สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เช้าวันพุธที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ในเวลาเดียวกับที่กำลังตำรวจหน่วยต่างๆ และกลุ่มมวลชนจัดตั้งฝ่ายขวาเข้ากวาดล้างการชุมนุมของขบวนการนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างนองเลือด คณะรัฐมนตรีชุด ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้เปิดประชุมพิเศษขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาล ในท่ามกลางกระแสเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้นและวันต่อๆ มาที่ประกอบขึ้นเป็นภาพลักษณ์ของ "๖ ตุลา" ในความทรงจำของสาธารณชน-ตั้งแต่ความรุนแรงสยดสยองที่ธรรมศาสตร์และสนามหลวง การรัฐประหารของ "คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน" การขึ้นสู่อำนาจของรัฐบาลขวาจัด การปราบปรามกวาดล้างแบบเหวี่ยงแหที่ตามมา และการเข้าป่าต่อสู้ด้วยอาวุธของนักศึกษา
ในท่ามกลางเหตุการณ์เหล่านี้ การประชุมคณะรัฐมนตรีเสนีย์ครั้งสุดท้ายในเช้าวันนั้น กลายเป็นเพียงเหตุการณ์เล็กๆ ที่ไม่สำคัญอะไรนัก และอันที่จริงหากไม่ใช่เพราะเอกสารยาว ๒-๓ หน้าชิ้นหนึ่ง อาจจะถูกลืมไปเป็นส่วนใหญ่
เอกสารที่ว่า, แน่นอน, คือจดหมายฉบับลงวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๒๐ ของสุรินทร์ มาศดิตถ์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและผู้นำประชาธิปัตย์ปีกซ้ายในระหว่างเกิดเหตุการณ์ ๖ ตุลา ซึ่งได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวางทั้งในรูปสำเนาพิมพ์ดีด และตีพิมพ์ในนิตยสารข่าวและหนังสือเกี่ยวกับ ๖ ตุลาหลายฉบับ
การประชุม ครม. วันที่ ๖ ตุลา
ในจดหมายของสุรินทร์ มาศดิตถ์
สุรินทร์เล่าว่า เช้าวันที่ ๖ ตุลา เขาได้มาถึงทำเนียบรัฐบาลเมื่อเวลา ๗ นาฬิกาเศษ ได้บอกกับนักข่าวที่รออยู่ว่ากรณี "ภาพแขวนคอหน้าคล้ายเจ้าฟ้าชาย...ไม่มีปัญหาอะไรแล้ว นายกรัฐมนตรีสั่งดำเนินคดีและกรรมการศูนย์นิสิตนักศึกษาฯ บางคนเข้ามอบตัวแล้ว" หลังจากนั้นเขาได้แวะไปพบเสนีย์ที่ห้องทำงาน และเสนอให้ประกาศภาวะฉุกเฉินห้ามชุมนุม ซึ่งเสนีย์เห็นด้วยและจะนำเข้าที่ประชุม ครม.เมื่อการประชุม ครม.เริ่มขึ้นในเวลา ๙ นาฬิกาเศษ สุรินทร์ได้อภิปรายสนับสนุนให้ประกาศภาวะฉุกเฉิน แต่ชาติชาย ชุณหะวัณ และรัฐมนตรีจากพรรคชาติไทยคนอื่นๆ คัดค้าน อ้างว่าจะทำให้ลูกเสือชาวบ้านจำนวนมากที่นัดมาชุมนุม (เพื่อประท้วงนักศึกษา) ที่พระบรมรูปทรงม้า เดือดร้อนชุมนุมไม่ได้
สุรินทร์เขียนในจดหมายว่า
เหตุผลการคัดค้านของ พล.ต.ชาติชายอ่อน รัฐมนตรีส่วนมากนิ่งเฉย แสดงว่าเห็นด้วยในการประกาศภาวะฉุกเฉิน พล.ต.ชาติชายจึงได้ไปนำเอา พล.ต.ต.เจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัน ผู้เป็นหัวหน้าลูกเสือชาวบ้านคนหนึ่งของฝ่าย ตชด. เข้ามาในคณะรัฐมนตรี มาคัดค้านการประกาศภาวะฉุกเฉิน และกล่าวว่าจะต้องปราบนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้สิ้นซาก นายกรัฐมนตรีพูดว่า ไม่ได้ คุณจะเอาลูกเสือชาวบ้านเอาประชาชนไปฆ่านักศึกษาประชาชนไม่ได้ หากเกิดจลาจลเป็นหน้าที่ของตำรวจทหาร บ้านเมืองมีขื่อมีแป คุณจะเอาประชาชนไปฆ่าประชาชนไม่ได้ พล.ต.ต.เจริญฤทธิ์ฯ บังอาจโต้นายกรัฐมนตรีต่อไปว่า ลูกเสือชาวบ้านก็มีวินัยร่วมกับตำรวจทหารได้ ดูเหตุการณ์จากการกระทำของรัฐมนตรีฝ่ายพรรคชาติไทย และที่ไปนำ พล.ต.ต.เจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัน เข้ามาโต้เถียงกับนายกรัฐมนตรีแล้ว อาตมา [ขณะเขียนจดหมายสุรินทร์บวชเป็นพระ] เข้าใจได้ทันทีว่า พวกนี้ต้องวางแผนการปฏิวัติไว้แล้ว และเชื่อแน่ว่าพวกเขาต้องทำสำเร็จแน่ ตำรวจยศพลตำรวจตรียังกล้าเข้ามาเถียงนายกรัฐมนตรีถึงในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร หัวหน้าพรรคชาติไทย รมต.เกษตรฯ แสดงความเห็นในคณะรัฐมนตรีว่า เป็นจังหวะและโอกาสดีที่สุดแล้วที่จะปราบปรามให้ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ให้ถูกลบชื่อหายไปจากประเทศ
สุรินทร์เล่าต่อไปว่า ก่อนเที่ยง ระหว่างที่การเถียงกันระหว่างรัฐมนตรีพรรคประชาธิปัตย์ที่ให้ประกาศภาวะฉุกเฉินกับรัฐมนตรีพรรคชาติไทยที่คัดค้าน ยังไม่ยุติ
พล.ต.ท.ชุมพล โลหะชาละ รองอธิบดีกรมตำรวจได้เข้ามารายงานในคณะรัฐมนตรีพร้อมกับร้องไห้โฮๆ ว่า ฝ่ายนักศึกษามีอาวุธปืนสงครามร้ายแรงระดมยิงตำรวจบาดเจ็บและตายจำนวนมาก ฝ่ายนักศึกษาก็ตายเยอะ พูดพลางร้องไห้พลาง ตำรวจนครบาลสู้ไม่ได้จึงส่งตำรวจพลร่มและ ตชด.เข้าไปปราบปราม ต่อมา พล.ต.อ.ศรีสุข มหินทรเทพ อธิบดีกรมตำรวจเข้าไปรายงานเหตุการณ์ว่า ควบคุมสถานการณ์ในธรรมศาสตร์ไว้ได้แล้ว มีความสงบเรียบร้อยแล้ว นายกรัฐมนตรีถามว่า "ตำรวจตายกี่คนท่านอธิบดี" อธิบดีกรมตำรวจตอบว่า "ตำรวจไม่ตาย แต่บาดเจ็บไม่กี่คน" รัฐมนตรีจึงแสดงสีหน้าสงสัย อธิบดีกรมตำรวจหันไปมอง พล.ต.ท.ชุมพลกำลังนั่งเช็ดน้ำตา จึงไม่รู้ว่าก่อนนั้นเขารายงานกันว่าอย่างไร อธิบดีกรมตำรวจจึงเดินออกจากที่ประชุมไป ต่อมา พล.ต.ต.กระจ่าง ซึ่งเป็นหัวหน้านำ ตชด.เข้าไปทำการควบคุมนักศึกษา ๓,๐๐๐ คนเศษไว้แล้วนั้น เข้ารายงานเหตุการณ์ในคณะรัฐมนตรี ท่านผู้นี้อาตมาไม่ทราบนามสกุล แต่อาตมายกย่องเขาอยู่จนบัดนี้ว่าเป็นตำรวจอาชีพ ผู้บังคับบัญชาสั่งไปทำงานก็ไปทำ แล้วมารายงานคณะรัฐมนตรีตามความเป็นจริง แต่สังเกตดูไม่เป็นที่พอใจของรัฐมนตรีฝ่ายที่ไม่ใช่ประชาธิปัตย์ พล.ต.ต.กระจ่างรายงานว่า "ปืนที่ยึดได้จากนักศึกษาเป็นปืนพกเพียง ๓ กระบอก" คุณเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ รองนายกรัฐมนตรีถามว่าปืนอะไรที่เสียงดังมาก ดังปุดๆ ปึงๆ ใครยิง ฝ่ายเรายิงหรือฝ่ายนักศึกษายิง พล.ต.ต.กระจ่างตอบว่า ปืนอย่างนั้นนักศึกษาจะเอามาจากไหน ตำรวจยิงทั้งนั้น จนกระทั่งเที่ยง ปัญหาจะประกาศภาวะฉุกเฉินหรือไม่ยังตกลงกันไม่ได้ อาตมาจึงตัดบทด้วยการเสนอว่า มอบอำนาจนายกรัฐมนตรีก็แล้วกัน ท่านจะประกาศภาวะฉุกเฉินเวลาใด แล้วพักรับประทานอาหาร...
ตอนบ่ายประชุมคณะรัฐมนตรีต่อ มีการพิจารณาร่างแถลงการณ์ ได้มีการแถลงการณ์บางตอนไม่ตรงความจริง อาตมาเป็นผู้คัดค้านไม่ให้ออกแถลงการณ์เท็จ ต่อมา พล.ต.ชาติชาย รมต.อุตสาหกรรม ออกไปนอกที่ประชุม แล้วเข้ามาพูดว่าลูกเสือชาวบ้านที่ชุมนุม ณ ลานพระบรมรูปทรงม้าเริ่มอึดอัดแล้ว เพราะไม่ได้รับคำตอบจากรัฐบาล นายกรัฐมนตรีถามว่าเหตุการณ์สงบแล้ว และได้สั่งให้ พล.ต.ต.เจริญฤทธิ์ไปแจ้งให้ลูกเสือชาวบ้านสลายตัวแล้ว ยังไม่กลับบ้านกันอีกหรือ พล.ต.ชาติชายตอบว่ายังไม่กลับ และเตรียมเดินขบวนมาทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอทราบคำตอบจากรัฐบาลตามข้อเรียกร้อง จึงมีรัฐมนตรีคนหนึ่งจำไม่ได้ว่าใคร ถามว่าลูกเสือชาวบ้านเรียกร้องอะไร นายกรัฐมนตรีตอบว่า กลุ่มแม่บ้านได้ยื่นข้อเรียกร้องมาเมื่อวันก่อน พร้อมกับล้วงซองขาวออกจากอกเสื้อแล้วอ่านให้ฟังถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มแม่บ้าน จำได้ว่ามีข้อเรียกร้องให้นายสุรินทร์ มาศดิตถ์ นายชวน หลีกภัย นายดำรง ลัทธพิพัฒน์ ออกจากรัฐมนตรี ให้จับ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ นายแคล้ว นรปติ และกรรมการพรรคสังคมนิยมทุกคน ให้ใช้กฎหมายป้องกันปราบปรามคอมมิวนิสต์โดยเด็ดขาด เมื่ออ่านข้อเรียกร้องจบ นายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ข้อเรียกร้องให้รัฐมนตรีออกจากตำแหน่งเป็นสิ่งที่มากไป นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ผมก็ไม่เห็นด้วยเพราะรัฐมนตรีได้รับพระกรุณาแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ การออกจากตำแหน่งมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หากเห็นว่าไม่เหมาะสม ส.ส.ก็อาจลงมติไม่ไว้วางใจได้ การแถลงนโยบายในวันมะรืนนี้ (๘ ตุลาคม ๒๕๑๙) เพื่อรับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร ก็มีสิทธิที่จะลงมติไม่ไว้วางใจได้ ประชาชนเพียงบางส่วนจะมาเรียกร้องแบบนี้เห็นว่าไม่ถูกต้อง
สุรินทร์กล่าวว่า ถึงจุดนี้เขาหมดความอดทน เอ่ยปากพูดในที่ประชุม ถึงการที่เขาถูกใส่ร้ายป้ายสี "ด้วยความโกหกมดเท็จของนักการเมืองบางพวกบางคน...อย่างน่าละอายที่สุด" แต่ประมาณ อดิเรกสาร ก็โต้กลับว่า "การใส่ร้ายป้ายสีกันก็มีทั้งนั้นละ"
หลังจากนั้นชาติชายได้ออกจากที่ประชุม "ไม่นานลูกเสือชาวบ้านและพวกเขาที่เตรียมไว้ที่ลานพระรูปทรงม้า...ก็เคลื่อนขบวนมาทั้งรถยนต์และเดินมาล้อมทำเนียบรัฐบาลขณะฝนกำลังตกหนัก" โดยสุรินทร์กล่าวว่ามีสมาชิกประชาธิปัตย์ (ปีกขวา) อย่างธรรมนูญ เทียนเงิน, สมัคร สุนทรเวช และส่งสุข ภัคเกษม เข้าร่วมด้วย
การประชุมคณะรัฐมนตรีเลิกประมาณ ๑๕ น.เศษ อาตมานั่งรถยนต์จากตึกไทยคู่ฟ้าไปตึกบัญชาการ ตั้งใจว่าจะทำงานอยู่ตามปกติ เพราะถือว่าตนไม่ได้ทำผิดอะไร แต่นายตำรวจคนหนึ่งยืนกรำฝนรออยู่และเตือนว่า "ท่านรัฐมนตรีรีบออกจากทำเนียบรัฐบาลเร็วที่สุด มิเช่นนั้นเป็นอันตรายถึงชีวิต" อาตมาก็ได้คิดและสั่งคนขับรถออกจากทำเนียบไปได้อย่างปลอดภัย...
ข้อสังเกตและหลักฐานเพิ่มเติมบางประการ
จดหมายของสุรินทร์ มาศดิตถ์ ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากขบวนการนักศึกษาในสมัยนั้น ในฐานะเป็นหลักฐานยืนยันว่า ๑. มีการสมคบคิดกันในหมู่ "ชนชั้นปกครอง" ที่จะบดขยี้ขบวนการนักศึกษาโดยอาศัยกรณีภาพถ่ายการแสดงละครที่ลานโพธิ์เป็นข้ออ้าง และ ๒. นักศึกษาไม่มีอาวุธร้ายแรงในวันนั้น จดหมายสุรินทร์ยังสนับสนุนความเข้าใจของพวกเขาที่ว่า กลุ่มใน "ชนชั้นปกครอง" ที่อยู่เบื้องหลังการปราบปรามนองเลือดที่ธรรมศาสตร์ในเช้าวันที่ ๖ ตุลา น่าจะได้แก่ พรรคชาติไทย และกลุ่มที่สัมพันธ์กับลูกเสือชาวบ้าน/ตชด.
อย่างไรก็ตามในความเรียงชุด "ใครเป็นใครในกรณี ๖ ตุลา" ผมได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในการอ่านจดหมายของสุรินทร์ ขบวนการนักศึกษาสมัยนั้นมักมองข้ามความจริง ๒ ประการที่น่าจะเป็นที่สะดุดใจ เกี่ยวกับการประชุม ครม.ในเช้าวันนั้น ตามที่เล่าในจดหมาย คือ
หนึ่ง มาตรการประกาศภาวะฉุกเฉินที่สุรินทร์และประชาธิปัตย์เสนอ และกลายเป็นที่ถกเถียงใหญ่โตใน ครม. ซึ่งสุรินทร์ให้ความสำคัญอย่างมากในจดหมายนั้น ไม่มีผลใดๆ ทั้งสิ้นต่อชะตากรรมของผู้ชุมนุมในธรรมศาสตร์ เพราะเมื่อถึงเวลาที่การประชุม ครม.เริ่มขึ้น การโจมตีผู้ชุมนุมของกำลังตำรวจและมวลชนจัดตั้งฝ่ายขวาได้ดำเนินไปอย่างเต็มที่แล้ว สุรินทร์เสนอให้ประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อขัดขวางการชุมนุมของฝ่ายขวาที่จะเล่นงานรัฐบาล ไม่ใช่เพื่อปกป้องผู้ชุมนุมที่ธรรมศาสตร์
สอง ในที่ประชุม ครม.ครั้งนั้น ตามการบอกเล่าของสุรินทร์เอง ทั้งเขาและประชาธิปัตย์คนอื่นไม่ได้แสดงความห่วงใยต่อการบุกโจมตีธรรมศาสตร์ของตำรวจนัก ไม่มีใครตั้งคำถามว่า ในเมื่อสุธรรม แสงประทุม และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแสดงละคร ได้เข้ามอบตัวกับตำรวจแล้ว เหตุใดจึงต้องมีการบุกเข้ายึดธรรมศาสตร์ด้วยความรุนแรงเช่นนั้น? ใครเป็นผู้ออกคำสั่ง? สุรินทร์กล่าวถึงการแสดง "ร้องไห้โฮๆ" ของชุมพล แต่ก็ไม่ได้กล่าวว่า เขาได้ตั้งข้อสงสัยหรือคัดค้านการที่ตำรวจใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมของนักศึกษา จนเมื่อเหตุการณ์ ๖ ตุลาผ่านไปเกือบ ๑ ปี เมื่อมีการพยายามโยนความรับผิดชอบในการปราบปรามวันนั้นให้รัฐบาลเสนีย์ เสนีย์จึงออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นคนสั่งตำรวจให้โจมตีธรรมศาสตร์
ในจดหมายอีกฉบับหนึ่งที่สุรินทร์เขียนขึ้นในเวลาใกล้เคียงกัน (ถึงสุธรรม แสงประทุม) เขาได้อ้างว่าเขา "ไม่พอใจเลยในการที่นิสิตนักศึกษาประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมและถูกกล่าวร้ายโดยปราศจากความจริง เรื่องภายในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนั้น อาตมาพยายามที่จะให้ทุกอย่างเป็นไปตามความจริง แต่รัฐมนตรีพวกพรรคชาติไทยได้ต่อต้านคัดค้านอาตมาและร่วมแผนการปฏิวัติของพวกเขาอย่างชัดเจน" แต่ในจดหมาย ๖ ตุลาเอง สุรินทร์เพียงกล่าวถึงการเถียงกันเรื่องประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นสำคัญ (ซึ่งไม่มีผลในการปกป้องนักศึกษา) ผมได้ตั้งข้อสังเกตว่า กรณีเดียวที่อาจจะอ่านได้ว่าสุรินทร์แสดงความ "ไม่พอใจ" ต่อการที่นักศึกษา "ไม่ได้รับความเป็นธรรมและถูกกล่าวร้ายโดยปราศจากความจริง" ในจดหมาย ๖ ตุลาของเขาเอง คือกรณี "ร่างแถลงการณ์" ที่ว่ามีการพิจารณากันและมี "บางตอนไม่ตรงความจริง" ซึ่งเขา "คัดค้านไม่ให้ออกแถลงการณ์เท็จ" อย่างไรก็ตามไม่มีใครเคยเห็นร่างแถลงการณ์ที่ว่านี้ (ดู ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง ของผม หน้า ๑๗๘-๑๘๑)
ประเด็นที่ว่า การถกเถียงในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ไม่มีผลใดๆ ต่อชะตากรรมของผู้ชุมนุมในธรรมศาสตร์ และพรรคประชาธิปัตย์ (รวมทั้งสุรินทร์) ยอมรับโดยไม่ตั้งคำถาม การกระทำของตำรวจที่บุกเข้าไปปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างนองเลือดนั้น สามารถยืนยันได้จากหลักฐานร่วมสมัย
ก่อนอื่นผมขอนำเสนอรายงานข่าวแบบ "นาทีต่อนาที" เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ธรรมศาสตร์ในเช้าวันนั้น จากหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับออกวางตลาดตอนบ่ายวันเดียวกัน ซึ่งผมเห็นว่าเป็นหลักฐานที่น่าสนใจมากในตัวเอง เพราะแม้ว่าจะเป็นรายงานข่าวแบบ "สดๆ" ไม่ได้ผ่านการวิเคราะห์แยกแยะ (เช่นเสียงระเบิดมาจากอะไร) และแม้ว่าหนังสือพิมพ์สยามรัฐฉบับนี้ จะแสดงจุดยืนที่เป็นปฏิปักษ์กับนักศึกษาอย่างรุนแรง ("ข้อเสนอจากเรา" ในหน้าแรก ประณามศูนย์นิสิต "เป็นปฏิปักษ์ต่อราชบัลลังก์", "มีความผิดอันชั่วร้าย" และ "สนับสนุนรัฐบาล...จัดการกับบุคคลกลุ่มนี้โดยเด็ดขาด") แต่ถ้าอ่านแบบไม่มีอคติต่อขบวนการนักศึกษาจนเกินไป จะเห็นภาพการโจมตีแบบ "เลือดเข้าตา" ของตำรวจได้ไม่ยาก โดยเฉพาะการที่รายงานข่าวได้แสดงให้เห็นว่า ผู้ชุมนุมประกาศซ้ำแล้วซ้ำอีกให้หยุดยิง ที่น่าสนใจอีกจุดหนึ่งคือ รายงานที่ว่าคำสั่งอธิบดีกรมตำรวจให้ตำรวจใช้ปืนได้ ("ยิงป้องกันตัวได้เท่าที่จำเป็น") มีขึ้นหลังจากการโจมตีจริงๆ กว่า ๑ ชั่วโมง และขอให้สังเกตข้อความที่ผมเน้นข้างล่างเกี่ยวกับการประกาศ "พร้อมตาย" ของตำรวจนครบาล
.................
๐๖.๑๕ ได้มีเสียงปืนกลดังสนั่นหวั่นไหวอีก
๐๖.๒๔ รถพยาบาลนำคนเจ็บออกมาทางด้านประตูท่าพระจันทร์ แต่ติดอยู่ตรงนั้น จึงใช้เปลหามคนเจ็บไปส่งโรงพยาบาลศิริราช
๐๖.๒๖ รถพยาบาลออกมาจากประตูท่าพระจันทร์ได้ พร้อมกับคนเจ็บอีก ๒ คน
๐๖.๒๗ มีผู้หามนักศึกษาชายออกมาอีก ๑ คน มีผู้หญิงเดินตามออกมาอีก ๑ คน ผู้หญิงนั้นเป็นนักศึกษารามคำแหง
๐๖.๓๑ มีนักศึกษาว่ายน้ำออกทางแม่น้ำเจ้าพระยา ๑ คน
๐๖.๓๓ เสียงปืนกลดังขึ้น ๑ ชุด และจากนั้นเสียงปืนดังไม่ขาดระยะ
๐๖.๓๙ รถพยาบาลนำคนเจ็บออกมาอีก ๒ คน โฆษกในธรรมศาสตร์ประกาศขอให้อธิบดีกรมตำรวจและตำรวจโปรดบังคับใช้กฎหมายให้เป็นกฎหมาย และว่าประชาชนที่อยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ปรารถนาความรุนแรง ขอให้ตำรวจช่วยคุ้มครอง ผู้ที่อยู่ในธรรมศาสตร์ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นลูกไทยหลานไทยทั้งหมด
๐๖.๕๑ เสียงปืนดังขึ้นอีก โฆษกบอกให้ผู้ชุมนุมในสนามฟุตบอลหมอบอย่างสงบ พร้อมกันนั้นก็ประกาศให้ตำรวจห้ามอันธพาลกวนเมืองอย่ายิงเข้าไปในธรรมศาสตร์ เวลานี้กระสุนได้ถูกยิงเข้าไปนับพันนับหมื่นนัดแล้ว
๐๗.๐๕ เสียงปืนดังประปรายอีก ได้มีประกาศทางเครื่องกระจายเสียง วิงวอนออกมาจากธรรมศาสตร์ ให้ภายนอกหยุดยิง
๐๗.๑๕ ตำรวจบาดเจ็บที่นิ้วมือสองคน ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลศิริราช จากนั้นมีเสียงปืนกลดังเป็นระยะๆ ทางธรรมศาสตร์ประกาศให้หยุดยิงโดยเร็ว และบอกว่ารัฐบาลได้เตรียมการคอยเจรจากับผู้ชุมนุมอยู่แล้ว
๐๗.๒๐ มีเสียงระเบิดในธรรมศาสตร์อีก ๑ ครั้ง
๐๗.๒๒ นายสุธรรม แสงประทุม เลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยนำคณะผู้แทนนักศึกษา และผู้ที่เล่นละครแขวนคอ ออกมาทางประตูท่าพระจันทร์ ขึ้นรถตำรวจไปพบนายกรัฐมนตรีที่บ้านพักซอยเอกมัย ก่อนขึ้นรถนายสุธรรมกล่าวว่า มีคนบาดเจ็บในธรรมศาสตร์หลายคน
๐๗.๓๐ ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เรียกร้องให้หยุดยิงทันที
๐๗.๓๕ อธิบดีกรมตำรวจมีคำสั่งให้ตำรวจยิงป้องกันตัวได้เท่าที่จำเป็น [?] และตำรวจได้รายงานว่า มีนักศึกษา ๑๐-๒๐ คนถือปืนสั้นตั้งกำลังอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา [?]
๐๗.๔๐ มีเสียงระเบิดดังอีก ๑ ลูก
๐๗.๔๒ อธิบดีกรมตำรวจมีคำสั่งให้เสริมกำลังที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติใกล้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสั่งให้สอบสวนผู้บาดเจ็บที่โรงพยาบาลศิริราช และในช่วงนี้มีนักศึกษาหลายคนในธรรมศาสตร์กระโดดน้ำหนีออกทางด้านแม่น้ำเจ้าพระยา
๐๗.๔๗ มีรายงานข่าวว่า นายสุธรรม แสงประทุม และคณะ ได้เดินทางไปถึงบ้านนายกรัฐมนตรี
๐๗.๔๙ ตำรวจนครบาลประกาศทางวิทยุว่าพร้อมตายกับตำรวจทุกคน ขณะเดียวกัน นายประยูร อัครบวร รองเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาได้ขอให้ปล่อยเด็กกับผู้หญิงออกจากธรรมศาสตร์ ตำรวจได้ติดต่อขอความเห็นจากอธิบดีกรมตำรวจแต่ไม่ได้รับคำตอบ
๐๘.๐๕ วิทยุตำรวจรายงานว่ามีนักศึกษา ๒๐ คน ถือปืนสั้นและปืนยาว วิ่งไปตามตึกรัฐศาสตร์ [?]
๐๘.๐๖ มีคำสั่งห้ามยิงเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะกลุ่มคนที่บุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ใช่นักศึกษา [!] แต่การยิงยังคงมีต่อไป
๐๘.๐๙ มีเสียงปืนดังขึ้นอีกหนึ่งชุดที่ตึกบัญชี นักศึกษาที่ออกจากธรรมศาสตร์บอกว่า มีผู้หญิงและเด็กในตึกบัญชีเป็นจำนวนมาก
๐๘.๑๙ มีคำสั่งให้ตำรวจตระเวนชายแดนบุกเข้าเคลียร์พื้นที่ในธรรมศาสตร์ นักศึกษาโดดหนีลงน้ำหลายคน และมีนักศึกษาจำนวนหนึ่งถูกจับกุมตัวทางด้านถนนท่าพระจันทร์
๐๘.๒๘ มีเสียงต่อสู้ [?] ดังสนั่นหลายครั้ง
๐๘.๔๑ พนักงานของธรรมศาสตร์ประกาศ [จากเครื่องขยายเสียงบนยอดตึกโดม] ว่านักศึกษาได้ออกไปหมดธรรมศาสตร์แล้ว ขอให้ตำรวจคุ้มครองพวกเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยด้วย
๐๘.๕๓ ตำรวจที่ท่าพระจันทร์ยิงตึกบัญชี
๐๘.๕๕ เกิดระเบิดรุนแรงที่ตึกบัญชี และพนักงานธรรมศาสตร์ก็ได้กล่าวคำวิงวอนอีก
๐๘.๕๙ ถึง ๐๙.๒๑ มีเสียงระเบิดติดต่อทุกๆ นาที
๐๙.๓๙ มีคำสั่งให้ตำรวจตระเวนชายแดนเข้าเคลียร์พื้นที่ โดยใช้ปืนไร้แรงสะท้อน
๐๙.๔๒ ลูกปืนไร้แรงสะท้อนทะลุออกมาถูกร้านอาหารแถวท่าพระจันทร์
................
ถ้าเราถือเอาเวลาที่ตำรวจตระเวนชายแดนเริ่มเคลื่อนเข้าไปในมหาวิทยาลัย ("เคลียร์พื้นที่") เป็นจุดสูงสุด (peak) ของการโจมตีในวันนั้น จุดดังกล่าวก็เกิดขึ้นก่อนการประชุม ครม.ประมาณถึง ๑ ชั่วโมง คือเวลา ๐๘.๑๙ นาฬิกา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับที่วางตลาดในบ่ายวันนั้น ยืนยันเวลาดังกล่าว ดังนี้
เวลาประมาณ ๐๘.๑๐ น. เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้เคลียร์ภายในหอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พล.ต.อ.เสน่ห์ [สิทธิพันธ์] ได้บัญชาการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ตชด. พร้อมอาวุธครบมือ บุกเข้าไปภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๐๘.๑๘ น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ ตชด. มาเสริมอีกสองคันรถ และได้บุกเข้าไปข้างใน
๐๘.๒๕ น. ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้อาวุธทุกชนิดทั้ง เอ็ม-๗๙ เอชเค. คาร์บิน และ เอ็ม.๑๖ ยิงเข้าไปภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีนักศึกษาถูกยิงบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายคน
แน่นอนว่า ในจดหมาย ๖ ตุลาของสุรินทร์ ถ้าอ่านอย่างวิพากษ์วิจารณ์ ก็จะเห็นได้ว่า รัฐมนตรีทุกคนรวมทั้งสุรินทร์และเสนีย์ รับรู้การปะทะเหล่านี้ตั้งแต่ก่อนเข้าประชุม (เข้าใจว่าโดยผ่านการถ่ายทอดทางโทรทัศน์หรือทางวิทยุสื่อสาร) เช่น การที่เสวตรถามว่า "ปืนอะไรที่เสียงดังมาก ดังปุดๆ ปึงๆ" และเห็นได้ว่า พวกเขายอมรับโดยไม่ตั้งคำถาม ว่านี่เป็นการ "ปฏิบัติงานตามหน้าที่" ของตำรวจ (ขอให้สังเกตคำถามของเสวตรเอง "ใครยิง ฝ่ายเรายิง หรือฝ่ายนักศึกษายิง") ไทยรัฐได้รายงานการสัมภาษณ์เสนีย์ก่อนเข้าประชุม ครม.ไว้อย่างน่าสนใจดังนี้ (ส่วนที่ขีดเส้นใต้เป็นการเน้นของผม)
เสนีย์อดนอนตลอดคืน
ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อเช้าวานนี้ด้วยใบหน้าอิดโรย หมองคล้ำ เพราะผ่านการอดนอนมาตลอดคืน และได้ยอมรับกับนักข่าวว่า พลตรีประมาณ อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรีได้โทรถึงนายกรัฐมนตรีกลางดึก ตามที่วิทยุยานเกราะออกข่าว
ถ้าเด็ดขาดก็ต้องเด็ดขาด
นักข่าวถามว่า [ประมาณ?] ได้สั่งให้นายกฯ จัดการกับนักศึกษาอย่างเด็ดขาดตามที่ยานเกราะรายงานไหม นายกฯ อึกอักเล็กน้อยก่อนตอบว่า "เรื่องนี้ถึงขั้นเด็ดขาดก็ต้องเด็ดขาด แต่ผมก็ไม่ได้สั่งการทันที ได้รอถึงเช้า พอมีเหตุการณ์ยิงกันขึ้นก็ได้ตัดสินใจแก้ปัญหา"
นักข่าวถามต่อไปว่า การสั่งเคลียร์พื้นที่ในธรรมศาสตร์โดยให้ตำรวจเคลื่อนกำลังเข้าไป เป็นคำสั่งนายกฯ หรือเปล่า
นายกรัฐมนตรีตอบว่า "ผมเพียงสั่งให้สอบสวนดำเนินการคดีหมิ่นพระบรมฯ โดยเร็ว"
ให้ ตร.ปราบเด็ดขาดถ้า...
นักข่าวถามต่อไปว่าที่ตำรวจประกาศเคลียร์ธรรมศาสตร์หมายความว่ายังไง หมายความว่าสั่งให้ตำรวจเคลื่อนกำลังเข้าไปตรวจตราในธรรมศาสตร์ใช่ไหม นายกรัฐมนตรีตอบว่า "เมื่อมีการทำร้ายตำรวจได้รับบาดเจ็บ ผมก็สั่งให้ปราบปรามเด็ดขาด"
นักข่าวถามอีกว่า นายกฯ สั่งให้ใช้ปืนยิงถล่มธรรมศาสตร์หรือเปล่า นายกรัฐมนตรีปฏิเสธทันที "เรื่องนี้ไม่ได้สั่ง แต่การใช้อาวุธเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของตำรวจเอง"
กก.ศูนย์นิสิตมอบตัว
นักข่าวถามถึงกรรมการศูนย์นิสิตที่ไปพบที่บ้านเอกมัยเมื่อเช้านี้ นายกฯ ตอบว่ากรรมการศูนย์นิสิตได้สวนทางกันเพราะนายกฯ ออกจากบ้านก่อนกรรมการศูนย์ฯ ไปพบ และกรรมการศูนย์ ๔-๕ คนที่ไปพบที่บ้านนายกฯ ก็ได้มอบตัวให้ตำรวจแล้ว โดยมีข้อแม้ว่าต้องให้ อ.ตร.มารับตัวที่บ้านนายกฯ เพื่อแก้ข้อกล่าวหาเรื่องหมิ่นองค์รัชทายาท และเกี่ยวกับคดีนี้ นายกฯ เปิดเผยว่าเมื่อคืนนี้มีพยานไปให้การกับตำรวจแล้ว
ประชุม ครม.พิเศษ
"เดี๋ยวรัฐบาลจะออกแถลงการณ์ชี้แจงเหตุการณ์ให้ประชาชนทราบ และจะประชุม ครม.นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาประกาศภาวะฉุกเฉินด้วย" นายกฯ กล่าว...
หนังสือพิมพ์ฉบับอื่นที่เป็นปฏิปักษ์กับนักศึกษามากกว่าไทยรัฐ รายงานการสัมภาษณ์เดียวกันนี้ ในลักษณะที่ว่าเสนีย์เป็นคนสั่งให้ปราบปรามนักศึกษาที่ธรรมศาสตร์เอง (เช่น เดลินิวส์ อ้างว่าเสนีย์ให้สัมภาษณ์ว่า "ได้สั่งให้ตำรวจเข้าเคลียร์พื้นที่ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยทันที และสั่งให้ดำเนินการจับกุมผู้ชุมนุมทั้งหมดทันที หากใครต่อต้านหรือขัดขืนให้ใช้กำลังปราบปรามอย่างเด็ดขาดได้ทันที" ดาวสยาม รายงานในลักษณะเดียวกัน "ผม [เสนีย์] สั่งไปเองว่าถ้ามีการต่อต้านเจ้าหน้าที่ ก็ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการขั้นเด็ดขาด" แต่รายงานโดยละเอียดของไทยรัฐ ซึ่งผมเชื่อว่าใกล้เคียงความจริงมากกว่า แสดงให้เห็นว่า เสนีย์อยู่ในสภาพไร้สมรรถภาพทำอะไรไม่ถูกในเช้าวันนั้น คือด้านหนึ่งยืนยันว่าตัวเขาเอง "เพียงสั่งให้สอบสวนดำเนินการคดีหมิ่น" ไม่ได้สั่งให้ตำรวจถล่มธรรมศาสตร์ ("ปฏิเสธทันที เรื่องนี้ไม่ได้สั่ง") แต่อีกด้านหนึ่งก็ยอมรับการดำเนินการใดๆ รวมทั้งข้ออ้างของตำรวจ ("การใช้อาวุธเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของตำรวจเอง") ถึงกับออกหน้ามายอมรับอย่างขัดแย้งกับตัวเองว่าเป็นผู้ออกคำสั่งการดำเนินการนั้นๆ ของตำรวจเสียเอง ("พอมีเหตุการณ์ยิงกันขึ้นก็ได้ตัดสินใจแก้ปัญหา", "เมื่อมีการทำร้ายตำรวจได้รับบาดเจ็บ ผมก็สั่งให้ปราบปรามเด็ดขาด")
ผมขอเสนอว่า ในการประชุม ครม.วันนั้น พรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งสุรินทร์และประชาธิปัตย์ปีกซ้ายคนอื่น ก็น่าจะมีสภาพไม่ต่างกันนักกับเสนีย์ที่แสดงออกในการให้สัมภาษณ์ดังกล่าว
หลักฐานใหม่ : รายงาน
การประชุมคณะรัฐมนตรี
เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้มีโอกาสอ่านรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งเก็บรักษาอยู่ที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) แน่นอนว่า หนึ่งในรายงานที่ผมสนใจเป็นพิเศษก็คือ รายงานการประชุมของวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙
ก่อนอื่นผมควรอธิบายว่า ตั้งแต่เริ่มเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี แตกต่างกับรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ตรงที่ไม่ได้เป็นการบันทึกแบบคำต่อคำ (verbatim) มีเพียงรายชื่อผู้เข้าประชุม ผู้ขาดประชุม และเรื่องที่พิจารณา ซึ่งเพียงบันทึกโดยสรุปว่าพิจารณาเรื่องอะไรและมีมติอย่างไร อย่างไรก็ตามในช่วงปีแรกๆ ในบางเรื่องที่พิจารณา ยังมีการบันทึกว่า ใครเสนออะไรหรือโต้แย้งอะไรบ้างเล็กน้อย และมีอยู่ ๒ ครั้ง คือในการประชุมเพื่อพิจารณาโครงการเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันที่ ๒๕ และ ๒๘ มีนาคม ๒๔๗๕ มีการบันทึกการโต้แย้งของผู้เข้าประชุมแบบคำต่อคำ (ถูกนำออกเผยแพร่ครั้งแรกใน วีณา มโนพิโมกษ์, "ความขัดแย้งภายในคณะราษฎร", วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๑๙ แต่ไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายนัก ต่างกับบันทึกการประชุมกรรมานุการพิจารณาโครงการเศรษฐกิจที่เดือน บุนนาค นำออกเผยแพร่ ซึ่งได้รับการพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง เช่นใน ปรีดี พนมยงค์ กับสังคมไทย) แต่เมื่อหลวงพิบูลสงครามขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในเดือนธันวาคม ๒๔๘๑ รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีได้เปลี่ยนเป็นการบันทึกในลักษณะใกล้เคียงกับแบบคำต่อคำ ซึ่งต่อมาทำให้เราได้มีบันทึกการถกเถียงโดยละเอียดของคณะรัฐมนตรีในช่วงวิกฤตญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก (รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ ๗-๘, ๑๐ และ ๑๑ ธันวาคม ๒๔๘๔ ตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกใน อ.พิบูลสงคราม, จอมพล ป. พิบูลสงคราม, เล่ม ๔, ๒๕๑๙ ปัจจุบัน ต้นฉบับรายงานการประชุมของเดือนธันวาคม ๒๔๘๔ ได้สูญหายไปจาก สลค.แล้ว) หลังสงคราม รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีได้เปลี่ยนกลับไปเป็นแบบสรุปย่ออีก (ระยะแรก บางเรื่องยังมีการบันทึกคำโต้แย้งระหว่างรัฐมนตรีบ้าง) และเมื่อถึงปี ๒๕๑๙ ก็มีลักษณะไม่ต่างไปจากรายงานการประชุมของหน่วยราชการทั่วไปที่เห็นกันในปัจจุบันแล้ว คือไม่มีการบันทึกภาษาพูดจริงๆ อยู่เลย เป็นแต่เพียงภาษาราชการล้วนๆ (เช่น "ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีเสนอว่า..." หรือ "กระทรวงการคลังรายงานว่า...")
ผมขอยกตัวอย่างการประชุมวันอาทิตย์ที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๑๙ ซึ่งเป็นครั้งพิเศษ (ปกติในปีนั้นประชุมวันอังคาร) เพราะวันนั้นมีการเดินขบวนของนักศึกษาเพื่อประท้วงฐานทัพอเมริกันในไทย และมีการขว้างระเบิดทำให้ผู้เดินขบวนเสียชีวิตและบาดเจ็บ คณะรัฐมนตรีได้เปิดประชุมเมื่อเวลา ๒๐.๑๐ นาฬิกา และเลิกประชุมเวลา ๒๑ นาฬิกา มีรัฐมนตรีเข้าร่วมเพียง ๗ คนจาก ๒๗ คน พร้อมด้วยอธิบดีและรองอธิบดีกรมตำรวจ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลและสันติบาล รายงานการประชุมครั้งนั้น มีเพียงสั้นๆ ดังนี้
คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเรื่องการเดินขบวนของศูนย์นิสิตนักศึกษาไปยังสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต และมีการปรึกษาหารือว่า จะสมควรมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือไม่ประการใด แต่เมื่อได้ฟังคำชี้แจงจากเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว ก็เห็นพ้องกันว่า ยังไม่มีความจำเป็นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
(ผมจะวิเคราะห์รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์โดยละเอียดในที่อื่น)
เห็นได้ชัดว่า รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ ๖ ตุลาที่บันทึกในลักษณะนี้ จะไม่สามารถยืนยันหรือปฏิเสธจดหมาย ๖ ตุลาของสุรินทร์ มาศดิตถ์ได้ (เมื่อผมเห็นครั้งแรกยอมรับว่าผิดหวังมากเหมือนกัน) อย่างไรก็ตามผมเห็นว่าการพิจารณารายงานการประชุมดังกล่าว ยังพอมีประโยชน์บ้าง อย่างน้อยก็ทำให้ภาพเหตุการณ์ในวันนั้นสมบูรณ์ขึ้น
การประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพุธที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เป็นการประชุมครั้งที่ ๓๑ ของรัฐบาลเสนีย์ ถือเป็น "ครั้งพิเศษ" เพราะไม่ใช่การประชุมทุกวันอังคารตามกำหนดการ เรียกเป็นทางการว่า "ครั้งที่ ๓๑/๒๕๑๙ (พิเศษ)" การนับตัวเลขนี้ ไม่ใช่นับจากเดือนมกราคม ๒๕๑๙ แต่นับจากการเข้ารับตำแหน่งของรัฐบาลเสนีย์ในเดือนเมษายน
อันที่จริง วันอังคารที่ ๕ ตุลาคม ไม่มีการประชุม เพราะคณะรัฐมนตรีเพิ่งมีการปรับปรุงใหม่ ซึ่งทำให้ประชาธิปัตย์ปีกขวา ๒ คน คือ สมัคร สุนทรเวช กับสมบุญ ศิริธร พ้นจากตำแหน่ง (เป็นเหตุให้เกิดการชุมนุมประท้วงของมวลชนจัดตั้งฝ่ายขวาในเช้าวันที่ ๕ ตุลาคม ซึ่งนำไปสู่การจุดชนวนเรื่องภาพการแสดงละครในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ดูบทความของผมเรื่อง "ชนวน : ภาพละครแขวนคอที่นำไปสู่กรณี ๖ ตุลา" ใน ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง) คณะรัฐมนตรีชุดปรับปรุงใหม่นี้เพิ่งจัดตั้งเสร็จและเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณในเย็นวันที่ ๕ ตุลาคมนั้นเอง๑ และมีหมายกำหนดการขอความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร ในวันศุกร์ที่ ๘ ตุลาคม ด้วยเหตุนี้ ถ้าถือตามตัวบทรัฐธรรมนูญแบบเคร่งครัด คณะรัฐมนตรีที่ประชุมในวันที่ ๖ ตุลาคม อาจจะไม่มีอำนาจของคณะรัฐมนตรีจริงๆ ด้วยซ้ำ! (รัฐธรรมนูญปี ๒๕๑๗ "มาตรา ๑๘๓ ในการดำเนินนโยบายบริหารราชการแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีต้องได้รับความไว้วางใจของสภาผู้แทนราษฎร" และ "มาตรา ๑๘๔ คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอความไว้วางใจ มติให้ความไว้วางใจต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่มาประชุม")
คณะรัฐมนตรีชุดก่อนหน้านั้นสิ้นสุดลงเมื่อเสนีย์ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ ๒๓ กันยายน แต่ยังทำหน้าที่รักษาการอยู่ เพราะหลังจากนั้นยังมีการประชุมคณะรัฐมนตรีชุดดังกล่าวอีก ๒ ครั้ง ครั้งแรก (การประชุมครั้งที่ ๒๙/๒๕๑๙) เป็นการประชุมพิเศษในวันศุกร์ที่ ๒๔ กันยายน และครั้งต่อมา (ครั้งที่ ๓๐/๒๕๑๙) เป็นการประชุมปกติ ในวันพุธที่ ๒๙ กันยายน (ที่เรียกว่าครั้งปกติ ทั้งๆ ที่ประชุมวันพุธ เพราะถือว่าเป็นการประชุมที่ "เลื่อนมาจากวันอังคารที่ ๒๘ กันยายน") การประชุมครั้งหลังนี้ สมัคร สุนทรเวช และสมบุญ ศิริธร ยังเข้าร่วมด้วย
ตาม "บันทึกการประชุม" (รายงานการประชุมบางสมัยเรียกว่า "บันทึกการประชุม") การประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งที่ ๓๑/๒๕๑๙ (พิเศษ) วันพุธที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ มีรัฐมนตรีมาประชุมครบทั้ง ๒๙ คน มีเจ้าหน้าที่ร่วมประชุม ๔ คน คือ ปลั่ง มีจุล เลขาธิการคณะรัฐมนตรี, ไพบูลย์ ทองมิตร รองเลขาธิการ, บำเริง ศรีสมบูรณ์ ผู้อำนวยการกองการประชุมคณะรัฐมนตรี และโอน ดีผดุง ผู้อำนวยการกองนิติธรรม และมี "ผู้เข้าร่วมประชุม" อีก ๖ คน คือ สมภพ โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา, พล.อ.ท.สิทธิ เศวตศิลา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ, สมปอง ประจวบเหมาะ อธิบดีกรมประมวลข่าวกลาง, พล.ต.อ.ศรีสุข มหินทรเทพ อธิบดีกรมตำรวจ, พล.ต.ท.ชุมพล โลหะชาละ รองอธิบดีกรมตำรวจ และ พล.ต.ต.เจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัน ซึ่งในรายงานการประชุมไม่ได้ใส่ตำแหน่งอะไรไว้เลย เฉพาะรายชื่อนี้ทำให้เรายืนยันได้ว่า มีการนำเอาเจริญฤทธิ์เข้าไปร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีในเช้าวันนั้นจริงๆ ตามที่สุรินทร์เล่า ซึ่งต้องถือว่าเป็นเรื่องไม่ปกติ การที่ไม่มีการระบุตำแหน่งของเจริญฤทธิ์ไว้เลย ยิ่งน่าจะแสดงว่าเป็นการนำเข้าร่วมประชุมในลักษณะที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการกับเรื่องที่พิจารณา และดังที่จะเห็นต่อไป เรื่องที่พิจารณาตามที่สรุปไว้ใน "บันทึกการประชุม" ก็ไม่น่าจะมีอะไรเกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการกับเจริญฤทธิ์จริงๆ ที่สุรินทร์กล่าวถึงการที่ "ตำรวจยศพลตำรวจตรี [เจริญฤทธิ์] ยังกล้าเข้ามาเถียงนายกรัฐมนตรีถึงในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี" จึงเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นจริง แต่ในทางกลับกัน รายชื่อผู้เข้าร่วมประชุมไม่มี พล.ต.ต.กระจ่าง (ผลเพิ่ม) ที่สุรินทร์กล่าวยกย่องไว้ในจดหมาย
แน่นอนว่า รายชื่อผู้เข้าร่วมประชุมนี้ ไม่ได้รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับล่างของกองการประชุมคณะรัฐมนตรี ที่ทำหน้าที่จดบันทึกการประชุมจริงๆ ในสมัยแรกๆ จะมีลายเซ็นเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่นี้อยู่ในหน้าสุดท้ายของรายงานการประชุม แต่ในรายงานฉบับที่เรากำลังพิจารณากันนี้ ในตอนล่างของหน้าสุดท้าย เพียงแต่พิมพ์ว่า "กองการประชุมคณะรัฐมนตรี ๑๒ ต.ค. ๑๙" ซึ่งแสดงว่าตัวเอกสารรายงานการประชุมถูกจัดทำขึ้นจริงๆ หลังเหตุการณ์ประมาณ ๑ สัปดาห์
คณะรัฐมนตรีเปิดประชุมในวันนั้น เมื่อเวลา ๐๙.๑๕ นาฬิกา และปิดประชุมเวลา ๑๔.๑๐ นาฬิกา มีเรื่องที่พิจารณาตามบันทึกการประชุม ๓ เรื่อง คือ "เหตุการณ์ไม่สงบเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ (แถลงการณ์ของรัฐบาล)", "การก่อความไม่สงบในกรุงเทพมหานคร" และ "ข้อเรียกร้องของประชาชนกลุ่มผู้รักชาติ (โดยมีนายมงคล ศรีกาญจนา ฯลฯ)"
ผมออกจะเชื่อว่าการแบ่งเรื่องพิจารณาเป็น ๓ เรื่องนี้ เป็นการแบ่งเองของเจ้าหน้าที่กองการประชุมที่จัดทำรายงาน เพราะทั้ง ๓ เรื่อง ความจริงเป็นเรื่องเดียวกัน คือการพิจารณาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้น โดยเฉพาะเรื่องที่ ๓ ซึ่งดังจะได้เห็นต่อไป ไม่น่าจะเป็นวาระการประชุมที่เป็นทางการต่างหากด้วยซ้ำ (ไม่มีรัฐมนตรีหรือกระทรวงใดเป็นผู้เสนอเรื่อง)
ผมคิดว่าการดำเนินไปของการประชุมในวันนั้น โดยรวมน่าจะไม่ต่างจากที่สุรินทร์เล่าในจดหมายของเขานัก กล่าวคือ มีการอภิปรายกันเรื่องควรประกาศภาวะฉุกเฉินหรือไม่ ควรออกแถลงการณ์อย่างไร แล้วตกลงกันไม่ได้ (เรื่องที่ ๑) เสนีย์จึงเสนอให้ดำเนินการบางอย่างเท่าที่ทำได้ (เรื่องที่ ๒ ซึ่งในรายงานกล่าวว่า "กระทรวงมหาดไทย" เป็นผู้เสนอ เสนีย์เป็นรัฐมนตรีมหาดไทย แต่ก็เป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นรัฐมนตรีช่วย ๒ คนของเขาเป็นผู้เสนอ) หลังจากนั้นมีการพาดพิงถึงการชุมนุมลูกเสือชาวบ้านที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เสนีย์จึงเอาหนังสือเรียกร้องของพวกนั้นมาอ่านให้ที่ประชุมฟัง (เรื่องที่ ๓)
ขอให้เรามาพิจารณารายงานการประชุมโดยละเอียดยิ่งขึ้น
หลังจากส่วนแรกที่เป็นไปตามแบบฉบับรายงานการประชุม (รายชื่อผู้เข้าประชุม, วันเวลาประชุม) แล้ว ส่วนที่เป็นเนื้อหาของ"บันทึกการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๓๑/๒๕๑๙ (พิเศษ) วันพุธที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙" เริ่มต้น ดังนี้
(๑) เรื่อง เหตุการณ์ไม่สงบเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙
คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นว่า เพื่อให้มาตรการระงับเหตุการณ์ไม่สงบในบ้านเมืองสามารถดำเนินการได้ผลอย่างรวดเร็ว สมควรที่จะมอบอำนาจให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พิจารณาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ตามความจำเป็นแก่เหตุการณ์ และสมควรจัดตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบขึ้น ที่ตึกบัญชาการสำนักนายกรัฐมนตรี ให้อำนาจหน้าที่ดำเนินการด้านข่าวกรอง, การพิจารณาร่างแถลงการณ์ของรัฐบาล การประสานงานด้านการประชาสัมพันธ์ เสนอแนะมาตรการป้องกันและระงับเหตุการณ์ต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ตลอดจนเรียกเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยเหลือปฏิบัติงานได้
ถ้าการถกเถียงอย่างหนักระหว่างประชาธิปัตย์กับชาติไทยเรื่องการประกาศภาวะฉุกเฉิน ตามที่สุรินทร์เล่าเป็นความจริง "บันทึกการประชุม" นี้ก็นับว่า "บันทึก" ได้ห่างไกลจากความจริงอย่างมาก : การถกเถียง ๓ ชั่วโมง สรุปเหลือเพียงไม่กี่บรรทัด! ประเด็นเดียวที่อาจจะถือว่าเป็นการยืนยันสิ่งที่สุรินทร์เล่าโดยปริยายคือ ที่สุรินทร์เขียนว่า "จนกระทั่งเที่ยง ปัญหาจะประกาศภาวะฉุกเฉินหรือไม่ยังตกลงกันไม่ได้ อาตมาจึงตัดบทด้วยการเสนอว่า มอบอำนาจนายกรัฐมนตรีก็แล้วกัน ท่านจะประกาศภาวะฉุกเฉินเวลาใด" ซึ่งบันทึกการประชุมเขียนแบบภาษาราชการว่า "สมควรจะมอบอำนาจให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พิจารณาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ตามความจำเป็นแก่สถานการณ์" ซึ่งแสดงว่าคณะรัฐมนตรีคงตกลงกันไม่ได้จริงๆ ว่าจะประกาศภาวะฉุกเฉินหรือไม่ มิเช่นนั้นก็ไม่จำเป็นต้อง "มอบอำนาจ" ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ประกาศ "ได้ตามความจำเป็นแก่สถานการณ์"
หลังจากนั้น จึงเป็น "มติ" (ตามแบบฉบับรายงานการประชุม คือสรุปเรื่องที่พิจารณา ตามด้วยมติ) ซึ่งอันที่จริงในกรณีนี้เป็นเพียงการเขียนซ้ำสิ่งที่เพิ่งเขียนไปในย่อหน้าแรกให้เป็นข้อๆ (ยกเว้นข้อ ๓) ดังนี้
มติ-
๑. มอบอำนาจให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พิจารณาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ ตามความจำเป็นแก่เหตุการณ์
๒. อนุมัติให้จัดตั้งกองอำนวยการรักษาความไม่สงบ ขึ้นที่ตึกบัญชาการ สำนักนายกรัฐมนตรี โดยให้มีอำนาจหน้าที่ดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ มอบให้รองนายกรัฐมนตรีทั้ง ๔ ท่าน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผลัดกันมาประจำบัญชางาน ณ กองอำนวยการรักษาความสงบตลอดเวลา และพิจารณาเสนอความเห็นถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เพื่อปฏิบัติการต่างๆ ได้ตามความจำเป็น
๓. อนุมัติให้ออกแถลงการณ์ของรัฐบาล ลงวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เพื่อชี้แจงเหตุการณ์และผลการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตามแถลงการณ์ของรัฐบาลแนบท้ายนี้ เป็นการด่วนที่สุด
(ไม่ยืนยัน)
ผมไม่แน่ใจว่าข้อความในวงเล็บ "ไม่ยืนยัน" หมายความว่าอะไร เป็นไปได้ว่าที่ประชุมตกลงกันไม่ได้เกี่ยวกับแถลงการณ์ฉบับร่าง ดังที่สุรินทร์เล่า ("ตอนบ่ายประชุมคณะรัฐมนตรีต่อ มีการพิจารณาร่างแถลงการณ์ ได้มีการแถลงการณ์บางตอนไม่ตรงความจริง อาตมาเป็นผู้คัดค้านไม่ให้ออกแถลงการณ์เท็จ") จึงไม่มีการลงมติรับรองร่างแถลงการณ์นั้น
ดังที่ผมเคยเขียนไปแล้วว่า ผมไม่เคยเห็น และไม่เคยได้ยินว่ามีใครเคยเห็น ว่ารัฐบาลเสนีย์ได้ออกแถลงการณ์ในวันที่ ๖ ตุลา หลังการนองเลือดที่ธรรมศาสตร์แล้ว หนังสือพิมพ์ฉบับที่วางตลาดในบ่ายวันนั้น ก็ไม่มีฉบับใดกล่าวถึง๒ เมื่อถึงตอนค่ำ เกิดการรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน หนังสือพิมพ์ทุกฉบับถูกปิด เมื่อบางฉบับได้รับอนุญาตให้ตีพิมพ์อีกในวันที่ ๙ ตุลาคม ก็ไม่มีใครกล่าวถึงรัฐบาลเสนีย์แล้ว
การอ่านรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนั้น ทำให้ผมได้เห็นว่ามีร่างแถลงการณ์อยู่ฉบับหนึ่งจริงๆ เป็นเอกสาร "แนบท้าย" ตัวรายงาน ซึ่งผมขอคัดมาให้อ่านทั้งฉบับข้างล่างนี้ (ชื่อที่เขียนผิดเป็นไปตามต้นฉบับ) ในฐานะเป็นงานเขียนประวัติศาสตร์เหตุการณ์วันนั้นแบบโจมตีนักศึกษาชิ้นแรก (คณะปฏิรูปจะผลิตงานแบบนี้ออกมาอีกหลายชิ้น) ผมไม่แน่ใจว่าร่างแถลงการณ์นี้เป็นฉบับเดียวกับที่สุรินทร์กล่าวว่าเขาคัดค้านหรือไม่ หรือว่าได้มีการปรับปรุงใหม่แล้วจากการคัดค้านนั้น ถ้าเป็นฉบับเดียวกันและถ้าการคัดค้านนั้น มีส่วนทำให้ร่างแถลงการณ์นี้ไม่ได้ออกมา ก็ต้องนับว่าเป็นเครดิตของเขา (หรือของเสนีย์และประชาธิปัตย์)
ที่น่าคิดก็คือ ถ้านี่เป็นร่างแถลงการณ์ฉบับที่สุรินทร์คัดค้านจริงๆ เหตุใดเขาจึงไม่ตั้งคำถามกับการกระทำของตำรวจให้มากกว่านั้นไปพร้อมๆ กันด้วย อย่างน้อยก็ตามที่ปรากฏในหลักฐานที่มีอยู่?
แถลงการณ์ของรัฐบาล
เนื่องด้วยมีบุคคลจำนวนหนึ่ง ได้บุกรุกเข้ายึดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อเวลา ๑๙.๐๐ น. เศษ ของวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๑๙ และได้ทำการยุยงปลุกปั่นให้นิสิต นักศึกษา และประชาชน กระทำการล่วงละเมิดกฎหมายบ้านเมืองและดูหมิ่นเหยียดหยามแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมงกุฏราชกุมาร ดังปรากฏตามภาพในหนังสือพิมพ์ รัฐบาลเห็นว่าพฤติการณ์ดังกล่าว เป็นภัยอย่างร้ายแรงต่อประเทศชาติ และราชบัลลังก์ จึงได้สั่งให้อธิบดีกรมตำรวจดำเนินการสอบสวนและจับกุมผู้กระทำความผิดดังกล่าวโดยเร็วที่สุด และเจ้าพนักงานตำรวจได้จับกุมนายสุธรรม แสงประทุม นายสุรชาติ ธำรงสุข นายประพนธ์ วงศ์ศิริพิทักษ์ นายวิโรจน์ ตั้งวานิชย์ นายอภินันนท์ มัลทภักดี และนายอนุพงศ์ พงศ์สุวรรณ ได้ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เวลาประมาณ ๘.๐๐ น. ขณะนี้กำลังทำการสอบสวน เพื่อสั่งฟ้องศาลโดยเร็วที่สุด
ในระหว่างที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ติดต่อให้ผู้กระทำผิดกฎหมายเข้ามอบตัวนั้น ได้มีการกระจายเสียงจากภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปลุกปั่นให้ผู้ร่วมชุมนุมในมหาวิทยาลัย ไม่ให้เกรงกลัวกฎหมายบ้านเมือง ทำให้ประชาชนซึ่งมาเฝ้าดูเหตุการณ์รอบๆ มหาวิทยาลัย บังเกิดความเคียดแค้น และได้พยายามปีนรั้วเข้าไปในมหาวิทยาลัย เมื่อเวลาประมาณ ๒.๐๐ น. เศษ ของวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ แต่ได้ถูกยิงสกัดด้วยอาวุธร้ายแรง ทำให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บ อธิบดีกรมตำรวจจึงได้สั่งเพิ่มกำลังตำรวจรอบๆ บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อป้องกันมิให้เหตุการณ์ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น แต่ก็ไม่อาจสกัดกั้นการใช้อาวุธปืนของผู้ก่อความไม่สงบจากภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ ตำรวจจึงได้ดำเนินการ เคลื่อนกำลังเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อเวลาประมาณ ๗.๐๐ น. ของวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ และได้ประสบการต่อต้านด้วยอาวุธร้ายแรงจากจุดต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าพนักงานตำรวจ จึงได้ใช้อาวุธตอบโต้ และเข้าทำการกวาดล้าง ยึดอาคารในมหาวิทยาลัยได้เป็นส่วนใหญ่ เมื่อเวลาประมาณ ๑๑.๐๐ น. เศษ ผู้ก่อความไม่สงบได้ออกมามอบตัวต่อเจ้าหน้าที่เป็นจำนวนมาก ยังคงเหลืออีกบางส่วนที่ต่อต้านด้วยอาวุธร้ายแรง ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจ จะได้ทำการกวาดล้างต่อไป
ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ต้นจนถึงบัดนี้ ทำให้เจ้าพนักงานตำรวจ นักศึกษา และประชาชน ต้องได้รับบาดเจ็บ ประมาณ ๑๘๐ คน และเสียชีวิต ๑๒ คน รัฐบาลขอยืนยันว่าจะรักษาสถานการณ์ให้เกิดความสงบ และเข้าสู่สภาพปกติได้ภายในวันนี้ ขอให้พี่น้องประชาชนชาวไทยได้คลายความวิตกกังวล
จึงขอประกาศมาให้ทราบทั่วกัน.
สำนักนายกรัฐมนตรี
๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เวลา ๑๔.๐๐ น.
เรื่องที่ ๒ ที่ได้รับการพิจารณาตามบันทึกการประชุม ภายใต้หัวข้อ "การก่อความไม่สงบในกรุงเทพมหานคร" น่าจะ (ดังที่ผมตั้งข้อสังเกตข้างต้น) เป็นเพียงสิ่งที่เสนีย์เสนอ ว่าควรสั่งการให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติ ไม่ว่าจะมีการประกาศภาวะฉุกเฉินหรือไม่ (เพราะเรื่องหลังยังตกลงกันไม่ได้) คือให้ปิดร้านค้าปืน ปิดปั๊มน้ำมัน ตรวจตรารถบรรทุก และรถเมล์โดยสาร จากต่างจังหวัดเข้ากรุงเทพฯ เพื่อสกัดกั้นอาวุธ และ "ผู้ก่อความไม่สงบ" มาตรการเหล่านี้เป็นเพียงวิธีปฏิบัติปกติของทางราชการเมื่อมีสถานการณ์ทำนองนี้
จะมีที่แปลกออกไปคือ มาตรการสุดท้ายที่รายงานการประชุมบันทึกว่า "ควรจะจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไปให้การอารักขาสมเด็จพระสังฆราช เพื่อป้องกันมิให้ผู้ก่อความไม่สงบ เข้าไปลักพาตัวเอาไปเป็นประกัน" ซึ่งอาจจะเกิดจากการที่มีข่าวลือในเช้าวันนั้น (ปล่อยโดยสถานีวิทยุยานเกราะ) ว่ามีนักศึกษา ๕ คนพยายามจะเผาวัดบวรฯ (เดลินิวส์ ตีพิมพ์ข่าวนี้ ราวกับว่าเป็นเรื่องจริง แต่ไทยรัฐ รายงานว่า เป็นข่าวจากยานเกราะ ซึ่งหลังจากตำรวจตรวจสอบอย่างละเอียดแล้ว พบว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด)
เรื่องที่ ๓ ที่มีการพิจารณา ตามที่ปรากฏในบันทึกการประชุม เป็นดังนี้
๓) เรื่อง ข้อเรียกร้องของประชาชนกลุ่มผู้รักชาติ (โดยมีนายมงคล ศรีกาญจนา ฯลฯ)
ประชาชนกลุ่มผู้รักชาติ ได้มีหนังสือ กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ว่า "กลุ่มประชาชนผู้รักชาติ กำลังรวมตัวที่ลานพระรูปหลายหมื่นคน ขอให้ท่านดำเนินการดังนี้ ด่วน.-
๑. เอา รมต.สุรินทร์ มาศดิตถ์, รมต.ดำรง ลัทธพิพัฒน์, รมต.ชวน หลีกภัย และนายวีระ มุสิกพงศ์ ออกด่วน เพราะมีส่วนสนับสนุนศูนย์นิสิตตลอดเวลา และให้ดำเนินการจับกุมด้วย
๒. ให้เอานายสมัคร สุนทรเวช และนายสมบุญ ศิริธร เข้าเป็น รมต.ช่วยมหาดไทย
๓. ให้เอากฎหมายควบคุมคอมมิวนิสต์ขึ้นมาใช้อย่างเคร่งครัด
๔. ให้จับกุมคณะกรรมการกลางพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ข้อหาสนับสนุนศูนย์นิสิต หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และจับกุมนายป๋วย อึ๊งภากรณ์
ทั้งนี้ โดยรอคำตอบ ภายใน ๑๔.๐๐ น. วันนี้ โดยตอบเป็นลายลักษณ์อักษรและแถลงการณ์ทั่วประเทศให้ประชาชนทราบ มิฉะนั้นเราจะจัดการของเราเอง
มติ - ทราบ
เห็นได้ชัดว่า เป็นเรื่องไม่ปกติจริงๆ ที่มีการนำเอาเรื่องลักษณะนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ดังที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่า วาระนี้ไม่มีหน่วยราชการเจ้าของเรื่อง ไม่มีแม้แต่ข้อความประเภท "นายกรัฐมนตรี (หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวง) เสนอว่า..." และเป็นเรื่องชวนอับอาย (humiliating) ไม่น้อย ที่ข้อเสนอให้ปลดรัฐมนตรี มาจากกลุ่มที่ไม่มีแม้แต่ชื่อที่แน่นอน ("ประชาชนกลุ่มผู้รักชาติ")
ผมคิดว่า นี่คือความรู้สึกของสุรินทร์ ที่เขาเขียนว่า (การเน้นคำของผม) "อาตมาประชุมคณะรัฐมนตรีด้วยความอดทน สิ่งที่จะพูดหลายครั้งแต่ไม่พูด แต่เฉพาะเรื่องข้อเรียกร้องของแม่บ้านกลุ่มหนึ่งนั้น อาตมาเห็นว่าจะต้องพูด...อาตมาไม่ได้หวงตำแหน่งรัฐมนตรี ยอมทำตามมติพรรค คำสั่งพรรค และดำเนินแนวนโยบายของพรรคอย่างเคร่งครัดทุกประการ "แต่เมื่อมาบีบบังคับกันด้วยเล่ห์การเมืองที่สกปรกแบบนี้ผมไม่ลาออก ผมจะสู้ สู้เพื่อศักดิ์ศรีของผม" เป็นคำพูดของอาตมาในวันนั้น"
การที่คณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ ต้องทนกับความอับอายของการถูกนายตำรวจระดับพลตำรวจตรี (ที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องที่กำลังพิจารณา) มาเถียงกับนายกรัฐมนตรี และความอับอายของการที่ต้องเอาข้อเรียกร้องให้ปลดพวกตน จากกลุ่มที่ไม่มีสถานะแน่นอน มาพิจารณา แสดงให้เห็นอย่างไม่ต้องสงสัยว่า พวกเขาได้สูญเสียอำนาจในการควบคุมสถานการณ์ในขณะนั้นไปแล้ว และกลายสภาพเป็นกลุ่มที่ไม่มีความหมาย (irrelevant) ต่อการคลี่คลายของสถานการณ์ในขณะนั้นแล้ว
คำถามที่ยังเหลืออยู่
เมื่อคณะรัฐมนตรีชุดสุดท้ายของเสนีย์ ปราโมช ซึ่งไม่มีแม้แต่อำนาจบริหารราชการอย่างเต็มที่ตามรัฐธรรมนูญ เปิดประชุมในเช้าวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ การฆ่าหมู่ที่โหดเหี้ยมที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ได้ดำเนินไปจนใกล้ยุติแล้ว คณะรัฐมนตรีชุดดังกล่าวไม่ได้ทำอะไร-ไม่มีความสามารถจะทำอะไร-ที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นแล้ว ขณะเดียวกันพวกเขาไม่ใช่ผู้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าโจมตีธรรมศาสตร์ ตัวนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมหาดไทยเอง ก็ไม่ใช่เช่นกัน อำนาจเดียวที่ตำรวจได้รับมอบหมาย คือสอบสวนจับกุมผู้อาจจะกระทำผิดในกรณีภาพการแสดงละครแขวนคอ ซึ่งทุกฝ่ายทราบดีว่า นักศึกษาที่เกี่ยวข้องได้ตกลงเข้าพบ (หรือ "มอบตัว" ตามแต่จะเรียก) กับรัฐบาลและเจ้าหน้าที่แล้ว แต่การโจมตีของตำรวจก็ยังเกิดขึ้น ทำไม? ใครเป็นผู้สั่งการ?
ที่น่าคิดอีกอย่างคือ เมื่อความรุนแรงเริ่มขึ้นแล้ว เป็นไปได้หรือไม่ที่จะยุติยับยั้ง? เหตุใดจึงดูเหมือนว่าไม่มีใครพยายาม?
เมื่อเร็วๆ นี้หนังสือใหม่เล่มหนึ่งเสนอว่า การที่ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ รอดพ้นจากการอาจจะถูกทำร้ายถึงชีวิตจากฝูงชนได้ เพราะการช่วยเหลือของบางคน เป็นไปได้หรือไม่ที่ใครบางคนจะหยุดยั้งความรุนแรงวันที่ ๖ ตุลา (ไม่ว่าจะร้ายแรงเพียงใด) โดยทันที?
คำถามเหล่านี้ ยังเหลือให้สำรวจ พิจารณาอย่างละเอียด ในโอกาสต่อไป...
เชิงอรรถ
๑. การถวายสัตย์ปฏิญาณนี้เป็นไปตามมาตรา ๑๖๙ ของรัฐธรรมนูญปี ๒๕๑๗ ซึ่งระบุถ้อยคำไว้ด้วย ดังนี้ "ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ" น่าสังเกตว่า หลังจากคณะรัฐมนตรีกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณดังกล่าวแล้ว ในหลวงทรงมีรับสั่งว่า "ถ้าเฉพาะคำปฏิญาณตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแล้วก็เห็นว่าเฉยๆ ไม่มีอะไร แต่ความจริงแล้ว ถ้อยคำสั้นๆ โดยสรุปที่ได้ปฏิญาณไว้นั้นก็มีความหมาย คือให้มีความซื่อสัตย์สุจริตในการปฏิบัติหน้าที่" วันต่อมา ประชาชาติ พาดหัวข่าวว่า "ในหลวงทรงแนะนำ ครม.ทำงานด้วยความซื่อสัตย์" อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาสถานการณ์ในเย็นวันที่ ๕ ตุลาคม ซึ่งการก่อกระแสเรื่องภาพละครแขวนคอได้ดำเนินไปอย่างเต็มที่แล้ว (คณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าเวลา ๑๖.๓๐ นาฬิกา) ผมคิดว่ามีเหตุผลที่จะตีความได้ว่า ในหลวงทรงกำลังนึกถึง และทรงกำลังเตือนให้คณะรัฐมนตรีนึกถึง ประโยคแรกของคำปฏิญาณมากกว่า ("ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์...") แม้จะไม่ได้ทรงมีพระราชดำรัสออกมาตรงๆ ก็ตาม น่าสังเกตด้วยว่า ตามรายงานข่าวของบ้านเมือง "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้คณะรัฐมนตรีเฝ้าฯ ในช่วงที่สั้นๆ หลังจากได้ถวายสัตย์ปฏิญาณเรียบร้อยแล้ว เพียง ๕ นาที ก็เสด็จฯ ขึ้น"
๒. อย่างไรก็ตาม มติตั้ง "กองอำนวยการรักษาความสงบ" ถูกรายงานใน ไทยรัฐ ฉบับวางตลาดบ่ายวันนั้น ดังนี้ "เมื่อเวลา ๑๑.๕๐ น. สำนักนายกรัฐมนตรีแถลงข่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีบัญชาให้ตั้งกองบัญชาการรักษาความสงบเรียบร้อยโดยตั้งกองบัญชาการขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาล และจะมีแถลงการณ์ของรัฐบาลออกมาเป็นระยะ รัฐบาลขอให้สถานีวิทยุทุกแห่งคอยถ่ายทอดแถลงการณ์ของรัฐบาลทุกระยะด้วย" ไทยรัฐ ฉบับเดียวกัน ยังรายงานว่า "นายนิธิพัฒน์ ชาลีจันทร์ รมช.กลาโหม แถลงเมื่อเวลา ๑๓ น. ว่า ตอนนี้ยังหารือประกาศภาวะฉุกเฉินอยู่ แต่ขณะที่สัมภาษณ์ยังไม่ได้ประกาศ" ข่าวแรกแสดงว่ามีการนำมติบางเรื่องมาแถลงก่อนเสร็จประชุม ข่าวหลังแสดงว่าถึงเวลาบ่ายโมง ยังตกลงกันไม่ได้เรื่องประกาศภาวะฉุกเฉิน และทั้ง ๒ ข่าวประกอบกัน แสดงว่าการลงมติไม่ได้เป็นไปตามลำดับในบันทึกการประชุม
วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2550
ชำแหละ-ชำระ ประวัติศาสตร์ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ การประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 8:13 หลังเที่ยง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น