วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2550

หนังสือหลายเล่มที่เปลี่ยนแปลงโลก


หนังสือ Bildung - การศึกษา โดย ดีทริค ชวานซ์ ชาวเยอรมัน ผู้เป็นศาตราจารย์ด้านวรรณคดีอังกฤษ เป็นหนังสือเสนอแนะความรู้ที่ชาวเยอรมันควรจะต้องรู้ ภายในว่าด้วยแผนที่ความรู้ในแบบแผนของตะวันตกวิทยา ประกอบด้วยประวัติศาสตร์ วรรณกรรม ดนตรี และปรัชญา ที่ข้องเกี่ยวกับวัฒนธรรมตะวันตกเป็นหลัก แต่ส่วนที่ข้าพเจ้าสนใจเป็นที่สุดของหนังสือว่าด้วยความรู้แบบสำเร็จรูปเล่มนี้ กลับเป็นส่วนที่ว่าด้วย รายชื่อหนังสือที่เปลี่ยนแปลงโลก เพราะต้องการทราบว่าในความคิดของชาวตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวเยอรมัน ให้ความสำคัญกับหนังสือเล่มใดบ้าง จึงอาจหาญขึ้นหัวข้อเรื่องว่า หนังสือที่เปลี่ยนแปลงโลก

เมื่ออ่านดูก็ประสบความผิดหวังและสมหวังไปพร้อมกัน ที่ว่าผิดหวัง ก็เพราะรายชื่อหนังสือเหล่านั้นเป็นหนังสือของฝรั่งทั้งสิ้น ของแขก ของจีน นั้นไม่เห็นเลย จึงทำให้คิดว่า น่าจะเป็นรายชื่อของหนังสือที่เปลี่ยนแปลงโลก เฉพาะเจาะจงในความคิดของชาวตะวันตกเสียมากกว่า และที่ว่าสมหวัง เห็นจะเป็นว่า ได้รู้ว่าฝรั่งคิดเห็นอย่างไร และรายชื่อหนังสือเหล่านั้นก็น่าสนใจไม่น้อย หากมีผู้แปลหนังสือเหล่านี้เป็นภาษาไทย ก็คงทำให้เราเข้าใจรากที่มาของฝรั่งวิทยาเพิ่มขึ้นได้มาก

ข้าพเจ้าจะลองเรียบเรียงรายชื่อที่ดีทริคแนะนำทั้ง ๗๐ เล่ม เขาเรียงตามชื่อผู้แต่ง และปีคริสตศักราชที่พิมพ์ครั้งแรก ผู้สนใจสามารถติดตามหาอ่านได้ตามควร

Augustinus (354-430), De Civitate Dei, 1467
งานเขียนของบิชอปแห่งฮิปโป (ทวีปอาฟริกาเหนือ) ภายหลังการล่มสลายของอาณาจักรโรมัน จุดยืนของเขาอยู่ที่การนำเสนอความเห็น ว่าด้วยการแยกศาสนจักรออกจากฝ่ายอาณาจักร เนื้อเรื่องกล่าวถึงการต่อสู้ระหว่างตัวแทนฝ่ายโลกและสวรรค์ แต่ทั้งนี้ย่อมเป็นไปตามพระประสงค์ของพระเจ้า ออกุสตินุสได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งประวัติศาสตร์ปรัชญา โดยทำให้ประวัติศาสตร์มีชีวิตชีวาและเป็นเครื่องมือนำไปสู่จุดหมาย

Flavius Petrus Iustinias (482-565), Institutiones, 1468
ตำรานิติศาสตร์และรวบรวมบทกฎหมายโรมัน ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนากฎหมายยุโรป

Claudius Ptolemus (died after 161 a.D), Cosmographia, 1477
หนังสือว่าด้วยจักรวาลที่มีโลกเป็นศูนย์กลาง และมีอิทธิพลต่อผู้คนใน ค.ศ. 2 - 17

Euclid (round 300 before Christus), Elementa Geometrica, 1483
ตำราคณิตศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดของโลก และยังใช้ได้แม้ในยุคสมัยนี้

Thomas von Aquin (1225-1274), Summa Theologiae, 1485
โธมัส แห่ง อาควิน เป็นนักปรัชญาที่ยิ่งใหญ่ในยุคกลาง เขาได้หลอมรวมปรัชญาของอริสโตเติลให้เข้ากับคริสต์ศาสนา และแสดงไว้ในหนังสือเล่มนี้

Galenus (129-199), Opera, 1490
ตำราหมอรักษาโรคต่าง ๆ และว่าด้วยส่วนผสมของธาตุน้ำในร่างกาย ที่มีอิทธิพลต่อวงการวรรณกรรมและละครในยุคนั้น

Gaius Plinius Secundus(23-79), Naturalis Historia, 1496
สารานุกรมของยุโรปยุคกลาง ว่าด้วยความรู้ในยุคโบราณ โดยอ้างอิงจากหนังสือกรีกและโรมันมากกว่าสี่ร้อยเล่ม

Herodot (485-425), Historiae, 1502
บิดาแห่งประวัติศาสตร์ หนังสือเล่มนี้ของเขาเล่าเรื่องการบุกกรีกของเปอร์เซียในปี 490-479 ก่อนคริสต์ศักราช

Thomas More (1478-1535), Utopia, 1516
เรื่องแต่งแสดงถึงดินแดนอุดมคติยูโทเปีย ต้นแบบของยูโทเปียในยุคต่อมา

Martin Luther (1483-1546), Das Neue Testament, 1522, Das Neue und das Alte Testament, 1534
มาร์ติน ลูเธอร์ บาทหลวงนักปฏิรูป และบิดาแห่งคริสต์ศาสนานิกายโปรแตสแตนท์ เมื่อเขาแปลไบเบิลภาษาละตินเป็นภาษาเยอรมัน นอกจากจะทำให้ปัจเจกได้เข้าถึงพระเจ้าโดยไม่ต้องผ่านบาทหลวงแล้ว ซึ่งเป็นการลดบทบาทอำนาจพระสันตปาปาจากโรมโดยตรง หนังสือเล่มนี้ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างภาษาเขียนเยอรมันมาตรฐาน ในยุคที่ชนชาติที่ใช้ภาษาเยอรมันยังอยู่กระจัดกระจายทั่วไปในยุโรป สุภาษิต คำคมต่าง ๆ ในภาษาเยอรมัน ล้วนอ้างอิงจากไบเบิลเล่มนี้อย่างกว้างขวาง

Baldassare Castiglione (1478-1529), II Cortegiano, 1528
ว่าด้วยมารยาทและขนบธรรมเีนียมของบรรดาขุนนาง

Niccolo Machiavelli (1496-1527), Il Principe, 1532
หนังสือที่ทำให้การเมืองเป็นเรื่องของศาสตร์ แทนที่ทรรศนะทางจริยธรรม ให้ความสำคัญกับการสร้างบุคลิกบารมีของผู้นำ ซึ่งประกอบด้วยความอาจหาญของราชสีห์ และเล่ห์ของสุนัขจิ้งจอก

Jean Calvin (1509-1564), Christianae Religionis Institutio, 1536
งานเขียนสำคัญในยุคปฏิรูปศาสนา คำสอนว่าด้วยอำนาจสูงสุดของรัฐคือพระเจ้า มนุษย์เป็นเพียงเครื่องมือของพระเจ้า และมีหน้าที่ในการทำงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด ความคิดแบบคัลวินิสมุสนั้น มีอิทธิพลต่อการเรียกร้องประชาธิปไตยในเนเธอร์แลนด์ อังกฤษ สก็อตแลนด์ และอเมริกา

Nikolaus Kopernikus (1473-1543), De revolutionibus orbium coelestium libri VI, 1543
คอปเปอร์นิคัส ผู้อาจหาญเปลี่ยนแปลงจักรวาลแบบปโตเลมี โดยประกาศว่าโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ และต้องจ่ายด้วยชีวิตของเขาเอง งานชิ้นนี้ถูกขึ้นบัญชีรายชื่อหนังสือต้องห้ามของโบสถ์ในปี ค.ศ. 1616

The Book of Common Prayer, 1549
หนังสือสวดมนต์เล่มแรกที่เป็นภาษาพื้นเมือง ในที่นี้คือภาษาอังกฤษ มีความสำคัญรองลงมาจากไบเบิล ใช้ในการประกอบพิธีทางศาสนาในโบสถ์คริสต์ นิกายอังกฤษ

Index Librorum Prohibitorum, 1559
ดรรชนีหนังสือต้องห้าม โดยพระสันตปาปาจะเป็นผู้ตรวจสอบพิจารณาว่าขัดต่อความเชื่อหรือศีลธรรมหรือไม่ ประกอบด้วยหนังสือของเดียรถีย์ ไบเบิลของนิกายโปรแตสแตนท์ คำสอนและคำสวดตลอดจนหนังสือที่ไม่ได้รับอนุญาตต่าง ๆ เล่มสุดท้ายตีพิมพ์ขึ้นในปี ค.ศ. 1948-62 มีรายชื่อหนังสือรวมกันทั้งหมดหกพันเล่ม และบังคับใช้จนถึงปีค.ศ. 1966

Giorgio Vasari (1511-1574), Le Vite de piu Excellenti Pittori, Scultori e Architettori, 1568
หนังสือเล่มแรกที่ปรากฎคำว่าเรอเนสซองท์ ว่าด้วยประวัติศิลปินในยุคนั้น

Andrea Palladio (1508-1580), I quattro Libri dell'Architettura, 1570
ตำราสถาปัตยกรรมที่มีต้นแบบจากยุคโรมันคลาสสิค มีอิทธิพลต่อสถาปัตยกรรมในอังกฤษและอเมริกา

Michel de Montaigne (1533-1592), Les Essais, 1580
บันทึกส่วนตัว แสดงอัตตวิสัยด้านความคิดและกรอบประสบการณ์ อนุสาวรีย์แห่งความคิดแบบตั้งคำถาม ซึ่งมีอิทธิพลต่อวรรณกรรมในยุคถัดมา

The Holy Bible or The authoized Version or King James Bible, 1611
ไบเบิลภาษาอังกฤษ อันเป็นผลของการเรียกประชุมบาทหลวงมาร่วมสังคายนา ในรัชสมัยของพระเจ้าเจมส์ที่หนึ่ง

Francis Bacon (1561-1626), Instauratio Magna (The Advancement of Learning and Novum Organum), 1620
ฟรานซิส เบคอนได้จำแนกประเภทของศาสตร์ต่าง ๆ วางระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์ ปรับใช้ตรรกศาสตร์ตามแบบของอริสโตเติล กำหนดกรอบการค้นคว้าวิจัย สร้างตัวอย่างสมมติฐาน เพื่อกระตุ้นให้วงการวิจัยตื่นตัวและสนับสนุนองค์กรความรู้ต่าง ๆ ในวงกว้าง เขาได้ยกเลิกธรรมเนียมดั้งเดิมและสนับสนุนการค้นคว้าโดยการทดลอง เขามีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อศาสตร์ต่าง ๆ ในสมัยหลัง สารานุกรมของฝรั่งเศสยังได้มอบคำอุทิศให้แก่เขา สภาปฏิวัติของฝรั่งเศสยังมีมติให้ตีพิมพ์งานของเขา โดยรัฐเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย

Galileo Galilei (1564-1642), Dialogo sopra i Due Massimi Sistemi del Mondo, Tolemaico e Copernicano, 1632
บทสนทนาว่าด้วยความชื่นชมในการค้นพบของคอปเปอร์นิคัส เกี่ยวกับภาพจักรวาลแบบใหม่ และเสียดเย้ยพวกหัวเก่าที่ยังรั้นดื้อปกป้องความเชื่อแบบเดิม หนังสือเล่มนี้ทำให้กาลิเลโอต้องขึ้นศาลศาสนา และถูกบังคับให้ยกเลิกสิ่งที่เขียน หนังสือเล่มนี้อยู่ในบัญชีหนังสือต้องห้ามตั้งแต่ปีค.ศ. ๑๘๒๘ จนถึงปีค.ศ. ๑๙๙๒ พระสันตปะปาจึงได้ประกาศให้คำพิพากษาคดีนี้เป็นโมฆะ

Rene Descartes (1596-1650), Discours de la methode, 1637
หนังสือที่เปรียบเสมือนอิฐก้อนแรกของปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่ ว่าด้วยการวางพื้นฐานของศาสตร์ต่าง ๆ บนหลักการสามข้อ ๑. ความมั่นใจในความตระหนักรู้ (Cognito ergfo sum - ข้าคิด ข้าจึงเป็น) ๒. การค้นหาสัจจะโดยผ่านกระบวนการคิด ๓. การทำความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ด้วยมิติของอวกาศ

Thomas Hobbes (1588-1679), Leviathan, 1651
งานเขียนว่าด้วยรัฐศาสตร์การเมือง อำนาจสูงสุดของรัฐนั้นจะชอบธรรมได้ ด้วยการตกลงที่จะให้ความคุ้มครองแก่พลเมืองทุกคน รัฐจะเป็นผู้เดียวที่มีอำนาจ ศีลและจริยธรรมถูกลดบทบาทให้เป็นเพียงเรื่องส่วนบุคคล ฮ็อบส์เคยผ่านสงครามกลางเมือง ซึ่งแต่ละฝ่ายต่างประกาศความชอบธรรมส่วนตน และประนามฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นอาชญากร ก่อให้เกิดสงครามทำลายล้างกันอย่างเลวร้าย งานเขียนชิ้นนี้ยังคงมีลมหายใจอยู่แม้ในยุคปัจจุบัน

Blaise Pascal (1623-1662) Pensees, 1670
ปาสคาลเป็นพวกนิยมยานเซน (แนวคิดของนักเทววิทยาชาวเนเธอร์แลนด์ ค.ศ. ๑๕๘๕ - ๑๖๓๘ ซึ่งมีอิทธิพลมากในช่วงคริสตศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗) ซึ่งมักจะเน้นย้ำถึงธรรมชาติมนุษย์ด้านลบ และความปราศจากความเมตตา ด้วยความเชื่อดังกล่าว เขาได้ขยายทัศนะความเชื่อที่มีต่อศาสนามาสู่ระบบตรรก และนำไปสู่ทัศนะต่อจิตวิญญาณของมนุษย์ที่ว่า "จิตใจย่อมมีตรรกกะเป็นของตน ซึ่งแม้ตรรกกะเองก็ไม่สามารถทำความเข้าใจได้"

Baruch Spinoza (1632-1677), Tractatus Theologico-Politicus, 1670
ว่าด้วยคำฟ้องต่อรัฐ โดยการเรียกร้องให้เป็นผู้คงไว้ซึ่งความยุติธรรม ความผ่อนปรน และเสรีภาพในการพูดและความคิด เป็นพื้นฐานว่าด้วยสิทธิมนุยชนขั้นพื้นฐาน และตั้งประเด็นว่าด้วยการแยกศาสนาออกจากปรัชญา คำสอนของเขาทำให้ตัวเขาเอง - เชื้อสายชาวยิวซึ่งอพยพมาจากสเปนในฮอลแลนด์ - ถูกขับออกจากกลุ่มชาวยิวในอัมสเตอร์ดัม

John Bunyan (1628-1688), Pilgrim's Progress, 1678
หนังสือของพวกลัทธิพูริแทนที่แพร่หลายที่สุด ว่าด้วยการแสดงภาพการจาริกของชีวิต ที่เต็มไปด้วยการทดสอบและการยั่วยวนหลากรูปแบบ ผ่านสำนวนภาษาบรรยายภาพเหมือนจริง ทำให้หนังสือเล่มนี้ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ ถึง ๑๔๗ ภาษา เปรียบได้กับอนุสาวรีย์ของจิตใจแบบพูริแทน

Sir Isaac Newton (1643-1727), The principle of science
ทฤษฎีไดนามิกซึ่งแสดงให้เห็นว่า ปรากฎการณ์ต่าง ๆ ของระบบสุริยะจักรวาล สามารถอธิบายและทำนายได้ ด้วยกฎไดนามิกและแรงดึงดูด หนังสือเล่มนี้เป็นงานชิ้นสำคัญในประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ โดยนำความรู้ในขณะนั้นมาสังเคราะห์เข้าด้วยกันใหม่อย่างเป็นระบบ ทั้งยังแสดงภาพของโลกมนุษย์แบบใหม่ ซึ่งประกอบด้วยกฎของเหตุผลและกลไก เป็นการปฏิเสธอำนาจของพระเจ้าอย่างชัดเจน

John Locke (1632-1704), Two Treatises on Government, 1690
ธรรมนูญของลัทธิเสรีนิยม ว่าด้วยการแบ่งอำนาจการปกครองเป็นส่วนต่าง ๆ โดยให้เหตุผลว่า ผู้ถูกปกครองต้องเห็นชอบกับผู้ปกครอง ผู้ปกครองจึังไม่สามารถใช้อำนาจอย่างสัมบูรณ์ได้ และจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบ งานเขียนชิ้นนี้มีอิทธิพลต่อการพัฒนาแนวความคิดแบบประชาธิปไตย และการปกครองโดยรัฐบาลตัวแทน

Giambattista Vico (1668-1744), Prinzipien einer neuen Wissenschaft von der gemeinsamen Natur der Voelker, 1725
พื้นฐานของประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ซึ่งให้เหตุผลว่า ประวัติศาสตร์มีที่มาจากการกระทำของมนุษย์ และเราสามารถทำความเข้าใจได้มากกว่ากฎของธรรมชาติ วิโคได้แสดงให้เห็นภาพคู่ขนานของปัจเจกบุคคลและสังคม ว่าวัฒนธรรมก็มีวัฏจักรชีวิตเช่นเดียวกับชีวิตมนุษย์ที่เริ่มจากเด็ก เป็นผู้ใหญ่ และแก่ชรา ได้ ทั้งเขายังได้ค้นพบรหัสยนัยที่แฝงอยู่ในภาษา ตำนาน และวัฒนธรรม เขาเป็นต้นแบบทางความคิดต่อนักปรัชญาสมัยหลัง อย่างเฮเกล แฮร์เดอร์ และชเปงเลอร์ เป็นต้น

Albrecht von Haller (1708-1777), Versuch Schweizerischer Gedichte, 1732
หนังสือรวมบทกวีเล่มนี้ นอกจากจะเปิดโลกทัศน์ใหม่ต่อขุนเขา โดยกล่าวถึงความงาม ความยิ่งใหญ่ ซึ่งแต่ก่อนถูกมองว่าลึกลับ และอันตราย ยังเปรียบเสมือนประตูนำไปสู่การท่องเที่ยวของมนุษย์อีกด้วย

Carl von Linne (1707-1778), Systema Natura, 1735
ว่าด้วยพื้นฐานทางพฤกษศาสตร์และสัตวศาสตร์ โดยการแบ่งชนิดของพืชและสัตว์ตามประเภท และพันธุ์ ลินน์เป็นผู้ริเริ่มระบบการตั้งชื่อสิ่งมีชิวิต ด้วยภาษาละติน ซึ่งประกอบไปด้วยสองชื่อ ชื่อแรกบอกประเภท ตามด้วยชื่อที่บอกพันธุ์ ดังเช่น สิงโตและเสือต่างก็เป็นแมว จึงมีชื่อว่า felis leo และ felis tigris ตามลำดับ

Encyclopedie by Diderot and d'Alembert, 17 Baende, 1751-1765
หนังสืออันเป็นเสมือนหมุดหมายสำคัญ ในการล้มล้างระบอบเก่าก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส เมื่อชนชั้นปัญญาชนที่ได้รับอิทธิพลมาจากปรัชญาฝั่งอังกฤษ ก็มองเห็นว่าการจะนำคนหมู่มากไปให้พ้นจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชได้ จำเป็นจะ้ต้องทำให้ความรู้เป็นสิ่งที่เข้าถึงได้สำหรับคนหมู่มาก สาราณุกรมชุดนี้ถูกจัดทำขึ้นด้วยเหตุผลดังกล่าว ประชาชนใช้หนังสือเล่มนี้เป็นตำราในการฝึกอ่านในยามว่าง พักผ่อนจากการงาน ตลอดจนชั้นเด็กก็ยังอ่าน และในที่สุดก็เกิดปัญญา หลอมความคิด ความรู้สึกร่วมกัน ถึงความไม่เป็นธรรมที่มีอยู่ในขณะนั้น

Francois Marie Arouet de Voltaire (1694-1778), Essay ueber die Universalgeschichte und die Sitten und den Geist der Voelker, 1756
วอลแตร์เขียนประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและ ปรัชญาประวัติศาสตร์ ตามแบบของออกุสตินุส โดยบรรยายภาพประวัติศาสตร์โลก ว่าเปรียบเสมือนกงล้อที่หมุนไปสู่ทิศทางเบื้องหน้าได้ หากประชาชนจะต้องช่วยกันผลักกงล้อนั้น

Jean-Jacques Rousseau (1712-1778), Vom Gesellschaftsvertrag, 1762
คัมภีร์ทางความคิดอันนำไปสู่การปฏิวัติฝรั่งเศส ว่าด้วยการกลับไปหาธรรมชาติดั้งเดิม ที่ประกอบด้วยความเท่าเทียมกันของมนุษย์ และล้มล้างสิ่งที่เป็นอุปสรรคในการสร้างสังคม อันประกอบด้วยความกรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ทั้งปวง

Johann Joachim Winckelmann (1717-1772), Geschichte der Kunst des Alterthums, 1764
งานเขียนชิ้นนี้แสดงความคิดและความเข้าใจในอารยธรรมยุโรป ผ่านการชื่นชมความงามของศิลปะกรีก

Johann Gottfried Herder (1744-1803), Abhandlung ueber den Ursprung der Sprache, 1772
แฮร์เดอร์ให้ความสนใจเกี่ยวกับการพัฒนาด้านความคิดผ่านภาษา และกระตุ้นให้เกิดการศึกษาภาษาศาสตร์ ในลักษณะที่พิจารณาภาษาร่วมกับวัฒนธรรม เขาคาดหวังคำอธิบายในทางภาษาศาสตร์ ว่าจะช่วยนำไปสู่ความเข้าใจในมนุษย์ได้ แนวคิดของเขามีส่วนช่วยให้ชาวยุโรปตะวันออกกลาง ค้นหาอัตลักษณ์ทางเชื้อชาติตนผ่านภาษาอย่างจริงจัง ด้านหนึ่งก็นำไปสู่ปรัชญา อีกด้านหนึ่งก็นำไปสู่ พวกบ้าภาษา

Adam Smith (1723-1790), The Wealth of Nations, 1776
งานชิ้นแรกและชิ้นสำคัญทางด้านเศรษฐศาสตร์ สมิธเห็นว่าการแข่งขันจะทำให้เกิดการแบ่งงาน ซึ่งเป็นเสมือนเครื่องจักรขับเคลื่อนในการเพิ่มผลผลิต และความเจริญทางเศรษฐกิจ ถ้าหากรัฐเข้าแทรกแซง ไม่ว่าจะด้วยการสนับสนุนหรือปกป้องคุ้มครองคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จะทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก แต่ถ้าหากปล่อยให้มีการแข่งขันโดยเสรี จะมีมือที่มองไม่เห็นเข้ามาจัดการ ให้การหาผลประโยชน์ของแต่ละคนนำไปสู่ความอยู่ดีกินดีของทั้งหมด หนังสือที่เปรียบเสมือนคัมภีร์สำคัญของลัทธิเสรีนิยมเล่มนี้ ในสายตาของลัทธิสังคมนิยมแ้ล้ว กลายเป็นหนังสือของคนขี้ฉ้อ และเป็นตัวอย่างสำคัญอันน่าหัวร่อของความเชื่อตามแบบอุดมคตินิยม

Immanuel Kant (1724-1804), Kritik der reinen Vernunft, 1781
คันท์แสดงให้เห็นว่า มนุษย์เราไม่สามารถมองสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างที่เป็น ได้แต่มองผ่านกรอบประสบการณ์ แนวคิดของคันท์ได้ก่อให้เกิดหมายหลักในประวัติศาสตร์ปรัชญา แยกระหว่าง ยุคก่อนวิพากษ์ และยุคหลังวิพากษ์

Edmund Burke (1729-1797), Reflections on the Revolution in France, 1790
งานเขียนในรูปแบบจดหมาย เบิร์กแสดงภาพของสังคมว่าเปรียบเสมือนระบบนิเวศน์ ซึ่งถูกโจมตีด้วยการปฏิวัติอันรุนแรง และนำไปสู่สภาพสับสนวุ่นวายไร้ระเบียบจนล่มสลายในที่สุด สำหรับเขาแล้ว รัฐธรรมนูญมิได้เป็นเพียงสนธิสัญญาสังคมที่อยู่บนพื้นฐานของกฎธรรมชาติ หากแต่เป็นสนธิสัญญาที่ครอบคลุมเหนือกาลเวลา ระหว่างผู้ลาจากโลกนี้ไปแล้ว ผู้ีมีชีวิตอยู่ และผู้ที่ยังไม่ได้ถือกำเนิดขึ้นมา เป็นฐานรากของประเพณี และไม่อาจจะถูกทำลายไปได้โดยง่าย

Thomas Paine (1731-1809), The Rights of Man, 1791
เพนตอบคำถามของเบิร์ก ในฐานะผู้นิยมฝ่ายปฏิวัติ ด้วยการย้ำน้ำหนักความสำคัญของสิทธิมนุษยชน เขาร้องขอให้รื้อทำลายระบบเจ้าและขุนนาง สร้างระบบการศึกษาของรัฐ และการแบ่งปันความมั่งคั่งด้วยกระบวนการเก็บภาษีแบบก้าวหน้า ท่วงทำนองดุดันของหนังสือนำไปสู่การก่อตั้งกลุ่มหัวรุนแรงในอังกฤษ

Mary Wollstonecraft (1759-1797), A Vindication of the Rights of Woman, 1792
นักเขียน ภริยาของนักปรัชญา ก็อดวิน และมารดาของนักเขียนเรื่องแฟรงเกนสไตน์ แมรี เชลลี ได้เรียกร้องให้มีระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับทั้งสองเพศ อันเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเท่าเทียมกันระหว่างทั้งสองเพศ ทั้งยังร้องขอให้พิจารณาบทบาทของเพศหญิง ที่ถูกจำกัดให้เป็นเพียงวัตถุทางเพศ ผู้ดูแลเรือน และมารดา งานเขียนชิ้นนี้ทำให้เธอกลายเป็นหนึ่งในวีรสตรีผู้เรียกร้องสิทธิสตรีของโลก

Thomas Malthus (1766-1834), An Essay on the Principle of Population, 1798
งานเขียนชิ้นนี้มุ่งหมายให้เป็นการตอบคำถามต่อก็อดวิน นักปรัชญาผู้มองโลกในแง่บวก มัลธัสแย้งว่าการพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น จะนำไปสู่การเพิ่มจำนวนประชากร และจะเป็นอุปสรรคในการพัฒนา ประชากรมนุษย์จะเพิ่มจำนวนเร็วกว่าทรัพยากร ดังนั้นอัตราความยากจนเพียงแต่ลดลงแต่ไม่สามารถทำให้หมดไปได้ หนังสือเล่มนี้นำไปสู่ความสับสนภายใต้การปฏิรูป กล่าวหาคนยากไร้ที่เพิ่มจำนวนอย่างไม่จำกัด และเป็นพื้นฐานนำไปสู่การคุมกำเนิด ดาร์วินได้รับอิทธิพลจากแนวคิดนี้ และพัฒนาไปสู่ความคิดว่าด้วยการคัดเลือกตามธรรมชาติ ที่จำนวนประชากรจะถูกจำกัดด้วยจำนวนอาหาร

George Friedrich Wilhelm Hegel (1770-1831), Phaenomenologie des Geistes, 1807
ภาพร่างของประวัติศาสตร์โลกในรูปแบบของกระบวนการตระหนักรู้ของจิตวิญญาณ ระดับขั้นของจิตวิญญาณนั้นขึ้นกับความสัมพันธ์ระหว่างภาวะตระหนักรู้กับโลก ได้แก่ จิตวิญญาณแบบอัตตวิสัย (จิตวิทยา) จิตวิญญาณแบบภววิัสัย (จริยธรรม การเมือง) และจิตวิัญญาณสัมบูรณ์ (ศิลปะ ศาสนา ปรัชญา ตรรกศาสตร์) ระบบเฮเกลประกอบไปด้วยลำดับขั้นเหล่านี้ เฮเกลเสนอปรัชญาประวัติศาสตร์โลก ว่าประวัติศาสตร์ล้วนประกอบด้วย สมมติฐาน สมมติฐานตรงข้าม และการสังเคราะห์ แนวความคิดของเขานำไปสู่การแยกอุดมคตินิยมของฝ่ายขวาและซ้ายในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ และ ๒๐ ในที่สุด

Walter Scott (1771-1832), Waverley, 1814
หนังสือเล่มนี้เป็นต้นแบบนิยายอิงประวัติศาสตร์ยุคถัดมา สก็อตต์สร้างตัวละครขึ้นมาโดยจับเข้ากับบุคคลในประวัติศาสตร์ เนื้อหาในเรื่องเกี่ยวกับกลุ่มกบฏในยุคสมัยของเจ้าชายชาร์ลี ตรงกับ ค.ศ. ๑๗๔๐ ในสก็อตแลนด์ ขนบของนิยายอิงประวัติศาสตร์เหล่านี้พบได้ใน โมฮิคันคนสุดท้าย ของเจมส์ เฟนิมอร์ คูปเปอร์ อ้ายค่อมแห่งนอตเตอร์ดัม ของวิคเตอร์ อูโก สามทหารเสือ ของอเล็กซานเดอร์ ดูมาส์ และสงครามและสันติภาพ ของลีโอ ตอลสตอย

Franz Bopp (1791-1867), Ueber das Conjugationssystem der Sanskritsprache im Vergleich mit jenen der griechischen, lateinischen, persischen und germanischen Sprache, 1816
ผู้เขียนได้แสดงให้เห็นถึงระบบความสัมพันธ์ระหว่างภาษา ในกรณีนี้หมายถึง ตระกูลภาษาอินโดเยอรมัน และได้วางรากฐานภาษาศาสตร์แบบเปรียบเทียบ

Jacob Grimm (1785-1863), Deutsche Grammatik, 1819-37
งานต่อเนื่องจากบอปป์นี้ กริมม์ได้อธิบายความแตกต่างระหว่างภาษาตระกูลเยอรมัน และญาติทางภาษาตระกูลอินโดเยอรมัน ทั้งยังค้นพบกฎการกลืนเสียงโดยการเชื่อมระหว่างคำกริยา สร้างกฎกริมม์ว่าด้วยการกลืนเสียง อันก่อให้เกิดความแตกต่างระหว่างภาษาเยอรมันกลาง และภาษาอื่น เช่นคำว่า water - Wasser

Leopold von Ranke (1795-1886), Zur Kritik neuerer Geschichtsschreiber, 1824
งานพื้นฐานและแสดงมาตรฐานของการเขียนประวัติศาสตร์แบบวิพากษ์ โดยการกลับไปตรวจสอบแหล่งอ้างอิง รังเคอร์ปฏิเสธที่จะเป็นครู เพียงแต่ต้องการแสดงให้เห็นว่า "ของมันเคยเป็นอย่างไร" เขาได้ทำให้ประวัติศาสตร์กลายเป็นศาสตร์ขึ้นมา

Auguste Comte (1798-1857), Cours de Philosophie Positive, 6 Bde., 1835-42
อิทธิพลความคิดแบบเฮเกลปรากฎอยู่เด่นชัด โดยการแบ่งระดับจิตวิญญาณมนุษย์เป็นสามขั้น ได้แก่ ช่วงศรัทธา ซึ่งเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงหนึ่งเดีว ช่วยเปลี่ยนผ่าน ซึ่งกลับไปสู่นามธรรม ช่วงคิด "บวก" ซึ่งมิได้ตั้งสนใจเป้าหมายและต้นกำเนิด แต่สนใจเหตุ กฎ และความสัมพันธ์ วิชาต่าง ๆ ถูกแบ่งเป็นลำดับขั้น โดยมีสังคมศาสตร์อยู่ด้านบนสุด หนังสือเล่มนี้เสนอนิยามของ แนวคิดแบบ "บวก" ว่าคือสิ่งที่พิสูจน์ได้ คอมเตเสนอว่าธรรมนูญสังคมก็มีอยู่สามแบบ ตามลำดับขั้นของสังคมสามขั้น โดยธรรมนูญแบบบวกนั้นเหมาะสมกับสังคมอุตสาหกรรม แนวคิดนี้มีอิทธิพลอย่างยิ่งในหมู่นักวิชาการของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ และ ๒๐ อย่างไรก็ตามในช่วงยุคซิกตีส์ ก็มีข้อถกเถียงของลัทธิบวก ระหว่างโรงเรียนฟรังค์เฟิร์ตที่นิยมมาร์กซิสใหม่ และตัวแทนแนวคิดบวกของกลุ่มตรรกนิยมแบบวิพากษ์ (อัลเบิร์ต ปอปเปอร์) เกี่ยวกับวิธีการทางสังคมศาสตร์

Karl von Clausewitz (1780-1831), Vom Krieg, 1832
ผู้เขียนได้แสดงให้เห็นว่าสงครามเป็นเพียงเครื่องมือของการเมือง และได้ย้ำบทบาทความสำคัญของจริยธรรมและระเบียบวินัย ว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการทำสงคราม นิยามยุทธศาสตร์ว่าเป็นความผกผันต่อเนื่องของการรุกและรับ และวิพากษ์การวางแผนการรบแบบตายตัว เคลาส์เซวิทซ์ได้เข้าร่วมสงครามต่อต้านนโปเลียนเกือบทุกครั้ง ทำงานด้านการปฏิรูปของพรอยเซน และเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนทหารของเบอร์ลิน

Rowland Hill (1795-1879), Post Office Reform; Its Importance and Practicability, 1837
คำแนะนำว่าด้วยการปรับปรุงการไปรณีย์ บนหลักพื้นฐาน ๕ ประการ ได้แก่ ดวงตราไปรษณียกร ซองจดหมาย ค่าธรรมเนียมก่อนส่ง ค่าใช้จ่ายตามน้ำหนัก และอัตรามาตรฐานสำหรับระยะทางเดียวกัน ภายหลังการพิจารณาโดยราชกรรมการ ข้อเสนอนี้ก็ผ่านการยอมรับ ดวงตราไปรษณียกรดวงแรกเป็นภาพเหมือนของพระราชินีวิคตอเรีย และการไปรษณีย์ก็ถูกปฏิรูปตามข้อเสนอของฮิลล์ พร้อมกับผลกระทบที่คาดไม่ถึง - คนจนก็สู้ราคาจดหมายได้ นักบุกเบิกดินแดนใหม่ในอเมริกา ก็เริ่มเขียนจดหมายถึงบ้านเป็นจำนวนมาก เรียกว่าเป็นภูเขาเลากาก็ว่าได้

Friedrich List (1789-1846), Das nationale System der politischen Oekonomie, 1841
ลิสต์มีความเห็นตรงข้ามกับอดัม สมิธ ในข้อที่มองว่าความอยู่ดีกินดีของประเทศชาติ ไม่ได้อยู่ที่การค้าและการแบ่งงานกันทำ้ระหว่างประเทศ แต่อยู่ที่การจัดการทรัพยากรในประเทศของตน เขาจึงเป็นผู้นำในการรวมประเทศเยอรมัน ด้วยการก่อตั้งสมาคมศุลกากร หนังสือของเขากลายเป็นคัมภีร์ว่าด้วยกำแพงภาษี

Harriet Beecher-Stowe (1811-1896), Uncle Tom's Hut, 1852
ตัวเอกของหนังสือเล่มนี้เป็นชายแก่ ทาสนิโกรที่น่านับถือ มีความจงรักภักดีต่อนายผิวขาว และลูกสาวเป็นที่สุด แต่ในท้ายที่สุดแล้ว ภายหลังการทดสอบความอดทนหลายต่อหลายครั้ง ก็ถูกคนผิวขาวทารุณกรรมจนถึงแก่ชีวิต ฉากที่เรียกน้ำตาและน่าตรึกตรองเป็นฉากเผชิญหน้าความตายของอีวาน้อย ลูกสาวของนาย และการหลบหนีของทาสหญิงกับลูกอ่อนผ่านทุ่งน้ำแข็งในโอไฮโอ นิยายเล่มนี้เขียนขึ้นสนองตอบกฎหมายว่าด้วยการติดตามทาสที่หลบหนี อารมณ์สะเทือนใจของหนังสือมีผลกระทบต่ออเมริกาทั้งประเทศ เหนือหนังสือเล่มอื่นใด ประธานาธิบดีลินคอล์นเอ่ยถึงนักเขียนผู้นี้ว่า เป็น "สุภาพสตรีน้อย" ผู้ที่เราต้องระลึกถึงอยู่เสมอในระหว่างสงครามกลางเมือง

Arthur Graf von Gobineau (1816-82), Essay ueber die Ungleichheit der menschlichen Rassen, 1853-55
งานเขียนตอบโต้การปฏิวัติฝรั่งเศส โดยชี้ว่า ชนชั้นขุนนางฝรั่งเศสมีความชอบธรรมในการปกครอง เหนือกว่าพวกกัลเลียร์ชนชั้นล่าง เขาอธิบายความพ่ายแพ้ของชนชั้นนำว่าเกิดจากการผสมข้ามชาติพันธุ์ ผู้เขียนได้บัญญัติคำอันเป็นต้นแบบของการแบ่งแยกชาติพันธุ์ของพวกนาซี ทั้งยังถือว่าชาวเยอรมันไม่ได้มาจากเผ่าเยอรมันเดิม แต่เป็นลูกผสมระหว่างชาวเคลท์และสลาฟ และเลือดเยอรมันเดิมอีกนิดหน่อย

Charles Darwin (1809-1882), Von der Entstehung der Arten durch natuerlichen Zuchtwahl, 1859
คำอธิบายทฤษฏีวิวัฒนาการ ว่าด้วยการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมเพื่อความอยู่รอดของสิ่งมีชีวิต หนังสือเล่มนี้สั่นสะเทือนความเชื่อพันกว่าปีที่่ว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างสิ่งมีชีวิต รวมทั้งมนุษย์ เป็นการยากที่จะยอมรับได้ว่ามนุษย์มีวิวัฒนาการมาจากลิงชิมแปนซี แนวความคิดเรื่องวิวัฒนาการนี้ยังคงเป็นแนวคิดที่ได้รับการยอมรับอยู่จนถึงปัจจุบัน

John Stuart Mill (1806-1873), On Liberty, 1859
งานเขียนอันเป็นตัวแทนเลื่องชื่อของกลุ่มยูลิทาร์ ซึ่งถือว่าความสุขของคนส่วนใหญ่เป็นปัจจัยสำคัญ ในการพิจารณาด้านศีลธรรมและการเมือง มิลล์แย้งว่าความสุขของคนส่วนใหญ่ผูกพันเกี่ยวข้องกับเสรีภาพของปัจเจกบุคคล เขาเปลี่ยนทัศนคติของสังคมในการแสดงความเห็นอย่างเสรี มีใจกว้างต่อความคิดแบบใหม่ ตลอดจนความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการ

Johann Jacob Bachofen (1815-1887), Das Mutterrecht, 1861
ผู้เขียนเสนอภาพวิวัฒนาการของระเบียบสังคม ตั้งแต่สังคมกรีกโบราณเป็นต้นมา โดยชี้ให้เห็นว่าผู้นำชายในยุคปัจจุับัน เป็นผู้ล้มล้างสังคมผู้หญิงเป็นใหญ่ในยุคก่อน เขาให้เหตุผลจากประเพณีบูชาเทพธิดา และการสืบสกุลทางผู้หญิง ถึงแม้ข้อสรุปของเขาออกจะเกินเลยไปบ้าง แต่ก็ช่วยขยายมุมมองทางด้านชาติพันธุ์วิทยาออกไปอีกมาก

Walter Bagehot (1826-1877), The English Constitution, 1867
เนื่องจากอังกฤษไม่มีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษร หนังสือเล่มนี้จึงเป็นเหมือนหนังสือเพิ่มเติม ที่ใช้อ้างอิงได้ หากต้องการถกปัญหารัฐธรรมนูญขึ้นมา

Karl Marx (1818-1883), Das Kapital, 1867
มาร์กซ์ เริ่มด้วยบทวิพากษ์ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์พลเมือง อธิบายกระบวนการใช้ทรัพยากร ซึ่งแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ในสังคมระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง วิเคราะห์ความผันเปลี่ยนของสินค้าระหว่างประโยชน์ในการใช้และแลกเปลี่ยน ไปจนถึงการอธิบายอิทธิพลเงินตราต่อความสัมพันธ์ในสังคม อันนำไปสู่ความแปลกแยก งานชิ้นนี้เป็นงานเขียนทรงอิทธิพลอย่างยิ่งต่อลัทธิสังคมนิยม และถือได้ว่าเป็นรากฐานของการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ โดยนำภววิสัยของความรู้มาใช้แทนความศรัทธา ความคิดในงานชิ้นนี้มีผลกระทบโดยตรงน้อยกว่าการตีความของเหล่าสาวก อย่างเลนิน และคนอื่น ๆ

Heinrich Schliemann (1822-1890), Trojanische Altertuemer, 1874
บทบันทึกการค้นพบเมืองทรอย ถึงแม้นักโบราณคดีรุ่นหลังจะเป็นผู้พิสูจน์ว่า เมืองทรอยนั้นเป็นเมืองทรอยที่ระบุโฮเมอร์ระบุไว้หรือไม่ แต่ก็ถือว่าชลีมันน์เป็นผู้ค้นพบคนแรก

Cesare Lombroso (1836-1909), L'Uomo deliquente, 1876
ผู้เขียนนิยามอาชญากรรมว่าเป็นปรากฎการณ์ของความบกพร่องทางกายภาพ และขยายมุมมองเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างพยาธิวิทยาและการประกอบอาชญากรรม ก่อให้เกิดผลกระทบเกี่ยวกับมุมมองว่าด้วยความวิกลจริต การพิพากษาและการรักษา ตลอดจนการแยกแยะการก่ออาชญากรรมแบบไม่ตั้งใจ และกระทำซ้ำ

Friedrich Nietzsche (1844-1900), Also sprach Zarathustra, 1883-85
นิยายปรัชญาและบทกวี เนื้อหากล่าวถึงซาราธูสทรา นักปรัชญาชาวเปอร์เซียผู้ซึ่งประกาศคำสอนของสิ่งเหนือมนุษย์ ซึ่งอยู่ในฐานะของพระเจ้า เฉลิมฉลองปัจจุบันกาลแทนที่อดีต สรรเสริญวีรบุรุษและอำนาจ และเปิดโปงการทำความดีของคริสเตียนว่าเป็นภาพมายาอันเกิดจากความอ่อนแอ

Frederick Jackson Turner (1861-1932), The Significance of the Frontier in American History, 1894
ผู้เขียนให้น้ำหนักการประกาศอิสรภาพของอเมริกากับทางตะวันตก มากเสียกว่าสงครามประกาศอิสรภาพกับอังกฤษ โดยให้เหตุผลว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างสังคมใหม่ขึ้นมา เหล่าผู้บุกเบิก ชาวนา บาทหลวง พ่อค้า ล้วนเป็นวีรบุรุษของสังคมเกิดใหม่ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีบทบาทในการสร้างระบบกฎหมายและองค์กรต่าง ๆ ขึ้นมา หนังสือเล่มนี้ได้ให้ภาพของอเมริกัน อันเป็นต้นแบบของตำนานหนังฮอลลีวูดและขนบหนังคาวบอย ที่มักจะมีนายอำเภอผู้รักษากฎหมายเป็นตัวเอกของเรื่อง

Theodor Herzl (1860-1904), Der Judenstaat, 1896
กรณีืเดรย์ฟัสอันอื้อฉาวในฝรั่งเศส ทำให้เรื่องการล้างชาติพันธุ์ยิวอันเป็นเสมือนข้อต่อระหว่างชนชั้นนำฝ่ายปฏิกิริยา และชนกลุ่มน้อย ปรากฎภาพชัดขึ้น แฮร์เซิลได้ยืนยันถึงความจำเป็นในการก่อตั้งรัฐยิวขึ้นในปาเลสไตน์ ภายหลังการตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ได้ก่อให้เกิดการประชุมก่อตั้งรัฐยิวขึ้นเป็นครั้งแรกในบาเซล ค.ศ. ๑๘๙๗ และมีการก่อตั้งองค์กรก่อตั้งรัฐยิวขึ้น ด้วยการผลักดันของเคม ไวซ์มันน์ และนาฮุม โซโคลอฟฟ์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ลอร์ด บัลโฟร์ ได้ตกลงให้มีการเตรียมการก่อตั้งรัฐยิวขึ้นในปี ค.ศ. ๑๙๑๗ และสำเร็จเสร็จสิ้นในปี ค.ศ. ๑๙๔๘

Sigmund Freud (1856-1939), Die Traumdeutung, 1900
งานว่าด้วยพื้นฐานทฤษฎีจิตวิทยาวิเคราะห์และภาคปฏิบัติ เป็นต้นว่า ปมอีดีปุส ทฤษฎีความพอใจ การไขรหัสสัญลักษณ์ การแบ่งสภาพจิตเป็นตัวตนและจิตใต้สำนึก ทฤษฎีด้านประสาทวิทยาและอาการ กระบวนการรับรู้ ฯลฯ

Wladimir Iljitsch Lenin (1870-1924), Was tun?, 1902
เลนินขยายความคิดมาร์กซ์เพิ่มเติม ในส่วนของการสนับสนุนให้มีพรรคการเมืองกลางของเหล่านักปฏิวัติอาชีพ เพื่อให้ยุทธศาสตร์การใช้อำนาจปฏิวัติมาแทนที่การต่อสู้ระหว่างชนชั้น

Frederick Winslow Taylor (1856-1925), The Principle of Scientific Management, 1911
แผนการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต ด้วยการสร้างมาตรฐานของงาน การประสานงาน และการจ่ายค่าตอบแทนตามผลที่ได้ ความคิดนี้ถูกโจมตีอย่างมากจากฝ่ายสังคมนิยม แต่ก็ถูกนำไปใช้อย่างทันทีทันควันภายหลังการปฏิวัติเดือนตุลาในรัสเซีย

Albert Einstein (1879-1955), Grundlagen der allgemeinen Relativitaetstheorie, 1914/15
บทพิสูจน์ว่าด้วยการเฝ้ามองขึ้นกับสถานที่ในการมอง และไม่มีอวกาศและเวลาแบบภววิสัย ดังตัวอย่างที่ว่า หากยานอวกาศซึ่งเดินทางด้วยความเร็วใกล้แสงเดินทางไปยังดาวที่อยู่ไกล ๑๐๐ ปีแสง ผู้เดินทางจะรู้สึกว่าใช้เวลาเพียงสิบปี และเมื่อย้อนกลับมาโลกก็จะเป็นยี่สิบปี แต่เวลาในโลกผ่านไปแล้วสองร้อยปี ดังนี้จะเป็นว่า สำหรับชาวโลกแล้ว ยานอวกาศนั้นเดินทางมาจากอดีต แต่สำหรับนักบินอวกาศ เขาได้เดินทางมาสู่อนาคต

Oswald Spengler (1880-1936), Der Untergang des Abendlandes, 1918-22
คำอธิบายทางประวัติศาสตร์ปรัชญา ซึ่งมองว่าทุกวัฒนธรรมก็มีวงจรชีวิตเช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตอื่น คือต้องผ่านวัยรุ่น เบิกบาน สุกงอม และร่วงโรย ชเปงเลอร์เปรียบเทียบวัฒนธรรมอียิปต์ บาบิโลน อินเดีย กรีก-โรมัีน อาหรับ เม็กซิกัน และตะวันตก โดยเขาทำนายว่าจะมีการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยไปสู่สภาพสมบูรณ์ หนังสือเล่มนี้ขายดีมาก ในบรรยากาศอึมครึมช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑

Adolf Hitler (1889-1945), Mein Kampf, 1925-26
หนังสือไร้สาระว่าด้วยการล้างชาติพันธุ์ยิว การแบ่งชาติพันธุ์ ลัทธิบ้ากองทัพ ความรุนแรง พื้นที่ชีวิต ความหมายทางประวัติศสตร์ และโปรแกรมล้างสมองทางการเมือง เล่มนี้ ไม่มีใครให้ความสนใจมากนัก แต่มีผลกระทบยิ่งกว่าความสำคัญของมันจริง ๆ

พอแปลจบได้จนถึงบรรทัดนี้ ข้าพเจ้ารู้สึกดีใจยิ่งนัก ค่อนข้างเข็ดยิ่งนักกับการแปล กินเวลาเหลือเกิน สมควรให้รางวัลเป็นการนอนหลับอย่างเต็มอิ่มบนที่นอนอุ่นและนุ่มในคืนนี้


โดย สารศรี

จาก : http://www.geocities.com/siamintellect/writings/index.htm

ไม่มีความคิดเห็น: