หมายเหตุ : ผมเห็นว่าเปนบทความที่น่าอ่าน และน่าเก็บเอามาคิดดูในส่วนของการยกเลิกเทคนิค "การลงพระปรมาภิไธย-การสนองพระบรมราชโองการ" ของระบอบกษัตริย์ในประเทศสวีเดน
คอลัมน์ ระดมสมอง ( หนังสือพิมพ์ ประชาชาติธุรกิจ )
โดย ปิยบุตร แสงกนกกุล
สวีเดนตรารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นใช้บังคับเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 1974 รัฐธรรมนูญนี้ประกอบด้วยเอกสารทางกฎหมาย 4 ฉบับที่มีค่าในระดับรัฐธรรมนูญ ได้แก่ โครงสร้างทางการเมืองการปกครอง, กฎมณเฑียรบาล, การรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น, การรับรองเสรีภาพของสื่อ
สาระสำคัญประการหนึ่งของรัฐธรรมนูญนี้คือการลดพระราชอำนาจกษัตริย์ในทางการเมือง โดยยังยืนยันให้กษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ แต่เป็นเพียงสัญลักษณ์ที่มีมรดกตกทอดมาทางประวัติศาสตร์เท่านั้น กล่าวเช่นนี้อาจเข้าใจกันว่า ระบอบของสวีเดนก็ไม่ต่างอะไรกับประเทศประชาธิปไตยที่ใช้ประมุขเป็นกษัตริย์ ดังเช่น สหราชอาณาจักร สเปน เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น แต่หากพิจารณารัฐธรรมนูญของสวีเดนโดยละเอียดแล้ว จะพบว่ามีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกเลิกเทคนิค "การลงพระปรมาภิไธย-การสนองพระบรมราชโองการ"
กระบวนการนิติบัญญัติของสวีเดนกำหนดไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญเลยว่า เมื่อสภา Riksdag (สวีเดนใช้ระบบสภาเดียว) ลงมติเห็นชอบในร่างกฎหมาย รัฐบาลต้องประกาศให้ร่างกฎหมายนั้นมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายโดยไม่มีเงื่อนไข จะเห็นได้ว่าองค์กรผู้ทำหน้าที่ประกาศใช้กฎหมายคือรัฐบาล ไม่ใช่กษัตริย์เหมือนดังประเทศอื่นที่ใช้กษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งต้องมีกระบวนการทูลเกล้าฯถวายร่างพระราชบัญญัติให้กษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นกฎหมาย
การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีก็เช่นกัน รัฐธรรมนูญกำหนดให้ประธานสภา Riksdag (สวีเดนเรียกตำแหน่งประธานสภาว่า "โฆษกสภา") ทำหน้าที่เสนอชื่อบุคคลผู้เหมาะสมดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยประธานสภาจะหารือกับทุกพรรคการเมือง จากนั้นจึงเสนอชื่อให้สภา Riksdag ลงมติเห็นชอบ หากสภา Riksdag มีมติไม่เห็นชอบ ประธานสภาต้องเสนอชื่อบุคคลอื่นขึ้นไปใหม่ ในกรณีที่เสนอไป 4 ครั้ง สภา Riksdag ยังไม่มีมติเห็นชอบ ก็ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาใหม่ภายใน 90 วัน
อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติพบว่าเมื่อประธานสภาเสนอชื่อครั้งแรก สภา Riksdag ก็จะมีมติ เห็นชอบทันที เพราะก่อนจะเสนอชื่อได้มีการหารือเป็นการภายในกันก่อนแล้วนั่นเอง เมื่อสภา Riksdag ลงมติเห็นชอบบุคคลให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญกำหนดให้ประธานสภาเป็นผู้ลงนามแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ความข้อนี้จะเห็นได้ว่าเป็นการตัดพระราชอำนาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีของกษัตริย์ และให้ประธานสภา Riksdag ทำหน้าที่แทน
บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 1974 ที่แสดงให้เห็นชัดถึงการลดพระราชอำนาจของกษัตริย์อีกประการหนึ่ง คือการยุบองค์กรองคมนตรี เดิมสวีเดนมีองคมนตรีซึ่งประกอบด้วยบุคคลที่กษัตริย์แต่งตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษา แต่ด้วยระบอบการปกครองประชาธิปไตยสมัยใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 1974 ไม่มีความจำเป็นต้องมี องคมนตรีอีกต่อไป เพราะองค์กรที่ปรึกษากษัตริย์ในทางการเมืองก็คือรัฐบาลนั่นเอง
ในหมวดประมุขของรัฐยังคงมีบทบัญญัติเกี่ยวกับความคุ้มกันของกษัตริย์ไว้ว่า ผู้ใดจะฟ้องร้องกษัตริย์ไม่ได้ ในกรณีที่กษัตริย์ต้องการเดินทางไปต่างประเทศ กษัตริย์ต้องปรึกษาหารือนายกรัฐมนตรีก่อนทุกครั้ง หากกษัตริย์พักงานในหน้าที่ไปเกิน 6 เดือน หรือล้มเหลวในการปฏิบัติหน้าที่ ประธานสภาอาจเสนอให้ที่ประชุมสภาพิจารณาว่าสมควรถอดกษัตริย์ออกจากบัลลังก์หรือไม่ ในกรณีกษัตริย์ยังไม่บรรลุนิติภาวะ หรือไม่มีบุคคลใดทำหน้าที่กษัตริย์ ให้สภา Riksdag เลือกบุคคลใดมาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนชั่วคราว หากไม่มีบุคคลใดได้รับความเห็นชอบ ก็ให้ประธานสภา Riksdag เป็นผู้สำเร็จราชการแทน
จะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญ 1974 ได้ลดพระราชอำนาจของกษัตริย์จนเหลือเพียงบทบาทในทางสัญลักษณ์เท่านั้น อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญก็ยังคงกำหนดให้กษัตริย์มีส่วนร่วมในทางการเมือง อยู่บ้างใน 3 กรณี
กรณีแรก บทบัญญัติในมาตรา 1 แห่งหมวด 5 กำหนดว่า นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องแจ้งข่าวคราวของกิจการบ้านเมืองให้กษัตริย์รับทราบด้วย
กรณีที่สอง กษัตริย์ทรงเป็นประธานในการประชุมร่วมพิเศษ การประชุมนี้จะมีขึ้นเฉพาะกรณีจำเป็นอย่างยิ่งเท่านั้น ในความจริงบทบาทการดำเนินการประชุมอยู่ที่ประธานสภา ส่วนกษัตริย์ทรงเป็นประธานในที่ประชุมเพียงแต่ในนามเท่านั้น
กรณีที่สาม กษัตริย์ทรงเป็นประธานคณะกรรมการที่ปรึกษากิจการต่างประเทศ
เมื่อกษัตริย์สวีเดนแทบไม่หลงเหลือพระราชอำนาจทางการเมืองอีกเลย จึงอาจเกิดข้อสงสัยกันว่า แล้วสวีเดนยังคงรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้เพื่ออะไร ? คำตอบก็คือ การดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์สวีเดนเป็นไปเพื่อรักษามรดกตกทอดทางประวัติศาสตร์ไว้เท่านั้น โดยปัจจุบันกษัตริย์สวีเดนทำหน้าที่ต้อนรับพระราชอาคันตุกะ เข้าร่วมพิธีการสำคัญ เข้าร่วมรัฐพิธีเปิดประชุมสภา และเป็นผู้มอบรางวัลโนเบลเท่านั้น
ตรงกันข้ามกับสวีเดน ลิกเตนสไตน์มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในปี 2003 เพื่อเพิ่มพระราชอำนาจทางการเมืองให้กับเจ้าชาย (ลิกเตนสไตน์เรียกประมุขของรัฐว่า "เจ้าชาย")
เจ้าชายมีพระราชอำนาจทางการเมืองในหลายกรณี ตั้งแต่การควบคุมรัฐบาล การมีส่วนร่วมในกระบวนการนิติบัญญัติ การแต่งตั้งผู้พิพากษา ตลอดจนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 80 กำหนดว่า กรณีที่รัฐสภาหรือเจ้าชายไม่ไว้วางใจรัฐบาล รัฐบาลต้องพ้นจากตำแหน่งไป ในระหว่างนั้นเจ้าชายจะจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวเพื่อทำหน้าที่บริหารประเทศไปพลางก่อน เมื่อปฏิบัติหน้าที่ไปได้ 4 เดือน รัฐสภาจะพิจารณาลงมติว่าไว้วางใจรัฐบาลชุดนี้ให้บริหารราชการแผ่นดินต่อไปหรือไม่ ในส่วนของกระบวนการนิติบัญญัติ เมื่อรัฐสภาทูลเกล้าฯถวายร่างพระราชบัญญัติให้เจ้าชาย ทรงลงพระปรมาภิไธยเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมาย หากเจ้าชายไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยในร่างพระราชบัญญัตินั้นกลับมาภายใน 6 เดือน ให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นตกไป
เมื่อเจ้าชายทรงมีพระราชอำนาจทางการเมืองโดยแท้เช่นนี้ แต่บทบัญญัติในมาตรา 7 กลับรับรองความคุ้มกันของเจ้าชายไว้ว่า เจ้าชายไม่ต้องรับผิดและไม่อาจถูกฟ้องในศาล และบทบัญญัติในมาตรา 63 กำหนดเช่นกันว่า เจ้าชายไม่ถูกควบคุมโดยรัฐสภา ความข้อนี้เป็นการนำหลักการซึ่งปรากฏในประเทศประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์มาใช้ โดยลืมไปว่าที่กษัตริย์ไม่ต้องรับผิดนั้น เพราะกษัตริย์ไม่ได้มี และใช้อำนาจทางการเมืองโดยแท้ แต่เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการที่เป็นผู้ใช้อำนาจ อย่างแท้จริง
การคัดเลือกผู้พิพากษาก็เช่นกัน รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งทำหน้าที่สรรหา โดยมีเจ้าชายเป็นประธาน เจ้าชายจะเสนอรายชื่อบุคคลผู้เหมาะสมดำรงตำแหน่งเป็น ผู้พิพากษามาส่วนหนึ่ง รัฐสภาเสนอรายชื่อมา ส่วนหนึ่ง และรัฐบาลเสนอรายชื่อมาอีกส่วนหนึ่ง จากนั้นให้รัฐสภาลงมติเลือก อย่างไรก็ตามแม้รัฐธรรมนูญลิกเตนสไตน์จะกำหนดความคุ้มกันให้กับเจ้าชายอยู่มาก แต่มี บทบัญญัติกำหนดให้ประชาชนได้มีโอกาสควบคุมเจ้าชายโดยตรง ใน 2 ช่องทาง ดังนี้
ช่องทางแรก พลเมืองจำนวน 1,500 คนขึ้นไป มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติไม่ไว้วางใจเจ้าชายได้ เมื่อรัฐสภารับเรื่องแล้ว ก็จะส่งต่อให้เจ้าชายและสำนักพระราชวังพิจารณา การเข้าชื่อดังกล่าวไม่มีผลผูกมัดทางกฎหมายใดๆ แต่เป็นเจ้าชายและสำนักพระราชวังที่จะพิจารณาเองว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
ช่องทางที่สอง พลเมืองจำนวน 1,500 คนขึ้นไปมีสิทธิเข้าชื่อเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อล้มเลิกระบอบกษัตริย์ได้ จากนั้นรัฐสภาจะจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแบบสาธารณรัฐขึ้นภายใน 1 ปี หรืออย่างช้าไม่เกิน 2 ปี ในขณะเดียวกันเจ้าชาย ก็มีสิทธิจัดทำร่างรัฐธรรมนูญของตนด้วย เมื่อมีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ รัฐธรรมนูญกำหนดให้พลเมืองลงประชามติว่า เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับใด (ซึ่งอาจมี 3 ฉบับให้เลือก ได้แก่ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ร่างรัฐธรรมนูญแบบสาธารณรัฐที่รัฐสภาจัดทำ และร่างรัฐธรรมนูญที่เจ้าชายจัดทำขึ้น)
อนึ่ง การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มพระราชอำนาจของเจ้าชายของลิกเตนสไตน์นี้ จัดทำร่างขึ้นโดยสำนักพระราชวัง ในระหว่างจัดทำและก่อนมีการลงประชามตินั้น คณะกรรมาธิการเพื่อประชาธิปไตยด้วยกฎหมาย หรือที่เรียกกันว่า คณะกรรมาธิการเวนิซซึ่งสังกัดอยู่กับ Council of Europe ได้วิจารณ์การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าด้วยพระราชอำนาจทางการเมืองของเจ้าชายนั้น ไม่สอดคล้องกับหลักการในการปกครองระบอบประชาธิปไตย
เมื่อพิจารณาจากการลดพระราชอำนาจกษัตริย์ของสวีเดนและการเพิ่มพระราชอำนาจเจ้าชายของลิกเตนสไตน์แล้ว พบว่า กรณีของสวีเดนมีความสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่และลดพระราชอำนาจลงมากไปกว่าในประเทศที่มีกษัตริย์เป็นประมุขด้วยกัน จนอาจกล่าวได้ว่า สวีเดนไม่ได้ใช้ระบอบ Constitutional Monarchy แต่เป็นระบอบ Semi-Republic Semi-Monarchy
ตรงกันข้าม กรณีของลิกเตนสไตน์ที่เพิ่ม พระราชอำนาจทางการเมืองให้กับเจ้าชายค่อนข้างมาก ถึงขนาดที่เจ้าชายเป็นองค์กรหนึ่งที่ใช้อำนาจอธิปไตยโดยตรงร่วมกันไปกับรัฐสภา รัฐบาล และศาล อาจกล่าวได้ว่า ลิกเตนสไตน์ไม่ได้ใช้ระบอบการปกครองประชาธิปไตย แต่เป็นระบอบ Semi-Constitutional Monarchy
วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2550
การลดพระราชอำนาจกษัตริย์ในสวีเดน และ การเพิ่มพระราชอำนาจกษัตริย์ในลิกเตนสไตน์
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 5:01 ก่อนเที่ยง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น