หมายเหตุ : เอกสารชั้นต้นข้างล่างนี้ เป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลสำหรับบทความที่ยังเขียนไม่เสร็จของผมบทหนึ่ง ซึ่งผมตั้งชื่อชั่วคราวขณะนี้ว่า "ยุวกษัตริย์ผู้ทรง 'ขี้อาย' เปลี่ยนเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงมีสำนึกเชิงอำนาจ (power-conscious) อย่างสูงเมื่อไร (ทำไม, อย่างไร)?" ในบทความนั้น ผมพยายามสืบหาลำดับเวลาและปัจจัยที่เป็นสาเหตุ ที่ในหลวงองค์ปัจจุบันทรงเปลี่ยนแปลงในด้านทัศนคติทางการเมืองของพระองค์ ในทศวรรษ 2490 จากลักษณะที่ largely a-political ในช่วงต้นทศวรรษ ไปสู่ลักษณะ politically conscious และเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลในขณะนั้น ในช่วงปลายทศวรรษ
หลังการสวรรคตของในหลวงอานันท์ในเช้าวันที่ 9 มิถุนายน 2489 รัฐบาลปรีดี พนมยงค์ โดยความเห็นชอบของของรัฐสภาได้อัญเชิญพระอนุชา เจ้าฟ้าภูมิพล ขึ้นครองราชย์ เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี โดยกรมขุนชัยนาทนเรนทรและพระยามานราชเสวีได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ สองเดือนต่อมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่พร้อมพระราชชนนีได้เสด็จพระราชดำเนินกลับไปยังสวิสเซอร์แลนด์ ขณะเดียวกัน ปรีดีได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์เข้ารับตำแหน่งต่อ
ในส่วนพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพนั้น ฝ่ายรัฐบาลตั้งแต่สมัยนายปรีดี ได้เริ่มเตรียมการก่อสร้างพระเมรุมาศไว้ ซึ่งรัฐบาลหลวงธำรงได้รับช่วงดำเนินการต่อมา ยังขาดเพียงแต่กำหนดวันถวายพระเพลิง ซึ่งรัฐบาลได้ให้สำนักพระราชวังประสานงานติดต่อไปยังราชสำนัก (ผ่านกรมขุนชัยนาท) ให้เป็นผู้กำหนดวันที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จกลับมาประกอบพระราชพิธี ทางฝ่ายรัฐบาลประเมินว่า น่าจะเป็นประมาณเดือนมีนาคม ("หน้าแล้ง") 2490 แต่ฝ่ายราชสำนักเองมีทีท่าอยากเลื่อน โดยตอนแรกผู้สำเร็จราชการอ้างเรื่องการเตรียมการก่อสร้างพระเมรุ แต่นายดิเรก ซึ่งผู้สำเร็จราชการเรียกเข้าเฝ้าปรารภเรื่อง "ขอเลื่อนไปปีโน้น" เล่าให้คณะรัฐมนตรีฟังว่า "ผมหยั่งดูอีกอัน เห็นจะเป็นว่าในหลวงไม่พร้อมที่จะเสด็จ" ซึ่งหลวงธำรงได้ออกความเห็นว่า "ก็บอกมา รัฐบาลทำเต็มที่แล้ว ในหลวงไม่พร้อม ก็นิดเดียว ยิ่งง่ายถ้าเป็นโปรดเกล้าฯลงมาให้เลื่อนไปก่อน ที่จะให้เราบอกอย่างว่า [เลื่อนออกไป] เราบอกไม่ได้" เขาย้ำว่า "[รัฐบาล]เลื่อนไม่ได้ จะขุดหลุมฝังเรา ต้องทำหน้าแล้งนี้" ในที่สุด ฝ่ายผู้สำเร็จได้มีหนังสืออย่างเป็นทางการถึงรัฐบาลในต้นเดือนธันวาคมขอให้เลื่อนการถวายพระเพลิงออกไปและระงับการสร้างพระเมรุมาศ ซึ่งรัฐบาลก็รับทราบยอมปฏิบัติตาม (หนังสือขอให้เลื่อนการถวายพระเพลิงออกไปของผู้สำเร็จราชการได้เขียนอ้างเหตุต่างๆมาอย่างยืดยาว แต่ไม่สู้จะเป็นเหตุเป็นผลนัก เรื่องนี้ - ปัญหาเกี่ยวกับการจัดการถวายพระเพลิงพระบรมศพและการเสด็จกลับเพื่อประกอบพิธีของในหลวงองค์ปัจจุบัน - ผมจะกล่าวถึงในอีกบทความหนึ่งต่างหากชื่อ "ความพยายามเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชชนนีที่สวิตเซอร์แลนด์เพื่อสืบพยานคดีสวรรคต ๒๔๙๒")
ตัวบทสั้นๆที่ผมคัดลอกมาให้ดูข้างล่างนี้ เป็นส่วนหนึ่งของรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีในปลายเดือนตุลาคม 2490 (คือไม่กี่วันก่อนรัฐประหารครั้งประวัติศาสตร์ 8 พฤศจิกายน) ซึ่งเป็นตอนที่ อรรถกิติ พนมยงค์ (น้องชายต่างมารดาของปรีดี) รัฐมนตรีต่างประเทศขณะนั้น ได้เล่าเรื่องการเดินทางไปราชการในยุโรปที่เพิ่งเสร็จสิ้นของเขาให้รัฐมนตรีอื่นๆฟัง โดยที่ในระหว่างอยู่ในยุโรปเขาได้มีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชชนนีที่สวิตเซอร์แลนด์ด้วย อรรถกิติได้กล่าวสั้นๆถึงพระบุคคลิกภาพในขณะนั้นของในหลวงองค์ใหม่อย่างน่าสนใจ ดังนี้
เรื่อง การเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่กรุงโลซานน์
นายอรรถกิติ พนมยงค์ - ต่อจากลอนดอน ผมก็มาเฝ้าในหลวงที่โลซานน์ รวมเวลาราวครึ่งชั่วโมง ไม่มีอะไรมากกว่านี้ ไม่มีอะไรถาม ไม่มีอะไรคุย ท่านก็เป็นคนขี้อายๆอยู่ด้วย กับสมเด็จนั้น คุยกันในเรื่องส่วนตัวทั้งนั้น ไม่ถามอะไรเลย เกี่ยวกับพระเจ้าอยู่หัวนั้น ท่าน “รีเฟอร์” ไปถึงความเก่า สมเด็จบอกกับผมว่า ที่แนะนำให้ท่านเรียนกฎหมาย เดี๋ยวนี้ก็ได้เรียนแล้ว เมื่อก่อนในหลวงทรงเรียน “เคมิสตรี” ต่อมาได้เรียน “ซีแนตเตระ โซซิอาล” ต่อมาจึงเปลี่ยนมาเรียนกฎหมาย ทราบว่าทางราชสำนักเตรียมเดินทางมาเดือนมีนาคม ท่านรู้เป็นทางส่วนตัว จากในกรมชัยนาท
นายกรัฐมนตรี - เกี่ยวกับเรื่องในหลวงสำคัญ ให้สอบทางเราก่อนว่า กำหนดถวายพระเพลิงนั้นเมื่อใด และให้สอบหน้าที่ว่าใครเป็นผู้ทูล กำหนดเสียให้เรียบร้อยแล้วรีบดำเนินการ.
ที่ประชุมตกลง – ทราบ – และเกี่ยวกับเชิญเสด็จนิวัตมาในการถวายพระเพลิงนั้น ให้ผู้มีหน้าที่รีบจัดดำเนินการ.
เขียนโดย. อ.สมศักดิ เจียมธีรสกุล
วันเสาร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2550
First Impression : ในหลวงภูมิพล ในปีแรกหลังขึ้นครองราชย์
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 1:43 ก่อนเที่ยง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น