วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2550

ปัจฉิมวาจาของ ๓ นักโทษประหาร

ปัจฉิมวาจาของ ๓ นักโทษประหาร


หลังจากที่ศาลฎีกาได้พิพากษาลงโทษให้ประหารชีวิตจำเลยทั้ง ๓ คน เมื่อ ๑๒ ตุลาคม ๒๔๙๗ แล้วต่อมาในวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๔๙๗ จำเลยทั้ง ๓ ได้ทำหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ แต่ฎีกาดังกล่าวได้ตกไปในที่สุด

เกี่ยวกับการยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษของจำเลยทั้ง ๓ นั้น พล.ต. อนันต์ พิบูลสงคราม (บุตรชายของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม) ได้เขียนไว้ในหนังสือ "จอมพล ป. พิบูลสงคราม" พิมพ์ที่โรงพิมพ์ศูนย์การพิมพ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙ มีความตอนหนึ่งเป็นบทสนทนาระหว่าง พล.ต. อนันต์ พิบูลสงคราม (ผู้เขียน) กับจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งขณะนั้นลี้ภัยการเมืองอยู่ในประเทศญี่ปุ่นว่าดังนี้

"...ข้าพเจ้าจึงระงับใจไม่ได้ที่ต้องเรียนถามจอมพล ป. พิบูลสงคราม วันหนึ่งที่ประเทศญี่ปุ่นว่า ในฐานะที่เวลานั้น (พ.ศ. ๒๔๙๘-ผู้เขียน) ท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ เหตุใดท่านจึงไม่ขอพระราชทานอภัยโทษให้จำเลยสามคนที่ถูกศาลฎีกาพิพากษาประหารชีวิต ท่านตอบข้าพเจ้าทันทีอย่างหนักแน่นว่า พ่อได้ขอพระราชทานอภัยโทษขึ้นไปถึงสามครั้ง ได้พยายามทำหน้าที่ของพ่อจนถึงที่สุดแล้ว ในอดีตที่ผ่านมา มีน้อยครั้งที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องเสียใจบ้างเมือ่ทำอะไรไม่สำเร็จ แต่ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นครั้งใดที่ท่านจะเสียใจหนักยิ่งไปกว่าที่ข้าพเจ้ากำลังเห็นท่านครั้งนั้น ขณะเมื่อได้ตอบคำถามของข้าพเจ้าจบ ด้วยใบหน้าที่เคร่งขรึมและสนเท่ห์ใจไม่เปลี่ยนแปลง (จากหนังสือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม หน้า ๖๘๗) และก็สอดคล้องกับหนังสือแจกงานศพของนายชิต สิงหเสนี ที่บุตรสาวของท่านได้บันทึกไว้ในหนังสือนั้น มีความว่า

"ภายหลังที่พ่อถูกประหารชีวิตแล้ว จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ส่งนายฉาย วิโรจน์ศิริ เลขานุการส่วนตัวของท่านไปหาพวกเรา แจ้งให้ทราบว่ารัฐบาลยินดีจะให้การอุปการะความเป็นอยู่การศึกษาแก่พวกเราทุกประการ พวกเราปรึกษาหารือกัน และในที่สุด ตกลงรับความช่วยเหลือจากรัฐบาล เพื่อเป็นเครื่องยืนยันในความบริสุทธิ์ของพ่อ รัฐบาลจึงให้ความช่วยเหลือแก่พวกเรา ความช่วยเหลือนี้พึ่งมายกเลิกในสมัยรัฐบาล จอมพล สฤษดิ์ ธนรัชต์"

นอกจากนี้คุณชอุ่ม ชัยสิทธิเวชา ภรรยาของเรือเอก วัชรชัย ชัยสิทธิเวช ผู้ที่โจทก์พยามเสกสรรปั้นแต่งพยานเท็จให้เป็นมือปืนและต้องลี้ภัยคณะรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ไปอยู่ต่างประเทศนั้น ก็ยังได้รับเมตตาให้เข้าทำงานเป็นแม่บ้านของโรงเรียน ภปร. ที่นครชัยศรี

ในที่สุดวันจากไปของผู้บริสุทธิ์ทั้ง ๓ ก็มาถึง คือเช้ามืดวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘ และหลังจากวันเสด็จจากไปของพระองค์ผู้ทรงเป็นที่รักของคนไทยทั้งชาติเมื่อ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ เป็นเวลา ๘ เดือน ๘ วัน

วันนั้น พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งครองตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจด้วย ได้ไปเป็นประธานควบคุมการประหารชีวิตผู้บริสุทธิ์ทั้งสามด้วยตนเอง และได้มีโอกาสพูดคุยกับทั้งสามคนนั้นตามลำพัง นัยว่าได้มีการบันทึกเสียงการพูดคุยนั้นไว้ด้วย

สำหรับคุณเฉลียว ปทุมรสนั้น ขณะเกิดเหตุปลงพระชนม์ เขาอยู่ไกลจากจุดเกิดเหตุนับสิบกิโลเมตร และออกจากราชการไปแล้วด้วย คำสนทนาของเขาในเรื่องนี้ก็คงเช่นเดียวกับคนอื่นที่อยู่นอกเหตุการณ์รวมทั้งท่านปรีดีด้วย คือไม่รู้อะไรในเรื่องนี้เลย นอกจากจะยืนยันในความบริสุทธิ์ของเขา และเขาก็คงจะนึกถึงโครงสี่สุภาพของศรีปราชญ์ที่จารึกไว้บนพื้นทรายก่อนถูกประหารชีวิตที่นครศรีธรรมราช ว่า

"ธรณีนี่นี้ เป็นพยาน เราก็ศิษย์อาจารย์ หนึ่งบ้าง เราผิดท่านประหาร เราชอบ เราบ่ผิดท่านมล้าง ดาบนี้ คืนสนอง"

ส่วนคุณชิต-คุณบุศย์ นั้น เนื่องจากขณะเกิดเหตุ เขาทั้งสองนั่งอยู่หน้าประตูทางเข้าห้องพระบรรทม และเป็นทางเดียวที่จะเข้าสู่ห้องพระบรรทมในเวลานั้น ดังนั้น ถ้ามีผู้เข้าไปปลงพระชนม์ คุณชิต-คุณบุศย์ จะต้องเห็นอย่างแน่นอน

คุณฟัก ณ สงขลา ทนายความของสามจำเลย เคยสอบถาม คุณชิต-คุณบุศย์ ว่าใครเข้าไปปลงพระชนม์ในหลวง คุณชิต-คุณบุศย์ไม่ยอมพูด แต่กับ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ คุณชิต-คุณบุศย์จะยอมพูดความจริงก่อนตายหรือไม่ ไม่มีใครรู้

แต่เป็นที่รู้กันในภายหลังว่า พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ได้ทำบันทึกคำสนทนากับผู้ต้องประหารชีวิตทั้ง ๓ คน ในเช้าวันนั้นเสนอจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลสงคราม อ่านแล้ว แทงกลับไปว่าให้เก็บไว้ในแฟ้มลับสุดยอด

ต่อมาจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำริจะรื้อฟื้นคดีสวรรคตขึ้นมาพิจารณาใหม่ เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกประหารชีวิตทั้ง ๓ คน และท่านปรีดีฯ แต่ตามกฎหมายไทยที่ใช้อยู่ เมื่อคดีถูกพิพากษาถึงที่สุดแล้วเป็นอันยุติ ดังนั้น ถ้าจะรื้อฟื้นคดีสวรรคตขึ้นมาพิจารณาใหม่ ก็ต้องมีกฎหมายรองรับให้อำนาจ จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงเตรียมการที่จะออกกฎหมายดังกล่าวนั้น และได้บอกคุณสังข์ พัธโนทัย คนสนิทผู้รับใช้ใกล้ชิดให้ทราบ เพื่อแจ้งไปให้ท่านปรีดีฯ ซึ่งขณะนั้นท่านพำนักอยู่ ณ สาธารณรัฐประชาชนจีนได้รับทราบ

ต่อจดหมายของคุณสังข์ พัธโนทัย ที่มีไปถึงท่านปรีดีฯ เล่าถึงบันทึกของ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ และความดำริจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดังกล่าวข้างต้น ท่านปรีดีฯ ได้มีจดหมายตอบคุณสังข์ พันธโนทัย ลูกชายของคุณสังข์ฯ ได้มอบให้หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์นำไปเปิดเผยในฉบับวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๒ ที่ผ่านมา ดังสำเนารายละเอียดต่อไปนี้

วันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๙
คุณสังข์ พัธโนทัย ที่รัก


ผมได้รับจดหมายของคุณฉบับลงวันที่ ๑๒ เดือนนี้กับหนังสือ ความนึกในกรงขัง แล้วด้วยความรู้สึกขอบคุณมาก ในไมตรีจิตและความเปนธรรม ที่คุณมีต่อผม
ผมมีความยินดีมากที่ได้ทราบจากคำยืนยันของคุณว่า ท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม มิได้เปนศัตรูของผมเลย ท่านมีความรำลึกถึงความหลังอยู่เสมอและอยากจะเห็นผมกลับประเทศทุกเมื่อ แม้ว่าเหตุการณ์ทางการเมืองจะเปนดังที่คุณกล่าวว่าเหตุการณ์ไม่ช่วยเราเสมอไปและจำเปนต้องใช้ความอดทนอยู่มากก็ตาม แต่ผมก็มีความหวังว่าโดยความช่วยเหลือของคุณผู้ซึ่งมีใจเปนธรรม และมีอุดมคติที่จะรับใช้ชาติและราษฎรอย่างบริสุทธิ์ผมคงจะมีโอกาสทำความเข้าใจกับท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม ถึงเจตนาดีของผมในส่วนที่เกี่ยวแก่ท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม และการงานของชาติและราษฎรที่เราทั้งหลายจะต้องร่วมมือกันเพื่อความเปนเอกราชสมบูรณ์ของชาติ ผมจึงมีความปรารถนาเปนอย่างมากที่จะได้มีโอกาสพบกับคุณในเวลาไม่ช้านัก เพื่อปรึกษาหารือกับคุณถึงเรื่องนี้และเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงอีกหลายประการซึ่งบางทีคุณอาจต้องการทราบ

ผมเห็นว่าคุณได้บำเพ็ญบุญกุศลอย่างแรงในการที่คุณได้แจ้งให้ผมทราบถึงบันทึกที่คุณเผ่าได้สอบถามปากคำคุณเฉลียว ชิต บุศย์ ก่อนถูกยิงเป้าที่ยืนยันว่าผู้บริสุทธิ์ทั้งสามรวมทั้งตัวผมมิได้มีส่วนพัวพันในกรณีสวรรคต ดังนั้น นอกจากผมขอแสดงความขอบคุณเปนอย่างยิ่งมายังคุณ ผมจึงได้ตั้งจิตอธิษฐานขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยโปรดดลบันดาลให้คุณมีความสุขความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปและประสบทุกสิ่งที่คุณปรารถนาทุกประการ


ผมขอส่งความรักและนับถือมายังคุณ

ปรีดี พนมยงค์

แต่ความดำริของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องล้มเหลว เมื่อข่าวจะออกกฎหมายให้รื้อฟื้นคดีที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดแล้วให้นำขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้ (ถ้าหากโจทก์หรือจำเลย มีเอกสารหลักฐานที่พึ่งค้นพบใหม่) ได้แพร่ออกไปถึงบุคคลบางจำพวก และคนพวกนั้นได้สนับสนุนจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหารโค่นจอมพล ป. พิบูลสงคราม เช่นเดียวกับที่เคยสนับสนุนคณะรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ทำรัฐประหารลับรัฐบาลหลวงธำรง (ด้วยเหตุผลอย่างเดียวกันคือกลัวว่ามือปืนตัวจริงจะถูกเปิดเผย)

ท่านปรีดีฯ ได้พูดถึงเรื่องนี้ เมื่อหนังสือพิมพ์มหาราษฎร์ โดยคุณวีระ โอสถานนท์ ได้ไปสัมภาษณ์ท่านขณะที่พำนักอยู่ ณ ประเทศฝรั่งเศส มีความตอนหนึ่ง ดังนี้

คุณวีระ โอสถานนท์ ถามว่า

"มีผู้พูดกันว่า จอมพล ปฯ และ พล.ต.อ. เผ่าฯ ได้หลักฐานกรณีสวรรคตใหม่นั้น ท่านจะบอกได้หรือไม่ว่าอะไร"

นายปรีดี พนมยงค์ ตอบว่า

"แม้ศาลฎีกาซึ่งมีผู้พิพากษาคณะเดียว โดยมิได้มีการประชุมใหญ่ของผู้พิพากษาศาลฎีกาได้ตัดสินประหารชีวิตนายเฉลียว ปทุมรส นายชิต สิงหเสนี นายบุศย์ ปัทมศริน ไปแล้วก็ตาม แต่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ส่งตัวแทนไปพบผมในประเทศจีน (หลังจากที่คุณสังข์ฯ ได้รับจดหมายขอบคุณจากท่านปรีดีฯ แล้ว) แจ้งว่า ได้หลักฐานใหม่ที่แสดงว่าผู้ถูกประหารชีวิตทั้งสามคนและผมเป็นผู้บริสุทธิ์

"ฉะนั้นจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงจะเสนอสภาผู้แทนราษฎรได้ออกกฎหมายให้มีการพิจารณาคดีใหม่ด้วยความเป็นธรรม"

"ครั้นแล้วก็มีผู้ยุยงให้จอมพล สฤษดิ์ ธนรัชต์ กับพวกทำรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๐๐ โค่นล้มรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม"

"ในระหว่างที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไปลี้ภัยอยู่ใน ส.ร.อ. ชั่วคราว ก็ได้กล่าวต่อหน้าคนไทยไม่น้อยกว่า ๒ คนถึงหลักฐานที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม กับ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ได้มานั้น"

"อีกทั้งในระหว่างที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ย้ายจาก ส.ร.อ. มาอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ก็ได้แจ้งแก่บุคคลไม่น้อยกว่า ๒ คน ถึงหลักฐานใหม่นั้น พร้อมทั้งมีจดหมายถึงผม ๒ ฉบับ ขอให้ผมอโหสิกรรมแก่การที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ทำผิดพลาดไปในหลายกรณี"

"ผมได้ถือคติของพระพุทธองค์ว่า เมื่อมีผู้รู้สึกตนผิดพลาดได้ขออโหสิกรรม ผมก็ได้อโหสิกรรมและขออนุโมทนาในการที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ไปอุปสมบทที่วัดพุทธ......"

"พวกฝรั่งก็สนใจกันมาก เพราะเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ที่ไม่มีอายุความ ความจริงอาจปรากฏขึ้น แม้จะล่วงเลยมาหลายร้อยปีก็ตาม"

"ทุกวันนี้ก็มีคนพูดซุบซิบกัน ถึงกับนักเรียนหลายคนถามผม ผมก็ขอตัวว่าเป็นเรื่องที่พูดไม่ออกบอกไม่ได้ในขณะนี้ จึงขอฝากอนุชนรุ่นหลังและประวัติศาสตร์ตอบแทนด้วย"


ไม่มีความคิดเห็น: