วันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

การเมืองการปกครองของกรุงสยาม ของหลวงวิจิตรวาทการ : กษัตริย์-รัฐ-ผู้นำ-การเปลี่ยนแปลง


บทคัดย่อ

ในการอธิบายให้ความหมายต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง งานเขียนเรื่อง "การเมืองการปกครองของกรุงสยาม" ของหลวงวิจิตรวาทการ มีจุดสำคัญตรงที่เน้นการชี้ให้เห็นว่าเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นไม่มีอะไรใหม่ หากแต่เป็นเหตุการณ์ที่มีรากมาจากภายในสังคมไทยเอง [ซึ่งในอดีตก็เคยมีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นมาก่อน] ส่วนโลกตะวันตก เช่น อังกฤษ และฝรั่งเศส แทบไม่มีบทบาทอะไร

การนี้หลวงวิจิตรใช้วิธีย้อนแย้งอดีตโดยมีตัวแบบความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับขุนนาง [ซึ่งจะมีราษฎรเป็นแนวร่วม] เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ไทย ปรากฏว่าภายในระบบศักดินาไทยนั้นมีการเปลี่ยนแปลงระเบียบการเมืองการปกครองมาตลอด ตั้งแต่ครั้งสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และรัชกาล

นอกจากนี้หลวงวิจิตรยังมองว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่ได้สิ้นสุดเพียง ๒๔ มิ.ย. ๗๕ หากการเปลี่ยนแปลงยังต้องดำเนินต่อไปอีกยาวนาน พร้อมกันนั้นหลวงวิจิตรก็เสนอให้มองญี่ปุ่นว่าจะเป็นแบบอย่างที่สำคัญในการก่อการต่อไป ทั้งยังอ้างความคิดที่เป็นของไทยเราเองมาเป็นจุดเชื่อมการเปลี่ยนย้ายศูนย์กลางโลกจากตะวันตกเป็นตะวันออกแทน กระบวนการดังกล่าวจะสำเร็จลงได้สำหรับหลวงวิจิตรก็ขึ้นอยู่กับกลุ่มชนชั้นนำเป็นสำคัญ หลวงวิจิตรจึงผลิตงานเพื่อรับใช้ผู้นำอย่างมีสำนึก ผลคือการเขียนประวัติศาสตร์โดยมีกษัตริย์ รัฐ ผู้นำ และการเปลี่ยนแปลง เป็นจุดมุ่งหมายยังคงครอบงำสำนึกในการเขียนประวัติศาสตร์ ตราบเท่าที่อิทธิพลของหลวงวิจิตรยังคงมีอยู่ในประวัติศาสตร์การเมืองของไทย.

" จริงอยู่เป็นการยากที่จะประเมินความลึกซึ้งของอิทธิพลทางด้านความคิดของหลวงวิจิตรวาทการ " [กอบเกื้อ ๒๕๑๙ : ๑๕๕]


-๑-

"การเมืองการปกครองของกรุงสยาม" เป็นงานนิพนธ์ร่วมสมัยที่พยายามอธิบายหรือให้ความหมายต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ โดยนักคิดหนุ่มคนหนึ่ง ผู้ซึ่งมีภูมิหลังกำเนิดจากคนชั้นสามัญชน แต่ทำงานรับใช้ผู้นำและการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ อีกหลายทศวรรษนับจากนั้น

หลวงวิจิตรวาทการ เดิมชื่อ "กิมเหลียง วัฒนปฤดา" เกิดเมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๑ ในคลองตำบลสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี บิดาชื่อ อิน มารดาชื่อ คล้าย บิดาเป็นครูคนแรกด้วยการสอนให้รู้จักอ่านเขียนเบื้องต้น พออายุ ๘ ขวบ จึงได้เข้าเรียนโรงเรียนวัดขวิด ตำบลสะแกกรัง เมื่อจบชั้นประถมศึกษา อายุ ๑๓ ปี เด็กชายกิมเหลียงตัดสินใจบวชเณร ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ ระหว่างที่บวชอยู่ได้ศึกษาวิชาการแขนงต่าง ๆ ของทางโลกเป็นส่วนใหญ่ (ไม่ได้หมกมุ่นแต่ทางธรรม) จุดสำคัญคือความรู้เกี่ยวกับการใช้ภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งช่วยให้เข้าถึงวิทยาการต่าง ๆ จากโลกของภาษาทั้งสองนั้นด้วย

เมื่อลาสิกขาแล้ว วันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ ( อายุ ๒๐ ปี ? ) ได้เข้ารับราชการที่กองกงสุล กระทรวงต่างประเทศ จากนั้นตำแหน่งหน้าที่ก็มีการสับเปลี่ยนโยกย้ายไปตามลำดับ และสถานที่ทำงานก็มีการหมุนเวียนไปตามที่สำคัญต่าง ๆ ตั้งแต่ที่กรุงปารีส ลอนดอน และกรุงเทพฯ จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ได้เป็นหัวหน้ากองการเมือง อยู่ในตำแหน่งนี้ราว ๖ เดือน ก็ได้เป็นผู้ช่วยอธิบดีกรมการเมือง กระทรวงต่างประเทศ เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๗๕ ระยะเดียวกันนั้นเองหลวงวิจิตรฯ ยังได้เป็นอาจารย์สอนประวัติศาสตร์สากลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ระหว่างที่รับราชการ หลวงวิจิตรฯได้ใช้เวลาส่วนหนึ่งเขียนงานลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยใหม่อย่างสม่ำเสมอ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ งานเขียนของหลวงวิจิตรฯ พัฒนาไปอีกก้าวหนึ่ง โดยเน้นหนักไปในด้านประวัติศาสตร์นิพนธ์ทางการเมือง มีแนวโน้มสนใจการเมืองภายในสยามมากขึ้น ซึ่งก่อนนั้นจะให้ความสำคัญกับสถานการณ์ทางสากลมากกว่า และ "การเมืองการปกครองของกรุงสยาม" ก็กำเนิดขึ้นในช่วงเวลานี้เอง (น่าสังเกตว่าเล่มนี้ไม่มีการตีพิมพ์ซ้ำอีก ขณะที่บางเล่มของหลวงวิจิตรฯ นั้น พิมพ์ ๒๕ ครั้ง ในรอบไม่ถึง ๑๕ ปี) ภายหลังหนังสือจำหน่ายไปได้ระยะหนึ่งแล้ว เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ หลวงวิจิตรฯ ก็ลาออกจากราชการเข้าทำงานที่กองบรรณาธิการไทยใหม่อย่างเต็มตัว

แต่ไม่นานก็รับคำชวนจาก "เพื่อนในคณะราษฎร" ให้กลับเข้ารับราชการอีกครั้ง ในตำแหน่งเจ้ากรมประกาสิต กระทรวงต่างประเทศ พร้อมกันนั้นก็รับหน้าที่เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการอีกตำแหน่งหนึ่ง และก้าวไปสู่ตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ด้วยเหตุผลทางการเมืองที่ต้องการให้หลวงวิจิตรฯ เป็นกำลังของคณะราษฎรในการทำงานเพื่อ "ปลูกต้นรักชาติ" ขึ้นจากทางกรมศิลปากร [อัจฉราพร ๒๕๑๙ : ๒๖๙ ; ประอรรัตน์ ๒๕๒๘ : ๓๑ - ๓๒, ๔๒, ๔๕ - ๔๖, ๗๗, ๑๓๕] กระทั่งเกิดการเฟื่องฟูขึ้นในยุคสมัยแห่งการสร้างชาติภายใต้รัฐบาลหลวงพิบูลสงครามกาลต่อมา

ขณะที่เขียนเรื่อง "การเมืองการปกครองของกรุงสยาม" อยู่นั้น ดูเหมือนหลวงวิจิตรฯ จะเข้าใจความล่อแหลมของสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้จากการที่เขาไม่ลืมที่จะเขียนกิติกรรมประกาศถึง "ท่านผู้ซื้อและท่านผู้อ่าน" ไว้ด้วยว่า "เป็นการแน่นอนว่าผู้ที่คอยประทุษร้ายข้าพเจ้า ด้วยความริษยาเป็นส่วนตัว จะยกเอาข้อความบางตอนขึ้นกล่าวส่อเสียดยุยงว่า ข้าพเจ้าเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลใหม่ ดังที่เคยมีผู้พยายามส่อเสียดมาแล้ว ถ้าหากรัฐบาลใหม่เชื่อดังนั้น ก็ขอให้เอาข้าพเจ้าไปประหารชีวิตโดยมิต้องขึ้นศาล" [วิจิตรวาทการ ๒๔๗๕ : ไม่ระบุเลขหน้า] (1)

เบื้องต้นถ้าจะถือกันง่าย ๆ ว่า ผลงานชิ้นนี้หลวงวิจิตรฯ เขียนขึ้นโดยมีเป้าหมายอันหนึ่งอยู่ที่การแสดงจุดยืนของเขาต่อ "รัฐบาลใหม่" ก็นับว่าหลวงวิจิตรฯ "แสดง" ได้อย่างดีและดูมีชั้นเชิง ทั้งนี้เขาเองเป็นบุคคลมีชื่อเสียง ทั้งในงานราชการและการประพันธ์มาแต่ครั้งปลายสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่นั่นก็เป็นประเด็นวิเคราะห์ที่ออกจะหยาบเกินไป คงต้องพิจารณาอะไรให้ไกลกว่านั้น โดยเราจำเป็นต้อง "อ่าน" อย่างพิถีพิถันเพื่อดูว่าเขา "เขียน" อย่างไรเสียก่อน จึงจะสามารถกล่าวเช่นนั้นได้ (หรืออาจไม่กล่าวเช่นนั้นเลยก็ได้) จากนั้นจึงค่อยมาดูกันว่ามีนัยความหมายอะไรบ้างที่ซ่อนอยู่ในงานชิ้นนี้


-๒-

ระเบียบและการเปลี่ยนแปลง

เช่นเดียวกับนักประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่ได้รับอิทธิพลจากสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ หลวงวิจิตรฯ ให้ความสำคัญกับสุโขทัยในฐานะปฐมบทของประวัติศาสตร์ไทย สยามประเทศตามแนวทางสกุลดังกล่าว จึงมีอายุยืนยาวออกไปถึงปี พ.ศ. ๑๘๐๐ "ประเทศสยาม" ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่สิ่งที่มักมีการเปลี่ยนแปลงเสมอนั้น ได้แก่ ระบอบการเมืองการปกครอง ซึ่งหลวงวิจิตรฯ ใช้ "ระเบียบการ" สำหรับเป็นคำเรียก โดยนัยก็คือระเบียบการปกครองนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงกันได้สุดแต่ภาวการณ์ความจำเป็น แต่ "ประเทศ" (สยาม) นั้นยังดำรงอยู่สืบมา ทั้งยังเป็นรากฐานสำคัญให้กับการเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ ด้วย

ตามความเห็นหลวงวิจิตรฯ เดิมทีสยามปกครองด้วยระบอบ "ฟิวแดลิสม์" หรือ "เจ้าขัณฑสีมา" และ / หรือ "ลัทธิเจ้าครองนคร" ดังที่นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ [ ๒๕๒๕ ] ได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ หลวงวิจิตรฯ ใช้ตัวแบบความสัมพันธ์ระหว่างเจ้ากับขุนนาง และราษฎร เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ [ นครินทร์ ๒๕๒๕ : ๙ - ๑๐ ] กล่าวคือในระบอบฟิวดัลลิสม์สยาม เจ้ากับขุนนางมีความสัมพันธ์กันอย่างหละหลวม กษัตริย์มีอำนาจก็แต่เฉพาะในเขตเมืองหลวงขยายออกไปไกลสุดก็แค่บริเวณหัวเมืองชั้นใน ที่เหลือนับจากหัวเมืองชั้นนอกออกไปนั้น ขุนนางหรือเจ้าครองนครจะมีอำนาจปกครองของตนเอง ซึ่งมีอิสระในการดำเนินการด้านต่าง ๆ พอสมควร

การเปลี่ยนแปลงทางด้าน "ระเบียบการ" ที่หลวงวิจิตรฯ ให้ความสำคัญมีอยู่ด้วยกัน ๓ ครั้ง ได้แก่...


๑. สมัยพระบรมไตรโลกนาถ เนื้อหาของการเปลี่ยนแปลงนั้นอยู่ที่การแยกทหารออกจากพลเรือน มีการตั้งลำดับชั้นยศแก่ขุนนาง ในส่วนของเจ้ามีการตั้งกฎมณเฑียรบาล และมีการจัดระเบียบการศาล กล่าวโดยนัยก็คือ เป็นการเปลี่ยนแปลงจากภายในระบอบฟิวดัลลิสม์ของสยามเอง ในแง่นี้ระบอบฟิวดัลลิสม์ตามทัศนะหลวงวิจิตรจึงไม่ได้หยุดนิ่ง และการเปลี่ยนแปลงส่วนที่สำคัญ ๆ ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่หล่อเลี้ยงการดำรงอยู่หรือการอยู่รอดของระบอบหรือ "ประเทศ" ( สยาม ) ซึ่งนำไปสู่ขั้นตอนต่อไป เช่น ...

๒. สมัย ร.๕ มีการรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง และตามทัศนะหลวงวิจิตรฯ ก็นับเป็นครั้งแรกที่กษัตริย์มีอำนาจอย่างสมบูรณ์ (สมบูรณาญาสิทธิ"ราช") (2) การณ์นี้หลวงวิจิตรฯ อธิบายให้ความชอบธรรมต่อสถาบันกษัตริย์อย่างสูง "เพราะในต้นสมัยรัชกาลที่ ๕ อำนาจของพระเจ้าแผ่นดินไทยมีน้อยหนักหนา และอำนาจสำคัญที่สุดอยู่แก่อัครมหาเสนาบดี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้องทรงใช้เวลาหลายปีที่จะทรงต่อสู้กับพวกขุนนาง สำหรับยึดอำนาจเข้ามาเป็นของพระองค์ ทรงเห็นว่าถ้ากิจการอันใดได้ปรึกษากับที่ประชุมของคนมากแล้ว อัครมหาเสนาบดีก็คงไม่กล้าค้าน เป็นการตัดรอนอำนาจของอัครมหาเสนาบดีลงไปในตัว " ( น. ๖๑ - ๖๒ เน้นบางคำโดยผู้อ้าง ). และที่สำคัญ คือ

๓. การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ซึ่งหลวงวิจิตรฯ สะท้อนว่า "เป็นการใหญ่หลวงเท่ากับพลิกแผ่นดิน" ( น. ๑๖๖ ). เกี่ยวกับคณะราษฎรผู้ก่อการหลวงวิจิตรฯ เสนอว่า "คณะราษฎรควรเข้าใจว่ากิจการที่ได้ทำมาแล้วนั้น เป็นแต่ฉากแรกแห่งการเปลี่ยนแปลง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าการเปลี่ยนแปลงที่ทำมาแล้วเป็นแต่การตระเตรียมการ " ( น. ๑๔๖ ). ๒๔ มิ.ย. ๗๕ ในทัศนะหลวงวิจิตรฯ จึงเป็นจุดเริ่มที่จะนำไปสู่อีกขั้นตอนหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงยังไม่มีความสมบูรณ์หรือสำเร็จลงได้เพียงเท่าที่กระทำกันในวันที่ ๒๔ มิถุนาฯ สำหรับหลวงวิจิตรฯ ยังไม่ปรากฏข้อเสนอนโยบายที่เป็นรูปธรรมนัก (ยิ่งไม่ต้องพูดถึงประเด็นเรื่อง "การสร้างชาติ" ซึ่งจะชัดเจนก็ต่อเมื่อยุคหลวงพิบูลสงครามเริ่มมีอำนาจ)


ขณะนั้นดูเหมือนหลวงวิจิตรฯ จะยังไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่า คณะราษฎรจะดำเนินนโยบายไปตามแนวทางใด เนื่องจากเขาเป็นเพื่อนกับคณะราษฎรหลายคน ทั้งยังเป็นบุคคลมีชื่อเสียงในทางวิชาความรู้ขณะนั้น เขาจึงมักถูกถามถึงเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่เสมอ ซึ่งเขาได้ตอบอย่างจริงจังก็ใน "การเมืองการปกครองของกรุงสยาม" นี้เอง ควบคู่กับที่วิเคราะห์ถึงการขยายตัวของ "คณะราษฎร" ในรูปองค์กรจัดตั้งทางการเมืองใหม่ (3) หลวงวิจิตรฯ ก็ได้อนุมานถึงแนวนโยบายของคณะราษฎรด้วยไปในตัว


ลักษณะของคณะราษฎรนั้น อาจเป็นได้ ๓ อย่าง คือ

๑. เป็นของคนทุกชั้นรวมทั้งเจ้า คือไม่มีขีดขั้นว่าเป็นชั้นใด หรือ
. เป็นแต่ของราษฎร ไม่ใช่ของเจ้า หรือ
๓. เป็นแต่ของบุคคลที่ไปลงชื่อเข้าเป็นสมาชิกใน "คณะราษฎร" แต่มิใช่ของบุคคลทั่วไป ( น. ๑๖๕ ).

หลวงวิจิตรฯ ดูจะวิตกวิจารณ์เป็นพิเศษเกี่ยวกับสถานภาพของ "เจ้า" หลังจากเปลี่ยนการปกครอง และดูเหมือนเขาจะเป็นคนแรก ๆ ที่มองการประนีประนอมระหว่างฝ่าย "เจ้า" กับผู้ก่อการ ๒๔ มิถุนาฯ หรือไม่อย่างน้อยที่สุดหลวงวิจิตรฯ ก็เป็นบุคคลแรก ๆ ที่อยากให้การประนีประนอมดังกล่าวเกิดขึ้น ทั้งนี้ในความเห็นหลวงวิจิตรฯ ก็ขึ้นอยู่กับฝ่ายผู้ก่อการเป็นสำคัญว่าจะดำเนินการไปอย่างใดอย่างหนึ่ง

จาก ๓ แนวทางข้างต้น หลวงวิจิตรฯ กล่าวต่อไปว่า "ข้าพเจ้าเชื่อว่าความมุ่งหมายของ "คณะราษฎร" คงต้องการอย่างที่สุดที่จะให้เป็นอย่างที่ ๑ และถ้าเป็นอย่างที่ ๑ ได้ก็นับว่าประเสริฐยิ่ง ถ้าจะให้เป็นทางนั้น คณะราษฎรก็ต้องอนุญาตให้ประชาชนทุกชั้น ที่ได้รับเลือกจากราษฎรเข้าเป็นสมาชิกในรัฐสภาได้ โดยมิต้องตัดทอนอย่างไรเลย" ( น. ๑๖๖ ). ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือไม่ก็ตามข้อเสนอนี้มีนัยยะที่ขัดแย้งในตัวเอง เพราะเท่ากับเสนอให้เจ้าสามารถกลับมา "เล่น" การเมืองได้อีกครั้ง ถึงขั้นสามารถลงสมัครเข้ารับเลือกตั้งจากประชาชนเข้าเป็น "สมาชิกในรัฐสภา" ได้นั่นเอง

ขณะเดียวกันข้อเสนอนี้ก็มีนัยที่จัดว่า "รุนแรง" สำหรับฝ่ายเจ้าอยู่มาก เนื่องจากหลวงวิจิตรฯ เสนอด้วยว่า ควรถอดเจ้าออกจากการเป็นเจ้าเสีย โดยให้ถือเป็น "ราษฎร" คนหนึ่งเท่านั้น เขากล่าวว่า "ถ้าเราไม่ถือเจ้าว่าเป็นเจ้า เราก็ต้องถือว่าเจ้าเป็นราษฎรคนหนึ่ง ถ้ามิฉะนั้นจะเอาเจ้าไปทิ้งเสียที่ไหน ถ้าหากปรากฏว่าเจ้าไม่ยอมเป็นราษฎรนั่นแหล่ะ จึงจะต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ ลงมาเดินทางที่ ๒ และถือว่าเจ้าคงเป็นคนต่างชั้นอยู่" ( น. ๑๖๘ ).

และนั่นก็เป็นขั้นตอนสำคัญหนึ่งสำหรับการเปลี่ยนแปลงระเบียบการปกครองในความเห็นหลวงวิจิตรฯ กล่าวคือ "การที่จะเปลี่ยนระเบียบนั้นก็คือ ต้องถือว่าเจ้าและราษฎรธรรมดามีสิทธิและหน้าที่เท่ากัน และรัฐบาลจะต้องฟังเสียงประชาชนเป็นสำคัญในทางดำเนินการบ้านเมืองทุกอย่าง" ( น. ๑๑๗ ).

ส่วนขั้นตอนการกดเจ้าลงเป็นพลเมืองนี้จะสำเร็จลงได้หรือไม่นั้นหลวงวิจิตรฯ ไม่เสี่ยงที่จะให้อรรถาธิบายในประเด็นดังกล่าว เนื่องจากโอกาสผิดพลาดมีสูงเกินไป ไม่มีหลักประกันอันใดว่าถ้าทำดังนั้นแล้วเจ้าจะไม่เอาเปรียบราษฎรเหมือนอย่างที่เคย "สิทธิและหน้าที่" จึงกลายเป็นเรื่องที่ถูกนิยามโดยสัมพัทธ์ กล่าวคือเจ้ามีแบบหนึ่ง ราษฎรก็มีอีกแบบหนึ่ง

ด้วยความไม่แน่นอนของสถานการณ์ หรือไม่ก็ด้วยรู้เท่าไม่ถึงการณ์นั้นเอง หลวงวิจิตรฯ จึงเสนอต่อไปอีกว่า "ทาง ๓ ต้องตั้งกองทหารพิเศษสำหรับคณะราษฎร รั้งอำนาจปกครองไว้ให้นานที่สุด คณะราษฎรจะต้องดำเนินแบบฟาซีสต์ของอิตาลีอย่างแท้จริง" ( น. ๑๖๗ ). ไม่ว่าเขาจะคิดเห็นเช่นที่กล่าวนี้จริงหรือไม่ แต่การณ์ก็ปรากฏว่าหลวงวิจิตรฯ ก็เป็นปัญญาชนคนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนระบอบอำนาจนิยมหลังเปลี่ยนการปกครอง ทั้งนี้การรับใช้รัฐอาจไม่เป็นปัญหาสำหรับปัญญาชนบางคนในยุคนั้น


-๓-

สถาบันกับอำนาจ

นอกจาก "ประเทศ" (สยาม) แล้ว ที่หลวงวิจิตรฯ ย้ำหนักแน่นว่าเป็นสิ่งจำเป็นควบคู่กับการดำรงอยู่ของประเทศก็คือ สถาบันกษัตริย์ ระเบียบการปกครองจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร สถาบันกษัตริย์ก็ยังมีบทบาทอย่างสำคัญไม่โดยตรงก็โดยสัญลักษณ์ทางอ้อม จากระบอบฟิวดัลลิสม์หรือลัทธิเจ้าครองนครสู่สมบูรณาญาสิทธิ์ และสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕

กรณีหลังแม้ดูไม่เข้ารูปเข้ารอยกับ "ความจำเป็น" ที่หลวงวิจิตรฯ พาดพิงถึงบ่อยครั้งนักก็ตาม แต่ไม่เป็นปัญหาสำหรับหลวงวิจิตรฯ ซึ่งกำลังมองว่าการประนีประนอมระหว่างฝ่ายเจ้ากับคณะราษฎรนั้นมีความเป็นไปได้สูง และเขาเองก็เห็นชอบที่จะให้เป็นไปตามนั้น ความสำคัญของสถาบันกษัตริย์ในทัศนะหลวงวิจิตรฯ นอกจากบางประเด็นใน "การเมืองการปกครองของกรุงสยาม" นี้แล้ว ยังสามารถย้อนกลับไปเห็นได้ในปาฐกถาที่เขากล่าวไว้ ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียงไม่นาน และความเห็นของเขาในเรื่องเดียวกันนี้ก็ยืนพื้นตามนั้นอยู่อีกหลายปีทีเดียว ในปาฐกถาเรื่อง "พระมหากษัตริย์ของเรา" หลวงวิจิตรฯ กล่าวเป็นใจความสำคัญว่า


พระมหากษัตริย์ของประเทศสยามย่อมเป็นธงชัยของสยามอย่างแท้จริง เป็นธงชัยที่จะนำไปสู่ความเจริญ เป็นธงชัยที่สง่าราศรีแก่เราในเวลาสงบ เป็นธงชัยที่นำเราเข้าสู่สนามรบในเวลาสงคราม ซึ่งถ้าชนะก็เพราะเหตุที่เราได้ธง นำเราไปสู่ความมีชัย ถ้าหากว่าแพ้ธงชัยอันนั้นก็จะลงมาเกลือกฝุ่นเปื้อนเลือดอยู่กับเรา [ วิจิตรวาท-การ ๒๕๑๖ : ๓๐๓ ].


จุดยืนต่อสถาบันกษัตริย์ในลักษณะดังกล่าว น่าสังเกตว่ามีความคงเส้นคงวาพอสมควร เพียงแต่ใน "การเมืองการปกครองของกรุงสยาม" จุดสำคัญที่หลวงวิจิตรฯ ทำการ "ต่อยอด" ออกไปก็คือ การชี้ให้เห็น "ประโยชน์" ที่รัฐบาลใหม่จะได้รับจากการดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์ ท่ามกลางความจำเป็นที่ต้องดำเนินการเปลี่ยนแปลงต่อไป เขากล่าวว่า


องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นก็ยังมีประโยชน์มาก เพราะย่อมเป็นเครื่องโยงความสัมพันธไมตรีของคนทุกชั้น ให้แน่นแฟ้นต่อกัน เรายังจะต้องอาศัยพระบารมีของพระมหากษัตริย์เป็นเครื่องผูกรัดเขตต์แดนสยามเท่าที่ปรากฎในแผนที่เวลานี้ ให้ผูกโยงกันอย่างแน่นหนา เพราะเราต้องไม่ลืมว่าเวลานี้เรามีเจ้าประเทศราช ถ้าเรายังบูชากษัตริย์ เจ้าประเทศราชก็จะนิยมเรา ถ้าเราลบหลู่กษัตริย์ เจ้าประเทศราชอาจท้อถอย ขาดความเลื่อมใสในรัฐบาลใหม่ได้ ( น. ๑๗๗ ).


ในแง่นี้พระมหากษัตริย์กลายเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการสร้างเสถียรถาพของชาติประเทศ ไม่ได้เป็นเป้าหมายสูงสุดของการถวายความจงรักภักดีในตัวเองแต่อย่างใด ตรงข้ามประโยชน์ที่จะได้รับจากการแสดงความจงรักภักดีนั้นต่างที่มีความสำคัญมากกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้

นอกจากนี้หลวงวิจิตรฯ ยังมักนิยามสถาบันกษัตริย์ด้วยวิธีการจำลองสถานการณ์สงคราม (ที่ทั้งสร้างและต่อเนื่องจาก "การเมือง") กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เป็นผู้รับใช้รัฐไม่ต่างจากสถาบันอื่น ๆ ในสังคม / รัฐ และเป็นผู้นำในการนำพารัฐไปสู่เป้าหมายนั่นเอง เขากล่าวอย่างหนักแน่นว่า "กษัตริย์ก็คือนักรบผู้รักษาอาณาเขตต์" ( น. ๑๙๐ ). ส่วน "เจ้า" ก็มีบทบาททางการทหารมาแต่โบราณ เป็นต้น แต่ด้วยเหตุนี้ พระมหากษัตริย์จะไม่ทรงมีอำนาจอย่างแท้จริงภายในรัฐของพระองค์ เนื่องจากถูกใช้เป็นเครื่องมือรักษาผลประโยชน์ทางการเมืองเป็นสำคัญนั่นเอง

สืบเนื่องจากปัญหาโครงสร้างอำนาจหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งยังไม่มีเสถียรภาพขณะนั้น สมัยโบราณรัฐแบบจักรวรรดิ มีพระมหากษัตริย์ทำหน้าที่เป็นแก่นกลางอำนาจที่รวมศูนย์ความจงรักภักดี โดยทรงมีฐานะเป็นดั่งเทวราชาบ้าง มหาธรรมราชาบ้าง จักรพรรดิราชบ้าง ในรัฐราชวงศ์หรือสมบูรณาญาสิทธิ "ราช" พระองค์ก็ทรงเป็นประมุขสูงสุดที่หลอมรวมผู้คนหลากหลายเข้าเป็นหนึ่งเดียวภายใต้บรมโพธิสมภาร
ดังนั้นจากอุดมการณ์รัฐในจารีตเดิม สถาบันกษัตริย์จึงสร้างฐานะนำในความสัมพันธ์เชิงอำนาจให้เกิดขึ้นและดำรงอิทธิพลอยู่เสมอ เมื่อเกิดการพังทลายของสถานะอำนาจดังกล่าวจากที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปัญหาว่าจะใช้อะไรเป็นเครื่องยึดโยงผู้คนทั้งประเทศเข้าไว้ด้วยกันจึงเป็นปัญหาสำคัญขณะนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงแนวทางและความจำเป็นที่ต้องใช้ "ความรุนแรง" เพื่อสถาปนาอำนาจใหม่ที่เหนือกว่า หลวงวิจิตรวาทการและปัญญาชนสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองส่วนหนึ่ง เสนอให้กลับไปใช้บารมีเดิมของกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิ์ [ สายชล ๒๕๔๕ : ๓๖ ] เช่นที่เขากล่าวไว้อย่างน่าวิเคราะห์วิจารณ์ว่า


จริงอยู่ประเทศที่เปนริปับลิกก็สามารถปกครองเจ้าประเทศราชได้ แต่ก็ด้วยการใช้อำนาจกันอย่างรุนแรง ซึ่งเราไม่ต้องการจะใช้ เราต้องการให้ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนิรไปโดยละม่อมเรียบร้อย และสุขสงบ ฉะนั้นการยกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขึ้นเป็นที่บูชานั้น เป็นการจำเป็นโดยแท้ ( น. ๑๗๗ ).


ข้อเสนอดังกล่าวดูมีเหตุมีผลและชอบธรรมมากขึ้น เมื่อหยิบยกญี่ปุ่นเป็นกรณีตัวอย่าง ด้วยญี่ปุ่นมีความสำเร็จจากการปฏิรูปเมจิเป็นเครื่องรับรอง ทั้งที่ญี่ปุ่นมีเงื่อนไขแตกต่างจากสยาม และหลวงวิจิตรฯ เองก็มีบทบาทในการสนับสนุน "ความเป็นไทย" ไว้อย่างสูง ทั้งในระยะนั้นและมีความเข้มข้นขึ้นในระยะหลัง แตกต่างกันอย่างไม่น่าจะไปด้วยกันได้เลย แต่ดูเหมือนความแตกต่างที่ว่านั้นจะไม่เป็นปัญหาสำหรับหลวงวิจิตรฯ เนื่องจากเป้าหมายที่เป็นการธำรงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติบ้านเมืองนั้นย่อมสำคัญกว่า…


[โดยใน] "ความจำเป็นซึ่งจะต้องยึดโยงภาคต่าง ๆ ของสยามให้คงแนบแน่นกันอยู่ เรายังต้องการพระกรทั้งสองของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงยึดสยามอาณาจักรทั้งเหนือใต้ไว้ให้อยู่ด้วยกัน เหมือนดังที่ญี่ปุ่นเขาต้องให้พระกรของสมเด็จพระราชาธิราชของเขา ยึดโยงประเทศญี่ปุ่นนั้นแล" ( น. ๑๘๖ - ๑๘๗ ).


ก่อนที่จะมีการคิดเชิดชูผู้นำและรัฐธรรมนูญ ให้ทำหน้าที่ดังกล่าวแทนสถาบันกษัตริย์ในภายหลัง ไม่ต้องพูดถึงบทบาทภาคสังคมประชา (Civil Society) เพราะเราไม่อาจจะกล่าวได้อย่างแน่ชัดนักว่า หลวงวิจิตรฯ รวมทั้งปัญญาชนรุ่นนั้นมีความรู้ความเข้าใจเพียงใดในทฤษฎีการเมืองสมัยใหม่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากการที่พึงใจที่จะรับใช้รัฐและผู้นำ เราก็จึงไม่อาจทราบด้วยว่าหลวงวิจิตรฯ คิดเห็นเช่นใดเกี่ยวกับบทบาท และความสำคัญของภาคอื่นของสังคมที่ไม่ใช่กษัตริย์ รัฐ และผู้นำ

ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าอำนาจดังกล่าวจะแข็งแกร่งเสียจนไม่เหลือช่องโหว่ ที่มั่นสำคัญนั้นไม่ใช่อะไรอื่น หากเป็นการยอมรับหรือนัยหนึ่งคือยอมจำนนจากกลุ่มอำนาจอื่น ๆ ขณะเดียวกันก็โดดเดี่ยวตัวเองออกจากส่วนอื่น ๆ ของสังคม จนเกิดภาวะคู่ขนานในความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจต่าง ๆ จุดนั้นนั่นเองที่อำนาจของสถาบันฯ กลายเป็นเหมือนแม่เหล็กที่ดึงเร้าต่อประโยชน์และมรรคผลของการถวายความจงรักภักดี ทั้งที่หลวงวิจิตรฯเองก็คิดเห็นอีกอย่างหนึ่งเช่นว่า "ความจริงกษัตริย์ของเราในครั้งกระโน้น ก็ชาตาอาภัพ เสียแรงเป็นกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราช จะหาพวกพ้องให้ได้เท่าขุนนางก็ไม่ได้" ( น. ๗๘ ).

ในแง่นี้การเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงมีผลทำลายภาวะคู่ขนานกับขั้วทั้งสองนั้นลงโดยฉับพลัน เป็นการแก้ไขในสิ่งที่เป็นปัญหาอยู่แต่เดิม ขณะเดียวกันก็เป็นทางเปิดให้แก่การเฟ้นหารากฐานทางด้านภูมิปัญญาทั้งเก่าและใหม่ขึ้น โดยแง่นี้แล้ว ๒๔ มิถุนาฯ จึงมีความชอบธรรมและส่งผลต่อความมั่นคงของสถาบันด้วยเช่นกัน ประเด็นนี้หลวงวิจิตรฯ สะท้อนว่า


เมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตำแหน่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่าเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชนั้น ที่จริงก็เป็นแต่การหลอกกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ( ร.๗ - ผู้อ้าง ) ไม่เคยทรงมีอำนาจเด็ดขาดหรือทรงทำอะไรได้ตามพระทัยของพระองค์ การปกครองบ้านเมืองทั้งในสมัยก่อนและสมัยนี้ ก็คงตกอยู่ในอำนาจของสภา ต่างกันแต่ว่าสภาสมัยก่อนเป็นสภาของเจ้า สภาสมัยนี้เป็นสภาของราษฎร ( น. ๙๑ )


จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตามความเห็นของหลวงวิจิตรฯ บางส่วนสะท้อนวิธีคิดแบบดั้งเดิม ซึ่งมีแนวโน้มเชื่อมั่นต่อความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง (อนิจจัง) เพียงแต่ว่าความเปลี่ยนแปลงที่ว่านั้นแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากหลักปัญจอันตรธาน ซึ่งเชื่อว่าโลกกำลังวิวัฒน์ไปสู่ความเสื่อมสลาย ทุกสิ่งตั้งอยู่ไม่ได้นานหรือมีทุกขลักษณ์เป็นองค์ประกอบสำคัญ ทั้งนี้รวมถึงชีวิตและร่างกายของมนุษย์เองก็ปราศจากตัวตนที่เที่ยงแท้ หรือมีอนัตตลักษณ์เป็นองค์ประกอบด้วยนั่นเอง

ดังนั้นมนุษย์จึงควรใช้เวลาที่ตนมีอยู่เพียงน้อยนิดนั้นประพฤติธรรมเพื่อเข้าถึงความจริงหรือบรรลุความรู้แจ้งในไตรลักษณ์

ส่วนเวลาของสังคมนั้นมีระยะยืนยาวกว่าช่วงชีวิตมนุษย์ กล่าวคือเวลาของสังคมมีความหมายต่อมนุษย์ก็ในยุคของพระพุทธเจ้าองค์ที่ ๕ แห่งภัททกัลป์ ( ศรีอาริยเมตไตร ) มีลักษณะอนิจจังเช่นกัน คือ มีระยะเวลาเพียง ๕,๐๐๐ ปี และระหว่างนั้นก็เป็นเวลาที่สังคมค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อมลงทุกขณะจนถึงยุคแห่งการแตกดับอย่างมิคสัญญีที่มนุษย์ต้องล้มตายลง [โปรดดูรายละเอียดใน อรรถจักร์ ๒๕๓๑ : ๑๐๐ - ๑๑๕ ] มีการกลับหัวกลับหางไปบ้างเล็กน้อย.

ชั้นต้น, ในแง่นี้ความเปลี่ยนแปลงจึงถือเป็นเรื่องปกติและมักเกิดขึ้นควบคู่กับยุคสมัย เพียงแต่ว่าในกรณีของ "บ้านเมือง" หรือรัฐ คนรุ่นหลวงวิจิตรฯ บางส่วนกำลังเชื่อว่าน่าจะเปลี่ยนแปลงไปสู่ความศิวิไลซ์ และชีวิตมนุษย์จะบรรลุถึงความสุขความเจริญได้ก็แต่ภายในรัฐหรือ "บ้านเมือง" ซึ่งดำรงอยู่ในเวลาที่ยาวนานกว่ามนุษย์แต่ละคน ฉะนั้นในแง่นี้ปัจเจกชนแต่ละคนจึงควรอุทิศตนเพื่อ "บ้านเมือง" หรือชีวิตที่ดีในรัฐนั่นเอง

ในทางกลับกันด้วยอายุที่ยั่งยืนกว่าของ "บ้านเมือง" เมื่อเทียบกับชีวิตคนนี้ รัฐหรือชาติบ้านเมืองจึงมี "อำนาจ" เหนือชีวิตมนุษย์ด้วย บางครั้งมนุษย์แม้แต่ในชั้นผู้ปกครองก็จึงไม่สามารถบงการอำนาจรัฐหรือระเบียบการปกครองได้โดยอิสระ (หรือปราศจากการควบคุม ) เช่นที่หลวงวิจิตรฯ แก้ต่างให้กับผู้ปกครองสมบูรณาฯ ว่า


แต่ในข้อนี้เราจะติพระองค์ไม่ได้ เพราะในสมัยนั้น ใคร ๆ ก็ต้องทำอย่างนั้น พระเจ้าแผ่นดินทั่วโลกกำลังพยายามตัดรอนอำนาจขุนนางและเจ้าครองนครต่าง ๆ เพื่อรั้งเอาอำนาจสิทธิขาดเข้ามาไว้ในพระหัตถ์ และสมบุรณาญาสิทธิราชเป็นของสบสมัยอยู่ในครั้งกระโน้น อนึ่งเมื่อพิจารณาถึงสภาพของเมืองไทย เมื่อ ๕๘ ปีมาแล้ว ก็เห็นได้ว่าจำเป็นจริง ๆ ที่จะต้องให้กษัตริย์มีอำนาจสมบูรณ์ แต่มาถึงสมัยนี้สภาพการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปเพียงไรนั้น เป็นปัญหาอีกเรื่องหนึ่ง ( น. ๖๒ - ๖๓ ).


-๔-

กษัตริย์ / เจ้า VS. ขุนนาง / ราษฎร

ในการอธิบายให้ความหมายต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หลวงวิจิตรฯ ขยายตัวแบบความสัมพันธ์ระหว่างเจ้ากับขุนนางออกไปครอบคลุมถึงกษัตริย์และราษฎร กล่าวคือในขณะที่ "เจ้า" มีพระมหากษัตริย์เป็นผู้นำสูงสุด ทั้งในด้านจารีตทางการเมืองตามระบบการสืบทอดอำนาจผ่านทางสายโลหิต และอีกทางก็หมายถึงวัฒนธรรมทางด้านสติปัญญา ที่ถือว่าตนเป็นผู้กุมองค์ความรู้โดยรวมของสังคม ฝ่ายขุนนางก็มี "ราษฎร" เป็นฐานสนับสนุนจำนวนมหาศาล เนื่องจากศักดินาไทยไม่มีระบบการสืบทอดตำแหน่งขุนนาง ผ่านทางสายเลือดเช่นเดียวกับศักดินายุโรปบางแห่ง หากขุนนางไทยจะถูกแต่งตั้งจากกษัตริย์โดยจะคัดเลือกจากราษฎรเป็นสำคัญ ด้วยเหตุนี้ขุนนางจึงเป็นกลุ่มชนที่อยู่กึ่งกลางความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับราษฎร ทำหน้าที่ใช้อำนาจทางปกครองแทนองค์กษัตริย์หรือตามที่กษัตริย์มอบหมาย หรือในทางกลับกันก็ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของราษฎรในการรับใช้กษัตริย์ (4)

เหตุที่ผู้ก่อการ ๒๔ มิถุนาฯ กระทำการในฐานะตัวแทนของราษฎร อีกทั้งยังแสดงตนเป็นคนชั้นเดียวกับราษฎรที่รู้สึกเจ็บร้อนต่อความเป็นไปของเหตุการณ์บ้านเมือง ความล้มเหลวของกษัตริย์สมบูรณาฯ และเจตนารมย์ความต้องการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า รูปการณ์สำนึกดังกล่าวหลวงวิจิตรฯ อธิบายถึงร่องรอยเดิมว่ามีที่มาจาก "ความคิดของไทยเรา" (เอง) เขากล่าวว่า


สำหรับความคิดของไทยเรา ขุนนางกับราษฎรจึงนับว่าเป็นชั้นเดียวกัน การแบ่งชั้นบุคคลในทางสมาคม (ไม่กล่าวถึงศาสนา) จึงมีอยู่ ๒ ชั้น คือ เจ้ากับราษฎร ในสมัยใดขุนนางมีอำนาจมาก ในสมัยนั้นราษฎรก็รู้สึกว่าตนมีอำนาจด้วย ถึงความจริงจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่ความรู้สึกของราษฎรมีอยู่ดังนั้น ( น. ๘๙ )


ในแง่นี้การเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงดูมีรากอันซับซ้อนจากภายในสังคมไทยอยู่แต่เดิม อิทธิพลภายนอก เช่น อังกฤษ และฝรั่งเศส แทบจะไม่มีบทบาท (อย่างน้อยก็ในความคิดหลวงวิจิตร) ตรงข้ามอิทธิพลจากภายนอกนั้น ยังต้องปรับเปลี่ยนและเผชิญการต่อต้านจากภาวะความเป็นสมัยใหม่ที่ถูกสร้างจากภายใน เพื่อสอดรับกับสถานการณ์ทางสากลอยู่เนือง ๆ การเปลี่ยนแปลงที่ถึงรากจริง ๆ จึงไม่อาจเป็นการโค่นล้มรากเหง้าเดิมได้ หากแต่จะเป็นการปรับประยุกต์สืบต่อเค้าโครงการเปลี่ยนแปลงที่มีอยู่ก่อนหน้านั้น

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าหลวงวิจิตรจะเชื่อมั่นอย่างสุดโต่งต่อพลังอำนาจที่มาจากภายในนี้ ปัจจัยภายนอกไม่ได้ถูกละเลยไปเสียทีเดียว หากแต่ "ภายนอก" ที่น่าสนใจนั้น หลวงวิจิตรให้ความสำคัญกับญี่ปุ่นค่อนข้างมาก ซึ่งโดยนัยความหมายก็คือ อิทธิพลจากด้านตะวันออกนั่นเอง (5) จุดนี้นำไปสู่ภาวะความขัดแย้งในตัวเองของงานหลวงวิจิตรชิ้นนี้ กล่าวคือ

การเน้นย้ำถึงความคิดที่เป็นของไทยเราเอง (ซึ่งไม่มีนิยาม ตลอดจนวิธีการที่แน่ชัดนักในการจำแนกแยกแยะ หรือชี้ให้เห็นลักษณะอันเป็นการเฉพาะ ของตัวแบบที่ใช้ศึกษา) มันเป็นเพียงการเปลี่ยนย้ายบริบทของตัวตนในงานจากตะวันตกสู่ตะวันออก ความคิดในแบบที่เป็นของไทยเราเองที่หลวงวิจิตรอ้างถึงในที่นี้ จึงเป็นแต่เพียงจุดเชื่อมประสานในรอยต่อของอีกสองปัจจัยภายนอกอันยิ่งใหญ่ (ตะวันตก vs. ตะวันออก) ในแง่นี้ความคิดที่เป็นแบบของไทยเราเองตามที่หลวงวิจิตรเอ่ยอ้างนี้ จึงไม่ใช่ความคิดที่มีพลวัตความสำคัญอยู่ในตัวมันเอง หากท้ายสุดแล้วเป็นแต่เพียงความคิดที่จะเป็นศูนย์กลางความขัดแย้งระหว่างความคิด อันมีแหล่งที่มาจากซีกโลกที่ใหญ่กว่าทั้งสอง (ตะวันออก vs. ตะวันตก)

ภายใต้การคิดแบบแบ่งโลกเป็นสองขั้ว [Dichotomy] เช่นนี้ แน่นอนว่าน้ำหนักความเป็นกลางในอัตวิสัยย่อมไม่มีอยู่จริง ด้วยเหตุนี้การแบ่งขั้วดังกล่าวจึงนำหลวงวิจิตรให้มีความโน้มเอียงไปสู่อีกซีกโลกหนึ่งมากกว่าอีกซีกเป็นธรรมดา กล่าวคือเมื่อถึงคราวเสนออย่างจริงจัง หลวงวิจิตรจะสนับสนุนหรือแสดงความชื่นชมเป็นพิเศษกับทางตะวันออกมากกว่า โดยที่หารู้ไม่ว่าท้ายสุดแล้วการพยายามเชิดชูความเป็นตะวันออก [ Orientalism ] นั้น เป็นการประกอบสร้างความเป็นอื่นขึ้นมาโดยโลกตะวันตกเอง ในการแสดงความเหนือกว่าต่ออีกซีกโลกหนึ่ง อันจะกรุยทางไปสู่ความชอบธรรมในการสร้างความยอมรับ หรือนัยหนึ่งคือยอมจำนนนต่อวิทยาการสมัยใหม่ที่กำเนิดจากภายในโลกของตน การนี้อีกซีกโลกหนึ่ง (ซึ่งก็คือตะวันออก) จะถูกเหยียดลงเป็นพวกที่ยังป่าเถื่อน ไร้อารยธรรมอยู่นั่นเอง มันจึงไม่ใช่การเล็งเห็นคุณค่าในภูมิปัญญาของตะวันออกอย่างแท้จริง (6)

แม้จะให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองอยู่มากก็ตาม หลวงวิจิตรฯ ก็พยายามหลบเลี่ยงที่จะกระทบกับอำนาจเดิมโดยตรง จุดยืนต่อสถาบันกษัตริย์นั้นมีความชัดเจน เนื่องจากเห็นว่า "เมืองไทยเรายังไม่เหมาะสำหรับจะเป็นริปับลิก" ( น. ๑๗๕ ). ส่วนความผิดพลาดในการบริหารงานและการแก้ไขปัญหา ท่ามกลางวิกฤติของรัฐบาลกษัตริย์สมบูรณาฯ หลวงวิจิตรฯ อธิบายว่าเป็นความผิดพลาดของ "ระเบียบการ" ตัวบุคคลหรือองค์พระมหากษัตริย์ไม่มีส่วนที่ต้องรับผิดชอบ การพิจารณาโดยอ้างอิงถึง "บริบท" ในแง่นี้กษัตริย์จึงยังมีความชอบธรรมในการดำรงอยู่ค่อนข้างสูง หากแต่ผลพวงของการเปลี่ยน "ระเบียบการ" นั้นยากแก่การขีดขั้น เพราะระเบียบใหม่ก็ต้องการเสถียรภาพและทำหน้าที่ของมันโดยราบรื่น หลวงวิจิตรฯ กล่าวว่า


แต่ความผิดอันนี้ไม่ใช่ความผิดส่วนตัวบุคคล เป็นความผิดของระเบียบการที่เราตั้งไว้ไม่ดี ฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงที่เราควรจะต้องกระทำ ก็คือเปลี่ยนระเบียบ ไม่ใช่เปลี่ยนตัวคน ไม่ใช่ไล่เจ้าออกจากราชการทั้งหมด ไม่ใช่เปลี่ยนองค์สมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน ไม่ใช่แย่งราชสมบัติ เป็นแต่ต้องการเปลี่ยนระเบียบเท่านั้น ( น. ๑๑๖ ).


ที่นอกเหนือไปกว่านั้นหลวงวิจิตรฯ ยังยอมรับแนวความคิดเรื่อง "พ่อปกครองลูก" ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระดำรงราชานุภาพเคยเสนอไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ในปาฐกถาอันลือชื่อเรื่อง "ลักษณะการปกครองประเทศสยามแต่โบราณ" [ดำรงราชานุภาพ ๒๕๑๙ : ๑๗ - ๕๒ ] มาใช้อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับราษฎรในบริบทของการเมืองไทยยุคใหม่ (หลังเปลี่ยนการปกครอง) ทั้งที่เดิมสมเด็จฯ กรมพระดำรงราชานุภาพทรงใช้ในกรณีสุโขทัยยุค "พ่อขุน" (รามคำแหง) เป็นการเฉพาะ นัยหนึ่งก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นความคิดของหลวงวิจิตรฯ เองที่เห็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองจะช่วยให้มีการรื้อฟื้นรูปแบบความสัมพันธ์เช่นนั้นกลับมา ทั้งยังจะเป็นการเพิ่มพูนความจงรักภักดีมากขึ้นกว่าแต่ก่อนเสียอีก เนื่องจากพระราชอำนาจเดิมเกิดการพังทลายลงนั่นเอง เช่นที่เขากล่าวแทนเพื่อนในคณะราษฎรของเขาและราษฎรทั้งประเทศไว้ว่า


ถึงแม้ว่าระเบียบประเพณีการปกครองจะได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วก็ตาม คณะราษฎรและประชาชนชาวสยาม ยังบูชาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสมอ แม้ว่าพระองค์จะได้สละพระเดชแล้ว พระคุณของพระองค์ก็ยังฝังอยู่ในหัวใจของคนทั่วไป ราษฎรทั้งประเทศยังคงถือว่า พระองค์ทรงเป็นพระบิดา การที่ได้พระราชทานอำนาจแก่ราษฎรให้ปกครองตนเองนั้น ก็เป็นประหนึ่งบิดาที่แลเห็นบุตรเติบโตพอจะคุ้มครองกันได้ ก็ปล่อยให้หัดปกครองกันบ้าง ถึงแม้พวกบุตรจะปกครองกันเอง ฐานะของพระองค์ก็ยังคงเป็นพระบิดาที่รักที่บูชาของบุตรทั้งหลายอยู่เสมอ และการที่ได้เห็นน้ำพระทัยในครั้งนี้ จะเพิ่มพูนความจงรักภักดียิ่งขึ้นกว่าเก่าเสียอีก ( น. ๘ เน้นโดยผู้อ้าง ).


เบื้องต้นนั่นสะท้อนอิทธิพลทางความคิดของระบอบปิตาธิปไตยหรือชายเป็นใหญ่ (Paternalism / Patriarchy) (7) "กษัตริย์" เป็นตำแหน่งประมุขสังคมการเมืองที่ถูกผูกขาดโดยฝ่ายชาย และ "พระบิดา" ก็จัดเป็นการยกย่องกษัตริย์ในฐานะชายที่เป็นใหญ่ในสังคม ช่วยสร้างภาพลักษณ์ให้สังคมดูมีความเท่าเทียมกันและอยู่ร่วมกันอย่างเป็นปกติสุข ขณะเดียวกัน "พระบิดา" ก็ไม่ได้ช่วยให้กษัตริย์สามารถหลบเลี่ยงประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ที่มีอยู่ในสังคมแต่อย่างใด ตรงข้ามนั่นยิ่งเป็นการเน้นย้ำให้ประเด็นดังกล่าวมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

เพราะฐานะ "พระบิดา" ที่จริงย่อมสะท้อนโดยนัยอยู่แล้วว่า เหนือกว่าและมีอำนาจมากกว่าบุตร และในแง่นี้การปกครองประเทศ ก็จึงไม่มีความแตกต่างจากการปกครองภายในครัวเรือน หน่วยทางการเมืองถูกย่อยให้เล็กลงตามกัน นั่นหมายถึงภาวะที่บิดาต้องมีหน้าที่ควบคุมบุตร (ซึ่งในที่นี้ก็หมายถึงประชาชน) อย่างใกล้ชิด และการควบคุมที่ว่านั้นก็รวมไว้ทั้งการควบคุมรูปแบบการมีชีวิตและสิทธิที่จะตาย ชีวิตภายในรัฐจึงหดแคบตามไปด้วย โดยมีมิติแค่เพียงชีวิตภายใต้การปกครอง ส่วนชีวิตอื่นที่อยู่นอกเหนือปริมณฑลดังกล่าวกลายเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ทั้งยังดูเป็นชีวิตที่ไร้ซึ่งความศิวิไลซ์ไปอีก อันที่จริงการยกย่องกษัตริย์ให้เป็นบิดานี้ ควรจบสิ้นลงพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่การณ์หาได้เป็นดังนั้นไม่ หลวงวิจิตรฯ นี่เองที่เป็นผู้มีบทบาทแรก ๆ ในการรื้อฟื้นแบบแผนการยกย่องดังกล่าว ทั้งยังเป็นการเสนอเรื่องนี้ต่อผู้นำระบอบใหม่ด้วย เช่นที่เขาแจกแจงดังนี้


สำหรับองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าเราควรดำเนินตามแบบญี่ปุ่นให้มาก กล่าวคือถ้าเราต้องการจะปลดเปลื้องภาระของพระองค์มิให้ต้องทรงกังวลกับกิจการบ้านเมือง เราก็จำต้องผูกพระองค์ขึ้นไว้เป็นที่กราบไหว้บูชา เราจะต้องถือพระองค์เป็นเหมือนพระบิดาของพวกเรา และเราจะต้องเอาหลักความเป็นไปในครอบครัวมาใช้เป็นหลักปกครองประเทศ (น. ๑๗๕ )


แต่ปรากฏว่าข้อเสนอนี้ไม่ได้รับความสนใจจากผู้ก่อการ ๒๔ มิถุนาฯ เท่าที่ควร จอมพล ป. พิบูลสงคราม ท่านผู้นำของหลวงวิจิตรฯ เพิ่งจะสนใจก็ในช่วงกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ ๒ (หลังจากเกิดรัฐประหาร ๒๔๙๐) การปกครองแบบพ่อ - ลูก โดยถือว่ารัฐกับครอบครัวนั้นมีหน่วยการปกครองที่สอดคล้องกัน อันที่จริงมีคุณประโยชน์อย่างสูงแก่ผู้นำที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งตามระบอบสิทธิธรรมแบบประชาธิปไตยสมัยใหม่ และกำลังประสบปัญหาความชอบธรรมทางการเมืองจารีต เหตุนี้แนวคิดนี้จึงเหมาะแก่ผู้นำที่ขึ้นสู่อำนาจโดยรัฐประหาร

ชั้นต้นสิ่งที่เห็นชัดจนเป็นที่ยุติได้นั้นคือ ด้วยการเป็นพ่อแล้ว การเลือกตั้งดูเป็นเรื่องไร้สาระ และไม่มีความจำเป็นโดยทันที ( ในความเป็นจริงไม่มีใครเป็น "พ่อ" ได้โดยเลือกตั้ง ) การยอมรับนั้นก่อเกิดได้ง่ายนอกจากทางสายเลือดแล้ว จารีตเดิมเกี่ยวกับการปกครองภายในครัวเรือนก็สนับสนุนอยู่ ข้อเสนอนี้ภายหลังจึงเป็นที่สนใจแก่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หลังรัฐประหาร ๒๕๐๒ [ ทักษ์ ๒๕๒๖ ] และดังที่ทราบกันคือ หลวงวิจิตรฯ เองก็มีบทบาทต่อการสร้างภาพลักษณ์ "พ่อขุน" แก่จอมพลสฤษดิ์ เช่นเดียวกับที่เคยประสบความสำเร็จในการสร้างภาพลักษณ์ "ผู้นำ" แก่จอมพล ป. พิบูลสงคราม การณ์นี้หลวงวิจิตรฯ ใช้พ่อขุนรามคำแหงเป็นตัวแบบอ้างอิงสำคัญในทางประวัติศาสตร์ [ วิจิตรวาทการ ๒๕๐๘ ].


-๕-

เป็นที่น่าสังเกตว่าขณะที่ให้ความหมายต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ว่า "เป็นการใหญ่หลวงเท่ากับพลิกแผ่นดิน" ( น. ๑๖๖ ). แต่ในอีกหน้าหนึ่งก่อนนั้น หลวงวิจิตรฯ กลับบอก "ไม่ใช่การกบฎ ไม่ใช่การจลาจล ไม่ใช่เหตุร้ายแรง เป็นเพียงคณะราษฎรยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินไว้เท่านั้น" ( น. ๑๒๒ )

ด้วยความที่มุ่งหมายแต่จะแก้ต่างให้กับผู้ก่อการมากเกินกว่าจำเป็น กระทั่งเกิดขัดแย้งในตัวเองขึ้นหลายจุด นอกจากที่ชี้ข้างต้นนี้แล้ว ในส่วนที่อธิบายถึง "ระเบียบการ" ว่ามีส่วนกำหนดความเป็นไปต่าง ๆ ของสังคมการเมือง แต่ท้ายสุดเมื่อยังไม่เป็นที่แน่ชัดหลวงวิจิตรฯ ก็จัดการ "ล้มกระดาน" แนวคิดเรื่อง "ระเบียบการ" ไปทันที โดยบางจุดหันมาให้ความสำคัญกับพฤติกรรมของบุคคลและสถานการณ์พาไป เช่นที่กล่าว "เรายังไม่แน่ใจกันว่า ในเวลานี้ คณะราษฎรกำลังเดินทางไหน ข้าพเจ้าเคยถูกถามว่าจะควรดำเนินทางใด ข้าพเจ้าก็ตอบไปว่าสุดแล้วแต่พฤติการณ์" ( น. ๑๖๗ ). ทั้งที่ในกรณี ร.๗ หลวงวิจิตรฯ ก็อธิบายไปในอีกเวอร์ชั่น กล่าวคือ ไม่ใช่ความผิดของตัวบุคคลหรือแม้แต่สถาบันเองก็ไม่ใช่ !! หากเป็น "ระเบียบการ" ที่ตั้งขึ้นนั้น

แต่ไม่ว่าเบื้องหลังของเหตุการณ์ (การเปลี่ยนแปลงการปกครอง) จะเป็นอะไรก็ตามที การอธิบายเช่นนี้ก็มีปัญหาอยู่โดยตัวมันเอง เนื่องจากเป็นการอธิบายที่พุ่งเป้าไปที่บทบาทของกลุ่มคนชั้นนำ ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยแต่ทรงอำนาจ "การเมือง" ที่กล่าวถึงจึงเป็นการเมืองที่จำกัดกรอบอยู่ภายใต้ตัวบริบทนั้นด้วย การกล่าวถึง "ราษฎร" ก็แทบจะไม่มีความหมาย เนื่องจากเป็นราษฎรที่ไม่มีอำนาจที่จะกำหนดสถานภาพของตนเอง หากแต่ต้องโอนไหวไปตามบทบาทขุนนางไม่ก็กษัตริย์

เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้เอง ที่การ "ยึดอำนาจ" ถูกอธิบายขยายความให้เป็นเรื่องปรกติที่ต้องเกิดขึ้นเมื่อถึงคราวจำเป็น แม้แต่สถาบันกษัตริย์เองก็เคยใช้วิธีเดียวกันนี้มาก่อน เมื่อครั้งสมัย ร.๕ พระองค์ทรงยึดอำนาจมาจากขุนนางนั่นเอง ในแง่นี้ประวัติศาสตร์รัชกาลที่ ๕ (หรือแม้แต่สมัยพระบรมไตรโลกนาถ ที่ทรงเปลี่ยนแปลงระบอบฟิวดัลลิสม์อยุธยา) จึงเป็นประวัติศาสตร์ปัจจุบันของ ๒๔๗๕ เป็นการใช้ประโยชน์จากการตีความอดีตเพียงบางด้านเท่านั้น เหตุนี้เมื่อกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงสมัย ร.๕ หลวงวิจิตรฯ ก็กลับละเลยที่จะกล่าวถึง "จุดด่างของการเปลี่ยนแปลง" อย่างกรณีกบฎผีบุญ หรือไม่ก็เรื่องอื่นที่ชวนให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงโดยรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางสมัย ร.๕ นั้นไม่มีความชอบธรรม

อันที่จริงนับเป็นเรื่องปกติอยู่เองสำหรับการตีความอดีตโดยมีการเลือกข้างอยู่ในใจ แต่ "ข้าง" ที่หลวงวิจิตรฯ เลือกนั้นกลับมักเป็นข้างฝ่ายผู้มีอำนาจ ด้วยฐานการเลือกเช่นนี้จึงเป็นอันเข้าใจได้ว่า ทำไมหลวงวิจิตรฯ ถึงเลือกข้างฝ่ายคณะราษฎรภายหลังจากที่ฝ่ายเจ้าเริ่มอ่อนกำลังลง และพอจอมพล ป. พิบูลสงคราม หมดอำนาจก็เลือกข้างจอมพลสฤษดิ์ ฉะนั้นถ้าจะประเมินดูความลึกซึ้งของอิทธิพลทางความคิดของหลวงวิจิตรฯ ที่มีต่อประวัติศาสตร์ไทย ก็อาจเข้าใจในเบื้องต้นได้ด้วยเพราะการเลือกข้างของหลวงวิจิตรฯ เขาสนับสนุนอำนาจและใช้ประโยชน์จากความที่ใกล้ชิดกลไกการใช้อำนาจ ขณะเดียวกันสิ่งที่เขาเสนอนั้นอันที่จริงก็ไม่ได้ไปไกลกว่าสภาพความรับรู้ที่สังคมการเมืองมีอยู่ในขณะนั้น เขาคิดไม่ต่างจากที่ฝ่ายกษัตริย์คิด หรือแม้เมื่อเลือกข้างคณะราษฎร ข้อเสนอของเขาก็ไม่ได้ต่างอย่างมีนัยสำคัญจากที่ผู้ก่อการปราถนา

จริงอยู่ว่า คณะราษฎร และการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ มีคุณูปการต่อสังคมการเมืองไทยเป็นอย่างยิ่ง แต่ไม่เป็นการจำเป็นเท่าไรเลย ที่จะอุทิศประวัติศาสตร์ทั้งหมดเพื่อรับใช้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เพราะถึงทีสุดแล้ว การเปลี่ยนแปลงอันนั้นก็นำมาสู่การสถาปนาโครงสร้างอำนาจและสถาบันอย่างใหม่ ที่เป็นประโยชน์ต่อคนเพียงไม่เท่าไร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันนี้ กล่าวได้ว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ นั้นมีเสถียรภาพในตัวเองมากพอที่จะเป็นอิสระต่อแนวมองอย่างใดอย่างหนึ่ง เราสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้โดยไม่พึงจะถูกกล่าวหาว่าเป็น "กบฎ" หรืออยู่ข้างฝ่ายกษัตริย์นิยม หรือพวกรื้อฟื้นระบอบสมบูรณาฯ ซึ่งหมดสมัยไปแล้ว เช่นดังในอดีต

สุดท้ายคนที่มีรากกำเนิดจากสามัญชน เช่น หลวงวิจิตรฯ ก็ไม่ได้คิดหรือเขียนเพื่อคนชั้นเดียวกับตัวเอง พื้นเพหรือภูมิหลังทางด้านชีวิตส่วนตัว บางครั้งก็ไม่ได้มีส่วนกำหนดต่อการก่อรูปความคิด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการเขียนประวัติศาสตร์


กำพล จำปาพันธ์
นักวิชาการอิสระ
สมาชิกมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เชิงอรรถ

1. ส่วนการอ้างอิงในหน้าต่อไป (ซึ่งตัวเล่มจะมีการระบุเลขหน้าไว้) เพื่อให้อ่านได้ราบรื่น ผู้เขียนจึงใส่ตัวเลขไว้ในเนื้อหาบทความ.

2. น่าสนใจที่ทัศนะดังกล่าวสอดคล้องกับ concept ที่ถือว่ายัง "ใหม่" อยู่ (ในวงวิชาการปัจจุบัน) เกี่ยวกับรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์สยาม เช่น [ สมเกียรติ ๒๕๒๕ ]. แม้ว่าสมเกียรติจะออกตัวอย่างตรงไปตรงมาว่า "บทความขนาดสั้นชิ้นนี้เขียนขึ้นเพื่อประกอบการปาฐกถา เนื้อหาจึงมีลักษณะไปในทางการตั้งคำถาม และจับประเด็นบางประการเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน มากกว่าเป็นรายงานผลการค้นคว้าวิจัยทางวิชาการโดยตรง

หรือกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่าบทความนี้มิใช่ความพยายามในการเขียนประวัติศาสตร์ของรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ในสยาม หากแต่เป้าหมายหลักอยู่ที่การทบทวนข้อเขียนที่พาดพิงถึงประวัติศาสตร์ของรัฐดังกล่าวเอาไว้เป็นเบื้องต้นเท่านั้น" แต่ทั้งนี้ก็น่าสังเกตว่าการใช้ประโยชน์ (ในรูปของการอ้างอิง) จากบทความนี้กลับเป็นไปอย่างชนิดที่ตรงกันข้าม ดูเหมือนจะยอมรับประเด็น / ข้อเสนอ กันง่ายดายเกินไป ไม่ปรากฏมีการวิจารณ์หรือตั้งคำถามกันอย่างเพียงพอ ทั้งที่นั่นเป็นประเด็นที่ออกจะ "เก่า" อย่างสุดบรรยาย ขนาดที่คนที่ไม่เป็นที่ยอมรับในภายหลังเช่น หลวงวิจิตรวาทการ ก็ยังเคยคิดเคยเขียนมาก่อนตั้งแต่เมื่อครั้ง ๒๔๗๕ นอกจากนี้ยังมีงานชั้น "ครู" อื่น ๆ อีกอย่างน้อยสองชิ้นที่สะท้อนประเด็นดังกล่าว ได้แก่ เฮง สถิตถาวร [๒๔๗๕] และหลวงจักรปาณีศรีศิลป์วิสุทธิ์ [๒๔๗๕]

กระนั้นก็ตามข้อสังเกตดังกล่าวนี้ก็ไม่มีผลต่อส่วนที่เป็นคุณูปการของสมเกียรติแต่อย่างใด เนื่องจากสมเกียรติรื้อฟื้นมุมมองนี้ขึ้นมาใหม่ หลังจากที่มีการตีความกันมากว่า ร.๕ สร้างรัฐประชาชาติ ทั้งที่รูปแบบรัฐที่พระองค์สร้างขึ้นสมควรถูกเรียก "รัฐสมบูรณาญาสิทธิ์" เสียมากกว่า [โปรดดู สมเกียรติ วันทะนะ. ๒๕๒๕ ] แม้จะไม่ "ใหม่" เสียเท่าไร แต่กล่าวได้ว่าชิ้นนี้ของสมเกียรติก็มีคุณูปการอยู่มาก.

3. หลังจากที่มีการประกาศรับสมัครบุคคลเข้าเป็นสมาชิกคณะราษฎรโดยมีนายทวี บุญยเกตุ เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ ปรากฏการณ์หนึ่งที่มักจะมีการพูดถึงกันเสมอนั่นก็คือ การที่มีประชาชนเป็นจำนวนมากพร้อมใจกันสมัครเข้าเป็นสมาชิกคณะราษฎร.

4. โปรดดูรายละเอียดในงานศึกษาเกี่ยวกับขุนนางโดยตรง [เช่น มานพ ๒๕๓๖. และ ส. พลายน้อย ๒๕๔๘].

5. จากการไม่ให้ความสำคัญกับปัจจัยที่เหนือกว่าเช่นตะวันตกนี้เอง ที่เป็นอีกสาเหตุหนึ่งซึ่งนำไปสู่ความกล้าในการท้าทายต่อโลกตะวันตก (เช่น ฝรั่งเศส) โดยตรง ดังปรากฏเป็นสงครามอินโดจีนในเวลาต่อมา น่าสังเกตว่าครั้งนั้นหลวงวิจิตรกับหลวงพิบูลสงคราม ผู้นำรัฐไทยในครั้งนั้น ต่างกล้าดีถึงขนาดกล่าวโจมตีโลกตะวันตก (คือ ฝรั่งเศส) ว่าเป็นชาติที่มีอารยธรรมด้อยกว่าเผ่าพันธุ์ (ไทย) ของตนด้วยซ้ำ ดังที่ผู้เขียนสะท้อนไว้ในที่อื่นแล้ว [เช่น กำพล ๒๕๔๖ : ๑๒๒ - ๑๒๔] ก่อนที่สงครามเต็มรูปจะปรากฏ

แต่ครั้นเมื่อญี่ปุ่นซึ่งเป็นตัวแทนฝ่ายตะวันออกเข้ามาทำการไกล่เกลี่ยภายหลังสงครามดำเนินไประยะหนึ่ง โดยที่การไกล่เกลี่ยนั้นส่งผลให้ฝ่ายไทยได้ดินแดนส่วนหนึ่งซึ่งเชื่อกันว่าเคยเป็นของไทยมาแต่ครั้งก่อนนั้น จึงออกจะดูสมเหตุสมผลอยู่มาก นับเป็นการพิสูจน์ถึงความเชื่อ (เกี่ยวกับความเหนือกว่าของตะวันออก) ในหมู่ผู้นำไทยบางคน (ซึ่งมีอำนาจ) ในครั้งนั้น โดยที่ไม่นึกเคลือบแคลงต่อบทบาทญี่ปุ่นและอำนาจของตนที่ไม่อาจรักษาระเบียบในระหว่างทำสงครามได้ดีไปกว่าฝรั่งเศสแต่อย่างใด.

6. ปัจจุบันแนวคิดในการศึกษาประเด็นดังกล่าวมีการเติบโตไปค่อนข้างมาก จนเกิดเป็นกระแสที่เรียกกันว่า "หลังอาณานิคม" [Post colonial] โดยประเด็นความสนใจได้เปลี่ยนย้ายจากการวิเคราะห์โครงสร้างทางการเมืองมาเป็นประเด็นทางศิลปะและวัฒนธรรม [ โปรดดู Said 1995 ] เนื่องจาก Postcolonial ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างเผ่าพันธุ์เป็นพื้นฐาน

ฉะนั้นสิ่งที่จะถูกพิจารณาก่อนก็คือผู้เขียนเป็นใคร? ใช้ชีวิตอยู่ในอาณาบริเวณศูนย์กลางหรือชายขอบของความเป็นตะวันออก - ตก อย่างไร? และผู้เขียนคนดังกล่าวมีอัตลักษณ์ที่ลงรอยกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ว่านั้นมากน้อยเพียงใด Postcolonial จึงให้ความสำคัญกับเรื่องเล่าอันเป็นเฉพาะกรณีด้วย กระบวนการนี้ก็เพื่อคลี่คลายไปสู่การพิจารณางานเขียนของเขาว่ามีลักษณะเฉพาะ [ Specificity ] ในการต่อสู้กับการครอบงำจากตะวันตกอย่างไรนั่นเอง

แต่อย่างไรก็ตามการพิจารณางานเขียนของหลวงวิจิตรในบทความนี้ก็ไม่ได้ยึดถือตามแนวทางดังกล่าว ( ทั้งจะโดยเคร่งครัด และ/หรืออย่างหยาบ ๆ ) แต่อย่างใด เนื่องจากโดยจุดใหญ่ใจความสำคัญที่ผู้เขียนพบจากการ "อ่าน" งานเขียนเก่า ๆ หลายเล่ม ( ซึ่ง "การเมืองการปกครองของกรุงสยาม" ก็เป็นหนึ่งในนั้น ) ว่า งานเหล่านั้นมีเป้าหมาย (ทางการเมือง) ที่ไม่สอดรับกับกระแสแนวคิดเรื่องการต่อต้านการใช้ตะวันตกเป็นศูนย์กลางเสียเท่าไร เหตุก็ด้วยเพราะสยามอันเป็นบริบทในงานเหล่านั้นไม่เคยผ่านประสบการณ์การเป็นอาณานิคมโดยตรงมาก่อน แม้ว่าโครงสร้างทางสังคมการเมืองจะมีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่กระบวนการทำให้ทันสมัย [Modernization] แต่อุปสรรคด้านภาษาก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้การครอบงำจากตะวันตกหรือการเข้ามาของปัจจัยภายนอกนั้นเป็นไปได้อย่างยากลำบาก และไม่อาจสร้างอิทธิพลได้อย่างเบ็ดเสร็จ โดยเฉพาะเมื่อมองจากแง่มุมของตะวันตกเอง

ตรงข้ามสยามเข้าสู่กระบวนการทำให้ทันสมัยก็ด้วยการสมยอมของชนชั้นนำจากภายในเอง สิ่งนี้มีผลทำให้การต่อต้านความเป็นตะวันตก [Anti - Westernism] หรือต่อต้านฝรั่ง (ในภาษาไทย) มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นไปอีก เพราะมีชนชั้นนำเป็นตัวสื่อกลาง [Organizer] ทำหน้าที่ทั้งประสานรับและคอยปกป้องอยู่ในตัวนั่นเอง งานเขียนแนวต่อต้านตะวันตกโดยตรงจึงมักไม่ปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรม และหากมีงานประเภทนั้นเกิดขึ้นก็มักกลายเป็นงานที่ดูผิดฝาผิดรูป ไม่เข้ากับบริบทของสังคมไทย กลายเป็นงานที่ล้าสมัยไปเสียส่วนใหญ่

กล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าเราไม่อาจพบประเด็นการต่อต้านตะวันตกในโลกภาษาไทยเก่า ๆ แต่อย่างใด ตรงข้ามหากใช้มุมมองในเรื่องนี้มาวิเคราะห์ผ่านงานที่มีเป้าหมายทางการเมืองเพื่อต้านทานชนชั้นนำไทยเราก็ยังจะพบประเด็นนี้อยู่บ้าง เพียงแต่ว่า "วัตถุ" ในการศึกษาระหว่างตะวันตกกับชนชั้นนำ (ภายใน) นั้น น้ำหนักความโน้มเอียงมักตกอยู่ที่ฝ่ายหลังมากกว่า

ขณะเดียวกันด้วยการปิดตัวเองของชนชั้นนำไทยที่มีลักษณะอนุรักษ์นิยม ก็จะฉวยโอกาสใช้ประเด็นดังกล่าวมาเป็นข้ออ้างในการกล่าวหาหรือโจมตีฝ่ายตรงข้าม สร้างความเป็นอื่นขึ้นมาอย่างลอย ๆ เช่นกัน การนี้มีผลทำให้การ Anti - Westernism กลายเป็นเพียงเครื่องมือขจัดความขัดแย้งภายในเท่านั้น ไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดในการธำรงชาติ และการแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันดั้งเดิมเช่นกัน.

7. ผู้เขียนขอขอบคุณชนิดา ชิตบัณฑิตย์ และทวีลักษณ์ พลราชม ที่ชี้ให้เห็นความสำคัญของประเด็นนี้ แต่การอธิบายที่ไม่สู้จะสร้างความกระจ่างเท่าไรนักในที่นี้เป็นความรับผิดชอบของผู้เขียน.


บรรณานุกรม

Said, Edward. 1995 [1978]. Orientalism: Western conception of the orient. London : Penguin.

กอบเกื้อ สุวรรณทัต - เพียร. ๒๕๑๙. "การเขียนประวัติศาสตร์แบบชาตินิยม : พิจารณาหลวงวิจิตรวาท-การ" วารสารธรรมศาสตร์. ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๑ [ มิถุนายน - กันยายน ].

กำพล จำปาพันธ์. ๒๕๔๖. "การเมืองของการสมมตินามประเทศ: จากสยามและไทยกลายเป็นไทย[ระหว่างทศวรรษ ๒๔๓๐ - ๒๔๘๐ ]." วารสารอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร. ปีที่ ๒๖ ฉบับที่ ๑ [มิถุนายน - พฤศจิกายน ].

จักรปาณีศรีศิลป์วิสุทธิ์, หลวง [วิสุทธิ์ ไกรฤกษ์]. ๒๔๗๕. อธิบายธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามเปรียบเทียบกับประเทศต่าง ๆ. พระนคร : โรงพิมพ์สยามบรรณกิจ.

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. ๒๕๑๙. "ลักษณะการปกครองประเทศสยามแต่โบราณ" ปาฐกถาแสดงที่สามัคยาจารย์สมาคม เมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ ใน. ประชุมพระนิพนธ์บางเรื่อง. พระนคร : โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ.

ทักษ์ เฉลิมเตียรณ. ๒๕๒๖. การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ. แปลโดย พรรณี ฉัตรพล-รักษ์ และม.ร.ว. ประกายทอง สิริสุข. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. ๒๕๒๕. "การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ของสยาม: พรมแดนแห่งความรู้" วารสารธรรมศาสตร์. ปีที่ ๑๑ ฉบับที่ ๒ [ มิถุนายน ].

ประอรรัตน์ บูรณมาตร์. ๒๕๒๘. หลวงวิจิตรวาทการกับบทละครประวัติศาสตร์. [กรุงเทพฯ: สำนัก-พิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมูลนิธิโครงการตำรา.

มานพ ถาวรวัฒน์สกุล. ๒๕๓๖. ขุนนางอยุธยา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับมูล-นิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

วิจิตรวาทการ, หลวง. ๒๔๗๕. การเมืองการปกครองของกรุงสยาม. พระนคร: โรงพิมพ์ไทยใหม่.

วิจิตรวาทการ, หลวง. ๒๕๐๘. อานุภาพพ่อขุนรามคำแหง. อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ เรือเอก-หญิงอนงค์ ฉายานนท์ วันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๐๘. พระนคร : ไทยวัฒน์การพิมพ์.

วิจิตรวาทการ, หลวง. ๒๕๑๖. "พระมหากษัตริย์ของเรา" ปาฐกถาบรรยายทางวิทยุกระจายเสียงวันจันทร์ที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๔ ใน ปาฐกถาและคำบรรยายของพลตรีหลวงวิจิตรวาทการ. พระนคร : เสริมวิทย์บรรณาคาร.

ส. พลายน้อย [นามแฝง]. ๒๕๔๘. ขุนนางสยาม : ประวัติศาสตร์ "ข้าราชการ" ทั้งฝ่ายพลเรือนและทหาร. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน.

สมเกียรติ วันทะนะ. ๒๕๒๕. "รัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ในสยาม 2435 - 2475." เอกสารประกอบปาฐกถาทางวิชาการ จัดโดยสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย และคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย [๑๙ มีนาคม ๒๕๒๕ ].

สายชล สัตยานุรักษ์. ๒๕๔๕. ความเปลี่ยนแปลงในการสร้าง "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" โดยหลวงวิจิตรวาทการ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน.

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์. ๒๕๓๑. "ความเปลี่ยนแปลงความคิดทางเวลาในสังคมไทย" วารสารเศรษฐ-ศาสตร์การเมือง. ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๓ - ๔ [ ตุลาคม ].

อัจฉราพร กมุทพิสมัย. ๒๕๑๙. "แนวการเขียนประวัติศาสตร์ของหลวงวิจิตรวาทการ." ประวัติศาสตร์และนักประวัติศาสตร์ไทย. กรุงเทพฯ : กองบรรณาธิการสังคมศาสตร์ปริทัศน์.

เฮง สถิตถาวร. ๒๔๗๕. วิถีดำเนินการของคณะราษฎร. พระนคร : โรงพิมพ์สิริชัย.


ที่มา : มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน บทความลำดับที่ 662

ไม่มีความคิดเห็น: