วันเสาร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2550

กบฎ 6 ครั้ง ช่วง จอมพล ป. พิบูลสงคราม เปน นายกรัฐมนตรี..

กบฏ 1 ตุลา.
กบฏแยกดินแดน
กบฏ 23 กุมภา.
กบฏล้มล้างพระราชบัลลังก์
กบฏวังหลวง
กบฏแมนฮัตตัน




กบฏ 1 ตุลา

หลังจากที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หมอกควันแห่งกบฎก็เริ่มฟักตัวของมันขึ้น บุคคลที่คิดการกบฎขึ้นคราวนี้ นับว่าเป็นการผิดแผกแตกต่างกับการกบฎทุกครั้งที่ผ่านมา คือพวกกบฎมิได้คิดทำการปฎิวัติทางการเมืองโดยตรง แต่คิดที่จะทำการปฎิวัติกองทัพบกเสียใหม่ เพื่อให้กองทัพบกมีประสิทธิภาพและทันสมัย พวกคิดการปฎิวัติส่วนมากเป็นนายพล นายพัน แทบทั้งสิ้น เป็นต้นว่า พลตรีเนตร เขมะโยธิน พลตรีสมบูรณ์ ศรานุชิต พลตรีหลวงวรรณกรรมโกวิท พันโทพโยม จุฬานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนจังหวัดเพชรบุรี พันเอกกิติ ทัตตานนท์ นอกจากนี้ยังมีนักเรียนเสนาธิการทหารบกเข้าร่วมด้วยเป็นอีกจำนวนมาก

ในการที่คณะอาจารย์แห่งโรงเรียนเสนาธิการทหารบก มีความคิดที่จะทำการปฎิวัติกองทัพบกนั้น คณะอาจารย์และนักเรียนเสนาธิการทหารบก เห็นว่านับตั้งแต่มหาสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง กองทัพบกได้รับความเสื่อมโทรมอย่างหนักในเรื่องวินัย การปกครอง บังคับบัญชา และหลักยุทธวิธีต่างๆ ควรมีการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ทหารของชาติยังเสื่อมเสียศักดิ์ศรีลงมาก ความเสื่อมโทรมเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการแก้ไขโดยรีบด่วน มิเช่นนั้นแล้วกองทัพบกจะต้องอยู่ในฐานะอันไร้ความหมายในการป้องกันประเทศชาติ

ลักษณะแห่งความเสื่อมโทรมดังกล่าว จึงเป็นเหตุให้อาจารย์และนักเรียนเสนาธิการทหารบก คิดจะทำการปฎิวัติ แต่การปฎิวัติครั้งนี้ ยังเป็นที่สงสัยอยู่ว่า จะมีนักการเมืองกลุ่มนายปรีดี พนมยงค์ สนับสนุนอยู่เบื้องหลังหรือไม่ เพราะการปฎิวัติ ไใม่ว่าจะคิดปฎิวัติอะไร จะต้องมีการปฎิวัติในทางการเมืองเสียก่อน
แผนการณ์กบฎ 1 ต.ค. 91 เป็นแผนการสังหารโหดคณะรัฐประหารทั้งสิ้น โดยได้มีการวางแผนไว้ดังนี้
ในวันที่ 1 ต.ค. 2491 เวลา 20.00 น. วันนั้น คณะรัฐประหารจะมาประชุมกัน ณ ทำเนียบรัฐบาลเพื่อเลี้ยงส่งทหาร และแสดงความยินดีในงานพิธีสมรสระหว่างพันเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับนางสาววิจิตรา ในวันนั้นคณะปฎิวัติ 1 ต.ค. จะใช้วิธีการสังหารบุคคลสำคัญๆ ในคณะรัฐประหาร

แผนการต่อไปคือ เวลา 04.00 น. ของวันที่ 2 ต.ค. จะยกกำลังทหารส่วนหนึ่งเข้ายึดสงนพุดตาล โดยให้ พ.ต.เจริญ พงศ์พานิชย์ ไปเป็นผู้จับ พล.ต. หลวงสถิตยุทธการ เพราะในวันนั้นเป็นเสนาธิการทหารอยู่กองทัพที่ 1 และเป็นผู้ควบคุมกำลังป้องกันกองบัญชาการทหารบก ณ วังสวนกุหลาบ

ต่อจากนั้นให้ไปจับตัวจอมพล ป. และพลโทผิน ชุณหวัน ผู้บัญชาการทหารบก และพันเอกกาจ กาจสงคราม รองผู้บัญชาการทหารบก

นอกจากนี้ แผนการณ์กบฎ 1 ต.ค. ยังวางไว้อย่างแน่ชัดว่า ให้พันโทพโยม จุฬานนท์ เป็นผู้ไปจับพันเอกบัญญัติ เทพหัสดิน ผู้บังคับกองทหารราบที่ 1

สำหรับพันเอกกิติ ทัตตานนท์ และนายทหารเสนาธิการให้เข้ายึดกระทรวงกลาโหมไว้ ทั้งนี้เพื่อเป็นที่ตั้งกองบัญชาการ และแจกจ่ายอาวุธยุทโธปกรณ์ไปตามแผนการณ์

ในคืนนั้น อันเป็นคืนของแผนการณ์สังหารโหด และจับตัวบุคคลสำคัญๆ ในคณะรัฐประหาร เป็นคืนที่เป็นงานศพของบิดาของ พล.ต.หลวงวรรณกรรมโกวิท จึงเป็นจังหวะและโอกาสอันดี ที่นัดกันมาประชุมปรึกษาหารือในเรื่องปฎิวัติ ผู้ที่ได้เข้าร่วมประชุมในครั้งนั้น ก็มี พ.อ. สมบูรณ์ ศรานุชิต พ.อ. ประจวบ ภูมิรัตน์ พันโท พโยม จุฬานนนท์ และพ.ต. กำธร

อย่างไรก็ตาม แผนการณ์ของคณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการ ทางฝ่ายรัฐบาลได้สืบทราบ และติดตามความเคลื่อนไหวทุกระยะ และได้ตระหนักถึงแผนการณ์สังหารโหดและจับบุคคลสำคัญๆ เป็นอย่างดี ก่อนที่พวกกบฎ 1 ต.ค. จะเริ่มแผนการณ์สังหารโหด และจับบุคคลสำคัญในคณะรัฐประหารนั้น พลตำรวจตรีเผ่า ศรียานนท์ รองอธิบดีกรมตำรวจฝ่ายปราบปราม พร้อมด้วยกำลังตำรวจก็ดำเนินการจับกุมพวกก่อกบฎในทันทีทันใด โดยได้เข้าจับกุมตัวนายพันเอก ขุนศรีสิงหสงคราม เจ้ากรมพาหนะทหารบก นอกจากการจับกุมตัวขุนศรีสิงหสงครามแล้ว ยังได้จับพรรคพวกผู้ร่วมคิดก่อการอีกหลายคน เช่น ร้อยเอก หิรัญ สมัครเสวี ร้อยเอกสุรพันธ์ ชีวรานนท์ และร้อยโทบุญช่วย ศรีทองบุญเกิด

นอกจากทำการจับกุมบุคคลดังกล่าว ในตอนกลางคืนของวันที่ 1 ต.ค. พลตำรวจตรีเผ่า ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจฝ่ายปราบปราม พร้อมด้วยพลตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พันโทละม้าย อุทยานานนท์ พันโททม จิตรวิมล พันโทชลอ จารุกลัส พล.ต. สถิต ยุทธการ ก็รีบรุดไปล้อมกระทรวงกลาโหมไว้ และส่วนหนึ่งของกองกำลังทั้งทหารและตำรวจ ได้เข้าล้อมห้องที่พวกกบฎยึกเป็นกองบัญชาการไว้ ในขณะนั้นฝ่ายกบฎกำลังปรึกษาหารือกันอยู่ และรอคอยโอกาสเวลาตามแผนที่วางไว้

ตลอดคืนที่ทั้งสองฝ่ายกำลังเผชิญหน้ากันอยู่นั้น พลตำรวจตรีเผ่า ได้ส่งเสียงตะโกนเข้าไปในห้องที่พวกกบฎอยู่ ขอให้มอบตัวแต่โดยดี เพราะการกระทำเช่นนั้นเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และวินัยอย่างร้ายแรง เพื่อความสงบเรียบร้อยของประเทศ และมิต้องเสียเลือดเนื้อด้วยกันเอง จึงขอให้พวกกบฎกลับใจเสีย และออกมามอบตัวแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ

แต่แทนที่ฝ่ายกบฎ 1 ต.ค จะออกมามอบตัว พวกเขากลับยิงปืนออกมา ทำให้พวกที่ล้อมอยู่หลบชุลมุนวุ่นวาย ฝ่ายพลตำรวจตรีเผ่า ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจฝ่ายปราบปราม และพลตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ไม่กล้าปฎิบัติการรุนแรงอย่างหนึ่งอย่างใดลงไป เพราะเห็นว่าเป็นคนไทยด้วยกัน และจะเกิดผลเสียแก่ทรัพย์สินของชาติ เพราะสถานที่ฝ่ายกบฎยึดไว้นั้นเป็นสถานที่ราชการ

ในที่สุดฝ่ายปราบปรามกบฎก็มีความเห็นว่า ไม่ควรจะมีการโต้ตอบด้วยประการใดๆทั้งสิ้น ควรล้อมไว้เฉยๆจนกว่าจะถึงเช้าวันใหม่ ข้างฝ่ายพวกกบฎก็ปรึกษาหารือกันอย่างเคร่งเครียด โดยทุกคนเห็นว่าถ้ายืนกรานแข็งขันต่อไป ก็ไม่มีประโยชน์อะไรเกิดขึ้น เพียงแต่ถูกล้อมไว้เท่านั้นก็แย่แล้ว เสบียงอาหารก็หมด ครั้นจะต่อสู้ก็มีกำลังไม่พอ แผนการณ์ต่างๆก็ล้มเหลวหมด ในที่สุดทางออกที่ดีที่สุดก็คือยอมจำนน และออกไปมอบตัวตามคำเรียกร้องของฝ่ายบ้านเมือง

" พวกเราพร้อมแล้วที่จะมอบตัว แต่เรามีอะไรเป็นประกันในความปลอดภัยของชีวิต เราจะไม่ถูกยิงเมื่อเราออกไปมอบตัวใช่หรือไม่ ท่านรับรองกับเราได้ไหม ที่จะไม่ทำอันตรายพวกเรา "

" ข้าพเจ้า พลตรีสฤษดิ์ ธนะะรัชต์ ขอรับรองด้วยเกียรติทหาร ท่านจะได้รับความปลอดภัยด้วยประการทั้งปวง "

ต่อจากนั้น ฝ่ายกบฎก็เดินออกจากห้องที่ยึดเป็นกองบัญชาการ ด้วยกิริยาท่าทางอันเหนื่อยอ่อน ประกอบด้วย

1. พลโทสมบูรณ์ ศรานุชิต
2. พันเอกกิติ ทัตตานนท์
3. พล.ต. เนตร เขมะโยธิน
4. พ.ต. ไสว ทัตตานนนท์
5. พันโท พโยม จุฬานนท์


นอกจากการจับกุมบุคคลดังกล่าวแล้ว ยังได้ทำการจับกุมบุคคลที่ร่วมก่อการอีกหลายคน เป็นอันว่าการจับกุมครั้งนี้ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยปราศจากเลือดตกยางออก เป็นการจับกุมที่ได้ผลดีที่สุด แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีผู้ก่อการชั้นหัวหน้าอีกหลายคน ได้พยายามหลบหนีการจับกุมไปได้

กบฎ 1 ต.ค. 2491 นี้ ทางคณะรัฐมนตรีได้ส่งเรื่องราวไปให้ตำรวจทำการสอบสวนดำเนินคดี เมื่อทางการได้สอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว ก็ส่งไปให้พนักงานอัยการประจำกรมพระธรรมนูญ เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย แต่เจ้าพนักงานรัฐธรรมนูญเห็นว่าเป็นเรื่องที่ ไม่มีความผิดกฎหมาย จึงสี่งไม่ฟ้อง เป็นอันว่า พวกกบฎ 1 ต.ค. ถูกปล่อยเป็นอิสระภาพไป.



กบฏแยกดินแดน

ดูเหมือนว่าประเทศเรานั้น นับตั้งแต่วันที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นต้นมา ประเทศเราเริ่มมีบทบาทเป็นปฎิปักษ์ต่อลัทธิประชาธิปไตย เช่นพระยามโนปกรณ์ นิติธาดา ปิดสภางดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา แล้วต่อจากนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ เกิดกบฎวรเดช และกบฎอะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย เหตุการณ์เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าคณะราษฎร์ ไม่ยอมให้อำนาจอธิปไตยแก่ประชาชนโดยตรง โดยใช้กุศโลบายต่างๆนานา ที่จะไม่ให้อำนาจอธิปไตยตกไปอยู่กับประชาชน ไม่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใดใครเป็นผู้ร่าง ก็มักจะจัดสรรปันส่วนให้แก่พวกพ้อง หรือผูกชาดอำนาจ อำนาจอธิปไตยไม่เคยเป็นของประชาชนอย่างแท้จริงแม้แต่ครั้งเดียว

หลังจากที่พลตำรวจตรี เผ่า ศรียานนท์ รองอธิบดีตำรวจฝ่ายปราบปราม ได้ทำการกวาดล้างพวกกบฎ 1 ต.ค. 2491 เรียบร้อยไปแล้ว ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน ในปีเดียวกันนั้นเอง การกวาดล้างพวกกบฎก็ได้เกิดขึ้นอีกครั้ง เท่าที่ตำรวจจับกุม บุคคลดังกล่าวนี้ก็คือ นายทิม ภูริพัฒน์ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายเตียง ศิริขันธ์ นายถวิล อุดล นายฟอง สิทธิธรรม

โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการสอบสวนบุคคลดังกล่าว แต่แล้วก็ปล่อยเป็นอิสระภาพไป แต่สำหรับนายเตียง ศิริขันธ์ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นั้น ถูกนำตัวไปฟ้องศาล

การกบฎครั้งนี้ พวกกบฎมีความประสงค์ที่จะแบ่งแยกดินแดนภาคอิสานออกจากประเทศไทย และแบ่งเป็นรัฐๆ ปกครองกันโดยเป็นอิสระ หรือจะแบ่งแยกเป็นรูปแบบใดไม่ทราบแน่ชัด อย่างไรก็ดี การแบ่งแยกดินแดนถือได้ว่า เป็นการผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 1 ได้บัญญัติไว้ว่า " พระราชอาณาจักรไทย นั้นจะต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียว จะทำการแบ่งแยกมิได้" เพราะถ้าหากใครคิดจะแบ่งแยกดินแดนออกจากกัน บุคคลเหล่านั้นก็ได้ชื่อว่า "กบฎ" เพราะผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ

เป็นการน่าแปลกประหลาดอยู่มาก ที่พวกกบฎแบ่งแยกดินแดนครั้งนี้ ไม่มีสรรพกำลังอันใด ที่จะบังคับให้รัฐบาลออกจากตำแหน่งได้ เพราะไม่มีทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ให้การสนับสนุนแม้แต่คนเดียว มันอาจจะเป็นความคิดลมๆ แล้งๆ หรืออาจเป็นความคิดที่อยากเป็นใหญ่เป็นโต ดังเช่นกรณีที่มีบุคคล ทางดินแดนในภาคใต้คิดแยกดินแดน

อย่างไรก็ตาม กบฎ 1 ต.ค. 2491 กบฎแยกดินแดน ล้วนแต่เป็นลูกสมุนนายปรีดี เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ด้วยทั้ง 2 ครั้ง จึงทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายนายปรีดี พนมยงค์ ที่จะยึดอำนาจคืนจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่ฝ่ายตำรวจก็ได้ติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด และตระหนักเป็นที่แน่ชัดว่า เงาหรือควันแห่งการกบฎนั้น มีท่าทีบ่งบอกอย่างชัดแจ้งอยู่ว่าคงไม่นานนัก การปฎิวัติ นองเลือดอาจเกิดขึ้นในทันทีทันใดอย่างแน่นอน ดังนั้น จอมพล ป. จึงได้กล่าวคำปราศัยทางวิทยุกระจายเสียง เพื่อให้พวกที่คิดคบกันก่อการกบฎ ทราบว่า แผนการณ์แห่งการปฎิวัตินั้น ทางรัฐบาลทราบดีอยู่แล้ว ออกจากนั้นยังบอกประชาชนให้ทราบไว้อีกด้วยว่า การนองเลือด เป็นเรื่องที่หมดหนทางที่จะหลีกเลี่ยงได้ ในกรณีเช่นนี้ ทางรัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำทุกอย่างเพื่อความสงบของประเทศ และรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ อันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ



กบฏ 23 กุมภา

กบฎ 1 ต.ค. 2491 และกบฎแบ่งแยกดินแดน ยังมิทันที่ใครจะลืมเหตุการณ์ กบฎอีกครั้งหนึ่งก็เกิดขึ้น คราวนี้เรียกว่า "กบฎ 23 กุมภาพันธ์ 2492"

เรื่องราวของกบฎครั้งนี้ เปิดฉากขึ้น วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2492 ในตอนเช้า โดยคณะรัฐมนตรีได้ทราบความเคลื่อนไหว ของการกบฎครั้งนี้มาทุกระยะ

ขณะที่คณะรัฐนมตรีได้มีการประชุมกันอยู่นั้น พันเอกศิลป รัตนพิบูลชัย เจ้ากรมรักษาดินแดน ได้เข้ามาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และรายงานให้จอมพล ป. ทราบว่า ได้มีคณะนายทหารชั้นผู้น้อยจำนวนหนึ่งได้นำรถถัง 6 คัน พร้อมด้วยอาวุธครบมือ กำลังเดินทางมายังทำเนียบรัฐบาล และเจตนาสังหารโหดคณะรัฐมนตรีทั้งชุด แต่มิได้เป็นไปตามแผน เพราะพลตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทราบแผนล่วงหน้าก่อน จึงได้ทำการยับยั้งสกัดกั้นไว้ได้ พร้อมให้ทหารชั้นผู้น้อยเหล่านั้นนำรถถังทั้งหมดกลับไปกรม แล้วแจ้งเรื่องให้ตำรวจดำเนินคดีตามกฎหมาย

นอกจากการจับกุมทหารชั้นผู้น้อยแล้ว พลตำรวจตรีเผ่า ศรียานนท์ ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจฝ่ายปราบปราม กับ พันตำรวจเอกประจวบ กิรติบุตร ก็ออกทำการกวาดล้าง จับกุมบุคคลต่างๆที่มีความเข้าใจว่ามีส่วนร่วมเกี่ยวข้องกับพวกกบฎครั้งนี้ บุคคลแรกที่ทำการจับกุม คือ พันเอกทวน วิชัยขัทคะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสมัยนายปรีดี พนมยงค์ ณ บ้านพัก พร้อมด้วยร้อยเอกสุนทร ทรัพย์ทวี เรือเอกชลิต ชัยสิทธิเวช นอกจากนี้ยังได้จับกุมทหารอีกหลายคน เพื่อนำมาสอบสวนคดีตามกฎหมาย

ด้วยเหตุการณ์และสถานการณ์ตึงเครียดดังกล่าว ทางรัฐบาลจึงได้มีคำสั่งให้ทั้ง 3 กองทัพเตรียมพร้อมที่จะรับสถานการณ์โดยทันที ยิ่งไปกว่านั้นยังทำการปิดถนนสายสำคัญๆหลายสาย เช่น ถนนกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ บริเวณพระบรมรูปทรงม้า ทำเนียบรัฐบาล ถนนสายบางกระบือ ร. พัน 3 จากสะพานควายถึงบางซื่อ และยังได้นำรถถังออกมาวิ่งเพ่นพ่านตามถนน เพื่อเตรียมการปราบกบฎ เพราะจอมพล ป. แน่ใจว่าการปราบกบฎครั้งนี้จะเป็นชนวนแห่งการกบฎใหญ่ อย่างไม่ต้องสงสัย

แต่ก็หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะไม่มีเรื่องราวหรือเหตุการณ์ร้ายแรงใดๆ แต่อย่างไรก็ตาม เงาของการนองเลือด มันกำลังคืบใกล้เข้ามาทุกที.....



กบฏล้มล้างพระราชบัลลังก์


จากการสืบสวนของตำรวจได้ความว่า มีบุคคลคณะหนึ่งได้วางแผนการณ์สังหารคณะรัฐมนตรี และยังมีแผนการณ์อันร้ายแรงไปกว่านั้นคือ พวกกบฎยังมีแผนการณ์จะลอบวางเพลิงเผากรุงเทพฯอีกด้วย วัตถุประสงค์ของพวกกบฎกลุ่มนี้คือ ต้องการล้มล้างพระราชบัลลังก์ ให้มีการปกครองระบบมหาชนรัฐ อย่างที่มีประธานาธิบดี หรือย่างคอมมิวนิสต์ ไม่มีใครทราบ

อย่างไรก็ดี เป็นที่เข้าใจกันดีในขณะนั้นว่า การล้มล้างพระมหากษัตริย์ หรือพระราชบัลลังก์ และแผนการณืก่อวินาศกรรมกรุงเทพฯให้กลายเป็นทะเลเพลิงนั้น เป็นพวกกลุ่มเดียวกัน หรือมีความคิดเห็นไปในทางเดียวกัน และเชื่อกันว่าเป็นไปตามครรลองของนายปรีดี คือโซเซียลลิสต์ แต่ไม่ใช่โซเซียลลิสต์ในแบบประชาธิปไตย แต่เป็นแบบเลนินหรือแบบปฎิวัติ

การเคลื่อนไหวของพวกกบฎแบบต่างๆนั้น เป็นทรรศนะไปในแนวโน้มของลัทธิโซเซียลลิสต์ และปัญหาการแยกดินแดนแทบทั้งสิ้น เป็นการต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันระหว่างพวกซ้ายสุดกับพวกขวาสุด มากกว่าจะเป็นพวกที่ฝักใฝ่ประชาธิปไตย

จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งนิยมลัทธิเผด็จการแบบนาซี แต่มิได่สวนวิญญาณแบบฮิตเลอร์ เมือได้พิจารณาดูเหตุการณ์ของประเทศในขณะนั้นแล้ว ก็มีความเห็นว่า เห็นทีจะไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ นายปรีดีกับพวกสมุนยังคงพยายามที่จะยึดอำนาจคืนอยู่เสมอ ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2492 จอมพล ป. ได้ออกโรงให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ว่า รัฐบาลมีความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในการที่จะต้องปรพกาศสภาวะฉุกเฉิน เพราะรัฐบาลเริ่มมองเห็นเงาแห่งการกบฎ และการนองเลือด ความไม่สงบและความวุ่ยวายกำลังจะเกิดขึ้น ทั้งนี้เพื่อดำรงค์ไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยของประเทศ และรัฐบาลมีอำนาจเต็มที่ในการปราบปรามผู้ดิคการก่อการร้าย

ในขณะที่กำลังเสนอขออนุญาติคณะอภิรัฐมนตรีอยู่นั้น คณะอภิรัฐมนตรีได้พยายามคัดค้านว่า การประกาศสภาวะฉุกเฉิน นั้นควรกระทำเมือมีเหตุการณืจริงๆ หรือไม่ก็เลี่ยงไม่ได้ เพราะการประกาศสภาวะฉุกเฉินเป็นการตัดสิทธิ์เสรีภาพของประชาชน และหนังสือพิมพ์ แม้รัฐบาลจะได้กล่าวถึงความจำเป็นต่างๆ ในการที่จะประกาศสภาวะฉุกเฉิน แต่คณะอภิรัฐมนตรีก็ยังคงยืนกรานอยู่เช่นเดิม จอมพล ป. จึงต้องยับยั้งด้วยความไม่พอใจ

ในการที่จอมพล ป. กล่าวปราศัยทางวิทยุกระจายเสียง และให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ ในกรณีที่มีความจำเป็นที่ต้องประกาศสภาวะฉุกเฉินนั้น ได้รับการวิพากษืวิจารณ์เป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่เหมาะสม เพราะไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงอะไรที่จะกระทำเช่นนั้น และเป็นการแสดงออกของลัทธิเผด็จการอีกด้วย

แม้ว่าคณะอภิรัฐมนตรีและเสียงของหนังสือพิมพ์ จะได้พยายามคัดต้านอย่างแข็งขันสักเพียงใด จอมพล ป. ก็ประกาศสภาวะฉุกเฉินจนได้ โดยเาศัยเหตุการณ์กบฎเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2492 เป็นข้องอ้าง โดยได้ประกาศสภาวะฉุกเฉินเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ นั้นเอง และได้ออกแถลงการณ์ตักเตือนหนังสือพิมพ์ให้ตั้งอยู่ในความสงบ และให้คำนึงถึงความสงบของประเทศ การเขียนโฆษณาใดๆ อย่าได้กระทำไปในทางที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบเป็นอันขาด ถ้าหนังสือพิมพ์ฉบับใดยังคงฝ่าฝืน และแสดงตนเป็นปริปักษ์ต่อความสงบสุขของชาติต่อไปแล้ว รัฐบาลจะต้องดำเนินการเท่าที่เห็นสมควร

นอกจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม จะออกคำแถลงการณ์ตักเตือนหนังสือพิมพ์แล้ว จอมพล ป. ยังวิงวอนขอความร่วมมือจากประชาชน ให้ตั้งอยู่ในความสงบ และประกอบกิจกรรมไปโดยสุจริต อย่าประพฤตนอันเป็นการขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยของประเทศเป็นอันขาด.


กบฏวังหลวง

นับตั้งแต่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นถือบังเหียนปกครองประเทศ ได้มีการปฎิวัติ รัฐประหาร กบฎ จลาจล กันอยู่ตลอดเวลา และแม้จะเป็นฝ่ายพลเรือนกับทหาร หรือจะเป็นการต่อสู้ระหว่างชาตินิยมกับสังคมนิยม หรือระบบนาซี แบบฮิตเลอร์ กับนายปรีดี พนมยงค์ ผู้ยึดถือสังคมนิยมแบบพวกอำมาตยาธิปไตย ก็มีบทบาทแต่แรกๆเท่านั้น เมื่อจอมพล ป. ได้อำนาจแล้วอิทธิพลของพวกอำมาตยาธิปไตย ก็หมดไป เพราะจอมพล ป. กำจัดเสียราบคาบ

คืนวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2492 เป็นวันวิปโยคอีกวันในระบบประชาธิปไตยแบบไทยๆ หรือแบบอนาธิปไตย ที่ท่าพระจันทร์ผู้คนกำลังพลุกพล่านสับสน ในคืนนั้นไม่มีใครรู้ว่าจะมีเหตุร้ายเกิดขึ้นในประเทศไทย
ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส เจ้าของโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ภายใต้เครื่องแบบทหารยศพันจ่าเอก ไว้หนวดเล็กน้อยแบบฮิตเลอร์ ยังมีเรือเอกวัชรชัย ชัยสิทธิเวช ได้มาปรากฎตัวที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะได้มีการนัดมากินเลี้ยงกัน บุคคที่นายปรีดีนัดแนะมาได้แก่ พล.ต. สมบูรณ์ ศรานุชิต นายปราโมทย์ พึ่งสุนทร์ นายสมพงษ์ ชัยเจริญ นายละออ เชื้อภัย นายกมล ชลศึก นายทวี ตเวกุล และยังมีคนอื่นๆอีกประมาณ 50 คน

ในขณะที่บุคคลสำคัญๆ เลี้ยงสุรากันอย่างสนุกสนาน เพื่อความร่วมมือกันเป็นเอกฉันท์ในการล้มล้างรัฐบาลจอมพล ป. ตลอดระยะเวลาได้ดำเนินไปอย่างเป็นกันเองนั้น พรรคพวกของนายปรีดีได้ลำเลียงอาวุธซึ่งได้มาเมื่อคราวเป็นเสรีไทย เข้าไปรวบรวมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นจำนวนมาก

หลังจากที่งานเลี้ยงผ่านไปแล้ว นายปรีดี พนมยงค์ ผู้นับถือพระเจ้าองค์เดียวคือ คาร์ลมาร์กซ์ ก็เริ่มวางแผนที่จะยึดอำนาจ แผยแรกคือใช้กำลังส่วนหนึ่งเข้ายึดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เอาไว้ เป็นกองบัญชาการ และรวบรวมสรรพกำลัง

แผนต่อไปคือจะใช้กำลังส่วนหนึ่ง เข้ายึดพระบรมมหาราชวังไว้เป็นกองบัญชาการชั่วคราว ส่วนที่บัญชาการคุมกำลังส่วนใหญ่ หรือเป็นที่รวบรวมสรรพอาวุธอันสำคัญนั้น อยู่ที่กองสัญญาณทหารเรือที่ศาลาแดง กำลังอีกส่วนหนึ่ง นายปรีดี ได้บัญชาการให้ไปยึดบริเวณวัดพระเชตุพนตรงข้ามกับ ร. พัน 1. เพื่อเป็นการตรึงกำลัง ร. พัน. 1 ไว้

เมื่อกำลังส่วนต่างๆ ในพระนคร โดยมีทหารบก พลเรือน ตำรวจเข้ายึดสถานที่สำคัญๆ เพื่อตรึงกำลังของหน่วยทหารบกบางแห่งไว้แล้ว ด้านกลุ่มเสรีไทย ที่เคยร่วมมือกับนายปรีดีต้านญี่ปุ่น ก็จะเคลื่อนกำลังเข้าสสทบโดยเร็วที่สุด โดย นายชาญ บุนนาค ผู้จัดการป่าไม้สัมปทานหัวหิน จะเป็นผู้นำพวกเสรีไทยเข้าสู่พระนคร นายชวน เข็มเพชร นำพวกเสรีไทยภาคตะวันออกได้แก่ ลาว ญวณอิสระ เข้ามาทางอรัญประเทศ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายจำลอง ดาวเรือง นายถวิล อุดล และนายเตียง ศิริขันธ์ จะนำพวกเสรีไทยยึดภาคอิสาน แล้วจะนำพวกเสรีไทยเข้ามาสมทบในพระนคร นายเปลว ชลภูมิ จะนำเสรีไทยจากเมืองกาญจนบุรี เข้ามาสมทบอีก

สำหรับทหารเรือที่เป็นฝ่ายสนับสนุนการปฎิวัติของนายปรีดีนั้น ก็มี พล.ร.ต. สังวร สุวรรณชีพ พล. ร.ต. ทหาร ขำหิรัญ ก็จะนำกำลังทหารเรือบางส่วนจากสัตหีบ ชลบุรี ระยอง เคลื่อนทารวมกำลังที่ชลบุรี ต่อจากนั้นจะมุ่งสู่กรุงเทพฯ เพื่อดำเนินตามแผนการณ์ที่วางไว้

2 ทุ่มเศษๆ รถยนต์ 4 คัน ภายในรถมีอาวุธและพลพรรคเต็มคันรถ โดยการนำของ ร.อ. วัชรชัย ชัยประสิทธิเวช ได้เคลื่อนออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยไม่มีใครเฉลียวใจว่า รถ 4 คันนั้นเป็นของใคร
หน้าประตูวิเศษไชยศรี นายเรือเอก วัชรชัย กระโดลงจากรถ พร้อมด้วยพรรคพวก ก็พร้อมอยู่แล้วสำหรับเหตุการณที่จะเกิดขึ้น จากนั้น ร.อ. วัชรชัย ก็ร้องเรียกให้นายร้อยโทพร เลิศล้ำ ผู้กองรักษาการณ์ ร. พัน. 1 ประจำพระบรมมหาราชวัง ออกมาพบที่หน้าประตู เมื่อ ร.ท. พร ออกมาพบก็ถูกเอาปืนจี้บังคับให้ปลดอาวุธโดยทันที จากนั้นก็บุกเข้าไปปลดอาวุธทหารที่รักษาการณ์ทั้งหมด แล้วเข้ายึดพระบรมมหาราชวังไว้ได้ ก่อนจะลำเรียงอาวุธนานาชนิดเข้าไป

เมื่อการยึดพระบรมมหาราชวังได้เป็นไปตามแผนแล้ว นายปรีดี พนมยงค์ กับพรรคพวก 7 คน สวมเครื่องแบบทหารสื่อสาร พร้อมอาวุธครบมือ ได้พากันเข้าไปในสถานีวิทยุพญาไท แล้วใช้อาวุธบังคับเจ้าหน้าที่กรมโฆษณาการ แล้วกระจายข่าวว่า...

ได้มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ล้มเลิกรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เสีย และคณะรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งด้วย และได้แต่งตั้งนาย ดิเรก ชัยนาม เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และกระทรวงการคลัง ให้นายทวี บุณยเกต เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และได้ประกาศแต่งตั้งและปลดบุคคลสำคัญ อีกหลายคน

จากนั้นพวกกบฎก็ถอดชิ้นส่วนของเครื่องวิทยุกระจายเสียงไปด้วย เพื่อป้องกันมิให้รัฐบาลทำการกระจายเสียงต่อไปได้

คำแถลงการณ์จากวิทยุของพวกกบฎแพรสพัดไปอย่างรวดเร็ว ฝูงชนที่สัญจรไปมา พากันกลับบ้านจ้าละหวั่น เพราะเกรงอันตราย ร้านรวงต่างๆพากันปิดกิจการ เพราะกลัวพวกปล้นสดมภ์จะฉวยโอกาส
ประกาศทางวิทยุกระจายเสียงของพวกกบฎ มิได้ทำให้จอมพล ป. และคณะรัฐบาลตกใจเลย เพราะได้ทราบดีอยู่ก่อนแล้วว่า การกบฎจะต้องเกิดขึ้นสักวัน จึงออกประกาศเพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบถึงการปฎิวัตินั้นว่า รัฐบาลได้ติดตามความเคลื่อนไหวของพวกกบฎอย่างใกล้ชิดตลอดเวลาเป็นระยะ จึงได้ทราบแน่ชัดว่า ไม่มีวิถีทางใดที่จะหลีกเลี่ยงการนองเลือดได้ จึงเตรียมอยู่ทุกโอกาสที่จะรับมือพวกกบฎ เมื่อการกบฎเกิดขึ้นฝ่ายรัฐบาลจึงได้แต่งตั้งให้ พลตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกที่ 1 เป็นผู้อำนวยการปราบปรามกบฎคราวนี้

จุดแรกที่นายปรีดี พนมยงค์ และพรรคพวก จะเข้ายึดก็คือ กรมรักษาดินแดน อันอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของ พ.อ. จรัส โรมรัน รองเจ้ากรมรักษาดินแดน และทำการปลดอาวุธให้สิ้นเชิง แต่ก็ช้าไป คำสั่งจากกองบัญชาการของรัฐบาลให้เตรียมรับสถานการณ์ จากฝ่ายกบฎ ทำให้ทหารในกรมการรักษาดินแดน จึงพร้อมอยู่เสมอในการที่จะรับการจู่โจมจากฝ่ายกบฎ ทหารเข้าประจำอยู่ตามจุดต่างๆ อย่างพร้อมเพียงที่จะหยุกยั้งการจู่โจมของกบฎ และในเวลาเดียวกันนั้นเอง ฝ่ายรัฐบาลก็ลำเลียงกำลังทหารและอาวุธเข้ามาอยู่เรื่อยๆ ทำให้กรมการรักษาดินแดนมีกำลังต้านทานแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

แผนการณ์ จู่โจมได้กระทำสำเร็จแล้วในการยึดวังหลวง สำหรับกรมการรักษาดินแดนนั้นล้มเหลว เพราะรัฐบาลสั่งการและป้องกันไว้ได้ เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ฝ่ายกบฎจึงได้เปลี่ยนยุทธวิธีใหม่ ใช้การเจรจาทางการทูตแทน โดยให้คนยกธงขาวขอเปิดการเจรจาด้วยสันติวิธี แต่ได้รับการปฎิเสธไม่ยอมร่วมมือ ทูตสันติจึงกลับไปรายงานถึงความล้มเหลวในการเจรจา และพันเอกจำรัส โรมรัน เจ้ากรมรักษาดินแดนยังได้ยื่นคำขาดให้ฝ่ายกบฎถอยออกไปเสียจากวังหลวง และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก่อนรุ่งอรุณ ถ้าไม่ปฎิบัติตามจะดำเนินการอย่างเด็ดขาดต่อไป

ก่อนเสียปืนจะดังขึ้น พลตรีเผ่า ศรียานนท์ รองอธิบดีตำรวจฝ่ายปราบปราม ได้นำกำลังตำรวจสถานีชนะสงครามมายึดกรมโฆษณาการไว้โดยเรียบร้อย ในเวลาเดียวกันรถยนต์หุ้มเกาะขบวนหนึ่งก็วิ่งมาที่กรมโฆษณาการ พร้อมด้วยทหารอาวุธครบมือ นำโดย พลโทหลวงกาจ กาจสงคราม รองผู้บัญชาการทหารบก จากนั้นกำลังทหารอีกหน่วยหนึ่งจากสวนเจ้าเชตุก็มาถึง และเข้าทำการรักษากรมโฆษณาการต่อจากกำลังตำรวจ

23.00 น. ของวันที่ 26 กุมภาพันธ์ นายปรีดี พนมยงค์ ก็ให้ลูกน้องยิงปืนจากท่าวาสุกีไปยังวังสวนกุหลาบ อันเป็นที่ตั้งกองบัญชาการทหาร โดยฝ่ายกบฎใช้เครื่องยิงลูกระเบิด ค. 85 ชุดแรกยิงไป 4 นัด แต่ลูกกระสุนพลาดเป้าไปตกที่หลังบ้านพลโทสุข ชาตินักรบ

ที่แยกราชประสงค์ อันมีทหารเรือยึกเป็นแนวต้านทานอยู่นั้น ก็ได้มีการปะทะกันที่สะพานเฉลิมโลก โดยรถยนต์ของทหารเรือคันหนึ่งได้ปะทะกับกำลังของรัฐบาล ซึ่งคอยสกัดกั้นทหารเรืออยู่ ชั่วครู่ทหารเรือก็พากันหลบหนีไป

ทางด้านพระบรมมหาราชวังอันเป็นป้อมปราการของนายปรีดี ยังเปิดฉากยิงเข้าไปใน ร. พัน. 1 มีทหารเสียชีวิต 1 นาย และบาดเจ็บอีกหลายนาย ผู้บังคับบัญชาการกองทัพทหารราบที่ 1 ได้สั่งการให้ยิงโต้ตอบไปบ้างเสียงสนั่นกรุง ประมาณ 1 ชั่วโมงก็เงีบยไป

ระหว่างนี้ได้มีการเจรจาระหว่างทหารเรือกับทหารบก แต่ไร้ผล เมื่อการเจรจาไม่เป็นผล การปราบปรามก็ต้องกระทำโดยเร่งรีบที่สุด พลจรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงตัดสินใจที่จะบุกพระบรมมหาราชวัง อันมีนายปรีดีบงการต่อสู้อยู่ จากนั้นขบวนรถถังนำโดย พันโทกฤษ ปุณณกันต์ ผู้บัญชาการกองรถรบ ก็บุกเข้าไปในพระบรมมหาราชวังทางประตูวิเศษไชยศรี โดยทหารราบและ ป.ต.อ. วิ่งตามเข้าไปอย่างไม่เกรงกลัว พวกฝ่ายกบฎในพระบรมมหาราชวังยิงปืยการดออกมาดังห่าฝน รถถังคันหนึ่งในจำนวนหลายคันถูกปืนบาซูก้ากระหน่ำเสียจนไปต่อไม่ได้ จากนั้นรถถังอีก 2 คันก็พุ่งเข้าชนประตูวิเศษไชยศรีจนประตูเบื้องซ้ายพังลงมา จากนั้นก็พากันบุกเข้าไปอย่างรวดเร็ว เกิดการยิงต่อสู้กันอย่างรุนแรงและหนักหน่วง

ในขณะที่มีการต่อสู้กันในพระบรมมหาราชวังนั้น กำลังฝ่ายรัฐบาลอีกส่วนหนึ่งได้โอบล้อมเข้าไปอย่างเงียบๆ โดยกำลังทหาร ร. พัน 1 สวนเจ้าเชตุ ได้เคลื่อนเข้ายึดวังสราญรมย์ และระดมยิงปืนใหญ่ พอเวลา 06.00 น. ประตูสวัสดิ์โสภา และเทวาพิทักษ์ก็พังลง เปิดทางให้ทหารราบกรูกันเข้าไปในพระบรมมหาราชวังได้อีก 2 ทาง ฝ่ายกบฎจึงถูกบีบวงล้อมกระชับขึ้น และตกอยู่ในฐานะลำบาก

นายปรีดี พนมยงค์ และชนชั้นหัวหน้า พากันหลบหนีออกจากพระบรมมหาราชวังทางประตูด้านท่าราชวรดิตถ์ โดยเรือโท สิริ ข้าราชการกรมพระธรรมนูญทหารเรือ เป็นผู้นำออกไป แต่เมื่อได้นำตัวนายปรีดีออกไปได้แล้ว ก็เกิดกลัวความผิด จึงได้กระโดดน้ำตายที่ท่าราชวรดิตถ์นั่นเอง

ภายหลังการปราบปรามพวกกบฎ ภายในพระบรมมหาราชวังเรียบร้อยแล้วนั้น ทางด้านหนึ่งก็กำลังต่อสู้กันอย่างดุเดือด โดยทหารเรือต่อสู้กับทหารบกอยู่ที่สะพานราชเทวี และมักกะสัน พลตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงได้นำกำลังที่มีอยู่เคลื่อนมายังบริเวณดังกล่าว

ท่ามกลางการต่อสู้กันอย่างดุเดือดนั้น พลตรีประวัติ ศรีพิพัฒน์ เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ ได้เข้าบก พลตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพื่อเปิดเจรจาหยุดยิง พลตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยอมรับข้อเสนอในการหยุดยิงของฝ่ายทหารเรือ เพราะไม่ต้องการให้คนไทยฆ่ากันเอง โดยให้ตั้งเวลาหยุดยิงให้ตรงกันคือ 10.15 น.
ครั้นได้เวลา 10.15 น. ฝ่ายทหารเรือ ทหารบก ก็หยุดยิงกันตลอดแนว และจากนั้นก็ไกล่เกลี่ยกันจนเป็นที่เข้าใจกันดีแล้ว แต่ละฝ่ายก็เคลื่อนกำลังเข้าสู่ที่ตั้งของตน

หลังจากปราบปรามพวกกบฎในครั้งนั้นแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการจับกุม พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์ วีพเป็นสุข อดีตผู้บังคับการสันติบาล และ พ.ต. โผน อินทรทัต อดีตผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ แต่ทั้งสองคนถูกตำรวจยิงตายในข้อหาว่า ต่อสู้เจ้าหน้าที่.



กบฏแมนฮัตตัน


แม้กบฎวังหลวงจะยุติลงด้วยการไกล่เกลี่ยรอมชอมไปแล้วก็ตาม กลิ่นไอของการกบฎก็ยังมีท่าทีอยู่เสมอ เพียงยังรอโอกาสเท่านั้นเอง

โดยไม่มีใครคาดฝัน เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ไปเป็นประธานในพิธีรับมอบเรือขุด "แมนฮันตัน" ที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกามอยให้แก่ไทย ตามโครงการว่าด้วยการช่วยเหลือร่วมมือระหว่างสองประเทศ โดยรับบาลจะได้รับเรือขุดนี้ไปใช้ในการขุดลอกสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยา พิธีอันทรงเกียรติเพื่อรับเรือขุดแมนฮัตตันนี้ กระทำกันที่ท่าราชวรดิตถ์ ได้มีทูตานุทูตของประเทศต่างๆ ได้ร่วมเป็นเกียรติเป็นจำนวนมาก

และโดยที่มิได้ตระเตรียมการป้องกันตัวเลยแม้แต่น้อย ภายหลังจากพีธรรับมอบเรือเรียบร้อยแล้ว จอมพล ป. ก็ได้รับเชิญให้ขึ้นไปชมเรือแมนฮัตตัน เมื่อย่างเหยียบขึ้นเรือ ทหารเรือกลุ่มหนึ่งพร้อมปืนกลมือ ภายใต้การนำของ นาวาตรี มนัส จารุภา ผู้บังคับการเรือรบหลวงสุโขทัย ก็ปราดเข้าประชิดตัวจอมพล ป. และบังคับให้ไปลงเรือยังกองเรือรบ ท่ามกลางการตกตลึงของบรรดดาทูตานุทูตต่างประเทศ และผู้ติดตามจอมพล ป. ทั้งหมดได้แต่มอง นาวาตรี มนัส จารุภา นำตัวจอมพล ป. ไปยังเรือรบศรีอยุธยา ซึ่งขณะนั้นจอดลอยลำอยู่ที่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา

ในการที่ทหารเรือกลุ่มหนึ่ง เข้าทำการเกาะกุมคุมตัวจอมพล ป . ไว้นั้น ดูเหมือนว่าจะมีความประสงค์จะเอาตัวจอมพล ป. เป็นประกัน ในการตั้งข้อเรียกร้อง ในทางการเมือง ทันทีที่ข่างแพร่ออกไป คณะรัฐมนตรีได้เปิดประชุมกันอย่างเคร่งเครียด เพื่อพิจารณาสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และมีความเห็นสอดคล้องกันว่า ไม่ว่าในกรณีใดๆ จากการเรียกร้อง รัฐบาลจะไม่อนุโลมตามด้วยประการใดๆทั้งสิ้น

นอกจากนี้ยังได้มีการลงมติให้ปราบปราม พวกกบฎด้วยความรุนแรงและเด็ดขาดอีกด้วย ต่อมารัฐบาลได้ออกแแถลงการณ์ ประกาศให้ประชาชนได้ตระหนักว่า การเรียกร้องใดๆของฝ่ายกบฎนั้น ทางรัฐบาลจะไม่ยินยอมด้วยประการทั้งปวง และยังได้ประกาศให้พวกกบฎปล่อยตัวจอมพล ป. ให้เป็นอิสระภาพโดยเร็วที่สุด ถ้าไม่ปล่อยจอมพล ป. ทางรัฐบาลจะจัดการโดยเด็ดขาดและรุนแรงต่อไป

คำแถลงการณ์ไม่เป็นผล ฝ่ายทหารเรือไม่ยอมปล่อยตัวจอมพล ป. เพราะมีความมั่นใจอยู่อย่างหนึ่งว่า การควมคุมตัวจอมพล ป. ไว้เป็นประกันนั้น จะสามารถเรียกร้องสิทธิ์ทางการเมืองได้เป็นอย่างดี และยังเข้าใจต่อไปอีกว่า คงจะไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น ในขณะที่จอมพล ป. ยังคงถูกควบคุมตัวอยู่ในอารักขาของทหารเรือ

แต่ผิดถนัด คณะรัฐประหารมิได้มีความหว่งใยกับชีวิตของจอมพล ป. แม้แต่น้อย ความเลื่อมใสศรัทธาในตัวจอมพล ป. นั้นเกือบจะไม่มีอยู่ในคณะรัฐประหารแล้ว ดังนั้นคณะรัฐประหารจึงได้ส่งกำลังรบเข้าปราบปรามทหารเรือริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา การต่อสู้เกิดขึ้น และทหารบกสามารถยึดสถานที่สำคัญๆไว้ได้ และตีทหารเรือแตกกระเจิงไป จนไม่สามารถจะควบคุมการต่อสู้ไว้ได้ จึงพากันหลบหนีไปอย่างอลหม่านสับสน

แม้ว่าทหารบกจะปราบปรามทหารเรือแตกพ่ายไปได้แล้วก็ตาม สำหรับทหารเรือบนเรือรบหลวงศรีอยุธยา อันมีนาวาตรีมนัส จารุภา เป็นผู้บังคับการและคุมตัวจอมพล ป. ไว้นั้น ยังไม่ยอมปล่อยตัวให้เป็นอิสระภาพ เพราะยังมั่นใจว่า ตราบใดที่จอมพล ป. ยังถูกควบคุมตัวอยู่บนเรือแล้ว คณะรัฐประหารคงจะไม่กล้าทำการรุนแรง แต่เป็นความเข้าใจที่ผิดอย่างมหันต์ เพราะจอมพล ป. แทบจะไม่มีอิทธิพลใดเลยต่อคณะรัฐประหาร คณะรัฐประหารมิได้ให้ความสำคัญแก่จอมพล ป. เหมือนวันแรกแห่งการรัฐประหาร เนื่องจากมีความจำเป็นที่ต้องเอาจอมพล ป. เป็นเครื่องมือ เพราะระหว่างนั้นการรัฐประหารทำท่าจะล้มเหลว เมื่อจอมพล ป. มาปรากฎตัวเหตุการณ์จึงเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ในวันที่ 30 มิถุนายน นั้นเอง รัฐบาลได้ส่งเครื่องบินจากกองทัพอากาศมาทิ้งระเบิดรอบๆ เรือรบหลวงศรีอยุธยา เพื่อเป็นการคุกคามให้ทหารเรือปล่อยจอมพล ป. แต่นาวาตรีมนัส ยังยืนกรานที่จะไม่ยอมปล่อยจอมพล ป. จนกว่าจะมีการเจรจา คณะรัฐบาลจึงได้ตัดสินใจจะทิ้งระเบิดเรือรบหลวงศรีอยุธยา โดยไม่คำนึงถึงชีวิตของจอมพล ป. และความเสียหายที่จะเกิดแก่เรือรบหลวงศรีอยุธยา

เสียงระเบิดดังสนันหวั่นไหว ภายในไม่กี่วินาทีเรือรบหลวงศรีอยุธยาก็เริ่มเอียง ภายในเรือรบหลวงศรีอยุธยาเกิดการโกลาหลวุ่นวาย ทหารเรือบางส่วนพากันกระโดดลงแม่น้ำเจ้าพระยาว่ายเข้าหาฝั่ง โดยมีทหารเรือคนหนึ่งพยายามที่จะช่วยชีวิตจอมพล ป. ให้กระโดดน้ำหนีรอดมาได้อย่างหวุดหวิด สำหรับนานวตรีมนัส จารุภา เมื่อเอาตัวรอดมาได้แล้วก็หนีออกนอกประเทศ โดยขอลี้ภัยการเมืองอยู่ในเขมร

หลังจากกบฎแมนฮัตตันแลล้ว กองทัพเรือได้มีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ จนเกือบจะกล่าวได้ว่ากองทัพเรือนั้นไม่มีอิทธิพลใดอีกแล้ว ทั้งนี้เพราะตัวจักรสำคัญๆ ในกองทัพเรือให้ความสนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ และมีทรรศนะจัดระบบการเมืองแนวโซเซียลลิสต์

รัฐบาลได้ส่งพวกของคณะรัฐประหารที่วางใจได้ เข้าสวมตำแหน่งสำคัญๆ ไว้โดยสิ้นเชิง ส่วนนายทหารชั้นผู้ใหญ่ถูกปลดออกจากตำแหน่งหมด เมื่อพวกของนายปรีดีในกองทัพเรือหมดอำนาจลง อิทธิพลในทางการเมืองของนายปรีดี ก็หมดลงไปด้วย.



อ้างอิงจาก : เหตุการณ์ทางการเมือง 43 ปีแห่งระบบประชาธิปไตย

โดย : วิเทศกรณีย์

ไม่มีความคิดเห็น: