วันเสาร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2550

Last Impression : พระปกเกล้า ในวันแรกๆหลังสละราชย์

หมายเหตุ : เอกสารชั้นต้นข้างล่างนี้ เป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลสำหรับบทความของผม เรื่อง "ในหลวงอานันท์ขึ้นครองราชย์" ตอนที่ 2 บทความเรื่องนี้ ตอนที่ 1 ได้รับการตีพิมพ์แล้วใน ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 4 ฉบับที่ 2, เมษายน-มิถุนายน 2549, 188-228


วันที่ 2 มีนาคม 2477 (ปฏิทินเดิม เทียบปัจจุบันคือ 2478) เวลาบ่ายของสหราชอาณาจักร พระปกเกล้าทรงลงพระปรมาภิไธยในหนังสือสละราชสมบัติ และส่งมอบให้คณะผู้แทนรัฐบาลที่เดินทางไปเจรจากับพระองค์ที่รออยู่ ณ สถานทูตสยามในลอนดอน ซึ่งมีเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นหัวหน้าคณะ นายดิเรก ชัยนาม เป็นเลขานุการคณะ (ก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศพยายามถ่วงเวลาจะไม่ยอมรับหนังสือ แต่ฝ่ายพระปกเกล้ายืนยันว่า หากเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศไม่ยอมรับ จะมอบหนังสือไว้ที่สถานทูตสยามในลอนดอน และจะถือว่ามีผลทันที เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศโทรเลขถามมาทางพระนคร รัฐบาลจึงสั่งให้รับหนังสือได้) หลังจากรับหนังสือสละราชย์แล้ว เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศได้โทรเลขแจ้งเรื่องและเนื้อหาของหนังสือสละราชย์มายังพระนคร ในวันที่ 6-7 มีนาคม สภาผู้แทนราษฎรสยามได้เห็นชอบ (อย่างไม่เอกฉันท์ มีผู้ไม่เห็นด้วย 2 เสียง) ตามข้อเสนอของรัฐบาล อัญเชิญพระองค์เจ้าอานันทมหิดลขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรีสืบไป

ขณะเดียวกัน ในลอนดอน เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศและผู้แทนรัฐบาลได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระปกเกล้าอีก 2 ครั้ง คือในวันที่ 3 มีนาคม ("เพื่อเป็นการแสดงอัฒยาศัยไมตรี และความเคารพ" - โทรเลขเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ถึง พระยาพหลพลพยุหเสนา ลงวันที่ 5 มีนาคม 2477) และในวันที่ 8 มีนาคม

ข้างล่างนี้คือตัวบทบันทึกการเข้าเฝ้าครั้งหลังสุดนี้ เอกสารชิ้นนี้ เท่าที่ผมทราบ ไม่เคยมีการเผยแพร่ที่ใดมาก่อน (ไม่ได้รวมอยู่ในหนังสือ แถลงการณ์สละราชสมบัติ ที่รัฐบาลตีพิมพ์และเป็นที่รู้จักดี)

อนึ่ง พูดในทางเทคนิค พระปกเกล้าไม่ได้เป็นกษัตริย์อีกต่อไปแล้ว โดยทางราชการ พระปรมาภิไธยต้องเปลี่ยนด้วย (ไม่ใช่ "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยูหัว" หรือ "พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว" อีกต่อไป) ปัญหานี้รัฐบาลจะนำขึ้นพิจารณาในเดือนต่อมา แต่ในบันทึกนี้ ยังใช้พระปรมาภิไธยเสมือนยังทรงเป็นกษัตริย์ต่อไป

ต้นฉบับเอกสารนี้เป็นพิมพ์ดีด ยกเว้นจุดหนึ่งที่มีลายมือดิเรก ชัยนาม ("ด.ช.") เติมคำเข้าไป ตัวสะกดต่างๆผมพิมพ์ตามต้นฉบับ




บันทึกย่อการเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
รัชชกาลที่ ๗ ครั้งที่ ๖ ณ วันที่ ๘ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗

วันนี้ เวลา ๑๐ น. เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ พระยาราชวังสัน และนายดิเรก ชัยนาม ได้ไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชชกาลที่ ๗ ณ Knowle, Cranleigh, Surrey ถึงที่ประทับเวลา ๑๑.๓๐ น. เวลา ๑๒.๒๐ น. โปรดให้เข้าเฝ้า เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศได้กราบบังคมทูลว่า สภาผู้แทนราษฎรได้มีโทรเลขมาขอให้กราบบังคมทูล แสดงความเสียใจอย่างลึกซึ้งในการที่ทรงสละราชสมบัติและขอแสดงความเสียใจในนามของคณะผู้แทนรัฐบาลอีกด้วย ทรงรับสั่งว่า ในการที่ทรงลาออกนีค้ ทรงเชื่อแน่นอนว่าจะนำความปลอดภัยและความสงบมาให้ประเทศชาติ เพราะ conflict ระหว่าง throne กับรัฐบาล [ด.ช. และสภาผู้แทน] ราษฎร ไม่มีอีกแล้ว ทั้งผู้ที่จะคิดร้ายรัฐบาลเพื่อประโยชน์ของพระองค์ท่านก็คงจะระงับความคิดนี้เสีย

และรับสั่งว่า บัดนี้ รัฐบาลก็ได้ชะนะแล้ว น่าจะทำตามคำขอของท่านโดยไม่ต้องขายหน้า ผ่อนแก้ไปทีละเล็กละน้อย จากการแก้รัฐธรรมนูญ ๒ ข้อ เมื่อทำได้เช่นนี้ ความสงบคงมีได้แน่ แต่เรื่องพวกกบฏนั้น ถ้าไปประหารชีวิตเข้าจะเกิดเรื่องยุ่งยืดเยื้อต่อไปอีก และทรงเห็นว่า ถ้าทำเช่นนั้นจะเปนการกระทำอย่างเขลาที่สุด

ทรงถามว่า ที่ตั้งกรมหมื่นอนุวัฒนจาตุรนต์เป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการนั้น เปนการแน่นอนแล้วหรือ คณะผู้แทนได้กราบบังคมทูลว่า เป็นการแน่นอนแล้ว รับสั่งว่า เห็นพ้องด้วย ส่วนเจ้าพระยายมราชเป็นผู้ใหญ่ เคยรู้การงานมามาก ก็ดีแล้ว และได้รับสั่งต่อไปว่า กรมหมื่นอนุวัฒนจาคุรนต์รู้จักการงานในราชสำนักดี การที่ตั้งท่านนนั้นจะทำให้เจ้านายอุ่นใจ ได้เคยขอให้กรมขุนชัยนาทนเรทร รับเป็นหลายครั้งแล้ว คราวนี้ก็ได้โทรเลขทูลสมเด็จพระพันวัสสาไปอีก เห็นจะไม่ยอมรับกระมัง จึงไม่ปรากฏชื่อว่าอยู่ในคณะด้วย ในเรื่องเชิญพระองค์อานัทมหิดลเป็นพระมหากษัตริย์สืบราชสมบัติต่อไปนั้น สมเด็จพระพันวัสสาก็ได้โทรเลขมาทูลถามพระองค์ท่านอีก ได้ทรงตอบไปว่า จำเปนต้องรับ ในที่สุดทรงแสดงความหวังพระทัยให้ประเทศสยามเรียบร้อย และเชื่อว่าจะเรียบร้อยภายใน ๕ ปี ถ้าเป็นดั่งนั้น ก็อยากกลับไปอยู่เมืองไทยอย่างเอกชนธรรมดาคนหนึ่ง แล้วรับสั่งถามว่า เรื่องหนังสือเดิรทางที่ทรงขอมานั้น รัฐบาลว่ากระไร คณะผู้แทนได้กราบบังคมทูลว่า ได้รายงานเข้าไปยังรัฐบาลแล้ว (ตามหนังสือที่ ก.๑๑/๗๗ ลงวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๗๗) แต่บัดนี้ ยังไม่ได้รับตอบ เข้าใจว่าจะไม่มีอะไรขัดข้อง

เมื่อได้รับสั่งเรื่องอื่นๆเล็กๆน้อยๆต่อไปแล้ว คณะผู้แทนก็ได้กราบถวายบังคมทูลลากลับประเทศสยาม และได้ขอพระราชทานโอกาศกราบถวายบังคมลาสมเด็จพระราชินีอีกด้วย ออกจากที่ประทับกลับลอนดอน เวลา ๑๓.๑๕ น. รวมเวลาที่เฝ้า ๕๕ นาที

[ลายเซ็นกำกับ "ดิเรก ชัยนาม" - สมศักดิ์]


เขียนโดย. อ.สมศักดิ เจียมธีรสกุล

ไม่มีความคิดเห็น: