วันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

สังคมไทยอนุญาตให้มีอุดมการณ์เดียว


สัมภาษณ์
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2544

โดย.กองบรรณาธิการการเมืองใหม่


แม้ว่ามิใช่นักคิดคนสำคัญของสังคมไทยที่สามารถออกความเห็นได้ทุกเรื่องทุกเวลา แต่ในฐานะนักเรียนประวัติศาสตร์ ผู้ทุ่มเทศึกษาขบวนการฝ่ายซ้ายไทย จนสามารถสำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาเอกด้วยวิทยานิพนธ์เรื่อง The Communist Movement in Thailand ที่เขาบอกว่ามันมากกว่าวิทยานิพนธ์ แต่มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

ด้วยมุมมองที่แหลมคม และมีความเป็นตัวของตัวเองสูง ชื่อของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล มักจะเป็นชื่อแรกๆ เสมอเมื่อมีวิวาทะในประเด็น สังคมนิยม ลัทธิมาร์กซ์ ตลอดจนการเคลื่อนไหวของขบวนการฝ่ายซ้ายไทย การเมืองใหม่ – ได้รับเกียรติจากสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลมาสนทนาเกี่ยวกับแนวคิดสังคมนิยมกับสังคมไทยในแง่มุมต่างๆ


การเมืองใหม่ : ตรรกะที่ว่าสังคมนิยมเป็นสิ่งแปลกแยกจากสังคมไทย มาจากภายนอก ไม่ได้เป็นผลมาจากการต่อสู้ทางชนชั้นของสังคมไทยจริงๆ ยอมรับได้หรือเปล่า


สมศักดิ์ : ผมไม่รับตรรกะที่ว่ามาจากข้างนอกแล้วต้องแปลกแยก พุทธเดิมก็มาจากข้างนอกเหมือนกัน คือมันมีอะไรที่ไม่ได้มาจากข้างนอก เพราะฉะนั้นโดยการมาจากข้างนอกผมไม่คิดว่าเป็นปัญหา แต่มีการจับเรื่องการมาจากข้างนอกกับการที่ไม่ประสบผลสำเร็จมาอยู่ด้วยกัน เราก็เลยบอกว่าเพราะมันมาจากข้างนอกมันเลยไม่ประสบผลสำเร็จ ผมว่าไม่ใช่ ผมเห็นด้วยว่ามันไม่ประสบผมสำเร็จ

แต่ไม่ใช่เพราะว่ามาจากข้างนอก เราพูดได้ว่าสังคมนิยมประยุกต์ใช้ในที่ที่มีการรวมตัวระดับล่างด้วยตัวเองอย่างจริงจัง แต่ในสังคมไทยมันไม่มีการรวมตัวระดับนั้น เพราะฉะนั้นมันเลยไม่ประสบผลสำเร็จ อย่างนี้ก็อาจจะใช่


การเมืองใหม่ : พัฒนาการขบวนการสังคมนิยมในเมืองไทยเป็นอย่างไร


สมศักดิ์ : คือมันมาจากข้างนอก จากสายพวกนักปฏิวัติจีน เวียดนาม แต่ในสมัยนั้น การเคลื่อนย้ายของคนมันไม่ได้เป็นอย่างทุกวันนี้ เพราะฉะนั้นเมื่อในประเทศของคนพวกนี้เกิดการปฏิวัติ มันก็มีคนเข้าคนออกในประเทศแถบนี้ มาทำการเคลื่อนไหวบ้าง อพยพมาบ้าง โดนปราบหนีมาบ้าง อีกกลุ่มหนึ่งเป็นตัวบุคคล เช่น ปรีดีที่ไปรับกระแสความคิดสังคมนิยมแบบของเขาที่ฝรั่งเศส แล้วพยายามมาประยุกต์ใช้ในช่วงสั้นๆ ออกมาเป็นสมุดปกเหลือง

แต่สายปรีดี มันชั่วคราวมาก พอสมุดปกเหลืองแพ้แล้ว ก็ไม่มีหลักฐานว่าได้พยายามทำอะไรต่อ จะมีก็เพียงก่อนหน้านั้นที่สงวน ตุลารักษ์ ออกหนังสือพิมพ์ 24 มิถุนายน มีบทความเช่น โซเซียลลิสต์คืออะไร

ถึงที่สุดปรีดีก็มิใช่รับอิทธิพลสังคมนิยมจากฝรั่งเศสทั้งหมด ถ้าดูจากผลงานอย่างเช่นสมุดปกเหลือง ความคิดพื้นฐานมันมาจากวิธีคิดแบบสหกรณ์ แต่ลักษณะการวางแผนการรวมหมู่ชาวนา ผมคิดว่าเขาได้อิทธิพลจากการมองกระบวนการที่เกิดขึ้นในโซเวียตช่วงปี 1929-30


การเมืองใหม่ : จุดเริ่มของขบวนการสังคมนิยมอยู่ที่คนจีนกับคนเวียดนามมากกว่ากลุ่มปัญญาชน


สมศักดิ์ : คนที่ได้รับอิทธิพลสังคมนิยมจากที่ไปเรียนเมืองนอก ถ้าไม่นับปรีดีแล้ว มันไม่ค่อยมี แต่พวกจีน เวียดนาม เขาเข้ามาในเชิงเป็นนักปฏิวัติ เข้ามาเป็นครูโรงเรียนจีน มาสอนลูกหลานจีนแล้วมาจัดตั้งมาระดมทุนเพื่อจะส่งไปช่วยการปฏิวัติ แล้วเขาก็พยายามตั้งเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ในที่สุด

แม้ว่าจุดหลักเขาก็ยังมองที่การปฏิวัติประเทศของเขาเองเป็นหลัก แต่ว่ามันเป็นหลักการอย่างหนึ่งของคอมมิวนิสต์ ที่ระบุไว้ในระเบียบการคอมมินเทอร์นเลยว่า ชาวพรรคคอมมิวนิสต์ไม่วาไปที่แห่งใดจะต้องพยายามตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ของท้องถิ่นนั้นขึ้นมา


การเมืองใหม่ : ข้อสังเกตว่าเมื่อตั้งตอนแรกตั้งใจให้เป็นพรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขาสยาม


สมศักดิ์ : คุณไม่สามารถตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนในประเทศไทยได้หรอก รวมทั้งยังมีหลักการอีกอย่างคือ เขาถือว่าคอมมิวนิสต์ไม่มีประเทศ การที่คุณไปตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศต่างๆ ไม่ได้หมายความว่า คุณจะช่วยการปฏิวัติประเทศอื่นไม่ได้ เพราะฉะนั้นพวกนี้พอเขาพยายามตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นมา งานหลักเขายังคงพยายามปฏิวัติประเทศจีนอยู่

แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่คิดปฏิวัติในประเทศนะ มีเอกสารอยู่ชิ้นหนึ่งที่จับได้จากคนจีนสมัยนั้น มีการวิเคราะห์ชนชั้นต่างๆ ในสยาม คนเขียนตอนนั้นคงคิดถึงการปฏิวัติจีนเป็นหลัก แล้วมันเขียนในนามคณะกรรมการคอมมิวนิสต์ทะเลใต้ แต่คุณก็เห็นว่าที่มีการวิเคราะห์สังคมสยาม แต่เนื่องจากประเทศสยามเองตอนนั้นก็ไม่ได้มีอะไรที่เป็นขบวนการปฏิวัติที่เขาจะทำอะไรได้ ผมก็เลยคิดว่ากิจกรรมหลักของเขาก็ยังคงอยู่ที่ไปสัมพันธ์กับประเทศในจีนเป็นหลัก

แต่คุณต้องเข้าใจว่าวิธีคิดของคอมมิวนิสต์สมัยนั้นว่า เป็นขบวนการใต้ดิน มีไม่กี่คน มันไม่ได้ชัดเจนขนาดต้องมีการจดทะเบียนอะไร มันมีความสัมพันธ์ที่คลุมเครืออยู่ ที่ผมพูดประเด็นนี้ เพื่อที่จะบอกว่า ตอนหลังพอมีการวิจารณ์พคท. มักจะพูดในแง่ที่บอกว่านี่เป็นพรรคคอมมิวนิสต์จีน คุณรู้ได้ไง มันมีการจดทะเบียนหรือ ในความรู้สึกผม มันเป็นเรื่องของการวิวาทะทางการเมืองทีหลัง แล้วก็เลยพยายามจะบอกว่านี่เป็นจีนนี่เป็นไทย


การเมืองใหม่ : ผลกระทบของความคิดสังคมนิยมเมื่อแรกเข้ามาในสังคมไทย


สมศักดิ์ : ช่วงแรกยังอยู่ที่ชายขอบมากๆ ยกเว้นกรณีปรีดี เพราะอยู่ในศูนย์อำนาจ โดยพยายามประยุกต์ใช้ในกรณีสมุดปกเหลือง แต่มันส่งผลสะเทือนที่ลึกซึ้งมาก ผมเห็นด้วยกับประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ในแง่ที่ว่าการเสนอสมุดปกเหลืองของปรีดีเป็นความผิดพลาดที่ร้ายแรงมาก พอเสนอไป พวกที่เป็นอาวุโสในหมู่คณะราษฎรก็รู้สึกไม่ชอบ ขุนนางที่อาจจะใกล้ชิดกับพระปกเกล้าก็มีปัญหา แล้วก็นำไปสู่วิกฤตการณ์ ก็ปิดสภาแล้วก็แตกกันในคณะราษฎร ในที่สุดก็เกิดกบฏบวรเดช เกิดร.7 สละราชย์

สุดท้ายคือการขึ้นมามีอำนาจของหลวงพิบูล ซึ่งเป็น junior มาก เมื่อตอนเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยรวม คือการที่อ.ปรีดีพยายามจะผลักดันสมุดปกเหลือง ผมว่ามันส่งผลที่ไม่จำเป็นเยอะมาก เพราะฉะนั้นถ้าในแง่นี้ความคิดสังคมนิยมมันก็เลยมีบทบาทอย่างที่ไม่ควรจะมี


การเมืองใหม่ : เมื่อปฏิวัติแล้วก็ต้องเปลี่ยนแปลงอย่างถึงราก ไม่อย่างนั้นจะปฏิวัติทำไม


สมศักดิ์ : ใช่ พวกปรีดีเขาก็คิดอย่างนี้ แต่มันก็ทำให้เกิดกฎหมายคอมมิวนิสต์ ทั้งๆ ที่ความจริงมันไม่เคยมีใครคิดจะร่างกฎหมายคอมมิวนิสต์ขึ้นมาก่อนหน้านั้น หลังจากนั้นปรีดีเองก็ไม่ได้เขียนงานอะไรที่เป็นสังคมนิยมจริงๆ ในช่วงนั้น นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ผมบอกว่าคือความผิดพลาดของปรีดีที่พยายามจะผลักดันเรื่องนี้ คือยังไม่มีคนเห็นด้วยเลยแล้วก็ไม่มีคนเข้าใจ เรายังไม่นับว่าปรีดีเองเข้าใจเรื่องนี้แค่ไหน คุณอย่าลืมตอนนั้นปรีดีอายุแค่ 33 โดยภาพรวมของสังคมไทยมันไม่ควรมีผลกระทบขนาดนี้


การเมืองใหม่ : ถ้าจะให้สรุปตัวเนื้อหาแนวคิดของขบวนการสังคมนิยมในประเทศไทยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2


สมศักดิ์ : มันไม่มีแนวคิดที่ชัดเจนว่าจะปฏิวัติสังคมนิยมหรือไม่หนุนช่วยการปฏิวัติเวียดนาม จีน แต่ในสมัยนั้น คุณต้องเข้าใจว่าในขบวนการคอมมิวนิสต์ การต่อสู้ทางด้านอุดมการณ์ภายในยังไม่ชัดเจน จีนกับโซเวียตยังเป็นเอกภาพอยู่ มันยังไม่มีแยกเป็นลัทธิสตาลิน เป็นลัทธิเหมา เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้ว เวลาคนชอบมองพคท. แล้วชอบย้อนกลับไปสมัยก่อนสงครามโลก ผมถึงว่ามันไม่ค่อยมีความหมายอะไร เรื่องชนบทล้อมเมือง คุณไม่ต้องพูดเลย มันไม่มีอยู่แล้ว


การเมืองใหม่ : บทบาทของพรรคคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามโลกมีมากน้อยแค่ไหน


สมศักดิ์ : ตอนเกิดสงครามโลก มันมีขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นเยอะ แล้วพวกนี้ถามว่ามีความสัมพันธ์กันไหม ผมว่ามีความสัมพันธ์กันชัวร์ แล้วปรีดีตอนนั้นรู้จักคอมมิวนิสต์ไหม ผมว่ารู้จัก เพียงแต่แกพยายามจะบอกว่าคอมมิวนิสต์ที่แกรู้จัก เป็นคอมมิวนิสต์จีนนะ ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ไทย ผมก็จะบอกว่า มันวัดตรงไหน ที่บอกว่าคอมมิวนิสต์ไทยหรือจีน คืองานเขียนของปรีดีมีลักษณะเชิงวิวาทะ คือแกจะด่าพคท. ว่ามันจีน พูดง่ายๆ แต่คอมมิวนิสต์มีลักษณะพิเศษกว่าเขาที่เขาเน้นเรื่องกรรมกร เขาก็ตั้งสมาคมช่วยเหลือกันในหมู่กรรมกร ซึ่งตอนหลังมาเปิดเผยตัวเองเป็นสหอาชีวะกรรมกร


การเมืองใหม่ : จุดไหนเป็นหลักชี้ว่าพรรคคอมมิวนิสต์เริ่มมีผลกระทบต่อสังคมไทย


สมศักดิ์ : ผมพูดในแง่ที่ว่า มันได้ก่อรูปเป็นพรรค มันไม่ไปไหนแล้วก็คือหลังสงครามโลก ช่วงที่ปรีดีเป็นใหญ่แล้วเปิดเสรีภาพทางการเมือง พวกนี้ก็เลยตั้งสำนักพิมพ์ มหาชน ขึ้นมาได้ แล้วคนกลุ่มที่เขาเริ่มจัดตั้งก่อนสงครามและก็ในระหว่างสงคราม ซึ่งเป็นพวกที่เกิดในช่วงประมาณทศวรรษ 1920 ในช่วงประมาณเกือบจะถึงสงครามโลก พวกนี้ก็โตขึ้นมาเป็นวัยรุ่น คนรุ่นนี้ก็คืออย่างกลุ่มพวกวิรัช อังคถาวร, ธง แจ่มศรี, อุดม สีสุวรรณ, ดำริห์ เรืองสุธรรม, วิโรจน์ อำไพ หลังจากนั้นก็เริ่มมีการสัมพันธ์กับคนวงอื่นที่กว้างออกไปเช่น เริ่มสัมพันธ์กับอ.สุภา ศิริมานนท์ ซึ่งเป็นนักหนังสือพิมพ์ใหญ่ในช่วงนั้น เมื่อมีเสรีภาพบางคนอาจจะสนใจว่าคอมมิวนิสต์มันคืออะไรก็แวะไปคุยที่สำนักพิมพ์ พอพวกนี้โตเป็นหนุ่ม ก็มีที่เข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วงใกล้ๆ นี้ ไปจัดตั้งนักศึกษา


การเมืองใหม่ : กล่าวได้ไหมว่า ช่วงนี้เป็นช่วงที่ขบวนการคอมมิวนิสต์เริ่มที่จะวางรากฐานทางความคิด


สมศักดิ์ : ใช่ มันก็เริ่มที่มีการออกหนังสือพิมพ์ มหาชน ถ้าคุณเคยอ่านมันก็ไม่ได้ดีเด่นอะไร แต่เสนอแนวคิดบางอย่างที่บอกได้ว่านี่เป็นแนวคิดแบบสังคมนิยม แล้วมักจะมีแถลงการณ์ด้วยว่าชาวคอมมิวนิสต์มองเหตุการณ์นี้ยังไง มันเป็นในเชิงจุดยืนทางการเมืองที่ออกมา สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรลืม คือเขาจัดตั้งกรรมกรในระหว่างสงคราม แล้วพอหลังสงคราม เขาก็ประกาศตัวเป็นสหอาชีวะกรรมกร


การเมืองใหม่ : ก่อน 2500 นอกจากพคท. มีการเคลื่อนไหวอย่างไร


สมศักดิ์ : เอาเข้าจริงๆ แล้วสังคมนิยมไทยมีสายเดียว คือสายที่มาจากพคท. เป็นหลัก นอกนั้นเป็นตัวบุคคล แต่แยกไม่ออกจากพคท. กรณีอ.สุภา พูดได้ว่าแกเป็นอิสระ ที่ไม่ได้มีความเกี่ยวพันอะไรกับพคท. แต่ถ้าคุณอ่าน อักษรสาส์น ของแก ในที่สุดแล้วคนเขียน อักษรสาส์น ส่วนใหญ่ก็คือคนในแวดวงพคท. ทั้งนั้น หรือคนที่นิยมพคท. กรณีนายผี กระทั่งทวีป วรดิลก คนพวกนี้อาจตื่นตัวขึ้นมาจากอ.สุภา หรืออาจจะกลับไปอ่านสมุดปกเหลืองแล้วได้รับแรงกระตุ้น แต่มันไม่มีองค์กรอื่น

คุณก็ต้องเข้าไปที่พคท. อยู่ดี หรือลองไล่ดูในแวดวงธรรมศาสตร์ พคท.ก็ไปจัดตั้ง ในแวดวงหนังสือพิมพ์นักเขียน มันก็เป็นผลสะเทือนที่มาจากพคท. อย่างนายผีในที่สุดก็เข้าพคท. ไปช่วงปี 2493 คือในที่สุดมันไม่มีอันไหนที่แยกออกจากพคท. ในธรรมศาสตร์ซึ่งกลายเป็นตำนานไป เรื่องมธก. พวกนี้แรกๆ เป็นเพราะนิยมอ.ปรีดี แล้วก็ออกมาเคลื่อนไหว เพราะรู้สึกว่าธรรมศาสตร์ถูกรังแก แต่ว่าถ้าหากพวกนี้ยังอยู่ต่อไป แล้วมีแนวคิดเอียงไปทางสังคมนิยม เช่น ประจวบ อัมพะเศวต ก็มาเข้าพคท. หรือมาสัมพันธ์กับพคท. เพราะมันไม่มีสังคมนิยมอื่นที่ไม่ใช่พคท. ประเด็นผมคือตรงนี้

ยิ่งเมื่อเกิดรัฐประหาร 2490 ไม่นานจีนก็เกิดการปฏิวัติ มันก็มีการพยายามยามเสนอแนวคิดว่า ถ้าอย่างนั้นเราต้องทำแบบจีนจึงจะประสบความสำเร็จ ก็เริ่มมีการที่พยายามจะออกไปสู่ชนบทหลัง 2490 ไม่นาน ประมาณปี 2492-93 ก็มีการเสนอว่าต้องออกชนบท



การเมืองใหม่ : พูดได้ว่าตามก้นจีนหรือเปล่า


สมศักดิ์ : การปฏิวัติจีนมันส่งผลสะเทือนต่อความรู้สึกของคนเยอะมาก ไม่ว่าคุณจะเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่ก็ตาม คุณต้องพยายามจินตนาการในตอนนั้นว่าเมืองไทยมันใกล้กับเมืองจีนมาก พอจีนปฏิวัติเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ในรอบไม่รู้กี่ร้อยกี่พันปีที่ดูเหมือนจีนจะเป็นปึกแผ่นได้ ปัญญาชนทั้งหลายก็หันมาสนใจเรื่องจีน ขณะที่ในหมู่คอมมิวนิสต์เอง มันอาจจะมีเหตุผลทางด้านทฤษฎีด้วยว่ามันน่าจะใช้ทฤษฎีของจีนกับไทยได้ แต่ว่ามันมีความยากลำบากที่จะทำ เช่น ตอนสมัชชา 2 ปี 2495 ก็มีมติให้ลงสู่ชนบท ก็ไม่ได้ลงจริงๆ คือเขาพยายามลงนะ เช่น ไปจัดตั้งที่ศรีสะเกษ หมู่บ้านครูซอดอะไรพวกนี้ แล้วมันก็พังไป เพราะว่าพอถึงเวลาเคลื่อนไหวสันติภาพแล้วถูกจับ

ขณะที่ผู้นำที่เป็นคนเด่นๆ ในพรรคก็ยังอยู่ในกรุงเทพฯ คุณอุดมก็ยังเขียนหนังสืออยู่ในกรุงเทพฯ แล้วในแง่หนึ่งเขาก็ไม่มีกำลังพอที่จะไปทุ่มในชนบทมากมายเท่าไร ส่วนพวกที่ผมบอกว่าโตขึ้นมาเนื่องจากการจัดตั้งก่อนสงครามและก็คนไทยส่วนหนึ่งที่เพิ่งได้รับการจัดตั้งระหว่างสงครามหรือหลังสงครามไม่นาน เช่น คุณรวม วงศ์พันธ์ หรือคุณผิน บัวอ่อน เขาก็ส่งไปเรียนที่เมืองจีน คือมันเป็นช่วงที่เริ่มอบรมเพาะผู้ปฏิบัติงาน


การเมืองใหม่ : ผลสะเทือนของการเสนองานไทยกึ่งเมืองขึ้น ของคุณอุดม สีสุวรรณ ที่ถือว่าเป็นปัญญาชนของพรรค


สมศักดิ์ : แม้หลัง 2490 ก็เริ่มพยายามที่จะผลิตงานที่มีลักษณะเป็นแนวคิด แต่พื้นฐานของคนเหล่านี้ไม่ใช่ปัญญาชนในระดับที่ได้รับการฝึกในระดับที่สูง เพราะฉะนั้นปัญญาชนไทยก่อน 2500 ก็คือเป็นพวกนักเขียนอาชีพ นักหนังสือพิมพ์ ซึ่งงานในระดับนี้ก็งานของคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรืออ.สุภา ถือว่าดี

แต่ถ้าคุณไปมองดูยุคหลัง มันก็ยังอยู่ในลักษณะงานหนังสือพิมพ์อยู่ มีการเล่าประวัติ เล่าข่าว เล่าความเปลี่ยนแปลงในโซเวียต อะไรอย่างนี้ อ.สุภาเขียน หนังสือมากกว่าหนังสือพิมพ์ทั่วๆไปแล้วนะอย่าง อักษรสาสน์ หนังสือ แคปิตะลิสต์ ต้องถือว่ามีลักษณะเป็นทฤษฎีมากๆ แล้ว หรือคุณประเสริฐ ทรัพย์สุนทร เมื่อเข้าพรรคไปก็เขียนงานอย่างชีวทรรศน์ ปรากฏว่าคนอ่านชอบเขามาก แต่พอคุณมาอ่านในปัจจุบันก็ไม่มีอะไรเลย คือเป็นการจับเอาสังคมไทยมาพูด เช่น เรื่องบุญกรรมมีหรือไม่

ดังนั้นงานที่ออกมามันเป็นเรื่องการโฆษณามากกว่า สมัยนั้นส่วนใหญ่พอเข้าพรรคแล้ว เขาก็ส่งไปเรียนเมืองจีน จึงยังไม่มีการผลิตงานออกมา ดังนั้นนี่เป็นงานที่เขียนออกมาลักษณะโฆษณาต่อภายนอก พยายามจะประยุกต์เรื่องกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินาเข้ากับเมืองไทย ก็เหมือนกับที่อ.สุภาประยุกต์เรื่องแคปิตะลิสต์ แต่ของคุณอุดมอาจจะดูฮือฮาหน่อยตรงที่มาประยุกต์ใช้กับสังคมไทย ซึ่งโยงไปสู่อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือว่า งานที่ออกมาที่เป็นซ้าย มันเป็นงานวรรณกรรม งานบทกวี เพราะมันไม่มีปัญญาชนในแง่ที่กล่าวมา เพราะฉะนั้นงานแนวคิดสังคมนิยมจึงอยู่ในระดับวรรณกรรม ระดับที่ต่อต้านความยากจน ต่อต้านการกดขี่ขูดรีด ส่วนที่เป็นตัวทฤษฎีจริงๆ น้อยมาก ดังนั้นงานอย่างไทยกึ่งเมืองขึ้นในปี 2493 หรือโฉมหน้าศักดินาไทย ในปี 2500 จึงมีลักษณะที่โดดเด่นขึ้นมา


การเมืองใหม่ : จุดที่ยกระดับทางแนวคิดและปฏิบัติการทางการเมืองของขบวนการสังคมนิยมคืออะไร


สมศักดิ์ : หลังจากกลุ่มปัญญาชนเช่นพวกนายผี, วิรัช อังคถาวร, ธง แจ่มศรี กลับมาจากเมืองจีน เดิมทีตั้งใจกลับ 2494-2495 แต่พอเกิดกรณีกบฏสันติภาพ พวกเขาก็เลยอยู่นั่นนานกว่าที่คิด แล้วพอไปอยู่ที่นั่น ก็มีการเถียงกันว่า สรุปแล้วเมืองไทยจะปฏิวัติยังไงกันแน่ ตอนนี้เริ่มมีการเสนอว่าน่าจะใช้แบบจีนลงไปชนบทประเสริฐ ทรัพย์สุนทรก็เสนอว่าเมืองไทยใช้แบบจีนไม่ได้ เขาเสนอว่าต้องเคลื่อนไหวในเมืองแบบที่เคลื่อนไหวสันติภาพ คนจำนวนหนึ่งก็ค่อนข้างเห็นด้วย เหตุผลง่ายๆ คือว่าเมืองไทยมันมองไม่ออกว่าจะเป็นชนบทล้อมเมืองได้อย่างไร แต่ในที่สุดแล้ว กลุ่มซึ่งมันก่อตัวเป็นแกนนำพคท. ที่มารู้จักในปัจจุบัน โดยเฉพาะ 3 คน คือเจริญ วรรณงาม, วิรัช อังคถาวร กับ ธง แจ่มศรี จึงรู้สึกยังคงยืนยันว่าต้องใช้แบบจีน ถ้าเป็นคุณอุดมหรือคุณประเสริฐ แกมักจะมองว่า เป็นการแทรกแซงของจีน ผมไม่แน่ใจว่ามันเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า


การเมืองใหม่ : หลังจากนั้นพคท. เริ่มมีการลงชนบทช่วงไหน


สมศักดิ์ : พวกแกนนำกลับมาจากจีนประมาณปี 2500 กลับมาด้วยความรู้สึกที่ว่าจะมาสร้างชนบทล้อมเมือง ขณะที่เมืองไทยในทศวรรษ 2490 กระแสก็ขึ้นๆ ลงๆ พอเกิดกบฏสันติภาพก็เงียบลงไปหน่อย พอ 2498 เริ่มมีประชาธิปไตยก็เริ่มมีการออกหนังสือ คือมันยังมีคนเหลืออยู่ในเมืองไทย เช่น คุณเปลื้อง วรรณศรี ซึ่งถูกจับติดคุกพอออกมาก็เขียนหนังสือต่อ คุณอุดมก็อยู่เมืองไทย พวกนี้ก็ออก ปิตุภูมิ แล้วเข้าไปสัมพันธ์กับพวกนักหนังสือพิมพ์ มีงานกรรมกรอย่างพวกคุณสิน เติมลิ่ม ก็ทำกรรมกร 16 หน่วยขึ้นมา

แล้วก็ยังมีงานนักศึกษาอีกอันหนึ่งที่สำคัญมาก รวมศูนย์อยู่ที่มธก. งานนี้ก็ตามกระแสเหมือนกันเช่น ช่วงก่อน 2495 มีการออก ธรรมจักร โดยสโมสรนักศึกษาธรรมศาสตร์ คือผมไม่ได้บอกว่าพวกนี้คืองาน พคท. ทั้งหมดนะ แต่พคท. มีบทบาทอยู่ในหมู่พวกนี้แล้ว เช่น จัดปาฐกถาภาคฤดูร้อน การเคลื่อนไหวยึดมหาวิทยาลัยคืนว่ากันว่ามาจากการหนุนของพคท. และก็กบฏสันติภาพ พอกบฏสันติภาพถูกปราบ ขบวนการพวกนี้ก็เงียบไป 2-3 ปี

พอ 2498 ก็มีการเคลื่อนไหวออกมา เช่น ขบวนการพรรคการเมืองซ้ายๆ ที่ออกมารณรงค์ในช่วงเลือกตั้ง ในหมู่นักศึกษาก็มีการพยายามจัดตั้งสหพันธ์นักศึกษา 5 สถาบัน ที่จุฬาก็เริ่มมีขึ้นเพราะว่ามีลูกหลานพคท. ส่วนหนึ่งเข้าไปเรียนอยู่ในจุฬา ส่วนหนึ่งก็มีพวกที่ตื่นตัวขึ้นมาที่คณะรัฐศาสตร์ที่จิตร ภูมิศักดิ์ พูดถึงในบันทึกของเขาที่ว่าเขาชอบไปคุยที่รัฐศาสตร์ พวกนี้ก็เป็นจัดตั้ง พคท. ทั้งนั้น คือพวกนี้ไม่ได้ไปเมืองจีนแต่ก็คือมีการเคลื่อนไหวต่อ แต่พอพวกที่ไปเมืองจีนกลับมาก่อน 2500 ไม่นาน ก็เลยมาร่วมกัน แล้วก็เกิดรัฐประหารสฤษดิ์ พอเกิดรัฐประหารก็เริ่มทยอยไปชนบทหลัง 2500 ไม่นาน พอ 2504 ก็มีการประชุมสมัชชาอย่างเป็นทางการ


การเมืองใหม่ : แล้วในยุคสฤษดิ์ จนถึงก่อน 14 ตุลา มีการเคลื่อนไหวพัฒนาขบวนการอย่างไรบ้าง


สมศักดิ์ : ช่วงนั้นก็มีการพยายามลงชนบท คราวนี้เขาเอาจริง ผู้นำทั้งหลายก็ลงด้วย ซึ่งนอกจากการปราบผมคิดว่ามันเป็นเพราะเขาเชื่อด้วย ไม่อย่างนั้นเขาก็เพียงกบดานใต้ดินไปเรื่อยๆ ก็ได้ แต่ครั้งนี้เขาเอาจริง ในแง่ที่ว่าไปตั้งเลย ไปภูพาน ไปภาคใต้ ภาคเหนือ

แต่ตอนนั้นกำลังมันก็น้อยถ้าคุณไปจัดตั้งที่ชนบท ถึงเอาจริงมันก็น้อยมาก เบ็ดเสร็จทั่วประเทศถึงพันหรือเปล่าก็ไม่รู้ คนของพรรคที่ส่งไปอาจจะไม่กี่ร้อย อย่างกรรมกรที่จัดตั้งขึ้นมาก็ส่งไปชนบท ปัญญาชนก็พยายามไป ประเด็นหนึ่งคือว่า ลำพังแค่นี้มันก็น้อย มันไม่เท่าไหร่ ผมไม่แน่ใจ คือมันไม่มีการเขียนกัน คือพรรคได้อาสาสมัครซึ่งเคยเป็นคนจีนอพยพจากนโยบายปราบปรามคอมมิวนิสต์ช่วงจอมพลป. จำนวนหนึ่งมาตั้งเป็นกองกำลังแล้วเข้ามายึดตั้งเป็นฐานที่มั่นทางภาคเหนือเลย พวกนี้คือคนที่เสกสรรค์ไปเจอ ที่บอกว่าพวกนี้พูดภาษาจีนมากกว่าพูดไทย แล้วคนพวกนี้ก็มาปลดปล่อย ทางภาคเหนือจะเป็นแบบนี้เยอะ คือเข้ามาก็ยึดหัวภูเลย แล้วประกาศให้เป็นเขตปลดปล่อย ตามหัวภูต่างๆ

ทางภาคเหนือก็มีนายผี มีคุณทรง นพคุณ ดำริห์ เรืองสุธรรม ภาคอีสานก็มีวิรัช, เจริญ, ธง แจ่มศรี, แล้วตอนหลังอุดมก็ไปร่วม ภาคกลางก็มีผิน บัวอ่อน, สัมผัส พึ่งประดิษฐ์, รวม วงศ์พันธุ์ แล้วก็ก่อรูปขึ้นเป็นขบวนการต่อสู้ด้วยอาวุธในชนบทขึ้นมาช่วงที่สฤษดิ์ขึ้นมา ส่วนในเมืองก็เหลือน้อย เมื่อคนสำคัญลงชนบทหมด ที่อยู่ในเมืองตลอดก็มีอุทัย เทียมบุญเลิศที่ทำ มหาชน หรืออย่างประเสริฐ เอี้ยวฉาย



การเมืองใหม่ : มีการพูดว่าขบวนการในช่วงนั้นค่อนข้างเป็นชาตินิยม


สมศักดิ์ : แรกทีเดียว ตอนที่ต่อสู้ด้วยอาวุธ เขาต้องการจะทำแบบเวียดนาม คือชูธงชาตินิยมอย่างรุนแรงกำลังประสบความสำเร็จ เพราะฉะนั้นทิศทางการต่อสู้ด้วยอาวุธของ พคท. จึงพยายามเชื่อมเข้ากับแนวคิดเรื่องชาตินิยม กองกำลังครั้งแรกที่เขาตั้งขึ้นมา ตั้งในนาม พลพรรคประชาชนไทยต่อต้านอเมริกา หรือ พล.ปตอ. ก็คือพยายามชูการต่อต้านอเมริกาเข้าไว้ แนวร่วมก็ตั้งชื่อ แนวร่วมรักชาติ ไม่ได้ใช้ชื่อพรรคคอมมิวนิสต์ออกมา ทำอยู่ตั้งแต่ปี 2504-06 แล้วเพลงมาร์ชพคท. ที่จิตรแต่งให้ จริงๆ ตอนแรกแต่งในนาม มาร์ชพล.ปตอ. แต่พอตอนหลังมันไม่ได้ผล เพราะเมืองไทยมันไม่ได้เหมือนเวียดนาม เขาจึงมาเปลี่ยนชื่อและประกาศตัวว่าเป็นคอมมิวนิสต์นำเมื่อปี 2511

คุณอุดมเขาพยายามอธิบายว่า ช่วงปี 2511 กระแสการปฏิวัติวัฒนธรรมในเมืองจีนมันแรง แล้วการปฏิวัติวัฒนธรรมมันชูพรรคคอมมิวนิสต์ มันก็มีผลสะเทือนจากการปฏิวัติวัฒนธรรม ต่อไปนี้พูดอะไรต้องมีลักษณะเป็นหลักการมากขึ้น ก็มีกระแสแบบจีนชัดเจน แล้วก็มีการก่อกระแสทางภาคเหนือว่า ภาคเหนือยึดฐานที่มั่นได้แล้ว สร้างฐานที่มั่นได้แล้ว ตีรัฐบาลถอยกลับไปได้ เพราะฉะนั้นภาคเหนือจึงเป็นแนวทางที่ถูกต้องของเหมา เจ๋อ ตง ความคิดของเหมาก็มาในช่วงนั้น ประมาณ 2510 กว่าๆ ก่อนหน้านั้นก็ไม่ได้มีการเน้นในเรื่องความคิดเหมา เจ๋อ ตง เพราะเมืองจีนเองก็ไม่ได้เน้นก่อนหน้านั้น

แล้วก็เกิดการทะเลาะกันใหญ่ๆ ในป่าพวกที่อยู่ภาคเหนือก็บอกว่าทางอีสานทำตั้งนาน ทำไมยังสร้างฐานที่มั่นไม่ได้ซักที แสดงว่าเป็นลัทธิแก้ ขัดแย้งถึงระดับที่ว่าจะตั้งเป็นเขตอิสระทางภาคเหนือ โดยที่ความจริงแล้วมันเป็นการฮึกเหิมที่เพ้อฝันมากเลยถ้ามองในระยะยาว เพราะจริงๆ แล้ว เขาก็ลงที่ราบไม่ได้ พอหลังจากนั้นเขาจึงรู้ตัวว่าภาคเหนือที่ว่ามันแข็ง มันแข็งแบบชนิดที่ไม่ได้เรื่อง คือมันลงข้างล่างไม่ได้ มีมวลชนเฉพาะชนชาติส่วนน้อย

ภาคอีสานก็มีการประกาศตั้งฐานที่มั่นครั้งแรกประมาณปี 12-13 คุณอุดมมาเปิดเผยทีหลังว่า ที่ต้องประกาศฐานที่มั่นเพราะโดนภาคเหนือบีบ ก็เลยมีการประกาศเขตบางส่วนของภูพานเป็นฐานที่มั่น รัฐบาลก็โจมตีมาก แต่ก็พอดีเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาขึ้นมา พอถึงช่วง 14 ตุลา 2516 จนถึงปี 2519 ผมคิดว่าความสนใจของรัฐบาลในชนบทลดฮวบลงเลย ความสนใจอยู่กับขบวนการในเมืองแทนทั้งที่ความจริงเกิดวิกฤตใหญ่ในป่าแล้ว

ขบวนการพคท. ในเมืองสร้างขึ้นมาก่อนและหลัง 14 ตุลาเล็กน้อย มันเป็นผลพวงของ 14 ตุลา จากการที่มีอยู่ไม่กี่คน พอมันเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา มันมีขบวนการใหม่เกิดขึ้นมาคือขบวนการนักศึกษา พคท. ก็ขยายเข้ามาจนสามารถยึดกุมขบวนนักศึกษาได้ เพราะฉะนั้นขบวนการนักศึกษาก็เปลี่ยนเป็นขบวนพคท.ไป เอาเข้าจริงๆ มันเหมือนกลายเป็นพรรคใหม่เลย จากช่วงประมาณ 2514-15 จนถึง 6 ตุลาคม 2519 โดยที่มีกำลังหลักอยู่ในพวกเยาวชน นักศึกษา และอดีตนักศึกษา


การเมืองใหม่ : แต่ก่อนหน้า 14 ต.ค. ก็มีสายพคท. อยู่ในน.ศ. แล้ว


สมศักดิ์ : ในหมู่นักศึกษา กรรมกรมีแล้วแต่ไม่เยอะ อย่างการเคลื่อนไหวครั้งแรกของ น.ศ. ที่สังเกตการณ์การเลือกตั้งในปี 2512 ถ้าคุณไปดูในหนังสือสังเกตการณ์เลือกตั้ง มีการเอาบทกวีเก่าๆ ซ้ายๆ มาลง เพราะว่าตัวคนทำกลุ่มสังเกตการณ์การเลือกตั้ง มันมีลูกหลานพคท. และจากพวกนี้เขาก็สามารถไปสัมพันธ์กับนักกิจกรรมที่ไม่ใช่ลูกหลานพคท. แล้วก็รับกระแสอย่างนี้ไป แล้วสายสัมพันธ์อีกอันหนึ่งที่พคท. มีอยู่ในเมืองคือพวกนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ที่เคยมีสัมพันธ์กับพรรคมาก่อน 2500

นักศึกษาที่แสวงหามากๆ อย่างพวกพระจันทร์เสี้ยว แรกๆ ก็หันไปหาทางฝรั่ง แต่พอสักพักก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะพบว่า เฮ้ย ความจริงมันก็เคยมีแนวคิดที่ไม่ใช่กระแสหลักอะไรอย่างนี้อยู่นะ ก็แวะไปคุยกับอ.สุภาอย่างนี้ คนพวกนี้พอคุยเขาก็ให้หนังสือเก่าๆ อ่าน ก็เริ่มได้รับกระแสอิทธิพลความคิดแบบนี้ แล้วบางครั้งก็ไปถึงขั้นว่าสามารถนำไปสู่สายจัดตั้งได้ มันจึงเริ่มมีการเปลี่ยนในระดับวงแคบๆ อย่างที่บอกเรื่องการไปสัมพันธ์กับงานเขียนของคนรุ่นเก่าแล้วปัญญาชนส่วนหนึ่งเริ่มรู้สึกว่าการโฆษณาชวนเชื่อเรื่องสงครามเวียดนามมันไม่ถูก เพราะมีกระแสต่อต้านสงครามเวียดนามจากต่างประเทศด้วย เริ่มมีกระแสที่บอกว่าจริงๆ แล้วอเมริกาเป็นฝ่ายผิด โฮจิมินห์ คอมมิวนิสต์ที่แท้จริงแล้วเป็นฝ่ายถูก เพราะฉะนั้นพวกนี้จึงเริ่มปฏิเสธว่าคอมมิวนิสต์เป็นปีศาจ มันก็มีกระแสอย่างนี้อยู่

ก่อน 14 ตุลา 2516 พวกนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งในหลายๆ กระแส กระแสนิยมเจ้าก็มี กระแสประชาธิปไตยตะวันตกก็มี 14 ตุลา เป็นการรวมกันของกระแสทั้งหลายเข้าด้วยกัน แต่ในที่สุดแล้วหลังจาก 14 ต.ค. ไปไม่กี่เดือน กระแสของพคท. ที่มีอยู่แล้วก็กลายเป็นกระแสหลักไป


การเมืองใหม่ : ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น คอมมิวนิสต์หรือสังคมนิยมก็ถูกทำให้เป็นปีศาจไปแล้ว


สมศักดิ์ : ใช่ แม้ในหมู่นักศึกษาเอง แนวคิดเรื่องการต่อต้านคอมมิวนิสต์หรือสังคมนิยมมันก็ยังรุนแรงนะ ไม่อย่างนั้นจะอธิบายเรื่องที่เกิดคืนวันที่ 13 ตุลาที่มีคนกล่าวหาเสกสรรค์ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ได้อย่างไร เพราะมันฝังหัวจากการโฆษณาในยุคสฤษดิ์อย่างรุนแรงมาก โดยเฉพาะอะไรที่จะกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ก็คือมันต้องเป็นคอมมิวนิสต์ แล้วอะไรที่เป็นคอมมิวนิสต์มันต้องเป็นสิ่งที่เลว ด้านหลักของนักศึกษาที่เคลื่อนไหวตอนนั้นก็ยังเป็นอย่างนี้อยู่ มันมีข้อกล่าวหาตั้งเยอะแยะทำไมไม่กล่าวหาเสกสรรค์ ซึ่งมันเกี่ยวเนื่อจากว่ามีการเคลื่อนขบวนไปหน้าสวนจิตรฯ

หลัง 14 ตุลามีแนวคิดว่า 14 ตุลาไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่เป็นโครงสร้างที่ถึงราก ปัญหาต่างๆ ยังคงอยู่ ถ้าคุณยอมรับแนวคิดอันนี้ แล้วคุณคิดว่ามันยังต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ในที่สุดแล้วคุณจะเปลี่ยนอย่างไร แนวคิดที่ว่าต้องปฏิวัติ กระแสเรื่องลัทธิมาร์กซ์ก็ขึ้นมา มีการรื้อฟื้นหนังสือฝ่ายซ้ายทั้งชุดขึ้นมาตีพิมพ์โดยเฉพาะพวกวรรณกรรมซึ่งก็มีผลเยอะนะ ที่ผมบอกว่างานฝ่ายซ้ายสมัยก่อน 2500 ส่วนใหญ่เป็นงานวรรณกรรม ซึ่งเข้าถึงคนได้เยอะ

เหตุการณ์ 14 ตุลาที่คนทั่วไปก็มองว่านี่เป็นเหตุการณ์วันมหาวิปโยค แต่พคท. เสนอว่านี่ไม่ใช่วันมหาวิปโยค มันเป็นวันมหาปิติ ถ้าคุณลองจินตนาการว่าถ้าคุณเป็นนักศึกษา คุณจะรับแบบไหน หลัง 14 ตุลาใหม่ๆ ก็มีการต่อสู้กันทางความคิดแบบนี้ ปรีดีเองก็เริ่มพิมพ์งานมากขึ้นในช่วงนั้น ในวารสารอมธ. ฉบับต่างๆ แต่ทำไมสุดท้ายกระแสแบบพคท. จึงได้รับการยอมรับ ผมคิดว่าเป็นเพราะพลังในการเสนอมันคงเส้นคงวากว่าอันอื่น การเสนอเป็นระบบกว่า แล้วก็สถานการณ์มันให้


การเมืองใหม่ : บอกได้อย่างไรว่าพคท. มีความคิดที่เป็นระบบกว่า ทั้งที่ก่อนหน้านี้บอกว่างานของพคท. มันไม่ได้มีอะไรมาก


สมศักดิ์ : ผมหมายถึงวิธีคิดเป็นระบบกว่า อธิบายสังคมว่ามันเป็นเรื่องของโครงสร้าง เป็นเรื่องของจักรวรรดินิยม ศักดินานิยม คุณจะเปลี่ยนแปลงสังคมแบบค่อยเป็นค่อยไปไม่ได้ ต้องใช้การปฏิวัติ มันฟังดูเข้าท่ากว่า เพราะฉะนั้นไม่นานคนก็เริ่มหันมายอมรับ อย่างกรณีอนุช อาภาภิรมซึ่งเข้าพคท. ไปแล้ว มีผลมากเพราะว่าในที่สุดแล้วนักศึกษารุ่น 14 ตุลาจบแล้วทั้งนั้น

ฉะนั้นขบวนการนักศึกษาที่มันอยู่ต่อมาอีก 2-3 ปี มันต้องอาศัยกำลังใหม่ที่เข้าไปในปี 2517-18 คนที่มาทีหลังพวกนี้ส่วนหนึ่งถ้าตื่นตัวมาตั้งแต่สมัย 14 ตุลา หรือสมัยเป็นนักเรียนงานของอนุชก็จะมีผลมาก กล่าวได้ว่าเพราะ พคท. ไปประสบความสำเร็จในการจัดตั้งระดับนักเรียนตั้งแต่ก่อนระดับนักศึกษา เช่น ศูนย์นักเรียน กลุ่มยุวชนสยาม แล้วพอพวกนี้เข้าไปมหาวิทยาลัย เช่นที่รามฯ พวกนี้เข้าไปยึดพรรคสัจธรรม แต่พวกที่มาจากศูนย์นักเรียน มาจากยุวชนสยาม มันมาพร้อมกับการคิด อาวุธทางความคิดทางทฤษฎี พอเข้าไปก็ไปยึดพรรคสัจธรรม แล้วก็จัดตั้งกลายเป็นขุมกำลังใหญ่ของแนวคิดแบบพคท. ขึ้นมา ในธรรมศาสตร์ก็มีคนพวกนี้เข้าไปประมาณปี 18 กลายเป็นคนเข้าไปจัดตั้ง

ที่สำคัญที่ขบวนการนักศึกษา กลายเป็นพคท. ไม่ใช่ในแง่ของจำนวนคนที่เข้าจัดตั้งนะ จำนวนคนที่เข้าจัดตั้งเยอะขึ้นใช่ แต่ที่สำคัญมันก็เป็นเรื่องพลังของแนวคิด กรณีของการรื้อฟื้นเรื่องของจิตร ภูมิศักดิ์มีผลใหญ่อันหนึ่งคือทำให้คนรู้สึกว่ามันมีทาง คนถูกดึงดูดจากตัวอย่างกรณีจิตรใช่ไหม จากงานเขียน จากบทกวี คือพอคุณยอมรับอย่างกว้างๆ เรื่องต่อสู้ด้วยอาวุธ มันก็นำไปสู่อันอื่น แล้วพอดีช่วงนั้นมันก็มีการวิวาทะทางทฤษฎีระหว่างผิน บัวอ่อน กับสายงานในพรรค วิวาทะไปแทนที่ความคิดของพรรคจะอ่อนลง มันกลับแข็งขึ้น


การเมืองใหม่ : นอกจากพคท. แล้ว ยังมีแนวคิดสังคมนิยมกลุ่มอื่นไหมในช่วงนั้น


สมศักดิ์ : อาจจะพูดได้ว่ามันมีช่วงสั้นๆ อยู่ช่วงหนึ่งที่มีพวกสังคมนิยมที่ไม่ใช่พคท. คือพวกนักศึกษาที่แสวงหา แต่พวกนี้ก็ไม่มาก คืออาจจะได้รับแนวคิดสังคมนิยมจากหนังสือตะวันตก หรือจากกระแสการเปลี่ยนแปลงในตะวันตก แต่ในที่สุดแล้วที่มาแรงจริงๆ คือสังคมนิยมก่อน 2500 ก็คือเป็นผลงานที่มีความสัมพันธ์กับพคท. ในอดีตมาก่อน เพราะฉะนั้นผมจึงบอกว่าถ้าเราจะพูดถึงประวัติสังคมนิยมในเมืองไทย มันไม่เคยมีประวัติที่แยกออกจากพคท. ได้จริงๆ

ตัวอย่างง่ายๆ กรณีคุณรวี โดมพระจันทร์ ตอนที่แกเขียนบทกวี ตื่นเถิดเสรีชน อย่ายอมก้มหน้าฝืน ดาบหอกกระบอกปืน ฤาทนคลื่นกระแสเรา อ่านแล้วมันรู้สึกปลุกเร้ามาก ตอนนั้นไม่รู้เข้าจัดตั้งแล้วหรือยัง แต่มีความสัมพันธ์แล้ว และที่สำคัญเขียนจากการอ่านบทกวียุคก่อน 2500 ที่เป็นอิทธิพลของพคท. คนอาจจะบอกว่าพคท. ไม่ได้มีส่วนต่อกรณี 14 ตุลาคม ผมถามกลับไปว่า ความคิดแบบนี้มาจากแนวคิดแบบไหน เสรีนิยม? นิยมเจ้า? อนุรักษ์นิยม? ในที่สุดแล้วความคิดแบบที่สังคมนิยมพคท. เท่านั้นที่สามารถผลิตเป็นงานศิลปะแบบนี้ได้


การเมืองใหม่ : จะเป็นการ claim เกินไปหรือเปล่า ถ้าไม่อย่างนั้นใครอ่านงานของฝ่ายซ้ายก็ได้รับอิทธิพลของพคท. หมดหรือเปล่า


สมศักดิ์ : ถ้าใช่มันเสียหายตรงไหน ผมไม่เห็นมันจะเสียหายตรงไหนเลย ถ้าถามกลับกันว่ามันใหญ่เกินไปแล้วมันเสียตรงไหน ผมมองแบบ Eric Hobsbawn เขาพูดถึงศตวรรษที่ 20 โดยให้ภาพใหญ่ว่าแนวคิดที่กดดันให้ตะวันตกหันมาใช้รัฐสวัสดิการ เพราะลึกๆ แล้วเขาคิดว่านี่จะเป็นวิธีการที่จะหลีกเลี่ยง Bolshevism ได้ Hobsbawn บอกว่าในแง่หนึ่งพูดได้ว่า Bolshevism หรือคอมมิวนิสต์มันปกป้องทุนนิยมในหลายด้าน นอกจากจะชนะนาซีแล้ว ยังปกป้องทุนนิยมในแง่ที่ว่า ก่อนหน้านั้นสังคมมันปล่อยให้เกิดการว่างงาน การกดขี่ขูดรีด จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ เขียนไว้อย่างชัดเจนเลยว่า ถ้าไม่แก้ปัญหาเรื่องพวกนี้ ทุนนิยมจะแพ้พวกสังคมนิยม ถามว่านี่เป็นผลของสังคมนิยมไหม

ผมว่าเป็น ในบริบทของไทยมันมีกระแสแบบนี้อย่างไหนบ้าง ดังนั้นมันจึงแยกไม่ออกจากพคท. ในแง่นี้ไง เพราะฉะนั้นถามว่ามันผิดไหมที่จะพูดแบบนี้ ผมว่าไม่ผิดนะ พุทธก็ไม่เสนอแนวคิดแบบนี้อยู่แล้ว เสรีนิยมก็ไม่สอนแบบนี้ มีแต่สังคมนิยมเท่านั้นที่เสนอแนวคิดแบบนี้


การเมืองใหม่ : ที่บอกว่าพอเกิด 14 ตุลา มันเหมือนมี 2 พรรคขึ้นมาโดยที่ไม่รู้ตัว หมายความว่าถ้าไม่มี 6 ตุลา พคท. จะมีการพัฒนาไปในอีกรูปแบบหนึ่งหรือเปล่า


สมศักดิ์ : ไม่ เพราะว่าในทางทฤษฎี พรรคใหม่ที่เกิดขึ้นมันก็เชื่อว่าในป่าถูก แต่ที่ใหม่คือองค์ประกอบ เอาง่ายๆ อย่างจรัล ดิษฐาอภิชัย ในฐานะที่เป็นสมาชิกพรรค ไม่เหมือนกับเจริญ วรรณงาม จรัลเป็น พคท. จริงแต่เป็นคนที่เป็นผลิตผลของคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ แต่จรัลตอนนั้นก็คงคิดว่าในป่าเป็นฝ่ายถูก คือเขาทำในปัจจุบันเพื่อหนุนช่วยในป่า มันใหม่ในแง่ที่ว่าองค์ประกอบ มันเปลี่ยนไปคนละเรื่องเลย แต่พวกนี้ยังเชื่อว่าในป่าเป็นสุดยอดของการปฏวัติ แต่พอเข้าไปจริงแล้ว ทำไมพวกนี้จึงเป็นพวกที่ออกก่อน เพราะโดยพื้นฐาน พวกนี้เขา ไว้ต่อการที่บอกว่าเข้าไปแล้วปฏิวัติไม่ได้ ในที่สุดแล้วพวกนี้ก็เลยกลายเป็นตัวจุดชนวนไม่เห็นด้วยกับพรรค กับผู้นำเก่า

การบอกว่านี่เป็นความขัดแย้งระหว่างนักศึกษากับพคท. ผมคิดว่าอธิบายอย่างนี้ทำให้ไขว้เขว ผมมีวิธีมองที่ดีกว่าคือเป็นความขัดแย้งระหว่างคน 2 รุ่น กลุ่มหนึ่งที่โตขึ้นมาตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว กับอีกกลุ่มซึ่งก่อตัวขึ้นมาใหม่ในช่วงไม่กี่ปีของทศวรรษที่ 2510

(คำว่า "ไว้" นี้ ผมพิมพ์ตามต้นฉบับนะครับ แต่ผมคิดว่าน่าจะเป็นคำว่า "ไว" มากกว่า - GM)


การเมืองใหม่ : แล้วผลจากวิกฤตสังคมนิยมในระดับสากลมีผลอย่างไร


สมศักดิ์ : มันมีผล แต่เป็นกับคนรุ่นใหม่ มากกว่าคนรุ่นเก่า เพราะพื้นฐานมันคนละอย่าง การที่จีนเปลี่ยน เวียดนามเปลี่ยน มันมีผลต่อพวกเรามากกว่าเป็นเพราะเราเติบโตขึ้นมากับข้อมูลข่าวสาร พวกคนเก่าเขาเป็นนักปฏิวัติมาตั้งแต่ 2490 ปฏิวัติมา 20-30 ปี เรื่องพวกนี้ก็มีผลสะเทือนต่อเขานะ แต่มันคนละรุ่นแล้ว พวกเขาทั้งชีวิตเขารู้จักแต่การปฏิวัติ


การเมืองใหม่ : แล้วถ้าจะให้ประเมินค่าของพคท. ต่อการเมืองไทย


สมศักดิ์ : คล้ายกับ Eric Hobsbawn เขาพูดถึงบอลเชวิค ต่อศตวรรษที่ 20 ผมยังนึกไม่ออก ปัญหาคือการประเมินพคท. อาจจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่อย่างโดยรวมผมยังมองว่าพคท. ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ถ้ามองจากหลักการสมัยใหม่ที่ว่าพรรคการเมืองเป็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่มีเป้าหมาย มีนโยบาย ไม่มีพรรคไหนในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่เทียบกับ พคท. ได้เลยจนกระทั่งปัจจุบัน

คนชอบพูดว่า พคท. เป็นเผด็จการ ความจริงพคท. เป็นประชาธิปไตยที่สุดแล้ว อย่างเจริญ วรรณงามคุมพคท. ได้ที่ไหน คุมไม่ได้ ถ้าคุมได้มันก็ไม่แตกแบบนี้หรอก แต่ละเขตเป็นตัวของมันเอง แล้วก็มีพรรคไหนในเมืองไทยที่มีการวิวาทะกันมาขนาดนี้บ้าง พูดแบบนี้ไม่ได้เท่ากับเป็นการเชียร์ พคท. ในแง่หนึ่งการที่สังคมไทยมันล้มเหลวที่จะผลิตขบวนการทางการเมืองในลักษณะอย่างนี้ นอกจากพคท. แล้ว มันเป็นเรื่องที่น่าคิดมากว่าทำไม


การเมืองใหม่ : ช่วงเกิดวิกฤตศรัทธา ก็มีการเฟื่องฟูในการคิดค้นหาสิ่งใหม่ๆ แต่แล้วทำไมแนวคิดสังคมนิยมจังหายสาบสูญไปเลยจากสังคมไทย


สมศักดิ์ : คือการรวมกลุ่มกันมันต้องมีอุดมการณ์หรือแนวคิดที่แข็งพอ ที่คนรู้สึกว่าต้องการทำอะไรบางอย่าง ไม่ว่าคุณจะเป็นเสรีนิยม สังคมประชาธิปไตย สังคมนิยม คอมมิวนิสต์ หรืออะไรก็แล้วแต่ บทบาทของอุดมการณ์ด้านนี้จึงสำคัญ ถ้าถามผม ผมคิดว่าถึงที่สุดแล้ว สังคมไทยอนุญาตให้มีอุดมการณ์เดียว ขบวนการ NGOs เขาก็รวมอยู่ด้วยกัน แล้วก็สำเร็จในระดับหนึ่งเหมือนกัน แต่มันก็เป็นระดับแค่กลุ่มกดดันไม่ได้เป็นระดับขบวนการทางการเมืองจริงๆ

ของตะวันตก ทุกวันนี้พรรคการเมืองถูกเขาด่ากันว่าพรรคฝ่ายขวาฝ่ายซ้ายก็ขวาเหมือนกันหมด แต่ของสังคมไทยมันคนละเรื่อง ของตะวันตกอาจเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงทางสังคมหรือเป็นเพราะความพ่ายแพ้ของอุดมการณ์ก็ได้ แต่ของไทย ในทางการแล้ว มันต้องเป็นอันเดียว

อย่างพวกนักวิชาการปัจจุบัน ที่มักคิดว่าตัวเองเป็นทางเลือก ถามว่าเป็นทางเลือกในแง่ไหนบ้าง บอกว่าไม่เห็นด้วยกับระบบทุน หรือยุทธศาสตร์การพัฒนาปัจจุบัน ในที่สุดแล้วก็ไม่เห็นมีการเสนอว่าจะให้พัฒนาอย่างไร แล้ววันดีคืนดีรัฐบาลก็อาจเสนอเศรษฐกิจพอเพียง นี่จึงไม่ใช่ความแตกต่างกันจริงๆ หรอก ในที่สุดแล้วที่ใหญ่ที่สุดก็คือเรื่องการเมือง ก็คือว่าเราต้องการการเมืองในระบอบการปกครองแบบไหน


การเมืองใหม่ : แล้ววิกฤตสังคมนิยมไทยมันคลี่คลายลงยังไง


สมศักดิ์ : คือมันไม่มีทางออก เพราะว่ามันโยงกับระดับสากลด้วยเรื่องความล้มเหลวด้านสังคมนิยม วิกฤตสังคมนิยมของไทยก็มาพร้อมกับวิกฤตของจีน เวียดนาม จีนเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ หันไปใช้แนวทางแบบทุนนิยม เวียดนามก็ล้มเหลว อย่างทุกวันนี้ใครจะนึกเอาตัวอย่างอื่นนอกจากทุนนิยมบ้าง มันไม่มีทางเลือกจริงๆ มันเป็นความล้มเหลวครั้งใหญ่

บางคนก็บอกมันเป็นเรื่อง end of history จริงๆ ที่ Fukuyama บอกว่า end of history เขาไม่ได้หมายถึงไม่มีเหตุการณ์นะ แต่ไม่มีในแง่ที่ว่าไม่มีเหตุการณ์หรือขบวนการที่มันต่างจากนี้จริงๆ ซึ่งผมเห็นว่าเป็นแง่มุมที่ถูกอยู่เท่าที่เห็นในปัจจุบัน คือตราบใดที่มันไม่มีอะไร บางอย่างที่เป็นทางเลือกจริงๆ ประวัติศาสตร์ก็จะเป็นเพียงเหตุการณ์ที่มันผ่านไปเรื่อยๆ


การเมืองใหม่ : หมายความว่าขบวนการต่อต้านทุนนิยม ต่อต้านโลกาภิวัตน์ที่เกิดขึ้นในระดับสากลตอนนี้ก็ไม่ใช่ทางเลือก


สมศักดิ์ : ประเด็นมันไม่ได้อยู่ที่ต่อต้าน คำถามอยู่ที่ว่าเสนออะไร แม้แต่นักวิชาการไทย เวลาคุณฟังพวกเสน่ห์ หรือนิธิพูด คุณต้องถามเขาว่าเขาเสนออะไร เขาก็บอกว่าเขามีข้อเสนอนะแต่มันเป็นข้อเสนอที่เป็นนามธรรมมาก อย่างผมถามง่ายๆ เมืองไทยจะให้มี “การลงทุน” หรือเปล่า คุณจะหยุดไหมการลงทุน “ตลาดหุ้น” จะเอาหรือเปล่า

Perry Anderson พูดว่า ตอนนี้เป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์มนุษย์ในรอบ 500 ปี ที่ไม่มีทางเลือกจริงๆ แล้วตรงนี้ผมเห็นด้วยนะ ครั้งสุดท้ายคือช่วงที่ก่อนการปฏิรูปศาสนา ย้อนกลับมาเมืองไทย นักวิชาการชอบพูดว่าโครงสร้างมันต้องเปลี่ยน ระบบวิธีคิดมันต้องเปลี่ยน ลองถามว่าอาจารย์จะเอาตลาดหุ้นหรือเปล่า ซึ่งเขาก็จะตอบทำนองว่ามันไม่ใช่ปัญหานะ เราต้องมาพูดเรื่องนั้นเรื่องนี้ก่อน มันง่ายที่คุณจะพูดแบบเป็นนามธรรมอย่างนี้ แต่ในโลกที่เป็นจริงถ้าคุณพูดแบบนี้ก็มีค่าเท่ากันศูนย์


การเมืองใหม่ : ขบวนการฝ่ายซ้ายที่มีอยู่ในปัจจุบัน เต็มที่มันก็ทำได้แค่การอธิบาย


สมศักดิ์ : จริงๆ แม้แต่การอธิบายก็ยังใช้ไม่ได้เท่าไหร่ เพราะคำอธิบายมันก็แยกไม่ออกจากกัน อย่างที่ผมพูดเรื่องระบบความคิดของ Marx มันตั้งอยู่บนความคิดที่ว่าการกำหนดมูลค่าโดยแรงงาน labour theory of value แนวคิดเรื่องการขูดรีดทั้งหลายก็เริ่มมาจากอันนี้ ทีนี้ตัวทฤษฎีมันมีปัญหาที่แก้ไม่ตกภายใน ถ้าตราบใดที่มันแก้ปัญหาทางทฤษฎีไม่ตก ความคิดอื่นทั้งระบบมันก็อธิบายไม่ได้ จึงได้แต่ประท้วงหรือคัดค้าน
คือระบบทุกวันนี้มันไม่ดีจริง มีการขูดรีดจริง ถ้าคุณพูดถึงสังคมนิยมในแง่ที่ว่า มันคือความพยายามหรือจิตใจในการแสวงหาทางออกทางอื่นที่ไม่ใช่ทางนี้ มันก็ได้ แต่มากกว่านั้นผมยังไม่เห็นว่าใครได้เสนออะไรที่มันชัดเจนลงไป

แต่สังคมนิยมในแง่การพยายามแสงหาทางออกทางอื่น ก็ไม่ใช่ไม่มีความหมายซะทีเดียว อย่างที่ผมพูดถึง Perry Anderson เขาก็บอกว่าเขายังเป็นนักสังคมนิยม แต่เป็นนักสังคมนิยมที่ในแง่ที่คัดค้าน เปิดโปงอธิบายว่าระบบปัจจุบันมันไม่ดียังไง แล้วก็พยายามแสวงหาข้อเสนอ แต่เขาก็เสนอว่าเราต้องยอมรับความจริงว่า ทุกวันนี้มันไม่มีขบวนการองค์กรที่เป็นทางเลือกจริงๆ ซึ่งก็มีคนออกมาค้านเยอะนะ พวกที่ออกไปคัดค้านที่ซีแอตเติ้ล ก็บอกว่าทำไมพูดอย่างนี้ทั้งที่มันมี การเคลื่อนไหวใหญ่โต ก็วิวาทะกันได้


การเมืองใหม่ : ถ้าจะมองย้อนกลับไปขบวนสังคมนิยมไทยทั้งหมด มันได้สร้างผลสะเทือนอะไรให้กับสังคมไทยบ้าง ทั้งในด้าน สังคมการเมืองวัฒนธรรม


สมศักดิ์ : คงเป็นคำตอบที่มีลักษณะชั่วคราว อันหนึ่งที่เห็นว่ามนทำให้มีวาทกรรม อย่าง ภาคประชาชน หรืออะไรที่เป็นการวิพากษ์อย่างเป็นโครงสร้าง มีคนถ่ายเอกสารบทความของนิธิเรื่องนักศึกษาขายตัว นิธิพูดถึง โครงสร้าง ในย่อหน้าเดียวที่เขายกมาประมาณ 4 ครั้ง ผมก็มานั่งนึกว่าต้องเป็นโครงสร้างแบบไหนนักศึกษาถึงจะไม่ขายตัว คือวาทกรรมแบบนี้มันคงอยู่ เพราะมันมีผลไม่น้อยเลยจากขบวนการฝ่ายซ้ายสมัยก่อน idea ที่ว่าอะไรก็เป็นเรื่องโครงสร้าง หรือปัญหาทุกอย่างมันโยงเข้ากับเรื่องโครงสร้าง ขบวนการสังคมนิยมก็มีผลต่อปัจจุบันในแง่นี้

แต่ผมเริ่มไม่แน่ใจนะว่า มันเป็นผลบวกหรือผลลบ อย่างปัจจุบันที่มีการพูดถึงการเมืองภาคประชาชนทั้งหลาย มันเป็นการปิดบังการคิดถึงปัญหาอย่างจริงจังหรือเปล่า ผมไม่แน่ใจ ผมรู้สึกว่าหลังๆ NGOs กลายเป็นอาชีพอย่างหนึ่ง แต่ภาพของ NGOs ก็ยังเป็นภาพของการเคลื่อนไหวประชาชน การที่ยังคงรักษาวาทกรรมแบบซ้ายไว้ มันมีผลดีจริงๆ หรือเปล่า หรือมันทำให้คนไม่พร้อมที่จะเผชิญหน้ากับความเป็นจริง หรือวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างจริงๆ

อย่างปัจจุบันเวลาคุณพูดว่ามันมีการเมืองภาคประชาชน ก็คือคุณหลอกตัวเองว่า ประชาชนออกมาเคลื่อนไหวจริงๆ สำหรับผมสิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่สำหรับเมืองไทย คือต้องพยายามถามว่า ทำไมประชาชนไทยมันไม่มีความสามารถด้วยตัวเองเลยที่พูดด้วยตัวเอง ต้องให้ปัญญาชนมาพูดแทนว่านี่คือภูมิปัญญาชาวบ้าน
ประชาชนจริงๆ มีอยู่แหละ อันนี้ผมรู้ แต่มันเกือบจะอยู่ด้วยตัวเองไม่ได้ถ้าไม่มีพวก NGOs ไปช่วย ทำไมมันถึงไม่มี ตะวันตกมันก็ยังมีอย่างขบวนการสหภาพ

ถ้าคุณเลิกหลอกตัวเอง จะเห็นว่าการเมืองภาคประชาชนแท้ที่จริงก็คือการเคลื่อนไหวของระดับพวกมีการศึกษาจำนวนหนึ่งที่อาศัยการสนับสนุนจากต่างประเทศ คุณก็ต้องหันมาตั้งคำถามอย่างจริงจังว่าที่ประชาชนไทยไม่ขึ้นมาแสดงเสียงของตัวเองเป็นเพราะอะไร


The End


บากบั่นพิมพ์โดย : GM-Kasmos


ที่มา : ฟ้าเดียวกัน (บอร์ดเก่า) : สังคมไทยอนุญาตให้มีอุดมการณ์เดียว

ไม่มีความคิดเห็น: