วันพุธที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2551

เจ้าเมืองปะทะเจ้านาย เมื่อปลายระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์


จากเล่าให้ลูกฟัง ของพระยาสัจจาภิรมย์อุดมราชภักดี กระทรวงมหาดไทย พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาสัจจาภิรมย์อุดมราชภักดี (สรวง ศรีเพ็ญ) ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส พระนคร วันเสาร์ที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๐๒

คำว่า "พ่อ" ที่ใช้ในที่นี้เป็นคำแทนตัวพระยาสัจจาภิรมย์ฯ ในการเล่าเรื่องให้ลูกหลานได้ทราบ


ต่อมาเมื่อพ่อรับราชการอยู่อยุธยาสักปีเศษ ได้เข้ามากรุงเทพฯ จะด้วยกิจธุระอันใดจำไม่ได้ ได้ไปหาหม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ อธิบดีกรมสาธารณสุขหรือสุขาภิบาล พ่อจำไม่ถนัด พ่อได้ไปนั่งตรงกับท่านที่โต๊ะเขียนหนังสือของท่านในห้องทำงานกระทรวงมหาดไทย ท่านถามพ่อว่า ทำไมเจ้าคุณถึงเอาถนนรอบกรุงเก่าไปยกให้แก่กรมทางหลวงแผ่นดิน พ่อทูลว่าถนนนั้นในฤดูแล้งก็ขรุขระรถและคนเดินไม่สะดวก ในฤดูฝนก็เฉอะแฉะมีโคลน รถวิ่งโคลนกระเด็นถูกคนเดินทาง ไม่สะดวกแก่การจราจรของคนชาวเมือง ทางการก็ไม่มีเงินจะซ่อมทำ ใช้แต่นักโทษวันละ ๔-๕ คนคอยปัดกวาดอยู่ไม่ทำให้ดีได้ ส่วนกองทางเขามีเงินทำ มีคนทำได้ดีกว่าเรามาก และเห็นเป็นหน้าที่ของเขาโดยตรงพ่อจึงมอบให้แก่เขา

ท่านขึ้นเสียงดังดุพ่อว่า ทางอยู่ในความควบคุมของเทศบาลหรือสุขาภิบาล ทำไมจึงเอาไปยกให้เขา ทำไมไม่บอกขออนุญาตมากระทรวงเสียก่อน พ่อทูลว่าไม่เห็นมีระเบียบวางไว้ที่ไหน และกรมทางก็ไม่ใช่ฝรั่งเศส เมื่อเขาจะทำให้ดีได้ก็ให้ทำ พ่อทูลห้วนๆ เพราะฉุนอยู่เหมือนกันว่า มีอำนาจอะไรจะมาดุพ่อ แต่พ่อรู้นิสัยเจ้าองค์นี้อยู่แล้วว่า
ท่านไว้อำนาจว่าเป็นเจ้า จะพูดจาอะไรกับคนในบังคับบัญชา มักเกรี้ยวกราดจนผู้น้อยไม่มีใครชอบ

ครั้นเรื่องการทางสงบลง ท่านก็หวนไปพูดว่า โรงพยาบาลเมืองชลก็ทำกันอย่างบ้าๆ ทีนี้ทำให้พ่อฉุนขึ้นมาก เพราะพ่อเป็นคนทำขึ้นเอง พ่อก็ทูลว่าโรงพยาบาลนี้สร้างขึ้นโดยไม่ได้ใช้เงินหลวงสักบาทเดียว ได้รักษาพยาบาลช่วยชีวิตคนมาเป็นเวลา ๘ ปี ในระหว่างที่พ่ออยู่ก็ไม่ได้ใช้เงินหลวง เมื่อโรงพยาบาลทำประโยชน์ได้เช่นนี้ ท่านยังว่าทำอย่างบ้าๆ ความเห็นของท่านก็บ้าน่ะซี เมื่อถูกเข้าอย่างนี้ เล่นเอาท่านนิ่งไปครู่หนึ่ง แล้วพูดขึ้นว่า "คำนี้ดิฉันไม่ได้พูดก่อนนา" พ่อก็พูดขึ้นอีกว่าพระยาบริรักษ์ฯ นั่งอยู่นี่เป็นพยานได้ ท่านว่าโรงพยาบาลเมืองชลทำอย่างบ้าๆ ท่านก็รู้อยู่แล้วว่าพ่อเป็นคนทำ เมื่อท่านว่าพ่อบ้าได้ พ่อก็ว่าท่านบ้าได้เหมือนกัน

เมื่อบรรยากาศในที่นั้นมันไม่สมควรจะนั่งอยู่ พ่อก็ลุกมาเฉยๆ ตรงมาที่กรมพลำภัง เข้าไปห้องกรมปกครอง พอพบพระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ พ่อก็บอกว่าเกิดจังไรขึ้นแล้ว แกถามว่าเรื่องอะไร พ่อบอกว่าทะเลาะมากับเจ้าสกลฯ แล้วก็เล่าเรื่องให้แกฟัง แกหัวเราะเสียงดังว่าไปโดนอ้ายเจ้าบ้าเข้าอีกแล้ว ต่างก็หัวเราะกันเสียงค่อนข้างดัง พระยาจ่าแสนยบดี อธิบดี ห้องอยู่ติดกัน ก็ร้องถามว่าอะไรกัน เข้ามานี่เถอะ พระยาสุนทรเทพฯ กับพ่อก็เข้าไปเล่าเรื่องให้ฟัง พระยาจ่าแสนยฯ บอกว่า แกเคยไล่ลูกไล่กรมสาธารณสุขได้และจะมาไล่ลูกไล่กรมพลำภังมิได้

พ่อก็พูดขึ้นว่าถ้านายเราถือหางอยู่เช่นนี้ พ่อก็สบายใจ แล้วคุยกันอยู่ครู่หนึ่งพ่อก็ลากลับ นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ได้เห็นพวกเจ้าพูดจาไว้อำนาจ ดูหมิ่นคนอื่นประหนึ่งเป็นพวกไพร่ โดยคิดว่าตัวของตัวนี่มันเขื่องเสียเต็มที จึงเป็นเหตุทำให้เกิดกระทบกันด้วยคำพูดอย่างแรงฉะนี้ ครั้นต่อมารุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง เวลานั้นพระยาสุรินทร์ฤาชัย (จันทร์) กำลังมานั่งคุยกับพ่ออยู่ที่บ้าน ก็มีผู้นำหนังสือของท่านสกลฯ มาส่งให้พ่ออ่านดู มีใจความว่า

"ที่เราทั้งสองได้เจรจากันวานนี้ มิได้เป็นไปด้วยความปรองดองกันนั้น เป็นเพราะดิฉันพึ่งหายป่วยมาทำงานวันนี้และมีเรื่องส่วนตัวมากระทบ ทำให้อารมณ์ไม่ดี ฉะนั้นขอให้การเจรจาของเราวานนี้เป็นอันระงับเสียเถิด"

เมื่อพ่ออ่านหนังสือของท่านสกลฯ จบลง พ่อก็ให้พระยาสุรินทร์ฯ อ่าน แล้วก็เล่าเรื่องให้แกฟัง แกพูดว่าบ้ากับบอมาเจอกันเข้าจึงได้เกิดเรื่อง แล้วก็ต่างหัวเราะและคุยกันต่อไป พระยาสุรินทร์ฯ (จันทร์) ผู้นี้เป็นเพื่อนเจ้าเมืองที่รักใคร่กันมาก พบกันไม่ว่าที่ไหนมักจะพูดล้อเล่นกันอยู่เสมอ


เมื่อพ่อกลับมาอยุธยาได้ไม่กี่วัน กระทรวงก็เรียกให้พ่อเข้ามารับตราตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ และพระราชทานโต๊ะทอง กาทอง ด้วยพระหัตถ์ขององค์พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๗ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ครั้นแล้วพวกที่ได้รับตราตระกูลนี้ก็พากันมาคอยเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวอยู่ที่ปราสาทพระเทพบิดร ขณะนั้นกรมพระกำแพงเพชรฯ ได้เดินเข้ามาในหมู่พวกที่ได้รับตรา เข้าใจว่าจะได้มาจับมือแสดงความยินดีหรืออะไรไม่ทราบ ส่วนพ่อมีความในใจกันอยู่ครั้งที่ได้เล่าให้ฟังตอนถูกย้ายจากเมืองชล เพราะกรมพระกำแพงฯ องค์นี้ใส่ร้ายแก่พ่อโดยมิเป็นธรรม พ่อก็สิ้นความนับถือแต่นั้นมา พ่อเกรงว่าถ้ายืนอยู่ก็จะต้องแสดงความเคารพท่านเหมือนผู้อื่น พ่อจึงเดินออกจากแถวลงบรรไดทางด้านพระอุโบสถวัดพระแก้วมาเสียต่อหน้า เพราะความสิ้นเกรงสิ้นกลัวหรือเกลียดหน้า


อนึ่งในคราวที่พ่อเข้ามารับตราครั้งนี้ เผอิญทราบว่าพระยาสุนทรเทพฯ เจ้ากรมปกครองได้ป่วยมา ๑๐ กว่าวันแล้ว พ่อจึงไปเยี่ยมที่บ้านของแก ที่ถนนรองเมืองซอย ๑ ข้างโรงน้ำแข็งของนายกี ซึ่งเป็นพ่อตาของแก เมื่อไปถึงบอกกับคุณหญิงแม้นว่าพ่อมาเยี่ยม ทราบว่าเจ้าคุณป่วย เธอก็นำพ่อเข้าไปในห้องที่พระยาสุนทรเทพฯ นอนอยู่ พ่อก็ไปนั่งใกล้ๆ เห็นแกนอนหลับตานิ่งอยู่ พ่อถามคนพยาบาลว่า หลับหรือ เขาพูดดังๆ ว่า นอนนิ่งมาอย่างนี้ ๓ วันแล้ว ไม่มีสติสตังอะไร อาหารจะให้กินก็กรอกลงไปเฉยๆ ไม่มีความรู้สึกอะไรเลย

พ่อได้จับแขนขึ้นมาดูและจับตัวแกลูบคลำ ดูแกก็เฉย พูดถามอะไรแกๆ ก็ไม่ตอบ พ่อคิดว่าโรคอัมพาตอย่างนี้แรงมาก เห็นจะเป็นด้วยพิษสุราที่แกดื่มจัดนัก ขณะนั้นมีหมอเข้าไป พ่อก็ถามว่าจะแก้รูปใดกัน หมอบอกว่าหมดหวัง เป็นแต่ชลอไว้นานหน่อยเท่านั้น พ่อพูดอยู่กับหมอครู่หนึ่งพ่อก็ลากลับ ตรงไปที่กระทรวงมหาดไทย พบกับพระยาจ่าแสนยฯ พ่อก็บอกถึงอาการที่ได้ไปเยี่ยมพระยาสุนทรเทพฯ มา พ่อเห็นว่าแกต้องตายในวันสองวันนี้แน่ เพราะไม่รู้สึกตัวมา ๒-๓ วันแล้ว พ่อได้บอกแก่พระยาจ่าแสนยฯ อธิบดีว่า ตำแหน่งนี้พ่อจะเอา ขอกลับเข้าบ้านเข้าเมืองเสียที เพราะพ่อต้องตระเวนอยู่หัวเมืองมา ๓๐ ปีแล้ว และตั้งใจว่าจะไม่ขอกลับออกไปอยู่บ้านนอกอีกต่อไป พระยาจ่าแสนยฯ ก็พยักหน้า และคุยกันอยู่ครู่หนึ่ง พอดีมีผู้นำหนังสือราชการมาเสนอพ่อก็ลากลับ


ครั้นต่อมา ๒ วัน พ่อก็ทราบว่าพระยาสุนทรเทพฯ ได้ถึงแก่กรรมเสียแล้ว ทำให้พ่อสลดใจในแกมาก เพราะเป็นเพื่อนที่ดีของพ่อคนหนึ่ง เธอเป็นคนตรง พูดจาไม่มีกลัวเกรงผู้ใดแม้แต่ผู้มีตำแหน่งเหนือแก แกไม่มีประจบประเเจงใคร ทำราชการไว้เกียรติว่ามีความรู้ดี พูดมากอยู่สักหน่อยเมื่อเสพสุราเข้าไปแล้ว บางวันพ่อเคยไปนั่งคุยด้วยที่โต๊ะเขียนหนังสือ เห็นแกเขียนหนังสือมือสั่น พ่อถามแกๆ บอกว่าเมื่อคืนนี้ไปกินเลี้ยงล่อเหล้าเข้าไปมากสักหน่อย เป็นอย่างนี้เสมอ พ่อบอกว่ารู้แล้วกินทำไม แกกลับตอบพ่อว่าช่างมัน พ่อว่าช่างมันไม่ได้ซิ มันจะตายเร็ว

แกก็บอกว่าคิดอยู่เหมือนกันแต่ถึงคราวมันอดไม่ได้ แล้วก็พูดหัวร่อล้อกันเล่นทางอื่นในฐานะที่เป็นเพื่อนรักใคร่กัน แต่แกอายุแก่กว่าพ่อ ๓ ปี นี่แหละพ่อกับแกรักใคร่สนิทสนมกันอย่างนี้ พ่อจึงอาลัยแกนัก ในวันที่ทราบว่าพระยาสุนทรเทพฯ ถึงแก่กรรมนี้ พ่อได้เข้ามาเยี่ยมนำพวงหรีดไปขมาศพตามธรรมเนียม แล้วเลยไปเตือนพระยาจ่าแสนยฯ ตามที่พ่อบอกท่านไว้ ว่าตำแหน่งเจ้ากรมนี้ต้องเป็นของพ่อ แล้วก็กลับอยุธยา


ครั้นต่อมา ๒-๓ วันเท่านั้นก็ได้รับตราเรียกให้พ่อเข้ามารับราชการในตำแหน่งเจ้ากรมปกครอง กระทรวงมหาดไทย พ่อได้เข้ามารับตำแหน่งเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๔ รวมเวลาที่พ่อมาเป็นผู้รักษาพระนครศรีอยุธยาอยู่ ๑ ปี ๖ เดือน ๘ วัน ก็ต้องย้ายเข้ามารับราชการอยู่ในกรุงเทพฯ ถ้าจะศิริรวมตั้งแต่แรกรับราชการมาตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๔๑ มาจนถึงวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๔ ก็ถึง ๓๓ ปี กับ ๘ เดือนพอดี


การที่พ่อได้เข้ามารับตำแหน่งใหม่ในกรุงเทพฯ อย่างนี้ โดยปกติพวกข้าราชการผู้น้อยในบังคับบัญชามักจะพากันกระด้างกระเดื่อง ด้วยเห็นว่าเป็นคนบ้านนอก แต่เป็นเคราะห์ดีของพ่อ ได้อาศัยที่พ่อมีวิชาประจำตัว คือเป็นเนติบัณฑิตและเป็นนักปกครองที่สอบไล่ได้มาแล้ว เป็นเกียรติสูงยิ่งกว่าใครๆ ในเวลานั้น ประกอบด้วยพ่อใช้กิริยาวาจาไม่เย่อหยิ่ง สุภาพอ่อนโยน จึงกระทำให้เพื่อนฝูงและผู้อยู่ในบังคับบัญชารักใคร่นับถือพ่อทุกคน


ในระหว่างที่เป็นเจ้ากรมปกครอง สังกัดอยู่ในกรมพลำภังมาได้สักกี่เดือนจำไม่ได้ พระยาจ่าแสนยฯ อธิบดีกรมพลำภังก็เลื่อนขึ้นเป็นปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ให้พระยาสุริยาฯ เจ้ากรมเวรวิเศษมาเป็นอธิบดีแทน ทั้งนี้ย่อมทำความกระเทือนใจแก่พ่ออยู่มาก เพราะได้คำนึงเทียบดูว่าพ่อกับพระยาสุริยาฯ ใครจะดีกว่ากัน เช่นตำแหน่งก็เป็นเจ้ากรมเหมือนกัน แต่พ่อเป็นชั้นเจ้าเมืองมาก่อนตั้ง ๑๐ ปีกว่า เงินเดือนพ่อได้ชั้นพิเศษถึงเดือนละ ๗๐๐ บาทมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๙ ส่วนพระยาสุริยาฯ ดูเหมือนว่าได้อยู่ ๕๐๐ หรือ ๖๐๐ บาทเท่านั้น และพ่อได้บรรดาศักดิ์เป็นพระยาก่อนพระยาสุริยาฯ เป็นหลายปี

ส่วนตราพ่อก็ได้ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ แม้ตราในราชการพ่อก็ได้สูงกว่า ทั้งพ่อมีอายุสูงกว่าและรับราชการมานานกว่าพระยาสุริยาฯ หลายปี ส่วนวุฒิประจำตัวพ่อก็เป็นเนติบัณฑิต เป็นนักปกครอง (รัฐประศาสน์) ที่สอบไล่ได้ ซึ่งพระยาสุริยาฯ ไม่มีอะไรเสียเลย ทำไมพระยาสุริยาฯ ถึงได้มาเป็นอธิบดี ซึ่งกลับมาเป็นนายพ่อได้เพราะอะไร? ถ้าพูดกันอย่างสั้นก็คือพวกเจ้าเห็นแก่พวกของตัว ทำอะไรมักทำเล่นตามใจตนไม่คิดถึงหลักการและวิทยาการใดๆ ทั้งนั้น ท่านจึงเอาพระยาสุริยาฯ ซึ่งเป็นสกุลบุนนาค มาเป็นอธิบดี เพราะว่าเป็นพระญาติวงษ์ทางพระนางสุขุมาลฯ พระมารดาของท่านคือสมเด็จกรมพระนครสวรรค์ฯ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย


พ่อได้ปรารภความนี้ต่อพระยาจ่าแสนยฯ ท่านบอกแก่พ่อว่าท่านได้ทัดทานแล้ว เสนาบดีจะเอาพระยาสุริยาฯ ให้ได้ท่านก็จนใจ พ่อได้บอกแก่ท่านว่า เพื่อเกียรติ พ่อออกดีกว่า และด้วยความเจ็บใจครั้งกรมพระกำแพงฯ ฟ้องพ่อซึ่งได้เล่ามาแล้ว ยังมาโดนทะเลาะกับเจ้าสกลฯ ที่ไว้ท่าไว้ทางเป็นเจ้าเข้าอีก ซ้ำคราวนี้มาเจอะเจ้าถือพวกเข้าด้วย พ่อถึงกับพูดกับพระยาจ่าแสนยฯ ว่า

ถ้าบ้านเมืองเราเป็นอย่างนี้ไม่ช้าก็ฉิบหาย เพราะพวกถือชั้น วรรณะ เหยียดหยามคนจนเล่นพวกเล่นพ้องเช่นนี้ ดูตัวอย่างฝรั่งเศสสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ราชวงษ์บูรบองเป็นอย่างไร หรือดูพระเจ้าซาร์ รัสเซีย ราชวงษ์โรมาน็อฟที่ถูกเขาจับฆ่าเสียนั้น

ไม่มีลักษณะอย่างนี้ดอกหรือ พระยาจ่าแสนยฯ แกตอบตัดบทว่าพ่อพูดด้วยอารมณ์ไม่ดี ขอให้พยายามระงับทำใจเย็นๆ ไว้ ว่าสุดแต่กรรมจะบรรดาลดีกว่า ถ้าพ่อจะลาออกเวลานี้เรื่องมันก็จะไปกันใหญ่ พ่อก็หยุดการเจรจาด้วยความเคารพนับถือในท่าน

ครั้นต่อมาเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ เวลาเช้า พระยาสุนทรพิพิธ (เชย) จะเข้ามาเป็นอะไรจำไม่ได้ เธอไปหาพ่อที่บ้านอย่างคนตกใจ บอกแก่พ่อว่า เขาจับสมเด็จกรมพระนครสวรรค์ฯ ไปแล้ว พ่อถามว่าเรื่องอะไร เธอบอกสั้นๆ ว่าเห็นจะเป็นขบถแล้วเธอก็รีบกลับไป พ่อก็รีบขึ้นรถไปหวังจะดูเหตุการณ์ พอรถไปทางถนนราชดำเนินนอกใกล้เขตวังปารุสกวัน ก็เห็นทหารเรือนอนเรียงกันเต็มถนน ถือปืนเล็กยาว ร้องห้ามไม่ให้รถไป พ่อก็กลับมาที่กระทรวงมหาดไทย ได้เห็นพวกนักเรียนนายร้อยทหารบกรุ่นใหญ่ มีปืนพร้อมไปตั้งกลุ่มอยู่ในสนามกลางกระทรวงมหาดไทย ประเดี๋ยวหนึ่งก็เห็นนายร้อยคุมนักเรียนนายร้อยทหารบก ประมาณสัก ๒๐ คนขึ้นมาบนกระทรวงมหาดไทย


ขณะนี้พ่อรู้แล้วว่าพวกทหารยึดการปกครอง พ่อได้ถอดเสื้อชั้นนอกออกมายืนอยู่หน้าประตูห้องกรมปกครอง ทหารกลุ่มนั้นพอเดินผ่านพ่อ นายทหารผู้นำเป็นร้อยโท ก็ทำวันทยหัตถ์ให้แก่พ่อ แล้วก็เดินเลยไป พ่อจำไม่ได้ว่าเด็กหนุ่มที่คุมทหารทำความเคารพพ่อคือใคร ภายหลังจึงรู้ว่าเขาผู้นั้นเป็นลูกขุนจรูญกิจโอสถ (เพิ่ม) เขารู้จักพ่อตั้งแต่เขายังเป็นเด็กๆ ในวันนั้นเป็นอันไม่ได้ทำราชการกัน จับกลุ่มคุยกันทุกกรม ส่วนเรื่องการปฏิวัติพ่อจะไม่เล่า เพราะพวกเจ้าก็รู้เห็นเองอยู่แล้ว



จากคอลัม : เล่าไว้ในวันก่อน

ศิลปวัฒนธรรม
วันที่ 01 มีนาคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 26 ฉบับที่ 05


ที่มา : ศิลปวัฒธรรม : เล่าไว้ในวันก่อน

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำไปตามความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

ไม่มีความคิดเห็น: