วันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ดับเครื่องชนสังคม : Close and Uncritical


นิตยสาร GM
ฉบับเดือนสิงหาคม 2001

บทสัมภาษณ์ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล


ประวัติโดยสังเขป

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เกิดปี 2501 เป็นลูกคนจีน จบชั้นมัธยมจากสวนกุหลาบ แล้วมาต่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เลือกเรียนวิชาประวัติศาสตร์ด้วยความรักและคิดว่าจะได้ใกล้ชิดข้อมูลประเทศไทย โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อาจารย์หัวก้าวหน้าในยุคนั้นคือบุคคลหนึ่งที่เป็นเรี่ยวแรงบันดาลใจ ตุลาคม 2516 เป็นหนึ่งในนักศึกษาที่ขึ้นเวทีไฮด์ปาร์คและถูกจับขังคุก สมศักดิ์อยู่ในคุกบางเขน 2 ปี ก่อนจะออกมาเรียนต่อจบแล้วได้ทุนจากมหาวิทยาลัยในเมลเบิร์น จึงบินไปเรียนที่ออสเตรเลียจนจบปริญญาเอก กลับมาเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


ผลงาน

บทความในหน้าหนังสือพิมพ์ อาทิ ร.7 สละราชย์, ความผิดพลาดทางประวัติศาสตร์ของปรีดี พนมยงค์, จาก 2475 ถึง 6 ตุลาคม, เหมา เจ๋อ ตง กับขบวนการนักศึกษา, ใครเป็นใครใน 6 ตุลา, ป๋วย อึ๊งภากรณ์ สล้าง บุนนาค ธานินทร์ กรัยวิเชียร


ข่าวลือ

มีคนบอกว่าเขาเป็น ผี ท่าพระจันทร์ ผู้เสนอทรรศนะแรงกล้าว่าอย่านำเอาจิตวิญญาณมาค้าน กรณีย้าย-ไม่ย้ายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาปฏิเสธเชิงแบ่งรับแบ่งสู้ บอกว่าไม่สนใจตัวบุคคล สนเพียงแต่เนื้อหา และเห็นด้วยอย่างยิ่งกับ ผี ท่าพระจันทร์


ที่เห็นและเป็นไป

ตั้งคำถาม เสนอแนวคิดร้อนแรง ซึ่งนำไปสู่วิถีชีวิตแบบโดดเดี่ยว


อุดมคติ

critical open and free


ประเด็น

2 เรื่องหลักที่มีการพูดถึงอย่างกว้างขวางในรอบเดือนที่ผ่านมาคือกระแสหนังย้อนยุค และจิตวิญญาณธรรมศาสตร์

GM จึงดิ่งตรงไปพบ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ด้วยสนใจวิธีคิดที่แตกต่าง เพื่อพูดคุย และรับฟังทรรศนะในเรื่องของคนไทยกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ บางถ้อยคำของเขาในบทสัมภาษณ์ถัดจากนี้

“จิตวิญญาณธรรมศาสตร์ตายไปนานแล้ว”

“ผมไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้”

“พ่อผมตายไปนานแล้ว ปรีดีไม่ใช่พ่อผม”

“ถ้าอานันท์ไม่รับเป็นนายกฯ อาจะไม่เกิดพฤษภาทมิฬ”

“ระหว่าง พคท. กับ ป๋วย ผมว่ามีเหตุผลกว่าที่เราจะเลือก พคท.”

“เรื่อง ป๋วย อึ๊งภากรณ์ รับใช้สฤษดิ์ จะอธิบายยังไง”

“จะสร้างไปทำไม อนุสาวรีย์คน ผมไม่เห็นความจำเป็น”

“สังคมไทยเน้นจริยธรรม ไม่เน้นความคิด”


การเริ่มต้น

มีหลายเรื่องที่เขาล้วนแต่แสดงวิธีคิดที่แตกต่างและน่าสนใจรับฟัง
เราเริ่มต้นเรื่องกระแสหนังย้อนยุคกันก่อน


GM : ระยะนี้วงการหนังไทยสร้างหนังอิงประวัติศาสตร์หลายเรื่อง ทั้งฟอร์มใหญ่ๆ อย่าง “สุริโยไท” เรื่องที่เป็นปัญหาอยู่อย่าง “ท้าวสุรนารี” และโครงการสร้างอีกร่วมสิบเรื่องที่เชื่อมโยงกับเรื่องราวในอดีต อาจารย์มองความเป็นไปเหล่านี้อย่างไร คิดว่าเป็นโอกาสดีไหมที่เราจะมาชำระล้างประวัติศาสตร์


สมศักดิ์ : ผมว่าหนังเน้นที่ความบันเทิงมากกว่า ไม่ค่อยแตะเรื่องที่เป็นประวัติศาสตร์จริงๆ อย่าง “คนล่าจันทร์” ที่ได้ยินว่าจะนำเสนอบางแง่มุมของขบวนการนักศึกษาช่วง 14 ตุลาฯ ผมก็รอดูอยู่ แต่ดูเพื่อความบันเทิงอย่างว่า เพราะหนังก็คือหนัง มันไม่มีการมาถกเรื่องประวัติศาสตร์อย่างซีเรียสอยู่แล้ว เหมือนกับการสร้างมายาภาพของอดีตมากกว่า ตั้งแต่ 2499 อันธพาลครองเมือง นางนาก มาถึง บางระจัน เป็นการสร้างมายาภาพทั้งนั้น แต่การแห่มาสร้างหนังย้อนยุคอย่างที่ปรากฎก็มองได้หลายแง่มุม อาจจะเป็นการตลาดด้วย เพราะทำแล้วขายได้ หรืออีกแง่หนึ่งคือศิลปะและวรรณกรรมไทยเราอยู่ในช่วงที่ดีลกับปัจจุบันไม่ประสพความสำเร็จ แม่แต่ดราม่าฟองสบู่ในรูปละครทีวีเท่านั้นที่เป็นเรื่องปัจจุบัน แต่งานศิลปะบันเทิงยุคปัจจุบันที่เป็นแนวซีเรียสโดดเด่น เอาเข้าจริงกลับไม่มี เป็นไปได้ว่าเราล้มเหลวที่จะจัดการชีวิตปัจจุบัน ไม่ใช่แง่คนเขียนอย่างเดียว

แต่สังคมโดยรวมต้องกล้าที่เผชิญกับปัญหาที่เป็นจริงในปัจจุบันด้วย ไม่เช่นนั้นก็หันหาอดีตท่าเดียว เพราะอดีตมันเซฟ ตายไปแล้ว ไม่รู้รายละเอียด ก็แค่เลือกพรีเซ้นต์ภาพส่วนหนึ่งออกมาเท่านั้นเอง ถ้ามองไกลกว่านั้น ผมว่าความเป็นคนไทยก็เป็นสิ่งใหม่มาก ก่อนหน้านั้นมีการแบ่งแยกทั้งด้านเชื้อชาติ การงาน ค่อนข้างชัดเจน ชาวนา ชนชั้นกลาง นักธุรกิจ ทุกคนแยกกันโดยสิ้นเชิง แทบไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกัน ความเป็นคนไทยจึงใหม่มาก ผมว่าเพิ่งเกิดเมื่อ 20-30 ปีนี้เอง เนื่องจากการพัฒนาทุนนิยมอุตสาหกรรม

เป็นครั้งแรกที่ทุนมันดึงคนจากทุกมุมสังคมให้มาสัมพันธ์กันหมดโดยระบบตลาด การผลิต ไปสัมพันธ์กับสังคมโลกด้วย อย่างรัฐไทย 10 ปีหลัง เริ่มมีเอกภาพ อำนาจมารวมศูนย์อยู่ที่รัฐบาลโดยผ่านการเลือกตั้ง ก่อนนี้มันเหมือนกับอยู่กันเป็นกลุ่มๆ ใครคุมทหารกลุ่มนี้ ตำรวจ นักการเมือง แยกย่อยตามศูนย์ต่างๆ ตอนนี้เป็นเอกภาพ รัฐบาลคุมส่วนอื่นได้จริง

สมัยคึกฤทธิ์โดนตำรวจบึ้มบ้านเกือบพัง เพราะคุมตำรวจไม่ได้ คุมทหารบางส่วนไม่ได้ แตกกันหมด ปัจจุบันคุมได้จริง แม้ว่ามีทะเลาะกันบ้าง นี่ผมพูดในความหมายที่เหมือนกับเป็นอะไรบางอย่างที่ทุกคนสามารถแชร์กันได้ เพราะอำนาจทางสังคมและเศรษฐกิจของคนชั้นล่างสูงขึ้น ผมมองว่าหนังก็เหมือนสร้างเอกลักษณ์อย่างหนึ่ง สร้าง identity ขึ้นมาเพื่อบอกว่าตัวเองเป็นใคร มาอยู่จุดนี้ได้ยังไง


GM : มองแง่การศึกษาประวัติศาสตร์ผ่านหนังแล้ว อาจารย์คิดว่าไม่ค่อยมีแง่มุมอะไรน่าสนใจ?


สมศักดิ์ : ใช่, ฝรั่งมีคำหนึ่งคือ invent tradition เป็นการสร้างสิ่งเก่าขึ้นมาใหม่ พวกประเพณีความเชื่อเก่าๆ หลายอย่าง ไม่มีหรอก แม้กระทั่งไอเดียเรื่องเกาะรัตรโกสินทร์ มันไม่มี เราสร้างภาพขึ้นมาใหม่ทั้งนั้น ผมถึงบอกว่าความเป็นคนไทยเป็นสิ่งใหม่ แม้กระทั่งชื่อพวกเราเมื่อก่อนชื่อวิลิศมาหราอย่างที่เห็นๆ อยู่ทุกวันนี้เสียที่ไหน ขณะที่ชื่อฝรั่งอย่างปีเตอร์ พอล และอื่นๆ เขาสามารถย้อนไปถึงไบเบิลอะไรได้ ของเราไม่มี เพราะเมื่อก่อนแบ่งเชื้อชาติชัดมาก ลูกหลานคนจีนกลุ่มหนึ่ง ชาวนากลุ่มหนึ่ง ไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แยกกันอยู่ แยกอาชีพกันด้วย

สมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม พยายามจะสร้างความเป็นไทย ก็พิลึกพิลั่น เช่น บังคับให้คนเลิกกินหมาก ซึ่งจะว่าไปก็ไม่ใช่ไทยอีก แต่ยังหาอะไรที่แชร์ร่วมกันไม่ได้ จนกระทั่ง 10-20 ปีมานี้ การพัฒนาอุตสาหกรรมและการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลกมากขึ้น เริ่มทำให้คนไทยกลมกลืน เริ่มเกิดความรู้สึกเป็นคนไทย ไม่ว่ามาจากลูกหลานเจ๊ก ชาวนา ข้าราชการ เกิดความรู้สึกว่าพยายามมองหาอดีตของตัวเองซึ่งจริงๆ ไม่มีหรอก เพราะแต่ละแบคกราวนด์มีอดีตของมันคนละอย่าง พ่อแม่ผมก็มาจากเมืองจีน อาจารย์มหาวิทยาลัยหลายคนก็มีหน้าตี๋ หน้าหมวย ไม่มีใครมีอดีตจากบางระจันเท่าไร


GM : แล้วในระยะที่มีหนังย้อนยุคออกมามากมายอย่างที่ว่า อาจารย์คิดว่าคนไทยควรจะมีท่าทีอย่างไรกับมัน


สมศักดิ์ : ผมไม่เห็นอะไรอื่น นอกจากความบันเทิง หนังพวกนี้มาจากลูกหลานคนชั้นกลาง ก็พวกตี๋พวกหมวยที่จบไปจากมหาวิทยาลัยนี่แหละ พยายามสร้างความเก่าให้ตัวเอง เหมือนตัวเองมีอดีต มีพระเอก ผู้ร้าย มีอิจฉาริษยา ก็แค่นั้น ส่วนที่เถียงกันว่าอะไรเกิดขึ้นหรือไม่เกิดจริง ผมไม่ซีเรียสนัก แม้แต่ สุริโยไท บางเรื่องก็น่าสนใจว่าเกิดหรือไม่เกิดขึ้น แต่ผมไม่ถือเป็นเรื่องซีเรียส


GM : อาจารย์กำลังจะบอกว่าหนังก็คือหนังก็คือหนัง ไม่ได้แสดงนัยทางประวัติศาสตร์อะไรนักหนา


สมศักดิ์ : ใช่, ไม่ได้แปลว่าไม่ดี มันคือศิลปะบันเทิง แต่แง่หนึ่ง ผมคิดว่างานประวัติศาสตร์ก็ไม่ต่างจากงานวรรณกรรม คือคุณก็เขียนขึ้นมาใหม่ คนที่เขียนประวัติศาสตร์ก็เขียนจากจุดของตัวเอง นี่เป็นเรื่องที่ผมเคยนั่งคิดเล่นๆ คือเรามักพูดกันว่าเรามีปัจจุบันเพราะเรามีอดีต แต่ผมว่าเรามีอดีตเพราะเรามีปัจจุบัน อดีตทั้งหลายที่สร้าง ไม่ว่างานวิชาการหรือหนังละคร เราสร้างจากปัจจุบันทั้งสิ้น เรา invent มันขึ้นมา แม้กระทั่งนักวิชาการทางประวัติศาสตร์เอง มานั่งเถียงกัน ศึกษาค้นคว้า

แต่ที่สุดแล้ว เราบอกไม่ได้หมดว่าเกิดอะไรขึ้นเพราะไม่มีใครสามารถจำลองอดีตขึ้นมาไว้ในงานได้ทั้งหมดอยู่แล้ว เราจึงเลือกเขียนในบางมุม เพียงแต่งานวิชาการก็มีวิธีของมัน มีพิสูจน์หลักฐานอะไรไป หนังก็มีวิธีการของมัน แต่คือเราเถียงกันได้ นี่คือประเด็นที่สำคัญที่สุด คนทำหนังเขาตีความยังไง ผมก็ฟัง ถ้าผมไม่เห็นด้วยและมีข้อมูลอีกอย่าง ผมก็แย้งไป

ผมว่าที่หนังออกมามากก็เพราะกลไลตลาดเห็นว่าประสพความสำเร็จก็เลยทำตามๆ กัน แต่ประเด็นที่น่าคิดอีกอย่างก็คืองานวรรณกรรมไทยในระยะหลายปีมานี้ตกต่ำมาก พูดง่ายๆ ว่าหลังจาก คำพิพากษา ของ ชาติ กอบจิตติ แล้ว ผมยังไม่เห็นงานที่ครุ่นคิดกับปัญหาในระดับซีเรียสอีกเลย ในด้านหนึ่งจึงน่าเป็นห่วงว่าเรากำลังล้มเหลวกับปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นแง่สัมพันธภาพ ชีวิตคนสมัยใหม่ มันไม่มีการคิดและนำเสนออย่างสร้างสรรค์


GM : อาจารย์มองเรื่องประเทศเพื่อนบ้านยังไง ในแง่ว่าเราสร้างหนังออกมา พม่าก็โกรธ หรือพอมีข่าวจะสร้างเรื่อง “ท้าวสุรนารี” ลาวก็โกรธอีก โดยทางฝ่ายเราก็อยากสร้าง เพราะหนังมันทำเงิน ขณะเดียวกันการค้าขายและชีวิตความเป็นอยู่ด้านชายแดนก็มีปัญหาแน่ๆ ถ้าเขาประท้วงกับเรื่องเหล่านี้ เราควรจะวางตัวยังไง


สมศักดิ์ : เรื่องหนัง ผมไม่ซีเรียส ยกเว้นอยู่อย่างเดียว คือผู้สร้างบอกว่ากำลังสร้างสิ่งที่เป็นจริง อันนี้ผมรับไม่ได้ เท่าที่อ่านข่าวเรืองการสร้างหนังย่าโม รู้สึกผู้สร้างจะเคลมว่าเขาคือของจริง คนที่เขียนก่อนหน้านั้น และนักวิชาการอื่นๆ เป็นพวกไม่รู้เรื่อง แบบนี้ไม่ดี เป็นวิธีอวดอ้างที่ silly

ในความเห็นผม คุณจะสร้างยังไงก็ได้ เหมือนเขียนนวนิยายน่ะ ปัญหาคือถ้าคุณสร้างแล้ว คุณเคลมให้คนเชื่อว่านี่คือสิ่งที่ถูกต้อง เฮ้ย! ไม่ใช่ ผมไม่ได้หมายความว่างานวิชาการต้องดีกว่างานศิลปะและวรรณกรรม แต่ข้อมูลหรือความคิดทุกอย่างที่คุณเสนอมา มันต้องแย้งได้ ยิ่งหนังควรเปิดกว้างมากๆ


GM : แล้วกรณี “ท้าวสุรนารี” ที่บางกระแสบอกว่าไม่มีจริง ส่วนผู้สร้างหนังและชาวโคราชเขาก็เชื่อของเขา ในแง่ประวัติศาสตร์แล้ว ข้อเท็จจริงเรื่องนี้เป็นยังไง


สมศักดิ์ : ผมไม่อยากพูดในเชิงว่ามีหรือไม่มี แต่ผมติดใจคนสร้างหนังที่บอกว่าเขารู้ดีกว่านักวิชาการ มันแย่มากๆ ผมไม่ได้พูดว่านักวิชาการรู้ดีกว่า แต่ที่สำคัญเราต้องเปิดให้สังคมมันเปิดและยอมรับทรรศนะซึ่งกันและกัน ไอ้ครั้งที่มีนักวิชาการเขียนหนังสือเรื่องนี้ออกมา แล้วถูกประท้วงถึงขั้นจะเผาอะไรกันนั้น แย่มากๆ แทนที่จะมาถกเถียงว่าไม่เห็นด้วยยังไง แต่กลายเป็นการข่มขู่ ขนาดว่าจะอยู่ในจังหวัดนั้นไม่ได้

ถึงที่สุดแล้ว อุดมคิตของผมคือสังคมต้อง open and free มีใครมาเสนออะไร ฟัง ถกเถียงกัน อย่าข่มขู่ว่าใครถูก ผิด เพราะมนุษย์มีสิทธิ์ที่จะเชื่อและไม่เชื่ออไรก็ได้ อย่างหนัง pearl harbor แง่วิชาการถือว่าห่วยแตกมาก แต่คุณทำออกมาสิ ผมเป็นนักประวัติศาสตร์ ถ้าผมไม่เห็นด้วย ผมก็จะเขียนวิจารณ์ ด่าคุณเละเทะ ใช่มั๊ย ตราบใดที่สังคม open ต้องให้โอกาส รับฟัง ถกเถียวกัน น่าจะถูก อย่าพูดว่าของเขาเท่านั้นที่ถูกต้องเป็นจริง คนต้องเชื่อแบบนี้ อันนี้น่ากลัวมาก

ผมเชื่อว่าถ้าเรา open จริงๆ จะไม่มีปัญหา ไม่ว่ากับคนไทยด้วยกันเองหรือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเราพูดกันด้วยข้อมูล พูดด้วยทรรศนะ และรัฐไม่ควรระบุว่าเวอร์ชั่นไหนของอดีตเป็นเรื่องที่ต้องเชื่อ แต่จริงๆ ที่เราทำกันมา ไทยก็ทำเป็นประจำ ผมถูกให้ท่องตั้งแต่เด็กๆ แล้ว เราเรียนว่าเกิดเหตุการณ์แบบนั้นๆ เป็นวีรกรรม ใครทำอะไรไว้ รัฐบอกเราในทำนอง official version ซึ่งแย่ ควรจะเปิดกว้าง อย่างกรณีกับประเทศเพื่อนบ้าน มันไม่ใช่ปัญหาว่าเราควรจะแคร์หรือไม่แคร์ แต่เป็นเรื่องของความคิด

ถ้าลาวไม่เห็นด้วยก็เถียงมา เอาหลักฐานมาคุยกัน หรืออยากสร้างหนังขึ้นมาบ้าง ก็เอาเลย แต่ละแห่งควร open and free ในเรื่องความคิด ความเชื่อ เราด่าเขา เขาด่าเรา ผมว่านี่เป็นเรื่องปกติ จัดประชุมสัมมนาระหว่างประเทศยังได้ แต่ของเรามันไม่ใช่แบบนั้น แค่ความคิดความเชื่อไม่ตรงกันก็มีแต่จะใช้อำนาจแก้ปัญหา ซึ่งไม่เข้าท่า


GM : อาจารย์คิดว่าหนังประวัติศาสตร์ทั้งหลายจะสามารถปลุกกระแสชาตินิยมได้ไหม


สมศักดิ์ : ก็ไม่แน่ แต่โดยความเป็นหนัง ไม่ว่า ย่าโม สุริโยไท ควรจะพูดแค่เป็นการนำเสนอดราม่า เป็นการตีความเหตุการณ์ในอดีตอย่างหนึ่ง และให้ดูตีความกันไป แต่ผมสงสัยมากเลยว่ากองทัพบกเอา บางระจัน ไปฉายให้ทหารดูทำไม ผมว่าตลก เขาอยากดูก็ให้ตีตั๋วไปดูเองสิ ไปพยายามทำให้เป็น official version ทำไม เอาหนังไปใช้ประโยชน์ ปลุกจิตสำนึก ผมว่าไม่ถูก เพราะคนสร้างก็เป็นเอกชน แต่ผมดูข่าวแล้วพบว่ากองทัพเอาไปให้ทหารดู มันพิลึกมาก ฉายทำไม ไม่จำเป็นเลย ทำเหมือนว่าหนังนั้นคือข้อเท็จจริง เป็นสิ่งถูกต้อง นี่กำลังดูอยู่ว่า สุริโยไท จะเกณฑ์นักเรียนไปดูอีกหรือเปล่า ผมว่าแบบนี้ไม่ถูก


GM : อาจารย์กำลังจะบอกว่าความจริงมันหมุนไปตลอดเวลา ทุกอย่างเปลี่ยนไปตามการศึกษาค้นคว้า ฉะนั้น ไม่ควรจะยึดติดอะไร


สมศักดิ์ : แน่นอน ผมคิดว่าเรื่องประวัติศาสตร์และความคิดต่างๆ ไม่ควรมี official version อยู่แล้ว งานศิลปะยิ่งไม่ควรมี คุณจะเสนอแบบไหน เขียนแบบไหน ลองคิดดูถ้าสปอนเซอร์ของหนังเหล่านี้ หรือคนที่ชอบหนังแบบนี้เผอิญว่าเป็นคนมี authority ในสังคม แล้วเขาอาศัยหนังเป็นประโยชน์ต่อการโปรโมตไอเดียตัวเอง มันน่ากลัว อย่างเอกชนสร้างมา ควรปล่อยให้ตลาดตัดสิน ชอบก็ไปดู ไม่ชอบก็แล้วไป นักวิชาการไม่ชอบก็เขียนวิจารณ์ให้เละเทะยังไงก็ได้

ทุกฝ่ายควรจะเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องเสรี เรามีสิทธิ์ที่จะเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ไม่ใช้กลไกอำนาจรัฐทั้งทางตรงทางอ้อมไปโปรโมตว่าคุณต้องเชื่อ นี่คือปัญหา อย่างย่าโม พอใครไม่เชื่อขึ้นมา กลายเป็นเรื่องใหญ่โต นักการเมืองท้องถิ่น หัวคะแนนช่วยกันประท้วงใหญ่ ข่มขู่ชนิดจะเอาให้ตาย สังคมไทยไม่มีประเพณีของการเปิดกว้าง และให้เสรีในการคุยกันเรื่องอดีต ใครคิดไม่ตรงกับ official version มีปัญหาทันที

สังคมไทยยังมีแนวโน้มด้วยว่าเราควรจะต้องเชื่อเหมือนๆ กัน รู้สึกว่าถ้าเชื่อไม่เหมือนกันแล้วความมั่นคงน้อยลงไป เราถูกสอนมาตั้งแต่เด็กว่าเกิดวีรกรรมต่างๆ ในอดีตนั้น เราไม่เชื่อไม่ได้ ถูกบังคับทั้งทางตรงทางอ้อม


GM : เกิดอะไรขึ้น ทำไมเราจึงไม่ค่อยรู้เลยว่าข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เป็นยังไง ไม่ว่าเรื่องพระสุริโยไท ท้าวสุรนารี พระเจ้าตากสิน


สมศักดิ์ : ไม่มีวันรู้ ตราบใดที่เรายังไม่ฟรีความคิดทางประวัติศาสตร์กันจริงๆ คนที่อยากเขียนประวัติศาสตร์โดยใช้ชาติ หรือพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลางก็โอเค ตราบใดที่ไม่มี official version ทำไป ไม่มีการใช้อำนาจทางตรงทางอ้อม มาทำให้สิ่งนี้เป็นที่ยอมรับของคน เอาเลย ตราบใดที่เราปล่อยให้การเขียนประวัติศาสตร์เหมือนการทำงานทางความคิดอื่นๆ เป็นเรื่องที่มีเสรีภาพ ถ้าทำแบบนี้ได้ ใครอยากเขียน หรือคิดจะเอาใครเป็นศูนย์กลางก็ได้

ถ้าจะถามแบบเจาะเป็นรายบุคคล ผมไม่ค่อยได้ติดตามนัก สุพรรณกัลยา พระเจ้าตาก สุริโยไท สิ่งที่น่าสนใจ ผมมองเป็นเรื่องปัจจุบันมากกว่าเรื่องอดีต เช่น การที่คนไปเชื่อบางอย่างแล้ว แหม! นำโชคลาภ นี่เรื่องปัจจุบันมากกว่า เรื่องเสด็จพ่อ ร.5 เป็นมายาอย่างหนึ่ง เอาตัวเองผูกกับฟิกเกอร์บางอย่างในอดีต เพื่อได้โชค หรือแก้ปัญหาในปัจจุบัน

ผมไม่เห็นด้วย มันไม่มีอันตรายอะไรที่ไม่บังคับให้ใครเชื่อตาม สำหรับผม คิดว่าเป็นมายา เป็นความหลงมากกว่า แม้กระทั่งเรื่อง บางระจัน มีคนพูดว่าเราต้องเป็นแบบชาวบ้านบางระจัน มันจะเป็นได้ยังไง ในเมื่อมันห่างกันตั้งกี่ร้อยปี เราไม่มีทางรู้มากมายว่าชาวบ้านเขาเป็นยังไง


GM : ถ้าโฟกัสมาที่ประวัติศาสตร์เหตุการณ์เดือนตุลาคม อาจารย์สนใจอะไร


สมศักดิ์ : ผมหาแง่มุมบางอย่างของ 14 ตุลาคม 2516 พยายามย้อนคิดเรื่องเหตุการณ์ว่ามีรายละเอียดเป็นยังไง เกิดอะไรขึ้น เพราะอะไร จะตีความยังไง ส่วน 6 ตุลาคม 2519 ก็คิดอยู่ว่าจะตีความยังไง ว่าไปแล้วเรื่องนี้ยังใหม่มาก เพราะที่ผ่านมายังไม่มีการคุยหรือทำงานเรื่องนี้อย่างจริงจัง มีบ้าง แต่ส่วนมากสรุปไปที่ประเด็นการต่อสู้เพื่ประชาธิปไตย ผมว่ามันกว้างไป ทำไมนักศึกษาหันไปเป็นฝ่ายซ้าย เรื่องพวกนี้น่าคิด น่าค้น เสนอการตีความได้อีกเยอะ ตอนนี้เพิ่งเริ่มต้น ผมก็เริ่มต้นคิดอย่างซีเรียสไม่กี่ปี


GM : อาจารย์คิดอะไรบ้าง ได้คำตอบหรือยัง


สมศักดิ์ : ผมทบทวนใหม่ว้ามันเกิดการปะทะได้ยังไง ในเช้าวันนั้น จริงๆ แล้ว เกิดยังไง ฝ่ายไหนทำให้เกิดการปะทะ เราจะอธิบายยังไง ทำไมหลัง 14 ตุลาฯ นักศึกษาไปเป็นสังคมนิยม แล้ว 6 ตุลาฯ เป็นอุบัติเหตุหรือเปล่า มีละครแล้วยังไงต่อ เป็นการวางแผนของใครไหม หรือเป็นอุบัติเหตุ มีเหตุการณ์รุนแรงยังไง หนังสือพิมพ์อะไรออกมาบ้าง

ผมมานั่งคิดใหม่เยอะ เริ่มคิดเบสิกเลย โฟกัสเฉพาะรูปธรรมก่อน เบสิกเหล่านี้ยังไม่เคลียร์เพราะข้อมูลบางอย่างเราเข้าถึงไม่ได้ แง่ความทรงจำ หลายคนก็ไม่อยากพูดถึง แต่มีเรื่องใหญ่กว่านั้น การตีความด้วย ข้อมูลด้วย การคิด ศึกษาเรื่องนี้อย่างซีเรียส เราจะหาไดไหมว่าใครน่าจะรับผิดชอบที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ปะทะ รวมทั้งเรื่องใหญ่กว่านั้น ในเชิงปัญหาสภาพสังคมและชนชั้น


GM : รู้สึกว่าที่ผ่านมา มันจะเป็นไปแบบต่างคนต่างคิดไปเอง ไม่มีข้อมูล


สมศักดิ์ : เรากล้าเผชิญความจริงอย่างซีเรียสหรือเปล่า คนในรัฐบาลทักษิณตอนนี้เป็นอดีตแอคติวิสต์เยอะ น่าจะทำได้ เปิดหลักฐานของสำนักเลขาฯ รัฐมนตรี น่าเข้าไปดู บันทึกการประชุม เขาคุยยังไง เช้าวันที่ 6 ตุลาฯ เรายังไม่รู้ บันทึกการประชุมต้องมี ถ้าซีเรียสจริง รัฐบาลทักษิณควรจะทำ แต่แน่นอนว่าต้องไม่ใช่การทำ official version ถ้าทำ ต้องทำแบบเปิด ทำให้หลักฐานที่มีในมือรัฐ open โชว์บันทึกเรื่องการสั่งการ ใครสั่ง ตำรวจยกกำลังมาบุกธรรมศาสตร์ด้วยจำนวนขนาดนั้น รายงานต้องมีเก็บไว้ตามหน่วยงานราชการ ถ้าราชการอยากทำ ทำได้ ตั้งกรรมการขึ้นมา ทำให้เอกสารทั้งหมดเปิดเผยออกมาให้คนวิพากษ์วิจารณ์กัน ให้คนคิด

แต่เขาไม่ทำหรอก ขี้เกียจรื้อฟื้นเรื่องเก่า โดยส่วนตัว หลังๆ ผมเชื่อว่ารูปธรรมจริงๆ ของวันที่ 6 เป็นอุบัติเหตุ คือเราไม่ได้ตั้งใจแสดงละคร ละครมันฟลุค รูปที่ถ่ายออกไปก็ฟลุค เผอิญวันรุ่งขึ้นอีกวันมีคนไปชุมนุมหน้าทำเนียบ เขาไม่ค่อยชอบนักศึกษาอยู่แล้วก็เลยพากันมองภาพนั้นไปอีกทาง แต่เซตติ้งไม่ฟลุค เป็นการเรียกร้อง การชุมนุม ถึงเวลาฟลุคปุ๊บ เขาระดมได้ทันที เซตติ้งมีอยู่แล้ว

แม้แต่คนรัฐประหาร เขาหาจังหวะมานาน ไม่ลงตัวสักที จังหวะนั้นมันเป็นเรื่องฟลุคในเซ้นส์นี้ แง่หนึ่งผมว่า irony เหมือนกันที่มาฟลุคในเรื่องง่ายๆ แบบนี้ เล่นละคร เราไม่รู้เรื่อง คนถ่ายรูป ถ่ายไป ไม่มีอะไร ลงกรอบบ่ายวันที่ 4 ก็ไม่มีอะไร จนเช้าวันที่ 5 บางกอกโพสต์ ลงไป บังเอิญมีคนตาหาเรื่อง รวมๆ แล้วผมว่าเป็นอุบัติเหตุ แต่มีเซตติ้งอยู่ มีรัฐบาลทหารอยู่ มีกลุ่มอื่นๆ อยู่ที่จะคอยฉวยโอกาส


GM : แล้วในยุคที่ข้อมูลข่าวสารเปิดกว้างจนแทบจะเรียกได้ว่าไร้ขีดจำกัดอย่างนี้ อาจารย์คิดว่าเราใจกว้างกันแค่ไหนแล้วในเรื่องข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์


สมศักดิ์ : ผมว่าไม่ต่างจากเมื่อก่อนสักเท่าไร เป็นไปได้ว่าคนไทยไม่ซีเรียสเรื่องอดีตว่ามันเกิดอะไรขึ้น ผมว่าคนของเราแคร์เรื่องปัจจุบันมากกว่า แม้กระทั่งกรณีพฤษภาทมิฬ เอาเข้าจริง รายละเอียดเป็นยังไง ที่มาที่ไป เรายังไม่รู้เลยว่ามันเกิดอะไรขึ้น ส่วน 14 ตุลาฯ ยังไม่ต้องพูดเลย ผ่านมาตั้ง 20 กว่าปี ยังไม่มีอะไรชัดเจน ถึงตอนนี้ก็ยังตกลงไม่ได้ว่าจะเขียนตำราออกมาไหม เพราะไม่รู้จะเขียนยังไง ผมจึงรู้สึกว่ามันไม่ต่างกันนักจากยุคก่อน

ดูเหมือนว่ายุคนี้ทุกอย่างเปิดกว้าง แต่ไม่จริงหรอก ยังมีข้อจำกัดเต็มไปหมด โอเค มันอาจจะเปิดมากขึ้นบ้างในเชิงวัฒนธรรมหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะเรื่องเซ็กซ์ เรื่องส่วนตัวในมิติต่างๆ แต่เรื่องทางประวัติศาสตร์ที่มีผลกระทบทางการเมือง สังคม ยังไม่เปลี่ยน คนไทยส่วนใหญ่อาจจะรู้สึกว่าถ้าผ่านไปแล้วก็ให้ผ่านไป ไม่ต้องมารื้อฟื้นใหม่


GM : สะท้อนออกมาชัดๆ ในคำว่า “คนไทยลืมง่าย” อย่างนั้นหรือเปล่า ทำไมเราจึงเป็นคนพวกผ่านแล้วผ่านเลย อาจารย์พอจะวิเคราะห์ได้ไหมว่า ทำไมเราไม่ค่อยให้ความสำคัญกับอดีต


สมศักดิ์ : ผมว่าไม่เฉพาะคนไทย แต่คนตะวันออกมีลักษณะอย่างหนึ่งคือไม่ซีเรียสเรื่องประวัติศาสตร์ ประเทศใหญ่ๆ มีวัฒนธรรมยาวนาน อย่างจีนและอินเดียก็เป็นอย่างนี้ ขณะที่พวกฝรั่งซีเรียส เหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 และหลายๆ เหตุการณ์ซึ่งจะว่าไปก็เกิดขึ้นก่อน 14 ตุลาฯ เป็นสิบๆ ปี แต่เขายังจับคนที่เป็นนาซีล้างเผ่าพันธุ์ขึ้นมาสืบสวน ขณะที่ทางเอเชียมักปล่อยผ่าน วัฒนธรรมดึกดำบรรพ์ของเราไม่เน้นที่ประวัติศาสตร์ ที่สำคัญมากๆ

ผมว่าอำนาจต่อรองของคนระดับล่างในสังคมเหล่านี้อ่อนมากเมื่อเทียบกับสังคมตะวันตก สังคมพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับคนมือเปื้อนเลือดหรือเปล่า พร้อมที่จะจัดการปัญหาค้างคาไหม เอามาลงโทษไหม ซึ่งที่ผ่านมา เราไม่เคยเห็นภาพนั้น ไปๆ มาๆ มันจะกลายเป็นเรื่องอำนาจในการต่อรอง ถ้าคนระดับล่างไม่มีอำนาจในการต่อรอง ไม่มีเพาเวอร์พอ มันก็เงียบ เพราะคนเสียประโยชน์มีเพาเวอร์มากกว่า

อย่างจีนกับญี่ปุ่นในความจริงตอนนี้ จีนต้องพึ่งญี่ปุ่นมาก ก็ไม่อยากจะรื้อฟื้นเรื่องนานกิงขึ้นมา แม้ว่าคนที่เสียประโยชน์ คนที่พ่อแม่ของเขาถูกฆ่า และพวกที่ถูกเอาไปเป็นที่ระบายความใคร่ให้ทหารญี่ปุ่น แต่คนพวกนี้ไมมีพลังพอจะต่อรอง อำนาจไม่มีม่กมายพอจะไปฟัดเหวี่ยงกับรัฐ ผมว่าของเราก็คล้ายๆ กัน


GM : กลายเป็นว่าที่เงียบๆ หายไปนั้น เพราะขาดอำนาจต่อรอง?


สมศักดิ์ : ใช่, คือนอกจากประเด็นทางวิธีคิดและมุมมองแล้ว อำนาจของคนระดับล่างในเอเชียยังอ่อนมาก ประวัติศาสตร์แทบทุกเรื่องจึงยังมืดดำ เป็นปัญหาที่ไม่ค่อยมีคนรู้ อย่างคุณอยากจะสะสางเรื่อง 14 ตุลาฯ มันก็ต้องมีอำนาจต่อรองเพียงพอที่จะบังคับให้คนทำผิดขณะนั้นมารับผิด ถามว่าเป็นไปได้ไหม พูด ณ ขณะนี้ ผมยังมองไม่เห็นอนาคต เพราะในประเทศตะวันออกทั่วไป รัฐและผู้มีอิทธิพลมีอำนาจสูงกว่าคนระดับล่างมาก เมื่อเป็นอย่างนี้บ่อยครั้งคนระดับล่างก็ต้องปลงๆ กันไป

คุณจะให้ทำยังไงล่ะ เกิดผมเป็นญาติคนตาย ก็ไม่รู้จะฟ้องร้องยังไง เพราะทั้งระบบไม่เอื้อให้คุณฟ้องร้องค่าเสียหายอะไรได้ เหมือนกับว่าเรื่องมันจบไปแล้วด้วยเพราะคณะกรรมการกฤษฎีกาเรกคอมเมนด์ว่าเอาผิดเขาไม่ได้เพราะเขาออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ตัวเองแล้ว ถ้าเราจะเอาผิด มันเท่ากับเป็นการกระทำย้อนหลัง ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่การย้อนหลัง เพราะไอ้กฎหมายนิรโทษกรรมนี่แหละ ความจริงมันเป็นตัวย้อนหลังต่างหาก คนที่ออกกฎหมายนิรโทษกรรมตัวเอง มันกระทำย้อนหลังอยู่เห็นๆ

โดยความจริง ถ้าเขาทำผิด เช่น ใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ เขาก็ควรจะถูกตัดสินจากกฎหมายของตอนนั้น ไม่ใช่มาออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ตัวเอง บ้านเรามันเป็นแบบนี้ตลอดและพอกฤษฎีกาเรกคอมเมนด์แบบนี้ รัฐบาลก็บอกว่า โอเค ยุติ พวกญาติๆ จะทำอะไรได้ล่ะคราวนี้ เพราะทั้ง establishment ไม่อยากรื้อฟื้น ทั้งชนชั้นผู้นำที่อยู่ในอำนาจทั้งหมด กองทัพ ปัญญาชนในเครือข่ายกฎหมาย รัฐบาล พลเรือน ทุกคนไม่อยากรื้อฟื้น คนที่เสียประโยชน์ไม่มีอำนาจ เขาจะทำอะไรได้ มันจึงเกิดภาวะอย่างนี้อยู่เรื่อย ไม่ใช่ว่าคนไม่อยากพูดถึงประวัติศาสตร์ แต่เพาเวอร์ในสังคมไม่สมดุล

คุณดูแค่เหตุการณ์ 17 พฤษภาฯ นี่มันใกล้กับปัจจุบันมากเลยนะ และเป็นยุคที่มีสื่อมวลชนแข็งแรงมาก สังคมก็เปิดกว้าง แต่กลับยังลี้ลับเพราะเรื่องอย่างนี้ไม่ใช่แค่คนสองคนเห็นด้วยก็สามารถรื้อฟื้นได้ แต่ที่ผมใช้คำว่า establishment คือทั้งระบบ คนในวงการ กฎหมาย ศาล ต้องตีความไปในทางเดียวกันว่ากฎหมายนิรโทษกรรมมันใช้ไม่ได้ ต้องใช้กฎหมายตอนที่เกิดเหตุการณ์สิ 14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ และรัฐประหารต่างๆ พวกนี้ออกกฎหมายย้อนหลังทั้งนั้น เอาเข้าจริงๆ คนก่อการรัฐประหารก็ผิด

คุณรัฐประหารก็คือคุณทำผิดกฎหมาย แต่พอรัฐประหารเสร็จ คุณก็ออกกฎหมายนิรโทษกรรมตัวเอง นั่นเท่ากับเป็นการออกกฎหมายย้อนหลัง ซึ่งถ้าทั้งระบบเห็นว่าวิธีการแบบนี้ไม่ถูก ก็ต้องแก้กันอย่างตรงไปตรงมา แต่ความที่มันเป็นเรื่องใหญ่ จะรื้อขึ้นมาไม่ใช่ง่าย ต้องอาศัยคนทั้ง establishment เห็นด้วย และอำนาจต่อรองชาวบ้านต้องสูงกว่านี้


GM : แปลว่าทางฝั่งประชาชนจะรอหรือหวังพึ่งพลังของนักคิด ปัญญาชน คงไม่พอ แต่จะต้องรวมพลังกันลุกขึ้นต่อสู้ด้วยตัวเองด้วย


สมศักดิ์ : รอไม่ได้แน่นอน ทุกคนต้องเอาด้วย แง่หนึ่ง ผมชอบคำว่า irony และรู้สึกปลงไปหรือเปล่าไม่รู้ คือถ้าเราไม่คิดอะไรมาก บ้านเราก็เป็นสังคมที่มีความสุขดี (หัวเราะ) หมายความว่าถ้าเราไม่คิดว่าคนเสียประโยชน์จะปัญหา มองข้ามตรงนั้นไป เราก็ไม่ต้องตั้งคำถามกับตัวเอง อย่างที่ฝรั่งชอบทำ self questioning ทำไมๆๆ ถามตัวเองตลอดเวลากับเรื่องที่มันเกิดขึ้นไปแล้วตั้ง 2-3 เจเนอเรชั่น อย่างพวกเยอรมนีที่ครุ่นคิดเรื่องนาซี เรื่องสงครามโลก ขณะที่ของเราลืมไปหมด และอยู่กันอย่างสงบสุข ผมไม่แน่ใจเหมือนกันในแง่หนึ่ง การเป็นอย่างนี้อาจจะดีกว่าฝรั่งก็ได้ ดีกว่าคือมีความสุขกว่า ปล่อยวาง และปลงกับชีวิต

ชีวิตคนตะวันออกมีความสุขมากกว่าคนตะวันตก เพราะผู้คนไม่ค่อยตั้งคำถามกับตัวเองตลอดเวลา เราปล่อยวาง อะไรผ่านแล้วก็ให้ผ่านไป เพราะถ้าตั้งคำถามกับตัวเองบ่อยๆ จะมากจะน้อยปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเจ็บปวด อย่างเรื่อง 6 ตุลาฯ มีคนส่วนหนึ่งเหมือนกันที่ออกมาเชียร์ให้จัดการนักศึกษา ถ้าคุณเก็บมาคิด มันต้องเจ็บปวดขึ้นมาอีก ตรงกันข้าม ถ้าปล่อยวาง ก็ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ ยกเว้นญาติของคนตาย นั่นเขาคงสุขไม่ได้อยู่แล้ว แต่จะทำยังไง ในเมื่อทั้งระบบของเราเป็นแบบนี้


GM : โดยส่วนตัว อาจารย์เลือกข้างไหน หรือชอบอะไรมากกว่า ระหว่างการรื้อฟื้น กับปล่อยให้มันผ่านไป


สมศักดิ์ : ผมอยากให้เปิดความจริงทั้งหมด เพราะผมเรียลิสติกพอ แต่ผมก็โตพอที่จะรู้ว่าสังคมไทยไม่สามารถเปลี่ยนความคิด ความเชื่อ และประเพณีทั้งหมดได้ในชั่วข้ามคืน แต่ถ้าเราพร้อมใจกันรื้อฟื้นทุกเรื่องในอดีต ผมว่าจะสามารถพลิกสังคมเยอะมากๆ ผมไม่มองว่ามันดีนักหรอกที่เรามีความสุขในการลืมเรื่องเก่า ผมเปิดกว้างพอที่จะรับความจริง แต่อย่างที่ว่า ผมมองไม่เห็นอนาคตที่จะทำได้ในระยะอันใกล้นี้ เพราะเป็นเรื่องใหญ่มาก มีราคาที่ต้องจ่าย ต้องตั้งคำถามกับตัวเองมากมาย


GM : อาจารย์คิดว่าการละเลยประวัติศาสตร์ก็ดี การไม่สนใจอดีตก็ดี สิ่งเหล่านี้ทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสอะไรไปบ้างหรือเปล่า


สมศักดิ์ : พูดยาก แต่โดยทั่วไปทุกวันนี้ จีนกับญี่ปุ่นก็ทำการค้ากันไป โดยฝ่ายจีนไม่เคยรื้อฟื้นด้วยซ้ำ เพราะความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจกับญี่ปุ่นมันแน่นมาก จะมีพูดคุยเสวนาอะไรกันบ้างก็ตอนวันสำคัญๆ แต่ไม่มีอะไรมากมาย หรือถ้าญี่ปุ่นทำอะไรเวอร์เกินไป เช่น ออกหนังสือแบบเรียนมาว่าตนเองไม่เคยทำอะไรเสียหายต่อจีน จีนก็อาจประท้วงกันสักครั้ง

ถ้าถามว่าเสียโอกาสไหม มันพูดยาก เพราะถ้ายกคำว่า “ชีวิตเป็นสุข” มาพูด ก็โอเคนะขืนถ้าคนลงมือรื้อฟื้นทุกเรื่อง ทำกันอย่างซีเรียส แน่นอนมันจะเกิดความปั่นป่วนทางสังคมได้ ทั้งนี้ ผมก็ไม่เห็นด้วยที่เราจะเลี่ยงความปั่นป่วนด้วยการอยู่เฉยๆ ผมว่าไม่ใช่ ผมอยากให้สังคมเราเปิดมากกว่านี้ open and free เพราะจะทำให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้น สังคมมีเสรีมากขึ้น ถ้าถามว่าจะได้อะไรจากการเปิด ผมว่าไม่มีรูปธรรมหรอก ตีเป็นเงิน ตีเป็นเศรษฐกิจ ตีเป็นโอกาส ไม่ได้

แต่จะได้ในแง่ว่าทำให้สังคมเปิดมากขึ้น จริงใจต่อกันและมีเสรีภาพมากขึ้น เป็นการปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์ของคนให้มากขึ้น และผมชอบแบบนี้มากกว่า ขณะเดียวกันผมก็เข้าใจความจริงว่ามันลำบากที่จะทำ มองไม่เห็นอนาคตว่ามันจะเป็นไปได้กับการเอาผู้กระทำผิดมาลงโทษ คนจะรับภาพได้ไหม ไม่ง่ายนะ กรณีนานกิงอธิบายได้ชัดมาก ญี่ป่นไปฆ่าคนจีนตั้งหลายหมื่นคน จนป่านนี้ยังไม่มีการเปิดเผย ไม่มีการชดใช่ค้าเสียหาย นี่ไง คนตะวันออกอยู่ด้วยภาวะแบบนี้


GM : ในแวดวงวิชาการประวัติศาสตร์บ้านเราตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง อาจารย์รู้สึกว่ามันแห้งแล้งไหม


สมศักดิ์ : เงียบเหงาพอสมควร พูดตรงๆ 7-8ปีมานี้ ผมไม่เชื่อว่ามีชุมชนวิชาการอยู่จริง ไม่มี journal ที่ออกประจำ ไม่มีการถกเถียง เสวนา และที่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งคือเรื่องทุน สกว. (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการวิจัย) ผมว่านี่เป็นการสะท้อนการเติบโตของชนชั้นกลางไทย มันเป็นการเปลี่ยนยุคสมัยทีเดียว สมัยก่อนนักวิชาการจะทำวิจัยสักครั้ง หาทุนแทบเป็นแทบตายกว่าจะได้

แม้กระทั่งงานที่สร้างชื่อให้ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นั่นก็ได้ทุนไม่กี่บาท แต่ระยะหลัง ทุน สกว. สะพัดมาก สะพัดจนผมคิดว่าเกิดภาวะตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เช่นให้ทุน 10 ล้านต่อโปรเจ็กต์ มีนักวิชาการรับผิดชอบเป็นสิบคน แบ่งกันคนละล้าน แต่ละคนยังไปแตกไลน์ แต่งานออกมาก็งั้นๆ นี่พูดแบบนี้ก็ลำบากอีก เพราะคนที่ทำก็เพื่อนฝูงทั้งนั้น


GM : มันแย่ถึงขนาดใช้คำว่าตำน้ำพริกละลายแม่น้ำได้เลยจริงๆ หรือ


สมศักดิ์ : ใช่, ไม่มีการเถียงกันอย่างซีเรียส ทุกวันนี้มีแต่เงิน ตอนนี้งานวิจัยเกือบจะกลายเป็นภาวะ mass product อย่างหนึ่ง เพราะมีตลาดมีเงินให้ทำ ไม่ใช่ผลิตเพราะลงลึกจริงๆ เหนืออื่นใด งานวิจัย สกว. ที่โดดเด่นจริงๆ ผมนึกไม่ค่อยออกนะ พูดกันตรงๆ ก็คือเพื่อนฝูงทำ เพราะมันมีปัญหาในหมู่นักวิชาการ คือเงินเดือนอาจารย์น้อยมาก ต้องยอมรับว่าการวิจัยเป็นรายได้อย่างหนึ่ง

พูดไปเขาก็หาว่าผมไม่เดือดร้อนเรื่องเงิน แล้วมาวิจารณ์คนอื่น ซึ่งจริงๆ ไม่เกี่ยว คุณลองดูงานที่ทำอยู่ทุกวันนี้ว่าน่าสนใจหรือเปล่า หรือเกิดภาวะละลายแม่น้ำจริงๆ เป็นไปได้ยังไง วงวิชาการไม่มี journal ไม่มีเวทีมาถกเถียงปัญหาอย่างซีเรียส ผมว่าน่าห่วง ต่างคนต่างทำ ผลิตป้อนไป งานวิชาการไม่น่ารับใช้ตลาดขนาดนั้น


GM : แล้วนักวิชาการคนไหนบ้างที่มีงานดีๆ ที่ประชาชนควรจะรับฟัง


สมศักดิ์ : ตั้งแต่ 17 พฤษภาคม 2535 เป็นต้นมา ผมว่าประชาชนฟังนักวิชาการมากเกินไป นักวิชาการมีฐานะที่เป็นอภิสิทธ์ทางสังคมมากเกินไป ไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ ตรวจสอบความคิดอย่างซีเรียส อย่างเรื่อง สกว. น่าจะทบทวน เพราะมันมีเงินเยอะ ผลิตงานกันเหมือนโรงงาน ใครอยากผลิตเสนอ สกว. ทั้งนั้น ด้านหนึ่งก็มีข้อดี แต่ตอนนี้ถึงจุดที่ว่ามีเงินเสียอย่าง ใครทำอย่างไรก็ได้ ไม่ลึกซึ้ง ทำเสร็จก็จบ เงียบ ไม่มีคุณภาพ เมื่อก่อนมีเงินน้อย นั่งคิดนาน ค้นคว้า มีเวลาเอาใจใส่มันจริงๆ คงเหมือนการทำงานศิลปะทั่วไป ถ้าลงลึกกับมันจริงๆ ละเอียดกับความคิด ความรู้สึก ผมว่าน่าจะได้งานที่ดี


GM : จากนักศึกษาที่ขึ้นเวทีไฮด์ปาร์ค แล้วถูกจับติดคุก จนมาเป็นอาจารย์ แล้วเชื่อมโยงอย่างไรถึงมาเป็น ผี ท่าพระจันทร์ ในวันนี้


สมศักดิ์ : ผมไม่ใช่ ผี ท่าพระจันทร์ ใครๆ ชอบหาว่าผมเป็น (หัวเราะ) นี่คุณไปได้มาได้ไง คนชอบว่าผมเป็น แต่เอาเถอะ เป็นหรือไม่เป็น ผมว่าไม่สำคัญ ผมไม่สนใจว่าเป็นใคร ผมสนใจแง่ issue มากกว่า


GM : แนวคิด ผี ท่าพระจันทร์ คืออะไร


สมศักดิ์ : จริงๆ คุณต้องไปถาม ผีท่าพระจันทร์ (หัวเราะ) แต่ถ้าถามผม เท่าที่ได้อ่าน เรื่องที่เขาคัดค้านว่าจะย้ายหรือไม่ย้ายธรรมศาสตร์นั้น ความเห็นผม ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ที่ไม่เห็นด้วยกับการย้าย ก็เพราะเดือดร้อนเรื่องการย้ายบ้าน เดือดร้อนเรื่องการเดินทาง มันเป็นเรื่องส่วนตัวมากเลยนะ ซึ่งผมรับได้ เพราะเป็นความเดือดร้อนจริงๆ

ต้องเรียนก่อนว่าเรื่องนี้ไม่มีความหมายกับผม เพราะผมอยู่กลางระหว่างสองแคมปัสนี้พอดี แต่คนจำนวนมากมีปัญหาเดือดร้อน ทุกครั้งที่มีการสำรวจ ปัญหานี้เดือดร้อนมาก แต่ก่อนหน้านี้ไม่มีการพูด อาจจะไม่กล้าพูดเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ก็เงียบๆ ไป ไม่ได้หาทางออก คราวนี้พอจุดประเด็นเรื่องจิตวิญญาณ ฟังดูเป็นเรื่องอุดมการณ์ เป็นเรื่องส่วนรวม กลายเป็นร้อนแรงขึ้นมา

คือถ้าเอาเรื่องย้ายบ้านมาพูด มันไม่น่าฟัง แม้ว่ายกเรื่องจิตวิญญาณมาอ้าง ผมก็ไม่ซื้อมันในการเป็นเหตุผล เพราะจริงๆ แล้วจิตวิญญาณมันขึ้นอยู่กับปัจจุบัน แต่จิตวิญญาณธรรมศาสตร์ตายไปเป็นสิบปีแล้ว หายไปนาน ก่อนหน้านี้ไม่มีคนพูดเรื่องนี้ ทั้งที่รู้ว่าจะย้าย ทำไมคนไม่โวยวายเพราะจิตวิญญาณตายมานานแล้ว คนไม่อยากหยิบมาพูด ผมเชื่อว่าจิตวิญญาณขึ้นอยู่กับปัจจุบัน ถ้าปัจจุบันไม่มี ก็คือไม่มี คือถ้าคุณซีเรียสเรื่องจิตวิญญาณจริง หลายๆ เรื่องในธรรมศาสตร์มันไม่เป็นเรื่องอย่างนี้หรอก


GM : จิตวิญญาณที่ว่าตายเพราะอะไร


สมศักดิ์ : เมื่อก่อนเรามีขบวนการนักศึกษา พอไม่มีปุ๊บก็หมด จิตวิญญาณไม่ใช่เรื่องลึกลับซับซ้อนอะไร เป็นเรื่องของความจริง ถ้ามีขบวนการนักศึกษาก็มีกิจกรรมทางการเมือง ถ้าไม่มี ไม่ว่าคุณจะอ้างคำขวัญอะไรก็กลวง เหมือนคฤหาสน์ใหญ่ๆ ที่ว่างเปล่า ความจริงผมชอบบรรยากาศที่นี่ เพราะมันแคบ คณะต่างๆ เดิน 2-3 นาที เจอกันแล้ว จัดกิจกรรมพูดคุย ระดมอาจารย์ได้สบายมาก พีอาร์เล็กๆ มีคนฟัง 100-200 คน

คณะที่จุฬาฯ แค่รัฐศาสตร์คณะเดียวมีตั้ง 4 ตึก อาจารย์ที่อยู่คนละตึกไม่ค่อยได้สังสรรค์กัน แต่ที่นี่ใกล้ชิดกัน ผมชอบ มีอยู่ที่นี่ที่เดียวอาจารย์ที่เป็นคนรุ่นผม ปัญญาชนสาธารณะต่างๆ ก็ว่าดี ผมก็ว่าดี แต่นี่ไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญขนาดที่จะเรียกว่านี่คือจิตวิญญาณ หรือสัญลักษณ์พิทักษ์ธรรม ไม่ใช่ ไม่ถึงขั้นนั้น เป็นแค่แง่มุมบางอย่างเท่านั้น จะว่าไปก็เป็นส่วนน้อยของธรรมศาสตร์ อาจารย์ที่สนใจสังคมมีน้อย ถ้าคุณมาวันที่มีการชุมนุมเรื่องย้ายหรือไม่ย้าย ก็จะเห็นว่ามีคนมา 400-500 คน ไม่ได้มีเป็นพัน

แต่เปรียบเทียบกับที่อื่นก็ยังเหนือกว่า ผมเคยอยู่จุฬาฯ อยู่ ม.เกษตรฯ เลือดตาแทบกระเด็นกว่าจะระดมคนมาฟังได้ เป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่ที่ผมคัดค้านและวิจารณ์แคมเปญนี้มาตลอดเพราะมันทำให้ไขว้เขว หลายคนกำลังเข้าใจว่าบรรยากาศเหล่านี้คือสัญลักษณ์พิทักษ์ธรรม ถ้าย้ายไปจะเสียสัญลักษณ์พิทักษ์ ป้อมปราการการต่อสู้พัง มันคนละเรื่อง


GM : ถ้าถามในประเด็นนี้ อาจารย์เห็นด้วยหรือไม่กับการย้ายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


สมศักดิ์ : ผมไม่สามารถตอบได้ตรงๆ แต่ปัญหาคืออย่างนี้ พอคุณยกคำว่าจิตวิญญาณมาอ้าง ภาพมันออกไปอีกแบบเลย ประเด็นของผมคือถ้าที่พระจันทร์เต็ม คับแคบเกินไปแล้วคุณจะแก้ยังไง เอ้า! เรามาว่ากันตรงไปตรงมา ไม่ใช่เอาเรื่องจิตวิญญาณมาอ้าง เพราะมันเป็นการอ้างที่ใหญ่โตและไม่เป็นจริง จิตวิญญาณตายไปเป็นสิบปีแล้ว

ความสำคัญของธรรมศาตร์ต่อประชาธิปไตยไทยก็เกือบจะไม่เหลือแล้วในปัจจุบัน หรือตัวอย่างง่ายๆ อ.ชาญวิทย์ (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ) เพิ่มนักศึกษาโครงการพิเศษ 200 คน ในปีเดียว ถามว่ามีส่วนรับผิดชอบไหม ผมก็ว่ามี ไม่ต้องเถียงกันถึงว่าตอนนั้นแกเป็นผู้บริหารซึ่งอาจจะมีส่วนในการผลักดันหรือเปล่า นี่ยังเถียงได้ ผมว่าแกมีส่วนสำคัญมากด้วย แต่เมื่อคุณมาพูดแบบนี้ กลายเป็นไขว้เขว แล้วไปโยงกับเรื่องเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งผมไม่เห็นด้วยเลย เป็นเรื่อง silly มาก ไม่เห็นเกี่ยวกับเรื่องย้ายธรรมศาสตร์ตรงไหน

ถามผมว่าคิดยังไงกับเรื่องย้ายหรือไม่ย้าย พูดตรงๆ ผมไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องสำคัญ สำหรับผม เอายังไงก็ได้ ขอให้ศึกษาและคิดหน้าคิดหลังดีแล้วก็ว่ากันไป ผมไม่เห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่โต ถ้าย้ายพรุ่งนี้ จะทำให้ขาดสัญลักษณ์พิทักษ์ธรรมไหม ตอบได้เลยว่าไม่ แต่ถ้าถามว่าจะทำให้เสียบรรยากาศชุมชนทางปัญญาและกิจกรรมบางอย่างไหม ก็เสียบ้าง


GM : บรรยากาศดีๆ ที่ว่านั้นสร้างขึ้นใหม่ไม่ได้หรือ


สมศักดิ์ : ผมไม่แน่ใจ อาจไม่ได้ก็ได้ เพราะที่รังสิตกว้างมาก แต่จะบรรรยายว่าบรรยากาศที่ว่านี้คือสัญลักษณ์พิทักษ์ธรรม สำคัญกับประเทศชาติ ประชาชน อันนี้ผมรับไม่ได้ ผมไม่ซีเรียสว่าเป็นเรื่องคอขาดบาตาย คุณไปเอาเรื่อง 6 ตุลาฯ 14 ตุลาฯ มาหนุนความชอบธรรม ผมว่ามันคนละเรื่อง

โดยส่วนตัว ถ้าสมควรย้ายก็ย้ายส่วนใครมีปัญหาเรื่องย้ายบ้าน มาคุยกัน เพราะเป็นเรื่องใหม่ ย่อมมีปัญหาขลุกขลักบ้าง แต่ต้องจัดการ ถ้าผมเป็นผู้บริหาร ผมก็ต้องคิดคุย มองภาพใหญ่ เอาส่วนรวมเป็นหลัก คุณต้องยอมรับว่าบรรยากาศที่ดีที่ผมเล่านั้น เอาเข้าจริงก็เป็นกิจกรรมของพวกเราส่วนน้อยอยู่ดี

ขบวนการนักศึกษาจบ จิตวิญญาณก็หายไป คุณลองดูเลือกตั้ง อมธ. มีคนมาเลือกคณะละไม่กี่สิบ แม้การเคลื่อนไหวครั้งนี้ก็มีนักศึกษาเข้าร่วมน้อยมาก เพราะไม่มีแล้วไง หมดไปนาน กระทั่งกรณี17 พฤษภาฯ ผมว่าเป็นเรื่องของคนนอกมากกว่า ธรรมศาสตร์แทบไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเลย


GM : อาจารย์อยากให้รื้อฟื้นจิตวิญญาณขึ้นมาใหม่ไหม


สมศักดิ์ : จิตวิญญาณไม่ได้เกิดขึ้นเอง มันมีเงื่อนไขเฉพาะของมัน ก็น่ามาคุยว่าทำไมช่วง 14 ตุลาฯ มีขบวนการนักศึกษา หลังจากนั้นไม่มี น่ามาพูดคุย สาเหตุมาจากเรื่องอะไร ยุคสมัยความคิด เศรษฐกิจ หรือสังคม ผมเคยไปพูดที่จุฬาฯ ว่าลักษณะมหาวิทยาลัยกำลังเปลี่ยน เริ่มเป็นส่วนหนึ่งของทุนนิยมอย่างเต็มที่ สังเกตว่าก่อนปี 2510 มหาวิทยาลัยยังดูอิสระ

จนมาสมัยจอมพลสฤษดิ์ เริ่มเป็นทุนนิยมแบบเฟสแรกๆ ทุนนิยมยังไม่สามารถรองรับพวกที่เรียนมหาวิทยาลัยได้อย่างเต็มที่ ยังไม่ลงกันอย่างพอดี ระหว่างนักศึกษาในมหาวิทยาลัยกับระบบสังคมภายนอก แต่พอสังคมพัฒนามาถึงวันนี้ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างนักศึกษากับทุนนิยมข้างนอกแนบติดอย่างยิ่ง ฐานะนักศึกษาที่เรียนมหาวิทยาลัยก็สูงขึ้น ทุกคนจบแล้วต่างมุ่งไปที่เอกชน ทั้งที่ช่วงปี 2510 นักศึกษากว่าครึ่งยังภักดีต่อระบบราชการ

แต่เหตุผลหนึ่งเพราะข้างนอกไม่มีบริษัทเอกชนมากมาย เศรษฐกิจยังไม่โตมากขนาดนี้ รวมทั้งเงินที่ไหลมาเทมาในมหาวิทยาลัย โครงการพิเศษต่างๆ โครงการวิจัย สกว. นี่อีกอย่าง ตอนหลังอาจารย์มหาวิทยาลัยก็ออกไปเป็นที่ปรึกษาทั้งภาคการเมืองและเศรษฐกิจให้คนข้างนอก เอาเข้าจริง มหาวิทยาลัยเกือบจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของทุนนิยมไปแล้ว ฉะนั้น ขบวนการนักศึกษาจึงยากที่จะเกิดขึ้น ผมว่ามันอาจจะเกิดก็ต่อเมื่อนักศึกษาอยู่ในภาวะอิสระ ไม่ได้เป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกับทุนนิยมภายนอกเต็มรูปแบบอย่างทุกวันนี้

ผมคิดว่าสร้างเองไม่ได้ คุณจะให้มีจิตวิญญาณได้ไง ขนาดมีเรื่องใหญ่กรณีย้าย – ไม่ย้ายธรรมศาสตร์ ยังมีคนสนใจไม่กี่คน เหตุผลที่คัดค้านการย้ายก็กลวงข้างใน หากขาดโดมเจ้าพระยา เท่ากับขาดสัญลักษณ์พิทักษ์ธรรม มันไม่ใช่เหตุผลที่แท้ แต่ผมไม่ได้บอกว่าคนที่มาแคมเปญนั้นไม่ได้เชื่ออย่างนั้นจริงๆ ในทางทฤษฏีแล้ว อุดมการณ์เป็นลักษณะอย่างหนึ่งคือคุณต้องเชื่อ ไม่ว่าเริ่มต้นจะมายังไงก็แล้วแต่ ตอนนี้คนรณรงค์เขาเชื่อว่าทำเพื่อพิทักษ์ป้อมปราการ ไม่ใช่ว่าเขาโกหก แต่ปรากฏการณ์สังคมเป็นอย่างนี้

ผมชอบที่ฝรั่งคนหนึ่งพูดไว้ ไม่ว่ารัฐบุรุษหรือคนเดินดิน ต่างมีความต้องการที่จะรู้สึกว่าที่ตัวเองทำนั้น morally life คือ ถูกในทางศีลธรรม หน้าที่ของอุดมการณ์คือ ทำให้คนรู้สึกว่าทำในสิ่งที่ถูกต้องทางศีลธรรม ถ้าคุณบอกว่าคัดค้านเพราะไม่อยากย้ายบ้าน คนอื่นฟังก็ไม่รู้สึกร่วม เป็นฟังก์ชันของอุดมคติว่าเขากำลังทำในสิ่งที่ถูก เขาต้องเชื่อมันมีพลัง เป็นอุดมคติในความหมายนี้


GM : ฟังๆ มา ดูเหมือนอาจารย์เลือกที่จะยืนอยู่นอกวง อาจจะเรียกว่าไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด


สมศักดิ์ : เพราะผมไม่ถือว่าเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย แต่ถ้าถามว่าระบบมหาวิทยาลัยควรปรับปรุงอะไร เขาพูดหลายเรื่องที่ดี ผมเห็นด้วย แต่มีอย่างหนึ่ง ถ้าคุณซีเรียสเรื่องจิตวิญญาณจริงๆ คุณทำไมไม่ทำอย่างอื่นตั้งหลายอย่าง เช่น ย้ายไปแล้วทำให้เกิดการเซ็งลี้ คุณมาแคมเปญไหมล่ะว่าทำให้เกิดเรื่องการทำธุรกิจการศึกษา ผมเอาด้วยนะ

อย่างเรื่องที่อาจารย์ชาญวิทย์ ทำโครงการ south east asia ควรจะยุบไหม และโครงการพิเศษหลายอย่าง ควรยุบไหม ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะมันจำกัดเฉพาะคนมีเงิน น่าจะเปิดกว้างกว่านั้น เรื่องพวกนี้น่าคิดให้ซีเรียส หรือต้องปฏิรูปการศึกษาไหม เพราะมันคอมเมอร์เชียลเกินไปแล้ว การแพร่สะพัดของเงิน โอ…มีเรื่องมากมายที่ควรคิด แต่ไม่มีใครพูด กลับมาอ้างว่าถ้าย้ายก็เท่ากับว่าขาดจิตวิญญาณ


GM : ถ้าจิตวิญญาณตายจริง อาจารย์คิดว่ามันจะกลายเป็นจุดอ่อนที่จะทำให้คนหนุ่มสาวยุคนี้แย่หรือว่างโหวงเกินไปไหม


สมศักดิ์ : แล้วแต่จะมองแง่ไหน ถ้ามองแง่ว่าทำให้คนที่พยายามเข้ามามีส่วนทางการเมืองขาดหายไป อันนี้ขาดแน่นอน ผมไม่อยากพูดว่าแย่หรือไม่แย่ เพราะคนเรามีหลายแง่มุม


GM : มันตายหรือเปลี่ยน หมายถึงเปลี่ยนไปเป็นจิตวิญญาณคนละอย่าง เป็นไปตามยุคสมัย


สมศักดิ์ : มันตายในความหมายว่านักศึกษาส่วนใหญ่ไม่ได้คิดจะทำอะไรแง่การเคลื่อนไหวทางสังคม การเมือง คิดเพียงว่าเรียนจบก็ทำงานเอกชน เมคมันนี่ไปตามเรื่อง ผมไม่ได้พูดว่านี่เป็นความผิด แต่คือข้อเท็จจริง ภาวะมันเป็นไปอย่างนั้น เป็นการเติบโตของทุนนิยม ซึ่งการศึกษาหรือสถาบันก็ไม่ได้อยู่ลอยๆ เลยตลกไงที่ใครจะบอกว่าธรรมศาสตร์เป็นสัญลักษณ์พิทักษ์ธรรม

ในทรรศนะผม มหาวิทยาลัยทุกที่ก็เหมือนกัน จะน้อยจะมากกว่ากันเรื่องคอมเมอร์เชียลเท่านั้นเอง การที่เขามุ่งหาเงินไม่ใช่ความผิด เพราะความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษามหาวิทยาลัยกับระบบธุรกิจสูงขึ้น ส่วนเรื่องว่านักศึกษาควรมีบทบาททางสังคมการเมืองมากน้อยแค่ไหนรูปแบบอย่างไร อย่างที่คุณว่ามันเปลี่ยนไป นั่นต้องคุยกัน แต่คงหวังยาก เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของทุนนิยมไปแล้ว


GM : วิธีคิดแบบนี้ เพื่อนๆ อาจารย์เขารับได้ไหม หรือว่ามันเป็นที่มาว่าต้องโดดเดี่ยว ไม่มีพวกพ้อง


สมศักดิ์ : ผมโดดเดี่ยวมานานแล้ว (หัวเราะ) การออกมาวิจารณ์ เรื่องเหล่านี้ยิ่งทำให้โดดเดียวไปกันใหญ่ อย่างหนึ่งที่มีปัญหาคือเรื่องความรู้สึก ผมว่าคนเคลื่อนไหวไม่ซีเรียสเรื่อง 14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ เท่าไร ในขณะที่ผมอาจเป็นพวก nostalgia ผมไปอยู่เมืองนอก 8-9 ปี พอกลับมา รู้สึกว่าในหมู่เพื่อนฝูงทุกคนเปลี่ยนไป หลายเรื่องที่เราต่างเคยถือว่าซีเรียส เขามองว่าไม่ซีเรียสอีกต่อไป

ปัญหาเรื่องหลักการหลายๆ อย่างบิดเบี้ยวไป พูดยาก คงเป็น mood ของคน ปัญหาเรื่องวงการวิชาการไม่มีการถกเถียงอย่างซีเรียส ภาพทุกวันนี้กลายเป็นว่าพอนักวิชาการใหญ่ๆ หรือราษฎรอาวุโสพูดอะไรออกมา ก็ถูกหมด คนอื่นเงียบหมด เงียบทั้งที่บางทีก็ไม่เห็นด้วย เหล่านี้ผมว่าประหลาดมาก ผมจำได้ว่าสมัยก่อน เกิดมีใครแสดงความคิดอะไรไม่เข้าท่า เขาจะนำมาถกเถียงกัน วิพากษ์วิจารณ์ อย่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ผมเกือบหาคนที่เห็นด้วยกับผมไม่ได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้อ้างความเป็นประชาชนไม่ได้ เพราะทุกคนเอาด้วยหมด



GM : ประเด็นนี้มันสะท้อนว่าคนไทยไม่ค่อยยอมรับความคิดแตกต่างอย่างนั้นหรือเปล่า


สมศักดิ์ : อาจจะจริง เคยมีคนพูดว่าคนไทยมักอยากได้คำตอบแน่ๆ เช่น ย้ายหรือไม่ย้าย พูดมาเลย หรือเรื่องรัฐธรรมนูญใหม่ดีกว่าเก่า โอเค ใหม่ดีกว่า แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐธรรมนูญแบบนี้ก็ได้ ปฏิรูปด้วยการเป็นอีกแบบ แต่เหมือนกับว่าคนต้องเลือกว่าจะเอาอันนี้หรืออันโน้น ไม่มีทางเลือกที่ 3-4-5 คุณไม่สนับสนุนพรรคเก่า ไม่เอาชวลิต บรรหาร คุณต้องมาสนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผมว่าไม่จำเป็น ไม่เห็นด้วยกับคอนเซ็ปต์เรื่องคัดค้านการย้ายธรรมศาสตร์ ผมไม่เห็นด้วยกับเหตุผล เพื่อนฝูงกลับมองไปในเชิงหักหลัง ขวางลำ ชีวิตผมก็เลยอยู่เงียบๆไม่ได้คุยกับใคร ประเภทไม่ค่อยสังคมเท่าไรอยู่แล้ว

สมัยผมเป็นนักศึกษา การเถียงกันเป็นเรื่องธรรมดามาก ผมเองก็ชอบมาก วงการวิชาการปัจจุบันไม่ต่างจากจารีตสมัยก่อน เคารพผู้ใหญ่ เออออ ผมพยายามนึกว่ามีการเถียงอย่างซีเรียสในแวดวงวิชาการไม่ หรือถกเถียงกันครั้งสุดท้ายเมื่อไร นึกไม่ออก รู้สึก 10 ปีที่ผ่านมา ไม่มีเลย อ.นิธิ ว่าอะไร คนก็เชียร์กันใหญ่ ไม่มีใครซีเรียสเรื่องไอเดียอีกต่อไป ผมคิดว่านี่เป็น ‘ยุคสมัยที่เห็นร่วมกันทั้งหมด’ เออออ ว่าอะไรว่าตามกัน ไม่มีการเถียง โอเค ผมรู้ว่า อ.นิธิ (เอียวศรีวงศ์) เก่ง แต่ถึงระดับที่ไม่มีข้อบกพร่องหรือเปล่า ก็ไม่ใช่ แกไม่ใช่ถูกทุกเรื่อง แต่ไม่มีใครวิจารณ์เลย อ.นิธิก็ดี หมอประเวศ (วะสี) ก็ดี ทุกคนเออออหมด ลงชื่อไปตามๆ กัน

เรื่องปฏิรูปการเมือง อ.นิธิตั้งคำถามขึ้นมาว่าผู้รับเหมาจะเป็นคนกำหนดสเปคบ้านได้อย่างไร ผมก็เออ…..คำขวัญนี้มันงี่เง่า แล้วจะยังไง ทุกวันนี้ร่างโดยใครหรือ ในที่สุด ก็ไม่ได้ร่างโดยประชาชนเหมือนกัน เป็นฝีมือของพวก expert มาร่าง และพอนักวิชาการเสนอ ก็รับหมด ไม่มีการเถียง โอเค ตอนที่หมอประเวศหนุน ดร. ทักษิณ มีคนแย้งบ้าง แต่นิดเดียว พักเดียวก็เงียบ

ผมไม่เข้าใจตั้งแต่เรื่องศาลรัฐธรรมนูญแล้วว่ามีความชอบธรรมแค่ไหน ควรมีไหม ชอบธรรมแค่ไหน ผมไม่รับตั้งแต่ต้น ไม่ใช่ผมเชียร์ทักษิณนะ แม้กระทั่งศาลชี้ว่าทักษิณไม่ผิดผมก็ไม่รับ พูดง่ายๆ ผมไม่รับรัฐธรรมนูญนี้ เพราะการพูดว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน แต่กำหนดว่าคนที่จบปริญญาตรีเท่านั้นที่สมัคร ส.ส. ได้นั้นมันตลกมาก คนจบปริญญาตรีบ้านเรามีแค่ 3-5 % เองมั้ง ถ้าคนส่วนใหญ่ไม่สามารถลง ส.ส. ได้ จะเรียกรัฐธรรมนูญประชาชนได้อย่างไร ไม่เข้าใจ

นี่เป็นประเด็นใหญ่มาก นักวิชาการที่อ้างว่าเป็นฝ่ายประชาชนเชียร์ว่าเป็นรัฐธรรมนูญประชาชน พูดได้ยังไง ปัญหารัฐธรรมนูญมีอีกหลายเรื่อง ตอนนั้นคนรู้สึกว่ารณรงค์ไปก่อน ถ้าไม่สนับสนุนเท่ากับเป็นการสนับสนุนนักการเมืองรุ่นเก่า ผมว่าไม่จำเป็น ไม่จริง ผมโตมา ถ้ามีเหตุผล ถูก-ผิด เรามาคุยกันสิ ไม่ใช่ว่าต้องเอาอันนี้หรือไม่เอาอันนี้ เหมือนเรื่องธรรมศาสตร์ ผมไม่เห็นว่าต้องเคลื่อนไหวด้วยการชูเรื่องจิตวิญญาณ พอผมเถียงขึ้นมา หาว่าทำลายการเคลื่อนไหวกันเองก็เป็นเรื่องน่าเศร้า 10 กว่าปีหลัง ทุกๆ เรื่องมักออกมาในรูปเออออกันไป

บางคนวิจารณ์ว่าผมไม่เปลี่ยน คนอื่นเขาไปไหนกันหมดแล้ว ก็ไม่รู้ ตอนผมกลับมา คนเชียร์อานันท์ ปันยารชุน กันใหญ่ ผมแปลกใจว่าทำไมคนไม่ประณามอานันท์ อานันท์ขึ้นมาเป็นนายกฯ ครั้งแรกจากการรัฐประหาร เขาขึ้นมา โอเค ดีกว่า รสช. แน่ๆ แต่ปัญหาคือว่า เมคเซ้นส์หรือเปล่า รสช. ทำผิดกฏหมาย แต่ตั้งอานันท์ขึ้นมาสร้างความชอบธรรมแทน ถ้าอานันท์ไม่เป็นนายกฯ อาจไม่เกิดพฤษภาทมิฬก็ได้ เพราะอานันท์ไม่ไปช่วย re-gime คนเหล่านั้นให้มีความชอบธรรมขึ้นมา ถ้าคนดีทุกคนปฏิเสธตำแหน่งที่ได้มาโดยไม่ชอบธรรม กลุ่มยึดอำนาจขึ้นมา มันอาจอยู่ไม่ได้ตั้งแต่ต้นก็ได้ แต่นี่อานันท์รับ ก็เท่ากับเห็นด้วย เท่ากับคุณไปช่วย รสช.

จอมพลผิน ทำรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 อ้างเหตุผลเหมือนกันเป๊ะ เพื่อราชบัลลังก์และเพื่อขจัดปัญหาคอร์รัปชั่น รสช. ก็นำเหตุผลนี้มาอ้างตอนโค่นชาติชาย ตอนนั้นจอมพลผินกับจอมพล ป. หาคนอื่นไม่ได้ จึงไปชวน นายควง อภัยวงศ์ มาเพื่อรับใช้ชาติ หลังๆ ปัญญาชนเชียร์ ปรีดี พนมยงค์ เพราะตอนที่นายควงทำนั้นทำเพื่อชาติ ผมถามหน่อยว่าต่างกับการมาของอานันท์ตรงไหน ไม่ต่างเลย ควงเชื่อว่าเขาเป็นคนดี ดีกว่าปล่อยให้จอมพลผินเป็น ดีกว่าให้จอมพล ป. เป็น มาถึง รสช. อานันท์ก็คงเชื่อว่าเขาดี อาสามารับใช้ชาติ ซึ่งผมไม่เก็ต ผมกลับมาเจอภาวะแบบนี้ คนเชียร์อานันท์ มีกลุ่มเพื่อนอานันท์ วิธีมองเปลี่ยนไปเยอะมากบรรยากาศหลายอย่างเปลี่ยน

เรื่องอ.นิธิ ผมเขียนตั้งแต่ปี 2535 ผมเป็นคนแรกด้วยซ้ำที่เขียนว่าแกมีความสำคัญ ทั้งที่แกเริ่มเขียนงานมาไม่นาน แม้ในวงวิชาการเองก็ไม่เห็นความสำคัญ ตอนนั้นผมเรียนมหาวิทยาลัยปีสุดท้าย ผมเขียนตีพิมพ์ออกมาว่างาน อ.นิธิ ดีกว่าใครในยุคเดียวกัน แต่บรรยากาศหลังๆ มานี้ยกย่องแกในระดับที่ไม่เคยมีการวิจารณ์ ผมว่าแย่ เห็นแย้งแตกต่างกันไม่ได้เลยในวงการวิชาการ

บ้านเราจึงอยู่ในยุคที่ uncritical มาก อย่างปรีดี พนมยงค์ ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐ โอเค ควรพูด แต่ลักษณะการเชิดชูปรีดีตอนนี้ ผมว่าโอ้โฮ มันเวอร์จนไม่รู้จะพูดยังไง วิจารณ์อะไรไม่ได้เลย เขาจะย้ายมหาวิทยาลัย และมีการพูดว่าจะย้ายรูปปั้นปรีดี พวกก็ว่าย้ายไม่ได้ นี่เป็นประวัติศาตร์ เป็นรูปเคารพของชาวโดม ย้ายไปเลย ถ้าเป็นผม ไม่ใช่แค่ย้าย ผมว่าควรยกเลิกไปเลยด้วยซ้ำ ผมไม่เห็นว่ามหาวิทยาลัยควรจะมีรูปปั้นของใครทั้งนั้น ไม่ว่าปรีดี พนมยงค์ หรือ ป๋วย อึ๊งภากรณ์

ผมคิดว่าไม่ต้องมียกเว้น ใครๆ ก็สามารถถูกวิจารณ์ได้ทั้งนั้น ฝรั่งเรียกว่า critical mind คือจิตใจที่รู้จักวิพากษ์วิจารณ์ วิเคราะห์ การมองประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์ก็เหมือนกัน โอเคว่ามีตำนาน แต่ส่วนหนึ่งของโครงสร้าง ที่นี้ก็ผลิตคนออกมารับใช้ระบบตั้งเยอะแยะ เคสปรีดีและป๋วยเห็นชัดมาก ยอมรับว่าตอนอาจารย์ป๋วยตายใหม่ๆ ผมก็เขียนบทความอาลัยเพราะเรารู้จักและสะเทือนใจ แต่พอผมเห็นบทความที่คนอื่นเขียนๆ กันออกมาเต็มไปหมด แล้วมีแต่คนชื่นชม ยกย่อง ผมยอมรับว่าผมเซ็งมากๆ

ผมเคยยกเรื่องป๋วยไปถกเถียงที่คณะเศษรฐศาสตร์ มีอาจารย์บางท่านไม่พอใจ ที่ผมเปิดประเด็นขึ้นมาว่าเรื่อง อ.ป๋วยรับใช้จอมพลสฤษดิ์จะอธิบายยังไง คนเขาไม่พอใจกันมาก ผมรู้สึกว่านี้เป็นปัญหาอันชอบธรรมที่น่าจะมาคิด หยิบยกมาวิพากษ์วิจารณ์ แต่คนไม่รับ จนบัดนี้ ในประเด็นนี้ ไม่มีใครให้คำอธิบายที่เข้าท่าได้เลย ยกเว้นแต่จะบอกว่านี่เป็นตัวอย่างที่ถึงจุดหนึ่งปัญญาชนเราก็ไม่คำนึกถึงหลักการ ไม่คิดถึงประชาธิปไตยเหมือนกัน สฤษดิ์มือเปื้อนเลือด สมควรไหมที่เราจะรับใช้เขา บางคนว่าแกไม่มีทางเลือกเพราะเป็นข้าราชการ

ผมว่าตลกมาก คนเชียร์ป๋วย เขียนว่าเยี่ยมอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นรัฐบุรุษ อ.นิธิเรียกอ.ป๋วยว่าไงนะ มหาบุรุษ ผมไม่รู้ว่าจะขำหรือเศร้าดี ถ้าเขาเป็นมหาบุรุษจริง เขาต้องตัดสินใจเองได้ระดับหนึ่ง แต่พอถามว่าทำไมรับใช้สฤษดิ์ คุณกลับอธิบายในทางกลับกันว่าเพราะเขาไม่มีทางเลือก คนละเรื่องกันเลย มันต้องมีคำอธิบายมากกว่านี้ ผมว่าตอนนั้น ป๋วยไม่คิดแง่ประชาธิปไตยอะไรหรอก คือถ้าให้เลือกระหว่าง จอมพล ป. กับจอมพลสฤษดิ์ ป๋วยเชื่อว่าสฤษดิ์ดีกว่า ป. จึงรับใช้สฤษดิ์ ซึ่งไม่ใช่เขาคนเดียว ปัญญาชน เทคโนแครตยุคนั้นก็คิดแบบนี้

และไอเดียว่าสฤษดิ์มือเปื้อนเลือดนั้นมาทีหลัง เทคโนแครตสมัยนั้นใครจะคิดแบบนี้ แต่ถ้าเรามองย้อนหลังก็สามารถวิจารณ์ได้ ถูกไหมที่เทคโนแครตพวกนี้เป็นอย่างนี้ เป็นจุดออ่อนของพวกนี้ ไม่คำนึงถึงว่ารีจีมยังไงก็รับใช้ได้ พอมีคนพูดว่าป๋วยเป็นคนดีปุ๊บ ทุกอย่างดีหมด ปรีดีเหมือนกัน คนที่มีชีวิตอยู่ก็หมอประเวศ กับ อ.นิธิ ทุกคนมองแกเป็นอย่างนั้นหมด ผมว่ามันเกินไป บรรยากาศพวกนี้ ผมใช้เวลาอยู่นานที่จะทำใจรับ รับได้เป็นระยะ หงุดหงิดทีผมก็เขียนออกมาทะเลาะกับชาวบ้านเขาที


GM : แล้วพอมีแง่มุมวิจารณ์อาจารย์ป๋วยอย่างนี้แล้ว แง่ความเคารพนับถือของอาจารย์ยังเหมือนเดิมไหม หรือรู้สึกว่าด้อยค่าลงไป


สมศักดิ์ : มันคนละอย่าง ถามว่าเขาเป็นคนดีไหม ก็ดีที่ไม่โกงไม่กิน ก็โอเค แต่ถามว่าลักษณะที่เขารับใช้สฤษดิ์อยู่หลายปีละ รับใช้ในขณะที่กำลังมือเปื้อนเลือดจริงๆ เลยนะ ไม่ใช่บังเอิญ สั่งฆ่าคนไม่รู้เท่าไร ไม่ว่าคนนั้นจะผิดหรือไม่ผิดอย่างไร แต่คุณสั่งฆ่า อ.ป๋วยทำไมไม่ลาออกจากผู้ว่าฯแบงก์ชาติ เพื่อประท้วงเรื่องนี้ อย่างนี้เราวิจารณ์ได้ไหม วิจารณ์ด้วยความรุนแรงได้ด้วยซ้ำ

เรื่องนี้ยังโยงไปถึงเรื่องอื่น คือคนจำนวนมากเอา อ.ป๋วยมาด่าขบวนการนักศึกษาสมัย 6 ตุลาฯ ว่านักศึกษาซ้ายไป ไม่เชื่อ อ.ป๋วย ถ้าถามผม ผมยืนยันความถูกต้องของนักศึกษา คนอย่างผม ประเภทไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ตอนนั้นจะเลือกใครระหว่าง พคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) กับ อ.ป๋วย ผมว่ามีเหตุผลกว่าที่เราเลือก พคท. คุณจะให้เลือกป๋วยได้ยังไง ในเมื่อเขาเป็นเทคโนแครตที่ไม่ได้ทำอะไรตลอดเวลาที่สฤษดิ์อยู่ในอำนาจ จะอธิบายในเรื่องนี้ยังไง ทำอะไรไม่ได้จะเรียกว่ามหาบุรุษได้ยังไง ยกย่องแบบไม่ critical เลย


GM : แง่นี้ ความศรัทธาต่อมนุษย์ของอาจารย์ก็คงลดหายไป เพราะทุกคนต่างมีข้อบกพร่องกันทั้งนั้น


สมศักดิ์ : น่าจะอย่างนั้น ผมยอมรับว่าผมศรัทธาคนน้อยมาก คนสุดท้าย ตอนนั้นผมโง่ (หัวเราะ) เช่นเดียวกับขบวนการนักศึกษา ตอนนั้นเชียร์เหมา เจ๋อ ตง แต่พอฉลาดขึ้น รู้จักคิด ผมนึกไม่ออกว่าผมศรัทธาใครในความหมายที่คุณว่า นึกไม่ออกจริงๆ

ช่วงที่มีการคิดเรื่องย้ายธรรมศาสตร์ มีคนเขียนอีเมล์มาหาผม เขาเล่าเรื่องต่างๆ แสดงความคิดเห็น และมีตอนหนึ่งเขาเปรียบปรีดีว่าเป็นเหมือนพ่อของพวกเรา ถ้าย้ายก็เท่ากับอกตัญญู ผมโกรธมาก พ่อผมตายไปนานแล้ว ปรีดีไม่ใช่พ่อผม ไปเรียกปรีดีว่าพ่อ เรียกทำไม ผมไม่เห็นประเด็น

ถามว่าปรีดีสำคัญไหม ก็มีความสำคัญ ทำอะไรหลายอย่างที่ถูกต้อง แต่ทำอะไรหลายอย่างที่ผิดก็เยอะ การไปสร้างเขาให้เป็นอรหันต์หรือพระปฏิมา ผมไม่เห็นด้วย ย้ายรูปปั้นก็ย้ายไปเถอะ ผมไม่สนใจ นี่ก็เป็นเรื่องขำอย่างหนึ่งของผม ตอนนี้รูปปั้นปรีดีกลายเป็นรูปที่นักศึกษาเดินผ่านแล้วไหว้ ผมว่าไม่เมคเซ้นส์เลย


GM : แปลว่าการสร้างอนุสาวรีย์คงเป็นเรื่องยากมากๆ


สมศักดิ์ : จะสร้างไปทำไม อนุสาวรีย์คน ผมไม่เห็นความจำเป็น ยอมรับในระดับหนึ่งถ้าเป็นการสร้างเพื่อรำลึกเหตุการณ์ แต่คุณจะสร้างอนุสาวรีย์คน มันขนาดนั้นเชียวหรือ แค่รูปถ่ายหรือรูปปั้นเล็กๆ ก็โอเคแล้ว แล้วรูปปั้นปรีดีขนาดเท่าตัวจริงที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาก็โอเค แม้ว่าตอนผมเดินผ่าน เคยเห็นคนเอามาลัยมาไหว้เหมือนบูชาพระพรหม ก็ว่าไป

แต่ตอนนี้ที่รังสิต ผมได้ยินว่าเขาจะสร้างอนุสาวรีย์ป๋วยและปรีดี ขนาดใหญ่ถึง 2 เท่าจากตัวจริง ผมแปลกใจว่าสร้างทำไมให้ใหญ่ขนาดนั้น มันตลกมาก มหึมามาก สร้างไปทำไม ถ้าอยากจริงๆ ก็เอาแค่เท่าตัวจริง เออ….

จะมากจะน้อย ยังดูมีรสนิยม แต่สำหรับผม ถ้าจะมีแบบนั้น ผมว่าปั้นเล็กๆ สูงสักฟุตสองฟุต แล้วตั้งในห้องสมุด โอเคนะ เหมือนประติมากรรมชิ้นหนึ่ง แต่นี่สร้าง 2 เท่า คุณหวังให้คนมากราบหรือไง นี่ในธรรมศาสตร์แท้ๆ แล้วมาบอกว่ามีจิตวิญญาน ผมมองไม่เห็น การที่คุณเคารพโดยไม่วิจารณ์นี่นะ หรือเพียงแค่เคารพก็เคารพ สำหรับผม ไม่ใช่


GM : มีหลักคิดหรือแบบอย่างจากบุคคลใดในประวัติศาสตร์บ้างไหมที่อาจารย์นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน


สมศักดิ์ : ไม่มี มันจะเอามาใช้ได้ไง เขาตายไปตั้งนานแล้ว ผมศึกษาประวัติศาสตร์เพราะเป็นความสนใจ เหมือนกับเป็นเรื่องปัจจุบัน เป็นการกระตุ้นสมอง ไม่ใช่ ไม่ได้ศึกษาเพื่อเป็นบทเรียนทางศีลธรรม ค่อนข้างจะต่างกับคอนเซ็ปต์ที่เขากำลังโปรโมตกันอยู่ หลายคนศึกษาเพื่อเป็นบทเรียนทางศีลธรรม ผมไม่คิดแบบนั้น แม้กระทั่งศีลธรรมก็ต้องมานั่งคุยกัน ปรีดีแอนตี้เกย์นะ คุณรู้ไหม เคยเขียนประณามเกย์ บอกว่าเป็นพวกวิปริตอะไรแบบนั้น คนรุ่นเก่าคิดแบบนี้ได้ไหม ได้ ถามว่าแกเคยมีความคิดเชยๆ ไหม มี นี่เป็นตัวอย่างหนึ่ง แต่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เรื่องที่แกเคยทำผิดทางประวัติศาสตร์มีมากกว่านี้เยอะ

สังคมไทยค่อนข้างเน้นจริยธรรมมาก ไม่เน้นความคิด หรือเน้นการถกเถียงกัน มีตัวอย่างเล็กๆ อีกอย่างคือการเรียกชื่ออาจารย์ เช่นอาจารย์ชาญวิทย์ ผมว่าโอเคนะถ้าสนทนาด้วยปาก แต่ถ้าเป็นการเขียนหรือถกเถียงในที่สาธารณะ โดยเฉพาะสิ่งตีพิมพ์ ผมมองไม่เห็นว่าทำไมต้องเรียก อย่าง อ. นิธิ ตอนแกอายุ 60 ปี มีการเขียนถึงผลงานของแก แต่ทุกคำ เรียกนำหน้าชื่อตลอดว่า อาจารย์ อย่างนี้จะเป็นงานวิชาการได้อย่างไร คุณแสดงความเคารพตลอดเวลาที่เขียน นิธิก็นิธิสิ ต้องขึ้นด้วยอาจารย์ทำไม ในเมื่อเราพูดกันเรื่องไอเดีย


GM: แง่การใช้ชีวิตละ อาจารย์มีหลักการส่วนตัวอย่างไร


สมศักดิ์ : critical ผมชอบตั้งคำถามกับทุกเรื่อง แม้ว่าสิ่งนั้นจะมาจากคนแวดล้อมรอบๆ ตัว ชีวิตไม่ค่อยมีความสุขเท่าไหร่หรอก


GM : เหมือนคนเยอรมัน?


สมศักดิ์ : อาจจะใช่ (หัวเราะ) ผมรู้สึกว่านับวันคนไทยยิ่งตั้งคำถามน้อย คิดน้อย ซึ่งจะว่าไป คงมีประโยชน์อยู่บ้าง แต่ถามผม ผมว่ามันน้อยจนน่าเป็นห่วง เรื่องป๋วยเรื่องปรีดี เป็นตัวอย่างของบรรยากาศที่แย่มาก แทนที่มหาวิทยาลัยจะเป็นแหล่งวิจารณ์ แหล่งโต้แย้งความคิด แต่กลับกลายเป็นอะไรไม่รู้ ยกยอกันเกินเหตุ


GM : แนวคิดเหล่านี้มาจากการใช้ชีวิตในต่างประเทศ


สมศักดิ์ : คงมีส่วน ผมชอบ open and free เรื่องความคิด มีอีกอย่างหนึ่ง เวลาพูดถึงปรีดีเหมือนกัน เดี๋ยวนี้หลายคนต้องขึ้นว่า ท่านปรีดี แง่นี้ผมว่าเมืองไทยมีข้อจำกัดมาก ความคิดจึงไม่เสร็จจริงๆ ไม่ฟรี ข้อหนึ่งที่ประทับใจตะวันตกมากคือแง่ความคิด ทุกอย่างมันเปิดกว้างมาก เปิดและไม่ต้องรู้สึกว่าผิดทางศีลธรรมเมื่อคุณแสดงทรรศนะ โอเค สิ่งที่เสนอออกไปอาจจะเฉิ่มบ้าง โง่บ้าง แต่ไม่ผิดทางศีลธรรม

ไม่เหมือนสังคมไทยที่มีกรอบศีลธรรมครอบอยู่ ทั้งที่สิ่งนั้นเป็นความคิดที่ดี แต่หลายคนอาจว่าก้าวร้าว มันต่างกันมาก ต้องเคารพผู้ใหญ่ แม้ในกลุ่มคนรุ่นใหม่เองยังมีความรู้สึกต้องคอยระวังเรื่องศีลธรรม ไม่ควรวิจารณ์กันเอง ห้ามแตะต้องผู้ใหญ่ แต่ที่โน่นฟรี แม้กระทั่งระหว่างนักศึกษากับอาจารย์ ผมชอบ ทุกคนเถียงกันได้อย่างตรงไปตรงมา

ก่อน 6 ตุลาฯ มีคนบอกว่าพวกเราซ้ายมากไม่เคารพผู้ใหญ่ แต่ผมชอบแบบนั้นมากกว่า ลักษณะที่ว่าเป็นผลมาจากบรรยากาศทางการเมือง เราไม่เห็นด้วยกับฝรั่ง เราวิจารณ์ ไม่เห็นด้วยกับป๋วย เราวิจารณ์ ทั้งที่อายุแค่ 20 ต้นๆ พอไปอยู่ออสเตรเลียนานๆ นิสัยนี้ก็เลยยิ่งติดอยู่กับตัว คนอื่นอาจจะเปลี่ยนหมดแล้ว แต่ผมไม่เปลี่ยน


GM : มีคนบอกว่าเดี๋ยวนี้พวกซ้ายเก่ากลายเป็นพวกขวาจัดไปแล้ว จากก้าวหน้ากลายเป็นหัวโบราณ อาจารย์คิดยังไงกับข้อสังเกตนี้ โดยเฉพาะในหลายๆ เรื่องที่คุยกันมา


สมศักดิ์ : ผมว่าไม่ถึงกับขวา แต่วิธีหลายอย่างไม่ต่างจากพวกขวาในอดีต เช่น วิธียกย่องคน มันไม่ต่างแล้ว เรียกปรีดีว่าพ่อตามแบบบทกวีของเฉินซัน เมื่อก่อน เราเชียร์เหมาขนาดไหน เรายังไม่เรียกว่าพ่อสักคำ ก็จริง ตอนนี้เราเหมือนฝ่ายขวาพอสมควรที่ไปเรียกใครต่อใครว่าพ่อ แต่เขาไม่รู้สึกกันนะ เฉยๆ กรณี อ. นิธิ ที่จัดงานครบรอบ 60 ปี ก็กลายเป็นงานฉลอง ไม่มีงานวิชาการที่ซีเรียส งาน critical ไม่มีเลย มีแต่สดุดีฮีโร่ของตัวเอง respect ในงาน ผมเห็นด้วยนะ แต่แง่ critical หายไปเลย นี่ผมยังขำเรื่องอาจารย์เสน่ห์ จามริก ไปรับเป็นประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน

ผมถามหน่อยว่าไปรับทำไม เพราะแกอายุ 70 กว่าปีแล้ว ถามว่าการเคารพความสามารถคนรุ่นใหม่ไม่ควรเป็นหนึ่งในสิ่งพึงปฏิบัติด้วยหรือ ถึงใครจะบอกว่าแกยังทำงานได้ก็ตาม และตำแหน่งที่ว่าก็ได้มาเพราะคนอื่นเลือก แต่แกน่าจะบอกว่าอายุมากไปแล้ว ผมไม่แอนตี้คนอายุมาก แต่ในทางปฏิบัติจริง คนอายุขนาดนั้นจะทำงานได้เต็มที่ไหม ผมไม่เชื่อ ยังไงก็ไม่คล่องเท่าคนอายุ 40-50 เชิงบริบทสังคมไทยก็ไม่ถูก อายุมากถึงรับตำแหน่งสำคัญได้ เรื่องพวกนี้ทำไมถึงไม่มีการวิจารณ์กันเพื่อให้เกิดหลักการใหม่ๆ

มีคนพูดว่าบางแง่ผมก็ไม่เหมือนคนไทยเท่าไร ผมยอมรับว่าอาจจะดัดจริต ถ้าพูดในความหมายหนึ่ง แต่มันเถียงกันได้ไหม แค่ไหน ความเป็นไทย ผมอาจจะสุดขั้วไปอีกทาง แต่ถ้าผมจะแก้ตัวกับตัวเอง มันก็มีเหตุผลเพราะเนื่องจากอีกทางเขาสุดขั้วไปก่อน (หัวเราะ)


GM : โดยธรรมชาติอาจารย์เป็นคน extreme ไหม


สมศักดิ์ : ผมว่าเพราะอีกฝ่ายหนึ่งมากกว่า เรื่องปรีดี ถ้ามันเข้าท่ากว่านี้ ผมคงไม่ extreme เรื่องป๋วย นิธิ ถ้าชาวบ้านชาวเมืองเขารู้จักคิดบ้าง ผมคงเงียบ ตอนนี้หลายอย่างผิดปกติ คุณไม่รู้สึกบ้างหรือว่ามีอะไรแปลกๆ มีการยกย่องกันเกินไป


GM : ทำไมถึงเลือกมาสอนที่ธรรมศาสตร์


สมศักดิ์ : ที่นี่บรรยากาศดีผมชอบ ที่จุฬาฯ –เกษตรฯ เงียบเกินไป ไม่กระตุ้นสมอง ที่นี่มีห้องสมุดที่เทียบกับที่อื่นไม่ได้ จุฬาฯ นี่อย่าให้พูดเลย จุฬาฯ ควรจะอายตัวเองในฐานะที่รวยที่สุด แต่ห้องสมุดแย่ หนังสือภาษาอังกฤษแย่มาก คอลเลกชั่นไม่ดี น้อย ไม่ทันสมัย ตอนอยู่ ม. เกษตรฯ มีปัญหามาก ผมมายืมหนังสือที่นี่ทุกสัปดาห์ ก็มาเสียเลยดีกว่า


GM : ชีวิตช่วงนี้อาจารย์กำลังจดจ่ออยู่กับเรื่องอะไร


สมศักดิ์ : ผมสนใจหลายเรื่อง พวกโพสต์โมเดิรน์ คัลเจอร์อินดัสทรี อำนาจของมีเดีย รวมทั้งประวัติศาสตร์ 6 ตุลาฯ 14 ตุลาฯ ในแง่ลึกซึ้ง


GM : สนใจงานการเมืองบ้างไหม


สมศักดิ์ : ไม่, ผมยังไม่รู้สึกว่ามันอิสระและเปิดกว้างพอ ส่วนใหญ่ยังเหมือนมาร์เก็ตแคมเปญ การเถียงและการหาทางออกจริงๆ ไม่มี หลายๆ เรื่องยังไม่เคลียร์ไล่มาตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญ ทำไมต้องมี 15 คน อเมริกามีพลเมือง 200 กว่าล้านคน ศาลสูงสุดของเขามีแค่ 9 คน หลักการคัดเลือกคนมายังไง ไม่มีการเปิดอย่างโปร่งใส แต่ละคนมีความเห็นต่อตัวบทกฎหมายด้านต่างๆ อย่างไร ผมไม่เคยรู้เลยว่าศาลบ้านเราที่ใช้ๆ อยู่เขาเลือกจากอะไร คนดี คุณวุฒิ เป็นข้าราชการมานาน แค่นั้นหรือเปล่า หลายๆ เรื่องในระบบของเราทุกวันนี้ไม่มีเหตุผลเอาเลย กกต. มาจากไหน และอีกมากมายเหลือเกินครับ สำหรับเรื่องที่อยู่ในมุมมืด



บากบั่นพิมพ์โดย : Kasmos

ที่มา : ฟ้าเดียวกัน : สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ดับเครื่องชนสังคม Close and Uncritical

ไม่มีความคิดเห็น: