วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2550

ประเทศไทยควรมีประมุขแบบใหน ?


โดย. ใจ อึ้งภากรณ์

ในวิกฤตการเมืองไทยปัจจุบัน มันเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องมาถกเถียงกันหารือซึ่งกันและกันว่า ประเทศไทยควรจะมีประมุขแบบไหน? เพราะไม่ว่าจะเป็นช่วงของรัฐบาลทักษิณ ช่วงไล่ทักษิณ หรือช่วงรัฐประหารเผด็จการ สถาบันกษัตริย์เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง ไม่ว่าจะด้วยความเจตนาหรือไม่ และการยืนยันต่อไปของฝ่ายอนุรักษ์นิยมสุดขั้ว ว่าเรา”ไม่มีสิทธิ์”พูดคุยเรื่องบทบาทประมุขในไทย เป็นอุปสรรค์ในการปฏิรูปการเมือง นี่ไม่ใช่แค่ความคิดของผมคนเดียว Dr Kevin Tan จากสิงคโปร์ก็พูดทำนองนี้เช่นเดียวกัน ในการสัมมนาที่สถาบันพระปกเกล้าเมื่อวันที่ 5 พ.ย. และผมคิดว่ามีหลายคนในสังคมไทยที่กำลังคิดถึงเรื่องนี้อยู่อีกด้วย

ในการพิจารณาว่าเราต้องการประมุขแบบไหน เราคงต้องเริ่มต้นจากจุดว่าปัจจุบันนี้ประเทศไทยจะต้องมีระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย ไม่ใช่ระบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งจบลงไปนานแล้วเมื่อมีการปฏิวัติ 2475 หรือระบบเผด็จการทหาร ซึ่งน่าจะสิ้นสุดไปนานแล้วเหมือนกัน การตอกย้ำจุดนี้สำคัญเพราะภาคประชาชนไทยออกมาต่อสู้ เสียสละเลือดเนื้อเพื่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยมาหลายรอบ ไม่ว่าจะเป็น 2475 14 ตุลาฯ 2516 ,6 ตุลาฯ 2519 หรือพฤษภาทมิฬ 2535 และทุกวันนี้ภาคประชาชนก็ต้องดิ้นรนต่อไปเพื่อเปิดและขยายพื้นที่ประชาธิปไตยจากอำนาจเถื่อนของเผด็จการ

อย่าลืมว่าแม้แต่พวกคณะทหารที่ทำรัฐประหารเอง ก็เข้าใจว่าเผด็จการขาดความชอบธรรม เขาจึงพยายามบอกสังคมว่าเขาเป็น “ประชาธิปไตย” หรืออ้างว่าทำรัฐประหาร “เพื่อประชาธิปไตย” ทั้งๆ ที่เราทราบดีว่าเขาโกหกอย่างหน้าด้าน ซึ่งก็ไม่แปลกจากเผด็จการอื่นๆ ในอดีต เช่นของจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งก็เคยอ้างเช่นกันว่าเป็นไทย “ประชาธิปไตย” สมัยสฤษดิ์ผมเป็นเด็กนักเรียนที่สาธิตจุฬาฯ และในข้อสอบถ้าไม่ตอบว่าไทยเป็นประชาธิปไตยจะไม่ได้คะแนน

ถ้าประเทศไทยต้องเป็นประชาธิปไตย บทบาทประมุขไทยต้องปกป้องประชาธิปไตยอย่างชัดเจนด้วยใช่ไหม?

ตามตำราการเมืองเปรียบเทียบทั่วไป เช่นหนังสือที่เขาใช้สอนที่มหาวิทยาลัย Oxford ของ Hague, Harrop & Breslin เป็นต้น ประมุขในระบบประชาธิปไตยมีสองรูปแบบคือ กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้ง และในประเทศไทยเรามีประวัติอันยาวนานของการถกเถียงว่าไทยควรมีกษัตริย์หรือประธานาธิบดี เช่นในสมัยกบฏต่อรัชกาลที่ 6 หรือยุค 2475 หรือสมัยพรรคคอมมิวนิสต์ยังรุ่งเรือง ในยุคนี้ก็มีการพูดคุยเช่นกัน แต่คนส่วนใหญ่ต้องแอบคุยเพราะกระแสเซ็นเซอร์จากฝ่ายขวามันแรง อย่างไรก็ตามในยุคนี้ฝ่ายอำนาจเผด็จการมีการเสนอว่านายกรัฐมนตรีอาจไม่ต้องเป็นส.ส. หรือมาจากการเลือกตั้งก็ได้ ซึ่งคงกระตุ้นให้เกิดการถกเถียงในสังคม ดังนั้นก็คงต้องพิจารณาต่อไปว่าประมุขควรมาจากการเลือกตั้งอีกด้วยหรือไม่เช่นกัน

ตามหนังสือการเมืองเปรียบเทียบที่ผมกล่าวถึง เขาจะอธิบายว่าประมุขแบบกษัตริย์มีหน้าที่สร้างเสถียรภาพและความต่อเนื่องของระบบการปกครองประชาธิปไตย ซึ่งทำได้เพราะประมุขไม่ลงมายุ่งเกี่ยวกับการถกเถียงระหว่างพรรคการเมือง หรือบุคคลที่ใช้อำนาจบริหาร ส่วนใหญ่แล้วประมุขมีหน้าที่เชิงพิธีกรรมเท่านั้น จะไม่มีอำนาจอะไรมากมาย แต่บางครั้งอาจต้องช่วยสังคมตัดสินใจในยามวิกฤต แต่ต้องเป็นการตัดสินใจในกรอบการปกครองประชาธิปไตย เช่นการทดลองแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่ง เพื่อดูว่าจะผ่านมติในสภาหรือไม่ ในกรณีที่พรรคการเมืองในรัฐสภามีเสียงพอๆกัน และไม่มีพรรคไหนมีเสียงข้างมากเป็นต้น แต่หน้าที่ของประมุขไม่ใช่การออกมาสนับสนุนการฉีกรัฐธรรมนูญ การทำรัฐประหาร และการทำลายสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกหรือการรวมตัวกันอย่างสันติ เพราะนั่นไม่ใช่กรอบประชาธิปไตย ประมุขไทยเองเคยกล่าวไว้ในกรณีการใช้มาตรา 7 ว่า “ขอยืนยันว่ามาตรา 7 ไม่ได้หมายถึง มอบให้พระมหากษัตริย์ มีอำนาจที่จะทำอะไรตามชอบใจ...มาตรา 7 ไม่ได้บอกว่า ให้พระมหากษัตริย์ตัดสินใจทำได้ทุกอย่าง ถ้าทำเขาก็จะต้องว่าพระมหากษัตริย์ทำเกินหน้าที่ ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยขอ ไม่เคยทำเกินหน้าที่ ถ้าทำเกินหน้าที่ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย” (นสพ มติชน 26เมษายน 2549)

ดังนั้นคำถามสำคัญในยุคแห่งการปฏิรูปสังคมและการเมืองครั้งนี้คือ ประมุขไทยพยายามปกป้องระบบประชาธิปไตยจากการทำรัฐประหารที่ฉีกรัฐธรรมนูญในวันที่ 19 กันยาหรือไม่? หรือประมุขไทยถูกบังคับหรือไม่? เต็มใจหรือไม่? มีการสนับสนุนคณะทหารที่ละเลยหน้าที่ตนเองและละเมิดกฎหมายและรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือไม่? คำถามนี้สำคัญ เพราะคณะทหารที่ทำการรัฐประหารและทำลายประชาธิปไตยได้อ้างอิงความชอบธรรมจากประมุขตลอด เช่นการเปิดภาพประมุขในจอโทรทัศน์อย่างต่อเนื่องในวันแรก การผูกโบสีเหลือง การไปเข้าเฝ้า และการที่ให้ผู้แทนของประมุขไปเปิดสภาเผด็จการที่ทหารแต่งตั้งเป็นต้น ถึงเวลาแล้วที่เราชาวไทยควรได้รับข้อมูลและความจริงจากคณะทหาร เพื่อความโป่รงใสและเพื่อให้ประชาสังคมได้ตรวจสอบทุกองค์กรและสถาบันสำคัญๆ ในสังคม อย่าลืมว่าองค์กรหรือสถาบันใดที่จงใจไม่ยอมสร้างความโป่รงใส ย่อมมีผลประโยชน์ทับซ้อนที่ต้องการปกปิดจากการตรวจสอบเสมอ

ฝ่ายอนุรักษ์นิยมในประเทศไทยต้องการที่จะสร้างภาพว่ากษัตริย์รัชกาลที่ 9 เป็นมากกว่ามนุษย์ แต่ผมและคนอื่นมากมาย มองว่าข้อเสนอนี้ผิดหลักวิทยาศาสตร์ กษัตริย์คือมนุษย์ ไม่ต่างจากพลเมืองทุกคน ดังนั้นในฐานะที่เป็นมนุษย์กษัตริย์มีสิทธิ์ที่จะผิดพลาด และย่อมมีจุดอ่อนจุดแข็งเป็นธรรมดา

อาจารย์ ทักษ์ เฉลิมเตียรณ ได้อธิบายในหนังสือ “การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ”ว่า ในช่วงแรกของการขึ้นมาเป็นกษัตริย์ รัชกาลที่ 9 มีอายุอ่อนและไม่ได้เตรียมตัวที่จะเป็นกษัตริย์ การขึ้นมาเป็นกษัตริย์มาจากอุบัติเหตุที่เกิดกับพี่ชาย ยิ่งกว่านั้นรัฐบาลไทยสมัยนั้น โดยเฉพาะรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม เป็นรัฐบาลที่ขัดขวางการทำงานของกษัตริย์ ดังนั้นการทำหน้าที่ในการเป็นประมุขของรัชกาลที่ 9 ในช่วงแรกๆ ย่อมเริ่มจากจุดอ่อน และสภาพเช่นนี้สามารถอธิบายได้ว่าทำไมประมุขไทยแสดงความเชื่อมั่นและสนับสนุนการทำงาน ของรัฐบาลเผด็จการทหารของจอมพลสฤษดิ์ ที่เริ่มเชิดชู โปรโหมด และเคารพสถาบันกษัตริย์

แต่เวลาผ่านไปหลายปี ฐานะและประสบการณ์ของมนุษย์ที่ดำรงตำแหน่งประมุขไทยได้เปลี่ยนไป มีประสบการณ์ทางการเมืองมากมาย มากกว่านักการเมืองทุกคน เพราะดำรงตำแหน่งมานานกว่าทุกคน พูดง่ายๆ มีฐานะอย่างที่เขาเรียกกันในต่างประเทศว่าเป็น “รัฐบุรุษ” (statesman) ดังนั้นมีการแสดงความมั่นใจจากประสบการณ์ดังกล่าว เช่นมีการตักเตือนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลของทักษิณเป็นตัวอย่างที่ดี ฉะนั้นประมุขในปี 2549 ต่างกับประมุขในช่วง 2505 แน่นอน คำถามสำคัญสำหรับวันนี้คือ ถ้าตักเตือนรัฐบาลทักษิณในกรณีที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยการฆ่าวิสามัญในสงครามยาเสพติดได้ ทำไมไม่ตักเตือนทหารที่ก่อรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ และละเมิดสิทธิเสรีภาพทางประชาธิปไตยทั้งหมดไม่ได้? เป็นเพราะอะไร?

ซึ่งคำถามนี้นำเรากลับมาสู่ประเด็นใหญ่คือ ในประเทศไทย เราต้องการประมุขที่กล้าปกป้องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย หรือเราต้องการประมุขที่สนับสนุนการทำลายประชาธิปไตยโดยทหาร ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่? ในการช่วยคิดช่วยพิจารณาปัญหานี้ ผมจะขอถามคำถามอื่นต่อไปคือ พลเมืองไทยต้องการมีประมุขที่เป็นกษัตริย์เพื่อให้มีบทบาทหน้าที่อะไรบ้าง? ประมุขควรมีบทบาทจำกัดที่เน้นพิธีกรรมและการแก้ไขปัญหาร่วมกับสังคมในยามวิกฤต ตามคำนิยามของประมุขในระบบประชาธิปไตยหรือไม่? ถ้าจะมีประมุขแบบนี้เราต้องมีสิทธิ์ตรวจสอบการทำงานของประมุขใช่ไหม? เราต้องมีสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์และเสนอคำแนะนำเพื่อช่วยให้ประมุขทำงานใช่ไหม? ซึ่งการวิพากษ์ไม่เหมือนการด่า มันมีเหตุผลและข้อมูลรองรับ

การสร้างความโปร่งใสและสิทธิตรวจสอบย่อมทำไม่ได้ ถ้าเรายังใช้ระบบหมอบคลานกับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งจริงๆ แล้วมีการยกเลิกไปในยุครัชกาลที่ 5 แต่ดูเหมือนมีการค่อยๆ นำกลับมา การหมอบคลานสร้างภาพความไม่เท่าเทียมของอำนาจ แต่พลเมืองไทยทุกคนต้องเท่าเทียมกัน เพียงแต่ว่าแต่ละคนมีหน้าที่แตกต่างกันไป และการแสดงความศรัทธาหรือความเคารพ ซึ่งย่อมเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่จำเป็นต้องแสดงด้วยการบังคับให้หมอบคลาน

ในเรื่องความโปรงใสของสถาบันกษัตริย์ เราคงต้องขยายไปสู่ความโปรงใสทางเศรษฐกิจด้วย การกำจัดการคอรรับชั่นในหมู่นักการเมือง การแจ้งบัญชีการถือหุ้นและกรรมสิทธิ์ต่างๆ ของผู้ที่ดำรงตำแหน่งสาธารณะ หรือการบังคับให้ทักษิณและลูกหลานจ่ายภาษีเป็นเรื่องดีและจำเป็นอย่างยิ่ง แต่เราต้องไม่มีสองมาตรฐาน (double standards) เราต้องบังคับใช้กับทุกคน ดังนั้นการถือหุ้น รายได้ และกรรมสิทธิ์ต่างๆ ของพระราชวังควรเป็นข้อมูลเปิดเผย และควรมีการเก็บภาษีเหมือนพลเมืองอื่นๆ ทุกคน ความโปร่งใสในด้านเศรษฐกิจดังกล่าวจะนำไปสู่การรณรงค์ให้ทุกสถาบันรู้จัก “ความพอเพียง” อีกด้วย

คนส่วนใหญ่ในสังคมไทยปัจจุบันคงคิดว่าประมุขปัจจุบันของไทยเป็นคนดี แต่มนุษย์มีสิทธิ์เป็นคนดีหรือคนเลว เป็นเรื่องปกติ การอาศัย “ความดีส่วนตัว” เพื่อเป็นหลักประกันว่าประมุขจะทำหน้าที่ตามที่ประชาชนต้องการหรือไม่ เป็นเรื่องที่เสี่ยงอย่างสูง ยุคแห่งการสร้าง “การมีส่วนร่วมจากประชาชน” เริ่มในไทยนานแล้ว การร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ผมอยากเสนอว่าประชาชนไทยควรจะมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการทำงานและนโยบายของประมุขด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นแค่เรื่องของทหารหรือองค์มนตรีเท่านั้น ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องกล้าพิจารณาปัญหายากๆ แบบนี้ ด้วยสติปัญญาและการเปิดกว้าง เพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในประเทศไทย


(สาเหตุที่บทความนี้ไม่ใช้ราชาศัพท์ ไม่ใช่เพื่อจะดูหมิ่นใคร แต่เพื่อให้อ่านง่ายเข้าใจง่ายในทุกส่วนทุกระดับของสังคม และเพื่อย้ำว่ากษัตริย์เป็นมนุษย์เหมือนพลเมืองไทยทุกคน และมีสิทธิ์ที่จะได้รับความเคารพรักตามผลงาน เหมือนมนุษย์ทุกคน)

ไม่มีความคิดเห็น: