วันพฤหัสบดีที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

ความเป็นมาของพงศาวดารแต่ละฉบับ


พระราชพงศาวดารกรุงเก่า
ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงอธิบายที่มาของพงศาวดารฉบับนี้ไว้อย่างน่าสนใจในหนังสือ "สาส์นสมเด็จ" ซึ่งเป็นลายพระหัตถ์สนทนาโต้ตอบกันระหว่างพระองค์กับสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ความว่า


"พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาลลักษณ์) เมื่อยังเป็นหลวงประเสริฐอักษรนิติช่วยเที่ยวหาหนังสือไทยฉบับเขียนของเก่าอันกระจัดกระจายอยู่ในพื้นเมือง ให้หอพระสมุดสำหรับพระนคร วันหนึ่งไปเห็นยายแก่ที่บ้านแห่งหนึ่งกำลังรวบรวมเอาสมุดไทยลงใส่กระชุ ถามว่าจะเอาไปไหน แกบอกว่าจะเอาไปเผาไฟทำสมุดบันทึกสำหรับลงรัก พระยาปริยัติธรรมธาดาขออ่านดูหนังสือสมุดเหล่านั้น เห็นเป็นหนังสือพงศาวดารอยู่เล่มหนึ่ง จึงขอยายแก่และส่งให้หม่อมฉันที่หอพระสมุดฯ หม่อมฉันจึงให้เรียกว่า "พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ" เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ได้มา


นอกจากนี้ คำอธิบายประวัติความเป็นมาของพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ ซึ่งตึพิมพ์ในหนังสือ "คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัดและพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ" โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ยังมีข้อความน่าสนใจ ยกมาให้อ่านได้พิจารณาดังนี้


"พระยาปริยัติธรรมธาดาไปได้มาจากบ้านราษฎรแห่งหนึ่ง เอามาให้แก่หอพระสมุดวชิรญาณ เมื่อ ณ วันที่ ๑๙ มิถุนายน ร.ศ. ๑๒๖ (พ.ศ. ๒๔๕๐) จึงได้ชื่อว่า "พงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ" ...หนังสือพงศาวดารฉบับนี้เป็นสมุดไทยเขียนตัวรงลายมือเขียนหนังสือดูเหมือนจะฝีมือครั้งกรุงเก่าตอนปลาย หรือครั้งตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ของเดิมเห็นจะเป็น ๒ เล่มจบ แต่ได้มาแต่เล่มเดียว กรรมการหอสมุดวชิรญาณเห็นว่า หนังสือพงศาวดารฉบับนี้เมื่อได้ตรวจพิจารณาดูแล้ว ทั้งลายมือที่เขียนและโวหารที่แต่ง เห็นว่าเป็นหนังสือเก่า ไม่มีเหตุอย่างใดจะควรสงสัยว่าได้มีผู้แก้ไขแทรกแซงวิปลาศในชั้นหลังนี้ จึงได้สั่งให้ลงพิมพ์ไว้ให้ปรากฏป้องกันมิให้หนังสือเรื่องี้ต้องสาปสูญไปเสีย"


สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวินิจฉัยว่าหนังสือพงศาวดารฉบับนี้เป็นฝืมือของคนสมัยอยุธยาตอนปลายหรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น

พงศาวดารฉบับนี้เป็นพงศาวดารที่นักประวัติศาสตร์ผู้สนใจค้นคว้าประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาต่างให้การยอมรับ เพราะเห็นว่าศักราชที่ปรากฏอยู่ในพงศาวดารนี้มีความแม่นยำ อีกทั้งเนื้อหาที่ปรากฏในพงศาวดารก็ตรงกันกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์อีกหลายชิ้น
(แม้ว่าจะไม่มีนักประวัติศาสตร์ผู้ใดได้เคยพบเห็นพงศาวดารฉบับที่หลวงประเสริฐเอามาจากยายแก่เลยก็ตาม)


พระราชพงศาวดาร
ฉบับพระราชหัตถเลขา

ในปี พ.ศ. ๒๓๙๘ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) มีรับสั่งให้กรมหลวงวงศาธิราชสนิททรงชำระพงศาวดารใหม่ แก้ไขเพิ่มเติมของเก่าหลายแห่ง เมื่อกรมหลวงวงศาธิราชสนิททรงชำระแล้วก็นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตรวจแก้ไข จึงปรากฏ "พระราชหัตถเลขา" อยู่ในต้นฉบับหลวง

อย่างไรก็ดี ในพระราชหัตถเลขาฉบับภาษาอังกฤษของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานไปยัง เซอร์จอห์น เบาวริง ราชทูตอังกฤษ ลงวันที่ ๑๗ สิงหาคม ค.ศ. ๑๘๕๕ (พ.ศ. ๒๓๙๘) ทำให้ทราบว่าพระองค์ได้มีรับสั่งให้มีการ "ชำระพงศาวดารสยามใหม่" ความว่า


"....เพื่ออนุโลมตามคำขอของ ฯพณฯ ท่าน ข้าพเจ้ากับน้องชายของข้าพเจ้าคือกรมหลวงวงษาธิราชสนิท ผู้มีอำนาจเต็มฝ่ายเราคนหนึ่ง ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปรึกษากับ ฯพณฯ ท่านในพระนครนี้เมื่อเดือนเมษายนนั้น กำลังจะพยายามเตรียมแต่งพงศาวดารสยามอันถูกต้อง จำเดิมแต่ตั้งกรุงศรีอยุธยาโบราณราชธานีเมื่อปี ค.ศ. ๑๓๕๐ นั้น กับทั้งในเรื่องพระราชวงศ์ของเรานี้ ก็จะได้กล่าวโดยพิสดาร ยิ่งกว่าที่ข้าพเจ้าได้เรียบเรียงมาให้ ฯพณฯ ท่านทราบในคราวนี้ด้วย เราได้ลงมือแต่งแล้วเป็นภาษาไทยในชั้นต้น

เราเลือกสรรเอาเหตุการณ์บางอย่างอันเป็นที่เชื่อถือได้มาจากหนังสือโบราณว่าด้วยกฎหมายไทยและพงศาวดารเขมรหลายฉบับกับทั้งคำบอกเล่าของบุคคลผู้เฒ่า อันเป็นที่นับถือและเชื่อถือได้ ซึ่งได้เคยบอกเล่าให้เราฟังนั้น ด้วยหนังสือซึ่งเราได้ลงมือเตรียมแต่งและแก้ไขอยู่ในบัดนี้ ยังไม่มีข้อความเต็มบริบูรณ์เท่าที่เราจะพึงพอใจ เมื่อแต่งสำเร็จเสร็จสิ้นแล้วเราจะได้ขอล่ามภาษาอังกฤษคนหนึ่ง มาจากมิชชันนารีอเมริกันเพื่อให้แปลเป็นภาษาอังกฤษ และให้แก้ไขบรรดาชื่อสันสกฤตและชื่อไทยให้ถูกต้องตามแบบไวยากรณ์อังกฤษ ซึ่งได้ตีพิมพ์จำหน่าย ณ เบงกอล และลังกาเมื่อเร็ว ๆ นี้ และจะได้ส่งมาให้ ฯพณฯ ท่านเพื่อเป็นไปตามความประสงค์ของ ฯพณฯ ท่าน...."


พงศาวดารข้างต้นคือ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพระราชหัตถเลขา ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงทำคำอธิบายไว้อย่างละเอียดในพระราชพงศาวดารฉบับนี้ ว่า


"ข้าพเจ้าจึงได้ลองทำตามความที่คิดเห็นไว้ คือได้แก้ไขตำนานหนังสือพระราชพงศาวดารให้บริบูรณ์ดีขึ้น พิมพ์ไว้ข้างต้นฉบับนี้ตอนหนึ่งได้ตรวจสอบหนังสือต่าง ๆ ทั้งในภาษาไทยและต่างประเทศ ที่เกี่ยวด้วยเรื่องพงศาวดารสยาม เลือกเก็บเนื้อความมาเรียบเรียงเป็นเรื่องพงศาวดารสยามประเทศตอนต้น ก่อนก่อสร้างกรุงศรีอยุธยาพิมพ์ไว้ข้างต้นอีกตอนหนึ่งและได้แต่งคำอธิบายเรื่องในรัชกาลต่าง ๆ ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ตามลำดับแผ่นดิน รวมพิมพ์ไว้ข้างท้ายอีกตอนหนึ่ง เอาเรื่องพระราชพงศาวดารของเดิมพิมพ์ไว้ระหว่างกลาง....

ขอให้บรรดาผู้อ่านหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับนี้ จงเข้าใจความประสงค์ของข้าพเจ้าอย่างหนึ่ง ด้วยคำอธิบายที่ข้าพเจ้าเรียบเรียงในหนังสือเรื่องนี้กล่าวตามที่ได้ตรวจพบในหนังสืออื่นบ้าง กล่าวโดยความสันนิษฐานของข้าพเจ้าเองบ้าง

ข้าพเจ้าเป็นแต่ผู้ศึกษาพงศาวดารคนหนึ่ง จะรู้เรื่องถ้วนถี่รอบคอบหรือรู้ถูกต้องไปหมดไม่ได้ ข้าพเจ้าได้ระวังที่จะบอกไว้ในคำอธิบายทุก ๆ แห่งว่า ความตรงไหนข้าพเจ้าได้พบจากหนังสือเรื่องไหน และตรงไหนเป็นความสันนิษฐานของข้าพเจ้าเอง แต่ไม่ได้อธิบายเหตุการณ์ทุก ๆ อย่าง หรือเรื่องทุก ๆ เรื่องบรรดาที่ปรากฏอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับเดิม เพราะเห็นว่าเรื่องที่ไม่จำเป็นจะต้องอธิบายก็มีมาก ที่ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าจะอธิบายอย่างไรก็มี ข้อใดเรื่องใดที่ไม่มีคำอธิบาย ขอให้ผู้อ่านจงเข้าใจว่าเป็นด้วยเหตุดังว่ามานี้

อีกประการหนึ่ง ผู้ศึกษาพงศาวดารก็มีมากด้วยกัน แห่งใดใครจะเห็นชอบด้วยหรือแห่งใดใครจะคัดค้านด้วยมีหลักฐานซึ่งข้าพเจ้ายังไม่ทราบก็ดี หรือมีความคิดเห็นซึ่งดีกว่าความคิดเห็นของข้าพเจ้าก็ดี ถ้าได้ความรู้ความเห็นของผู้ศึกษาพงศาวดารหลาย ๆ คนด้วยกันมาประกอบ คงจะได้เรื่องราวที่เป็นหลักฐานใกล้ต่อความจริงยิ่งขึ้น เมื่อสำเร็จประโยชน์อย่างนั้นแล้วก็จะสามารถที่จะแต่ง "พงศาวดารสยาม" ขึ้นใหม่ ให้มีหนังสือพงศาวดารไทยที่ดีเทียบเทียมกับพงศาวดารอย่างดีของประเทศอื่นได้..."


คำอธิบายที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ประทานเอาไว้ตอนต้นหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพระราชหัตถเลขานี้ สะท้อนให้เห็นวิธีการศึกษาพงศาวดารและการตรวจสอบหลักฐานที่ใช้แต่ง "พงศาวดารสยาม" ขึ้นใหม่ ที่สำคัญ แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรง "เปิดกว้าง" ในทัศนะของนักวิชาการที่มีความเห็นต่างจากพระองค์อย่างเห็นได้ชัด

หมายเหตุ
แก้ไขปี พ.ศ. ใหม่เพราะมาอ่านย้อนหลังพบว่าคำนวณผิดเป็นร้อยปี


พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา
ฉบับวันวลิต

เอกสารฮอลันดาที่ชื่อ The Short History of the Kings of Siam เขียนขึ้นโดย Jeremias Van Vliet นายเยเรเมียส ฟานฟลีท ผู้จัดการสถานีการค้า VOC ประจำกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. ๒๑๘๓) และได้อาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยาเป็นเวลานานกว่า ๙ ปี สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเรียกนาย Jeremias Van Vliet ได้คุ้นปากคนไทยยิ่งนักว่า "วันวลิต" และเรียกเอกสารหรือจดหมายเหตุ หรือบันทึกที่นายวันวลิตจดตามคำบอกเล่าของชาวกรุงศรีอยุธยาในเวลานั้น (หลังจากเหตุการณ์สูญเสียพระสุริโยทัยประมาณ ๙๒ ปี และหลังจากเสียกรุงครั้งที่ ๑ ประมาณ ๗๐ ปี) ว่า "พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับวันวลิต"


พระราชพงศาวดารกรุงสยาม
ต้นฉบับของบริติช มิวเซียม

พระราชพงศาวดารฉบับนี้ ศาตราจารย์ ขจร สุขพานิช ได้ไปพบพระราชพงศาวดารฉบับนี้เข้าที่ "บริติช มิวเซียม" เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑ และต่อมาได้ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งคำนำในการพิมพ์ครั้งแรกของพระราชพงศาวดารฉบับนี้มีว่า


"หนังสือพระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับนี้เป็นสมบัติของบริติชมิวเซียมที่กรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ ปรากฏในประวัติว่า J. Hurst Hayes Esq. เป็นผู้มอบให้เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๘ (พ.ศ. ๒๔๙๑) การที่จะพบหนังสือพระราชพงศาวดารเรื่องนี้ก็เนื่องจากนายขจร สุขพานิช ซึ่งได้รับทุนจากต่างประเทศให้ไปทำการค้นคว้าเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย ณ ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอังกฤษ ได้พบหนังสือเรื่องนี้เข้าเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑ จึงได้ถ่ายไมโครฟิล์มเล่มต้นและเล่มปลายส่งไปให้กรมศิลปากร กรมศิลปากรเห็นว่าพระราชพงศาวดารฉบับนี้ อาจมีประโยชน์ในการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย จึงขอให้ถ่ายไมโครฟิล์มส่งเข้ามาให้ทั้ง ๓๐ เล่ม ต้นฉบับที่ขอถ่ายไมโครฟิล์มมานั้นเขียนด้วยหมึกดำในสมุดไทย เข้าใจว่าคงจะคัดลอกมาจากฉบับเดิมอีกชั้นหนึ่ง เพราะปรากฏว่า มีบอกจบเล่มในสมุดไทยไว้ด้วย คือเรียงลำดับตั้งแต่เล่ม ๑ เรื่อยไปจนถึงเล่ม ๓๐ ตัวลายมือเขียนในต้นฉบับ ได้นำมาตีพิมพ์ไว้ในหนังสือนี้ด้วยแล้ว"

ข้อความที่ปรากฏตอนต้นของพระราชพงศาวดารฉบับนี้ได้กล่าวถึงบานแพนกบอกไว้ว่า

"วันที่ ๕ ฯ ๒ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๖๙ ปีเถาะ นพศก เพลาค่ำ เสด็จออก ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ล้นเกล้าฯ กรมพระราชวังบวรฯ ทูลเกล้าถวายเล่ม ๑"

พระราชพงศาวดารฉบับนี้คงจะจัดทำขึ้น (เขียนหรือลอกใหม่) ในปี พ.ศ. ๒๓๕๐ และดูเหมือนว่าจะนำเอาเนื้อหาจากหนังสือฉบับต่าง ๆ มาบรรจุไว้ด้วย เช่น ตอนต้นของหนังสือฉบับนี้มีความคล้ายกับ "พงศาวดารเหนือ" บางตอน วันเดือนปีและข้อความในตอนที่เกี่ยวกับพระเจ้าอู่ทองสร้างกรุงศรีอยุธยาเกือบจะเหมือนพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหอพระสมุดแห่งชาติ หรือ ฉบับกรมพระปรมานุชิตฯ นอกจากนี้ยังไปคล้ายพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) แต่ต่างกันเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น


คำให้การชาวกรุงเก่า

หนังสือ "คำให้การชาวกรุงเก่า" สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทานอรรถาธิบายว่า ได้ต้นฉบับมาจากเมืองพม่าเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ และเหตุที่ให้ชื่อเสียใหม่ว่า "คำให้การชาวกรุงเก่า" แทนที่จะเป็น "คำให้การขุนหลวงหาวัด" ก็ด้วยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเห็นว่า หนังสือเล่มนี้ "รู้แน่ว่าเป็นคำให้การของคนหลายคน มิใช่แต่ขุนหลวงหาวัดพระองค์เดียว กรรมการหอพระสมุดฯ จึงได้ตกลงให้เรียกชื่อหนังสือเล่มนี้ว่า "คำให้การชาวกรุงเก่า" (รายละเอียดหาอ่านเพิ่มเติมได้จาก "อธิบายเรื่องคำให้การชาวกรุงเก่า" และ "คำอธิบาย", คำให้การขุนหลวงหาวัด (ฉบับหลวง) ซึ่งเป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัด และพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ :กรุงเทพมหานคร : คลังวิทยา, ๒๕๑๕, หน้า ๑๐)

"คำให้การชาวกรุงเก่า" มีชื่อเดิมที่ปรากฏในหลักฐานที่จารไว้ในใบลาน คือ โยธยา ยาสะเวง (Yodaya Yazawin) แปลว่า "พงศาวดารอยุธยา" (ต้นฉบับตัวพิมพ์ด้วยใบลานได้รับความอนุเคราะห์จาก U Thaw Kaung อดีตหัวหน้าบรรณารักษ์หอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง)

แต่ที่ปราชญ์ไทยโบราณเปลี่ยนชื่อเสียใหม่ก็ด้วยได้รับคำชี้แจงจากหอสมุดเมืองร่างกุ้งว่า "พงศาวดารสยามฉบับนี้ รัฐบาลอังกฤษพบในหอหลวง ในพระราชวังของพระเจ้าแผ่นดินพม่าที่เมืองมันดะเล ครั้งตีเมืองพม่าได้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๙ และอธิบายต่อมาว่า หนังสือเรื่องนี้พวกขุนนางพม่าชี้แจงว่า พระเจ้าอังวะให้เรียบเรียงจากคำให้การของพวกไทยที่ได้ไปเมื่อครั้งตีกรุงศรีอยุธยา" (รายละเอียดหาอ่านเพิ่มเติมได้จาก "อธิบายเรื่องคำให้การชาวกรุงเก่า" และ "คำอธิบาย", คำให้การขุนหลวงหาวัด (ฉบับหลวง) ซึ่งเป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัด และพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ :กรุงเทพมหานคร : คลังวิทยา, ๒๕๑๕, หน้า ๑)


คำให้การขุนหลวงหาวัด

"คำให้การขุนหลวงหาวัด" เล่มนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทานอรรถาธิบายว่า ชื่อเรื่องเดิมมิได้เรียกว่า "คำให้การขุนหลวงหาวัด" แต่เรียกว่า "พระราชพงศาวดารแปลจากภาษามอญ" ด้วยแปลขึ้นจากต้นฉบับภาษารามัญ

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า หนังสือเล่มนี้เป็นต้นตอของหนังสือ "คำให้การชาวกรุงเก่า" ทั้งนี้เพราะเมื่อพม่าประสงค์จะใช้เชลยไทยที่ถูกกวาดต้อนไปให้ปากคำนั้น

"บางทีจะลำบากด้วยเรื่องล่าม หาพม่าที่รู้ชำนาญภาษาไทยไม่ได้ มีแต่มอญที่มาเกิดในเมืองไทยที่รู้ภาษาไทยชำนาญ จึงให้ถามคำให้การพวกไทย จดลงเป็นภาษามอญเสียชั้นหนึ่งก่อน แล้วจึงแปลเป็นภาษาพม่ารักษาไว้ในหอหลวง เห็นจะเป็นเพราะเหตุเช่นกล่าวมา หนังสือเรื่องคำให้การชาวกรุงเก่าจึงมีทั้งในภาษามอญและภาษาพม่า เห็นจะเป็นพวกพระมอญที่ออกไปธุดงค์ถึงเมืองมอญเมืองพม่าเมื่อในรัชกาลที่ ๔ ไปได้ฉบับภาษามอญเข้ามาถวายพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว"

จึงโปรดให้กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ทรงอำนวยการแปลออกเป็นภาษาไทย (รายละเอียดหาอ่านเพิ่มเติมได้จาก "อธิบายเรื่องคำให้การชาวกรุงเก่า" และ "คำอธิบาย", คำให้การขุนหลวงหาวัด (ฉบับหลวง) ซึ่งเป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัด และพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ :กรุงเทพมหานคร : คลังวิทยา, ๒๕๑๕, หน้า ๖, ๗)


พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา
ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์

พระราชพงศาวดารฉบับนี้ สมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพนเป็นผู้แต่งระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๓๘-๒๓๕๐ (ชำระเฉพาะตอนที่เกี่ยวกับอยุธยา) ในส่วนที่เกี่ยวกับกรุงธนบุรีนั้น ยังคงคัดลอกจากฉบับที่ชำระครั้ง ๒๓๓๘


พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา
ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด)

พงศาวดารฉบับนี้ ชำระในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีคำอธิบายว่า นายจิตร บุตรพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) เป็นผู้มอบให้หอพระสมุดวชิรญาณ เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๕๑ ต้นฉบับเป็นหนังสือคัมภีร์ใบลานรวม ๑๗ ผูก ความเริ่มต้นตั้งแต่สถาปนากรุงศรีอยุธยาจนถึงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ

เนื้อหาโดยมากตรงกับหมอบรัดเล แต่ความจะมาต่างกันในผูกที่ ๑๗ ซึ่งเป็นเรื่องตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นต้นไป (พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เล่ม ๑ จักรพรรดิพงศ์ (จาด), ๒๕๓๓ : (๒)) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระวินิจฉัยไว้ในคำนำหนังสือประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๘ ว่า


"....เรื่องตั้งแต่ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์แปลกกับฉบับอื่น ๆ ไม่ใช่แปลกโดยมีผู้แทรกแซงเพิ่มเติมหรือแก้ไขของเดิม แปลกตรงตัวเนื้อเรื่องแต่แต่งมาทีเดียว อ่านตรวจดูเห็นได้ว่าผิดก็มีหลายแห่ง ที่จะถูกต้องแต่จะถูกต้องแต่ความแปลกออกไปกว่าฉบับอื่นก็มีหลายแห่ง"


อย่างไรก็ดี พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ เป็นพงศาวดารฉบับเดียวที่กล่าวถึงเหตุการณ์ในปลายสมัยพระนารายณ์อย่างค่อนข้างแม่นยำ ในขณะที่ฉบับอื่นคลาดเคลื่อนไม่ตรงกับหลักฐานชั้นต้น (นิธิ เอียวศรีวงศ์, การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์," กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, ๒๕๓๗, หน้า ๑๑)


พระราชพงศาวดาร
ฉบับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตฯ

พระราชพงศาวดารฉบับนี้ทำขึ้นในรัชกาลที่ ๑ ข้อมูลมีน้อยมาก ในสาส์นสมเด็จ ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายศัพท์ "พงศาวดาร" ได้ทรงกล่าวถึงเพียงเล็กน้อย ว่า เป็นการแต่งต่อจากหนังสือพงศาวดารฉบับหมอบรัดเล แต่ทรงนำมาแต่งเติมโดยใช้สำนวนโวหารไพเราะอลังการมาก


พระราชพงษาวดารกรุงเก่า
ตามต้นฉบับหลวง(ประชุมพงศาวดารภาค ๔)

เขียนครั้งกรุงธนบุรี เมื่อปีมเมียฉศก จุลศักราช ๑๑๓๖ พ.ศ. ๒๓๑๗ หรือที่เรียกกันในหอพระสมุด ฯ โดยย่อว่า “ ฉบับจุลศักราช ๑๑๓๖ ”

พระราชพงษาวดารฉบับจุลศักราช ๑๑๓๖ นายเสถียรรักษา (กองแก้ว มานิตยกุล) ต.จ. บุตรเจ้าพระยานรรัตนราชมานิต ให้แก่หอพระสมุด ฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ ได้มาแต่เล่ม ๓ เล่มสมุดไทยเดียว ซ้ำตัวหนังสือในเล่มสมุดนั้นลบเลือนก็หลายแห่ง ว่าโดยเรื่องพระราชพงษาวดาร ผิดกับฉบับอื่น มีฉบับพระราชหัตถเลขาเปนต้น แต่เล็กน้อย ข้อสำคัญของหนังสือฉบับนี้อยู่ที่สำนวนหนังสือเปนสำนวนแต่งครั้งกรุงเก่าเปนโครงเดิมของหนังสือพระราชพงษาวดาร ที่เราได้อ่านกันในชั้นหลัง


พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี
ฉบับพันจันทนุมาศ( เจิม )


เนื้อหาเกี่ยวกับ เรื่องที่ชำระเรียบเรียงไว้แต่ก่อนฉะเพาะตอนกรุงศรีอยุธยา สุดลงเพียงสิ้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเสือแล้วมีพระบรมราชโองการให้ท่านเจ้าพระยาพิพิธพิชัย ร้อยกรองเพิ่ม เติมขึ้นอีก แต่มิได้เอาข้อความปรับปรุงเข้ากับที่แต่งไว้แต่ก่อนนั้น คงให้แยกอยู่ต่างหาก การทำเช่นนี้ ให้ความรู้ในทางตำนานการชำระ เรียบเรียงพระราชพงศาวดารเป็นอย่างดี จะได้ทราบถ่องแท้ว่า เรื่อง แต่ก่อนมีอยู่เพียงไหน แต่งเติมต่อมาอีกเท่าไร มิฉะนั้นจะหาทางสันนิษฐานให้ทราบใกล้ความจริงได้ยาก มีข้อความเป็นหลักฐานแตกต่างจากฉบับหมอบรัดเล และฉบับพระราชหัตถเลขาหลายแห่ง

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ ( เจิม ) (ประชุมพงศาวดารภาค ๖๔)มีจำนวนสมุดไทยตามลำดับเป็น ๒๒ เล่ม ขาดในระหว่างบ้างบางเล่มเริ่มต้นแต่แรกสถาปนากรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา ต่อมาจนสุดรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พอเริ่มความตอนต้นกรุงรัตนโกสินทรก็หมดฉบับ


ความเห็นของกรมพระยาดำรงฯ
เกี่ยวกับพระราชพงศาวดารฉบับต่างๆ

"ประวัติของหนังสือพระราชพงษาวดาร ข้าพเจ้าเคยได้กล่าวไว้ในคำนำหนังสือพระราชพงษาวดารฉบับพระราชหัดถเลขา เมื่อพิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๕๕ แลเมื่อพิมพ์เล่ม ๑ ครั้งที่ ๒ เมื่อพ.ศ. ๒๔๕๗ ต่อมาข้าพเจ้าได้ตรวจสอบหนังสือพระราชพงษาวดารต่าง ๆ ที่มีอยู่ในหอพระสมุด ฯ เห็นความ ที่กล่าวไว้แต่ก่อนจะเคลื่อนคลาศอยู่บ้าง ตามการที่ได้สอบสวนมาจนเวลานี้ เข้าใจว่าเรื่องประวัติหนังสือพระราชพงษาวดารจะมีมาเปนชั้น ๆ ดังนี้ คือ :-

๑. หนังสือพระราชพงษาวดารฉบับแรก แต่งในแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์มหาราชเมื่อปีวอกโทศก จุลศักราช ๑๐๔๒ พ.ศ. ๒๒๒๓ หนังสือพระราชพงษาวดารฉบับนี้ เรียกในหอพระสมุด ฯ ว่าฉบับหลวงประเสริฐ แลได้พิมพ์ไว้ในหนังสือประชุมพงษาวดารภาคที่ ๑ แล้ว

๒. ต่อมาในชั้นกรุงเก่านั้น เข้าใจว่าเห็นจะเปนในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ มีรับสั่งให้แต่งหนังสือพระราชพงษาวดารขึ้นอิกฉบับ ๑ คือฉบับที่พิมพ์ในหนังสือประชุมพงษาวดารภาคที่ ๔ นี้ ที่รู้ได้ว่าเปนหนังสือแต่งครั้งกรุงเก่า เพราะสำนวนที่แต่งเปนสำนวนเก่า ใกล้เกือบจะถึงสำนวนที่แต่งพระราชพงษาวดารฉบับหลวงประเสริฐ แต่มิใช่ฉบับเดียวกัน ด้วยเรื่องซ้ำกัน แลความในฉบับหลังพิสดารกว่าฉบับหลวงประเสริฐ หนังสือพระราชพงษาวดาร ๒ ฉบับนี้ เปนหลักฐานให้เข้าใจว่า เมื่อครั้งกรุงเก่านั้น มีหนังสือพระราชพงษาวดาร ๒ ฉบับ ๆ ความย่อแต่งในแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์มหาราชฉบับ ๑ ฉบับ ความพิศดาร แต่งเมื่อราวแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐฉบับ ๑ ฉบับความย่อตั้งต้นเรื่องตั้งแต่สร้างพระเจ้าพนัญเชิง ฉบับความพิศดารจะตั้งต้นเรื่องตรงไหนรู้ไม่ได้ แต่ฉบับที่มีอยู่ในหอพระสมุด ฯ เล่ม ๓ สมุดไทย ความกล่าวในตอนแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิตอนปลาย เอาความข้อนี้เปนหลักสันนิฐานว่าฉบับพิศดารตั้งเรื่องตั้งแต่พระเจ้าอู่ทองสร้างกรุงศรีอยุทธยา เห็นจะไม่ผิด

๓. เมื่อกรุงเก่าเสียแก่พม่าข้าศึก บ้านเมืองเปนจลาจล หนังสือเปนอันตรายหายสูญเสียครั้งนั้นมาก ครั้นพระเจ้ากรุงธนบุรีกลับตั้งเปนอิศรได้ จึงให้รวบรวมหนังสือพระราชพงษาวดารครั้งกรุงเก่าทั้ง ๒ ฉบับ ที่กล่าวมาแล้ว ฉบับย่อที่แต่งในแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์มหาราช หาฉบับได้ในครั้งกรุงธนบุรี สิ้นเรื่องเพียงสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ความที่กล่าวข้อนี้มีหลักฐาน ด้วยหอพระสมุด ฯ ได้หนังสือพระราชพงษาวดารความย่อนั้นไว้ ๒ ฉบับฉบับ ๑ ฝีมือเขียนครั้งกรุงเก่าหลวงประเสริฐหามาได้ อิกฉบับ ๑ เปนตัวฉบับหลวงของพระเจ้ากรุงธนบุรี กรมพระสมมตอมรพันธุ์ประทาน เอาหนังสือ ๒ ฉบับนี้

สอบกันดู ความขึ้นต้นลงท้ายเท่ากัน จังรู้ได้เปนแน่ว่า ครั้งกรุงธนบุรีหาฉบับได้เพียงเท่านั้นเอง ส่วนฉบับความพิศดารนั้น จะหาได้ในครั้งกรุงธนบุรีกี่เล่มทราบไม่ได้ เพราะหอพระสมุด ฯ หาได้แต่ ๓ เล่ม แต่มีหลักฐานมั่นคง รู้ได้ว่าในครั้งกรุงธนบุรีรวบรวมหนังสือพระราช พงษาวดารครั้งกรุงเก่าไม่ได้ฉบับครบ แลเข้าใจว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีเปนแต่ได้รวบรวมหนังสือพระราชพงษาวดารไว้ ถ้าจะได้แต่เพิ่มเติม ในครั้งกรุงธนบุรีบ้างก็แต่เล็กน้อย

๔. มาจนในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร เมื่อปีเถาะสัปตศกจุลศักราช๑๑๕๗พ.ศ.๒๓๓๘พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงได้ทรงชำระหนังสือพระราชพงษาวดารฉบับกรุงเก่า แลแต่งเติมที่ บกพร่อง มีหนังสือพระราชพงษาวดารสำหรับพระนครบริบูรณ์ ขึ้น ในครั้งนั้น หนังสือพระราชพงษาวดารชุดนี้มีบานแพนกบอกปีแลการที่ทรงชำระหนังสือพระราชพงษาวดารไว้เปนหลักฐาน การชำระหนังสือพระราชพงษาวดารครั้งรัชกาลที่ ๑ เอาฉบับครั้งกรุงเก่า ทั้งฉบับย่อ แลฉบับพิศดารเปนหลัก เห็นจะระวังรักษาเรื่องของเดิมมาก ในตอนข้างต้นที่ไม่มีฉบับพิศดารจึงคัดเอาฉบับย่อลงเต็มสำนวนโดยมาก ตอนที่มีฉบับพิศดาร ก็เปนแต่เอาฉบับเดิมมาแก้ไขถ้อยคำ เพื่อจะให้เปนสำนวนเดียวกับที่ต้องแต่งใหม่ แต่ประโยคต่อประโยคยังคงกันอยู่โดยมาก ความที่กล่าวนี้ถ้าผู้ใดเอาหนังสือพระราชพงษาวดารฉบับหลวงประเสริฐ แลฉบับที่พิมพ์ในประชุมพงษาวดารภาคที่ ๔ นี้ ไปสอบกับพระราชพงษาวดารความพิศดาร จะเปนฉบับที่หมอบรัดเลพิมพ์ก็ตาม ฉบับพระราชหัดถเลขาก็ตาม จะแลเห็นจริงได้ดังข้าพเจ้าว่า เพราะหนังสือพระราชพงษาวดารความพิศดารที่พิมพ์ทั้ง ๒ ฉบับนั้น ที่จริงเปนแต่แก้ไขหนังสือพระราชพงษาวดารฉบับรัชกาลที่ ๑ในที่บางแห่งเท่านั้น

ที่ข้าพเจ้ารู้สึกว่าข้าพเจ้าพลาดไป ในความวินิจฉัยแต่ก่อนนั้นคือที่ไปเข้าใจว่า ได้แต่งหนังสือพระราชพงษาวดารครั้งกรุงธนบุรี เมื่อมาพิจารณาหนังสือมากเข้า เห็นว่าครั้งกรุงธนบุรีเปนแต่ได้รวมฉบับหนังสือครั้งกรุงเก่าที่พลัดพรายเข้าไว้ในหอหลวง ที่ได้มาแต่งให้พระราชพงษาวดารมีขึ้นบริบูรณ์สำหรับพระนครดังแต่ก่อน เปนการในรัชกาล ที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร ควรเฉลิมเปนพระเกียรติยศในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่ได้ทรงรวบรวมแลชำระหนังสืออันเปนตำราสำหรับบ้านเมืองสำเร็จถึง ๓ อย่าง คือสังคายนาพระไตรปิฏกอย่าง ๑ ชำระพระราชกำหนดกฎหมายอย่าง ๑ชำระพระราชพงษาวดารอย่าง ๑ พระราชพงษาวดารที่ชำระในรัชกาลที่ ๑ นั้น ไม่ใช่แต่ซ่อมแซมของเก่าที่ฉบับขาดอย่างเดียว ได้แต่งเรื่องพระราชพงษาวดารต่อลงมาจนถึงเสียกรุงเก่าด้วยอิกตอน ๑

๕. ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๓ จะเปนในปีใดยังไม่พบจดหมายเหตุ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอาราธนาสมเด็จกรมพระ ปรมานุชิตชิโนรสแต่ยังดำรงพระยศเปนกรมหมื่นนุชิตชิโนรส ให้ทรงชำระเรื่องพระราชพงษาวดารอิกครั้ง ๑ พระราชพงษาวดารที่สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรสทรงชำระสำเร็จรูปเปนฉบับที่หมอบรัดเลพิมพ์ สังเกตดูทางสำนวนในตอนข้างต้นที่แต่งมาแต่ในรัชกาลที่๑ แล้วนั้น เปนแต่แก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคำให้เพราะขึ้น ส่วนตัวเรื่องพระราชพงษาวดารได้แต่งต่อมาอิกตอน ๑ เริ่มแต่พระเจ้ากรุงธนบุรีหนีออกจากกรุงเก่า จดไว้ในหนังสือฉบับหมอบรัดเลพิมพ์ ว่าแผ่นดินพระเจ้าตาก (สิน) แต่งเรื่องตลอดรัชกาลกรุงธนบุรีแลต่อมาในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร จนถึงเจ้าพระยายมราชยกกองทัพออกไปเมืองทวาย เมื่อปีชวดจัตวาศกจุลศักราช ๑๑๕๔ พ.ศ. ๒๓๓๕ ความที่กล่าวตอนนี้ไม่ต้องอ้างหลักฐานด้วยบรรดาผู้ศึกษาโบราณคดีทราบอยู่ทั่วกันแล้ว

๖. ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๔ ราวปีเถาะสัปตศก จุลศักราช ๑๒๑๗ พ.ศ. ๒๓๙๘ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับกรมหลวงวงษาธิราชสนิท ทรงช่วยกันชำระหนังสือพระราชพงษาวดารอิกครั้ง ๑ ความข้อนี้มีปรากฏในพระราชหัดถเลขาถึง เซอ ยอนเบาริง ในปีนั้น มีสำเนาพิมพ์ไว้ในหนังสือเรื่องเมืองไทยที่เขาแต่งเล่ม ๒ น่า ๔๔๔ การชำระครั้งรัชกาลที่ ๔ แก้ไขถ้อยคำเรียบร้อยดีขึ้นกว่าแต่ก่อน ส่วนตัวเรื่องก็ได้ทรงแก้ไขเพิ่มเติมในตอนที่แต่งมาแล้วหลายแห่ง แต่ไม่ได้ทรงแต่งเรื่องต่อ สำเร็จรูปเปนหนังสือพระราชพงษาวดารฉบับพระราชหัดถเลขา ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงษ์วรเดชทรงพิมพ์เปนครั้งแรก เมื่อปีชวดจัตวาศก จุลศักราช ๑๒๔๗ พ.ศ. ๒๔๕๕

๗. ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จผ่านพิภพเมื่อปีมโรงสัมฤทธิศกจุลศักราช๑๒๓๐ พ.ศ. ๒๔๑๑ ในปีนั้นเอง มีรับสั่งให้เจ้าพระยาทิพากรวงษ์ (ขำ บุนนาค) แต่งหนังสือพระราชพงษาวดารกรุงรัตนโกสินทร ต่อจากที่สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรสได้ทรงแต่งค้างไว้ เจ้าพระยาทิพากรวงษ์ท่านเก็บรวบรวมจดหมายเหตุต่าง ๆ เปนต้นว่า หมายรับสั่ง แลท้องตรา ใบบอกหัวเมือง ซึ่งมีอยู่ตามต่างกระทรวงไปรวบรวมแต่งพระราชพงษาวดารกรุงรัตนโกสินทรขึ้นทั้ง ๔ รัชกาล แต่งแล้วถวายสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ทรงตรวจอิกชั้น ๑ แล้วจึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย หนังสือพระราชพงษาวดารที่เจ้าพระยาทิพากรวงษ์แต่ง ทำเร็วเปนอัศจรรย์หนังสือราว ๑๐๐ เล่มสมุดไทย แต่งแล้วได้ถวายภายใน ๒ ปี ต่อมาถึงปีฉลูตรีศกจุลศักราช ๑๒๖๓ พ.ศ.๒๔๔๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะให้พิมพ์หนังสือพระราชพงษาวดารกรุงรัตนโกสินทร ทรงพระราชดำริห์ว่าหนังสือที่เจ้าพระยาทิพากรวงษ์แต่งไว้ เปนด้วยรีบทำ ยังไม่เรียบร้อยควรแก่การพิมพ์ ทีเดียว จึงมีรับสั่งให้ข้าพเจ้ารับน่าที่ตรวจชำระหนังสือพระราชพงษาวดารกรุงรัตนโกสินทร สำหรับการที่จะพิมพ์ตามพระราชประสงค์ ข้าพเจ้าได้ตรวจชำระส่วนรัชกาลที่ ๑ สำเร็จ แลได้พิมพ์แต่ในปีนั้นรัชกาลที่ ๑ ครั้นตรวจมาถึงรัชกาลที่ ๒ เห็นฉบับเดิมบกพร่องมากนัก เรื่องราวเหตุการณ์ในรัชกาลที่ ๒ ยังมีอยู่ในหนังสืออื่น เปนหนังสือต่างประเทศโดยมาก ควรจะรวบรวมเรื่องตรวจเสียใหม่ แล้วจึงค่อยพิมพ์จึงจะดี ด้วยเหตุนี้ประการ ๑ ประกอบกับที่ ข้าพเจ้าติดธุระในตำแหน่งราชการมาก ด้วยอิกประการ ๑ การที่จะตรวจชำระหนังสือพระราชพงษาวดารรัชกาลที่ ๒ จึงได้ค้างมา แต่ก็มิได้เสียเวลาเปล่า ด้วยในระหว่างนั้น ข้าพเจ้าได้เอาเปนธุระเสาะแสวงหา แลรวบรวมหนังสือต่าง ๆ ซึ่งเนื่องด้วยพระราชพงษาวดารรัชกาลที่ ๒ มาโดยลำดับ พึ่งมาได้ลงมือแต่งเมื่อปีฉลูเบญจศกจุลศักราช ๑๒๗๕ พ.ศ. ๒๔๕๖ เดี๋ยวนี้หนังสือนั้นกำลังพิมพ์อยู่ ท่านทั้งหลายคงจะได้อ่านในไม่ช้านัก ประวัติของหนังสือพระราชพงษาวดาร เท่าที่ข้าพเจ้าทราบความมีดังอธิบายมานี้

ดำรงราชานุภาพ
หอพระสมุดวชิรญาณ วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๘ "



หมายเหตุ

ความเป็นมาของพงศาวดารแต่ละฉบับ ในส่วนที่มาของ..

พงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ
พงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา
พงศาวดารกรุงเก่า ฉบับ วันวลิต
พงศาวดารกรุงเก่า ฉบับบริติชมิวเซียม
พงศาวดารกรุงเก่า ฉบับคำให้การชาวกรุงเก่า
พงศาวดารกรุงเก่า ฉบับคำให้การขุนหลวงหาวัด
พงศาวดารกรุงเก่า ฉบับพระพนรัตน์
พงศาวดารกรุงเก่า ฉบับพระจักรพรรดิ์
พงศ์พงศาวดารกรุงเก่า ฉบับกรมพระปรมานุชิตชิโนรส

ให้ข้อมูลโดย วศินสุข

และ

ความเป็นมาของพงศาวดารแต่ละฉบับ ในส่วน..

พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ

พระราชพงษาวดารกรุงเก่าตามต้นฉบับหลวง “ ฉบับจุลศักราช ๑๑๓๖ ”

ความเห็นของกรมพระยาดำรงฯ

ให้ข้อมูลโดย Jack (ไม้ทั่วไป)


ที่มา : http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2007/01/K5092408/K5092408.html

ไม่มีความคิดเห็น: