มาจากคนธรรมดาสามัญที่เดินอยู่ตามถนน ที่ยืนโหนรถเมล์และรถราง ที่นั่งพุ้ยข้าวต้ม หรือกินข้าวราดแกง ที่อาศัยอยู่ตามบ้านเล็กเรือนน้อย เงินและสิ่งของเหล่านี้ส่วนมากมาจากกรรมกรหรือคนงานที่ยากจน มาจากเยาวชน ผู้หญิง เสมียน พนักงาน ลูกจ้าง มาจากคนธรรมดาสามัญทั้งไทยและจีน มาจากสิ่งที่บุรุษผู้นั้นสรุปเรียกว่า ประชาชน (ช่วย พูลเพิ่ม๒๕๓๐ : ๒๐๔-๒๐๕)

เรื่อง "เขาตื่น" นี้ เล่าถึงชีวิตของคนถีบสามล้อ ชื่อ อ่ำ ที่เข้าร่วมในขบวนการสันติชน จึงได้เปลี่ยนใจไม่ยอมพาลูกไปดูงานรับมอบอาวุธใหม่ที่สหรัฐฯ จัดส่งมาให้รัฐบาลไทย และจะมีการจัดแสดงที่สนามหลวง โดยพาลูกไปดูสัตว์ที่เขาดินแทน อ่ำให้เหตุผลว่า "อย่าไปสนุกสนานกับอ้ายอาวุธห่าเหวเหล่านี้เลยวะ อย่าไปยินดีกับอ้ายเรื่องเตรียมรบราฆ่าฟันกับเขาเลยวะ แกกับข้ามาร่วมกับพวกสันติชน ช่วยเขากอบกู้สันติภาพ เพื่อความอยู่ร่วมเย็นเป็นสุขของประชาชนกันเถอะ"

ดังนั้น ปลายเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๕ กุหลาบ สายประดิษฐ์ พร้อมด้วย อุทธรณ์ พลกุล, ฉัตร บุณยศิริชัย, และคนอื่นๆ ก็ได้เดินทางนำสิ่งของไปแจกของบรรเทาทุกข์ในภาคอีสาน ปรากฏว่าตลอดเวลาที่มีการเคลื่อนไหวรัฐบาลได้โจมตีเสมอว่า การเคลื่อนไหวสันติภาพเป็นเรื่องของคอมมิวนิสต์ และเมื่อกรรมการสันติภาพเดินทางไปภาคอีสาน รัฐบาลตัดสินใจแล้วว่าจะทำการจับกุม ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๕ เมื่อกุหลาบและคณะสันติชนกลับจากภาคอีสาน การกวาดล้างจับกุมครั้งใหญ่ก็ได้เริ่มขึ้น มีปัญญาชน นักศึกษา และชาวนาถูกจับในกรณีนี้นับร้อยคน กรณีนี้จึงถูกเรียกว่า "กบฏสันติภาพ" หรือ "กบฏแจกผ้า"

ในวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน นั้น กุหลาบ สายประดิษฐ์ ถูกจับหลังจากกลับจากภาคอีสาน และต่อมาก็ถูกสั่งฟ้องร่วมกับผู้ต้องหาอื่นๆ อีก ๕๒ คน ในที่สุด ศาลได้ตัดสินจำคุกกุหลาบและจำเลยคนอื่นๆ ๒๐ ปีในความผิดที่ก่อการสันติภาพ และแจกข้าวของคนยากคนจน แต่กระนั้น นักโทษทุกคนได้รับการนิรโทษกรรมในโอกาสงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ กุหลาบ ได้รับการนิรโทษกรรมให้ออกจากคุกในวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๐ ซึ่งเป็นวันวิสาขบูชา ในขณะที่รัฐบาลกำลังจัดงานเฉลิมฉลองใหญ่ที่สนามหลวง

ในระหว่างที่อยู่ในคุกนี้เองที่กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้แต่งนวนิยายเรื่อง "แลไปข้างหน้า ภาคปฐมวัย" ซึ่งได้เริ่มตีพิมพ์ในนิตยสารปิยมิตรวันอาทิตย์ ในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๙๘ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องสั้นเรื่อง ขอแรงหน่อยเถอะ(พ.ศ.๒๔๙๖) ความเรียงเรื่อง กำเนิดครอบครัวของมนุษยชาติ(พ.ศ.๒๔๙๗) เรื่องพุทธศาสนาคือ อุดมธรรม(พ.ศ.๒๔๙๘) และบทกวี อาชญากรผู้ปล่อยนกพิราบ(พ.ศ.๒๕๐๐) เป็นต้น

ในเรื่อง "แลไปข้างหน้า ภาคปฐมวัย" ซึ่งมีบทเปิดเรื่องที่เขียนได้อย่างน่าประทับใจมาก (*)๑๙ กุหลาบได้สร้างฉากเหตุการณ์ให้เกิดขึ้นก่อนการปฏิวัติ พ.ศ.๒๔๗๕ ซึ่งยังเป็นระยะที่สังคมมีการแบ่งแยกชนชั้นอย่างชัดเจน และได้อธิบายความเหลื่อมล้ำในสังคมเช่นนั้น โดยผ่านสายตาของเด็กชายจันทา โนนดินแดน ลูกชาวนาจากหมู่บ้านแห่งหนึ่งเมืองขุขันธ์ ที่ได้เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ และกลายเป็น"กาที่ได้เข้ามาอยู่ในหมู่หงส์"เพราะได้มาอาศัย"ปราสาท" คือ บ้านของพระยาอภิบาลราชธานี อำมาตย์ผู้ใหญ่ในกระทรวงมหาดไทย และได้เข้าเรียนในโรงเรียนเทเวศน์รังสฤษดิ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนของชนชั้นผู้ดี เพื่อเป็นบ่าวคอยรับใช้คุณวัชรินทร์ บุตรของท่านเจ้าคุณ ซึ่งเข้าเรียนที่โรงเรียนนี้เช่นกัน

(*) นวนิยายที่เด่นในยุคแรก ผู้ประพันธ์มักจะเขียนอย่างมีวรรณศิลป์ และเป็นบทที่น่าประทับใจ นวนิยายของชาร์ล ดิกเกนส์ เรื่อง Great Expectation และ Oliver Twist ก็มีบทเปิดเรื่องที่น่าประทับใจเรื่อง Mother ของ แมกซิม กอร์กี ก็มีบทเปิดเรื่องอันยิ่งใหญ่ สะท้อนให้เห็นถึงสัจธรรมแห่งชีวิตกรรมกร. เรื่อง กามนิต ที่แปลโดย เสฐียรโกเศศ และ นาคะประทีป ก็มีบทเปิดเรื่องที่ดีเด่นมาก บรรยายถึงบรรยากาศยามเย็นอันงดงามนอกกรุงราชคฤห์. ศรีบูรพา จึงนำเอาจารีตเช่นนี้ มาเขียนบทเปิดเรื่องสำหรับ "แลไปข้างหน้า" ในบทเปิดเรื่องนี้เอง เป็นการชี้ถึงความหมายของการ "แลไปข้างหน้า" ของศรีบูรพา ที่น่าสังเกต คือ นวนิยายก่อนหน้านี้ของศรีบูรพา ไม่มีบทเปิดเรื่องเช่นนี้


กุหลาบได้อธิบายสถานะของความไม่เท่าเทียมกันนั้นว่า บ่าวทั้งหลายจึงมักจะคิดเห็นไปว่า สภาพความเป็นข้าเจ้าบ่าวนายนั้น เป็นสภาพที่ฟ้าดินได้กำหนดมาว่าจะต้องดำรงอยู่ตลอดไปและจะเลิกร้างเสียมิได้ ด้วยเหตุนี้ แทนที่พวกบ่าวจะคิดสลัดภาพข้าเจ้าบ่าวนายให้หลุดพ้นไป จากแผ่นดินที่เขาได้ถือกำเนิดมา เพราะว่ามันเป็นสภาพอัปลักษณ์ไม่คู่ควรแก่ความเป็นมนุษย์ บ่าวทั้งหลายจึงกลับไปทำความตะเกียกตะกายที่จะได้เป็นเจ้าขุนมูลนายกับเขาบ้าง (แลไปข้างหน้า ภาคปฐมวัย : ๑๗๒)

นอกจากนี้ กุหลาบ สายประดิษฐ์ยังได้เสนอทัศนะใหม่ในทางประวัติศาสตร์ที่ชี้ให้เห็นว่า ประวัติศาสตร์มิได้สร้างโดยชนชั้นนำเท่านั้น แต่ประชาชนสามัญที่มิได้จารึกชื่อก็เป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์เช่นกัน เขาได้ถ่ายทอดความคิดนี้ผ่านการชี้แจงของ นิทัศน์ สวัสดิรักษา เพื่อนของจันทา ที่ชี้แจงต่อ ม.ร.ว.รุจิเรข นักเรียนอีกคนหนึ่งว่า - ในที่นี้ ฉันอยากให้ รุจิเรข และเพื่อนนักเรียนของเราได้เข้าใจด้วยว่า บรรดาผู้ที่เสียชีวิตกู้บ้านกู้เมืองและรักษาเอกราชของชาติไว้ให้แก่เรานั้น ไม่ได้ถูกจารึกชื่อลงไว้ในพงศาวดารทุกคน... การที่พงศาวดารมิได้จารึกชื่อราษฎรสามัญชนจำนวนมากมายที่ได้สละชีวิตเลือดเนื้อต่อสู้เพื่อบ้านเมืองของเรามาเหมือนกันนั้น จะเป็นเหตุให้เราถือว่าเราไม่ได้เป็นหนี้บุญคุญท่านผู้กล้าหาญที่เป็นสามัญชนชาวบ้านเหล่านั้นด้วยหรือ? - (แลไปข้างหน้า ภาคปฐมวัย : ๒๙๘-๒๙๙)

ต่อมาเมื่อกุหลาบ สายประดิษฐ์ แต่ง "แลไปข้างหน้า ภาคมัชฌิมวัย" ลงในนิตยสารปิยมิตรวันจันทร์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐ ก็มีบทเปิดเรื่องอันน่าประทับใจเช่นกัน แต่บทเปิดเรื่องของนวนิยายตอนนี้ได้เน้นการอธิบาย ประเมินค่า และสดุดีการปฏิวัติ พ.ศ.๒๔๗๕ ซึ่งอาจจะถือได้ว่า บทเปิดเรื่องเป็นงานประพันธ์ร้อยแก้วยอเกียรติการปฏิวัติ พ.ศ.๒๔๗๕ ที่ดีที่สุด ตัวอย่างเช่น การอธิบายบรรยากาศการปฏิวัติ ตอนหนึ่งว่า

ชุมนุมราษฏรยืนฟังคำประกาศด้วยอาการที่ออกจะงงงวย เพราะว่าเป็นครั้งแรกในชีวิตที่เขามาได้ยินว่า อำนาจที่เคยได้รับความเคารพสักการะอย่างสูงสุดนั้น มาถึงวันนี้ได้แปรสภาพเป็นฝุ่นละอองไปเสียแล้ว ราษฏรบางกลุ่มฟังคำประกาศด้วยอาการอันสำรวม... บางกลุ่มก็เปล่งเสียงไชโยกันเกรียวกราว ในไม่ช้าคำประกาศของคณะราษฎรก็ได้กระจายไปทั่วพระนคร... ประชาราษฎรคนยากคนจน เมื่อได้อ่านประกาศของ"คณะราษฎร" ที่ได้เปิดโปงความไร้สมรรถภาพของรัฐบาลเจ้าขุนมูลนาย และได้ประณามความชั่วร้ายเหลวแหลกในวงราชการ ความเห็นแก่ตัวของชนชั้นสูงที่ปกครองประเทศ ความอยุติธรรม และการกดขี่นานาประการที่สุมอยู่บนหัวอกราษฎรแล้ว เขาก็เริ่มคำนึงถึงอำนาจใหม่ เสมือนหนึ่งเป็นความงาม ความสะอาดหมดจด และเป็นแสงสว่างที่จะส่องลงมาบนชีวิตอันมืดมนขะมุกมอมของเขา

และเมื่อเขาได้อ่านคำมั่นสัญญาของคณะราษฎร ที่ได้ประกาศออกมาอย่างหนักแน่นว่า จะทำนุบำรุงการเป็นอยู่ของพวกเขา ทั้งในเมืองและชนบทอย่างดีที่สุด จะไม่ปล่อยให้พวกเขาอดหยากไร้งาน ทั้งยังจะให้การศึกษาแก่พวกเขาอย่างเต็มที่ และจะฟังความคิดความเห็นในเรื่องการปกครองบ้านเมืองจากพวกเขาทั้งหลายด้วย ประชาชนคนยากผู้เป็นคนซื่อก็ยกมือขึ้นท่วมหัวเปล่งเสียงสาธุ แล้วเริ่มตั้งความหวังว่า นับแต่นี้พวกเขาเห็นจะเงยหน้าอ้าปากขึ้นได้บ้างละ (แลไปข้างหน้า ภาคมัชฌิมวัย : ๒๐-๒๑)

จากนั้น กุหลาบก็ผูกเนื้อเรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันแวดล้อมการปฏิวัติ เพราะ ครูอุทัยแห่งโรงเรียนเทเวศน์รังสฤษดิ์ ที่เคยเป็นผู้สอนของจันทา และ นิทัศน์ ก็ได้เข้าร่วมเป็นผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วย กุหลาบได้อธิบายถึงเหตุผลและแนวทางของคณะปฏิวัติผ่านครูอุทัย อธิบายความหวังของราษฎรที่มีต่อระบอบใหม่ผ่านความเห็นของนิทัศน์ จันทา และ เซ้ง และชี้ให้เห็นว่า กลุ่มที่เป็นปฏิปักษ์กับการปฏิวัตินั้นคือพวกเจ้าขุนมูลนายที่สูญเสียอำนาจ มิใช่ราษฎรทั่วไป และยังอธิบายถึงความเป็นไปของระบอบใหม่ในระยะแรก ที่ผู้แทนทั้งหลายที่พวกชาวนาและคนงานทั้งหลายเลือกเป็นตัวแทนของเขา ไปประชุมพิจารณาวินิจฉัยราชการแผ่นดิน เพื่อประโยชน์แก่เขาทั้งหลาย สิ่งเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นในระบอบเก่า นอกจากนี้ ก็ได้สะท้อนถึงความเสื่อมสลายของระบอบเก่าผ่านการล่มสลายของ "ปราสาทร้าง" หรือบ้านของพระยาอภิบาลราชธานีที่เคยเป็นที่อาศัยของจันทานั่นเอง

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เป็นวิถีของประวัติศาสตร์ ที่จะต้องเกิดขึ้น ไม่อาจจะเหนี่ยวรั้งได้ กุหลาบได้อธิบายลักษณะที่เป็นสัจจะของประวัติศาสตร์ยุคศักดินาว่า มันได้เห็นสมัยรุ่งเรืองของกษัตริย์ แห่งกรุงศรีอยุธยาราชธานี ได้เห็นความเสื่อม ความเหลวแหลกภายในราชสำนัก และในที่สุดได้เห็นความพินาศล่มจมของราชธานีนั้น มันได้เห็นการช่วงชิงอำนาจราชบัลลังก์เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวล้วนๆ ในระหว่างราชวงศ์ และในบางครั้งบางคราว การช่วงชิงอำนาจราชบัลลังก์นั้น ก็กระทำโดยเจ้าขุนมูลนายนักรบที่เป็นข้าของกษัตริย์นั่นเอง กษัตริย์ราชวงศ์ พร้อมทั้งขุนนางและครอบครัวของฝ่ายแพ้ ได้ถูกกษัตริย์ราชวงศ์ของฝ่ายชนะล้างผลาญชีวิตอย่างเหี้ยมโหดทารุณ ดุจเดียวกับความประพฤติของยักษ์มารที่บุคคลเหล่านั้นสาปแช่ง และห่างไกลอย่างยิ่งจากคุณธรรมของพวกเทพที่บุคคลเหล่านี้สรรเสริญบูชา อาชญากรรมอันน่าสยดสยองที่เกิดขึ้นจากความโลภอำนาจราชบัลลังก์ และเป็นอาชญากรรมที่ประกอบขึ้นโดยบุคคลที่มีศักดิ์สูงเทียมเมฆ ได้มีอยู่ในประวัติศาสตร์ราชธานีเก่าไม่ขาดสาย

มันได้เห็นการผลัดแผ่นดิน การเปลี่ยนแปลงอำนาจที่ได้กระทำกันในพระบรมมหาราชวังของราชธานีเดิม มันได้เห็นการขึ้นสู่อำนาจวาสนาอันสูงสุดของคนชุดหนึ่ง และได้เห็นการตกต่ำจนถึงขั้นไปสู่ตะแลงแกงของคนอีกชุดหนึ่งในบรรดาผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่ด้วยกัน แต่ความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นก็ไม่มีความสัมพันธ์อันใดเลยกับชีวิตของประชาราษฎรในราชอาณาจักรสยาม ประชาราษฎรเคยมีชีวิตอันต่ำต้อยแร้นแค้นมาอย่างใด ชีวิตของเขาก็ดำเนินไปอย่างนั้น... (แลไปข้างหน้า ภาคมัชฌิมวัย : ๑๔๑-๑๔๒)

ดังนั้น กุหลาบ สายประดิษฐ์ จึงไม่ได้อาลัยอาวรณ์ต่อการล่มสลายแห่งอำนาจของระบอบศักดินา เพราะอย่างน้อยระบอบใหม่ก็เปิดโอกาสแก่ประชาชน เช่น นิทัศน์ และ จันทา ในการที่จะเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยที่เปิดใหม่ เป็นตลาดวิชา จนกระทั่งสำเร็จการศึกษาธรรมศาสตร์บัณฑิต ส่วนเซ้งเพื่อของจันทา ได้เข้าไปทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ แต่กระนั้นสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เป็นลัทธิทหารนิยมมากขึ้น ซึ่งกุหลาบได้สะท้อนเหตุการณ์ที่ทหารกลุ่มหนึ่งได้บุกเข้าไปคุกคามสำนักงานหนังสือพิมพ์ประชามติที่เซ้งทำงานอยู่ ซึ่งเป็นผลจากการที่เซ้งเขียนบทความทักท้วงการเพิ่มงบประมาณด้านการทหารว่า คณะราษฎรไม่ได้ประกาศว่าจะเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพื่อจะนำประเทศไปทำสงครามกับใคร คณะราษฎรไม่ได้ประกาศว่าจะเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพื่อจะเพิ่มงบประมาณทางทหารอย่างมากมายใหญ่โต แต่ได้ประกาศว่าจะบำรุงเศรษฐกิจ และการศึกษาของประเทศ จะช่วยให้ราษฎรทุกคนมีงานทำ จะช่วยให้ราษฎรอยู่ดีกินดี (แลไปข้างหน้า ภาคมัชฌิมวัย : ๑๕๕)

กุหลาบได้อธิบายต่อไปถึงการที่เจตนาดีต่อประเทศชาติของคณะราษฎรได้อ่อนลง และการหวงแหนอำนาจได้เพิ่มมากขึ้น จึงนำมาซึ่งแนวโน้มของการเผด็จการ โดยการกวาดล้างจับกุมผู้ที่รัฐบาลถือว่าเป็นศัตรูของรัฐบาลรวมทั้งศิริลักษณ์ เพื่อนของนิทัศน์และจันทา ซึ่งกรณีที่กุหลาบสะท้อนในเรื่องนี้ คือการกวาดล้างใหญ่กบฏในเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๑ ที่มีผู้ถูกจับกุมนับร้อยคน และในที่สุด ผู้ต้องหากบฏเหล่านี้ถูกยื่นฟ้องต่อศาลพิเศษและถูกตัดสินประหารชีวิต ๑๘ คน โดยกุหลาบได้วิพากษ์การตัดสินคดีนี้ผ่านความเห็นของจันทาว่า

- หลักกฏหมายที่เราได้เรียนมา เกี่ยวกับวิธีความอาญาและลักษณะพยานถูกละเมิดหมด - และนิทัศน์ก็ตอบว่ามันเป็นคำพิพากษาของศาลเสียเมื่อไร มันเป็นคำพิพากษาของโจทก์ต่างหาก หรือจะให้ถูกยิ่งกว่านั้น ต้องกล่าวว่ามันเป็นคำพิพากษาของคู่ศัตรูที่พิพากศัตรูของเขา... เพราะฉะนั้นคำพิพากษาคดีนี้จึงมิใช่เป็นคำพิพากษาของศาลแต่เป็นคำพิพากษาของพวกนักเลงโต ที่ใช้กับคู่อริของเขา ฉันเห็นว่าประชาธิปไตยประเทศเรากำลังดำเนินสู่ความมืดมน และชื่อเสียงของคณะราษฎรกำลังตกอยู่ในอันตราย (แลไปข้างหน้า ภาคมัชฌิมวัย : ๒๔๔-๒๔๕)

แม้ว่า กุหลาบ สายประดิษฐ์ จะไม่เห็นชอบต่อการแปรเปลี่ยนของคณะราษฎรดังกล่าว แต่ก็มิได้หมายความว่า จะกลับไปเห็นดีงามกับระบอบเก่า ดังที่เขาได้สะท้อนว่า "ถ้าพวกชนชั้นสูงเขาคิดว่า ราษฎรจะกลับเรียกร้องให้พวกเขาปกครองประเทศอีก ก็นับว่าพวกเขาได้ฝันไปอย่างน่าสงสาร เดี๋ยวนี้ราษฎรพอจะรู้กันอยู่แล้วว่า เมื่อพวกคนชั้นสูงปกครองประเทศนั้น เขาปกครองเพื่อระโยชน์ของใคร" (แลไปข้างหน้า ภาคมัชฌิมวัย :๒๔๖)

ปรากฏว่า "แลไปข้างหน้า ภาคมัชฌิมวัย" นี้แต่งไม่จบ ในส่วนที่สองเพิ่งจะเริ่มไปได้เพียง ๓ ตอน ถึงตอนที่กองทัพญี่ปุ่นบุกประเทศไทยแล้ว และมีใบปลิวของไทยอิสสระต่อต้านรัฐบาล ตำรวจจึงได้มาค้นบ้านของเซ้ง เพื่อทำการจับกุม ทั้งนี้เนื่องจาก กุหลาบได้รับเชิญให้เดินทางไปเยือนสหภาพโซเวียตในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๐๐ และเมื่อกลับมาแล้ว เขาก็ไม่ได้เขียนต่อ จนถึงช่วงที่เดินทางไปจีน และลี้ภัยเมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อการรัฐประหารในเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๐๑ เพราะไม่ต้องการที่จะกลับมาใช้ชีวิตในคุกเมืองไทยอีก เราจึงไม่อาจคาดเดาไว้ว่า กุหลาบได้เตรียมวางโครงเรื่องต่อไปอย่างไร รุ่งวิทย์ สุวรรณอภิชน (๒๕๒๒ : ๔๑) สันนิษฐานว่า ถ้าหากศรีบูรพาเขียนต่อ เรื่อง แลไปข้างหน้า น่าจะปิดฉากด้วยการขึ้นศาลในคดีกบฏสันติภาพ ในวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๖



๔.

บทสรุป อุดมการณ์ของกุหลาบ สายประดิษฐ์

จากที่กล่าวมา จะเห็นพัฒนาการความคิดของกุหลาบ สายประดิษฐ์ จากนักเขียนบทความและนวนิยายธรรมดา และแม้กระทั่งเป็นนักคิดที่มีระบบคิดแบบบุรุษนิยม เปลี่ยนมาสู่การเป็นนักคิดนักเขียนที่มีอุดมคติเพื่อสังคม มีความเห็นใจในคนยากคนจน กุหลาบจึงเริ่มรับอุดมคติแห่งความเสมอภาคและประชาธิปไตย และคัดค้านความอยุติธรรมแห่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ด้วยอุดมการณ์เช่นนี้ กุหลาบ สายประดิษฐ์ จึงเป็นปัญญาชนคนสำคัญที่สนับสนุนการปฏิวัติ พ.ศ.๒๔๗๕ และแม้ว่าในระยะต่อมา กุหลาบจะมีความเห็นว่า ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองบางส่วนทิ้งอุดมการณ์ประชาธิปไตยตามที่สัญญาไว้ และหันไปสถาปนาเผด็จการ แต่เขาก็มิได้เสื่อมความศรัทธาไปจากอุดมการณ์แห่งการปฏิวัติ

กุหลาบ สายประดิษฐ์ใช้ชีวิตลี้ภัยอยู่นอกประเทศถึง ๑๖ ปี จนถึงแก่กรรมที่ประเทศจีนในวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๗ เมื่ออายุได้ ๖๙ ปี ในระหว่างนี้ กุหลาบ ก็ยังมีงานเขียนที่เป็นบทความ และบทกวี มากมายออกมาทางวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย และยังน่าจะเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการเรียบเรียง และเป็นบรรณาธิการหนังสือปฏิวัติหลายเล่มที่แปลจากภาษาจีนออกเป็นภาษาไทย อย่างไรก็ตาม เป็นการยากมากที่จะรวบรวมหรือระบุงานเขียนของเขาในระยะนี้ เพราะแทบจะไม่มีหลักฐานหลงเหลืออยู่แล้ว เพียงแต่สามารถที่จะกล่าวได้ว่า แม้ว่าจะลี้ภัยในต่างประเทศ กุหลาบก็มิได้หยุดการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และเสรีภาพของประชาชนไทย จนกระทั่งสุดท้ายในวาระชีวิตของเขา และนี่คือความมั่นคงในอุดมการณ์ของกุหลาบ สายประดิษฐ์

บทกวีสำคัญที่กุหลาบ แต่งเพื่อสดุดีการต่อสู้ของนักศึกษาประชาชนในกรณี ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๖ ยังเป็นที่จดจำกันอยู่ดังนี้


หยดฝนย้อยจากฟ้ามาสู่ดิน ประมวลสินธุ์เป็นมหาสาครใหญ่

แผ่เสียงซัดปฐพีอึ่งมีไป พลังไหลแรงรุดสุดต้านทาน

อันประชาสามัคคีมีจัดตั้ง เป็นพลังแกร่งกล้ามหาศาล

แสนอาวุธแสนศัตรูหมู่อันธพาล ไม่อาจต้านแรงมหาประชาชน


+++++++++++++++++++++++

(คลิกเพื่อ download ต้นฉบับโดยผู้เขียนในรูป PDF)


หนังสืออ้างอิง:
กุหลาบ สายประดิษฐ์ กับอุดมการณ์ปฏิวัติสยาม พ.ศ.๒๔๗๕


กุหลาบ สายประดิษฐ์ ๒๔๙๐. เบื้องหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มิ่งมิตร), ๒๕๔๕.กุหลาบ สายประดิษฐ์ ๒๔๙๕. "ฐานะของสตรีตามที่เป็นมาในประวัติศาสตร์" ประวัติศาสตร์สตรีไทย. (กรุงเทพฯ : ชมรมหนังสือแสงดาว), ๒๕๑๙.

ช่วย พูลเพิ่ม (รวบรวม) ๒๕๓๐. ขอแรงหน่อยเถอะ. รวมเรื่องสั้นเพื่อชีวิตของนักประพันธ์ นักมนุษยชาติ ศรีบูรพา (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า).

ตรีศิลป์ บุญขจร ๒๕๒๕. นวนิยายกับสังคมไทย. (กรุงเทพฯ : โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๗.

ทวีป วรดิลก ๒๕๔๕. "บทแนะนำเชิงวิจารณ์" เบื้องหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มิ่งมิตร).

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ๒๕๓๕. การปฏิวัติสยาม พ.ศ.๒๔๗๕. (กรุงเทพฯ : ฝ่ายสิ่งพิมพ์โครงการ ๖๐ ปีประชาธิปไตย).

นฤมิตร สอดสุข ๒๕๔๘. "เหลียวหลังแล" แลไปข้างหน้า" : แผนที่นำทาง(Road Map)ประเทศไทยในวิสัยทัศน์ของศรีบูรพา" เอกสารอัดสำเนา.

นุศรา อะมะรัสเสถียร ๒๕๓๒. กุหลาบ สายประดิษฐ์ : จากวรรณกรรมสู่หนังสือพิมพ์. สารนิพนธ์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ธงชัย พึ่งกันไทย ๒๕๒๑. "ลัทธิคอมมิวนิสต์และนโยบายต่อต้านของรัฐบาลไทย พ.ศ.๒๔๖๙-๒๕๐๐"วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ไพศาล มาลาพันธ์ (นามแฝง) ๒๕๒๘. "ศรีบูรพา อาชญากรผู้ปล่อยนกพิราบ" นักเขียนเก่าไม่มีวันตาย. หนังสืออนุสรณ์ ๙๖ ปี กุหลาบ สายประดิษฐ์ - ๗๒ ปีสุภาพบุรุษ, ๒๕๔๔.

รุ่งวิทย์ สุวรรณอภิชน ๒๕๒๒. ศรีบูรพา ศรีแห่งวรรณกรรมไทย. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แสงดาว), ๒๕๓๒.

วิวัฒน์ คติธรรมนิตย์ ๒๕๓๙. กบฏสันติภาพ. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์คบไฟ).

ศรีบูรพา (นามแฝง) ๒๔๘๐. ข้างหลังภาพ. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ศิลปบรรณาคาร), ๒๕๒๔.
ศรีบูรพา (นามแฝง) ๒๔๙๓. จนกว่าเราจะพบกันอีก. (กรุu3591 .เทพฯ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า), ๒๕๓๖.
ศรีบูรพา (นามแฝง) ๒๔๙๘. แลไปข้างหน้า ภาคปฐมวัย. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์คลังวิทยา), ๒๕๑๘.
ศรีบูรพา (นามแฝง) ๒๕๑๘. แลไปข้างหน้า ภาคมัชฌิมวัย. (กรุงเทพฯ : ชมรมหนังสืออุดมธรรม).
ศรีบูรพา (นามแฝง) ๒๕๓๒. ป่าในชีวิต. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า).

สุชาติ สวัสดิ์ศรี ๒๕๔๘. "สุภาพบุรุษ...มนุษยภาพ "ศรีบูรพา" กุหลาบ สายประดิษฐ์" คืออิสสรชน คือคนดี คือ ศรีบูรพา. พิมพ์ในงานรำลึก ๑๐๐ ปีชาตกาลกุหลาบสายประดิษฐ์ ๓๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๘.

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ๒๕๓๔. แผนชิงชาติไทย. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมาพันธ์).

สุวดี เจริญพงศ์ ๒๕๑๙. "ปฏิกิริยาของรัฐบาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อการเคลื่อนไหวตามแนวคิดประชาธิปไตยและสังคมนิยมก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕" วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต แผนกประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ฮิวเมอริสต์ (นามแฝง) ๒๕๓๑. "สุภาพบุรุษ" นักเขียนเก่าไม่มีวันตาย. หนังสืออนุสรณ์ ๙๖ ปี กุหลาบ สายประดิษฐ์- ๗๒ ปีสุภาพบุรุษ, ๒๕๔๔.

++++++++++++++++++++++

ประวัติผู้วิจัย:
ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

ปริญญาตรี ชื่อปริญญา ศิลปศาสตรบัณฑิต,ปริญญาสาขาวิชาเอก ประวัติศาสตร์ สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒสำเร็จการศึกษาปี พ.ศ. 2524

ปริญญาโท ชื่อปริญญา อักษรศาสตรมหาบัณฑิต,ปริญญาสาขาวิชาเอก ประวัติศาสตร์ สถาบันการศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสำเร็จการศึกษาปี พ.ศ. 2532วิทยานิพนธ์ กระบวนการทางการเมืองที่ต่อต้านรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลย์สงคราม ครั้งที่ 2 (2490-2500)

ปริญญาเอก ชื่อปริญญา DOCTOR OF PHILOSOPHYสาขาวิชาเอก Portuguese Historyสถาบันการศึกษา UNIVERSITY OF BRISTOL ประเทศ สหราชอาณาจักรสำเร็จการศึกษาปี พ.ศ. 2541วิทยานิพนธ์ The Portuguese Lancados in Asia


ที่มา :
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความลำดับที่ ๑๔๘๗
เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ (Febuary, 12, 02, 2008)

ตอนที่ ๑ : งานและความคิดนักเขียนไทย: กุหลาบ สายประดิษฐ์กุหลาบ สายประดิษฐ์ กับอุดมการณ์ปฏิวัติสยาม พ.ศ.๒๔๗๕ (๑)

ตอนที่ ๒ : งานและความคิดนักเขียนไทย: กุหลาบ สายประดิษฐ์กุหลาบ สายประดิษฐ์ กับอุดมการณ์ปฏิวัติสยาม พ.ศ.๒๔๗๕ (๒)