วันอังคารที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2550

THE KINGMAKERS

บทความโดย. ศ.ดร. ธงชัย วินิจจะกูล


เมื่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่สองใกล้เสด็จสวรรคต กลุ่มเจ้านาย และขุนนางในขณะนั้นเห็นว่าราชบัลลังก์สมควรเป็นของกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระราชโอรสพระองค์โต ผู้มีอิทธิพล และบทบาทในราชสำนักเรียบร้อยแล้ว แต่ทว่าทรงประสูติจากพระสนม เจ้าฟ้ามงกุฎพระราชโอรส พระองค์แรก ในสมเด็จพระบรมราชินีศรีสุริเยนทรามาตย์ ทว่าพระชันษาอ่อนกว่าถึง 16 พรรษา จึงเสด็จออกผนวชก่อนพระราชบิดาสวรรคตไม่กี่วัน และทรงอยู่ในสมณเพศต่อมา 27 ปี

เมื่อสิ้นรัชกาลที่สาม ราชบัลลังก์มิได้ตกเป็นของเจ้าฟ้ามงกุฎโดยอัตโนมัติ แต่ในที่สุดกลุ่มเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ในขณะนั้นเห็นสมควรถวายราชบัลลังก์ แด่พระองค์ท่านพระองค์ทรงครองราชย์ต่อมาอีก 18 ปี
โดยทรงตระหนักตลอดเวลาถึงอำนาจและความสำคัญของกลุ่มเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ดังกล่าว

ดังนั้นก่อนที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่สี่จะเสด็จสวรรคต ไม่มีผู้ใดรู้ชัดเจนเลยว่า ราชบัลลังก์จะตกทอดสู่เจ้าฟ้าพระองค์ใด พระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงเลือกด้วยพระองค์เองแต่อย่างใด กลุ่มขุนนางกุมอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินไว้เต็มที่ ในขณะที่เจ้าฟ้าทุกพระองค์ยังทรงพระเยาว์ ในที่สุดกลุ่มขุนนางผู้มีอำนาจ ตัดสินใจถวายราชบัลลังก์แด่เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ แต่ด้วยทรงพระเยาว์ กลุ่มขุนนางจึงสถาปนาตนเองเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน

มีอำนาจทางการเมืองสูงสุดอย่างแท้จริงตลอด 15 ปีแรกของรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ห้า ทรงตระหนักดีถึงสภาวะดังกล่าว ทรงแสดงความคับข้องพระราชหฤทัยไว้ในหลายโอกาส (ดังที่นักประวัติศาสตร์ทราบกันดี) พระองค์ต้องทรงต่อสู้ต่อรองและรอโอกาสต่อมาอีกนาน กว่าที่พระองค์จะทรงสามารถรวบรวมพระราชอำนาจได้เข้มแข็ง บางครั้งความขัดแย้งปะทุจนเกือบเป็นความพินาศดังเช่นวิกฤตการณ์วังหน้าในปี 2417

เมื่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ห้าเสด็จสวรรคต การสืบทอดพระราชบัลลังก์เป็นไปโดยราบรื่น เพราะพระองค์ได้ทรงกำหนดไว้เรียบร้อยก่อนหน้านั้นหลายปี แต่ทว่ากลุ่มเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ที่สืบทอดอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิ นต่อมากลับไม่สามารถทำงานร่วมกับพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ได้อย่างราบรื่น ความขัดแย้งตึงเครียดนำไปสู่การโยกย้ายถอดถอนผู้ใหญ่เหล่านั้น หรือเจ้านายและขุนนางเหล่านั้นหลายท่านสมัครใจถอนตัวไปเอง ความสัมพันธ์ไม่ราบรื่นดำเนินต่อมาตลอดรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เจ็ดขึ้นครองราชย์ด้วยแรงสนับสนุนของพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งกลับมามีบทบาทอีกครั้งหนึ่งยิ่งมิได้ทรงเตรียมพระองค์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ การบริหารราชการแผ่นดินยิ่งต้องอาศัยพระราชวงศ์และขุนนางผู้ใหญ่เหล่านั้น

เมื่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เผชิญหน้ากับกระแสประชาธิปไตยที่ก่อตัวในหมู่ปัญญาชนผู้มีการศึกษา
ผู้มีบารมีและอิทธิพลในระบอบเดิมเหล่านี้มีบทบาทสำคัญไม่น้อยไปกว่าพระเจ้าอย ู่หัวเองในการถ่วงรั้งไม่ยอมให้สามัญชนมีอำนาจมากไป ด้วยเห็นว่าสามัญชนยังด้อยการศึกษา ขาดความรู้ความเข้าใจยังไม่พร้อมปกครองตนเอง อวสานของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในแง่หนึ่งคือ ผลของระบอบการเมืองของผู้มีบารมีเหล่านี้ ซึ่งแวดล้อมพระเจ้าอยู่หัวอยู่ในขณะนั้นหลัง 2475 ผู้นำของคณะราษฎรขัดแย้งกับกลุ่มเจ้าอย่างหนัก

ใช้เวลาหลายปีกว่าจะสยบฝ่ายเจ้าสำเร็จ ผู้นำคณะราษฎรจึงอยู่ในฐานะผู้กำหนดชะตากรรมของราชบัลลังก์เสียเอง ซึ่งหมายถึงการจำกัดบทบาทอำนาจของพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ให้ออกพ้นไปจากการเมืองโดยสิ้นเชิง ทว่าช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ปรีดี พนมยงค์ จำต้องสามัคคีฝ่ายเจ้าในการต่อสู้กับฝ่ายจอมพล ป. พิบูลสงคราม พลังอำนาจฝ่ายเจ้าจึงกลับฟื้นคืนมาใหม่เมื่อสิ้นสงคราม ในที่สุดฝ่ายเจ้าจึงกลับตลบหลังปรีดี จนกลายเป็นกลุ่มที่มีอำนาจสูงร่วมกับทหารหลังรัฐประหาร 2490 ถึง 2494

ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในขณะนั้น และองคมนตรีมีบทบาทและอำนาจสูงมากตามรัฐธรรมนูญ 2492นอกจากจะทรงเป็นผู้ดูแลพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันในระหว่างทรงพระเยาว์แล้ว กลุ่มเจ้านายและขุนนางผู้จงรักภักดีกลุ่มนี้ เป็นผู้ริเริ่มบุกเบิกสถานภาพของพระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย อันเป็นที่มาของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่มั่นคง แข็งแรงทุกวันนี้

ในด้านหนึ่ง เราตระหนักดีถึงความสำคัญของพระมหากษัตริย์ที่มีต่อสังคมไทย ในอีกด้านหนึ่งครั้นเราพิจารณาระบอบการเมือง เรามองเห็นแต่รัฐบาล ทหาร พลเรือน และนักการเมืองคอร์รัปชัน เรามักมองข้ามความจริงง่ายๆ ว่า ประวัติศาสตร์ตามที่เล่ามาข้างต้น เป็นส่วนหนึ่งของการเมืองและระบอบการเมืองตลอดมา สถาบันกษัตริย์ผู้ทรงอยู่เหนือการเมืองและบรรดาผู้ใหญ่ผู้มีบารมี มีความสำคัญทางการเมืองมากอย่างปฏิเสธไม่ได้

คนเหล่านี้บางครั้งก็มีอำนาจทางการเมืองเปิดเผยโดยตรงบางครั้งก็มีในรูปของบา รมีอิทธิพลโดยไม่จำเป็นต้องลงมาเกลือกกลั้วกับการบริหารราชการโดยตรง คนเหล่านี้แต่ก่อนจัดว่าเป็นเจ้านายและขุนนาง ต่อมาจัดเป็นกลุ่มองค์กรทางการ เช่น อภิรัฐมนตรี องคมนตรี หรือสภาที่ปรึกษาต่างๆ นานาคนเหล่านี้มีบทบาทอิทธิพลต่อการสืบราชบัลลังก์มาตลอดประวัติศาสตร์ ซึ่งทุกครั้งมีผลกระทบต่อระบบการเมืองที่ดำเนินอยู่ เพราะภารกิจสำคัญสุดยอดของผู้ใหญ่ผู้มีบารมีเหล่านี้ คือการจัดการให้ระบบการเมืองอยู่ในสภาวะตามที่พวกเขาประสงค์ ตามความเชื่อ (อุดมการณ์) ของพวกเขาว่าจะเป็นระบบที่เอื้ออำนวยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อไปชั่วกาลนานและเอื้ออำนวยต่อผู้ใหญ่ผู้มีบารมีเหล่านี้เองในระยะเปลี่ยนผ่านราชบัลลังก ์

ภายหลัง 2475 ระบบการเมืองที่คนกลุ่มนี้ประสงค์ไม่ใช่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกต่อไป แต่คือระบอบประชาธิปไตยตามแนววัฒนธรรมไทยที่รักษาบทบาทพระราชอำนาจของสถาบัน พระมหากษัตริย์ในฐานะ “อำนาจทางศีลธรรม” เหนือการเมืองสกปรกดีๆ ชั่วๆ ของคนธรรมดา

ยิ่งเข้าใกล้ระยะสำคัญของการเปลี่ยนแปลง ผู้ใหญ่ผู้มีบารมีเหล่านี้ยิ่งต้องทำทุกอย่างเพื่อให้มั่นใจว่าความเปลี่ยนแ ปลงสำคัญอยู่ในวิสัยที่ตนสามารถกำหนดควบคุมได้ จะปล่อยให้ใครมีอำนาจมากแต่นอกลู่นอกทางที่ตนประสงค์ไม่ได้


ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องในอดีตทั้งสิ้น



ตีพิมพ์ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ 18 ตุลาคม 2549

ไม่มีความคิดเห็น: