วันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2550

ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย


ทันทีที่ทราบข่าวจากหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ ๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๖ ว่าทางองค์การยูเนสโกตกลงยอมรับรองให้ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ( หลักที่ ๑ ) เป็นมรดกความทรงจำของโลก ผู้เขียนเกิดความรู้สึก ๒ ด้าน คือ ไม่รู้จะยินดีหรืออนาถใจอย่างไรดี ศิลาจารึกหลักนี้มีคุณค่าแน่นอนไม่เป็นที่สงสัย แต่มีคุณค่าในแง่ไหนนั้นบางทีมันก็อาจเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ในหลายคุณค่าที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยม ?สกัด ?เอาจากแท่งหินโบราณนี้ คุณค่าที่ว่า มันคือ ?รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย ? เป็นคุณค่าหนึ่งที่นิยมยกย่องกัน นอกเหนือจากแง่มุมทางด้านภาษาศาสตร์และนิรุกติศาสตร์ที่ว่า เป็นเครื่องยืนยันว่ามีการประดิษฐ์คิดค้นลายสือไทย, แง่มุมทางกฎหมายที่ว่า ทรงไต่สวนคดีความแก่ผู้มาสั่นกระดิ่งด้วยพระองค์เอง, และกระทั่งเรื่องระบอบการปกครอง ที่เชื่อกันว่า สมัยสุโขทัยมีการปกครองกันแบบพ่อปกครองลูก ไม่มีการกดขี่ ไม่มีทาส เป็นรัฐในอุดมคติ เป็นต้น

แต่นี่ก็ไม่ใช่เรื่องเล่นๆเสียแล้ว เมื่อนึกถึงว่า การยกย่องศิลาจารึกหลักนี้ ในทำนองนี้ มีปรากฎในแบบเรียนระดับอุดมศึกษามาก่อนเป็นระยะเวลานาน ก่อนที่จะมีการเสนอต่อยูเนสโกเสียอีก ( ดู, ชาญวุติ วัชรพุกก, สังคมศึกษา 6 (รัฐศาสตร์สำหรับครู ), รัฐศาสตร์ทั่วไป ( ตำราเรียนวิชาพื้นฐานของคณะรัฐศาสตร์ ), )

อีกทั้งงานประวัติศาสตร์นิพนธ์ของปัญญาชนฝ่ายชนชั้นนำก็โน้มเอียงตีความเอาไว้อย่างนี้ เช่น พระนิพนธ์เรื่อง ?ลักษณะการปกครองของประเทศสยามแต่โบราณ ? ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ?เรื่องเที่ยวเมืองพระร่วง ? ของ ร.๖, ?ประชุมศิลาจารึกสยาม ? ของยอช เซเดส์, ? หลักไทย ? ของขุนวิจิตรมาตรา ( สง่า กาญจนาคพันธ์ ), บทละครเรื่อง ? อานุภาพพ่อขุน ? ของหลวงวิจิตรวาทการ, ปาฐกถาเรื่อง ? ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ? ของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นต้น

การณ็นี้มันจึงสะท้อนกระบวนการวิวัฒน์ของความรับรู้ทางประวัติศาสตร์แบบหนึ่ง เป็นแบบที่เริ่มต้นจากการยอมรับหลักฐานโดยไม่วิพากษ์ให้ดีเสียก่อน พร้อมกันนั้นก็เล็งผลเลิศทางการเมืองราวกับพญาแร้งเจอซากศพ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรียกประวัติศาสตร์แบบนี้ว่า เป็นประวัติศาสตร์แบบ ? สกุลดำรงราชานุภาพ ? และ อ.ธงชัย วินิจจะกูล เรียกว่า เป็นยากล่อมประสาทแบบ ? ราชาชาตินิยม ? ( Royal ? nationalism ) ?

ย้อนหลังไปเมื่อ 38 ปีที่แล้ว ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้รับเชิญจากสมาคมครูโรงเรียนราษฎร์ ให้ไปแสดงปาฐกถา ณ หอประชุมคุรุสภา เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๐๘ ในปาฐกถานี้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้แสดงความคิดเห็นอันมีใจความหลักว่า ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย โดยทำการเปรียบเทียบกับมหาเอกสารแมคนาคาร์ตา ซึ่งราชสำนักอังกฤษสมัยวิคตอเรียถือว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของพวกเขา? พระเจ้าจอนห์เซ็นแมกนาคาตาเมื่อ ค.ศ.๑๒๑๕

ส่วนศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงนั้น ? น่าจะได้ประกาศปฏินญาไว้ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง เมื่อ พ.ศ.๑๘๒๖ ซึ่งตรงกับ ค.ศ.๑๒๘๓ คือ ห่างกันเพียง ๖๘ ปีเท่านั้น เป็นที่เชื่อได้สนิทว่าตามสภาพการณ์ในสมัยนั้น เป็นเรื่องที่ต่างคนต่างทำไม่มีการลอกเลียนแบบกันเลย แต่แม้กระนั้น ปฐมรัฐธรรมนูญทั้งสองก็มีประเด็นเนื้อหาคล้ายคลึงกันอย่างน่าพิศวง ? ( ดู, ประชุมปาฐกถาและคำอภิปรายของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช พ.ศ.๒๔๘๙ ? ๒๕๐๙, น. ๖๑๗ )

ประเด็นที่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ทำการเปรียบเทียบระหว่างศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงกับแมคนาคาร์ตา ได้แก่

๑) ? แมกนาคาตาของพระเจ้าจอนห์นั้น ทั้งที่ในสมัยนั้น ภาษาอังกฤษขีดเขียนก็มีใช้กันอยู่แล้ว กลับเขียนเป็นภาษาละติน ไม่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ ส่วนรัฐธรรมนูญของพ่อขุนรามคำแหงเขียนเป็นภาษาไทย ใช้อักษรไทยซึ่งเพิ่งจะได้ประดิษฐ์คิดขึ้นใช้ อีกประการหนึ่ง รัฐธรรมนูญของพ่อขุนรามคำแหงจารึกไว้บนศิลา ดูเหมือนฉบับเดียวในโลก รัฐธรรมนูญของบ้านเมืองอื่นเขียนลงในกระดาษทั้งนั้น รวมทั้งแมกนาคาตาของพระเจ้าจอนห์ด้วย ? ( เล่มเดิม, น. ๖๑๘ )

๒) ?ในการปกครองบ้านเมือง ข้อแรกจะต้องมีบ้านเมืองให้ปกครอง เพราะฉะนั้น รัฐธรรมนูญแบบปัจุบันจึงมักมีบทบัญญัติประกาศบ้านเมืองไว้ก่อน เช่น ในรัฐธรรมนูญสมัยประชาธิปไตยของเรามีประกาศไว้ว่า ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวกัน จะแบ่งแยกมิได้ ปฐมรัฐธรรมนูญของพ่อขุนรามคำแหงและของพระเจ้าจอนห์ ก็มีประกาศไว้เป็นทำนองเดียวกัน ในแมกนาคาตามีตราไว้เป้นเบื้องต้นว่า พระเจ้าจอนห์เป็นพระมหากษัตริย์แห่งประเทศอังกฤษ เป็นเจ้าแห่งประเทศไอร์แลนด์ เป็นท้าวพระยาแห่งประเทศนอร์มังดีและอากิแตน เป็นขุนแห่งอังจู ส่วนศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง มีตราไว้ว่า พ่อขุนรามคำแหงมีเมืองกว้างมีช้างหลาย ? ( น. ๖๑๘ ? ๖๑๙ )

๓) ? เกี่ยวกับที่มาของอำนาจปกครอง? ในแมกนาคาตาของพระเจ้าจอนห์มีประกาศไว้ว่า พระเจ้าจอนห์ได้เป็นพระมหากษัตริย์ด้วยพรของพระผู้เป็นเจ้า ( By the grace of God ) ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงกล่าวไว้ว่า พ่อขุนรามคำแหงได้เสวยราชสมบัติโดยวิถีทางสืบราชสันตติวงศ์ ? พี่กูตายจึงได้เมืองแก่กูทั้งกลม ? ทั้งกลมหมายความว่า ทั้งหมด ข้อนี้แสดงว่า พ่อขุนรามคำแหงไม่ได้ใช้โฆษณาชวนเชื่อ แต่แสดงความจริงถึงเสถียรภาพ และความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการเข้าสู่อำนาจการปกครองโดยไม่มีการปฎิวัติรัฐประหารแย่งอำนาจกัน ? ( น.๖๒๓ ) และ ? เมื่อได้สลัดทิ้งลัทธิสมมติเทวราชของขอมลงไปแล้ว เมืองไทยนำเอาลัทธิอไรเข้าแทนที่ ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมีกล่าวอยู่ทั่วไปว่า ขุนรามคำแหงเป็นพ่อเมือง ทั้งนี้มิใช่ว่าพระองค์ท่านยกตนข่มราษฎร แต่มีความหมายเพียงว่า พ่อเมืองปกครองลูกเหมือนบุตร ? เป็นการแบ่งหน้าที่กันปกครองบ้านเมือง หาใช่เป็นการแบ่งชั้นวรรณะไม่ ? ( น. ๖๒๕ )

๔) ? สำหรับทรัพย์สินซึ่งเป็นที่ดิน ประเทศอังกฤษใช้ระบบกฎหมายที่ดินเหมือนกฏหมายลักษณะเบ็ดเสร็จของไทย คือ ถือว่าที่ดินทั้งหลายในราชอาณาจักรอังกฤษเป็นของพระมหากษัตริย์ ราษฎรถือสิทธิในที่ดินแต่โดยอาศัยพระบรมเดชานุภาพ หลักการอันนี้ตกทอดมาเป็นกฏหมายในกาลต่อมา ที่พระเจ้าแผ่นดินไทยจะทวงเอาที่ดินคืนไปใช้ทำอะไรก็ได้ ? ( น.๖๔๐ ) และ ? เกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงกล่าวไว้ว่าไพร่ในเมืองสุโขทัยสร้างป่าหมากป่าพลู ทั้งเมืองนี้ทุกแห่ง ป่าพร้าวก็หลายในเมืองนี้ ป่าลางก็หลายในเมืองนี้ หมากม่วงก็หลายในเมืองนี้ หมากเขาก็หลายในเมืองนี้ ? ใครสร้างได้ไว้แก่มัน ? เมื่อเจ้าของตายลงศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงให้ทายาทรับมรดกได้ ? ( น. ๖๔๒ ) ทั้ง ๔ ประเด็นข้างต้นล้วนแต่มีความผิดพลาด อันเนื่องจากว่า



๑) การที่เอกสารแมคนาคาร์ตาต้องจารึกเป็นภาษาละติน ไม่ใช่ภาษาอังกฤษนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดแต่อย่างใด เมื่อนึกถึงว่า สมัยที่พระเจ้าจอห์นต้องเซ็นเอกสารชิ้นนี้ ภาษาอังกฤษยังมีฐานะเป็นเพียงภาษาถิ่นภาษาหนึ่ง เช่นเดียวกับภาษาถิ่นอื่นๆ เช่น ภาษาเยอรมัน, ฝรั่งเศส, สเปน, เป็นต้น สมัยนั้นภาษาละตินทำหน้าคล้ายเป็นภาษามาตรฐาน เป็นที่ยอมรับในหมู่รัฐยุโรปที่นับถือศาสนาเดียวกัน คือ ศาสนาคริสต์ และลักษณะการปกครองก็ถือชุมชนทางศาสนาเป็นสำคัญไม่ใช่รัฐชาติ ส่วนความเชื่อที่ว่าภาษาที่จารึกลงในศิลาจารึกหลักที่ ๑ นี้เป็นภาษาเดียวกับภาษาไทยมาตราฐานทุกวันนี้ อีกทั้งยังเชื่อตามหลักฐานว่าพ่อขุนรามคำแหงเป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นอีก อันนี้ชวนให้น่าสงสัยเป็นอย่างยิ่งว่า เป็นความจริงหรือเปล่า เมื่อนึกถึงว่า ภาษาเป็นเรื่องของสังคม เรื่องของวัฒนธรรม รวมถึงอะไรหลายๆอย่างที่สัมพันธ์กับเรื่องราวของคนจำนวนมาก ในสมัยโบราณไม่น่าที่จะมีภาษาที่เป็นมาตราฐานของคนไทยทั้งหมด หากแต่ใช้แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น แม้ปัจจุบันนี้หากใครลองเดินทางจากเหนือสุดถึงใต้สุดของประเทศไทย ก็จะพบว่า คนไทยใช้ระบบภาษาที่มีความแตกต่างกันมากตามระยะห่าง ยิ่งเป็นท้องถิ่นที่ห่างไกลกันมากๆบางทีก็อาจสามารถนับเป็นคนละะภาษาได้เลยทีเดียว และควรเข้าใจเป็นพื้นไว้ด้วยว่า ผู้คนทั้งหมดในประเทศนี้เพิ่งจะถูกเรียกว่า เป็น ? คนไทย ? และประเทศนี้ก็เพิ่งจะได้เรียกกันอย่างจริงจังว่า เป็น ? ประเทศไทย ? ก็ในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ออก ? รัฐนิยม ? ฉบับแรก เมื่อ ปี พ.ศ.๒๔๘๒ นี้เอง

ถ้าพ่อขุนรามคำแหงทรงเป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นจริงและมีอิทธิพลส่งตรงถึงปัจจุบันนี้ ก็นับว่าพระองค์ทรงพระอัจฉริยภาพมาก ที่เพียงพระองค์ก็สามารถคิดภาษาขึ้นมาให้คนจำนวนมหาศาลรับไปใช้ได้ และเกี่ยวพันมาถึงคนจำนวน ๖๐ ล้านคน ณ. วันนี้ได้ ทัศนะเช่นนี้นับว่า มองภาษาเป็นสิ่งหยุดนิ่ง ตายตัว และแข็งทื่ออย่างสุดบรรยาย อีกทั้งยังมีข้อขัดแย้งมากไปอีก เมื่อนึกถึงว่า รัฐสมัยโบราณอย่างสุโขทัยนี้จะมีจำนวนคนที่รู้หนังสือ และมีความจำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวันมากน้อยเพียงใด ในเมื่อวัดและวังก็หาได้เป็นที่ที่เปิดกว้างสำหรับการศึกษาของสามัญชน ( ในอดีตเด็กวัดที่ได้เรียนหนังสือมักเป็นลูกคหบดีหรือไม่ก็ขุนนางไม่ใช่ชาวบ้านหรือสามัญชนอย่างทุกวันนี้ ) และวัดกับวังก็ยังน่าที่จะใช้ภาษาบาลีเป็นมาตรฐานเข้าให้อีก ( ? )

๒) ปัจจุบันมีงานศึกษาเป็นจำนวนมากที่สร้างความกระจ่างได้แล้วว่า รัฐโบราณทางแถบภูมิภาคนี้ไม่ได้ยึดถือเรื่องอาณาเขตดินแดนเป็นสำคัญ หากยึดถือเรื่องการคุมกำลังคนเสียมากกว่า เพราะกำลังคน ( หรือแรงงาน ) มีความสำคัญต่อการผลิตแบบกสิกรรมและการทำสงคราม ส่วนการถือเรื่องเขตแดนเป็นสำนึกที่เพิ่งเกิดขึ้นในสมัยที่จักรวรรดินิยมยุโรปเข้ามาล่าอาณานิคมต่างหาก ซึ่งมีผลเป็นการก่อเกิดสำนึกเรื่องความเป็น ? ชาติ ? ในกาลต่อมา ดังนั้น ? ชาติ ?จึงไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นมานานนมอะไร ที่อ้างว่า พ่อขุนรามคำแหงมีเมืองกว้างมีช้างหลาย ปราบเมืองตะวันออกไปถึงเมืองพิจิตร พิษณุโลก จนถึงฝั่งโขงและเวียงจันทร์ ทิศใต้จรดนครศรีธรรมราชจนถึงฝั่งทะเล เบื้องตะวันตกจรดเมืองฉอด หงสาวดี มีมหาสมุทรหากเป็นเขตแดน ? อะไรทำนองนี้เห็นจะไม่เป็นความจริง

๓) คำว่า ? ราม ? ที่เป็นนามพ่อขุนฯนี้ เป็นคำสะท้อนความคิด/ความเชื่อในเรื่องพระผู้อวตารลงมาปราบยุคเข็ญ พระรามเป็นอวตารหนึ่งของพระนารายณ์ ซึ่งเป็นพระเจ้าองค์หนึ่งของคติพราหมณ์ รามต้นฉบับเป็นนามของผู้นำเผ่าอารยันผู้ยกไพร่พลลงจากทางเหนือรุกรานชนเผ่ามิลักขะทางภาคใต้ของอินเดียโบราณ พอได้ชัยชนะฤาษีเฒ่าวาลมิกิ ปัญญาชนฝ่ายอารยันก็แต่งมหากาพย์ยกย่องให้ ?ราม ? กลายเป็นพระเจ้าผู้จุติลงมาปราบพวกคนป่าเถื่อน แล้วกดลงเป็นทาสสถาปนาระบบวรรณะขึ้น การที่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ขนานนามโอรสของตนโดยใช้ ?ราม ? หลังจากชนช้างชนะขุนสามชนนี้ ก็เป็นสิ่งสะท้อนความคิด/ความเชื่อในเรื่องพระผู้อวตารลงมาปราบยุคเข็ญนี้เหมือนกัน ? กูต่อช้างด้วยขุนสามชน ตนกูพุ่งช้างขุนสามชน ตัวชื่อมาสเมืองแพ้ ขุนสามชนพ่ายหนี พ่อกูจึ่งขึ้นชื่อกู ชื่อพระรามคำแหง เพื่อกูพุ่งชนช้างขุนสามชน ?

ในเมื่อได้นาม ?รามคำแหง ? มาจากการทำศึกสงคราม ซึ่งเชื่อแน่ได้ว่า นี้นับเป็นการกรุยทางไปสู่อำนาจในภายหลังเมื่อ ? พี่กูตาย จึ่งได้เมืองแก่กูทั้งกลม ? อีกทั้งการถือว่าตนเป็นผู้อวตารก็จัดเป็นการโฆษณาชวนเชื่อรูปแบบหนึ่ง การขึ้นสู่อำนาจของพ่อขุนรามคำแหงจึงไม่ได้เป็นอย่างมีระเบียบเรียบ ไม่ได้แสดงถึงความมีเสถียรภาพแต่อย่างใด และอาจถือได้ว่าเลวร้ายยิ่งกว่าการปฏิวัติรัฐประหารเสียอีก เพราะการทำสงครามต้องสูญเสียกำลังพลและทรัพยากรเป็นอันมาก ในเมื่อ ? ราม ? เป็นคำกลางๆที่สะท้อนความคิด/ความเชื่อบางอย่างที่คนชนชั้นหนึ่งมีร่วมกัน จึงปรากฎว่ามี ?ราม ?องค์อื่นที่ไม่ใช่พ่อขุนรามฯลูกพ่อขุนศรีฯเกิดขึ้น ในศิลาจารึกหลักที่ ๒ หรือที่เรียกกันว่า ? จารึกวัดศรีชุม ? ได้กล่าวถึง ? พระหริรามเทพ ? ผู้ซึ่งมีบทบาทต่อการธำนุบำรุงบวรพุทธศาสนาสมัยราชอาณาจักรสุโขทัย และแม้แต่สมัยอยุธยาล่วงมาแล้ว พระเจ้าอู่ทองยังให้นามโอรสของพระองค์ว่า ? พระราเมศวร ? ( ราม + อิศวร ) นี่เป็นส่วนหนึ่งของระบบคิดแบบสมมติเทวราชไม่ใช่เอนกนิกรสโมสรสมมติ

การตีความถ้อยคำในศิลาจารึกพ่อขุนฯออกมาว่า สุโขทัยสมัยนั้นปกครองกันด้วยวิธีแบบ ? พ่อปกครองลูก ? ก็ดูสับสน ( แต่ที่จริงไม่มีอะไรซับซ้อน ) ถ้าจะถือกันง่ายๆว่า ผู้ปกครองคือบิดา ประชาชนคือบุตร แล้วเหตุใดศิลาจารึกพ่อขุนฯถึงเจาะจงเรียกประชาชนผู้ใต้ปกครองว่า ? ไพร่ฟ้า ? ไม่เรียก ? ลูกขุน ? กลับมีแต่ ? พ่อขุนพระรามคำแหง ลูกพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เป็นขุนในเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัย ? และเมื่อจะเรียกลูกคนอื่นจริงๆก็กลับเรียกเป็น ? ลูกเจ้าลูกขุน ? ซึ่งหมายถึงลูกของขุนผู้ครองเมืองอื่นอย่างไม่ต้องสงสัย พ่อขุนรามฯจึง ? ขึ้นนั่งเหนือขดานหิน ให้ฝูงท่วยลูกเจ้าลูกขุนฝูงท่วยถือบ้านถือเมือง ? อีกทั้งจารึกยังไม่ยกย่องผู้หญิงให้เป็น ? แม่ขุน ? เลยสักคน จะมีก็แต่ ? แม่กูชื่อนางเสือง ? ไม่มีการนับญาติชนิดที่สัมพันธ์กันระหว่างเบื้องบนกับเบื้องล่าง

โดยรวม ? พ่อขุน ? จึงจัดเป็นการนับญาติกันเองในหมู่ชนชั้นนำเองมากกว่า ไม่ได้หมายรวมถึงถึงประชาชนภายในรัฐทั้งหมด ที่ระบุว่า ? พ่อขุนพระราทมคำแหงนั้นหาเป็นท้าวเป็นพระยาแก่ไทยทั้งหลาย ? นั้น ? ไทย ? ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงประชาชนทั้งหมดแน่นอน หากหมายถึงคนในชนชั้นใดชนชั้นหนึ่งเป็นสำคัญ เพราะจารึกด้านที่ ๔ ช่วงแรกกล่าวถึงผู้ใต้ปกครองของพ่อขุนรามคำแหงว่า มี ? ทั้งมากาวลาวและไทย เมืองใต้หล้าฟ้า ? ไทยชาวอูชาวของมาออก ๑๒๐๗ ศกปีกุน ? ดังนั้นถ้าจะเชื่อว่าจารึกหลักที่ ๑ นี้ทำขึ้นสมัยสุโขทัยกันจริงๆแล้ว งั้นสมัยนั้นก็เห็นจะไม่มีการปกครองแบบพ่อปกครองลูกเหมือนที่มักอ้างกัน และเป็นสังคมที่การแบ่งชั้นวรรณะกันอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะคำว่า ? พ่อขุน ? เองนั่นแหล่ะที่สะท้อนการแบ่งคนแบ่งชนชั้น

๔) สำหรับเรื่องกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินโดยเฉพาะที่ดิน แม้ว่าเจ้าสยามแต่โบราณจะอ้างเป็นเจ้าของที่ดินทั้งหมดในราชอาณาจักร ตามคติสมัยโบราณกษัตริย์จึงไม่เพียงเป็นเจ้าชีวิต เจ้าเหนือหัว เท่านั้น แต่ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินด้วย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า พระองค์จะทรงเป็นเจ้าของที่ดินทั้งหมดนั้นจริงๆ พระองค์เพียงแต่ ? อ้าง ?ต่างหาก และการอ้างอย่างนั้นมีผลเป็นพันธสัญญาระหว่างรัฐกับราษฎร ชนชั้นนำจะถือว่าการที่ราษฎรสามารถทำมาหากินบนที่ดินได้นั้น ก็ด้วยเพราะเป็นพระมหากรุณาธิคุณ ไม่ใช่เรื่องของอำนาจการกดขี่บังคับ ในแง่นี้ราษฎรจึงต้องเสียภาษีให้แก่รัฐนั่นเอง กล่าวอีกนัยหนึ่งรัฐไม่ได้ยอมรับกรรมสิทธิ์ข องบุคคลชั้นที่เป็นไพร่นั่นเอง การมีประกาศออกโฉนดที่ดิน ร.ศ.๑๒๗ ที่ริเริ่มดำเนินการในสมัย ร.๔ จึงถือเป็นครั้งแรกที่รัฐยอมรับกรรมสิทธิ์ที่ดินของบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้มีอำนาจในนามของราชสำนักและทางการ ส่วนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินอื่นนั้นต่อให้อ้างอย่างไรก็คงไม่มีผล จริงอยู่ที่ศิลาจารึกฯ ระบุว่า ? ใครสร้างได้ไว้แก่มัน ? แต่จารึกฯก็ไม่มีข้อความไหนระบุไว้เลยว่า เมื่อเจ้าของตายลงให้มีทายาทรับมรดกได้ ดูบริบทโดยรอบก็ไม่มีที่จะตีความไปได้อย่างนั้นเลย ข้อนี้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ตบแต่งขึ้นมาเอง

การตีความว่า ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรก ย่อมมีผลเป็นการหักล้างรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นหลัง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ และถ้าศิลาจารึกเป็นรัฐธรรมนูญ นั่นเท่ากับว่าสังคมไทยมีประชาธิปไตยมาตั้งนานนมแล้ว อีกทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ทรงปกครองแบบประชาธิปไตย หรือนัยหนึ่งพระองค์ทรงปกครองแบบพ่อปกครองลูก ไม่ได้กดขี่ การปกครองแบบพ่อปกครองลูกให้ภาพสวยหรูกระทั่งสุโขทัยกลายเป็นรัฐในอุดมคติ ตามความเห็นของม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชและฝ่ายนิยมเจ้าการปกครองแบบนี้จัดเป็นว่าประชาธิปไตยแบบหนึ่ง เป็นประชาธิปไตยแบไทยๆไม่ใช่แบบตะวันตก ความคิดนี้ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับพรรคพวกเคยใช้เป็นเครื่องมืออธิบายให้ความชอบธรรมแก่อำนาจเผด็จการที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง พร้อมกันนั้นก็ยกสถาบันพระมหากษัตริย์ขึ้นเป็นสัญลักษณ์ของความรุ่งเรืองแต่ครั้งอดีตกาล และพยายามชี้ว่า ในยุคเผด็จการของเขานั้นก็ปกครองกันด้วยระบอบนี้

ความคิดแปลกประหลาดเช่นนี้แน่นอนย่อมมีผลทำให้สิ่งที่ชนชั้นปกครองกระทำนั้นป็นสิ่งถูกต้องชอบธรรมเสมอ ? รัฐธรรมนูญ ? กับ ? ประชาธิปไตย ? มักถูกใช้ปะปนกันเสมอ ทั้งที่จริงสองสิ่งนี้เป็นคนละอย่างกัน การมีรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นหลักประกันแก่ความเป็นประชาธิปไตยแต่อย่างใด แม้การปกครองแบบเผด็จการอย่างเช่น ฮิตเลอร์, มุโสลินี, สตาลิน, หรือแม้แต่เผด็จการแบไทยๆอย่างสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ยังมีรัฐธรรมนูญ ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า รัฐธรรมนูญนั้นเป็นของใคร เขียนโดยใคร และเป็นบทบัญญัติต่างๆนั้นเพื่อใคร เป็นต้น ถ้าจะตีความอย่างนี้ รัฐธรรมนูญศิลาฯนี้ก็จัดว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เขียนโดยชนชั้นนำทางอำนาจ และแน่นอนย่อมมีไว้เพื่อประโยชน์แก่ผู้จารึกเอง ไม่ใช่ประชาชน

ในทางกลับกันศิลาจารึกหลักที่ ๑ ที่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ตีความว่า เป็นรัฐธรรมนูญนี้ไม่ว่าความจริงมันจะถูกจารึกขึ้นในยุคสุโขทัย รัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหง, หรือสมัยพระยาลิไทย, และ/หรืออาจจะสมัย ร. ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยฝีมือของปัญญาชนผู้มีความสามารถเป็นเลิศ ซึ่งจะได้ขึ้นสู่อำนาจเป็นรัชกาลต่อมา ไม่ว่าความเห็นในเรื่องนี้ในหมู่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านประวัติศาสตร์จะแตกต่างกันอย่างสุดขั้วเพียงใด แต่สิ่งหนึ่งที่ทั้งสองฝ่ายต่างก็ต้องเห็นพ้องต้องกันก็คือ ศิลาจารึกหลักนี้ยังไงเสียก็ต้องจัดเป็นประดิษฐกรรมของฝ่ายชนชั้นผู้มีอำนาจอยู่ดี ซึ่งนั่นก็มีผลทำให้ไม่อาจเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ที่มีความสมบูรณ์ ในการสะท้อนสังคมทั้งสังคม หรือยุคสมัยทั้งยุค ในเมื่อมันถือกำเนิดขึ้นเพื่อคนชั้นหนึ่งเป็นการเฉพาะ ภาพสังคมชนชั้น ตลอดจนระบอบการปกครองที่ได้จากศิลาจารึกหลักนี้จึงไม่ใช่ภาพที่ชัดเจนอะไร ไม่เพียงพอที่จะจินตนากรรมเป็นรัฐธรรมนูญ ไม่แม้แต่จะเคยเป็น และโดยตัวมันเองมันไม่ได้มีอยู่เพื่อการณ์นั้น ? รัฐธรรมนูญ ? เป็นคำสมัยใหม่ย่อมไม่มีใช้ในสมัยสุโขทัยเป็นอันขาด ตัวศิลาฯเองก็ไม่ระบุว่า เป็นรัฐธรรมนูญของพ่อขุนรามฯ

ที่จริงศิลาจารึกฯนี้มีความแตกต่างจากเอกสารแมคนาร์คาตาอย่างมาก ไม่ใช่แค่มันจารึกบนแท่งหิน ส่วนแมคนาร์คาตาจารึกบนกระดาษ และจารึกในเวลาห่างกันไม่มากเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญศิลาจารึกอาจทำหน้าที่เชิงสัญลักษณ์อย่างหนึ่งในแง่พิธีกรรม ไม่ใช่ประกาศปฏิณญาสากล เพราะไม่มีความจำเป็นที่ต้องทำอย่างนั้น หากต้องบอกกล่าวอะไรแก่พสกนิกร รัฐโบราณตามที่เป็นมาในประวัติศาสตร์ มีวิธีการที่ฉลาดและเหมาะแก่ยุคสมัยมากกว่านั้น ไม่ต้องใช้ภาษาเขียนให้ยุ่งยากและได้ผลช้า การพูดดูจะมีศักดิ์ศรีหรือความศักดิ์สิทธิ์มากว่า ถ้าไม่เชื่อฟังผู้ปกครองก็ปรามกันด้วยการจับแช่งน้ำให้ตายไปเลย สงสัยว่า ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เมื่อครั้งกล่าวปาฐกถานี้จะ ? ความจำเสื่อม ? กะทันหัน ถึงไม่ยอมบอกไว้เลยว่า แมคนาร์คาตาของอังกฤษนั้นพระเจ้าจอห์นถูกเหล่าขุนนางบังคับให้ต้องเซ็น ไม่ใช่ของพระราชทาน ซึ่งนั่นหมายความว่า พระองค์ไม่ได้เต็มใจหรือยินยอมยกอำนาจที่อยู่แต่เดิมให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือคณะบุคคลใดที่ไม่ใช่พรรคพวกของพระองค์เอง ถ้าจะเชื่อว่าพ่อขุนรามฯเป็นผู้จารึกเองก็เท่ากับขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิงกับแมคนาร์คาตา

แต่อย่างไรก็ตาม การตีความของม.ร.วงเสนีย์ ปราโมช นี้ใช่ว่าเป็นสิ่งไร้คุณค่า ตรงข้ามท่านได้ทำให้เราสามารถเข้าใจในภูมิปัญญาของคนยุคเผด็จการ เข้าใจความสืบเนื่องระหว่างระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์กับเผด็จการแบบไทยๆ สมัยก่อน ๑๔ ตุลา ? ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นปัญญาชนอีกท่านหนึ่งที่มีบทบาททำให้ ร.๗ กลายเป็นพระมหากษัตริย์นักประชาธิปไตยผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่มหาชนชาวสยามไปได้โดยง่ายและแนบเนียน มุมมองของท่านจึงสะท้อนให้เราเห็นความเจ็บปวดของฝ่ายเจ้านายและเชื้อพระวงศ์ ที่เกิดขึ้นหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ท่านไม่ประทับใจในเหตุการณ์หลายอย่างที่เกิดขึ้นภายหลัง ทั้งต่อพวกท่านเองและต่อสังคมไทยโดยรวม มุมมองของท่านเป็นมุมมองที่สะท้อนมาจากห้วงลึกในความรู้สึกของฝ่ายนิยมเจ้า ท่านพยายามเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น พร้อมกันนั้นก็กำหนดวิถีทางและเป้าหมายว่าจะอยู่ต่อไปอย่างไร ในสถานะและบทบาทเช่นไร ที่ผ่านมานับว่าท่านประสบผลสำเร็จมากพอควร

ในแง่การศึกษาค้นคว้าและวิพากษ์วิจารณ์ ในปาฐกถาชิ้นเดียวกันนี้ท่านได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า ? ข้าพเจ้าเป็นครูสอนกฎหมายมา ๓๐ กว่าปี สอนศิษย์เสมอมาว่า ลูกศิษย์ที่ดีต้องเป็นศิษย์ล้างครูในทางหลักวิชา คือ ต้องคิดให้ดียิ่งไปกว่าครู เพราะมิฉะนั้นแล้ววิชาจะไม่เจริญก้าวหน้า ? ( น.๖๑๔ ) ในฐานะเป็นผู้หนึ่งที่ได้ความรู้จากการศึกษาชีวิตและงานของท่าน ผู้เขียนถือว่า การวิพากษ์วิจารณ์ที่ได้กระทำลงไปในตลอดเนื้อหาของบทความนี้ เป็นการกระทำโดย ? ลูกศิษย์ที่ดี ? ของท่านเอง



บทความโดย : กำพล จำปาพันธ์

จาก นสพ. มติชนสุดสัปดาห์. ปีที่๒๒ ฉบับที่๑๒๐๕
ประจำวันที่ ๑๙ - ๒๕ กันยายน ๒๕๔๖

ไม่มีความคิดเห็น: