วันเสาร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2550

การฆ่าตัวตายทางวิชาการของ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์



วันนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงาน "เปิดตัวหนังสือ" ที่พิมพ์ในนามมหาวิทยาลัยชื่อ พระผู้ทรงปกเกล้าฯ ประชาธิปไตย : ๖๐ ปีสิริราชสมบัติกับการเมืองการปกครองไทย ซึ่งกล่าวว่าเป็น "หนังสือวิชาการจัดพิมพ์ขึ้นในวาระแห่งการเฉลิมฉลองการสถาปนาครบรอบ ๗๒ ปี ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" หนังสือดังกล่าว "เรียบเรียงโดย รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" งาน "เปิดตัวหนังสือ" ครั้งนี้ จัดขึ้นอย่างใหญ่โต มี "นักวิชาการ" ผู้มีชื่อเสียงหลายคนรับเชิญเป็นผู้อภิปรายและวิจารณ์หนังสือเล่มดังกล่าว (สุเมธ ตันติเวชกุล, อเนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นต้น)






ความจริง ผมทราบเกี่ยวกับ โครงการทำหนังสือเล่มนี้ก่อนหน้านี้กว่า ๑ เดือน บอกตรงๆว่า ผมอดรู้สึก "เหลือเชื่อ" ไม่ได้ว่า จะเป็นไปได้อย่างไรที่จะทำหนังสือในลักษณะนี้ออกมา ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง ผมย่อม "ปลง" หรือ "ยอมรับ" ความจริงที่ว่า "หน้าที่" อย่างหนึ่งของการเป็นหน่วยราชการ (แม้แต่มหาวิทยาลัยที่ได้ชื่อว่า องค์กรทาง วิชาการ ) คือการผลิตวรรณกรรม (หรืองานพิธี) เพื่อสรรเสริญพระบารมีกษัตริย์และราชวงศ์ และพูดกันจริงๆ ผมก็ "ยอมรับ" หรือไม่ได้มีปัญหามากมายอะไร ถ้าหน่วยงานราชการแม้แต่อย่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะผลิตหนังสือสรรเสริญพระบารมี แบบที่ผลิตๆกันโดยหน่วยราชการอื่นๆ คือมีลักษณะ "หนังสือโชว์" ไว้ตั้งตามหิ้งหนังสือ หรือโต๊ะกาแฟ อย่างที่เห็นๆกัน (หนังสือบางเล่มพวกนี้ให้ข้อมูลน่าสนใจ) แต่การผลิตหนังสือลักษณะนี้ ให้เป็น "หนังสือวิชาการ" เขียนโดยคนระดับ ด๊อกเตอร์ หรือ ศาสตราจารย์ ที่จะมีคนรุ่นหลัง โดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษา หรือครูผู้สอนจำนวนมาก ใช้อ้างอิงและอบรมสั่งสอนทางวิชาการ ... ?


เมื่อผมได้อ่านหนังสือเล่มนี้จบเมื่อวานนี้ ผมเกิดความรู้สึกหลายอย่างในใจ เปลี่ยนสลับกันไปมาอย่างรุนแรง ตั้งแต่โกรธ ไปถึงสมเพช เหยียดหยาม แต่ในที่สุดแล้ว ความรู้สึกของผมคือ เศร้าสลดใจอย่างบอกไม่ถูก แม้ผมจะไม่เคยเป็นคนที่มีลักษณะ "มหาวิทยาลัยนิยม" ในแบบที่เข้าใจกัน แต่อดรู้สึกไม่ได้จริงๆว่า มหาวิทยาลัยที่ผมโตขึ้นมาด้วยและบางครั้งถึงกับ "ฝากชีวิต" ไว้ตั้งแต่ไม่ได้เป็นนักศึกษาด้วยซ้ำ แห่งนี้ ได้มาสู่ยุคตกต่ำทางภูมิปัญญา ทางศีลธรรม ทางการเมือง อย่างที่สุดเท่าที่ผมเคยรู้จักมา เมื่อมีผู้บริหารสูงสุด (อธิการบดี) เรียกร้องให้กษัตริย์ทำรัฐประหาร มีคณบดีคณะรัฐศาสตร์ เขียนหนังสือแบบนี้ออกมา (สมัยหลัง ๖ ตุลา เมื่อ ปรีดี เกษมทรัพย์ เป็นอธิการบดี ยังไม่แย่ขนาดนี้)


ผมรู้ดีว่า หนังสือเล่มนี้แบ่งกันเขียนจริงๆโดยหลายคน (ไม่มีใครเก่งขนาดเขียนหนังสือ ๒๐๐ กว่าหน้า ในเวลาเดือนเดียวได้) แต่ในเมื่อนครินทร์ ประกาศไว้เองในคำนำ ว่า "ความผิดพลาดและข้อบกพร่องต่างๆที่พึงมีอยู่ในหนังสือเล่มนี้...ทั้งหมดล้วนตกเป็นของผู้เขียนเองทั้งสิ้น" และเมื่อมองในแง่ความรับผิดชอบ ในฐานะที่เป็นนักวิชาการที่ senior ที่สุด ของกลุ่มคนเขียน ในฐานะที่มีตำแหน่งคณบดีรัฐศาสตร์ และในฐานะผุ้มีเครดิตในแง่ authority เรื่องประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่สุดในกลุ่ม ความรับผิดชอบทางวิชาการ-การเมือง ก็ควรเป็นของนครินทร์ผู้เดียวจริงๆ ถ้าจะมีใครอีกคนที่ควรต้องรับผิดชอบด้วย ผมขอยกให้ตัวอธิการบดีคนปัจจุบันนั่นแหละ
ผมไม่มีเวลา และไม่ต้องการจะเสียเวลาให้กับการวิจารณ์หนังสือนี้อย่างละเอียด ดังนั้น ในที่นี้ ผมจะจำกัดการวิจารณ์เฉพาะกรณีเดียว คือ กรณี ๖ ตุลา
ในหน้า ๒๕๖ นครินทร์เขียนสรุปเกี่ยวกับกรณี ๖ ตุลา และบทบาทของในหลวงองค์ปัจจุบัน ดังนี้ : "เหตุการณ์นองเลือดในวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙...ในเหตุการณ์นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงประสบกับข้อจำกัดไม่สามารถลงมาแก้ไขปัญหาการเมืองได้เช่นเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาฯ...."
ในหลวงไม่ได้ทรง intervene ในกรณี ๖ ตุลา (เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องก่อนหน้านั้น ในวันนั้น และหลังวันนั้น)? แม้แต่คนที่พอรู้การเมืองไทยบ้าง และโง่กว่านครินทร์ ก็ไม่น่าเขียนอะไรแบบนี้ออกมา
นี่คือ รายงานจาก ดาวสยาม :
โปรดเกล้าฯให้ธรรมนูญเฝ้าฯ
เมื่อเวลา 17.00 น.ของวันที่ 6 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้รับสั่งเรียกนายธรรมนูญ เทียนเงิน ผู้ว่าการกรุงเทพมหานครเข้าเฝ้าฯ ทรงรับสั่งเกี่ยวกับการที่ได้มีลูกเสือชาวบ้านจากต่างจังหวัดนับเป็นหมื่นๆคนได้มาชุมนุมนั้นอาจจะประสบปัญหาเกี่ยวกับอาหารและที่พัก ทรงรับสั่งให้นายธรรมนูญชี้แจงให้ลูกเสือชาวบ้านสลายตัว.....
หลังจากนั้น (ดังที่คนที่รู้การเมืองแต่โง่กว่านครินทร์ก็ทราบดีว่า) สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ได้เสด็จมาพบลูกเสือชาวบ้านที่ทำเนียบรัฐบาล (ไม่ใช่ที่ลานพระรูป แต่ในตัวทำเนียบรัฐบาล ที่ลูกเสือชาวบ้านเหล่านั้น ได้พังเข้าไปแล้ว) และทรงมีพระราชแสรับสั่ง ตามที่ ดาวสยาม รายงาน ดังนี้
ข้าพเจ้าขอให้ทุกคนยิ้มแย้มและใจเย็นๆ ไม่มีอะไรที่แก้ไขไม่ได้ แต่ต้องค่อยแก้ค่อยไป บ้านเมืองตอนนี้กำลังต้องการความสามัคคีและกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่สำคัญ ฉะนั้นขอให้ทุกคนสลายตัวเสีย ถือว่าให้ของขวัญกับข้าพเจ้า ท่านเหนื่อยกันมามากแล้ว ขอให้กลับไปหลับนอนเสียให้สบาย ทุกคนโปรดทราบว่า สองล้นเกล้าฯทรงเป็นห่วง ไม่มีอะไรที่สองล้นเกล้าฯจะเสียใจเท่ากับพวกเราฆ่ากันเอง ขอให้ทุกคนโชคดี
(น่าสังเกตว่า ขณะนั้น เหตุการณ์ที่ธรรมศาสตร์สิ้นสุดลงแล้วหลายชั่วโมง และความรุนแรงที่ตำรวจ ลูกเสือชาวบ้าน และกลุ่มพลังฝ่ายขวาอื่นๆกระทำต่อนักศึกษาที่นั่น ได้เป็นที่รู้กันแล้ว (หนังสือพิมพ์ฉบับบ่ายทุกฉบับได้พาดหัว และรายงานข่าวแล้ว) ไม่ปรากฏว่าทรงมีพระราชดำรัสถึงเหตุการณ์ดังกล่าวแต่อย่างใด ตัวอย่างของพาดหัวหนังสือพิมพ์บางฉบับในบ่ายวันนั้น: “นองเลือด ตายเจ็บนับร้อย จับนศ.แขวนคอ-ประกาศฉุกเฉิน” (ไทยรัฐ), “จลาจลแล้ว แขวนคอ นศ. เผาสด 5 ศพ จับเลขาศูนย์นิสิต-ให้ปลด 3 รมต.ด่วน” (เดลินิวส์), “นองเลือด! ประชาชนขยี้ศูนย์-จับแขวนคอ ตายนับร้อย” (ตะวันสยาม) ภาพถ่ายนักศึกษาถูกแขวนคอและถูกเผาได้รับการตีพิมพ์ทุกฉบับ)
วันต่อมา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ๒ พระองค์ ได้เสด็จไปยังโรงพยาบาลตำรวจและโรงพยาบาลวชิระเพื่อทรงเยี่ยมตำรวจที่บาดเจ็บจากเหตุการณ์ที่ธรรมศาสตร์ หนังสือพิมพ์ เสียงปวงชน นอกจากตีพิมพ์พระฉายาลักษณ์ ๒ พระองค์ทรงกำลังสอบถามอาการตำรวจผู้นอนบาดเจ็บคนหนึ่งถึงข้างเตียงอย่างห่วงใยยิ่งแล้ว ได้บรรยายว่า (เน้นคำของผม) "ทูลกระหม่อมทั้งสองพระองค์เสด็จเยี่ยมตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บ จากการกวาดล้างที่ธรรมศาสตร์ ที่โรงพยาบาลตำรวจ เมื่อ 15.00 น. วันที่ 7 เดือนนี้ และพระราชทานเงินของมูลนิธิสายใจไทยให้ตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บทุกคน"
หนึ่งสัปดาห์ต่อมา ทั้ง ๒ พระองค์ได้เสด็จในงานบรรจุศพนายเสมอ อ้นจรูญ ลูกเสือชาวบ้านผุ้หนึ่งที่เสียชีวิตขณะบุกเข้าไปในธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ ๖ ตุลา เดลินิวส์ รายงานว่า ฟ้าหญิงสิริธรฯ "ทรงกล่าวสดุดีเกียรติคุณ นายเสมอ อ้นจรูญ ว่า ' การปฏิบัติหน้าที่ครั้งนี้ [เป็นไปตาม] คำสัตย์ปฏิญาณที่ได้ปฏิญาณไว้กับลูกเสือชาวบ้าน สมควรแก่การเชิดชู เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ลูกเสือชาวบ้านต่อไปในด้านมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์'...." (เน้นคำของผม)
การเขียนอย่างที่นครินทร์เขียน ยิ่งแย่มากขึ้น เมื่อพิจารณาว่า ในอีกที่หนึ่งในหนังสือ นครินทร์ ได้อ้างข้อมูลจากหนังสือของกอบเกื้อ สุวรรณทัต-เพียร ที่เกี่ยวกับในหลวงและ ๖ ตุลา ซึ่งในทีนั้น กอบเกื้อเขียนคนละอย่างกับที่นครินทร์เขียน อันที่จริง จุดที่นครินทร์อ้างข้อมูลกอบเกื้อเกี่ยวกับในหลวงและ ๖ ตุลานี้ สะท้อนลักษณะการทำงานแบบไม่มีความกล้าหาญ ไม่มีจริยธรรม บิดเบือน ปกปิด โกหกทางวิชาการ ซึ่งแสดงออกตลอดทั้งเล่มของหนังสือเล่มนี้ ได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ
ในหน้า ๑๔๒ นครินทร์ เขียนว่า
"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ทรงพยายามขจัดความแตกแยกภายในชาติ และทรงเรียกร้องความสามัคคีจากชาวไทย ในวันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ หรือ ๒ วันหลังจากเหตุการณ์ฯ ๖ ตุลา พระองค์ทรงมีพระบรมราโชวาททางวิทยุกระจายเสียง เรียกร้องความเป็นหนึ่งเดียวกันของชาติ เพื่อเผชิญหน้ากับวิกฤติ"
นครินทร์ทำเชิงอรรถอ้างว่า ข้อมูลเรื่องในหลวงทรง "พยายาม..เรียกร้องความสามัคคี" (จากความแตกแยกในกรณี ๖ ตุลา) นี้มาจากกอบเกื้อ ประโยคของกอบเกื้อที่นครินทร์หมายถึงคือประโยคนี้
"Two days after the massacre, the King broke his silence. His Majesty made a radio broadcast calling for national unity in the face of the crisis."
แต่นครินทร์จงใจไม่ยอมอ้าง หรือพูดให้เห็นว่า ประโยคติดกันต่อไปทันที ของกอบเกื้อเขียนว่าอะไร คือประโยคนี้ครับ
"The message was clear: King Bhumibol had issued 'a strong endorsement' of the new military junta."
(กรุณาแปลกันเองนะครับ แล้วอ่านคู่กับประโยคของนครินทร์ข้างต้นที่อ้างข้อมุลจากกอบเกื้อ)
มิหนำซ้ำ หลังประโยคนี้ กอบเกื้อยังเล่าข้อมุลอีกอันหนึ่งเกี่ยวกับพระราชินีและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอในกรณี ๖ ตุลาว่า (เน้นคำของผม)
"Perhaps to emphasize further the unmistakable stand of the Throne , Queen Sirikit and the royal Princesses went to visit and provide food for the Village Scouts who encamped in the campus of Thammasat University."
ซึ่งความจริงแล้ว เช่นเดียวกับ กรณีในหลวงทรงออกอากาศทางวิทยุข้างต้น เป็นข้อมูลที่ผิด คือในหลวงไม่เคยออกอากาศทางวิทยุดังกล่าว (ดูรายงานข่าวโดยละเอียดใน ไทยรัฐ 10 ตุลาคม 2519) และพระราชินีและพระเจ้าลูกเธอไม่ได้เคยมาที่ธรรมศาสตร์ในช่วงนั้น (และเป็นเรื่อง irony เพราะหนังสือเกอบเกื้อเต็มไปด้วยการสรรเสริญพระบารมีเช่นเดียวกับหนังสือนครินทร์) แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น หลังจากข้อมูลเรื่องนี้แล้ว กอบเกื้อได้สรุปว่า
"The death of democracy appeared a small prize to pay for the return of political stability and social status quo."
ความจริง การใช้คำว่า democracy ของกอบเกื้อในที่นี้ เรียกได้ว่าเป็น euphemism ถ้าใช้คำว่า students จะเป็นรูปธรรมและตรงความจริงมากกว่า (แต่จะทำให้นัยยะของย่อหน้านั้นทั้งหมดมีความหมายที่แหลมคมใหญ่หลวงที่กอบเกื้อคงไม่กล้าพอจะเขียน) แต่ถึงจะใช้คำแบบ euphemism แบบนี้ ประเด็นคืออะไรก็ชัดเจนมาก และนครินทร์ ซึ่งอ้างอิงจากกอบเกื้อ จึงไม่มีสิทธิ์หรือจริยธรรมทางวิชาการที่จะเอา ข้อมูลของกอบเกื้อนี้ มาสนับสนุนสิ่งที่เขาเขียนได้เลย เพราะข้อมูล (ประโยคแรก) ของกอบเกื้ออยู่ในบริบทของข้อความทั้งย่อหน้าที่มีความหมายคนละอย่างกันเลยกับนครินทร์
ในหน้า ๑๔๑ นครินทร์ได้อธิบายภาพรวม กรณี ๖ ตุลา ดังนี้ (เน้นคำของผม)
"เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวในการรักษาดุลยภาพทางการเมืองหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาฯ แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะเปิดโอกาสให้กลุ่มนักธุรกิจ กลุ่มกรรมกร และกลุ่มนักศึกษาสามารถเข้ามามีบทบาททางการเมืองอย่างเต็มที่ แต่ก็กลับกีดกันกลุ่มข้าราชการออกจากอำนาจทางการเมืองอย่างฉับพลัน ส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านจาก กลุ่มข้าราชการที่คุ้นเคยกับการกุมอำนาจทางการเมืองไว้ในมือนับตั้งแต่การปฏิวัติ พ.ศ. ๒๔๗๕ ผลที่ติดตามมาจากการตัดกลุ่มข้าราชการออกจากวงจรแห่งอำนาจ ปรากฏให้เราเห็นอย่างชัดเจนในเหตุการณ์ ๖ ตุลาฯ อันเป็น การตอบโต้ของกลุ่มข้าราชการ ต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น"
โปรดสังเกตยุทธวิธี "เปลี่ยนเป้าการกล่าวหา" (shift the blame) อย่างแนบเนียน ว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบสำคัญในกรณี ๖ ตุลา ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจร่วมกันอย่างกว้างขวางในหมู่นักวิชาการปัจจุบัน จาก กลุ่มรูปธรรมบางกลุ่ม (xxx ?) ไปเป็นคำนามธรรมอย่าง "กลุ่มข้าราชการ" ที่ "คุ้นเคยกับการกุมอำนาจทางการเมืองไว้ในมือนับตั้งแต่การปฏิวัติ พ.ศ. ๒๔๗๕" นครินทร์กำลังหมายถึงใคร? พวกกลุ่มทหาร? ที่สืบทอดอำนาจกันมาตั้งแต่คณะราษฎร?
ไม่ต้องพูดถึงความจริงง่ายๆทีว่า กลุ่มที่บุกเข้าไปฆ่าคนที่ธรรมศาสตร์ในเช้าวันนั้นไม่ใช่ทหาร ในหน้า ๑๖๖ นครินทร์เขียนเองว่า "การปลุกปั่นให้ประชาชนเกลียดชังกันนำไปสุ่การล้อมปราบนิสิตนักศึกษาและประชาชนที่ประท้วงการกลับเข้าประเทศของจอมพลถนอมอย่างสงบ ในเช้าตรู่ของวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๙ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มคนที่มีส่วนในเหตุการณ์ประกอบด้วย ตำรวจตระเวนชายแดน ลูกเสือชาวบ้าน กลุ่มกระทิงแดง กลุ่มนวพล " (เน้นคำของผม) กล่มอนุรักษ์นิยมเหล่านี้ ส่วนหนึ่งเป็น "กลุ่มข้าราชการ" แน่นอน (แต่ก็ไม่ใช่ "กลุ่มข้าราชการ" ในความหมายที่เป็นกลุ่มที่ "คุ้นเคยกับการกุมอำนาจทางการเมืองไว้ในมือนับตั้งแต่การปฏิวัติ พ.ศ. ๒๔๗๕" อย่างที่เขียน) แต่ในบริบทของประวัติศาสตร์การเมืองไทย มีเท่านั้นหรือ? คนที่รู้การเมืองแต่โง่กว่านครินทร์ ก็รู้ดีว่า พลังอนุรักษ์นิยมเหล่านี้ นอกจากเป็นของ "กลุ่มข้าราชการ" แล้ว เป็นของใครบ้าง ตัวอย่าง : วัฒนา เขียววิมล ที่ออกตัวมาเป็น "ผู้นำ" ของกลุ่ม "นวพล" (แปลว่า "กำลังที่เก้า") ได้ออกมาเปิดเผยก่อนตายไม่นานว่า แท้จริงแล้ว กลุ่มของเขาตั้งโดยงบพิเศษ กอ.รมน. โดยการอนุมัติของสายหยุด เกิดผล แต่ผู้ที่ดูแลรับผิดชอบโดยตรงคือ พลเอกสำราญ แพทยกุล หรือผมต้องบอกนครินทร์ว่า พลเอกสำราญ เป็นใคร? ตำรวจตระเวนชายแดน และลูกเสือชาวบ้าน ในทางการเมืองเป็นองค์กรอะไร? อย่างกรณีลูกเสือชาวบ้าน จะถือว่าเป็น "กลุ่มข้าราชการ" ที่กุมอำนาจมาตั้งแต่ ๒๔๗๕ จริงๆหรือ? จำเริญฤทธิ์ จำรัสโรม, สมควร หริกุญ, อุทธาร สนิทวงศ์? ผลรวมของการเสนอภาพ ๖ ตุลาแบบนี้ กล่าวในแง่บริบทของประวัติศาสตร์นิพนธ์เรื่องการเมืองไทยสมัยใหม่แล้ว มีลักษณะยิ่งกว่า irony เสียอีก คือ กลายเป็นว่า ผู้ที่รับผิดชอบสำคัญต่อ ๖ ตุลา คือพวกที่สืบลูกหลานมาจากชนชั้นนำ หลัง (ไม่ใช่ ก่อน ) ๒๔๗๕!
สรุปแล้ว ในกรณี ๖ ตุลา ควรอธิบายว่า ในหลวง "ทรงประสบกับข้อจำกัดไม่สามารถลงมาแก้ไขปัญหาการเมืองได้" จริงหรือ? การเขียนเช่นนี้ไม่เสี่ยงต่อการลดทอน "กฤษฎาภินิหารอันบดบังมิได้" (คำของคึกฤทธิ์) ไปหน่อยหรือ?!
ความจริง หนังสือเล่มนี้ เต็มไปด้วยการเขียนในลักษณะเดียวกับที่กล่าวนี้ในกรณี ๖ ตุลา ถ้าผมขืนอภิปรายทุกประเด็น คงต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์ ... บางตัวอย่างสั้นๆ กรณีหยุด แสงอุทัย ที่ถูกกล่าวหาว่า "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ในปี ๒๔๙๙ ก็ถูกนครินทร์เล่าให้ หยุด กลายเป็นตัวร้ายไป "(หยุด) ก่อให้เกิดกระแสความไม่พอใจในสังคมอย่างกว้างขวาง..." (น.๕๖) ทั้งๆที่ประเด็นที่ หยุด พูดนั้น เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตย (ที่อ้างว่าเป็นเนื้อหาหนังสือ) อย่างสำคัญยิ่ง (power and accountibility) หรือ ใน น.๙๑-๙๒ และ น.๑๒๓ เชิงอรรถ ๑๗ นครินทร์ยืนยันว่าในหลวง "ทรงมิได้มีส่วนรู้เห็นใดๆ" กับการรัฐประหารของสฤษดิ์ และวิจารณ์นักเขียนต่างประเทศที่เสนอเช่นนี้ว่า เป็นการ "ตีความเรื่องราวแบบเกินเลย และสันนิษฐานเอาเองตามอำเภอใจ" โดยนครินทร์เองไม่ยอมอธิบายหรือให้หลักฐาน แต่ถ้าเช่นนั้น จะอธิบายอย่างไร การที่ พจน์ สารสิน ซึ่งสฤษดิ์เลือกให้เป็นนายกฯหลังรัฐประหาร เปิดเผยว่า เขา "accepted the honour only after it was made clear to him by the Palace that the King wished his appointment to be made , that the Palace 'had been consulted at every step since the originalcoup' ." (Kobkua, Durable Primier , p 30 and 41 note 88 กอบเกื้ออ้างหลังฐาน FO เข้าใจว่า นี่เป็นคำบอกเล่าของพจน์ต่อเจ้าหน้าที่ทูตอังกฤษ คำว่า since ในที่นี้หมายถึงอะไร? ยึดอำนาจแล้ว จึง "ปรึกษาทุกขั้นตอน" หรือ "ปรึกษาทุกขั้นตอน" ตั้งแต่ การยึดอำนาจ คือ รวมถึง การยึดอำนาจด้วย? ความจริง ผมมีหลักฐาน "บอกเล่า" จากคนสนิทระดับ "มือขวา" ของสฤษดิ์คือ เนตร เขมะโยธิน ซึ่งผมเคยสัมภาษณ์ที่พูดแบบเดียวกันนี้ด้วย... สรุปแล้ว ประเด็นไม่ง่ายที่จะปฏิเสธอย่างที่นครินทร์คิดหรอกครับ) ยิ่งกว่านั้น ผมขอถามหน่อยว่า ที่เขียนต่อไปว่าในหลวง "ก็ ทรงไม่มีทางเลือกอื่นใด นอกจากจะทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้จอมพลสฤษดิ์เป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร" นั้น นครินทร์จะอธิบายการที่ "พระบรมราชโองการแต่งตั้ง" ฉบับนั้น ไม่มีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ อย่างไร? ( ราชกิจจานุเบกษา , เล่ม ๗๔ ตอน ๗๖, วันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๐๐, ฉบับพิเศษ หน้า ๑) "พระบรมราชโองการ" ที่ไม่มีผู้รับสนองฯหมายความอะไร หรือนครินทร์ไม่ทราบ? (ไม่ต้องพูดถึงประเด็นปัญหา "ประชาธิปไตย" หรือ "รัฐธรรมนูญ" ที่ว่า "...พระบรมราชโองการที่เกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ" ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ๒๔๗๕ แก้ไข ๒๔๙๕ มาตรา ๙๘ ซึ่งขณะนั้นยังมีผลบังคับใช้)
สุดท้าย ผมจำกัดการวิจารณ์หนังสือ พระผู้ทรงปกเกล้าฯ เฉพาะกรณี ๖ ตุลา แต่ขอพูดอะไรสัก ๒-๓ คำ เกี่ยวกับกรณีสวรรคตในหลวงอานันท์ ซึ่ง - ไม่ว่าจะใช้บรรทัดฐานอะไร - ต้องถือเป็นกรณีสำคัญอย่างยิ่งยวด ต่อประเด็นสถาบันกษัตริย์กับการเมืองไทย ที่เป็นข้ออ้างเนื้อหาของหนังสือ ปรากฏว่า นครินทร์ แทบไม่ยอมกล่าวถึงกรณีนี้เลย (น.๓๖) และเมื่อมาพิจารณาว่า หนังสือเล่มนี้ จัดพิมพ์ในนาม ๗๒ ปีมหาวิทยาลัยที่ปรีดี พนมยงค์ ก่อตั้งขึ้น โดยผู้บริหารที่อ้างชื่อปรีดี จัดงานให้ปรีดี อยู่อย่างสม่ำเสมอ... เป็นเรื่องน่าละอายอย่างยิ่งที่ ไม่กล้าแม้แต่เพียงกล่าวว่า กรณีสวรรคต ถูก พวกนิยมเจ้า ใช้เป็นประเด็นเล่นงานปรีดี พนมยงค์ หลายสิบปี (ใน น.๔๗ กล่าวว่า กรณีสวรรคต ทำให้ปรีดี "ต้องถูกโจมตีจาก กระแสสังคม [??] เป็นอย่างมาก..."!) และ ทำให้ผู้ที่เป็นผู้บริสุทธิ์ ๓ คน (ความผิดของ ๓ คนนี้ ขึ้นกับการกล่าวหาปรีดี ถ้าปรีดีบริสุทธิ์ ๓ คนนี้ย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วย) ต้องถูกประหารชีวิตไป โดยที่ - ดูบทความเกี่ยวกับ ๕๐ ปีการประหารชีวิต ของผม - ไม่มีใครคิดจะช่วย แม้แต่การกล่าวเช่นนี้ (การใส่ความปรีดี) ก็ไม่กล้า สะท้อนคุณธรรมทางวิชาการของผู้เขียนและผู้ทำได้เป็นอย่างดี
บทความโดย. อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

ไม่มีความคิดเห็น: