วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2550

เรื่อง: ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ในด้านมืดของหน้าประวัติศาสตร์ไทย

หมายเหตุ:บทความเชิงวิชาการขนาดยาวยืดนี้เดิมมีชื่อว่า\"การแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมือง:ศึกษาเฉพาะกรณีการออกบวชในพระพุทธศาสนา ด้วยเหตุผลทางการเมือง\" แต่ผมได้เปลี่ยนแปลงชื่อตามหัวข้อกระทู้เสียใหม่ เพื่อไม่ให้คนอ่านเห็นแล้วเกิด\"ไม่อยากอ่านขึ้นมาซะดื้อๆ และได้ตัดความนำสารพัดที่มีลักษณะเป็นวิชาการออกหมดให้เหลือแต่เนื้อๆ....

อุดมการณ์\"ชาติ ศาสน์ กษัตริย์\"ที่เราเห็นกันในวันนี้ ล้วนแต่ผูกพันเกี่ยวร้อยมานับแต่ประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน บทความนี้เจาะจงศึกษาเฉพาะกรณีบวชเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมือง หรือการช่วงชิงอำนาจทางการเมือง หรือด้วยเหตุผลทางการเมืองที่มีบันทึกไว้นั้นมีหลายกรณีด้วยกัน โดยขอเรียงตามลำดับเวลาตั้งแต่แรกที่มีบันทึกไว้ มาจนถึงปัจจุบันร่วมสมัยดังต่อไปนี้
กรณีที่1:พระเทียรราชา บวชหนีราชภัยก่อนจะทำรัฐประหารยึดอำนาจ
เป็นเหตุการณ์ช่วงระยะก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 \"พระเทียรราชา\" พระอนุชาต่างพระมารดาของสมเด็จพระไชยราชา พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับสมเด็จพระพนรัต วัดพระเชตุพน หรือวัดโพธิ์ ท่าเตียน บันทึกไว้ว่า* \"ศักราช 889 ปีกุน นพศก สมเด็จพระไชยราชาธิราชเจ้า เสด็จสวรรคต ณ มัชฌิมวิถีประเทศ (กลางทางระหว่างไปรบกับเชียงใหม่ แต่ต้องกระสุนขณะนำทัพเข้าตีเมืองหริภุญไชย ลำพูน อันเป็นเมืองด่านหน้าของเชียงใหม่ในทิศใต้สมัยนั้น) มุขมนตรีเชิญพระบรมศพเข้าพระนครศรีอยุธยา สมเด็จพระไชยราชาธิราชเจ้า อยู่ในราชสมบัติมไหศวรรย์ 14 พรรษา มีพระราชโอรสสองพระองค์ และพระราชโอรสผู้พี่ทรงพระนาม \"พระยอดฟ้า\" พระชนม์ได้ 11 พรรษา พระราชโอรสผู้น้องทรงพระนามว่า \"พระศรีศิลป์\" พระชนม์ได้ 5 พรรษา
ครั้นถวายพระเพลิงพระไชยราชาเสร็จแล้ว ก็ถึงคราวผลัดแผ่นดิน ฝ่ายพระเทียรราชา ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ของสมเด็จพระไชยราชานั้น จึ่งดำริว่า \"ครั้นกูจะอยู่ในฆราวาสบัดนี้ เห็นภัยจะบังเกิดมีเป็นมั่นคง ไม่เห็นสิ่งใดที่จะเป็นที่พึ่งได้ เห็นแต่พระพุทธศาสนา และผ้ากาสาวพัตร์ อันเป็นธงชัยแห่งพระอรหันต์ จะเป็นที่พำนักพันภัยอุปัทวอันตราย ครั้นดำริแล้ว ก็ออกไปอุปสมบทเป็นภิกษุภาวะอยู่ ณ วัดราชประดิษฐาน...\"
สรุปก็คือที่พระเทียรราชาออกบวช ก็เพื่อให้การผลัดเปลี่ยนแผ่นดินเป็นไปโดยความราบรื่น เพราะพระเทียรราชาเป็นพระอนุชาพระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อน หากอยู่ในเพศฆราวาสต่อไป ก็อาจทำให้เกิดความระแวงได้ว่าจะเป็นภัยต่อราชสมบัติของยุวกษัตริย์ คือพระยอดฟ้า ที่เป็นหลานของพระองค์
แต่ระหว่างที่พระเทียรราชาออกบวชนั้น แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ พระมารดาของพระแก้วฟ้า ได้เป็นผู้ว่าราชการหลังม่านแทนยุวกษัตริย์ มีอำนาจตัวจริง และพงศาวดารระบุว่าได้ทรงมีชู้อยู่กินกับพันบุตรศรีเทพ พนักงานเฝ้าหอพระด้านนอกวัง จนมีพระราชธิดาด้วยกัน 1 องค์ และต่อมาก็ได้ก่อเหตุปลงพระชนม์พระยอดฟ้า แล้วยกพันบุตรศรีเทพ ชู้รักขึ้นเป็นกษัตริย์ ชื่อว่า ขุนวรวงศาธิราช
เมื่อบ้านเมืองเป็นทุรยุคดังนั้น บรรดาขุนนางก็ทนไม่ได้ ไปร่วมวางแผนกับพระภิกษุเทียรราชาในวัด ตามพงศาวดารว่ามีการเสี่ยงเทียนทำนายว่าหากพระเทียรราชามีบุญจะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ขอให้เทียนที่จุดเป็นสัญญลักกษณ์แทนท่านนั้นดับทีหลังเทียนที่ใช้เป็นสัญลักษณ์แทนขุนวรวงศาธิราช ครั้นผลเสี่ยงเทียนเป็นไปดังใจหมายแล้ว จึงพากันทำการยึดอำนาจรัฐประหาร ล้มล้างราชบัลลังก์แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ และขุนวรวงศาธิราชเป็นผลสำเร็จ แล้วก็ได้ทูลขอให้พระภิกษุพระเทียรราชาลาสิกขา หรือ ทรงปริวัตรกลับเพศเป็นฆราวาส เสด็จขึ้นครองราชย์ในพระนาม \"สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์\"
พระเทียรราชามีพระชายาคือ สมเด็จพระศรีสุริโยทัย ซึ่งต่อมาปลอมพระองค์เป็นชายออกรับศึกพม่าจนสิ้นพระชนม์บนคอช้าง ทำให้พม่าถอยทัพกลับเมือง
นักประวัติศาสตร์ร่วมสมัยบางสำนักกล่าวว่า พระเทียรราชาอาศัยผ้าเหลืองหนีราชภัย แล้วสมคบคิดกับขุนนางและขุนศึกก่อการรัฐประหารยึดอำนาจแม่เจ้าอยู่หัวศรีสุดาจันทร์ และรัชทายาทตามกฎหมาย แต่เมื่อล้มล้าง\"อำนาจเก่าสำเร็จแล้ว ก็ชำระประวัติศาสตร์เสียใหม่ให้พระนางเลวชาติโดยการกล่าวหาว่า\"ฆ่าผัว-ฆ่าลูก-คบชู้-ยกชู้ขึ้นเป็นใหญ่\" ตามทำนอง\"ชนะเป็นเจ้า แพ้เป็นโจร\"
กรณีที่2:พระเจ้าทรงธรรมสึกออกมายึดอำนาจหลังสิ้นพระเอกาทศรถ
บันทึกของเยเรเมียส ฟอน ฟลีต (Jeremais Van Vliet) หรือที่เรียกตามปากแบบไทยๆว่า”วันวลิต”นี้ มีขึ้นในปีพ.ศ. 2182 ในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง(ครองราชย์ พ.ศ. 2173-2198 )
โดยฟอน ฟลีต ได้มาทำงานกับบริษัทอิสต์อินเดียของฮอลันดาในกรุงศรีอยุธยา และได้จดบันทำร่วมสมัยนั้นเสนอให้เจ้านายได้รับรู้ความเป็นไปในราชอาณาจักรอยุธยา ต่อมาได้แปลเป็นไทยและเรียกกันว่า\"พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวันวลิต พ.ศ. 2182\"
บันทึกของวันวลิตกล่าวถึงเหตุการณ์ก่อนหน้ารัชสมัยพระเจ้าปราสาททองว่า เป็นรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม โดยพระองค์ทรงเป็นโอรสของพระเอกาทศรถ(พระอนุชาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช) อันเกิดจากพระสนม
ในขณะที่พระเอกาทศรถจะเสด็จสวรรคตได้ส่งมอบราชสมบัติให้พระศรีเสาวภาคย์ พระราชโอรสอันเกิดแต่พระมเหสีเอก พระเจ้าทรงธรรมทรงผนวชอยู่ที่วัดระฆัง มีลูกศิษย์ลูกหาและขุนนางข้าราชการชมชื่นอยู่มาก ทำให้สามารถซ่องสุมกำลังเข้ายึดอำนาจได้
พระองค์ครองราชย์อยู่ ๑๘ ปี หลังจากนั้น ก็ทรงประชวรและสวรรคตในปี พ.ศ.2171 พระชนมายุได้ 38 พรรษา และปัญหาการสืบราชสมบัติก็คล้ายๆ กับตอนที่พระองค์ขึ้นครองราชย์
พระเจ้าทรงธรรมเป็นกษัตริย์องค์ที่ 21 แห่งกรุงศรีอยุธยา ครองราชย์อยู่ระหว่าง พ.ศ. 2163 -2171 ตัวพระเจ้าทรงธรรมเองแย่งชิงราชสมบัติมาจากพระศรีเสาวภาคย์ พระโอรสในพระเอกาทศรถดังกล่าวมาแล้ว
เมื่อพระเจ้าทรงธรรมสิ้นพระชนม์ขณะที่โอรสองค์ใหญ่คือ พระเชษฐาธิราชยังมีพระชนมายุ เพียง 15 พรรษา ระหว่างที่ยังครองราชย์อยู่นั้นได้ตั้งพระอนุชาขึ้นเป็นมหาอุปราช คือพระพันปีศรีศิลป์ เมื่อใกล้สวรรคตปรากฏว่าทรงต้องการให้ราชสมบัติตกแก่พระเชษฐาธิราช และได้ให้ขุนนางคนหนึ่งชื่อออกญาศรีวรวงค์คอยช่วยเหลือให้พระเชษฐาธิราชได้ราชสมบัติ
กรณีที่3:พระเจ้าปราสาททองตลุยเลือดขึ้นบัลลังก์ น้องพระเจ้าทรงธรรมบวชก็ยังหนีไม่พ้น
บันทึกของวันวลิตระบุว่า เมื่อพระเจ้าทรงธรรมประชวรใกล้สวรรคตนั้น ขุนนางส่วนหนึ่งเห็นว่า ราชสมบัติควรตกแก่พระอนุชาซึ่งเป็นอุปราช แต่พระเจ้าแผ่นดินและออกญาศรีวงค์เห็นควรว่าสมบัติควรจะตกแก่โอรส
ในตอนที่พระเจ้าทรงธรรมใกล้สิ้นพระชนม์ และเกิดการแตกออกเป็น2ฝ่ายดังกล่าว จึงเป็นโอกาสให้ ออกญาศรีวรวงค์ที่กุมอำนาจในมืออยู่ขณะนั้น ฉวยโอกาสที่จะรัฐประหารยึดอำนาจ โดยได้ให้ทหารของตนเฝ้าทางเข้าพระราชวังทุกด้าน ไม่มีขุนนางแม้แต่คนเดียวเข้าไปดูอาการพระเจ้าทรงธรรมได้ในระหว่างนั้น ออกญาศรีวรวงค์เพียงคนเดียวเป็นผู้รับสนองคำสั่ง และพระราชโองการ แล้วนำมาแจ้งต่อที่ประชุมเสนาบดี มีการแสร้งกระจายข่าวว่าพระเจ้าทรงธรรมอาการดีขึ้น (ทั้ง ๆ ที่กำลังจะสวรรคต) แล้วในขณะเดียวกันก็ไปเกลี้ยกล่อมขุนนางญี่ปุ่นที่พระเจ้าทรงธรรมชุบเลี้ยงไว้ คือออกญาเสนาภิมุขให้เป็นพวก และยังได้นำกำลังทหารที่เป็นฝ่ายตนเข้ามาไว้ในเมืองหลวง อ้างว่าพระเจ้าแผ่นดินทรงมีพระราชประสงค์ใช้ทหารในการเสด็จประพาส หลังจากหายประชวรแล้ว
เมื่อพระเจ้าทรงธรรมสวรรคตลง ออกญาศรีวรวงค์มีคำสั่งให้ขุนนางทั้งปวงมาที่ในวัง แล้วแจ้งว่า พระเจ้าแผ่นดินสวรรคต 1 ชั่วโมงแล้ว แต่ขุนนางส่วนมากเชื่อว่าพระเจ้าแผ่นดินสวรรคตนานแล้ว แต่ออกญาศรีวรวงค์ปิดบังไว้ ออกญาศรีวรวงค์ได้แจ้งว่า พระเจ้าทรงธรรมทรงต้องการมอบราชสมบัติให้แก่พระราชโอรส ขุนนางทั้งปวงจึงคล้อยตาม
พระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ขึ้นสู่พระราชบัลลังก์ คือสมเด็จพระเชษฐาธิราช มีพระชนมายุเพียง 15 พรรษา ในขณะที่พระอนุชาของพระเจ้าทรงธรรม คือพระศรีศิลป์ ที่เป็นอุปราชอยู่ ก็ได้หนีราชภัยไปบวชที่เมืองเพชรบุรี
ออกญาศรีวรวงค์ได้กำจัดขุนนางที่หนุนฝ่ายพระศรีศิลป์ รวมทั้งพวกที่ไม่ประกาศออกมาชัดเจนว่าเป็นพวกใดก็ไม่ละเว้น พวกเขาถูกจับกุมและถูกพันธนาการอย่างแน่นหนา บ้านเรือนตลอดจนทรัพย์สมบัติถูกปล้นสดมภ์ ข้าทาสบริวารถูกคร่าไปสิ้น ขุนนางผู้ใหญ่ถูกสับออกเป็นท่อน ๆ ศรีษะและร่างกายอื่น ๆ ถูกเสียบประจานไว้หลาย ๆแห่ง เพื่อเตือนใจพวกคิดต่อต้าน
ขุนนางคนสำคัญที่สุดที่ถูกประหารคือออกญากลาโหม แม่ทัพช้าง และออกหลวงธรรมไตรโลก เจ้าเมืองตะนาวศรี จากนั้นออกญาศรีวรวงค์ก็ได้ยึดตำแหน่งออกญากลาโหมแทน ส่วนตำแหน่งต่าง ๆที่ว่างลง เพราะขุนนางฝ่ายตรงข้ามถูกประหารหรือถูกถอดยศ ออกญากลาโหมคนใหม่ก็ตั้งคนของตนเข้าไปแทน
แต่ศัตรูก็ยังมีอยู่เพราะอุปราชหนีไปบวช ออกญากลาโหมไม่กล้าแตะต้องเพราะกลัวบาป และกลัวคนสาปแช่ง จึงให้ออกญาเสนาภิมุขไปล่อลวงให้กลับกรุงศรีอยุธยา โดยแจ้งว่าจะได้รับอำนาจเป็นพระมหากษัตริย์ อุปราชก็หลงเชื่อจึงกลับมา แต่ไม่ยอมสึก เมื่อถึงกรุงศรีอยุธยาก็ถูกหลอกให้สึกพระโดยญี่ปุ่นทำเป็นว่าได้วางทหารไว้ทั่ววังแล้ว วางใจได้แน่
แต่พอสึกก็โดนจับได้ ไปขังไว้และถูกสั่งประหารถึงแก่ความตายในที่สุด ในตอนที่มีพระชนม์ชีพเพียง 26 พรรษา และได้แต่งตั้งพระเชษฐาธิราชขึ้นนั่งราชบัลลังก์
ก่อนพระศรีศิลป์จะตายนั้น วันวลิตบันทึกว่า พระองค์ทรงขออนุญาต ตรัสแก่พระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ที่เป็นหลานสักครั้งก่อนถูกประหารชีวิต ซึ่งก็ได้รับอนุญาต เมื่อได้เข้าเฝ้า ก็ทรงทูลข้อเตือนใจและคำแนะนำที่เป็นแก่นสาร ในตอนท้าย ได้ตรัสว่าพระเจ้าแผ่นดินว่า ไม่ควรทรงไว้ใจออกญากลาโหมมากนัก หรือให้ออกญากลาโหมมีอำนาจมากเกินไป ทรงเพิ่มเติมว่า “ออกญากลาโหมเป็นสุนัขจิ้งจอกที่แยบยล จะแยกมงกุฎจากพระเศียรของพระองค์ จะฆ่าพระองค์ และทำลายทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งเป็นของราชวงศ์พระบิดา และจะปกครองอาณาจักรดุจราชสีห์”
อย่างไรก็ดี พระเจ้าแผ่นดินก็ไม่ใส่ใจคำเตือนนี้ ทรงมีกระแสรับสั่งให้ประหารชีวิต พระปิตุลาถูกนำไปยังป่าช้าที่เงียบเหงา ซึ่งพระองค์ถูกบังคับให้นอนบนพรมสีแดง จากนั้นถูกทุบด้วยท่อนจันทน์ที่พระอุระ ทั้งพระองค์ ท่อนจันทน์ และพรมสีแดง ก็ถูกเหวี่ยงลงบ่อน้ำไป ทรงสิ้นพระชนม์เมื่อพระชนมายุได้ 26 พรรษา ทรงเป็นเจ้าชายที่เข้มแข็งมาก ถ้าหากพระองค์ทรงได้ครองราชสมบัติตั้งแต่เริ่มแรกแล้ว พระองค์จะทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินซึ่งมีคุณงามความดีเหนือพระเชษฐาธฺราชหลายประการ
แม้ได้ขจัดศัตรูทางการเมืองอย่างพระศรีศิลป์ไปแล้ว แต่ผู้ทรงอำนาจในแผ่นดินตัวจริงก็หาได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินไม่ กลับเป็นออกญากลาโหมนั่นเอง
วันหนึ่ง เมื่อน้องชายออกญากลาโหมตาย และเพื่อที่จะทำพิธีเผาศพอย่างใหญ่โตเอิกเกริก ออกญากลาโหมก็เชิญขุนนางหลายคนเดินทางไปกับตนเป็นเวลาหลายวัน เพื่อทำพิธีเผาศพให้สมเกียรติ ทำให้วันหนึ่ง ขณะที่ออกขุนนาง พระเจ้าแผ่นดินทรงมีรับสั่งถามว่า “ขุนนางหายกันไปไหนหมด ทำไมถึงไม่มาเข้าเฝ้าเป็นเวลาหลายวันแล้ว”
เมื่อทรงทราบว่า พวกขุนนางติดตามออกญากลาโหมไปในพิธีเผาศพน้องชาย ก็ทรงพระพิโรธ ตรัสว่า “ข้าตั้งใจไว้แล้วว่าแผ่นดินสยามนั้นจะต้องมีพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียว และพระเจ้าแผ่นดินองค์นั้นก็คือข้า ออกญากลาโหมเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่สองหรือ? ข้าไม่ยักรู้ เอาเถิดปล่อยให้มันและพวกพ้องกลับมาถึงราชสำนักก่อน แล้วข้าจะให้รางวัลในการกระทำของพวกมันอย่างเต็มที่” ขุนนางคนหนึ่งซึ่งเฝ้าอยู่ในขณะนั้น ก็แอบลอบออกจากพระราชวัง ไปเตือนออกญากลาโหมถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่ออกญาและพวกขุนนางอื่นๆ
ออกญากลาโหมมีทีท่าวุ่นวายใจเมื่อทราบข่าว และกล่าวกับขุนนางทั้งปวงว่า เขายินดีที่จะตายถ้าหากเลือดเนื้อของเขาจะทำให้พระเจ้าแผ่นดินหายพิโรธได้ แต่ได้กล่าวเพิ่มเติม ว่า “ถ้าหากข้าซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่สุดในบรรดาพวกเรา จะต้องสิ้นชีวิตลงแล้ว พวกเจ้าจะเป็นอย่างไร..”
หลังจากนั้น พวกขุนนางก็เสนอความเห็นหลายประการ และสาบานว่าจะสนับสนุนออกญากลาโหมทุกประการ และลงมติว่าออกญากลาโหมจะได้รับการสนับสนุนจากกองทัพของพระเจ้าแผ่นดิน ( ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในมือของออกญากลาโหม ) และขุนนางแต่ละคนจะเกณฑ์สมัครพรรคพวกและข้าทาสเข้าร่วมด้วย เมื่อตกลงกันเรียบร้อยแล้ว ต่างก็แยกย้ายกันกลับที่พักของตนพร้อมกับเริ่มดำเนินการตามแผน
เย็นวันนั้น ออกญากลาโหมพร้อมกับทหารจำนวนหนึ่ง ก็ปรากฎตัว ณ ประตูกวาง พวกขุนนางก็เข้ารวมพวกด้วย และบุกเข้าไปในพระราชวังและสามารถยึดอำนาจรัฐไว้ได้
เมื่อพระเจ้าแผ่นดินทราบข่าว ก็กระโดดขึ้นช้างตีนเร็ว ( fleet-footed-elephant ) หนีไปแต่ผู้เดียว ให้ว่ายน้ำข้ามแม่น้ำ และหนีต่อไปทางเหนือเมืองเจ็ดไมล์ เสด็จไปซ่อนพระองค์อยู่ในวัดร้างแห่งหนึ่ง
เมื่อออกญากลาโหม ทราบข่าวว่าพระเจ้าแผ่นดินหลบซ่อนอยู่ในที่ใดแล้ว ก็ส่งทหารของตนออกไปจับพระองค์เป็นเชลย นำกลับมายังกรุงศรีอยุธยา เมื่อมาถึง พวกขุนนางก็พิจารณาลงโทษประหารชีวิตพระองค์ ตามข้อแนะนำของออกญากลาโหม ผู้ซึ่งกล่าวว่า “เนื่องจากพระองค์ได้เสด็จหนีไปจากพระราชวังของพระองค์เอง ทรงละทิ้งมงกุฎและเกียรติยศของกษัตริย์ พระองค์ไม่สมควรที่จะปกครองพวกเราสืบไป!” ทันใดนั้น พระองค์ก็ถูกคุมตัวไปยังป่าช้า สถานที่เดียวกับที่พระปิตุลาถูกประหาร และพระองค์ก็สิ้นพระชนม์แบบเดียวกันกับพระปิตุลา เสวยราชย์อยู่เพียง 8 เดือน
จากนั้นออกญากลาโหมก็ยังไม่ได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ราชวงศ์ใหม่เสียเลยทีเดียว ได้มีการตั้งยุวกษัตริย์อีกองค์คือพระอาทิตยวงศ์ พระอนุชาของพระองค์เชษฐาธฺราช ขึ้นเสวยราชสมบัติด้วยความเห็นชอบของขุนนาง ขณะที่ทรงมีพระชนมายุได้ 10 พรรษา ออกญากลาโหมได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการ เนื่องจากพระเจ้าแผ่นดินทรงพระเยาว์ แต่ออกญากลาโหมประกาศว่าไม่ต้องการที่จะรับหน้าที่ดังกล่าว
อย่างไรก็ดีหลังจากอิดออดพอเป็นพิธีแล้ว ในตอนท้าย ออกญากลาโหมก็รับเป็นผู้สำเร็จราชการตามคำวิงวอนของขุนนาง ซึ่งกล่าวว่าออกญากลาโหม เป็นผู้สืบเชื้อสายโดยตรงจากพระเจ้าแผ่นดินที่ยิ่งใหญ่และยุติธรรม และเป็นลูกพี่ลูกน้องของพระเจ้าแผ่นดินองค์ปัจจุบัน ในที่สุดหลังจากที่ได้คัดค้าน ออกญากลาโหมก็ยอมรับเป็นผู้ปกครอง และได้มีการรับรู้ และประกาศให้ทราบทั่วกันโดยพระราชวงศ์
หลังจากพระเจ้าแผ่นดินขึ้นครองราชย์ได้หลายวัน ออกญากลาโหมต้องการจะสละตำแหน่งหน้าที่ โดยกล่าวว่า “เมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว ไม่ว่าชีวิตหรือตำแหน่งหน้าที่การงานของข้าก็จะต้องไม่มั่นคง เพราะว่าย่อมจะมีทางเป็นไปได้ ที่บุคคลซึ่งไม่ใช่เพื่อนแท้ และพวกปากหอยปากปู ย่อมจะกล่าวร้ายป้ายสีการกระทำของข้า ทำให้ข้ามีมลทิน ซึ่งย่อมจะทำให้พระเจ้าแผ่นดินพิโรธ” และกล่าวเพิ่มเติมว่า ไม่เป็นการถูกต้องนัก ที่อาณาจักรที่ยิ่งใหญ่นี้จะปกครองโดยพระเจ้าแผ่นดินที่เยาว์วัย ด้วยเหตุผลต่าง ๆ จึงพิจารณาว่า ควรจะมีพระเจ้าแผ่นดินปกครองเป็นการชั่วคราวก่อนที่เจ้าชายองค์น้อยนี้จะบรรลุนิติภาวะ และทรงสามารถปกครองได้ด้วยพระองค์เอง เมื่อถึงเวลานั้น พระเจ้าแผ่นดินชั่วคราวจะต้องถวายราชสมบัติคืนแก่รัชทายาทที่ถูกต้อง ในตอนนี้เจ้าชายจะต้องอยู่ในความดูแลของพระสงฆ์เพื่อจะได้เรียนรู้หลักธรรม
หลังจากได้พิจารณาข้อเสนอของออกญากลาโหมแล้ว ก็ไม่สามารถจะตกลงให้สละตำแหน่งหน้าที่ได้ แต่ต้องสถาปนาออกญากลาโหมขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินขึ้นสืบทอดอำนาจหลังจากทำรัฐประหารมาสำเร็จลุล่วงแล้ว ตามเงื่อนใขที่ออกญาวางไว้เอง
แต่อย่างไรก็ดี ออกญากลาโหมแสดงท่าทีอิดออดว่าไม่ต้องการรับมงกุฎ แต่ในที่สุดก็ยินยอมรับตามคำอ้อนวอนและขอร้องของบุคคลทุกชั้น(ซึ่งก็ล้วนเป็นพวกของออกญากลาโหม) สองสามวันหลังจากที่ได้สถาปนาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ออกญากลาโหมก็ทรงเสนอต่อขุนนางด้วยคุณธรรมจริยธรรมสูงยิ่งว่า ที่จะให้เจ้าชายปกครองพระราชอาณาจักรร่วมกัน แต่ขุนนางพรรคพวกของออกญากลาโหมก็ทำทีทัดทานว่าไม่สามารถจะยอมได้ การจำกัดอำนาจดังกล่าวจะเกิดผลอันตรายเพราะว่าเมื่อเจ้าชายมีพระราชอำนาจเต็มที่แล้วอาจจะไม่ไว้ใจออกญากลาโหมโดยการยุยงของผู้อื่น และจะคอยจับผิดเพื่อติเตียนออกญากลาโหมในด้านการปกครอง และดังนั้นจะเป็นอันตรายต่อออกญากลาโหมเป็นอย่างมาก
ดังนั้นออกญากลาโหมจึงไม่ขอรับมงกุฏ หรือภาระหน้าที่การปกครอง คณะขุนนางไม่สามารถจะปล่อยให้เป็นไปดังกล่าวได้ แต่เพื่อรักษาชีวิต และตำแหน่งของพวกเขาเหล่านั้น และเพื่อให้อาณาจักรมีการปกครองที่ถูกต้อง คือมีพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียว ไม่ใช่สององค์ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือกำจัดเจ้าชายองค์น้อยเสีย แต่พระเจ้าแผ่นดินชั่วคราวไม่ทรงปรารถนาให้ทำเช่นนั้น มีดำรัสว่าเจ้าชายเป็นผู้บริสุทธิ์ มิได้ทรงทำผิดอะไร ก็ไม่สมควรที่จะต้องเสียเลือดเนื้อ แต่พวกขุนนางคะยั้นคะยอให้ทำ ในที่สุดก็ทรงยินยอมที่จะให้ประหารชีวิตเจ้าชาย ด้วยวิธีเดียวกับพระเชษฐาธฺราช และพระปิตุลาคือพระศรีศิลป์
ทรงมีกระแสรับสั่งให้นำเจ้าชายไปจากโรงเรียน แล้วนำไปสู่ป่าช้าที่เงียบเหงา ซึ่งเจ้าชายองค์น้อยก็ถูกทุบด้วยท่อนจันทน์ที่พระอุระ และโยนลงบ่อดังเช่นพระเชษฐาและพระปิตุลา พระองค์เสวยราชย์อยู่แค่เพียง 38 วัน
เมื่อเจ้าชายองค์น้อยสิ้นพระชนม์ ออกญากลาโหม ก็ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินแต่องค์เดียวในอาณาจักรสยาม ทรงครองราชย์เมื่อพระชนมายุได้ 30 พรรษา ทรงพระนามว่า พระองค์ศรีธรรมราชาธิราช หรือพระเจ้าปราสาททอง พระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 25 แห่งสยาม และทรงเสวยราชย์อยู่นาน 11 ปี
การผลัดแผ่นดินอย่างนองเลือดไม่ได้จบลงเพียงนั้น ในปีที่สามแห่งรัชกาลของพระเจ้าปราสาททอง ทรงประหารชีวิตเจ้าชายอีกสองพระองค์ องค์หนึ่งพระชนมายุ 7 พรรษา อีกองค์หนึ่ง 5 พรรษา ทั้งสองพระองค์เป็นโอรสของพระอินทราและอนุชาของพระเจ้าแผ่นดินซึ่งถูกปลงพระชนม์ บรรดาขุนนางที่คัดค้านการกระทำนี้ ถูกทำร้ายด้วยน้ำมือของพระองค์เอง และที่พักอาศัยรวมทั้งทรัพย์สมบัติต่าง ๆ ก็ถูกริบราชบาตร เป็นการกำจัดเสี้ยนหนามลงอย่างราบคาบ แต่ก็ทรงราชย์อยู่ด้วยความหวาดระแวง
พระองค์ทรงกำจัดออกญาเสนาภิมุข ขุนศึกญี่ปุ่นที่ร่วมกันทำรัฐประหารอย่างโหดเหี้ยม โดยอ้างกับขุนศึกญี่ปุ่นว่าจะส่งเขาไปกินเมืองที่นครศรีธรรมราช ขณะเดียวกันก็มีสารลับไปถึงเจ้าเมืองนครว่าให้กลุ้มรุมลอบทำร้ายและเข่นฆ่าเสียให้ตายอย่าให้เหลือเมื่อออกญาเสนาภิมุขเดินทางไปถึง และที่สุดออกญาเสนาภิมุขก็พบชะตากรรมที่เลวร้ายตามพระราชประสงค์ทุกประการ
ในปีที่เจ็ดแห่งรัชกาล ทรงสั่งประหารชีวิตออกญาพิษณุโลกด้วยสาเหตุที่ทรงสร้างขึ้นเอง ถึงแม้ว่าออกญาพิษณุโลกเป็นผู้ช่วยเหลือพระองค์ให้ได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินก็ตาม
พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์องค์แรกที่ปฎิบัติต่อขุนนางเยี่ยงทาส ขุนนางจะต้องเข้าเฝ้าทุกวัน และอนุญาตให้ไปเยี่ยมเยียนซึ่งกันและกันตามบ้านหรือที่รโหฐานได้ แต่ไม่อนุญาตให้พูดกัน เว้นแต่ในที่สาธารณะ
แต่เมื่อสิ้นรัชกาลกงเกวียนกำเกวียนก็เวียนมาสนองกรรมของพระองค์
กรณีที่4:ขุนหลวงหาวัด-พระเจ้าเอกทัศ-กรมหมื่นเทพพิพิธ กรณีบวชการเมืองคลาสสิก
กรณีนี้เป็นช่วงเหตุการณ์ก่อนจะเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าครั้งที่ 2 ไม่นานนัก ปัญหาก็เริ่มจากการสืบราชสันตติวงศ์เหมือนเดิม และผู้ที่เกี่ยวข้องในกรณีความขัดแย้งก็ล้วนแต่ได้อาศัยการออกบวชในพระพุทธศาสนาเป็นที่หนีราชภัย หรือเป็นเครื่องมือในการหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าอย่างแตกหักทางการเมืองทุกพระองค์
โดยเหตุเกิดในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ปรากฏว่าเกิดเรื่องยุ่งยากในการสืบราชสมบัติ เนื่องจากพระราชโอรสไม่สามัคคีปรองดองกันโอรสทั้ง 3 พระองค์ ที่มีสิทธิในราชสมบัติ คือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี (เจ้าฟ้าเอกทัศน์) และสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต (เจ้าฟ้าอุทุมพร) และพระโอรสเกิดจากพระสนมอีก 4 พระองค์ คือ กรมหมื่นเทพพิพิธ กรมหมื่นจิตสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ และกรมหมื่นเสพย์ภักดี
ต่อมาพระราชโอรสองค์ใหญ่ คือ สมเด็จเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ได้รับพระราชอาญาให้ประหารชีวิตเนื่องจากลักลอบเป็นชู้กับพระสนมของพระราชบิดา
ส่วนราชโอรสองค์กลางคือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี (เจ้าฟ้าเอกทัศ) นั้น พระปรีชาและพระอุปนิสัยไม่เหมาะแก่การปกครองบ้านเมือง พระราชบิดาจึงโปรดให้ออกผนวชที่วัดกระโจม นัยว่าเพื่อหลีกทางให้สมเด็จพระอนุชา คือเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตเป็นอุปราชแทน
หลังจากเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ ซึ่งเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล สิ้นพระชนม์ เมื่อปี พ.ศ.2298 แล้วสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ มิได้ทรงแต่งตั้งพระราชโอรสองค์ใด ขึ้นเป็นพระมหาอุปราชแทน เป็นเวลาถึง 11 ปี ต่อมาในปี พ.ศ.2300 จึงทรงตั้งเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ด้วยทรงเห็นว่าทรงพระปรีชา มีพระสติปัญญาเฉลียวฉลาดกว่าพระเชษฐางกล่าวไปแล้ว
ปัญหามาเกิดขึ้นเมื่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จสวรรคต สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต ทรงขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า พระเจ้าอุทุมพร ต่อมากรมหมื่นจิตสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ และกรมหมื่นเสพย์ภักดี คบคิดกันช่วงชิงราชสมบัติแต่ไม่สำเร็จ ถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์
แต่พระเจ้าอุทุมพรครองราชย์ได้เพียงเดือนเศษ ก็จำต้องทรงสละราชย์สมบัติ แล้วถวายแก่เจ้าฟ้าเอกทัศผู้เป็นพระเชษฐาที่ลาสิกขาออกมาทวงสิทธิในราชบัลลังก์ แล้วพระเจ้าอุทุมพรก็เสด็จออกผนวช โดยประทับอยู่ที่วัดประดู่โรงธรรม
พงศาวดารกล่าวว่า เจ้าฟ้าเอกทัศได้ลาผนวชเสด็จกลับเข้าวังเพื่อแสดงสิทธิ์ของพระองค์ โดยเสด็จเข้าไปในพระที่นั่งสุริยามรินทร์ ประทับนั่งบนพระแท่นพาดพระแสงดาบไว้บนพระเพลา แล้วโปรดฯให้พระเจ้าอุทุมพรเข้าเฝ้า พระอนุชาผู้ขึ้นครองราชย์ได้ไม่กี่วันก็เข้าพระทัย ยอมถวายราชบัลลังก์ให้โดยดี แล้วหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะตามมาด้วยการไปผนวชเสียที่วัดประดู่ ทรงธรรมให้หมดเรื่องไป
แต่เรื่องก็ไม่จบเพียงนั้น เพราะในพ.ศ. 2301-2303 พระเจ้าอลองพญา กษัตริย์พม่าทรงยกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ พระเจ้าเอกทัศ ทรงเห็นเป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าจะทรงสู้ศึกได้เอง จึงไปขอให้พระเจ้าอุทุมพรลาผนวชมาบัญชาการรบแทนพระองค์ พระเจ้าอุทุมพรก็ทรงยอมทำตาม ในการศึกครั้งนี้อลองพญาถูกกระสุนปืนใหญ่ของฝ่ายไทยบาดเจ็บสาหัส จำต้องถอยทัพไปสิ้นพระชนม์กลางทาง อยุธยาก็พ้นศึกกลับมาสงบตามเดิม
เมื่อศึกสงบ แทนที่จะทรงมอบหมายให้พระอนุชาครองราชย์อย่างที่ควรจะเป็น พระเจ้าเอกทัศก็ทรงใช้ไม้เดิม คือขึ้นประทับนั่งพาดพระแสง ดาบบนพระเพลาให้รู้ว่าทรงทวงบัลลังก์คืน พระอนุชาก็ว่าง่าย ทูลลากลับไปผนวชอย่างเก่า จนได้สมญาว่า \"ขุนหลวงหาวัด\"
แล้วก็เกิดสงครามครั้งสุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา เมื่อพม่าจัดทัพมารุกรานอีกครั้ง ในปี พ.ศ.2307 พระเจ้ามังระ โอรสพระเจ้าอลองพญา กษัตริย์พม่า ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ ได้ส่งกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีก โดยได้ล้อมกรุงศรีอยุธยายืดเยื้อยาวนาน แล้วก็เข้าตีพระนครได้ เมื่อวันที่ 13 เดือนเมษายน พ.ศ.2310
แต่ก่อนกรุงจะแตกนั้น ไทยเริ่มเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำติดต่อกันหลายครั้งหลายคราว จนถึงคับขันจน กรุงใกล้จะแตก ราษฎรหมดความหวังในตัวพระเจ้าเอกทัศ ก็พากันไปถวายฎีการ้องทุกข์ ทูลขอร้องพระเจ้าอุทุมพรให้ลาผนวชมาช่วย บ้านเมืองอีกครั้ง แต่จะด้วยความเกรงพระทัยพระเชษฐาที่ไม่ได้มาร้องขอด้วยพระองค์เอง ท่านก็เฉยไม่ยอมลาผนวช ไม่ว่าราษฎรจะอ้อนวอนแค่ไหนก็ตาม ปล่อยให้พระเจ้าเอกทัศบัญชาการรบไปเอง จนกระทั่งวาระสุดท้ายของอยุธยามาถึงทั้งสองพระองค์
พงศาวดารเล่าว่าพระเจ้าเอกทัศทรงหนีออกจากอยุธยาไปได้ แต่ก็หนีไปไม่ตลอด เพราะอดอาหารมิได้เสวยถึง12วัน จนไปสิ้นพระชนม์ที่ค่ายโพธิ์สามต้น ส่วนพระเจ้าอุทุมพรถูกจับเป็นเชลยพร้อมเจ้านายและขุนนางอื่นๆจำนวนมาก ถูกนำตัวไปพม่า แล้วก ็ทรงอยู่ในเพศบรรพชิตที่พม่าจนสิ้นพระชนม์ไปในที่สุด
ระหว่างนั้นทรงให้ปากคำบันทึกกับชาวพม่า ถึงประวัติศาสตร์ของอยุธยา ต่อมาเรื่องนี้แปลเป็น ไทยชื่อ “คำให้การของขุนหลวงหาวัด”
ในครั้งนั้นยังมีอีกพระองค์หนึ่งที่ออกบวชเพื่อแก้ไขปัญหาบ้านเมือง คือกรมหมื่นเทพพิพิธ เป็นโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมโกศที่เกิดแต่พระสนม พระนามเดิมว่า \"พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าแขก\" เป็นพระเชษฐาต่างพระมารดากับ พระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าเอกทัศน์ และพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ (พระเจ้าอุทุมพร)
ครั้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมโกศเสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ.2301 กรมหมื่นเทพพิพิธสนับสนุน พระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ ซึ่งดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (ตำแหน่งรัชทายาท) ได้ครองราชสมบัติ แต่พระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าเอกทัศน์ผู้เป็นพี่รีบลาผนวชออกมา ประจวบกับ พระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อรักสงบ ไม่ชอบการขัดแย้งจึงสละราชสมบัติเสด็จออกทรงผนวช กรมหมื่นเทพพิพิธเกรงราชภัยจะถึงตน จึงออกผนวชที่วัดกระโจม
แต่กระนั้นก็ตามเมื่อสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ได้ครองราชย์จึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระตำรวจทั้งแปดไปจับตัวมาหวังจะประหารชีวิตเสีย แต่ขุนนางกราบบังคมทูลว่าเป็นเชื้อพระวงศ์ผู้ใหญ่ไม่มีความผิดชัดเจน ไม่ควรประหารในระหว่างทรงพรตในเพศสมณะ จึงสั่งให้จองจำไว้
ครั้นกำปั่นจะไปลังกาทวีปเพื่อส่งพระวิสุทธาจารย์ และพระวรญาณมุนีไปเผยแผ่พุทธศาสนาสยามวงศ์ที่เมืองลังกา จึงให้เนรเทศกรมหมื่นเทพพิพิธไปกับเรือกำปั่นนั้นด้วย
พระกรมหมื่นเทพพิพิธพำนักที่เมืองลังกาได้ 4-5 ปี ต่อมาภายหลังทราบว่ากรุงศรีอยุธยาถูกกองทัพพม่าล้อมอยู่ จึงหาโอกาสหนีกลับมาเมืองไทยอีก ได้โดยสารเรือกำปั่นแขกลูกค้าเมืองเทศมายังเมืองมะริด เมื่อ พ.ศ.2305 ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2307 กองทัพพม่ายกมาตีเมืองมะริด ตะนาวศรี กรมหมื่นเทพพิพิธจึงหนีมาอาศัยอยู่ที่เมืองเพชรบุรี
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอุทุมพร (ลาผนวชมารักษากรุงฯ) ทราบเรื่องราวกรมหมื่นเทพพิพิธตกยากอยู่ที่เพชรบุรี จึงโปรดเกล้าฯ ให้ไปอยู่เมืองจันทบุรีในปีเดียวกันนั้น เมื่อกรมหมื่นเทพพิพิธมาอยู่เมืองจันทบุรีนั้น ข่าวกองทัพพม่าล้อมกรุงฯ ปล้นสะดมชาวเมืองในหัวเมืองใกล้เคียง และเข่นฆ่าชาวบ้านชาวเมืองล้มตายเป็นจำนวนมาก ผู้คนได้รวมตัวกันเป็นชุมนุมตั้งค่ายป้องกันตัว ดังค่ายบ้านบางระจัน เป็นต้น ชาวหัวเมืองในภาคตะวันออกต่างก็เห็นว่า เชื้อพระวงศ์ผู้ใหญ่ได้มาพำนักที่เมืองจันทบรี ต่างพากันมาสวามิภักดิ์ หวังจะให้เป็นหัวหน้าต่อสู้กองทัพพม่า
จนหลังกรุงแตก กรมหมื่นเทพพิพิธก็ไปตั้งก๊กหนึ่งที่เมืองพิมาย นครราชสีมา แต่ในที่สุดก็ถูกก๊กของพระยาตากปราบปรามลง และประหารชีวิตเสีย เพราะกรมหมื่นเทพพิพิธนั้นถือว่า พระองค์ทรงมีสิทธิเหนือมงกุฏอยุธยา ไม่ใช่ลูกเจ๊กอย่างเจ้าตากสิน ดังนั้นจึงต้องถูกขจัดไม่ให้เป็นเสี้ยนหนามในการปราบดาภิเษกของเจ้าตากในที่สุด
ความยุ่งยากและความพัวพันในเรื่องของ\"ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ในมุมมืดประวัติศาสตร์ไทย\"ยังเป็นไปอย่างสืบเนื่องในทุกราชธานี และทุกรัชกาลในเวลาต่อมา
กรณีที่5:พระเจ้าตากสิน ถูกสั่งประหารชีวิตทั้งคาผ้าเหลือง?
ดังที่ทราบกันดีว่าหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 แล้ว พระเจ้าตากสินที่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน(ซึ่งเป็นที่ดูถูกของคนไทยสมัยนั้น แม้กระทั่งเวลาต่อมาอีกนับร้อยๆปี) ก็นำทัพกอบกู้เอกราชให้แก่ไทย แล้วสถาปนากรุงธนบุรี เป็นราชธานีใหม่
ทรงรวบรวมไทยให้เป็นปึกแผ่นแล้วปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2311 พระองค์สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 6 เมษยา 2325 แม้จะมีคำบอกเล่าเชิงตำนานไว้บางสำนวนว่า พระองค์ได้หลีกทางให้พระยาจักรี สถาปนาราชวงศ์ใหม่ด้วยเหตุผลบางประการ และพระองค์ได้ดำรงพระชนม์ชีพอย่างสงบในสมณเพศสืบมา (และกลายเป็นการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองที่มีผลแพร่หลายอย่างยิ่ง)
แต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ก็ชี้ว่าพระองค์ถูกพระยาจักรี สั่งให้สำเร็จโทษเพื่อปราบดาภิเษกราชวงศ์ใหม่ และมีการกำจัดเสี้ยนหนามตามมาอีกหลายระลอก
กรณีของพระเจ้าตากสินมหาราชนั้นนับว่าประหลาดไปจากกรณีอื่นที่กล่าวมาแล้ว คือการช่วงชิงอำนาจทางการเมืองนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นในขณะที่พระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อนสวรรคตลง แล้วเกิดปัญหาการสืบราชสมบัติ และการถูกประหารชีวิตนั้นกรณีอื่นๆมีการจับสึกจากสมณเพศก่อน แต่ในกรณีพระเจ้าตากสินนั้นบางหลักฐานชี้ว่า อาจเป็นไปได้ว่าถูกสั่งสำเร็จโทษประหารชีวิตด้วยการตัดพระเศียร ขณะที่ดำรงสมณเพศอยู่ก็เป็นได้
ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวถึงวาระสุดท้ายของพระเจ้าตากสินมหาราชไว้ในหนังสือ”การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี” หน้า 575 ว่า* \" ( พระพุทธยอดฟ้าฯ) จึงมีรับสั่งให้เอาไปประหารชีวิตสำเร็จโทษเสีย เพชฌฆาตกับผู้คุม ก็ลากเอาตัวขึ้นแคร่หามไปกับทั้งสังขลิกพันธนาการ เจ้าตากสินจึงว่าแก่ผู้คุมเพชฌฆาตว่า ตัวเราก็สิ้นบุญจะถึงที่ตายแล้ว ช่วยพาเราแวะเข้าไปหาท่านผู้สำเร็จราชการ จะขอเจรจาด้วยสักสองสามคำ ผู้คุมก็ให้หามเข้ามา ครั้น ( พระพุทธยอดฟ้าฯ)ได้ทอดพระเนตร จึ่งโบกพระหัตถ์มิให้นำมาเฝ้า ผู้คุมแลเพชฌฆาตก็ให้หามออกไปนอกพระราชวัง ถึงหน้าป้อมวิชัยประสิทธิ์ ก็ประหารชีวิตตัดศีรษะเสีย ถึงแก่พิราลัย จึ่งรับสั่งให้เอาศพไปฝัง ณ วัดบางยี่เรือใต้\"
ขณะที่ปรีดา ศรีชลาลัย กล่าวถึงวาระสุดท้ายของพระเจ้าตากสินฯไว้ในบทความเรื่อง”ปีสุดท้ายของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช”ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 ประจำเดือนธันวาคม 2524 ว่า”สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชถูกปลงพระชนม์ ณ พระวิหารที่ประทับในวัดแจ้ง (คือวัดอรุณราชวราราม ปัจจุบันนี้) รวมวันตั้งแต่เสด็จออกทรงผนวชจนถึงวันถูกปลงพระชนม์ เป็น 28 วัน โหรจดไว้ว่าดับขันธ์ ไม่ใช้คำว่าสิ้นพระชนม์ หรือสวรรคต ก็เพื่อยืนยันว่า พระองค์ท่านถูกปลงพระชนม์ทั้งที่ทรงเพศเป็นพระภิกษุ จึงใช้คำว่าดับขันธ์ เพื่อให้เข้าใจว่ามิได้สวรรคตเมื่อลาผนวชออกมา ความจริงพระองค์ดำรงสมณเพศจนตลอดพระชนม์ชีพ เมื่อการปลงพระชนม์เสร็จเรียบร้อยแล้ว เชิญพระศพไปฝังไว้ที่วัดอินทาราม บางยี่เรือ ใกล้ตลาดพลู คลองบางหลวง (เวลานั้นยังเรียกวัดบางยี่เรือ)”
ปรีดานำเสนอว่า ปฐมเหตุนั้นมาจากการที่เกิดความวุ่นวายทางการเมืองของเวียดนาม เมื่อพวกกบฏไตเซินได้ก่อการรัฐประหารต่อพระเจ้าเวียดนามยาลอง พ่ายแพ้ถอยร่นลงมาทางใต้ แล้วหวังจะได้กำลังฝ่ายเขมรเข้ามาช่วยสู้รบ จึงเข้าไปแทรกแซงการเมืองเขมร ซึ่งเป็นประเทศราชของไทย
พระเจ้าตากสินจึงโปรดเกล้าให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ พระมหาอุปราช องค์รัชทายาทเป็นแม่ทัพใหญ่ เจ้าพระยาจักรี(ด้วง) เจ้าพระยานครสวรรค์ เจ้าพระยาสุรสีห์(บุญมา น้องชายเจ้าพระยาจักรี ด้วง)และพระเจ้าหลานเธอ กรมขุนรามภูเบศ เหล่านี้เป็นแม่ทัพรองๆลงมา ไปจัดการปราบ และเพื่อมิให้ญวนลุกลามเข้ามายึดเมืองเขมรเป็นที่มั่น โดยโปรดให้กองทัพไทยออกไปในเดือนยี่ ปีฉลู ตรงกับพ.ศ.2324
แทนที่จะจัดการปัญหาได้ตามแผน ปรีดาได้อ้างถึงพงศาวดารญวน ฉบับนายหยงทหารปืนใหญ่ แปล(เล่ม 2 หน้า 378)ว่า เรื่องผิดคาดหมด เพราะกองทัพไทยที่ยกออกไปครั้งนั้นทำงานต่างกัน แม่ทัพใหญ่พยายามจะรุดหน้าไป ฝ่ายแม่ทัพรองบางนายหาทางยับยั้งเสีย เพื่อหน่วงคอยฟังเหตุการณ์ทางกรุงธนบุรี เวลานั้นญวนได้ส่งกองทหารเข้าไปช่วยอยู่ในเมืองเขมรบ้าง แต่ไม่มากนัก ว่ากันตามส่วนกำลังที่ทั้งสองฝ่ายมีและจะต้องสู้กันอย่างแตกหัก อย่างไรเสียก็ควรจะหวังได้ว่ากองทัพไทยต้องทำงานได้ผลดีเป็นแน่ หากงานที่ทำนั้นไม่มีเรื่องอื่นเข้าแทรกแซง เพราะฝ่ายญวนอ่อนเต็มทีแล้ว ย่อมจะต้องการหย่าศึกกับไทยมากกว่า เพราะญวนมีภาระจะต้องสู้รบกับพวกราชวงศ์เล้(กบฏไตเซิน) ซึ่งกำลังตีรุกลงมาจากทางเหนืออย่างรุนแรง ถ้าขืนรบกับไทยเข้าอีก จะถูกตีกระหนาบสองหน้า อาจถึงเหลวแหลกหมดทางตั้งตัว
เพราะฉะนั้นเพื่อหาทางดีกับไทย แม่ทัพญวนชื่อเหงวียงหึวถว่าย จึงลอบแต่งทูตมาทาบทามทางแม่ทัพรองฝ่ายไทย พงศาวดารญวน เล่ม 2 หน้า 382 บันทึกไว้ว่านับเป็นโชคดีของญวน เป็นอันสมประสงค์ของแม่ทัพญวนโดยง่ายดาย เพราะว่าแม่ทัพรองฝ่ายไทยก็ต้องการจะให้กองทัพญวนและเขมรร่วมมือในทางลับอยู่เหมือนกัน และท่านแม่ทัพรองฝ่ายไทยก็ยินดีจะช่วยกำลังแก่ญวนตามสมควรในโอกาสต่อไป เมื่อทำงานลับเสร็จสมหมายแล้ว แม่ทัพญวนกับแม่ทัพรองฝ่ายไทยได้ลอบทำสัญญาลับทางทหารต่อกัน ฝ่ายแม่ทัพญวนหักกระบี่และคันธงออกเป็น ๒ ท่อน แล้วแบ่งให้ไว้ฝ่ายละครึ่งตามธรรมเนียม เพื่อเป็นเครื่องหมายในการทำสัญญา ต่อจากนั้น แม่ทัพรองฝ่ายไทยก็ให้ญวนล้อมกองทัพสมเด็จพระมหาอุปราช เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ และทัพพระเจ้าหลานเธอ กรมขุนรามภูเบศ ไว้อย่างแน่นหนา ตรึงทัพทั้งสองมิให้เคลื่อนที่ได้ ส่วนตนรีบเดินทัพย้อนกลับมากรุงธนบุรีโดยด่วน
ส่วนทางด้านกรุงธนบุรี มีผู้ยุยงชาวกรุงเก่าให้เกิดเข้าใจผิดในสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ และชักชวนทำการกบฏย่อยๆขึ้น ผู้ยุยงตัวสำคัญซึ่งแอบขึ้นไปตั้งทำการยุที่กรุงเก่า มี 3คน คือ นายบุนนาค, หลวงสุระ,หลวงชะนะ รวบรวมผู้คนตั้งเป็นกองรบเข้ารุมทำร้ายผู้รักษากรุงเก่า แล้วเดินทางมายังกรุงธนบุรี ในเดือน 4 แรม 11 ค่ำ ถึงกรุงธนบุรีในตอนดึก ก็เริ่มยิงพระนครทันที ยังมีพวกกบฏแอบแฝงซ่องสุมอยู่ในกรุงธนบุรีอีก มีหลวงสรวิชิต (หน) เป็นต้น ก็ก่อการจลาจลขึ้นรับกับพวกกบฏที่ยกมาจากกรุงเก่า
ในชั้นต้น พวกกบฏขอให้พระสงฆ์เข้าไปถวายพระพร ทูลขอให้พระองค์เสด็จออกทรงผนวชเพื่อสะเดาะพระเคราะห์เมืองสัก 3 เดือน สมเด็จพระเจ้าตากสินฯทรงรับคำทูล โปรดให้ข้าราชการผู้ใหญ่ปรึกษาดูตามความสมควร เวลานั้นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มีพระยาสรรคบุรี (บรรพบุรุษแห่งสกุลแพ่งสภา) พระยารามัญวงศ์ (มะซอน บรรพบุรุษแห่งสกุลศรีเพ็ญ) เป็นต้น ล้วนแต่ซื่อสัตย์จงรักภักดีในพระองค์อย่างยิ่งยวด ข้าราชการเหล่านั้นคงจะได้คำนึงถึงกำลังส่วนใหญ่ที่ต้องส่งออกไปภาคตะวันออก จะทำผลีผลามลงไปในขณะนี้ ฉวยว่ามีการผันแปรต่างประเทศด้านอื่นเกิดขึ้นแทรกแซง จะเรียกกำลังจากภาคตะวันออกกลับมาไม่ทันท่วงที
อีกประการหนึ่งพวกราษฎรก็ถูกปลุกปั่นให้เข้าใจผิดโดยการโฆษณาชวนเชื่อว่าพระเจ้าตากสินทรงมีพระสัญญาณวิปลาส คือเป็นบ้า หลงผิดว่าบรรลุโสดาบัน ทำการสั่งสอนพระสงฆ์ หากพระสงค์องค์ใดไม่ยินยอมก็ถูกจับเฆี่ยนตี(ซึ่งเป็นกล่าวหาที่ร้ายแรงมากที่สุดในเวลานั้น เป็นโทษฐานอนันตริยกรรมทีเดียว) ความเข้าใจผิดอาจลุกลามไปมาก ในเมื่อไม่รีบหาทางแก้ไข เสียแต่ในชั้นต้น ฉะนั้นควรจะมีทางมองเห็นทางเดียวที่ควรกระทำก่อน คือขอให้ทรงยอมตามความประสงค์ ดังที่พวกกบฏขอให้พระสงฆ์ทูลแล้วนั้น
พระเจ้าตากสินฯซึ่งสิ้นไร้ทั้งกำลัง และถูกโฆษณาชวนเชื่อว่าร้ายอย่างหนักหน่วงให้ขาดการสนับสนุนจากมวลชน ก็ได้ตกลงเสด็จออกทรงผนวช วันอาทิตย์ เดือน 4 แรม 12 ค่ำที่วัดแจ้ง อันเป็นวัดในพระบรมมหาราชวัง (เช่นเดียวกับวัดพระแก้วมรกตในวังหลวงทุกวันนี้) ในการเสด็จออกทรงผนวชนี้ ความจริงหาขาดจากพระราชตำแหน่งไม่ เพราะมีกำหนดแน่นอน ว่าจะเสด็จนิวัติกลับสู่ราชบัลลังก์ ภายหลังเมื่อทรงผนวชแล้ว 3 เดือน ส่วนราชการบ้านเมืองก็มีข้าหลวงรักษาพระนครตามธรรมเนียม
พระเจ้าตากสินทรงผนวชแล้ว 12 วัน พระยาสุริยอภัย (ทองอิน) หลานเจ้าพระยาจักรี (ด้วง) ซึ่งโปรดให้ออกไปเป็นเจ้าเมืองนครราชสีมา ยกทัพมาจากนครราชสีมา โดยมิได้รับพระบรมราชานุญาต (ซึ่งถือเป็นพฤติการณ์กบฎในสมัยนั้น แม้กระทั่งสมัยนี้หากเคลื่อนย้ายกำลังโดยไม่มีคำสั่ง)
แต่ในพงศาวดารว่าเจ้าพระยาจักรี (ด้วง) ให้รีบยกเข้ามาฟังเหตุการณ์ในกรุงก่อน (ดูพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 3) พวกกบฏมีนายบุนนาค หลวงสุระเป็นต้น เข้าสมทบกับพระยาสุริยอภัย (ทองอิน)
กาลครั้งนั้นพระเจ้าหลานเธอ กรมขุนอนุรักษ์สงครามจึงระดมกำลังเท่าที่จะหาได้ในเวลานั้น รีบยกไปตีกองทัพพระยาสุริยอภัย (ทองอิน) ที่ตำบลบ้านปูน ณ วันอังคาร ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2325 เป็นเวลาภายหลังที่พระยาสุริยอภัย (ทองอิน) เดินทัพเข้ามาในกรุง และตั้งมั่นอยู่ 11 วัน แต่กำลังของกรมขุนอนุรักษ์สงครามไม่สามารถตีทำลายกองทัพพระยาสุริยอภัย (ทองอิน) ลงได้ตามความประสงค์ เพราะกำลังน้อยกว่า ต้องล่าถอยไปทางวัดยาง ในที่สุดถูกพวกพระยาสุริยอภัย (ทองอิน) จับได้ พระยาสุริยอภัย (ทองอิน)จึงขยายวงค่ายแผ่กว้างออกมา จนใกล้พระราชวังหลวง
เมื่อกรมขุนอนุรักษ์สงครามถูกจับแล้ว 3 วัน พอเช้าวันที่ 6 เมษายน 2325 เจ้าพระยาจักรี (ด้วง) ก็รีบเดินกองทัพใหญ่มาถึงพระนคร ได้มีการสอบถามความเห็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เป็นจำนวนมาก(ซึ่งส่วนมากก็ล้วนอยู่ในสายของพระยาจักรีนั่นเอง) ว่าเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้แล้วจะควรทำอย่างไรต่อไป
บรรดาข้าราชการที่ยังจงรักภักดีในพระองค์สมเด็จพระเจ้าตากสิน และเชื่อในพระราชปรีชาสามารถ ของพระองค์ ก็ยืนคำว่าควรไปกราบทูลอัญเชิญเสด็จ ขอให้ทรงลาผนวชออกมาครองราชสมบัติบริหารการแผ่นดินโดยด่วน หาไม่ก็ควรยกราชสมบัติให้รัชทายาทของพระองค์แทน ในเรื่องนี้ได้ความตามคำบอกเล่าจากเจ้านายบางองค์ในราชวงศ์จักรีว่า ข้าราชการพวกที่กล้าพูดเช่นนั้น ในที่สุดก็ถูกคุมตัวไปประหารชีวิตทั้งหมด
ส่วนสมเด็จพระเจ้าตากก็ถูกปลงพระชนม์ในวันนั้นเอง ณ พระวิหารที่ประทับในวัดแจ้ง (คือวัดอรุณราชวราราม ปัจจุบันนี้) รวมวันตั้งแต่เสด็จออกทรงผนวช จนถึงวันถูกปลงพระชนม์ เป็น ๒๘ วัน โหรจดไว้ว่าดับขันธ์ ไม่ใช้คำว่าสิ้นพระชนม์หรือสวรรคต ก็เพื่อยืนยันว่า พระองค์ท่านถูกปลงพระชนม์ทั้งที่ทรงเพศเป็นพระภิกษุ จึงใช้คำว่าดับขันธ์ เพื่อให้เข้าใจว่ามิได้สวรรคตเมื่อลาผนวชออกมา ความจริงพระองค์ดำรงสมณเพศจนตลอดพระชนม์ชีพ
เมื่อการปลงพระชนม์เสร็จเรียบร้อยแล้ว เชิญพระศพไปฝังไว้ที่วัดอินทาราม บางยี่เรือ ใกล้ตลาดพลู คลองบางหลวง (เวลานั้นยังเรียกวัดบางยี่เรือ) บรรดาศพข้าราชการที่จงรักภักดีในพระองค์ มีเจ้าพระยานครราชสีมา (บุญคง ต้นสกุลกาญจนาคม) พระยาสรรค์ (บรรพบุรุษสกุลแพ่งสภา) พระยารามัญวงศ์ (ต้นสกุลศรีเพ็ญ) พระยาพิชัยดาบหัก (ทองดี ต้นสกุลวิชัยขัทคะ และพิชัยกุล) เป็นต้น จำนวนมากกว่า 50 นาย ก็ถูกฝังเรียงรายใกล้พระศพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนั้น
ฝ่ายพระราชวงศ์ของพระเจ้าตากสินที่ยังเหลือ ถ้าเป็นเจ้าชายชั้นทรงพระเจริญวัยก็ถูกจับปลงพระชนม์หมด เอาไว้แต่ที่ทรงพระเยาว์ และเจ้าหญิง ถอดพระยศออกแล้วเรียกว่าหม่อม เหมือนกันทุกพระองค์ แม้จนกระทั่งสมเด็จพระราชินี และสมเด็จพระน้านาง เป็นการถอดอย่างที่ไม่เคยมีมา ฝ่ายเจ้าพระยาอินทวงศา อัครมหาเสนาธิบดีฝ่ายกลาโหม ขณะนั้นตั้งวังปราบบัญชาการทัพอยู่ที่ปากพระ ใกล้เมืองถลาง ทราบว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินฯถูกปลงพระชนม์แล้ว ก็ฆ่าตัวตายตามเสด็จ เพราะไม่ยอมเป็นข้าคนอื่น
ยังเหลือไว้แต่กรมขุนกษัตรานุชิต(เจ้าฟ้าเหม็น)ราชโอรสที่เกิดแต่ลูกสาวของพระยาจักรีที่ไว้ชีวิต(แต่เมื่อรัชกาลที่1สวรรคตลง ก็มีการหาเหตุขจัดเสี้ยนหนามในที่สุด โดยอ้างว่าเจ้าฟ้าเหม็นจะทำการกบฎ โดยตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์อ้างว่ามีอีกาบคาบข่าวมาบอกผู้มีอำนาจในเวลานั้นว่าเจ้าฟ้าเหม็นจะทำกบฎ อันฟังในยุคนี้แล้วก็เป็นข้อหาที่ตื้นเขินสิ้นดี)
ส่วนความเกี่ยวข้องกับญวน ตามสัญญาลับ ไทยต้องช่วยญวนต่อรบกับพวกราชวงศ์เล้ (ที่เรียกพวกกบฎไตเซิน) 2 ครั้ง และช่วยอาวุธยุทธภัณฑ์อีกนับไม่ถ้วน เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงลับ
ผลสุดท้ายเมื่อญวนกลับตั้งราชวงศ์องเชียงสือสำเร็จ มีอำนาจใหญ่โตขึ้น ไทยต้องเสียเมืองพุทไธมาศแก่ญวน (ดูพงศาวดาร ฉบับนายหยง แปล เล่ม 2 หน้า 394, 419)
กรณีที่6:รัชกาลที่4บวชยาว27ปีตลอดรัชกาลที่3
ต่อมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ก็มีกรณีบวชด้วยเหตุผลทางการเมืองอันลือลั่นของพระภิกษุวชิรญาณ ซึ่งภายหลังได้ครองราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี มีพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือ \"ความทรงจำ\" ว่า \"ปีวอก พ.ศ.2367 เจ้าฟ้ามงกุฎ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระชันษา 21 ปี เสด็จออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุตามประเพณี พอทรงผนวชได้ 15 วัน ก็เผอิญเกิดวิบัติ ด้วยสมเด็จพระบรมชนก เสด็จสวรรคต
ความสำคัญตอนนี้มีอยู่ว่า ในเวลาท้ายรัชกาลที่ 2 นั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงมีพระราชโอรสประสูติแต่พระอัครมเหสี (สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตร์ หรือฟ้าหญิงบุญรอด พระธิดาในกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ ซึ่งทรงเป็นพระพี่นางเธอของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก) อยู่ 2 พระองค์ คือ เจ้าฟ้ามงกุฏ และเจ้าฟ้าจุฑามณี
เจ้าฟ้ามงกุฏนั้นทรงมีพระชนมายุได้ 20 ปี ได้เวลาอุปสมบทในบวรพระพุทธศาสนาตามโบราณราชประเพณี จึงเสด็จเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันจันทร์ ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 8 ปีวอก ฉศก จุลศักราช 1186 หรือ พ.ศ.2367 เวลา 8 โมงเช้า 9 บาท มีสมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ พร้อมด้วยพระสงฆ์ร่วมสังฆกรรม 50 รูป เจ้าฟ้ามงกุฏได้พระฉายาในทางสมณเพศว่า \"วชิรญาโณ\" แปลว่า ผู้มีความรู้ประดุจเพชร
ขณะเดียวกัน ในเวลานั้น การบริหารการปกครองบ้านเมือง และการเศรษฐกิจการค้าล้วนตกอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (พระองค์เจ้าทับ) พระราชโอรสประสูติแต่พระสนม คือสมเด็จพระศรีสุราไลยหรือเจ้าจอมมารดาเรียม ผู้ทรงมีพระชนมายุสูงกว่าเจ้าฟ้ามงกุฏถึง 17 ปี
เมื่อเป็นเช่นนี้ เจ้าฟ้ามงกุฏถึงจะทรงมี \"สิทธิในราชบัลลังก์\" ตามโบราณประเพณี เพราะเป็นพระราชโอรสที่เกิดแต่พระมเหสีเอก แต่บัดนี้มีข้อยกเว้นแล้ว เพราะ \"อำนาจชี้ขาดให้ใครได้ราชบัลลังก์\" กลับตกอยู่ในเงื้อมมือพี่ชายต่างพระมารดา
ว่ากันว่า พระภิกษุวชิรญาณนำความเมืองเรื่องนี้ไปขอคำปรึกษาจากพระเจ้าลุง คือสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพน ก็ได้รับคำตอบว่า \"อย่าทรงห่วงเรื่องราชสมบัติเลย\" ก็เลยเป็นว่า พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ หาใช่เป็น \"พระราชโอรสในพระเหสี\" ไม่ หากแต่เป็นพระโอรสประสูติแต่เจ้าจอมมารดา คือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
เวลาที่เจ้าฟ้ามงกุฏทรงผนวชและยอมผนวชต่อไปนั้น ทรงมีพระโอรสประสูติแต่เจ้าจอมมารดาน้อย (พระธิดาในพระอินทรอำไพ-พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) อยู่ก่อนแล้วถึง 2 พระองค์ ได้แก่ 1.พระองค์เจ้านพวงศ์ ประสูติเมื่อ พ.ศ.2365 2.พระองค์เจ้าสุประดิษฐ์ ประสูติเมื่อ พ.ศ.2367 การออกผนวชในขณะที่มีทั้ง \"เมีย\" และ \"ลูกน้อย\" เช่นนี้ ดูให้ดีก็จะเห็นว่า \"พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฏหาได้มีความสุขในผ้ากาสาวพัสตร์แต่อย่างใดไม่\"
กับมีพงศาวดาร\"กระซิบ\"ว่าแม้พระองค์ได้ออกบวชไปแล้ว ก็หาได้หมดความหวาดระแวงไม่ เพราะมีพวกที่หาเหตุกลั่นแกล้ง แม้กระทั่งต้มกรวดทรายร้อนระอุแล้วนำไปใส่บาตรในเวลาที่พระองค์มาบิณฑบาตโปรดสัตว์
ทั้งนี้เพราะการบวชนั้นเป็นไปตาม \"ประเพณี\" แต่ที่ยังสึกไม่ได้นั้นก็เพราะ \"มีเหตุจำเป็น\" ทำให้ทรงจำพระทัยต้องประทับอยู่ในผ้าเหลืองเป็นเวลานานถึง 27ปี
ก่อนที่รัชกาลที่ 3 จะเสด็จสวรรคตนั้นได้ทรงเปรยเป็นนัยว่าอยากให้ราชสมบัติตกแก่พระราชโอรสของพระองค์เอง แต่ทว่าขุนนางสกุลบุนนาค(ซึ่งต้นตระกูลได้ร่วมมือกับพระยาจักรีทำการปฏิรูปการปกครองอันมีพระยาจักรีทรงเป็นพระประมุขในครั้งรัชกาลพระเจ้าตากฯ) ซึ่งมีอำนาจบริหารกิจการบ้านเมืองอยู่ในขณะนั้นเห็นว่าควรจะให้ราชสมบัติกลับไปเป็นของเจ้าฟ้ามงกุฎจึงจะชอบธรรม ดังนั้นในช่วงที่รัชกาลที่3มีพระประชวรหนักนั้น ขุนนางสกุลบุนนาคจึงได้”ล้อมจุก”หรือล้อมพระราชวังไว้แน่นหนา แล้วไปเตรียมทูลขอให้พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎลาผนวชมาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน
กระทั่งพระเชษฐา คือพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว ขุนนางทั้งปวงจึงได้พร้อมใจกันทูลขอให้พระภิกษุวชิรญาณ พระชนมายุ 47 พรรษา เสด็จปริวัตรลาสิกขาออกมาครองราชย์เป็นรัชกาลที่4
นักประวัติศาสตร์บางสำนักกล่าวกันว่า อำนาจราชกิจทั้งปวงนั้นต้องตกอยู่ในมือขุนนางตระกูลบุนนาคจนหมด เพราะความที่รัชกาลที่4ไปบวชยาว27ปี จึงไม่มีฐานกำลังอำนาจ และขาดการสนับสนุนจากขุนศึกขุนนางทั้งปวง นี่ก็อาจเป็นเหตสำคัญที่ตระกูลบุนนาคเลือกพระองค์เป็นกษัตริย์ เพื่อจะได้หวังเป็นหุ่นเชิดให้
การควบคุมอำนาจโดยเหล่าขุนนางนั้นน่าจะมีมาตลอดรัชกาล แม้เปลี่ยนแผ่นดินในรัชกาลที่5เมื่อแรกนั้น รัชกาลที่5ประชวรหนัก มีภริยาของท่านสมเด็จเจ้าพระยาตระกูลบุนนาคมาเยี่ยมแล้วพูดว่าจะเหลืออายุอีกกี่วัน ก็ทำให้รัชกาลที่5ผูกใจเจ็บ เมื่อหายประชวรดีแล้ว ต่อมาเมื่อภริยาของผู้มีอำนาจราชศักดินั้นสิ้นลง รนัชกาลที่5ไปรดน้ำศพก็ยังรำพันในใจอย่างสะในอารมณ์ทำนองว่า\"แกแช่งให้ฉันตายดีนัก แล้วเห็นหรือยังว่าใครมันตายก่อนกัน\"
เมื่อแรกรับราชสมบัตินั้นต้องทรงถูกควบคุมจำกัดพระราชอำนาจสารพัด ทำให้รัชกาลที่5ต้องปฏิรูปการปกครอง รวบพระราชอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ยกเลิกอำนาจของขุนนางและเจ้าเมืองหัวเมืองทั้งหมด และสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นเป็นผลสำเร็จ อันเป็นอุดมคติของฝ่ายระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้อ้างอิงเป็นภาพชวนฝันมาจนตวบทุกวันนี้
กรณีที่7:เณรถนอมบวชกลับไทย ชนวนเหตุกรณี6ตุลาเลือด2519
ล่วงสู่ยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และวิกฤตการณ์ทางการเมืองหลายครั้งหลายคราว
เหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งก็คือการที่นักเรียนนิสิตนักศึกษาได้รวมพลังกันเดินขบวนจนมีผลขับไล่ให้จอมพลถนอม กิตติขจร-จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร ต้องเดินทางออกจากประเทศ ในกรณีเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
ล่วงถึงกลางปีพ.ศ.2519 มีความพยายามเดินทางกลับประเทศของจอมพลถนอม โดยก่อนหน้านั้นในวันที่ 16 สิงหาคม 2519 จอมพลประภาสได้ลอบเดินทางเข้าประเทศไทยก่อน แล้วเผชิญแรงต่อต้านจากนักศึกษาอย่างหนัก จึงเดินทางออกนอกประเทศในวันที่ 22สิงหาคม 2519
ต่อมาท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจร เดินทางเข้าประเทศ โดยแถลงว่าเพื่อมาปรนนิบัติบิดาของจอมพลถนอม และบิดาของท่านผู้หญิง จากนั้นได้เจรจาขอให้จอมพลถนอมเดินทางกลับ ซึ่งคณะรัฐบาลในขณะนั้นมีมติไม่อนุมัติ และแจ้งไปให้จอมพลถนอมที่รออยู่ในประเทศสิงคโปร์ให้ทราบ
แต่แล้วในวันที่ 19 กันยายน 2519 หรือวันที่ 9 เดือน9 ปี 19 อันนับเป็นฤกษ์ดี(ให้หลังต่อมาอีก30ปีก็มีผู้ยึดฤกษ์19เดือน9ปี49กระทำการรัฐประหาร...) จอมพลถนอมซึ่งบวชเณรจากสิงคโปร์แล้วเดินทางถึงประเทศไทยเวลาประมาณ 09.09 น. แล้วเดินทางไปวัดบวรนิเวศฯ ในเวลา11.19 น. จอมพลถนอมอุปสมบทเป็นพระภิกษุ จากคณะสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหาร บางลำพู คณะสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหาร โดยการนำของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ยินดีรับสามเณรองค์ดังกล่าวเข้าสู่สังฆกรรมยกขึ้นเป็นพระภิกษุในธรรมยุติกนิกายโ ดยมีสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒนมหาเถร) เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ฉายา สุกิตฺติขจโร ส่วนประธานฝ่ายฆราวาสจะเป็นใครไม่ได้นอกจากในหลวงรัชกาลที่9กับสมเด็จพระราชินินาถ จากนั้นเดินทางไปเยี่ยมอาการป่วยของบิดา
12.00 น. ข่าวการกลับมาของจอมพลถนอมแพร่ออกไปโดยประกาศของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ซึ่งระบุว่าจอมพลถนอมบวชเณรเข้าไทยและบวชเป็นพระเรียบร้อยแล้วที่วัดบวรนิเวศฯ ทางด้านสถานีวิทยุยานเกราะออกอากาศคำปราศรัยของจอมพลถนอม ซึ่งยืนยันเจตนารมณ์ว่ามิได้มีความมุ่งหมายทางการเมือง พร้อมกันนั้นยานเกราะยังเรียกร้องให้ระงับการต่อต้านพระถนอมไว้ชั่วคราวจนกว่าพระถนอมจะสึก เพื่อมิให้สะเทือนต่อพระศาสนา
นายสุธรรม แสงประทุม เลขาศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย( ศนท.) ซึ่งเป็นกลุ่มพลังทางการเมืองที่มีบทบาทสูงกลังกรณี14ตุลาฯ แถลงว่าที่ประชุมกลุ่มพลัง 165 กลุ่ม มีมติคัดค้านการกลับมาของจอมพลถนอมและมีท่าทีต่อสถานการณ์ดังกล่าว ดังนี้
- จะคัดค้านการกลับมาของพระถนอมทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด- โฆษณาเปิดโปงความผิดของพระถนอม- สืบทอดเจตนารมณ์วีรชน 14 ตุลา- ตั้งตัวแทนเข้าพบรัฐบาลเพื่อยื่นข้อเสนอ ขอให้จอมพลถนอมสึกจากความเป็นพระ
ต่อกรณีการเคลื่อนไหว ทาง ศนท.เห็นว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้จำเป็นต้องมีความสุขุม เพราะมีความละเอียดซับซ้อน ประกอบกับมีการนำเอาศาสนาประจำชาติขึ้นมาบังหน้า ฉะนั้น ศนท.จึงจะรอดูท่าทีของรัฐบาลและให้โอกาสรัฐบาลตัดสินใจและดำเนินการก่อน อย่างไรก็ดี ในที่ประชุมมีการตั้งข้อสังเกตกันมากว่า1. การเข้ามาครั้งนี้เป็นแผนการของกลุ่มบุคคลที่ต้องการทำรัฐประหาร2. ก่อนเข้ามามีการเตรียมตัวกันอย่างพร้อมเพรียง มีบุคคลบางคนในรัฐบาลไปรับถึงสนามบิน และให้ทำการบวชได้ที่วัดบวรนิเวศฯ3. การเข้ามาของเณรถนอม อาศัยศาสนามาเป็นเครื่องบังหน้า ทำให้ศาสนาต้องมัวหมอง
ขณะที่ทาง ศนท.กำลังรอดูท่าทีของฝ่ายรัฐบาล ได้เกิดกระแสโจมตีการเคลื่อนไหวของ ศนท.อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะสถานีวิทยุยานเกราะ ถึงกับมีการเรียกร้องให้รัฐบาลฆ่านักศึกษาที่นิยมซ้ายสัก 30,000 คนเพื่อคนไทยทั้งประเทศจำนวนสี่สิบสามล้าน
การมาของสามเณรจอมพลถนอมดังกล่าว ได้รับการประท้วงจากองค์กรนิสิตนักศึกษาต่างๆ ลามปามไปถึงประท้วงคณะสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหารด้วย ว่า \"ให้การอุปสมบทแก่ทรราชย์ได้อย่างไร? ในสมัยพุทธกาลนั้น เมื่อองคุลิมาลบวชเป็นพระแล้ว เกิดคำร่ำลือว่า มีโจรบวชในบวรพระพุทธศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงตั้งพระบัญญัติ \"ห้ามมิให้คณะสงฆ์บวชให้แก่โจรผู้มีชื่อเสียง\" แต่สำหรับกรณีของสามเณรจอมพลถนอมนี้ ถูกตราหน้าว่าเป็น \"ทรราชย์-เข่นฆ่าประชาชนคนบริสุทธิ์ เป็นที่รู้กันทั้งประเทศ\" คณะสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหารจะให้คำตอบต่อสาธารณชนและพระพุทธบัญญัติข้างต้นเช่นใด ?
เมื่อคณะสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหาร ตัดสินใจบวชให้แก่สามเณรจอมพลถนอมครั้งนี้ เกิดกระแสขับไล่พระภิกษุถนอม แม้อยู่ในผ้าเหลืองให้ออกนอกประเทศ ร้อนถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ต้องเสด็จไปวัดบวรนิเวศวิหารกลางดึก นัยว่าเพื่อปกป้องพระศาสนา ด้วยทรงหวั่นเกรงว่า \"จะมีคนเผาวัดบวร\"...
ต่อมาก็มีกลุ่มกระทิงแดงซึ่งเป็นกลุ่มมวลชนฝ่ายขวาได้ตั้งกองกำลังพิทักษ์วัดบวรนิเวศวิหาร โดยอ้างว่า \"เพื่อป้องกันศาสนสถาน และปกป้องสถาบันกษัตริย์\"
จากประเด็น \"พระถนอม\" บวชที่วัดบวรฯ ก็กลายเป็น \"วัดบวรและราชสำนัก\" ที่ต้องได้รับการปกป้องจากคนที่ \"จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์\" มีกลุ่มพลังมวลชนต่างๆ มากมายถึง 13 กลุ่ม อ้างตัวว่า \"จงรักภักดี\" ขันอาสาสละชีวิตเพื่อปกป้องวัดบวร แต่การชุมนุมประท้วงการมาของพระถนอมก็กระจายไปทั่วประเทศในเวลารวดเร็ว จนถึงวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ทุกอย่างก็สุกงอม เมื่อกลุ่มพลังมวลชนฝ่ายขวา เผชิญหน้ากับกลุ่มนักศึกษาที่ต่อต้านการเดินทางกลับประเทศของจอมพลถนอม
เจ้าหน้าที่รัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ร่วมกับกลุ่มพลังฝ่ายขวา เช่น กลุ่มกระทิงแดง กลุ่มนวพล กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน เป็นต้น ได้ระดมกำลังเข้าปิดล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นศูนย์ชุมนุมใหญ่ของนิสิตนักศึกษาผู้ต่อต้านการกลับมาของจอมพลถนอม แต่ถูกประณามหยามหมิ่นว่าเป็นคนทำลายล้างสถาบันศาสน์-กษัตริย์ ถูกถีบให้ไปเป็น \"ฝ่ายซ้าย\" หรือ \"คอมมิวนิสต์\" แม้กระทั่งถูกใส่ร้ายว่าไม่ใช่คนไทย แต่เป็น”ญวน” จนเกิดวิกฤติการณ์ \"6 ตุลาคม 2519\" ชาวไทยฆ่ากันเองกลางบ้านกลางเมือง เป็นบาดแผลในประวัติศาสตร์ชาติไทยมาจนปัจจุบันนี้ วันเดียวกันนี้เองคณะทหารก็ทำรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 ขึ้น ปิดฉากยุคประชาธิปไตยที่มีช่วงเวลาสั้นๆเพียง 3 ขวบปีลง
นิสิตนักศึกษาผู้ชุมนุมถูกปราบปรามและฆ่าตายทารุณไปจำนวนมาก เจ้าหน้าที่มูลนิธิร่วมกตัญญูระบุจำนวนคนตาย 530 ศพ ส่วนทางการระบุ 39 ศพ บาดเจ็บ 145 คน ที่เหลือถูกจับขังคุกข้อหาก่อการกบฏ3,094 คน และคัดเหลือส่งฟ้อง 18 คน นำโดยนายสุธรรม แสงประทุม ที่เหลือรอดก็หนีหัวซุกหัวซุนเข้าป่าไปจับอาวุธร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.)ไม่น้อยกว่า3,000 คน ก่อนจะกลับเข้ามาร่วมพัฒนาชาติไทยอีกครั้ง ในนามของ \"คนเดือนตุลา\" ในอีกหลายปีต่อมา
ความผูกพันของราชสำนักกับถนอมนั้นเป็นไปอย่างตัดไม่ขาด เมื่อจอมพลถนอมถึงแก่อนิจกรรมเมื่อไวๆนี้ มีข้อความตัววิ่งปรากฎทางจอโทรทัศน์ทุกช่องว่า\"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯโปรดเกล้าฯให้พระบรมราชินีเสด็จเป็นประธานพิธีปลงศพจอมพลถนอม ขอเชิญพสกนิกรเฝ้าถวายฯรับเสด็จโดยทั่วกัน\"กับสร้างโกศให้ใหญ่โตเทียมเทียบพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่
ส่วนความสัมพันธ์ของราชสำนักกับวัดบวรฯนั้นก็ยาวนานแน่นแฟ้น จนนายสนธิ ลิ้มทองกุล ยกขึ้นเป็นเหตุหนึ่งในการ\"กู้ชาติ\"เมื่อรัฐบาลทักษิณได้ตั้งสมเด็จพระมหาวีรวงศ์(สมเด็จเกี่ยว)ขึ้นเป็นหัวหน้าคณะผู้ทำการแทนสมเด็จพระสังฆราช(วัดบวร)ดังที่รู้กันดีอยู่นั่นแล้ว
กรณีสุดท้าย:ประกวดรูปถ่ายร.9ทรงผนวช
เมื่อปีกลายตอนที่ในหลวงรัชกาลที่9ครองสิริราชย์สมบัติครบ60ปี ท่านคงจำกันได้เกี่ยวแก่กิจกรรมประกวดภาพถ่ายว่าใครมีโอกาสได้ใส่บาตรพระภิกษุภูมิพลในครั้งออกผนวชกันได้อยู่บ้าง เพราะเป็นกิจกรรมที่คึกโครมทีเดียว ทั้งนั้นก็เป็นการผลิตซ้ำอุดมการณ์\"ชาติ ศาสน์ กษัตริย์\"ให้ปรากฎย้ำลงในใจไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินให้ตราตรึงขึ้น..

ไม่มีความคิดเห็น: