วันศุกร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

มนุษย์-ต้อง-(ถูก) ห้าม : มุกหอม วงษ์เทศ


บทความนี้ก๊อบปี้ (โดยไม่ได้ปรับปรุงหรือบิดเบือนอะไรเท่าใดนัก เนื่องจากเบื่อ) มาจาก "โน้ต" ที่นำเสนอด้วยเสียงในเวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ระดับชาติครั้งที่ ๒ ในหัวข้อ มนุษยศาสตร์ต้องห้าม เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๘ ที่โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว เชียงใหม่ ขอขอบคุณ สกว. และคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สำหรับมนุษยศาสตร์ต้องห้ามนั้น ในที่นี้จะถือ "มนุษยศาสตร์" ในความหมายที่กว้างที่สุดว่าคือความรู้ การสร้างคำอธิบาย และอะไรอื่นๆ ที่เกี่ยวๆ ถากๆ กับการแสวงหาความรู้ความจริง หรือแม้แต่การผลิตเรื่องเล่า และ "ต้องห้าม" คือ การถูกห้าม, ถูกเซ็นเซอร์, ถูกปิดบังกดทับ, หรือถูกปฏิบัติต่อด้วยท่าทีที่เป็นศัตรูเป็นปฏิปักษ์

มนุษยศาสตร์ต้องห้าม อาจมองได้หลายมิติ/ระดับ จะขอลองมองเป็น ๓ แบบ ซึ่งเกี่ยวพันกัน คือ


๑. ระดับสังคมที่ความรู้ดำรงอยู่
หรือการที่การแสวงหาความจริงปะทะกับสังคมภายนอก

๒. อีกระดับหนึ่งคือในเชิงการเมืองของวงวิชาการเอง

๓. และอีกมิติหนึ่งที่ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรดี





ถ้าเริ่มจากระดับสังคมแล้ว ในทุกๆ วัฒนธรรมและตลอดประวัติศาสตร์มนุษยชาติ "ความรู้" หรือ "การแสวงหาความรู้" ไม่เคยมีเสรีภาพ เพราะ "ความรู้" เป็นเรื่องของ "อำนาจ" และอำนาจจะบอกว่าอะไรคือสิ่งที่ "รู้ได้" และอะไรคือสิ่งที่ "รู้ไม่ได้" รวมทั้งอะไรที่ถือเป็น "ความรู้ที่ชอบธรรม" และอะไรถือเป็น "ความรู้นอกรีต" นั่นก็คือ มีบางสิ่งบางอย่างที่เรา "ไม่ควรรู้"

อันที่จริง พระพุทธเจ้าก็ดูจะไม่สนับสนุนการแสวงหาความรู้เพื่อความรู้นั้นเอง อย่างที่เรารู้กันว่า ความรู้ที่ไม่นำไปสู่การหลุดพ้นเป็นความรู้ที่ไม่มีประโยชน์ และไม่พึงต้องรู้

ในวัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมอื่นๆ ความรู้หรือ "วิชา" ยังมี "ครู" หรือ มี "เจ้าของ" อีกด้วย ความรู้ไม่ได้เป็นสิ่งที่ล่องลอยอยู่ในอากาศที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้ ขนบของการถ่ายทอดวิชาความรู้ก็เป็น "ความลับ" ไม่ว่าจะวิชาช่างต่างๆ หรือดนตรีนาฏศิลป์ก็มี "ครู" ที่น่ากลัวขนหัวลุกทั้งนั้น ดังนั้นความรู้สัมบูรณ์สูงสุดจึงดำรงอยู่แล้วในโลกมาตั้งแต่โบราณกาล คนรุ่นหลังเพียงแต่พยายามเข้าถึงความรู้นั้นๆ ตามแต่บุญกรรม และต้องไม่ใช้หรือแสดงความรู้นั้นอย่างผิดบิดเบือนไปจากความรู้สัมบูรณ์นั้นๆ ด้วย งานอย่างเช่น การ "คัดลอก" คัมภีร์จึงถือเป็นงานศักดิ์สิทธิ์ ความรู้ตามจารีตจึงไม่ใช่สิ่งที่ขยายหรือเปลี่ยนแปลงได้ นอกจากนี้คนเรียนวิชาความรู้ยังต้องมีคุณธรรม มีศีลธรรม ความรู้ถ้าอยู่ในมือคนชั่วก็เป็นอันตราย แต่ในขณะเดียวกันการครอบครองความรู้ก็เป็นเรื่องของสถานภาพและอำนาจด้วย

แต่ถ้าถือตามความหมายอย่างแคบและเคร่งครัด มนุษยศาสตร์ต้องห้าม คือการแสวงหาความรู้หรือความจริงทางมนุษยศาสตร์ที่ถูก "ห้าม" ? สำหรับในเมืองไทยแล้ว การ "ห้าม" หรือ "เซ็นเซอร์" ก็เป็นกิจกรรมปกติ มนุษยศาสตร์ที่ถูกห้ามก็คือ การหาความจริงที่ถูกห้าม พูดง่ายๆ ก็คือ การเสนอข้อถกเถียงข้อโต้แย้งใดๆ ที่ตั้งคำถามหรือสั่นคลอนความเชื่อหลักของสังคมไทย ยิ่งความเชื่อนั้นถูกยกให้ศักดิ์สิทธิ์เพียงใด การใช้อำนาจก็รุนแรงขึ้นเท่านั้น

การแสวงหาความรู้ความจริง ซึ่งรวมทั้งวัฒนธรรมการวิจารณ์ในเมืองไทยที่ "ถูกห้าม" มีอยู่หลายระดับของการถูกห้าม บางเรื่องห้ามอย่างเด็ดขาด บางเรื่องพูดได้ในบางพื้นที่

จะว่าไปแล้วเรื่องต้องห้ามที่สุด ห้ามเด็ดขาดในเมืองไทยก็หนีไม่พ้นประเด็นล่อแหลมเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และสมาชิกของราชวงศ์ เรื่องห้ามที่สุดลับสุดยอดคือกรณีสวรรคต ประเด็นรองๆ ลงมาก็เป็นประเด็นที่สั่นคลอน ท้าทาย สถาบันความเชื่อความศรัทธาของสังคมไทยโดยรวมหรือของคนจำนวนมาก

เช่น เรื่องศิลาจารึกหลักที่ ๑ หรืออนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี

การเป็นสิ่งต้องห้าม คือการที่ประเด็นเหล่านั้นไม่สามารถถูกพูดถึงหรือเขียนถึงในที่สาธารณะ กลายเป็นเรื่องที่ต้อง "เลี่ยง" ด้วยการ "ไม่พูดถึงไปเลย", "พูดเป็นนัย", "ละไว้ในฐานที่เข้าใจ", หรือพูดได้เฉพาะในทางอาเศียรวาทสดุดีหรือด้วยภาษาที่เป็นเทคนิคมากๆ เป็นต้น แต่ที่แน่ๆ ก็คือเป็นเรื่องที่อยู่ในปริมณฑลของการซุบซิบนินทา การพูดคุยกันในที่รโหฐานกับบรรดาผู้ที่ไว้ใจได้ และไม่ทรยศหักหลังกันง่ายๆ หากไม่จำเป็น

ดังนั้นสำหรับสังคมไทยและความคิดเกี่ยวกับความรู้ความจริงของไทย ในระดับหนึ่ง ความจริง (Truth) จึงเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่แล้วอย่างสมบูรณ์ และในอีกระดับหนึ่ง การแสวงหาความจริงหรือการตั้งคำถามไม่เคยเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด "ความจริง" ต้องรองรับ รับใช้ และไม่ขัดแย้งกับสิ่งอื่นๆ ที่สำคัญกว่า เช่น ชาตินิยม, ความเป็นไทย, สถาบันฯ, ความเชื่อความศรัทธาของคนหมู่มาก, ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม

ทั้งนี้ทั้งนั้นการทำลายหรือกดทับ "ความจริง" หรือ "คำอธิบายชุดหนึ่งๆ" ก็ดูจะเป็นเรื่องปกติในประวัติศาสตร์ การเก็บรักษาหลักฐานข้อมูลทางประวัติศาสตร์เป็นกิจกรรมสมัยใหม่ เพราะในอดีตที่ไหนๆ ก็คงจะทำลายสิ่งที่ถูกถือว่าเป็น "อันตราย" กับความคิดจิตใจของผู้คนและระเบียบสังคม และจึงต้องมีการสร้างหรือเขียนอะไรต่อมิอะไรขึ้นใหม่ให้สอดคล้องกับอุดมการณ์ทางอำนาจในสังคม ไม่มีที่ไหนในอดีตยอมปล่อยให้มี "ความจริง" อันไม่พึงประสงค์ดำรงอยู่ในสังคม

แต่เมื่อเรื่องต้องห้ามขึ้นอยู่กับสังคม เมื่อสังคมเปลี่ยน บางทีเรื่องต้องห้ามก็เปลี่ยนไปด้วย สิ่งที่เคย "ต้องห้าม" ในสมัยหนึ่งก็อาจจะไม่ได้เป็นสิ่งต้องห้ามในอีกสมัยหนึ่ง เช่น งานเขียน "คอมมิวนิสต์" เคยเป็นหนังสือ "ต้องห้าม" ในยุคหนึ่ง แต่เดี๋ยวนี้ก็ไม่มีใครสนใจแล้ว เพราะ "คอมมิวนิสต์" ไม่ได้เป็นภัยคุกคามสังคมไทยอีกแล้ว หรือการที่หนังสือโป๊ก็มักจะเป็นหนังสือต้องห้ามในหลายๆ สังคม ดังนั้นสิ่งที่เป็น "ภัยอันตราย" ในสังคมจึงเปลี่ยนไปได้ตามยุคสมัย

และไม่ใช่ว่าการห้ามแสวงหาความจริงเป็นเพียงเรื่องในอดีตหรือเฉพาะในสังคมที่ไม่ให้อิสระทางความคิด ปัญหาทางจริยศาสตร์ในปัจจุบันส่วนหนึ่งยังคงอยู่บนฐานของประเด็นสิทธิเสรีภาพในการหาความจริงด้วย เช่น การโคลนนิ่งมนุษย์ การแสวงหาทดลองความรู้จึงมิได้มีได้อย่างไร้ขอบเขต





เรื่องต้องห้ามไม่ได้มีแต่ที่สังคมถือว่าเป็นสิ่งต้องห้าม แต่ภายในชุมชนวิชาการเองก็มีเรื่องต้องห้ามได้ด้วยเหมือนกัน เรื่องต้องห้ามในวงวิชาการกระแสหลักในตะวันตก หรือส่วนใหญ่แล้วอาจจะในอเมริกา คือสิ่งที่ถือว่าเป็น Political Incorrectness ซึ่งดูจะเป็นสิ่งที่วงวิชาการมีส่วนสร้างขึ้นมาเองด้วย

เทรนด์และบรรยากาศของมนุษยศาสตร์ปัจจุบันผูกติดอยู่กับ
"การเมืองของความถูกต้อง" (Political Correctness) น่าสนใจด้วยว่า เมื่อพรมแดนทางทฤษฎีและอาณาบริเวณของมนุษยศาสตร์เปลี่ยนแปลงและขยายออกไปเรื่อยๆ ก็กลับเกิดการกระทบกระทั่งกับ "วิทยาศาสตร์" และ "ศิลปะ" ซึ่งล้วนเป็นศาสตร์ที่มีฐานอยู่บนความภาคภูมิทางสติปัญญาและจินตนาการอันสูงส่งของมนุษย์ แต่มนุษยศาสตร์สมัยใหม่กำลังบั่นทอนหรือเปิดโปงมายาคติเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ เช่น สิ่งที่เรียกว่า "intrinsic value" หรือคุณค่าภายใน จากการทำให้ทุกอย่างที่แต่เดิมเปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางศิลปะและสุนทรียศาสตร์ หรือคุณค่าทางเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์ กลายเป็นสิ่งที่ถูกประกอบสร้างจากวัฒนธรรม การเมือง และอคติทางเพศ ชนชั้น และชาติพันธุ์ไปจนหมด นี่คือข้อวิพากษ์ที่มีต่อมนุษยศาสตร์แนวนี้ที่กลายเป็นกระแสหลักในตะวันตกเอง

การที่ Political Correctness มีความอ่อนไหวอย่างยิ่งกับประเด็นทางเพศสภาพ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ทำให้หลายสิ่งหลายอย่างที่เคยอยู่ดีกินดีมีสถานะสูงส่งมาก่อนไม่เพียงแต่ถูกบั่นทอน เซาะแซะคุณงามความดี แต่ยังถูกจัดการ กำจัด ประเมินค่าใหม่ ถูกแบน เซ็นเซอร์ด้วย เช่น นิยายเรื่อง Huckleberry Finn ซึ่งเคยเป็นงานคลาสสิคของวรรณกรรมอเมริกัน แต่หลายสิบปีที่ผ่านมาก็เคยถูกแบนตามที่ต่างๆ ในอเมริกา เช่น ห้องสมุดสาธารณะ หรือถูกเอาออกจากกลุ่มรายชื่อหนังสือที่นักเรียนต้องอ่านด้วยประเด็นทางเชื้อชาติว่าเหยียดคนผิวดำ บทละคร The Merchant of Venice ของเชคสเปียร์ ก็เคยถูกมองว่าเข้าข่ายต่อต้านยิว เป็นต้น

อาจารย์มหาวิทยาลัยในอเมริกาในบางรัฐถูกห้ามไม่ให้สอนอะไรที่มีวัตถุประสงค์ที่ชี้นำทางการเมือง อุดมการณ์ ศาสนา หรือต่อต้านศาสนา หรือดึงดันที่จะนำประเด็นที่กำลังเป็นที่โต้แย้งมาพูดในชั้นเรียนโดยไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอนโดยตรง รวมทั้งห้ามการกีดกันทางเชื้อชาติ ศาสนา เพศ แต่บางทีหลักการนี้ก็นำไปสู่อะไรแปลกๆ ได้ เช่น เคยมีกรณีที่นักศึกษาอเมริกันร้องเรียนว่าตัวเองถูกกีดกันและเลือกปฏิบัติจากบรรดาคณาจารย์และนักศึกษาที่ส่วนใหญ่เป็นพวกซ้าย พวกเดโมแครต เพราะเธอสนับสนุนจอร์จ บุช

มีกรณีที่น่าสนใจเกิดขึ้น เช่น การต่อต้านประณามการเหยียดผิว (anti-racism) ได้นำไปสู่กระแสหรือขบวนการ Afro-centrism หรือการเอาแอฟริกาเป็นศูนย์กลาง ที่ทำให้มีงานเขียนที่บอกว่าโสกราตีสและคลีโอพัตรามีเชื้อสายแอฟริกัน หรือปรัชญากรีกขโมยความคิดมาจากอียิปต์ บรรดาอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เป็น "คนขาว" ที่ศึกษาอารยธรรมกรีก (Classicist) ที่ไม่เห็นด้วยกับข้อโต้แย้งเหล่านี้ด้วยเหตุผลทางวิชาการก็รู้สึกว่าการวิพากษ์วิจารณ์พวก Afro-centrism อาจถูกกล่าวหาว่า "เหยียดผิว" ได้

หรือการที่เทรนด์กระแสหลักของการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะก็ถูกมองว่าเป็นการเมืองของทฤษฎี และเป็นการโจมตีตัวงานศิลปะขึ้นเรื่อยๆ เช่น ภาพวาดไม่ได้ถูก "มอง" ด้วยสายตาทางสุนทรียศาสตร์อีกต่อไป แต่ถูก "อ่าน" ประเด็นทางประวัติศาสตร์การเมืองทั้ง gender, race, sexuality ต่างๆ นานาที่แฝงเร้นอยู่ในภาพ

กรณีต่างๆ เหล่านี้นำไปสู่คำถามว่า มนุษยศาสตร์จะพูดถึงหัวข้อประเด็นที่ "ไม่ถูกต้องทางการเมือง" ได้อย่างไร? มนุษยศาสตร์สามารถนำไปสู่เสรีภาพทางความคิดโดยไม่มีการเซ็นเซอร์ กดทับความคิดบางอย่างได้จริงหรือ? และถ้าหากมนุษยศาสตร์ต้องการรื้อความคิดที่สถาปนาอยู่ในสังคม มันก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการพยายามทำลายความชอบธรรมของวิธีคิดแบบนั้นให้เป็นเรื่องต้องห้ามด้วยใช่ไหม? มนุษยศาสตร์กระทำการ "ห้าม" เสียเองด้วยรึเปล่า?

หรือจริงๆ แล้ว มนุษยศาสตร์อาจเป็นเรื่องของการเมืองของการต่อสู้ทางความคิดมากกว่าเรื่องของการแสวงหาอิสรภาพหรือการแสวงหายูโทเปีย ความดี ความงาม ความจริงก็ได้ ที่สำคัญก็คือ มนุษยศาสตร์ไม่ได้เป็นกลุ่มก้อนที่กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันที่มองทุกอย่างไปในทิศทางเดียวกัน แต่มนุษยศาสตร์อาจมีความขัดแย้งภายในมากมหาศาลก็ได้ และบางครั้งก็อาจจะมีความเป็นปฏิปักษ์ต่อกันและกันภายในเสียยิ่งกว่าเป็นปฏิปักษ์กับศาสตร์สาขาอื่นๆ ภายนอกก็ได้

มนุษยศาสตร์อาจเป็นพื้นที่ของ "สมรภูมิ" มากกว่า "สันติภาพ" เพราะแม้แต่จะพูดถึงเรื่องอย่างสันติภาพและความดีงาม ก็ต้องพูดกันในพื้นที่สู้รบ (เช่น เวทีเสวนา/ห้องประชุมสัมมนา!) อยู่ดี





ประเด็น "ต้องห้าม" แบบสุดท้ายที่จะขอกล่าวถึงคือ การหัวเราะ-อารมณ์ขันต้องห้าม (Forbidden Laughter and Humor)

กล่าวอย่างรวบรัดแล้ว ศาสนา ปรัชญา และสถาบันทางอำนาจทุกชนิดล้วนมีท่าทีระแวดระวัง และกระทั่งเป็นศัตรูกับการหัวเราะและอารมณ์ขัน เพราะการหัวเราะและอารมณ์ขันบั่นทอน ท้าทาย และตั้งคำถามกับการอ้างและผูกขาดอำนาจและความจริง เป็นที่ทราบกันว่า คริสต์ศาสนาโดยเฉพาะในสมัยกลางหวั่นเกรงและเกลียดชังการหัวเราะ เพราะการหัวเราะคือการ "ลืม" ทุกอย่างที่ทรงมหิทธานุภาพ ขณะที่หัวเราะ มนุษย์ลืมความตาย พระเจ้า บาป ลืมเกรงกลัวสิ่งเหล่านี้ ลืมความซีเรียสและความศักดิ์สิทธิ์ของทุกอย่าง

ประเด็นนี้เป็นธีมที่น่าสนใจในนวนิยายเรื่อง The Name of the Rose ซึ่งเป็นเรื่องของการฆาตกรรมต่อเนื่องหลายศพในโบสถ์วิหารอารามสมัยกลาง อันเป็นสมัยที่คริสต์ศาสนามีอำนาจครอบคลุมทุกมิติของชีวิต การฆาตกรรมต่อเนื่องนี้ก็มีต้นเหตุมาจากพระบรรณารักษ์คนหนึ่งที่พยายามปกปักษ์พิทักษ์หนังสือต้องห้ามเล่มหนึ่งในหอสมุด หนังสือเล่มนั้นคือหนังสือที่ว่าด้วยเรื่อง Comedy ของ Aristotle ว่ากันว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือของอริสโตเติลที่หายสาบสูญไปนานแล้ว และไม่มีใครเคยอ่าน

แต่กลับมาปรากฏอยู่ก๊อบปี้หนึ่งในหอสมุดแห่งนี้ พระที่เป็นบรรณารักษ์ผู้นี้จึงไม่ต้องการให้บรรดาพระทั้งหลายในอารามได้อ่านเรื่องที่ว่าด้วยการหัวเราะ เพราะการหัวเราะเป็นการจาบจ้วงความจริงของพระเจ้า เป็นอันตรายต่อคริสต์ศาสนา โดยให้เหตุผลว่า Comedy ทำให้การหัวเราะถูกยกขึ้นเป็น "ศิลปะ" เป็น "ปรัชญา" และถึงขั้นเป็นหนทางไปสู่ปัญญา นักปรัชญากำลังให้ความชอบธรรมกับการหัวเราะซึ่งเป็นศัตรูกับความซีเรียสจริงจัง พระบรรณารักษ์ผู้ไม่มีอารมณ์ขันรูปนี้เลยวางยาพิษไว้ที่หน้ากระดาษ คนที่มาแอบอ่านจึงถูกยาพิษตาย การหัวเราะจึงเป็นเรื่องคอขาดบาดตายตามตัวอักษรจริงๆ

พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์แบบทางการหรือรัฐพิธีที่เคร่งเครียดจึงไม่อาจยอมให้มีมิติของอารมณ์ขันในนั้นได้เด็ดขาด เพราะทันทีที่ผู้ร่วมพิธีหัวเราะในพระราชพิธี หัวเราะในพิธีที่เคร่งขรึม นั่นคือการท้าทายหรือลบหลู่อำนาจที่กำลังสำแดงอิทธิฤทธิ์อยู่ ณ ขณะนั้น ด้วยเหตุนี้บางทีเราจึงต้องมีการ "กลั้น" หัวเราะ เพราะเรารู้ว่าการหัวเราะในบางเวลาจะสร้างปัญหาได้อย่างเลวร้ายมาก

แต่เราจะเห็นอารมณ์ขันในพิธีกรรมชาวบ้านที่มีมิติของการท้าทายอำนาจ ล้อเล่นกับขนบประเพณี ความศักดิ์สิทธิ์ ลำดับชั้นสูงต่ำในสังคม ฉะนั้นการหัวเราะอาจเป็นสัญลักษณ์หรือมีมิติของอิสรภาพก็ได้ อิสรภาพที่จะไม่ถูกจองจำอยู่ในกฎเกณฑ์ใดๆ เลย แต่ถึงกระนั้นมันก็มักจะอยู่ในบริบทของพิธีกรรม ไม่ใช่ในเวลาปกติ ความศรัทธาจึงมักจะไม่สามารถไปด้วยกันได้กับการหัวเราะ เพราะการหัวเราะทำให้เราหยุดชะงักชั่วคราวกับสิ่งหรือคนที่เราศรัทธา คนที่ศรัทธาซีเรียสจริงจังกับอะไรมากๆ จึงรู้สึกว่าสิ่งหรือคนที่เขาศรัทธา แตะต้องไม่ได้ ล้อเลียนไม่ได้

อารมณ์ขันยังดูจะเป็นเรื่องต้องห้ามในเรื่องของขนบการแสวงหาความรู้ความจริงในมนุษยศาสตร์ เพราะการแสวงหาความรู้ความจริงเป็นเรื่อง "ซีเรียส" ไม่ใช่เรื่อง "ตลก" การมีอารมณ์ขันในงานวิชาการหรือการเสนอเปเปอร์ จึงอาจถือเป็นเรื่องต้องห้ามที่ไม่มีใครพูดถึง เพราะมันเหมือนเป็นสิ่งที่ละไว้ในฐานที่เข้าใจอยู่แล้ว การมีอารมณ์ขันยังอาจทำให้งานเขียนไม่น่าเชื่อถือ เพราะอ่านแล้วขำ เราจะเชื่อถือเฉพาะเรื่องที่ไม่ขำ ขำแปลว่า "เล่นๆ" ไม่จริงจัง แม้ว่าจริงๆ แล้วเรื่องจริงและความจริงจะเป็นเรื่องตลกก็ตาม แต่การแสวงหาความจริงต้องไม่ใช่เรื่องตลก ดังนั้นแม้ว่ามนุษยศาสตร์จะมีอุดมคติอยู่ที่เสรีภาพในการหาความรู้ความจริง แต่ต้องไม่หาแบบตลก คำถามคือ เราสามารถจะหัวเราะความจริงได้หรือไม่ (Laugh at the truth) การหัวเราะความจริงเป็นเรื่องน่าสะพรึงกลัวมากใช่ไหม

ที่พึงระวังอย่างยิ่งก็คือ การหัวเราะเป็นดาบสองคม เพราะในขณะที่อารมณ์ขันสามารถบั่นทอนอำนาจ แต่อารมณ์ขันก็อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อลดความน่าเชื่อถือ (Trivialize) ความซีเรียสจริงจังในประเด็นสำคัญ หรือในประเด็นที่ขัดแย้งหรือเป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายที่ใช้การหัวเราะเป็นเครื่องมือได้



เรื่องตลกต้องห้าม

ท่ามกลางบรรยากาศของ Political Correctness เรื่องตลกจำนวนมากก็เข้าข่ายเป็นเรื่องต้องห้าม หรือต้องถูกเซ็นเซอร์ ความถูกต้องทางการเมืองไม่สามารถทนทานต่อเรื่องตลกบางเรื่องได้ เพราะธรรมชาติของเรื่องขำขันอาจจะในทุกวัฒนธรรมทั่วโลกจะต้องมีการสร้างภาพแบบฉบับที่แฝงนัยของการดูหมิ่นเหยียดหยามหรือการมีอคติอยู่มากมายเต็มไปหมด เรื่องตลกเกี่ยวกับชนชาติหรือประเทศเพื่อนบ้านเป็นเรื่องสามัญที่มีอยู่ดาษดื่นที่สุด

ตัวอย่างง่ายๆ ของเราเองคือ เรื่องตลกเกี่ยวกับชาวเขา หรือการพูดล้อเลียนสำเนียงชาวเขา ซึ่งมีมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อคนกรุงเทพฯ มีปฏิสัมพันธ์กับชาวเขามากขึ้นๆ เช่น การมาเป็นคนใช้ตามบ้าน หรือการที่ภาพลักษณ์ชาวเขากลายเป็นสินค้า หากพูดตรงๆ แล้ว สำหรับคนกรุงเทพฯ ตลกเหล่านี้ก็ตลกมาก ตลกชั่วร้าย โคตรตลกจริงๆ เสียด้วย ตลกแบบชาวเขานี้คือเรื่องตลกที่คนกรุงเทพฯ ใช้ท่าทีสถานภาพที่เหนือกว่าล้อเลียนความบกพร่องทางภาษา รวมทั้งเรื่องเพศด้วย การใช้ท่าทีมุมมองที่เหนือกว่าจึงเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของเรื่องตลกแบบนี้ แต่ในอีกแง่หนึ่ง การเห็นขันกับอะไรก็ตามที่ "ต่าง" ไปจากตัวเอง ก็อาจเป็นความปกติที่มีอยู่ในความเป็นมนุษย์ทั่วไป เพราะความเป็นมนุษย์ย่อมไม่ใช่ความเป็นเทพที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง ความเป็นมนุษย์คือความมีตำหนิ ไม่สมบูรณ์แบบ

ถึงกระนั้นบางครั้งเราก็มักจะมองกันว่า เรื่องตลกที่ชอบธรรมคือเรื่องตลกที่ล้อเลียน เยาะเย้ย ถากถาง ผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า ไม่ใช่เรื่องตลกที่กระทำต่อผู้ที่มีสถานะต่ำกว่า ตลกที่ชอบธรรมจึงคือตลกต่อ "ข้างบน" ไม่ใช่ต่อ "ข้างล่าง" ตลกต่อนายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดี ไม่ใช่ตลกกับคนเร่ร่อนไร้บ้าน หรือตลกกับเหยื่อที่ถูกข่มขืน ซึ่งจะถูกถือว่าเป็นตลกที่ไร้จริยธรรม

แต่ถ้าหากเรา "ห้าม" เรื่องตลกที่ไม่ถูกต้องทางการเมือง (politically incorrect jokes) การ "ห้าม" นี้ก็อาจเท่ากับเป็นการ "กดขี่" ซ้อนสองตลบ ชั้นแรกคือตัวเรื่องตลกนั้นมีนัยกดขี่อะไรบางอย่างอยู่แล้ว แล้วเราก็ไป "กดขี่" ใช้อำนาจกับการเล่าเรื่องขำขันเหล่านั้นอีกชั้นหนึ่ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เรื่องขำขันก็มีทั้ง good joke กับ bad joke และการตัดสินว่าอะไรคือ good joke หรือ bad joke ก็คงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า ปรัชญาของอารมณ์ขันหรือการหัวเราะคือการทำให้ทุกสิ่งทุกอย่าง "คลุมเครือ" และคือการ "แขวน" การตัดสินทางศีลธรรม ฉะนั้นถ้าจะว่าไปแล้ว อารมณ์ขันย่อมต้องอยู่ก้ำกึ่ง ล่อแหลม ท้าทายกฎเกณฑ์แบบแผนทางอำนาจ ความถูกต้อง และศีลธรรมเสมอ ดังนั้นศาสนาซึ่งสร้างโลกและกฎเกณฑ์ทางศีลธรรมที่ชัดเจนจึงต้องมีปัญหากับอารมณ์ขันแน่ๆ ทำให้มักมีคำถามที่นำไปสู่การโต้แย้งที่เคร่งเครียดและไร้อารมณ์ขันว่า พระเยซูหรือพระพุทธเจ้าเคยหัวเราะหรือไม่

และอาจจะเพราะความก้ำกึ่ง ล่อแหลม ท้าทายอย่างนี้ด้วย ตามจารีตแล้ว คนที่จะทำตลกมีอารมณ์ขันได้ก็มักจะเป็น "ผู้ชาย" แทบจะทั้งนั้น เพราะแน่นอนว่าผู้ชายได้รับอนุญาตจากสังคมให้สามารถล้อเล่น ท้าทาย พลิกแพลง ทะลึ่ง หยาบคาย ใช้ไหวพริบปฏิภาณได้มากกว่า "ผู้หญิง" ที่ถูกจำกัดให้อยู่ในกรอบจารีตที่กดทับกว่า เราจึงอาจมองการหัวเราะและอารมณ์ขันโดยเฉพาะในปริมณฑลสาธารณะว่าเป็นเรื่องต้องห้ามของผู้หญิงได้อีกชั้นหนึ่งด้วย



หัวเราะตัวเอง

ถึงที่สุดแล้ว อารมณ์ขันและการหัวเราะที่สำคัญที่สุดกลับคือการหัวเราะตัวเอง (laugh at oneself) มนุษยศาสตร์รวมทั้งศาสตร์ทุกอย่างในโลกก็ต้องรู้จักหัวเราะตัวเอง การหัวเราะคนอื่นเป็นเรื่องง่ายที่สุด เป็นธรรมชาติที่สุด และเราก็ทำกันตลอดเวลา แต่คนเราควรจะรู้จักและเรียนรู้ที่จะหัวเราะตัวเอง การไม่สามารถหัวเราะตัวเองได้ คือการให้ความสำคัญ ซีเรียสกับความคิดตัวเอง และตัวตนตัวเองมากเกินไป ยึดติดว่าเราผูกขาดการตีความ การอ่าน การวิเคราะห์ หรือเป็นผู้ค้นพบหรือถ่ายทอด
"ความจริง" แล้วเปิดโปงอย่างอื่นที่ "ไม่จริง" ยิ่งพวก Fundamentalist, Ultra-conservative, หรือพวกคลั่งชาติ พวกสาวกบูชาลัทธิใดๆ ยิ่งต้องรู้จักหัวเราะตัวเอง ว่าตัวเองกำลังทำอะไรกันอยู่

การหัวเราะตัวเอง คือการลดอัตตา ละลายตัวตนบ้าง

มันคือการกระโดดออกจากตัวเอง แล้วหันกลับมามองตัวเอง แล้วหัวเราะ

และจริงๆ แล้ว ไม่มีใครในโลกนี้ ไม่มีใครเลยสักคนเดียว ไม่ว่าที่ไหนและเมื่อไหร่ ที่สำคัญและยิ่งใหญ่เสียจนไม่สามารถหัวเราะตัวเองได้


มุกหอม วงษ์เทศ

ศิลปวัฒนธรรม
วันที่ 01 ตุลาคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 26 ฉบับที่ 12

ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม : สโมสรศิลปวัฒนธรรม

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำไปโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณมาก ๆ นะครับ สำหรับบทความดี ๆๆ