หนังสือ The King Never Smiles (กษัตริย์ไม่เคยยิ้ม)
เขียนโดย Paul Handley (2006)
สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัย Yale
วิจารณ์โดย รศ.ใจ อึ๊งภากรณ์
คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การที่หนังสือเล่มนี้เป็น ‘หนังสือต้องห้าม’ ในไทย เป็นผลเสียต่อประชาชนและต่อสถาบันกษัตริย์เอง เพราะอย่างที่เรารู้กัน มีการถ่ายเอกสารอย่างทั่วถึง ยิ่งห้ามคนยิ่งอยากอ่าน แต่การห้ามมีผลทำให้ไม่สามารถแลกเปลี่ยนถกเถียงอย่างเป็นทางการถึงข้อดีข้อเสียของหนังสือนี้ได้ คนเลยตีความว่าทุกอย่างที่พิมพ์ในหนังสือเล่มนี้เป็นความจริง
ผมเองในฐานะที่ไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ ก็ไม่สามารถตัดสินใจในทุกเรื่อง ว่าหนังสือนี้เสนอข้อมูลถูกตรงไหน ผิดตรงไหน ถ้าผมไม่รู้มาก่อน
ผมอยากทราบข้อมูลแบบนี้จากนักประวัติศาสตร์ แต่ปัญหาหลักการโดยทั่วไปของกรณีแบบนี้คือ เราไม่มีความโปร่งใสในการตรวจสอบการทำงานของ ‘ประมุข’ และผู้ที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับประมุขอีกด้วย
ถ้าประมุขมีความสำคัญต่อสังคมไทย ซึ่งไม่มีใครปฏิเสธ เราควรมีความโปร่งใสตรงนี้ และประชาชนทั้งหมดควรมีสิทธิแสดงความเห็นและชี้แนะเกี่ยวกับการทำงานของประมุขอีกด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้คนกลุ่มเล็กๆ อย่างทหารหรือองคมนตรีมีสิทธิเท่านั้น
หนังสือ ‘กษัตริย์ไม่เคยยิ้ม’ นี้เป็นผลงานวิจัยของนักข่าวที่มีประสบการณ์การทำงานในไทยมายาวนาน การที่มหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐอย่าง Yale พร้อมจะตีพิมพ์เล่มนี้ แสดงว่าเขารู้ว่า Handley ใช้เวลาศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง มันไม่ใช่นิยายกระตุ้นความสนใจ นิยายหลอกเด็ก หรือแผ่นพับนินทาเจ้า มันเต็มไปด้วยข้อมูลเกี่ยวกับประมุขไทยและราชวงศ์ และในยุคนี้สังคมไทยน่าจะโตพอที่จะรับได้ ไม่ว่าจะเชื่อหรือไม่ ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับการตีความหรือไม่
การห้ามนำเข้าหนังสือเล่มนี้ ชวนให้เราคิดว่า ชนชั้นปกครองไทยกลัวการพูดคุยในเรื่องความจริงที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เพราะกลัวว่าจะมีผลในด้านลบกับการนิยมสถาบัน คำถามสำคัญคือ ชนชั้นนำไทย ต้องการสื่อภาพแบบนี้หรือไม่?
ขอเข้าถึงเรื่องเลย ... เล่มนี้มีปัญหาหลายอย่างพร้อมกับมีข้อดีด้วย ในหลายเรื่องไม่มีอะไรใหม่ เพราะแค่เขียนในสิ่งที่คนซุบซิบกันทั่วบ้านทั่วเมืองอยู่แล้ว ข้อเสีย ส่วนใหญ่อยู่ที่การตีความและการนำเรื่องซุบซิบมาเสนอมากเกินไป แต่ข้อดีคือ เรื่องที่เป็นข้อมูลที่มีหลักฐานรองรับ
ขอเริ่มที่ข้อเสียในการตีความก่อน...
1. การให้ความสำคัญกับสถาบันเบื้องบนมากเกินไปในการอธิบายสังคมไทย และการดูถูกคนจน
ผมเข้าใจดีว่า เนื่องจากผู้เขียน (Handley) ทำการวิจัยเรื่องกษัตริย์ ย่อมเป็นเรื่องปกติที่เขาจะให้น้ำหนักกับสถาบันนี้เป็นพิเศษ แต่มันมีปัญหา เพราะ Handley เพียงแต่เสนอประวัติศาสตร์รูปแบบ ‘ผู้นำทำทุกอย่าง’ โดยคนธรรมดาจำนวนมากหายไปจากประวัติศาสตร์
Handley เสนอเกินเหตุด้วยจิตใจดูถูก ว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยไม่รู้อะไรเลย โง่ และไม่เคยมีผลต่อสังคม แนวนี้เพียงแต่เป็นการรื้อฟื้นแนวขวาปฏิกิริยาของคนอย่าง Fred Riggs ซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่ของนักวิชาการกระแสหลักไทย Riggs เสนอว่าคนชั้นล่างในสังคมไทยไม่สนใจการเมือง ไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับสังคมและพอใจจะเป็นผู้น้อยในสังคมการเมืองของ ‘รัฐข้าราชการ’ สรุปแล้วคนไทยส่วนใหญ่คิดเองไม่เป็น มีนิสัยทาส และมีความสุขกับการเป็นทาส ....
Handley หยาบ เวลาพูดว่า... การปฏิวัติ 2475 เป็นแค่การกระทำของอภิสิทธิ์ชนที่จบจากเมืองนอก คนชนบทไม่เกี่ยวและไม่สนใจ (น. 3 และ 43) ซึ่งมุมมองนี้ขัดกับการวิเคราะห์ 2475 ของนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ที่เสนอข้อมูลว่า กระแสสำคัญในสังคมไทย ทั้งในเมืองและชนบท เป็นกระแสที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (ดูหนังสือ ‘การปฏิวัติสยาม 2475’ สำนักพิมพ์อมรินทร์ 2540).. Handley เสนอต่ออย่างน่าเกลียดที่สุดว่า ตอนที่รัชกาลที่ 9 ขึ้นครองใหม่ๆ คนไทยส่วนใหญ่ ขาดการศึกษา (โง่) ไม่เข้าใจเรื่องรัฐสมัยใหม่ และพร้อมจะพึ่งพากษัตริย์ให้ทำทุกอย่างให้ เพราะชีวิตวนเวียนกับหมู่บ้าน วัด และพิธีศาสนาพุทธ เท่านั้น (น. 6, 10) สรุปแล้วคนไทยส่วนใหญ่อยู่กลางทุ่งและไม่รู้เรื่องอะไรเลย ผู้นำจึงกำหนดทุกอย่าง (น. 94, 105) มันเป็นมุมมองที่ขัดกับข้อมูลประวัติศาสตร์โดยสิ้นเชิง และการที่ Handley เกลียดชังและดูถูกคนจน ก็ไม่ต่างจากพวกที่สนับสนุนเผด็จการทหารปัจจุบัน ที่มองว่าทักษิณ ชินวัตร ซื้อวิญญาณคนจนที่โง่ๆ นั่นเอง
เราคงไม่แปลกใจที่ Handley มองอย่างหลุดโลกจริงว่า ประวัติศาสตร์ไทยทั้งหมดตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง (ยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม) ถูกกำหนดโดยรัชกาลที่ 9 คนเดียวเท่านั้น (น. 10) มีการเสนอว่าจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นแค่เครื่องมือของวัง (น.139, 153) ซึ่งต่างจากมุมมองของนักวิชาการอย่างทักษ์ เฉลิมเตียรณ ที่มองว่า สฤษดิ์เป็นคนที่ชูเจ้าแต่แรก เพื่อสร้างความชอบธรรมกับตัวเอง (ดูหนังสือ ‘การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ’ สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2525)
ในกรณี 14 ตุลาคม 2516 เล่มนี้เริ่มไปกันใหญ่เลย Handley อ้างว่า กษัตริย์กับพลเอกกฤษณ์ สีวะรา สองคน เป็นผู้กำหนดทุกอย่างที่เกิดขึ้น และก่อนหน้านั้น เผด็จการทหารไทยเริ่มอ่อนแอลง เพราะประธานาธิบดีสหรัฐ ริชาร์ด นิกสัน ไปจับมือกับรัฐบาลจีน (น. 205, 210, 213) สรุปแล้วนักศึกษาและกรรมาชีพไม่เกี่ยวอะไรเลยกับ 14 ตุลา 16 หรือเป็นแค่เบี้ยล่าง Handley เสนอต่อว่า หลัง 6 ตุลาคม 2519 รัชกาลที่ 9 กลายเป็นอำนาจสูงสุดในรัฐ (น.7) แต่ประวัติศาสตร์บันทึกว่า นายกฯ ธานินทร์ กรัยวิเชียร คนโปรดของวังที่เข้ามาดำรงตำแหน่งหลัง 6 ตุลา ถูกไล่ออกจากตำแหน่งภายในหนึ่งปี เพราะมีกระแสคัดค้านมากมาย ดังนั้นกษัตริย์จะมีอำนาจสูงสุดได้อย่างไร?
สำหรับ Handley พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็น ‘คนของกษัตริย์’ แต่แรก (น.27) ดูเหมือน Handley เชื่อว่านายกฯเกือบทุกคนเป็นคนของวัง แต่ใครๆ ก็ทราบว่า นายกเปรมฯ เริ่มต้นจากการเป็นคนที่ใกล้ชิดกับพระราชินีไม่ใช่หรือ? คำถามที่สำคัญกว่านั้นคือ พลเอกเปรม และนายกฯคนอื่นๆ หลายคน เข้าใกล้วังเพื่อปกป้องฐานะตนเอง หรือเป็น ‘คนของวัง’ แต่แรก? และในกรณีพลเอกเปรม Handley สารภาพเองว่าการเป็นคนของวัง ก็ไม่สามารถปกป้องเปรมจากการถูกปฏิเสธโดยกระแสสังคมในที่สุด (น. 325)
อีกคำถามหนึ่งคือก่อนที่นายกฯ เปรมต้องออกจากตำแหน่ง ในกรณีการทำรัฐประหารล้มเหลวของทหารหนุ่มในปี 2524 ทำไมกษัตริย์ไม่ยอมออกมาชี้ขาดว่า เข้าข้างใครตั้งแต่นาทีแรก? (น.282) เป็นเพราะสถาบันกษัตริย์พร้อมจะตามกระแสผู้ที่มีอำนาจในสังคม เพื่อลอยอยู่เหนือสังคมต่อไป หรือกษัตริย์มีอำนาจกำหนดประวัติศาสตร์อย่างที่ Handley เสนออย่างนั้นหรื่อ? สรุปแล้วงานชิ้นนี้ขัดแย้งในตัวเอง และขัดแย้งกับข้อมูลประวัติศาสตร์
ในกรณีทักษิณ Handley ดูเหมือนจะเชื่อว่า นายกฯทักษิณอยากเป็นประธานาธิบดีในระบบสาธารณรัฐ (น.424) แต่ไม่มีข้อมูลอะไรเลยที่รองรับข้อเสนอว่า ทักษิณไม่เห็นด้วยกับระบบกษัตริย์ Handley มองข้ามบทบาทสถาบันกษัตริย์ทั่วโลกในการเป็นที่พึ่งสุดท้ายของระบบทุนนิยมและชนชั้นนายทุนที่ปกป้องเสถียรภาพของระบบ (ดู ใจ อึ๊งภากรณ์ บทที่ 3 ใน ‘รื้อฟื้นการต่อสู้ ซ้ายเก่าสู่ซ้ายใหม่ไทย’ สำนักพิมพ์ประชาธิปไตยแรงงาน 2547) นอกจากนี้ Handley มีการเสนอข้อมูลขัดแย้งอีกคือ องค์กรที่เป็นของวัง ร่วมทำธุรกิจกับทักษิณ เช่นการที่ธนาคารไทยพาณิชย์ขายหุ้น ITV ให้ทักษิณ (น. 425) และเราก็รู้ว่า ทักษิณอาศัยธนาคารนี้ในการขายหุ้นชิน คอร์ป ให้เทมาเส็กอีกด้วย ซึ่งแสดงว่าในกรณีดังกล่าว ผลประโยชน์วังกับทักษิณ สอดคล้องกัน
นอกจากนี้ Handley เสนอว่าวังกับพลเอกเปรมพยายามปกป้องทักษิณในช่วงที่พึ่งชนะการเลือกตั้งครั้งแรกในกรณีปัญหาการซุกหุ้น (น.425)
ในประเด็นบทบาทสถาบันกษัตริย์ เราปฏิเสธไม่ได้ว่า สถาบันนี้มีความสำคัญในสังคมไทย แต่สำคัญในรูปแบบที่ Handley เสนอหรือไม่? นี่คือคำถาม เพราะทิศทางสังคมไทยถูกกำหนดจากปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย รวมถึงภาคประชาชนด้วย ไม่ใช่แค่สถาบันเบื้องบนอย่างเดียว ยิ่งกว่านั้นสถาบันกษัตริย์ที่ยั่งยืนในโลกปัจจุบัน ต้องอาศัยการเป็นจุดรวมศูนย์ของสังคมที่ลอยอยู่เหนือความขัดแย้งหลายอย่าง ไม่ใช่ลงไปเล่นการเมืองโดยตรงตลอดเวลาอย่างที่ Handley เสนอ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น ประมุขไทยและผู้ให้คำปรึกษาคิดสั้นจริงๆ ประเด็นต่อไปที่ต้องพิจารณาจากหนังสือคือ ประมุขไทยมีเป้าหมายอะไรในการปกป้องสถาบัน? และอยากเห็นสถาบันกษัตริย์ที่มีบทบาทในรูปแบบใด
2. การเสนอว่ากลุ่มนิยมเจ้าและกษัตริย์ต้องการกลับสู่ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ปัญหาใหญ่ข้อที่สองของหนังสือเล่มนี้ คือข้อเสนอว่า ประมุขไทยถูกกล่อมเกลาจากคนอย่างพระองค์เจ้าธานีฯ เพื่อต้องการให้ปกครองบ้านเมืองในลักษณะ ‘สมบูรณาญาสิทธิราชย์ของราชวงศ์จักรีที่เป็นธรรมราชา’ (น. 10, 200, 239, 358) ตรงนี้ Handley มองต่างมุมกับธงชัย วินิจจะกูล ที่เสนอว่า ฝ่ายนิยมเจ้าอย่างเช่น พระองค์เจ้าธานีฯ เลิกคิดจะรื้อฟื้นระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หลัง 2488 เพราะพ่ายแพ้ฝ่ายต้านเจ้าอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นจึงหันมาพยายามยกระดับบทบาทกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญแทน โดยเน้นเรื่องกษัตริย์ประชาธิปไตยและธรรมราชา (ดู ธงชัย วินิจจะกูล ‘ข้ามให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง14 ตุลา’ วารสารฟ้าเดียวกันปีที่ 3 ฉบับที่ 4 หน้า 147) แต่ Handley พูดถึงแต่การพยายาม ‘แก้แค้น...แย่งชิงสิทธิ์เกา่ ที่เสียไปใน 2475 คืนกลับมา’ (น.6) ในหนังสือของ Kullada Kesboonchoo Mead มีข้อมูลที่เสนอว่า ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่รัชกาลที่ 5 สร้างขึ้น ไร้เสถียรภาพมาก (ดู The Rise and Decline of Thai Absolutism, 2004, RoutledgeCurzon) ดังนั้นการพยายามกลับสู่ระบบนี้ในยุคปัจจุบัน น่าจะทำไม่ได้ ใครที่มีสติปัญญา
ที่ไม่หลงใหลในนิยาย คงมองออกว่า กษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์หมดยุคนานแล้ว และที่ไหนที่ยังดำรงอยู่ เช่น เนปาล ไม่มีเสถียรภาพเลย Handley ดูเหมือนไม่เข้าใจข้อแตกต่างระหว่างกษัตริย์ศักดินาที่มีอำนาจน้อยและกระจัดกระจาย กับกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งเกิดขึ้นมาในยุครัชกาลที่ 5 และอยู่ได้ไม่ถึง 60 ปี (น. 33) การแยกไม่ออกแบบนี้สอดคล้องกับการมองอย่างผิดๆ ว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์คือรูปแบบสถาบันอันเก่าแก่ของไทย
สรุปแล้ว Handley คิดว่ากษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชเป็นรูปแบบดั้งเดิมโบราณของไทย และคิดว่าทั้งฝ่ายวังและประชาชนชื่นชมและยึดติดกับระบบนี้มานาน ซึ่งขัดกับข้อมูลประวัติศาสตร์
อย่างไรก็ตาม การเสนอว่ากษัตริย์อยากมีอำนาจล้นฟ้า ถึงแม้ว่าพูดเกินเหตุ แต่ก็นำไปสู่การพิจารณาประเด็นสำคัญอันหนึ่งคือ ท่าทีของกษัตริย์ต่อประชาธิปไตย ซึ่งการพิจารณาเรื่องนี้เป็นข้อดีข้อสำคัญของหนังสือ
3. ท่าทีของสถาบันกษัตริย์ต่อประชาธิปไตย
สาเหตุหนึ่งที่ Handley มองว่ากษัตริย์มีเป้าหมายเป็น ‘สมบูรณาญาสิทธิราชย์ของราชวงศ์จักรีที่เป็นธรรมราชา’ อาจเป็นเพราะกษัตริย์ไม่เคยปกป้องประชาธิปไตยเลย ดูเหมือนไม่ไว้ใจนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง และพร้อมจะทำงานร่วมกับหรือสนับสนุนเผด็จการทหาร นี่คือจุดยืนที่คงเส้นคงวา ไม่ว่าจะเป็นสมัย สฤษดิ์ ถนอม ธานินทร์ เปรม หรือสุจินดา (น. 8, 138 144, 337, 341, 360) และล่าสุดก็ต้องรวมเผด็จการของสุรยุทธ์อีกด้วย (ดูพระราชดำรัส 4 ธ.ค. 49) จุดยืนที่ไม่สนับสนุนอุดมการณ์ประชาธิปไตยนี้ รวมถึงการคัดค้าน อองซานซูจี ในพม่าอีกด้วย (น. 361) ข้อมูลตรงนี้ที่ Handley เสนอเป็นเรื่องสำคัญสำหรับประชาชนไทยทุกคน เพราะเราควรพิจารณาว่า ประมุขไทยมีหน้าที่ปกป้องประชาธิปไตยหรือไม่
ถึงแม้ว่าสถาบันกษัตริย์ไม่ค่อยปกป้องประชาธิปไตย แต่ไม่ได้หมายความว่า จะไม่มีการพูดถึงประชาธิปไตย ซึ่งมีการพูดกันโดยฝ่ายที่นิยมเจ้า หรือฝ่ายที่อ้างเจ้า การโกหกของคณะทหาร 19 กันยา ว่าทำรัฐประหารไปเพื่อปกป้องและปฏิรูปประชาธิปไตย ไม่ต่างจากข้อแก้ตัวของฝ่ายนิยมเจ้าว่า กษัตริย์ไทย ‘แต่โบราณ’ มีตำแหน่งมาจากการ ‘เลือกตั้ง’ ของประชาชนมากกว่านายกฯที่มาจากการเลือกตั้ง (น. 135) ตรงนี้ Handley มองเหมือนธงชัยว่า ฝ่ายนิยมเจ้าพยายามสร้างวาทกรรมเกี่ยวกับกษัตริย์ประชาธิปไตยโบราณ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แม้แต่พวกที่นิยมเผด็จการก็เข้าใจดีว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยตอนนี้ มีอุดมการณ์ที่รักประชาธิปไตย
คำถามสำคัญที่มาจากประเด็นเกี่ยวกับจุดยืนต่อประชาธิปไตยคือ สถาบันกษัตริย์เลือกจุดยืนตนเองอย่างอิสระ ในรูปแบบผู้มีอำนาจ อย่างที่ Handley พยายามเสนอ หรือแท้จริงแล้วมักตามกระแสผู้มีอำนาจมาตลอด เพราะยอมรับความจริงในโลกจริง และพยายามปกป้องความมั่นคงของสถาบัน สิ่งที่เกี่ยวข้องอีกก็คือ ใครนอกรั้ววังสามารถใช้สถาบันเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือกลุ่มตนเองบ้าง Handley กล่าวถึงกรณีรัชกาลที่ 8 ว่ากษัตริย์และสมเด็จย่าไม่ออกมาปกป้องผู้บริสุทธิ์ที่ถูกประหารชีวิตในข้อกว่าวหาว่าเป็นฆาตกร (น. 78, 125) โดยไม่อธิบายเหตุผล แต่ที่ชัดเจนคือ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ได้ประโยชน์จากการประหารชีวิตผู้บริสุทธิ์เหล่านั้น (น. 93)
คำถามที่สำคัญคือ ผู้ที่ใช้ผ้าสีเหลืองและกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ต้องการปกป้องสถาบันกษัตริย์ หรือต้องการใช้สถาบันนี้เพื่อเป็นเครื่องมือปกป้องผลประโยชน์ตนเอง
นี่คืออีกสาเหตุหนึ่งที่เราควรมีความโปร่งใสเกี่ยวกับกษัตริย์ ซึ่งแปลว่าต้องยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
4. อำนาจจำกัดของสถาบันกษัตริย์
ทั้งๆ ที่ Handley เชื่อว่ากษัตริย์มีอำนาจในการกำหนดการเมืองไทย แต่ในหลายๆ ส่วนของหนังสือ เราจะเห็นภาพการคัดค้านกษัตริย์โดยทหาร ตำรวจ ข้าราชการ นักการเมือง และภาคประชาชน ซึ่งช่วยคานนิยายปัจจุบันที่มองว่าไม่มีใครขัดแย้งกับสถาบันนี้
เริ่มแรกก็สมัยจอมพลป.พิบูลสงคราม พลต.อ.เผ่า ศรียานนท์ และ พล.อ.ผิน ชุณหะวัณ ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เพราะผู้นำเหล่านี้ไม่ชอบเจ้าอยู่แล้ว มีการยกเลิกการใช้ราชาศัพท์และพิธีหมอบคลาน (น.150) Handley กล่าวถึงรัฐประหารปี 2494 ซึ่งมีผลให้นำรัฐธรรมนูญปี 2475 กลับมาใช้ชั่วครา วเพื่อลดทอนอำนาจกษัตริย์จากรัฐธรรมนูญปี 2492
Handley เล่าว่า พล.อ.เผ่า ‘ไปหากษัตริย์ที่หัวหินและใช้การข่มขู่บังคับให้ยอมรับรัฐธรรมนูญนี้’ (น. 117) และกระแสส่วนใหญ่ในสังคมก็ไม่ค่อยพอใจกับการเพิ่มอำนาจให้กษัตริย์แต่แรกในยุค 2492 (น.92) นอกจากนี้ในปี 2526 เมื่อพลเอกเปรม(คนโปรดของกษัตริย์ในมุมมอง Handley) พยายามปกป้องรัฐธรรมนูญ 2521 ที่ให้สิทธิพิเศษกับทหาร ประชาชนก็ออกมาคัดค้านจนเปรมต้องยอม และในช่วงเดียวกัน มีปัญญาชนออกมาวิจารณ์การที่กษัตริย์ลงมาเล่นการเมืองมากเกินไป เพราะจะทำให้ทำหน้าที่เป็นจุดรวมศูนย์ชาติได้ยากขึ้น (น. 285, 298)
ยิ่งกว่านั้นต้นปี 2535 กษัตริย์สนับสนุนเผด็จการสุจินดา แต่ประชาชนไม่ฟัง เลยออกมาประท้วงในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ จนสุจินดาต้องลาออก ช่วงพฤษภาทมิฬเป็นช่วงแรกที่ Handley เริ่มยอมรับว่า ‘คนชั้นกลาง’ มีส่วนในการกำหนดทิศทางสังคมร่วมกับชนชั้นนำ แต่คนส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่คนชั้นกลางยังถูกมองข้ามต่อไป
ข้อดีสำคัญอีกข้อหนึ่งของหนังสือเล่มนี้คือ การตั้งคำถามว่า กษัตริย์เป็นเพื่อนของคนจนหรือไม่
5. จุดยืนของสถาบันกษัตริย์ต่อคนจน
เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่ากษัตริย์พูดเป็นประจำว่า ห่วงใยประชาชนคนจน และมีโครงการหลวงมากมาย แต่ Handley ตั้งคำถามว่า ลึกๆ แล้วความจริงคืออะไร Handley อธิบายว่า โครงการบริจาคเงินของประชาชนและนายทุนที่ประสานโดยวัง เพื่อแก้ไขปัญหาภัยธรรมชาติและความทุกข์ร้อนอื่นๆ เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความชอบธรรมกับสถาบัน (น.130) แต่ส่วนใหญ่แล้วปริมาณเงินที่ช่วยชาวบ้าน มักจะน้อยกว่าที่รัฐใช้เสมอ (น.167) และมีการสร้างภาพที่มองข้ามการทำงานของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่ทำงานแก้ปัญหามากมายตลอดเวลา (น. 369)
ในเรื่องจุดยืนและอุดมการณ์ในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ วังคัดค้านการกระจายรายได้ผ่านการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกเลย เพราะสถาบันกษัตริย์ทั่วโลกคงมีจุดยืนอนุรักษ์นิยมแบบนี้ ตัวอย่างที่เห็นชัดจากหนังสือ Handley มีหลายกรณี เช่น ในสมัยจอมพล ป. ในปี 2495 มีข้อเสนอให้จำกัดการถือครองที่ดินให้ไม่เกิน 50 ไร่ กฎหมายนี้ถูกคัดค้านอย่างแรงจากวัง กษัตริย์พยายามไม่เซ็นกฎหมายสองครั้ง แต่ในที่สุดต้องยอมในปี 2497 อย่างไรก็ตาม เจ้าที่ดินรายใหญ่มีเวลาปรับตัวขายที่ดิน 7 ปี และในปี 2500 จอมพลสฤษดิ์ก็ก่อรัฐประหารล้มรัฐบาลและยกเลิกกฎหมายนี้ (น.126)
Handley เสนอว่าจุดยืนคัดค้านคอมมิวนิสต์ของกษัตริย์ อาจทำให้ประชาชนคนจนมองว่า ขัดแย้งกับการพูดว่าห่วงใยคนจนก็ได้ (น.198) ยิ่งกว่านั้นข้อขัดแย้งจากการนัดหยุดงานที่โรงแรมดุสิตธานี (ซึ่งวังถือหุ้น ส่วนอยู่) หรือการร่วมทุนกับนายทุนสิ่งทออย่างคุณสุกรีที่ย่านรังสิต อาจทำให้คนมองว่า กษัตริย์อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับสหภาพแรงงาน (น.174, 244)
นอกจากนี้กษัตริย์เคยพูดคัดค้านระบบสวัสดิการสังคม (ดู Kevin Hewison,1997, The Monarchy and democratization. ในหนังสือ Political Change in Thailand. Democracy and Participation.)
Handley ชี้ให้เห็นว่า การออกมาแสดงจุดยืนสุดขั้วในการสนับสนุนนายทุน อาจไม่เป็นประโยชน์ต่อสถาบันกษัตริย์ เพราะกษัตริย์มีหน้าที่เป็นจุดรวมศูนย์ของสังคม ซึ่งรวมถึงคนจน ดังนั้นกษัตริย์มีการพูดไม่ชัดเจนแบบตีความได้สองด้าน (น. 204) เช่น ในยุค 14 ตุลา มีการพยายามเอาใจนักศึกษาด้านหนึ่ง แต่ในอีกด้านก็เตือนไม่ให้นักศึกษาเคลื่อนไหว ในกรณี 6 ตุลา Handley มองว่า กษัตริย์สนับสนุนการปราบนักศึกษา (น. 205, 209, 211, 228, 238) แต่ดูเหมือนกษัตริย์วิจารณ์ทุนนิยมว่า ทำให้ชาวนาตกเป็นทาสนายทุน (น.209) ในขณะเดียวกันวังมักเน้นความสำคัญของความสงบเรียบร้อยของสังคม (น.204) และคัดค้านการทำงานของเอ็นจีโอ โดยเฉพาะในเรื่องเขื่อน (น. 365)
Handley คงจะพยายามทำความเข้าใจกับ ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ แต่ยังมองไม่ออกว่า มันคืออะไร ถ้าดูการตีความเศรษฐกิจพอเพียงของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รัฐมนตรีการคลัง ในปาฐกถา 2 พ.ย. 2549 จะเห็นว่า เขามองว่าเป็น ปรัชญาที่แปลว่า ‘ไม่มากเกินไปและไม่น้อยเกินไป’ คือความ ‘พอดี’ โดยไม่มีรายละเอียดอะไร เพียงแต่ต้องพยายามนำไปใช้ หลายคนอาจไม่แปลกใจว่า ในที่สุด Handley สรุปว่า เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เศรษฐศาสตร์ (น. 415)
6. ปัญหาเรื่องการกล่าวถึงชีวิตส่วนตัวในวัง
หนังสือเล่มนี้มีรายละเอียดเกี่ยวกับปัญหาส่วนตัวของบุคคลในราชวงศ์มากมาย (น. 11, 301, 304, 396) มีการพูดถึงการตัดสินใจผิดพลาดในการลงทุนร่วมกับนักธุรกิจในยุคต่างๆ ด้วย (น. 245, 270)
ในแง่หนึ่ง การลงรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวของคนในวัง ถ้าไม่ระวัง จะกลายเป็นเรื่องการนินทาที่ไร้สาระ พิสูจน์ยาก และบางครั้งคนอาจมองว่า ละเมิดชีวิตส่วนตัว แน่นอนเรามีสิทธิ์ที่จะรับทราบและตรวจสอบพฤติกรรมของคนสาธารณะที่ได้รับเงินอุดหนุนจากภาษีของเรา โดยเฉพาะการใช้อำนาจหรืออภิสิทธิ์ในทางที่ผิด แต่ผู้ที่นำเรื่องส่วนตัวของบุคคลสาธารณะมาเล่าสู่กันฟัง ต้องพิสูจน์ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นความจริง และที่สำคัญกว่านั้นคือ ต้องพิสูจน์ว่าประเด็นส่วนตัวที่กล่าวถึง มีผลกระทบต่อสังคมสาธารณะ และสังคมมีสิทธิ์รับรู้ เพราะถ้าไม่เกี่ยวข้องก็จะเป็นเพียงการสร้างความตื่นเต้นเพื่อขายหนังสือ
ปัญหาคือชนชั้นนำไทยพยายามเชิดชูราชวงศ์ว่า เป็นคนดีเหนือมนุษย์อื่นๆ แทนที่จะมองว่าเป็นเพียงคนธรรมดาที่มีพฤติกรรมผิดถูกได้ ดังนั้นผู้ที่อยากปรับสถาบันกษัตริย์ให้เหมือนรูปแบบยุโรป อาจต้องการใช้พฤติกรรมและเรื่องส่วนตัวเพื่อมารณรงค์ให้เราเลิกมองว่า การสืบทอดสายเลือดของราชวงศ์เป็นเรื่องวิเศษ เพื่อให้มีการวิจารณ์และตรวจสอบสถาบันกษัตริย์ได้ และเพื่อลดอำนาจ อิทธิพล และความสำคัญของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งลงให้เหมาะสมกับระบบประชาธิปไตยสมัยใหม่
หนังสือเล่มนี้ไม่ควรเป็นหนังสือที่ห้ามนำเข้า ยิ่งกว่านั้นควรมีการแปลเป็นไทย เพื่อให้ประชาชนสามารถ วิพากษ์วิจารณ์ข้อดีข้อเสียของเล่มนี้ได้ และเพื่อให้เราสร้างความโปร่งใสและระบบตรวจสอบประมุขของไทยได้อีกด้วย..
1 ความคิดเห็น:
อ่านบทแปลเพิ่มเติมได้ที่
http://thaitkns-usa.blogspot.com/
แสดงความคิดเห็น