วันพฤหัสบดีที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

กษัตริย์ไทยในความเชื่อ : พระสัมมาสัมพุทธเจ้า


เราทุกคนคงเคยได้ยินและรู้จัก “พระพุทธเจ้าหลวง” เป็นอย่างดี แต่เรามักคุ้นเคยในความหมายของ “รัชกาลที่ ๕ แห่งบรมราชจักรีวงศ์” เท่านั้น แต่หากเราย้อนกลับไปดูในพระราชพงศาวดารแล้ว เราจะพบว่าในพงศาวดารหรือจดหมายเหตุของไทยนั้น มักเรียกองค์รัชทายาทว่า
“หน่อพุทธางกูร” หรือ “สมเด็จหน่อพุทธางกูร” หากเรามองคำนี้ในแง่ของวรรณคดีทางพระพุทธศาสนา เราจะตีความว่าหมายถึงพระโพธิสัตว์ หากแต่ในทางพงศาวดารนี้คำว่าหน่อพุทธางกูรไม่ได้แค่หมายถึงพระมหากษัตริย์ หากแต่หมายถึง “หน่อเนื้อเชื้อสายของพระพุทธเจ้า” โดยยกเอาพระมหากษัตริย์นั้นเอง ที่มีฐานะเป็น “พระพุทธเจ้า” อีกนัยหนึ่งด้วย โดย “หน่อ” นั้นก็หมายถึง “องค์รัชทายาท” นั่นเอง

ในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้นมีพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวเท่านั้นเอง ที่ได้รับการขนานพระนามว่า “สมเด็จหน่อพุทธางกูร” นอกนั้นแล้วก็หมายถึงองค์รัชทายาทเสียส่วนใหญ่

สิ่งที่น่าสนใจและสะท้อนความเชื่อนี้ได้ชัดเจนที่สุด เห็นจะหนีไม่พ้นภาพจิตรกรรมฝาผนังที่พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ราชวรมหาวิหาร

เมื่อเราเหยียบเท้าก้าวข้ามธรณีประตูพระอุโบสถวัดพระแก้วเข้าไปแล้ว ขอให้กราบนมัสการพระแก้วมรกตอย่างเคารพ แล้วลองหันหลังกลับไปทิศเดียวกับประตูที่เดินเข้ามา แล้วแหงนหน้าไปชมภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เห็นอยู่ตรงหน้า… ภาพ “พระพุทธเจ้าผจญมาร”

พระพุทธเจ้านั้นสถิตอยู่เหนือรัตนบัลลังก์ ณ ควงไม้ศรีมหาโพธิ์ มีพระแม่ธรณีอยู่เบื้องล่างกำลังบีบน้ำออกจากมวยผมจนท่วมเหล่ามารพญามารทั้งหลายให้แตกพ่ายกระเจิงไป จนไม่สามารถขัดขวางการบำเพ็ญเพื่อบรรลุปรมาภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้

ลองสังเกตภาพเหล่ามารานุมาร และพญามารทั้งหลายให้ดี สังเกตที่การแต่งกาย…

เราจะเห็นว่าเหล่ามารทั้งหลายเหล่านั้นล้วนแล้วแต่แต่งกายเป็น “วิเทศชาติ” ที่ติดต่อค้าขาย หรือกำลังเข้ามา “ยุ่มย่าม” ในดินแดนแถบนี้ทั้งนั้น

การวาดภาพพระพุทธเจ้าผจญมารโดยกำหนดให้ “มาร” ทั้งหลายที่ต้องพ่ายต่อพระบารมีนั้น ก็เปรียบเสมือนการ “ตัดไม้ข่มนาม” นั่นเอง และอีกนัยหนึ่ง เมื่อเหล่ามารทั้งหลายคือชาวต่างชาติที่มีแนวโน้มว่าอาจจะเข้ามารุกรานแผ่นดินสยาม (รวมไปถึงที่เคยรุกรานสยามมาแล้วในอดีต) แล้วไซร้ พระพุทธเจ้าที่เปี่ยมด้วยพระบารมีก็ใช่ใครอื่นที่ไหน หากแต่เป็น “พระมหากษัตริย์” ของไทยเรานี้เอง

ทั้งการเรียกองค์รัชทายาทว่า “หน่อสมเด็จพุทธางกูร” ก็ดี

การเรียกล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ ว่า “พระพุทธเจ้าหลวง” ก็ดี

การวาดภาพ “พระพุทธเจ้าผจญมาร” ในพระอุโบสถวัดพระแก้วก็ดี

ล้วนแล้วแต่แสดงคติความเชื่อที่ว่า

“พระมหากษัตริย์ของไทยเสมือนหนึ่งเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

ได้ทั้งนั้น


ผู้แต่ง : ฌานิศ วงศ์สุวรรณ

*สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์
ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย


ที่มา : dek-d.com : <> : กษัตริย์ไทยในความเชื่อ : พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ เพื่อการศึกษาในเรื่องดังกล่าว ให้ลึกซึ่งถึงความต้องการในความรู้ที่ถูกต้อง และปราศจากการถูกครอบงำ ให้เชื่อในเรื่องราวต่างๆอย่าง...บ้าคลั่ง

วันพุธที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

กษัตริย์ไทยในความเชื่อ : พระนารายณ์อวตาร


ในตำนานทางคติพราหมณ์ฮินดู พระนารายณ์เป็นเทพเจ้าผู้อวตารลงมาเพื่อปราบยุคเข็ญให้แก่มนุษย์ทั้งมวล เช่น รามาวตาร (อวตารเป็นพระราม) พุทธาวตาร (อวตารเป็นพระพุทธเจ้า) ฯลฯ

โดยพระนารายณ์นั้นมีพญาครุฑเป็นสัตว์พาหนะ ตามตำนานของฮินดูได้กล่าวถึงการสู้รบกันของพญาครุฑกับพระนารายณ์เอาไว้ว่าผลการรบครั้งนั้นทำให้ครุฑต้องยอมเป็นพาหนะของพระนารายณ์ โดยที่ครุฑได้ตั้งเงื่อนไขสำคัญไว้ว่า “ตนจะยอมเป็นพาหนะทรงของพระนารายณ์ แต่ตนต้องอยู่เหนือศีรษะของพระนารายณ์เสมอ” พระนารายณ์จึงต้องงัดไม้เด็ดมาแก้ลำโดยการทำธงรูปครุฑแล้วชักชึ้นเหนือศีรษะของพระองค์เวลาเสด็จไปไหนมาไหน โดยที่พระองค์ยังคง “ทรงครุฑ” อยู่อย่างสบายอุรา

เมื่อไทยเรารับเอาคตินี้เข้ามาด้วย คือ การยกให้พระมหากษัตริย์เป็นพระนารายณ์อวตารนั้น จึงทำให้เราต้องมี “สัตว์พาหนะ” ควบคู่กันไปด้วย นั่นก็คือมีการทำธงตราครุฑ หรือการแกะสลักไม้เป็นตราครุฑพ่าห์ บางครั้งก็แกะสลักรูปพระนารายณ์ทรงสุบรรณไว้ ณ หน้าบันของพระอุโบสถวัดต่าง ๆ โดยตราครุฑพ่าห์ที่แกะสลักด้วยไม้เป็นตราแสดงสถานะความเป็นพระมหากษัตริย์นอกเหนือจากตราพระราชลัญจกร ซึ่งเป็นตราส่วนพระองค์ โดยได้พัฒนาลวดลายในการแกะสลักมาโดยตลอด จนได้รูปแบบที่แน่นอนในปัจจุบัน เมื่อไม่กี่รัชกาลมานี้เอง

ปัจจุบันนี้ตราครุฑจึงถือเป็นตราแสดงความเป็นพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าพระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศ์ชั้นสูงจะเสด็จไปไหน รถพระที่นั่งก็จะต้องมี “ธงครุฑพ่าห์” เสมอ ในหนังสือราชการเองก็ใช้ “ตราครุฑพ่าห์” เพื่อแสดงให้เป็นถึงความเป็นเอกสารใน “พระราชกิจ” นั่นเอง

นอกเหนือไปจากการสร้างตราสัญลักษณ์แทนสัตว์พาหนะของพระนารายณ์ หรือพระมหากษัตริย์ของไทยเราแล้ว การตั้งชื่อเมืองหลวงก็สามารถเป็นเงาสะท้อน “การอุบัติสมมติ” ของพระมหากษัตริย์ในฐานะเป็นพระนารายณ์อวตารได้เป็นอย่างดี คือ การที่เราตั้งชื่อเมืองหลวงว่า “กรุงศรีอยุธยา” ก็ดูเหมือนจะได้รับอิทธิพลมาจากชื่อ “กรุงอโยธยา” อันเป็นเมืองของพระรามนั่นเอง หรือภาพวาดเรื่อง “รามเกียรติ์” ที่ระเบียงรอบพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ราชวรมหาวิหาร ที่ซุ้มประตูเมืองของพระรามยังได้เขียนชื่อเมืองเป็น “กรุงศรีอยุธยา” หรือ “อยุธยา” ตรง ๆ อีกด้วย เช่น ห้องที่ ๑๗๘ เป็นต้น นั่นก็อาจหมายถึง ไม่ว่าจะเป็น “กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา” หรือ “กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์” ก็ยังคงเป็นที่สถิตแห่งองค์นารายณ์อวตาร อันอุบัติเป็นพระมหากษัตริย์ของไทยอยู่ดี

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เราจึงอาจสรุปได้ว่าชาติไทยได้นำเอาคติพราหมณ์ที่เชื่อเรื่องความยิ่งใหญ่ของพระนารายณ์ อันสามารถอวตารลงมาปราบยุคเข็ญในยุคต่าง ๆ ได้ มาเปรียบเทียบให้เป็นพระมหากษัตริย์ของไทย เพื่อเป็นเครื่องสะท้อนว่า “พระมหากษัตริย์ไทย คือ ผู้มีบุญญาธิการบารมีมากล้น และได้จุติลงมาเพื่อปราบยุคเข็ญให้แก่ชาวสยามทั้งมวล” ซึ่งความเชื่อนี้ก็ดูเหมือนจะเป็นที่ยอมรับของชาวสยามทั้งมวล เพราะพระมหากษัตริย์สยามนั้นช่วยปราบยุคเข็ญได้อย่างแท้จริง


ผู้แต่ง : ฌานิศ วงศ์สุวรรณ


*สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์
ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย


ที่มา : dek-d.com : <> : กษัตริย์ไทยในความเชื่อ : พระนารายณ์อวตาร

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ เพื่อการศึกษาในเรื่องดังกล่าว ให้ลึกซึ่งถึงความต้องการในความรู้ที่ถูกต้อง และปราศจากการถูกครอบงำ ให้เชื่อในเรื่องราวต่างๆอย่าง...บ้าคลั่ง

กังวลเรื่อง เมืองกังวล และ จดหมายชี้แจงของ "ถนอม อัครเศรณี" ผู้ประพันธ์ที่แทบถูกลืม!



กังวลเรื่อง เมืองกังวล


เมืองใดไร้สิ่งอันพึงมี ย่อมเสื่อมศักดิ์ศรีไร้คุณค่า
พระมหาธีรราชเจ้าจอมปรัชญา ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่าน่ากังวล

เมืองใดไม่มีทหารหาญ เมืองนั้นไม่นานเป็นข้า
เมืองใดไร้จอมพารา เมืองนั้นไม่ช้าอับจน
เมืองใดไม่มีพณิชเลิศ เมืองนั้นย่อมเกิดขัดสน
เมืองใดไร้ศิลป์โสภณ เมืองนั้นไม่พ้นเสื่อมทราม
เมืองใดไม่มีกวีแก้ว เมืองนั้นไม่แคล้วคนหยาม
เมืองใดไร้นารีงาม เมืองนั้นสิ้นความภูมิใจ
เมืองใดไม่มีดนตรีเลิศ เมืองนั้นไม่เพริศพิสมัย
เมืองใดไร้ธรรมอำไพ เมืองนั้นบรรลัยแน่เอย ฯ



คำประพันธ์ชุดนี้ทุกคนเชื่อมาแต่เล็กแต่น้อยว่าเป็นพระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพิจารณาดูเนื้อหาสาระแล้วนับว่าเป็นคำประพันธ์ที่มีคุณค่ายิ่ง เพราะได้กล่าวถึงสิ่งสำคัญอันสังคมที่เจริญแล้วพึงมี หากสังคมหรือชนชาติใดปราศจากสิ่งเหล่านี้แล้วไซร้ ความวิบัติหรือการมีอันเป็นไปต่าง ๆ ย่อมปรากฏแก่สังคมหรือชนชาตินั้นอย่างมิต้องสงสัยเลย

ทว่า เมื่อเกิดคำถามว่าคำประพันธ์ดังกล่าวนี้ ปรากฏในพระราชนิพนธ์เรื่องใดของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เห็นทีจะเป็นคำถามที่ทำให้ผู้ถูกถามต้องหัวปั่นเป็นแน่ นอกจากพยายามบ่ายเบี่ยงแล้วยืนกรานตามความเห็นว่าเป็นพระราชนิพนธ์จริง หากเป็นเรื่องใดนั้นจำไม่ค่อยได้

ผมเป็นอีกผู้หนึ่งที่มีข้อสงสัยต่อกรณีนี้เช่นเดียวกัน ผมจึงพยายามศึกษางานพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวให้มากชิ้นที่สุดเท่าที่ผมจะหาข้อมูลมาได้ เหตุอันน่าประหลาดใจเกิดขึ้นในขณะนั้นเองว่าไม่พบคำประพันธ์ชุดนี้ในพระราชนิพนธ์เรื่องใดเลย

ผมได้หอบหิ้วความสงสัยนี้เรียนถาม รองศาสตราจารย์ กัญญรัตน์ เวชชศาสตร์ อาจารย์ผู้สอนวิชาสัมมนาวรรณคดีรัชกาลที่ ๖ ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร อ.กัญญรัตน์ ยืนยันว่าไม่ได้เป็นพระราชนิพนธ์อย่างแน่นอน และได้กรุณาสอบทานไปยัง “หอวชิราวุธานุสรณ์ หอสมุดแห่งชาติ พระนคร” ซึ่งเจ้าหน้าที่ของหอวชิราวุธฯ มีใจเอื้อเฟื้อค้นหาข้อมูลให้เป็นอย่างดี

เจ้าหน้าที่ประจำหอวชิราวุธฯ ได้กรุณาส่ง Fax สำเนาบทความที่ ฯพณฯ ศาสตราจารย์ ม.ล. ปิ่น มาลากุลเขียนลงใน “มานวสาร” ปีที่ ๘ ฉบับที่ ๑ มกราคม ๒๕๒๘ บทความนั้นชื่อ “กังวลเรื่องเมืองกังวล”


บทความที่ ฯพณฯ ศาสตราจารย์ ม.ล. ปิ่น มาลากุล เขียนไว้นั้นสรุปความได้ว่าท่านมีความกังวลใจมานานเกี่ยวกับความเชื่อที่ว่าเป็นพระราชนิพนธ์ ทั้งท่านเองได้ทำงานใน “คณะอนุกรรมการรวบรวมและค้นคว้าเกี่ยวกับพระราชนิพนธ์เรื่องต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” หรือชื่อย่อว่า ก.ร.ว. คราหนึ่งได้มีครูบาอาจารย์โทรศัพท์ไปสอบถาม ก.ร.ว. ว่าคำประพันธ์บทนี้เป็นพระราชนิพนธ์เรื่องใด ทาง ก.ร.ว. ตอบไปว่าไม่ทราบ ทั้งนี้เพราะ ก.ร.ว. เองไม่ทราบจริง ๆ ทั้งไม่เชื่อว่าเป็นพระราชนิพนธ์ด้วย ข้อนี้ไม่น่าแปลกเพราะ ก.ร.ว. จัดตั้งขึ้นมาเพื่อรวบรวมผลงานพระราชนิพนธ์ทุกชิ้นของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ย่อมจะต้องรู้จักและสนใจงานพระราชนิพนธ์ทุกชิ้นยิ่งกว่าใคร จะเป็นรองก็แต่พระองค์ท่านผู้พระราชนิพนธ์เองเท่านั้น

ต่อมาไม่นานวงดุริยางค์กองทัพบก ได้นำบทประพันธ์บทนี้ซึ่งใส่ทำนองเพลงเรียบร้อยแล้วมาบรรเลง กรรมการ ก.ร.ว. ท่านหนึ่งจึงได้อาสา ฯพณฯ ม.ล. ปิ่น ไปสอบถามที่มาจากวงดุริยางค์กองทัพบก โดยได้รับคำตอบว่าได้บทประพันธ์นี้มาจากเศษกระดาษวารสาร “สามมุข” เมื่อสอบถามต่อไปยังบรรณาธิการวารสารสามมุข ได้รับคำตอบว่าจำที่มาหรือชื่อผู้ที่ส่งมาให้ไม่ได้เพราะนานเหลือเกิน

เพลง “เมืองกังวล” เป็นที่รู้จักมากขึ้นเมื่อหน่วยงานราชการหลายหน่วยงานนำมาบรรเลงเพื่อถวายเป็นราชสดุดี ในกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่น ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๗ กรมพลศึกษานำเพลงนี้มาบรรเลงในวันลูกเสือแห่งชาติ ถ่ายทอดออกอากาศทั้งวิทยุและโทรทัศน์ไปทั่วประเทศ หรือวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน อันเป็นวันคล้ายวันเสด็จสวรรคต กรมประชาสัมพันธ์ และจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยก็ถวายราชสดุดีด้วยเพลงนี้เช่นเดียวกัน เลยยิ่งทำให้ความเชื่อว่าเป็นพระราชนิพนธ์ได้หยั่งรากฝังลึกลงทุกที โดยเฉพาะกรมประชาสัมพันธ์ได้เชิญ ฯพณฯ ม.ล. ปิ่น ไปบันทึกเสียงสัมภาษณ์สดุดีสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า พอเสร็จการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ก็ถวายราชสดุดีด้วยเพลงนี้อีก

จวบจนกระทั่งวันหนึ่ง ฯพณฯ ม.ล. ปิ่น มาลากุล ได้บ่นเปรย ๆ ขึ้นมา ผู้ที่ได้ยินเข้าจึงกราบเรียนว่ารู้จักผู้ที่แต่งกลอนบทนี้ คือ

คุณ ถนอม อัครเศรณี

และได้นำหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๒๗ ให้ ฯพณฯ อ่าน ได้ความว่าคุณถนอมประพันธ์กลอนบทนี้ให้โรงเรียนประจำอำเภอบ้านโป่ง (ราว พ.ศ. ๒๔๙๒) แรกนั้นตั้งชื่อว่า “หัวใจเมือง” ใช้นามปากกา “อัครรักษ์”

หลายปีต่อมา คุณสง่า อารัมภีร์ คงมีความประทับใจคำประพันธ์บทนี้เป็นพิเศษ จึงประพันธ์ทำนองเพลงเพื่อส่งเข้าประกวดในงานวชิราวุธานุสรณ์ โดยได้เปลี่ยนชื่อเสียใหม่ว่า “เมืองกังวล” ยังดีที่คุณสง่า เกิดกังวลสมชื่อเพลง จึงได้โทรศัพท์สอบถามคุณถนอมว่าเป็นพระราชนิพนธ์หรือไม่ คุณถนอมได้ตอบคุณสง่าว่า “เป็นบทกลอนของผมเอง” คุณสง่าจึงไม่ส่งเพลงนี้เข้าประกวดเนื่องจากผิดกติกา

ปัญหาสุดท้ายที่ ฯพณฯ ศาสตราจารย์ ม.ล. ปิ่น มาลากุล ยังติดใจสงสัยอยู่ก็คือใครหนอเป็นผู้นำเพลงที่ไม่ได้ส่งเข้าประกวดไปเผยแพร่

อาจมีผู้อ่านจำนวนมากมีความเคลือบแคลงสงสัยข้อมูลที่ ม.ล. ปิ่น มาลากุล เขียนมา ผมจึงขอเรียนให้ทราบว่า ม.ล. ปิ่น มาลากุล เคยถวายงานเป็นมหาดเล็กรับใช้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างใกล้ชิดมาก่อน จนได้สัมผัสต้นฉบับลายพระหัตถ์ของล้นเกล้าฯ มามากมาย มีเรื่องเล่าว่าครั้งหนึ่งสมัยเด็ก ม.ล. ปิ่น เคยลืมงานต้นฉบับของล้นเกล้าฯ ไว้บนรถเมล์ ยังดีที่ไม่สูญหายไปไหน สามารถติดตามนำกลับคืนมาได้ นี่ย่อมแสดงให้เห็นว่า ม.ล. ปิ่น ต้องรู้จักงานพระราชนิพนธ์ของพระองค์ท่านไม่น้อยเลย ทั้ง ม.ล.ปิ่น ยังมีความจงรักภักดีต่อพระองค์ท่านเป็นอย่างมาก ดังนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่ ม.ล.ปิ่น จะกล้ากล่าวบิดเบือนข้อเท็จจริงหากเป็นพระราชนิพนธ์จริง

ประการต่อมา ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ เสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ แต่กลอนบทนี้ประพันธ์ขึ้นเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๙๒ หลังปีเสด็จสวรรคตถึง ๒๔ ปี แล้วจะเป็นงานพระราชนิพนธ์อย่างไรได้ ในเมื่อผู้ทรงนิพนธ์ได้เสด็จสวรรคตไปแล้ว

ความเข้าใจผิดนั้นเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนย่อมมีกันได้ หากประเด็นสำคัญอยู่ที่เมื่อเราทราบแล้วว่าเราเข้าใจผิด เราควรยินดีที่จะแก้ไขความเข้าใจผิดนั้นให้ถูกต้อง ผมเองไม่ได้เป็นผู้วิเศษมาจากไหน เพราะเข้าใจผิดมาก่อนเช่นเดียวกัน แต่เมื่อเข้าใจผิดและทราบความจริงแล้ว ผมจะไม่ดันทุรังต่อไปเพียงเพื่อ

“รักษาความเชื่อที่ฉันเคยเชื่อมา”

ถ้าจะถามว่าแล้วไฉนคุณถนอมจึงประพันธ์ว่า “พระมหาธีรราชเจ้าจอมปรัชญา ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่าน่ากังวล” ข้อนี้ไม่แปลกเพราะงานพระราชนิพนธ์ของพระองค์ท่านหลายชิ้น ได้กล่าวถึงความสำคัญของสิ่งเหล่านี้ไว้เช่นเดียวกัน การที่คุณถนอมจะนำเอาแนวคิดเหล่านั้นมาแต่ง โดยบอกว่าพระองค์ท่านทรงนิพนธ์ไว้ว่าน่ากังวลจึงเป็นอันไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด

ผมเชื่ออย่างเหลือเกินว่าการชี้แจงข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ไม่ได้เป็นการลดพระเกียรติยศของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่อย่างใด แต่การที่กล่าวผิดยกเอางานของผู้อื่นมาเป็นพระราชนิพนธ์ของพระองค์นั้นย่อมเป็นการไม่สมควร พอ ๆ กับการที่หากผมแต่งกลอนสักบทแล้วใครนำไปป่าวว่าเป็นพระราชนิพนธ์ ผมคงรู้สึกคัน ๆ บน “ลอมปอมกระหม่อมบาง” ของผม เพราะไม่รู้ว่าขี้กลากจะขึ้นหัวผมไปแล้วหรือยัง


ฌานิศ วงศ์สุวรรณ

ขอยกความดีทั้งหมดแด่

ฯพณฯ ศาสตราจารย์ ม.ล. ปิ่น มาลากุล
ร.ศ. กัญญรัตน์ เวชชศาสตร์
คุณวรชาติ มีชูบท เจ้าหน้าที่ประจำหอวชิราวุธานุสรณ์


ที่มา : พระมหาธีรราชเจ้าจอมปรัชญา ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่าน่ากังวล ? : พระองค์ทรงนิพนธ์ จริงหรือ ?


**********


จดหมายชี้แจงของ "ถนอม อัครเศรณี"
ผู้ประพันธ์ที่แทบถูกลืม!



เลขที่ ๓๐๓ แยกซอยเริงนิมิต
สุขุมวิท ๙๓ บางจาก พระโขนง
กรุงเทพมหานคร


"อิงอร" เพื่อนรัก

ผมติดตามผลงาน "พระอาทิตย์ชิงดวง" ของเพื่อนฝูงในสยามรัฐอยู่เสมอ ขอชมเชยในฝีมือและความขยันขันแข็ง ส่วนผมผลงานลดน้อยลงไปกว่าเก่ามาก ทั้งนี้เนื่องจากสุขภาพร่างกายไม่อำนวย นอกจากนั้นบางระยะยังมีเหตุการณ์อันไม่คาดคิดเกิดขึ้น ทำให้จิตใจไม่สบาย กลุ้มกังวลอยู่ไม่สร่างหายอีกด้วย ดังผมจะเล่าให้เพื่อนฝูงฟังต่อไปนี้

ในระยะที่ผมเริ่มต้นไปคลุกคลีกับเพื่อนๆ ที่ นสพ.ประชาธิปไตย ถนนบำรุงเมือง ราว พ.ศ. ๒๔๙๒ ได้มีพรรคพวกจากอำเภอบ้านดป่ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งผมกับเพื่อนๆ ไปเที่ยวตอนสุดสัปดาห์เป็นครั้งคราวจนคุ้นเคยกัน ได้มาติดต่อผมและอุทธรณ์ พลกุล ให้ช่วยเขียนเรื่องให้คนละเรื่อง เขาจะนำไปลงพิมพ์ในหนังสือของโรงเรียนประจำอำเภอ ผมก็เขียนบทกลอนเรื่อง "หัวใจเมือง" โดยใช้นามปากกา "อัครรักษ์" ให้ไป ส่วนอุทธรณ์เขียนเรื่องอะไรให้ไปผมจำไม่ได้

บทกลอนที่ผมแต่งนั้นมีเนื้อความว่าดังนี้


หัวใจเมือง

กลอน ๖

เมืองใดไม่มีทหารหาญ เมืองนั้นไม่นานเป็นข้า
เมืองใดไร้จอมพารา เมืองนั้นไม่ช้าอับจน

เมืองใดไม่มีพณิชเลิศ เมืองนั้นย่อมเกิดขัดสน
เมืองใดไร้ศิลป์โสภณ เมืองนั้นไม่พ้นเสื่อมทราม

เมืองใดไม่มีกวีแก้ว เมืองนั้นไม่แคล้วคนหยาม
เมืองใดไร้นารีงาม เมืองนั้นสิ้นความภูมิใจ

เมืองใดไม่มีดนตรีเลิศ เมืองนั้นไม่เพริศพิสมัย
เมืองใดไร้ธรรมอำไพ เมืองนั้นบรรลัยแน่เอย


ยังจำได้ว่าขณะที่ผมกำลังแต่งบทกลอนเรื่องนี้ได้ครึ่งๆ กลางๆ ชั้น แสงเพ็ญ เพื่อนซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับผมมากที่สุดทั้งที่บ้านและที่ทำงาน ได้ฟังผมอ่านต้นร่าง "หัวใจเมือง" ให้ฟังได้ถามผมขึ้นว่า "เมืองใดไม่มีกวีแก้ว กวีแก้วหมายความยังไง?"

"กวีแก้ว หมายความถึงรัตนกวี" ผมตอบแล้วอธิบายต่อ "ที่เราเคยแต่ง "โอ้! รัตนกวี" ไว้อาลัยท่าน "น.ม.ส." ในหนังสือ "เอกชน" ไงล่ะ "โอ้! รัตนกวี เกียรติคือแสงสี เฉกมณีพรายพรรณ เป็นเทียนธานินทร์ เป็นปิ่นสุบรรณ เป็นมิ่งทรงธรรม์ เป็นขวัญประชาฯ..."

"เข้าใจแล้ว" เพื่อนรักของผมรีบบอก "เรานึกว่าหมายถึงกวีซึ่งเป็นคู่กับแก้วเหล้าเสียอีก"

"ไอ้นั่นรู้ๆ กันอยู่แล้ว ไม่ต้องพูดถึงก็ได้" ผมชิงตัดบท

ต่อมาอีกไม่นานนัก ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดงานนิทรรศการเกี่ยวกับหนังสือและผลงานของนักเขียน ผมได้รับการติดต่อให้ส่งผลงานด้วย ๑ ชิ้น โดยขอให้เขียนด้วยลายมือของตนเอง

ผมเห็นว่าบทกลอนเรื่อง "หัวใจเมือง" ที่ส่งไปลงพิมพ์ในหนังสือของ ร.ร.ประจำอำเภอบ้านโป่งนั้น ยังไม่เป็นที่แพร่หลายพอ และอีกอย่างบทกลอนเรื่องนี้ก็สั้นๆ ดีไม่ต้องเขียนมาก จึงลงมือเขียนส่งให้ผู้ที่มาติดต่อไปตามคำขอโดยใช้นามปากกาเดิม

ครั้นปี ๒๔๙๓ สอาด ฉายะยันตร์ ได้เป็นตัวตั้งตัวตีรวบรวมเงินทุนจากพวกเราชาว นสพ.ประชาธิปไตยและมิตรสหายใกล้ชิด จัดออกหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ "เจ้าพระยา" โดยมีผมเป็นบรรณาธิการ รัตน์ ศรีเพ็ญ และวิมล พลกุล เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ ทองเติม เสมรสุต เป็นฝ่ายศิลป์เขียนอักษรหัวหนังสือ "เจ้าพระยา" หัวชื่อคอลัมน์ ชื่อเรื่องและนามปากกาพร้อมเสร็จอย่างสวยงาม

ในคอลัมน์ "ภาษาสวรรค์" ของ "เจ้าพระยา" รายสัปดาห์นี้เอง ได้มีบทกลอนเรื่อง "หัวใจเมือง" โดย "อัครรักษ์" ลงพิมพ์ในฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๓

และต่อมาอีก "หัวใจเมือง" ได้ลงพิมพ์ใน นสพ.สายกลาง หรือ นสพ.อะไรไม่แน่ใจ เพราะเด็กผู้ตัดบทกวีของผมปิดสมุด ตัดแต่เพียงบทกลอน ส่วนชื่อ นสพ.และวันเดือนปีไม่ได้ตัดปิดไว้ด้วย คราวนี้ใช้ชื่อจริง-ถนอม อัครเศรณี

ขอเล่าย้อนถึงเหตุการณ์ใน พ.ศ. ๒๔๙๑-๒๔๙๒-๒๔๙๓ เพื่อให้เรื่องเชื่อมกัน ผมกับชั้น แสงเพ็ญ ได้ใช้เวลาว่างจากงาน นสพ.ประชาสาร ตอนเย็นๆ และวันเสาร์-อาทิตย์ ไปช่วยอำนวย กลัสนิมิ หรือ "เนรมิต" เพื่อนรักของผม ซึ่งเป็นผู้กำกับการแสดงละครคณะ "ศิวารมย์" ที่มีชื่อเสียงลือลั่นมากในสมัยนั้น ทำให้ผมได้รู้จักกับคุณครูทวี ณ บางช้าง หรือ "มารุต" คุณสง่า อารัมภีร หรือ "แจ๋ว วรจักร" ซึ่งต่อมาผมเรียกว่า "อาว์แจ๋ว" และสง่า อารัมภีร ก็เรียกผมว่า "อาว์หนอม" เพื่อไม่ให้น้อยหน้ากัน

เราติดต่อใกล้ชิดสนิทสนมกันมาก ดื่มกินแล้วรักกัน รักกันแล้วดื่มกินเป็นนิจศีลที่โรงละครเฉลิมนครและที่บ้านวรจักร ต่อมายังไปถ่ายทำหนังเรื่อง "พันท้ายนรสิงห์" และเรื่อง "น้ำลึก" แถวชายทะเลด้วยกันอีกหลายครั้ง ในช่วงเวลา ๒-๓ ปีนี้เองผมได้ทยอยมอบบทกวีให้ "อาว์แจ๋ว" ในฐานะหัวหน้าวงดนตรี ไปแต่งทำนองเพลง ๓-๔ ชิ้น เช่น อกฟ้าอกเรียม, เสียงจากอเวจี, ความรักมิใช่แบบเรียนไว, และสุดท้าย "หัวใจเมือง"

เฉพาะ ๒ ชื่อหลังอาว์แจ๋วไม่มีโอกาสได้ใส่ทำนองเพลงจนแล้วจนเล่า ระยะต่อมางานการทำให้เราต้องเหินห่างกัน ครั้น พ.ศ. ๒๔๙๔ ผมจัดพิมพ์หนังสือภาษาสวรรค์ และบทนำแห่งชีวิต โดยถนอม อัครเศรณี และอัครรักษ์ แจกในงานฌาปนกิจศพคุณแม่ของผมในวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๔๙๔ ผมได้บรรจุบทกลอน "หัวใจเมือง" ไว้ในหนังสือเล่มนี้อีกด้วย และทั้งหมดผมได้ถ่ายสำเนาแนบมาให้ดูด้วยแล้ว

กาลเวลาผ่านพ้นไปจนถึงปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๒ หรือ ๑๐ ปีให้หลัง สอาด ฉายะยันตร์ และวิมล พลกุล แห่ง นสพ.เสียงอ่างทอง ได้ไปตามผมจากบ้านบางจาก พระโขนง ให้มาร่วมงานด้วย โดยให้ผมควบคุมหน้าสตรีและคอลัมน์ "วิจารณ์บันเทิง" ในหน้าสตรีผมได้เปิดสนามบทกลอน "ประกายเพชร" และต่อมาได้สลับด้วย "เกล็ดดาว" สัปดาห์ละ ๒ ครั้งอีกด้วย มีนักกลอนฝีปากดีๆ เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

อีกทั้งทุกๆ วาระที่เป็นวันสำคัญประจำปี เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันจักรี วันเฉลิมพระชนมพรรษา เป็นต้น ผมได้รับมอบหมายให้แต่งคำฉันท์ กาพย์ โคลง กลอน โดยใช้นามจริงลงพิมพ์ในหน้าแรกโดยสม่ำเสมออีกอย่าง ทำให้ผลงานในด้านแต่งบทกวีและควบคุมคอลัมน์ประกายเพชร เกล็ดดาว ขยายกว้างไกลไปไม่น้อย

ต่อมา นสพ.เสียงอ่างทองได้เปลี่ยนใช้ชื่อเป็น นสพ.ไทยรัฐ และต่อมาอีก ๒-๓ ปีผมได้รับการแต่งตั้งให้เป็น กรรมการที่ปรึกษาแทนการควบคุมหน้าสตรี ระยะหลังๆ นี้นานๆ ผมจะได้พบกับอาว์แจ๋วสักครั้ง และไม่มีโอกาสได้ร่วมวงกันเลยก็ว่าได้

ครั้นมาใกล้ๆ กับกำหนดวันงานวชิราวุธานุสรณ์ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๑๒ หรือ ๒๕๑๑ ก็เลือนๆ ไปเสียแล้ว บ่ายวันหนึ่งขณะที่ผมกำลังนั่งทำงานอยู่ในห้องพร้อมกับพรรคพวก ผมก็ได้รับโทรศัพท์จากสุภาพบุรุษท่านหนึ่ง แจ้งว่าโทร.มาจากคณะกรรมการประกวดบทเพลงสดุดีสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าในวันงานวชิราวุธานุสรณ์

"มีอะไรหรือครับ" ผมถาม

"ผมขอรบกวนเรียนถามหน่อยครับ บทกลอนที่ว่า--เมืองใดไม่มีทหาร เมืองนั้นไม่นานเป็นข้า เมืองใดไร้จอมพารา เมืองนั้นไม่ช้าอับจน--เป็นบทพระราชนิพนธ์ในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ หรือเปล่าครับ?" เสียงนั้นสอบถามผมมา

"ไม่ใช่ครับ เป็นบทกลอนของผมเอง" ผมตอบอย่างเน้นหนัก "ทำไมหรือครับ"

"ถ้าเช่นนั้นเพลงที่คุณสง่า อารัมภีร แต่งไม่มีสิทธิ์ส่งเข้าประกวดซีครับ" เสียงท่านผู้นั้นชี้แจงมา "เพราะเพลงที่ส่งเข้าประกวด คำร้องต้องเป็นบทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๖ ครับ"

"หรือครับ ผมขอยืนยันอีกครั้งว่าบทกลอนที่ว่านั้นผมแต่งเอง เคยลงหนังสือพิมพ์มาแล้วหลายฉบับ" ผมอธิบายเพิ่มเติม "ผมมอบให้คุณสง่า อารัมภีร แกแต่งทำนองมาตั้งแต่นมนานแล้ว" แกเพิ่งมาแต่งหรือครับ "เวลามันนานมากเห็นจะสัก ๒๐ ปีได้ คุณสง่าแกคงหลงลืมสับสนเลยจำผิดไป "

"นั่นนะซีครับ ผมก็สงสัยอยู่แล้ว" ท่านผู้นั้นกล่าวเป็นประโยคสุดท้าย "ขอบคุณมากครับ คุณถนอมครับ"

พอพบกับอาว์แจ๋ว ผมได้เล่าเรื่องที่ว่าให้ฟัง อาว์แจ๋วก็ไม่ได้พูดว่าอะไร คงจะทราบจากคณะกรรมการแล้ว เป็นแต่ยิ้มๆ กล่าวว่า "จำผิดไป" ผมเองก็ไม่ได้ซักไซ้อาว์แจ๋วว่าบทเพลงที่อาว์แจ๋วแต่งทำนองนั้นมีลีลาเนื้อหาอย่างไรบ้าง เป็นแต่กำชับอาว์แจ๋วว่า "อย่าให้เกิดผิดพลาดได้นะ" อาว์แจ๋วก็รับคำ

ครั้นมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙-๒๕๒๐ เห็นจะได้ อยู่ๆ โดยไม่คาดหมายผมต้องตกใจมาก เพราะได้ยินเพลงนี้ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ และสถานีวิทยุทหารบกลั่นไปหมด ที่ตกใจมากก็คือคำร้องของเพลงนี้ขึ้นต้นว่า สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าทรงพระราชนิพนธ์เป็นคติสอนใจไว้ว่า "เมืองใดไม่มีทหาร เมืองนั้นไม่นานเป็นข้า เมืองใดไร้จอมพารา เมืองนั้นไม่ช้าอับจน..." ดำเนินเนื้อร้องตามบทกลอน "หัวใจเมือง" ของผมเรื่อยมาจนจบวรรคสุดท้าย "เมืองใดไร้ธรรมอำไพ เมืองนั้นบรรลัยแน่เอย"

อิงอรเพื่อนรัก คิดดูเอาเองก็แล้วกันว่า ถ้าเพื่อนฝูงเป็นตัวผมบ้างจะรู้สึกอย่างไร ผมไม่จับไข้ตายก็เป็นบุญแล้ว ผมมิได้นิ่งนอนใจเลย รีบโทรศัพท์ติดต่อแจ้งให้อาว์แจ๋วทราบและขอให้แก้ไขความเข้าใจของประชาชนคนฟังเสียให้ถูกต้อง อาว์แจ๋วก็รับว่าจะเขียนชี้แจงในหนังสือ "ฟ้าเมืองไทย" ให้ พร้อมทั้งปรารภว่าไม่รู้เทปเพลงนี้ไปออกอากาศได้อย่างไร ผมก็บอกให้อาว์แจ๋วทำหนังสือแจ้งให้สถานีโทรทัศน์และสถานีวิทยุแห่งนั้นๆ ทราบความจริงเสียแต่ต้นๆ มือจะเป็นผลมากขึ้น อาว์แจ๋วก็รับคำ

ต่อมาปีแล้วปีเล่าผมก็ยังได้ยินเพลงนี้เป็นครั้งคราว แต่ในระยะหลังๆ มักจะได้ยินเฉพาะคำร้องที่เป็นบทกลอนของผม มาไม่สบายใจหนักก็เมื่อเช้าวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๒๖ ซึ่งเป็นวาระคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ผมได้ยินจากรายการสยามานุสติ ซึ่งประชาชนรับฟังมาก ยกบทกลอนระบุว่า สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าได้ทรงพระราชนิพนธ์เป็นคติเตือนใจไว้ดังนี้ ครั้นแล้วอ่านบทกลอนดังกล่าวของผมตั้งแต่ต้นจนจบ

ผมจึงได้รู้ว่าการแก้ไขความเข้าใจผิดพลาดของมหาชนในเรื่องนี้ อาว์แจ๋วยังทำไม่ได้ผลสมบูรณ์ ผมจึงชวนให้อาว์แจ๋วมาที่บ้านบ้าง โทรศัพท์ติดต่อบ้าง เร่งเร้าให้อาว์แจ๋วจัดการแก้ไขเรื่องนี้เสียให้ได้ผลสมบูรณ์จริงๆ อาว์แจ๋วก็พยายามมิได้มัวนิ่งเฉย มาปี ๒๕๒๗ นี้เห็นจะได้ผลโดยแท้จริง เพราะไม่ได้เห็นหรือได้ยินการระบุผิดพลาดเช่นที่ผ่านมาแล้วอีก จึงต้องขอขอบคุณอาว์แจ๋วไว้ในที่นี้ด้วย

เพื่อนฝูงคิดดูเถิด บทกลอนของผมนั้นเปรียบได้เพียงเศษธุลี เป็นละอองธุลีพระบาทของบทพระราชนิพนธ์ในพระองค์ท่าน เมื่อมีเหตุการณ์ทำให้ประชาชนเกิดความสำคัญผิดพลาดเช่นนี้ ขืนเพิกเฉยต่อไปมิเท่ากับว่าผมปล่อยให้ราคีเกิดแปดเปื้อนแก่บทพระราชนิพนธ์ในพระองค์ท่านด้วยความมิบังควรเช่นนั้นละหรือ?

ช่วยชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจความเป็นจริงโดยถูกต้องด้วยเถิด-"อิงอร" เพื่อนรัก จะเป็นบุญคุณหาที่เปรียบมิได้


รักและสุจริตใจ

ถนอม อัครเศรณี

๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๗


ทำสำเนาจาก :
นสพ.สยามรัฐ ฉบับวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๗


หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

วันอังคารที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

ตรระกะของ "ความพอเพียง"



ตรรกะ (ที่ว่างเปล่า)ของ "ความพอดี"

...วันก่อนมีคนถามว่าทำไมปรัชญาถึงนับเป็นวิชาสายศิลป์ ทั้งๆ ที่ปรัชญาเป็นเรื่องของตรรกะ การให้เหตุผล ซึ่งควรจะเป็นเรื่องของสายวิทย์

...คำตอบหนึ่ง(ในหลายๆ คำตอบที่เป็นไปได้)อาจจะเป็นอย่างนี้ครับ เพราะปรัชญาศึกษาพื้นฐานของตรรกะ ในขณะที่วิทยาศาสตร์นั้นเอาหลักการทางตรรกะไปใช้ (ถ้าตรรกศาสตร์เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ นักวิทยาศาสตร์ก็คงเป็น user ในขณะที่นักปรัชญาเป็น programmer) และตรรกศาสตร์พื้นฐานที่นักปรัชญาศึกษานั้น ก็มีส่วนที่เป็นสายศิลป์อยู่มาก

...สองสาขาของวิชาปรัชญาที่แยกจากกันไม่ออกคือ Philosophy of Logic กับ Philosophy of Language เพราะในการพิจารณาหลักการทางตรรกะ เราจำเป็นต้อง analyse ความหมายของคำ (semantics) และโครงสร้างของภาษา นี่แหละคือส่วนที่ตรรกศาสตร์มาเกี่ยวข้องกับ "ภาษา" ซึ่งเป็นสายศิลป์

...การหาค่าความจริงให้กับประโยคๆ หนึ่งนั้น บ่อยครั้งที่เราต้อง
"ค้นคว้า/สังเกต" ว่าประโยคนั้นเป็นจริงหรือเท็จ และประโยคเหล่านี้คือสิ่งที่วิทยาศาสตร์สนใจ แต่ก็มีประโยคบางประเภท ที่เราสามารถรู้ได้เลยว่าเป็นจริงหรือเท็จโดยไม่จำเป็นต้องสังเกต เช่นประโยคที่ว่า "หมวกดำ ย่อมไม่ขาว" (จริง) หรือ "กระต่าย 2 ตัว มากกว่า กระต่าย 2 ตัว" (เท็จ) เป็นต้น ประโยคเหล่านี้วิทยาศาสตร์ไม่สนใจ เพราะเป็นเพียง tautology (สัจนิรันดร์) ซึ่งไม่ได้ทำให้เรารู้อะไรเกี่ยวกับโลกมากขึ้นเลย ("หมวกดำย่อมไม่ขาว" ...so what?)

...ประโยคที่เป็น "เป็นจริง แต่ไม่ได้ให้ความรู้อะไรเลย" นั้น ส่วนใหญ่เป็นประโยคที่ "เป็นจริงโดยนิยาม" เช่น "ชายโสดคนนั้น ยังไม่แต่งงาน" แน่นอนว่าประโยคนี้เป็นจริงแต่มันเป็นจริงเพียงเพราะว่า "ชายโสด" นั้นย่อมยังไม่แต่งงานโดยนิยาม ประโยคนี้จึงเป็นประโยคที่ไร้ค่า และไม่มีเหตุผลที่จะต้องพูดเพราะเป็นประโยคที่ว่างเปล่า ไม่ได้ทำให้เกิดความรู้ใหม่อะไรเลย


...ทีนี้ลองดูประโยคนี้ครับ "เราทุกคนควรทำดี"

ปกติอะไรก็ตามที่เราบอกว่า "ควรทำ" สิ่งนั้นย่อมเป็นสิ่งที่เรา(ผู้พูด)คิดว่าเป็นสิ่งที่ "ดี" ดังนั้น ประโยคที่ว่า "เราทุกคนควรทำดี" จึงอาจเอามา analyse ได้ว่า "การทำดี เป็นสิ่งที่ดี" แน่นอนว่าประโยคนี้เป็นจริงแต่เป็นจริงเพียงเพราะว่า "การทำดี" ย่อมเป็นสิ่งที่ดีโดยนิยามอยู่แล้ว ดังนั้นจะเห็นได้ว่าประโยค "เราทุกคนควรทำดี" นั้นไม่มีประโยชน์ที่จะพูด เพราะไม่ได้ให้ความรู้อะไรใหม่

...ที่นี้ มาถึงประโยคยอดฮิตแห่ง พ.ศ.ที่ผ่านมา


"เราทุกคนควรใช้ชีวิตอย่าง

พอเหมาะพอดี ไม่มากไป ไม่น้อยไป"


ลอง analyse ประโยคนี้กันดูครับ

...เช่นเดียวกับตัวอย่างที่แล้ว เมื่อ analyse ประโยคนี้จะได้ว่า "การใช้ชีวิตอย่างพอเหมาะพอดี ไม่มากไป ไม่น้อยไป นั้นเป็นสิ่งที่ดี" คงสังเกตได้นะครับว่า อะไรที่ "พอเหมาะพอดี" นั้น ย่อมเป็นสิ่งดีโดยนิยาม และในทางตรงกันข้าม อะไรที่ "มากไป" หรือ "น้อยไป" นั้นก็ย่อม "ไม่ดี" โดยนิยามดังนั้น "เราทุกคนควรใช้ชีวิตอย่างพอเหมาะพอดี ไม่มากไป ไม่น้อยไป" จึงไม่ได้บอกอะไรมากไปกว่า "ชายโสด ยังไม่แต่งงาน"


...ถ้าจะทำให้ประโยคนี้มีความหมาย ไม่ว่างเปล่า ผู้พูดต้องนิยามความหมายของ "การใช้ชีวิตอย่างพอเหมาะพอดี ไม่มากไป ไม่น้อยไป" ให้ชัดเจน และให้มีความหมายมากกว่าเพียง "การใช้ชีวิตที่ดี" เพื่อหลีกเลี่ยงข้อกล่าวหาของนักตรรกศาสตร์(ซึ่งก็กล่าวหาได้ถูกต้อง)ว่าคำพูดนี้ เป็นคำพูดที่เป็นจริง แต่ครอบจักรวาลและว่างเปล่า

...ตัวอย่างเช่น ถ้าผู้พูดนิยาม "การใช้ชีวิตอย่างพอดี" ว่า "การใช้จ่ายให้อยู่ในขอบเขต 30-70% ของรายได้ต่อเดือน" อย่างนี้ประโยคที่ว่า "การใช้ชีวิตอย่างพอดี เป็นสิ่งที่ดี" ก็จะไม่ว่างเปล่าอีกต่อไป แต่จะเป็นเท็จแทน เพราะย่อมมีผู้ที่สามารถแสดงให้เห็นได้ว่าในหลายๆ กรณี การใช้จ่ายอยู่ในขอบเขต 30-70% ของรายได้ทุกเดือนนั้น เป็นสิ่งไม่ดี
(เช่น บางช่วงของชีวิตบางคน การใช้จ่ายให้มากกว่า 70% หรือน้อยกว่า 30% อาจทำให้เกิดผลดีมากกว่า)


...ความจริงที่ผู้ที่ชอบพูดคำว่า "ความพอเพียง" อยู่เสมอนั้นไม่เคยให้นิยามมันอย่างชัดเจน อาจเป็นเพราะ

1.
ผู้พูดไม่รู้ว่าประโยคนี้ว่างเปล่า และคิดว่าเป็นประโยคที่ชาญฉลาด
เป็นจริง และมีความหมาย

2.
ผู้พูดต้องการรักษาค่าความจริงของประโยคให้เป็น "จริง แต่ว่างเปล่า"
ดีกว่า "ไม่ว่างเปล่า แต่เท็จ"


...คนที่เชื่อใน "ความพอเพียง" ส่วนใหญ่นั้นจัดอยู่ในกรณีที่ 1 แต่ก็มีคนจำนวนหนึ่งที่จัดอยู่ในกรณีที่ 2คนกลุ่มแรกนั้นโง่เขลา ส่วนคนกลุ่มที่สองนั้นใช้คำว่า "พอเพียง" มาหาประโยชน์จากคนกลุ่มแรก


ถ้า Karl Popper และ A.J. Ayer ยังมีชีวิตอยู่ คงหงุดหงิดกับคำว่า

"พอเพียง"


Prach



ที่มา : บอร์ด "ฟ้าเดียวกัน" : "ตรระกะของ ความพอเพียง", ถ้า Karl Popper และ A.J. Ayer ยังมีชีวิตอยู่ คงหงุดหงิดกับคำว่า...


หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

วันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

22 กรกฎา 2550 นักวิชาการ 145 คนวันนี้ เอาหัวไปมุดอยู่ที่รูไหน?


ผมเอง ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมที่สี่เสา ข้ามคืน
แต่นั่นเป็นการไม่เห็นด้วยในแง่ยุทธวิธี

แ่ต่ผมไม่เคยสงสัยเลยว่า
การใช้กำลังตำรวจเข้าปราบผู้ชุมนุม เป็นเรื่องผิดแน่นอน


แต่ปีกลาย นักวิชาการ 145 คนที่วันนี้ ตัวสั่น เป็นเดือดเป็นร้อน เรื่องอุดร

ไม่ทราบเอาหัวไปมุดอยู่ที่ไหน?

ไหนแถลงการณ์ประณาม การใช้กำลังของพวกที่ปกป้องเปรม?


อย่าอ้างอย่างโง่ๆเลยว่า ที่ออกแถลงการณ์วันนี้ เป็นการออก แบบ
"ไม่เข้าฝ่ายใด" หรือ แบบ "กลาง"
(มีทั้งผู้เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล)

ตัวการออกแถลงการณ์

ในบริบท ของการ
ไม่ออก แถลงการณ์ เมื่อ 22 กรกฎา 50,
ไม่ออกแถลงการณ์เมื่อ 19 กันยา 49 นั่นแหละ

เป็นปัญหา

่และจนบัดนี้

ไหน? แถลงการณ์เรียกร้อง ให้นำคนผิดที่ทำรัฐประหาร 19 กันยา
(โทษกบฎ ประหารชีวิต)

มาลงโทษให้ได้?

(ไม่ต้องถึงกับประหารชีวิตหรอก ผม against โทษประหารโดยส่วนตัว เอาแค่ เรียกร้องให้จับมาลงโทษให้ได้)

ไหน แถลงการณ์แบบนี้?


สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล


ที่มา : บอร์ด "ฟ้าเดียวกัน" : 22 กรกฎา 2550 นักวิชาการ 145 คนวันนี้ เอาหัวไปมุดอยู่ที่รูไหน?


อ่านเพิ่มเติม :

145 นักวิชาการออกแถลงการณ์ประณามกรณีปะทะที่อุดรธานี


ข้อคิดเห็นในเรื่องเดียวกัน บนบอร์ด "ฟ้าเดียวกัน" :
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

- แถลงการณ์ประณาม 145 นักวิชาการ ที่ออกแถลงการณ์กรณีอุดรวันนี้

- จดหมายเปิดผนึกถึง "แซม" (อ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล), ขอผมร่วมลงชื่อด้วยคนได้ไหม ว่าแต่ว่า....

- ผมเสนอว่ามารณรงค์ให้คนอย่าทำผิดกฎหมายโน่นนี่ให้เสียเวลาเลย, ทำผิดใหญ่ๆแม่งเลย กบฎรัฐประหาร ล้ม รธน.เลย ไม่ต้องถูกฟ้องศาล ไม่ต้องถู (ประชดส่งๆอย่าถือเป็นจริงเป็นจัง)


*การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

อุทาหรณ์ของ " คนขี่เสือ "



" เขาได้ขึ้นควบขับความเท็จไป
เสมือนหนึ่งว่ามันคือเสือ

ซึ่งเขาไม่สามารถจะลงมาจากหลังของมันได้
เพราะเสือก็จะตะครุบตัวเขากินเสีย "


รรณกรรมเรื่อง "He Who Rides a Tiger" หรือ "คนขี่เสือ" ของ Bhabani Bhattacharya นั้นเป็นเรื่องที่สะท้อนถึงอินเดียในยุคที่เกิดความอดอยาก ผู้คนหิวโหยและล้มตายเป็นอันมาก ในภาวะดังกล่าวนายทุนได้กักตุนข้าวสารและสร้างความร่ำรวยท่ามกลางความทุกข์ยากของเพื่อนร่วมชาติ สินค้ามีราคาแพงขึ้นเรื่อย ๆ ผู้คนต่างพยายามต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอด

"คนขี่เสือ" เป็นเรื่องราวของตัวละครเอก ๒ ตัว คือ "กาโล"ผู้เป็นพ่อซึ่งเป็นช่างตีเหล็ก และ"จันทรเลขา"ลูกสาวซึ่งอยู่ในชนชั้น"กมาร" (kamar) ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งของวรรณะศูทร สองพ่อลูกได้ต่อสู้กับปัญหาของความอดอยาก วรรณะ และความเชื่อศาสนาอย่างถึงแก่น โดยปลอมแปลงวรรณะของตนเองจากวรรณะศูทรเป็นวรรณะพราหมณ์ และได้สร้างปาฏิหาริย์โดยการเอาหินที่มีขนาดพอเหมาะสำหรับแกะสลักเป็นพระศิวะ โดยทำให้กลวงแล้วเอาไปเผาไฟเพื่อให้ดูเก่า แล้วขุดหลุม

จากนั้นก็เอากระป๋องเปล่าที่มีขนาดและรูปร่างพอดีกันฝังลงไปแล้วเท
"ถั่วจนา" ซึ่งเป็นถั่วชนิดหนึ่งที่งอกเร็วเป็นพิเศษ ใส่ลงไปข้างใน หลังจากนั้นได้เอาหินรูปพระศิวะวางลงบนกองถั่ว เว้นช่องระหว่างหินไว้เพื่อให้ถั่วงอกขึ้นมาโดยเอาดินร่วนใส่ข้างบน เมื่อรดน้ำลงไปถั่วก็งอกพร้อม ๆ กัน ถั่ว ที่งอกก็จะดันดินให้หินรูปจำลองพระศิวะโผล่ขึ้นมาทีละเล็กละน้อย ๆ ผู้คนพากันหลงเชื่อว่าเกิดปาฏิหาริย์ขึ้น ลาภสักการะก็ไหลมาเทมาสู่สองพ่อลูก

แต่สองพ่อลูกก็ต้องเผชิญกับภาวะทุกข์ระทมจากลาภสักการะที่ได้มาจากความเท็จ เพราะไม่รู้ว่าเมื่อใดความจริงที่ปกปิดเอาไว้จะถูกเปิดเผยออกมา จึงเสมือนหนึ่งการขึ้นหลังเสือ จะลงก็ลงไม่ได้ เพราะจะถูกเสือกัด แต่ในที่สุดเขาก็กระทำการเสมือนหนึ่งการ "ฆ่าเสือ" เสียให้ตายก่อนที่ตนเองจะถูกเสือกัด โดยการประกาศต่อหน้าคนที่มากราบไหว้สักการบูชา ที่มีทั้งคนในวรรณะพราหมณ์และคนชั้นสูง ตลอดจนนายทุนที่ขูดรีดเลือดเนื้อคนจนทั้งหลายว่า แท้จริงแล้วตนเองไม่ใช่ "พราหมณ์" พร้อมทั้งประกาศเยาะเย้ย ต่อพวกที่หลงบูชาหรือเลื่อมใสพิธีกรรมจอมปลอมที่ตนเองได้สร้างขึ้นมา

และจากวรรณกรรมชิ้นนี้เอง คนขี่เสือก็เลยเป็นที่มาของสำนวนที่หมายถึงคนที่อยู่กับความเท็จแล้วลงจากหลังเสือไม่ได้ ลงมาก็จะถูกเสือกัด ขี่ต่อไปก็ทุกข์ทรมาน นอกเสียจากว่า จะฆ่าเสือให้ตายดังเช่น กาโล ในเรื่องคนขี่เสือนี้เสียก่อน

"คนขี่เสือ" นอกจากจะให้ข้อคิดในเรื่องของการก้าวลงจากบัลลังก์แห่งอำนาจกลับสู่สามัญที่เป็นจริงแล้ว ยังให้ข้อคิดที่ว่า สองพ่อลูกนี้แต่เดิมเคยถูกทุบตี กลั่นแกล้ง แต่เมื่อปลอมตัวขึ้นมาหรือว่ามีอำนาจขึ้นมา ก็มีแต่คนมาสยบยอมเพียงเพราะการขยับวรรณะแบบปลอม ๆ


ชำนาญ จันทร์เรือง


หมายเหตุ
บทความเรื่องนี้เป็น ๑ ใน ๓ เรื่องที่ถูกรวมไว้ใน บทความชุด
"ละเมิดอำนาจศาล กฎหมายมหาชน และคนขี่เสือ" ตามที่มา ที่อ้างถึง (เจ้าน้อย..)

ที่มา : มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : ละเมิดอำนาจศาล กฎหมายมหาชน และคนขี่เสือ


*การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

วันอาทิตย์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

ไพร่ปฎิวัติ !


บางคนเชื่อว่า การปฏิวัติภาคประชาชนจะไม่มีทางเกิดขึ้น เพราะประชาชนไม่มีผู้นำที่เข็มแข็ง เหมือนที่ กลุ่มพันธมิตรมีแกนนำที่เข็มแข็ง

แต่ผมเชื่อมั่นใน "ทฤษฎีปฏิวัติประชาชน" ที่ หากสถานการณ์เหมาะสม ผู้นำตามธรรมชาติจะเกิดขึ้นเอง อาจไม่ใช่ ผู้นำเดี่ยว แต่จะเป็นกลุ่มๆ ไป แต่ละกลุ่มจะพัฒนาแกนนำของตนขึ้น และเมื่อสถานการณ์สับสนมายิ่งขึ้น ส่งเสริมด้วยระบบข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็วในยุคปัจจุบัน สุดท้ายแกนนำของกลุ่มต่างๆ จะพัฒนาและเชื่อมโยงเครือข่ายกัน กลายเป็น

"ตาข่ายอันมหึมา"

ที่ทรงพลัง และผมเชื่อว่าแกนนำแบบนี้จะไม่มีใครควบคุมได้ ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชาชนก็ตาม

กรณีม็อบต่อต้านพันธมิตรที่อุดร หรือที่บุรีรัมย์ เชียงใหม่ หรือกลุ่มคนวันเสาร์ที่ กทม. ผมว่าสุดท้ายคนเหล่านี้จะเชื่อมโยงเข้าถึงกันกลายเป็นเครือข่ายของ "พลังมวลชน" ขนาดมหึมา และมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน ซึ่งเทคโนโลยีสมัยนี้ทำได้ไม่ยากนัก ไม่ว่าจะเป็นคลิปวิดิโอ คลิปเสียงคำปราศรัย หรืออื่นๆ หรือแม้แต่วิทยุอินเตอร์เนทเป็นต้น

สุดท้ายพื้นที่อีสาน และภาคเหนือ แนวร่วมต่อต้าน "อำมาตยาธิปไตย"
ก็จะขยายตัวขึ้น และเข็มแข็งมากขึ้น

นับว่าเป็นแนวโน้มที่ดี

ต้อง ขอบคุณ พธม. ครับ ที่ไปปลุกและกระตุ้นยักษ์หลับเหล่านั้นให้ตื่นขึ้นครับ มวลชนที่มีประสบการณ์ต่อสู้ร่วมกัน จะมีจิตวิญญานที่เชื่อมโยงถึงกัน เห็นใจกันมีพลังร่วม สุดท้ายก็จะพัฒนาระบบการจัดตั้งและ เชื่อมโยงเครือข่ายกัน หากพวกชนชั้นนำและ "ศักดินาไทย" ยังคิดว่าประชาชนเหล่านั้นถูกซื้อ และมีท่อน้ำเลี้ยงมาจาก "ทักษิณ" ผมคิดว่า เมื่อพวกเขารู้ตัวก็สายเสียแล้วครับ

ผมว่าประชาชนจำนวนมากตอนนี้ "ก้าวผ่านทักษิณ" ไปแล้ว ผมไม่ได้หมายถึงพวกเขาไม่ได้รักทักษิณ พวกเขายังรักและศรัทธาอยู่ แต่พวกเขาไม่ได้่ต่อสู้เพื่อเรียกร้องให้ทักษิณกลับมา แต่พวกเขาต่อสู้เพื่อเป้าหมายที่ใหญ่กว่านั้นคือ "ต่อสู้เพื่อให้เสียงของพวกเขามีความหมาย" จะเรียกว่า "ระบอบประชาธิปไตย" ก็ได้ แต่ผมไม่คิดว่าชาวบ้านจะมองประเด็นเหล่านี้จากอุดมการณ์ทางการเมือง

แต่ เขามองผ่านผลประโยชน์และประสบการณ์ของตนเอง นั่นคือ พวกเขารู้ว่า "หนึ่งเสียงที่กาบัตรเลือกตั้ง" มีความหมายต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของพวกเขา และเมื่อพวกเขาชนะเลือกตั้ง ผู้ปกครองไม่ว่าใครก็ตาม จะต้องฟังเสียงของพวกเขา

นั่นคืิอ ระบอบประชาธิปไตยภาคปฏิบัติกำลังเกิดขึ้นคือ หากทุกคนปกป้องผลประโยชน์และรักษาสิทธิของตน สุดท้าย การโหวต ย่อมเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะไม่มีใครยอมให้คนอื่นมาละเมิดสิทธิของตนอย่างแน่นอน

ชาวบ้านไม่ต้องการการชี้นำเรื่องประชาธิปไตย บ้าๆ บอๆ จากนักวิชาการที่ไม่เข้าใจสังคม และมุ่งรักษาผลประโยชน์ของชนชั้นตนเท่านั้น

ชาวบ้านเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงครับ

บางคนอาจคิดว่า พวกเราจำเป็นต้องชี้เป้าหมายให้ประชาชนว่า เรากำลังสู้กับใคร ต้องล้มล้างอำมาตยาธิปไตยเท่านั้น..เรื่องต่างๆ จึงจะจบ

แต่ผมเชื่อว่าประชาชนเขาเรียนรู้เองครับว่า พวกเขากำลังต่อสู้กับใคร พวกเขาไม่ได้กลัวแต่อย่างใด เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ต้องทำอะไรมาก แค่ "ออกไปลงคะแนนเลือกตั้ง" ตามสิ่งที่เขาได้เรียนรู้เท่านั้นครับ แค่ชาวบ้าน "กาบัตรเลือกพรรคตรงข้ามกับระบอบอำมาตย์" สุดท้ายพวกนั้นก็แพ้อยู่ดี ไม่ว่าจะทำอย่างไร ไม่ว่าจะดิ้นอย่างไร

เมืองไทยยุคศตวรรษที่ 21 สิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้คือ "การเลือกตั้ง" ครับ ระบอบปกครองที่ผู้ปกครองต้องเข้าสู่อำนาจโดย "การเลือกตั้ง" เป็นระบอบบังคับของโลกยุคปัจจุบัน มันไม่มีทางเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นที่ฝืนกระแสโลกไปได้

ผมไม่ กลัวแนวคิดระบอบ 70/30 เพราะไม่คิดว่า

" ระบอบที่ชั่วร้ายแบบนี้

ระบอบที่แปลกประหลาดนี้ จะดำรงอยู่ได้ในศตวรรษที่ 21 ในโลกยุค "ข้อมูลข่าวสาร" นะัครับ ระบอบแบบนั้นมันคือศตวรรษที่ 19 มันขวางโลก ย้อนหลัง มันย่อมไม่อาจคงทนอยู่ได้ในโลกยุคใหม่นี้ แม้ว่าพวกที่พยายามสถาปนาระบอบแบบนี้ขึ้นมา จะมีบารมีมากมายแค่ไหนก็ตาม เขาไม่สามารถทวนกระแสโลกได้

ไม่ว่าพวกเขาจะพยายามทำอย่างไรก็ตาม หากพวกเขาไม่สามารถเปลี่ยนใจผู้เลือกตั้งได้ สุดท้ายพวกก็ต้องแพ้อยู่ดี จะมาพยายามดำรงอำนาจต่อต้านประชาชนไว้ โดยบีบบังคับทำรัฐประหาร เพื่อร่างรัฐธรรมนูญแบบ 70/30 มันก็ไม่มีทางอยู่ได้อย่างยั่งยืน ระบอบแบบนี้ มันทำได้แต่ไปจุดไฟต่อต้าน เร่งให้มีการ “ปฎิวัติภาคประชาชน” ให้เร็วขึ้นเท่านั้นเอง

ระบอบประชาธิปไตยแบบ "ประชาชนทุกคน (บรรลุนิติภาวะ) มีสิทธิเลือกตั้ง" มันไม่มีพื้นที่ให้ “ศักดินาอำมาตยาธิปไตย” ยืนอยู่ได้ ไม่ว่าจะโฆษณาชวนเชื่ออย่างไรก็ตาม โลกยุคใหม่ ไม่มีพื้นที่ให้คนที่โอ้อวดตนเองว่า “เหนือกว่าผู้อื่น ผู้อื่นควรอยู่ใต้ปกครอง” โลกยุคนี้ เป็นยุคแห่งความเท่าเทียมกัน ไม่มีใครเหนือกว่าใคร จากการเกิด

การที่ประชาชนต่อสู้ เพื่อการเลือกตั้ง หมายความว่า สู้เพื่อสิทธิ์ในความเป็นอธิปไตย ของประชาชนเอง ใช่หรือไม่ สำหรับผมแล้วผมคิดว่าประชาชนไม่ได้มองประชาธิปไตยแบบอุดมการณ์ เพราะมันเป็นอุดมคติมากเกินไป และไม่สอดคล้องกับวิถีการคิดของชาวบ้านที่มักไม่สนใจเรื่องอุดมการณ์ มากกว่าเรื่องปากท้องของเขาเอง

แต่ "สิทธิในการลงคะแนน" พิสูจน์ว่ามันสัมพันธ์กับ "ความกินดีอยู่ดีและปากท้องของชาวบ้าน" และชาวบ้านได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงในทศวรรษ 2540-2550 นี้ครับ

ดังนั้นเมื่อพวกเขาจะโหวตเพื่อรักษาสิทธิของพวกเขา มันก็จะกลายเป็นระบอบประชาธิปไตยไปโดยปริยาย คือระบอบที่ปกครองโดยเสียงข้างมากครับ

บางคนอาจคิดว่า ประชาชนชนชาวรากหญ้าขี้เซาไปหน่อย ต้องใช้เวลาถึง 75 ปี ในการตื่นขึ้นเพื่อรักษาสิทธิของตนเอง แต่ผมคิดว่ามันเป็น "พัฒนาการของสังคม" มากกว่า ในปี 2475 ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็น ชาวนาที่ไม่มีความรู้ ทำเกษตรกรรมตามธรรมชาติ และไม่มีปัีญหาเดือดร้อนเรื่องที่ดินทำกิน ไม่ได้รับการรังแกจากขุนนาง เหมือนในประเทศจีนหรือยุโรป ซึ่งที่ดินเป็นของพวกขุนนางทั้งหมด เราจะหวังให้ชาวบ้านที่เขามีความเป็นอยู่แบบสุขสบาย ให้ลุกขึ้นมาปฏิวัตินั้น มันไม่มีทางเป็นไปได้ ชาวบ้านยุคนั้นเขาไม่ได้เสียสิทธิแต่อย่างใด "ประชาธิปไตย" ก็เป็นเรื่อง "อุดมการณ์" มากเกินไป ไม่เกี่ยวกับปากท้องของชาวบ้าน

ยุคนั้นเรามีประชากรแค่ 10 ล้านกว่าคน ที่ดินทำกินยังมีพอทุกครัวเรือน

แีต่ปี 2550 ประชากรมี 64 ล้านคน มีคนกว่า 8 ล้านที่ตกอยู่ใต้เส้นความยากจน และที่ดินไม่เพียงพอกับทุกครอบครัว การผลิตเป็นแบบตลาด ที่สัมพันธ์กับกลไกตลาด และการบริหารงานของรัฐบาลมีผลต่อความเป็นอยู่ของชาวบ้าน

ปี 2475 กับปี 2551 ประเทศไทยสมัยโน้น กับสมัยนี้ ไม่ใช่ประเทศเดียวกัน ประชาชนก็ไม่ใช่คนเดียวกัน วิุีถีชีวิต และวิถีคิดก็ไม่เหมือนกัน

มันเป็นคนละประเทศ ที่ตั้งอยู่บนแผ่นดินเดียวกันเท่านั้นครับ

ความตื่นตัวทางการเมืองมันจึงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงครับ

ยิ่งกวนน้ำให้ขุ่น ผู้นำตามธรรมชาติก็เกิดขึ้น
สุดท้ายจะเกิดสงครามระหว่างประชาชน

ยิ่งพวกผู้ปกครองที่กำลังเลื่อนหายไปกับประวัติศาสตร์พยายามยื้อ ที่จะดำรงอำนาจของตนไว้ โดยการทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลของประชาชน นั่นเท่ากับเป็นการ กระตุ้นเร่งเร้าให้มีการ
“ปฎิวัติของประชาชน การปฎิวัติของไพร่” เร็วขึ้น


ผมจึงไม่ได้กลัวการทำรัฐปราหารของผู้ปกครองที่แก่หง่อม
และกำลังจะลาโลกไปนี้แต่อย่างใด


ลูกชาวนาไทย


ที่มา : กลุ่มสื่อประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน thaifreenews : ไพร่ปฎิวัติ !

หมายเหตุ
การเน้นข้อความ(บางส่วน)ทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

สนทนาเรื่องชาติ ศาสน์ กษัตริย์


ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ชวนให้นึกถึงบรรดาชุดความคิดต่างๆ ที่รัฐยึดถือปฏิบัติกันมา ไม่ว่าจะในการแก้ไขปัญหาหรือสร้างปัญหาเองไปในตัว แม้สังคมไทยจะมีความคิดหลายอย่างดำรงอยู่ แต่ท้ายสุดปัจจุบันนี้อาจกล่าวได้ว่าไม่มีชุดความคิดไหนจะ "ใหญ่ " ไปกว่า "ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ " เนื่องจากเป็นความคิดหรืออุดมการณ์ของชนชั้นปกครอง จะแตะต้องหรือขัดแย้งนักไม่ได้ (อย่างน้อยก็ไม่ได้โดยเปิดเผย) หากต้องยอมรับรู้ รับฟัง และปลูกฝังกันร่ำไป

โดยเนื้อหาอุดมการณ์นี้สร้างความชอบธรรมบางอย่างให้กับการกระทำของฝ่ายผู้มีอำนาจ เป็นเหตุผลให้แก่การใช้ความรุนแรงโดยรัฐได้ไม่ยากเท่าไรนัก ขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งปิดกั้นแก่โอกาสหรือสิทธิอื่นที่นอกเหนือไปกว่านี้ ลองพิจารณาในอีกแง่มุมดูหน่อยนะครับ

ในนามความเป็น "ชาติ " ย่อมหมายถึงการรวมศูนย์ความรักความศรัทธาให้ขึ้นตรงต่อรัฐ หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันจะแบ่งแยกมิได้ ปัญหาและความขัดแย้งต่างๆ ที่มีอยู่จึงมักถูกกดไว้ภายใต้ "ชาติ "

สำหรับฝ่ายนำทางอำนาจ "ชาติ "อาจมีมาเนิ่นนานเทียบเท่ากับที่สังคมมีประวัติศาสตร์ ความเชื่อนี้ตั้งอยู่บนฐานความเข้าใจผิดๆ เพี้ยนๆ เกี่ยวกับชนเชื้อชาติไทย ประวัติศาสตร์ชาติส่วนหนึ่งจึงกลายเป็นประวัติศาสตร์เชื้อชาติ (ไทย) เป็นเรื่องราวของการอพยพย้ายถิ่นฐานและการสร้างบ้านแปลงเมือง แม้ถูกคุกคามเรื่อยมาแต่ชาติไทยก็ยังคงอยู่รอดมาได้จนถึงปัจจุบัน


ประวัติศาสตร์แบบนี้เดิมไม่ได้เขียนโดยคนไทยเอง หากเป็นฝรั่งที่เชื่อว่าจีนแผ่นดินใหญ่เป็นศูนย์กำเนิดอารยธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นผู้เขียนขึ้น นักเขียนชั้นหลังเช่นขุนวิจิตรมาตรา เพียงแต่เก็บความมาอภิปรายขยายความอีกต่อหนึ่ง


เดิมสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง แม้ปัญญาชนฝ่ายนำทางอำนาจจะหลงเชื่อเช่นนี้อยู่เช่นกัน แต่ก็หาได้เป็นที่เอิกเกริกมากเท่าปัญญาชนสมัยหลังอย่างรุ่นหลวงวิจิตรวาทการ ฯ ทั้งนี้อาจเพราะเดิมการเชื่อว่าในอดีตคนไทยไม่ได้อยู่ในดินแดนนี้ หรือดินแดนนี้ไม่ใช่ของคนไทยเพียงพวกเดียวอยู่แต่เดิม ออกจะดูหมิ่นเหม่ต่อผู้มีอำนาจสมัยสมบูรณาญาสิทธิ์ ที่อ้างมีอำนาจเหนืออาณาเขตดินแดนนี้ทั้งหมด และทั้งยังอ้างเป็นไทยแท้ไม่ใช่จีน (ทั้งที่มีเชื้อจีนผสมเข้มข้น) อำนาจเหนือดินแดนจึงมีความสำคัญอยู่มาก "สยามินทร์ " ที่แปลตามตัวบทอักษรว่า ผู้เป็นใหญ่เหนือดินแดน(สยาม) กลายเป็นปรมาภิไธยย่อของกษัตริย์อย่างจริงจังก็ในสมัย ร.๕ นั่นเอง


แต่สำหรับปัญญาชนฝ่ายผู้นำหลังเปลี่ยนการปกครองนั้นกลับตรงข้าม เนื่องจากพวกนี้มีความจำเป็นที่ต้องก่อการยุติความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์ในราชอาณาจักรสยาม เพื่อเบิกทางสู่ศักราชการปกครองระบอบใหม่ การสร้างชาติทั้งที่ตัวเองก็คิดว่าชาตินั้นมีอยู่แล้ว จึงกลายเป็นภารกิจอันจำเป็นเร่งด่วน มากกว่าการธำรงชาติเช่นที่เคยเป็นมาก่อนหน้านั้น


กำพืดเดิมของพวกเขาที่ไม่ใช่ผู้สืบสายเลือดมาจากราชจักรีวงศ์ มีผลทำให้พวกเขาไม่ได้คิดหวงแหนความเป็นไทยไว้แก่ตนเองเพียงฝ่ายเดียว หากกระตือรือร้นอย่างยิ่งที่จะยัดเยียดให้คนทั้งประเทศถูกเรียกว่าเป็นคนไทยด้วยกันทั้งหมด เอกสารรัฐนิยมฉบับที่ ๓ เรื่องการเรียกชื่อชาวไทย ระบุเรื่องนี้ไว้ชัดเจน


" การเรียกชื่อแบ่งแยกคนไทย ออกเป็นหลายพวกหลายเหล่า เช่น ไทยเหนือ ไทยอิสาณ ไทยใต้ ไทยอิสลาม ก็ดี ก็ไม่เป็นการสมควรแก่สภาพของประเทศไทย ซึ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจะแบ่งแยกมิได้ "


ส่วน " ศาสน์ " นั้นแม้จะไม่บอกกันอย่างตรงไปตรงมา แต่หลายคนคงเข้าใจได้ไม่ยากว่าในที่นี้ไม่ได้หมายถึง ศาสนาทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศไทยเสียทีเดียว หากว่ากันตามสัตย์ซื่อแล้วก็เห็นจะต้องบอกว่า เป็นศาสนาพุทธเสียส่วนใหญ่ แม้สีแทนศาสนาในธงไตรรงค์จะใช้สีขาวไม่ใช้สีเหลือง แต่บ่อยครั้งที่สัญลักษณ์ธรรมจักร มักปรากฏคู่เคียงกับธงชาติและพระบรมฉายาลักษณ์อยู่เสมอ

ยิ่งความสำคัญในทางศูนย์รวมสักการะของพระพุทธรูปด้วยแล้วยิ่งเป็นอันไม่ต้องพูดถึง เมื่อเชื่อถือศรัทธาอย่างไม่ลืมหูลืมตา พุทธศาสนาเองก็มีนัยรุกรานมิใช่น้อย สมัยพุทธกาลถึงขนาดปรากฎมีการเรียกผู้ที่ยึดถือต่างจากตนว่าเป็นพวกเดียรถีย์บ้างล่ะ อลัชชีบ้างล่ะ และก็อวิชชา เป็นต้น ทั้งนี้ไม่นับกับการที่ภายในพุทธเอง ก็มีสภาพแตกหน่อเหล่ากอออกเป็นนิกาย เป็นสำนัก เป็นสายสาขาต่างๆ มากมาย

จากหลักคำสอนในภาษาของสังคมพุทธ นี่เองที่ให้กำเนิดแก่คำ "ชาติ " สำหรับแปล Nation ในภาษาอังกฤษ ดังที่ปรากฏในคำสอนเรื่อง ชาติ(เกิด), ชรา(แก่), พยาธิ(เจ็บ), มรณะ(ตาย). แต่ชาติในภาษาแบบพุทธนั้นมีความหมายต่างจากชาติในระบบรัฐสมัยใหม่ เพราะชาติแบบพุทธหมายถึง ชีวิตบุคคลทั้งชีวิตนับเป็นหนึ่งชาติหรือหนึ่งภพ(ชาติภูมิ)ในสังสารวัฎรนั่นเอง ถือตามนี้สัตว์อื่นแม้แต่หมาแมวก็นับเป็นหนึ่งชาติ คือ เป็นชาติเดียวกัน

ชาติแบบพุทธนั้นจึงเป็นชาติในความหมายที่ " เปิด " เสมอแก่การอยู่ร่วมกันในสังคม ไม่เหมือนชาติที่เป็นเหมือนจิตวิญญาณของรัฐสมัยใหม่ เพราะเทียบกันแล้วนับเป็นชาติในความหมายที่ " ปิด " อย่างยิ่ง แค่เดินทางออกนอกประเทศไปหน่อยเดียวเราก็จะเจอแต่ชาวต่างชาติเสียแล้ว ผิวขาวตัวโต ตาสีฟ้าหน่อยเราก็เรียกฝรั่ง เจ้านิโกรตัวดำนั่นก็อาฟริกัน ไอ้ยุ่นนี่ก็ญี่ปุ่น อาหมวยน่ารักนนั่นก็กลายเป็นเจ๊กเป็นจีนไปเสีย คือ มีความเป็นอื่นดำรงอยู่เต็มไปหมด ชาติในความหมายนี้จึงไม่น่ายึดถือจริงจังแต่อย่างใด (แต่ผมไม่ได้หมายความว่าชาติแบบพุทธจะแง่งามไปเสียหมดนะครับ)

เมื่อพูดถึง "ศาสน์" อันเกี่ยวเนื่องกับความรุนแรงยิ่งเมื่อมีกรณี ๒๘ เมษา'ด้วยแล้ว ดูเหมือนว่าอิสลามจะถูกมองแง่ลบในเรื่องนี้ ทั้งที่ในสังคมพุทธแบบไทยๆ ของเราเองก็ยังเคยมีกรณีกบฏผีบุญ ผู้ที่พอรู้เรื่องราวของครูบาศรีวิชัยบ้างก็คงจะทราบกันดีว่า นักบุญแห่งล้านนาท่านนี้ขัดแย้งกับศูนย์กลางที่กรุงเทพฯ มิใช่น้อย หรือถ้าจะนับย้อนไปไกลกว่านั้นก็ยังเคยมีกรณีชุมนุมเจ้าพระฝาง สมัยพระเจ้ากรุงธนฯ

กรณีดูซงญอจะว่าไปก็ออกจะ " มาสาย " เสียด้วยซ้ำเมื่อเทียบกับทางพุทธเอง (แม้ในระยะจาก ๑๔ ตุลา ถึง ๖ ตุลา ก็ยังปรากฎมีพระฝ่ายซ้ายที่ออกมาเคลื่อนไหวหนุนช่วยนักศึกษา ประชาชน ฯลฯ) ปัญหาจริงๆจึงอาจไม่ใช่แค่เรื่องศาสนา หากเป็นเรื่องที่มีนัยสำคัญเป็นการเมืองเสียมากกว่า


สำหรับ " กษัตริย์ " นั้น นับเป็นการสำคัญผิดอย่างไม่พึงหมาย หากจะกล่าวว่าทรงเป็นศูนย์รวมของชาติมาตลอด เพราะในความเป็นจริงกษัตริย์มีมาก่อนชาติ บ่อยครั้งจึงปรากฎว่าชาติที่สร้างกันขึ้นมาภายหลังนี้ต่างหาก ที่พยายามดึงเอาพระองค์ลงมามีส่วนเกี่ยวข้อง สมัยสมบูรณาญาสิทธิ์พระองค์อาจมีความสำคัญในบริบทที่ทรงเป็นพระผู้สร้าง แต่ในปัจจุบันกิจกรรมโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีคุณูปการแก่ความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับพสกนิกรอยู่มาก

ก่อนเปลี่ยนการปกครองมักมองกันว่าพระองค์มีอำนาจอย่างล้นหลาม ความจริงกลับตรงกันข้าม เพราะเป็นยุคสมัยที่พระองค์ถูกท้าทายอย่างต่อเนื่องและรุนแรง จนเกิดเป็นหวอดให้กับการเปลี่ยนแปลง พ.ศ.๒๔๗๕
รัชกาลที่ ๖ พระผู้สร้างที่ทรงนำเข้าอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์
(God King and Country) นี้เองก็ยังถูกท้าทายโดยกลุ่มผู้ก่อการ ร.ศ. ๑๓๐ ซึ่งนับเป็นการท้าทายที่รุนแรงและมีนัยสำคัญต่ออุดมการณ์แห่งชาติของฝ่ายนำทางอำนาจในห้วงทศวรรษ ๒๔๗๐ (เรื่องนี้มีประเด็นอยู่ใน "การปฏิวัติครั้งแรกของไทย " ซึ่งเป็นบันทึกของเนตร พูนวิวัฒน์ และเหรียญ ศรีจันทร์ ผู้ก่อการ ร.ศ.๑๓๐) บางครั้งการรักชาติก็จึงอาจหมายถึงการที่จำต้องฝ่าฝืนประเพณีการปกครองที่มีพระองค์เป็นศูนย์กลางนั่นเอง (คณะร.ศ. ๑๓๐ เคยเสนอด้วยซ้ำว่า "บ้านเมืองนั้นหายาก แต่พระเจ้าแผ่นดินนั้นหาง่าย " )


ในเมื่ออุดมการณ์นี้สามารถสร้างดุลยภาพได้พอๆ กับที่สร้างความขัดแย้ง ด้านหนึ่งจึงไม่เป็นหลักประกันอันใดได้เลยแก่การแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง ตรงข้ามอุดมการณ์อื่นที่มีเนื้อหาเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งอื่นที่อาจจะดีกว่า กลับไม่แคล้วต้องท้าทายต่ออุดมการณ์นี้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง บางครั้งถูกทำให้เป็นเงื่อนไขก่ออาชญากรรมด้วยซ้ำ คือ เป็นเครื่องมือมากกว่าที่จะเป็นเป้าหมายบริสุทธิ์โดยตัวมันเอง เช่นกรณีที่มักอ้างถึงกันบ่อยในที่นี้ผมก็ขออ้างด้วยอีกคน คือ กรณี ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ หลายครั้งที่ภายใน "ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ " เองก็มักมีการเปลี่ยนย้ายความหมายและความสำคัญในตัวเองอยู่เสมอ

เช่น หลังกรณีกบฎบวรเดช (ขออนุโลมเรียกอย่างนี้นะครับ ผมไม่ได้ถือว่า "คณะกู้บ้านกู้เมือง "ในเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็น "กบฏ" เสียทีเดียว) คณะผู้ก่อการฯ ก็ได้เพิ่ม "รัฐธรรมนูญ" เข้าไปพ่วงท้าย ทั้งที่ในความเป็นจริงปรากฎว่ามีความพยายามที่จะชูภาพลักษณ์รัฐธรรมนูญให้กลายเป็นสถาบันสำคัญทางการเมืองการปกครองแทนที่กษัตริย์ สมัยจอมพลสฤษดิ์ : รัฐธรรมนูญก็ถูกตัดออกไป แต่ในความเป็นจริงสฤษดิ์ก็กลับเอา "สหรัฐอเมริกา " เข้าไปพ่วงท้าย "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และสหรัฐอเมริกา " กลายเป็นสำนวนล้อเลียนจนเท่าทุกวันนี้

ปัจจุบันนี้สิครับ.ดูเหมือน "กษัตริย์ " จะมีความสำคัญไปมากกว่าสมัยจอมพลสฤษดิ์เสียด้วยซ้ำ เมื่อ "การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข " ได้เข้าไปห้อยท้าย ข้อนี้มีปรากฏในรัฐธรรมนูญ หมวด ๔ ซึ่งเป็นหมวดที่ว่าด้วยเรื่อง "หน้าที่ของชนชาวไทย" เช่น มาตรา ๖๖ ระบุว่า


" บุคคลมีหน้าที่รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข "


อีกด้านหนึ่งแม้แต่ระหว่าง ชาติ(ไทย) - ศาสน์(พุทธ)- กษัตริย์ (จักรี) เองก็มักมีความไม่ลงตัวไม่แนบสนิทกันเสียทีเดียว ภายใต้พระบรมโพธิสมภารราชอาณาจักรไทย อาจมีพื้นที่ว่างอยู่บ้างสำหรับผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ วัฒนธรรม และศาสนา

แต่จะวางใจอะไรได้ในเมื่ออย่างไรเสียปัญหาความขัดแย้งก็ยังคงดำรงอยู่เพียงแต่ถูก "กด"ไว้เท่านั้นเอง !?


กำพล จำปาพันธ์

( นักวิชาการอิสระ )



ที่มา : มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : สนทนาเรื่องชาติ ศาสน์ กษัตริย์

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

วันเสาร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

วันสำคัญกับการเมืองของความเป็นจริง

วันสำคัญของชาติ : ความหมาย, อำนาจ, และการเมือง

ความนำ

เมื่อก่อนปฏิทินมีดาวโป้แก้ผ้ายั่วให้เราเปิดดูอยู่ทุกวัน เดี๋ยวนี้รู้สึกจะเบาบางลงไป ไม่โจ๋งครึ่มเท่าไหร่ ที่กล่าวถึงเรื่องนี้ เปล่าเลยผมไม่ได้รู้สึกเสียดายหรืออาลัยอาวรณ์เจ้าปฏิทินเก่าประเภทนั้น เพราะถึงปฏิทินมันจะเปลี่ยนรูปแบบไปยังไงหรือมีใครมาโชว์อะไรให้เราดู " วันเวลา " ที่บรรจุตามตารางบอกวันเดือนปีมันก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง 1 ปีมี12 เดือน, 365 วัน หรือบางปี 366 วัน เท่าเดิม และในหนึ่งวันมีเวลาพระอาทิตย์ขึ้น - ตกเหมือนกัน กลางวันมีแสงสว่าง กลางคืนนั้นมืดมิด วนเวียนกันอยู่อย่างนี้เหมือนๆ เดิม

แต่ในหนึ่งปีนี้มี " วัน " ประเภทหนึ่งเป็น"วันที่ไม่ธรรมดา" ถึงแม้มันยังไม่อาจหลีกหนีความจำเจตามธรรมชาติของกาลเวลา แต่มันก็มีบทบาทต่อวิถีชีวิต, ความคิด, และจิตใจของผู้คน "วัน " ที่เราควรจะได้พิจารณากันอย่างจริงจังเสียทีนี้ ได้แก่ "วัน"ที่ถูกยอมรับให้เป็น " วันสำคัญ " (ของชาติ) และนี่แหล่ะคือ จุดมุ่งหมายของบทความนี้ ซึ่งผมขอเริ่มต้นกล่าวอย่างนี้นะครับ


บุคคล, ชนชั้น, และวันสำคัญ

เมื่อพลิกดูตามปฏิทินอาจกล่าวได้ว่า เราทุกคนนั้นล้วนแต่มี " วันสำคัญ " ของตัวเอง ตั้งแต่วันที่เกี่ยวข้องกับตัวเราเองโดยตรงเรื่อยไป จนถึงสังคมที่เราสังกัดอยู่ ในหนึ่งสัปดาห์ของคนทำงานคงไม่มีวันใดที่เป็นที่ปราถนามากกว่า "วันหยุด" อาจเป็น เสาร์ - อาทิตย์ หรือวันอื่น หรือเฉพาะวันอาทิตย์ รวมทั้ง "วันหยุดนักขัตฤกษ์ "

ในหนึ่งเดือนอาจไม่มีวันใดที่เขาจะนึกอยากให้ถึงไวไวมากไปกว่าวันเงินเดือนออก พอสิ้นปีก็อาจนึกถึงโบนัส, งานเลี้ยงสังสรรค์, ทัวร์ประจำปี บางแห่งแย่หน่อยก็อาจไม่มีสิ่งเหล่านี้ ถึงงั้นก็อาจจัดเป็นวันที่น่าพิศมัยได้มากกว่า เมื่อนึกถึงว่าเขาจะได้อยู่กับครอบครัวอย่างเต็มวัน พ่ออาจพาลูกไปเที่ยว สามีภรรยาหรือคู่รักอาจได้ทานมื้อกลางวันด้วยกัน

"วันสำคัญ" นอกจากจะเป็นเครื่องบ่งชี้ทางกาลเวลา ตั้งแต่ในระหว่างวัน, ระหว่างเดือน,ไปจนถึงระหว่างปี "วันสำคัญ " ยังเป็นสิ่งสะท้อนระบบความสัมพันธ์แต่ละชุดอีกด้วย แม้เราจะจำวันที่เราลืมตาดูโลกวันแรกไม่ได้ แต่เราทุกคนก็ยังจำเป็นจะต้องรู้ว่า เราเกิดวันที่เท่าไร, เดือนอะไร, และปีไหน ความสำคัญที่ต้อง"จำ" ได้นี้ไม่ใช่เพียงว่า หนึ่งปีเวียนมาบรรจบครบอีกคราวเท่านั้น หากยังหมายถึงชีวิตบุคคลทั้งชีวิตและสังคมทั้งสังคม ผู้ที่เชื่อเรื่องฤกษ์ยามตามหลักโหราจารย์ (ขอย้ำว่า…จารย์ ไม่ใช่…ศาสตร์) ย่อมตระหนักดีว่า การที่บุคคลเกิดวันนั้นวันนี้มีความสำคัญอย่างไร มันหมายถึง ข้อทำนายทายทักถึง อุปนิสัยใจคอ, อนาคต, หน้าที่การงานเมื่อโตวัยขึ้น ฯลฯ

แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว เรื่องโหราจารย์เป็นเรื่องของชนรุ่นก่อนที่กระทำการเผด็จอำนาจต่อชนรุ่นหลัง โหราจารย์บรรจุประสบการณ์ของชนรุ่นหนึ่งที่มีต่อปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ เช่น เวลาน้ำขึ้น - น้ำลง, เดือนหงาย - เดือนมืด, ลมฝนแปรปรวน, ภัยแล้ง, เรื่อยไปจนถึงวันที่ฟ้าอาเพศอย่างเหตุการณ์สุริยุปราคาและจันทรุปราคา (ราหูอมจันทร์หรือกบกินเดือน) ในยุคหนึ่งหลักคำทำนายอาจเป็นผลในแง่ดี ทำให้ชีวิตบุคคล, สังคม, ตลอดจนยุคสมัยไม่ถึงกาลสิ้นสุด ชนชั้นนำยังสามารถอธิบายให้เหตุผลและนัยยะของสิ่งแปลกประหลาดที่เกิดขึ้นมานั้นได้ ในการณ์นี้ผู้ปกครองอาจถือเป็นโอกาสดีอีกวาระหนึ่งที่เขาจะได้รวมคนจำนวนมาก มากระทำพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์เพื่อรวมศูนย์ความศรัทธาและจงรักภักดีมาขึ้นตรงต่อรัฐ

แต่อีกด้านที่น่าใจหาย คือ การเผด็จอำนาจอย่างนี้จัดเป็นการทำลายชีวิตทั้งชีวิตของบุคคลจำนวนมาก เช่น ถ้าใครเคยดูหนังเรื่อง "องคุลีมาล " จะพบว่า สาเหตุที่นายองคุลีมาลถูกวินิจฉัยตั้งแต่เกิดแล้วว่า เขาจะต้องเป็นมหาโจร ก็เพราะเขาดันเกิดในวันที่มีอาเพศ ตามความคิด/ความเชื่อที่มีอิทธิพลอยู่ในขณะนั้น เขาก็เลยกลายเป็นโจรตั้งแต่เกิด เมื่อสำนึกรู้ต่ออนาคตของเด็กน้อยเช่นนี้แล้ว ผู้รู้บางท่านถึงขนาดแนะนำให้มารดาสังหารเด็กน้อยเสีย แต่ด้วยความรักที่มีต่อลูกที่เกิดแต่อุทรของเธอ ผู้เป็นมารดาไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำ กระนั้น แม้มีชีวิตอยู่องคุลีมาลก็ยังต้องผจญกับการดูหมิ่นเหยียดหยามและการบีบคั้นต่างๆนานา ในฐานที่เกิดมาในวันที่เขาทำนายไว้ว่าต้องเป็นโจร

สำหรับยุคปัจจุบัน "วันเกิด" อาจไม่มีความหมายอะไรมากมาย นอกเสียจากว่า เป็นวันที่อาจจะต้องมีการจัดเลี้ยงเฉลิมฉลอง เพื่อนฝูงหรือคนแวดวงเดียวกันจะได้มีโอกาสพบปะสังสรรค์ (ชนแก้วกันไป) ดาราดาวเด่นอาจถูกทีมงานของเธอทำเซอร์ไพร์ ด้วยการแอบจัดงานเตรียมเค้กชิ้นโตพร้อมจุดเทียนให้เธอเป่า ซึ่งเจ้าตัวอาจซาบซึ้งจนน้ำตาคลอ (น่ารักจริงๆ)

ขณะที่ผู้คนพากันเห่อเหิมไปกับงานวันเกิด ก็ดูเหมือนว่า เขาได้หลงลืมความเป็นจริงอีกด้านหนึ่งของ "วันเกิด " ไปเสียแล้ว นั่นคือในวันที่เราเกิดนั้น แม่ของเราเกือบสิ้นใจตายเพราะเบ่งเราออกมา เพราะงั้น "วันเกิด " จึงไม่ควรมีแต่มิติของความสนุกครื้นเครง หากเป็นวันที่เราควรระลึกถึงคุณมารดา !

ในชีวิตของการครองคู่อาจไม่มีวันไหนที่สามีภรรยาจะได้หวนรำลึกถึงความหวานชื่นที่เขาและเธอเคยมีให้ต่อกันได้มากไปกว่า " วันครบรอบการแต่งงาน " ถึงแม้ว่าในความเป็นจริง หนุ่มสาวสมัยใหม่ไม่ได้เพิ่งสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้งจริงจังก็เมื่อวันแต่งงาน หากก่อนนั้นเกือบทุกคู่มักมีการคบหาดูใจกันมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง นิ้วนางของหญิงสาวอาจได้สวมแหวนตั้งแต่ก่อนวันวิวาห์ วันแต่งงานจึงอาจไม่ใช่วันเริ่มต้นชีวิตคู่อย่างแท้จริง แต่ก็จัดเป็นวันที่มีการเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาและเธอ ทั้งที่มีต่อกันและต่อสังคมแวดล้อม แขกเหรื่อต่างมาเป็นสักขีพยานว่า ชาย - หญิงคู่หนึ่งตกลงจะอยู่ร่วมกันดูแลกันและกันตลอดไปนับจากนี้ "วันครบรอบการแต่งงาน " จึงเป็นวันที่จะคอยย้ำเตือนถึงสิ่งนี้นั่นเอง เพราะงั้นถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเกิดจำวันนี้ไม่ได้ขึ้นมา ก็อาจเป็นสัญญาณบอกถึงสภาพการณ์บางอย่างที่ไม่พึงปราถนาก็เป็นได้

ต่อเมื่อต้องเข้าสังกัดกลุ่มองค์กร, คณะ, หรือสถาบันใด แต่ละแห่งก็จำเป็นจะต้องมี "วันสำคัญ" ไว้คอยรวมศูนย์ความรักความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกันของหมู่คณะ อาจถือเอาวันก่อตั้งหรือวันที่ต้นสังกัดเผชิญเหตุการณ์สำคัญ เมื่อลงเล่นการเมืองสมาชิกพรรคก็จำเป็นจะต้อง " รู้ " วันสำคัญของพรรคที่ตนสังกัดอยู่ อาจเป็นวันก่อตั้งพรรค วันประชุมสมัชชาประจำปี หรือไม่ก็วันคล้ายวันเกิดของผู้นำคนสำคัญหรือบุคคลชั้นอาวุโส นอกเหนือไปจากวันที่ต้องคร่ำเคร่งอยู่กับการหาเสียงและวันที่ฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา ผู้นำที่ฉลาดจึงมักใช้ประโยชน์จาก "วันสำคัญ " อยู่เสมอ เพราะมักเป็นวันที่มีคนเป็นจำนวนมากรวมอยู่ในที่เดียวกัน

นอกจากนี้ตามสถาบันการศึกษาประเพณีสำคัญอย่างหนึ่งที่ทุกสถาบันล้วนแต่ต้องมีเหมือนกันไม่ว่าระดับใด ( ตั้งแต่ประถมยันมหาวิทยาลัย) คือ ทุกปีต่างก็จะมี "วันสำคัญ " ทั้งของชาติและของตนเองเช่นเดียวกัน อะไรต่างๆเหล่านี้ ดูราวกับว่า ชีวิตคนในหนึ่งปีนี้ตั้งแต่เล็กจนตายล้วนมี "วันสำคัญ " ที่เราต้องประพฤติปฏิบัติตัวแตกต่างกันออกไป แต่ละวันนั้นล้วนแต่มี "เนื้อหา "หรือ "นัยยะ " ที่ต้องการโน้มนำให้เรารำลึกถึงบางสิ่งบางอย่างมากมาย

เราจะเข้าใจการมี "วันสำคัญ " นี้อย่างไรดี ?


ประเพณีประดิษฐ์ของชาวพุทธ

ก่อนอื่นต้องขอพิจารณา " วันสำคัญทางพุทธศาสนา " เป็นลำดับต้น เนื่องจากว่าพุทธศาสนาเป็นที่ยอมรับเชื่อถือในสังคมไทยอย่างกว้างขวาง รัฐไทยยกย่องให้เป็นศาสนาประจำชาติ ซึ่งนั่นไม่ใช่เพียงสิ่งบ่งบอกว่าประชาชนภายในรัฐนี้ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธเท่านั้น หากปรัชญาแบบพุทธยังกลายเป็นต้นแบบ ( original )สำคัญให้กับระบบวิธีคิดและศีลธรรมปัญญาของคนจำนวนมหาศาลในประเทศนี้ แม้จะพบกับความตกต่ำอันเนื่องมาจากความเสื่อมทรามที่เกิดขึ้นในแวดวงพระสงฆ์, ความแตกแยก, และปัญหาการตีความระบบปรัชญาของสิทธัตถะบางชุด ( หลักความเป็นอนัตตาหรืออัตตาของภาวะนิพพาน ) แต่พุทธศาสนาก็ยังไม่เคยพบกับการท้าทายชนิดถอนรากถอนโคนอย่างจริงจัง หลายคนยังเชื่อมั่นว่าพุทธศาสนาเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับสังคม (ไทย ) พลังอย่างหนึ่งของระบบความคิดแบบพุทธที่แสดงออกโดยการซึมซ่านเข้าสู่วิถีชีวิตประจำวันของคน ( ไทย ) ได้แก่ การกำหนดให้มี "วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา " ชาวพุทธจำนวนมากได้มีโอกาสร่วมกันประกอบกิจกรรมอันเป็นสิ่งสะท้อนถึงความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเดียวกัน


" วันสำคัญทางพุทธศาสนา " เป็นวันที่เชื่อมโยงปัจจุบันเข้ากับอดีต โดยมีชมพูทวีปยุคพุทธกาลเป็นศูนย์กลาง และสัมพันธ์กับพุทธประวัติหรือกล่าวง่ายๆก็คือ มักเป็นวันที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้านั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นวันประสูติ, ตรัสรู้, และปรินิพพาน อย่าง

" วันวิสาขบูชา " ( ตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือ เดือน 7 ในปีที่มีเดือน 8 สองหน ), วันที่ทรงแสดงปฐมเทศนาเป็นครั้งแรกอย่าง

" วันอาสาฬหบูชา " ( ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ) ซึ่งพุทธบริษัทเชื่อถือว่าเป็นวันสำคัญเพราะ เป็นวันที่มีพระรัตนตรัยครบ 3 ประการ คือ มีพระพุทธ ( สิทธัตถะ ) พระธรรม (ธรรมจักกัปปวัฒนสูตร ) และพระสงฆ์ (ได้พระอัญญาโกญทัณญะเป็น "เอหิ ภิกขุ อุปสัมปทา " องค์แรก), และ

" วันมาฆบูชา " (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ) ซึ่งเป็นวันที่พระสงฆ์มาชุมนุมกันราว 1,250 รูปโดยมิได้นัดหมาย สมัยนี้ถือเป็นเรื่องที่แปลก ถ้าศึกษาพุทธประวัติโดยละเอียดจะพบว่า เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวเท่านั้นในตลอดระยะเวลาที่พระพุทธเจ้ายังมีพระชนม์ชีพอยู่ ตรงข้ามการชุมนุมพระสงฆ์อย่างนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งที่สองก็เมื่อทรงดับขันธ์ไปแล้ว ได้แก่ ช่วงที่มีการกระทำสังคายนาครั้งที่หนึ่ง ภายใต้ความอำนวยการของพระเจ้าอโศกมหาราช

แต่มองลึกลงไปในอดีตผมมองว่า มันไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับยุคนั้น (พุทธกาล) เมื่อนึกถึงว่า เอหิภิกขุจำนวน 1,250 รูปนี้ส่วนมากล้วนแล้วแต่เคยเป็นสานุศิษย์ของฝ่ายพราหมณ์ทั้งสิ้น วันเพ็ญ เดือนมาฆะ ปีระกา (ก่อนพุทธศักราช 45 ปี ) ซึ่งเป็นปีเดียวกับปีที่เจ้าชายสิทธัตถะโอรสแห่งเจ้าศากยวงศ์ได้ตรัสรู้ที่ใต้ต้นโพธิ์นั้น เป็นช่วงระยะเวลาที่ตรงกันกับวันประกอบพิธีศิวาราตรี ซึ่งเป็นพิธีใหญ่ในรอบปีของฝ่ายพราหมณ์ ( อย่าลืมว่าช่วงนั้นพุทธสาวกกำลังเร่งเผยแผ่พระธรรมคำสอนแข่งกับพวกพราหมณ์อยู่ ) และถ้าสังเกตใบลานให้ดีจะพบว่า บรรดาเอหิภิกขุทั้งหลายนั้น ท่านล้วนแต่ท่องจาริกสั่งสอนประชาชนไปยังแว่นแคว้นที่ท่านเคยมีบทบาทเมื่อครั้งที่ยังเป็นฝ่ายพราหมณ์อยู่ เมื่อเป็นเช่นนี้ผลจากความเคยชินเก่าๆก็ทำให้ต้องเดินทางมาชุมนุมร่วมกัน โดยการเข้าเฝ้าองค์พระศาสดาร่วมกัน ขณะนั้นทรงประทับอยู่ที่สวนเวฬุวัน กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ ศูนย์กลางอารยธรรมชมพูทวีปนั่นเอง


แม้แต่วันที่เกี่ยวข้องกับพระสงฆ์ อย่าง"วันเข้าพรรษา"และ"วันออกพรรษา"ก็ยังเป็นวันที่ต้องสัมพันธ์กับเหตุการณ์เมื่อครั้งพุทธกาล ช่วงฤดูฝนเป็นเวลากลางเดือนเริ่มตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน11 เป็นช่วงระยะที่ไม่เหมาะแก่การจาริกแสวงบุญ เพราะอาจต้องเหยียบย่ำไร่นา ทำให้พืชผลของชาวบ้านต้องเสียหาย พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติระเบียบวินัยขึ้น ให้ภิกษุสงฆ์จำพรรษาอยู่ที่ไหนสักแห่งหนึ่ง ระหว่างนั้นจะไปค้างคืนที่ไหนไม่ได้ ถ้าขืนไปต้องอาบัติ คือ ถูกลงโทษเ ว้นแต่มีเหตุจำเป็น ในการณ์นี้ พุทธศาสนิกชนถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ทำบุญ,ฟังเทศน์ ฟังธรรม,รักษาศีล,และ หาเครื่องสักการะบูชาต่างๆ ไปถวายพระ เช่น พุ่มเทียน เทียนพรรษามีการหล่อเทียนพรรษาขนาดใหญ่ถวายพระ โดยคำนวณให้ใช้ได้นาน 3 เดือน ทางราชการมักมีการบอกบุญไปยังหน่วยงานต่างๆ บางโรงเรียนมีการจัดประกวด และมีการแห่เทียนไปวัดอย่างเอิกเกริก

มีข้อน่าสังเกตว่า ประเพณีประดิษฐ์ในวันสำคัญนี้ ไม่เพียงคนชั้นล่างเท่านั้นที่ถูก"อดีต"บังคับให้ทำ หากยังครอบคลุมถึงบุคคลชั้นสูงของสังคมด้วย หรืออาจกล่าวอย่างไม่ดัดจริตออกมาตรงๆได้อีกอย่างว่า ชนชั้นสูงนั่นแหละที่ได้ประโยชน์จากประเพณีประดิษฐ์แบบนี้ ดังปรากฏแต่ครั้งโบราณแล้วว่า ชนชั้นผู้มีอำนาจจะครอบงำประชาชนโดยผ่านทางวัดอีกต่อหนึ่ง

ในวันเข้าพรรษา "เจ้าสยาม" ปฏิบัติมาแต่ครั้งสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นแล้วว่า ต้องทรงเสด็จไปเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกต จากนั้นเสด็จไปยังวัดบวรนิเวศเพื่อทรงจุดเทียนพรรษาบูชาพระพุทธชินสีห์ ส่วนวัดหลวงอื่นๆ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ผู้แทนพระองค์ไปปฏิบัติแทน

โดยสรุปแล้วก็เชื่อแน่ได้ว่า วันสำคัญทางพุทธศาสนานั้น มีไว้เพื่อระลึกถึง องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมๆกับหลักธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ท่าน และโน้มนำให้ชาวพุทธเชื่อมั่นในสิ่งที่บุคคลแต่ครั้งปู่ย่าประพฤติปฏิบัติกันมา ว่าเป็นสิ่งถูกต้อง - สิ่งดีงาม มันจึงเป็นกระบวนการที่คนที่ตายแล้วครอบงำคนที่ยังมีชีวิตอยู่ แม้เหตุการณ์นั้นผ่านมานานนับหลายศตวรรษ แต่ก็ยังมีการ"จัดตั้ง"ความทรงจำเก่าๆให้เกิดขึ้นกับคนรุ่นใหม่ๆ อยู่เสมอ ทุกปี ๆ เหมือนหนึ่งว่าความเป็นอดีตจางหายไปชั่วขณะเมื่อวันสำคัญเวียนมาถึง ในแง่นี้ "วันสำคัญทางพุทธศาสนา" มีผลต่อการธำรงบวรพุทธศาสนา เพราะถึงแม้พุทธกาลจะผ่านมานานเท่าไร แต่ทุกปีชาวพุทธจะได้รู้ถึงจริยวัตรอันงดงามของสิทธัตถะและสาวกผ่านวันสำคัญมาตลอด

ควบคู่กับการนับถอยห่างจากปัจจุบัน ความรู้สึกรักและห่วงแหนสิ่งที่จัดว่า มีความเก่าแก่ มักเป็นไปในลักษณะร้อนแรง บุคคลผู้มีอาวุโสเป็นที่เคารพยำเกรง(บางคราวอาจเรียกเป็นความกลัวอย่างหนึ่ง) นี่คือ จุดเริ่มต้นของระบบอุปถัมภ์อาวุโสหรือความคิด / ความเชื่อเรื่องผู้มีบุญญาบารมี ข้อนี้มีการแสดงออกอยู่ในวันสำคัญ การเดินเวียนเทียนที่มักกระทำในวันสำคัญทางพุทธศาสนานั้นที่จริงการเดินประนมธูป,เทียน,ดอกไม้ 3 รอบ ไม่ใช่แค่เพียงรอบที่ 1หมายถึง การกำหนดเอาพุทธานุสติเป็นสรณะ รอบที่2 หมายถึง ธรรมมานุสสติ และรอบที่ 3 หมายถึง สังฆานุสติเพียงเท่านั้น หากการเดินดังกล่าวมีเจตนามุ่งทำความเคารพเป็นสำคัญ

การเดินรอบเจดีย์หรือโบสถ์วิหารต้องเดินเวียนไปทางขวา เรียกว่า "ปทักษิณา" (แปลว่า ข้างขวา) คือ สมัยโบราณเคยมีประเพณีปฏิบัติว่าเมื่อไปหาท่านผู้ใดที่เป็นที่เคารพนับถือ เมื่อลากลับแล้วก่อนจากไปให้เดินเวียนขวาท่านผู้นั้น 3 รอบก่อน แล้วจึงหลีกออกไป ถือเป็นวิธีแสดงความเคารพนอบน้อมอย่างสูง ปกติกระทำแก่บุคคลชั้นผู้ใหญ่,นักบวช,หรือ ทำแก่ปูชนียสถาน,สถูป,เจดีย์ซึ่งบรรจุสรีระธาตุของท่านผู้เป็นที่เคารพที่ล่วงลับไปแล้ว ความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีกรรมแสดงออกด้วยการเดินท่วงท่าสงบเสงี่ยม ไม่มีเครื่องประโคม ไม่มีการโห่ร้อง แม้หนุ่มสาวอาจมีการหัวร่อต่อกระซิบกันได้บ้างก็เป็นเรื่องปกติวิสัย

นอกจากนี้ยังมี"วัน"ที่ชาวพุทธได้ประดิษฐ์สร้างขึ้นมาเป็นกรณีพิเศษ เช่น วันสงกรานต์ หรือ ตรุษสงกรานต์ ,และ วันลอยกระทง ที่บอกว่าเป็นกรณีพิเศษก็ตรงที่มันไม่ได้เป็นวันที่สัมพันธ์กับพุทธประวัติ หากเป็นวันที่ชาวพุทธนำมันไปผูกโยงกับความเชื่อทางศาสนาของตน สงกรานต์จัดเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ทำบุญตักบาตร, ก่อเจดีย์ทราย, บังสกุลอัฐิ, สรงน้ำ(และสาดน้ำ) เป็นต้น มีความลักหลั่นกันอยู่บ้าง โปรดสังเกตนัยยะความหมาย ของชื่อดังต่อไปนี้

" ตรุษ" แปลว่า " ตัดหรือขาด ถือตัดปีหรือสิ้นปี" หมายถึงวันสิ้นปีนั่นเอง"สงกรานต์" แปลว่า " การย้ายที่หรือการเคลื่อนที่" ถือดวงอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษเรียกเป็นพิเศษว่า "วันมหาสงกรานต์" เป็นความหมายที่เน้นถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด

แต่ประเพณีที่ประดิษฐ์สร้างขึ้นมาในวันนี้กลับพุ่งเป้าไปที่การหยุดนิ่ง สงกรานต์เป็นวันที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนจากด้านใต้ไปทางเหนือ ดังจะสังเกตได้จากแดดซึ่งย้ายจากใต้ไปเหนือทีละน้อยๆ จนถึงกึ่งกลางจุดที่เราอยู่บนพื้นผิวโลกพอดี ในตอนนี้เวลากลางวันและกลางคืนมีเท่ากันหมดทั่วโลก ภาษาโหรเขาเรียกว่า "มัธยมกาล" สันสกฤตเรียกว่า " วสันต์วิษุวัต" และภาษาอังกฤษเรียกว่า "Spring Gquinox" ซึ่งเป็น"วัน"ย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ(Spring) ฤดูนี้แม้เมืองไทยไม่มี แต่เป็นระยะที่ชาวนา กสิกรกำลังว่างจากการทำไร่ไถนาและเก็บเกี่ยวพืชผล(ยกเว้นภาคใต้) การเล่นสนุกรื่นเริงในช่วงนี้จึงนับว่ามีความเหมาะสมอยู่

ส่วนการลอยกระทง เมื่อ" วันเพ็ญเดือนสิบสอง " (น้ำก็อาจท่วม กทม.) ที่ถือเป็นประพณีไทยนี้ แต่ความจริงกลับปรากฏว่าพม่า, กัมพูชา, อินเดีย, และจีน ก็มีการลอยกระทง เช่นเดียวกัน แต่มีจุดประสงค์แตกต่างออกไป และคงลอยในเดือน 11 และ เดือน 12 เช่นเดียวกับทางไทย เป็นวันประเพณีของสังคมที่มีความผูกพันธ์กับแหล่งน้ำนั่นเอง

ทุกวันนี้อาจเรียกได้ว่าความสำคัญของ "วัน" เหล่านี้ได้บิดเบือนไปจากวัตถุประสงค์ดั้งเดิมเกือบหมดสิ้น วันที่ 13 เมษา ไม่มีความหมายอะไรมากมายนัก เมื่อนึกถึงว่า มันเป็นวันที่คนจำนวนมหาศาลพากันเล่นสาดน้ำครื้นเครงอย่างเป็นบ้าเป็นหลัง วันเพ็ญเดือน 12 มันจะมีความหมายอะไรในเมื่อจุดเน้นหนักของมันมักอยู่ที่การแข่งขันประกวดกระทง(ไม่ว่าโฟมหรือใบตอง) และการประกวดเทพีนางนพมาศ ซึ่งมาตรฐานความงาม -ไม่งาม ของหญิงสาวก็คงไม่ต่างจากเวทีประชันขาอ่อนทั่วไป และที่สำคัญเมื่อค้นคว้าหนักเข้า ก็มักพบว่า บางประเพณีที่กล่าวอ้างว่ามีมานมนาน แต่เอาเข้าจริงเพิ่งประดิษฐ์สร้างเมื่อไม่นานมานี้เอง


สถาบันกษัตริย์,รัฐชาติ,และการสมมติวันสำคัญ

องค์พระมหากษัตริย์นั้นแต่ไหนแต่ไรมาอาจเรียกได้ว่า ทรงมีอาณาเขตอำนาจที่แน่นอนของพระองค์เอง ไม่ว่าการอธิบายที่มาของอำนาจนั้นจะด้วยหลักการเอนกนิกรสโมสรสมมติหรือหลักการสมมติเทวราช แม้จะถูกลดทอนจากขุนนางและเชื้อพระวงศ์ในบางเสี้ยวของประวัติศาสตร์แต่ดูเหมือนว่า อำนาจอื่นในสังคมสยามนั้นมักอ้างอิงมาจากเขตอำนาจการคุมกำลังคนของกษัตริย์

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ ถึงแม้จะมีการถ่ายโอนอำนาจดังกล่าวมายังคณะบุคคลที่อ้างเป็นตัวแทนของราษฎร แต่เนื้อหาของการปฎิวัติมีความแตกต่างอย่างมากเมื่อเทียบกับการปฎิวัติฝรั่งเศส 1789, รัสเซีย 1917, และจีน 1911 (เก็กเหม็ง) มีการประนีประนอมระหว่างผู้นำระบอบใหม่กับระบอบเก่า

ถ้าจะเปรียบ 24 มิถุนายน 2475 เป็นหนังฟอร์มใหญ่ อาจเป็นได้ทั้งหนังที่ท่านผู้ชมชาวไทยชื่นชอบเป็นที่สุดและเอียนที่สุดไปพร้อมๆกัน ด้วยเงื่อนไขอันจำกัดเราอาจไม่สามารถสร้างมติชี้ชัดลงไปได้ว่า ระหว่างคณะผู้ก่อการ กับ ร.7 ใครเป็นพระเอกและใครเป็นผู้ร้าย 14 ตุลาคม 2476 (กบฎบวรเดช) อาจเป็นฉากบู้ที่จำเป็นแต่ไม่ตั้งใจ

กรณี ร.7 สละราชย์อาจเป็นโศกนาฎกรรมที่สะเทือนความรู้สึกคนไทยจำนวนหนึ่ง แต่อาจไม่เป็นอย่างนั้นเมื่อนึกถึงว่า มันเป็นฉากที่ดำเนินต่อเนื่องมาแต่ครั้ง 24 มิถุนา, โดยรวมเราจึงสามารถพบความพิกลพิการ ที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยตั้งแต่ 2475 ได้จากการพินิจดูความสัมพันธ์ระหว่างสภากับราชสำนัก สถาบันกษัตริย์ยังมีบทบาทแม้จะไม่ได้มีอำนาจ (ทั้งทางการเมืองและกฎหมาย)โดยตรง แต่ก็ทรงเป็นสัญลักษณ์ความเป็นหนึ่งเดียวกันของคนทั้งชาติ

คงเพราะเหตุนี้ในหนึ่งปีเมืองไทยจึงต้องมีวันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ เช่น วันจักรี ( 6 เมษายน), วันเฉลิมพระชนมพรรษา ( 5 ธันวา , และ 12 สิงหา),วันพืชมงคล( 8พฤษภา), วันฉัตรมงคล( 5พฤษภา),วันปิยะมหาราช ( 23 ตุลา) ,และ อาจนับ 10 ธันวา (วันที่ ร.7 พระราชทานรัฐธรรมนูญ) เข้ากับ " วัน" ประเภทนี้ได้ เราอาจกล่าวได้ว่าราชวงศ์จักรีเห็นความจำเป็นในการมี"วันสำคัญ" ไว้เพื่อ "บอกเล่า" ถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทยมาโดยตลอดดังจะเห็นได้จากการที่ ร. 6 ทรงเป็นผู้ปกครอง"องค์"แรกที่ได้มีประกาศหยุดนักขัตฤกษ์ในหนังสือราชกิจจานุเบกษา(ลงวันที่ 28 มีนาคม 2456) ซึ่งรัฐไทยได้ใช้เป็น"วันหยุดราชการ" สืบมาถึงปัจจุบัน

มิไยต้องนึกย้อนกลับไปดูว่า ชาตินิยมในนิยามของ ร.6 นั้น เน้นสถาบันกษัตริย์เป็นแกนหลักของรัฐอันเป็นสูตรง่ายๆแบบ

"ข้านี่แหล่ะคือ รัฐ " (I 'm state )

ตามอย่างเจ้ายุโรปในช่วงศตวรรษที่19 ความเป็นหนึ่งเดียวกันของคนในชาติถูกมองว่า ต่างก็ต้องอยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภารด้วยกันทั้งนั้น ความไม่เท่าเทียมกันถูกนิยามให้เป็นความเท่าเทียมกันอย่างฉาบฉวย ในแง่นี้ "วันสำคัญ" ที่เกี่ยวเนี่องกับสถาบันกษัตริย์ จึงไม่อาจจะเป็นแค่เพียง "วันหยุดราชการ" ตามธรรมดาเท่านั้น หากเป็นวันที่ชนชั้นนำต้องการ "สื่อ" ให้ปวงชนชาวไทยน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณเป็นสำคัญ


"วันจักรี" จึงนับเอาวันที่ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เสด็จขึ้นครองราชย์ เถลิงพระนามาภิไธยใหม่ภายหลังเป็น "พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก" ตรงกับวันที่ 6 เมษายน ถือเป็นวันเริ่มต้นราชวงศ์จักรี การกำหนดให้มี "วันปิยมหาราช" ก็แค่เพื่อให้เรานึกถึง ร.5, 10 ธันวา แม้ยังเป็นปัญหาในแง่การตีความอยู่บ้าง แต่เมื่อนึกถึงว่ามันเป็นวันเดียวกับวันที่ ร.7 ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญและถ้อยคำของรัฐธรรมนนูญฉบับนี้ยังแตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับที่ร่างขึ้นโดย นายปรีดี พนมยงค์ (ภายใต้ความเห็นชอบจากสมาชิกผู้ก่อการฯ) จากเดิมที่ใช้ "กษัตริย์" เฉยๆก็เปลี่ยนมาใช้ "พระมหากษัตริย์" และคำว่า "คณะกรรมการราษฎร" ก็ถูกแทนที่ด้วยคำว่า "คณะรัฐมนตรี " 10 ธันวา จึงไม่ใช่ "วันหยุดราชการ" ธรรมดาเช่นกัน เพราะมันเป็นอีกวันหนึ่งของทุกปีที่พยายามจะทำให้ ร. 7กลายเป็นพระมหากษัตริย์นักประชาธิปไตย ผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญ (?)

วันที่ 5 ธันวา และ 12 สิงหา ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา มีชื่อเรียกเป็นลำลอง (แต่ปฎิบัติจริงจัง) ว่าเป็น "วันพ่อ- วันแม่" (แห่งชาติ)อีกชื่อ ทั้งนี้เป็นเพราะอิทธิพลความเชื่อหนึ่งที่อ้างกันว่าสืบทอดมาแต่โบราณ คือ ความเชื่อเรื่องความมีคุณธรรมบารมีของผู้ปกครอง ถือว่าผู้ปกครองคือ "บิดา" ประชาชนคือ "บุตร" ประเทศชาติก็เลยกลายเป็นครอบครัวใหญ่

ความคิด/ ความเชื่อในเรื่องนี้เผด็จการแบบไทย ๆ (ทั้งจอมพล ป. พิบูลสงคราม และ สฤษดิ์ ธนะรัชต์) ต่างก็เคยใช้อธิบายให้ความชอบธรรมสำหรับอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ระบอบพ่อปกครองลูก ถูกยอมรับให้เป็นระบอบการปกครองที่เหมาะสมกับสังคมไทย ตามความเห็นของพวกเขาจัดว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบหนึ่ง ซึ่งต่างไปจากระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตก หลักฐานชิ้นสำคัญที่เขามักนำมาอ้างอิงเพื่อการณ์นี้ได้แก่ ถ้อยคำในศิลาจารึกหลักที่ 1 หรือที่เรียกกันว่า "จารึกพ่อขุนรามคำแหง" แต่หลายปีที่ผ่านมาเคยมีการถกเถียงกันถึงเรื่องนี้พอสมควร มีการเสนอข้อมูลหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ว่าศิลาจารึกหลักนี้อาจไม่ใช่ของที่ทำขึ้นในสมัยสุโขทัย หากแต่ทำขึ้นหลังสมัยนั้นเป็นระยะเวลายาวนาน(?)

ยิ่งวันที่รัชกาลปัจจุบันขึ้นครองราชย์อย่าง "วันฉัตรมงคล" ( 5 พฤษภา ) ด้วยแล้วยิ่งเป็นวันที่จะต้องมีความสำคัญ และจำเป็นสำหรับรัฐที่ยังมีกษัตริย์เป็นประมุขของชาติ วันดังกล่าวเป็นวันที่พระองค์ ทรงกล่าวปฐมวาจาที่ว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม " เป็นครั้งแรก

ส่วน "วันพืชมงคล" ( 8 พฤษภา ) ซึ่งถัดจาก "วันฉัตรมงคล" เพียงไม่กี่วันนั้น นับเป็นวันที่เกี่ยวข้องกับพระราชกรณียกิจของพระองค์ (ไม่ใช่เพียงวันกระทำพิธีกรรมของรัฐตามธรรมดา) ภาพการถ่ายทอดสดทาง ที.วี หรือแม้แต่ภาพที่ประชาชนจะได้เห็นเมื่อไปที่ท้องสนามหลวงในวันที่ 8 พฤษภา เป็นภาพที่สามารถสร้างความประทับใจ (บนความอลังการ) แก่ผู้พบเห็นได้ง่าย ยิ่งเกษตรกรชาวไร่ชาวนาด้วยแล้ว ยิ่งสามารถสร้างความรู้สึกผูกพันธ์ต่อในหลวงท่านได้ง่าย พระมหากษัตริย์ของรัฐไทยทรงเสด็จไปเป็นประธานพิธี พระยาแรกนาท่านจับคันไถเดินลุยไปในท้องทุ่ง เวลานั้นสนามหลวงกลายเป็น "นาจำลอง" ขึ้นมาทันใด แม้ไม่ได้ไถนาเพื่อเกี่ยวข้าวให้คนกินจริงๆ แต่ใครที่ได้เม็ดข้าวเปลือกไปจากที่แห่งนั้นก็กลับถือเป็นสิริมงคลแก่นาจริงของพวกเขา นี่ย่อมมีผลเป็นขวัญและกำลังใจแก่ชาวนาและประชาชนหมู่มาก ทำให้เห็นได้ง่ายว่า พระองค์ซึ่งอยู่บนที่สูงสุดของรัฐยังทรงทำการผลิตร่วมกับพวกเขาและทรงห่วงใยใกล้ชิดพวกเขาตลอด (?)

ตรงกันข้ามเมื่อพินิจดู "วันที่ 24 มิถุนา" ซึ่งเคยถือเป็น " วันชาติ " ในปัจจุบันนี้มีความสำคัญน้อยลงไปมาก เรามีวันอันเกี่ยวเนื่องกับคณะราษฎร และ 2475 น้อยเกินไป (รัฐไทยมีวันสำคัญของชาติที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์มากที่สุด รองลงมาก็ได้แก่วันสำคัญทางพุทธศาสนา) 24 มิถุนา จะถูกถือเป็นวันสำคัญของชาติตามความหมายของมันจริงๆ ก็เมื่อครั้งที่ผู้นำซึ่งมาจากคณะราษฎรมีความเข้มแข็ง อย่างเช่น จอมพล ป . พิบูลสงคราม และ พรรคพวก (รวมทั้งนายปรีดี พนมยงค์ด้วย) พลังของความคิดเรื่อง "ชาติ" ในระยะก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 มีผลต่อพวกเขา ทำให้จอมพล ป. และพรรคพวก สถาปนาวันเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นเป็น"วันชาติ" เป็นครั้งแรกเมื่อ"วันที่ 24มิถุนายน 2482" ถือเป็น "วันที่ฟื้นฟูและสถาปนาชีวิตจิตใจใหม่ในการสร้างชาติ" นัยว่าเป็นการสร้างสัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ต่อ 24 มิถุนา โดยประสงค์จะให้วันนี้มีความสำคัญเทียบเท่าหรือมากกว่า"วันที่ 10 ธันวา" นั่นเท่ากับเป็นการสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาแข่งขันเพื่อชี้วัดลงไปว่า ระหว่าง

"คณะราษฎร"กับ"คณะเจ้า"

ใครกันแน่ที่เป็นผู้มีความเหมาะสมที่สุดสำหรับการเป็นผู้นำของรัฐชาติ (ไทย)ยุคใหม่ ?

แต่ก็อย่างที่สะท้อนไว้แล้วว่าการกำหนดให้มีวันสำคัญเป็นเรื่องการเมืองอย่างหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับประเด็นที่ว่า ใครเป็นผู้ครองอำนาจและใครไม่ใช่ ขณะที่ 24 มิถุนา กำลังขับเคี่ยวอยู่กับ 10 ธันวาอยู่นั้น สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็เข้ามาเป็น "บุคคลที่ 3" ด้วยการเปลี่ยน "วันชาติ" จาก " 24 มิถุนา " มาเป็น "5 ธันวา" ไม่เพียงแต่นัยยะของคณะราษฎรเท่านั้นที่หายไป ร.7 ก็เสื่อมคลายไปด้วย โดยเปลี่ยนเป็น ร.9 แทน สิ่งที่สฤษดิ์ได้กระทำลงไปในนาม "คณะปฏิวัติ" จึงไม่ใช่แค่การรื้อฟื้นเอาสถาบันกษัตริย์กลับคืนมา เหมือนอย่างที่แวดวงวิชาการมักเข้าใจกัน หากกล่าวให้ชัดเจนลงไปนั่นเป็นการเริ่มต้นประดิษฐ์สร้างในหลวงองค์ปัจจุบันขึ้นมาอย่างจริงจังต่างหาก

กระนั้นจอมพล ป. กับพรรคพวกก็ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนวิธีนับศักราช ตามแบบเจ้าสยามมาเป็นสมัยใหม่ คล้ายคลึงกับที่จูเลียสซีซาร์แห่งโรมได้เคยนำความคิดของนักดาราศาสตร์มาเปลี่ยนศักราชของบาบิโลเนียน ด้วยการออกแบบปฎิทินให้ 1 ปี มี 365 วัน ให้ทุกเดือนซึ่งแต่เดิม มี 29 วัน เป็น 30 วัน และให้เพิ่มอีก 1วัน ในทุกปีที่สี่ หรือที่เรียกว่า ปีอธิกวาร( Leap Year) คือ ปีที่เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วัน และในปี ค.ศ. 1582 (พ.ศ.2125) สันตปาปาเกรกอรี่ที่ 13 ก็ได้ "ต่อยอด" ด้วยการกำหนดให้ใช้ " วันที่ 1 มกรา " เป็นวันเริ่มต้นปีใหม่

สำหรับประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่หลายครั้ง สมัย ร. 5 ราวปี ร.ศ. 108(พ.ศ. 2412) ได้เปลี่ยนจาก " วันที่ 13 เมษา" มาเป็นวันขึ้น 1ค่ำ เดือน 5 ซึ่งตรงกับ " วันที่ 1 เมษา" และต่อมา เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2483 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ "หักล้าง" ด้วยการประกาศเปลี่ยน "วันขึ้นปีใหม่ " จาก " วันที่ 1 เมษา " มาเป็นวันที่ 1 มกรา ตามแบบฉบับสากลนิยม " วันที่ 1มกราคม 2484 " จึงเป็น"วันขึ้นปีใหม่ " วันแรกของไทยตามการนับศักราชแบบนี้

ถึงตรงนี้เราจำเป็นต้องพิจารณาให้กว้างออกไปเป็นอีกประเด็นหนึ่ง คือ ประเด็นที่ว่าวันสำคัญเป็น สิ่งที่กำหนดจากศูนย์กลางอำนาจ นั่นหมายถึงสภาพที่ชนส่วนน้อยผู้มีอำนาจใช้การบังคับยัดเยียดให้กับคนส่วนมากที่อยู่ภายในรัฐเดียวกัน ซึ่งอาจเป็นกระบวนที่แตกต่างกันไปในรายละเอียดของแต่ละรัฐ (ยกเว้นวันขึ้นปีใหม่) วันชาติอเมริกาจึงไม่ใช่วันที่ 24 มิถุนา

การกำหนดให้มีวันสำคัญของชาติมีผลเป็นการทำให้มวลชนจำนวนมหาศาลต้องเข้ามาขึ้นตรงต่ออำนาจของศูนย์กลางซึ่งนั่นคือ สภาวะอันสมบูรณ์ของความเป็นรัฐชาติ สอดคล้องกับทฤษฎีรัฐศาสตร์กระแสหลักที่ถือว่า รัฐนั้นคือสิ่งที่ประกอบด้วยองค์อธิปัตย์ (ชนชั้นนำทางอำนาจ) เอกราชอธิปไตยหรือความชอบธรรมในการปกครองตนเอง, อาณาเขตหรือดินแดนที่แน่นอน ,และ ประชาชนพลเมืองที่ขึ้นตรงต่ออำนาจปกครอง โดยเหตุที่มันปราศจากการตั้งคำถามหรือการโต้แย้ง ไม่นานเท่าไหร่มันก็กลายเป็นความเคยชิน และแทรกซึมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตประจำปีของเรา

"วันสำคัญ" โดยตัวมันเองเป็นสิ่งไม่มีความหมาย แต่เหตุที่วันธรรมดาบางวันต้องกลายมาเป็น "วันสำคัญ" ก็เมื่อรัฐต้องการชี้นำให้ประชาชนนึกถึงบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งนอกจากจะเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดและถ่ายทอดมาจากประวัติศาสตร์ของรัฐนั้นๆเองแล้ว ยังเป็นสิ่งสะท้อนผลประโยชน์ของชนชั้นปกครองเอง เพราะฉะนั้นรัฐจึงให้ความสำคัญกับการมี "วันสำคัญของชาติ" ซึ่งโดยมากมักมีการประกอบพิธีกรรมด้วย

เด็กในโรงเรียนจะถูก"สอน"ให้ได้รับรู้ว่าวันนั้นวันนี้สำคัญอย่างไร กล่าวถึงใคร และ มีความเป็นมาอย่างไร สถานที่ราชการ และ/หรือ บริษัทห้างร้านต่างๆ จึงมักมีการเฉลิมฉลอง, ที.วี. มีรายการพิเศษ, ประมุของชาติตลอดจนบุคคลสำคัญมีการกล่าวปราศรัยทางโทรทัศน์ สื่อมวลชน ประโคมข่าว ทั้งหลายเหล่านี้มันเป็นจริงได้ก็เมื่อชนชั้นนำสามารถทำให้คนธรรมดาสามัญหลงลืมความเป็นจริงที่ว่า มันก็แค่วันธรรมดาเหมือนวันอื่นๆได้มากน้อยเพียงใด


วันสำคัญกับการเมืองของความเป็นจริง

ในจำนวน " วัน" ที่สะท้อนการช่วงชิงอำนาจทางการเมืองระหว่างฝ่ายรัฐกับฝ่ายซ้าย " วันที่ 1 พฤษภา " ดูจะเป็นวันที่ยังคลุมเครือที่สุด รัฐมองว่า วันดังกล่าวเป็น " วันแรงงานแห่งชาติ " (โปรดสังเกตการตั้งชื่อวัน) ส่วนฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายประชาชนมักเรียก " วันกรรมกรสากล " (May Day) แม้จะตีความแตกต่างกัน แต่จุดกำเนิดของ " 1 พฤษภา " จัดเป็น " วันที่ฝ่ายซ้ายสมมติขึ้น " มาก่อนอีกฝ่ายหนึ่ง

ราวปี ค.ศ. 1889(พ.ศ. 2432) ที่ประชุมสภาสังคมนิยมสากล ณ กรุงปารีส ได้ลงมติเห็นชอบให้ถือเอาวันเมย์เดย์ ซึ่งเป็นวันหยุดพักผ่อนเดิมของกรรมกร มาเป็น " วันหยุด " ที่ระลึกถึงกรรมกรสากล นั่นหมายถึงว่า 1 พฤษภา จัดเป็น "วันของ ผู้ใช้แรงงานทั่วโลก" ไม่ใช่เพียง " วันของผู้ใช้แรงงานชาติใดชาติหนึ่ง " แต่เนื่องจากในวันดังกล่าวกรรมกรมักมีการรวมตัวกัน อีกทั้งยังมักมีการประกอบกิจกรรมรำลึกอดีตร่วมกันอีกด้วย (ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาแต่จำเป็นสำหรับการมี"วันสำคัญ" ) ทำให้พวกเขาส่วนหนึ่งสามารถรักษาประเพณีการต่อสู้และจิตวิญญาณของขบวนการไว้ได้ รัฐจึงเห็นความจำเป็นในการเข้าแทรกแซงแล้วแยกทำลาย

ในประเทศไทยเคยมีการห้ามไม่ให้จัดงานวันกรรมกรสากล ครั้นพอปี พ.ศ.2499 เมื่อกรรมกรเคลื่อนไหว เรียกร้องสิทธิด้านนี้ควบคู่กับการเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งออกกฎหมายแรงงาน เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2499 ผู้แทนจาก " กรรมกร 16 หน่วย " ได้เข้าเจรจาต่อรองกับผ่ายรัฐบาลที่มีพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ เป็นตัวแทน ปรากฎว่าฝ่ายรัฐยอมให้มีการจัดงานได้แต่มีเงื่อนไขว่า " ให้เปลี่ยนชื่อวันกรรมกรสากลเป็นวันแรงงานแห่งชาติ "

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อตกลงกันได้แล้วรัฐบาลยังเปลี่ยนท่าทีจากการห้ามมาเป็นการสนับสนุนอย่างออกหน้าออกตา โดยออกค่าใช้จ่ายให้เงินสนับสนุนการจัดงานเป็นรายหัว (คนละ 5 บาท) ของจำนวนกรรมกรที่เข้าร่วม (ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลที่จะทราบตัวเลขที่แน่นอนของกรรมกรฝ่ายซ้าย) ด้านสถานที่ ก็อนุญาตให้ใช้สนามเสือป่าและหอประชุมสภาวัฒนธรรมเป็นที่จัดงาน

คราวเดียวกันนั้นเอง รัฐบาลก็ได้ดำเนินการ "รุกฆาต" ด้วยการออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีลงวันที่ 30 เมษายน 2499 รับรองให้ "วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี" (นับจากนั้น) เป็น " วันกรรมกรแห่งชาติ " (ชื่อเรียกสมัยนั้น ต่อมาจึงเพี้ยนเป็น " วันแรงงานแห่งชาติ " ) นี่ก็อาจเป็นเสมือนลายลักษณ์อักษรที่สะท้อนถึงชัยชนะในการช่วงชิงนิยาม " 1 พฤษภา " รัฐต้องการล้มล้างสำนึกเรื่อง "ความเป็นชนชั้นเดียวกัน" ในหมู่กรรมกรอย่างเห็นได้ชัด ตรงข้ามสำนึกเรื่อง "ความเป็นชาติเดียวกัน" ที่รัฐพยายามครอบจากบนลงล่างนั้นเป็นสำนึกที่ต้องการเน้น "ความจงรักภักดี" อีกด้านหนึ่งนี่เป็นสิ่งสะท้อนความไร้น้ำยาของผู้นำแรงงาน(บางส่วน) พวกเขา "แพ้ทาง" การเมือง !

แม้แต่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ซึ่งเป็นขบวนการทางการเมืองที่สำคัญของฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลไทย ผ่านประสบการณ์เคลื่อนไหวจัดตั้งมาตั้งแต่ครั้งสมบรูณาญาสิทธิราชย์จนถึงยุคเผด็จการทหาร ถึงแม้ว่างานศึกษาเกี่ยวกับ พคท.(ทั้งที่เขียนโดยสมาชิกพรรค, ผู้ที่เคยเข้าร่วมกับพรรค, ผู้เกี่ยวข้องโดยอ้อม, หรือแม้แต่ผู้เกิดหลังกาลที่ไม่เคยสัมพันธ์กับพรรคเลยอย่างผม เป็นต้น) จะมีด้วยกันเป็นจำนวนมาก แต่ก็ไม่เคยมีงานชิ้นใดเลยที่จะให้รายละเอียดได้ว่า ทำไม พคท.ซึ่งเป็นขบวนการฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล จึงต้องมี "วันสำคัญของพรรค" ในลักษณะเดียวกันกับ " วันสำคัญของรัฐไทย" ? เราคงต้องล้วงให้ลึกลงไปอีกว่า "วันสำคัญของพคท." นั้นเหมือนหรือต่างกันอย่างไรกับ "วันสำคัญของฝ่ายรัฐบาล" ?


" วันสำคัญของพคท. "

ที่ถือเป็นประเพณีสำคัญของพรรคมีอยู่ด้วยกัน 2 วันคือ " วันที่ 1 ธันวา " เป็นวันที่เรียกกันในหมู่ชาวคณะพรรคว่าเป็น "วันพรรค" หรือ " วันก่อตั้งพรรค" และ " วันที่ 7 สิงหา " เป็น "วันเสียงปืนแตก" วันทั้งสองนี้จัดเป็น " วันที่เกี่ยวข้องกับประวัติและพัฒนาการของพคท."

การสมมติเอาวันดังกล่าวมาเป็น "วันสำคัญ" มีข้อขัดแย้งกับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติของ พคท.อยู่บ้าง เพราะถึงแม้ว่า"วันที่ 1 ธันวา" จะถือเสมือนเป็น "วันก่อตั้งพรรค" แต่นั่นก็ไม่อาจกล่าวได้ว่าวันดังกล่าวนี้จะเป็นวันที่ พคท. เพิ่งก่อตั้งขึ้นมาแต่อย่างใด

พคท.(รวมทั้งเอกสารฝ่ายรัฐบาลด้วย) ถือว่า การประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 1 ที่ จัดขึ้นเมื่อ "วันที่ 1 ธันวาคม 2485" เป็นวันก่อตั้งของ พคท. ซึ่งความจริงการสมมติอย่างนี้เป็นเรื่องของการสมมติจริงๆคือ ตัดขาดจากข้อเท็จจริงเพราะ ถึงแม้ใน "วันที่ 1 ธันวาคม 2485" จะเป็นวันที่ พคท.ประกาศจัดตั้งพรรคขึ้นมาอย่างเป็นทางการ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า พคท.จะเป็นพรรคการเมืองที่เพิ่งก่อตั้งกันขึ้นมาในวันดังกล่าวจริงๆ เพราะพคท.มีพื้นฐานมาจากการเคลื่อนไหวของ "คอมมิวนิสต์สยาม" ตั้งแต่เมื่อครั้งทศวรรษที่ 2460 (ก่อนคณะราษฎรเสียอีก) ดังนั้น ถ้าจะสืบหาวันก่อตั้งพรรคนี้กันขึ้นมาจริงๆ "วันพรรค" อาจเป็นวันอื่น และอาจต้องอ้างอิงถึงระยะเวลาที่ยาวนานกว่านั้นมาก ไม่ใช่ 2485 "1 ธันวา" ตามความเป็นจริงจึงน่าจะถือเป็น "วันก่อตั้งพรรคอย่างเป็นทางการ" มากกว่า แต่ พคท. ก็ยังสมมติเอา "1 ธันวา" เป็น " วันก่อตั้งพรรค" (เฉยๆ) ที่เป็นเช่นนั้นเพราะเหตุใดกัน?

ประการแรก ที่เห็นได้ชัดจากการสมมติเอา "1 ธันวา" คือ มันจัดเป็นการตัดขาดตัวเองออกจาก "คอมมิวนิสต์สยาม" ( 2460-2480) เมื่อถามว่าทำไมถึงทำอย่างนั้น คำตอบที่เราจะได้ก็อาจเป็นคำตอบในทำนองว่า เป็นเพราะคณะคอมมิวนิสต์สยามนั้นเป็นพรรคจีน และเวียดนามไม่ใช่พรรคไทย หรืออาจเพราะก่อน 2485 ยังไม่มีสภาพเป็นพรรคการเมืองเต็มรูปก็เป็นไปได้ประการที่สอง ซึ่งสัมพันธ์กับประการแรกอย่างแยกไม่ออก คือ เราควรพิจารณาการสมมติ"ชื่อ" เข้ามาเสริม เป็นบริบทด้วย หลังการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 1 ในวันที่ 1 ธันวาคม 2485 พร้อมกับการประกาศจัดตั้งพรรคอย่างเป็นทางการ พวกเขา "ตั้งชื่อ"พรรคของเขาว่า "พรรคคอมมิวนิสต์ไทย" (ภายหลังจึงเพิ่ม "…แห่งประเทศไทย " เข้าไป) ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ห่างกันเพียงไม่กี่ปีหลังจากที่จอมพล ป. กับพรรคพวก (ตรงนี้ผมหมายรวมถึง คณะบุคคลที่เรียกกันอย่างลำลองว่า เป็นพวก "จตุสดมภ์" หรือ สี่ปุโรหิตของระบอบพิบูลฯ)ได้เปลี่ยนชื่อประเทศจาก " สยาม " เป็น " ไทย " ด้วยวิธีการออก "รัฐนิยม" ฉบับที่ 1 ในปี พ.ศ. 2482

ถ้า พคท. สมมติชื่อพรรคของตนโดยแฝงนัยยะว่าเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ของคนไทยหรือของประเทศไทย เพียงเพราะรัฐบาลที่กุมอำนาจเองก็สมมตินามผู้ใต้อำนาจปกครองของเขาว่า เป็น "คนไทย " และเรียกประเทศที่เขาเป็นใหญ่นี้ว่า " ประเทศไทย " นี่ย่อมสะท้อนสิ่งที่ลึกซึ้งมากกว่าที่เราจะสามารถขบคิดให้ตกได้ในคราวเดียว เพราะนั่นเท่ากับว่า พคท.ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลนี้ มีพัฒนาการคู่เคียงมากับรัฐไทยหรือไม่ก็อาจกล่าวได้ว่า ในแง่นี้ พคท.ก็ไม่แตกต่างจากฝ่ายรัฐบาล การสมมติให้มี "วันสำคัญ" ขึ้นมาประกอบกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงอะไรบางอย่างในลักษณะตัดขาดจากความเป็นจริงอย่างคล้ายคลึงกันจึงเป็นเรื่องปกติวิสัย !

ส่วน "วันที่ 7 สิงหา" นั้นก็เหมือนกันถึงแม้ว่า " การแตกเสียงปืน" เพิ่งจะเริ่มต้นใน " วันที่ 7 สิงหาคม 2508 " แต่นั่นเราก็อาจกล่าวได้ว่าการแตกเสียงปืนในวันดังกล่าวนี้ยังจำกัดพื้นที่อยู่แค่บริเวณเขตงานอีสาน ที่อื่นยังอยู่ในสภาพที่กำลัง"จับจ้อง" กันอยู่เท่านั้น เพราะฉะนั้นการณ์จึงปรากฎว่าภาคใต้นั้น"แตกเสียงปืน" ก็เมื่อปีต่อมา(2509) และภาคเหนือก็ "แตก" เมื่อ 2511 เป็นเรื่องต่างวันเวลากันนั่นเอง แต่อย่างไรก็ดี พคท.ก็ถือเอาวันที่ 7 สิงหา ซึ่งเป็นวันแรกที่ทหารป่าปะทะกับกองกำลังของฝ่ายรัฐบาลเป็น "วันสำคัญของพรรค" เป็น"วันสำคัญ" อันเกี่ยวเนื่องกับกาลเวลาและระยะทาง

ในรอบหนึ่งปีการได้มารำลึกถึงวันที่ถือว่าเป็นวันเริ่มต้นการต่อสู้ นอกจากเป็นการนึกย้อนกลับไปสู่อดีตแลัว ยังผูกพันธ์กับการนับวันเดือนปีตลอดระยะเวลาที่ต่อสู้มา เพื่อเป้าหมายการปฎิวัติอันยิ่งใหญ่ เป็นการเชื่อมโยงไปสู่อนาคตและปัจจุบันกาล อีกด้านของเหรียญเดียวกันนี่เป็นวิธีการสำคัญวิธีหนึ่งที่ทำให้พวกเขา สามารถเก็บรักษาและถ่ายทอดประสบการณ์การต่อสู้ที่พวกเขามีร่วมกันไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและแนบเนียน

ขณะเดียวกัน "วันสำคัญ" นั้น ถึงแม้จะเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ แต่ทั้งนี้ประวัติศาสตร์มีอยู่หลายแง่มุม และมีเจตนาต้องการ "บอกเล่า" อะไรที่เหมือนกันบ้าง ต่างกันบ้าง " วันสำคัญของชาติ" ยังคงเป็นวันที่ชนชั้นผู้มีอำนาจพยายามจะ "บอกเล่า" ความสำคัญของมันผ่านมุมมองและผลประโยชน์ของตนเอง อีกทั้งยังมักสมมติเอาวันที่เกี่ยวข้องกับตัวเองเป็นสำคัญ

สถาบันพระมหากษัตริย์นั้นมี "วันสำคัญ" ที่ได้รับการสมมติให้เป็น
"วันสำคัญของชาติ" มากว่าใครอื่น ที่เหลือก็เป็นวันที่ฝ่ายชนชั้นผู้มีอำนาจพยายามช่วงชิงนิยามเอาจากฝ่ายอื่น เช่น วันที่ 1 พฤษภา เป็นต้น "วันสำคัญของฝ่ายสามัญชน" มักไม่ค่อยได้รับการยกย่องจากรัฐให้เป็น " วันสำคัญของชาติ"

แต่เป็นที่น่ายินดียิ่งนักที่ "วันที่ 14 ตุลา" นั้น ได้รับการยอมรับให้เป็น "วันประชาธิปไตย" โดยมติโหวตจากการประชุมสภาเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2546 ที่เพิ่งผ่านมานี้ นั่นหมายถึงว่า ต่อไปนี้เรื่องราวเมื่อครั้ง 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งได้กลายเป็นประวัติศาสตร์สำคัญของการต่อสู้กับอำนาจรัฐกดขี่ จะได้รับการ "บอกเล่า" ต่อชนรุ่นหลังผ่านการเป็น "วันสำคัญของชาติ" แต่สภาพการณ์อย่างใหม่มักนำปัญหาใหม่ๆมาให้เราขบคิดหาทางแก้เช่นกัน (ดังปรากฎว่ามีเรื่องยุ่งยากเกี่ยวกับการสมมติชื่ออย่างที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้) ต่อจากนี้สิ่งที่เราน่าจะพิจารณาให้ลึกลงไปอีกจึงได้แก่


1.

ระวังเรื่องการตีความ เพราะกรณีตัวอย่างก็มีมาตั้งแต่ครั้งหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา เกิดขึ้นหมาดๆ เคยมีผู้ตีความ 14 ตุลา ออกเป็น 2 แบบ คือ แบบ"วันมหาวิปโยค" และแบบ "วันมหาปิติ" จะเลือกมอง 14 ตุลา จากจุดยืนของ ฝ่ายไหนควรชัดเจน อย่าปล่อยความคลุมเครือไว้เป็นภาระ แก่ชนรุ่นใหม่ เพราะไม่แน่ว่าการตีความแบบ ที่มองว่าวันนั้นเป็น "วันมหาปิติ" อาจหมดความสำคัญไปได้ง่าย และ

2.

จะบอกเล่าอย่างไร ? "วันสำคัญของชาติ" โดยปกติถือเป็น"วันหยุดราชการ" ไปพร้อมกันด้วย ถ้า 14 ตุลา ไม่ได้เป็นวันหยุดฯไปด้วยในตัวมันก็จะไม่มีความหมายอะไรมากมาย ในเมื่อมันไม่อาจเข้าไปมีบทบาทต่อการดำรงชีวิตประจำปีของคนทั้งชาติ คนชายขอบที่ไม่เคยสัมพันธ์กับวันคืนเมื่อครั้งเดือนตุลา และที่ไม่สามารถเข้ามาชมนิทรรศการ, การประชุมสัมมนา, และภาพ วีดีโอบันทึกเหตุการณ์ในวันดังกล่าว จะไม่ได้รับรู้ว่า วันนั้น(14 ตุลา)ต่างจากวันธรรมดาที่ผ่านมาในชีวิตเขาอย่างไร


ตำราเรียน ตลอดจนกิจกรรมประกอบการรำลึกก็จัดว่ามีความสำคัญ ซึ่งนั่นหมายถึงการยอมรับและสนับสนุนจากกลไกอำนาจของรัฐ การณ์นี้มันจึงเป็นกระบวนการที่ขัดแย้งกันระหว่างเป้าหมายกับวิธีการ ระหว่างการสร้างสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐ-ท้าทายชนชั้นปกครองอย่าง 14 ตุลา กับความจำเป็นที่ต้องอาศัยความสนับสนุนจากอำนาจรัฐ ในการทำให้มันเป็นวันที่เกี่ยวข้องกับคนทั้งชาติ เป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนยิ่งนัก งานนี้ปัญญาชนฝ่าย14 ตุลาคงต้องวุ่นไปอีกนาน !

นอกจากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้แล้ว ตามความเป็นมาเชิงประวัติศาสตร์ รัฐ (และสังคมไทย) นอกจากจะมี "วัน" ที่เมื่อระลึกถึงแล้วสามารถให้ความรู้สึกเชิงบวกกับเราและ "เรา" ในวันนี้สามารถ "รู้สึก" ไปกับมันได้แล้ว รัฐไทยยังเคยสร้าง " วันที่น่าเอียน" ขึ้นมาอีก "6 ตุลา" จัดเป็นวันสำคัญของชาติ(ไทย)หรือไม่ ? ถ้าไม่ใช่! เราคงต้องถามกันต่อว่า นั่นเป็นทัศนะของใคร ? ถ้าใช่! ฉะนั้น 6 ตุลา จัดเป็นวันสำคัญของชาติ(ไทย)ในแง่ใด? ทุกปีในวันนี้เราได้รำลึกถึงอะไร? ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

นี่อาจเป็นคำถามง่ายๆ ที่หลายคนตอบได้แต่ไม่ตอบ และบทความนี้ก็อาจไม่มีความสำคัญอะไร เพราะแม้ใครไม่ได้อ่านก็ไม่ถึงกับต้องนอนไม่หลับสำหรับราตรีที่กำลังจะผ่านไปในอีก "วัน" นี้ !


กำพล จำปาพันธ์

นักวิชาการอิสระ


บทความนี้เคยตีพิมพ์แล้วใน นิตยสาร OPEN
ฉบับเดือนธันวาคม ๒๕๔๖ (คอลัมน์ center)


ที่มา : มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : วันสำคัญกับการเมืองของความเป็นจริง วันสำคัญของชาติ : ความหมาย, อำนาจ, และการเมือง


หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ