วันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

“ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข?” ของสุภา ศิริมานนท์ : วรรณกรรมคำสอนพระราชานอกกระแสจารีต


บาหยัน อิ่มสำราญ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย
คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร


บทคัดย่อ

ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข? ของ สุภา ศิริมานนท์ เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ใช้เหตุการณ์จลาลจลปลายสมัยกรุงธนบุรี นวนิยายเรื่องนี้นำเสนอคำสอนพระราชาด้วยแนวคิดสังคมนิยม จึงแตกต่างกับวรรณกรรมคำสอนพระราชาเรื่องอื่น ๆ ซึ่งมีแนวคิดแบบจารีตนิยม


บทนำ

ตามคติจารีตนั้น พระราชาเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในหมู่ชน โดยมีอำมาตย์ข้าราชบริพารทั้งหลายเป็นกลไกที่สนับสนุนให้การเมืองการปกครองเป็นไปอย่างราบรื่น อำนาจของพระราชาจึงมีมาก สามารถให้คุณและให้โทษต่อผู้อื่นได้ พระราชาจึงต้องมีธรรม เพื่อควบคุมมิให้ทำสิ่งที่ไม่ควรแก่ผู้ที่มีหน้าที่ในการปกครอง (ปรีชา ๒๕๔๒: ๑๙) อันจะนำความเดือดร้อนมาสู่ประชาชนและแว่นแคว้น ธรรมของพระราชาเหล่านี้ปรากฎอยู่ในคัมภีร์บาลีและสันสกฤต ซึ่งบางส่วนมีผู้นำมาแปลเป็นภาษาไทย นอกจากนั้นคัมภีร์เหล่านี้ยังมีอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์วรรณกรรมไทยที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการสอนพระราชาโดยตรง

การถ่ายทอดคำสั่งสอนพระราชาในคัมภีร์บาลีและสันสกฤตมาเป็นภาษาไทยนั้นปรากฎมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ส่วนที่แปลจากภาษาบาลี ได้แก่ เรื่องของพระโพธิสัตว์ที่ปรากฎอยู่ในอรรถกถาชาดกบางเรื่อง เช่น ราโชวาทชาดก ( ๑ ) เตสกุณชาดก ( ๒ ) เป็นต้น ส่วนที่แปลจากสันสกฤต ได้แก่ หิโตปเทศ ( ๓ ) ส่วนที่แปลจากบาลีและสันสกฤตได้แก่ ราชนิติ ( ๔ ) ส่วนที่สร้างสรรค์ใหม่เป็นวรรณกรรมคำสอนพระราชาของไทยได้แก่ โคลงทศรถสอนพระราม ( ๕ ) พระโพธิสัตว์โกสามภิณ ( ๖ ) ฉันท์อัษฎาพานร ( ๗ ) และวิทิตชาดก ( ๘ )

วรรณกรรมคำสอนพระราชาที่กล่าวมานี้ ล้วนแล้วแต่เป็นวรรณกรรมที่มีจุดประสงค์ที่จะสั่งสอนพระราชาให้รู้หลักการปกครองและรู้จักการดำรงตนให้เป็นที่ยอมรับของประชาชน เพื่อที่จะสามารถดำรงสถานะธรรมราชาของแว่นแคว้น วิธีการสอนมีทั้งการสอนโดยตรง ( ๙ ) ได้แก่ การให้พระราชาด้วยกันเป็นผู้สอน ให้นักปราชญ์เป็นผู้สอน ให้เทวดาเป็นผู้สอน ให้พระโพธิสัตว์เป็นผู้สอนสอนโดยอ้อม ( ๑0 ) ได้แก่ การสาธกเรื่องที่มีคติสอนใจเพื่อเป็นแนวทางไปสู่ความเข้าใจหลักการปกครองบ้านเมือง

อย่างไรก็ตามยังมีวรรณกรรมอีกเรื่องหนึ่งซึ่งพิจารณาจากเนื้อหาแล้ว เป็นวรรณกรรมคำสอนพระราชา แต่ไม่ได้สอนให้เป็นนักปกครองเหมือนวรรณกรรมเรื่องที่กล่าวมาแล้วข้างต้น หากแต่ชี้ให้เห็นข้อผิดพลาดของพระราชาในฐานะผู้ปกครองบ้านเมือง และพระราชาองค์นั้นก็ไม่มีโอกาสกลับไปแก้ตัวเพราะหมดสถานะความเป็นราชาโดยสิ้นเชิง เนื่องจากถูกช่วงชิงพระราชบัลลังก์ไปโดยผู้ปกครองคนใหม่ วรรณกรรมเรื่องที่กล่าวถึงนี้ คือ นวนิยายเรื่องผู้อยู่เหนือเงื่อนไข? ของสุภา ศิริมานนท์



“ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข? ของ สุภา ศิริมานนท์


สุภา ศิริมานนท์เป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่มีบทบาทสำคัญในช่วงทศวรรษที่ ๒๔๙๐ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามนิกร นิตยสารนิกรวันอาทิตย์ เป็นผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ไทยใหม่รายวัน เคยร่วมขบวนการเสรีไทยเมื่อพ.ศ. ๒๔๘๖

สุภา ศิริมานนท์เป็นนักคิดนักเขียนผู้ศึกษาความคิดสังคมนิยมอย่างลึกซึ้ง มีผลงานปรากฎเป็นประจักษ์พยานหลายชิ้น ได้แก่ แคปิตะลิสม์ มาร์กซจงใจพิสูจน์อะไร ปรัชญาวัตถุนิยมและบทบาทของเฟรดริค เองเกลส์ ที่มีต่อมาร์กซ ศิลปะภายใต้ระบอบเผด็จการ เป็นต้น โดยเฉพาะแคปิตะลิสม์ถือว่าเป็นหนังสือที่วิเคราะห์ระบบทุนนิยมโลกที่เป็นภาษาไทยเล่มแรก ๆ ของไทย

บทบาทที่สำคัญของสุภา ศิริมานนท์อีกฐานะหนึ่งก็คือ การเป็นเจ้าของและบรรณาธิการนิตยสารอักษรสาส์น (พ.ศ. ๒๔๙๒ - พ.ศ. ๒๔๙๕) นิตยสารนี้เป็นแหล่งร่วมของนักคิดนักเขียนหัวก้าวหน้าของสังคมไทยและนักเขียนชั้นนำในสมัยนั้น เช่น กุหลาบ สายประดิษฐ์ อัศนี พลจันทร สมัคร บุราวาส สุภัทร สุคนธาภิรมย์ ฯลฯ นักคิดเหล่านี้ล้วนเป็นที่ยอมรับกันว่า มีบทบาทต่อความคิดและอุดมการณ์ประชาธิปไตยของประชาชน เพื่อประชาชนในสังคมไทยในยุคนั้นและสืบต่อมาจนถึง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ( ๑๑ )

สุภา ศิริมานนท์เคยถูกจับกรณีกบฎสันติภาพเมื่อพ.ศ. ๒๔๙๕ และถูกขัง ๖๐ วัน ช่วงที่ถูกควบคุมตัวและหลังจากพ้นข้อกล่าวหาอีก ๖ เดือน สันนิษฐานว่าเป็นเวลาที่สุภา ศิริมานนท์คิดและดำเนินการเขียนนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องผู้อยู่เหนือเงื่อนไข? อันเป็นวรรณกรรมคำสอนพระราชาที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้


ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข? เป็นผลงานนวนิยายเรื่องแรก ( ๑๒ ) ในชีวิตการประพันธ์ของสุภา ศิริมานนท์ โดยใช้นามปากกาว่า ษี บ้านกุ่ม นวนิยายเรื่องนี้เขียนจบและแก้ไขเสร็จเรียบร้อยเมื่อวันเสาร์ที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๔๙๖ อาศัยเค้าเรื่องจากเอกสารทางประวัติศาสตร์ชิ้นหนึ่งซึ่งเชื่อกันว่าเป็นบันทึกของผู้ร่วมเหตุการณ์ในตอนที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีต้องราชภัยทางการเมือง

เอกสารดังกล่าวยังไม่เคยเปิดเผยต่อสาธารณะมาก่อน เมื่อเขียนจบไม่ได้ตีพิมพ์เผยแพร่เพราะสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงนั้นไม่เอื้ออำนวย (พิทยา ๒๕๔๕ คำนำ) ต้นฉบับจึงถูกเก็บไว้นานถึง ๔๘ ปี เพิ่งจะเปิดเผยและได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก เมื่อพ.ศ. ๒๕๔๕

นวนิยายเรื่องนี้ใช้ฉากเหตุการณ์การจลาจลสมัยปลายกรุงธนบุรี การเปิดเรื่องเริ่มต้นที่ปัจจุบัน เมื่อเรือปิกนิกท่องเที่ยวชายทะเลได้นำคณะท่องเที่ยวเดินทางออกไปพักผ่อนในวันหยุดสุดสัปดาห์ คณะนักท่องเที่ยวที่ชอบพออัธยาศัยกัน ได้จับกลุ่มสนทนากันเกี่ยวกับเรื่องวาระสุดท้ายของสมเด็จพระเจ้าตากสินหรือพระเจ้ากรุงธนบุรี

โดยเปิดประเด็นจากเรื่องสั้นขนาดยาวเรื่อง

“ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน”

ของหลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งมีเนื้อเรื่องว่า ระหว่างเกิดการจราจลในสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จออกผนวชทหารของพระยาสรรค์ยังคงล้อมพระอุโบสถอย่างแน่นหนา เพื่อมิให้พระองค์หลบหนี ฝ่ายขุนนางข้าราชการที่ยังจงรักภักดีต่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนำโดยเจ้าพัฒน์ อุปราชเมืองนครศรีธรรมราช ได้วางแผนให้พระองค์หลบหนีโดยสลับตัวกับหลวงอาสาศึกซึ่งมีเค้าหน้าละม้ายเหมือนพระองค์

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในเพศบรรพชิตโดยสารเรือลำปั้นลำเล็กหลบหนีไปขึ้นเรือใหญ่ที่ปากอ่าว และเดินทางต่อไปจนถึงนครศรีธรรมราช อาศัยอยู่ที่นั่น ๒-๓ ปี สุดท้ายก็ถูกลอบปลงพระชนม์โดยถูกตีพระเศียรขณะทรงเจริญวิปัสสนากรรมฐานในถ้ำแห่งหนึ่งที่เมืองเพชรบุรี

การพูดคุยเป็นไปอย่างมีรสชาติ เพราะหนึ่งในผู้ที่เข้าร่วมสนทนาได้ข้อมูลเกี่ยวกับการจลาจลสมัยปลายกรุงธนบุรีที่ยังไม่ได้เปิดเผยมาก่อน เอกสารฉบับนั้นได้กล่าวถึงเหตุการณ์ในคืนวันที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีหลบหนีราชภัยทางการเมืองขณะอยู่ในเพศบรรพชิต ด้วยความช่วยเหลือของอดีตเกลอเก่าสี่คนโดยใช้เรือลำปั้นลำเพ็กพายไปขึ้นเรือใหญ่ที่ปากอ่าว ส่วนสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีถูกสำเร็จโทษนั้นเป็นชายผู้มีเค้าหน้าเหมือนและปลอมตัวเป็นพระองค์ยอมเสียสละชีวิตเพื่อให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีองค์จริงหลบหนีออกมาได้อย่างปลอดภัย

ในระหว่างการหลบหนี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีโอกาสพูดคุยกับชายสี่คน บทสนทนาขนาดยาวระหว่างบุคคลทั้ง ๕ นี้คือหัวใจของเรื่อง ทั้งในแง่เนื้อหาที่เป็นการสั่งสอนพระราชา และในแง่กลวิธีการนำเสนอคำสอนพระราชาเรื่องจบลงเมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีสามารถขึ้นเรือใหญ่ที่ปากอ่าวได้จากนั้นเรื่องก็ตัดกลับมาสู่การสนทนาระหว่างคณะนักท่องเที่ยวบนเรือนำเที่ยวก่อนที่ตัวละครทั้งหมดจะแยกย้ายกันไป

ตัวละครสำคัญในเรื่องคือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีและชาย ๔ คน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีซึ่งขณะนั้นบวชเป็นพระ อยู่ในสภาพที่งุนงงและสับสนต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งเหตุการณ์ที่ถูกช่วงชิงราชบัลลังก์ที่เพิ่งผ่านมาหมาด ๆ ตลอดจนเหตุการณ์ที่ถูกสับเปลี่ยนตัวกับชายผู้มีเค้าหน้าเหมือนกันเพื่อมากับชาย ๔ คน ซึ่งดูเหมือนว่าไม่เคยรู้จักกันมาก่อน

ชาย ๔ คน มีชื่อว่าสิงห์ขาม หินขาบ ปางทราย และสีเหล็ก เป็นอดีตเพื่อเก่าในสมัยวัยเยาว์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อครั้งยังอยู่กับพระอาจารย์ทองดี วัดโกษาวาส เมื่อเติบโตต่างก็แยกย้ายกันไป “สิน” ไปเอาดีทางราชการ ได้เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองตาก และเป็นพระยาวชิรปราการเจ้าเมืองกำแพงเพชร ส่วนสิงห์ขาบ หินขาบ ปางทราย และสีเหล็กมีโอกาสศึกษาความรู้ที่ก้าวหน้าจากตะวันตก

ได้แก่ วิชาช่าง วิชาวรรณคดี วิชาการเมืองการปกครอง จากมิชชันนารีชื่อบาทหลวงคาซาแร็ง และได้ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเพื่อกอบกู้ชาติ เมื่อเสร็จภารกิจก็มิได้เปิดเผยตัวเพื่อเรียกร้องความดีความชอบตอบแทน แต่กลับไปใชชีวิตเยี่ยงสามัญชน ในขณะที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้เป็นกษัตริย์ เสวยความสุขในฐานะราชาของแผ่นดิน และลืมคนทั้ง ๔ เสียสิ้น

บทสนทนาเริ่มต้นจากเรื่องที่ชายทั้ง ๔ พยายามทบทวนความหลังสมัยวัยเยาว์ที่วัดโกษาวาส เพื่อให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจำเพื่อนเก่า และชี้ให้เห็นจุดประสงค์ของการเสี่ยงอันตรายมาช่วยว่า นอกจากจะช่วยในฐานะเพื่อนแล้ว ยังช่วยในฐานะที่เป็นกษัตริย์ที่เคยประกอบคุณงามความดีคือกอบกู้เอกราชของชาติ การสนทนาเริ่มเข้มข้นขึ้นเมื่อชายทั้ง ๔ ชี้ให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเห็นสัจธรรมแห่งอำนาจว่าทำให้คนเข่นฆ่ากันเพื่อช่วงชิงความเป็นใหญ่หลังจากนั้นก็พยายามธำรงรักษาอำนาจของตนเองไว้ให้ยาวนานที่สุด

ความที่อยู่ในฐานะที่สูงส่งได้รับการยกยอปอปั้น ทำให้คนเหล่านี้คิดว่าตนเองไม่ใช่มนุษย์ธรรมดาสามัญ ชายทั้ง ๔ ชี้ให้เห็นความจริงในเรื่องอำนาจจากตัวอย่างเหตุการณ์การช่วงชิงอำนาจสมัยพระเพทราชา และที่ใกล้ตัวที่สุดก็คือ การสูญเสียอำนาจของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเอง อันเกิดจากการวางแผนอย่างแยบยลของหลวงสรวิชิต เพื่อให้มูลนายของตนได้เป็นกษัตริย์ ทั้ง ๆ ที่คนเหล่านี้ต่างก็เป็นคนใกล้ชิดของพระองค์ทั้งสิ้น

สัจธรรมเรื่องอำนาจนี้เองเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอโดยใช้เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ อันได้แก่ การจลาจลปลายสมัยกรุงธนบุรี และการหลบหนีราชภัยของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นเค้าโครงเรื่อง ส่วนรายละเอียดอันได้แก่ข้อคิดต่าง ๆ ที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอนั้น จะผ่านทางการสนทนาของตัวละครในเรื่อง

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงในผู้อยู่เหนือเงื่อนไข?นั้น แตกต่างกับเหตุการณ์ที่ปรากฎในเอกสารทางประวัติศาสตร์ อันได้แก่ พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา และอภินิหารบรรพบุรุษ เป็นต้น ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวถึงเหตุการณ์จลาจลในสมัยกรุงธนบุรีว่าเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า เพราะพระเจ้าแผ่นดินไม่เป็นธรรม กระทำกดขี่ข่มเหงเบียดประชาราษฎร พระยาสรรค์ก่อกบฎยกพวกมาล้อมวัง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีขอชีวิตและออกบวชที่วัดแจ้ง พระยาสุริยอภัยผู้ครองเมืองนครราชสีมาได้ข่าวการจลาจลก็ส่งข่าวไปแจ้งแก่เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกที่เมืองเสียมเรียบ

เมื่อสมเด็จพระเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกลับถึงพระนคร ประชาชนอัญเชิญเป็นกษัตริย์ และพระองคก็จัดการพิพากษาโทษสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเนื่องจากทำให้อาณาประชาราษฎรเดือดร้อน โดย

“ประหารชีวิตตัดศีรษะเสียถึงแก่พิราลัย
จึงรับสั่งให้เอาศพไปฝังไว้ ณ วัดบางยี่เรือใต้”
(พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ๒๕๓๕ : ๒๓๐)

ส่วนในอภินิหารบรรพบุรุษเน้นการอธิบายพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในเชิงอัทธิปาฎิหาริย์ เช่น เมื่อคลอดได้ ๓ วัน มีงูเหลือมใหญ่เข้าไปขดเป็นทักษิณาวรรต์ในกระด้งรอบกาย หรือเมื่ออายุได้ ๑๓ ปี ถูกมัดไว้ที่ขั้นบันได แช่น้ำเป็นเวลานาน ครั้นน้ำขึ้นก็ไม่เป็นอันตราย เพราะบันไดหลุดถอนขึ้นมา เป็นต้น

การที่ผู้เขียนใช้เหตุการณ์จลาจลปลายสมัยกรุงธนบุรีเป็นฉากและใช้เรื่องราวอันเป็นวาระสุดท้ายของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่ไม่ตรงกับเอกสารทางประวัติศาสตร์ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ถือว่าเป็นกลวิธีการเร่งเร้าความสนใจของผู้อ่าน ทั้งนี้เพราะเรื่องราวของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ยังเต็มไปด้วยข้อถกเถียงและคำถามอีกมากมายที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปให้ชัดลงไปได้ นอกจากนั้นเรื่องราวของพระองค์ยังอยู่ในความสนใจของคนทุกระดับชั้นที่คาดหวังว่าจะมีคำอธิบายเหตุการณ์ในวาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพที่ยังคลุมเครือไม่ชัดเจนให้กระจ่างชัดขึ้นมาได้ (ณัฎฐ์พร ๒๕๔๕ : ๔-๕)

การที่ประวัติศาสตร์กระแสหลักได้เปิดช่องโหว่ในเรื่องชีวประวัติของบุคคลที่ครั้งหนึ่งเคยมีคณูปการให้แก่ชาติไทยเป็นอย่างยิ่ง เปิดโอกาสให้นักเขียนใช้จินตนาการของตนเพื่อเติมเต็มในส่วนที่ขาดหายไป และเพื่อนำเสนอความคิดที่ต้องการบอกแก่ผู้อ่านผ่านเรื่องราวอันเป็นประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้างขึ้นมาใหม่ โดยใช้เงื่อนไขที่บุคคลนั้นเป็นคนสำคัญ และคนทั่วไปใคร่รู้เรื่องราวเป็นจุดดึงดูดความสนใจ


คำสอนพระราชาใน “ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข?

คำสอนพระราชาที่ปรากฎในผู้อยู่เหนือเงื่อนไข?นั้น เป็นข้อความที่ปรากฎอยู่ระหว่างบรรทัดในการสนทนาระหว่างสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกับชาย ๔ คน ชาย ๔ คนได้สอนให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเข้าใจความคิดสำคัญเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง ๓ ประการ ดังนี้


๑. สถานะที่แท้จริงของพระราชา

ชี้ให้เห็นวัฎจักรของการเป็นพระราชาว่า ได้มาด้วยการช่วงชิงอำนาจจากพระราชาองค์ก่อน และจะต้องพยายามธำรงรักษาอำนาจดังกล่าวไว้ อำนาจดังกล่าวจะสิ้นสุดลงเมื่อมีผู้มาช่วงชิงอำนาจไปการเป็นพระราชานั้นมีอำนาจล้นเหลือ มีเครื่องประดับเกียรติมากมาย ก่อให้เกิดความมัวเมาลุ่มหลง มองไม่เห็นความเป็นธรรมดาสามัญ และเป็นเครื่องบดบังความเฉลียวฉลาด ความถูกต้องและความเป็นธรรม พระราชายังจะต้องรักษาอำนาจของตนเองไว้โดยทางตรงและทางอ้อม

ในทางตรงนั้นพระราชาให้อำนาจสั่งการ ในทางอ้อมพระราชาจะต้องทำตนให้แตกต่างกับสามัญชนทั่วไปแม้แต่ภาษาก็สร้างภาษาอีกระดับหนึ่ง ที่แสดงถึงสถานะที่สูงส่งกว่า เมื่อสิ้นสุดอำนาจพระราชาองค์ใหม่ก็จะหาเหตุแห่งความชอบธรรมในการช่วงชิงอำนาจ เพื่อคนยอมรับ ความถูกผิดจึงขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้ได้รับชัยชนะในการช่วงชิงอำนาจ เมื่อได้อำนาจมาก็จะต้องฆ่าราชวงศ์พงศาของพระราชาองค์ก่อน เพื่อกำจัดเสี้ยนหนามให้หมดสิ้น ตัวอย่างเช่น


๑.๑. สิงห์ขามพูดเพื่อแสดงให้เห็นว่าการได้มาซึ่งความเป็นราชานั้นคือการสืบทอดวัฎจักรอันชั่วร้ายเพราะมาจากการช่วงชิงอำนาจจากพระราชาองค์ก่อนและวงจรเช่นนี้เกิดขึ้นทั่วทุกแว่นแคว้นและสืบต่อมาหลายร้อยปีแล้ว

ม็อง เยเนราล ( ๑๓ ) จะเท็จหรือจะจริงก็ไม่แปลกเลยสำหรับการกินเมืองเขาได้นิยามใช้กันมาแล้วเช่นนี้ ยุคของเรานี้ก็ย่อมรับความคิดทางธรรมจรรยาอันเลวและเสื่อมทรามตกทอดมาอย่างไม่มีปัญหาและมันก็จะต้องถ่ายลงสู่สายเลือดของอนุชนไทยรุ่นหลัง ๆ ต่อ ๆ ไป อีกช้านานเสียด้วย และ…และฐานะทางจิตใจของพวกแย่งชิงอำนาจกันแบบนี้ มันจะเป็นแต่เฉพาะในบ้านเราเมืองเราก็หาไม่ มันเป็นมาหลายร้อยปีแล้วในทำนองคล้าย ๆ กันในอิวโหรบและในเมืองจีน ความเป็นธรรมอยู่ที่การมีชัย! บา.มันช่างน่าบัดซบเหลือเกิน (น. ๙๔)


๑.๒. สิงห์ขามพูดเพื่อชี้ให้เห็นว่า การได้มาซึ่งอำนาจเพื่อก้าวขึ้นสู่สถานะความเป็นราชานั้นเป็นเรื่องที่โหดร้าย ฝ่ายที่ชนะและยึดอำนาจได้จะต้องจัดการกำจัดญาติพี่น้องวงศาคณาญาติของพระราชาองค์เดิมเพื่อไม่ให้เป็นเสี้ยนหนามต่อไป

…แน่นอนเหลือเกิน, ม็อง เยเนราล เขาถือว่าท่านเป็นคนของพวกเขาจะต้องฆ่าเสียให้พ้นความเป็นเสี้ยนหนาม กรมขุนอินทรพิทักษ์และพระยากำแหงสงครามก็หนีไม่พ้นความตาย บุคคลทั้งสองนี้เป็นหน่วยใหญ่แห่งกำลังของท่านนอกจากนั้นลูกหลานคนอื่น ๆ บรรดาที่เป็นชายาของท่านก็อาจจะต้องตายวายวอดลงด้วยเหมือนกัน…ท่านไม่เข้าใจหรอกว่านี่เป็นระบอบและวิธีชิงอำนาจล้างอำนาจขุนศึก (น. ๘๗)


๑.๓. สิงห์ขามพูดเพื่อแสดงให้เห็นว่าอำนาจ ความสุข ความสูงส่ง พรั่งพร้อมไปด้วยเครื่องราชกกุธภัณฑ์ทั้งหลายทำให้พระราชาซึ่งในอดีตก็คือคนธรรมดาสามัญ มองไม่เห็นความถูกต้อง ความดีงามและความยุติธรรม ลุ่มหลงไปกับเครื่องประดับเกียรติจนมองไม่เห็นสิ่งซึ่งเป็นความจริงซึ่งก็คือความเป็นธรรมดาสามัญ

ในช่วงขณะอันท่านเปี่ยมไปด้วยสุขารมณ์และมีอำนาจล้นเหลือเช่นนั้นน่ะ, ม็อง เยเนราล ท่านยังนึกออกอยู่หรือไม่ว่าในบริเวณดังกล่าวของท่านเต็มไปด้วยจามร, เต็มไปด้วยแตร มงกุฎ, เต็มไปด้วยบังแทรกแส้และพัด, และพิธีรีตอง และอะไรต่ออะไรชนิดที่เชื่อกันว่าเป็นเครื่องประดับยศ ประดับเกียรติจนดูรุงรัง ผิดธรรมดาสามัญอย่างไรบ้าง?

ไอ้สิ่งซึ่งสามัญชนอย่างพวกเราเห็นว่าดูรุงรังเหล่านี้แหละ, ม็อง เยเนราล ที่มันย่อมเป็นประหนึ่งฝ้าฟางบังนัยน์ตา ทำให้ท่านจะมีอยุติธรรมอย่างทั่วถึง อย่างกว้างและอย่างล้ำลึกไม่ได้ …ความดีก็ดี, หรือความถูกต้องก็ดี และหรือวามยุติธรรมก็ดี ล้วนแต่จะเกิดจากความคิดอันรัวรางไปด้วยกองขยะบ้า ๆ และเหลวไหลเหล่านั้นทั้งสิ้น ท่านตกอยู่ในภาวะและในอาการสมมุติล้วน ๆ

…จะโดยรู้สำนึกหรือไม่รู้สำนึกก็ตามที ท่านไปรับความคิดซึ่งตกทอดมาจากพวกกษัตริย์เก่า ๆ มาสุมไว้ในหัว โดยลืมลักษณะสามัญดั้งเดิมของท่านเสียสนิทสิ้นเชิง มันเป็นของหลอกลวงทั้งแก่ตาและแก่ใจ… (น. ๓๗)


๑.๔ สิงห์ขามพูดเพื่ออธิบายการช่วงชิงอำนาจว่า นอกจากจะต้องกำจัดพระราชาองค์ก่อนแล้ว ยังจะต้องสร้างสิทธิธรรมในการขึ้นสู่ตำแหน่งของตนให้ประชาชนและคนรุ่นหลังยอมรับ ด้วยวิธีการสร้างเรื่องราวว่าพระราชาองค์ก่อนผิดพลาดอย่างฉกาจฉกรรจ์ จึงจำเป็นต้องโค่นล้ม

ถูกแล้ว, คำพูดของกษัตริย์คือกฎหมาย นี่เป็นระบอบของยุคเราระบอบขุนศึกครองอำนาจ แต่ทว่าก็ต้องเป็นคำพูดของกษัตริย์ที่มีอำนาจด้วยนะ, ม็อง เยเนราล …จึงจะเป็นกฎหมาย …การจราจลครั้งนี้ความจริงมันเป็นเสมอ เพียงฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ลาสันหลังหักเท่านั้น

เขาจะขุดอันใดขึ้นมาก็ได้ เสกสรรค์ปั้นแต่งอันใดขึ้นมาก็ได้ โหราจารย์และหรือลูกขุนประจำบัลลังก์กษัตริย์คนใหม่ ก็จะช่วยกันเรียบเรียงความผิดพลาดบกพร่องชนิดร้ายฉกรรจ์ของท่านขึ้นไว้ให้อนุชนรุ่นหลังอ่าน (น. ๙๑)


๑.๕ สิงห์ขามพูดเพื่อแสดงให้เห็นว่าการสถาปนาตนเองเป็นพระราชานั้น ทำให้คนซึ่งเคยเป็นคนธรรมดาสามัญต้องกระทำตนแตกต่างกับมนุษย์โดยทั่วไป แม้แต่ภาษาก็ต้องใช้อีกแบบหนึ่งซึ่งแสดงความสูงส่ง และกดผู้อื่นให้ต่ำลงไปเหมือนสัตว์ชั้นต่ำ

ท่านเคยเป็นอะไรต่ออะไรมาหลายอย่างในชีวิต รวมทั้งเป็นกษัตริย์ แต่เรามิได้นิยมนิยาม ในสิ่งอื่น ๆ ที่ท่านเคยเป็นมานั้นเลย เรารู้สึกว่าชื่อที่เราเรียกนี้มีศักดิ์ศรีกว่า มันอยู่ในน้ำใจของเราทั้งสี่คนนี้มากกว่า

เราเกลียดชัง ถ้อยคำยกย่องแบบที่ทำให้คนเป็นเทวดา แล้วเราผู้พูดเองจะต้องกลายเป็นประดุจทาสหรือสัตว์เลื้อยคลานอยู่ใต้ดิน

เราพูดสิ่งที่เรียกว่าราชาศัพท์ไม่เป็น หรือถึงพูดเป็นก็ไม่ปรารถนาจะพูด คำจำพวกเทวฤทธิ์เหล่านั้น มันทำให้เราดูถูกตัวของเราเอง ความสำคัญของเราก็พอจะมีอยู่..... ซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นความสำคัญที่ไม่สู้จะมีใครเขามองเห็น ( น. ๓๒ )



๒. ความผิดพลาดของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

ชี้ให้เห็นการบริหารบ้านเมืองที่ผิดพลาดของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เพราะถือเอายอมรับความคิดและการกระทำแบบศักดินามาเป็นแนวปฎิบัติ อันได้แก่ การใช้พระราชอำนาจของกษัตริย์แต่เพียงผู้เดียว ทำให้กระทำตามอำเภอใจ บางครั้งก็หลงในอำนาจเชื่อในการยกยอปอปั้นและประจบสอพลอของคนรอบข้าง ทำให้ปกครองประเทศด้วยความผิดพลาด

และยังใช้อำนาจเกินกว่าเหตุก่อให้เกิดความพยาบาทอาฆาตแค้นจากผู้ที่ได้รับผลแห่งการกระทำ เป็นรอยแค้นที่ไม่อาจลืมเลือนได้ อีกทั้งยังชี้ให้เห็นวิธีคิดที่ผิดพลาดของพระเจ้ากรุงธนบุรี นั่นก็คือวิธีคิดแบบจิตนิยม ลุ่มหลงในอำนาจของพลังจิต เชื่อในไสยศาสตร์มากกว่าการใช้เหตุผลในการพิจารณาตัดสิน เช่น การให้พระสงฆ์ดำน้ำเพื่อพิสูจน์ว่าพระสงฆ์รูปใดเป็นอลัชชี

การลุ่มหลงในวิปัสสนากรรมฐาน นอกจากนั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียังผิดพลาดในเรื่องชีวิตส่วนตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความสัมพันธ์กับผู้หญิง ตัวอย่างเช่น


๒.๑ ปางทรายพูดเพื่อชี้ให้เห็นความเดือดร้อนของประชาชอันเนื่องมาจากกลไกรัฐ คือขุนนางข้าราชการทั้งหลายของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่กระทำการกดขี่เบียดเบียนประชาชน

ม็อง เยเนราล ท่านได้ตั้งบุคคลผู้อาสัตย์อาธรรมให้มีอำนาจกดขี่ข่มเหงราษฎรจนเกิดความขมขื่นเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า ตัวของท่านเองก็ควบคุมอารมณ์ของท่านไว้ไม่อยู่ ในตอนระยะหลัง ๆ เมื่อพระยาสรรค์มีชัยชนะแก่ท่านแล้ว เขาก็อาศัยกำลัง ระเบิดของความขมขื่นคั่งแค้นดังกล่าวนี้แหละเป็นเครื่องรักษาอำนาจของเขา แต่กำลังเช่นนี้เป็นกำลังซึ่งมีอันตราย (น. ๗๙)


๒.๒ สิงห์ขามพูดวิจารณ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีว่าให้อำนาจแก่คนเลวกระทำการในเรื่องที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน

…แต่กล่าวอย่างสรุปก็คือพรรคพวกและบริวารของไอ้ขุนจิตรจูลกับไอ้ขุนประมูลราชทรัพย์ หรือไอ้พันสีไอ้พันลาคนโปรดของท่านนั่นแหละ มันทั้งสองเป็นคนคอยใส่โทษคนอื่นว่ากระทำผิด แล้วในอีกทางหนึ่งหลังฉากก็ตัวและพวกของมันนี่เองที่กระทำผิดได้อย่างเปิดเผย ท่านให้อำนาจแก่มันและในระบอบนี้อำนาจของท่านเป็นกฎหมายสูงสุด แต่ตามความเป็นจริงแล้ว การใช้อำนาจที่ผิดพลาดและชั่วช้าเช่นนั้น ได้ทำให้ราษฎรสามัญเดือดร้อนไปทุกหัวระแหงราวกับนั่งกันอยู่บนกองเพลิง… (น. ๙๗–๙๘)


๒.๓ สิงห์ขามพูดเพื่อชี้ให้เห็นวิธีคิดที่ผิดพลาดเพราะตั้งอยู่บนฐานของจิตนิยม ลุ่มหลงในเรื่องของพลังจิตและไสยศาสตร์ จนกลายเป็นความโง่เขลาเบาปัญญา

แต่มันก็ทุเรศอย่างยิ่ง, ม็อง เยเนราล ท่านมัวแต่กราบไหว้เทพดาฟ้าดินซึ่งว่างเปล่า ไม่มีตัวตนจริงจัง จนลืมกฎของความจริงและลืมหลักของการพิจารณาอย่างสามัญ ท่านมัวแต่หลงไหลงมงายอยู่กับข้อคิดเรื่องอำนาจจิตและพลังจิต จนลืมว่ามนุษย์เราย่อมประกอบไปด้วยธาตุและส่วนของอวัยวะเหมือน ๆ กัน ท่านไม่รู้หรอกว่าประชาราษฎรสามัญได้เกิดสำนึกอันเต็มไปด้วยความสลดใจเพียงใด

สงฆ์ซึ่งชนะแก่นาฬิกาทนดำน้ำได้ในครั้งกระนั้น มีอยู่ไม่น้อยที่ชาวบ้านเขารู้กันเงียบ ๆ ว่ามีพฤติการณ์อันเหลวแหลกจริง ๆ ท่านเองได้บวชเรียนมาในบวรพุทธศาสนาเป็นศิษย์ของสมณโคดม แต่กลับเอาวิธีเขลา ๆ ทางไสยของพราหมณ์เข้ามาใช้… และทั้งก็ได้ใช้อยู่เรื่อยมาตลอดเวลา (น.๙๖–๙๗)


๒.๔ หินขาบพูดเพื่อชี้ความบกพร่องของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในเรื่องความคิดความเชื่อทางพุทธศาสนา แต่ว่าท่านได้ร่ำเรียนและฝึกฝนตนเองมาแล้ว ม็อง เยเนราล เราทราบดีว่าในยุคหลัง ๆ นี้ ท่านคร่ำเคร่งในศาสนาอย่างยิ่ง แต่ท่านบังเอิญลุ่มหลงไปเสียในวิปัสสนาธุระกรรมฐาน ท่านมองข้ามข้อธรรมะอันวิเศษสำหรับชีวิตแห่งโลกไปเสียไกล (น.๖๕)


๒.๕ สีเหล็กวิพากษ์วิจารณ์ความคิดที่ไม่มีเหตุผลของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

อนิจจา สีเหล็กในที่สุด…
พระก็ได้มาช่วยข้าในวาระสุดท้ายอันทุเรศนี้!!!

ยังจะคิดว่าพระที่ไหนจะช่วยท่านอยู่อีกหรือ, ม็อง เยเรนาล? เพื่อนเก่าแก่ที่รักน้ำใจของท่านมาแต่หนหลังสี่คนนี้มิใช่พระเพราะอะไรอย่างท่านว่านั่นหรอก… เพื่อนที่เป็นมนุษย์แท้ ๆ นี่แหละเสี่ยงชีวิตเข้ามาช่วยท่านวันนี้! ท่านหลงลืมเรื่องกรรมเสียหมดแล้วหรือ?

เราปลงใจมาพบและมาช่วยท่าน ทั้งนี้ก็โดยกรรมต่าง ๆ ที่ท่านได้กระทำไว้ในอดีต น กมมุนา กิญจน โมฆมตถิ ท่านจำพุทธวจนะนี้ได้ไหม ม็อง เยเรนาล?…อะไร ๆ ที่ทำไว้แล้วซึ่งจะไร้ผลเป็นไม่มี! (น. ๔๔)


๒.๖ สิงห์ขามพูดเพื่อชี้ให้เห็นว่าเรื่องผู้หญิงนั้นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีรักษาราชบัลลังก์เอาไว้ไม่ได้

นั่นก็เป็นเหตุเพราะอารมณ์อันร้อนแรงด้วยหึงสาพยาบาทอย่างหนักของขุนศึกเช่นท่าน และเป็นความเหี้ยมโหดที่สุดครั้งหนึ่งในยุคของท่านด้วย ท่านเป็นคนอ่อนแอเรื่องผู้หญิงอย่างยิ่ง…

มันเป็นฟางเส้นหนึ่ง ม็อง เยเนราล กษัตริย์ผู้ใช้อำนาจตามอารมณ์และบ้าผู้หญิงนั้นไม่เคยปรากฎว่าจะรักษาบัลลังก์ของตนไว้ได้นานนักในหลายประเทศก็ได้มีปรากฎการณ์มาแล้วอย่างที่ว่านี้ (น.๙๖)



๓. การสดุดีประชาชนคนสามัญ

ชี้ให้เห็นว่าประชาชนธรรมดาผู้ไม่มียศถาบรรดาศักดิ์นั้น มีความสำคัญต่อประเทศชาติและเป็นผู้อยู่เหนือเงื่อนไขอย่างแท้จริง เพราะเป็นผู้ที่ทำประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างเงียบ ๆ ไม่เอารัดเอาเปรียบใคร ไม่หวังยศถาบรรดาศักดิ์

เมื่อยามศึกสงครามก็ช่วยเหลือชาติ เมื่อเสร็จศึกก็ไปปลูกข้าว ทำเกลือ ประชาชนเป็นผู้ที่รักสันติ ไม่ต้องการทำสงครามรุกรานผู้อื่น แต่ประชาชนเหล่านี้กลับเป็นผู้ที่ชนชั้นปกครองไม่เคยให้ความสำคัญเลย ตัวอย่างเช่น


๓.๑ สิงห์ขามพูดเพื่อชี้ให้เห็นลักษณะอันเป็นธรรมชาติของประชาชน ได้แก่ ความสมถะและความสามัญธรรมดา

พวกเราทั้งสี่คนก็เหมือน ๆ อย่างประชาราษฎรธรรมดาสามัญทั้งหลายทั่วไปที่ว่า เราไม่อยากและไม่ต้องการลำเลิกบุญคุณแก่ใครไม่อยากและไม่ต้องการโอ้อวดความดีวิเศษของตัว แต่ที่จำเป็นจะต้องกล่าวอันใดออกไปบ้างเป็นบางส่วน ก็เพื่อที่จะให้ท่านมีความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ และเหตุการณ์ต่าง ๆ ติดต่อกันได้พอสมควร (น. ๔๙)


๓.๒ ปางทรายกล่าวถึงประชาชนว่าเป็นผู้สร้างประโยชน์อย่างใหญ่หลวงให้แก่บ้านเมือง ทั้งในยามบ้านเมืองเป็นปกติและยามศึกสงคราม

เราได้บอกท่านมาแต่ต้นแล้วว่า เราเป็นส่วนหนึ่งหรือกระพี้หนึ่งของประชาราษฎรสามัญ เสร็จภารกิจในงานช่วยชาติยามศึกแล้วเราก็ไปทำงานของเราอันส่งประโยชน์ให้แก่คนทั้งชาติ…ทำเกลือบ้างปลูกข้าวบ้างหรือบางทีก็ทำป่าไม้ร่วมกับคนทั้งหลาย

เราเป็นฝ่ายสร้างประโยชน์โภชน์ผล มิใช่พวกแย่งประโยชน์ที่หากินอยู่บนหัวของคนอื่น เราไม่ได้เป็นเจ้า เราไม่ได้เป็นขุนนาง เราไม่ได้เป็นขุนศึก เราไม่ได้สะสมกำลัง เราเป็นเพียงแต่หน่วยนิดหนึ่งของกำลังขุนศึก เขากะเกณฑ์ระดม เราได้แต่รู้และเห็น และก็ได้แต่เวทนา! (น.๘๒)


๓.๓ หินขาบกล่าวย้ำให้เห็นว่าประชาชนเป็นผู้ทำประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน และเป็นผู้ที่ผู้มีอำนาจไม่เคยนึกถึง

แต่ทว่าเมื่อท่านเป็นใหญ่ เป็นคนมีอำนาจวาสนา เป็นกษัตริย์มีความสุขสบาย ท่านจะต้องไม่พบคนอย่างเราหรือพวกเราโดยเด็ดขาด, ม็อง เยเนราล พวกเราทั้งสี่คนได้ให้คำสัตย์กันไว้ว่าเราจะทำแต่งานโดยไม่เรียกร้องกอบโกบลาภผลในภายหลัง คำสัตย์อันนี้เป็นลักษณะที่สะท้อนออกมาจากนิสัยทั่วไปของประชาชนส่วนใหญ่

…ประชาชนซึ่งเป็นธรรมดาสามัญ และเป็นกำลังสำคัญมหึมาให้แก่นักแสวงโชคมาแล้วเป็นอันมากแต่ก็ไม่มีใครเขาจะค่อยนึกถึง ภายหลังจากวาระที่เขาเหล่านั้นได้ปีนไหล่เหยียบหัวขึ้นไปสู่สิ่งที่เขานับถือว่าเป็นวิมานกันแล้วนั่นแหละ(น. ๓๔)


๓.๔ ปางทรายแสดงทรรศนะของประชาชนต่อสันติภาพ โดยกล่าวว่าประชาชนเป็นผู้รักสันติภาพ ทว่ายินดีที่จะทำศึกสงครามหากเป็นการสู้รบเพื่อป้องกันบ้านเมือง และจะคัดค้านสงครามที่ไม่เป็นธรรม คือสงครามรุกรานบ้านเมืองอื่นหรือสงครามเพื่อครองความเป็นเจ้า

…พวกเราทั้งสี่คนมักจะออกไปในการศึกด้วยทุก ๆ ครั้งในสมัยของท่าน… ถ้าแม้ว่าการศึกนั้นเป็นการศึกเพื่อป้องกันชาติของเรา แต่เราจะไม่สนใจเลยถ้าหากว่าศึกที่ท่านไปกระทำเป็นการศึกเพื่อย่ำยีคนชาติอื่นเขาโดยเปล่า ๆ ปลี้ ๆ หรือการศึกซึ่งทำขึ้นโดยความรู้สึกฝ่ายต่ำที่ผลักใสท่านให้ลงมือกระทำไปด้วยคิดเสียว่าจะแสดงอำนาจ…

จะแสดงอำนาจบาตรใหญ่อย่างเดียวล้วน ๆ อยากจะเป็นเจ้าโลก! พวกเรารักตัวของเรา รักชาติของเรา และรักท่าน แต่เราเกลียดชังการรังแกคนอื่นเบียดเบียนคนอื่น อันดูเสมือนหนึ่งจะเหยียบหัวซากศพคนอื่น ๆ เพื่อไปหาพระเจ้าไปพบพระอิศวร หรือไม่ก็เพื่อจะเป็นพระอิศวรอะไรบ้า ๆ อันเหลวไหลนั่นเสียเอง (น. ๘๒)

บทสนทนาระหว่างสิงห์ขาม หินขาบ ปางทรายและสีเหล็กกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนี้คือคำสอนที่สามัญชนสอนพระราชา เพื่อให้พระราชาได้มองเห็นความจริงในแง่มุมที่กลับตาลปัตรผกผันกับสิ่งที่เคยเชื่อถือและปฎิบัติคำสอนดังกล่าเป็นเรื่องยากสำหรับพระราชาที่อยู่ในอำนาจจะยอมรับได้ เพราะหมายถึงการยอมรับการไม่มีอำนาจนั่นเอง



วรรณกรรมคำสอนพระราชานอกกระแสจารีต

คำสอนในนวนิยายเรื่องผู้อยู่เหนือเงื่อนไข? นั้นจึงเป็นคำสอนที่แตกต่างกับคำสอนพระราชาที่ปรากฎในวรรณกรรมคำสอนพระราชาทั้งปวงที่เคยมีมาเพราะมุ่งสอนเรื่องอำนาจแลการหมดอำนาจ มิได้สอนเรื่องทศพิธราชธรรมหรือจักรวรรดิวัตรตามแบบฉบับของวรรณกรรมคำสอนพระราชาในอดีต อีกทั้งรูปแบบของวรรณกรรม ที่มาของเรื่อง จุดมุ่งหมายในการสอน และวิธีสอนก็แตกต่างกัน

ในด้านรูปแบบ จะเห็นได้ว่าผู้อยู่เหนือเงื่อนไข? เป็นวรรณกรรมคำสอนพระราชาที่อยู่ในรูปแบบนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ การใช้รูปแบบวรรณกรรมประเภทนี้ในการนำเสนอคำสอนพระราชาเพิ่งจะปรากฎเป็นครั้งแรก เพราะที่ผ่านมานั้นวรรณกรรมคำสอนพระราชาส่วนใหญ่จะแต่งด้วยโคลงสี่สุภาพ ฉันท์หรือกาพย์ หรือไม่ก็เป็นร้อยแก้วประเภทนิทาน

ในด้านที่มาของเรื่องไม่ได้มีที่มาจากคัมภีร์พุทธหรือพราหมณ์ แต่เป็นวรรณกรรมที่แต่งขึ้นมาโดยอิงปับบริบททางประวัติศาสตร์สมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตัวละครบางตัวมีตัวตนจริงตามประวัติศาสตร์ แต่บางตัวก็จินตนาการขึ้นมาใหม่ ด้านจุดมุ่งหมายของการสอน ก็ไม่ได้มุ่งให้ไปทำหน้าที่พระราชาที่ดีในการปกครองบ้านเมือง

แต่มุ่งสอนให้เห็นความจริงของอำนาจว่าเป็นสิ่งทำให้คนเราสำคัญตัวผิด คิดว่าตนเองยิ่งใหญ่เหนือผู้อื่น ซึ่งทำให้ง่ายต่อการทำสิ่งผิดพลาดเพราะปราศจากผู้ทัดทานอกจากนั้นอำนาจยังเป็นสิ่งที่ไม่เข้าใครออกใคร คนที่เคยเป็นเพื่อนที่รักใคร่กันหรือเป็นบ่าวไพร่ใต้บังคับบัญชาของผู้ปกครองก็อาจร่วมกันวางแผนช่วงชิงอำนาจกำจัดผู้ปกครองคนเดิม และสถาปนาตนเองเป็นพระราชาองค์ใหม่

ส่วนด้านวิธีสอน เป็นการสอนแบบวิพากษ์ ชี้ให้เห็นความผิดพลาดของพระราชาที่ผ่านมา โดยมีรูปธรรมรองรับคือการสูญสิ้นอำนาจของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ไม่ได้ให้บุคคลสูงส่ง หรือนักปราชญ์เป็นผู้สอน แต่ให้ไพร่ฟ้าประชาชนเป็นผู้สอน

ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข? ของสุภา ศิริมานนท์ จึงเป็นวรรณกรรมคำสอนพระราชาที่อยู่นอกกระแสจารีต มุ่งชี้ให้เห็นความบกพร่องของชนชั้นปกครองและทำให้เห็นจริง ด้วยการอาศัยบริบททางประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทยแนวคิดที่สุภา ศิริมานนท์นำมาวิพากษ์ชนชั้นปกครองนั้นกล่าวโดยสรุปก็คือแนวคิดสังคมนิยม ซึ่งเป็นแนวคิดที่ถือประชาชนเป็นใหญ่

ต่อต้านระบบชนชั้น การกดขี่ขูดรีดและการใช้อำนาจโดยอำเภอใจของคนเพียงส่วนน้อย ชะตากรรมของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในเรื่องผู้อยู่เหนือเงื่อนไข? เป็นตัวอย่างของคนผู้เคยมีอำนาจ ดำรงพระยศเป็นพระราชาปกครองแว่นแคว้น มีเกียรติประวัติสูงเด่น เป็นวีรบุรุษผู้กอบกู้เอกราชของชาติไทย แต่บทสุดท้ายพระองค์กลับกลายเป็นอาชญากรแผ่นดินหลบหนีการตามล่าของกลุ่มอำนาจใหม่

ใครถูกใครผิดคงไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่ผู้แต่งต้องการนำเสนอ แต่สิ่งที่ผู้แต่งต้องการเน้นย้ำก็คือ ต้องการชี้ให้เห็นความผิดพลาดของชนชั้นปกครองในระบบเดิม ทั้งในแง่ตัวระบบและแง่พฤติกรรมของชนชั้นปกครองซึ่งเป็นจักรกลของตัวระบบ อีกทั้งต้องการสดุดีความยิ่งใหญ่ของไพร่ฟ้าประชาชน

คำว่า “ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข” ที่เป็นชื่อเรื่องนั้น สุภา ศิริมานนท์ต้องการหมายถึงประชาชนผู้ซึ่งยืนหยัดอยู่กับความดีงาม ถูกต้องเป็นธรรม แม้อำนาจ ทรัพย์สินเงินทองและยศถาบรรดาศักดิ์มากมายเพียงใด ก็ไม่อาจโน้มน้าวใจของคนเหล่านี้ให้เปลี่ยนแปลงหลักการดังกล่าวได้ และที่สำคัญประชาชนเหล่านี้คือกำลังหลักที่ทำให้บ้านเมืองคงอยู่มาทุกยุคทุกสมัย แต่ก็ไม่เคยมีผู้ใดกล่าวขวัญถึงเลย


บทสรุป

สุภา ศิริมานนท์เขียนผู้อยู่เหนือเงื่อนไข?เพื่อเสนอมุมมองต่อชนชั้นปกครอง โดยเฉพาะพระราชาด้วยทรรศนะที่ต่างออกไปจากที่ปรากฎในวรรณกรรมไทยยุคก่อนหน้า หากใช้เกณฑ์ทางวรรณกรรมศิลป์เป็นเครื่องวัด นวนิยายเรื่องนี้อาจไม่ใช่นวนิยายดีเด่นนัก

เพราะนำเสนอความคิดโดยผ่านบทสนทนาตลอดเรื่องแต่หากใช้ความแหลมคมทางความคิดเป็นมาตรฐานในการประเมินค่า ก็จัดได้ว่า สุภา ศิริมานนท์เป็นผู้ที่กล้าท้าทายความคิดกระแสหลักที่ฝังรากลึกในสังคมไทยและถึงแม้ว่านวนิยายเรื่องนี้จะเขียนมาเป็นเวลาเกือบครึ่งศตวรรษ สัจธรรมเรื่องอำนาจก็คงเป็นความจริงตลอดมา

และคงเป็นเรื่องที่ยากที่จะให้ผู้ปกครองที่อยู่ในอำนาจหันมาสนใจความจริงข้อนี้ คงจะต้องรอคอยจนกว่าผู้ปกครองนั้นจะตกอยู่ในสภาพเดียวกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในนวนิยายเรื่อง ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข? จึงจะตระหนักถึงความจริงดังกล่าว แต่เมื่อถึงเวลานั้นก็สายเกินกว่าจะแก้ไขเสียแล้ว

เป็นนวนิยายที่เขียนขึ้นโดยได้เค้าเรื่องจากบันทึกประวัติศาสตร์ชิ้นหนึ่งสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เกี่ยวกับการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่น้อยคนจะได้อ่าน แต่ สุภา ศิริมานนท์ นักคิด นักเขียน และนักหนังสือพิมพ์คนสำคัญของไทย คือบุคคลหนึ่งได้อ่านและถ่ายทอดเรื่องราวผ่านนวนิยายเรื่องแรกและเรื่องเดียวในชีวิต



เชิงอรรถอธิบาย

๑. ราโชวาทชาดกอยู่ในอรรถกถาชาดกทุกนิบาต อรรถกถา ทัฬหวรรคที่ ๑ เนื้อเรื่องมีอยู่ว่า พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพระเจ้าพรหมทัต และเทศนาสั่งสอนพระเจ้าพัลลึก ให้ชนะผู้ที่โกรธด้วยการไม่โกรธตอบ ชนะผู้ที่ไม่ดีด้วยความดี ชนะผู้ตระหนี่ด้วยทาน ชนะผู้ที่พูดพล่อยด้วยความจริง

๒. เตสกุณชาดก อยู่ในอรรถกถาชาดก จัตตาฬินิบาต พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นนกแขกเต้าชื่อชัมพุกะมีฐานเป็นโอรสเลี้ยงของพระเจ้าพรหมทัต และเป็นผู้สั่งสอนพระเจ้าพรหมทัตให้รู้จักธรรมะของพระราชา

๓. ผู้แปล คือ คารม ซึ่งเป็นนามปากการ่วมของเสฐียรโกเศศและนาคะประทีป แปลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ เป็นเรื่องของมหาบัณฑิตที่ชื่อวิษณุวรมัน อาสาพระราชาสุทรรศน์ กษัตริย์ครองเมืองปาฎิลีบุตร เพื่อสอนพระโอรสของพระองค์ให้เปลี่ยนแปลงเป็นผู้ใฝ่ศึกษาหาความรู้ และประพฤติดีประพฤติชอบ วิษณุวรมันเล่านิทานหลัก ๔ เรื่อง ว่าด้วยการผูกมิตร การแตกมิตร สงครามและความสงบ นิทานหลักแต่ละตอนประกอบด้วยนิทานซ้อนอีกหลายเรื่อง เมื่อเล่าจบทั้ง ๔ ตอน บรรดาโอรสทั้งหลายก็ได้เรียนรู้นิติศาสตร์จนหมดสิ้นสมดังที่พระราชาสุทรรศน์ตั้งความหวังไว้

๔. ราชนิติ เป็นวรรณกรรมประเภทสุภาษิต มีทั้งพากย์บาลี สันสกฤต พากย์ไทยที่แปลมาจากภาษาบาลีเชื่อว่าเป็นคัมภีร์โบราณ เขียนขึ้นโดยพราหมณ์ ๒ คน คือ อนันตญาณและพราหมณ์คณามิสกะ แปลเป็นครั้งแรกชื่อว่าราชนิติศาสตร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้พระมหาแก้ว วัดราชบุรณะ แปลเพียง ๕๘ คาถา จาก ๒๔๖ คาถา ต่อมาหอสมุดได้ต้นฉบับมาจากเมืองพม่าจนจบถึงให้พระญาณวิจิตร (สิทธิ์ โลจนานนท์) เปรียญ แปลต่อจากที่พระมหาแก้วแปลไว้จนจบ และในปี ๒๔๗๐ มหากิม หงส์ลดารมณ์ ได้แปลจากบาลีเป็นไทยอีกฉบับหนึ่ง ให้ชื่อว่าราชนิติปกรณ์ และมหาเกษม บุญศรีเป็นผู้ชำระฉบับแปลของมหากิมเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น

พากย์ไทยที่แปลมาจากสันสกฤต แปลมาจากราชนิติของจายักณะ มีชื่อเรียกในภาษาสันสกฤตว่าจายักณะคตกะ หรือคำประพันธ์ ๑๐๐ บทของจากยักณะ ผู้แปลคนแรกคือมหากิม หงส์ลดารมณ์ พบต้นฉบับที่วัดราชบูรณะ โดยคัดจากฉบับอักษรพม่าที่ท่านเยมส์เกรย์รวบรวมลงพิมพ์ที่เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า เมื่อ ค.ศ. ๑๘๘๔ เมื่อคัดเป็นอักษรไทยแล้วก็แปลขึ้นเป็นภาษาไทยมหาแสง มนวิทูร ได้สอบทานกับฉบับเทวนาตรี ของท่านกุลปติ ศรีชีวานันทวิทยาสาครภัฎฎาจารย์และช่วยแก้ไขคำแปลให้ด้วย (เกษม ๒๕๑๕ : ไม่มีเลขหน้า)

ราชนิติพากย์ไทยที่แปลมาจากสันสกฤตอีกสำนวนหนึ่งคือ ราชนิติฉบับแปลของราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งเลือกจาณักยะฉบับลุดวิค เสติร์นบาค (Ludwik Stermbach) เป็นบรรณาธิการ (ราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๓๕ )

๕.โคลงทศรถสอนพระรามเป็นวรรณกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยาแต่งด้วยโคลงสี่สุภาพจำนวน ๑๒ บท ใช้เนื้อเรื่องจากเรื่องรามเกียรติ์ตอนที่ท้าวทศรถมอบเมืองอโยธยาให้พระรามปกครอง จึงเรียกพระรามมาสั่งสอนเกี่ยวกับหลักกการปกครองบ้านเมือง

๖. พระโพธิสัตว์โกสามภิณ แต่งด้วยยานี ๑๑ จำนวน ๑๓๖ บท เป็นเรื่องของพระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นกษัตริย์ครองเมืองโกสามภิณ เป็นกษัตริย์ที่โง่เขลาเบาปัญญาไม่มีความรู้ความสามารถในการปกครองประเทศ ถูกเสนาอำมาตย์ข้าราชบริพารเนรเทศออกมาอยู่ในป่าเพียงลำพัง และเทวดา ๘ องค์แปลงกายเป็นวานร ๘ ตัว สั่งสอนพระโพธิสัตว์จนเกิดปัญญาและกลับไปครองบ้านเมืองจนเป็นที่ยอมรับของเหล่าเสนาอำมาตย์ (สิริวรรณ ๒๕๔๒ : ๓)

๗. ฉันท์อัษฎาพานร แต่งด้วยอินทรวิเชียรฉันท์จำนวน ๑๒๒ บท ตอนท้ายจบด้วยโคลงกระทู้ ๑ บท เนื้อเรื่องคล้ายกับเรื่องพระโพธิสัตว์โกสามภิณ ตัวละครเอกของเรื่องคือพระทฤพราชถูกเนรเทศไปอยู่ป่าเพราะไม่มีความสามารถในการปกครองบ้านเมือง จนกระทั่งมีเทวดา ๘ องค์แปลงเป็นวานร ๘ ตัวมาสั่งสอน ทำให้พระทฤพราชเกิดปัญญา กลับไปครองบ้านเมืองและเป็นที่ยอมรับของอำมาตย์ข้าราชบริพาร (สิริวรรณ ๒๕๔๒ : ๔)

๘. วิทิตชาดกเดิมชื่อว่าราโชวาทชาดก มีผู้กล่าวว่าเป็นวรรณกรรมสมัยอยุธยา เป็นชาดกนอกนิบาต และไม่ปรากฎในปัญญาสชาดก เนื้อเรื่องกล่าวถึงพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระวิทิตยกุมาร ไปเรียนศิลป์ศาสตร์จากสำนักตักศิลา เมื่อเรียนสำเร็จกลับคืนสู่พระนคร พระบิดาเสด็จสวรรคตเสนาอำมาตย์จึงกราบทูลให้ครองบ้านเมือง แต่พระวิทิตยกุมารมีพระประสงค์จะออกบรรพชาและขอให้พระอนุชาต่างมารดาคือพระสุทัศนกุมารขึ้นครองราชย์แทน และก่อนที่จะเป็นพระราชาพระวิทิตยกุมารได้ตรัสสั่งสอนคุณธรรม ๓๘ ประการ ที่พระราชาพึงมีในการปกครองบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุข (สิริวรรณ ๒๕๔๒ : ๑-๒)

๙. พระราชาเป็นผู้สอนได้แก่ โคลงทศรถสอนพระราม วิทิตชาดก ราโชวาทชาดก นักปราชญ์เป็นผู้สอน ได้แก่ ราชนิติ เทวดาเป็นผู้สอนได้แก่ พระโพธิสัตว์โกสามภิณ ฉันท์อัษฎาพานรพระโพธิสัตว์เป็นผู้สอน ได้แก่ เตสกุณชาดก

๑๐. ได้แก่ หิโตปเทศ

๑๑. อ่านเพิ่มเติมใน สุธาชัย ๒๕๔๓

๑๒. สุภา ศิริมานนท์ มีผลงานนวนิยายอีกเรื่องหนึ่งคือนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่อง เจ็งกิ๊สข่าน เคยตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ในหนังสือพิมพ์รายวันไทยใหม่ ระหว่างเดือนมกราคม ๒๔๙๘– มกราคม ๒๔๙๙ พิมพ์รวมเล่มครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๓๑

๑๓. เป็นคำสรรพนามที่สิงห์ขาม หินขาบ ปางทรายและสีเหล็ก ใช้เรียกขานสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทั้งนี้เพราะไม่ต้องการใช้ราชาศัพท์ซึ่งแสดงให้เห็นผู้ใช้ต่ำต้อยประดุจสัตว์เลื้อยคลาน “…เรารู้สึกว่าชื่อที่เราเรียกนี้มีศักดิ์ศรีดีกว่า …เราเกลียดคำยกย่องแบบที่ทำให้คนเป็นเทวดา แล้วเราผู้พูดเองจะต้องกลายเป็นประดุจทาสหรือสัตว์เลื้อยคลานอยู่ใต้ดิน เราพูดสิ่งที่เรียกว่าราชาศัพท์ไม่เป็น” (สุภา ๒๕๔๕ : ๓๒)


บรรณณานุกรม

เกษม บุญศรี. ๒๕๑๕. คำชี้แจง. ใน ราชนิติพากย์บาลี พากย์สันสกฤตและพากย์ไทย. งานพระราชทานเพลิงศพหลวงเวชชสารบริรักษ์, ณ เมรุวัดโสมนัสวิหาร, ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๕.

ณัฎฐ์พร บุนนาค. ๒๕๔๕. สถานะทางประวัติศาสตร์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พ.ศ. ๒๓๑๐–๒๔๙๗. วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์,ภาควิชาประวัติศาสตร์,จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

บุญเตือน ศรีวรพจน์, ผู้ชำระต้นฉบับ. ๒๕๔๕. อภินิหารบรรพบุรุษและปฐมวงศ์. กรุงเทพฯ:มติชน

ปรีชา ช้างขวัญยืน. ๒๕๔๒. ธรรมรัฐ-ธรรมราชา. กรุงเทพฯ: โครงการตำราคณะอักษรศาสตร์.

พรกฤษณ์ ช่วงแสงอุทัย. ๒๕๒๗. การศึกษาเชิงวิเคราะห์คำสอนในหิโตปเทศ. วิทยานิพนธ์อักษร ศาสตรมหาบัณฑิต. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

พระคัมภีร์ชาดกแปลฉบับส.อ.ส. เล่ม ๔ อรรถกถา เอกนิบาต-ทุกนิบาต ภาค ๒–๓ ๒๕๓๙. พิมพ์ โดยเสด็จพระราชกุศล ในงานออกเมรุพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้นชุตินธรมหาเถระ ป.ธ.๙). วันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๙.

พระคัมภร์ชาดกแปลฉบับส.อ.ส. เล่ม ๑๔ อรรถกถา ตึสติ-จัตตาฬีสนิบาต ภาค ๗ ๒๕๓๙. พิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศล ในงานออกเมรุพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระราชกุศลในงานออกเมรุพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้นชุตินธรมหาเถระ ป.ธ.๙). วันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๙.

พระมหาแก้ว, และพระญาณวิจิตร. ๒๕๒๘. ราชนิติศาสตร์. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานทำบุญอายุ ครบรอบ ๖๐ พระเทพวิสุทธิโมลี (ช้อย มหาธีโร ป.ธ.๙) , ณ วัดมหาธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี, วันที่ ๒๐–๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๘.

พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๒. ๒๕๓๕. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.

ราชบัณฑิตยสถาน. ๒๕๓๗. ราชนิติ-ธรรมนีติ. [ราชบัณฑิตยสถานจัดทำเพื่อทูลเกล้าฯถวายเนื่อง ในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ, ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓]. กรุงเทพฯ: ราบัณฑิตยสถาน.

วิจิตรวาทการ,หลวง. ๒๕๔๔. ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน. กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์บุ๊คส์.

สิริวรรณ วงษ์ทัต. ๒๕๔๒. วรรณกรรมคำสอนสำหรับกษัตริย์. ใน เอกสารประกอบการประชุมเชิงวิชาการ ภูมิปัญญาของคนไทยศึกษาจากวรรณกรรมคำสอน, ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย-เมธีวิจัยอาวุโส สกว., วันที่ ๒๕–๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๒.

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. ๒๕๔๓. นักคิดสังคมนิยมไทยกลุ่มอักษรสาส์น. ใน เอกสารประกอบการ สัมมนาทางวิชาการ วิถีนักคิด/ปัญญาชนไทย-เทศ:อดีต ปัจจุบัน อนาคต, จัดโดยศูนย์มนุษยศาสตร์เพื่อสังคม คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, วันที่ ๑๐–๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๓.

สุภา ศิริมานนท์. ๒๕๔๕. ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข?. กรุงเทพฯ: มูลนิธิเด็ก.


คัดลอกจาก :ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข?” ของสุภา ศิริมานนท์ :
วรรณกรรมคำสอนพระราชานอกกระแสจารีต :

บาหยัน อิ่มสำราญ :
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย
คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร :

วาสารอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร :
ปีที่ 26 ฉบับที่ 2 ธันวาคม 2546 - พฤษภาคม 2547


โดย : ขุนนางอยุธยา

ที่มา : http://www.thaimisc.com/freewebboard/php/vreply.php?user=shalawan&topic=1476&page=4

ไม่มีความคิดเห็น: