ในศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๑๙ ฉบับที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๔๑ อาจารย์เทพมนตรี ลิมปพยอม ได้เขียนบทความ "ศิลาจารึก หลักที่ ๑ ถึงเวลาแล้วที่จะกลับมามองใหม่" ที่ผมชอบมาก ในหน้า ๑๒๙ ท่านลงท้ายว่า
"ผมหวังว่าเรื่องศิลาจารึก หลักที่ ๑ น่าจะมีหน่วยงานไหนสักหน่วยงานหนึ่งออกมาเป็นตัวตั้งตัวตีในการพิสูจน์เรื่องนี้ เช่น กรมศิลปากรซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนวิชาประวัติศาสตร์ หรือคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ เพื่อหาคำตอบให้วงวิชาการในสิ่งที่เรียกว่า สิ่งที่ถูกต้อง (ในเวลานี้) หรือแนวทางที่น่าเชื่อถือได้ ต่อประเด็นปัญหานี้อีกสักครั้งหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องเป็นข้อยุติ แต่อย่าคลุมเครือหรือสร้างความสับสนอย่างทุกวันนี้"
ผมมิได้เป็น "หน่วยงานไหนหน่วยงานหนึ่ง" ที่ท่านทักทาย, แต่ในฐานะเพียง "ตัวของตัวเอง" ผมขอสนองความต้องการของอาจารย์เทพมนตรีดังนี้ :-
ท่านผู้อ่านเชื่อไหมว่า งูสองหัวสามารถให้เลขเด็ด? โลกจะอวสานเมื่อศริสต์ศตวรรษครบ ๒,๐๐๐ ปี? ชวลิตสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจ? กงเต็กจี๊เป็นเงินตราที่ใช้แลกเปลี่ยนได้?์ คลินตันไม่เคยให้โมนิกาอมนกเขา?
หากท่านผู้อ่านเชื่อดังนี้แล้วไซร้, ท่านก็มีสิทธิ์เชื่อว่าศิลาจารึก หลักที่ ๑ เป็นเอกสารชั้นต้นสมัยสุโขทัย, ไม่ใช่วรรณกรรมสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ทำไมปริศนาศิลาจารึก หลักที่ ๑ จึงเงียบเหงาไปช้านาน? ผมจับได้สองประเด็นคือ :-
๑. การวิวาทว่าด้วยศิลาจารึก หลักที่ ๑ ไม่ค่อยเกี่ยวกับตัวจารึก, แต่เป็นการวิวาทว่าด้วย ใครเป็นเจ้าของประวัติศาสตร์?์ ใครก็ได้ทุกคนในสังคม? หรือ "หน่วยงานหนึ่งของรัฐ"?
๒. ฝ่ายทิพย์เทวดาบนสรวงสวรรค์ (Angels ที่เชื่อว่าหลักที่ ๑ เป็นของรามคำแหง ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓) กับพวกภูตผีปีศาจ (Devils ที่เชื่อว่าหลักที่ ๑ เป็นวรรณกรรมรุ่นรัชกาลที่ ๓) ต่างพูดภาษาต่างกันจึงพูดกันไม่รู้เรื่อง และต่างไม่มีเวทีหรือสนามที่พบกันได้อย่างเสมอภาค
แม้สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอได้พยายามจัดเวทีที่สยามสมาคมและธนาคารกรุงเทพ สองฝ่ายก็ยังพูดกันไม่รู้เรื่อง
ทำไมสองฝ่ายจึงพูดกันไม่รู้เรื่อง? ก็นอกจากที่พวกเทพกับพวกแทตย์ย่อมพูดกันไม่รู้เรื่องอยู่แล้ว, ต่างฝ่ายต่างมีฐานความคิดที่ต่างกันด้วย
ฝ่ายแทตย์ย่อมมองศิลาจารึก หลักที่ ๑ ว่าเป็นวรรณกรรมที่ควรได้รับการวิเคราะห์เหมือนวรรณกรรมชิ้นอื่น
ฝ่ายเทพย่อมเห็นศิลาจารึก หลักที่ ๑ ว่าเป็น "โองการ" ที่ไม่ควรมีใครวิเคราะห์เป็นอันขาด, เว้นแต่จะวิเคราะห์ตามรัฐเห็นสมควร
แล้วเทพกับแทตย์จะพูดกันรู้เรื่องได้อย่างไร?
อย่าให้ผมช้ำ ๆ งานดี ๆ ของท่านอื่นเลย ผมขอเพียงบันทึกประเด็นที่ง่ายที่สุดที่ใครมีความรู้ด้านภารตวิทยามองข้ามไม่ได้, ดังนี้ :-
๑. อักขรวิธี
อักษรไทยเป็นอักษรศักดิ์สิทธิ์ที่มีพยัญชนะครบ ๓๔ ตัวที่จำเป็นในการเขียนภาษาสันสกฤต อักษรไทยจึงสมควรจะเรียกว่า "อักษรคฤนถ์" (ตัวจารพระคัมภีร์) อักขรวิธีสันสกฤตล้วนเขียนสระอิ, อี, อยู่เหนือบรรทัด; สระอุ, อู, อยู่ใต้บรรทัด โบราณท่านที่ไหนจะกล้ายุ่งกับอักขรวิธีศักดิ์สิทธิ์โดยนำสระเหล่านี้เข้าบรรทัด? ใครจะไปรู้ว่าปลาอานนท์จะพลิกคว่ำแผ่นดินไหว? และโบราณท่านจะดึงสระเข้าบรรทัดทำไม? มันช่วยจารใบลานตรงไหน?
มีแต่เจ้าของแท่นพิมพ์กลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เท่านั้น, ที่จะเห็นว่า สระอิ, อี, อุ, อู, เป็นอุปสรรคในการเรียงพิมพ์, จึงมีความจำเป็นต้องดึงสระเหล่านี้เข้าบรรทัด และมีแต่คนหัวก้าวหน้าที่ทรงอำนาจสูงสุด และไม่กลัวว่าจักรวาลจะพลิกแพลง, ถึงกล้าจะคิดอักขรวิธีขึ้นใหม่
อักขรวิธีใหม่ที่ปรากฏในศิลาจารึก หลักที่ ๑ ไม่เข้ากับวิธีคิดรุ่นรามคำแหงในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓, แต่เหมาะสมอย่างยิ่งกับความคิดใหม่ของเจ้านายสยามกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ที่ซื้อแท่นพิมพ์เข้ามา
๒. เรื่องวรรณยุกต์
เป็นที่รู้ ๆ อยู่ว่า ภาษาไทยมีวรรณยุกต์ (เสียงสามัญ, เอก, โท, ตรี, จัตวา) ต่าง ๆ นานาตามท้องถิ่นและกาลสมัย ส่วนเสียงวรรณยุกต์ "มาตรฐาน" ของกรุงเทพฯ ปัจจุบันน่าจะเป็นของใหม่ที่ผิดเพี้ยนจากกรุงศรีอยุธยา (ที่น่าจะออกเสียงอย่างสุพรรณ)
นอกนี้แล้ว, ใคร ๆ ที่คุ้นกับเอกสารเก่า ๆ ย่อมรู้ว่า การใช้ไม้เอก, ไม้โทเท่าที่มีในสมุด, มักไม่ใช้เสียงตรงกับภาษาไทยกรุงเทพฯ ปัจจุบันแน่ ๆ
อย่างไรก็ตาม, ในศิลาจารึก หลักที่ ๑, ไม้เอก, ไม้โท, ส่วนใหญ่ใช้ถูกต้องเหมือนในเอกสารสมัยกรุงรัตนโกสินทร์, ทั้ง ๆ ที่ไม่มีหลักฐานว่าชาวสุโขทัยคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ ออกเสียงวรรณยุกต์ตรงกับปัจจุบัน ในทางตรงกันข้าม, ศิลาจารึกสมัยสุโขทัยหลักอื่น ๆ พิสูจน์ชัด ๆ ว่าชาวสุโขทัยโบราณมีระบอบออกเสียงเฉพาะของตน
ท่านผู้อ่านคิดว่าอย่างไร? นักปราชญ์ชาวสุโขทัยที่จารศิลาจารึก หลักที่ ๑ รู้ล่วงหน้าว่า เสียงวรรณยุกต์สมัยรัตนโกสินทร์จะเป็นอย่างไร? หรือคนแต่งจารึกหลักนี้เป็นชาวกรุงรัตนโกสินทร์ที่ชำนาญคำท้องถิ่นและคำโบราณ, แต่คุ้นหู้กับเสียงพูดสมัยหลัง ๆ ใกล้ปัจจุบัน
๓. เรื่องวรรณกรรม
ปัญหาที่หนักที่สุดและแก้ไขได้ยากที่สุดมิได้เกิดจากฝ่ายภูติผีปีศาจ อย่างผมหรือใครอื่นที่ไม่เชื่อว่าพ่อขุนรามฯ เป็นผู้ประพันธ์ศิลาจารึก หลักที่ ๑ ปัญหาที่แท้จริงเกิดจากบรรดาเทพเทวดาชาวฟ้าที่ไม่ยอมรับว่าศิลาจารึก หลักที่ ๑ เป็นวรรณกรรมชิ้นหนึ่งเหมือนวรรณกรรมชิ้นอื่น ท่านเหล่านั้นจึงไม่สามารถรับรู้ได้ว่าศิลาจารึก หลักที่ ๑ เป็นวรรณกรรมชนิดใด
อย่าให้ผมวิเคราะห์ศิลาจารึก หลักที่ ๑ เป็นบรรทัด ๆ ไป ขอสรุปเพียงว่า จารึกหลักนี้มิได้เป็นเอกสารประวัติศาสรต์ (ที่บันทึกเหตุการณ์ในอดีต) หากเป็นวรรณกรรมสร้างสรรค์สำหรับปึจจุบันและอนาคต, หรือ "วรรณกรรมสั่งสอน" (Didactic Literature) ที่มีกันทั่วโลกและมีกันหนาแน่นที่สุดในอินเดียและโลกแห่งพุทธศาสนา, ไม่ว่าจะเป็นนิทานอีสปหรือคัมภีร์ชาตกมาลา
วรรณกรรมสั่งสอนหรือ Didactic Literature มักอ้างถึงอดีตที่ดีงามตามท่านฝัน, แต่ท่านไม่ได้หมายจะสอนประวัติศาสตร์ ท่านหมายจะสอนว่า สังคมและความประพฤติของคนในสังคมควรจะเป็นอย่างไรในปัจจุบันและอนาคต
เด็กเลี้ยงแกะที่ร้องว่า "หมาป่ามาแล้ว!" ที่ไหนมี? ท่านหมายจะสอนว่าอย่าตื่นเกินขนาด, อย่าโกหกชาวบ้าน พระมหาชนกที่ไหนมี? ท่านหมายจะสอนให้มีความอดทนและต่อสู้กับอุปสรรค
ศิลาจารึก หลักที่ ๑ ก็เช่นเดียวกัน, มีความมุ่งหมายที่จะสอนอะไรหลายอย่าง, เช่นการใช้อักขรวิธีที่เข้ากับเทคโนโลยีการพิมพ์ได้สะดวกในสมัยที่อักษรสยามกำลังทดลองการเรียงพิมพ์เป็นครั้งแรก; เช่นการค้าเสรีที่จำเป็นสำหรับกรุงสยามในเมื่ออังกฤษกำลังบีบให้เปิดประเทศ; เช่นความสำคัญของพุทธศาสนาที่ถูกต้องในขณะที่พระศาสนาเสื่อมและกำลังรับการท้าทายจากคริสต์ศาสนาในประเทศข้างเคียง
ที่สำคัญที่สุดศิลาจารึก หลักที่ ๑ หมายจะสอนสังคมพุทธอันดีเลิศตามฝัน (Ideal Buddhist Society) ที่ทำบุญทำทาน, มีความอุดมสมบูรณ์สำหรับทุกคน "ในน้ำมีปลาในนามีข้าว", มีเสรีภาพในการทำอาชีพและหลวงท่านไม่เบียดเบียน "เพื่อนจูงวัวไปค้าขี่ม้าไปขายฯ" และ "เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ฯ" มีกฎหมายที่เป็นยุติธรรม "(ใคร) ล้มตาย...เหย้าเรือน...ป่าหมาก ป่าพลู...ไว้แก่ลูกมันสิ้น" และพ่อเมืองย่อมฟังเสียงประชาชน "ผิแลผิดแผกแสกว้างกัน...จึงแล่งความแก่ขาด้วยซื่อ ๆ" และ "ปากประตูมีกระดิ่งอันณื่งฯ"
ศิลาจารึก หลักที่ ๑ มีมั้งเศรษฐศาสตร์, สังคมศาสตร์, รัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์, แต่ท่านสอนตามแบบตำรับตำราสมัยใหม่ไม่ได้ ท่านสอนตามประสาท่านด้วยนิทานโบราษ หรือเทพนิยาย ดังมีในนิทานชาดก
ขอชวนท่านผู้อ่านลองฟังเสียงศิลาจารึก หลักที่ ๑ โดยตรง :- (ด้าน ๓ บรรทัดที่ ๑๐ ถึง ๒๗)
"พ่อขุนรามคำแหง...ปลูกไม้ตาลนี้ ได้สิบสี่เข้าจึงให้ช่างฟันขดานหิน ตั้งกลางไม้ตาลนี้...พ่อขุนรามคำแหง...ขึ้นนั่งเหนือขดานหินให้ฝูงท่วยลูกเจ้าลูกขุน ฝูงท่วยถือบ้านถือเมือง...ขดานหินนี้ชื่อมนังศิลาบาตรสถาบกไว้นี่ จึ่งทั้งหลายเห็น"
กษัตริย์ในอุษาคเนย์ที่มีตัวตนที่ไหนมี, ที่ออกขุนนางกลางป่าตาล? และใครที่ไหนประทับบนแท่นชื่อ มนังศิลาบาตรที่น่าจะแปลว่า "แผ่นหินตามใจนึก"?
เท่าที่ผมสอบได้ กษัตริย์ที่มีพฤติกรรมแบบนี้ มีแต่กษัตริย์ในเทพนิยาย เช่น ชาตกมาลา, นิทานปัญจตันตระ, กถาสริตสาคระ และพระอภัยมณี จะเป็นไปได้ไหมว่า สุนทรภู่มีบทบาทในการประพันธ์ศิลาจารึก หลักที่ ๑?
กษัตริย์ที่ออกขุนนางกลางสวนป่า โดยประทับบนแท่นทิพย์สารพัดนึกไม่น่ามีองค์จริง, แต่เป็นพระเอกในเทพนิยาย
ปัญหาของเรามีอยู่ว่า เพื่อนฝ่ายขวา (เทพเทวดาชาวฟ้า) ไม่เข้าใจเรื่องวรรณกรรมโบราณ, ไม่ว่าจะเป็นนิทานสั่งสอน (Didactic Literature) เช่น นิทานชาดก, หรือเทพนิยาย (Fairy Tale) เช่น พระอภัยมณี
ที่ท่านเสนอว่า ศิลาจารึก หลักที่ ๑ เป็นประวัติศาสตร์จากเหล็กจารใบลานของพ่อขุนรามฯ ก็ไม่ผิดแผกแตกต่างนักกับการเสนอว่า เรื่องพระอภัยมณีเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ที่พระอภัยมณีท่านประพันธ์ขึ้นมาเอง สุนทรภู่ไม่เกี่ยวหรอก
๔. อีกมิติหนึ่งของปัญหา
ฝ่ายภูตผีปีศาจบางคนเคยเสนอว่า เจ้านายครั้งกรุงรัตนโกสินทร์น่าจะมีบทบาทในการประพันธ์ศิลาจารึก หลักที่ ๑ ฝ่ายเทพเทวดาฯ รีบโต้ตอบว่า นี่เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ว่าท่านอาจตรัสเท็จ
เรื่องนี้น่าสนใจมากเพราะหากทุกคนเข้าใจวรรณคดีตามหลักสูตรของพวกเทพเทวดาฯ แล้วไซร้, ก็ต้องสรุปว่า นักประพันธ์ทั่วโลกเป็นคนโกหกพกเท็จทั้งสิ้น, ไม่ว่าจะเป็นสุนทรภู่, Shakespear, Charles Dickens หรือแม้กระทั่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เล่านิทานชาดกสอนสาวก
แต่ฝ่ายภูติผีฯ มักมองวรรณกรรมแบบสากลปัจจุบันโดยไม่จำเป็นต้องใส่ความว่าผู้มีจินตนาการ "โกหก" ศิลาจารึก หลักที่ ๑ เต็มไปด้วยจินตนาการมากมายเกี่ยวกับอดีต (สมัยสุโขทัย) แต่ในขณะเดียวกันยังเต็มไปด้วยความจริงสำหรับสยามในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ และปัจจุบัน
ในการดิ้นรนหาความใส่พวกภูติผีฯ, ฝ่ายเทพเทวดาฯ ได้มองข้ามความซื่อจริงในจารึกฯ ที่พวกภูติผีฯ พยายามจับมานานแล้วนั่นคือ "ลายแทง" ที่แจ้งถึงที่มาของข้อมูลในจารึก หลักที่ ๑
๕. ปริศนาลายแทง
ศิลาจารึก หลักที่ ๑ ด้านที่ ๓ บรรทัดที่ ๒๒-๒๕ มีความว่า ด้วยจารึกอีกสามหลักที่อยู่ในเมืองต่าง ๆ พวกเทพเทวดาฯ ต่างแสร้งทำเป็นไม่รู้ว่าหมายถึงอะไร, แต่ภูติผีฯ อย่างผมรู้ว่าเป็นลายแทงหมายถึงศิลาจารึก หลักที่ ๒ (วัดศรีชุม), หลักที่ ๒ (นครชุม) และ หลักที่ ๕ (วัดป่ามะม่วงสุโขทัย, ภาษาไทย, พบใกล้กรุงศรีอยุธยา)
ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ นักประพันธ์ชาวไทยไม่จำเป็นต้องแจ้งที่มาของข้อมูลตามประเพณี นักวิชาการสากลปัจจุบัน, แต่ผู้ประพันธ์ศิลาจารึก หลักที่ ๑ มีความซื่อสัตย์ต่อข้อมูลมาก และมีความเคารพต่อผู้อ่านสูงจนท่านอุตส่าห์บอกแหล่งข้อมูลให้ได้ ที่ท่านบอกด้วยรหัสหรือ "ลายแทง" นั้นไม่แแปลก, เพราะโบราณท่านนิยมสื่อสารกันด้วยรหัสที่ผู้รู้ย่อมเข้าใจกันได้ดี
ปัญหามันเกิดภายหลักเมื่อ "ผู้รู้", ทั้งไทยและเทศ, ต่างพยายามอ่านวรรณกรรมแบบโบราณ (จารึก หลักที่ ๑, ตำรานางนพมาศ ฯลฯ) เหมือนกับว่าเป็นงานวิชาการสมัยใหม่ ว่าง่าย ๆ ท่านลืมนิทาน และตีลายแทงไม่ออก
๖. ความผิดอยู่ที่ใคร?
ความผิดที่นักปราชญ์ส่วนใหญ่เข้าใจศิลาจารึก หลักที่ ๑ อย่างไขว้เขวนั้น, มิได้เป็นความผิดของผู้หนึ่งผู้ใด, หากเกิดจากความเปลี่ยนแปลงทางสังคม, วัฒนธรรมและวิธีคิดที่ไม่ได้รับการศึกษา หรือบางทีไม่ค่อยมีใครสังเกต
ปัญญาชนชาวสยามรุ่น ร.๓, ร.๔ มีใจกว้างและมีสายตามองอนาคตได้ไกล. แต่ท่านยังเป็นปัญญาชนแบบโบราณ ท่านจึงแต่งศิลาจารึก หลักที่ ๑ ด้วยวิธีคิดแบบโบราณ, คือใช้จินตนาการว่าด้วยอดีตในอุดมคติ (Imagined Ideal Past) เพื่อสร้างอนาคตอันอุดมที่ปรารถนา (Desired Ideal Future), ซึ่งเป็นกุศโลบายที่ติไม่ได้
ต่อมาในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ และต้านคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐, เจ้านายสยามเริ่มลืมอดีตที่แท้จริงและยึดถืออดีตที่สมมติขึ้นมาตามอุดมการณ์ ศิลาจารึก หลักที่ ๑ จึงกลายฐานะจาก "นิทานสอนความดีงาน" (Didactic Literature) มาเป็น "ประวัติศาสตร์ที่แท้จริง" (Real History)
ในขณะเดียวกันชาวบ้านได้หลุดหายไปจากจอกประวัติศาสตร์, เพราะชาวบ้านยังคงอยู่ในโลกเก่า, นอกความเจริญที่เจ้านายท่านจินตนาการขึ้น ชาวบ้านเพิ่งกลับมาปรากฏบนจอประวัติศาสตร์หลังวันที่ ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖
หากจะโทษใครว่าด้วยความเข้าใจผิดเกี่ยวกับศิลาจารึก หลักที่ ๑, ก็เห็นจะต้องโทษนักปราชญ์ฝรั่งที่ควรรู้ดีกว่า, เพราะท่านอยู่นอกกระแสการเปลี่ยนแปลงทางสังคม, วัฒนธรรมและวิธีคิดที่ทำให้ "น้ำขุ่น" สำหรับคนไทยที่อยู่ในเหตุการณ์
ในครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ , George Coedes น่าจะเข้าใจศิลาจารึก หลักที่ ๑ ได้ดี, แต่ท่านแปลและส่งเสริมหลักที่ ๑ ในฐานะประวัติศาสตร์จริง อย่าลืมว่าท่านเป็นข้าราชการลับของฝรั่งเศสที่ได้รับคำสั่งให้ "โอ๋" เจ้านายสยามเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าและการเมืองของฝรั่งเศส
ในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ นักปราชญ์ชาวอเมริกันได้รับช่วงจาก Coedes, เช่น W. J. Gedney, A. B. Griswald กับ D. K. Wyatt ที่ล้วนใช้หลกที่ ๑ เป็นพื้นฐานในการเขียนงานเรื่องภาษาศาสตร์, ประวัติศาสตร์ศิลป และประวัติศาสตร์รัฐ ตามลำดับโดยไม่มีความสงสัย แต่แล้วท่านทั้งสามทำงานในยุคสงครามเย็นที่อเมริกาแสวงหาสัมพันธมิตร, สนับสนุนรัฐบาลเผด็จการฝ่ายขวา และไม่คิดขัดขวางความคิดล้าหลัง
ผมเชื่อว่าศิลาจารึก หลักที่ ๑ ทำขึ้นมาเพื่อสั่งสอนและสร้างสรรค์, ไม่ใช่เพื่อหลอกใคร หรือหากท่านหลายจะหลอกใครก็คงหมายจะหลอกฝรั่ง และหลอกได้ดีชะมัดด้วยซ้ำ!
ไมเคิล ไรท์
ศิลปวัฒนธรรม
ฉบับที่ ๒๑ เดือน กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๓
ที่มา : จารึกหลักที่ 1 และความคิดเห็นที่แตกต่างของนักวิชาการ
วันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551
ศิลาจารึก เรื่องเก่าเอามาเล่าอีกที
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 2:58 ก่อนเที่ยง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น