วันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

อุดมการณ์ประชาธิปไตยและความเป็นธรรม ตามนัย ‘ประกาศคณะราษฎร’



ในสถานการณ์แห่งการเรียกร้องประชาธิปไตยและความเป็นธรรมทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ที่กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้นและกว้างขวางเป็นพิเศษนี้ สังคมไทยควรนำ “ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1” (ลงวันที่ 24 มิถุนายน 2475) มาศึกษากันอย่างครบถ้วนกระบวนความ และอย่างเปิดเผยกว้างขวางเป็นสาธารณะ เพื่อทำความเข้าใจความหมายของ “ประชาธิปไตย” และ “ความเป็นธรรม” ที่กำลังเรียกร้องกันอยู่ให้ชัดเจน เพื่อสร้าง “อุดมการณ์ร่วมกัน” ในการเดินหน้าต่อไป


ทำไมจึงจำเป็นต้องศึกษา “ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1” ?

คำตอบตรงไปตรงมา เพราะประกาศฉบับดังกล่าวคือ “สัญญาประชาคม” (social contract) แห่งการเริ่มต้นสังคมประชาธิปไตยไทย เมื่อแรกเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475

สัญญาประชาคมดังกล่าวจึงเป็นเสมือน “รากฐาน” ของระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทย หากประชาธิปไตยที่เราเรียกร้องไม่ได้ยึดโยงอยู่กับรากฐานดังกล่าว มันก็จะกลายเป็น“ประชาธิปไตยไร้ราก” ที่เป็นเพียงของเล่นซึ่งนำมากล่าวอ้างกันเพื่อแย่งชิงอำนาจทางการเมืองเท่านั้นเอง



สาระสำคัญของประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 อาจสรุปได้ดังนี้
[1]

1. เหตุผลของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

(1) “...กษัตริย์...ทรงอำนาจอยู่เหนือกฎหมายเดิม ทรงแต่งตั้งญาติวงศ์และคนสอพลอไร้คุณความรู้ให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญๆ ไม่ทรงฟังเสียงราษฎร ปล่อยให้ข้าราชการใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต มีการรับสินบนในการก่อสร้างและการซื้อของใช้ในราชการ หากำไรในการเปลี่ยนเงิน ผลาญเงินของประเทศ ยกพวกเจ้าขึ้นให้สิทธิพิเศษมากกว่าราษฎร กดขี่ข่มเหงราษฎร ปกครองโดยขาดหลักวิชา ปล่อยให้บ้านเมืองเป็นไปตามยถากรรม…”

(2) “...รัฐบาลของกษัตริย์มิได้ปกครองประเทศเพื่อราษฎรตามที่รัฐบาลอื่นๆ ได้กระทำกัน...ได้ถือเอาราษฎรเป็นทาส (ซึ่งเรียกว่าไพร่บ้าง ข้าบ้าง) เป็นสัตว์เดียรัจฉาน ไม่นึกว่าเป็นมนุษย์ เหตุฉะนั้น แทนที่จะช่วยราษฎร กลับพากันทำนาบนหลังราษฎร...”

(3) “…รัฐบาลของกษัตริย์ได้ปกครองอย่างหลอกลวงไม่ซื่อตรงต่อราษฎร มีเป็นต้นว่าหลอกว่าจะบำรุงการทำมาหากินอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ครั้นคอยๆ ก็เหลวไป หาได้ทำจริงจังไม่ มิหนำซ้ำกล่าวหมิ่นประมาทราษฎรผู้มีบุญคุณเสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้กิน ว่าราษฎรยังมีเสียงทางการเมืองไม่ได้ เพราะราษฎรโง่ (ขีดเส้นใต้เน้นโดยผู้เขียน) คำพูดของรัฐบาลเช่นนี้ใช้ไม่ได้ ถ้าราษฎรโง่ เจ้าก็โง่เพราะเป็นคนชาติเดียวกัน ที่ราษฎรรู้ไม่ถึงเจ้านั้นเป็นเพราะขาดการศึกษาที่พวกเจ้าปกปิดไว้ไม่ให้เรียนเต็มที่ เพราะเกรงว่าเมื่อราษฎรได้มีการศึกษา ก็จะรู้ความชั่วร้ายที่พวกเจ้าทำไว้ และคงจะไม่ยอมให้เจ้าทำนาบนหลังคนอีกต่อไป...”

(4) “...ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้ช่วยกันกู้ให้ประเทศเป็นอิสรภาพพ้นมือจากข้าศึก พวกเจ้ามีแต่ชุบมือเปิบและกวาดทรัพย์สมบัติเข้าไว้ตั้งหลายร้อยล้าน เงินเหล่านี้เอามาจากไหน? ก็เอามาจากราษฎรเพราะวิธีทำนาบนหลังคนนั้นเอง...”

(5)
“...บ้านเมืองกำลังอัตคัดฝืดเคือง ชาวนาและพ่อแม่ทหารต้องทิ้งนา เพราะทำนาไม่ได้ผล รัฐบาลไม่บำรุง รัฐบาลไล่คนงานออกอย่างเกลื่อนกลาด นักเรียนที่เรียนสำเร็จแล้วและทหารที่ปลดกองหนุนแล้วก็ไม่มีงานทำ จะต้องอดอยากไปตามยถากรรม เหล่านี้เป็นผลของกษัตริย์เหนือกฎหมาย ... ควรเอาเงินที่พวกเจ้ากวาดรวบรวมไว้มาจัดบำรุงบ้านเมืองให้คนมีงานทำ จึงจะสมควรที่สนองคุณราษฎรซึ่งได้เสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้ร่ำรวยมานาน แต่พวกเจ้าก็หาได้ทำอย่างใดไม่ คงสูบเลือดกันเรื่อยไป เงินเหลือเท่าไหร่ก็เอาไปฝากต่างประเทศ คอยเตรียมหนีเมื่อบ้านเมืองทรุดโทรม ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก การเหล่านี้ย่อมชั่วร้าย…”

(6) “...คณะราษฎรเห็นว่าการที่จะแก้ความชั่วร้ายนี้ได้ก็โดยที่จะต้องจัดการปกครองโดยมีสภา จะได้ช่วยกันปรึกษาหารือหลายๆ ความคิดดีกว่าความคิดเดียว ส่วนผู้เป็นประมุขของประเทศนั้น ...จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร… (ขีดเส้นใต้เน้นโดยผู้เขียน) และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองแบบอย่างประชาธิปไตย...”

เหตุผล (ที่ผู้เขียนสรุปเป็นข้อๆ) 6 ข้อ ดังกล่าว คือ “ความไม่เป็นธรรม” (ในสายตาของคณะราษฎร และประชาชนที่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง) ที่มีรากฐานมาจากโครงสร้างอำนาจตัดสินใจของคนเพียงคนเดียวซึ่งมีสถานะของ “กษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย”



2. สัญญาประชาคม 6 ประการ : พันธสัญญาเพื่อสังคมที่เป็นธรรม

(1) จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่นเอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง

(2) จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก

(3) ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

(4) จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้)

(5) จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก ๔ ประการดังกล่าวข้างต้น

(6) จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร



3. บทสรุปของประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1

“...ประเทศจะมีความเป็นเอกราชอย่างพร้อมบริบูรณ์ ราษฎรจะได้รับความปลอดภัย ทุกคนจะต้องมีงานทำไม่ต้องอดตาย ทุกคนจะมีสิทธิเสมอกัน และมีเสรีภาพพ้นจากการเป็นไพร่ เป็นข้า เป็นทาสพวกเจ้า หมดสมัยที่เจ้าจะทำนาบนหลังราษฎร สิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนาคือ ความสุขความเจริญอย่างประเสริฐซึ่งเรียกเป็นศัพท์ว่า “ศรีอาริยะ” นั้น ก็จะพึงบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรถ้วนหน้า”




อุดมการณ์ร่วมกันและก้าวต่อไป

“อุดมการณ์ร่วมกัน” ของสังคมไทยในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจะต้องมี “ราก” มาจากเจตนารมณ์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือ “ประชาธิปไตยที่ประมุขของประเทศอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร”

การปกป้อง “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” จะต้องชัดเจนว่า “ชาติคือประชาชน” ที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย “ศาสน์” และ “กษัตริย์” ดำรงอยู่ได้ด้วยศรัทธาและฉันทามติของประชาชนบนหลักการที่ว่า “สถาบันใดๆก็ตามจะอยู่ควบคู่ไปกับสังคมอย่างเหมาะสมกับสมัย ต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้” (ส.ศิวรักษ์,ฟ้าเดียวกัน,ตุลาคม-ธันวาคม 2551,หน้า 22)

ก้าวต่อไปของสังคมไทยที่มี “อุดมการณ์ร่วมกัน” ดังกล่าว ไม่ใช่การต่อสู้เพื่อล้ม “อำมาตยาธิปไตย” ไม่ใช่การต่อสู้เพื่อล้ม “ทุนนิยมสามานย์” เพราะนั่นเป็นเพียง “ปีศาจ” ที่มีอิทธิฤทธิ์หลอกหลอนเราอยู่ได้โดยอาศัยการดูด “พลังหลับใหล” ไปจากเรา เพราะเราต่างสยบยอมต่ออำนาจของมันด้วยมัวแต่หลับใหลไม่นำพา “สัญญาประชาคม 6 ประการ” อันเป็นพันธสัญญาแรกเริ่มก่อร่างสร้าง “สังคมประชาธิปไตย” ที่ประชาชาติเจ้าของอำนาจที่แท้จริงจะต้องร่วมกันทำพันธสัญญานั้นให้เป็นจริงด้วยสมองและสองมือ

ไม่ใช่มัวรอการหยิบยื่นจาก “ฟากฟ้าสุราลัย” หรือจากชนชั้นนำอื่นๆที่ไม่รู้ค่าความหมายของ “สิทธิเสมอภาคกัน” ไม่เคยตระอย่างจริงใจในหน้าที่ที่ “จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ..” และ “จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร”

แต่ก้าวต่อไปคือการ “ก้าวกลับเพื่อเดินทางต่อ” ก้าวกลับไปสู่จุดเริ่มต้น “อุดมการณ์ประชาธิปไตย” และ “สัญญาประชาคม” แล้วเดินทางต่อด้วยการร่วมกันสร้างพลังทางสังคมขับเคลื่อนการออกแบบโครงสร้างสังคมประชาธิปไตยที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิเสมอภาคอย่างแท้จริง มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสวัสดิการ มีเสรีภาพ มีศักดิ์ศรี และอยู่ร่วมกันภายใต้กติกาที่เป็นธรรม


นักปรัชญาชายขอบ



ที่มา : หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท : อุดมการณ์ประชาธิปไตยและความเป็นธรรม ตามนัย ‘ประกาศคณะราษฎร’

แผนการณ์ร่วมของราชวงศ์ กำลังเข้มข้น : Thailand’s royal sub-plot thickens



Inside Story Current affairs and culture

Thailand’s royal sub-plot thickens

report Nicholas Farrelly and Andrew Walker


แปลและเรียบเรียง : chapter 11



แผนการณ์ร่วมของราชวงศ์ กำลังเข้มข้น


การเปลี่ยนแนวร่วม ดันให้เรื่องที่แอบแฝงอยู่ในวิกฤติการเมืองไทย ถลำลึกลงไป



มื่อเดือนที่แล้ว เราได้เสนอบทความเรื่องการร่วมวางแผนของราชวงศ์ในประเทศไทยในอินไซด์สตอรี่ เราคิดว่าราชวงศ์ได้นำตัวเข้าไปพัวพันในความขัดแย้งของการเมืองไทย ซึ่งนำความสั่นสะเทือนให้กับประเทศไทยในระยะสามปีที่ผ่านมา การร่วมวางแผนของราชวงศ์ขณะนี้กำลังเข้มข้นด้วยการเคลื่อนไหวที่เกินคาดหมาย

เช้าตรู่ของวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๒ สนธิ ลิ้มทองกุล อภิมหาสื่อและแกนนำผู้ประท้วงเสื้อเหลืองได้เดินทางโดยรถยนต์ในกรุงเทพ รายละเอียดที่เกิดขี้นต่อจากนั้นยังคงไม่ปะติดปะต่อ รถยนต์ของสนธิได้ถูกกระหน่ำยิงจนพรุน ไม่ว่าเรื่องนี้จะเป็นการลอบสังหารที่ไร้ฝีมืออย่างน่าขบขัน หรือความพยายามที่จะการสร้างสถานการณ์ก็ตาม สนธิรอดตายไม่มีแม้แต่รอยแมวข่วน มีแต่เพียงเศษกระสุนค้างอยู่ในกะโหลก

สนธิได้ใช้ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมาทบทวนว่า ควรจะเปิดปากพูดว่าเกิดอะไรขี้น ตั้งแต่ได้ถูกรีบพาเข้าโรงพยาบาล และเรื่องที่มีการ เดาไปต่างๆนานาว่า ใครเป็นคนสั่ง “ฆ่า”

อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรและผู้สนับสนุนเสื้อแดงของเขาเป็นเป้าหมายแรกที่ถูกต้องสงสัย จากการประท้วงบนท้องถนนที่แยกฝ่ายด้วยสีที่ใส่เมื่อไม่นานมานี้ ทักษิณได้โจมตีเสื้อเหลืองฝ่ายสนธิ ทักษิณและสนธิในครั้งหนึ่งได้เคยร่วมงานทางธุรกิจและเกิดการขัดแย้งกันจนถึงขั้นไม่เผาผี การประท้วงต่อต้านทักษิณที่นำโดยสนธิได้ทวีความรุนแรงขี้น จนนำไปสู่การรัฐประหารในเดือนกันยายน ๒๕๔๙

หลังจากการทำรัฐประหารแล้ว ได้มีการเลือกตั้งในเดือนธันวาคม ๒๕๕๐ นักการเมืองฝ่ายทักษิณได้รับเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศอีกครั้ง สนธินำผู้สนับสนุนของเขาทำการประท้วงบนท้องถนนในกรุงเทพ มีการปลุกปั่นโจมตีรัฐบาลตลอดทั้งปี ๒๕๕๑ และทวีความรุนแรงขี้นเรื่อยๆจนถึงขั้นบุกยึดสนามบินนานาชาติในกรุงเทพ และขับไล่นายกรัฐมนตรีสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยของทักษิณให้ออกจากตำแหน่ง สนธิระดมกำลังจากสถาบันการเงินที่สำคัญ จากสื่อ และจากผู้มีอิทธิพลทางการเมือง โหมรณรงค์ระรอกแล้วระลอกเล่าโจมตีฝ่ายทักษิณและชาวเสื้อแดง

ดังนั้น ทักษิณก็มีเหตุจูงใจ แต่ความน่าเชื่อถือว่าทักษิณอยู่เบื้องหลังการลอบสังหารนี้เพียงไม่กี่วันก็ตกไป แต่มีข้อสันนิษฐานที่น่าติดตามโผล่ออกมาใหม่

ตัวสนธิเองที่ออกมาปฎิเสธว่าทักษิณไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ได้ชี้นิ้วไปยัง “บรรดาทหารที่มีอิทธิพล” จากการเปิดให้สื่อสัมภาษณ์เป็นครั้งแรกหลังจากถูกลอบสังหาร สนธิได้ระบุว่า ด้วยสภาพการเมืองที่เป็นสูญญากาศหลังจากทักษิณถูกปล้นอำนาจแล้วนั้น มี “ใครบางคน” หวังว่าจะเข้ามาแทนที่ สนธิได้เปิดฉากใหม่ในการดิ้นรนทางการเมือง และเป็นที่น่ากังขาว่าจะยังมีผู้หนุนหลังเหลืออยู่หรือไม่ “ถ้าผมถูกฆ่า นั่นก็หมายความว่า (นายกรัฐมนตรี) อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะเป็นเป้าหมายคนต่อไป ในประเทศนี้คนไหนที่มีอาวุธจะทำอะไรก็ได้โดยไม่คำนึงว่าเมืองไทยจะอยู่รอดได้อย่างไร”

ไม่มีใครเชื่อว่าบรรดา “บุคคลที่มีอาวุธ” จะทำงานโดยลำพัง มีการพูดเป็นนัยว่ามีคนระดับสูงหนุนหลังอยู่ สนธิได้ประกาศไว้อย่างชัดเจนว่า
“ผมสงสัยว่าอาจมีการสมรู้ร่วมคิดของผู้มีอำนาจ”

มีการเดากันไปต่างๆนาๆ และมีการกระซิบกระซาบว่าใครคือบุคคลดังกล่าว เป็นเรื่องไม่น่าเชื่อที่ทางราชวังเองถูกดึงเข้ามาเกี่ยวข้องกับข่าวลือ เมื่ออาทิตย์ที่แล้วได้มีการรายงานข่าวในสื่อของทั้งไทยและเทศอย่างแพร่หลายว่า ท่านผู้หญิงวิระยา ชวกุล สุภาพสตรีผู้ใกล้ชิดกับราชินีสิริกิติ์ ได้ปฎิเสธว่าไม่ได้มีส่วนรู้เห็นในการลอบสังหารสนธิ หนังสือพิมพ์ของสำนักพิมพ์หนึ่งได้บรรยายท่านผู้หญิงว่ามีตำแหน่งเป็นนางสนองพระโอษฐ์ การออกโรงปฎิเสธของท่านผู้หญิงนี้รังแต่จะสร้างเรื่องนินทาได้อย่างไม่จบไม่สิ้น โดยเฉพาะในขณะนี้ ท่านผู้หญิงได้กล่าวเป็นนัยว่า มีข้าราชบริพารท่านอื่นที่ไม่ได้เอ่ยชื่อ อาจจะเป็นเป้าหมายตัวจริงของกรมข่าวลือนั้น ราชวังพยายามที่จะถอยออกมาให้พ้นกับการเปิดเผยที่ก่อให้เกิดความเสียหาย โดยการยืนยันว่าท่านผู้หญิงไม่ได้มีตำแหน่งใดๆในราชวงศ์

ตั้งแต่การทำรัฐประหารซึ่งปล้นรัฐบาลทักษิณ ผู้ใกล้ชิดราชวังอีกหลายท่านได้ถูกดึงเข้ามาพัวพันกับความขัดแย้งที่เพิ่มขี้นในการดิ้นรนทางการเมือง เมื่อเดือนที่แล้ว พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ทั้งคู่เป็นบุคคลผู้ทรงอำนาจด้วยตำแหน่งองคมนตรีในกษัตริย์ภูมิพล ได้ถูกดึงเข้าสู่การขัดแย้งทางการเมืองต่อสาธารณะ เป็นเวลานานมาแล้วที่ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ข่าวลือ ที่ว่าบุคคลทั้งสองได้ให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวของเสื้อเหลืองของสนธิ ราชินีสิริกิติ์ก็ทรงเป็นผู้ให้การสนับสนุนอย่างชัดเจนต่อเสื้อเหลือง แต่ ณ เวลานี้ ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าพระองค์ยังคงทรงโปรดปรานเสื้อเหลืองอยู่อีกหรือไม่

ความสำเร็จในอดีตของสนธิและเสื้อเหลืองส่วนสำคัญมาจากการหนุนหลังของบุคคลระดับสูง ซึ่งตระเตรียมแผนการเคลื่อนไหวในทางการเมืองของเขา ขณะนี้กำลังที่เคยหนุนหลังได้ถูกทบทวนใหม่ เนื่องจากการรอดชีวิตของสนธิ ถ้าพวกเสื้อเหลืองที่ตายยากอย่างสนธิพบว่า ตัวเองไม่มีความปลอดภัยเสียแล้ว และไม่สามารถพึ่งเพื่อนเก่าทั้งหลายได้อีกต่อไป

แผนการณ์ที่น่ากลัวยิ่งกว่าอาจจะเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น



แอนดรูว์ วอคเกอร์ และ นิโคลาส ฟาร์เรลลี่


หมายเหตุ

แอนดรูว์ วอคเกอร์ และ นิโคลาส ฟาร์เรลลี่ เป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษทางด้านเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ของ วิทยาลัยเอเซียและแปซิฟิก มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย และเป็นผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ “นิว แมนดาลา” ในปี ๒๕๔๙ ซึ่งเป็นเว็บไซต์เกี่ยวกับกิจกรรมของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้


ที่มา : Liberal Thai : แผนการณ์ร่วมของราชวงศ์ กำลังเข้มข้น

ความเกลียดและกลัว สร้างรอยด่างให้ราชวงศ์ : Fear and loathing marks Thailand’s malicious monarchy



Tribune Magazine.

Fear and loathing marks Thailand’s malicious monarchy

James Anstruther


แปลและเรียบเรียง : chapter 11



ความเกลียดและกลัว สร้างรอยด่างให้ราชวงศ์


ราชวงศ์แห่งประเทศไทย ผู้ซึ่งปรามาสประชาธิปไตย เจมส์ แอนสตรัทเตอร์รายงานเรื่องกษัตริย์ภูมิพล อดุลยเดช มีการบีบบังคับต่อผู้ที่ไม่เห็นด้วยทั้งหมดอย่างไร


กษัตริย์ภูมิพล อดุลยเดช แห่งประเทศไทย ทรงแสดงอย่างแน่ชัดถึงความคิดที่จะเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยือนประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดา นับตั้งแต่กษัตริย์พระชนมายุ ๘๒ พรรษา ได้ทรงหยุดการเสด็จออกนอกประเทศตั้งแต่ช่วงปี ๒๕๐๓ แม้กระทั่งก่อนหน้านั้นพระองค์ทรงเสด็จไปยังประเทศพันธมิตร ซึ่งจะให้ผลประโยชน์กับการต่อสู้สมัยสงครามเย็นต่อต้านฝ่ายซ้ายในเวลานั้นเท่านั้น และได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปยังประเทศเวียตนามใต้ในปี ๒๕๐๒ แต่ไม่เคยทรงเสด็จไปยังประเทศเวียตนามเหนือ หรือแม้แต่ลาว และกัมพูชา ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านของไทย

พระองค์ทรงเข้าใจในความรู้สึกที่ว่าความเป็นธรรมราชา หรือทศพิธราชธรรมของพระองค์นั้นก็เพื่อแผ่นดินของพระองค์ เพื่อทรงปกป้องราชอาณาจักรที่ดูเหมือนกับว่า จะไม่มีการแบ่งแยก และไม่มีความลำบากยากเข็ญ ตัวอย่างเช่น วิกฤติการเมือง ซึ่งได้แสดงออกบนท้องถนนในกรุงเทพในระยะสามปีที่ผ่านมา แต่พระองค์กำลังจะทรงปฎิบัติต่อประเทศอินเดียเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งพระองค์ได้เคยเลี่ยงมาก่อน เนื่องจากนโยบายทางการเมืองเอียงซ้ายของอินเดีย และความมีสัมพันธไมตรีที่ดีต่อสหภาพโซเวียต

กษัตริย์ภูมิพลทรงรับเอาแนวความคิดเรื่องความมีทศพิธราชธรรมมาจากอินเดีย พระองค์ทรงได้รับการเชิดชูจากบรรดาผู้ที่จงรักภักดีว่า พระองค์ทรงอุปมาเหมือนเป็นพระนารายณ์เทพเจ้าแห่งฮินดู (การอวตารของพระวิษณุ) ตามธรรมเนียมของฮินดู ซึ่งหลอมรวมกับราชวงศ์ทางพุทธ

และความมีทศพิธราชธรรมของกษัตริย์ กำลังเป็นที่ต้องการอย่างมากสำหรับราชอาณาจักร การเกิดรัฐประหารบ่อยครั้งนับตั้งแต่การเสด็จขี้นครองราชย์ของพระองค์ในปี ๒๔๘๙ หลังการสวรรคตของพระเชษฐาจากกระสุนปืน ซึ่งทรงขี้นครองราชย์ได้เพียงสามเดือน กษัตริย์ภูมิพล .................. ................. ........ .... .....

นับตั้งแต่ทรงครองราชย์ พระองค์ไม่ได้ทรงเห็นชอบกับการทำรัฐประหารในทุกครั้ง อย่างไรก็ตาม การรัฐประหารครั้งล่าสุดนี้ เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๔๙ เพื่อขับไล่ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนเดียวแห่งประเทศที่ได้รับการเลือกตั้งมาบริหารประเทศอย่างแท้จริง และเป็นที่แน่ชัดว่าพระองค์ทรงเห็นชอบด้วย

ในประเทศไทยได้ให้คำอธิบายกษัตริย์ว่า เป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ได้มีการร่างรัฐธรรมนูญมาถึง ๑๗ ฉบับ นับตั้งแต่การสิ้นสุดการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชในปี ๒๔๗๕ รัฐธรรมนูญเหล่านี้ได้ระบุเรื่องระบบรัฐสภา และมีบางฉบับระบุให้เป็นแบบเผด็จการทางทหาร แต่รัฐธรรมนูญทุกฉบับได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับพระราชอำนาจของความเป็นพระสมมุติเทพแห่งกษัตริย์ และรวมถึงบทบัญญัติเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นฯ คือการห้ามไม่ให้มีการดูหมิ่น หรือแม้แต่วิจารณ์กษัตริย์ หรือราชวงศ์ หรือแม้แต่สถาบันกษัตริย์

เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา กษัตริย์ไม่ได้เป็นผู้ทรงวางกฎเกณฑ์ในการปฎิบัติเรื่องกฎหมายหมิ่นฯ จะปลอดภัยกว่าถ้าปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนักการเมือง นายพลทั้งหลาย หรือแม้แต่สาธารณชนบางส่วน ข้อกล่าวหาในเรื่องกฎหมายหมิ่นฯตั้งขี้นได้หลายรูปแบบ และตำรวจต้องสอบสวนทุกข้อกล่าวหาที่ได้รับเบาะแส แม้ว่าจะเป็นเพียงการกล่าวหาเพียงเล็กน้อย ละหุโทษอย่างต่ำสุดคือการจองจำในคุกถึงสามปี ในขณะที่คดีที่มีต่อชาวต่างชาติที่โชคร้ายนั้นได้ถูกรายงานไปทั่วโลก แต่การลงโทษจำคุกสำหรับประชาชนไทยที่ทำผิดกฎหมายหมิ่นฯนี้ ปกติแล้วจะได้รับโทษทัณฑ์ที่รุนแรงมากกว่าชาวต่างชาติ

กษัตริย์ภูมิพลทรงประสูติที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งพระบิดาของพระองค์ทรงกำลังศึกษาในฮาร์เวิร์ด พระองค์ทรงได้รับการศึกษาจากโรงเรียนในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง สำหรับนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน พระองค์ได้ทรงหันไปหาคนไทยซึ่งเกิดในต่างประเทศเช่นเดียวกัน นั่นก็คืออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ วัย ๔๔ ปี เป็นบุตรของนายแพทย์จากวอลเซน อภิสิทธิ์ได้รับการศึกษาจากอีตันและออกซ์ฟอร์ด และที่แน่ชัดว่าเป็นมิตรที่ดีกับ บอริส จอห์นสัน (นักการเมืองและนักข่าวของอังกฤษ) แม้ว่าจะเป็นการยากที่จะฟันธงลงไปว่า ในสองคนนี้ใครกันที่ควรจะน่าขายหน้ามากกว่ากัน

นายกรัฐมนตรีทักษิณที่ถูกปล้นอำนาจจากการทำรัฐประหารครั้งหลังสุด เป็นนักการเมืองของประเทศคนแรกที่มีความทันสมัย ทักษิณได้กระทำการรณรงค์อย่างจริงจังสำหรับผู้ที่ลงคะแนนเสียงให้เขา แทนที่จะพูดเรื่องการเมืองในห้องประชุม รัฐบาลของทักษิณเป็นเพียงรัฐบาลเดียวที่ได้รับเสียงข้างมากในสภา และได้นำนโยบายที่เป็นที่นิยมหลายนโยบาย เพื่อยกระดับสภาพความเป็นอยู่ของคนยากจนชนบท ทักษิณได้เป็นบุคคลแรกของประเทศที่ได้จัดตั้งโครงการสวัสดิการสุขภาพถ้วนหน้า

อดีตนายตำรวจซึ่งกลายมาเป็นนักธุรกิจมหาเศรษฐี ทักษิณมีบางอย่างในตัวที่ทำให้นึกไปถึงประธานาธิบดีซิลวีโอ แบร์ลุสโกนีแห่งอิตาลี และนโยบายของทักษิณไม่ได้ผ่านไปด้วยดีทั้งหมด การประจันหน้ากับโจรแบ่งแยกดินแดงมุสลิมในสี่จังหวัดภาคใต้ด้วยการใช้ความรุนแรง และการประกาศสงครามยาเสพติด ซึ่งนำไปสู่ความตายที่ควรเลี่ยงได้ แต่ทักษิณเป็นที่นิยมอย่างมหาศาลจากชาวชนบท และได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งครั้งต่อมาในปี ๒๕๔๘ เป็นการชนะอย่างถล่มทลายในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งในประเทศไทย

ไม่ใช่เพราะนโยบายต่างๆที่ทำให้ทักษิณต้องล่มสลาย ในความเป็นจริง เพราะความนิยมชื่นชอบที่มีต่อทักษิณต่างหากที่ทำให้เกิดเรื่อง เมื่อไม่สามารถเอาชนะทักษิณจากการเลือกตั้งได้ รัฐประหารเป็นหนทางเดียวที่จะกำจัดทักษิณได้ นายพลต่างๆกล่าวหาทักษิณว่าฉ้อราษฎร์บังหลวง และแน่นอนกระทำผิดต่อกฎหมายหมิ่นฯ การเดินสายหาเสียงทั่วประเทศของทักษิณ เป็นการทำให้ทักษิณเป็นที่นิยม และการเป็นที่นิยมนั้นเป็นหน้าที่ของกษัตริย์ไม่ใช่ของนักการเมือง ซึ่งเป็นเพียงแค่ไพร่ยังไม่พอแถมยังมีเชื้อสายจีนเสียอีก นั่นหมายถึงว่า ทักษิณต้องการล้มล้างอำนาจกษัตริย์และจัดตั้งสาธารณรัฐ หรือไม่อย่างนั้นก็เป็นเรื่องตามที่ถูกอ้างกัน

นายพลทั้งหลายปกครองประเทศเพื่อพวกพ้องตัวเองเป็นเวลานานมากกว่าหนึ่งปี ก่อนที่จะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และมีการจัดการเลือกตั้งขี้นมาใหม่ พวกนายพลทั้งหลายสั่งห้ามพรรคการเมืองของทักษิณ แต่พรรคต่อมาของเขาก็ยังคงได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้ง

รัฐบาลชุดใหม่ถูกโจมตีอย่างไม่หยุดยั้งจากพวกอันธพาลที่คลั่งเจ้าฝ่ายขวาจัด และถูกโจมตีจากเรื่องหนึ่งไปอีกเรื่องหนึ่ง แม้กระทั่งนักการเมืองฝ่ายสนับสนุนในสภาบางคนก็ยังถูกซื้อเสียง ตามรายงานมีสิ่งที่บอกว่า นักการเมืองเหล่านี้บางคนอาจจะได้ค่าหัวคนละประมาณ ๑๐ ล้านบาทในการย้ายพรรค และด้วยวิธีการแบบนี้ อภิสิทธิ์ วัย ๔๔ จากอีตัน จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคประชาธิปัตย์ที่มีอภิสิทธิ์เป็นหัวหน้าพรรค เป็นพรรคเก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย ก่อตั้งขี้นมาในปี ๒๔๘๙ เพื่อเชิดชูความเป็นราชวงศ์ไทย

ตั้งแต่การทำรัฐประหาร ทักษิณต้องคอยหลบหนีจากอัยการฝ่ายไทยและกองทัพที่หนุนหลังพวกเขา ผู้ซึ่งตัดสินว่าทักษิณมีความผิดในข้อหาที่ไม่ไปปรากฎตัวต่อศาล จากการถูกตัดสินว่ากระทำความผิดในครั้งนี้ ทำให้ทักษิณถูกห้ามเข้าประเทศอังกฤษ หลังจากที่ไทยได้ใช้วิธีทางการทูตกดดันต่ออังกฤษ คุณอาจจะถามว่า แล้วความคิดเรื่องการลี้ภัยทางการเมืองมีไว้เพื่ออะไร

ขณะนี้ทักษิณได้เดินทางโดยใช้หนังสือเดินทางการทูตของนิคารากัว และได้ปรากฎตัวในหลายประเทศเช่น ฮ่องกง และดูไบ ที่ซึ่งเขาได้พูดผ่านวิดิโอลิ้งค์ไปยังฝูงชนชาวไทยที่สนับสนุนเขาเป็นจำนวนมหาศาล ประชาชนซึ่งยังร้องเรียกให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพื่อเลือกรัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งจากความนิยมอย่างแท้จริง

พวกเขาคงไม่มีทางจะได้รับการเลือกตั้งใหม่ จนกว่ารัฐบาลปัจจุบัน จะหาวิธีป้องกันไม่ให้กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับทักษิณได้รับชัยชนะให้ได้เสียก่อน ในขณะเดียวกันรัฐบาลประชาธิปัตย์ซึ่งเชื่อกันว่า ให้การสนับสนุนด้านธุรกิจ กำลังรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจที่กำลังหมุนร่วงลงสู่ก้นเหว

แต่กษัตริย์ที่ทรงชราภาพไม่สามารถอยู่ได้ค้ำฟ้า ผู้สืบราชสันตติวงศ์จะนำพาไปสู่ยุคใหม่แห่งความสันติ ความเป็นประชาธิปไตย และความเจริญรุ่งเรืองได้หรือ นั่นไม่ใช่เรื่องที่น่าจะเป็นไปได้ เช่นเดียวกับศักดินาไทยหลายๆคน เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ผู้ทรงมีความประพฤติไม่เหมาะสม ขณะนี้พระชนมายุได้ ๕๖ ปี ทรงเข้ารับการศึกษาจากโรงเรียนมิลฟิลด์ ที่ต้องชำระค่าเรียนในอังกฤษ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ “ไม่เน้นด้านวิชาการ”

พระองค์ทรงไม่เป็นที่นิยมและเป็นที่หวาดกลัวทั่วประเทศไทย แม้ว่าพระองค์นั้นจะได้รับการปกป้องจากกฎหมายหมิ่นฯแล้วก็ตาม พระองค์ย่อมทรงต้องการกฎหมายนี้



เจมส์ แอนสตรัทเตอร์


หมายเหตุ

เจมส์ แอนสตรัทเตอร์ เป็นนักข่าวซึ่งทำงานในประเทศไทยจนกระทั่งปัจจุบันนี้ ชื่อที่ใช้นี้เป็นนามปากกา


ที่มา : Liberal Thai : ความเกลียดและกลัว สร้างรอยด่างให้ราชวงศ์

วันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2552

ศัตรูของประชาธิปไตยไม่ใช่คอมมิวนิสต์ แต่......


วัสดีครับช่วงนี้เป็นช่วงใกล้สอบของผมแล้ว เลยห่างหายไปน่ะครับ แต่พอดีช่วงนี้เหมือนขาดแรงบันดาลใจทำงาน เลยเข้ามาแวะอ่านประชาไทซักหน่อยครับ

ทำไมวันนี้ผมจั่วหัวเช่นนี้ เพราะเกิดจากการที่คนไทยถูกโพรพะกันดามานานว่าคอมมิวนิสต์เป็นความเชื่อต้องห้าม เป็นสิ่งร้ายแรง จนเคยมีคำพูดที่ว่า ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป ในอดีต

และที่โพรพะกันดานี้ได้ผลก็เพราะว่าคนไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ดีเกี่ยวกับกระแสโลก แม้กระทั่งรัฐบาลสหรัฐเองก็ใส่ร้ายป้ายสีคอมมิวนิสต์เกินกว่าที่ควรจะเป็นในช่วงสงครามเย็น โดยที่ไม่ได้คิดว่าศัตรูที่แท้จริงของสหรัฐนั้นหาใช่ระบบคอมมิวนิสต์ไม่


แท้จริงแล้วคือระบบเผด็จการต่างหาก


กับคำพูดที่ว่า อ้าว ก็คอมมิวนิสต์มันเกี่ยวกับเผด็จการทั้งนั้น ดูจีน โซเวียด เกาหลีเหนือ เวียดนามสิคอมมิวนิสต์ไม่ใช่ระบบการปกครองครับ หากแต่เป็นระบบเศรษฐกิจที่ตรงข้ามกับทุนนิยม ด้วยคอมมิวนิสต์ส่งเสริมให้ทุกคนเท่าเทียมกันโดยได้รับการแบ่งสรรปันส่วนจากรัฐ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของรัฐ ไม่มีคำว่าทรัพย์สินส่วนบุคคล นับว่าเป็นสังคมนิยมชนิดสุดขั้ว

แต่ผู้นำที่ปกครองโดยใช้วิถีสังคมหรือคอมมิวนิสต์ก็ไม่จำเป็นต้องมาจากเผด็จการเสมอไป ตัวอย่างสดๆ ร้อนๆ คือที่เนปาล กลุ่มกบฎเหมาอิสต์ที่ยึดอำนาจมาจากราชวงศ์เนปาลนั้นได้รับความนิยม รับเลือกเป็นผู้นำเนปาล

หากแต่ปรัชญาของผู้นำเนปาลนั้นคือคอมมิวนิสต์ หรือนัยหนึ่งคือรัฐสวัสดิการเต็มรูปแบบนั่นเอง รัสเซียเองสมัยเลนินก็ดูทำท่าจะไปได้สวย แต่สตาลินกลับเปลี่ยนโซเวียดกลายเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จ เป็นตัวอย่างไม่ดีให้ประเทศคอมมิวนิสต์ยุคหลังอย่างจีน เกาหลีเหนือ ลอกเลียนแบบสตาลินไปใช้ ประเทศเหล่านี้จึงกลายเป็นเผด็จการไปในที่สุด

และเพราะความเป็นเผด็จการนี่แหละครับ ที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน ปิดกั้นประชาชนทุกวิถึทาง เพื่อให้ตนได้ครองอำนาจ ในสมัยสตาลินนั้นใครเห็นต่างกับสตาลินต้องถูกลงโทษอย่างโหดเหี้้ยม ถูกส่งไปยังค่ายกักกันในไซบีเรียอันเวิ้งว้างและหนาวเหน็บ

ผิดกับผู้นำสังคมนิยมที่ได้รับการเลือกตั้ง แม้แนวทางเศรษฐกิจจะไม่สนับสนุนทุนนิยม แต่เอียงสังคมนิยมมากกว่า เสรีภาพของประชาชนก็ไม่ถูกกระทบ ตัวอย่างเช่นประเทศแถวสแกนดิเนเวีย ที่ระบบเศรษฐกิจออกแนวสังคมนิยม ภาครัฐมีบทบาทในเศรษฐกิจมาก หากแต่รัฐไม่ได้กุมเศรษฐกิจแบบเด็ดขาดอย่างคอมมิวนิสต์เท่านั้น

ในอุดมคติแล้ว ผมนับถือระบบแบบคอมมิวนิสต์นะครับ เพราะผู้คนเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง ไม่มีใครรวยจนกว่าใคร ทุกคนมีฐานะเท่าเทียมกันหมด หากเทียบกับพุทธทำนายก็คงเทียบได้กับยุคพระศรีอาริย์ ซึ่งนั่นก็ยังมาไม่ถึง

หากมามองความเป็นจริง สาเหตุที่ระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ (สังคมนิยมเต็มขั้น) ล้มเหลวก็เพราะความแตกต่างและหลากหลายภายในของคนเรา โดยพันธุกรรม ตั้งแต่กำเนิดแล้วละครับ สิ่งนี้ทำให้คนมีความสามารถต่างๆ ที่แตกต่างกันออกไป และมนุษย์เองก็เต็มไปด้วยกิเลสและตัณหา ทำให้คอมมิวนิสต์ไม่สามารถปรับใช้กับสังคมมนุษย์ได้เลย เพราะมันเป็นระบบที่ประเสริฐเกินไป

ส่วนทุนนิยมเต็มขั้นก็ใช่ว่าจะดี ความโลภเกินพอดีจะทำให้ฟองสบู่แตก และชีวิตคนสามารถเปลี่ยนได้จากหน้ามือเป็นหลังมือ อีกทั้งยังทำให้สังคมเสื่อมทรามลงด้วยคนคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม

ดังนั้น ประเทศทุนนิยมจ๋าอย่างอเมริกาในอดีต ตอนนี้รัฐบาลกลางก็เริ่มลงมาเล่นกับเศรษฐกิจประเทศบ้างแล้ว สมัย Great Depression ในอดีตรัฐบาลของ ปธน. รูสเวลท์ก็ได้ออก The New Deal ซึ่งเป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่จากภาครัฐ

ส่วนคอมมิวนิสต์เก่าอย่างรัสเซียหรือจีน ตอนนี้ภาพคอมมิวนิสต์เต็มขั้นหายไปหมดแล้ว ที่มอสโคว์ ปักกิ่ง และเซี่ยงไฮ้ ผู้คนหายใจเข้าออกเป็นเงิน เงิน และเงิน งาน งาน และงาน

พล่ามมาซะยาว ที่แท้ผมต้องการอธิบายและสื่อว่า คอมมิวนิสต์ ไม่ใช่ศัตรูของเราครับ เพราะฉะนั้นข้อกล่าวหาที่ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐนั้น ฟังไม่ขึ้นเลยสำหรับผม มันเป็นระบบเศรษฐกิจ ไม่ใช่ระบอบทางการเมือง

ที่เรากังวลกันมากกว่าคือ เผด็จการ หรือไม่ก็ อภิชนาธิปไตยซะมากกว่า ระบบเศรษฐกิจไม่ใช่ตัวกดดันเสรีภาพในการแสดงออกของคนครับ หากแต่ผู้ปกครองมากกว่าที่เลือกได้ที่จะปกครองอย่างยุติธรรม หรือแบบกดขี่ข่มเหง ต่อให้ระบบเศรษฐกิจจะเป็นแบบไหนก็ช่าง หากผู้ปกครองอุดมด้วยเมตตา และปกครองด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม ประชาชนย่อมมีความสุข รู้สึกถูกปฏิบัติโดยรัฐอย่างดีและเสมอภาคกัน

อยากให้คนไทยเลิกคิดถึงเรื่องทุนนิยม - คอมมิวนิสต์ เพราะเดี๋ยวนี้มันผสมกันไปแล้ว ต่างฝ่ายต่างก็เอาข้อดีของอีกฝ่ายมาใช้

สิ่งที่น่าห่วงมากกว่าคือ ผู้บริหารรัฐบาลของเรานั้นมาจากเสียงบริสุทธิ์จากประชาชนอย่างแท้จริงหรือไม่ โรมาเนียในวันของคอมมิวนิสต์นั้น นิโคไล เชาเชสคูเป็นผู้นำสูงสุด แต่ปกครองประเทศอย่างกดขี่ และมีการสร้างลัทธิบูชาตัวเชาเชสคูขึ้นในโรมาเนีย พอเชาเชสคูตาย ประชาชนชาวโรมาเนียต่างดีใจที่วันร้ายๆ ผ่านพ้นไปเสียที


เหล่าอำมาตย์เอ๋ย อยากตายไปมีแต่คนยกย่องสรรเสริญ หรืออยากอยู่ให้คนสาปแช่งด่าเหมือนตกนรกทั้งเป็นแบบนี้ อยากได้แบบไหนเลือกเอา


Democratic Chemist



ที่มา : เวบบอร์ด "ประชาไท" : ศัตรูของประชาธิปไตยไม่ใช่คอมมิวนิสต์ แต่......


หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

ปัญหาระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท : The trouble with the king


The Economist.

The trouble with the king
Apr 16th 2009



แปลโดย : ทีมแปลข่าวเฉพาะกิจ (ประชาไท)

หมายเหตุ
กิจกรรมนี้เกิดขึ้นจากทีมนักแปลอาสาสมัครที่อยากให้สาธารณชนได้บริโภคข่าวสารอย่างรอบด้าน เนื่องเพราะเห็นว่าสื่อสารมวลชนของไทยมีปัญหาเรื่องการทำงานในสถานการณ์วิกฤตินี้ เราจึงเลือกแปลข่าวของสื่อต่างชาติที่ยังสามารถทำงานตามหลักการวิชาชีพได้ โดยไม่มีอคติต่อฝ่ายใด และไม่มีอำนาจรัฐมาครอบงำ




ปัญหาระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท


ไม่มีใครกล้าพูดออกมาดังๆ แต่ในวิกฤตการณ์ครั้งล่าสุดนี้ สถาบันกษัตริย์ไทยที่ไม่ปรากฏบทบาทให้เห็น คือหัวใจของปัญหาทั้งหมด


ในรายงานข่าวของ The Economist เกี่ยวกับการปฏิวัติของคณะราษฎร์เมื่อ พ.ศ. 2475 มีนัยยะบ่งบอกถึงเส้นทางการปกครองของไทยที่ให้ความหวังอยู่มากทีเดียว ในสมัยนั้น กลุ่มประเทศในละตินอเมริกา มีแต่รัฐบาลทหารผลัดเปลี่ยนเวียนหน้าขึ้นมา ในขณะที่นักลัทธิฟาสซิสต์ขับเคลื่อนประเทศญี่ปุ่นไปสู่การปกครองระบอบทรราชย์ ผู้สื่อข่าวของเรา (โปรดดูบทความชิ้นนี้ได้ที่นี่ http://www.economist.com/world/asia/PrinterFriendly.cfm?story_id=13479303) เขียนไว้ว่า:


“นักปฏิวัติชาวสยามกลับขับเคลื่อนประเทศไปในทิศทางตรงกันข้าม กล่าวคือ จากระบอบกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชไปสู่การปกครองตัวเอง [ของประชาชน]” ในการยึดอำนาจโดยไม่เสียเลือดเนื้อครั้งนี้ กลุ่มนายทหารที่มีแนวคิดแบบตะวันตก จับตัวมกุฎราชกุมารและอธิบดีกรมตำรวจไว้ รัชกาลที่ 7 ทรงไม่มีทางเลือกอื่นมากนัก นอกจากต้องยอมรับโดยดุษฎี นับแต่นั้นมา อำนาจถูกถ่ายโอนจากระบอบกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชไปสู่ระบอบรัฐธรรมนูญที่มีรัฐสภา ยุคศักดินาจึงสิ้นสุดลง


หากนักข่าวคนนั้นนึกว่าการปฏิวัติครั้งนี้จะทำให้เกิดภาพอะไรสักอย่างเหมือนราชวงศ์ดัทช์ขี่จักรยานออกไปช็อปปิ้งล่ะก็ ภาพแบบนั้นในประเทศไทยคงถูกปล้นกลางอากาศไประหว่างทางก่อนถึงซูเปอร์มาร์เก็ต ทุกวันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชซึ่งมีพระชนมายุ 81 พรรษา และเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์นานที่สุดในโลก ทรงมีพระบารมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา และยังคงเป็นศูนย์กลางของประเทศไทยท่ามกลางความปั่นป่วนทางการเมืองมาโดยตลอด

ความจริงข้อนี้ช่วยอธิบายเหตุการณ์ประหลาดพิสดารประการหนึ่งในบรรดาเรื่องพิสดารมากมายในวิกฤตการณ์ครั้งล่าสุดของประเทศนี้ ในยามหน้าสิ่วหน้าขวานที่อาจเกิดการนองเลือดครั้งใหญ่ ขณะกองทัพกำลังประจันหน้ากับผู้ประท้วง “เสื้อแดง” ที่ต่อต้านรัฐบาลในกรุงเทพฯ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่หลุดจากตำแหน่งเพราะการรัฐประหาร พ.ศ.2549 ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ สุ้มเสียงสั่นเครือและวิงวอนขอพระมหากรุณาธิคุณ “ในหลวง” ทรงออกมาระงับการเผชิญหน้าขั้นแตกหักครั้งนี้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ชวนให้เรานึกถึงเหตุการณ์อันโด่งดังเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงออกมาตำหนิผู้บัญชาการกองทัพและผู้นำการประท้วงผ่านการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ หลังจากเหตุพฤษภาเลือดในกรุงเทพเมื่อ พ.ศ. 2535

ทั้งๆ ที่ทักษิณ ผู้อยู่ระหว่างการลี้ภัยและถูกตัดสินลับหลังในคดีคอร์รัปชั่น ถูกฝ่ายตรงข้ามกล่าวหาว่าเป็นผู้มีจิตใจฝักใฝ่ในระบอบสาธารณรัฐอยู่ลับๆ อันที่จริง เขาก็มีพฤติกรรมเฉียดๆ การวิจารณ์สถาบันกษัตริย์อยู่เหมือนกัน ตรงที่ไปเรียกร้องให้องคมนตรีสองท่านลาออก ซึ่งเชื่อกันโดยทั่วไปว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร พ.ศ.2549 เมื่อผู้ประท้วง “เสื้อเหลือง” ยึดทำเนียบของรัฐบาลที่จงรักภักดีต่อทักษิณเมื่อปลายปีที่แล้ว พวกเขาก็อ้างว่าทำเพื่อสถาบันกษัตริย์ มาตอนนี้ กระทั่งทักษิณเองยังรู้สึกว่า ต้องประกาศความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และถวายบังคมต่อพระราชอำนาจของพระองค์

บารมีอันใหญ่หลวงของสถาบันกษัตริย์หาได้มีอยู่ก่อนแล้วไม่ ในสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นครองราชย์ขณะยังทรงพระเยาว์ อีกทั้งยังทรงเป็นพระโอรสของสามัญชนลูกครึ่งจีนและประสูติในสหรัฐอเมริกา ภาพพจน์ของพระองค์ได้รับการหล่อหลอมจากที่ปรึกษาในพระราชวังและรัฐบาลทหารชุดแล้วชุดเล่า คนเหล่านี้เห็นว่ามีประโยชน์อย่างยิ่งที่พึงมีประมุขของประเทศ ซึ่งไม่เพียงอยู่เหนือการวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ เท่านั้น แต่ยังเปรียบประดุจสมมติเทพด้วย เพราะการได้รับพระราชานุมัติจากพระมหากษัตริย์ ย่อมช่วยสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลหน้าตาอัปลักษณ์ที่ดูคล้ายรัฐบาลทหารในละตินอเมริกาสมัยก่อน ซึ่งในกรณีของประเทศไทยนั้น รัฐบาลประเภทนี้มักได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มพวกพ้องทางธุรกิจและชนชั้นนำในกรุงเทพฯ ความจำเป็นนี้อธิบายว่า เหตุใดพระมหากษัตริย์ที่ประชาราษฎรเคารพบูชาอย่างสุดซึ้ง จึงยังต้องได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เข้มงวดที่สุดฉบับหนึ่งในโลก พระมหากษัตริย์มิได้เป็นเพียงประมุขแต่ในนามสำหรับชนชั้นนำในเมืองไทยเท่านั้น แต่ทรงเป็นที่มาของระบบอุปถัมภ์และอำนาจในพระองค์เองอีกด้วย ผลที่ตามมาในขณะนี้จึงเป็นความสั่นคลอน เนื่องจากพระชนมายุที่มากขึ้น พระองค์ทรงเป็นผู้ประทานเกียรติยศและรับถวายเงินบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัยมาเป็นเวลานานแล้ว พระราชกรณียกิจเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อคนยากคนจนในชนบทอันเป็นที่รักยิ่งของพระองค์ แต่ระบบอุปถัมภ์นี้ก็ช่วยค้ำจุนอิทธิพลของสถาบันกษัตริย์ต่อไปเช่นกัน

นวัตกรรมของทักษิณคือการใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 ที่มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างมาก มาสร้างการเมืองใหม่ที่เปลี่ยนแปลงระบบเดิมๆ ของการซื้อเสียงแบบขายปลีกและแยกเป็นท้องถิ่นมาเป็นเครื่องจักรแบบขายส่งที่ขยายระบบอุปถัมภ์ไปทั้งประเทศ นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค เงินกู้รายย่อย ฯลฯ ช่วยส่งเสริมความเข้มแข็งของเครื่องจักรนี้ ด้วยเหตุนี้เอง ทักษิณจึงกลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนเดียวในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยลุ่มๆ ดอนๆ ของประเทศไทยที่สามารถดำรงตำแหน่งจนครบวาระ แต่พวกชนชั้นนำรุ่นเก่ากลับรู้สึกถูกคุกคาม เมื่อความเป็นผู้นำแบบเบ็ดเสร็จและความนิยมในตัวทักษิณดูเหมือนเริ่มท้าทายพระบารมีของพระมหากษัตริย์

วัฒนธรรมไทยคือส่วนประกอบที่ผสมผสานศาสนาพุทธ ความเชื่อแบบไสยศาสตร์และลัทธิบริโภคนิยมแบบฟุ้งเฟ้อเข้าด้วยกัน อำนาจและอิทธิพลมีลักษณะยืดหยุ่นหลายรูปแบบ แต่ดังที่ Andrew Walker และ Nicholas Farrelly แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียชี้ให้เห็นว่า ชนชั้นนำของไทยมีทักษะทางความคิดที่ค่อนข้างอ่อนด้อย และมักคำนวณเรื่องอำนาจในแบบเกมที่ต้องมีผู้แพ้ผู้ชนะและผู้ชนะกินรวบ (zero-sum game) รัฐบาลทหารที่โค่นล้มทักษิณอ้างว่า นโยบายของทักษิณขัดต่อแนวพระราชดำริ “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่มีรากเหง้ามาจากแนวคิดดั้งเดิมเกี่ยวกับชีวิตชนบทอันกลมเกลียว ลำดับชั้นในสังคม และการรู้จักฐานะของตัวเอง ซึ่งรัฐบาลทหารก็จัดการใส่แนวพระราชดำรินี้ไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หลังจากรัฐบาลทหารบริหารประเทศมั่วๆ อยู่ได้ไม่นาน ก็เปิดทางให้มีการเลือกตั้ง แต่คำวินิจฉัยแบบมักง่ายของศาลก็ช่วยล้มรัฐบาลโปรทักษิณได้สองชุดติดต่อกัน

โอกาสของอภิสิทธิ์

ตอนนี้ทรัพย์สินมหาศาลของทักษิณถูกอายัดไว้ คนไทยจำนวนมากมองว่า การที่เขาออกมาเรียกหาการปฏิวัติในช่วงที่วิกฤตการณ์กำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม ถือเป็นการไร้ความรับผิดชอบที่เข้าขั้นอาชญากรรม ทักษิณจึงตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ แต่สถาบันกษัตริย์ยิ่งมีปัญหารุมเร้าลึกล้ำกว่า.................................................ภาพพจน์ของสถาบันกษัตริย์ที่สู้อุตส่าห์ทะนุถนอมกันมาอาจพังครืนในชั่วข้ามคืน

การปกป้องสถาบันกษัตริย์คือภารกิจส่วนหนึ่งของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของไทย เขาขึ้นครองตำแหน่งโดยไม่ได้มีเสียงข้างมาก ทั้งนี้ด้วยการผลักดันของฝ่ายเสื้อเหลือง อภิสิทธิ์บอกว่าเขาเป็นนักปฏิรูปที่จะเยียวยาความแตกแยก เขาจัดการความปั่นป่วนของฝ่ายเสื้อแดงด้วยความบันยะบันยังแต่มั่นคง ..........................

ถ้าเป็นสมัย พ.ศ.2475 นักข่าวของเราคงจัดให้อภิสิทธิ์อยู่ในกลุ่ม “ปัญญาชนเอเชียที่มีความคิดแบบตะวันตก” ในรัฐบาลหลังรัฐประหาร ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ถ้านักข่าวคนนั้นยังมีชีวิตอยู่ เขาคงทึ่งไม่น้อยที่ได้เห็นเรื่องพลิกกลับตาลปัตรกับการที่ชาวกรุงทันสมัยสากลอย่างอภิสิทธิ์กลายเป็นแนวหน้าให้ระบอบที่ได้เนื้อแท้ของอำนาจมาจากสถาบันกษัตริย์ยุคศักดินา นายอภิสิทธิ์ไม่มีทั้งบารมีและความชอบธรรม เพื่อให้ได้ทั้งสองอย่างนี้มา เขาจะต้องเผชิญหน้ากับผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เนื่องจากเป็นหนี้บุญคุณฝ่ายนิยมเจ้าที่ดันเขาขึ้นสู่อำนาจ เขาคงไม่กล้าถกเถียงเรื่องอนาคตของสถาบันกษัตริย์ แต่ถ้าเขามีความกล้าพอที่จะทำเช่นนั้น ประเทศไทยและแม้กระทั่งราชวงศ์เองอาจรู้สึกขอบใจเขาในระยะยาว สำหรับบทบาทในปัจจุบัน สถาบันกษัตริย์มิได้ยืนอยู่ระหว่างประเทศไทยกับความปรองดองทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังยืนอยู่ระหว่างประเทศไทยกับยุคสมัยใหม่ด้วย

Banyan

ที่มา : หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท : The Economist: ปัญหาระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท

๖ เมษายน วันอัปรีย์


วันที่ ๖ เมษายน เป็นวันที่นายพลคนหนึ่งในกองทัพพระเจ้าตากสิน แย่งสมบัติและขึ้นครองเป็นกษัตริย์ผ่านการฆ่ากษัตริย์คนก่อน หลังจากนั้นมีการแก้ตัวโดยโกหกว่าพระเจ้าตาก “บ้า” จะเห็นได้ว่าการปล้นแย่งชิงการเป็นใหญ่ผ่านความรุนแรงคือที่มาของตระกูลจักรี และการใช้กำลังยึดอำนาจของทหาร เพื่อประโยชน์ส่วนตน เป็นประเพณีเก่าแก่ อัปรีย์ ของชนชั้นปกครองไทย

จริงๆ แล้วการใช้ความรุนแรงในการขึ้นครอง ไม่ใช่เรื่องอะไรพิเศษสำหรับราชวงศ์จักรีในสมัยก่อนเลย มันเป็นพฤติกรรมปกติของพวกกษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์อังกฤษ จีน พม่า หรือฝรั่งเศส และเราก็ไม่สามารถโทษ ไม่ควรเอาผิดลูกหลานของกษัตริย์สมัยก่อนที่เคยทำความผิด แต่ในขณะเดียวกันเราก็ไม่ควรเชิดชูการกระทำแบบนั้นด้วยคำโกหกบิดเบือน

คาร์ล มาร์คซ์ เคยตั้งข้อสังเกตในหนังสือว่าด้วยทุนว่า ความร่ำรวยของนายทุนสมัยนี้ ไม่ได้มาจากความขยันและออมของคนเหล่านั้น แต่ต้นกำเนิดของความร่ำรวยมาจากการปล้นขโมยทรัพย์สินของผู้อื่นผ่านการใช้กองกำลัง ในกรณีนายทุนใหญ่เก่าแก่ของไทยก็เช่นกัน ทรัพย์สมบัติของกษัตริย์ปัจจุบัน ที่เป็นมรดกจากบรรพบุรุษ มาจากการปล้นสมบัติของพระเจ้าตาก หลังจากนั้นมีการใช้อำนาจขูดรีดและบังคับใช้ไพร่ บังคับให้คนส่งส่วย และบังคับเก็บภาษีจากประชาชน โดยที่กษัตริย์ต้นๆของราชวงศ์จักรีไม่ได้ขยันทำงานแต่อย่างใดทั้งสิ้น สรุปแล้วทรัพย์สินทั้งหมดที่ทำให้ไทยมีกษัตริย์ที่รวยที่สุด มีต้นกำเนิดอันไม่ชอบธรรมในประวัติศาสตร์ ซึ่งไม่ต่างจากต้นกำเนิดของทรัพย์สมบัติของกษัตริย์อังกฤษหรือที่อื่น

แต่เราต้องไม่มองอะไรด้านเดียว กษัตริย์ที่ขยันปกครองและปฏิวัติระบบล้าสมัยของกรุงเทพฯก็เคยมี ตัวอย่างที่ดีคือรัชกาลที่๕ ซึ่งพยายามทำให้สยามเป็นรัฐสมัยใหม่ ยกเลิกทาสและไพร่ และรวมศูนย์การปกครอง และถึงแม้ว่าทำไปเพื่อประโยชน์และอำนาจของตนเอง แต่ก็มีประโยชน์กับประชาชนด้วย และที่น่าสนใจคือพวกขุนนางหัวเก่าพยายามคัดค้านอย่างถึงที่สุด แสดงว่าสมัยโน้นก็มีหัวเก่าที่ไม่อยากให้ประเทศก้าวหน้าเหมือนกัน อย่างไรก็ตามรัชกาลที่๕ก็ไม่ใช่นักประชาธิปไตย เป็นผู้สั่งรวบดินแดนสามจังหวัดภาคใต้จากรัฐปัตตานี และการที่มีเมียเต็มวังก็แสดงว่าไม่เคารพผู้หญิงเท่าไร นั้นก็ปกติ คนเราย่อมมีข้อดีข้อเสียเสมอ ปัญหาคือกษัตริย์ในราชวงศ์จักรีที่สร้างประโยชน์นอกจากรัชกาลที่๕แล้ว....อาจไม่มีเลย รัชกาลที่๓ กับรัชกาลที่๔ สนใจแต่การแย่งสมบัติกัน รัชกาลที่๖ มัวแต่เล่นละครและใช้เงินแผ่นดิน รัชกาลที่๗ แก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจบนสันหลังประชาชนจนต้องมีการปฏิวัติในปี ๒๔๗๕...


ประวัติศาสตร์เป็นอาวุธทางการเมือง ทั้งหมดที่ผมเขียนไปนี้ไม่ใช่เรื่องลึกลับ แต่ฝ่ายเผด็จการสมัยนี้ไม่อยากให้เราพูดหรือคิดความจริงแบบนี้ของประวัติศาสตร์ เขาจะพยายามสร้างประวัติศาสตร์ชุดโกหกมาให้เราท่องจำแทน และเราก็จะต้องสวนกลับไปด้วยข้อมูลของฝ่ายเรา


ใจ อึ๊งภากรณ์


ที่มา : wdpress : Political Writings on Thailand : ๖ เมษายน วันอัปรีย์

ประเทศไทยควรจดจำบทเรียนของเนปาล : Thailand should remember Nepal



The Independent

Thailand should remember Nepal



แปลโดย : ทีมแปลข่าวเฉพาะกิจ (ประชาไท)

หมายเหตุ
กิจกรรมนี้เกิดขึ้นจากทีมนักแปลอาสาสมัครที่อยากให้สาธารณชนได้บริโภคข่าวสารอย่างรอบด้าน เนื่องเพราะเห็นว่าสื่อสารมวลชนของไทยมีปัญหาเรื่องการทำงานในสถานการณ์วิกฤตินี้ เราจึงเลือกแปลข่าวของสื่อต่างชาติที่ยังสามารถทำงานตามหลักการวิชาชีพได้ โดยไม่มีอคติต่อฝ่ายใด และไม่มีอำนาจรัฐมาครอบงำ




ประเทศไทยควรจดจำบทเรียนของเนปาล

ถานการณ์อลหม่านในกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทยซึ่งรัฐบาลได้ประกาศพระราชกำหนดบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉินภายหลังการประท้วงที่ทำให้ต้องยกเลิกการประชุมสุดยอดอาเซียน จะนำไปสู่การเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศเนปาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่ประเทศเนปาล รัฐบาลอนุรักษ์นิยมกษัตริย์ที่ถูกโจมตี ค่อยๆ ถูกดูดกลืนโดยการประท้วงของประชาชน ส่งผลให้เกิดการปฏิวัติเหมาอิสต์และการล้มระบอบกษัตริย์

ในประเทศไทย สถาบันกษัตริย์ได้รับความนิยมมากกว่า ขณะที่การปฏิวัติของประชาชนกระจัดกระจายไม่เป็นเนื้อเดียวกันมากกว่า อย่างไรก็ตาม มีการนำมาเปรียบเทียบกัน อย่างแรกคือ ผู้นำของไทยที่ถูกกำจัดออกไปเมื่อปี 2549 ด้วยความเห็นชอบของราชสำนัก แม้ไม่ได้เป็นผู้นิยมลัทธิเหมา แต่ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งได้รับความนิยมจากประชาชนเป็นผู้ที่จะไม่หลีกเลี่ยงการใช้ภาษาของสงครามชนชั้นอย่างแน่นอน ส่วนเป้าหมายแห่งความกริ้วโกรธของนายทักษิณ คือรัฐบาลของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเจตนารมณ์เบื้องต้นของรัฐบาลนี้คือการแสดงความจงรักภักดีกับราชวงศ์ แต่เจตนารมณ์นี้กลับกลายเป็นผลร้ายกับชื่อเสียงของประเทศไทยนับตั้งแต่รัฐบาลนี้ขึ้นสู่อำนาจ เพราะมีประชาชนจำนวนมากถูกจับกุมในความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

นายอภิสิทธิ์ไม่อาจกล่าวอ้างถึงศีลธรรมสูงส่งได้เมื่อเขาประนามการประท้วงของฝูงชนที่สร้างความอับอายให้กับเขา ความชอบธรรมทางประชาธิปไตยของเขาดูน่าเคลือบแคลง เขาได้อำนาจบริหารมาจากการประท้วงบนท้องถนนที่ต่อต้านพรรคที่ชนะการเลือกตั้งในปี พ.ศ.2551 ซึ่งรู้กันว่าเป็นพรรคตัวแทนของทักษิณ ตอนนี้เขากำลังถูกข่มขู่ด้วยวิธีการเดียวกับที่ทำให้เขาขึ้นสู่อำนาจได้ ขณะที่ประเทศไทยกำลังอ่อนเปลี้ยเพราะรายได้ที่สำคัญจากการท่องเที่ยวหดหาย ส่วนสถาบันกษัตริย์ที่รัฐบาลนี้เข้ามาปกป้องก็กำลังสูญเสียความนิยมที่เคยได้รับในอดีต

ในการทำความเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ทางราชสำนัก, กองทัพ และชนชั้นนำในเมืองควรเลือกที่จะพยายามอยู่ร่วมกับกลุ่มคนจำนวนมากที่ชื่นชอบทักษิณ ตอนนี้คนเหล่านี้ไม่มีความโชคดีเช่นนั้นแล้ว พวกเขายากที่จะได้เห็นทักษิณกลับมาสู่ชัยชนะทั้งในฐานะวีรบุรุษและเผด็จการ

ในอีกด้านหนึ่ง โอกาสที่นายอภิสิทธิ์จะจัดการปัญหานั้นดูมีอยู่น้อยนิด ทางออกเดียวคือการเลือกตั้งใหม่ซึ่งฝ่ายผู้ที่เห็นอกเห็นใจทักษิณจะได้รับชัยชนะ ทางออกอื่นที่มี เป็นเส้นทางเดียวกับที่ประเทศเนปาลใช้ในการปฏิวัติ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า บรรดาผู้ปกครองของประเทศไทยจะเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในอดีตราชอาณาจักรในหุบเขาหิมาลัยนี้ และประนีประนอมได้ทันเวลา


The Independent’s Leading article,
Monday, 13 April 2009


ที่มา : หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท : The Independent : ประเทศไทยควรจดจำบทเรียนของเนปาล

วันเสาร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2552

หรือว่าเราไม่เคยเป็นสังคมทันสมัย?


การใช้กรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพื่อปิดวิทยุชุมชน ฟ้องร้องเว็บไซต์ประชาไท รวมถึงดำเนินคดีกับคนที่แสดงความเห็นตามเว็บไซต์ต่างๆ ในขณะนี้ เป็นดัชนีชี้วัดปฏิกิริยาของระบบอำมาตยาธิปไตยที่มีต่อการขยายตัวของกระแสประชาธิปไตยได้เป็นอย่างดี การที่ชนชั้นนำไม่สามารถทนดู ทนฟัง และอ่อนไหวต่อความคิดเห็นที่แตกต่างจากตนอย่างมาก จนต้องหันไปใช้กลไกรัฐ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ศาล เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวให้กับสังคม โดยเชื่อว่าการทำเช่นนั้นจะสามารถหยุดยั้งคนไม่ให้คิดและทำในสิ่งที่แตกต่าง

ท่าทีของชนชั้นนำที่ตอบสนองต่อการตื่นตัวทางการเมืองของพลเมืองในขณะนี้ ไม่อาจเข้าใจเป็นอื่น นอกจากชนชั้นนำไทยยังเข้าใจว่า อำนาจรัฐอยู่เหนือประชาชน และการใช้อำนาจในทางลบที่เน้นการกดปราบทำลายล้าง อยู่เหนือการใช้อำนาจในทางบวกที่เน้นการสร้างสรรค์และร่วมมือ ท่าทีต่อการใช้อำนาจที่ผิดเพี้ยนเช่นนี้ ใช่หรือไม่ที่ทำให้ชนชั้นนำไทยเชื่อว่าตนเองสามารถตรึงสังคมไทยให้เป็น “สังคมก่อนสมัยใหม่” ตลอดไป ไม่เปลี่ยนเป็น “สังคมทันสมัย” อย่างที่หลายคนเชื่อว่าสังคมไทยกำลังเป็น?


สังคมสมัยใหม่ กับการใช้อำนาจของรัฐ

สังคมสมัยใหม่ หรือสังคมที่ถูกมองว่าเป็น “อารยะ” โดยทั่วไป ให้ความสำคัญกับความสามารถในการใช้เหตุผลของมนุษย์ เพราะเชื่อว่ามนุษย์ต่างจากสัตว์ ตรงที่มนุษย์มีจิตสำนึกและมีอุดมการณ์ ทำให้มนุษย์สามารถคิดจำแนกแยกแยะ สั่งสมประสบการณ์ ที่นำไปสู่การประเมินและตัดสินคุณค่าสิ่งต่างๆ ที่จะทำให้สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเอง เมื่อสังคมสมัยใหม่ให้คุณค่าอย่างสูงกับความสามารถในการใช้เหตุผลของมนุษย์ รัฐจึงรับรองสิทธิในการแสดงความคิดเห็นเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมืองที่รัฐไม่อาจล่วงละเมิดได้ นัยของกฎหมายดังกล่าว คือความเชื่อว่ามนุษย์ไม่ว่าผู้ดีหรือคนยากจนต่างก็มีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ดังนั้นจึงมีความสามารถในการใช้เหตุผลเหมือนกัน ความเชื่อของสังคมทันสมัย นับว่าแตกต่างจากความเชื่อในสังคมจารีตประเพณีอย่างมากมาย สังคมจารีตประเพณีในหลายแห่งอ้างความเชื่อ เช่น ความเชื่อทางศาสนา เพื่อสนับสนุนการปฎิบัติต่อมนุษย์ในลักษณะที่แตกต่างกัน เช่น ความเชื่อในพุทธศาสนาที่ว่า คนทำบุญมากกว่า ย่อมมีชาติกำเนิดสูงกว่า มีบารมีเหนือกว่าที่จะปกครองมนุษย์คนอื่น

การที่รัฐสมัยใหม่รับรองสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของพลเมืองตามกฎหมาย ไม่ได้นำไปสู่ความวุ่นวายในสังคม เพราะการบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างเท่าเทียมและเสมอภาคกันสำหรับคนทุกกลุ่ม ไม่ได้เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าคนกลุ่มนั้นจะมีความคิดเห็นที่สนับสนุน หรือแตกต่างจากรัฐบาล สังคมสมัยใหม่ถูกมองว่าเป็น “สังคมที่ก้าวหน้า” เพราะระดับการใช้เหตุผลได้แทรกซึมเข้าไปสู่ปริมณฑลต่างๆ อย่างทั่วถึง เช่น การเติบโตของความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ การพัฒนาวิธีตัดสินใจอย่างมีเหตุผล หรือแม้แต่การแยกแยะระหว่างข้อมูลหรือข้อเท็จจริงกับการตัดสินคุณค่า การพัฒนาไปสู่ความเป็นสังคมทันสมัย จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพ โดยมีปัญญาชนเป็นกลุ่มหัวหอกในการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงของบริบททางสังคมในด้านอื่นๆ เช่น การอพยพเคลื่อนย้ายตัวมากขึ้นของกลุ่มประชากร ทุน ความรู้ เทคโนโลยี การพัฒนาอุตสาหกรรม ฯลฯ

ในสังคมสมัยใหม่ที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกันของมนุษย์ ประเด็นที่น่าสนใจคือ ท่าทีของรัฐต่อการใช้อำนาจต่างจากการใช้อำนาจของรัฐในสังคมจารีตประเพณีอย่างมาก ในขณะที่รัฐก่อนสมัยใหม่เน้นอำนาจของผู้ปกครอง และการออกคำสั่งและควบคุมประชากร (command and control) โดยใช้อาวุธ กฎหมายและการลงโทษ เป็นเครื่องมือรักษาอำนาจของผู้ปกครอง รัฐสมัยใหม่กลับเน้นอำนาจที่อยู่ในมือประชาชน และการใช้อำนาจผ่าน “ศิลปะแห่งการปกครอง” (the art of government) เน้นการสร้างสังคมที่ให้ความสำคัญกับความรู้ กระตุ้นให้มีการต่อสู้ทางความคิด เน้นการส่งเสริมให้ปัจเจกบุคคลสร้างวินัยเพื่อควบคุมตนเอง โดยมีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนจิตสำนึกของปัจเจกบุคคล ควบคู่ไปกับการพัฒนาความสามารถของสังคมในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ดังนั้นนอกจากสังคมสมัยใหม่จะไม่ยอมรับการรัฐประหาร การใช้อาวุธบังคับให้คนเชื่อและยอมตามแล้ว สังคมสมัยใหม่ยังท้าทายความเชื่อว่า ผู้ปกครองอยู่เหนือประชาชน และผู้ปกครองมีคำตอบสำหรับประชาชนด้วย


สังคมไทย กับการใช้อำนาจของรัฐ

แม้การก้าวขึ้นสู่อำนาจของรัฐบาลอภิสิทธ์ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองเสียงข้างน้อย ในท่ามกลางความสับสนวุ่นวายทางการเมืองทั้งในและนอกรัฐสภา จะก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความชอบธรรมในการได้มาซึ่งอำนาจรัฐ ทว่าในวันที่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ได้แสดงความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน การยึดมั่นในหลักนิติรัฐ ควบคู่กับส่งเสริมการสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นภายในชาติอย่างเร่งด่วน ณ วันนั้นผู้ใหญ่ในบ้านเมืองต่างแสดงความดีใจที่ได้นายอภิสิทธิ์เป็นนายก ประธานองคมนตรี ถึงกับกล่าวสนับสนุนแนวนโยบายของรัฐบาล ให้ยึดหลักการ 5 ข้อ คือ “อดทน อดกลั้น เสียสละ ประพฤติตนเป็นแบบอย่าง และสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้น” (1) ท่าทีในวันแรกของการเข้ารับตำแหน่งรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ ทำให้หลายคนพากันแสดงความโล่งอกว่า รัฐบาลจะนำความสงบกลับคืนมา


ทว่าเพียงไม่นานวันหลังการขึ้นสู่อำนาจ เหตุการณ์กลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม กระแสความไม่พอใจรัฐบาลอภิสิทธิ์เติบโตขยายผลมากขึ้นทุกวัน ทั้งจากพรรคการเมืองเดิม หรือกลุ่มคนที่สนับสนุนพรรคการเมืองเดิม อย่างกลุ่มคนเสื้อแดง หรือแม้แต่คนที่เคยร่วมสนับสนุนอย่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ถึงกับออกมากล่าวทวงบุญคุณรัฐบาล ในฐานะผู้สนับสนุนให้ก้าวสู่อำนาจ

ในท่ามกลางแรงกดดันจากหลายฝ่ายให้รัฐบาลอภิสิทธิ์เร่งสร้างสังคมประชาธิปไตย นำหลักนิติรัฐ และความยุติธรรมกลับคืนมาสู่สังคม นอกจากรัฐบาลจะไม่สามารถทำตามข้อเรียกร้องได้อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว รัฐบาลได้ดำเนินการหลายอย่างที่สร้างความขัดแย้งเพิ่มขึ้น เช่น การอนุมัติงบประมาณให้รัฐมนตรีที่มีส่วนในการสร้างภาพลักษณ์ที่เสียหายให้แก่ประเทศ เป็นผู้สร้างภาพลักษณ์ประเทศในสายตาชาวโลก การอนุมัติงบประมาณเพื่อให้กองทัพเข้ามามีบทบาทกดปราบกระแสต้านรัฐบาล การเพิกเฉยต่อการบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคกับคนทุกกลุ่ม การออกกฎหมายลดโทษให้แก่ความผิดที่เกิดจากการยึดสนามบิน การยื้อเวลาไม่ดำเนินคดีกับพันธมิตรที่ยึดทำเนียบและสนามบินสองแห่ง แต่กลับแต่งตั้งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการยึดสนามบินเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีและที่ปรึกษาจำนวนมาก รวมถึงการผลักดันกฎหมายหมิ่นฯ ฉบับใหม่ที่เพิ่มโทษสูงขึ้น รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างกว้างขวางกับกลุ่มคนหลายวงการ ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายคอมพิวเตอร์ ที่ปิดกั้นพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นทางเว็บไซต์ของประชาชน

ก่อนหน้ารัฐบาลอภิสิทธิ์ กฎหมายหมิ่นฯ ก่อให้เกิดการความขัดแย้งในสังคมมากอยู่แล้ว เพราะบทลงโทษที่สูง และความคลุมเครือในการบังคับใช้กฎหมาย ที่เปิดโอกาสให้ใครก็ได้เป็นผู้ฟ้องร้อง ผูกขาดอำนาจในตีความและบังคับใช้กฎหมายเอาไว้ในมือกลไกรัฐ ซึ่งทำให้สุ่มเสี่ยงต่อการใช้กฎหมายเพื่อทำลายศัตรูทางการเมือง เพราะเหตุนี้ จึงทำให้มีทั้งผู้ที่สนับสนุน และผู้ที่ต่อต้านกฎหมายดังกล่าว การที่รัฐบาลอภิสิทธิ์เพิ่มความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมาย ทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งเลวร้ายลงอย่างไม่อาจเลี่ยง

แม้ว่าไม่นานมานี้ นายอภิสิทธิ์แสดงความรู้สึกไม่สบายใจกับการจับกุมผู้ดูแลเว็บไซต์ประชาไท และการปิดเว็บไซต์ต่างๆ พร้อมปฏิเสธว่า การคุกคามสื่อไม่ใช่นโยบายของรัฐบาล และเป็นเรื่องที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับฝ่ายใดเลย (2) แต่ในทางปฏิบัติ เราแทบไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงใดๆ ของรัฐบาลต่อกรณีต่างๆ ที่ถูกข้อครหาว่าเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง หรือท่าทีซึ่งแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลมีความตั้งใจจริงที่จะคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน นำหลักนิติรัฐและความยุติธรรมคืนสู่สังคม



ความย้อนแย้งภายในสังคมไทย
ถึงปิดหูปิดปากปิดตา ก็ยังเห็น


การพัฒนาไปสู่สังคมทันสมัยในหลายภูมิภาคของโลก ได้ลดทอนอิทธิพลของความเชื่อดั้งเดิม รวมถึงมรดกของความสัมพันธ์ทางสังคมที่เคยปฏิบัติกันมาในสังคมจารีตประเพณี แต่มิใช่ว่าจะสามารถทำลายอิทธิพลของความเชื่อดั้งเดิม หรือสถาปนาความสัมพันธ์แบบใหม่เข้าแทนที่ความสัมพันธ์ในสังคม “ก่อนสมัยใหม่” ทั้งหมด ดังนั้นลักษณะ “พันทาง” ของความทันสมัย จึงปรากฏให้เห็นในสังคมสมัยใหม่หลายแห่ง ความทันสมัยแบบพันทางไม่ใช่แบบอย่างที่สมบูรณ์แบบ แต่ก็ไม่ใช่ความผิด ที่จะนำมาใช้เป็นข้ออ้างเพื่อปิดกั้นโอกาสในการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นรัฐสมัยใหม่และผู้นำที่ชาญฉลาดจำนวนไม่น้อยจึงเลือกที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เปรียบเทียบตนเองกับประเทศอื่นๆ และปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก โดยไม่ต้องรอให้มีความขัดแย้งที่บานปลาย หรือมีความสูญเสียที่มากเกินเยียวยา

สำหรับสังคมไทยซึ่งพัฒนาไปสู่ความทันสมัยมากว่า 60 ปี แม้ว่ามือหนึ่งเราจะชูธงความเป็นเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ อีกมือหนึ่งจะชูธงประชาธิปไตยทางการเมือง แต่เรากลับยึดกุมอุดมการณ์อำนาจนิยม และวัฒนธรรมแบบอนุรักษ์นิยมอย่างสุดขั้วไว้ไม่ปล่อยมือ เราจึงต้องเผชิญกับโจทย์ที่ประหลาดพิลึก เช่น ในนามของการเป็นเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ ทำไมเรายอมให้มีความเป็นเสรีนิยมทางเศรษฐกิจในบางด้าน เฉพาะคนบางกลุ่ม? น่าสงสัยว่าใครกันที่เก็บเกี่ยวดอกผลของความมั่งคั่งจากการดำเนินนโยบายเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ (เพียงบางด้าน) นั้น? และใครคือผู้จ่ายต้นทุนของการพัฒนาไปสู่ความทันสมัยนั้น?


ในนามของการปกครองด้วยประชาธิปไตย ใครกันแน่ที่กุมอำนาจทางการเมือง? ทำไมระบอบประชาธิปไตยจึงไม่เติบโต? เหตุใดเราจึงยอมให้หลักการพื้นฐานของระบบประชาธิปไตยจึงถูกปัดทิ้งอย่างไร้ค่า?

ในทางวัฒนธรรม ทำไมเรายอมให้ใครก็ตามที่อ้างความรักชาติ ศาสตร์ กษัตริย์ กลายเป็นคนที่ผูกขาดความถูกต้อง และมีอำนาจชอบธรรมเหนือกฎหมาย ที่จะตัดสินคนอื่นๆ ได้อย่างไม่มีโอกาสโต้แย้ง
?

หรือว่าแท้จริงแล้ว การพัฒนาไปสู่ความทันสมัย ยังไม่เปลี่ยนสังคมไทยให้เป็นทันสมัยที่แท้จริง เราจึงมีชนชั้นนำที่กุมอำนาจเหนือรัฐบาล และเชื่อว่าตนเองสามารถบังคับโลกไม่ให้กลม บังคับโลกไม่ให้หมุน ด้วยการใช้อำนาจรัฐ ปิดหูปิดตาปิดปากประชาชน โดยไม่จำเป็นต้องแคร์สายต่อชาวโลกว่าจะมองอย่างไร เราจึงได้รับการอนุญาตให้มีได้แค่รัฐบาลที่ถนัดแต่การใช้อำนาจออกคำสั่งบังคับประชาชน แต่กลับไม่เคยเรียนรู้ศิลปะแห่งการปกครองแม้แต่เรื่องเดียว



ศรัทธา สารัตถะ

16 มี.ค. 2552



อ้างอิง

(1) “เปรม” ดีใจ ประเทศไทยได้นายกฯชื่อ “อภิสิทธิ์” มั่นใจแก้ปัญหาชาติได้, ประชาไท วันที่ 29/12/2551, http://www.prachathai.com/05web/th/home/15036

(2) อภิสิทธิ์เปรย จับผู้ดูแลเว็บประชาไท - ไล่ปิดเว็บไซต์ ไม่เกิดประโยชน์ ทำภาพลักษณ์ประเทศเสียหาย, ประชาไท วันที่ 12/3/2552, http://www.prachatai.com/05web/th/home/15872


ที่มา : หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท : หรือว่าเราไม่เคยเป็นสังคมทันสมัย?


หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

เรียนรู้ประวัติศาสตร์ : รัสเซียปี 1905


การต่อสู้ของประชาชนเพื่อไปบรรลุประชาธิปไตยนั้น ไม่ว่าในยุคใดสมัยใดและถิ่นฐานใด ล้วนแต่ยืดเยื้อยาวนาน ยากลำบาก และนองเลือดทั้งสิ้น การเคลื่อนไหวคืบหน้าไปแล้วก็ถดถอย แล้วก็คืบหน้าอีก สู้แล้วแพ้ ก็กลับมาสู้ใหม่ เป็นกระแสขึ้นและลง จากเล็กสู่ใหญ่ จากน้อยสู่มาก จากกระจัดกระจายและเป็นไปเอง สู่การรวมตัวจัดตั้งและมีแผนงาน จากเป้าหมายเล็กและจำกัด ไปสู่เป้าหมายใหญ่และชัดเจน การชะงักหรือถดถอยอาจเป็นเพียงชั่วครู่ไม่กี่เดือนกี่ปี ไปจนถึงยาวนานหลายสิบปี แต่แล้วการต่อสู้ของประชาชนก็บรรลุชัยชนะและได้มาซึ่งประชาธิปไตยในที่สุด

ในระหว่างนั้น เแม้ประชาชนจะถูกสกัดกั้น ถูกกดขี่ ถูกใช้กำลังรุนแรงปราบปราม บาดเจ็บล้มตาย กระทั่งนองเลือดอย่างสาหัส บางครั้งเกิดการถดถอยนานหลายสิบปี แต่การต่อสู้ของประชาชนก็ฟื้นกลับมาเป็นกระแสใหญ่ได้อีกทุกครั้งจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย การต่อสู้ของประชาชนในสังคมและยุคสมัยที่ต่างกันอาจมีสาเหตุเฉพาะหน้าที่ต่างกัน แต่เหตุผลสำคัญที่สุดมีเพียงประการเดียวคือ ‘ประชาชนต้องการเสรีภาพ’


จักรวรรดิรัสเซีย ณ ต้นปี 1905 ถูกปกครองโดยระบอบอัตตาธิปไตยของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่สองแห่งราชวงศ์โรมานอฟ พระองค์ทรงปกครองรัสเซียด้วยนโยบายกำปั้นเหล็ก ปราบปรามจับกุม เนรเทศ และประหารผู้ที่ต่อต้านราชวงศ์อย่างเด็ดขาด ปฏิเสธการปฏิรูปเรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนของประชาชนรัสเซียและชนชาติส่วนน้อย อีกทั้งปล่อยให้การบริหารบ้านเมืองถูกแทรกแซงโดยพระราชินีซาร์อเล็กซานดราผู้ซึ่งมุ่งมั่นที่จะให้เจ้าชายน้อยราชโอรสได้สืบราชบัลลังก์ให้จงได้ พระราชวงศ์ล้อมรอบไปด้วยพวกผู้ดีขุนนาง กองทัพ และเจ้าที่ดินที่ร่ำรวย ที่ไม่เสียภาษี ในขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ของรัสเซียเป็นชาวนาไร้ที่ดินและยากจน พวกเขาจงรักภักดีและยึดมั่นในพระเจ้าซาร์ในฐานที่เป็น ‘พระบิดาของประชาชน’

ในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่นปี 1904 รัสเซียประสบความพ่ายแพ้อย่างน่าอับอาย สร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนโดยทั่วไป อีกทั้งนำมาซึ่งปัญหาเศรษฐกิจ อาหารและสิ่งจำเป็นอื่น ๆ มีราคาขึ้นสูงและขาดแคลน ดังนั้น ในวันที่ 22 มกราคม 1905 ประชาชนจำนวน 150,000 คนนำโดยนักบวชชื่อ กาปอง ได้พากันเดินขบวนในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ไปยังลานหน้าพระราชวังฤดูหนาวเพื่อถวายฎีกาต่อพระเจ้าซาร์ ขอให้มีการปฏิรูปประชาธิปไตย ให้มีรัฐสภา การเลือกตั้ง และเสรีภาพ ตลอดจนให้ลดภาษี ปฏิรูปการคุ้มครองแรงงานและสวัสดิการสังคม แต่พระเจ้าซาร์กลับทรงสั่งให้ทหารราชองค์รักษ์ยิงปืนใส่ประชาชน ทำให้มีคนเสียชีวิตกว่าร้อยคนและบาดเจ็บอีกหลายร้อยคน เหตุการณ์ดังกล่าวได้รับการขนานนามว่า ‘วันอาทิตย์นองเลือด’ ความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อพระเจ้าซาร์ในฐานที่เป็น ‘พระบิดาของประชาชน’ จึงได้สิ้นสุดลงนับแต่นั้น

เหตุการณ์นองเลือดดังกล่าวทำให้เกิดการเคลื่อนไหวประท้วงไปทั่วประเทศ คนงานเดินขบวนนัดหยุดงาน และชาวนาลุกขึ้นแย่งยึดที่ดินของเจ้าที่ดิน กระทั่งพระเจ้าซาร์ยอมอ่อนข้อให้ในเดือนสิงหาคม 1905 สัญญาที่จะให้มีสภาดูม่าที่เลือกตั้งโดยคนรวย แต่ประชาชนทั่วประเทศก็ยังคงประท้วงต่อไป ในที่สุด รัฐมนตรีวิตเตอจึงโน้มน้าวให้พระเจ้าซาร์ทรงยอมลงพระนามใน ‘แถลงการณ์เดือนตุลาคม’ สัญญาที่จะให้มีรัฐธรรมนูญ เสรีภาพ การเลือกตั้ง และรัฐสภา ผลก็คือ พวกนักการเมืองฝ่ายขวายุติการเคลื่อนไหว หันมาสนับสนุนพระเจ้าซาร์ แต่ประชาชนคนงานและชาวนายังคงประท้วงต่อไป มีการจัดตั้งสภาคนงานขึ้นในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กและมอสโกที่ปฏิเสธอำนาจการปกครองของพระเจ้าซาร์ เกิดการลุกขึ้นสู้ในเมืองเซวาสโตโปลในเดือนพฤศจิกายน และมีการนัดหยุดงานทั่วไปในกรุงมอสโกในวันที่ 5-7 ธันวาคม รัฐบาลส่งกองทัพและปืนใหญ่เข้าปราบปรามประชาชนในกรุงมอสโกอย่างนองเลือดเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ สังหารผู้คนไปกว่าหนึ่งพันคน จนประชาชนต้องยอมจำนน ในขณะที่กลุ่มผู้นำสภาคนงานในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กและมอสโก รวมทั้งกลุ่มผู้นำสหภาพชาวนาทั่วประเทศนับพันคนล้วนถูกจับกุมคุมขังทั้งหมด

ระบอบพระเจ้าซาร์หลังปี 1905 กลายเป็นระบอบกษัตริย์ในรัฐธรรมนูญ พระเจ้าซาร์ยังคงมีพระราชอำนาจเด็ดขาดในฝ่ายบริหาร นโยบายต่างประเทศ ศาสนา กองทัพ มีระบบการเลือกตั้งทางอ้อมถึงสี่ชั้น โดยที่คนรวยและเจ้าที่ดินมีน้ำหนักคะแนนเสียงมากกว่าคนงานและชาวนา สภาดูม่าที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม ประกอบด้วยตัวแทนขุนนางเจ้าที่ดินร้อยละ 60 และตัวแทนประชาชนอื่น ๆ อีกร้อยละ 40 สภาดูม่ายังถูกควบคุมจากสภาสูงที่เลือกตั้งครึ่งหนึ่งและแต่งตั้งอีกครึ่งหนึ่ง กฎหมายต้องผ่านสภาดูม่า สภาสูง และพระปรมาภิไธยของพระเจ้าซาร์ ซึ่งทรงมีพระราชอำนาจที่จะยุบสภาเมื่อใดก็ได้อีกด้วย

การลุกขึ้นสู้ของประชาชนรัสเซียปี 1905 มีลักษณะกระจัดกระจาย เป็นไปเอง ขาดการจัดตั้งและการวางแผนประสานงาน ไม่มีพรรคการเมืองของตนที่เข้มแข็ง ไม่มีเป้าหมายที่เป็นหนึ่งเดียว แต่การต่อสู้ของประชาชนรัสเซียก็ยังคงดำเนินต่อไป กระทั่งเกิดเป็นการปฏิวัติประชาธิปไตยในเดือนมีนาคม ปี 1917


รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์


ที่มา : หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท : พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ : เรียนรู้ประวัติศาสตร์ - รัสเซียปี 1905

วันพุธที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2552

การร่วมวางแผนของราชวงศ์ : Thailand’s royal sub-plot



Inside Story : Current affairs and culture

Thailand’s royal sub-plot

by Andrew Walker and Nicholas Farrelly


แปลและเรียบเรียง : chapter 11



การร่วมวางแผนของราชวงศ์

ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่กราบไหว้
ราชวงศ์ไทยกลับกลายเป็นจุดแห่งความไม่พอใจ


มื่อนายกรัฐมนตรีของไทย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทำการการสลายผู้ประท้วงเสื้อแดงเมื่อคืนวันอาทิตย์ ปฎิบัติการเริ่มแรกโดยการวางกองกำลังไว้รอบๆพระราชวังจิตรลดา ที่ประทับของกษัตริย์ในกรุงเทพ เป็นการรักษาความปลอดภัยตามหน้าที่ประจำ แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นการกระทำที่เต็มไปด้วยสัญญลักษณ์ ไม่มีใครจะคิดว่าเสื้อแดงจะคุกคามความมั่นคงของกษัตริย์ แต่สถาบันสูงสุดของประเทศไทยกำลังถูกลากเข้าไป ในการต่อสู้ว่าใครที่มีสิทธิบริหารประเทศอย่างแท้จริง ในขณะที่เหตุการณ์ทางการเมืองกำลังร้อนระอุ ประเทศกำลังขยับใกล้เข้าไป ใกล้ให้มีการถกเถียงกันอย่างเปิดเผยต่อหน้าสายตาประชาชน เกี่ยวกับบทบาทของราชวงศ์

แรงผลักดันครั้งล่าสุดมาจากการ “โฟนอิน” ของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ซึ่งถูกปล้นตำแหน่งโดยการทำรัฐประหารในเดือนกันยายน ๒๕๔๙ การออกมาปราศัยอย่างต่อเนื่องได้ช่วยเพิ่มกำลังใจให้กับผู้สนับสนุนเสื้อแดง ทักษิณได้ปฎิบัติการโดยการโจมตีองคมนตรีของกษัตริย์โดยตรง เขาได้พุ่งเป้าไปยังองคมนตรี ตัวแทนของอำนาจ เปรม ติณสูลานนท์ และสุรยุทธ์ จุลานนท์ กล่าวหาทั้งสองคนนี้ว่าเป้นผู้สั่งการให้กองทัพทำรัฐประหารล้มรัฐบาลของเขา การเปิดโปงของเขาทำให้เกิดข่าวลือตามหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์อย่างไม่ขาดสาย เกี่ยวกับการวางแผนของผู้ภักดีต่อราชวงศ์ระดับสูง และผลักดันให้คนเสื้อแดงจำนวนนับพันเข้าล้อมบ้านของประธานองคมนตรีเปรม ก่อนที่จะเคลื่อนตัวไปพัทยาเพื่อขัดขวางการประชุมสุดยอดของอาเซียน

จากเหตุการณ์วุ่นวายในขณะนี้ ทำไมเปรมและสุรยุทธ์ถึงได้เป็นตัวเอกของเรื่อง ก็เพราะพวกเขาทั้งสองคนนี้เป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดในประเทศไทย ที่ถูกนับถือว่าเป็นรัฐบุรุษและผู้คงจริยธรรม เปรมเคยเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดและเคยเป็นนายกรัฐมนตรีจากปี ๒๕๒๓ จนกระทั่งถึงปี ๒๕๓๑ และได้มีความผูกพันที่แน่นแฟ้นและเป็นที่โปรดปรานของกษัตริย์ในการต่อสู้กับพรรคอมมูนิสต์แห่งประเทศไทย สุรยุทธ์ ลูกป๋า ได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพบก และได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากการทำรัฐประหารในเดือนกันยายน ๒๕๔๙ ทั้งเปรมและสุรยุทธ์ไม่ได้เป็นนายกที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งคู่ได้รับตำแหน่งทางทหารที่สูงสุด และขณะนี้ทั้งคู่ได้รับตำแหน่งองคมนตรีของกษัตริย์ การโจมตีของทักษิณต่อบุคคลที่มีตำแหน่งที่ทั้งสูงส่งและมีอำนาจสั่งการนี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งทางการเมืองไทยที่กำลังขยายตัวอย่างกว้างขวาง แต่ เป็นลางให้เห็นว่าการโจมตีที่ปรึกษาของราชวงศ์ที่โดดเด่นทั้งสองคนนี้ ทักษิณได้ก้าวเข้าไปอีกก้าวหนึ่งในการโจมตีราชวงศ์ คำพูดให้ต่อสู้ของทักษิณเป็นการให้เสื้อแดงทำการรณรงค์เพื่อให้เป็นสาธารณรัฐกลายๆ

ฝันร้ายของเปรม สุรยุทธ์ และคนอื่นๆในบรรดาศักดินาอำมาตย์ ซึ่งนับเป็นทศวรรษแล้วที่มีการจัดการด้านสื่ออย่างระมัดระวัง และเป็นผลงานชิ้นโบว์แดง แต่ขณะนี้อาจจะถูกเผยโฉมออกมา เมื่ออนาคตของราชวงศ์กำลังเผชิญกับความไม่แน่นอน

กษัตริย์ภูมิพลทรงพระชนมายุ ๘๑ พรรษา และสุขภาพกำลังเปราะบาง เป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ ในท่ามกลางความยุ่งเหยิงของการเมืองที่กำลังประสบอยู่ขณะนี้ บุคคลที่เหมือนจะเป็นผู้สืบราชวงศ์คือเจ้าฟ้าชายมหาวชิราลงกรณ์ กำลังถูกจับตามองมากกว่าปกติ เจ้าฟ้าชายไม่เป็นที่นิยมและมีบุคลิกที่ก่อให้เกิดความแตกแยก ไม่สามารถสืบทอดความมีเสน่ห์ และความมีบารมีที่พระบิดาทรงสะสมมาในช่วงเวลา ๖๒ ปีที่ทรงครองราชย์ หลายๆคนได้รู้สึกว่าพระราชธิดาองค์รอง เจ้าฟ้าหญิงสิรินทรน่าจะเป็นบุคคลที่เหมาะสมที่จะสืบราชวงศ์มากกว่า บรรดาองคมนตรีกำลังเป็นห่วงเรื่องราชวงศ์จะถูกลากเข้าสู่สนามการเมือง ในช่วงระยะที่ราชวงศ์กำลังอยู่ในสภาพที่ไม่มั่นคง และความไม่กระจ่างชัดในเรื่องการสืบราชสันตติวงศ์

ครั้งหลังสุดที่สถาบันกษัตริย์ได้เผชิญกับสภาวะอันตรายอย่างนี้ในปี ๒๔๗๕ เมื่อราชาธิปไตยแบบสมบูรณาญาสิทธิราช กษัตริย์ประชาธิปกได้ถูกบังคับให้ยอมรับรัฐธรรมนูญที่ลดอำนาจลง ในปีนั้น กลุ่มที่ไม่มีเชื้อสายเจ้าได้เรียกร้องให้กษัตริย์ทรงสละอำนาจเบ็ดเสร็จที่มีอยู่ ย้อนไปเวลานั้น การนำประเทศไปสู่ความทันสมัยของอดีตกษัตริย์หลายพระองค์ได้ทิ้งให้ศักดินาไทยเชื่อว่า รัฐบาลต้องมีความเป็นประชาธิปไตยมากขี้น ระเบียบศักดินาอย่างเดิมไม่เหมาะสมเสียแล้ว และจะอนุญาตให้ดำรงอยู่ได้เพียงแค่เป็นส่วนประกอบของบรรยากาศทางการเมือง การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชได้มาถึงจุดจบ

นับเป็นปีๆและหลายทศวรรษที่ผ่านมา ไม่่ใช่เรื่องง่ายในการทำความประนีประนอมระหว่างประชาชน กองทัพ และราชวัง รัฐบาลที่มาจากกองทัพซึ่งมีอำนาจมหาศาลในศตวรรษที่ยี่สิบนี้ ได้มองเห็นผลประโยชน์อย่างใหญ่หลวงที่จะดำรงความเป็นหุ่นเชิดของราชวงศ์ให้เป็นที่เคารพสักการะอย่างสูง

กษัตริย์ภูมิพล ขี้นครองราชย์ในปี ๒๔๘๙ ในขณะที่ยังทรงพระเยาว์ ทรงได้รับการปลูกฝังจากตำแหน่งที่ได้รับมอบหมายจากบรรดาเหล่ารัฐบุรุษและผู้แทนในอำนาจต่างๆ เช่น บุคคลเยี่ยงเปรมและสุรยุทธ์ รัฐบาลแล้วรัฐบาลเล่าที่เข้ามาบริหารประเทศ มองหาหนทางรวมชาติให้เป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจ และพบว่าจะได้รับประโยชน์จากการนำราชวงศ์มาเป็นสัญญลักษณ์เพื่อการเป็นศูนย์รวมไทยทั้งชาติ กษัตริย์ภูมิพลจีงเติบโตมากับหน้าที่นี้และมั่นคงขึ้นเรื่อยๆ พระองค์ทรงดำรงฐานะบุคคลผู้เปี่ยมไปด้วยศีลธรรมอันสูงส่ง ในขณะนี้พระองค์ทรงเป็นบุคคลที่ทรงประเสริฐ และทุกรัฐบาลที่มาจากการรวมของพวกที่มีอำนาจได้เพลิดเพลินกับการสนับสนุนของกษัตริย์

หลายๆคนได้คาดการณ์ว่ารัฐบาลทักษิณไม่เป็นที่ชื่นชอบของราชวงศ์ ศัตรูของทักษิณได้กล่าวหาทักษิณว่าบ่อนทำลายฐานะของราชวงศ์ ลักษณะการเป็นผู้นำแบบบูรณาการ (ซีอีโอ) บวกกับการสนับสนุนจากคะแนนเลือกตั้งอย่างถล่มทะลายแบบไม่เคยมีมาก่อน แทน ความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการมีพิธีรีตรองแบบโบราณ และการอุปถัมภ์ค้ำชูของราชวัง กษัตริย์ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้มีพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่เปรียบมิได้ต่อคนยากจนของประเทศไทย โดยผ่านโครงการการพัฒนาชนบทที่มีการจัดกองทุนอย่างเหมาะสมและเป็นที่รู้จักกันดีอย่างแพร่หลาย แต่นโยบายเศรษฐกิจแบบประชานิยมของทักษิณ ซึ่งสูบฉีดเงินให้ทุกหมู่บ้านโดยตรง ได้ลดความมีพระมหากรุณาธิคุณของกษัตริย์ลง

สำหรับคนไทยส่วนใหญ่ไม่มีความขัดกันในการสนับสนุุนทั้งทักษิณและกษัตริย์ ประชาชนจำนวนมากได้พร้อมที่จะยอมรับกับการมีผู้นำทั้งสองแบบและพระมหากรุณาธิคุณควรควบคู่กันไป สุดท้ายแล้วสังคมไทยที่ขี้นหน้าขี้นตาไปด้วยความเป็นเจ้าระเบียบก็เต็มไปด้วยอำนาจและอิทธิพลทุกรูปแบบ พวกเจ้าระเบียบอาจไม่ชอบใจกับการนำเอาความเชื่อทางพุทธศาสตร์ ผสมกับลัทธิบริโภคนิยม ซึ่งเป็นค่านิยมของไทย แต่คนไทยส่วนใหญ่ฉลองได้หลายวิถีทาง ที่อำนาจและผู้มีอำนาจจะแสดงได้ ในประเทศที่ยอมรับวัฒนธรรมต่างๆ ความทันสมัยของทักษิณจะผสมกลมกลืนกับประเพณีราชวงศ์ได้อย่างง่ายดาย

แต่ศักดินาของไทยค่อนข้างขาดวิสัยทัศน์ ในมุมมองของโลกรอบๆตัวของพวกนี้ สำหรับพวกเขาแล้วการได้คุมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จมาเนิ่นนาน พวกเขาเห็นว่าอำนาจเป็นการแข่งขันที่ปิดประตูแพ้ การสนับสนุนจากคะแนนเลือกตั้งที่ล้นหลาม และความชื่นชมจากคนยากจนในชนบทที่ทักษิณได้รับ เป็นการคุกคามต่อพระบรมเดชานุภาพอันประเสริฐยิ่งของกษัตริย์ จะต้องมีการจัดการอะไรสักอย่าง และการทำรัฐประหารในวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ จึงเป็นคำตอบของพวกนี้

ทักษิณยังไม่ได้แฉหลักฐานรายละเอียดให้หมดเปลือกว่าองคมนตรีเปรม และสุรยุทธ์ได้วางแผนทำลายเขาอย่างไร ไม่มีข้อสงสัยอีกต่อไปแล้วว่าการทำรัฐประหารปี ๒๕๔๙ นั้นได้รับการเห็นชอบอย่างเต็มที่จากราชวงศ์ ผู้บงการตัดสินใจที่จะผูกโบว์สีเหลืองรอบลำกล้องปืนติดรถถัง และเคลื่อนออกสู่ท้องถนนในกรุงเทพ และบังคับให้ทักษิณต้องออกจากตำแหน่งและลี้ภัยอยู่นอกประเทศ สีเหลืองเป็นสีของกษัตริย์ การใช้โบว์เหลืองเป็นแผนระยะสั้นที่จะดึงเสียงสนับสนุนในกรุงเทพ แต่สีที่ใช้ได้ย้อนกลับคืนเข้าสู่ตัวเองอย่างร้ายแรง

ภาพพจน์ของราชวงศ์ที่ให้การสนับสนุนต่อการทำรัฐประหาร เหนือสิ่งอื่นใด ก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์อย่างหนาหูทั้งในประเทศและนอกประเทศเกี่ยวกับ วิธีการนำพระราชอำนาจ บุญบารมี และสัญลักษณ์ของวังมาใช้ในการเอากำลังทหารออกมาเพื่อสนับสนุนอำนาจเผด็จการในการเมืองไทยในสมัยใหม่นี้ การเฉลิมฉลองอย่างล้นเหลือในวันคล้ายวันประสูติของกษัตริยืในปี ๒๕๕๐ ไม่ได้ทำให้เรื่องการทำรัฐประหารและเหตุการณ์หลังจากนั้นเงียบลงไป แต่กลับยิ่งเพิ่มการสนทนาในงานเลี้ยงเกี่ยวกับความกำกวมของราชวงศ์ที่มีต่อประชาธิปไตย

การวิพากย์วิจารณ์นี้ได้มีมานานพอควร ในปี ๒๕๔๙ พอล แฮนด์เลย์นักข่าวได้เขียนชีวประวัติที่ไม่ได้รับอนุญาตของกษัตริย์ภูมิพล “กษัตริย์ไม่เคยยิ้ม” การค้นคว้าพิเศษนี้ต่อเรื่องการสร้างภาพพจน์ของราชวงศ์ และการเกี่ยวข้องทางการเมืองมาหกทศวรรษของกษัตริย์ ได้ระบายภาพอย่างตรงไปตรงมาของราชวงศ์ ซึ่งคอยหนุนกองทัพให้เข้าไปขัดขวางการเมืองมาโดยตลอด ไม่ต้องสงสัยว่า ”กษัตริย์ไม่เคยยิ้ม” เป็นหนังสือเล่มสำคัญเกี่ยวกับประเทศไทยในทศวรรษที่แล้ว เป็นการเสี่ยงของนักข่าวซึ่งนักวิชาการไม่กล้าแตะ แม้ว่าหนังสือจะถูกแบนในประเทศไทย (จากทักษิณเอง) ก็ยังหาอ่านได้จากการสั่่งซื้อออนไลน์จากร้านขายหนังสือ และหาอ่านที่แสกนได้จากทางอินเตอร์เน็ต และได้มีบทแปลไทยไว้ด้วย การแฉราชวงศ์ของแฮนด์เล่ย์ได้สร้างความฮือฮาอย่างไม่เคยมีมาก่อนในแชทรูมของเว็บบอร์ดต่างๆ และยังคงคุยกันหนาหูอยู่ในทุกวันนี้

ก้าวเล็กๆที่มีความหมายอีกก้าวหนึ่ง ในการถกเถียงอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับราชวงศ์ ก็คือการสัมมนานานาชาติเกี่ยวกับไทยศึกษาที่จัดขี้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรุงเทพ ในเดือนมกราคม ๒๕๕๑ มีผู้ร่วมการสัมมนามากกว่า ๖๐๐ คน เป็นนักวิชาการ นักข่าว และนักศึกษาจากประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ได้มีการเรียกร้องจากนานาชาติให้มีการคว่ำบาตรการสัมมนาในพระราชูปถัมภ์ หลังจากมีการทำรัฐประหารที่มีราชวงศ์สนับสนุน

นักวิชาการอาวุโสต่างๆได้จัดตั้งวิธีการนำเสนออย่างต่อเนื่องในการตรวจสอบบทบาทของราชวงศ์ในปัจจุบัน นักวิชาการต่างๆได้ถกเถียงอย่างเคร่งเครียดในเรื่องผลประโยชน์ของกิจการของราชวงศ์ ความมีประสิทธิภาพจากทฤษฎีการพัฒนาชนบทของกษัตริย์ และกฎหมายปกป้องอย่างเกินควรเพื่อปกป้องชื่อเสียงของราชวงศ์

ช่วงที่ดีที่สุด เมื่อผู้ร่วมสัมมนาถกเถียงเกี่ยวกับหนังสือของแฮนด์เล่ย์ อาจจะเป็นการหลงตัวเองของนักวิชาการในการแนะว่าการสัมมนาเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญสำหรับชีวิตคนไทยโดยรวม ได้มีการให้ทั้งการสนับสนุนและกำลังใจสำหรับผู้ที่อยู่ในเมืองไทยซึ่งกำลังจัดการให้มีการถกเถียงกันต่อหน้าสาธารณชนอย่างมีเหตุมีผลเกี่ยวกับอำนาจของราชวงศ์ เป็นการสัมมนาที่มีความสำคัญพอควรที่จะดึงดูดความสนใจจากเจ้าหน้าที่สันติบาลให้เข้ามาร่วมสังเกตุการณ์อย่างแข็งขัน

การกระทำที่ขาดความเป็นวิชาการจะได้รับผลตอบแทนที่รุนแรงมากที่สุด และได้สร้างภาพพจน์ในทางลบให้กับกษัตริย์ของไทย ในเดือนธันวาคม ๒๕๔๙ โอลิเว่อร์ จูเฟ่อ ชาวสวิสถูกจับที่เมืองทางตอนเหนือของเชียงใหม่ในข้อหาทำลายรูปภาพของราชวงศ์ เนื่องจากเขาไม่สามารถซื้อเหล้าในวันคล้ายวันประสูติของกษัตริย์ การพ่นสีเป็นการกระทำแบบเด็กๆของจูเฟ่อซึ่งได้ถูกตัดสินจำคุก ๑๐ ปี จากกฎหมายหมิ่นฯที่เข้มงวด เขาได้รับการพระราชทานอภัยโทษหลังจากใช้เวลาเพียงสี่เดือนในคุก แต่ในขณะเดียวกัน คดีได้สร้างกระแสความเจ็บแค้น ทำให้มีการล้อเลียนกษัตริย์ในยูทูป

รัฐบาลไทยได้ตอบโต้โดยการปิดกั้นเว็บไซต์ยูทูปทั้งหมด เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว นักเขียนชาวออสเตรเลีย แฮรี่ นิโคไลเดสถูกจับจากข้อเขียนย่อหน้าเดียวเกี่ยวกับเจ้าฟ้าชาย ในหนังสือที่ขายได้เพียงหยิบมือหนึ่งในประเทศไทย ชะตากรรมของนิโคไลเดสไม่ได้สร้างการวิจารณ์อย่างรุนแรงในออนไลน์เท่ากับคดีของจูเฟ่อ แต่ได้เพิ่มเสียงเรียกร้องจากนานาชาติเกี่ยวกับการใช้กฎหมายที่ตกยุค

เป็นความโชคร้าย อย่างเลี่ยงไม่ได้ ที่ข้อหากฎหมายหมิ่นฯต่อชาวต่างชาติ ได้สร้างความสนใจต่อสื่อต่างชาติเป็นอย่างมาก ในขณะที่ความร้อนระอุทางการเมืองก็มีแต่เพิ่มขี้น กฎหมายถูกใช้ในการกำจัดเสียงที่ไม่เห็นด้วยในประเทศไทย นักเรียกร้องทางการเมืองสองคนซึ่งได้ให้ความเห็นต่อต้านราชวงศ์ได้ถูกจำคุก คนหนึ่งโดนจำคุก ๖ ปี อีกคนหนึ่งยังรอการพิจารณาคดี ได้มีการออกประกาศจับนักวิชาการจากการที่เขียนหนังสื่อเกี่ยวกับหน้าที่ของกษัตริย์ในการทำรัฐประหารปี ๒๕๔๙

ไม่นานมานี้ มีการกระทำที่ประหลาดที่เกินกว่าเหตุ จากการตัดสินจำคุกสิบปีต่อสุวิชา ท่าค้อ ในข้อหาเผยแพร่ “ภาพตัดต่อทางดิจิตอล” ของกษัตริย์ คดีบีบคั้นแบบนี้ส่งผลให้มีการร้องเรียนจากนักวิชาการนานาชาติมากกว่า ๑๐๐ ท่าน ให้มีการปรับปรุงหรือล้มเลิกกฎหมายหมิ่นฯ รัฐบาลไทยได้ตอบโต้แค่เพียงกล่าวว่า ต่อไปจะทำให้แน่ใจว่ากฎหมายบังคับใช้อยางเหมาะสม ได้มีการร้องเรียนแม้แต่ในรัฐบาลด้วยกันเองถึงการลงโทษที่รุนแรงเช่นนี้ การแสดงความเห็นของพวกคลั่งเจ้าได้กล่าวหาตามที่เดากันได้ว่า นักวิชาการนานาชาติไม่เข้าใจว่าคนไทยมีความจงรักภักดีอย่างยิ่งยวดต่อกษัตริย์ของพวกเขาเพียงไหน

เหตุผลหนึ่งที่ทำไมรัฐบาลชุดปัจจุบันของไทยอิลักอิเหลื่อที่จะเปลี่ยนแปลงกฎหมายหมิ่นฯ เพราะรัฐบาลนี้เป็นหนี้บุญคุณกับกองทัพคลั่งเจ้าที่มอบอำนาจให้เขา ปีที่แล้วเสื้อเหลืองได้ออกมาสู่ถนนในกรุงเทพอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพวกที่เรียกตัวว่าพันธมิตรได้รณรงค์ล้มรัฐบาลนิยมทักษิณที่ได้รับการเลือกตั้งในเดือนธันวาคม ๒๕๕๐ ให้เข้ามาบริหารประเทศหลังจากการทำรัฐประหาร “เสื้อเหลือง” ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง และดีงดันที่จะกำจัดร่องรอยความเป็นทักษิณให้หมดสิ้นไปจากเวทีการเมือง

เสื้อเหลืองได้เข้ายึดทำเนียบรัฐบาลเป็นเวลาถึงสามเดือน บุกเข้าสภา และจากนั้น กระทำการยั่วยุระดับขีดสุดด้วยการปิดสนามบินนานาชาติเป็นเวลาหนึ่งอาทิตย์ แม้ว่าพวกเขาจะเรียกตัวเองว่าพันธมิตร หรือ พธม พวกเขาแย้งว่าสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่ควรมาจากการแต่งตั้งไม่ใช่จากการเลือกตั้ง การรณรงค์ต่อต้านประชาธิปไตยนี้ได้ดำเนินการต่อสู้อย่างหน้าไม่อายภายใต้การอ้างอิงราชวงศ์ เสื้อเหลืองเป็นเครื่องแบบที่เลือก และพระฉายาลักษณ์ของกษัตริย์และราชินีได้ตั้งตระหง่านในการชุมนุมที่เพิ่มการยั่วยุ และประกาศศักดาว่า “เราจะต่อสู้เพื่อกษัตริย์” พวกเขาอ้างว่าเป็นการปกป้องราชวงศ์ต่อนักการเมืองฝ่ายนิยมทักษิณที่ฉ้อราษฎร์บังหลวง

ตัวกษัตริย์เองเลือกที่จะนิ่งเฉยเกี่ยวกับการใช้เครื่องหมายราชวงศ์ในการรณรงค์ของเสื้อเหลือง ความเงียบของพระองค์อาจจะเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ตามความคิดคร่ำครึว่าราชวงศ์ไทยอยู่เหนือการเมือง แต่ความคิดโบราณแบบนี้ได้ถูกทำให้ป่นปี้เมื่อราชินีทรงปรากฎตัวในงานเผาศพของผู้ประท้วงพันธมิตร ที่ถูกฆ่าในการเผชิญหน้าที่มีความรุนแรงกับตำรวจในต้นเดือนตุลาคม ๒๕๕๑ การแสดงตัวในครั้งเดียวนี้ ราชินีสิริกิติ์ทรงนำสถาบันกษัตริย์เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองต่อหน้าสายตาคนทั่วไป ยิ่งเพิ่มข่าวลือว่าเสื้อเหลืองได้รับการหนุนหลัง และมีเส้นสายจากบุคคลระดับสูงสุด ภาพของราชินีที่ยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับอันธพาลทางการเมืองทั้งหลายซึ่งพยายามที่จะขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ให้ออกจากอำนาจทำความไม่สบายใจอย่างยิ่งยวดให้กับคนไทยหลายๆคน

ที่สุดรัฐบาลนิยมทักษิณก็ถูกปลดจากตำแหน่ง รัฐบาลถูกทำให้ดูอ่อนแอจากการรณรงค์บนท้องถนนที่ไม่มีที่สิ้นสุด รัฐบาลขาดความน่าเชื่อถือจากการปฎิเสธของกองทัพที่จะบังคับการใช้ พรก. ฉุกเฉิน หรือการกวาดล้างการยึดครองสนามบิน และที่สำคัญที่สุด คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ได้มีคำสั่งยุบพรรคที่กำลังบริหารประเทศ และ ปลดรัฐบาลที่มีสมาชิก ๒๘ ท่านจากสภา ในเดือนธันวาคม ๒๕๕๑ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สามารถรวมตัวได้เสียงข้างมากในสภา จากความช่วยเหลือของนักการเมืองย้ายข้างจากพรรคนิยมทักษิณเก่า

ทักษิณกำลังลี้ภัย สมาชิกของเขาได้ถูกบังคับให้ลาออกจากรัฐบาล และเสื้อแดงขณะนี้ได้เผชิญหน้ากับความเกลียดชังของระบบความมั่นคงของประเทศไทย แต่ทักษิณยังคงเป็นผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองในประเทศไทย การออกมา “โฟนอิน” ที่บ่อยขี้น กระตุ้นความรู้สึกโกรธแค้นต่ออำนาจที่อยู่เบื้องหลังที่บงการการทำรัฐประหารในปี ๒๕๔๙ จนถึงทุกวันนี้ และการเข้ามาบริหารประเทศของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เป้าหมายที่ชัดเจนในการรณรงค์ของทักษิณคือการระบุชื่อองคมนตรี ๒ คน แต่นี่เป็นการบอกเป็นนัยต่อบางอย่างที่มีอำนาจมากกว่า

แม้ว่าทักษิณจะพร่ำประกาศถึงความจงรักภักดีที่มีต่อกษัตริย์ ขณะนี้เขาได้เห็นผลประโยชน์ทางการเมืองในการโจมตีระบบศักดินาอำมาตย์ ผู้กุมอำนาจหลังฉาก และวิธีการซึ่งอำนาจของราชวงศ์ ทั้งของจริงและเป็นนัยถูกนำมาใช้ทำลายระเบียบการเลือกตั้ง ยุทธการในการกระตุ้นให้เสื้อแดงทำการรณรงค์ด้วยเดิมพันสูงต่อต้านรัฐบาลอภิสิทธิ์ แนวความคิดในการปะทะของทักษิณและเสื้อแดงจำนวนมหาศาล ไม่เพียงแต่กับรัฐบาลอภิสิทธิ์ แต่รวมไปถึงองคมนตรี “สถาบันกษัตริย์” เองในขณะนี้ก็คลืบคลานเข้าใกล้กับความร้อนระอุของสงครามการเมืองเข้าไปทุกที

เมื่อควันจางหาย แน่นอนย่อมจะมีความพยายามอย่างที่สุดที่จะจับจีนี่ราชวงศ์กลับเข้าไปสู่ขวดทองตามเดิม ข้อบังคับทางกฎหมายในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับราชวงศ์จะถูกนำมาบังคับใช้ ด้วยความเพลิดเพลินมากขี้น คนไทยที่กล้าเปิดปากพูดเกี่ยวกับความเป็นจริงทางการเมืองของประเทศจะต้องพบกับความเสี่ยงที่จะถูกลงโทษด้วยกฎหมายอย่างรุนแรง ความคิดเห็นจากนานาชาติที่เรียกร้องให้มีเสรีภาพทางการพูด จะถูกกล่าวหาว่าเอาค่านิยมตะวันตกมาใช้กับความจงรักภักดีที่มีต่อกษัตริยืไทย และความพยายามที่จะทำให้เกิดความเงียบย่อมไม่ได้ผล เพราะการปิดกั้นการถกเถียงเรื่องเกี่ยวกับราชวงศ์จะยิ่งทำให้เกิดการรำลือมากขี้นไปอีก ทั้งเจาะลึก ถกเถียงกัน เดากัน และบางกรณี หมดสิ้นศรัทธา

การโฟนอินครั้งล่าสุดซึ่งจะมีทักษิณหรือไม่ก็ตาม และชะตากรรมในที่สุดของเสื้อแดงจะเป็นอะไรก็ตาม เหตุการณ์เหนือปกติเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา หมายถึงว่า ความเงียบของราชวงศ์ไทยใช้ไม่ได้ผลเสียแล้ว


แอนดรูว์ วอคเกอร์ และ นิโคลาส ฟาร์เรลลี่

๑๔ เมษายน ๒๕๕๒



หมายเหตุ

แอนดรูว์ วอคเกอร์ และ นิโคลาส ฟาร์เรลลี่ เป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษทางด้านเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ของวิทยาลัยเอเซียและแปซิฟิก มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย และเป็นผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ “นิว แมนดาลา” ในปี ๒๕๔๙ ซึ่งเป็นเว็บไซต์เกี่ยวกับกิจกรรมของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้


ที่มา : Liberal Thai : แอนดรูว์ วอคเกอร์ และ นิโคลาส ฟาร์เรลลี่: การร่วมวางแผนของราชวงศ์

วันเสาร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2552

คุณูปการทางประวัติศาสตร์ของทักษิณ

เคยเขียนประเด็นนี้มาบ้างแล้วตั้งแต่ช่วงปี 2549 และโดยเฉพาะช่วงปี 2550 (ช่วงที่มีการประณามเปรมอย่างรุนแรงก่อนกรกฎาคม) เหตุการณ์ที่ผ่านมา 2-3 ปี ไม่ทำให้ผมเปลี่ยนความเห็นนี้ อันที่จริง ยิ่งทำให้ผมมั่นใจในการประเมินมากขึ้น

กล่าวคือ ผมเห็นว่า มองในแง่ประวัติศาสตร์ระยะยาวแล้ว การเปิดฉากโจมตี "ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ" (กรกฎาคม 2549) ของทักษิณ ที่พัฒนามาเป็นการโจมตี และเรียกร้องให้เปรม ลาออกในขณะนี้

เป็นคุณูปการสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่

ในทัศนะของนักศึกษาประวัติศาสตร์อย่างผม เห็นว่า นี่เป็นคุณูปการ และความสำเร็จใหญ่หลวง ที่ไม่มีปัญญาชน หรือ ขบวนการที่อ้างว่า ทำเพื่อ "ประชาชน" ในหลายปีมานี้ สามารถ "ทาบ" (match) ได้


อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัว ผมเห็นเช่นกันว่าการ "เอาเปรมออก" ไม่สามารถเป็น "เป้าหมายรูปธรรม" ได้

เพราะเรื่องนี้ "ใหญ่หลวงเกินไป"

"นัยยะ" ของการวิพากษ์เปรม อย่างหนักหน่วง ในหลายวันมานี้ ได้ "เปิดพื้นที่" ทางวัฒนธรรมการเมือง ให้กับประชาธิปไตย เกินกว่าที่ใครจะคิดฝันได้แล้ว เพียงไม่กี่ปีที่แล้ว

แต่ผมเห็นว่า ถึงขั้น "เปรมออก" นั้น จะมีนัยยะสำคัญต่อ "establishment" (ขออภัย นึกคำดีๆภาษาไทยไม่ออก) ในระดับที่ พวกเขาไม่สามารถยอมให้เกิดขึ้นได้ และขณะนี้ ก็ไม่มีกำลังใด (ไม่ว่าของคนเสื้อแดง หรือของใคร) ที่เข้มแข็งพอจะทำให้เกิดขึ้นได้

ผมหวังว่า คุณทักษิณและแกนนำเสื้อแดง จะตระหนักในข้อนี้ และ "วางยุทธศาสตร์" การต่อสู้ ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง


ยุทธวิธี "ไล่เปรม แต่ชูความจงรักภักดี" นั้น มีประโยชน์ในแง่การเมืองและกฎหมาย แต่นัยยะของเรื่องนี้ จริงๆ ผมไม่คิดว่า มีใครในวงการเมืองคิดไม่ถึง ยิ่งในหมู่ establishment - ผมหวังว่า คุณทักษิณและแกนนำเอง ก็คงเข้าใจว่า เรื่องนี้ ไม่ว่าจะยืนยันอย่างไร ก็ไม่ทำให้นัยยะเปลี่ยนไป และดังนั้น ไม่ควรมีมายาคติเสียเองว่า การ "ไล่เปรม แต่ชูความจงรักภักดี" นั้น ทำให้ "การไล่เปรม" เป็นเรื่องที่ทำได้ โดยไม่มีนัยยะมากไปกว่านั้น

โดยส่วนตัว ผมเห็นว่า ขั้นต่อไปของการวิพากษ์เปรม ควรปรับมาอยู่ที่การให้การศึกษา ในลักษณะของข้อมูล และเหตุผล โดยเฉพาะในหมู่คนในเมือง


ปล. ผมจะดีใจมากๆเลย ถ้าผมประเมินเรื่องนี้ผิด แต่ผมยังมองไม่ออกจริงๆว่า การ "เอาเปรมออก" จะสามารถเป็น "เป้าหมาย" ที่มีลักษณะ realistic ได้อย่างไร ในขณะนี้




สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล



ที่มา : เวบบอร์ด "ฟ้าเดียวกัน" : คุณูปการทางประวัติศาสตร์ของทักษิณ

วันศุกร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2552

ปรัชญาความงามของเจ้าหญิงดีไซเนอร์ : ผู้หญิงยุค ใหม่ต้องฉลาด และ สวยอย่างมี “สติ”



ผู้หญิงยุค ใหม่ต้องฉลาด และ สวยอย่างมี “สติ”


ไม่ว่าจะหยิบจับอะไร ก็ประสบความสำเร็จไปหมด สำหรับพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ทรงแสดงพระอัจฉริยภาพมาแล้วหลากหลายด้าน ทั้งในฐานะนักแบดมินตันทีมชาติ, ดีไซเนอร์ดาวรุ่ง ที่ได้รับการยอมรับจากแคตวอล์กระดับโลก กับบทบาทผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ แบรนด์ SIRIVANNAVARI ตลอดจนแสดงพระปรีชาสามารถด้านการออกแบบ โดยทรงดีไซน์หีบเครื่องประดับให้แบรนด์หลุยส์ วิตตอง, สร้างสรรค์คอลเลกชั่นน้ำหอมส่วนพระองค์ และล่าสุด ยังทรงตอบรับคำทูลเชิญของเครื่องสำอางดังจากนิวยอร์ก Kiehl's อายุเก่าแก่เกือบ 160 ปี ออกแบบผลิตภัณฑ์ คอลเลกชั่นพิเศษ “คีลส์ ลิมิเต็ด เอดิชั่น” ภายใต้แนวคิด “Nature within You” เพื่อนำรายได้จาก การจำหน่ายหลังหักค่าใช้จ่าย สมทบทุนศูนย์เมอร์ซี่ องค์กรการกุศลช่วยเหลือเด็กกำพร้าและผู้ติดเชื้อเอชไอวี

พระองค์หญิงสิริวัณณวรีฯ ทรงเปิดโอกาสให้ทีมข่าวสตรีไทยรัฐ ทูลสัมภาษณ์ ถึงแรงบันดาลใจในการออกแบบผลงานล่าสุด โดยทรงเล่าว่า...


“เป็นคอสเมติคส์ชิ้นแรกที่ได้ทำอะไรสร้างสรรค์แบบนี้ ก็รู้สึกเซอร์ไพรส์นะ ท่านหญิง รู้จักคีลส์ ก่อนนำเข้ามาเมืองไทย บางโปรดักส์ใช้แล้วดีจริงๆ ชอบเป็นพิเศษ คือ ลิป บาล์ม เพราะเป็นคนปากแห้งมาก พอลองใช้แล้วปากชุ่มชื้น ไม่มันเกินไป แล้วยังชอบตัวแช่น้ำ ที่เป็นกลิ่นลาเวนเดอร์

...จุดเริ่มต้นได้รับการบรีฟว่า ทางคีลส์กำลังทำแคมเปญร่วมกับดารา, ศิลปิน และคนดังทั่วโลก เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ลิมิเต็ด เอดิชั่น นำออกจำหน่าย หารายได้ให้ มูลนิธิการกุศล ท่านหญิง ก็มาศึกษา ดูดีไซน์ ของคนอื่นๆ คิดจินตนาการว่า คนซื้อจะมีรีแอ็กชั่นกับโปรดักส์อย่างไร พอพูดถึงแบรนด์นี้ นึกถึงธรรมชาติ เลยไปเปิดดูสมุดสเกตช์เก่า แล้วนำมาใช้กับโปรดักส์คีลส์ เช่นรูปดอกไม้และนก ส่วนรูปนกยูง เหล็กๆเพิ่งเขียนขึ้นใหม่ ที่รับปากทำงานนี้ เพราะรู้สึกว่าคาร์แรคเตอร์ ของคีลส์กับเราเหมือนกันใน

เรื่องไลฟ์สไตล์ ออกเท่ๆ ชอบงานอาร์ต และแคร์ริ่ง ครั้งนี้ทำงานสบายๆ ไม่ยากเหมือนออกแบบให้ หลุยส์ วิตตอง”

ด้วยพระสิริโฉมงดงามชวนมองยิ่ง ทำให้ทีมข่าวสตรีไทยรัฐ อดไม่ได้ที่จะทูลถามถึงเคล็ดลับการดูแลพระองค์ของท่านหญิง ซึ่งล้วนแต่เป็นประโยชน์ต่อผู้หญิงยุคใหม่



“ท่านหญิงชอบดูแลตัวเองนะ จะพยายามใช้เวลาในห้องน้ำเยอะนิดหนึ่ง บอกตัวเองตลอดว่า ต้องสวยๆๆ!! ทุกวันนี้ ตอนกลางคืนจะบำรุงพวกวิตามินมากเป็นพิเศษ เพราะเป็น เวลาที่ผิวแอบซอร์บดีมาก ส่วนตอนเช้าเน้นการโพรเทคชั่น ป้องกันแสงยูวี กลัวว่าแก่ตัวไปจะมีฝ้าขึ้นใบหน้า ท่านหญิงจะดื่มน้ำให้ได้เยอะที่สุด แต่น้ำอัดลมจะไม่แตะเลย เลิกดื่มมาตั้งแต่อายุ 16 แล้ว กลัวอ้วน!! หรืออย่างแอลกอฮอล์ก็ไม่ชอบ เพราะดื่มแล้วหน้าเหี่ยว ดื่มแก้วหนึ่ง ตีนกาขึ้น 3 เส้น!! ที่ขาดไม่ได้คือ ต้องทาครีมบำรุงเช้าเย็น ไม่ให้ผิวแห้ง ผมก็ต้องบำรุงหมักครีมทุกอาทิตย์ เวลาบำรุงผิว ท่านหญิงเน้นด้วยว่า ต้องมีกลิ่นหอมทั้งตัว, ต้องสะอาด และลื่นๆมันๆ คือฉันไม่ได้ฉีดน้ำหอมนะ แต่คนอื่นได้กลิ่นหอมจากการ ใส่ใจดูแลตัวเองมากๆ ท่านหญิงจะบำรุงตั้งแต่ผมจดปลายเท้า ดูแลแม้กระทั่งเล็บ”


สำหรับพระองค์หญิงสิริวัณณวรีฯ เสน่ห์น่าดึงดูดใจของผู้หญิงยุคใหม่อยู่ตรงไหนเพคะ...


“รู้สึกว่าเด็กสมัยนี้พยายามพรีเซนต์ตัวเองว่าใช้โปรดักส์ต่างด้าวเยอะ พวกกระเป๋า รองเท้า เป็นของเล่นของผู้หญิง คือ ใส่แบรนด์เนมเพื่อเสริมบารมีได้ แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องสวยจากภายใน!! ความสวยในสายตาของท่านหญิง ขึ้นกับจิตใจ และความคิดข้างใน ท่านหญิงจะถือมากเรื่องการแต่งตัวให้ถูกกาลเทศะ อย่างงานแต่งงานไม่ควรใส่สีแดง, ดำ, ขาว หรือม่วง และเวลาแต่งตัว ไม่ใช่ใส่ชาเนลทั้งตัว ถ้าใส่แบรนด์หัวจดเท้าจะดูโลว์ทันที!! แล้วก็อย่าใช้ของปลอมเด็ดขาด ถ้าไม่มีก็ไม่ต้องถือ!! เอาเป็นว่า เวลาแต่งตัวต้องมี “สติ” คิดซะบ้าง ไม่ใช่แต่งตามกัน หรืออะไรออกใหม่ ก็ต้องซื้อตามกัน คำว่าดีไซน์ มาแล้วก็ไป แต่คำว่าสไตล์ ยังคงอยู่กับเราตลอดไป”


เมื่อทูลถามพระองค์หญิงสิริวัณณวรีฯว่า ทรงแสดงพระอัจฉริยภาพมาหลายด้านแล้ว ยังทรงอยากทำอะไรอีกบ้าง ได้รับคำตอบว่า


“อยากออกแบบคอสเมติคส์จริงๆ คือเป็นเมกอัพจริงๆครบเซ็ต ทั้งแป้ง, คัลเลอร์ และลิป กำหนดสีสันเองทั้งหมด แต่เป็นโปรเจกต์ใหญ่ ที่ต้องคุยอีกเยอะ ไม่ใช่ แค่ออกแบบอย่างเดียว ต้องดูด้วยว่าจะวางขายที่ไหน อยากทำเมกอัพที่มีแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งเป็นฐานผลิตให้”

พูดถึงเมกอัพแล้ว ขอเจาะลึกหน่อยเพคะว่า เครื่องสำอางชิ้นไหนเป็นชิ้นโปรดที่ขาดไม่ได้เลย...

“ในกระเป๋าท่านหญิง จะขาดไม่ได้เลยคือ

ลิปมัน, ลิปสติกสี และแป้งอาร์มานี”

ทูลถามเรื่องอนาคตด้านการเรียนบ้าง จนถึงขณะนี้ พระองค์หญิงเตรียมพระองค์ไปถึงไหนแล้วเพคะ สำหรับการเสด็จไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ โดยจะเสด็จไปทรงฝึกงานกับห้องเสื้อจิออร์จิโอ อาร์มานี ที่มิลาน และห้องเสื้อคริสเตียน ดิออร์ ที่ปารีส จากนั้น จึงทรงเข้าเรียนต่อที่โบซ์ อาร์ตส์ (Beaux -Arts) ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นโรงเรียนศิลปะอันดับหนึ่งของโลก

“ตอนนี้กำลังเรียนภาษาฝรั่งเศสอยู่ เรียนอาทิตย์ ละ 2 วัน และได้บ้านแล้ว อยู่แถวซูแรส นอกกรุงปารีสหน่อย...น้ำไหลไฟสว่าง อยู่สบาย ตรงคอนเซปต์ ทูล กระหม่อมพ่อ!! ส่วนที่มิลานก็ได้อพาร์ตเมนต์แล้ว ท่านหญิงคงต้องจากเมืองไทยไปไม่ต่ำกว่า 5 ปี อยากเรียนอะไรก็ได้ ที่สามารถนำกลับมาช่วยคนไทยได้ ทำให้คนไทยมีอาชีพเลี้ยงตัวเอง นอกจากเรื่องเรียนแล้วยังตั้งใจว่าอยากหาประสบการณ์ ทำงานร่วมกับแบรนด์อื่นๆ และทำให้ แบรนด์ SIRI-VANNAVARI ในต่างประเทศ เป็นที่ยอมรับมากที่สุด”.

หลานท่านผู้หญิง

ที่มา : เวบบอร์ด "ฟ้าเดียวกัน" : ปรัชญาความงามของเจ้าหญิงดีไซเนอร์ ผู้หญิงยุค ใหม่ต้องฉลาด และ สวยอย่างมี “สติ”


หมายเหตุ

กรรม!! (ฮา)

วันจันทร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2552

สุวิชา ท่าค้อและกฎหมายหมิ่นฯ : Suwicha Thakor and lese majeste



New Mandala


Suwicha Thakor and lese majeste

by Nicholas Farrelly


แปลและเรียบเรียง : chapter 11



สุวิชา ท่าค้อและกฎหมายหมิ่นฯ

ทุกครั้งที่ใครก็ตามถูกตัดสินว่าผิดกรณีหมิ่นฯ
ราชวงศ์ไทยจะได้รับแต่ความเสื่อมเสีย

มากกว่าหกสิบปีที่กษัตริย์ภูมิพล อดุลยเดชขี้นครองราชย์ ไม่เคยมีการผลักดันให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎหมายที่ทำให้การปกครองของท่านดูแล้วเหมือนมีความอ่อนแอ และมีเจตนาร้าย เรายังคงถูกทำให้เชื่อว่าราชวังเก็บเรื่องการแก้ไขกฎหมายนี้ไว้ และยิ่งการตัดสินจำคุกคดีหมิ่นฯยิ่งมากขี้นเท่าใด ยิ่งทำให้การเข้าใจยิ่งยากที่จะปกปิดได้

หลักฐานล่าสุดได้แสดงให้เห็นว่า ราชวังมีความพอใจต่อความพยายามที่จะจับใครก็ตามที่ล้อเลียนราชวงศ์ ต่อการนำภาพพจน์ของราชวงศ์ไปหาประโยชน์ใส่ตัวเองทำการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งซ้ำแล้วซ้ำเล่า หลักฐานที่แสดงว่าราชวังไม่เข้าใจในระบอบรัฐธรรมนูญ หรือไม่ยอมปรับปรุงข้อกฎหมายที่จะลดอำนาจของตัวเอง เราสรุปว่าเป้าหมายคือ จะยังคงไม่มีการให้คำอธิบายต่อผู้ที่ไม่เห็นด้วย ต่อประชาชนส่วนใหญ่ และต่อใครก็ตาม ที่ต้องการที่จะเห็นการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มรูปแบบ

สำหรับนักสังคมศาสตร์ที่ทำการวิจัยประเทศไทย กฎหมายหมิ่นฯและการบังคับใช้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะทำความเข้าใจในประเทศไทย อย่างไรก็ตามกฎหมายนี้เปิดโอกาสให้ศักดินาที่มีทั้งอภิสิทธิ์และอคติ ได้ใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมอำนาจที่ตัวเองมีอยู่

สุวิชา ท่าค้อเป็นปลาซิวปลาสร้อยรายล่าสุดที่ถูกปล่อยลงไปในหลุมนรกของกฎหมายหมิ่นฯ เป็นที่แน่ชัดว่าสถานการณ์ของเขาต่างจากบุคคลอย่างจักรภพ เพ็ญแข สนธิ ลิ้มทองกุล หรือสุลักษณ์ สุวลักษณ์ที่มากด้วยประสบการณ์ และได้รับการกล่าวหาว่าเป็นอาชญากรจากกฎหมายที่คลุมเคลือเมื่อไม่นานมานี้เช่นกัน บุคคลดังกล่าวเหล่านี้และคนอื่นที่คล้ายกันมีแนวร่วมที่ช่วยให้พวกเขาไม่ต้องอยู่ในคุก สุวิชานั้นไม่มีใครเลย และ เช่นเดียวกับบุญยืน ประเสริฐยิ่งที่ต้องชดใช้เพราะขาดเส้นสาย

การถูกศาลตัดสินว่าผิดเมื่ออาทิตย์ที่แล้วจากการโพสต์ข้อความออนไลน์ที่เข้าใจว่าเป็นการโจมตีราชวงศ์นั้น สุวิชาได้ถูกตัดสินให้จำคุก ๑๐ ปี

ต้องขอบคุณต่อสื่อบางสื่อที่ได้พยายามประโคมข่าวในเหตุการณ์ที่เลวร้ายเช่นนี้ แหล่งข่าวต่างๆ ซึ่งรวมถึงเว็บต่อต้าน (เช่น ประชาไท และ ฟ้าเดียวกัน) แหล่งข่าวหลัก (เช่น กวี จงกิจถาวร แห่งเนชั่น ไทยรัฐ และ มติชน) สำนักข่าวบางสำนัก (เช่น เอพี และ รอยเตอร์) และสื่ออื่น (รีพอร์ตเตอร์วิทเอ้าบอร์เดอร์ เดอะเทเลกราฟ เป็นต้น) ได้พยายายามเสนอข่าวการถูกตัดสินความผิดของสุวิชา ได้แต่หวังว่าครั้งนี้เป็นการเริ่มต้นของการสร้างกระแสให้มีวิเคราะห์ในเหตุผลต่อการจับสุวิชาขังคุกในครั้งนี้

จากการรณรงค์ของนักวิชาการนานาชาติที่พุ่งเป้าไปยังการใช้กฎหมายหมิ่นฯในทางผิด อาจจะเป็นการช่วยเหลือสุวิชาและครอบครัวอย่างเต็มที่ การลงโทษสุวิชาเป็นการทำลายความรู้สึกที่ยังคงเหลืออยู่ว่าประเทศไทยยังคงมีเสรีภาพทางความคิด แต่ละวันที่สุวิชาถูกจองจำอยู่ในคุกและชีวิตของเขาจะค่อยๆเลือนหายไปในคุกคอนกรีต เขาควรได้รับการสนับสนุนจากเราในทุกๆด้าน นอกเหนือจากนั้น เราทุกคนได้แต่หวังว่าสุวิชาจะได้รับอิสรภาพในไม่ช้า และกลับไปสู่ที่ที่เหมาะสมสำหรับทั้งครอบครัวของเขาและเพื่อนของเขา

ประสบการณ์ได้บอกว่าการติดตามการเสนอข่าวของสื่อ ทำให้ราชวังและนักการเมืองศักดินาไทยเกิดความอับอาย ไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะเป็นเรื่องยากที่จะห้ามไม่ให้สื่อต่างชาติสนใจในในคดีของสุวิชา และนั่นเป็นสิ่งที่เขาต้องการ

การเสนอข่าวจะเป็นการสร้างความกดดันอย่างหนักต่อนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่แสดงให้เห็นชัดว่ามีความพอใจกับภาพพจน์ตัวเองในด้านบวก ที่โลกแห่งเสรีภาพแห่งปัญญาชนที่จะมีให้ได้ แต่ถ้าอภิสิทธิ์ไม่เป็นผู้นำในการแก้ไขกฎหมายหมิ่นฯ ตำนานของเขาจะเสื่อมเสียอย่างเลี่ยงไม่ได้ จากผลงานของอภิสิทธิ์ต่อดดีเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า อภิสิทธิ์อย่าได้หวังเลยว่า จะไม่ได้รับการวิพากวิจารณ์จากแหล่งการศึกษาต่างๆ


Nicholas Farrelly


ที่มา : Liberal Thai : สุวิชา ท่าค้อและกฎหมายหมิ่นฯ



หมายเหตุ

การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

วันเสาร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2552

สุวิชาโดนไป ๑๐ ปี : Suwicha gets 10 years!



Suwicha gets 10 years!

Associate Professor Giles Ji Ungpakorn
redsiam - ๓ เมษายน ๒๕๕๒

แปลและเรียบเรียง : chapter 11



สุวิชาโดนไป ๑๐ ปี


ป็นประเทศและเป็นสังคมอย่างไรกันที่จับคนเข้าคุกเพียงแค่คนนั้นแสดงความเห็นทางอินเตอร์เน็ต เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศประสาอะไรที่สนับสนุนให้มีการทำสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากปัญหาภายในประเทศ เป็นรัฐบาลประสาอะไรที่เข้ามามีอำนาจจากการรวมหัวกันกับกองทัพโดยการทำรัฐประหาร รัฐประหารจากศาลสองครั้งร่วมกับการออกมาแสดงความรุนแรงบนถนน ทั้งมีการติดสินบน และ การข่มขู่ เป็นนายกรัฐมนตรีประสาอะไรที่ตอแหลให้สื่อต่างชาติและนักวิชาการที่ออกซ์ฟอร์ดเกี่ยวกับว่าประเทศเป็นประชาธิปไตย และการใช้กฎหมายหมิ่นฯที่เข้มงวด เป็นชนชั้นปกครองประสาอะไรที่ใช้ “ความจงรักภักดีต่อกษัตริย์” มาอ้างการทำรัฐประหารว่าถูกต้อง โดยการปฏิบัติเยี่ยงผู้ก่อการร้ายจากพวกที่สนับสนุนโดยการปิดสนามบินนานาชาติ และการเซ็นเซอร์อย่างเข้มงวด ใช่ ตอนนี้ประเทศไทยเป็นประเทศที่เกาะกลุ่มกันแน่นกับบรรดาประเทศที่มีการปกครองกดขี่แบบไร้ค่าของโลก

การที่ศักดินาชนชั้นปกครอง กองทัพ และพันธมิตรเสื้อเหลืองเผด็จการ ร่วมกับพรรคที่ชื่อต่างกับการกระทำคือพรรคประชาธิปัตย์ จำคุกคนอย่างสุวิชา ท่อค้อถึง ๑๐ ปีจึงไม่ใช่เรื่องแปลก สิ่งที่สุวิชาทำทั้งหมดก็แค่แสดงความเห็นเกี่ยวกับราชวงศ์ทางอินเตอร์เน็ต แต่ขณะเดียวกันการที่แกนนำพันธมิตรใช้ถนนก่อความรุนแรง มีการปิดสนามบิน พวกนี้ยังลอยนวลและไม่มีท่าว่าจะติดคุก นายพลต่างๆที่ใช้อำนาจตัวเองในทางผิดโดยการทำรัฐประหาร ก็ยังคงตั้งหน้ากอบโกยผลประโยชน์ ไม่มีใครจะประหลาดใจว่าศาลไทยไม่มีความยุติธรรม สถาบันของรัฐบาลขนาดใหญ่ขาดความโปร่งใส และขาดความน่าเชื่อถือ รวมถึงสถาบันกษัตริย์ สถาบันศาล รัฐบาลและกองทัพ ศาลได้ใช้ความเห็นในกฎหมายหมิ่นฯของตัวเองในการปิดปากการวิจารณ์ใดๆ

ที่ควรน่าประหลาดใจและน่าเป็นห่วงคือการที่กลุ่มเคลือนไหวเอ็นจีโอในประเทศไทยเกือบทั้งหมด นักวิชาการไทยเกือบทั้งหมด และสื่อหลักทั้งหมด ปิดปากเงียบ ที่เลวยิ่งกว่านั้นคือ ให้การสนับสนุนการทำลายเสรีภาพในการพูดและทำลายประชาธิปไตย และสิ่งที่ทำให้เราไม่พอใจอย่างยิ่งก็คือ องค์การนิรโทษกรรมสากลไม่ยอมที่จะทำอะไรเลยในการปกป้องนักโทษทางความคิดในประเทศไทยนี้

การเคลื่อนไหวของเอ็นจีโอไม่เพียงแต่หันหลังให้กับ “การเมือง” และความสำคัญในการก้าวกระโดดครั้งยิ่งใหญ่ในช่วงปี ๒๕๒๓ แต่ตอนนี้กลับมาชื่นชมการ “วิ่งเต้นทางการเมือง” ตอนแรกพวกนี้หลงใหลกับรัฐบาลไทยรักไทย ต่อมาพวกนี้เป๋ไปกับนโยบายเพื่อคนยากจนของรัฐบาล ซึ่งเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่ากลุ่มเอ็นจีโอดำเนินโครงการณ์ “อย่างเล่นๆ” พวกนี้จีงเปลี่ยนไปซบอกกับพวกคลั่งเจ้าหัวเก่า เพี่อรักษาหน้าตัวเองโดยไม่ต้องคำนึงถึงการเมือง จากบทเรียนจากนานาชาติ และจากทฤษฎีใดๆ แกนนำกลุ่มเอ็นจีโอได้แย้งว่าพวกเราเป็นนักเรียกร้องของจริง ไม่ใช่พวกนั่งโต๊ะ หรือพวกนักบ้าทฤษฎีใดๆ เพื่อหาเรื่องมาอธิบายว่าทำไมพวกเขาถึงได้สนับสนุนการทำรัฐประหารเมื่อปี ๒๕๔๙ ว่าเป็นการเหมาะสม และทำไมพวกเขาถึงไม่ได้ปกป้องประชาธิปไตยตั้งแต่่นั้นเป็นต้นมา แทนที่พวกนี้จะวิเคราะห์สถานะการณ์ทางการเมือง พวกนี้กลับไปเลียพวกนายพลต่างๆ รัฐบาลทุกสี และใครก็ตามที่พวกนี้จะได้รับผลประโยชน์

นักวิชาการยิ่งเลวมากไปกว่า นับเป็นสิบๆปีแล้วที่พวกนี้หลบเลี่ยงที่จะโต้แย้งเรื่องการเมือง มีแต่การทะเลาะจุกจิกกันเป็นการส่วนตัวแทนที่จะโต้แย้งโดยพื้นฐานของเหตุผล ไม่มีใครจะแสดงจุดยืนในความคิดหรือโต้แย้งกับความเชื่อของตัวเอง มีบางครั้งเมื่อหนังสือพิมพ์เขียนข่าว ก็จะออกมาเขียนในทำนองพรรณาวกไปวนมา และละเลยที่จะอธิบายต่อผู้ตั้งคำถามที่น่าอึดอัด ดังนั้นเมื่อพวกนี้ออกมาปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นกลางของตัวเอง และสนับสนุนการทำรัฐประหารปี ๒๕๔๙ พวกนี้จึงไม่จำเป็นที่จะต้องออกมาอธิบายให้แจ่มแจ้ง เพียงแต่พูดง่ายๆว่าคนยากจน
“ไม่เข้าใจเรื่องประชาธิปไตย” การกระทำที่ขาดความเป็นนักวิชาการแบบนี้ทำให้ได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า หลายๆคนมีรายได้เพิ่มขี้นจากการร่วมมือกับศักดินาฝ่ายปกครอง

ศักดินาหัวเก่าไทยได้เล่มเกมส์อันตราย พวกเขาได้เริ่มสงครามกลางเมืองระหว่างประชาชน (ซึ่งขณะนี้แทนตัวว่าเสื้อแดง) และพวกคลั่งเจ้าเสื้อเหลือง เมื่อต้นปี ๒๕๔๙ พวกนี้ได้ตัดสินใจว่าจะนำเอาเครื่องมือนอกรัฐธรรมนูญมาใช้เพื่อกำจัดรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หาเรื่องแก้ตัวว่า เพราะนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักไทย ทักษิณ ชินวัตรกระทำการ “การฉ้อราษฎร์” และ “ใช้อำนาจนอกเหนือหน้าที่” ในขณะที่คอยแต่วิจารณ์การกระทำของทักษิณและพรรคไทยรักไทย แต่ก็อย่าลืมรวมพวกศักดินาหัวเก่า รวมทั้งราชวงศ์ ซึ่งได้มีการฉ้อราษฎร์และใช้อำนาจนอกหน้าที่เช่นกัน สิ่งที่ศักดินาเหล่านี้ทนไม่ได้ก็คือ การที่มีใครสักคนขี้นมามีอำนาจ ผ่านขั้นตอนประชาธิปไตยเหนือพวกเขา

นับสิบๆปีแล้วที่ศักดินาเหล่านี้ได้เป็นตัวชักใยการปกครองประเทศไทยจากเบื้องหลัง ราวกับประเทศเป็นของพวกเขาเอง เครือข่ายอุปถัมภ์ที่เป็นพิษได้ดึงสมาชิกใหม่ๆเข้าร่วมเครือข่าย “ท่อน้ำเลี้ยงของศักดินา” นี้ ซึ่งความสำเร็จที่ได้รับก็มาจากรายจ่ายของคนจนที่ทำงานอย่างหนัก พวกกาฝากเหล่านี้ยังคงประกาศความชอบธรรมของตัวเองโดยอ้างว่าประเทศไทยมีระบบสมบูรณาญาสิทธิราช ซึ่งกษัตริย์เปรียบเสมือนเทพเจ้าที่ศักดิ์สิทธิ์ แต่กษัตริย์ทรงอ่อนแอและขาดความมี “บุคลิก” และความศักดิ์สิทธิ์เป็นแค่นวนิยาย นายพลแห่งกองทัพ นักการเมือง นักธุรกิจ และเหล่าองคมนตรีทั้งหลายหมอบราบลงกับพื้น และถวายความจงรักภักดีต่อกษัตริย์ที่ “ศักดิ์สิทธิ์” และออกมาแสดงอำนาจแท้จริงกับประเทศและกอบโกยผลประโยชน์ แต่กษัตริย์ทรงชราภาพมากแล้ว พระราชบุตรไม่เป็นที่นิยม มีความน่ากลัว หรือถูกมองว่าน่ารังเกียจ พวกศักดินาจะหากินจากไหนถ้ามาถึงเวลาที่กษัตริย์สิ้นพระชนม์ลง

เช่นเดียวกับวรรณกรรมเรื่อง “ชุดใหม่ของพระราชา” ที่เหล่าบรรดาศักดินาคอยโกหกคำโตกับคนไทย (และแม้แต่กับกษัตริย์) เพื่อเผยแพร่เรื่องของตัวเอง ว่ากษัตริย์คือพระเจ้า กษัตริย์มีความศักดิ์สิทธิ์ เราต้องสนองพระราชประสงค์ของกษัตริย์ กฎหมายหมิ่นฯ และวิธีการเผด็จการต่างๆได้นำมาใช้เพื่อปิดบังการโกหกหลอกลวงของตัวเอง แต่ความจริงได้ถูกแฉออกมา คนส่วนใหญ่ในประเทศไทยได้เห็นแล้วว่าพระราชาไม่ได้ใส่ชุดอะไร กษัตริย์ไม่ได้ “ทรงรวมสังคมไทยเข้าด้วยกัน” กษัตริย์ไม่ได้ทรงมีความเที่ยงธรรม และไม่ได้สร้างความเสมอภาค และกษัตริย์ได้ทรงเลือกเข้าข้างฝ่ายกองทัพและฝ่ายที่ต่อต้านประชาธิปไตยตลอดรัชสมัยของพระองค์

แต่การล้มล้างเครือข่ายการฉ้อราษฎร์ ความมีอภิสิทธิ์ และเผด็จการที่รายล้อมราชวงศ์ต้องใช้เวลานาน ประชาชนอย่างสุวิชา ท่่าค้อ ดา ตอร์ปิโด บุญยืน ประเสริฐยิ่ง และอีกหลายๆคนยังคงต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ในคุก ซึ่งเสื้อแดงจะต้องใช้เวลาอีกนานในการเคลื่อนไหวและการรวมกลุ่ม ขณะเดียวกันนักการเมืองเช่น ทักษิณ และอีกหลายคนยังคงเกาะติดกับความคิดของพวกคลั่งเจ้า และประกาศว่า “จงรักภักดี” ต่อกษัตริย์ ในขณะที่โจมตีองคมนตรีว่าเป็นผู้วางแผนทำรัฐประหาร แต่เสื้อแดงหลายๆคนไม่หยุดการเคลื่อนไหว ยังคงต้องการมากไปกว่านั้น เพื่อสร้างความเป็นประชาธิปไตยและให้สังคมมีความเที่ยงธรรม

เราต้องอย่ากลัวอีกต่อไป เป็นการง่ายสำหรับผมที่จะพูดจากอังกฤษที่ปลอดภัย เราทั้งหมดต้องทำตัวให้เหมือนคนตัวเล็กๆ ซึ่งพูดในสิ่งที่เขาเห็นว่าพระราชาเดินเปลือยกายผ่านไป ทำไมเราคนไทยต้อง “จงรักภักดีต่อกษัตริย์” ในสังคมประชาธิปไตยและสังคมที่เท่าเทียมกัน กษัตริย์ควรจะรักเรา ถ้ากษัตริย์หรือผู้ที่จะสืบราชบัลลังค์ต่อไป ไม่เตรียมพร้อมที่จะฟังเสียงประชาชน ไม่มีความเคารพต่อประชาชน และต่อต้านประชาธิปไตย เมื่อนั้นเราต้องเป็นสาธารณรัฐแน่


ใจ อึ้งภากรณ์


ที่มา : Liberal Thai : สุวิชาโดนไป ๑๐ ปี


หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ