วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2552

"องคมนตรี - กองทัพ - ตุลาการ" : นี่คือ "อำนาจที่แตะต้องไม่ได้" ที่ควรถูก "ปฏิรูปการเมือง" โดยแท้จริง



"ปฏิรูปการเมือง" นี่คือ coded-word (คำแฝงอำพราง)
สำหรับเล่นงานนักการเมืองเลือกตั้ง


คำขวัญ "ปฏิรูปการเมือง" ที่ชูกันในปัจจุบัน แท้จริงเป็นเพียงคำแฝงอำพราง (coded-word)

ความหมายที่แท้จริงของคำนี้ คือการพยายามเล่นงาน จำกัดอำนาจนักการเมืองเลือกตั้ง เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับอำนาจที่แตะต้องไม่ได้ (unaccountable) (อำนาจที่แตะต้องไม่ได้นี้ มีอะไรบ้าง ดูข้างล่าง)

บรรดานักวิชาการ แอ๊คติวิสต์ เอ็นจีโอ ที่ใช้คำขวัญนี้แบบไม่คิด ที่ "พาซื่อ" หลงตามกระแสไป คิดว่าเป็นเรื่องเหมาะสมแล้วที่ "นักการเมืองเลือกตั้ง" จะถูกถือเป็น "ปัญหา-เป้าหมาย" ของ "การปฏิรูปการเมือง" ขอให้ดูที่ facts (ข้อเท็จจริง) เชิงประจักษ์ ของสิ่งที่เกิดขึ้นในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ดังต่อไปนี้


เกิดอะไรขึ้น กับ "นักการเมืองเลือกตั้ง" ที่นักโฆษณาชวนเชื่อเรื่อง "ปฏิรูปการเมือง" พยายาม หลอกว่า "มีอำนาจมากไป", มีความน่ากลัวระดับ "ระบอบ" (ทักษิณ) ฯลฯ

- นายกฯนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง 2 คน ถูกโค่นไป คนหนึ่งที่ได้รับการสนับสนุนอย่างมหาศาลจากประชาชนทั่วประเทศในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน ถูกโค่นด้วยกำลังอาวุธ อีกคน ด้วยข้ออ้างและ "บรรทัดฐาน" แบบชวนหัว

- ผู้บริหารพรรคการเมืองดังกล่าวถูกแบนจากกิจกรรมการเมือง 5 ปี หลายคน ถูก "คดี" เล่นงานอยู่

- นักการเมืองที่เป็นรัฐมนตรี 1 คนถูกบีบให้ออกจากตำแหน่ง ด้วยข้ออ้างว่า "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ"

- รัฐมนตรี 1 คนถูกบีบให้ออก ด้วยการตัดสินว่าทำสัญญาแบบ"ผิดรัฐธรรมนูญ" ทั้งๆที่รัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุไว้

(อันที่จริง ถ้าจะนับให้ครบจริงๆ ต้องรวมกรณีต่อไปนี้ด้วย ที่เกิดขึ้นกับอำนาจจากการเลือกตั้งด้วย เช่น : นายกฯที่เพิ่งชนะเลือกตั้งทั่วไป ถูกปฏิเสธ การเป็นนายกฯ (5 เมษา 2548), การเลือกตั้งทั่วไปถูกยกเลิก ด้วยเหตุผลว่า "ตั้งคูหาผิดทิศ" ฯลฯ)

ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ


ขณะเดียวกัน เกิดอะไรขึ้น กับ อำนาจชนิดที่ "แตะต้องไม่ได้"?

ขอให้ถามตัวเองว่า ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา อำนาจต่อไปนี้

องคมนตรี - กองทัพ - ตุลาการ

ได้เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ในลักษณะที่ไม่มีใครแตะต้องได้ใช่หรือไม่?

ลองเปรียบเทียบดู ระหว่าง อำนาจ 2 แบบนี้

แล้วดูสิ่งที่เป็น "วาทกรรม" ของบรรดา "ราษฎรอาวุโส", "นักวิชาการอาวุโส", และ ngo อีกจำนวนมาก เวลาพูดเรื่อง "ปฏิรูปการเมือง" มีการ "แตะ" ถึง "3 อำนาจ" นี้ (องคมนตรี-กองทัพ-ตุลาการ) หรือ?


ถามตัวเองว่า นี่คือ "ปฏิรูปการเมือง" หรืออะไร?

ความจริงคือ ใครก็ตาม ยิ่งถ้าเป็นปัญญาชน นักวิชาการ แอ๊กติวิสต์ "ภาคประชาชน" หากอ้างเรื่อง "ปฏิรูปการเมือง" แต่ปฏิเสธ ไม่ยอมพูดถึง ไม่ยอม "แตะต้อง" "3 อำนาจ" (องคมนตรี-กองทัพ-ตุลาการ) ที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลในรอบ 3 ปีนี้ (ในความเป็นจริง อำนาจของกลุ่มนี้ เพิ่มมากที่สุดในรอบ 15 ปี ถึง 30 ปี) ....

เขาเหล่านั้น

ถ้าไม่ใช่เพราะ "พาซื่อ" อย่างหนัก

ก็กำลังร่วมสังฆกรรมในการโฆษณาชวนเชื่อหลอกคน


สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล


ที่มา : เวบบอร์ด "ฟ้าเดียวกัน" : "ปฏิรูปการเมือง" นี่คือ coded-word (คำแฝงอำพราง) สำหรับเล่นงานนักการเมืองเลือกตั้ง

วันเสาร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2552

ราชวงศ์ควรเปลี่ยนกฎหมายที่ขยี้ประชาธิปไตยไทย : Right royal reasons to change the law that stifles Thai democracy


The Sydney Morning Herald

Right royal reasons to change the law that stifles Thai democracy
by Andrew Walker and Nicholas Farrelly



แปลและเรียบเรียง : chapter 11



ราชวงศ์ควรเปลี่ยนกฎหมายที่ขยี้ประชาธิปไตยไทย

ได้มีการเริ่มการรณรงค์ในระดับชาติ เรียกร้องให้มีการปฎิรูปกฎหมายหมิ่นฯ ที่ล้าหลังของประเทศไทย

ภายใต้กฎหมายนี้ การถกเถียงและการวิจารณ์ราชวงศ์อย่างตรงไปตรงมา อาจทำให้ติดคุกได้ในระหว่าง ๓-๑๕ ปี ในจดหมายเปิดผนึกที่มีถึงนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา มีนักวิชาการและบุคคลผู้มีชื่อเสียงมากกว่า ๕๐ คน ร่วมกันให้เหตุผลแย้งว่าการตั้งข้อหาในคดีหมิ่นฯ เป็นการทำลายความเป็นประชาธิปไตย และเป็นอุปสรรคต่อการถกเถียงในหัวข้อสำคัญๆ ของอนาคตการเมืองไทย

การร่วมลงลายชื่อในจดหมายดังกล่าว ซึ่งรวมไปถึงนักวิชาการของไทยที่เป็นที่นับถืออย่างสูงของโลก นักเรียกร้องสิทธิมนุษยชนสากล และสมาคมนักวิชาการสากลระดับชั้นนำ ในจำนวนบุคคลที่มีชื่อเสียง บ๊อบ คาร์ อดีตผู้ว่าการรัฐนิวเซ้าเวลส์ของประเทศออสเตรเลีย ได้ร่วมลงชื่อเพิ่มขี้นเมื่อไม่นานมานี้

คนออสเตรเลียหลายๆคนอาจจะคิดว่า เรื่องคงหมดสิ้นไปแล้วหลังจากที่แฮรี นิโคไลเดส ได้รับพระราชทานอภัยโทษจากกษัตริย์ไทย และกลับไปยังประเทศออสเตรเลียแล้ว นิโคไลเดส ซึ่งเป็นนักเขียนจากเมลเบริ์นเคยทำงานเป็นครูในประเทศไทย ถูกจำคุกไทยนานถึง ๖ เดือน โทษฐานได้เขียนนวนิยาย ๑ ย่อหน้า เกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของเจ้าฟ้าชาย

การได้รับพระราชทานอภัยโทษเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่เราไม่ควรไขว้เขวกับพระเมตตาจากราชวงศ์ ที่แสดงให้เห็นต่อหน้าสาธารณะเช่นนี้ กฎหมายยังคงอยู่ และเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ได้มีการบุกสำนักงานของเว็บไซต์การเมืองที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศ เนื่องจากเนื้อหาในเว็บไซต์ไม่เหมาะสมด้วยเรื่องของราชวงศ์ ผู้เรียกร้องทางการเมืองสองคนกำลังทรมานในคุก จากความเห็นที่ต่อต้านราชวงศ์ในการชุมนุมต่อหน้าสาธารณะเมื่อปีที่แล้ว นักวิชาการชื่อดังได้หนีไปอังกฤษหลังจากถูกตั้งข้อกล่าวหาว่า ดูหมิ่นราชวงศ์จากบทความในหนังสือเกี่ยวกับสถานะของกษัตริย์กับการทำรัฐประหารในเดือนกันยายน ๒๕๔๙ คนอื่นๆที่ได้ถูกจับเกี่ยวกับคดีหมิ่นฯ ได้แก่ นักข่าวบีบีซี นักศึกษาผู้ที่โพสต์บทความในเว็บไซต์ หนึ่งในปัญญาชนที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศไทย และผู้ซึ่งไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงหนัง

กฎหมายหมิ่นฯ ถูกใช้ในการควบคุมไม่ให้มีการพูดถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์ ที่มีต่อการเมืองไทยที่วุ่นวาย ใครก็ตามสามารถกล่าวหาอย่างแทบจะไม่มีมูลความจริงต่อผู้ที่ไม่เห็นด้วยทางการเมืองกับตัวเอง เมื่อใดก็ตามที่คดีอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา จะไม่มีทางที่จะมีการสิ้นสุด คดีจะถูกพิจารณาอย่างเงียบๆ แทบจะไม่มีการรายงานคดีให้ประชาชนได้รับรู้ นี่คือปฎิบัติการทางกฎหมายในโลกมืดจากฝีมือการกดดันของรัฐ

ยิ่งเรื่องการสื่บราชบัลลังค์ใกล้เข้ามาเท่าไร การถกเถียงอย่างเปิดเผยในเรื่องที่ละเอียดอ่อนเกี่ยวกับราชวงศ์นั้น ก็ควรจะมีมากขี้น กษัตริย์ทรงพระชนมายุ ๘๑ พรรษาแล้ว และมีสุขภาพที่ไม่อำนวย กฎหมายหมิ่นฯห้ามไม่ให้มีการพูดถึงเรื่องขององค์รัชทายาท เจ้าฟ้าชายวชิราลงกรณ์ แต่ข่าวซุบซิบเกี่ยวกับเรื่องชีวิตส่วนตัวขององค์รัชทายาทก็ถือเป็นเรื่องปกติ มีข่าวลือต่างๆเกี่ยวกับคุณสมบัติของพระองค์ เกี่ยวกับการพัวพันทางด้านธุรกิจ เกี่ยวกับสุขภาพและความยุ่งเหยิงของชีวิตรักของพระองค์ เหล่านี้เป็นขุมทองสำหรับบรรณาธิการของหนังสือประเภทซุบซิบต่างๆ และสำหรับนักวิจารณ์ในการพูดถึงเรื่องของราชวงศ์ ฉะนั้นกฎหมายหมิ่นฯจึงเป็นเครื่องค้ำจุนต่อชื่อเสียงของราชวงศ์

การรณรงค์ต่อต้านกฎหมายหมิ่นฯในระดับสากลเพื่อใช้กดดันรัฐบาลไทย และให้การสนับสนุนต่อคนในประเทศไทย ซึ่งค่อนข้างเสี่ยงชีวิตต่อการเสาะหาวิธีการถกเถียงอย่างเปิดเผยมากยิ่งขี้น เกี่ยวกับบทบาทของราชวงศ์ที่มีต่อชีวิตทางการเมืองของไทย นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ตอบรับต่อการเรียกร้อง และกล่าวว่ารัฐบาลของเขาจะพิจารณาเรื่องนี้ภายในอาทิตย์นี้ ความหวังที่จะมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายนี้ดูเป็นเรื่องริบหรี่ คดีหมิ่นฯที่มีต่อนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม ซึ่งควรมีการพิจารณาเมื่ออาทิตย์ที่แล้วได้ถูกเลื่อนไปอีกหนึ่งเดือน อภิสิทธิ์เป็นผู้นำรัฐบาลที่มีความจงรักภักดีต่อราชวงศ์ ฉะนั้นคงแทบไม่มีโอกาสที่จะเห็นการแก้ไขกฎหมายนี้ ให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว

การเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายนี้อาจสร้างความสนใจ และได้รับการสนับสนุนบ้างจากบุคคลที่ไม่คาดฝัน กษัตริย์ได้ทรงแสดงความไม่สบายพระทัยเกี่ยวกับคดีหมิ่นฯในหลายวาระ เมื่อเดือนที่แล้วที่ปรึกษาของกษัตริย์ท่านหนึ่ง ได้ระบุว่า กฎหมายดังกล่าวมีปัญหา ความหวั่นเกรงอย่างนี้อาจจะไม่ใช่เป็นการผลักดันให้เกิดเสรีภาพในการพูด เป็นเพียงแต่ว่าราชวังคงทราบว่าทุกๆคดีหมิ่นฯ โดยเฉพาะเมื่อมีชาวต่างชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง ได้สร้างความย่ำแย่ต่อภาพพจน์ของราชวงศ์

การปรับปรุงกฎหมายหมิ่นฯ ไม่ใช่เพียงแค่เป็นเรื่องราวของความขัดแย้งทางการเมือง และเรื่องลึกลับของพระราชวังในกรุงเทพ แต่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับคนออสเตรเลียด้วย เป็นเรื่องสำคัญเพราะชาวออสเตรเลียได้ถูกจำคุกถึง ๖ เดือน จากข้อเขียนที่มีปัญหาเพียง ๑ ย่อหน้า ชาวออสเตรเลียคนอื่นๆอาจจะตกเป็นเหยื่อของกฎหมายนี้ก็ได้ แม้ความเห็นจะทำนอกประเทศไทย ที่สำคัญที่สุดคือ การปรับปรุงกฎหมายหมิ่นเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเสรีภาพในการพูดเป็นเรื่องที่สำคัญ

ประชาธิปไตยในประเทศไทยได้สะดุดลงตั้งแต่มีการทำรัฐประหารในเดือนกันยายน ๒๕๔๙ รัฐบาลเข้ามามีอำนาจจากการหนุนหลังของพวกคลั่งเจ้าอย่างสุดโต่ง ที่ออกไปรณรงค์กลางถนนและทำการยึดสนามบินนานาชาติในกรุงเทพเป็นเวลาหนึ่งอาทิตย์เต็มๆ และราชวงศ์ได้มีบทบาทต่อการเมืองที่วุ่นวายเมื่อไม่นานมานี้ เวลานี้ประเทศตกอยู่ในสภาวะที่ไม่แน่นอน เป็นปลายรัชกาลของกษัตริย์ที่ครองราชย์มายาวนานที่สุด คนไทยหลายๆคนต้องการให้มีการถกเถียง เกี่ยวกับการเมืองในอนาคตอย่างเสรีและตรงไปตรงมา

กฎหมายหมิ่นฯ ได้นำพาไปสู่แนวทางที่ตรงกันข้าม ได้นำพาย้อนกลับไปสู่ระบบเผด็จการ

(แอนดรูว์ วอคเกอร์ และ นิโคลัส ฟาร์เรลลี่ ทำงานที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย วิทยาลัยเอเซียและแปซิฟิก ภาควิชาความสัมพันธ์ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้)

ที่มา : Liberal Thai : ราชวงศ์ควรเปลี่ยนกฎหมายที่ขยี้ประชาธิปไตยไทย


หมายเหตุ

การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

วันศุกร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2552

กบฏบวรเดช : การต่อสู้ของระบบประชาธิปไตย ยกที่ 1

กบฏบวรเดช เกิดขึ้นเมื่อ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 นับเป็นการกบฏครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 สาเหตุมาจากความขัดแย้งระหว่างระบอบเก่าและระบอบใหม่ จากข้อโต้แย้งในเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจที่เสนอโดยนายปรีดี พนมยงค์ ที่ถูกกล่าวหาจากผู้เสียประโยชน์ว่าเป็น "คอมมูนิสต์" และชนวนสำคัญที่สุดคือข้อโต้แย้งในเรื่องพระเกียรติยศและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบใหม่ เป็นผลนำไปสู่การนำกำลังทหารก่อกบฏโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อันเป็นที่มาของชื่อ "กบฏบวรเดช" โดยในที่สุดฝ่ายรัฐบาลสามารถปราบปรามคณะกบฏลงได้ ส่วนพระองค์เจ้าบวรเดชหัวหน้าคณะกบฏและพระชายาได้หนีไปยังประเทศกัมพูชา

อนุสาวรีย์บริเวณหลักสี่ บางเขน กรุงเทพมหานคร ที่เรียกกันว่า "อนุสาวรีย์หลักสี่" นั้น ชื่อจริงคือ "อนุสาวรีย์ปราบกบฎ" หรือ "อนุสาวรีย์พิทักษ์ธรรมนูญ" ซึ่งรัฐบาลในสมัยนั้น ได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดช


สาเหตุ

กบฏบวรเดชเกิดขึ้นในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 นำโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม เป็นหัวหน้าฝ่ายทหารนำกำลังทหารจากหัวเมืองภาคอีสานล้มล้างการปกครองของรัฐบาล เนื่องจากไม่พอใจที่นายถวัลย์ ฤทธิเดช ได้ฟ้องร้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) เนื่องจากกรณีที่ที่พระองค์มีพระบรมราชวินิจฉัยคัดค้านแผนพัฒนาเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ที่เรียกกันว่า "สมุดปกเหลือง" โดยออกเป็นสมุดปกขาว

ซึ่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจของนายปรีดีนี้มีเสนอแนวทางการปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก อาทิ เรื่องการถือครองและการเช่าที่ดิน การจัดรัฐสวัสดิการ การแทรกแซงเศรษฐกิจโดยรัฐบาลด้วยวิธีการต่าง ๆ ด้วยหวังเปิดโอกาสให้เกษตรกรชาวไร่ชาวนาได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามหลายแนวคิดที่คล้ายกับการปกครองในระบบสังคมนิยมอาจมีผลกระทบต่อพื้นฐานโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจ รวมถึงงบประมาณรายจ่ายของประเทศ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวิจารณ์ข้อเสนอของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมอย่างจริงจัง

ขณะที่ฝ่ายคณะราษฎรเองก็แตกแยกทางความคิด กระทั่งนำไปสู่การเปิดอภิปรายวิจารณ์ในรัฐสภา ในที่สุดฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยต่อแนวทางดังกล่าวจึงเสนอให้ยกเลิกข้อเสนอนั้น เป็นเหตุให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมต้องถุกกดดันให้ไปอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสชั่วคราว ซึ่งทำให้คณะราษฎรหลายท่านไม่พอใจพระเจ้าอยู่หัวและพระยามโนปกรณ์นิติธาดา โดยเฉพาะฝ่ายทหาร และนำไปสู่การก่อรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดารัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 หลังจากการรัฐประหารพระยาพหลพลพยุหเสนาผู้นำคณะรัฐประหารได้เป็นนายกรัฐมนตรี จึงมีการล้างมลทินให้หลวงประดิษฐมนูธรรม

ความวุ่นวายทางการเมืองทั้งหลายมีส่วนทำให้พลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช บรรดานายพล และ นายทหารอื่นๆ ที่โดนปลดหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 ไม่พอใจรัฐบาลเป็นอันมาก จึงเริ่มก่อกบฏขึ้น โดยนำทหารโคราช (กองพันทหารราบที่ 15, กองพันทหารราบที่ 16, กองพันทหารม้าที่ 4, กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 3 และ กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 4) ทหารเพชรบุรี (กองพันทหารราบที่ 14), ทหารอุดร (กองพันทหารราบที่ 18) เข้ารบ โดยหวังให้ทหารกรุงเทพที่สนิทกับพันเอกพระยาศรีสิทธิ์สงครามไม่ร่วมมือกับฝ่ายรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม ทหารกรุงเทพหันไปร่วมมือกับรัฐบาลเนื่องจากฝ่ายทหารโคราชยืนยันเอาพลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดชเป็นหัวหน้า ซึ่งผิดเงื่อนไขที่ทหารกรุงเทพต้องการ เนื่องจากทหารกรุงเทพนับถือพันเอก พระยาศรีสิทธิ์สงครามมากกว่า พลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของทางฝ่ายกบฏบวรเดชเห็นว่า แท้ที่จริงแล้วการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นั้นเป็นเพียงแค่การรัฐประหาร (coup d'etat) เท่านั้น มิใช่การปฏิวัติ (revolution) เพราะหลังจากนั้นแล้ว อำนาจที่ถูกผ่องถ่ายมาจากพระมหากษัตริย์ก็ตกอยู่ในมือของคนแค่ไม่กี่คน อีกทั้งหลัก 6 ประการที่ได้สัญญาว่าจะปฏิบัติ ในวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็มิได้มีการกระทำจริง เหตุการณ์ทั้งหมดจึงเป็นเรื่องที่มิอาจยอมรับได้ จึงต้องดำเนินการดังกล่าว


การต่อสู้และการปราบปราม

การยิงกันครั้งแรกเริ่มที่ อ. ปากช่อง เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 แล้วมีการจับคนของรัฐบาลเป็นเชลยที่โคราช คณะผู้ก่อการได้ยกกองกำลังเข้ามาทางดอนเมืองและยึดพื้นที่เอาไว้ โดยเรียกชื่อคณะตัวเองว่า คณะกู้บ้านเมือง และเรียกแผนการปฏิวัติครั้งนี้ โดยใช้กองกำลังทหารจากหัวเมืองต่าง ๆ เข้าล้อมเมืองหลวงว่า แผนล้อมกวาง

คณะรัฐบาลแต่งตั้ง พันโทหลวงพิบูลสงคราม (จอมพล ป. พิบูลสงคราม - ยศขณะนั้น) เป็นผู้บัญชาการกองกำลังผสม พร้อมรถปตอ. รุ่น 76 และรถถัง รุ่น 76 บรรทุกรถไฟยกออกไปปราบปรามได้สำเร็จ แต่ต้องเสียพันโทหลวงอำนวยสงคราม (ถม เกษะโกมล) ผู้บังคับการกองพันทหารราบที่ 8 เพื่อนของหลวงพิบูลสงครามเพราะถูกยิงเข้ามาในรถจักรดีเซลไฟฟ้า

ฝ่ายรัฐบาลได้ส่งพันตรีหลวงเสรีเริงฤทธิ์ เป็นตัวแทนฝ่ายรัฐบาลมาเจรจาให้ฝ่ายกบฏเลิกราไปเสีย และจะขอพระราชทานอภัยโทษให้ แต่ทางฝ่ายกบฏได้จับตัวพันตรีหลวงเสรีเริงฤทธิ์ไว้เป็นตัวประกัน พร้อมกับยืนเงื่อนไข 6 ข้อ

เวลา 12.00 น. ฝ่ายกบฏได้ส่ง พันเอกพระยาเวหาสยานศิลปสิทธิ์ พันโทพระยาเทเวศวร อำนวยฤทธิ์ และเรือเอกเสนาะ รักธรรม เป็นคนกลางถือหนังสือของพระองค์เจ้าบวรเดชมาเจรจากับรัฐบาล โดยยืนเงื่อนไขทั้งหมด 6 ข้อ คือ


1. ต้องจัดการในทุกทางที่จะอำนวยผลให้ประเทศสยามมีพระมหากษัตริย์ปกครองประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วกัลปาวสาน

2. ต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญโดยแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ การตั้งและถอดถอนคณะรัฐบาลต้องเป็นไปตามเสียงของหมู่มาก

3. ข้าราชการซึ่งอยู่ในตำแหน่งประจำการทั้งหลายและพลเรือนต้องอยู่นอกการเมือง ตำแหน่งฝ่ายทหารตั้งแต่ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือลงไปต้องไม่มีหน้าที่ทางการเมือง

4. การแต่งตั้งบุคคลในตำแหน่งราชการ จักต้องถือคุณวุฒิและความสามารถเป็นหลัก ไม่ถือเอาความเกี่ยวข้องในทางการเมืองเป็นความชอบหรือเป็นข้อรังเกียจในการบรรจุเลื่อนตำแหน่ง

5. การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ต้องถวายให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือกจริง ๆ

6. การปกครองกองทัพบกจักต้องให้มีหน่วยผสมตามหลักยุทธวิธี เฉลี่ยอาวุธสำคัญแยกกันไปประจำตามท้องถิ่น มิให้รวมกำลังไว้เฉพาะแห่งใดแห่งหนึ่ง




สุดท้ายได้ขอประกาศนิรโทษกรรมแก่คณะตนเอง ซึ่งคำขอทั้งหมดนี้ ทางฝ่ายรัฐบาลยืนกรานไม่ยินยอม จึงเกิดการต่อสู้กันของทั้งสองฝ่าย โดยคณะปฏิวัติจึงเคลื่อนกำลังเข้าสู่พระนครทันที โดยยึดพื้นที่เรื่อยมาจากดอนเมืองถึงบางเขน

มีการวิเคราะห์กันว่า แท้ที่จริงแล้วแผนล้อมกวางนี้ เป็นเพียงแผนขู่ไม่ใช่แผนรบจริง ดั่งบันทึกของหม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคล นวรัตน หนึ่งในคณะกบฏที่ได้บันทึกเรื่องราวตอนนี้ไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติของตนเอง ซึ่งได้ตีพิมพ์ออกมาในปี พ.ศ. 2482 ว่าแท้ที่จริงแล้วแผนการจะเริ่มขึ้นในวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2476 โดยจะลงมืออย่างรวดเร็ว แต่เมื่อปฏิบัติจริงกลับถูกเลื่อนออกไปหนึ่งวัน จึงเปิดโอกาสให้ทางฝ่ายรัฐบาลได้มีเวลาตั้งตัวได้ติดและโต้กลับอย่างรวดเร็ว

โดยทางฝ่ายรัฐบาลได้ตั้งกองอำนวยการปราบกบฏขึ้นที่สถานีรถไฟบางซื่อข้างโรงงานปูนซีเมนต์ไทยในปัจจุบัน โดยกำลังทหารปืนใหญ่จากนครสวรรค์ ซึ่งขณะยกกำลังมาเพื่อสมทบกับกำลังฝ่ายปฏิวัตินั้น ได้ถูกกองกำลังฝ่ายรัฐบาลที่สถานีโคกกระเทียมตีสกัดไว้จนถอยร่นกระจายกลับคืนไป ส่วนพระยาเสนาสงคราม แม่กองได้พยายามหนีเล็ดลอดลอบมาสมทบได้ในภายหลัง

กองทหารเพชรบุรี ก็ถูกทหารฝ่ายรัฐบาลที่ราชบุรีตีสกัดกั้นไว้ที่สถานีบ้านน้อย (สถานีเขาย้อย) ไม่สามารถจะผ่านมารวมกำลังกับฝ่ายปฏิวัติได้

ส่วนทางกองทหารจากปราจีนบุรี ไม่มั่นใจว่าฝ่ายกบฏจะได้รับชัยชนะเหนือรัฐบาล จึงประกาศเข้าร่วมกับฝ่ายรัฐบาลทำการปราบปรามฝ่ายปฏิวัติเสียอีกด้วย เหตุการณ์ระส่ำระสายทำให้ฝ่ายปฏิวัติสูญเสียกำลังใจในการสู้รบเป็นอย่างมาก

แต่ทางฝ่ายกบฏก็ยังคงปักหลักต่อสู้อย่างเหนียวแน่น จนถึงวันที่ 14 ตุลาคมสถานีรถไฟหลักสี่ มีกำลังทหารม้าจำนวน 5 กองร้อยของนครราชสีมาประจำแนวรบ แม้จะมีปืนกลอยู่เพียง 5 กระบอกเท่านั้นก็ตาม แต่ก็ยังสามารถรุกไล่ทหารฝ่ายรัฐบาลถอยร่น จนเข้ายึดคลองบางเขนไว้ได้อีกครั้งหนึ่ง

รุ่งขึ้น วันที่ 15 ตุลาคม ฝ่ายรัฐบาลได้หนุนกำลังพร้อมอาวุธหนักนำขึ้นรถไฟ มีทั้งรถเกราะและปืนกล รุกไล่ฝ่ายปฏิวัติจนเกือบประชิดแนวหน้าฝ่ายปฏิวัติซึ่งเป็นรองทั้งกำลังสนับสนุนและอาวุธต่าง ๆ จำเป็นต้องถอยกลับ

และเมื่อเพลี่ยงพล้ำ ฝ่ายกบฏได้ใช้หัวรถจักรฮาโนแม็กเปล่า ๆ เบอร์ 277 พุ่งชนรถไฟของกองทัพรัฐบาล จนมีทหารบาดเจ็บล้มตายเป็นอันมากก่อนล่าถอยไปโคราช เช่น หลวงกาจสงคราม ก็หูขาดจากการครั้งนี้ โดยคนขับเป็นนายทหารหนุ่มชื่อ อรุณ บุนนาค ซึ่งต่อมาถูกจับและนำส่งตัวไปเกาะตะรุเตา

เมื่อประเมินกำลังการต่อสู้กับฝ่ายรัฐบาลแล้วเห็นว่าฝ่ายตรงข้ามมีกำลังเหนือกว่า เพราะโดนฝ่ายรัฐบาลสั่งให้เอานัดดินออกจากลูกกระสุนปืนใหญ่หมดไปก่อนหน้าที่จะก่อกบฏ พระองค์เจ้าบวรเดชก็สั่งให้ถอยทัพไปยึดช่องแคบสถานีปากช่อง เตรียมการต่อสู้กับรัฐบาลต่อไป ขณะที่เคลื่อนกำลังถอยไปนั้น ก็ได้ทำการระเบิดทำลายสะพานและทางรถไฟเสียหายหลายแห่ง เพื่อเป็นการประวิงเวลาการติดตามรุกไล่ของฝ่ายรัฐบาล

ฝ่ายปฏิวัติถูกกำลังฝ่ายรัฐบาลติดตามปราบปรามถึงสถานีหินลับ-ทับกวาง และปากช่อง ได้รับความเสียหายอย่างหนัก พระองค์เจ้าบวรเดชขึ้นเครื่องบินหนีออกนอกประเทศ และฝ่ายรัฐบาลสามารถปราบปรามฝ่ายปฏิวัติได้สำเร็จในที่สุด


ผลที่เกิดขึ้น

เหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้นายทหารฝ่ายกบฏ ได้แก่ นายพันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) ถูกยิงเสียชีวิตโดยทหารจากกองพันทหารราบที่ 6 นำโดยพันตรีหลวงวีรวัฒน์โยธา เมื่อ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2476 ส่วนพระองค์เจ้าบวรเดชหัวหน้าคณะกบฏและพระชายา ทรงขึ้นเครื่องบินเดินทางหนีไปยังประเทศกัมพูชา เมื่อ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2476 ขณะที่พระอนุชาของท่าน (หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร) ถูกทหารจับกุม

ภายหลังได้มีการตั้งศาลพิเศษ มีการคุมขังทหารและพลเรือนผู้เกี่ยวข้องกับการกบฏครั้งนี้นับร้อยคนที่เรือนจำบางขวาง แต่ที่ไม่มีการประหารชีวิต เพราะพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้สละราชสมบัติ ทำให้รัฐบาลต้องอภัยโทษให้บรรดาผู้รับโทษประหารชีวิตเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต และผู้ได้รับโทษจำคุกก็ได้รับการลดโทษตามลำดับขั้น

รัฐบาลได้จัดให้มีรัฐพิธีให้แก่ผู้เสียชีวิตทั้ง 17 คนคราวปราบกบฏบวรเดช โดยได้จัดสร้างเมรุชั่วคราว ณ ทุ่งพระเมรุ (สนามหลวง) ซึ่งเดิมรัชกาลที่ 7 ไม่ทรงยินยอมให้ใช้พื้นที่ทุ่งพระเมรุนี้ แต่ทางคณะราษฎรยืนยันที่จะสร้างเมรุชั่วคราวบนทุ่งพระเมรุ รัชกาลที่ 7 จึงต้องทรงยินยอม แต่ระบุถ้อยคำด้วยท่วงทำนองว่า "ไม่ได้เป็นพระราชประสงค์"[1] เมรุชั่วคราวอันนี้ถือเป็นเมรุสามัญชนครั้งแรกบนท้องสนามหลวง ซึ่งก่อนหน้านั้นจะใช้เป็นที่ประกอบพิธีสำหรับเจ้าเท่านั้น

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2479 ได้มีพิธีเปิดอนุสาวรีย์ปราบกบฎหรือ "อนุสาวรีย์พิทักษ์ธรรมนูญ" ที่บริเวณหลักสี่ บางเขน ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่สู้รบ เพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดชเพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญ แต่ปัจจุบันนิยมเรียกชื่อเพียงตามแหล่งที่ตั้งว่า "อนุสาวรีย์หลักสี่"[1]

พ.ศ. 2482 นักโทษการเมืองจำนวนหนึ่งจากเหตุการณ์กบฏบวรเดชนี้ พร้อมกับนักโทษการเมืองอีกจำนวนหนึ่งจากเหตุการณ์กบฏนายสิบ ถูกส่งไปกักบริเวณอยู่ที่อ่าวตะโละอุดัง นิคมฝึกอาชีพตะรุเตา เกาะตะรุเตา จังหวัดสตูล[3] ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติตะรุเตา

พ.ศ. 2487 ได้มีการปล่อยตัวบรรดาผู้ได้รับโทษกรณีกบฏบวรเดชทั้งหมดออกจากเรือนจำ

หลังจากปราบกบฏได้สำเร็จ ต่อมาวันที่ 12 มกราคม 2476 (ตอนนั้นเมษายังเป็นปีใหม่) ร.7 กับพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินีก็เสด็จราชดำเนินออกนอกประเทศเพื่อไปรักษาพระเนตร ณ อังกฤษ




จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


ดูเพิ่ม

- ลำดับเหตุการณ์คณะราษฎร ก่อนและหลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475

- พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช

- รัฐประหารในประเทศไทย มิถุนายน พ.ศ. 2476


อ้างอิง

1.0 1.1 ประชาไท, ชาตรี ประกิตนนทการ : สถาปัตย์คณะราษฎร บนพื้นที่ศักดิ์สิทธิแห่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (ย่อหน้า 3,) ประชาไท, 19 กันยายน พ.ศ. 2550 ^ ชาตรี ประกิตนนทการ, เมรุคราวกบฏบวรเดช: เมรุสามัญชนครั้งแรกกลางท้องสนามหลวง, ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 เม.ย.-มิ.ย. 2550, สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

1. ^ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, อุทยานแห่งชาติตะรุเตา, ข้อมูลท่องเที่ยวจังหวัดสตูล, เว็บไซต์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

- นายหนหวย (ศิลปชัย ชาญเฉลิม), เจ้าฟ้าประชาธิปก ราชันผู้นิราศ, โรงพิมพ์วัชรินทร์, 2530

- ม.จ. พูนพิศมัย ดิสกุล, สิ่งที่ข้าพเจ้าได้พบเห็น (ภาคต้น), สำนักพิมพ์มติชน, พ.ศ. 2543

- โพยม โรจนวิภาต (อ.ก. รุ่งแสง), พ. ๒๗ สายลับพระปกเกล้า พระปกเกล้าฯ (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒) พ.ศ. 2547


ดึงข้อมูลจาก "http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%9A%E0%B8%8F%E0%B8%9A%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%8A".หมวดหมู่: กบฏในประเทศไทย การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ประวัติศาสตร์ไทยสมัยรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2476หมวดหมู่ที่ซ่อนอยู่: บทความที่รอการตรวจสอบรูปแบบ




เรียบเรียงโดย : Thanawat


ที่มา : เวบบอร์ด"ฟ้าเดียวกัน" : กบฏบวรเดช, การต่อสู้ของระบบประชาธิปไตย ยกที่ 1 อ่านซะหนู PAD

17มีนา : วันสาธารณรัฐอังกฤษ


วันที่ 17 มีนาคม เป็นวันครบรอบ 360ปี แห่งการประกาศสาธารณรัฐในอังกฤษ ในวันนั้น ในปี 1649 ไม่กี่วันหลังจากที่จับกษัตริย์ชาร์ลสที่หนึ่งมาตัดหัว รัฐบาลสาธารณรัฐภายใต้แกนนำของประธานาธิบดี Oliver Cromwell แถลงว่า


“ตำแหน่งกษัตริย์เป็นสิ่งไม่จำเป็น เป็นภาระทางสังคม และเป็นภัยต่อเสรีภาพ ความปลอดภัย และผลประโยชน์ของประชาชน”


การประกาศสาธารณรัฐเกิดขึ้นหลังการปฏิวัติทุนนิยมและสงครามกลางเมือง ท่ามกลางการต่อสู้นี้ฝ่ายต้านกษัตริย์เริ่มเข้าใจว่าต้องประหารชีวิตกษัตริย์ เพราะเขาจะไม่ยอมเลิกสู้ถ้าปล่อยไป

นักเขียนคนสำคัญที่อธิบายเหตุผลและความชอบธรรมในการประหารกษัตริย์คือ John Milton ซึ่งเป็นคนที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการเขียนและการแสดงออกในยุคนั้น และต่อมาเขาได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศอังกฤษในสาธารณรัฐใหม่

แต่ฝ่ายสาธารณรัฐในการปฏิวัติทุนนิยมอังกฤษมีสองซีก คือซีกชนชั้นระดับกลางที่ประกอบไปด้วยนายทุนอย่าง Cromwell และซีกที่เป็นคนยากจน พวกหลังนี้จัดตั้งหลวมๆ ในองค์กรชื่อ Levellers ท่ามกลางการปฏิวัติจึงเกิดการถกเถียงว่าควรจะนำไปสู่ประชาธิปไตย “หนึ่งคนหนึ่งเสียง” หรือไม่ และควรแจกจ่ายที่ดินให้ทุกคนอย่างเท่าเทียมหรือไม่ ในที่สุดฝ่ายคนจนแพ้ และหลังจากที่ประธานาธิบดี Cromwell ตาย ฝ่ายนายทุนก็ได้นำกษัตริย์ชาร์ลส์ที่สองกลับมา แต่กลับมาในรูปแบบประมุขของนายทุน ทั้งนี้เพื่อยับยั้งการต่อสู้เพื่อคนจน

ประมาณหนึ่งร้อยปีต่อมาเกิดการปฏิวัติทุนนิยมในฝรั่งเศสในปี 1789 และกษัตริย์ฝรั่งเศสและราชวงศ์ถูกประหารหมด ด้านซ้ายของรัฐสภาใหม่เป็นที่นั่งของพวกที่เข้าข้างคนจน ส่วนซีกขวาของรัฐสภาเป็นที่นั่งของนายธนาคารและนายทุน ท่ามกลางกระแสการปฏิวัติ มีนักเขียนและนักเคลื่อนไหวชาวอังกฤษชื่อ ทอมมัส เพน เขียนหนังสือ The Rights of Man เพื่อยืนยันความสำคัญของสิทธิมนุษยชน และวิจารณ์ระบบกษัตริย์ที่ถ่ายทอดอำนาจทางสายเลือด

ทอมมัส เพน คือปัญญาชนของการปฏิวัติอเมริกา 1776 และมีส่วนร่วมในการปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 เขาเกิดในครอบครัวคนจนที่เมือง Thetford, Norfolk ในประเทศอังกฤษเมื่อปี 1737 เมื่อจบการศึกษาขณะที่อายุเพียง 13 ปี เพน ต้องออกไปทำงาน หนังสือเล่มแรกที่มีชื่อเสียงของ เพน คือ Common Sense (ปัญญาสามัญ” เขียนในปี 1776) ซึ่งเสนอเหตุผลว่าทำไมอเมริกาควรเป็นประเทศอิสระจากอังกฤษ ในไม่ช้าเล่มนี้กลายเป็นหนังสือสำคัญของการปฏิวัติอเมริกา

หนังสือ The Rights of Man (“สิทธิมนุษยชน”) เพน เขียนเป็นสองตอนระหว่างปี 1791-1792 หนังสือเล่มนี้เป็นการปกป้องความก้าวหน้าดีงามของการปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 เพื่อโต้ตอบคำวิพากษ์วิจารณ์ของนักเขียนปฏิกิริยาในอังกฤษชื่อ Edmund Burke หนังสือเล่มนี้กลายเป็นหนังสือต้องห้ามในอังกฤษ การทำให้เป็นหนังสือต้องห้ามโดยรัฐบาลอังกฤษมีผลทำให้ผู้รักความเป็นธรรมในขบวนการแรงงานอังกฤษและในสังคมทั่วไปพยายามแสวงหาเล่มนี้ กลุ่มผู้ใช้แรงงานบางคนจะแอบซื้อเล่มนี้ทั้งๆ ที่อ่านหนังสือไม่ออก แล้วจะตั้งวงเพื่อให้คนอื่นอ่านให้ฟัง

เพน เสนอในหนังสือ Rights of Man ว่า ในโลกเรามักพบสองรูปแบบของการปกครองคือ หนึ่ง การปกครองตามระบบเลือกตั้งและระบบผู้แทน ซึ่งเรียกว่าระบบสาธารณรัฐ และสอง การปกครองของผู้สืบทอดอำนาจทางสายเลือด ซึ่งเรียกกันว่าระบบกษัตริย์หรือขุนนาง การปกครองสองรูปแบบนี้ยืนอยู่บนพื้นฐานที่ตรงกันข้าม คือพื้นฐานการใช้สติปัญญากับพื้นฐานความโง่

เนื่องจากการบริหารสังคมต้องการความสามารถและฝีมือ และเนื่องจากความสามารถและฝีมือไม่สามารถสืบทอดผ่านสายเลือดได้ง่ายๆ เราจะเห็นได้ว่าระบบการปกครองที่อาศัยการสืบทอดสายเลือดมีความจำเป็นที่จะให้มนุษย์ยึดมั่นในความเชื่อที่ปราศจากการใช้สติปัญญา คือดำรงอยู่ได้ก็ต่อเมื่อมนุษย์จมอยู่กับความโง่ ดังนั้นเมืองไหนประเทศไหนเต็มไปด้วยความโง่ เมืองนั้นมีความเหมาะสมที่จะใช้ระบบสืบทอดการปกครองโดยสายเลือด แต่บรรยากาศของสาธารณรัฐย่อมนำไปสู่การพัฒนาความกล้าในการนึกคิดและกระทำที่ได้แต่สร้างศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

สำหรับ เพน การเสนอว่า "กษัตริย์ย่อมกระทำผิดมิได้" เป็นการผลักดันให้กษัตริย์ดำรงอยู่ในสถานภาพเช่นเดียวกับคนปัญญาอ่อน หรือคนบ้าที่ไร้สติ เพราะไม่สามารถรับผิดชอบกับสิ่งที่ตนกระทำได้ ระบบสืบทอดตำแหน่งทางสายเลือดเป็นระบบที่ลดคุณค่าของผู้ถือตำแหน่งเอง เพราะเป็นการเสนอว่าใครก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือคนปัญญาอ่อนสามารถทำหน้าที่นี้ได้ ถ้าเปรียบกับช่างซ่อมเครื่องจักรแล้ว การเป็นช่างย่อมใช้ความสามารถและฝีมือ แต่การเป็นกษัตริย์แค่อาศัยร่างสัตว์ชนิดหนึ่งที่เรียกว่ามนุษย์ (to be a King requires only the animal figure of man) ในที่สุดแนวความคิดแบบนี้ที่อาศัยความงมงายน่าจะดับสูญหายไปในยุคแห่งการใช้เหตุผล

เพน อธิบายอีกว่า ไม่มีสภาผู้แทนไหน กลุ่มคนใด หรือมนุษย์ในเมืองอะไร ที่มีสิทธิจะกำหนดหรือสั่งการในลักษณะการบังคับมัดสังคมชั่วนิรันดร์ตลอดกาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับวิธีการปกครอง หรือเกี่ยวกับว่าใครจะเป็นผู้ปกครอง ดังนั้นคำประกาศใดๆ หรือมาตรากฏหมายรัฐธรรมนูญใดๆ ย่อมไม่มีน้ำหนักและความชอบธรรมในเมื่ออาศัยสิทธิอันไม่ชอบธรรมดังกล่าวในการออกคำประกาศหรือกฏหมาย ทุกยุค ทุกรุ่น ต้องมีเสรีภาพในการปฏิบัติในทุกเรื่อง มนุษย์รุ่นหนึ่งไม่มีสิทธิ์ในการครอบครองชีวิตของคนรุ่นต่อไป คนที่มีชีวิตอยู่คือผู้ที่เราควรจะเคารพรับฟัง ไม่ใช่ซากศพคนรุ่นก่อน

เพน เสนอว่า การปฏิวัติฝรั่งเศส ไม่ใช่เป็นเพียงการกบฏต่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แต่เป็นการปฏิวัติล้มหลักการปกครองเผด็จการของกษัตริย์ หลักการนี้ไม่ได้เริ่มต้นที่กษัตริย์คนนี้หรอก มันมีมานาน และพวกกาฝากทั้งหลายที่ติดพันกับระบบนี้มีหนาแน่นเกินไปที่จะกำจัดออกไปโดยวิธีอื่นนอกจากการปฏิวัติสังคมอย่างถ้วนหน้า การที่กษัตริย์ฝรั่งเศสปัจจุบันไม่ได้ชั่วร้ายอะไรหนักหนาไม่สำคัญ เพราะการมีระบบเผด็จการของกษัตริย์ก็เป็นโอกาสสำหรับรัชกาลต่อไปที่อาจโหดร้ายกว่า ที่จะเถลิงอำนาจ การพึ่งพาตัวบุคคลที่อาจมีคุณธรรมไม่ใช่หลักประกันการปกครองที่เป็นธรรม เพราะการละเว้นการใช้อำนาจอย่างป่าเถื่อนของบุคคลคนหนึ่งไม่ใช่สิ่งเดียวกับการยกเลิกระบบเผด็จการ

บ่อยครั้งมีคนบ่นว่าการปฏิวัติเป็นเรื่องป่าเถื่อนนองเลือด หรือมีการลงโทษฝ่ายพ่ายแพ้อย่างรุนแรงเป็นต้น นอกจากเรื่องนี้ไม่จริงเสมอไปแล้ว เราต้องมาพิจารณาว่าทำไมมนุษย์ถึงเลือกใช้ความโหดร้ายในการลงโทษ คำตอบสั้นๆ คือเขาเรียนรู้จากผู้ที่ปกครองเขา ดังนั้นถ้าการกบฏใดมีความโหดร้ายทารุณมันเพียงแต่เป็นการสะท้อนความโหดร้ายทารุณของระบบที่เคยปกครองเขา เราควรนำขวานมาฟันรากและโคนของปัญหา เราต้องสอนหลักมนุษยธรรมกับรัฐบาล ลองคิดดูสิรัฐบาลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษหรือฝรั่งเศสล้วนแต่ใช้ความโหดร้ายในการประหารชีวิตคน ดังนั้นถ้าบ้านเมืองเรามีม็อบโหดร้ายป่าเถื่อนมันก็เพราะบ้านเมืองมีระบบการปกครองที่ปกพร่องโหดร้ายป่าเถื่อน แต่อย่าลืมว่าม็อบดังกล่าวเพียงแต่เป็นมวลชนผู้ตาม แต่การนำกระบวนการปฏิวัติส่วนใหญ่เต็มไปด้วยบุคคลที่มีความคิดก้าวหน้าเพื่อเสรีภาพและมนุษยธรรม

เพน เล่าต่อว่า ในอดีตมนุษย์มีลักษณะความเป็นมนุษย์อย่างเดียว ไม่มียศศักดิ์อะไรสูงหรือต่ำกว่านั้น ทุกทฤษฎีที่ว่าด้วยกำเนิดของมนุษย์ ไม่ว่าจะมาจากโลกที่มีการบันทึกด้วยลายลักษณ์อักษร หรือด้วยวาจา หรือไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการถูกสร้างขึ้นโดยพระเจ้าหรือเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ ทุกทฤษฎีมีจุดร่วมสำคัญอันหนึ่งคือ มีการมองว่ามนุษย์เป็นหนึ่งอันเดียวไม่แตกต่างกัน คือมนุษย์เกิดมาเท่าเทียมกัน ด้วยสิทธิตามธรรมชาติที่เท่าเทียมกัน ไม่มีมนุษย์ที่ไหนที่จะยอมอาสาเข้าไปร่วมในสังคมเพื่อที่จะมีฐานะเลวลงหรือมีสิทธิเสรีภาพน้อยกว่าสิทธิธรรมชาติอันนี้ การเข้าร่วมสังคมกระทำไปเพื่อให้มีการปกป้องสิทธิเสรีภาพธรรมชาติต่างหาก และสิทธิเสรีภาพธรรมชาติย่อมเป็นรากฐานของสิทธิพลเมืองในสังคม

ระบบขุนนางที่สืบทอดอำนาจหรือตำแหน่งทางสายเลือด ไม่ว่าจะในประเทศใด ล้วนแต่มีรากฐานมาจากการใช้กำลังทางทหารทั้งนั้น คือเป็นระบบเผด็จการทางทหารชนิดหนึ่งซึ่งจำเป็นต้องมีระบบสืบทอดอำนาจที่ชัดเจนและตัดส่วนแบ่งทางอำนาจจากสาขาต่างๆ หรือแขนงน้อยๆ ของครอบครัวเพื่อระดมอำนาจและทรัพย์สินไว้ส่วนกลาง กฎเกณฑ์ของระบบนี้ขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับกฎธรรมชาติ และธรรมชาติกำลังเรียกร้องให้เรากำจัดสิ่งเพี้ยนๆ นี้ออกไปเสียที

ในประเทศที่อ้างว่ามีอารยะธรรม เมื่อเราเห็นคนแก่คนชราถูกทอดทิ้ง และเยาวชนถูกประหารชีวิต เราต้องสรุปว่าระบบการปกครองของประเทศนั้นมีปัญหา จากเปลือกภายนอกของสังคมเหล่านั้นที่ดูสงบเรียบร้อย เมื่อเราเจาะลึกลงไปจะเห็นความยากไร้ที่ไม่เปิดโอกาสใดๆ ให้คนยากจนนอกเหนือจากการตายในสภาพแบบนั้นหรือการถูกลงโทษ การปกครองที่มีคุณธรรมไม่ใช่การปกครองที่อาศัยโทษประหาร การปกครองที่มีคุณธรรมต้องบริการเยาวชนให้มีโอกาสเต็มที่ในการศึกษา และต้องดูแลคนแก่คนชราของสังคม ทำไมผู้ถูกลงโทษด้วยการประหารชีวิตส่วนใหญ่เป็นคนจน? แค่ข้อมูลชิ้นนี้ชิ้นเดียวก็แสดงถึงความยากไร้ในสภาพชีวิตของเขา แน่นอนเขาก็ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมและระบบกฎหมายที่ป่าเถื่อน ในจำนวนเงินล้านๆ ที่ถูกนำมาใช้โดยรัฐบาล มีมากมายเหลือเฟือที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ที่ต้นเหตุเพื่อประโยชน์ของสังคม และเวลาเราพูดถึงปัญหาความยากจนแบบนี้เรากำลังพูดด้วยความห่วงใยเมตตาในเพื่อนมนุษย์และในเรื่องสิทธิมนุษยชน

ในการบริการสังคม เพน เสนอว่าเราต้องพูดถึงระบบการเก็บภาษี เวลาพูดถึงการเก็บภาษีคนส่วนใหญ่ชอบเสนอว่าควรเก็บภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย และการนิยามว่าอะไรฟุ่มเฟือย อะไรไม่ฟุ่มเฟือย ไม่ค่อยมีเหตุผลหรือระบบเท่าไรนัก แต่สิ่งหนึ่งที่น่าจะฟุ่มเฟือยอย่างชัดเจนคือการถือครองที่ดินขนาดใหญ่ ดังนั้นควรมีการเก็บภาษีที่ดินจากผู้มีที่ดินมหาศาลเป็นประการแรก หลังจากนั้นก็ต้องมีการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า และการลดการถ่ายทอดสินทรัพย์ผ่านมรดก

แนวความคิดดังกล่าวและการต่อสู้ของนักประชาธิปไตยอังกฤษ กลายเป็นหลักประกันสำคัญเพื่อไม่ให้กษัตริย์อังกฤษในยุคนี้ ยุ่งหรือถูกลากลงมายุ่ง ในเรื่องการเมือง...


ใจ อึ๊งภากรณ์
17 มีนาคม 2552


ที่มา : Thai E-News : 17มีนา:วันสาธารณรัฐอังกฤษ


หมายเหตุ

การเน้นข้อความ(บางส่วน)ทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

วันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2552

หรือประเทศไทยจะเกิดสงครามกลางเมือง : Is Thailand headed for civil war?



UPI Asia.com

Is Thailand headed for civil war?

By Frank G. Anderson

แปลและเรียบเรียง : chapter 11



หรือประเทศไทยจะเกิดสงครามกลางเมือง

นครราชสีมา ประเทศไทย - หรือประเทศไทยจะกำลังเข้าสู่สงครามกลางเมือง เป็นประเด็นที่อาจารย์ใจ อึ๊งภากรณ์ซึ่งได้หนึออกจากประเทศไทยได้เคยกล่าวไว้ และขณะนี้เขาอาศัยอย่างสุขสบายอยู่ในบ้านของเขาที่อังกฤษ ซึ่งล้อมรอบไปด้วยเพื่อนบ้านที่เป็นนักคิดอย่างมีอิสระ ซึ่งได้มีคนที่เป็นกังวลทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการกล่าวของเขา

อาจารย์ที่มีความคิดแนวสังคมนิยมได้หนีออกจากประเทศไทยเมื่อเดือนที่แล้ว เพียงก่อนหน้าที่เขาจะต้องไปแสดงตัวกับกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อรับแจ้งข้อกล่าวหา ว่าได้กระทำการละเมิดในคดีหมิ่นฯซึ่งถูกมองว่าเป็นการคุกคามความมั่นคงของชาติ แถลงการณ์ของใจเมื่อไม่นานมานี้ได้เรียกร้องให้กษัตริย์ “ควรให้เกียรติกับบทบาทในรัฐธรรมนูญ และควรหยุดก้าวก่ายกับการเมือง”

ขณะนี้ในประเทศ ได้มีการโหมโรงรณรงค์ต่อต้านการถกเถียง ในการที่จะโยงเอาเรื่องราชวงศ์อันเป็นที่รักไปเกี่ยวข้องกับการเมือง

เป็นเรื่องยากที่จะอธิบายถึงคำว่าสงครามกลางเมือง อาจารย์เจมส์ เฟียรอนจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และได้รับการยอมรับจากฮาร์เวิร์ด และคอร์เนล ซึ่งได้ให้นิยามของคำว่าสงครามกลางเมืองไว้ว่า


“เป็นการขัดแย้งกันอย่างรุนแรงภายในชาติเดียวกัน การจัดตั้งกลุ่มต่างๆที่มีจุดประสงค์เพื่อแย่งชิงอำนาจในส่วนกลาง หรือในส่วนภูมิภาค หรือเพื่อให้มีการเปลี่ยนนโยบายของรัฐบาล”


เฟียรอนได้เป็นผู้ร่วมเขียนกับนักวิชาการ เดวิด ดี ลาติน ในหนังสือปี ๒๕๔๖ ที่ชื่อว่า “เชื้อชาติ การจราจล และสงครามกลางเมือง” ประเด็นสำคัญในหนังสือบอกเอาไว้ว่า การที่จะเข้าใจถึงสงครามกลางเมืองก็คือ ต้องให้นิยามของการก่อความไม่สงบก่อน


ผู้เขียนทั้งสองอาจกล่าวได้ถูกต้อง โดยเฉพาะในประเทศไทยซึ่งปัจจุบันนี้มีการก่อความไม่สงบ ๒ แบบ

- แบบหนึ่งเป็นพวกแนวร่วมรบแบบเปิดตัว พบในทางภาคใต้ซึ่งเป็นที่ ที่มีชาวมุสลิมเป็นส่วนใหญ่

- อีกแบบหนึ่งเป็นการก่อความไม่สงบที่หนักไปในทางการเมืองและยากที่จะอธิบาย เป็นการคุกคามต่อโครงสร้างอำนาจแบบเก่าและระบบค่านิยมแบบเดิมๆ ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปจากคนรุ่นใหม่ๆก็ยิ่งมีพลังมากขี้น แต่คนเหล่านี้ก็ได้มีการขัดแย้งกันเองในระหว่างกลุ่ม ซึ่งมีเชื่อชาติ สัญชาติและฐานะทางการเมืองต่างกัน


เมื่ออาจารย์ใจ อึ๊งภากรณ์พูดเกี่ยวกับสงครามกลางเมืองในประเทศไทย ใจเหมือนจะพูดถึงแบบที่ใช้กำลังอาวุธที่มีความรุนแรงมากกว่า

มุมมองของการก่อความไม่สงบได้รวมถึงความขัดแย้งในด้านอื่นด้วย เช่น การขัดขืน การจราจล และภาวะที่คล้ายสงคราม ความขัดแย้งทั้งหมดนี้อาจจะเพิ่มมากขี้นหรือไม่ก็มาจากการร่วมมือกับภายนอก การเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจจะเริ่มมาจากความไม่พอใจและการได้รับความอยุติธรรมจากทางการเมือง ทางศาสนา ทางเศรษฐกิจ และทางเชื้อชาติ หรือเป็นการผสมของปัจจัยเหล่านี้ รวมถึงความยุ่งยากในการอยู่รวมกันทางสังคม

ดังนั้นการก่อความไม่สงบในประเทศไทยในทุกวันนี้ อาจจะมีลักษณะคล้ายกับความครุกรุ่นจากหลายชนชั้นทั่วประเทศ อาจรวมถึงคำถามที่ถูกถามจากพวกจารีตนิยม (Traditionists) นักปฎิรูป (Reformists) จากนักวิชาการ จากคนไทย และจากชาวต่างชาติ ซึ่งจะทำเป็นละเลยเสียไม่ได้ ไม่ว่าพวกเขาจะพยายามตั้งคำถามอย่างไร ความเปลี่ยนแปลงได้เกิดขี้นอย่างเห็นได้ชัดแล้วในสังคมไทย


การเปลี่ยนแปลงรวมถึง

การพร้อมที่จะก่อกวนเจ้าหน้าที่ที่อยู่ใกล้ๆ ทั้งคำพูดและความรุนแรงที่มีขอบเขต เช่นเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขี้นไม่กี่มาวันนี้ ที่รถของรัฐมนตรีถูกโยนระเบิดใส่(ไข่,รองเท้า,ขวดน้ำ เป็นต้น)

การรายงานข่าว และการวิเคราะห์ข่าวของสื่ออย่างน่าละอาย ขาดความซื่อตรง ขาดเนื้อหาในการวิเคราะห์ที่เป็นประโยชน์ และเต็มไปด้วยความเห็นและคำถามเพืยงแค่ “คำถามที่ปลอดภัย”

สังคมที่ขาดความสุขอย่างเห็นได้ชัด สังคมที่ถูกจำกัดอย่างต่อเนื่องจากธรรมเนียมปฎิบัติ และสังคมที่พยายามจะอดทนต่อผู้ที่มีสิทธิอย่างชอบธรรมในการพูดอะไรก็ได้ คำถามได้ถูกตั้งขี้นมาว่า อะไรคือคำว่าไทย ตัวอย่างเช่น คนไทยยังเป็นไทยไหมถ้าไม่เห็นด้วยกับการมีสถาบันกษัตริย์ คนไทยยังเป็นไทยไหมถ้ามีความเห็นด้วยกับชาวต่างชาติที่ส่งเสียงโต้แย้งต่อความคิดของฝ่ายขวาในประเทศไทย

มีความอิลักอิเหลื่อที่จะปรับปรุงหน่วยงานและกฎระเบียบต่างๆ ที่จะเป็นการนำไปสู่ความมีเสรีภาพและความเท่าเทียมกันในหมู่คนไทยด้วยกัน พวกกษัตริย์นิยม (Royalists) พวกกษัตริย์นิยมจอมปลอม (Pseudo-royalists) และผู้ที่สนับสนุนธรรมเนียมโบราณของไทย คนเหล่านี้ได้เป็นผู้ที่คอยขัดขวางต่อผู้ที่ผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะพวกเขาได้มองการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวว่า เป็นความผิดในการทำลายสถาบันที่ถูกต้องตามกฎหมายและทรงคุณค่า จากการที่พวกกษัตริย์นิยมและพวกนักเคลื่อนไหวหัวรุนแรงต่อต้านเสรีภาพในการพูดเหล่านี้ ได้ใช้วิธีการของกองทัพในการสอดแนมประชาชน เป็นเรื่องหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงในเรื่องที่ต้องการให้เปลี่ยนคงไม่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ

อาการโรคกลัวคนต่างชาติขี้นสมองได้แสดงให้เห็นได้ชัดอย่างต่อเนื่อง จากการออกข่าวอย่างเป็นทางการในการปกป้องและรักษาคุณค่าแห่งไทยและสถาบันต่างๆของไทย การกล่าวอ้างจากพวกต่อต้านการปฎิรูปรวมถึงความคิดที่ว่าคนไทยใดๆที่ฟังความคิดเห็นของต่างชาติ เป็นพวกที่โดนวางยาหรือพวกหลงผิด หรือพวกชาวต่างชาติเองนี่แหละที่จะเป็นพวกที่โจมตีสถาบันต่างๆของไทย โดยไม่ยอมทำความเข้าใจในความเป็นสถาบันต่างๆ และความสำคัญในการป้องกันสถาบันนั้น

ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย น่าประหลาดมากที่ในบางเรื่องไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากเหมือนกับที่ได้ประกาศไว้ สิ่งที่ทำให้นักวิเคราะห์ทางการเมืองต้องช็อคมากสุด คือความจริงที่ว่าประเทศไทยได้มีการนำเอากำลังของกองทัพ เช่นเดียวกับ “ประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นมิตรต่อกัน” คือ ประเทศพม่า ลาว และกัมพูชากระทำกัน เพื่อสอดแนมประชาชน เพื่อให้แน่ใจว่าประชาชนจะไม่เป็นตัวอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ

นี่ไม่เพียงแต่เป็นการปฎิบัติการในทางที่ผิด แต่เป็นการก้าวเข้าไปสู่สงครามกลางเมือง ที่ประชาชนได้ถึงที่สุดแล้วกับการถูกยัดเยียด

ประเด็นหลักของความพยายามของรัฐบาลไทยในการกำจัดเสรีภาพในการพูด ก็เนื่องมาจากความหวาดกลัวของความคิดเห็นที่แตกต่างกับตัวเองอาจจะได้ผล และถ้าเป็นแบบนั้น วิธีการเก่าๆที่ตัวเองใช้อยู่ก็ต้องหลีกทางออกไป


Frank G. Anderson

(แฟรงค์ จี แอนเดอร์สัน เป็นตัวแทนของชาวอเมริกาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย แอนเดอร์สันเคยทำงานอาสาสมัครพีซคอของอเมริกาในด้านการพัฒนาชุมชุมในประเทศไทยตั้งแต่ปี ๒๔๙๙-๒๕๑๐ เป็นนักเขียนอิสระและเป็นผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษแห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยเป็นคนแรกคือ “โคราชโพสต์ http://www.thekoratpost.com/” เขาได้ใช้เวลาอยู่ในประเทศไทยถึง ๗ ปี คลุกคลีกับสื่อท้องถิ่น เขาได้ปริญญาโทในสาขาการจัดการเรื่องข่าวสาร และได้อนุปริญญาในสาขาเทคโนโลยี่การก่อสร้าง)


ที่มา : Liberal Thai : หรือประเทศไทยจะเกิดสงครามกลางเมือง

ข้อกล่าวหา หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และคำโต้ตอบของ ร.ศ. ใจ อึ๊งภากรณ์



ผมไม่หนีคดี ผมท้ารัฐบาลโต้ตอบผม!


ขอประกาศให้สังคมทราบว่าผมไม่ได้หนีคดี ผมมาอยู่ที่อังกฤษเพื่อมีสิทธิเสรีภาพที่จะโต้ตอบข้อกล่าวหาอย่างตรงไปตรงมาและเปิดเผย ซึ่งผมทำไม่ได้ในประเทศไทย เนื่องจากไทยไม่มีประชาธิปไตยและความยุติธรรม

ผมท้าให้ทางฝ่ายรัฐบาลไทย ทหาร หรือศาล อธิบายเหตุผลว่าทำไมคำโต้ตอบคดีของผมข้างล่างนี้ “ฟังไม่ขึ้น” และทำไมต้องดำเนินคดีกับผมต่อไปและออกหมายจับ


ผมท้าให้สื่อกระแสหลักในไทยพิมพ์ข้อโต้ตอบของผมทั้งหมดและความเห็นของศาลและรัฐบาล เพื่อ “พิสูจน์” ว่ามีความโปร่งใสในสังคม เพราะถ้าสิ่งเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นก็เท่ากับเป็นยืนยันว่าไทยขาดระบบยุติธรรม


หนังสือวิชาการ A Coup for the Rich เป็นหนังสือที่วิจารณ์การทำรัฐประหาร ๑๙ กันยา โดยที่ผมเสนอว่ารัฐประหารขาดความชอบธรรม และเป็นการทำลายประชาธิปไตย โดยกลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่มในสังคมไทยที่ไม่ใช่สถาบันกษัตริย์ แต่กลุ่มเหล่านี้ที่นำโดยทหาร คมช. ซึ่งยึดอำนาจ ได้ลากสถาบันกษัตริย์ ซึ่งควรจะอยู่เหนือการเมือง เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรง เพราะทหารเผด็จการอ้างความชอบธรรมจากสถาบันนี้มาอย่างต่อเนื่อง การกระทำของทหารในครั้งนั้น และการดำเนินคดีหมิ่นเดชานุภาพฯ กับผู้ที่คัดค้านรัฐประหาร โดยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์และทหารบางส่วน ได้สร้างภาพว่าสถาบันกษัตริย์ริเริ่ม หนุนหลัง และเป็นพลังสำคัญในการทำลายประชาธิปไตย ภาพนี้อาจไม่ตรงกับความจริงทั้งหมด แต่ก็ได้ก่อให้เกิดความไม่พอใจกับปวงชนชาวไทยจำนวนมาก และได้นำสถาบันกษัตริย์เข้าสู่วิกฤตทางการเมืองอันใหญ่หลวง

อย่างไรก็ตาม กษัตริย์ไม่ได้วิจารณ์ทหารผู้ทำรัฐประหารแต่อย่างใด และไม่เคยออกมาปกป้องประชาธิปไตยหรือรัฐธรรมนูญ และราชินีได้ออกมาเลือกข้างสนับสนุนพันธมิตรอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดต่อหลักประชาธิปไตยสากล ทั้งหมดนี้นำไปสู่กระแสที่เรียกร้องให้กษัตริย์แยกตัวออกจากการเมือง หรือให้ประเทศไทยเป็นสาธารณรัฐ

หนังสือวิชาการ A Coup for the Rich พยายามที่จะอธิบายว่าทำไม ความจริงซับซ้อนกว่า และไม่ตรงกับภาพเท็จว่าสถาบันกษัตริย์ริเริ่ม หนุนหลัง และเป็นพลังสำคัญในการทำลายประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่พระมหากษัตริย์ลงพระบรมาภิไธยแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีเผด็จการ ส่งผู้แทนไปเปิดรัฐสภาที่ทหารแต่งตั้ง และกล่าวคำชมนายกรัฐมนตรี ประเด็นสำคัญคือทหารและฝ่ายเผด็จการ ไม่ได้ให้ทางเลือกอื่นต่อสถาบันกษัตริย์ หรือเป็นไปได้ว่ากษัตริย์ยินดีที่จะเลือกทำ ซึ่งการกระทำนี้ได้สร้างความแตกแยกอย่างรุนแรงในสังคมไทย ตรงนี้ทำให้เราเห็นว่าการมีสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทย ในรูปแบบนี้ ไม่ได้ปกป้องเสถียรภาพของสังคมและความสงบของชีวิตพลเมืองแต่อย่างใด

ในการถกเถียงกับนักวิชาการกระแสหลักที่เชื่อว่าสถาบันกษัตริย์มีอำนาจสูงและ“หนุนหลัง”รัฐประหาร เราต้องเริ่มจากการยอมรับภาพที่ออกมา เช่นการลงพระบรมาภิไธย และการไม่ตักเตือนผู้ทำรัฐประหาร แล้วค่อยๆ อธิบายต่อไปว่าภาพดังกล่าวไม่ได้หมายความว่ากษัตริย์มีอำนาจและเสรีภาพเต็มที่ นี่คือสิ่งที่ผมอธิบายในหนังสือเล่มนี้ทั้งเล่ม ถ้าจะเข้าใจ ต้องอ่านเนื้อหาทั้งเล่ม ไม่ใช่หยิบยกบางท่อนมาตามลำพังในลักษณะแยกส่วน อย่างที่ตำรวจเสนอ

การกล่าวหาผมว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นการทำลายสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ และสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย

ผมปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวโดยสิ้นเชิง



ขอตอบข้อกล่าวหา จากแต่ละท่อนใน
หนังสือ A Coup for the Rich ที่รัฐบาลอ้างว่าหมิ่นกษัตริย์

ผมเขียนว่า…

1.
“กลุ่มพลังหลักที่อยู่เบื้องหลังรัฐประหาร 19 กันยา ประกอบไปด้วย กลุ่มที่ไม่พอใจกับประชาธิปไตยในกองทัพและหมู่ข้าราชการชั้นสูง นักธุรกิจที่โกรธทักษิณ และปัญญาชนกับนักการเมืองเสรีนิยม การทำรัฐประหารได้รับความเห็นชอบจากกษัตริย์ด้วย กลุ่มพลังที่อยู่เบื้องหลังรัฐประหารมีจุดร่วมในการดูถูกและเกลียดชังคนจน สำหรับเขา การมีประชาธิปไตย “มากไป” ให้อำนาจ“มากเกินไป”กับคนจนที่ลงคะแนนเสียง และส่งเสริมให้รัฐบาลใช้เงินอย่างไม่ระมัดระวังในการให้สวัสดิการ สำหรับคนเหล่านี้ประเทศไทยแบ่งแยกระหว่าง “ชนชั้นกลางที่มีจิตสำนึกประชาธิปไตย” และ “คนจนในชนบทและเมืองที่โง่และขาดความรู้” แต่ความจริงตรงกันข้าม คนจนเข้าใจและสนับสนุนประชาธิปไตย ในขณะที่คนที่ใครๆ เรียกว่าเป็นคนชั้นกลางใช้ทุกวิถีทางที่จะปกป้องอภิสิทธิ์”

เป็นความจริง และเป็นข้อมูลสาธารณะที่รับรู้ทั่วไปในสังคมไทยอย่างเปิดเผย ไม่มีการใช้ข่าวลือและไม่ได้นินทาใคร ย่อหน้านี้พยายามริเริ่มการแยกกลุ่มพลังที่อยู่เบื้องหลังรัฐประหาร ออกจากสถาบันกษัตริย์ที่เพียงแต่มีภาพว่า “เห็นชอบ” กับการกระทำของทหารที่ทำลายประชาธิปไตย เนื่องจากมีการลงพระบรมาภิไธยแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีเผด็จการ


2.
“คณะทหารอ้างว่าแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี “พลเรือน” นักวิจารณ์ในสังคมวิ่งไปชื่นชมพลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ โดยเสนอว่าเขาเป็น “คนดีที่มีศีลธรรม” ในความเป็นจริง สุรยุทธ เมื่อรับราชการทหารในปี ๒๕๓๕ มีส่วนที่ต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์นองเลือดที่ทหารกระทำต่อผู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่ไร้อาวุธ[1] เพราะได้นำกองกำลังทหาร 16 คนบุกเข้าไปในโรงแรมรัตนโกสิน ในขณะนั้นโรงแรมถูกใช้เป็นโรงพยาบาลสนาม และทหารของสุรยุทธได้ตีและเตะประชาชน ภาพข่าวจากช่องโทรทัศน์ BBC และ CNN แสดงให้เห็นว่าทหารเดินบนร่างประชาชนที่ถูกสั่งให้นอนลงกับพื้น [2] สามเดือนหลังจากรัฐประหาร 19 กันยาในหลวงได้ชมนายกสุรยุทธในคำปราศรัยเนื่องในวันเฉลิมฯ”

ข้อความในย่อหน้านี้ล้วนแต่เป็นความจริงที่ปรากฏในข่าว และมีหลักฐานรองรับทั้งสิ้น ถ้าการพูดความจริงเป็นการหมิ่นใคร สังคมย่อมเป็นสังคมแห่งการโกหก


3.
“สมาชิกสภาที่แต่งตั้งโดยทหารหลังรัฐประหาร ได้รับเงินเดือนและเงินค่าต่างๆ 140,000บาท ในขณะที่กรรมกรส่วนใหญ่รับค่าจ้างขั้นต่ำเพียงเดือนละ 5000 บาท และเกษตรกรจำนวนมาได้น้อยกว่านี้ พวกส.ส.เหล่านี้ได้เงินเดือนจากที่อื่นอีกด้วย รัฐบาลอ้างว่าใช้เศรษฐกิจพอเพียงของกษัตริย์ และพูดว่าเราต้องไม่โลภมาก ดูเหมือนทุกคนต้องพึงพอใจกับระดับพอเพียงของตนเอง เราอาจคิดไปว่า จอร์ช ออร์เวล คงจะเสนอว่า “บางคนพอเพียงมากกว่าผู้อื่น” สำหรับพระราชวัง ความพอเพียงหมายถึงการมีหลายๆ วัง และบริษัททุนนิยมขนาดใหญ่เช่นธนาคารไทยพาณิชย์ สำหรับทหารเผด็จการความพอเพียงหมายถึงเงินเดือนสูง และสำหรับเกษตรกรยากจนหมายถึงการเลี้ยงชีพด้วยความยากลำบากโดยไม่มีการลงทุนในระบบเกษตรสมัยใหม่ รัฐมนตรีคลังเสนอว่าเศรษฐกิจพอเพียงคือการ “ไม่มากไปหรือน้อยไป” คือให้พอดีนั้นเอง เราคงไม่แปลกใจที่ พอล์ แฮนลี่ เสนอว่าเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่ทฤษฏีเศรษฐกิจจริง[3] นอกจากนี้ คมช. ได้ยุบศูนย์ลดความยากจนของรัฐบาลทักษิณ และย้ายไปภายใต้ กรอมน.เพื่อเป็นศูนย์ส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียง[4]

ย่อหน้านี้เป็นรายงานความจริงที่ทุกคนในสังคมรับทราบ และเป็นการวิจารณ์นโยบายสองมาตรฐานของรัฐบาล คมช. และชี้ให้เห็นถึงท่าทีต่อคนจน นอกจากนี้เป็นการอธิบายเกริ่นนำเรื่องปัญหาของเศรษฐกิจพอเพียง การวิจารณ์และทำความเข้าใจกับนโยบายเศรษฐกิจต่างๆ เป็นภาระหน้าที่ปกติของนักวิชาการที่สอนเศรษฐศาสตร์การเมืองอย่างผม และกษัตริย์ได้เคยอธิบายว่าเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่การทำให้ทุกคนเท่าเทียมกัน แต่เป็นการปรับตัวของประชาชนให้เหมาะสมกับสถานภาพของแต่ละคน ที่แตกต่างกัน


4.
“เราไม่ควรรีบสรุปว่าเครือข่ายทหาร-พลเรือนที่ต้านทักษิณเป็นเครือข่ายภายใต้อำนาจของกษัตริย์ ทั้งๆ ที่อาจมีสายสัมพันธ์กับพระราชวังบ้าง แต่ พอล์ แฮนลี่ เสนอว่ากษัตริย์มีอำนาจมากที่สุดในสังคมและต้องการย้อนกลับไปสู่กษัตริย์ธรรมราชาแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์[5] แฮนลี่ เสนออีกว่าทักษิณกำลังท้าทายกษัตริย์เพื่อหวังเป็นประธานาธิบดี แต่ไม่มีหลักฐานอะไรเลยที่สนับสนุนข้อเสนอเหล่านี้ แท้จริงแล้วในหนังสือของแฮนลี่กลับมีข้อมูลมากมายที่เสนอว่ากษัตริย์มีอำนาจจำกัด อย่างไรก็ตามความเชื่อของแฮนลี่ว่ารัฐประหาร 19 กันยา เป็น “รัฐประหารของพระราชวัง” สะท้อนความเชื่อของคนจำนวนมากในสังคมไทย”

ย่อหน้านี้เป็นการพยายามถกเถียงกับจุดยืนของนักวิชาการกระแสหลักที่เชื่อว่ากษัตริย์ไทยมีอำนาจมากกว่าคนอื่นในสังคม และเป็นการเถียงกับผู้ที่มองว่ารัฐประหารและวิกฤตการเมือง มาจากความขัดแย้งระหว่างพระราชวังกับทักษิณ เป็นข้อเสนอที่มาจากการพิจารณาข้อมูลความจริง และเป็นข้อเสนอที่มองว่ากษัตริย์ไทยไม่ใช่กษัตริย์ในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์


ดังนั้นการกล่าวหาผมว่าย่อหน้านี้หมิ่นกษัตริย์จึงเป็นความพยายามที่จะเสนอว่ามุมมอง พอล์ แฮนลี่ ถูกต้องและเราอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์


5.
“สถาบันกษัตริย์ในรอบ150 ปีที่ผ่านมา ได้พิสูจน์ว่ามีความสามารถอย่างน่าทึ่งในการปรับตัวกับทุกสถานการณ์ และสามารถทำแนวร่วมกับกลุ่มต่างๆ ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการทหารหรือรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ประมุขอาจวิจารณ์รัฐบาลทักษิณบ้างอย่างอ่อนโยน แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นธนาคารหลวง จะไม่หาทุนมาเพื่อให้ Temasek ซื้อ Shin Corporation ของทักษิณ[6] นอกจากนี้เราไม่ควรมั่นใจเชื่อว่าทักษิณ หรือ ไทยรักไทย ต้านระบอบกษัตริย์แต่อย่างใด ในรอบ 300 ปีที่ผ่านมา ชนชั้นนายทุนในหลายประเทศ ได้เรียนรู้ว่าสถาบันกษัตริย์อนุรักษ์นิยม ช่วยปกป้องสภาพความเป็นอยู่ของสังคมภายใต้ระบบทุนนิยม และผลประโยชน์ทางชนชั้นของชนชั้นนายทุนอีกด้วย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ชัดเจนคือกษัตริย์ไทยสบายใจกับเผด็จการทหารมากกว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้ง นั้นช่วยอธิบายว่าทำไมประมุขสนับสนุนรัฐประหาร 19 กันยา”

ภาระของสถาบันกษัตริย์ที่ครองราชย์มายาวนาน คือการปรับตัวให้เข้ากับรูปแบบการปกครองที่หลากหลายที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ไทย การเสนอสิ่งนี้เป็นการหมิ่นได้อย่างไร ผมอธิบายต่อไปเพื่อโต้ตอบคนที่เชื่อว่าความขัดแย้งหลักเป็นความขัดแย้งระหว่างทักษิณกับวัง โดยชี้ให้เห็นข้อมูลความจริงที่สาธารณะชนรับทราบอยู่แล้วว่าธนาคารไทยพาณิชย์มีส่วนในการขายหุ้น Shin Corporation ซึ่งไม่ได้หมายความว่ากษัตริย์ขัดแย้งหรือเห็นชอบกับทักษิณแต่อย่างใด

ในรอบ 60 ปีที่ผ่านมา กษัตริย์ไทยอยู่กับรัฐบาลทหารหลายปี โดยที่ไม่เคยออกมาคัดค้านหรือวิจารณ์รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และเป็นที่ยอมรับโดยนักประวัติศาสตร์ว่ากษัตริย์เคยใกล้ชิดกับจอมพลสฤษดิ์ ในอดีต แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่ากษัตริย์คัดค้านประชาธิปไตยในทุกยุคทุกสมัย

ทั้งหมดไม่ใช่การหมิ่นกษัตริย์แต่เป็นการเสนอความจริงในลักษณะมุมมองวิชาการ


6.
“ในเดือนเมษายน ๒๕๔๙ ในหลวงเสนอว่า “ขอยืนยันว่ามาตรา 7 ไม่ได้หมายถึง มอบให้พระมหากษัตริย์ มีอำนาจที่จะทำอะไรตามชอบใจ ไม่ใช่ มาตรา 7 พูดถึงการปกครองแบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ได้บอกว่า ให้พระมหากษัตริย์ตัดสินใจทำได้ทุกอย่าง ถ้าทำเขาก็จะต้องว่าพระมหากษัตริย์ทำเกินหน้าที่ ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยขอ ไม่เคยทำเกินหน้าที่ ถ้าทำเกินหน้าที่ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย” [7] แต่พอถึงกันยายน หรืออย่างแน่นอนในเดือนธันวาคม ในหลวงสนับสนุนรัฐประหารอย่างเปิดเผย”

ย่อหน้านี้เป็นการเสนอความจริงที่สาธารณะชนรับรู้ ไม่มีใครถกเถียงว่าไม่จริง ดังนั้นผู้ที่กล่าวหาผมว่าหมิ่นเบื้องสูงกำลังเสนอว่าการพูดความจริงเป็นสิ่งที่ผิดในสังคมไทย เรามาโกหกกันดีกว่า ยิ่งกว่านั้นย่อหน้านี้แสดงให้เห็นถึงความยากลำบากของการทำงานของประมุข และเป็นสิ่งที่อาจนำมาตั้งคำถามกับข้ออ้างของทหาร คมช. ว่าทำ “รัฐประหารหลวง”


7.
“ดังนั้นคำถามสำคัญเกี่ยวกับรัฐประหาร 19 กันยา คือ ประมุขไทยพยายามปกป้องระบบประชาธิปไตยจากการทำรัฐประหารที่ฉีกรัฐธรรมนูญหรือไม่? ประมุขไทยถูกบังคับ? หรือเต็มใจ? ในการสนับสนุนคณะทหารที่ทำรัฐประหาร? หรือประมุขวางแผนทำรัฐประหารเองตามที่หลายคนเชื่อ? คำถามนี้สำคัญ เพราะคณะทหารที่ทำการรัฐประหารและทำลายประชาธิปไตยได้อ้างอิงความชอบธรรมจากประมุขตลอด เช่นการเปิดภาพประมุขในจอโทรทัศน์อย่างต่อเนื่องในวันแรก การผูกโบสีเหลืองบนปืนและเครื่องแบบ และการเชิญผู้แทนของประมุขไปเปิดสภาเผด็จการที่ทหารแต่งตั้งเป็นต้น ต่อมาในวันเฉลิมฯ กษัตริย์ได้ออกมาชมนายกรัฐมนตรีทหาร เราควรได้รับข้อมูลและความจริง เพื่อความโป่รงใสและเพื่อให้ประชาสังคมได้ตรวจสอบทุกองค์กรและสถาบันสำคัญๆ ในสังคม อย่าลืมว่าองค์กรหรือสถาบันใดที่ปฏิเสธการยอมสร้างความโป่รงใส ย่อมมีผลประโยชน์ทับซ้อนที่ต้องการปกปิดจากการตรวจสอบเสมอ”

ย่อหน้านี้เป็นการสรุปประเด็นคำถามต่อภาพที่ทหารสร้าง ที่อ้างว่าสถาบันกษัตริย์ริเริ่ม หนุนหลัง และเป็นพลังสำคัญในการทำลายประชาธิปไตย ย่อหน้านี้ท้าทายความชอบธรรมของรัฐประหาร และถ้าสร้างความไม่พอใจกับทหารบางกลุ่มหรือรัฐบาล ก็เพราะเป็นการโจมตีเขา ไม่ใช่การโจมตีหรือหมิ่นกษัตริย์แต่อย่างใด อย่างไรก็ตามย่อหน้านี้ชี้ให้เห็นว่าการเป็นประมุขในระบบประชาธิปไตยมีหน้าที่ด้วย และตั้งคำถามว่ากษัตริย์ไทยทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ การตั้งคำถามแบบนี้อันตรายสำหรับพวกเผด็จการ แต่เป็นคำถามที่จำเป็นสำหรับการปกป้องประชาธิปไตย


8.
“ในช่วงแรกของการขึ้นครองราชย์ รัชกาลที่ ๙ มีอายุอ่อนและไม่ได้เตรียมตัวที่จะเป็นกษัตริย์ การขึ้นมาเป็นกษัตริย์มาจากอุบัติเหตุที่เกิดกับพี่ชาย ยิ่งกว่านั้นรัฐบาลไทยสมัยนั้น โดยเฉพาะรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม เป็นรัฐบาลที่ต่อต้านระบบกษัตริย์ ดังนั้นการทำหน้าที่ในการเป็นประมุขของรัชกาลที่ ๙ ในช่วงแรกๆ ย่อมยากลำบาก สภาพเช่นนี้สามารถช่วยอธิบายได้ว่า ทำไมประมุขไทยแสดงความเชื่อมั่นและสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลเผด็จการทหารของจอมพลสฤษดิ์ ที่เริ่มเชิดชู โปรโหมด และเคารพสถาบันกษัตริย์[8] แต่เวลาผ่านไปหลายปี ฐานะและประสบการณ์ของประมุขได้เปลี่ยนไป มีประสบการณ์ทางการเมืองมากมาย มากกว่านักการเมืองทุกคน เพราะดำรงตำแหน่งมานานกว่าทุกคน คำถามสำคัญสำหรับวันนี้คือ ในเมื่อประมุขเคยตักเตือนรัฐบาลทักษิณเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสงครามยาเสพติด[9] ทำไมไม่ตักเตือนทหารที่ก่อรัฐประหาร และละเมิดสิทธิเสรีภาพทางประชาธิปไตยทั้งหมดไม่ได้?

ประเด็นหลักของย่อหน้านี้คือการตั้งคำถามว่าทำไมไม่มีการตัดเตือนทหารที่ทำลายประชาธิปไตย ซึ่งเป็นคำถามที่พลเมืองไทยยังรอคำตอบอยู่


ร.ศ. ใจ อึ๊งภากรณ์
March 25, 2009


[1] Kevin Hewison (2006) “General Surayud Chulanon: a man and his contradictions”. Carolina Asia Center, University of North Carolina at Chapel Hill.

[2] สุรยุทธ สารภาพ Thai Post 22 June 2000.

[3] Paul Handley (2006) The King Never Smiles. Yale University Press, page 415.

[4] Bangkok Post 4 January 2007.

[5] อ้างอิงหนังสือของ Paul Handley (The King Never Smiles)

[6] Bangkok Post 24/01/06.

[7] นสพ มติชน ๒๖เมษายน ๔๙ - มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญปี ๔๐ ระบุว่าในวิกฤตประมุขสามารถแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี แต่ถึงแม้ว่านั้นคือข้อเรียกร้องของพันธมิตรฯ ในปี ๒๕๔๙ แต่มีการถกเถียงกันว่ายุคหลังการเลือกตั้งเมษายนปี ๒๕๔๙ เป็นเวลาที่เหมาะสมกับการใช้มาตรา 7 หรือไม่

[8] Thak Chaloemtiarana (1979) Thailand: the politics of despotic paternalism. Social Science Association of Thailand and Thai Khadi Institute, Thammasat University. P. 309. หนังสือ อาจารย์ ทักษ์ เฉลิมเตียรณ “การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ”

[9] ในเดือนธันวาคม 2546 ในหลวงเสนอให้รัฐบาลตรวจสอบคดีฆาตกรรมวิสามัญ 2,245 รายในสงครามยาเสพติด


ที่มา : redsiam.wordpress : ผมไม่หนีคดี ผมท้ารัฐบาลโต้ตอบผม!

ความรักชาติ (Patriotism)



“ความรักชาติ คือการสนับสนุนประเทศของเราตลอดเวลา และสนับสนุนรัฐบาลของท่านเมื่อรัฐบาลนั้นสมควรได้รับการสนับสนุน
(Patriotism is supporting your country all the time and your government when it deserves.)

มาร์ก ทเวน/นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ชาวอเมริกัน


ในประวัติศาสตร์การเมืองของไทยเราอาวุธที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดที่ใช้ทำลายฝ่ายตรงข้ามก็คือการโจมตีฝ่ายตรงข้ามว่าไม่รักชาติ ทั้งๆที่ความหมายหรือนิยามของคำว่า ความรักชาตินั้นยังไม่เคยมีการอรรถาธิบายให้ชัดเจนว่าอย่างไรถึงจะเรียกว่าความรักชาติ อย่างไรถึงจะเรียกว่าความไม่รักชาติ

ความรักชาติของไทยเรานั้นได้ถูกผูกขาดโดยรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐมาโดยตลอด นับแต่สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่มีการปลูกฝังอุดมการณ์ชาตินิยมควบคู่ไปกับ การโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองที่ว่า “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” หรือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ว่า “ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว”ซึ่งในที่สุดก็พิสูจน์แล้วว่าไม่จริง

ความรักชาติถูกผูกขาดโดยคนบางกลุ่มบางเหล่ามาโดยตลอดว่าเป็นผู้ที่มี ความรักชาติมากกว่าคนกลุ่มอื่น ซึ่งน่าแปลกที่จำนวนคดีผู้ที่ถูกลงโทษในข้อหาคอร์รัปชันไม่ว่าจะเป็นโทษทางอาญาหรือโทษทางวินัยกลับเกิดในคนกลุ่มต่างๆเหล่านั้นมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ดังปรากฏข่าวคราวมาโดยตลอด จึงควรที่เราจะต้องมาพิจารณาว่าอย่างไรจึงจะเป็นความรักชาติที่แท้จริง

ความรักชาตินั้นเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมทางการเมือง(political culture) ซึ่งในแต่ละสังคมนั้นจะถูกกำหนดขึ้นหรือได้รับอิทธิพลจากสภาวะแวดล้อมหลายประการ เช่น ประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียม ประเพณี ศาสนา ฯลฯ โดยผ่านกระบวนการ ขัดเกลาทางสังคม(political socialization) โดยสถาบันต่างๆ เพื่อจะถ่ายทอดวัฒนธรรมทางการเมืองจากรุ่นหนึ่งไปสู่รุ่นหนึ่งอย่างต่อเนื่องและมีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงให้ เข้ากับสภาวะแวดล้อมต่างๆเสมอ


ประเภทของวัฒนธรรมทางการเมือง

1) แบบจำกัดวงแคบ(parochial political culture) คือ วัฒนธรรมทางการเมืองแบบดั้งเดิมที่บุคคลไม่รู้และไม่สนใจการเมือง และไม่คิดว่าจะได้รับผลกระทบ จากการเมือง คนที่มีความคิดทางการเมืองแบบนี้จึงไม่คิดว่าจะเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง ทำให้ประชาชนมีสำนึกทางการเมืองต่ำ ขาดการมีส่วนร่วมทางการเมือง

2) แบบไพร่ฟ้า(subject political culture) คือ วัฒนธรรมทางการเมืองที่บุคคลสนใจและเข้าใจการเมืองบ้าง แต่อยู่ในในลักษณะที่เป็นการยอมรับอำนาจของผู้ปกครอง ดังนั้น จึงไม่สนใจที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองเช่นกัน

3) แบบมีส่วนร่วม(participant political culture) คือ วัฒนธรรมทางการเมืองที่บุคคลสนใจการเมืองและตระหนักว่าการเมืองมีผลกระทบต่อชีวิตเขาทุกในด้าน พวกเขาจึงกระตือรือร้นที่จะเข้ามามีกิจกรรมทางการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ


ประเทศไทยเราอยู่ในกระแสแห่งการเปลี่ยนผ่านจากเดิมที่คนไทยเรามีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบดั้งเดิมที่จำกัดวงแคบในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่วัฒนธรรมทางการเมืองแบบไพร่ฟ้า ซึ่งถูกครอบงำด้วยข้าราชการและทหารติดต่อกันมาตั้งแต่สมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มาโดยตลอด แม้ว่าจะมีการวิวัฒนาการไปสู่วัฒนธรรม ทางการเมืองแบบมีส่วนร่วมตามรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่ก็ต้องสะดุดด้วยการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงของชุมชนชนบทที่ถูกกระแสของวิวัฒนาการของวัฒนธรรมทางการเมืองของเมืองใหญ่ด้วยการสื่อสาร และการกลับไปรับใช้สังคมบ้านเกิด ทำให้วัฒนธรรมทางการเมืองในชนบทเกิดการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น วัฒนธรรมทางการเมือง แบบดั้งเดิมและแบบไพร่ฟ้าของไทยไม่สามารถอยู่รอดได้ และต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่วัฒนธรรมทางการเมืองแบบมีส่วนร่วมในที่สุด

ฉะนั้น ความรักชาติซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมทางการเมืองก็ต้องมี การวิวัฒนาการจากแบบดั้งเดิมที่จำกัดวงแคบและแบบไพร่ฟ้าไปสู่วัฒนธรรมทางการเมืองแบบ มีส่วนร่วม ซึ่งย่อมมีความแตกต่างจากความรักชาติแบบเดิมๆที่ในบางครั้งแปรสภาพไปสู่ ความคลั่งชาติ(chauvinism) ทำให้เกิดการรบราฆ่าฟันกัน ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์การปลุกระดมเข้ายึดดินแดนเพื่อนบ้านเพื่อจุดมุ่งหมายของการเป็นมหาอาณาจักรไทย ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ความขัดแย้งกรณีเขาพระวิหาร ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จนล่าสุดคือเหตุการณ์ฆ่ากันระหว่างเสื้อเหลืองกับเสื้อแดงอันเนื่องมาจากการปลุกระดมให้รักชาติ จนกลายเป็นการคลั่งชาติ

จะเห็นได้ว่าจากคำกล่าวของมาร์ก ทเวน ที่ผมยกขึ้นมาข้างต้นนั้นแม้ว่าจะกล่าวไว้เกือบร้อยปีมาแล้วยังคงเป็นความสัตย์จริงอยู่เสมอ และเป็นความรักชาติในวัฒนธรรมทางการเมืองแบบมีส่วนร่วมหรือแบบประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการสนับสนุนรัฐบาลเมื่อรัฐบาลนั้นสมควรได้รับการสนับสนุนและแน่นอนว่าไม่สนับสนุนรัฐบาลหากรัฐบาลนั้น ไม่สมควรได้รับการสนับสนุน

ความรักชาติในสังคมประชาธิปไตยไม่จำเป็นที่จะต้องเห็นด้วยกับรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐในทุกเรื่อง ความรักชาติมิใช่อยู่ที่การร้องเพลงชาติได้เสียงดังหรือไพเราะกว่าคนอื่น ความรักชาติมิใช่อยู่ที่ว่าจะต้องยืนตรงเคารพธงชาติวันละ 2 ครั้งทุกวันโดยเคร่งครัด ความรักชาติมิใช่อยู่ที่การกล่าวคำปฏิญาณต่อหน้าเสาธงทุกเช้าก่อนเข้าเรียนหรือเข้าทำงาน ความรักชาติมิได้หมายความว่าผู้ที่กล่าวคำปฏิญาณหรือคำสาบานตนจะรักชาติมากกว่าคนอื่นไม่ว่าจะเป็นในการฝึกอบรมมวลชนหรือก่อนการเข้ารับตำแหน่งทางราชการทั้งฝ่ายประจำหรือฝ่ายการเมือง

แต่ความรักชาติอยู่ที่การทำความเห็นให้ตรงและพร้อมจะท้วงติงหากรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำไม่ถูกต้องหรือกำลังจะพาเราไปลงเหว ความรักชาติอยู่ที่การไม่หนุนหลังให้คนฆ่ากันด้วยความต่างเพราะสีเสื้อหรือความคิดเห็น ความรักชาติอยู่ที่การเห็นคนในชาติไม่จะอยู่ส่วนไหนหรือส่วนใดของประเทศมีสิทธิ์มีเสียงเท่ากัน มีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ความรักชาติอยู่ที่การปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะอยู่ในชนชั้นใดของสังคมต่างหาก จึงจะเรียกว่าความรักชาติที่แท้จริง


ชำนาญ จันทร์เรือง


หมายเหตุ
เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 25 มีนาคม 2552

ที่มา : หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท : ชำนาญ จันทร์เรือง : ความรักชาติ (Patriotism)

วันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2552

จดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลไทย "เรียกร้องให้ปฏิรูป กม.หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ " จากนักวิชาการและบุคคลสำคัญทั่วโลก



หมายเหตุ :
จดหมายเปิดผนึกจะยื่นต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ในปลายเดือนมีนาคมหรือต้นเดือนเมษายน



ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

สำนักนายกรัฐมนตรี
ทำเนียบรัฐบาล
กรุงเทพฯ ประเทศไทย
โทรสาร: 011-662-629-8213


เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

นฐานะนักวิชาการและผู้สังเกตการณ์ที่สนใจในสถานการณ์ของประเทศไทย เรามีความวิตกอย่างยิ่งเกี่ยวกับการดำเนินคดีทางกฎหมายต่อชาวไทยและชาวต่างประเทศภายใต้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เกิดขึ้นในระยะไม่นานมานี้ เป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่งที่วิกฤตการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยนำไปสู่ความเสื่อมถอยลงของสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน

การใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเครื่องมือทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองกันอย่างพร่ำเพรื่อ รังแต่จะบ่อนทำลายกระบวนการประชาธิปไตย การดำเนินคดีต่อนักหนังสือพิมพ์ นักวิชาการและประชาชนทั่วไป เพียงเพราะข้อกล่าวหาว่าทัศนะและการกระทำของคนเหล่านี้เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เท่ากับทำลายบรรยากาศการถกเถียงอย่างเปิดกว้างในประเด็นสาธารณะที่สำคัญ ๆ นอกจากนี้ ยังสะท้อนให้เห็นอันตรายของการอ้างความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์อย่างไม่ระมัดระวัง แทนที่คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจะเป็นไปเพื่อปกป้องพระเกียรติยศ กลับยิ่งก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์และประเทศไทย ทั้งภายในและภายนอกประเทศ มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

ก่อนหน้านี้มีข้อเสนอแนะมาหลายครั้งแล้วว่า ควรมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แม้แต่องค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เคยมีพระราชดำรัสว่า การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งที่พึงกระทำได้ เรามีความวิตกว่า แทนที่จะรับฟังความคิดเห็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในเชิงสร้างสรรค์ รัฐบาลของท่านอาจใช้กฎหมายนี้เพื่อกดดันยับยั้งสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน กระทั่งมีสมาชิกบางคนในรัฐบาลของท่านออกมาเรียกร้องให้ใช้บทลงโทษที่หนักกว่าเดิมภายใต้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยทั้งหมดนี้กระทำลงไปในนามของการปกป้องสถาบันกษัตริย์

ประสบการณ์ในหลาย ๆ ประเทศพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า มีแต่ความจริง ความโปร่งใส การถกเถียงอย่างเปิดกว้างของสาธารณชน และกระบวนการประชาธิปไตยเท่านั้น จึงจะสามารถแปรเปลี่ยนความขัดแย้งทางความคิดให้กลายเป็นความเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์และสันติวิธี การกดดันยับยั้งความคิดไม่เคยคลี่คลายปัญหาใด ๆ ได้ แต่กลับจะยิ่งสร้างความเสื่อมพระเกียรติมากกว่าเฉลิมพระเกียรติสถาบันกษัตริย์

ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง เราจึงขอให้ ฯพณฯ ท่านและรัฐบาลโปรดพิจารณาข้อเรียกร้องดังนี้

1. โปรดยุติการพยายามสร้างมาตรการกดดันปราบปรามที่เข้มงวดยิ่งกว่านี้ ทั้งต่อปัจเจกบุคคล เว็บไซต์และการแสดงความคิดเห็นอย่างสันติ

2. โปรดพิจารณาข้อเสนอแนะที่เรียกร้องให้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้กฎหมายฉบับนี้ตกเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งคุกคามผู้อื่น และป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายด่างพร้อยต่อชื่อเสียงของประเทศไทยและสถาบันกษัตริย์บนเวทีสากลยิ่งไปกว่านี้

3. โปรดพิจารณายกเลิก-ถอนฟ้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่กำลังดำเนินคดีอยู่ในขณะนี้ และดำเนินการเพื่อปล่อยตัวผู้ต้องโทษที่ถูกตัดสินภายใต้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก่อนหน้านี้ เนื่องจากคนเหล่านี้ตกเป็นผู้ต้องหาเพียงเพราะการแสดงความคิดเห็น ทั้ง ๆ ที่การแสดงความคิดเห็นไม่ควรเป็นอาชญากรรม

ขอแสดงความนับถือ


ปล.

ผู้ลงนามในจดหมายฉบับนี้มีอาทิ:

- ผู้นำระดับโลกในด้านสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพของพลเมือง เช่น ลอร์ดแอริก เอฟเบอรี (Lord Eric Avebury), ดร. แคโรไลน์ ลูคัส (Dr. Caroline Lucas), วุฒิสมาชิกฟรานเชสโก มาร์โตเน (Senator Francesco Martone), สมิทู โคธารี (Smitu Kothari), วอลเดน เบลโล (Walden Bello)

- นักวิชาการระดับแนวหน้าผู้มีชื่อเสียงในวงการวิชาการหลากหลายสาขาทั่วโลก เช่น นอม ชอมสกี (Noam Chomsky), สจ๊วต ฮอลล์ (Stuart Hall), อรชุน อัปปาดูรัย (Arjun Appadurai), เจมส์ สก็อตต์ (James C. Scott), อารีฟ เดอลิก (Arif Dirlik), สแตนลีย์ แทมไบยาห์ (Stanley Tambiah), อิมมานูเอล วอลเลอร์สไตน์ (Immanuel Wallerstein) และอีกมากมายหลายคน

- สมาชิกหลายท่านของสมาคมราชบัณฑิตยสถานอังกฤษ (The British Academy) และสถาบันศิลปะและวิทยาศาสตร์อเมริกัน (American Academy of Arts and Sciences)

- ประธาน อดีตประธานและผู้นำของสมาคมวิชาการทรงเกียรติคุณในระดับสากลหลายแห่ง เป็นต้นว่า สมาคมเอเชียศึกษา (Associations for Asian Studies), สมาคมรัฐศาสตร์อเมริกัน (American Political Science Association), สมาคมสังคมวิทยาอเมริกัน (American Sociological Association), สมาคมเอเชียศึกษาแห่งออสเตรเลีย (Asian Studies Association of Australia) ฯลฯ

- นักวิชาการด้านกฎหมายชั้นนำ อาทิเช่น อดีตผู้พิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice), อดีตประธานสมาคมกฎหมายระหว่างประเทศแห่งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ รวมทั้งนักวิชาการชั้นนำด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชน

- นักวิชาการผู้มีชื่อเสียงระดับสากล ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทยในหลากหลายสาขาวิชา ทั้งด้านรัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา วรรณคดี ภูมิศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ส่วนใหญ่มีประสบการณ์ยาวนานในประเทศไทยและในภูมิภาคนี้


โดยขณะนี้กำลังมีการรวบรวมรายชื่อเพิ่มเติม จดหมายเปิดผนึกจะยื่นต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะในปลายเดือนมีนาคมหรือต้นเดือนเมษายน ผู้มีความประสงค์จะร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึก สามารถส่งชื่อ, ยศ/ตำแหน่ง/งาน และสังกัด มาที่ “ผู้ประสานงาน” คนใดคนหนึ่งดังต่อไปนี้

Andrew Walker, Senior Fellow, Research School of Pacific and Asian Studies, The Australian National University, Canberra, ACT 0200, Australia. andrew.walker@anu.edu.au

Jim Glassman, Associate Professor, Department of Geography, University of British Columbia, 217 - 1984 West Mall, Vancouver, BC V6T 1Z2 Canada. nmsslg@yahoo.ca

Larry Lohmann, The Corner House, Station Road, Sturminster Newton, Dorset DT10 1YJ,United Kingdom. larrylohmann@gn.apc.org

Thongchai Winichakul, Professor, Department of History, University of Wisconsin-Madison,
Madison, Wisconsin 53706, USA. twinicha@wisc.edu

Adadol Ingawanij, Post-doctoral Researcher, Centre for Research and Education in Arts and Media, University of Westminster, Harrow Campus, UK. M.Ingawanij@westminster.ac.uk

เว็บไซต์ New Mandala http://rspas.anu.edu.au/rmap/newmandala จะเป็น “หน้าต่าง” ให้แก่การรณรงค์ครั้งนี้ และจะนำเสนอข่าวสารและข้อมูลใหม่ ๆ เกี่ยวกับความคืบหน้าของการรณรงค์เป็นระยะ ๆ


ที่มา : หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท : นักวิชาการทั่วโลกลงชื่อเรียกร้องปฏิรูป กม.หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

Call for Thai monarchy law reform : การเรียกร้องให้มีการปฎิรูปกฎหมายหมิ่นฯ



Heraldsun

Call for Thai monarchy law reform

From corespondents in Bangkok
๔ มีนาคม ๒๕๕๒

แปลและเรียบเรียง : chapter 11



การเรียกร้องให้มีการปฎิรูปกฎหมายหมิ่นฯ

กลุ่มนักวิชาการได้ดำเนินการรณรงค์ให้มีการปฎิรูปกฎหมายร้ายแรงที่ปกป้องราชวงศ์อันเป็นที่รักของประเทศไทยอย่างเหวี่ยงแหนี้ ในขณะที่มีการติดตามปราบปรามกับคนที่ละเมิดกฎหมายนี้อย่างถึงพริกถึงขิง

ผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศมากกว่า ๕๐ คนรวมถึงนักภาษาศาสตร์ที่มีชื่อเสียง นอม ชอมสกี้ ได้ร่วมลงนามในจดหมายที่จะส่งไปยังนายกรัฐมนตรีของไทยอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งในจดหมายได้มีใจความว่า กฎหมายนี้ได้ถูกใช้ในการข่มเหงเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง

จดหมายได้ถูกเปิดผนึกในการแถลงข่าวของสื่อมวลชนที่แน่นห้องประชุม ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศในกรุงเทพ และผู้ดำเนินรายการที่มีชื่อเสียง ๒ ท่าน ได้บรรยายการประชุมผ่านทางอินเตอร์เน็ตวิดิโอโฟน

ธงชัย วินิจจะกุลนักวิชาการจากอเมริกาได้กล่าวในการประชุมของสื่อผ่านทางวิดิโอว่า “เราจะต้องอยู่เฉยๆไม่ทำอะไรเลยไปอีกนานเท่าไรต่อบรรยากาศแห่งความกลัวนี้ กฎหมายหมิ่นฯได้สร้างบรรยากาศแห่งความน่าสพึงกลัวดังกล่าว”

กฎหมายหมิ่นฯ สำหรับในประเทศไทยมีความหมายถึงการหมิ่นหรือการทำลายชื่อเสียงต่อกษัตริย์ภูมิพล อดุลยเดช พระชนมายุ ๘๑ พรรษา หรือต่อสมาชิกของราชวงศ์ทั้งหลาย การลงโทษจะเป็นการจำคุกถึง ๑๕ ปี

เดือนที่แล้ว นักเขียนชาวออสเตรเลีย แฮรี นิโคไลเดสได้รับการอภัยโทษหลังจากโดนคุกไป ๓ ปี ในการทำให้เจ้าฟ้าชายเสื่อมเสียชื่อเสียงจากหนังสือที่เขาพิมพ์ออกมาขายเอง

ใจ อี๊งภากรณ์ อาจารย์สอนรัฐศาสตร์ที่ปากกล้าได้หนีไปประเทศอังกฤษเมื่อเดือนที่แล้ว หลังจากได้ถูกตั้งข้อหาจากหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับการทำรัฐประหารของประเทศไทยในปี ๒๕๔๙

จดหมายเพื่อการรณรงค์นี้ได้เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวบุคคลต่างๆที่ถูกจำคุกจากคดีกฎหมายหมิ่นฯ ให้มีการปฎิรูปกฎหมายและให้หยุด “ใช้วิธีการกดดันต่อบุคคลทั่วไป ต่อเว็บไซต์ และต่อการแสดงออกทางความคิดเห็นอย่างสงบ”

ในจดหมายยังได้มีใจความอีกว่า “ในฐานะนักวิชาการและผู้สังเกตการณ์ที่มีความเห็นใจต่อประเทศไทย เรารู้สึกเป็นกังวลอย่างมากต่อการฟ้องร้องทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศในคดีกฎหมายหมิ่นฯที่เป็นอยู่ในขณะนี้”


แทนที่จะเป็นการปกป้องชื่อเสียง กฎหมายหมิ่นฯนี้ กลับยิ่งเพิ่มให้มีการวิจารณ์ต่อราชวงศ์และประเทศไทยหนาหูมากยิ่งขี้น


ธงชัยและผู้ร่วมดำเนินรายการแอนดรูว์ วอคเกอร์ ซึ่งได้พูดมาจากประเทศออสเตรเลีย ทั้งคู่ติดงานไม่สามารถมาร่วมรายการได้ด้วยตัวเอง แต่ได้ยอมรับว่า มีความรู้สึก “ระแวดระวัง” ในการที่จะเข้าร่วมการถกเถึยงดังกล่าวในประเทศไทย

บทบาทของราชวงศ์ในประเทศไทย มีการเข้ามาเกี่ยวข้องจากการถูกนำมาอ้างของกลุ่มคลั่งเจ้า ซึ่งเป็นพวกที่เข้ายึดสนามบินกรุงเทพเมื่อปีที่แล้ว และยังคงเป็นประเด็นที่อ่อนไหวที่สุดในราชอาณาจักร

ได้มีรายงานอย่างเป็นทางการว่ามีเว็บไซต์มากกว่า ๔,๘๐๐ เว็บไซต์ได้ถูกบล็อกตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้ว เนื่องจากมีเนื้อหาหมิ่นราชวงศ์ และในรายงานนี้ได้มีคดีอย่างน้อย ๑๗ คดีที่กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินคดี

ก่อนหน้านี้อภิสิทธิ์ได้ออกมาปกป้องต่อการปราบปรามอย่างรุนแรงนี้ ซึ่งเขาได้กล่าวกับ AFP ว่า มี “ความแตกต่างทั้งด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม” ระหว่างประเทศไทยและประเทศอื่นๆ


สำเนาจาก : Liberal Thai : การเรียกร้องให้มีการปฎิรูปกฎหมายหมิ่นฯ

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

รายงาน “กฎหมายหมิ่นในประเทศไทย : ศัตรูของประชาธิปไตย”


New Mandala
New perspectives on mainland Southeast Asia


Report on “Lèse Majesté in Thailand: The Enemy of Democracy”

by Lee Jones

แปลและเรียบเรียง : Chapter 11



รายงาน “กฎหมายหมิ่นในประเทศไทย : ศัตรูของประชาธิปไตย”

ลังจากใจได้บรรยายที่ SOAS จุดหมายที่สองของการตระเวณบรรยายในมหาวิทยาลัยใหญ่ๆในอังกฤษในการวิจารณ์การเมืองร่วมสมัยของไทยคือที่ออกซ์ฟอร์ด ซึ่งใจได้พำนักอยู่ขณะนี้หลังจากใจและภรรยาและบุตรชายหนีออกจากประเทศไทย มีคนร่วมฟังการบรรยายประมาณ ๖๐ คน ซึ่งผมเป็นประธานจัดงาน

คนร่วมฟังเป็นคนไทยทั้งหมด บางคนได้เห็นใจกับคุณใจ และบางคนสมน้ำหน้า ก่อนการบรรยายได้มีหนุ่มคนหนึ่งใส่เสื้อเหลือง และบนเสื้อมีเครื่องหมายของราชวงศ์ ถามใจว่าเขาสามารถจะแย้งใจได้หรือไม่และ “ปกป้องกษัตริย์ของเขา” และเขาได้รับอนุญาติให้แจกแผ่นเอกสารขนาด a4 ซึ่งเป็นการวิจารณ์ใจ การบรรยายคุณสามารถฟังได้ที่นี่ (เสียงภาษาอังกฤษ)

ใจได้แนะนำเนื้อหาสาระสำคัญในหนังสือ รัฐประหารเพื่อคนรวย ซึ่งทำให้ใจมีปัญหากับเจ้าหน้าที่ของไทย ใจได้แย้งว่าการทำรัฐประหารและผู้สนับสนุนคือนายพลในกองทัพ ผู้มีอำนาจ และศักดินาชนชั้นกลางที่มีความรังเกียจคนยากจนและประชาธิปไตย เพื่อรักษา “เครือข่ายผลประโยชน์ของตัวเอง” ซึ่งทักษิณเป็นผู้เข้ามาล่วงล้ำสิทธิอันนี้

ใจไม่เห็นด้วยกับการบอกของแฮนด์เล่ย์ที่ว่ากษัตริย์เป็น “บุคคลที่มีอิทธิพลที่สุดในประเทศไทย” ใจได้อธิบายว่ากษัตริย์เป็นบุคคลที่อ่อนแอและโดนอำนาจที่เหนือกว่าชักใยได้ จากหัวข้อนิว แมนดาลา “การอุ้มชูโดยกองทัพ”

ใจยังได้วิจารณ์อย่างสาดเสียเทเสียต่อการใช้อำนาจในทางที่ผิดของทักษิณ แต่ได้ให้ข้อสังเกตุว่าการกล่าวหาทักษิณในเรื่องคอรัปชั่นซึ่งมันก็เกิดขี้นกับนักการเมืองไทยทุกคน การกล่าวหาเรื่องทักษิณโกงภาษีควรจะขยายรวมความถึงกษัตริย์ด้วย อย่างไรก็ดี ใจได้ให้เหตุผลว่าอย่างน้อยทักษิณ “มีความทันสมัย” ในการตั้งพรรคการเมืองอย่างแท้จริง มีนโยบายที่จริงจังซึ่งผู้สนับสนุนสามารถประเมิณผลและเลือกที่จะสนับสนุนได้

ในขณะที่ใจยังคงตราหน้าพันธมิตรว่า “เผด็จการ” ใจได้กล่าวถึงการวิจารณ์ต่อพวกซ้ายที่ได้แตกแยกไปเป็นกลุ่มที่รักษาผลประโยชน์ของตัวเอง ซึ่งต้องการให้จำกัดอำนาจฝ่ายการเมืองและทำให้ไม่เป็นการเมือง(depoliticization) ซึ่งทำให้พวกนี้ไม่ยอมวิจารณ์การทำรัฐประหาร

ใจขยายการวิเคราะห์ของเขาในเรื่องสถานะการณ์ปัจจุบันด้วย ซึ่งไม่ได้ปรากฎในหนังสือนี้ ใจให้ความเห็นว่าลัทธิสังคมนิยมใหม่ได้รับการปกป้องในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ โดยการอ้างถึง “วินัยทางการเงิน" (Fiscal Discipline) และเน้นแนวคิดที่ล้าหลังของกษัตริย์ใน “เศรษฐกิจพอเพียง” สองสามอย่างเกี่ยวกับความคิดเพ้อฝันของเสรีนิยมใหม่ (neoliberal) ซึ่งก่อนหน้านี้ของประชาธิปัตย์ที่แสดงออกกับวิกฤติการเงินของเอเซียในปี ๒๕๔๐ ใจได้แย้งว่ารัฐบาลไทยในขณะนี้ไม่มีความสามารถในการหาวิธีแก้ปัญหาต่อผลกระทบวิกฤติทางการเงินของโลกในขณะนี้ อันมีผลต่อประเทศไทยได้ ซึ่งจะต้องกระตุ้นแบบทุ่มเงินอย่างไม่อั้นอย่างในอังกฤษและอเมริกา

บางทีการยืนยันคือการพูดเกี่ยวกับเสื้อแดงที่เป็นตัวแทนของ “การเกิดใหม่ของประชาสังคม” ในประเทศไทย เขากล่าวว่าได้มีสัญญาณว่าเสื้อแดงได้มีความก้าวหน้าไปอย่างมาก เกินกว่าครั้งที่เริ่มต้นใหม่ๆของการเคลื่อนไหวที่นำโดยพรรคพวกของทักษิณ: มีความเป็นตัวของตัวเอง มีการรวมกลุ่มกันเอง และมีกลุ่มช่วยเหลือทางการเงิน ซึ่งขณะนี้ได้มีความชัดเจนท่ามกลางการเคลื่อนไหวของฝูงชนที่ค่อนข้างจะดำเนินงานอย่างสะเปะสะปะมากกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คน ตัวอย่างเช่นหลายกลุ่มได้มีความคิดย้อนหลังโดยการโจมตีเลสเบียนและเกย์ แต่ใจให้ข้อสังเกตุว่าการทำแบบนี้ไม่ได้เป็นการสะท้อนของกลุ่มทั้งหมด และไม่ได้เป็นการทำให้คนซึ่งเข้ามารวมพลังกับกลุ่มเสื้อแดงดำเนินการไปในทิศทางที่ก้าวหน้าไม่ได้ ใจได้ใส่เสื้อสีแดงและประกาศว่าเขาเป็นสมาชิกเสื้อแดง


การบรรยายได้เริ่มขี้น และได้มีการเปิดโอกาสให้ตั้งคำถาม ให้มีการแสดงความคิดเห็น และให้มีการโต้แย้ง ผู้ฟังได้มีการแยกข้างกันอย่างเห็นได้ชัดต่อความคิดในแง่ดีของใจ จุดที่น่าสนใจที่สุดในการบรรยายคือ

- การโจมตีเรื่องส่วนตัวที่ค่อนข้างจะบ้าคลั่งจากพวกเสื้อเหลืองดังกล่าว กับคำถามว่าลูกครึ่งอังกฤษอย่างใจเป็นคนไทยหรือเปล่า ผู้หญิงชาวตะวันตกที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมานานได้แสดงความเสียใจว่าเธอไม่ถูกยอมรับว่าเป็นคนไทย ใจยังได้ถูกกล่าวหาว่าโจมตีประเทศไทยและไม่เคยพูดถึงไทยในแง่ดี

- ถ้าความวุ่นวายทางการเมืองยังคงมีต่อเนื่อง อาจจะถูกประเทศจีนเข้ายึด

- หมอไทยได้แย้งว่านโยบายประกันสุขภาพทั่วประเทศเป็นนโยบายที่ขโมยจากรมต สาธารณสุข ซึ่งส่งเสริมให้มีการเข้ารับการตรวจรักษาและทำให้โรงพยาบาลแออัด และยังเดาว่าทักษิณได้ทำกำไรจากโรงพยาบาลส่วนตัวที่มีหลายสาขาทำให้ชนชั้นกลางต้องมองหาการรักษาที่มีคุณภาพสูงขี้น

- ความหมายของ “เศรษฐกิจพอเพียง” คืออะไร

- คนเสื้อแดงใกล้ชิดกับทักษิณเกินไปไหม ถ้าแบบนี้ก็ไม่ได้เป็นพวก “อิสระจากการเมือง” หรือ พวกนี้ก็เป็นเพียงพันธมิตร

- หรือคนไทยจะแตกต่างไปจากคนอังกฤษและคนอเมริกา และถ้าเป็นแบบนี้ทำไมไม่ลอกเอามาจากอังกฤษหรืออเมริกา และทำตามเขา

- กษัตริย์ควรจะทำอย่างไร ใจจะทำอะไรถ้าเป็นกษัตริย์ ใจจะทำอะไรต่อไป

- ประเทศไทยจะยังคงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหรือไม่ ในขณะที่ประเทศกำลังอยู่ในการเปลี่ยนแปลงเพื่อเข้าสู่ความทันสมัยโดยไม่มีกษัตริย์ จะเกิดอะไรขี้นเมื่อกษัตริย์สิ้นพระชนม์ อะไรคือประเทศไทยถ้าประชาชนไม่ได้มีนิยามว่าเป็นผู้ที่จงรักภักดีต่อกษัตริย์และไม่ได้เป็นชาวพุทธ



เรื่องที่สำคัญจริงๆแล้วไม่ใช่สถาบันต่างๆ แต่เป็น “ธรรมเนียมทางการเมือง” ของไทย และการที่กษัตริย์เป็นจุดรวมของ “แนวคิดอย่างมีคุณค่า”

คนไทยคนหนึ่งได้ให้ความเห็นว่าถ้าประชาชนเลือกลงคะแนนเสียงให้ทักษิณ พวกเขาก็เลือกที่จะ “จงรักภักดีและเคารพ” ต่อกษัตริย์ด้วยเหมือนกัน ได้มีผู้ฟังบางคนที่เทิดทูนกษัตริย์ ผู้ฟังคนหนึ่งได้เล่าถึงการได้เข้าเฝ้ากษัตริย์ ผู้ฟังบางคนได้ชูพระบรมฉายาลักษณ์เทิดทูนพระเกียรติคุณของกษัตริย์ และร้องว่า “ทรงพระเจริญ” และมีผู้ฟังประมาณ ๑๕ คนตบมือ



- ทำไมต้องมีกฎหมายหมิ่นฯ ถ้ากษัตริย์ทรงเป็นที่รักและทรงเป็นที่ยกย่องขนาดนี้ เป็นเพราะพวกคลั่งเจ้าที่กลัวไปเองหรือเปล่าจึงใช้วิธีตอบโต้สุดโต่งอย่างนี้

- ใจยอมรับผลจากการลงประชามติเรื่องกฎหมายหมิ่นไหม

- กฎหมายหมิ่นจะอยู่คู่กับประชาธิปไตยแบบสมัยใหม่ได้ไหม ผู้ฟังดูเหมือนจะอิลักอิเหลื่อจะถกเถียงในเรื่องสำคัญเรื่องนี้ ผู้บรรยายคนหนึ่งได้ให้ความเห็นว่าอำนาจศาลตามกฎหมายอาจทำให้คนไม่กล้าพูดแม้จะอยู่ในอังกฤษ อย่างไรก็ดีมีคนฟังคนไทยคนหนึ่งได้เสริมว่าคำถามนี้เป็นคำถามที่โง่และมันไม่สมควรแม้แต่ปรากฎอยู่ตามหลักสูตรของรัฐศาสตร์พื้นฐาน คำตอบที่ชัดคือเสรีภาพในการแสดงออกเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประชาธิปไตย



ใจได้ตอบในตอนท้ายว่า

- ด้านสุขภาพ : ทักษิณไม่ได้ลอกนโยบายมาจากที่ไหน ต้องให้เครดิตทักษิณ พรรคการเมืองควรสร้างนโยบายของตัวเองให้แตกต่างจากพรรคอื่น และพรรคการเมืองควรเสนอทางเลือกที่เป็นจริงให้ประชาชน โรงพยาบาลแน่นก็เพราะคนต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง ไม่ใช่เพราะเป็นห่วงเรื่องสุขภาพที่เกินพอดี และควรเพิ่มงบประมาณด้านสาธารณะสุขโดยการคิดภาษีในอัตราก้าวหน้าเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องนี้

- เศรษฐกิจพอเพียง : ความคิดที่มีพื้นฐานตรงกันข้ามและต่อต้านสวัสดิการนิยม (anti-welfarist) เป็นการป้องกันประชาชนตามสมควรแก่ฐานะทางเศรษฐกิจของแต่ละคน

- วัฒนธรรมไทย : แทนที่กษัตริย์ ซึ่งเหมาะกับ “คุณค่าทางอุดมคติ” ควรจะมีภาระในการส่งเสริมความเท่าเทียมกัน ความมีเสรีภาพ และความเป็นปึกแผ่น และการจะนับถือคนชราอย่างแท้จริงต้องมีรัฐสวัสดิการเพื่อดูแลพวกเขา วัฒนธรรมไทยไม่เป็นหนึ่งเดียว การสอนในโรงเรียน ถูกสอนให้คล้อยตาม และมีการแบ่งชนชั้นในสังคม

- กษัตริย์ : ใจไม่เคยทำหน้าที่เป็นกษัตริย์ แต่ในระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญควรปกป้องรัฐธรรมนูญและความเป็นประชาธิปไตย และถ้าท่านไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ก็ให้ประกาศออกมาและถอยออกไปเสีย คนไทยควรสนันสนุนให้กษัตริย์ทำงานให้บรรลุเป้าหมาย ความคิดในเรื่องที่ว่าคนทั่วไปเคารพกษัตริย์อย่างไม่เสื่อมคลาย เป็นความคิดในอดีตไปแล้ว ในปี ๒๔๗๓ ได้มีเหตุการณ์ “การไม่ให้ความสำคัญ” ของระบอบกษัตริย์ และในเดือนตุลาคม ๒๕๑๙ กษัตริย์ได้ให้การสนับสนุนกับการปราบปรามอย่างนองเลือดต่อฝ่ายซ้าย เพื่อตอบโต้ในเรื่องที่ว่า “มีประชาธิปไตยมากเกินไป” ท่านได้วิจารณ์ว่าระบบสวัสดิการทำให้คนขี้เกียจ แต่โครงการณ์ของท่านก็ช่วยได้แค่ไม่กี่คน และยังน้อยกว่าการมีรัฐบาลที่ทำงานกันได้อย่างต่อเนื่อง และประชาชนที่ได้ทำการพัฒนาประเทศไทยที่แท้จริงก็คือ ชาวนาและคนงาน



ในขณะนี้กฎหมายหมิ่นฯไม่ได้ปกป้องราชวงศ์แต่กลับทำความเสื่อมเสียให้ราชวงศ์ การยกเลิกกฎหมายหมิ่นและมองดูว่ามีอะไรเกิดขี้นจะเป็นการพิสูจน์อย่างแท้จริงในความจงรักภักดีต่อกษัตริย์ การลงมติจะเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ถ้าได้มีการลงมติทุกห้าปีและภายใต้เงื่อนไขที่ว่าต้องยอมให้มีการโต้แย้งอย่างเปิดเผย กฎหมายละเมิดคำสั่งของศาลซึ่งปกป้องผู้พิพากษาจากการถูกวิจารณ์ก็ควรถูกลบทิ้งไปด้วย เมื่อกษัตริย์องค์ปัจจุบันสิ้นพระชนม์ลง ผู้ที่สืบราชบัลลังค์คือเจ้าฟ้าชาย ซึ่งไม่เป็นที่นิยมของประชาชนนัก การเป็นสาธารณรัฐอาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า



- เสื้อแดง : ยังไม่รวมตัวกันอย่างแน่นแฟ้น แต่เติบโตมากกว่าตอนมาจากพรรคพวกของทักษิณ มีความเป็นตัวของตัวเองในหลายๆด้าน ดังแสดงให้เห็นจากป้ายที่ทำกันขี้นมาเอง ประกาศตัวเองว่ามาจากกลุ่มต่างๆ จะเติบโตเกินหน้านโยบายย้อนรอยเดิมของไทยรักไทย คนไทยมีหน้าที่ที่จะต้องเข้าร่วมกับการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยนี้ และทำให้มีความก้าวหน้ามากขี้นและมีอิสระมากขี้นจากทักษิณ

สำหรับนักศึกษาที่กำลังศึกษาการเมืองไทย มุมมองที่น่าสนใจที่สุดของคืนนี้อาจจะเป็นการประกาศตัวว่าเป็นเสื้อแดง ใจอาจจะยอมรับคำสัญญาซึ่งขณะนี้มีความเป็นไปได้มากกว่าจะเป็นเรื่องจริง การออกมาแสดงความแตกแยกทางสังคมบนถนนในประเทศไทยในไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เป็นการปลุกการเคลื่อนไหวของมหาชนอย่างใหญ่หลวง ในการตอบโต้กับการเคลื่อนไหวของชนชั้นกลางชาวกรุงเทพ

ใจได้ให้ความเห็นว่า การเติบโตของกลุ่มเสื่อแดงจะขี้นอยู่ที่ว่า กับใครที่จะเข้ามาร่วมและจะมีการนำกลุ่มอย่างไร ไม่มีทางแน่ๆที่ฝ่ายขวาจะยอมเปิดทางให้ทักษิณมีการรวมเอานโยบายสวัสดิการนิยม และนโยบายภายในประเทศซึ่งเป็นของฝ่ายขวา มาสร้างความนิยมเพิ่มขึ้นให้กับตัวเองมากขึ้นไปอีก เป็นเรื่องน่าสนใจที่จะติดตามดูและเราจะจับตามองการพัฒนานี้

สุดท้ายนี้ เป็นเรื่องไม่น่าเชื่อว่าคนไทยที่มีการศึกษาสูง (หลายๆคนในผู้ฟังนี้เป็นนักศึกษา) ได้ถูกครอบงำการคิดแบบนิกายออโธด้อกซ์(หัวเก่า)ต่อราชวงศ์ อีกครั้งจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่จะดูว่า จะอยู่ได้นานแค่ไหนเมื่อบัลลังค์ถูกส่งต่อไปยังเจ้าฟ้าชาย

จุดหมายต่อไปของใจคือ แคมบริจน์


(ลี โจนส์ เป็นนักวิจัยของโรส ภาคความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งอยู่ที่เลดี้มาร์กาเรทฮอล์ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด)


- Depoliticization : การทำให้ไม่เป็นการเมือง นับตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เมื่อครั้งประเทศไทยยังคงได้ชื่อว่าประเทศสยาม ระบอบการปกครองนั้นก็พยายามที่จะให้ ‘ไม่มีการเมือง’ จะมีก็แต่การแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม โดยผู้ปกครองที่ดี มีเมตตาธรรม รวมทั้งหลักเกณฑ์ที่ใช้ชี้วัดความเป็นคนดี ก็จะพิจารณาจากชาติตระกูล ใครมีชาติตระกูลดี ก็ย่อมได้รับการอบรมสั่งสอนมาดี ทำให้เป็นผู้มีคุณธรรม เป็นต้น - ที่มา เว็บมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน


สำเนาจาก : Liberal Thai : รายงาน “กฎหมายหมิ่นในประเทศไทย: ศัตรูของประชาธิปไตย”

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ