วันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2550

อัจฉราพร กมุทพิสมัย : มองหาอุดมการณ์ ทหารหนุ่ม "ร.ศ.130 "

เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 50 มูลนิธิตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จัดงานเสวนา "ครบรอบ 100 ปีปริทัศน์: รัฐธรรมนูญและกบฏปฏิวัติรัฐประหาร การเมืองสยามประเทศไทยสมัยใหม่ พ.ศ.2454-2550" ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวข้อหนึ่งในการเสวนาคือ ‘เบื้องแรกประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญสยาม : กบฏ ร.ศ.130 และปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475

"อัจฉราพร กมุทพิสมัย" นักวิจัยสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเจ้าของผลงานวิทยานิพนธ์หัวข้อ ‘กบฏ ร.ศ.130 : ศึกษากรณีการปฏิรูปทางการปกครองและกลุ่ม "ทหารใหม่" (2523) ได้กล่าวถึงปริบททางสังคม และที่มาที่ไปของแรงจูงใจในกลุ่มคนที่ "ทันสมัยที่สุด" คือกลุ่มทหารหนุ่มในยุคสมัยนั้น แล้วชวนคิดต่อว่า สิ่งเหล่านี้มีผลต่อการเมืองการปกครองในเวลาต่อมาหรือไม่และอย่างไร

ตลอดเวลาสองอาทิตย์ที่กลับไปนั่งรื้อฟื้นงานที่ตัวเองทำเพื่อเตรียมตัวมาในงานนี้ มันเหมือนกับอยู่ในนิยายเรื่อง "ทวิภพ" เพราะขณะที่เราอ่านหนังสืออยู่ ก็เปิดทีวี ได้ยินเสียงนายทหารผู้หนึ่ง กล่าวกับมวลสมาชิกหมู่ทหารว่า

"ขณะนี้ ขอให้พี่น้องหมู่ทหารทั้งหลายตระหนักอยู่เสมอว่า ภารกิจสำคัญของเราก็คือการรักษาความสงบ
เรียบร้อยของบ้านเมือง ภารกิจเร่งด่วนที่เราต้องดำเนินอยู่ตอนนี้ ก็คือการรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย และการนำประชาธิปไตยกลับคืนมาให้เร็วที่สุด"

ดิฉันจึงไม่ค่อยแน่ใจเท่าไรว่า ตกลงใครเอาประชาธิปไตยไป แล้วใครจะเอาประชาธิปไตยกลับคืนมา

เหตุการณ์ ร.ศ.130 เป็นการปฏิวัติประชาธิปไตยที่เริ่มต้นแล้วก็ล้มเหลว...จริง แต่อย่าลืมว่าเหตุการณ์ ร.ศ.130 เกิดขึ้นหลังการสวรรคตของ ร.5 เพียง 15 เดือน จึงกล่าวได้ว่า เป็นเหตุที่เกิดจากผลของการปรับปรุงประเทศให้ทันสมัย เรื่องนี้อยู่ในปริบทของรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์

รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์รัฐราชาธิปไตย ซึ่งเกิดขึ้นในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 สถานการณ์ดังกล่าวประกอบด้วย 2 ด้านคือ การขยายตัวของเศรษฐกิจเสรีนิยม ซึ่งมีอำนาจของจักรวรรดินิยมตะวันตก และการที่พระราชอำนาจถูกบดบังด้วยอำนาจของขุนนางส่วนกลางที่สืบตระกูลและสร้างเครือข่ายโยงใยกันอย่างแน่นหนามากขึ้น

ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ช่วยแก้ปัญหาทั้งสองได้ในระดับหนึ่ง กล่าวคือ ด้านหนึ่งได้ทอนอำนาจของขุนนางที่รวมอำนาจไว้ ภายใต้การกำกับอย่างใกล้ชิดของราชบัลลังก์ อีกด้านหนึ่ง คือการประนีประนอมกับผลประโยชน์ของมหาอำนาจจักรวรรดินิยม จนสามารถเสริมสร้างและรักษาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่สร้างขึ้นใหม่นี้ได้อย่างมั่นคง และความมั่นคงนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดผลกระทบต่อไปในเวลาต่อมา

การสร้างรัฐรวมศูนย์ที่ลอกเลียนมาจากอาณานิคมตะวันตกในเอเชีย ได้ใช้เครื่องมือสำคัญที่จะทำให้บรรลุการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางได้ 2 ประการคือ
หนึ่ง ระบบราชการแบบใหม่
สอง กองทัพประจำการ โดยทั้งสองอย่างนี้เกิดขึ้นจากการศึกษามวลชนภายใต้การกำกับของรัฐ

นอกจากองค์กรแบบใหม่ข้างต้นแล้ว ยังมีมิติใหม่ๆ ของรัฐรวมศูนย์ ซึ่งช่วยทำให้รัฐบาลกลางมีอำนาจเพิ่มขึ้น เช่น การคมนาคม และสื่อสิ่งพิมพ์ รัฐพยายามใช้มิติต่างๆ เหล่านี้ในการส่งเสริมอำนาจของรัฐส่วนกลาง แต่อีกทางหนึ่ง มันก็เป็นตัวถ่วงดุลอำนาจของรัฐบาล โดยเฉพาะ "สื่อ"

สื่อ โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ที่อยู่นอกการกำกับของรัฐ ที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ และส่วนหนึ่งก็มีเจ้าของซึ่งมิได้อยู่ในบังคับของสยาม หนังสือพิมพ์เริ่มเข้ามาแสดงความคิดเห็นในด้านการบริหารในกิจการของรัฐ และในต้นศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ก็เริ่มแสดงความเห็นคัดค้านหรือต่อต้านรัฐบาลหรือบุคคลบางคนในรัฐบาลมากขึ้น ทั้งหมดนี้ สะท้อนการเติบโตของชนชั้นกลางในเมือง ซึ่งเริ่มเรียกร้องขอเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครอง

"คนชั้นกลาง" เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นกลุ่มคนที่ได้รับการศึกษา และถูกหัดให้ทำงานเฉพาะด้านในหน่วยราชการ ความภักดีของคนเหล่านี้เริ่มเปลี่ยนจากการอุทิศให้เจ้านาย มาอุทิศให้กับภารกิจเฉพาะด้านที่ตนต้องปฏิบัติ แต่ก็กลับต้องมาเผชิญกับคนที่มีกำเนิดสูงและความไร้ประสิทธิภาพของผู้บังคับบัญชา

เพราะฉะนั้น ในระยะยาวแล้ว ความขัดแย้งของคนกลุ่มนี้กับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ย่อมเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ยิ่งระบบราชการขยายตัวมากขึ้น อำนาจต่อรองของข้าราชการก็ยิ่งเพิ่มขึ้น ความขัดแย้งในทำนองนี้จะพบได้ในกองทัพเช่นกัน

ดิฉันไม่อยากเรียกความเคลื่อนไหวของกลุ่ม ร.ศ.130 ว่า เป็นไปเพื่อ "ประชาธิปไตย" แต่น่าจะเป็นไปเพื่อสนองตอบอุดมการณ์ "ชาตินิยม" มากกว่า คือกระแสความคิดเรื่องชาตินิยมนี้ ผู้นำในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็พยายามช่วงชิงใช้กระแสชาตินิยมเพื่อครอบครองพื้นที่ในส่วนของความเป็นรัฐชาติในฐานะที่เป็นแกนกลางเอาไว้ได้สูงสุด ในแง่หนึ่งก็ประสบความสำเร็จ เพราะอำนาจการเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลของระบอบ ย่อมมีเหนือฝ่ายอื่นอยู่จำนวนมาก แต่ก็ทิ้งความไม่ลงรอยไว้ในชาตินิยมแบบราชาธิปไตยมากทีเดียว ความไม่ลงรอยนี้เองที่นักปฏิวัติชาตินิยมยุคแรกๆ ใช้เพื่อเผยแพร่อุดมการณ์ประชาธิปไตย ไม่ว่านักประชาธิปไตยเหล่านั้นจะเชื่อในประชาธิปไตยมากน้อยเพียงไรก็ตาม

สิ่งที่เราควรจะพิจารณาเป็นพิเศษคือ ในขณะที่ผู้นำปลุกใจให้เสียสละเลือดเนื้อเพื่อปกป้องประเทศชาติ แต่รัฐบาลในสมัยสมบูรณาญาสิทธิ์ กลับอาศัยอำนาจของจักรวรรดินิยมตะวันตกในการสร้างความมั่นคงให้กับระบอบ ความพยายามของกองทัพในการพัฒนาสมรรถนะของตนเองให้มีกำลังรบเพียงพอที่จะต่อสู้กับอาณานิคมหรือเพื่อป้องกันความสงบภายในกลับไม่ได้รับการสนับสนุนจากระบอบที่ยั่งยืนนี้ สัดส่วนของงบประมาณเพื่อผดุงความโอ่อ่าของกองทัพสูงมากยิ่งขึ้นอย่างที่ระบบราชการไม่อาจรับได้

ความขัดแย้งทางวัฒนธรรมของการใช้ทรัพยากรก็เริ่มขึ้นเมื่อการปฏิรูปประเทศสำเร็จลุล่วงลงในระดับหนึ่ง บรรยากาศภายในประเทศนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศของต่างประเทศที่มีการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงในนานาประเทศ เริ่มจากญี่ปุ่นที่มีการปฏิรูปเมจิ ทำให้ญี่ปุ่นก้าวขึ้นมาเป็นประเทศมหาอำนาจอุตสาหกรรมทัดเทียมตะวันตก ที่สำคัญคือ การปฏิรูปเมจิได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญในปี 2432 พร้อมๆ กับญี่ปุ่นมีชัยชนะเหนือรัสเซียในปี 2448 ส่วนที่เมืองจีนมีการปฏิวัติของ ดร.ซุนยัดเซ็นในปี 2454 การปฏิวัติของซุนยัดเซ็น มีอิทธิพลต่อกลุ่มทหาร ร.ศ.130 มาก พลทหารจะเรียกการปฏิวัตินี้ว่า ปฏิวัติเก็กเหม็ง ยังมีการเผยแพร่ข่าว ภาพความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของการปฏิวัติเก็กเหม็ง ที่เผยแพร่กันภายในกลุ่มทหาร ร.ศ.130 ในเวลาต่อมา

หากดูเรื่องบรรยากาศทางการเมืองนั้น ถ้าเราดูว่าเหตุการณ์ ร.ศ.130 เกิดขึ้นไล่เลี่ยกันกับการปฏิวัติประเทศเพื่อนบ้าน ในขณะที่ของไทยเราไม่สำเร็จ แต่บรรยากาศทางการเมืองระหว่างประเทศก็ได้ทวีความเข้มข้นมากขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 กล่าวคือ มีการปฏิวัติรัสเซีย ล้มล้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของพระเจ้าซาร์ และต่อมาก็สิ้นสุดการปกครองของพระเจ้าไกเซอร์ในเยอรมัน รวมทั้งการสิ้นสุดของจักรพรรดิออสเตรีย ฮังการี บรรยากาศเหล่านี้ส่งผลต่อการเมืองในไทยอย่างมาก

การเปลี่ยนแปลงที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ทำให้คนไทยกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นนายทหารและนักกฎหมายหนุ่มๆ มีความรู้สึกว่า "ประชาธิปไตย" กลายเป็นการปกครองเพียงระบอบเดียวที่จะได้รับการนับถือในนานาประเทศที่มีความเจริญแล้ว ทั้งมีการพัฒนาประเทศในทางอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นยุโรป หรืออเมริกา หรือญี่ปุ่นก็ตาม ความสำเร็จของประเทศเหล่านั้น ทำให้คนจำนวนมากมีความเห็นว่า ประชาธิปไตยเป็นคำตอบและทางแก้ปัญหาของประเทศอื่นๆ ไปด้วย จนทำให้เกิดความรู้สึกว่า ความเจริญก้าวหน้าและประชาธิปไตยเป็นเรื่องเดียวกัน

ในประเทศไทย ถ้าเราดูถึงการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ตามที่กล่าวมา ของไทยก็มีความพยายามเคลื่อนไหว เป็นคำถามที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ดังที่เรารู้จักกันในเรื่องราวของเจ้านายและข้าราชการกราบบังคมทูลในปี ร.ศ 103 หรือปี พ.ศ 2421 แต่เหตุการณ์ในครั้งนั้น รัชกาลที่ 5 เห็นว่า การเรียกร้องเพื่อให้มี Constitutional Monarchy ก็เป็นเรื่องไกลตัว เราควรจะทำเรื่อง Government Reform ก่อน ดังนั้น การปฏิรูปประเทศจึงเกิดขึ้นมา แต่หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อพระองค์สวรรคตได้เพียง 15 เดือน เหตุการณ์ ร.ศ.130 ก็เกิดขึ้นทันที

นายทหารหนุ่มที่เข้าร่วมความคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ประกอบด้วยจำนวนทั้งหมด 91 คน เป็นนายทหารระดับล่างๆ ส่วนใหญ่มีอายุเพียงยี่สิบกว่าปี และเป็นรุ่นที่เพิ่งจบการศึกษาออกรับราชการในหน่วยงานต่างๆ

ปูมหลังของพวก ร.ศ.130 เป็นนายร้อยที่เป็นกลุ่มสามัญชนกลุ่มแรก ที่กล่าวเช่นนี้เป็นเพราะว่า คนที่จะเข้าโรงเรียนนายร้อยต้องเป็นลูกของคนที่มีชาติตระกูล แต่นายร้อยที่เข้าเป็นร้อยตรีในปี ร.ศ.130 เป็นคนที่จบจากโรงเรียนนายร้อยในปี พ.ศ. 2450-2453 คือเข้าเป็นนายร้อยในช่วงปี 2445 ซึ่งระยะเวลาดังกล่าว โรงเรียนนายร้อยเปิดให้บุคคลภายนอกเข้าเรียนได้ ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาภาวะขาดแคลนทหารซึ่งแต่เดิมจำกัดเฉพาะคนมีชาติตระกูล

นักเรียนนายร้อยในยุคนี้ได้สั่งสมประสบการณ์ และโชคดีที่ได้รับการเรียนรู้จากอาจารย์ที่มีจิตใจที่กว้าง คือ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ

การเรียนรู้จากตำราและประสบการณ์จริงนี้ เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เหตุการณ์ต่างๆ ในบ้านเมืองเปลี่ยนแปลง และปัญหาในประเทศสั่งสมมากขึ้น เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยากนัก อุดมการณ์ชาตินิยมของกลุ่มทหารอาชีพ กล่าวได้ว่า เกิดขึ้นจากความสำนึกที่ได้รับการปลูกฝังจากระบบการศึกษา ที่สอนให้มีความผูกพันต่อชาติบ้านเมือง การเป็นเจ้าของชาติร่วมกัน ภารกิจที่ต้องปฏิบัติต่อชาติบ้านเมือง ถือเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน โดยเฉพาะทหาร คือกลุ่มคนที่มีภารกิจหลักในการปกป้องอธิปไตยและรักษาบ้านเมืองให้สงบเรียบร้อย

หากเราย้อนอดีตไปเมื่อร้อยปีเศษ จะพบว่า ในระบบการศึกษาที่จัดขึ้นใหม่ นักเรียนทหารและนักเรียนนายร้อย ที่เข้ารับการศึกษาโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จัดเป็นกลุ่มที่มีความรู้ที่ทันสมัยที่สุด โดยเฉพาะในยุคที่เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถฯ เข้ามาเป็นผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อย กล่าวคือ พระองค์ทรงเสนอให้มีระบบการสอนแบบใหม่แทนการศึกษาระบบเดิมที่ใช้การท่องจำ มาเป็นการสอนที่ให้มีความเข้าใจและให้นักเรียนนายร้อยรู้จักใช้ความคิด ที่สำคัญคือ สนับสนุนให้นักเรียนนายร้อยเขียนบทความ นักเรียนนายร้อยที่ไปศึกษาต่างประเทศ ก็ต้องกลับมาแปลตำราของประเทศอื่นๆ หรือเล่าความเป็นไปของประเทศต่างๆ ลงในหนังสือ หนังสือที่เผยแพร่ในกลุ่มนายทหารในยุคนั้นก็คือ "ยุทธโกศ"

การชักจูงของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ นั้น ได้รับการตอบรับอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นนายร้อยจบใหม่หรือนักเรียนนายร้อย คือต่างก็เขียนบทความไปลงในหนังสือยุทธโกศ ข้อสังเกตคือ ทหารจะไม่ได้พูดเรื่องการปกครองอย่างเดียว แต่จะหยิบเรื่องการปกครองกับกองทัพ โดยเปรียบเทียบกับการปกครองที่เปลี่ยนแปลงในประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น จีน ตุรกี ฯลฯ และจะบอกว่า สุขภาพของทหารในยุคนั้นก็ดี แข็งแรง งบประมาณก็ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ และมีสิ่งที่เป็นเหมือนเครื่องบำรุงจิตใจกองทัพ เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะประเทศเหล่านั้นมีการปกครองแบบประชาธิปไตย เขาไม่ได้ให้อำนาจคนคนเดียว เพราะฉะนั้น หลายๆ เสียงที่สนับสนุนกองทัพ กองทัพก็ย่อมจะสนับสนุนเสียงเหล่านั้นด้วย

ความคิดในเชิงเปรียบเทียบนี้ นำมาสู่ความพยายามปรับปรุงกองทัพของตน โดยการเรียกร้องให้มีการผนึกกำลังของกลุ่มทหาร อย่างแรกคือ ให้มีการจัดตั้งสโมสรนายทหารขึ้น เพื่อเป็นที่รวมรวมสมาชิกและเปลี่ยนความคิดเห็นกัน สโมสรนี้ก็เกิดขึ้นอย่างกระท่อนกระแท่น แต่ก็ถือว่าเป็นความพยายามรวมตัวในระดับแรกของกลุ่มนายทหาร

ความคิดที่เรียกว่าเป็นความคิดนอกระบบที่การศึกษาให้ ก็ได้มาจากสื่อ สื่อในสมัยนั้นจะลงข่าวเกี่ยวกับเรื่องความเคลื่อนไหวในประเทศต่างๆ มาก โดยเฉพาะในหนังสือพิมพ์จีนโนสยามวารศัพท์ ของนายเซียวฮุดเส็ง สีบุญเรือง จะมีข่าวโทรเลข ข่าวปฏิวัติในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะการปฏิวัติในจีน และพวกนายทหารหนุ่ม ร.ศ.130 ก็จะชอบอ่านหนังสือพิมพ์ฉบับนี้มาก

จนเมื่อถูกจับได้ ข่าวตัดในหนังสือพิมพ์จีนโนสยามวารศัพท์ที่ปรากฏในแฟ้มในบ้านของผู้ก่อการทั้งปวง ก็ทำให้ผู้ปกครองในสมัยนั้น ตั้งคำถามกับหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ว่า เป็นหนังสือพิมพ์ที่ทำให้ทหารคิดนอกกรอบ แล้วไม่เคยคิดทำอะไรเพื่อส่วนรวม

สื่อในสมัยนั้นก็มีอะไรคล้ายกับสื่อสมัยนี้ คือตอนแรกเริ่มก็สามารถทำอะไรได้อย่างเสรีเต็มที่ และเมื่อถูกรัฐตั้งคำถามขึ้นมา ก็ต้องเริ่มปรับเปลี่ยนบทบาทตัวเอง หนังสือพิมพ์จีนโนสยามวารศัพท์ถูกตั้งคำถามเรื่องการเป็นผู้สนับสนุนกบฏ ร.ศ.130 และก็ยังถูกตั้งคำถามว่า ตอนปลายสงครามโลกครั้งที่ 1 หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ก็ชักชวนให้คนไทยบอยคอตสินค้าญี่ปุ่น

สมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ ก็เคยบอกว่า หนังสือพิมพ์จีนโนสยามวารศัพท์ เป็นเสี้ยนหนามของแผ่นดิน จึงขอกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 6 ให้เนรเทศนายเซียวฮุดเส็งออกไป รัชกาลที่ 6 ก็ตอบว่า หากเนรเทศเขาแล้ว ก็จะทำให้เขากลายเป็นวีรบุรุษ เพราะฉะนั้น วิธีการคือ จะเรียกหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นมาตักเตือน และขอความร่วมมือในการไม่ให้ลงข่าวที่เป็นปฏิปักษ์กับผู้นำ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับอย่างดี

ในกลุ่ม ร.ศ.130 ที่รวมตัวกัน ซึ่งประกอบด้วย ร.อ.เหล็ง ศรีจันทร์ ร้อยตรีจรูญ ษตะเมษ เป็นแกนนำ ก็ตกลงกันว่า เรากลุ่มทหาร ต้องเผชิญกับภาวะที่บีบคั้นจิตใจ และมีเรื่องที่กระทบกระเทือนต่อกองทัพเป็นอย่างมาก ภาวะที่กระทบกระเทือนต่อจิตใจคือ การไม่ให้ความสำคัญต่อกองทัพของผู้นำ การตั้งกองกำลังส่วนพระองค์ขึ้นมา คือกองกำลังเสือป่า การไม่ให้งบประมาณสนับสนุนกองทัพในการพัฒนาเพื่อซื้ออาวุธ ฯลฯ และก็โยงใยไปถึงเรื่องทหารถูกใช้อำนาจ เฆี่ยนหลังอย่างไม่เป็นธรรมในปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ด้วย ขณะเดียวกัน กลุ่มนี้ก็ได้รับแรงจูงใจจากหนังสือพิมพ์จีนโนสยามวารศัพท์์ว่า กบฏเก็กเหม็ง เขาทำสำเร็จได้เพราะมีทหารที่เป็นคนถือกำลังอาวุธสนับสนุน

เพราะฉะนั้น ถ้าเมืองไทยอยากจะเห็นความเปลี่ยนแปลง กลุ่มทหารก็ต้องรวมตัวกัน ดังนั้น การรวมกลุ่มของทหารที่มี 90 กว่าคนในระยะเริ่มต้นนี้ ก็เริ่มจากการวางแผนที่จะหาสมาชิกเพิ่มเติม แต่ก่อนการหาสมาชิกเพิ่มเติม ก็ต้องมีการหาหัวหน้า คือ ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) เพราะมีความใกล้ชิดกับกรมขุนพิษณุโลกประชานาถ (เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ) คนที่เข้าร่วมจะได้มีความรู้สึกไม่หวาดกลัว และแน่ใจว่า กลุ่มการเคลื่อนไหวมีผู้สนับสนุนเป็นเจ้านาย และคุณสมบัติของหมอเหล็ง คล้องกับ ดร.ซุนยัดเซ็น ซึ่งเป็นแพทย์เหมือนกัน ซุนยัดเซ็นทำปฏิวัติสำเร็จ ก็หวังจะเอาฤกษ์เอาชัยว่าน่าจะประสบความสำเร็จ

แผนงานของกลุ่ม ร.ศ.130 ถ้าจะว่ากันแล้วคือ มิได้วางแผนที่จะปฏิวัติ เพราะวางแผนไประยะยาว 10 ปี แต่ในระยะเริ่มต้นก็คิดจะหาสมาชิกก่อน โดยแบ่งงานกันทำว่า กลุ่มหัวทั้งหลายนั้น จะใช้วิธีไปชักชวนกลุ่มนายทหารระดับล่าง พลทหารต่างๆ ไปคุยกับเขาให้รู้ถึงสถานการณ์บ้านเมือง ว่าอึดอัดไหม ถ้าอึดอัด รู้ไหมว่ามีทหารกลุ่มหนึ่งมีความคิดที่จะก่อการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่การชักชวนนั้นก็ไม่ได้เกิดขึ้นในวงกว้างสักเท่าไร ข่าวก็รั่วเสียก่อน

ความคิดที่จะเคลื่อนไหวต่อไป ก็ถือว่าแท้งเสียก่อน ถูกจับ ก็ถือเป็นความพยายามที่ไม่สำเร็จ แต่ผลที่ได้รับจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ก็ทำให้ผู้นำเร่งที่จะปลูกฝังแนวคิดชาตินิยมให้มากขึ้น แม้ว่าจะมีผู้นำคนอื่นๆ เช่น เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ทำหนังสือกราบบังคมทูลให้มองถึงระบบการปกครองอื่นๆ ที่ทันสมัยกว่า แต่ผู้นำในสมัยนั้น ก็ใช้การ "เลือก" ที่จะใช้วิธีการชาตินิยม "ชาติ ศาสน์ กษัตริย" แล้วใช้บททดลอง เสนอประชาธิปไตยแบบ ‘เล่นๆ’ นั่นก็คือ "ดุสิตธาน"

เรื่อง ร.ศ.130 เป็นเพียงความพยายามและเป็นเรื่องของทหารที่ได้รับการอบรมศึกษาอย่างทันสมัยที่สุด และคิดว่าเป็นหน้าที่ของตัวที่ต้องลุกขึ้นมาทำการเปลี่ยนแปลง แต่นั่นมิได้หมายความว่า "ความทันสมัยที่สุด" ในปี ร.ศ.130 จะเป็น "ความทันสมัยที่สุด" ที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน


http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=9575&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai


--------------------------------------------------------------
โดย : ประชาไท วันที่ : 16/9/2550

ไม่มีความคิดเห็น: