พระราชวงศ์จักรีเป็นพระราชวงศ์ที่มีอายุยืนยาวที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติ ทั้งพระราชพงศาวดารและตำราประวัติศาสตร์ มีให้ศึกษาประวัติโดยละเอียดจำนวนมาก โดยเฉพาะพระบรมเดชานุภาพ พระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์
แต่หากสังเกตอย่างดีก็จะพบว่าในบรรดาประวัติพระราชวงศ์หรือพระราชประวัติพระมหากษัตริย์ เรายังขาดแคลนข้อมูลที่กล่าวถึงบางช่วงบางตอน เช่นในภาคปฐมวัยแห่งพระมหากษัตริย์บางพระองค์ เท่ากับว่าเรายังขาดความรู้เรื่อง "วัยเด็ก" ของพระมหากษัตริย์ไทย โดยเฉพาะพระองค์ก่อนรัชกาลที่ ๕ ขึ้นไป
ทั้งนี้เป็นเพราะการจดพงศาวดารในยุคก่อนได้เว้นที่จะกล่าวถึงพระราชประวัติก่อนเสวยราชย์ จะด้วยธรรมเนียมหรือด้วยเหตุไม่บังควรอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม ทำให้ประวัติศาสตร์ในช่วงดังกล่าวเป็นแต่เพียงภาพรางๆ ไม่แจ่มชัดเท่าที่ควร
พระราชพงศาวดารจึงเป็นแต่เพียงเนื้อเรื่องที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ "เปิดเผย" ได้ แน่นอนว่าเรื่องราวเหล่านั้นจำเป็นต้องคัดกรองเพื่อการเปิดเผยจริงๆ เหตุเพราะว่าการจดพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์นั้นเกิดขึ้นร่วมสมัยกับการเกิด "การพิมพ์" ขึ้นในประเทศประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งคือแต่ละบุคคลแต่ละสกุลย่อมมีเรื่องราวอันควร "ปิดบัง" ไว้ทั้งสิ้น
หากย้อนกลับไปถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ยังมีเรื่องราวที่ควรปกปิดมากกว่าในสมัยรัตนโกสินทร์ ไม่เว้นแม้แต่พระนามของพระมหากษัตริย์ก็ถือเป็นเรื่องปกปิดเช่นกัน นิโกลาส์ แชรแวส กล่าวไว้ว่าการปกปิดพระนามของพระมหากษัตริย์ถือเป็นนโยบายทางการเมืองของราชอาณาจักรสยาม ที่จะออกพระนามพระเจ้าแผ่นดินให้เป็นที่รู้แก่ประชาชนพลเมืองได้ ก็ต่อเมื่อเสด็จสวรรคตแล้ว ดังนั้นนิโกลาส์ แชรแวส ผู้เขียนหนังสือประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม ตีพิมพ์ที่กรุงปารีสในปีพุทธศักราช ๒๒๓๑ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ต้องใช้ "เทคนิค" พอสมควรกว่าจะได้พระนามที่แท้จริงของสมเด็จพระนารายณ์มาได้ แชรแวสใช้เทคนิคดังนี้
"มีอยู่สองคนที่ข้าพเจ้ารู้จักดี และได้รับความไว้วางใจ เพราะข้าพเจ้าได้เคยช่วยเหลือเขามาหลายครั้งหลายหน ได้บอกให้ข้าพเจ้าทราบเป็นความลับว่า พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ปัจจุบัน ทรงพระนามว่าเจ้านารายณ์"
(นิโกลาส์ แชรแวส. ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม. ก้าวหน้า, ๒๕๐๖, น. ๒๒๓.)
การเปิดเผยพระนาม รวมไปถึงอธิบายความหมายของพระนามพระมหากษัตริย์ เกิดขึ้นจริงๆ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ไม่เพียงแต่ทรงเปิดเผยพระนามเท่านั้น ยังทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่เปิดเผยประวัติความเป็นมาของราชตระกูลอีกด้วย โดยมีพระราชหัตถเลขาถึงเซอร์จอห์น เบาว์ริง ไว้อย่างค่อนข้างชัดเจนตรงไปตรงมา ทรงยอมรับที่จะไม่ใช่ "ไทยแท้" หากแต่เป็น "มอญ" ผสม "จีน" ในชั้นบรรพบุรุษต้นตระกูล
ความในพระราชหัตถเลขาฉบับนี้ ทรงอ้างถึงต้นตระกูลชาวมอญหงสาวดี ได้ติดตามสมเด็จพระนเรศวรหรือที่ทรงเรียกว่าพระนเรศร (King Phra Naresr) มายังกรุงศรีอยุธยา
"ในตอนนี้คนในตระกูลที่รับราชการเป็นทหารของพระเจ้ากรุงหงสาวดีได้ติดตามมากับสมเด็จพระนเรศรด้วย แล้วตั้งหลักแหล่งอยู่ในอยุธยา"
(เซอร์จอห์น เบาว์ริง. ราชอาณาจักรและราษฎรสยาม. มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๔๗, น. ๘๗.)
ทรงบรรยายต่อว่า หลังจากนั้นเรื่องราวของตระกูลก็ขาดหายไปราวครึ่งศตวรรษหรือประมาณ ๘ รัชกาล จนกระทั่งมาปรากฏขึ้นอีกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งทรงเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า Narayu
"หลังจากรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศร...เรื่องราวของตระกูลนี้ได้ขาดหายไปจากการรับรู้ของพวกเราจนกระทั่งถึงแผ่นดินสมเด็จพระนารายู"
(เบาว์ริง, น. ๘๗)
ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์นี่เองที่ "ต้นตระกูล" ได้รับโอกาสรับราชการสำคัญของแผ่นดินคือ เจ้าพระยาโกษาเหล็ก และเจ้าพระยาโกษาปาน [ในพระราชหัตถเลขาใช้ปาล (Pal) แต่ในพระราชพงศาวดารใช้ปาน]
"กล่าวกันว่าบุพการีของพวกเราสืบสายเลือดต่อลงมาจากท่านผู้เป็นอภิชาตบุตรนี้เอง" (เบาว์ริง, น. ๘๘)
จากนั้นก็ทรงเล่าสืบสายตระกูลลงมาจนถึงสมเด็จพระบรมมหาชนก
(คือพระราชบิดารัชกาลที่ ๑)
"ต้นตระกูลผู้เป็นบิดาของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์แรก และเป็นปู่ของพระราชบิดาในพระเจ้าแผ่นดินองค์ปัจจุบัน (ตัวข้าพเจ้า) กับพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ก่อน (พระเชษฐาผู้ทรงล่วงไปแล้วของข้าพเจ้า) แห่งสยาม เป็นอภิชาตบุตรของตระกูลที่สืบเชื้อสายมาจากเสนาบดีต่างประเทศที่ได้กล่าวมาแล้ว ท่านได้ย้ายหลักแหล่งจากอยุธยามาเพื่อความสุขของชีวิต และตั้งบ้านเรือนที่ "สะกุตรัง" เป็นท่าเรือบนลำน้ำสายเล็ก อันเป็นสาขาของแม่น้ำใหญ่ ตรงรอยต่อของราชอาณาจักรสยามตอนเหนือกับตอนใต้"
(เบาว์ริง, น. ๘๘)
สิ่งที่น่าสังเกตตรงนี้ก็คือ ทรงอ้างอิงต้นตระกูลที่เป็นแต่เพียง "เสนาบดีต่างประเทศ" ไม่ได้ทรงอ้างถึงบรรพบุรุษที่เป็นเชื้อพระวงศ์หรืออดีตพระมหากษัตริย์แห่งสยามประเทศ นอกจากนี้ก็ไม่ได้ทรงเอ่ยถึงโกษาปาน ในฐานะ "เชื้อเจ้า" ไว้ในที่ใดเลย
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกล่าวถึงเรื่องราวของตระกูลที่ขาดหายไปราวสองสามชั่วอายุคน จนกระทั่งมาถึงเรื่องของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก (ทองดี)
แต่ในเอกสารอื่นได้เชื่อมรอยต่อตระกูล "ทอง" ตรงนี้ไว้บ้างแล้ว คือบุตรคนใหญ่ของโกษาปานชื่อนายขุนทองหรือนายทอง ได้เป็นเจ้าพระยาวรวงศาธิราช บุตรนายทองคนใหญ่คือนายทองคำ รับราชการเป็นพระยาราชนกูล บุตรคนใหญ่ของนายทองคำคือนายทองดี คือสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกนาถ เป็นที่หลวงพินิจอักษรหรือพระอักษรสุนทรศาสตร์ บิดานายทองด้วง คือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ในพระราชหัตถเลขาฉบับนี้ไม่ได้กล่าวเน้นถึงเรื่องการเป็น "เจ้า" ของพระราชวงศ์ แต่ทรงเน้นย้ำถึงการเป็นตระกูลเสนาบดีและคหบดีที่เป็นชาวจีน โดยทรงกล่าวถึง "นายทองดี" ต้นราชสกุลที่ได้ลูกเศรษฐีจีนเป็นภรรยา
"ท่านได้ออกจาก "สะเกตรัง" ไปยังอยุธยา ที่ซึ่งได้รับคำแนะนำให้เข้ารับราชการและได้สมรสกับธิดารูปงามของครอบครัวคหบดีจีนที่ร่ำรวยที่สุดในย่านที่อยู่อาศัยของชาวจีน ภายในกำแพงเมืองตรงมุมด้านตะวันออกเฉียงใต้ของอยุธยา" (เบาว์ริง, น. ๘๘)
แม้แต่ในพระราชนิพนธ์ประถมวงศ์ ก็มิได้กล่าวยอกย้อนขึ้นไปถึงบรรพบุรุษรุ่นโกษาปาน ไม่ว่าเรื่องใดๆ รวมถึงเรื่องความเป็นเจ้า แต่ทรงกล่าวย้อนเพียงพระปฐมบรมมหาชนกเท่านั้นว่าเป็น "ตระกูลใหญ่" คือเป็นการอธิบายถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ว่าได้ประสูติในชาติตระกูลที่ยิ่งใหญ่และร่ำรวย
"ได้เสดจมายังมนุษยโลกย์นี้ อุบัติมีขึ้นในมหามาตย์คฤหบดีสกูลอันมั่งคั่งพร้อมมูลด้วยไอยสูริยสมบัติ ถ้าเปนมัทธยมประเทศก็ควรจะเปนสกูลมหาสาลได้ เพราะเปนสกูลใหญ่ที่มีนิเวศนสฐานตั้งอยู่นานในภายในกำแพงพระมหานครกรุงเทพทวารวดีศรีอยุทธยา"
(วชิรญาณ เล่ม ๒ ฉบับ ๑๑ ปี ๑๒๕๗, น. ๔๗๑-๕๐๑ และเล่ม ๒ ฉบับ ๑๓ น. ๖๒๕-๖๓๕.)
ทั้งในพระราชหัตถเลขาที่มีไปถึงเซอร์จอห์น เบาว์ริง ซึ่งเป็นลักษณะเปิดเผยต่อบุคคลภายนอก และพระราชนิพนธ์ประถมวงศ์ ที่มีวัตถุประสงค์จะเล่าถึงสาแหรกตระกูลสำหรับลูกหลานอ่านกันเป็นการภายใน ก็ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไม่มีพระราชประสงค์จะอ้างถึง "เชื้อเจ้า" ของบรรพบุรุษในที่ใดเลย แต่กลับเน้นย้ำถึงการเป็นตระกูลเสนาบดีที่มั่งคั่งร่ำรวย
แต่เอกสารชั้นหลังพบได้หลายต่อหลายชิ้น ที่พยายามสืบเสาะค้นหาและ "ผูก" พระราชวงศ์จักรีเข้ากับพระราชวงศ์สุโขทัยในสมัยอยุธยาหรือวงศ์พระมหาธรรมราชา โดยเฉพาะที่สมเด็จพระนเรศวร
บุคคลที่เป็นสายโซ่สำคัญเชื่อมต่อสองสาแหรกนี้เข้าด้วยกันคือ
"เจ้าแม่วัดดุสิต"
ปัญหาสำคัญก็คือ "เจ้าแม่วัดดุสิต" ท่านนี้เป็นเชื้อพระวงศ์หรือไม่? และเหตุใดพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชพงศาวดารไทย และเอกสารต่างประเทศ จึงไม่มีฉบับใดอ้างถึงความเป็น "เจ้า" ของท่านผู้นี้
ด้วยเหตุที่เจ้าแม่วัดดุสิตเป็นสายสกุลที่สืบได้สูงสุดของพระราชวงศ์จักรี สามารถอ้างอิงได้และเชื่อได้ว่ามีตัวตนจริง โดยมีหลักฐานสำคัญที่แน่ชัดว่าท่านผู้นี้เป็นมารดาของโกษาปาน มีปรากฏอยู่ในเอกสารต่างประเทศและพระราชพงศาวดารไทยหลายฉบับ
ลาลูแบร์ได้พูดถึงเจ้าแม่วัดดุสิตว่าเป็นมารดาของราชทูตโกษาปานไว้ดังนี้
"มารดาของท่านเอกอัครราชทูต ที่เราได้เห็นตัวกันที่นี้ (ในประเทศฝรั่งเศส) เป็นพระนมเหมือนกัน"
(จดหมายเหตุลาลูแบร์ ฉบับสมบูรณ์ เล่ม ๑. ก้าวหน้า, ๒๕๑๐, น. ๓๙๘.)
เหตุที่ลาลูแบร์เรียกเจ้าแม่วัดดุสิตมารดาของโกษาปานว่าเป็น "พระนม" ก็เพราะท่านผู้นี้ได้เป็นพระนมสมเด็จพระนารายณ์ ส่วนที่ว่า "เป็นพระนมเหมือนกัน" ก็คือ สมเด็จพระนารายณ์นั้นทรงมีพระนมตามที่มีชื่อในพงศาวดารอยู่ ๒ ท่าน คือเจ้าแม่วัดดุสิตท่านหนึ่ง และมารดาของพระเพทราชาอีกท่านหนึ่ง ทั้งนี้ตามกฎมนเทียรบาลได้กำหนดตำแหน่ง "พระนม" ไว้ ๓ ตำแหน่ง คือ แม่นมเอก แม่นมโท แม่นมตรี กล่าวกันว่าเจ้าแม่วัดดุสิตนั้นได้เป็นพระนมเอกของสมเด็จพระนารายณ์
ส่วนพระราชพงศาวดารกรุงเก่าได้กล่าวถึงความสนิทสนมกันระหว่างสมเด็จพระนารายณ์กับสองพี่น้องโกษาเหล็กและโกษาปานลูกเจ้าแม่วัดดุสิตในฐานะที่ได้ดื่มน้ำนมร่วมกัน ในคราวที่โกษาเหล็กต้องล้มป่วยถึงแก่ชีวิตดังนี้
"ลุศักราช ๑๐๒๓ ปีฉลูตรีศก ขณะนั้นเจ้าพระยาโกษาธิบดีป่วยลง ทรงพระกรุณาให้พระ หลวง ขุน หมื่น แพทย์ทั้งหลายไปพยาบาล และโรคนั้นเป็นสมัยกาลแห่งชีวิตขัยก็ถึงแก่อนิจกรรม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิอาจกลั้นน้ำพระเนตรไว้ได้ ทรงพระอาลัยในเจ้าพระยาโกษาเป็นอันมาก และเจ้าพระยาโกษาขุนเหล็กคนนี้ เป็นลูกพระนมและได้รับพระราชทานนมร่วมเสวยมาแต่ยังทรงพระเยาว์"
(พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับความสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส เล่ม ๒. คุรุสภา, ๒๕๐๕, น. ๗๕.)
พระราชพงศาวดารกรุงเก่ายังได้กล่าวถึงนาม "เจ้าแม่วัดดุสิต" ไว้เมื่อคราวหลวงสรศักดิ์ (ต่อมาคือพระเจ้าเสือ) เกิดเรื่องวิวาทกับเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ จนต้องไปขอให้มารดาโกษาเหล็กช่วยเกลี้ยกล่อมสมเด็จพระนารายณ์ให้ทรงเว้นพระราชอาญา
"ฝ่ายหลวงสรศักดิ์ก็ไปเฝ้าเจ้าแม่วัดดุสิต ซึ่งเป็นมารดาเจ้าพระยาโกษาเหล็ก เจ้าพระยาโกษาปาน และเป็นพระนมผู้ใหญ่ของสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว" (กรมพระปรมานุชิต, น. ๙๙)
ต่อมาภายหลังแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ พระราชพงศาวดารกรุงเก่าได้เอ่ยถึงเจ้าแม่วัดดุสิตในนาม
"เจ้าแม่ผู้เฒ่า"
กล่าวโดยรวมก็คือ ทั้งพระราชนิพนธ์ประถมวงศ์ จดหมายเหตุลาลูแบร์ และพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ไม่ได้กล่าวถึงสายตระกูลของเจ้าแม่วัดดุสิตไว้ว่าจะเป็นเชื้อพระวงศ์สายไหน นอกจากนี้ยังไม่ได้ยกย่องบุตรของท่านทั้งสองว่ามีเชื้อสายเจ้าแต่ประการใด
เช่นเมื่อคราวที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงเฟ้นหาราชทูตไปกรุงฝรั่งเศสอยู่นั้น โกษาเหล็กก็แนะนำน้องชายถวาย ก็ตรัสเรียกเสมอด้วยไพร่ทั่วไป ไม่ได้ "ไว้เชื้อ" แม้แต่น้อย
"จึงมีพระราชโองการตรัสสั่งให้หานายปานเข้ามาเฝ้า แล้วตรัสว่า อ้ายปาน เอ็งมีสติปัญญาอยู่ กูจะใช้ให้เป็นนายกำปั่นไป ณ เมืองฝรั่งเศสสืบดูสมบัติพระเจ้าฝรั่งเศส" (กรมพระปรมานุชิต, น. ๔๓)
จะเห็นได้ว่าเอกสารทั้งหลายที่ยกมานี้ยังไม่พบเบาะแสใดที่พอจะอนุมานได้ว่าเจ้าแม่วัดดุสิตหรือเจ้าแม่ผู้เฒ่า เป็นเชื้อพระวงศ์หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ความเป็นเจ้า" ตามความหมายของธรรมเนียมราชตระกูลนั้นนับเอาเฉพาะลูกเธอหรือหลานเธอ นั่นคือไม่ต่ำกว่าพระเจ้าหลานเธอและหม่อมเจ้า จึงยังไม่มีหลักฐานใดพอจะยืนยันได้ว่าเจ้าแม่วัดดุสิตเป็นลูกเธอหรือหลานเธอพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใด
เหลือเพียงเบาะแสเดียวซ่อนอยู่ ที่อาจจะชี้ได้ว่าท่านผู้นี้เป็นเจ้านาย และเป็นเบาะแสเดียวเท่านั้นที่ยึดเป็นหลักฐานได้ คือที่มาของชื่อ
"วัดดุสิต" ในชื่อเจ้าแม่วัดดุสิตนั่นเอง
เบาะแสนี้อยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า เมื่อคราวที่พระราชมารดาเลี้ยงของสมเด็จพระเจ้าเสือขอย้ายออกจากวังหลังจากที่สมเด็จพระเพทราชาสวรรคต ทรงขอย้ายไปประทับที่ที่เคยเป็นที่อยู่ของเจ้าแม่วัดดุสิต ซึ่งไม่ใช่บ้านธรรมดา แต่เป็นที่ประทับเสมอด้วยวังเจ้า
"ในขณะนั้น สมเด็จพระอรรคมเหสีเดิมแห่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกศ ซึ่งเป็นพระราชมารดาเลี้ยงของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน ได้อภิบาลบำรุงรักษาพระองค์มาแต่ยังทรงพระเยาว์นั้น
ครั้งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จสวรรคตแล้ว จึงทูลลาสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน เสด็จออกไปตั้งพระตำหนักอยู่ในที่ใกล้พระอารามวัดดุสิต และที่พระตำหนักวัดดุสิตนี้เป็นที่พระตำหนักมาแต่ก่อน ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้า และเจ้าแม่ผู้เฒ่าซึ่งเป็นพระนมเอกของสมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้า และเป็นมารดาเจ้าพระยาโกษาเหล็ก โกษาปาน ซึ่งได้ขึ้นไปช่วยกราบทูลขอพระราชทานโทษสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน ขณะเป็นที่หลวงสรศักดิ์และชกเอาปากเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ครั้งนั้น และเจ้าแม่ผู้เฒ่านั้นก็ได้ตั้งพระตำหนักอยู่ในที่นั้น
ครั้นแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้และสมเด็จพระราชมารดาเลี้ยงก็เสด็จไปตั้งพระตำหนักอยู่ในนั้นสืบต่อกันไป"
(กรมพระปรมานุชิต, น. ๑๘๕)
หลักฐานชิ้นนี้เป็นเครื่องยืนยันอย่างดีว่าเจ้าแม่วัดดุสิตต้องเป็น "เจ้า" ค่อนข้างแน่ แต่อย่างไรก็ดียังมีปริศนาอีกชิ้นหนึ่งที่ไม่สามารถจะหาคำตอบได้คือ สามีของเจ้าแม่วัดดุสิต หรือพ่อของโกษาปานเป็นใคร หากท่านผู้นี้เป็น "เจ้า" ด้วย ก็สมควรที่จะเรียกที่อยู่ว่าตำหนักเช่นกัน น่าเสียดายว่าท่านผู้นี้ไม่ปรากฏหลักฐานที่เชื่อถือได้พอให้ระบุว่าท่านเป็นใคร ในทำนองกลับกันนั่นอาจแสดงว่าท่านไม่ได้มี "เชื้อ" พอที่จะให้อ้างอิงก็เป็นได้ เพราะการอ้างอิงการสืบเชื้อสาย "เจ้า" ทางสายบิดาย่อมหนักแน่นกว่าทางสายมารดา
แม้จะไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าต้นสายของเจ้าแม่วัดดุสิตเป็นใคร และไม่มีหลักฐานว่าท่านมีสกุลยศอย่างใด แต่เอกสารในชั้นหลังคือหลังรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา กลับมีการกล่าวอ้างถึงสกุลยศว่าท่านเป็น "หม่อมเจ้า" ในราชวงศ์สุโขทัยพระมหาธรรมราชา เช่นในหนังสือโครงกระดูกในตู้ ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้อ้างถึงหนังสือราชินิกุลบางช้าง พิมพ์แจกในงานฉลองพระราชสมภพครบ ๒๐๐ ปี รัชกาลที่ ๒ ดังนี้
"แรกเริ่มเดิมที ท่าน (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ) เกิดมาในตระกูลขุนนางในกรุงศรีอยุธยา ตระกูลของท่านเป็นตระกูลขุนนางสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน นับแต่เจ้าพระยาโกศาปาน นักรบและนักการทูต ผู้มีชื่อเสียงในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เจ้าพระยาโกศาปานเป็นบุตรเจ้าแม่วัดดุสิต ซึ่งเป็นพระนมของสมเด็จพระนารายณ์ เจ้าแม่วัดดุสิตมีศักดิ์เป็นหม่อมเจ้าในราชวงศ์พระมหาธรรมราชา ซึ่งสืบเชื้อสายมาแต่ราชวงศ์พระร่วงสุโขทัย"
(ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช. โครงกระดูกในตู้. ๒๕๑๔, น. ๑๘.)
ในเรื่องนี้ท่านยกเจ้าแม่วัดดุสิตให้เป็น "หม่อมเจ้า" ในราชวงศ์พระมหาธรรมราชา แต่ไม่ปรากฏพระนามพระองค์เองและพระสวามี ที่สำคัญคืออ้างถึงการเป็นราชวงศ์ที่สืบเนื่องมาจากราชวงศ์พระร่วง
เอกสารชั้นหลังเหล่านี้ล้วนเป็นลักษณะคำบอกเล่าโดยพิสดาร โอกาสที่จะถูกต้องและผิดพลาดมีได้เท่าๆ กัน
เรื่องเจ้าแม่วัดดุสิต ยังไปปรากฏในประวัติตระกูล "อิศรางกูร" ที่น่าสนใจก็คือเอกสารชิ้นนี้ระบุชื่อของเจ้าแม่ผู้เฒ่าไว้และยังระบุนามพระราชบิดาไว้อีกด้วย
"เจ้าแม่วัดดุสิตจะมีนามว่ากระไรแน่นั้น หลักฐานกล่าวไว้ไม่ตรงกัน บางแห่งกล่าวว่าชื่อหม่อมเจ้าหญิงบัว มีเชื้อสายพระร่วงสุโขทัย บางหลักฐานก็กล่าวว่าชื่อหม่อมเจ้าหญิงอำไพ ราชธิดาของสมเด็จพระเอกาทศรถ" (อิศรางกูร. พิมพ์ในงานฌาปนกิจ ม.ล.ปุย อิศรางกูร, ๒๕๑๗.)
เรื่องชื่อเจ้าแม่วัดดุสิตนี้บังเอิญตรงกับพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ในหนังสือ ราชินิกูล รัชกาลที่ ๕ ดังนี้
"พระบุรพชนทางพระชนก พระบุรพชนเป็นพระบรมราชวงศ์จักรี มาแต่หม่อมเจ้าบัว คือที่สมญาว่า "เจ้าแม่วัดดุสิต" เป็นราชตระกูลครั้งกรุงทวารวดี"
นอกจากนี้ยังมีเอกสารของ ม.ล.มานิจ ชุมสาย ที่กล่าวว่าเป็น "บันทึกของบรรพบุรุษ" ตกทอดมายังท่าน มีเรื่องราวของเจ้าแม่วัดดุสิตดังโดยพิสดารอีกสายหนึ่งคือ แม้จะไม่ทราบชื่อท่าน แต่ก็ทราบนามของชาวมอญต้นสกุลจักรีที่ตามสมเด็จพระนเรศวรมายังกรุงศรีอยุธยา
"แม่ทัพมอญคนหนึ่งมีนามว่า พระยาเกียรติ ได้ติดตามสมเด็จพระนเรศวรเข้ามารับราชการกับไทย ลูกหลานคนหนึ่งของพระยาเกียรติ (ไม่ได้บอกว่ามีชื่อว่าอะไร) ได้แต่งงานกับเจ้าแม่วัดดุสิต (ไม่ได้บอกชื่อเดิมอีกเหมือนกัน) ซึ่งเป็นพระนาง มีตำแหน่งสูงในพระราชวัง"
(ประวัติโกษาปานและบันทึกการเดินทางไปฝรั่งเศส. คณะกรรมการพิจารณาและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์, ๒๕๓๐, น. ๑๓.)
ตามหลักฐานที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่าเจ้าแม่วัดดุสิตนั้นหมดโอกาสที่จะเป็นพระเจ้าลูกเธอของพระเจ้าแผ่นดินแน่ เนื่องจากสกุลยศต่ำสุดของพระเจ้าลูกเธออันเกิดแต่นางสนมนั้นก็เป็นถึงพระเยาวราช ตำแหน่งนามไม่ใช่น้อยเช่นนี้ ไม่สมควรที่ผู้จดพระราชพงศาวดารจะละเลยกล่าวถึงสกุลยศของพระองค์ หรือไม่ควรละเว้นการกล่าวย้อนไปถึงพระราชบิดาของพระองค์
อีกกรณีหนึ่งคือทรงเป็นหม่อมเจ้า คือเป็นหลานเธอของพระเจ้าแผ่นดิน หากเป็นในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชา เจ้าแม่วัดดุสิตก็มีโอกาสเป็นพระธิดาของพระนเรศวร หรือพระเอกาทศรถ ก่อนที่ทั้งสองพระองค์นี้จะทรงครองราชย์ หากเป็นในแผ่นดินรัชกาลสมเด็จพระนเรศวร ก็ไม่น่าจะเข้าข่ายที่จะเป็นหม่อมเจ้าได้ ด้วยสมเด็จพระเอกาทศรถทรงเป็นวังหน้าอยู่ในขณะนั้น พระธิดาสมควรที่จะได้เป็นพระองค์เจ้า
หากเป็นในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ ก็มีโอกาสที่พระธิดาของเจ้าฟ้าสุทัศน์หรือพระศรีเสาวภาคย์ได้ เพียงแต่พระราชพงศาวดารจดเรื่องของสองพระองค์นี้ไว้น้อยนัก ยากจะสันนิษฐานประการใดได้
แต่ยังมีปัญหาตามมาอีกคือ หากทรงมีพระชาติกำเนิดที่ยิ่งใหญ่ถึงเพียงนี้ เหตุใดเอกสารชั้นกรุงศรีอยุธยาหรือเอกสารตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ ขึ้นไป จึงไม่พยายามเอ่ยถึงที่มาที่ไปของพระองค์ พระนามจริง แม้แต่พระนามของพระสวามี และหากทรงมีพระชาติกำเนิดสูงถึงระดับลูกหลวง หลานหลวง จะเป็นไปได้หรือที่พระสวามีจะเป็นเพียงขุนนางมอญที่ไม่ใช่เชื้อพระวงศ์ โอกาสเช่นนี้แทบจะไม่เกิดขึ้นในธรรมเนียมราชตระกูลในสยามประเทศ
ในทำนองเดียวกันหากพระสวามีเป็นเชื้อพระวงศ์ ก็จำเป็นจะต้องมีศักดิ์เสมอด้วยพระองค์จึงจะมีพระราชานุญาตให้อภิเษกสมรสได้ ซึ่งถ้าเป็นเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง เหตุใดพระราชพงศาวดารจึงเว้นที่จะกล่าวถึง "ฝ่ายชาย" อย่างน่าสงสัย เพราะโอกาสที่ "ผู้หญิง" จะปรากฏในพระราชพงศาวดารไทยนั้นมีน้อยยิ่งนัก
หลักฐานเรื่องเจ้าแม่วัดดุสิตนั้นยังไม่เพียงพอที่จะสรุปได้ว่าพระองค์เป็นใครกันแน่
แต่มีข้อน่าสังเกตถึงเรื่องราวของเจ้าแม่วัดดุสิตที่ก่อให้เกิดความแตกต่างเป็น ๒ ส่วนอย่างชัดเจน ส่วนแรกคือหลักฐานตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ ขึ้นไป คือประเภทจดหมายเหตุชาวต่างประเทศ หรือพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับต่างๆ ไม่ได้กล่าวถึงที่มาที่ไปของเจ้าแม่วัดดุสิตไว้แม้แต่น้อย รวมไปถึง "ความเป็นเจ้า" ของพระองค์ด้วย รวมไปถึงพระราชนิพนธ์ พระราชหัตถเลขารัชกาลที่ ๔ ที่ไม่มีการกล่าวถึงเจ้าแม่วัดดุสิตเลย
อีกส่วนหนึ่งคือเอกสารหลังรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา กลับกล่าวถึงเจ้าแม่วัดดุสิต ทั้งพระนาม เชื้อสาย และความเป็นวงศ์พระร่วงของพระองค์
ผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่ทำให้หลักฐานหลังรัชกาลที่ ๔ มีการกล่าวถึงเจ้าแม่วัดดุสิตอย่างละเอียดลออมากขึ้น และอาจเป็นต้นเหตุของเรื่อง "เชื้อเจ้า" ทั้งปวงนี้ ไม่ใช่เชื้อพระวงศ์ในพระราชวงศ์พระองค์ใด แต่กลับเป็นบุคคลที่นักประวัติศาสตร์ในพระราชวงศ์ไม่เคยยอมรับและประณามว่าเป็นจอมโกหก
บุคคลที่ว่านี้คือ ก.ศ.ร.กุหลาบ!
หนังสือปฐมวงศ์ ฉบับของ ก.ศ.ร.กุหลาบ และหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษ ซึ่งเชื่อว่า ก.ศ.ร.กุหลาบเป็นผู้แต่งนั้น กล่าวถึงเจ้าแม่วัดดุสิตไว้เป็นสำนวนเดียวกัน โดยอ้างที่มาของเรื่องทั้งหมดไว้ในบานแผนกหนังสือปฐมวงศ์ว่า
"หนังสือปฐมวงศ์พระเจ้าแผ่นดินกรุงเทพ เป็นเรื่องราวกล่าวด้วยมูลเหตุอภินิหารท่านผู้เป็นบรรพบุรุษ ต้นฉบับนั้นได้คัดแต่หนังสือหอหลวง นายกุหลาบทูลเกล้าฯ ถวาย นายกุหลาบว่าคัดแต่ฉบับกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพน"
("อภินิหารบรรพบุรุษและปฐมวงศ์," ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพิเศษ. ๒๕๔๕, น. ๖๗.)
หนังสือปฐมวงศ์ ฉบับ ก.ศ.ร.กุหลาบ กล่าวถึงต้นสายราชวงศ์จักรีไว้คล้ายกับหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษ โดยกล่าวถึงความเป็นมาของเจ้าแม่วัดดุสิตไว้ เหมือนกับเอกสารชั้นหลังที่คงจะอาศัยหนังสือ ๒ เล่มนี้เป็นต้นแบบอ้างอิง เรื่องเจ้าแม่วัดดุสิตในหนังสือปฐมวงศ์ มีดังนี้
"เริ่มความในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระศรีสรรเพชญ บรมราชาธิราชปราสาททอง ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ ๒๕ พระองค์ ในกรุงเทพมหานคร บวรทวาราวดีศรีอยุทธยา ปรากฏเป็นข้อต้น
พระเจ้าปราสาททองมีพระราชโอรสกับพระราชเทพีพระองค์หนึ่ง เป็นพระราชกุมารทรงพระนามว่าสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านารายณ์ราชกุมาร ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นพระราชบิดา จึ่งพระราชทานพระนมนางองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นหม่อมเจ้าหญิงในราชนิกูลพระเจ้าแผ่นดิน พระราชทานให้เป็นพระนมของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านารายณ์ราชกุมาร เป็นพระนมเอกนั้น ไว้ทรงอภิบาลทะนุบำรุงเจ้าฟ้านารายณ์มาแต่ทรงพระเยาว์จนทรงพระเจริญ เป็นทั้งพระพี่เลี้ยงแลพระนม ด้วยพระราชชนนีของพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านารายณ์ราชกุมารนั้น ทิวงคตแต่เมื่อประสูติได้เก้าวัน เพราะเหตุนั้นสมเด็จพระนารายณ์จึ่งได้ทรงรักใคร่นับถือเหมือนพระราชมารดา
ครั้นเมื่อสมเด็จเจ้าฟ้านารายณ์ได้เสด็จขึ้นเถลิงสิริราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินในที่ ๒๘ พระองค์ ในกรุงศรีอยุทธยา ทรงพระนามว่าพระบาทสมเด็จพระบรมราชา รามาธิบดีศรีสรรเพชญ พระนารายณ์เป็นเจ้าๆ จึ่งทรงตั้งหม่อมเจ้าพระนมนางขึ้นเป็นพระองค์เจ้า แล้วทรงสร้างวังมีตำหนักตึก ที่ริมวัดดุสิดาราม นอกกำแพงพระนคร ถวายพระองค์เจ้าพระนมนางให้เสด็จประทับเป็นที่สำราญพระทัย ครั้งนั้นคนเรียกว่าเจ้าแม่วัดดุสิต ตามที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงเรียกว่าเจ้าแม่วัดดุสิตๆ มีบุตรมาแต่เดิมนั้น ๒ คนเป็นชาย คนใหญ่ชื่อคุณเหล็ก คนที่ ๒ ชื่อคุณปาล"
(อภินิหารบรรพบุรุษและปฐมวงศ์, น. ๖๗-๖๘)
หนังสือปฐมวงศ์กับหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษ ของ ก.ศ.ร.กุหลาบ ได้ให้คำตอบเรื่องความเป็น "เจ้า" ของเจ้าแม่วัดดุสิตไว้ คือนอกจากจะบอกให้รู้ว่าทรงเป็นหม่อมเจ้าอยู่แต่เดิมและได้ยกเป็นพระองค์เจ้าภายหลัง และเรื่องนี้น่าจะเป็น "ต้นทาง" ให้เอกสารรุ่นหลังใช้เป็นแนวทางในการเดินตาม คือต่อเติมลากสายสัมพันธ์กับพระราชวงศ์ต่างๆ จนสับสนไปหมด
สำหรับพระนามแท้จริงของเจ้าแม่วัดดุสิตนั้นถึงบัดนี้ยังคงต้องถือว่าเป็นปริศนาชิ้นโตของประวัติราชวงศ์จักรีที่ยังคลี่คลายไม่ได้ จะอาศัยอ้างอิงพระนามจากเอกสารรุ่นหลังก็เลื่อนลอยเต็มที
ส่วนคำตรัสเรียกว่า "เจ้าแม่วัดดุสิต" ของสมเด็จพระนารายณ์ ก็เป็นคำตอบที่ดีที่สุดอีกชั้นหนึ่ง คือเป็นพระนามโดยตำแหน่ง ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมนิยมที่คนรุ่นก่อนจะไม่เรียกชื่อกันตรงๆ เช่น สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ เป็นต้น และคำตรัสเรียก "เจ้าแม่วัดดุสิต" ก็ถือเป็นการยืนยันจากสมเด็จพระนารายณ์เป็นอย่างดีว่าท่านผู้นี้เป็น "เจ้า" จริงๆ
คือ คำเรียก "เจ้าแม่" นั้นไม่ได้หมายความอย่างเดียวกับ "เจ้าพ่อ" นักเลงโต แต่ย่อมหมายถึงเจ้าที่เป็นแม่นั่นเอง หากนำไปรวมกับเรื่องการเรียกที่อยู่ว่าพระตำหนัก ตามหลักฐานในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ก็ย่อมแสดงถึงที่ประทับของเจ้านาย ทำให้เรื่องนี้ชัดเจนยิ่งขึ้น
เหลือปริศนาเรื่องการเป็น "หม่อมเจ้า" ของเจ้าแม่วัดดุสิตว่าสมควรจะยุติได้หรือไม่นั้น ปัญหาอยู่ที่ว่าคราวนี้จะยอมเชื่อ ก.ศ.ร.กุหลาบ หรือไม่เท่านั้นเอง?!?
ปรามินทร์ เครือทอง
นิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม
ฉบับที่ 06 : วันที่ 01 เมษายน พ.ศ. 2548 ปีที่ 26
โดย : ขุนนางอยุธยา
ที่มา : http://www.thaimisc.com/freewebboard/php/vreply.php?user=shalawan&topic=1053&page=2
หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำไปโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ
วันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551
ปริศนาเจ้าแม่วัดดุสิต ต้นราชวงศ์จักรี "เจ้า" หรือ "สามัญชน"???
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 2:01 ก่อนเที่ยง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น