บทคัดย่อ
“กบฎไพร่” ดูจะเป็นคำที่ติดปากและใช้กันอย่างกว้างขวางในกลุ่มนักประวัติศาสตร์ไทยปัจจับัน คำนี้ถูกนำมาใช้อธิบายกบฎต่าง ๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะกบฎที่เกิดขึ้นในรัชกาลในสมัยอยุธยา พระมหาธรรมราชาและพระเพทราชา บทความนี้มุ่งที่จะศึกษากบฎในสมัยอยุธยาที่ถูกขนานนามโดยนักวิชาการปัจจุบันว่าเป็น “กบฎไพร่” คือ กบฎญาณพิเชียร กบฎธรรมเถียรและกบฎบุญกว้าง ว่าแท้ที่จริงแล้วกบฎเหล่านั้นยังมีทางเลือกที่จะเป็นอื่น นอกเหนือไปจากการที่จำต้องเป็น “กบฎไพร่” ได้หรือไม่?
ความนำ
ลักษณะสำคัญประการหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองสมัยอยุธยาคือ การแย่งชิงอำนาจทางการเมืองกันภายในกลุ่มผู้นำอยุธยา อันได้แก่พระญาติพระวงศ์และขุนนางผู้ใหญ่ จุดมุ่งหมายหลักของผู้ประสงค์จะแย่งชิงอำนาจอยู่ที่การเลื่อนฐานะของตนเองขึ้นมาเป็นผู้นำสูงสุดเหนือพระนครศรีอยุธยาซึ่งเป็นศูนย์กลางอำนาจทั้งในการเมืองและเศรษฐกิจของเมืองในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างทั้งหมด ( ๑ )
นอกจากลักษณะข้างต้นดังได้กล่าวมา ลักษณะอีกประการหนึ่งที่ปรากฎอยู่สม่ำเสมอคือความพยายามของผู้นำเมืองสำคัญ ๆ ที่มักแข็งข้อต่อส่วนกลาง โดยมีจุดมุ่งหมายหลักที่จะเอาเมืองที่ตนครองอยู่เป็นฐานกำลังในการแย่งชิงอำนาจจากกษัตริย์ที่ส่วนกลางในภายหลัง หรือมิฉะนั้นก็มีความต้องการเพียงจะแข็งข้อเพื่อไม่ให้ส่วนกลางขยายอำนาจเข้ามาตักตวงผลประโยชน์ที่ตนจะพึงหาได้ ลักษณะเช่นนี้มักปรากฎในกลุ่มเมืองที่เป็นเมืองท่าค้าขายกับต่างประเทศ เช่นเมืองนครศรีธรรมราช และตะนาวศรี ( ๒ )
ลักษณะสำคัญทางการเมืองทั้งสองประการที่ได้กล่าวนำมาข้างต้นนั้นเป็นลักษณะที่ปรากฎเด่นชัดทั้งในเอกสารประเภทพงศาวดารและจดหมายเหตุชาวต่างประเทศทำให้ได้ข้อยุติในชั้นต้นว่ากลุ่มผู้แย่งชิงอำนาจทางการเมืองหรือแสดงออกซึ่งการแข็งข้อทางการเมืองจะเป็นพวกพระญาติพระวงศ์และขุนนางผู้ใหญ่ทั้งส่วนกลางและระดับท้องถิ่นเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ดีการขยายตัวในการมองประวัติศาสตร์อยุธยาจากประวัติศาสตร์ผู้นำ (Great Man Theory) มาเป็นประวัติศาสตร์สังคม โดยเน้นบทบาทของไพร่ซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ทำให้ขอบเขตการศึกษา และการตีความประวัติศาสตร์การเมืองสมัยอยุธยาได้ขยายตัวขึ้น โดยเฉพาะการพยายามที่จะยืนยันถึงบทบาทของไพร่ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการแย่งชิงอำนาจ หรือแข็งข้อต่อกษัตริย์ที่ส่วนกลาง ( ๓ ) กบฎที่ได้รับความสนใจและถูกขนานนามว่า “กบฎไพร่” บ้างหรือ “กบฎชาวนา” ( ๔ ) ได้แก่ กบฎญาณพิเชียร (๒๑๒๔) กบฎธรรมเถียร (๒๒๓๗) และ กบฎบุญกว้าง (๒๒๔๑) อาจเป็นความจำกัดตัวของเอกสารสมัยอยุธยา ทำให้ภาพของกบฎทั้งสามนั้นถูกอธิบายภายใต้กรอบ ๒ กรอบ คือ
๑) กรอบอันเกิดจากการศึกษากบฎที่เกิดขึ้นในเขตภาคอีสานหรือท้องถิ่นอื่นในสมัยรัตนโกสินทร์ ( ๕ ) ซี่งข้อมูลมีอยู่อย่างกว้างขวางและละเอียดกว่ากบฎในสมัยอยุธยามาก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดประการหนึ่งได้แก่การนำคติความคิดเรื่องพระศรีอาริย์มาเป็นคำอธิบายหลักของกบฎในสมัยอยุธยา ทั้ง ๆ ที่เอกสารเท่าที่ปรากฎไม่ได้ระบุถึงความผูกพันระหว่างคติพระศรีอาริย์กับกบฎทั้งสามครั้ง อย่างมากที่สุดเอกสารจะกล่าวแต่เพียงว่าผู้นำกบฎบางคนแสดงตนเป็นผู้มีบุญ ( ๖ ) ซึ่งก็ไม่จำเป็นว่าการอ้างตนเป็นผู้มีบุญจะต้องผูกพันกับคติความเชื่อเรื่องโลกพระศรีอาริย์เสมอไป( ๗ )
๒)กรอบอันเกิดจากความพยายามใช้ภาพเหตุการณ์ในสมัยรัตนโกสินทร์อธิบายเหตุการณ์สมัยอยุธยาส่งผลให้การมองกบฎทั้งสามครั้งที่เกิดขึ้นเป็นกบฎประเภทเดียวกันทั้งสิ้นคือมีโครงสร้างและความเคลื่อนไหว (movements) เช่นเดียวกันหมด กบฎทั้งสามครั้งจึงไม่มีทางเลือกที่จะเป็นอื่น นอกไปจากจะต้องเป็น “กบฎไพร่” ซึ่งเป็นกบฎที่มีปัจจัยมาจากปัญหาความอ่อนแอทางการเมืองที่เป็นส่วนกลางปัญหาเศรษฐกิจสังคมอันเกิดจากภาวะสงคราม ข้าวยากหมากแพง ตลอดไปจนถึงความทุกข์ยากของไพร่ภายใต้ระบบศักดินาเป็นสำคัญ ( ๘ )
ข้อยุติใหม่ที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในวงการประวัติศาสตร์ปัจจับันก็คือ ในสมัยอยุธยา ไพร่ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ ได้รวมตัวกันขึ้นเพื่อต่อต้านอำนาจของกษัตริย์ที่ส่วนกลางและต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสภาพความเป็นอยู่ที่ดีกว่า ดังจะเห็นได้จากกบฎญาณพิเชียร กบฎธรรมเถียร และกบฎบุญกว้าง
กบฎทั้งสามครั้งที่เกิดขึ้นในสมัยอยุธยานั้น หากพิจารณาโดยผิวเผินแล้ว ก็ย่อมทำให้เกิดความเข้าใจว่า เป็นกบฎที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน เช่นมีผู้นำที่เป็นชาวบ้านที่เคยบวชเรียนมาก่อนและได้ใช้ความรู้ในทางพุทธและไสยศาสตร์มาเป็นเครื่องมือในการรวบรวมผู้คนเพื่อก่อการกบฎ แต่เมื่อศึกษาให้ลึกลงไปแล้วจะเห็นว่ากบฎทั้งสามครั้งมีลักษณะเฉพาะของตัวเองที่ไม่ซ้ำซ้อนกันอยู่หลายประการเช่นลักษณะเฉพาะตัวของผู้นำการกบฎและผู้เข้าร่วมในการกบฎทั้งนี้กินความถึงการดำเนินงานและความเคลื่อนไหวด้วย เพื่อเป็นการสะดวกในการศึกษาจึงจะขอแยกวิเคราะห์กบฎทั้งสามครั้งตามลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
กบฎญาณพิเชียร
กบฎครั้งนี้พงศาวดารฉบับต่าง ๆ ระบุความไว้ใกล้เคียงกัน คือในพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ กล่าวว่า
“ศักราช ๙๔๓ (พ.ศ. ๒๑๒๔) ญาณประเชียรเรียนศาสตราคมและคิดเป็นขบถ คนทั้งปวงสมัครเข้าด้วยมาก และยกมาจากเมืองลพบุรี” ( ๙ )
ส่วนพงศาวดารฉบับอื่น ๆ ที่เขียนขึ้นในภายหลังให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่าญาณประเชียร หรือญาณพิเชียรนั้น สำแดงคุณโกหกแก่ชาวชนบท และได้ช่องสุมหาพวกได้เป็นจำนวนมาก
แรกทีเดียวญาณพิเชียรได้ชุมนุมกำลังอยู่ที่ตำบลบางยี่ล้น เมื่อทางเมืองหลวงส่งเจ้าพระยาจักรีออกไปปราบญาณพิเชียรก็ได้พาสมัครพรรคพวกยกลงมาตึถึงที่ตั้งทัพของเจ้าพระยาจักรีที่ตำบลบ้านมหาดไทย ชาวมหาดไทยซึ่งยืนหน้าช้างเจ้าพระยาจักรีก็ได้หันไปเป็นพวกญาณพิเชียรกันสิ้น
ผลของการรบปรากฎว่าเจ้าพระยาจักรีและนายทหารหลายคนถูกทหารฝ่ายญาณพิเชียรสังหารในที่รบ หลังจากนั้นทัพของญาณพิเชียรซึ่งมีชายฉกรรจ์ร่วมทัพถึง ๓,๐๐๐ คน ได้ยกทัพจะไปชิงเมืองลพบุรี แต่ครั้นไปถึงญาณพิเชียรได้ถูกชาวอมรวดี ( ชาวตะวันตก ) ( ๑๐ ) ใช้อาวุธปืนลอบยิงถึงแก่ชีวิตขณะยืนช้างอยู่ ณ ตำบลหัวตรี เป็นเหตุให้พรรคพวกของญาณพิเชียรถึงกับแตกพ่ายไป
เมื่อพิจารณาให้ดีแล้วจะเห็นว่ากบฎครั้งนี้เป็นกบฎใหญ่ และเข้มแข็งเกินกว่าจะเป็นกบฎที่อาศัยกองกำลังของพวกชาวนาที่ไร้ระเบียบเป็นสำคัญลักษณะเด่นประการแรกของกบฎครั้งนี้คือการเตรียมงาน และวางแผนทางยุทธศาสตร์อย่างมีขั้นตอน เห็นได้จากชัยชนะที่พวกกบฎมีต่อกองทัพของเจ้าพระยาจักรีซึ่งเป็นกองทัพใหญ่และเข้มแข็ง จากนั้นพวกกบฎยังมีแผนจะยึดเมืองลพบุรีซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญ และเป็นฐานกำลังของอยุธยา แทนที่จะยกเลยลงมาตีอยุธยาอย่างไร้ระเบียบดังกบฎที่เกิดขึ้นในสมัยหลัง ตัวผู้นำกบฎคือญาณพิเชียรเองก็ไม่ควรจะเป็นเพียงชาวชนบทธรรมดาที่เคยผ่านการบวชเรียนมาเท่านั้น จากข้อมูลที่ปรากฎในพงศาวดาร ญาณพิเชียรน่าจะเคยเป็นบุคคลสำคัญในวงราชการคนหนึ่ง เอกสารส่วนใหญ่เรียกญาณพิเชียรว่า “ขุนโกหก” และความในพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์เรียกว่า “พระยาพิเชียร” คำว่า “ขุน” หรือ “พระยา” สะท้อนให้เห็นว่า ญาณพิเชียรนั้นมี “ศักดิ์ศรี” เหนือชาวบ้านหรือสามัญชนธรรมดา ( ๑๑ )
เมื่อหันมาพิจารณาในด้านกองกำลังของญาณพิเชียรจะเห็นว่าเป็นกองกำลังที่เข้มแข็งประกอบด้วยทหารชำนาญศึก เจ้าพระยาจักรีนั้นได้สิ้นชีวิตลงด้วยฝีมือของทหารญาณพิเชียรคนหนึ่งซึ่งมียศระดับพันชื่อพันไชยทูตซึ่งได้ปีนขึ้นทางท้ายช้างของเจ้าพระยาจักรีและสังหารเจ้าพระยาจักรีลงในที่รบ ( ๑๒ )
หลักฐานได้ยืนยันเพิ่มเติมให้เห็นว่ากองทัพของญาณพิเชียรนั้นควรเป็นกองทัพทหารมากกว่าจะเป็นทัพชาวนาเพราะหลังจากได้ชัยชนะแล้ว ญาณพิเชียรได้ปูนบำเหน็จให้นายทหารสองคนคือให้พันไชยทูตเป็นพระยาจักรีและหมื่นศรียี่ล้นเป็นพระยาเมืองบุคคลทั้งสองนี้ อาจเป็นนายทัพคนสำคัญของญาณพิเชียรและเคยรับราชการมาก่อน
ด้วยเหตุที่กองกำลังของญาณพิเชียรมีเป็นจำนวนมากและเป็นกองกำลังที่เข้มแข็งชำนาญศึก มีการวางแผนขั้นตอนการรบอย่างเป็นระเบียบทำให้ฝ่ายตรงข้ามจำเป็นต้องพึ่งกองกำลังต่างชาติและอาวุธที่ทันสมัยกว่าในการปราบปราม ฉะนั้นจึงยากที่จะเชื่อว่ากบฎครั้งนี้เป็นเพียงกบฎภายใต้การนำของชาวบ้านธรรมดาเท่านั้น
สาเหตุของกบฎครั้งนี้ไม่ควรจะสืบเนื่องมาจากปัญหาทางธรรมชาติที่กระทบกระเทือนต่อการปลูกข้าวดังที่เข้าใจกัน (๑๓) เพราะไม่มีหลักฐานปรากฎว่าในปีที่เกิดกบฎ ( ๒๑๒๔ ) หรือปีก่อนหน้านั้นได้เกิดภาวะข้าวยากหมากแพงขึ้น ปัญหาเรื่อง “น้ำน้อย น้ำมาก” จะจำกัดอยู่ระหว่างปีพ.ศ. ๒๑๑๓ - ๒๑๑๘ ซึ่งก็ไม่จำเป็นอีกว่าระหว่างปีเหล่านั้น อยุธยาจะถึงกับประสบปัญหาข้าวยากหมากแพงเช่นในรัชกาลพระบรมไตรโลกนารถในปีพ.ศ. ๒๐๐๐ และรัชกาลพระรามาธิบดีที่ ๒ ในปีพ.ศ. ๒๐๖๙ ซึ่งหลักฐานระบุอย่างแน่ชัดถึงราคาข้าวที่สูงขึ้น ( ๑๔ )
สรุปได้ว่าปัญหาด้านการเกษตรไม่ควรจะเป็นปัญหาหลักที่ผลักดันให้เกิดกบฎในครั้งนี้
ดังได้เสนอไว้ในตอนต้นแล้วว่ากบฎญาณพิเชียรเป็นกบฎของขุนนางมากกว่ากบฎชาวนา ดังนั้นสาเหตุของการกบฎครั้งนี้ควรสืบเนื่องมาจากปัญหาทางการเมืองเป็นหลัก อย่างไรก็ดีสาเหตุทางการเมืองที่เกี่ยวเนื่องกับกบฎครั้งนี้มักจะถูกเน้น หรือถูกอธิบายในลักษณะที่เป็นผลสืบเนื่องจากผลของสงครามระหว่างอยุธยากับพม่า ในปีพ.ศ. ๒๑๑๒ เป็นหลัก ซึ่งอย่างไรเสียก็เป็นที่แน่นอนว่า ผลของสงครามย่อมกระทบต่อสาเหตุของกบฎครั้งนี้บ้าง เพราะสงครามครั้งนั้นเป็นสงครามใหญ่ที่ครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง แต่การอธิบายซึ่งสาเหตุอันนำมาซึ่งกบฎครั้งนี้ก็สมควรพิจารณาถึงปัจจัยภายในเป็นหลักด้วย
ก่อนที่จะเกิดสงครามระหว่างไทยกับพม่าขึ้นในรัชกาลของพระมหาจักรพรรดินั้นการเมืองภายในของอยุธยาไม่ได้สงบราบรื่นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มพระญาติพระวงศ์และขุนนางมีปรากฎอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะระหว่างผู้นำในกลุ่มราชวงศ์สุพรรณบุรีกับพระมหาธรรมราชา ราชวงศ์พระร่วงถึงแม้ในระยะแรกพระมหาธรรมราชาจะจงรักภักดีต่อพระมหาจักรพรรดิแต่ความจงรักภักดีนั้นก็ไม่ได้ขยายวงหรือเผื่อแผ่ไปถึงกลุ่มพระญาติพระวงศ์หรือโอรสของพระมหาจักรพรรดิ์ ( ๑๕ ) โดยส่วนตัวแล้วพระมหาธรรมราชานั้นเป็นขุนนางระดับสูงที่มีฐานกำลังทางเหนือสนับสนุนอยู่ ดังเห็นได้จากพระมหาธรรมราชาครั้งยังเป็นขุนพิเรนทรเทพสามารถชักจูงให้พระยาพิชัยและพระยาสวรรคโลกเข้าร่วมในการเล่นโค่นล้มอำนาจขุนวรวงศาในปีพ.ศ. ๒๐๙๑ ( ๑๖ )
อย่างไรก็ดีฐานอำนาจและกำลังคนของราชวงศ์สุพรรณบุรีก็นับว่าเข้มแข็ง และเป็นที่ยอมรับของกษัตริย์ในแว่นแคว้นใกล้เคียง ตัวอย่างเห็นได้จากการที่สมเด็จพระมหินทราธิราชสามารถรวบรวมกองทัพพร้อมกับชักจูงให้พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต ยกทัพเข้าตีพิษณุโลกในปีพ.ศ. ๒๑๐๙
ในประเด็นที่เกี่ยวกับการขึ้นครองราชย์ของพระมหาธรรมราชานั้น ส่วนหนึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นการสนับสนุนของพม่า อย่างไรก็ดีพระมหาธรรมราชาจำเป็นต้องสร้างฐานอำนาจของตนให้มั่นคงเช่นกันเพราะถึงแม้ราชวงศ์สุพรรณบุรี และฐานอำนาจของราชวงศ์นี้จะได้ถูกทำลายลงไปแล้วก็ไม่ได้หมายความว่า พระมหาธรรมราชาซึ่งฐานอำนาจตั้งอยู่ทางเหนือจะได้รับการสนับสนุนจากขุนนางส่วนกลางอันที่จริงความสำคัญของสงครามเสียกรุงครั้งแรกในปีพ.ศ. ๒๑๑๒ นั้นอยู่ที่ราชวงศ์สุพรรณบุรีและสถาบันขุนนางที่เป็นกลไกของราชวงศ์ซึ่งสถาปนาอำนาจเหนือลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างมากว่า ๒๐๐ปีได้ถูกล้มล้างลงโดยกำลังของต่างชาติ ซึ่งให้การสนับสนุนพระมหาธรรมราชา ด้วยเหตุนี้การขึ้นครองราชย์ของพระมหาธรรมราชาจึงล่อแหลมต่อการถูกต่อต้านจากกลุ่มอำนาจเก่าที่ยังคงตกค้างอยู่
และเนื่องจากฐานอำนาจของพระมหาธรรมราชานั้นตั้งอยู่ทางเหนือเป็นหลัก ฉะนั้น พระมหาธรรมราชาจึงจำเป็นต้องสืบทอดปฎิบัติการล้มล้างสถาบันขุนนางเก่าต่อไป โดยการแต่งตั้งคนของตนขึ้นเป็นขุนนางตำแหน่งสำคัญ ๆ ทั้งในส่วนกลาง และส่วนท้องถิ่น เช่น
“ตรัสเอาพระสุนทรสงครามเป็นพระยาธรรมาธิบดีตรัสเอาพระยาเลืองเป็นพระยาจักรี ตรัสเอาขุนหลวงเสนาเป็นพระยาเสนาบดีศรีสมุหพระกลาโหม ตรัสเอาพระศรีเสาวราชเป็นพระยาเดโช ตรัสเอาพระจันทบูรเป็นพระยาท้ายน้ำ ตรัสให้พระศรีอัครราชคงที่เป็นพระคลัง ตรัสเอาขุนจันทรเป็นพระยาพลเทพ แล้วก็ตั้งพระหัวเมืองมนตรีมุขทหารพลเรือนทั้งปวงทุกกระทรวงการ…แล้วก็ตั้งท้าวพระยาสามนตราชและพระหัวเมืองทั้งหลาย”
และเนื่องจากฐานอำนาจของพระมหาธรรมราชานั้นตั้งอยู่ทางเหนือเป็นหลัก ฉะนั้น พระมหาธรรมราชาจึงจำเป็นต้องสืบทอดปฎิบัติการล้มล้างสถาบันขุนนางเก่าต่อไป โดยการแต่งตั้งคนของตนขึ้นเป็นขุนนางตำแหน่งสำคัญ ๆ ทั้งในส่วนกลาง และส่วนท้องถิ่น เช่น
“ตรัสเอาพระสุนทรสงครามเป็นพระยาธรรมาธิบดีตรัสเอาพระยาเลืองเป็นพระยาจักรี ตรัสเอาขุนหลวงเสนาเป็นพระยาเสนาบดีศรีสมุหพระกลาโหม ตรัสเอาพระศรีเสาวราชเป็นพระยาเดโช ตรัสเอาพระจันทบูรเป็นพระยาท้ายน้ำ ตรัสให้พระศรีอัครราชคงที่เป็นพระคลัง ตรัสเอาขุนจันทรเป็นพระยาพลเทพ แล้วก็ตั้งพระหัวเมืองมนตรีมุขทหารพลเรือนทั้งปวงทุกกระทรวงการ…แล้วก็ตั้งท้าวพระยาสามนตราชและพระหัวเมืองทั้งหลาย”
การแต่งตั้งขุนนางใหม่จำนวนมากเช่นนี้ก็ย่อมทำให้เกิดความไม่พอใจขึ้นกับขุนนางที่ถูกทอนอำนาจ หรือปลดออก ญาณพิเชียรอาจเป็นหนึ่งในจำนวนขุนนางเก่าที่อาจถูกปลดออกหรือไม่ได้รับการแต่งตั้งในครั้งนี้ ด้วยความเกรงราชภัยทำให้ญาณพิเชียรหันเข้าพึ่งพระพุทธศาสนาโดยบวชเป็นพระจนได้ฉายา “ญาณ” นำหน้าชื่อ ต่อมาภายหลังจึงหันมารวบรวมสมัครพรรคพวกทำการกบฎ
จากหลักฐานเท่าที่ปรากฎในพงศาวดาร พอจะช่วยในการอนุมาณว่าญาณพิเชียรน่าจะเป็นขุนนางที่สำคัญคนหนึ่งในเขตลพบุรี และบริเวณใกล้เคียงซึ่งเป็นเขตที่ญาณพิเชียรใช้สะสมผู้คน การที่ทหารชาวตำบลบ้านมหาดไทยซึ่งยืนข้างหน้าช้างเจ้าพระยาจักรีเปลี่ยนใจเข้ากับพวกญาณพิเชียร ย่อมแสดงให้เห็นว่าญาณพิเชียรเคยเป็นขุนนางที่มีบารมีในเขตนั้นมาก่อน และการที่ญาณพิเชียรกำหนดแผนเข้ายึดลพบุรีอาจเป็นได้ว่า ลพบุรีเคยเป็นฐานกำลังคนของญาณพิเชียรมาก่อนเช่นกันญาณพิเชียรจึงต้องการยึดครองลพบุรีเพื่อรวบรวมสมัครพรรคพวกให้มากขึ้นก่อนจะเข้าตีกรุงศรีอยุธยา
สงครามระหว่างไทยกับพม่าตามด้วยสงครามระหว่างไทยกับเขมรในปีพ.ศ.๒๑๑๓, ๒๑๑๘ และ ๒๑๒๑ ซึ่งฝ่ายอยุธยาตกอยู่ในฐานะฝ่ายรับและเสียเปรียบได้บั่นทอนความเข้มแข็งและบารมีของกรุงศรีอยุธยาในฐานะที่เป็นศูนย์กลางของเมืองในลุ่มน้ำเจ้าพระยา และราชวงศ์พระร่วงของพระมหาธรรมราชาลงอย่างมาก ขณะเดียวกันก็เป็นแรงผลักดันให้ขุนนางที่เสียอำนาจในระดับท้องถิ่นสามารถกระด้างกระเดื่องและก่อการกบฎขึ้น ประกอบกับกำลังคนของอยุธยาขณะนั้นเบาบางมากเนื่องจากได้เสียชีวิตลงในสงคราม และยังถูกพม่าและเขมรกวาดต้อนไปเป็นเชลย เป็นเหตุให้ญาณพิเชียรขุนนางเก่าสามารถจะแสดงตนแข็งข้อต่อส่วนกลางอย่างเปิดเผย
กบฎธรรมเถียร
กบฎครั้งนี้เกิดขึ้นในรัชกาลพระเพทราชา ( พ.ศ. ๒๒๓๑ - ๒๒๔๖ ) ความในพงศาวดารฉบับต่าง ๆให้ข้อมูลใกล้เคียงกัน ว่าผู้นำกบฎครั้งนี้เป็นข้าหลวงเดิมของเจ้าฟ้าอภัยทศ (บางฉบับเรียกพระขวัญ ) ( ๑๘ ) พระอนุชาสมเด็จพระนารายณ์หัวหน้ากบฎกระทำการโกหกปลอมตัวเป็นเจ้าฟ้าอภัยทศหลอกลวงชาวชนบทให้เข้าเป็นพวกกบฎครั้งนี้เกิดขึ้นในแขวงนครนายก แต่ก็กินบริเวณถึงสระบุรี ลพบุรีด้วย
ในชั้นต้นผู้นำกบฎคือ ธรรมเถียรพยายามชักจูงให้พระพรหม ณ วัดปากคลองช้างพระอาจารย์ที่เจ้าฟ้าอภัยทศเคยนับถือให้เข้าร่วมการกบฎด้วยแต่กลับถูกพระภิกษุรูปนั้นปฎิเสธ โดยอ้างว่าธรรมเถียรกระทำการโกหกเป็นเหตุให้กองกำลังส่วนหนึ่งของธรรมเถียรถอนตัวออกไป
เดิมทีนั้นธรรมเถียรตั้งทัพอยู่ ณ พระตำหนักนครหลวง แต่เมื่อการนิมนต์พระพรหมไม่ประสบความสำเร็จธรรมเถียรได้เคลื่อนกองทัพลงมาตีกรุงศรีอยุธยา
ภาพสะท้อนที่ได้จากพงศาวดารแสดงให้เห็นว่า ทัพของธรรมเถียรต่างกับทัพของญาณพิเชียรมาก ถึงแม้ว่ากองกำลังของธรรมเถียรบางส่วนจะมีพวกขุนนางซึ่งเข้าใจว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามกับราชวงศ์บ้านพลูหลวงปะปนอยู่(๑๙) แต่กำลังส่วนใหญ่เป็นพวกชาวไร่ชาวนาไม่ใช่ไพร่ทหารที่ชำนาญการรบ
“ต่างคนก็ถือเครื่องศัสตราวุธต่าง ๆ ตามมี ที่ไม่มีอาวุธสิ่งใดก็ถือพร้าบ้าง บ้างก็ได้ปะฎักและเคียว แห่ห้อมล้อมช้างธรรมเถียรมาเป็นอันมาก” ( ๒๐ )
ทั้งยังเป็นทัพที่ขาดระเบียบและการกำหนดแผนการโจมตีอย่างเป็นระบบ เห็นได้จากความตอนหนึ่งในพงศาวดารว่า
“เห็นพันชัยธุชอันธรรมเถียรตั้งไว้ให้ถือธง ขี่กระบือนำหน้าพลมาก่อน ตำรวจจับเอาตัวได้มาถวายกรมพระราชวัง" ( ๒๑ )
ถึงแม้ว่ากองทัพของธรรมเถียรจะประกอบด้วยกำลังคนเป็นจำนวนมาก ( ๒๒ ) แต่ก็เป็นกองทัพที่ขาดประสิทธิภาพอย่างยิ่งเช่นกัน ผลของการกบฎลงเอยเช่นเดียวกับกบฎญาณพิเชียร คือถูกกองทัพของอยุธยาใช้อาวุธที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าทำลายล้าง
จะเห็นได้ว่ากบฎธรรมเถียรเป็นกบฎที่มีลักษณะเฉพาะของตนเองที่ต่างไปจากกบฎญาณพิเชียรหรือกบฎที่เกิดขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ ในด้านผู้นำกบฎครั้งนี้ธรรมเถียรไม่ใช่เป็นคนที่สร้างบารมีมาก่อนในท้องถิ่นที่ตนซ่องสุมผู้คนเช่นญาณพิเชียร เป็นเหตุให้ธรรมเถียรต้องอาศัยบารมีของผู้อื่นมาเป็นข้ออ้างในการหาสมัครพรรคพวกการอ้างตนเป็นเจ้าฟ้าอภัยทศแสดงว่าธรรมเถียรยังขาดบารมี ส่วนการอ้างตัวเองเป็นผู้มีบุญของธรรมเถียรนั้น ประกอบด้วยลักษณะสองประการคือ
ประการแรกนั้นธรรมเถียรทำให้ชาวบ้านเข้าใจว่าตนเป็นผู้วิเศษที่ฆ่าไม่ตาย
“ฝ่ายอาณาประชาราษฎรทั้งปวงนั้น เลื่องลือกันว่า พระขวัญนี้มีบุญญาธิการนักหนา ถึงฆ่าเสียแล้วก็ไม่ตาย” ( ๒๓ )
อีกประการหนึ่งเป็นการอ้างตนในทำนอง “ผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่” โดยเน้นชาติกำเนิดเป็นหลัก
“…และประกาศแก่คนทั้งหลายว่า ตัวกูคือเจ้าฟ้าอภัยทศ จะยกลงไปตีเอาราชสมบัติคืนให้จงได้” ( ๒๔ )
จะเห็นว่าการอ้างตัวเป็นผู้มีบุญของธรรมเถียรไม่ได้ส่อลักษณะการอ้างตนเป็นผู้มีบุญตามคติพระศรีอาริย์เช่น ชอบอ้างตนเป็น พระยาธรรมิกราช ฯลฯ ดังกระทำกันแพร่หลายในสมัยรัตนโกสินทร์
ในด้านการสนับสนุนจากชาวชนบทจะเห็นได้ว่า การที่ตัวธรรมเถียรเองนั้นขาดบารมีทำให้การซ่องสุมผู้คนไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้นำระดับท้องถิ่น เช่นพระมหาพรหมจนเป็นเหตุให้กำลังส่วนหนึ่งของธรรมเถียรถอนตัวออกไปในภายหลัง
ในด้านความพร้อมและระเบียบในการจัดทัพกองกำลังของธรรมเถียรนั้นยากที่จะเทียบเคียงได้กับกองกำลังของญาณพิเชียร ซึ่งดูจะมีความพร้อมในทุกด้าน
กล่าวได้ว่ากบฎธรรมเถียรนั้นถึงแม้ตัวธรรมเถียรเองจะเป็นข้าหลวงเก่า แต่ก็ไม่ได้มีความชำนาญพิเศษในการทำสงครามแต่อย่างใด กองกำลังของธรรมเถียรส่วนใหญ่เป็นชาวชนบทที่เข้ามารวมกลุ่มกันอย่างไร้ระเบียบ เมื่อฝ่ายปกครองสืบทราบแน่ชัดว่าผู้นำกบฎไม่ใช่เจ้าฟ้าอภัยทศจริงความวิตกกังวลก็ลดน้อยลง และกบฎก็ถูกปราบลงอย่างง่ายดาย
สาเหตุอันนำซึ่งการกบฎครั้งนี้เป็นสาเหตุทางการเมืองสืบเนื่องจากการขึ้นครองราชย์ของพระเพทราชาซึ่งถึงแม้ว่าในปลายรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ พระเพทราชาจะเป็นขุนนางผู้ใหญ่ที่คุมกำลังไพร่พลจำนวนไม่น้อยแต่ในขณะนั้น ก็ยังมีผู้เหมาะสมและมีสิทธิในการขึ้นครองราชสมบัติอยู่อีกหลายคน เช่นพระปีย์ซึ่งมีฐานกำลังอยู่ทางตอนเหนือ ( ๒๕ ) หรือเจ้าฟ้าอภัยทศซึ่งเป็นพระอนุชาของพระนารายณ์ พระเพทราชาเองก็ตระหนักในปัญหานี้จึงได้หาทางกำจัดบุคคลทั้งสองเสียก่อนจะขึ้นครองราชย์ กระนั้นก็ตีความชอบธรรมที่พระเพทราชาจะพึงมีต่อการสถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์สืบต่อจากพระนารายณ์นั้นยังดูไม่มั่นคงและพร้อมจะถูกท้าทายได้จากบุคคลหลายฝ่าย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดได้แก่การแข็งข้อของขุนนางระดับท้องถิ่นเช่นจากพระยายมราชสังข์เจ้าเมืองนครราชสีมา และจากพระยารามเดโชเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชเป็นต้น
ความจำกัดตัวและความสับสนของเหตุการณ์ปลายรัชกาลพระนารายณ์ประกอบกับปัญหาความชอบธรรมของพระเพทราชาในการสืบราชสมบัติเปิดช่องว่างให้คนอย่างธรรมเถียร สามารถอ้างตนเป็นเจ้าฟ้าอภัยทศและชักจูงชาวชนบทที่ไม่รู้ซึ้งถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นหรือไม่ก็ทราบแต่เพียงข่าวกระเส็นกระสายจากปากสู่ปากให้ร่วมในการกบฎครั้งนี้ด้วย เป็นที่น่าสนใจว่ามีชาวชนบทจำนวนไม่น้อยเข้าร่วมในการกบฎครั้งนี้ ซึ่งสาเหตุสำคัญประการหนึ่งควรสืบเนื่องจากลักษณะหลักบางประการที่เอื้อในการเลื่อนฐานะทางการเมืองของไพร่สมัยอยุธยาตอนปลาย
ดังจะเห็นได้ว่า จากรัชสมัยของพระเจ้าปราสาททองเป็นต้นมา การเลื่อนฐานะของสามัญชนขึ้นมาเป็นขุนนางจะเกิดขึ้นเสมอ เมื่อเกิดการแย่งชิงราชสมบัติกันขึ้นระหว่างกษัตริย์และขุนนาง ฐานอำนาจของฝ่ายที่ได้รับชัยชนะ มักจะได้รับการปูนบำเหน็จในลักษณะต่าง ๆ นอกเหนือจากนี้ความพยายามของกษัตริย์ในอันที่จะลดทอนอำนาจของขุนนางฝ่ายปกครอง ก็ช่วยเปิดโอกาสให้ขุนนางระดับต่ำซึ่งก็มีบ้างที่เคยเป็นไพร่มาก่อนได้รับการเลื่อนฐานะทางสังคให้ขุนนางผู้ใหญ่ดังปรากฎใน
บันทึกของฟานฟลีตว่า
“พวกไพร่จำนวนมากกลับกลายเป็นเสนาบดี และพวกที่มีอำนาจที่สุดในราชสำนัก” ( ๒๖ )
ภาวะการเลื่อนฐานะทางสังคมจากสามัญชนขึ้นมาเป็นขุนนางได้ปลูกฝังความหวังให้กับชนชั้นไพร่และชาวชนบท ว่าหากตนได้เข้าร่วมเป็นกำลังให้กับเจ้าฟ้าอภัยทศแล้วก็ย่อมจะได้รับการปูนบำเหน็จรางวัลในภายหลังซึ่งนั่นหมายถึงการเลื่อนฐานครั้งใหญ่ทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคม ธรรมเถียรเองก็เข้าใจถึงความต้องการนี้เป็นอย่างดี จึงได้แต่งตั้งตำแหน่งหน้าที่ให้กับผู้เข้าร่วมการกบฎครั้งนี้ตามความชอบ ( ๒๗ ) การจัดตั้งตำแหน่งต่าง ๆ ในกองทัพไม่ว่าจะถูกต้องตามรูปแบบที่เป็นทางการหรือไม่ก็ตาม เท่ากับเป็นการเลื่อนฐานะของชาวชนบทให้สูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เป็นการทำให้ความหวังที่ชาวชนบทมีอยู่นั้นดูใกล้เคียงความจริงยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดีถึงแม้ว่ากบฎธรรมเถียรจะได้รับการสนับสนุนจากชาวชนบทก็ยากจะสรุปได้ว่า กบฎนี้เป็นกบฎไพร่เพราะปรากฎเป็นที่แน่ชัดว่า ผู้นำการกบฎครั้งนี้เป็นข้าหลวงเก่าของเจ้าฟ้าอภัยทศซึ่งมีฐานะเป็นขุนนาง จุดมุ่งหมายหลักของผู้นำการกบฎก็มุ่งที่การเลื่อนฐานะตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์ไม่ใช่ต้องการล้มล้างหรือปฎิรูประบบไพร่ให้ดีขึ้น ส่วนพวกชาวชนบทที่เข้าร่วมกับธรรมเถียรก็มีความต้องการที่จะได้มาซึ่งบำเหน็จรางวัล
ถึงแม้ว่าการเข้าร่วมในการกบฎของชาวชนบทจะสะท้อนถึงความไม่พอใจในสภาวะที่เป็นอยู่และต้องการจะเลื่อนฐานะความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นแต่กบฎครั้งนี้ก็ยังไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นกบฎของชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง โดยวัดเอาง่าย ๆ จากจำนวนผู้เข้าร่วมในการกบฎส่วนใหญ่ว่าเป็นไพร่ เพราะหากจะวัดกันด้วยมาตรฐานดังกล่าวนี้กบฎทุกครั้งในสมัยอยุธยาก็จะเป็นกบฎไพร่ทั้งสิ้น เพราะไม่เคยปรากฎว่ามีกบฎใดที่ไม่ใช่กำลังไพร่เป็นหลัก
กบฏบุญกว้าง
กบฎบุญกว้างเป็นกบฎที่เกิดขึ้นในรัชกาลของพระเพทราชาอีกเช่นกัน แต่กบฎครั้งนี้เกิดขึ้นในท้องถิ่นที่ห่างไกลจากส่วนกลาง เพราะเป็นกบฎที่เกิดขึ้นที่เมืองนครราชสีมา ซึ่งเป็นหัวเมืองสำคัญที่ส่วนกลางใช้เป็นฐานอำนาจในการควบคุมหัวเมืองต่าง ๆ ฟากตะวันออกเฉียงเหนือ
กบฎครั้งนี้มีความแตกต่างไปจากกบฎสองครั้งแรกเป็นอย่างมาก ทั้งนี้สาเหตุเนื่องมาจากกบฎครั้งนี้เกิดภายใต้ภาวะแวดล้อมและปัจจัยที่แปลกออกไปโดยเฉพาะเงื่อนไขทางสังคม ( Social Context ) ซึ่งรวมถึงลักษณะของประชากร ซึ่งเป็นคนเชื้อชาติลาว และลักษณะวัฒนธรรมและความเชื่อของคนเชื้อชาตินั้น
อย่างไรก็ดีการพิจารณาถึงสาเหตุอันนำมาซึ่งการกบฎครั้งนี้ก็ไม่อาจตัดออกได้จากการศึกษาถึงนโยบายและพฤติกรรมทางการเมืองของราชวงศ์บ้านพลูหลวง ที่พยายามจะรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง เพื่อเป็นการสะดวกในการศึกษาจะขอกล่าวถึงกบฎบุญกว้างตามหลักฐานเท่าที่ปรากฎในเอกสารก่อน
พงศาวดารส่วนใหญ่ยกเว้นพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ ( ๒๘ ) อธิบายถึงกบฎครั้งนี้ว่าเป็นกบฎลาว ผู้นำกบฎชื่อบุญกว้าง มีถิ่นฐานอยู่แขวงหัวเมืองลาวตะวันออก บุญกว้างเป็นคนที่มี “ความรู้ วิชาการดี” มีสมัครพรรคพวกรวม ๒๘ คน บุญกว้างได้นำสมัครพรรคพวกเข้ายึดครองนครราชสีมาโดยอาศัยวิทยาคุณทางไสยศาสตร์กำหราบเจ้าเมืองและขุนนางคนอื่น ๆ ต่อมาเจ้าเมืองนครราชสีมากระทำกลอุบายแหย่ให้บุญกว้างนำกองทัพยกลงไปตีกรุงศรีอยุธยา จนเป็นเหตุให้บุญกว้างเสียทีและถูกจับกุมตัวประหารชีวิตในภายหลัง ( ๒๙ )
อย่างไรก็ดีความในพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศซึ่งเป็นพงศาวดารฉบับเก่าที่สุดที่ได้รับการชำระหลังเสียกรุงในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ และเป็นต้นแบบสำหรับการชำระพงศาวดารครั้งต่อไป(๓๐) ได้ให้ข้อมูลที่แตกต่างกันออกไปกล่าวคือ
หลังจากที่บุญกว้างและพวกทั้ง ๒๘ คนยึดเมืองนครราชสีมาได้แล้วทางอยุธยาได้ยกกองทัพใหญ่ขึ้นไปล้อมเมืองเป็นเวลานานถึง ๓ ปีก็ตีเมืองไม่สำเร็จชาวเมืองต่างอดอยากเป็นอันมากพวกกบฎทั้ง ๒๘ คนจึงได้หลบหนีออกจากเมืองตามจับตัวไม่ได้ ส่วนแม่ทัพนายกองฝ่ายอยุธยาได้กิตติศัพท์ ว่าพระเพทราชาสวรรคตจึงถอยทัพกลับลงมาด้วยเข้าใจว่าข่าวนั้นเป็นจริง เป็นอันว่าการตีนครราชสีมาครั้งนี้ไม่ประสบความสำเร็จ
จากหลักฐานเท่าที่ปรากฎในพงศาวดารทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เหตุใดบุญกว้างพร้อมด้วยพรรคพวกเพียง ๒๘ คน จึงสามารถเข้ายึดครองเมืองนครราชสีมาได้อย่างง่ายดาย กบฎครั้งนี้ควรจะมีปัจจัยประการอื่นที่นอกเหนือไปจากหลักฐานเท่าที่ปรากฎในพงศาวดาร ซึ่งปัจจัยนั้นน่าจะสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนมือของราชวงศ์ที่ครองอำนาจทางการเมืองที่กรุงศรีอยุธยา การก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำทางการเมืองของราชวงศ์บ้านพลูหลวง ซึ่งเป็นขุนนาง
ในกรณีของพระยายาราชสังข์เจ้าเมืองนครราชสีมานั้น หลักฐานในพงศาวดารทุกฉบับยืนยันสอดคล้องต้องกันว่าเป็นผู้ที่ทำการรบได้อย่างเข้มแข็งสามารถรักษาเมืองอยู่ได้นานถึง ๓ ปี
“พระยานครราชสีมาก็ตรวจตราจัดรี้พลขึ้นอยู่ประจำรักษาหน้าที่เชิงเทิน ปรากการป้องกันเมืองเป็นสามารถ ทัพกรุงยกเข้าแหกหักเป็นหลายครั้ง ชาวเมืองรบพุ่งป้องกันทั้งกลางวันกลางคืนไม่ย่อหย่อน ทัพกรุงแหกหักเอามิได้ ก็ตั้งล้อมมั่นไว้…ไพร่พลเมืองอดอยากซูบผอมล้มตายเป็นอันมาก บ้างยกครัวหนีออกจากเมืองนั้นก็มาก แต่ทว่าพระยายมราชเจ้าเมืองนี้มีฝีมือเข้มแข็ง ตั้งเคี่ยวขับต้านทานอยู่มิได้แตกฉาน” ( ๓๑ )
ส่วนกลาง (พ.ศ. ๒๒๓๑) ยังความไม่พอใจมาให้กับขุนนางท้องถิ่นที่เป็นฐานอำนาจเดิมของพระนารายณ์ คือพระยายมราชสังข์ เจ้าเมืองนครราชสีมาและพระยาเดโชเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช พระเพทราชาต้องใช้เวลาปราบกบฎทั้งสองครั้งนี้ราว ๑๐ ปีจึงปราบสำเร็จ
อย่างไรก็ดีท้ายที่สุดกองทัพอยุธยาก็สามารถตีเมืองนครราชสีมาได้แต่พระยาราชสังข์ก็สามารถพาครอบครัวหลบหนีออกจากเมืองได้เช่นกัน หลังจากสงครามครั้งนี้ประมาณ ๖ ปี จึงได้เกิดกบฎบุญกว้างขึ้น
ศึกนครราชสีมาภายใต้การนำของพระยายมราชสังข์ดูจะเป็นกุญแจสำคัญที่พอจะใช้คลี่คลายเงื่อนงำของกบฎบุญกว้างที่เกิดตามมาในภายหลังได้ แต่ก่อนจะไปถึงประเด็นดังกล่าวจำเป็นต้องเข้าใจก่อนว่า ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นเป็นเขตที่ชนเชื้อชาติลาวอาศัยรวมกันอยู่หนาแน่น การที่อยุธยาจะรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องสร้างฐานอำนาจที่มั่นคงในเขตนั้นให้ได้
เมืองที่สำคัญจะเป็นศูนย์อำนาจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือขณะนั้นคือเมืองนครราชสีมา กษัตริย์ที่ส่วนกลางจึงจำเป็นต้องส่งขุนนางที่เข้มแข็ง ทั้งในการปกครองและการรบไปครองเมืองนี้ และที่สำคัญคือขุนนางผู้นั้นต้องเป็นบุคคลที่ซื่อสัตย์และไว้ใจได้ ด้วยเหตุนี้พระนารายณ์จึงทรงเลือกให้พระยายมราชสังข์ไปครองเมืองนครราชสีมา ครั้นเมื่อพระเพทราชาขึ้นครองราชย์พระยายมราชสังข์ก็พยายามแยกหัวเมืองภาคตะวันออกเฉียงเหนือออกเป็นอิสระจากส่วนกลาง ซึ่งก็สามารถทำได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
อย่างไรก็ดีภายหลังจากที่พระยายมราชสังข์สิ้นอำนาจลง ปัญหาที่เกิดตามมา คือขุนนางที่ขึ้นมาครองเมืองนครราชสีมาสืบต่อขาดซึ่งอำนาจบารมีพร้อมทั้งฐานกำลังสนับสนุนเช่นพระยายมราชสังข์( ๓๒ ) เป็นไปได้ว่าสถานการณ์ขณะนั้นไม่เปิดโอกาสให้พระเพทราชาคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมขึ้นแทนอำนาจพระยายมราชสังข์เช่นกันทั้งนี้เพราะการปราบกบฎก็ยังไม่เสร็จสิ้น เพราะเมืองนครศรีธรรมราชในขณะนั้นก็ยังคงแข็งเมืองอยู่
ความอ่อนแอของเจ้าเมืองใหม่และการสลายตัวของกลุ่มอำนาจเดิมย่อมผลักดันให้เกิดภาวะความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในชุมชนของชาวลาวซึ่งกระจายตัวอยู่ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเปิดโอกาสให้บุญกว้างและสมัครพรรคพวกอ้างตัวเป็นผู้มีบุญและก่อการกบฎขึ้น
เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่ากบฎบุญกว้างเป็นกบฎเดียวในสมัยอยุธยาที่มีส่วนใกล้เคียงกับกบฎผู้มีบุญภาคอีสานในสมัยรัตนโกสินทร์ การตั้งตัวเป็น “ผู้มีบุญ” ของบุญกว้างย่อมต้องได้รับการสนับสนุนจากชาวลาว ซึ่งมีเชื้อชาติเดียวกันและใช้วัฒนธรรมร่วมกัน หากความในพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศเชื่อถือได้ก็ไม่ใช่ของแปลกที่ชาวนครราชสีมาต่างให้ความร่วมมือกับพวกกบฎเป็นอันดีในการพิทักษ์รักษานครได้ถึง ๓ ปี ซึ่งหากพวกกบฎไม่ได้รับการสนับสนุนจากชาวลาวด้วยกันแล้ว ก็ยากที่จะอาศัยกำลังเพียง ๒๘ คนในการเข้ายึดครองเมืองนครราชสีมาและต้านศึกอยุธยาได้เป็นเวลาช้านาน
ประเด็นที่ควรพิจารณาเพิ่มเติมคือกบฎบุญกว้างนั้นจัดเป็นกบฎไพร่ได้หรือไม่ ?
เมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้ว จะเห็นว่าสาเหตุอันนำมาซึ่งกบฎครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากปัญหาทางเศรษฐกิจอันเป็นผลมาจากการถูกกดขี่ขูดรีดจากผู้ปกครองแต่ดูจะเป็นปัญหาในทางการเมืองระหว่างเชื้อชาติและวัฒนธรรมโดยมีปัจจัยทางศาสนาเข้ามาเป็นตัวร่วมสำคัญ
หากกบฎไพร่หรือกบฎชาวนาตามความเข้าใจทั่วไปเป็น
“ปรากฎการณ์ที่กลุ่มชาวนาต่อสู้กับชนชั้นปกครองซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน เจ้าของผลผลิต” ( ๓๓ )
หรือเป็น “การกบฎของไพร่สมัยอยุธยา” ( ๓๔ )
กบฎบุญกว้างก็ไม่ควรจัดเข้าในลักษณะของกบฎไพร่เพราะกบฎครั้งนี้มีพื้นฐานความเป็นมาที่สลับซับซ้อนกว่านั้น ในทัศนะของผู้เขียนเห็นว่ากบฎบุญกว้างจัดเข้าเป็นประเภทหนึ่งของ messianic Movements ซึ่งเป็นลักษณะทางสังคมประการหนึ่งซึ่งมักปรากฎในชุมชนที่ล้าหลัง และมีความเชื่อที่ฝังแน่นในเรื่องผู้นำท้องถิ่น (Local elite) หรือผู้มีบุญที่จะนำสังคมไปสู่ยุคแห่งความมั่งคั่ง (golden age) ( ๓๕ ) ความเชื่อในลักษณะเช่นนี้มักปรากฎออกมาในรูปของการประสมประสานระหว่างความเชื่อของท้องถิ่นซึ่งเป็น Little Tradition ( ๓๖ ) (เฉพาะกรณีของกบฎบางกบฎในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ( ๓๗ )
ที่สำคัญคือ ความเชื่อในเรื่อง golden age นั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาที่ได้รับการยอมรับนับถือสืบเนื่องกันมาช้านานก่อนจะเกิดการกบฎขึ้น ครั้นเมื่อสังคมถูกแทรกแซงโดยวัฒนธรรมหรืออิทธิพลจากภายนอกจนเป็นเหตุให้การดำเนินชีวิตของสมาชิกในสังคมไม่อาจเป็นไปได้ตามครรลองที่เคยเป็น จนสังคมเริ่มจมลงสู่ห้วงเวลาแห่งความวิบัติ (harsh times) ความเชื่อในเรื่อง golden age ก็จะถูกปลุกขึ้นโดยผู้นำระดับท้องถิ่น (local elite) ที่พยายามจะเล่นบทบาทของผู้ที่จะนำสังคมไปสู่ยุค golden age ดังที่มีปรากฎในคำสอนทางศาสนา
ดังนั้นในส่วนหนึ่ง Messianic Movements จึงเป็นลักษณะหนึ่งของ Religious Movements โดยจะมีเรื่องของพิธีกรรม (ritual) เข้ามาเป็นองค์ประกอบสำคัญ ขณะเดียวกันอิทธิพลจากภายนอกเช่นภาวะการทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ก็เป็นองค์ประกอบที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ผลักดันให้เกิด Messianic Movements ขึ้น
กบฎบุญกว้าง นั้นจัดเป็นลักษณะหนึ่งของ Messianic Movements ดังจะเห็นได้ว่าประชาชนในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นมีความเชื่อฝังแน่นอยู่ในเรื่องของผู้มีบุญอยู่ก่อนแล้วซึ่งมักจะปรากฎตัวขึ้นได้ในหลายลักษณะเช่นการอ้างตัวเป็นขุนเจืองกลับชาติมาเกิด พระยาธรรมิกราช และอื่น ๆ
ในกรณีของบุญกว้างไม่ปรากฎหลักฐานเป็นที่แน่ชัดว่าบุญกว้างอ้างตนเป็น Legendary Hero ตนใดเพราะเอกสารของส่วนกลางระบุแต่เพียงว่าบุญกว้างได้อ้างตนเป็นผู้มีบุญเท่านั้นการปรากฎตัวของบุญกว้างเป็นผลสืบเนื่องมาจากศูนย์อำนาจและผู้นำที่เข้มแข็งและมีบารมีคือพระยายมราชสังข์ถูกขจัดลงโดยอิทธิพลทางการเมืองของราชวงศ์บ้านพลูหลวง ภาวะสงครามอันยืดเยื้อตามมาด้วยการเปลี่ยนตัวผู้ปกครองซึ่งเป็นบุคคลที่อ่อนแอไร้บารมีส่งผลให้ภาวะความเป็นอยู่ของชาวลาวผิดไปจากเดิมจนเป็นเหตุให้บุญกว้างฉวยโอกาสประกาศตนเป็นผู้มีบุญเข้ายึดครองเมืองนครราชสีมา ความจำกัดตัวของเอกสารทำให้ไม่อาจทราบถึง golden age ที่บุญกว้างกำหนดขึ้น แต่คาดว่าควรจะเป็นยุคพระศรีอาริย์ บุญกว้างในฐานะผู้มีบุญย่อมได้รับการสนับสนุนจากชาวลาวอย่างกว้างขวาง มิฉะนั้นอาศัยพวกเพียง ๒๘ คนย่อมยากจะเข้ายึดครองเมืองนครราชสีมาซึ่งเป็นเมืองใหญ่ได้
หลักฐานสะท้อนให้เห็นว่าบุญกว้างประสบความสำเร็จไม่น้อยในการรวบรวมชาวลาวทำการกบฎแข็งข้อต่อส่วนกลางจนเป็นเหตุให้พระเพทราชาต้องส่งกองทัพใหญ่พร้อมด้วยกำลังทหารและอาวุธที่ทันสมัยไปปราบกบฎครั้งนี้
สรุป
จากการศึกษากบฎญาณพิเชียร กบฎธรรมเถียรและกบฎบุญกว้างซึ่งเป็นกบฎที่เกิดขึ้นในสมัยอยุธยาสามารถหาข้อยุติได้ว่ากบฎทั้งสามครั้งไม่สมควรจัดรวมเรียกเป็น “กบฎไพร่” เพราะกบฎแต่ละครั้งมีลักษณะเฉพาะของตนเองที่แตกต่างไปจากกบฎครั้งอื่น ๆ
กบฎญาณพิเชียรนั้นมีแนวโน้มจะเป็นกบฎของขุนนางที่สูญเสียอำนาจเป็นกบฎใหญ่ที่เพรียบพร้อมทั้งกำลังคนและความพร้อมของกองทัพรวมทั้งการส่วนกบฎธรรมเถียรนั้นผู้นำกบฎเป็นคนต่างถิ่นขาดบารมีจึงจำเป็นต้องพึ่งบารมีของผู้อื่นโดยอ้างตนเป็นเจ้าฟ้าอภัยทศให้ชาวชนบทและขุนนางบางคนหลงเชื่อ ถึงแม้กบฎครั้งนี้จะมีผู้คนเข้าร่วมด้วยมาก แต่ก็เป็นกบฎที่กองทัพขาดทั้งคุณภาพของทหาร อาวุธ และการดำเนินนโยบายการสงครามจนยากจะจัดเข้าลักษณะเดียวกับกบฎญาณพิเชียร
ส่วนกบฎบุญกว้างเป็นกบฎที่มีลักษณะที่ต่างไปจากกบฎสองครั้งแรกเป็นอย่างมาก เพราะเป็นกบฎเกิดขึ้นภายใต้ภาวะแวดล้อมและปัจจัยที่แปลกออกไปทั้งในด้านภูมิภาค ชุมชนและวัฒนธรรม กบฎครั้งนี้จัดเป็นลักษณะหนึ่งของ messianic Movements โดยมีปัจจัยที่เกื้อหนุนกันสองประการคือความเชื่อในเรื่อง golden age ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวลาวเชื่อถือสืบต่อกันมาในท้องถิ่นของตนกับอิทธิพลทางการเมืองของราชวงศ์บ้านพลูหลวง ซึ่งจัดเป็นปัจจัยภายนอก กบฎบุญกว้างจึงมีความสลับซับซ้อนอยู่ในตัวทั้งในทางการเมืองวัฒนธรรมและเผ่าพันธุ์
กบฎครั้งนี้เป็นกบฎเดียวในสมัยอยุธยาเท่าที่มีปรากฎในเอกสารซึ่งพอจะเทียบเคียงได้กับกบฎบางกบฎในสมัยรัตนโกสินทร์ เช่นกบฎอ้ายสาเกียดโง้ง
ส่วนกบฎครั้งนี้จะจัดเข้าเป็นลักษณะของ “กบฎไพร่” ได้หรือไม่นั้นยังต้องการคำอธิบายและการศึกษาเพิ่มเติม โดยเฉพาะในเรื่องความแตกต่างและความขัดแย้งทางการเมืองและวัฒนธรรมระหว่างชนที่เรียกตนเองว่าไทยกับชนที่เรืยกตนเองว่าลาว
ผู้เขียนขอขอบคุณ ผศ.ดร.ธิดา สาระยา ผู้จุดไฟใฟ้ผู้เขียนซึ่งสนใจประวัติศาสตร์ไทยสมัยอยุธยาอยู่แล้ว ได้หวนมาศึกษาเงื่อนงำของ “กบฎไพร่” ในช่วงสมัยนี้ในรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง
สุเนตร ชุตินธรานนท์
ศศ.บ.เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง (ธรรมศาสตร์)
M.A.S.E.A History (Cornell)
อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บรรณานุกรม
๑. บทบาทของอยุธยาในฐานะที่เป็นศูนย์กลางทางการเมือง และเศรษฐกิจของกลุ่มเมืองในลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้ถูกอธิบายไว้แล้วอย่างละเอียดในงานต่อไปนี้ :
ธิดา สาระยา, โครงสร้างของชนชั้นในสังคมไทยสมัยสุโขทัยและต้นอยุธยา (พ.ศ. ๑๘๐๐ - ๒๑๑๒), รายงานผลการวิจัยทุนวิจัย รัชดาภิเษกสมโภช ปีงบประมาณ ๒๕๑๘–๒๕๑๙
พรรณี อวนสกุล, “ระบบผูกขาดทางเศรษฐกิจสมัยอยุธยา” วารสารธรรมศาสตร์ ปีที่ ๔ เล่มที่ ๓, ๒๕๑๘
ศรีศักร วิลลิโภดม “จากพระเจ้าอู่ทองถึงพระเจ้าปราสาททอง” วารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๓, ๒๕๒๔
๒. เมืองนครศรีธรรมราชและตะนาวศรี เป็นเมืองท่าค้าขายที่สำคัญเจ้าเมืองผู้ครองนครทั้งสองจึงสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากภาษีอากร และการค้าขายส่วนตัวได้อย่างมหาศาลกษัตริย์ผู้ครองอยุธยาก็ทรงตระหนักดีถึงความสำคัญของเมืองทั้งสอง และพยายามจะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์เช่นเดียวกันนี้ ดังนั้นจึงมีหลายครั้งที่เจ้าเมืองทั้งสองพยายามจะแข็งข้อต่อส่วนกลางเพื่อรักษาผลประโยชน์ทางการค้าและการเก็บภาษีของตนไว้ การแข็งเมืองในลักษณะนี้ไม่ได้มีจุดหมายหลักที่ต้องการจะแย่งชิงอำนาจกษัตริย์ที่กรุงศรีอยุธยา แต่มีจุดมุ่งหมายเพียงจะแยกตัวเป็นอิสระจากอำนาจควบคุมของกษัตริย์ที่อยุธยาเท่านั้นดังจะเห็นได้จากกบฎพระยาศรีไสณรงค์เจ้าเมืองตะนาวศรีในรัชกาลสมเด็จพระนเรศวร หรือกบฎพระยาเดโชเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช
๓. ดูงานของ วารุณี โอสถารมย์ และอัญชลี สุสายัณห์, “กบฎไพร่สมัยพระเพทราชา” วารสารธรรมศาสตร์ ปีที่ ๖ เล่มที่ ๑,๒๕๑๙ และงานของ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ “กบฎไพร่สมัยอยุธยา” กับแนวความคิด ผู้มีบุญพระศรีอาริย์ – พระมาลัย” วารสารธรรมศาสตร์ ปีที่ ๙ เล่มที่ ๑,๒๕๒๒
๔. วารุณี โอสถารมย์ และอัญชลี สุสายัณห์, เพิ่งอ้าง, หน้า ๕๒ เรื่องกบฎชาวนาควรอ่านเพิ่มเติมใน วุฒิชัย มูลศิลป์ และธรรมนิตย์ วราภรณ์, กบฎชาวนา (พระนคร : แสงรุ้งการพิมพ์, ๒๕๒๕)
๕. งานที่ค้นคว้าศึกษาถึงกบฎผู้มีบุญที่เกิดขึ้นในภาคอีสานและถิ่นอื่น ๆ มีอยู่เป็นจำนวนมากทั้งงานของนักวิชาการไทยเช่น เดช บุนนาค เรื่อง “กบฎผู้มีบุญภาคอีสาน ร.ศง ๑๒๑“ ,ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และประนุช ทรัพย์สาร เรื่อง “เจ้ามีบุญ หนองหมากแกว” และงานของนักวิชาการต่างชาติเช่น Charles F.Keys. ‘Millennialism, Theravad Buddhism, and Thai Society.’ John B. Murdoch ‘The 1901-1902 Holy Man’s Rebellion และ Yoneo Ishii ‘ A Note on Buddhistic Millenarian Revolts in Northeastern Siam’ งานหลายชิ้นจากที่ได้กล่าวมามีส่วนกำหนดกรอบให้ลักษณะของกบฎผู้มีบุญในสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งต่อมากรอบนั้นได้ถูกนำไปใช้อธิบายกบฎในสมัยอยุธยาในทำนองที่ว่าเป็นกบฎประเภทเดียวกันกับกบฎผู้มีบุญในสมัยรัตนโกสินทร์ทั้งที่เห็นได้จากงานของ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เรื่อง “กบฎไพร่สมัยอยุธยา” หน้า ๕๔, ๕๕ และ ๘๒
๖. เอกสารทั้งประเภทพงศาวดารและคำให้การล้วนกล่าวถึงผู้นำกบฎ เช่น ธรรมเถียร หรือบุญกว้างว่าแสดงตนเป็น “ผู้มีบุญ” หรือมิฉะนั้นก็กล่าวตำหนิไปในลักษณะต่าง ๆ เช่น “อ้ายคิดมิชอบ” “อ้ายขบถ” ฯลฯ แต่ไม่ได้ให้ข้อมูลไปในลักษณะที่ส่อให้เห็นว่าเหล่าผู้มีบุญอ้างตนเป็นธรรมิกราชตามคติพระศรีอาริย์ซึ่งมักปรากฎให้เห็นในกบฎผู้มีบุญภาคอีสาน กระนั้นก็ดี กบฎบุญกว้างดูจะเป็นกบฎเดียวในกบฎทั้งสามครั้ง ที่พอจะอนุโลมได้ว่าสอดคล้องหรือคล้ายคลึงกับกบฎที่เกิดขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ ดูรายละเอียดในหัวข้อกบฎบุญกว้างของบทความนี้
๗. หลักฐานที่ปรากฎในคำให้การชาวกรุงเก่า และ คำให้การขุนหลวงหาวัด ยืนยันว่าทัศนะของคนไทยในเรื่องผู้มีบุญไม่ใช่จะมีแต่เพียงผู้มีบุญตามคติพระศรีอาริย์เท่านั้น การที่ธรรมเถียรได้รับยกย่องเป็นผู้มีบุญก็เนื่องจากเป็นผู้วิเศษณ์ “ถึงฆ่าเสียแล้วก็ไม่ตาย” ธรรมเถียรเองก็ประกาศตัวอย่างเปิดเผยว่าตนเป็นเจ้าฟ้าอภัยทศไม่ใช่ธรรมิกราชาหรือ Legendary Hero ตามคติความเชื่อเรื่องพระศรีอาริย์
ผู้มีบุญตามความเชื่อของคนในสังคมไทยนั้นมีหลายหลากเช่นผู้มีบุญอันสืบเนื่องมาจากการมีชาติกำเนิดสูง ผู้มีบุญที่พิสูจน์ให้คนทั่วไปได้เห็นในบุญญาภินิหารที่สามัญชนไม่อาจจะทำได้เช่นใน คำให้การขุนหลวงหาวัด ตอนหนึ่งกล่าวว่า “พระเจ้าสุริยนทราธิบดีนี้มีบุญญาภินิหารและอิทธิฤทธิ์ชำนาญในทางเวทมนตร์กายสิทธิ์มาก เวลากลางคืนก้ทรงกำบังพระกายเสด็จประพาสฟังกิจสุขทุกข์ของราษฎร” (คำให้การชาวกรุงเก่า, คำให้การขุนหลวงวัด และพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์) พระนคร : คลังวิทยา, ๒๕๑๕ หน้า ๓๖๑)
ลักษณะของผู้มีบุญดังได้ยกตัวอย่างมามีปรากฎอย่างเด่นชัด และมากมายในพงศาวดารเหนือไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพระยาแกรก, พระเจ้าสายน้ำผึ้งและพระเจ้าอู่ทอง จากงานวิทยานิพนธ์ของนงลักษณ์ ลิ้มศิริ เรื่องความสำคัญของกบฎหัวเมืองอีสาน พ.ศ. ๒๓๒๕–๒๔๔๕ ได้ยืนยันให้เห็นว่ากลุ่มผู้มีบุญนั้นยังสามารถแบ่งออกได้เป็น ๒ กลุ่มคือกลุ่มที่มีเป้าหมายทางการเมืองและกลุ่มที่มีเป้าหมายทางสังคม กลุ่มหลังนี้ไม่ได้ต้องการอำนาจความเป็นใหญ่ทางการเมืองเพียงต้องการช่วยเหลือผู้คนในสังคมให้พ้นทุกข์ ผู้นำกลุ่มนี้บางคนก็อ้างตนเป็นพระศรีอาริย์ หรือพระยาธรรมิกราช แต่บางคนก็ไม่ได้ทำเช่นนั้น
เพียงตั้งชื่อตนเองให้ต่างไปจากชื่อธรรมดาเช่น ตั้งเป็นองค์มายุ่ยสอน, องค์มณีจัน ฯลฯ (นงลักษณ์ ลิ้มศิริ, ความสำคัญของกบฎหัวเมืองอีสาน พ.ศ. ๒๓๒๕–๒๔๔๕, ภาควิชาประวัติศาสตร์, มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๒๔ หน้า ๘๕, ๙๒, ๑๐๔ และ ๑๐๕) งานของนงลักษณ์เป็นงานชิ้นสำคัญที่ช่วยยืนยันให้เห็นถึงความหลายหลากของผู้มีบุญในทัศนะของชาวอีสานซึ่งเป็นถิ่นที่เกิดกบฎผู้มีบุญบ่อยครั้ง สรุปก็คือความเชื่อเรื่องผู้มีบุญไม่ว่าจะเป็นในระดับผู้ปกครองหรือระดับชาวบ้านไม่จำเป็นว่าจะต้องเข้าทำนองมีผู้บุญตามคติพระศรีอาริย์เสมอไป
๘. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ , “กบฎไพร่สมัยอยุธยา” หน้า ๖๓, ๖๔, ๗๐–๗๔
๙. คำให้การชาวกรุงเก่า, คำให้การขุนหลวงหาวัดและพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ (พระนคร : คลังวิทยา, ๒๕๑๕) หน้า ๔๖๓
๑๐. ดูคำอธิบายคำว่า อมรวดี, อำมรา และอำมะราใน ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์, ยวนพ่าย โคลงดั้น (พระนคร : โรงพิมพ์ มิตรสยาม, ๒๕๑๓) หน้า ๑๑๙, ๑๒๐ “นาย”
๑๑. โดยปกติแล้วผู้ก่อการกบฎมักจะถูกขนานนามด้วยสรรพนามคำว่า “อ้าย” หรือ “ไอ้” และอ้ายสาเกียดโง้ง นำหน้าชื่อโดยปราศจาก “ยศ” กำกับเช่น ไอ้ธรรมเถียร อ้ายคิด มิชอบ แม้กระทั่งใน “กฎพระสงฆ์”ก็กล่าวถึงเหล่ากบฎโดยใช้สรรพนามเดียวกันนี้ “ทำให้แผ่นดินแลพระสาสนาจุลาจล ประดุจหนึ่งไอ้คา ไอ้รอด ไอ้เมือง ไอ้เกิด ไอ้ภัก ไอ้โกหกทั้งนี้ แต่พื้นเอาผ้ากาษาวะภัคคลุมตัวไว้ในพระศาสนาชวนกันคิดอุบายกลโกหกอวดอิทธิฤิทธิ์คิดเอาราชสมบัติ” (“กฎพระสงฆ์” กฎหมายตราสามดวงเล่ม ๔ (พระนคร : คุรุสภา, ๒๕๐๕) หน้า ๑๗๘) แต่ในกรณีญาณพิเชียรนั้นมีลักษณะต่างออกไป เช่น พระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียม บรรยายว่า “ญาณพิเชียรนั้นเรียกขุนโกหก” ส่วนฉบับสมเด็จพระพนรัตน์เรียกว่า “พระยาพิเชียร” ทำให้ตีความไปได้ว่าพื้นเพเดิมของญาณพิเชียรนั้นควรเป็นขุนนางมาก่อน
๑๒. พระราชพงศาวดารกรุงสยาม (จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียม), (พระนคร : ก้าวหน้า ๒๕๐๗) หน้า ๑๔๓
๑๓. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ใน “กบฎไพร่สมัยอยุธยา” อธิบายว่าสาเหตุประการสำคัญประการหนึ่งของกบฎญาณพิเชียรสืบเนื่องมาจากปัญหษทางธรรมชาติ, หน้า ๖๔
๑๔. คำให้การชาวกรุงเก่า…, หน้า ๔๔๘, ๔๕๓
๑๕. ดูบทวิเคราะห์เรื่องการเมืองระบบเครือญาติในสังคมไทย ซึ่งเป็นเอกสารประกอบคำบรรยายเรื่อง “ความขัดแย้งทางการเมืองภายในของผู้นำสุโขทัย” ของสุเนตร ชุตินธรานนท์ เสนอเป็นส่วนหนึ่งของรายการสัมมนาที่จัดขึ้นโดยสมาคมประวัติศาสตร์แห่งประเทศไทยในหัวข้อ “คนไทยมาจากไหน : พรมแดนแห่งความรู้” ๒๕๒๕ ดูศรีศักร วัลลิโภดม, “เมืองลูกหลวงกับการปกครองไทยโบราณ,” วารสารธรรมศาสตร์ ปีที่ ๔ เล่มที่ ๓, ๒๕๑๘
๑๖. พระราชพงศาวดารกรุงสยาม…, หน้า ๓๑–๔๖
๑๗. เพิ่งอ้าง, หน้า ๑๓๕
๑๘.ดูรายละเอียดการวิเคราะห์เรื่องเจ้าพระขวัญในนิธิ เอียวศรีวงศ์, ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในพระราชพงศาวดารอยุธยา (พระนคร : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, ๒๕๒๓) หน้า ๑๐,๑๑
๑๙. คำให้การขุนหลวงหาวัดระบุว่า หลวงเทพราชาผู้รักษาวังอยู่ที่พระนครหลวงอันเป็นสถานที่ซึ่งธรรมเถียรใช้ตั้งทัพ และขุนศรีคชกรรม์ผู้คุมกองช้างต่างสมัครเข้าเป็นพรรคพวกของธรรมเถียร (คำให้การชาวกรุงเก่า)…, หน้า ๓๖๓, ๓๖๔)
๒๐. พระราชพงศาวดารกรุงสยาม…, หน้า ๔๙๖, ความในคำให้การขุนหลวงหาวัดให้ภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า “เมื่อยกทัพมากลางทางที่คนรู้จักก็ไปเข้าด้วย ลางคนแต่มือเปล่าก็เข้ามาหาลางคนก็ได้แต่พร้าวิ่งตามไป” คำให้การชาวกรุงเก่า…, หน้า ๓๖๔)
๒๑. พระราชพงศาวดารกรุงสยาม…, หน้า ๔๙๖
๒๒. ความในคำให้การชาวกรุงเก่าระบุว่ากองทัพของธรรมเถียรมีกำลังถึง ๒,๐๐๐ คน แต่ความใน พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ กล่าวว่ามีเพียง ๕๐๐ คน
๒๓. คำให้การชาวกรุงเก่า…หน้า ๓๖๓
๒๔. พระราชพงศาวดารกรุงสยาม…, หน้า ๔๙๖
๒๕. นิธิ เอียวศรีวงศ์ การเมืองสมัยพระนารายณ์, สถาบันไทยคดีศึกษา เอกสารหมายเลข ๑๑, พ.ศ. ๒๕๒๓ หน้า ๔๙
๒๖. เพิ่งอ้าง, หน้า ๑๒
๒๗. หลักฐานในคำให้การชาวกรุงเก่ายืนยันว่าธรรมเถียรได้บำเหน็จรางวัลแก่ผู้ที่กระทำความชอบ และมีการแต่งตั้งตำแหน่งหน้าที่ความรับผิดชอบในกองทัพด้วยเช่นกัน (คำให้การชาวกรุงเก่า…,หน้า ๑๓๓) ส่วนความในพงศาวดารหลายฉบับก็ระบุว่า ธรรมเถียรตั้ง ให้พันชัยธุธทำหน้าที่ถือธงนำหน้าพลด้วย
๒๘. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, “กบฎไพร่สมัยอยุธยา” หน้า ๖๙
๒๙. พระราชพงศาวดารกรุงสยาม หน้า ๕๒๓–๕๒๗
๓๐. นิธิ เอียวศรีวงศ์, ประวัติศาสตร์…, หน้า ๑๗
๓๑.พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับสมเด็จพระนพรัตน์ (พระนคร : บรรณาคาร ๒๕๒๕) หน้า ๕๑๓, ๕๑๔
๓๒. หลักฐานในพงศาวดารแสดงให้เห็นว่าเจ้าเมืองนครราชสีมาคนใหม่อ่อนแอเช่นเมื่อเผชิญหน้ากับบุญกว้างก็ถูกฝ่ายกบฎกำหราบจน “สะดุ้งตกใจกลัวยิ่งนัก และขับช้างหันหวงแล่นหนีเข้าประตูเมือง” (พระราชพงศาวดารกรุงสยาม…, หน้า ๕๒๓) หรืออาศัยเฉพาะกำลังตนเองและข้าราชการเมืองนครฯก็ไม่เพียงพอแก่การต่อต้านกบฎจำต้องของความช่วยเหลือจากเมืองหลวง ลักษณะนี้แสดงว่าเจ้าเมืองคนใหม่ไร้บารมี และฐานกำลังที่มั่นคงกับพระยายมราชสังข์มาก
๓๓. วารุณี โอสถารมย์ และอัญชลี สุสายัณห์, “กบฎไพร่สมัยพระเพทราชา,” หน้า ๕๒
๓๔. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ “กบฎไพร่สมัยอยุธยา…”,หน้า ๕๓
๓๕. Barber, ‘Acculturation and Messianic Movements,’ Reader in Comparative Religion (New York, Evanston, and London : Harper & Row,1965) p.506
๓๖. ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็เช่นกรณีกบฎอ้ายสาเกียดโง้ง ซึ่งหัวหน้ากบฎอ้างตนเป็นขุนเจืองซึ่งเป็น Hero ในตำนานของชนชาติลาวแต่ตัวอ้ายสาเองก็ใช้พุทธศาสนาประกอบกับไสยศาสตร์เป็นแกนนำทำให้ชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธา
๓๗. Great Tradition นั้นไม่จำเป็นจะต้องเป็นพุทธศาสนาเสมอไป แต่ในกรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย พุทธศาสนาถือเป็นศาสนาหลักจึงกล่าวว่าในประเด็นที่ต้องการศึกษานี้ Great Tradition ที่นำมากล่าวถึงก็คือพุทธศาสนาไม่ใช่ศาสนาอื่น
จาก : ศิลปวัมนธรรม : ปีที่ 12 ตุลาคม 2526
โดย : ขุนนางอยุธยา
ที่มา : Historical and Archaeological
วันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551
“กบฎไพร่”สมัยอยุธยา
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 12:14 ก่อนเที่ยง
ป้ายกำกับ: ปวศ. : กบฎ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น