ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือพระเจ้าอยู่หัวองค์ที่ ๒ สมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นเรื่องที่คนรู้น้อย และยังเป็นเรื่องที่สับสนอยู่มาก จึงเป็นข้อมูลที่หาอ่านยาก ถึงจะมีรายงานเข้ามาบ้างนานๆ ครั้งแต่ก็ไม่สม่ำเสมอ ทั้งนี้เนื่องจากรายละเอียดของพระองค์มีผู้ยืนยันไว้น้อย และพระองค์ก็มิใช่นักเขียนประวัติศาสตร์ เอกสารเก่าร่วมสมัยทุกชนิดที่พบ จึงมีความสำคัญที่สามารถให้ความกระจ่างในระดับหนึ่ง ทำให้เราเข้าใจเหตุการณ์ในพงศาวดารดีขึ้น นี่ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่หลักฐานบางอย่างเกี่ยวกับพระองค์ได้รับการบันทึกไว้โดยผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ในสมัยนั้นและเพิ่งจะถูกค้นพบเมื่อไม่นานมานี้
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายสาเหตุของการแต่งตั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (ต่อไปจะเรียกสั้นๆ ว่าพระปิ่นเกล้าฯ-ผู้เขียน) ขึ้นเป็นพระเจ้าอยู่หัวองค์ที่ ๒ ปรากฏอยู่ในหนังสือนิทานโบราณคดี เรื่องเมืองไทยมีพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์ ว่าเป็นเพราะเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์มีดวงพระชาตาแรง ถึงขนาดจะต้องได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ดังนั้นเมื่อขุนนางชั้นผู้ใหญ่ในตระกูลบุนนาคอัญเชิญเจ้าฟ้ามงกุฎขึ้นเป็นกษัตริย์ หากทรงรับเพียงพระองค์เดียวก็จะเกิดอัปมงคลขึ้น ด้วยกีดกันบารมีพระราชอนุชา จึงทรงสถาปนาเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ที่ ๒ พร้อมกับพระองค์ด้วย(๑)
คำชี้แจงนี้เปิดเผยขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ เมื่อข้อมูลถูกเผยแพร่ในหนังสือเล่มดังกล่าว หรือภายหลังพระปิ่นเกล้าฯ สวรรคตแล้วถึง ๗๖ ปี หลังจากที่ไม่มีผู้ใดติดใจตรวจความชัดเจน จึงเป็นที่ยอมรับกันโดยไม่มีใครคัดค้านว่าพระปิ่นเกล้าฯ มีดวงพระชาตาแรง นี่คือเหตุผลที่ทราบกันในหมู่คนไทยทั่วไป แต่สำหรับชาวต่างประเทศแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับไม่ทรงใช้เหตุผลทางโหราศาสตร์ ในทางตรงกันข้ามทรงอ้างถึงความเหมาะสมอื่นๆ ดังเช่นในพระราชสาส์นถึงประธานาธิบดีเจมส์ บูแคนัน (James Buchanan) แห่งสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. ๑๘๖๐ ทรงกล่าวว่า สมเด็จพระอนุชาธิราชนั้น ทรงพระปรีชารอบรู้การในพระนครและการต่างประเทศเป็นอันมาก สมควรจะได้มีโอกาสช่วยราชการแผ่นดิน ประคับประคองประเทศชาติให้มีความมั่นคงพัฒนาถาวร คล้ายกับการที่อเมริกามีประธานาธิบดีพร้อมกัน ๒ คนนั่นเอง จึงเป็นเรื่องน่าคิดอยู่ ทว่าความไม่ชัดเจนดังกล่าวได้ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมทางการเมือง ซึ่งมีผลกระทบต่อสถาบันผู้นำของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงลำบาก
ต่อมาอีกครึ่งศตวรรษ ในเมืองไทยเริ่มมีผู้ไม่เห็นด้วยกับพระราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เกี่ยวกับดวงพระชาตาของสมเด็จพระอนุชาธิราช เพราะเมื่อพิจารณาตามหลักโหราศาสตร์อย่างละเอียด ก็ไม่พบว่าดวงพระชาตาของพระปิ่นเกล้าฯ จะมีอิทธิพลเหนือกว่า หรือแม้แต่จะเสมอกันกับดวงพระชาตาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ แต่อย่างใด นักวิชาการไทยบางท่านให้เหตุผลเป็นอย่างอื่นว่า การที่ทรงยกย่องสมเด็จพระอนุชาธิราชขึ้นมามีพระราชอิสริยยศเท่าเทียมพระองค์นั้น ก็โดยลำเอียงว่าเป็นพระอนุชาร่วมพระครรโภทรเดียวกัน ทรงรักใคร่หวังจะทะนุบำรุงถึงขนาด มากกว่าจะทรงพิจารณาถึงดวงดาวว่าดีเด่นกว่าของพระองค์แต่ประการใด กรณีที่ทรงเบี่ยงเบนประเด็นว่าดวงพระชาตาของพระอนุชาแข็งกว่าพระองค์นั้น ก็คงจะเป็นข้ออ้างเสียมากกว่าอย่างอื่น ตามหลักโหราศาสตร์มีข้อยืนยันที่ฉกรรจ์อยู่ข้อหนึ่งคือ พระลัคนาของพระปิ่นเกล้าฯ สถิตอยู่ในตำแหน่งวินาศนะต่อพระลัคนาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ซ้ำดาวพระเคราะห์เด่นๆ ยังไปอยู่ในภพอริและวินาศนะของพระองค์เสียหมด เช่นนี้ย่อมเห็นได้ว่าพระองค์ไม่ได้ทรงเกรงอิทธิฤทธิ์ความแข็งในดวงพระชาตาของสมเด็จพระอนุชาธิราชเลยแม้แต่น้อย เพราะดวงพระชาตาของพระองค์ท่านข่มไว้หมดทุกประตูอยู่แล้ว(๕)
เมื่อประเด็นเรื่องดวงพระชาตาไม่ใช่ปัจจัยสำคัญอีกต่อไป ความเห็นอื่นๆ จึงเกิดขึ้นตามมา ในอีกทัศนะหนึ่งเกิดความเป็นไปได้สูงที่จะมีสาเหตุทางการเมืองพัวพันอยู่ด้วย เหตุผลนี้ดูเข้มข้นขึ้นเมื่อศึกษาความเป็นไปได้ เบื้องหลังการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เป็นเกณฑ์
การที่มีการเมืองเข้ามาแทรก เห็นได้เป็นเลาๆ ตั้งแต่เมื่อปลายรัชกาลที่ ๒ กล่าวคือ ในปี พ.ศ. ๒๓๖๗ ขณะที่สมเด็จพระบรมชนกนาถ (รัชกาลที่ ๒) สวรรคตนั้น พระราชโอรสองค์ใหญ่คือเจ้าฟ้ามงกุฎยังทรงครองสมณเพศเป็นวชิรญาณภิกขุ และถึงจะทรงทราบว่าพระองค์ทรงอยู่ในฐานะเป็นรัชทายาทตามกฎมณเฑียรบาลที่จะเสวยราชย์ต่อไป แต่ก็ทรงตัดสินพระทัยไม่ออกจากสมณเพศ เพราะทรงไม่มีอำนาจและบารมีทางราชการ เมื่อเทียบกับกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (รัชกาลที่ ๓) ซึ่งมีอำนาจราชศักดิ์อยู่ในขณะนั้น และกำลังได้รับการสนับสนุนจากขุนนางตระกูลบุนนาคอย่างเต็มกำลังให้สืบต่อแผ่นดิน เจ้าฟ้ามงกุฎจึงทรงเลือกที่จะผนวชอยู่ต่อไป เพื่อหลบลี้ภัยทางการเมืองด้วยความเต็มพระทัย ภาวะแห่งความละเอียดอ่อนได้ผ่อนคลายลงระดับหนึ่ง อย่างน้อยก็ทำให้บ้านเมืองสุขสงบได้เป็นเวลา ๑๐ กว่าปี
การที่วชิรญาณภิกขุทรงครองสมณเพศต่อไปนั้น เป็นเหตุให้พระองค์เป็นพระบรมวงศานุวงศ์เพียงพระองค์เดียวที่ทรงมิได้มีอำนาจทางการทหารหรือไพร่พลในความดูแลปกครอง และจะกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ผลักดันให้พระองค์ทรงเป็นทางเลือกใหม่เมื่อปลายรัชกาลที่ ๓ ที่ขุนนางตระกูลบุนนาคชุดเดิมจะเลือกสนับสนุนพระองค์ให้สืบราชสมบัติต่อไป เพราะสะดวกต่อการ "ควบคุม" และประสานผลประโยชน์สำหรับกลุ่มขุนนางมากกว่าเจ้านายองค์อื่นๆ ก็ยังเป็นกระแสทางการเมืองที่แวดล้อมพระองค์อยู่โดยตรง นอกจากวชิรญาณภิกขุจะทรงเป็นพระสงฆ์ผู้อ่อนแอและไม่มีอำนาจแต่อย่างใดที่จะยุ่งเกี่ยวหรือก้าวก่ายผลประโยชน์ต่างๆ และขัดบารมีกับกลุ่มขุนนางแล้ว พระองค์ยังทรงต้องรำลึกถึงบุญคุณของคนในตระกูลบุนนาคในอนาคตอีกด้วย(๒)
จากเหตุผลด้านการเมืองนี้ ทำให้เกิดความกดดันในการวางนโยบายของผู้นำประเทศ พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ทรงตระหนักถึงความจำเป็นในการสร้างฐานอำนาจของพระองค์เองไว้เช่นกัน บุคคลที่เหมาะสมที่สุดในเวลานั้น ไม่มีผู้ใดเด่นไปกว่าพระราชอนุชาองค์รอง คือกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ผู้ทรงมีพระกิตติศัพท์โด่งดังในตำแหน่งผู้คุมกำลังด้านกองทัพมาโดยตลอดรัชกาลที่ ๓ นอกจากจะทรงเคยเป็นแม่ทัพเรือยกไปปราบญวนแล้ว ยังทรงเป็นผู้บัญชาการทหารปืนใหญ่และกองทหารต่างด้าวอีกด้วย
พระเกียรติคุณของเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ นับได้ว่าเป็นที่เลื่องลือทั้งภายในและต่างประเทศ พระองค์ทรงได้ชื่อว่าเป็นเจ้านายชั้นสูงที่มีความปราดเปรื่องในวิชาการด้านตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ ความรู้ด้านช่าง ความรู้ด้านธรรมเนียมการทูต ความรู้ด้านระบบการเมืองการปกครองของต่างประเทศ ความรู้เกี่ยวกับการต่อเรือ และโดยเฉพาะความรู้ทางด้าน "การทหาร" ย่อมเป็นที่หวาดระแวงและหวั่นเกรงของกลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคอยู่ไม่น้อย
และเนื่องจากการเมืองในระยะนั้นมีลักษณะ "ไม่นิ่ง" โดยตลอด การสถาปนากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ขึ้นสู่ราชบัลลังก์เพราะทรงมีฐานกำลังพลที่น่าเกรงขาม อีกทั้งยังเป็นมิตรที่ดีกับชาวตะวันตก จึงเป็น "ข้ออ้าง" ทางการเมืองที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ นอกเหนือจากข้ออ้างด้านโหราศาสตร์ ก็เพื่อกลบเกลื่อนพระราชวินิจฉัยส่วนพระองค์ อันเป็นการรักษาดุลยภาพของราชบัลลังก์ หรือการ "แก้เกมส์" กับกลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาค และเพื่อหาทางบั่นทอนความแข็งแกร่งของผู้ที่ผูกขาดอำนาจ
ความเป็นไปในราชสำนักสยามภายหลังรัชกาลที่ ๔ เสด็จขึ้นครองราชย์ การสถาปนากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ และความตื่นตัวของกลุ่มขุนนางในสมัยนั้น มิได้รอดพ้นสายตาอันแหลมคมของชาวตะวันตกไปได้ ครั้งหนึ่งนายแฮรี่ ปาร์คส์ (Harry Parkes) กงสุลอังกฤษ ได้รับรายงานจากนายเบลล์ ผู้ช่วยกงสุล เกี่ยวกับการต่อต้านพระปิ่นเกล้าฯ แจ้งข่าวไปยังเอิร์ลแห่งคลาเรนดอน (Earl of Clarendon) รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษในลอนดอน ดังนี้
ลอนดอน
๑๐ กันยายน ๑๘๕๕
เรียน ฯพณฯ
ข้าพเจ้าได้รับแจ้งจากนายเบลล์ เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๑๘๕๕ [พ.ศ. ๒๓๙๘] เกี่ยวกับการถึงแก่พิราลัยของสมเด็จองค์ใหญ่ [หมายถึงสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์-ดิศ บุนนาค] ซึ่งขณะนี้เป็นทั้งพระกลาโหมและพระคลังนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งบางครั้งดูเหมือนจะมีอำนาจมากที่สุดในบรรดาเสนาบดีทั้งประเทศ สมเด็จทั้งสององค์ได้ช่วยกันรักษาการสืบสันตติวงศ์ของพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน ซึ่งเป็นการขัดพระราชประสงค์ของพระเจ้าอยู่หัวองค์ก่อน และไม่รีรอที่จะสร้างอำนาจและอิทธิพลให้แก่ตนเอง ให้เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไป ด้วยการส่งเสริมให้ตนเองมีอำนาจยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ผู้ที่มีความมักใหญ่ใฝ่สูงมากที่สุดคือพระกลาโหม [หมายถึงบุตรสมเด็จองค์ใหญ่ คือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์-ช่วง บุนนาค] ผู้ซึ่งขณะนี้ดำรงตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีและแสวงหาช่องทางที่จะมีอำนาจเหนือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ที่ ๒ ผู้ซึ่งทรงปรารถนาที่จะรักษาพระราชอำนาจของพระเชษฐาไว้ แต่เป็นการยากที่จะทำเช่นกัน ดังนั้นการดำเนินงานของพระกลาโหมจึงประสบความสำเร็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ที่ ๑ ทรงไม่พอพระทัย ทั้งความสามารถของพระเจ้าอยู่หัวองค์ที่ ๒ และหวาดระแวงการรวบรวมทหารที่มีความสามารถเพื่อรักษาความปลอดภัยของพระเจ้าอยู่หัวองค์ที่ ๒ ด้วย
บางทีอาจจะเป็นเพราะความแตกต่างระหว่างวัย จึงทำให้สมเด็จองค์ใหญ่มักจะไม่มีส่วนหรือเห็นพ้องกับความมักใหญ่ใฝ่สูงของพระกลาโหม ซึ่งมักจะถูกจับตามองจนตลอดชีวิตของบิดาของท่าน การถึงแก่พิราลัยของสมเด็จองค์ใหญ่ ทำให้ฐานะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตกอยู่ในอันตรายยิ่งขึ้น นายเบลล์เขียนมาว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเศร้าโศกกับการสูญเสียครั้งนี้อย่างเห็นได้ชัด พระองค์จะเสด็จไปเยี่ยมสมเด็จองค์ใหญ่เมื่อยังประชวรอยู่วันละ ๒-๓ ครั้งเสมอ และมีพระราชประสงค์ที่จะให้พระกลาโหมจัดงานพระราชทานเพลิงให้สมเด็จองค์ใหญ่ในวังหลวง แต่ถูกปฏิเสธอย่างแข็งขันว่า สมเด็จองค์ใหญ่ได้แสดงความประสงค์ไว้ ให้พระราชทานเพลิงในวัดส่วนตัว [หมายถึงวัดประยุรวงศาวาส] สิ่งแรกที่พระกลาโหมจัดการหลังการถึงแก่พิราลัยของบิดาก็คือ การสร้างจวนใหญ่ [ปัจจุบันคือบริเวณที่ตั้งของโรงเรียนศึกษานารี] ซึ่งมีขนาดใหญ่และหรูหรากว่าวังของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และจัดเป็นที่พักของพี่น้องทุกคน เรื่องนี้เหมือนกับเป็นการท้าทายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ที่ ๒ ซึ่งแสดงพระองค์เป็นศัตรูกับท่าน การปะทะกันระหว่างพระเจ้าอยู่หัวองค์ที่ ๒ กับทหารของพระกลาโหมจึงเกิดขึ้นอยู่เสมอ [ต่อด้วยเรื่องอื่นๆ]
แฮรี่ ปาร์คส์(๔)
แต่การที่คุณสมบัติพิเศษของพระปิ่นเกล้าฯ จากการที่ได้รับแต่งตั้งขึ้นเป็นกษัตริย์เพื่อคานอำนาจกลุ่มขุนนาง จะทำให้พระองค์ทรงมีฐานะภายนอกสำคัญขึ้นกว่าเดิม ก็มิได้เป็นหลักประกันความราบรื่นเสมอไป การมีพระเจ้าอยู่หัว ๒ พระองค์ในเวลาเดียวกัน ทำให้พระองค์ทรงถูกกีดกันตลอดเวลา เพราะมีคนไม่เห็นด้วยอยู่มาก แม้แต่คำเล่าลือว่าพระปิ่นเกล้าฯ ทรงอยู่ในฐานะล้ำหน้ากว่าพระเชษฐา ก็ยังถูกหยิบยกมาเป็นขี้ปากของคำครหาอันสะเทือนใจต่างๆ ดังสำนวนที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงบริภาษให้พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) ราชทูตไทยในอังกฤษฟังว่า
"การทำสัญญาด้วยอังกฤษแลการทนุบำรุงบ้านเมืองก็ดี แต่งทูตไปก็ดี เปนความคิดวังหน้าทั้งหมด วังหลวงเปนแต่อืออือแอแอพยักพเยิดอยู่เปล่าๆ เมื่อแขกเมืองเข้ามา วังหน้าต้องแอบข้างหลังสอนให้พูดจึงพูดกับแขกเมืองได้ ท่านทั้งปวงไปพูดที่โน้นดังบอกมานี้ถึงจริงเหนเขาจะว่าปดว่าเท็จ เขาจึงลงหนังสือพิมพ์ว่า ที่จริงการแผ่นดินเปนความคิดสติปัญญาฤทธาอำนาจวังหน้าหมด ท่านทั้งปวงไม่ระวังปากระวังตัว ซ้ำไปพูดลดหย่อนทหารวังหน้าที่แข็งแรงและมากมายกว่าทหารวังหลวง ข้าพเจ้ามีความวิตกกลัวเขาจะว่าทูตไทยปดนัก"(๓)
จึงมิใช่ข้อเท็จจริงตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ
จากการค้นพบเอกสารเพิ่มเติมซึ่งเคยถูกตีพิมพ์ในสมัยนั้น ชำระแล้วไม่พบคำครหาดังกล่าวแต่อย่างใด ทำให้วิเคราะห์ได้ว่าอาจเป็นการตัดไม้ข่มนามของวังหลวงในการกำราบความกำเริบเสิบสานของพวกขุนนางตระกูลบุนนาคที่สร้างข่าวบิดเบือนเกี่ยวกับสถานภาพของราชบัลลังก์ ซึ่งส่อให้เห็นถึงการเลือกปฏิบัติของกลุ่มขุนนาง ทั้งทางลับและทางแจ้งที่ทวีความรุนแรงขึ้น โดยมีแผนการให้เกิดความร้าวฉานระหว่างพระเจ้าอยู่หัวองค์ที่ ๑ และองค์ที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงมีรับสั่งแทงใจดำขุนนางเหล่านั้น โดยเสียดสีพระปิ่นเกล้าฯ แทนการกล่าวโทษผู้อื่นโดยตรง อันเป็นการสร้างสถานการณ์และหวังผลทางการเมืองของพระเจ้าอยู่หัวทางอ้อม
หลักฐานใหม่ที่แสดงว่าภาพพจน์ของวังหลวงในการเป็นศูนย์รวมอำนาจที่แท้จริง และบทบาทของวังหน้าที่ถูกแต่งตั้งขึ้นด้วยเหตุผลทางการเมือง ได้รับการตีแผ่อย่างตรงไปตรงมาตามหนังสือพิมพ์ของชาวตะวันตก ดังตัวอย่างที่พบครั้งล่าสุดต่อไปนี้
ฉบับที่ ๑
หนังสือพิมพ์ L"ILLUSTRATION ของฝรั่งเศส ฉบับวันที่ ๒๔ มีนาคม ๑๘๖๖ พาดหัวข่าวพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ของพระปิ่นเกล้าฯ กล่าวถึงการถ่วงดุลอำนาจระหว่างพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์ ท่ามกลางความผันผวนทางการเมือง ยืนยันฐานะของพระปิ่นเกล้าฯ ไว้ว่า
"ตำแหน่งกษัตริย์องค์ที่ ๒ นั้น เป็นเพียงตำแหน่งกิตติมศักดิ์ที่ไม่มีบทบาทมากนัก พระองค์ทรงไม่มีพระราชกรณียกิจโดยตรงที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดินเลย อำนาจที่แท้จริงตกอยู่กับพระเชษฐาผู้พี่ คือกษัตริย์องค์ที่ ๑ แต่เพียงผู้เดียว"(๗)
ฉบับที่ ๒
หนังสือพิมพ์ THE ILLUSTRATED LONDON NEWS ของอังกฤษ ฉบับวันที่ ๑๗ มีนาคม ๑๘๖๖ ลงภาพข่าวด้านในพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ของพระปิ่นเกล้าฯ (แต่ลงรูปผิดเป็นรูป ร.๔) กล่าวว่า
"พระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ ๑ และองค์ที่ ๒ ทรงมีอำนาจไม่เท่าเทียมกันในทางปฏิบัติ พระราชอำนาจที่แท้จริงมากถึง ๒/๓ ของทั้งหมดเป็นของพระองค์ที่ ๑ เหลือเพียง ๑/๓ ของอำนาจที่เหลือตกเป็นของพระองค์ที่ ๒"(๘)
ฉบับที่ ๓
หนังสือพิมพ์ HARPER"S WEEKLY ของอเมริกา ฉบับวันที่ ๑๔ เมษายน ๑๘๖๖ พาดหัวข่าวการสวรรคตของพระปิ่นเกล้าฯ กล่าวเป็นเสียงเดียวกันกับในฉบับที่ ๒ แต่เพิ่มเนื้อหาขึ้นอีกว่า
"กษัตริย์องค์ที่ ๒ ตามคำบอกเล่าของเซอร์จอห์น เบาริ่ง, คงจะเป็นบุรุษที่เปี่ยมไปด้วยความสามารถหากพระองค์ไม่ถูกบดบัง (eclipsed) โดยกษัตริย์องค์ที่ ๑ ซึ่งเป็นพระเชษฐาผู้กระตือรือร้น และมีฐานะทางการเมืองสำคัญกว่ามาก"(๖)
คำให้การของผู้สันทัดกรณี สะท้อนให้เห็นภาพสถานการณ์ที่เป็นอยู่จริง ทำให้ข้อถกเถียงเรื่องพระราชอำนาจของพระปิ่นเกล้าฯ ที่ว่าการทำนุบำรุงบ้านเมือง การแต่งทูตไปต่างประเทศ และราชการแผ่นดินเป็นสติปัญญาของพระปิ่นเกล้าฯ ทั้งหมดนั้นต้องตกไปโดยปริยาย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงสถาปนาพระปิ่นเกล้าฯ ขึ้นเพื่อ "เน้น" การถ่วงดุลอำนาจเป็นกรณีเฉพาะ เพื่อตัดตอนผลประโยชน์และสลายขั้วอิทธิพลทางทหารของผู้นำกลุ่มขุนนาง ทั้งเป็นการป้องกันการผูกขาดทางการเมืองของผู้ไม่หวังดีและเสริมสร้างฐานอำนาจของราชบัลลังก์ให้มั่นคงยิ่งขึ้น เป็นเหตุให้พระปิ่นเกล้าฯ ทรงหลีกเลี่ยงจากการประกอบพระราชกรณียกิจ ซึ่งจะทำให้เป็นปฏิปักษ์ต่อพระเชษฐาเสียเอง ด้วยความเกรงพระทัย ความล้ำหน้าของพระปิ่นเกล้าฯ อันเป็นสาเหตุของความขัดเคืองพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงไม่เคยเกิดขึ้น เมื่อเกิดข่าวลือไม่สร้างสรรค์ทีไร พระปิ่นเกล้าฯ จะทรงเป็นฝ่ายถอยไปเองทุกครั้งเสมอ
หลักฐานชิ้นสำคัญชิ้นสุดท้ายพบเมื่อเร็วๆ นี้เช่นกัน อธิบายฐานะของพระปิ่นเกล้าฯ ระบุอยู่ในหนังสือของทางราชการไทยเล่มหนึ่ง กล่าวว่า
"มีเหตุผลสำคัญที่จะเชื่อว่าสถานภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ที่ ๒ ไม่ค่อยจะสะดวกสบายนัก พระองค์เป็นผู้ที่มีคนริษยาอยู่จำนวนไม่น้อย และด้วยเหตุนี้ความสุขุมรอบคอบที่สุด จึงจำเป็นสำหรับพระองค์ที่จะต้องคงไว้และปกป้องสถานภาพของพระองค์ ในราชอาณาจักรนี้ไว้ต่อไปในอนาคตด้วย"(๔)
เป็นเรื่องประหลาดเหลือเชื่อ
เรื่องหนึ่งของพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์
ที่พระเจ้าอยู่หัวพระองค์หนึ่งผู้ทรงปรีชาสามารถที่สุดในยุคสมัยของพระองค์ ต้องถูกบดบังไว้ด้วยเงื่อนไขทางการเมืองอันสลับซับซ้อน โดยมีจุดประสงค์เพื่อปกป้องราชบัลลังก์เอาไว้
แต่ด้วยความน้อยพระทัยในสถานภาพที่เสียเปรียบและเป็นรองตลอดเวลา เป็นเหตุให้ทรงปลีกวิเวกเสด็จไปประทับตามหัวเมืองไกลๆ เป็นระยะเวลายาวนาน เพื่อหนีให้พ้นคำตำหนิติเตียนต่างๆ เท่าที่จะทำได้ อาจกล่าวได้ว่าพระราชอำนาจอันจำกัดของพระปิ่นเกล้าฯ ขณะดำรงตำแหน่งพระเจ้าอยู่หัวองค์ที่ ๒ ส่งผลให้บทบาทอันมีความหมายของพระองค์ลดน้อยถอยลงกว่าที่ทรงเคยมีเมื่อครั้งทรงกรมเป็นกรมขุนอิศเรศรังสรรค์เสียอีก
ไกรฤกษ์ นานา
ศิลปวัฒนธรรม
วันที่ 01 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 ปีที่ 27 ฉบับที่ 04
เอกสารประกอบการค้นคว้า
(๑) ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. นิทานโบราณคดี. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานศพ คุณหญิงกสิการบัญชา, กรุงเทพฯ, ๒๕๐๑.
(๒) เทอดพงศ์ คงจันทร์. การเมืองเรื่องสถาปนาพระจอมเกล้าฯ. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๗.
(๓) พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ. รวมอยู่ในหนังสืองานฉลองครบรอบ ๘๔ ปี มหามกุฏราชวิทยาลัย, กรุงเทพฯ, ๒๕๒๑.
(๔) ศิวะลีย์ ภู่เพ็ชร์. บันทึกสัมพันธภาพระหว่างประเทศสยามกับนานาประเทศ. กรมศิลปากรจัดพิมพ์, ๒๕๔๑.
(๕) สมบัติ พลายน้อย. พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ กษัตริย์วังหน้า. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๕.
(๖) หนังสือพิมพ์ HARPER"S WEEKLY. New York, 14 April 1866.
(๗) หนังสือพิมพ์ L"ILLUSTRATION. Paris, 24 March 1866.
(๘) หนังสือพิมพ์ THE ILLUSTRATED LONDON NEWS. London, 17 March 1866.
ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม : เรื่องจากปก
หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำไปตามความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ
วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551
หลักฐานใหม่ เหลือเชื่อ! "พระราชอำนาจ" ของสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ข้อมูลที่รอการเปิดเผย
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 10:13 หลังเที่ยง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น