วันพุธที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

ปีสุดท้ายของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช


The last year of King Taksin The Great

การเริ่มต้นชีวิตเพื่อความแจ่มใสและการใช้ชีวิตให้เป็นคุณแก่ชาติทุกวิถีทาง และทุกโอกาสที่สมควร จนกล่าวได้ว่าเป็นการ ดำรงชีพเพื่อชาติ จริง ๆ เช่นนี้ ก็น่าจะได้รับการยกย่องเป็นลักษณะพิเศษ เป็นคติชีวิตที่คนตั้งใจรักชาติทุกคนจะต้องสนใจให้มากที่สุด

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพระผู้กู้ชาติไทยให้พ้นจากความเป็นทาส เป็นยอดนักรบไทย มีพระชนม์ชีพต้องด้วยลักษณะพิเศษดังกล่าวมานั้น พระองค์จึงสามารถกู้ชาติไทยได้ กู้แล้วยังทรงบากบั่นสร้างความมั่นคงให้แก่ชาติไทยอีกอเนกอนันต์ เวลา ๑๔ ปีก่อนถึงปีสุดท้าย พระองค์มีชีวิตอยู่กับบูรณภาพแห่งชาติไทยเสมอมาชีวิตของพระองค์จึงแน่วแน่อยู่กับการสร้างชาติไทย ไม่ใช่ชีวิตทำลายชาติไทย เมื่อระยะกาลตลอด ๑๔ ปี เต็มไปด้วยการสร้างชาติ ปีที่ ๑๕ จึงไม่มีปัญหาที่ผู้กตัญญูจะชวนคิดไปทางอื่น แม้ว่าปีที่ ๑๕ จะเป็นปีสุดท้ายของพระองค์ ก็เป็นปีที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพระคุณ ซึ่งชาติไทยยังระลึกอยู่เสมอจะไม่มีผู้ใดบังอาจกำจัดความกตัญญูของชาติไทยในข้อนี้ได้

ปีสุดท้ายของพระองค์ คือ ปีฉลู พ.ศ. ๒๓๒๔ พอรุ่งขึ้นปีขาลเพียง ๖ วัน ตรงกับวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ พระองค์ก็ต้องเสด็จสวรรคตเพียบพร้อมด้วยความรักชาติไทยอย่างสูงสุด ทรงรักโดยหวังสันติอันยอดเยี่ยมแก่ประชากร เป็นการแสดงพระคุณอันสุดซึ้งครั้งสุดท้าย จนสุดที่จะพรรณาพระคุณให้ครบถ้วนได้

เป็นที่น่ายินดีว่า พระราชจานุกิจของพระองค์ในปีสุดท้ายมืดมัว อยู่ภายใต้ละลอกแห่งบทอันกลบเกลื่อนเป็นเวลาช้านานนั้นกระจ่างขึ้นโดยผลแห่งการสอบค้นคว้า จนเป็นที่เข้าใจแจ้ง ในความสำคัญแห่งชาติไทยในปีฉลู พ.ศ. ๒๓๒๔ ย่อมขึ้นอยู่ที่พระราชกิจจานุกิจของพระองค์ทุกส่วน เรามองพระราชกิจจานุกิจเพียงพอ เราก็เข้าใจในความสำคัญแห่งชาติไทย เพราะฉะนั้น ความสำคัญแห่งชาติไทยกับพระราชกิจจานุกิจจึงแยกจากกันไม่ได้

ถ้าจะมองในด้านความดี พระราชกิจจานุกิจก็คือพระเดชพระคุณอยู่แก่ชาติไทย แม้จนทุกวันนี้ชาวไทยที่รักชาติและทราบพระราชประวัติของพระองค์ถูกต้องยังรำลึกถึงพระเดชพระคุณของพระองค์ไม่มีการยอมลืม ทุกคนรู้สึกว่าสายสกุลของตน ๆ เป็นหนี้บุญคุณพระองค์ท่านอย่างมากมาย เพราะยอดเกียรติยศแห่งชีวิต ก็คือความเป็นอิสระพ้นจากความเป็นทาส พระองค์ประทานยอดเกียรติยศให้แก่ชาวไทยโดยช่วยให้พ้นจากความเป็นทาสพม่า และช่วยให้ดำรงชาติเป็นปึกแผ่นมั่นคง เพราะฉะนั้น พระเดชพระคุณของพระองค์จึงฝังแน่นในจิตใจ ของชาติไทย นับวันก็ยิ่งเด่นชัดมากขึ้น

พระเดชพระคุณยังปรากฏอยู่ตราบใด ก็เป็นที่รับรองพระราชกิจจานุกิจของพระองค์อยู่ตราบนั้น พระราชกิจจานุกิจนี้ก็มิใช่อื่น คือความสำคัญแห่งชาติไทย ดังกล่าวแล้วชาติไทยกับพระองค์จึงไม่มีทางแยกจากกันได้ ใครบังอาจเหยียบย่ำพระเกียรติยศของพระองค์ก็เท่ากับดูถูกชาติไทยอย่างหนัก ผู้ประพฤติเยี่ยงนี้ ถ้าเป็นคนไทยก็ต้องถูกประณามว่าเป็นคนเนรคุณชาติที่สุดเป็นคนที่ชาติไม่พึงปรารถนาเลย

ปีฉลู พ.ศ. ๒๓๒๔ เป็นปีที่เริ่มต้นด้วยการสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีน เป็นครั้งใหญ่ และครั้งนี้จะเป็นทางนำไปสู่การสร้างมิตรภาพระหว่างไทยกับญี่ปุ่นอีกด้วย ในเมื่อไม่มีเหตุร้ายมาตัดรอนเสีย

ความจริงไมตรีระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีน เคยมีมาแล้วแต่ดึกดำบรรพ์ บางคราวก็ไปมาติดต่อกันเสมอ บางคราวก็ห่างไปบ้าง โดยเฉพาะในสมัยกรุงธนบุรีมีการติดต่อทางพานิชย์ตลอดมา ไทยกับจีนได้ผลพานิชย์จากกันและกันอย่างน่าพึงใจที่สุด แต่ผลพานิชย์ที่ว่ามาเลื่อมสลายเสียเมื่อรัชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร์ เพราะสัญญาระหว่างไทยกับบางประเทศในยุโรป และเพราะการระงับเสียซึ่งมิตรบรรณาการอันเป็นประดุจสิ่งแทนภาษีต่อกันและกัน โดยคำแนะนำของผู้สำเร็จราชการฮ่องกง ตั้งแต่บัดนั้นมา การค้าขายของไทยด้านทะเลก็หายเงียบไป การค้าขายทางบกก็พลอยลดลงตามกัน จนดูเหมือนว่าคนที่ไม่เคยรู้เรื่องการค้าขายของไทย มักเข้าใจผิดว่าไทยค้าขายไม่เป็น หรือไทยไม่ชอบค้าขาย ชาวต่างประเทศเป็นจำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้เรื่องเก่า แล้วเข้าใจผิดอย่างที่ว่ามานี้

แม้คนไทยรุ่นใหม่ที่ลืมเรื่องเก่าของชาติตนเอง หรือยังไม่ทราบดีพอก็มักจะหลงเข้าใจผิดไปบ้าง จนเห็นว่าการค้าขายไม่คู่ควรกับคนไทย แต่เมื่อทราบความจริงครั้งเดิม ๆ มาแล้ว ก็เข้าใจดีและรักการค้าขายขึ้นทุกวัน
ยังมีอีกข้อหนึ่งที่ควรได้รับการพิจารณา คือว่าเพียงแต่การค้าขายทางราชการทรุดโทรมแล้ว ไม่น่าจะเป็นเหตุตัดหนทางของประชาชนให้หยุดชะงักลงไปด้วย อันที่จริงทางราชการมิได้ห้ามปรามเลย แต่ควรเข้าใจว่าความรู้สึกทั่ว ๆ ไปย่อมยำเกรงทางราชการมากที่สุด เมื่อทางราชการต้องมาเลิกค้าขายลงเช่นนี้ก็เป็นช่องทางให้คาดคิดเป็นไปว่าทางราชการไม่ชอบค้า ผู้ที่เป็นหลักฐานโดยมากในสมัยนั้นรับราชการประจำอยู่แทบทุกคน ย่อมจะหวาดเกรงไม่กล้าดำเนินงานค้าให้ใหญ่โต และทางของพ่อค้ากับทางของข้าราชการรุ่นเก่า เดินผิดทำนองกันอยู่บ้างพ่อค้ามุ่งหาทรัพย์เป็นที่ตั้ง แต่ข้าราชการระวังเรื่องยศ ๆ ศักดิ์ ๆ เป็นกังวลไม่น้อย จึงร่วมทางกันยาก


จะพูดตรง ๆ ก็คือว่าเป็นทั้งข้าราชการและพ่อค้าพร้อม ๆ กันนั้นไม่ใช่ง่ายนัก ก็ใครเล่าจะกล้าเผชิญกับความยากในข้อนี้


อีกประการหนึ่งคนฉลาดเฉลียวโดยมากก็มักถูกชักนำให้เข้าอยู่ในวงราชการเสียเป็นพื้น เพราะคำให้พรแบบเก่ามักจะส่งกันว่า ขอให้เป็นเจ้าคนนายคนเถิด และทางที่จะเป็นได้ในสมัยนั้นก็ต้องรับราชการ เพราะฉะนั้น ความสนใจเรื่องการค้าจึงมีเหลืออยู่น้อยเต็มที แต่ทั้งนี้ไม่ใช่ความผิดของใครโดยเฉพาะ หากแต่ชาติไทยต้องรับเคราะห์เปล่า ๆ เท่านั้น

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้ราชทูตไปกรุงจีน พร้อมด้วยเรือสำเภาหลวง ๑๑ ลำ บรรทุกสินค้าเต็มทุกลำ มีพระราชสาส์นแสดงพระราชประสงค์ส่งเสริมสัมพันธภาพไปด้วย

กระบวนเรือราชทูตไทยถวายบังคมลาออกไป ณ วันอังคารเดือน ๗ แรม ๑๓ ค่ำ เวลา ๗ นาฬิกา ๑๒ นาที นอกจากเจริญราชสันถวไมตรีเพิ่มเติมให้ยิ่งขึ้น สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยังมีพระราชประสงค์จะให้ราชทูตจัดซื้อหาเครื่องทัพพสัมภาระสำหรับใช้ในการสร้างนครหลวงใหม่ด้วย


เหตุใดจึงเพิ่งมาทรงพระราชดำริสร้างพระมหานคร
ในปีที่ ๑๔ จากปีปราบดาภิเษก ข้อนี้เข้าใจไม่ยาก


การเริ่มต้นของสมัยกรุงธนบุรีเราทราบกันดีแล้วว่าต้องเริ่มต้นด้วยการปราบข้าศึกศัตรูที่เข้ามารุกรานไทย ปราบหนเดียวไม่เสร็จ และไม่ใช่ปราบได้ง่าย ๆ เพราะข้าศึกมีกำลังมาก ทั้งมีเล่ห์เหลี่ยมยอกย้อนหลายอย่างนมนานมา ต้องคอยทำลายกำลังของข้าศึกที่หลงเหลืออยู่ในถิ่นนี้ต้องคอยต้านกำลังของข้าศึกที่ยกทุ่มเทเข้ามาใหม่ นอกจากนี้ ยังต้องคอยควบคุมพวกแตกรัง คอยชุบย้อมพวกขวัญหนี คอยหากำลังปลูกเลี้ยงประชากรที่สิ้นไร้ไม้ตอก ภาระทุกทางสุมอยู่ที่พระองค์ การแบกภาระอันหนักนี้จะลำบากยากเข็ญเพียงไร บรรดาผู้กตัญญูย่อมรู้สึกได้ดี

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพยายามให้ภารกิจลุล่วงไปโดยเร็วที่สุด ภาระเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องทำให้เสร็จก่อน ถ้าไม่สามารถในภาระเช่นนี้ ก็หมายความว่าชาติไทยจะตั้งขึ้นยาก การตั้งชาติไทยจึงเป็นอันเดียวกับการอำนวยภาระหนักเหล่านั้นให้เป็นผลสำคัญแก่บ้านเมือง เมื่อชาติไทยตั้งเป็นหลักมั่นคงแล้ว การสร้างพระนครก็จะสะดวกดี และเป็นศรีสง่าสมแก่ชาติไทยด้วย หากชาติยังอ่อนแอง่อนแง่น มัวรีบสร้างพระนครให้โอ่โถงเสียก่อน กำลังทางอื่น ๆ ถูกเฉลี่ยมาทุ่มเทลงในการสร้างพระนครหมด ก็ดูเหมือนว่าพระนครนั้นมีแต่ความสวยสดงดงามภายนอก แต่สาระสำคัญส่วนซึ่งเป็นแกนในยังหามั่นคงไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้จะนอนตาหลับได้หรือ

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงรีบสร้างชาติไทย หมายถึงการสร้างกำลังส่วนสำคัญ ๆ ของบ้านเมืองดังกล่าวแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือกำลังทางทหารและการเศรษฐกิจ จนบ้านเมืองแข็งแรงสมบูรณ์สมควรแก่การที่จะสร้างพระมหานครเป็นใจกลางของประเทศแล้ว พระองค์จึงเริ่มทรงพระราชดำริสถาปนาพระมหานคร พระราชอัธยาศัยอันนี้เป็นข้อแสดงให้เห็นชัดว่า ไม่ทรงตื่นราชบัลลังก์ ไม่ทรงกังวลในพระบรมสุขส่วนพระองค์ยิ่งกว่าที่จะจัดบ้านเมืองให้เจริญยิ่งขึ้น ทรงแต่จะปลุกให้ไทยตื่นในการสร้างไพศาลแก่ไทยโดยขะมักเขม้น ใครที่รู้ความจริง จึงหาทางตำหนิในส่วนบกพร่องได้ยาก พระราชาญาณในการสร้างชาติหลักแหลมลึกซึ้ง พระราชหฤทัยหนักแน่นโอบอ้อม ความสำเร็จจึงบรรลุมาเป็นขั้น ๆ และนับวันจะสำเร็จยิ่ง ๆ หากไม่มีการตัดรอนพระชนม์ชีพระองค์เสีย

พระยามหานุภาพ จินตกวีในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อคราวโปรดให้ไปในกองราชทูตเจริญพระราชไมตรีครั้งสำคัญประเทศจีน ปีฉลู พ.ศ.๒๓๒๔ นั้น ได้ประพันธ์กระแสพระราชปรารภในการสร้างพระมหานครในกลอนนิราสว่าดังนี้


แรกราชดำริตริตรองถวิล

จะเหยียบพื้นปัถพินให้งามสนาม

จะสร้างสรรดั่งสวรรค์ที่เรืองราม

จึงจะงามมงกุฎอยุธยา


บทความสั้น ๆ เท่านี้ แสดงให้เห็นความหมายอันลึกซึ้งในพระราชหฤทัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงพระราชดำริจะให้ช่างสร้างพระนครให้เห็นเป็นดังเมืองสวรรค์ จึงจะสมเป็นราชธานีของประเทศไทย ความจริงอิฐปูนเท่าที่มีแต่ก่อนก็ไม่น้อย เช่นที่กรุงเก่า ลพบุรี และตามวัดร้างอีกหลายวัด ถ้าจะทรงให้รื้อขนรวบรวมมาสร้างพระนคร ก็คงจะพอทำได้ไม่ยากนักมิใช่หรือ แต่จะเอาดีที่ตรงไหน การเก็บของเก่ามาสร้างใหม่ ก็ดีในเมื่อไม่สามารถหาของใหม่มาสร้างใหม่เท่านั้น แต่วัตถุสถานที่สร้างใหม่นั้นจะได้ชื่อว่านครอิฐหักกากปูน ครั้นจะหาดีที่สามารถรื้อมาทำขึ้นใหม่ก็พูดไม่ถนัด ทั้งของเก่าอันพึงสงวนไว้เป็นโบราณวัตถุหรือโบราณสถาน ก็ต้องรื้อสูญรูปทรงของเก่าหมด นับว่าเสียทั้งขึ้นทั้งล่อง ไม่มีดีอย่างไรเลย เพราะฉะนั้น สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงไม่โปรดให้ทำเช่นนั้นไหน ๆ ก็ทรงกู้ชาติไทยขึ้นใหม่แล้ว สมควรสร้างนครหลวงของชาติเสียใหม่ด้วย จึงจะเหมาะด้วยประการทั้งปวง และการสร้างนครหลวง ต้องพยายามทำให้มองเห็นความสำคัญได้หลายทาง เมื่อชาวต่างประเทศมาเป็นนครหลวงของไทยแล้ว ควรให้เขาได้สำนึกว่า


๑. ไทยมีประเทศอันอุดมสมบูรณ์

๒. ประเทศของไทยมั่นคงแข็งแรง

๓. ชาวไทยเข้มแข็งสามารถดำรงชาติอันมหึมาไว้ได้


นี่คือรัศมีอย่างน้อยที่จะหวังได้จากการสร้างนครหลวงขึ้นใหม่ ถ้าคิดสร้างนครชนิดเตรียมสู้ในบ้าน ไม่ให้เกิดความหมายสำคัญประการใดแก่ผู้ให้เห็นเป็นแต่สร้างขอไปที หรือสร้างเพื่อคุ้มรังของประมุขมากกว่าแล้ว พระองค์ท่านคงไม่ยอมเสียเวลาทรงพระราชดำริเป็นแน่ เพราะฉะนั้นจึงทรงรอมาจนประเทศไทยไพศาลกองทัพไทยเข้มแข็งทุกด้าน และการเศรษฐกิจตรึงอยู่กับความมั่งคั่งของบ้านเมืองแล้วก็โปรดให้เริ่มการเตรียมสร้างพระนครทันที

หลังจากโปรดให้ราชทูตไทยออกไปประเทศจีน ถึงฤดูฝนว่างการทัพศึก มีโอกาสได้ทรงทะนุบำรุงการพระพุทธศาสนาและบำรุงคณะสงฆ์ตามสมควร ปรากฏในจดหมายเหตุโหรฉบับรามัญบันทึกไว้ว่า


พระเจ้าแผ่นดินไทยทรงทำบุญตั้งแต่เข้าพรรษา เป็นเวลาครึ่งเดือน เมื่อจวนออกพรรษา ทรงสงเคราะห์คนยากจนทรงอนุเคราะห์ผู้เฒ่าทั่วไป ทั้งที่เป็นข้าราชการและราษฎร ออกพรรษาแล้ว ทรงทอดพระกฐินหลวงทุกวัด มิได้ว่างเว้นสักวัดหนึ่ง


ในเรื่องเกี่ยวกับวัดนี้น่าสังเกตอยู่ข้อหนึ่ง สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไม่โปรดให้แยกวัดเป็นราษฎร์เป็นหลวง เพื่อไม่ให้มี
แบ่งชั้นวรรณะ เพราะว่าทุกอารามล้วนเป็นวัดในพระพุทธศาสนาเหมือนกันหมดสมควรได้รับการทะนุบำรุงตามศรัทธาของผู้นับถือ ไม่มีขีดคั่นว่า นี่ต้องเป็นวัดเจ้านาย นี่เป็นวัดราษฎร ใครศรัทธาก็ทำบุญได้ทั้งนั้น พระราชทานเสรีภาพ และสมภาพในเรื่องศาสนานี้ นับว่าดีพอใช้ แต่ก็มิใช่ว่าจะขาดการควบคุมเสียเลย

การสร่างพระพุทธรูปขึ้น เพื่อเป็นที่เคารพสักการะแทนองค์พระพุทธเจ้า ถ้ามีการแบ่งวัดเป็นชั้น ๆ แล้ว พระพุทธรูปก็จะต้องพลอยถูกจัดชั้นไปด้วย ต่างว่าแบ่งวัดเป็นพระอารามหลวงและวัดราษฎร์ พระอารามหลวงยังถูกแบ่งเป็นชั้น ๆ อีก คือ วัดชั้นตรี วัดชั้นโท วัดชั้นเอก พระพุทธรูปในวัดเหล่านั้นก็ต้องดำรงศักดิ์ไปตามขนาดของวัด และพึงเข้าใจเถิดว่า พระพุทธรูปในวัดราษฎร์ย่อมต้องต่ำกว่าพระพุทธรูปในวัดหลวงเป็นแน่ทีเดียว แม้พระพุทธรูปในวัดหลวงก็ยังลดเหลื่อมกันอีก คือพระพุทธรูปในวัดหลวงชั้นตรีต่ำกว่าพระพุทธรูปในวัดหลวงชั้นโท โดยนัยนี้ต้องนับว่าพระพุทธรูปในวัดหลวงชั้นเอกเป็นสูงสุดกว่าพระพุทธรูปบรรดามี

ความลดหลั่นเช่นนี้เหมาะแก่พระพุทธรูปหรือไม่

เข้าใจว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีพระราชประสงค์จะให้พระพุทธรูปอยู่ในระดับเดียวกัน ไม่ว่าพระพุทธรูปในวัดไหน ๆ และใครจะเป็นผู้สร้างก็ตาม ย่อมสมควรได้รับความนับถือเป็นสิ่งแทนพระพุทธองค์เท่ากันหมด


นี่เป็นพระบรมราโชบายอย่างหนึ่ง ที่ช่วยรักษาพระพุทธศาสนามิให้ถูกจูงไปสู่ลัทธิแบ่งชั้นวรรณะ มิให้กระแสของพระพุทธโอวาทเดินไปนอกทางของประโยชน์อันใหญ่หลวงซึ่งเป็นประโยชน์ที่ตรึงอยู่กับเสรีภาพและสมภาพโดยแท้

เขตทอดพระกฐินต้องสิ้นสุดลงวันกลางเดือน ๑๒ ตามวินัยนิยม ในระหว่างนี้เกิดเรื่องหยุกหยิกขึ้นทางนครเวียงจันทน์

ควรเล่าความเดิมของนครเวียงจันทน์สักเล็กน้อย นครเวียงจันทน์แท้ตั้งอยู่ทางภาคอีสานของประเทศไทยที่จริงคนในเมืองนั้นล้วนเป็นไทยทั้งสิ้น ต่างแยกย้ายตั้งเป็นอิสระสืบกันมาช้านาน จนอาณาเขตของแต่ละฝ่ายเกือบจะชักพาให้ลืมชาติเดิมของตนเสีย ถึงตอนต้นสมัยกรุงธนบุรีนครเวียงจันทน์ตกที่คับขันเคยขอความช่วยเหลือเมื่อคราวเกิดพวกข่ากบฏสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้เจ้าพระยานครราชสีมา (บุญคง กาญจนาคม) ผู้ครองนครราชสีมานำกองทัพไปช่วยนครเวียงจันทน์ปราบข่ากบฏ จนเหตุการณ์สงบราบคาบนครเวียงจันทน์ก็แสดงท่าทีอยากเป็นมิตรกับกรุงธนบุรี แต่รั้ง ๆ รอ ๆ เพราะเกรงพม่า และเพราะยังไม่ไว้ใจว่ากำลังของกรุงธนบุรี จะเข้มแข้งพอช่วยนครเวียงจันทน์ต่อต้านพม่าได้อ้อแอ้เรื่อยมาจนเกิดเรื่องร้ายขึ้นคือตอนปลายสมัยกรุงธนบุรี เจ้านครเวียงจันทน์เป็นอริวิวาทกับพระวอ เสนาบดีผู้ใหญ่ซึ่งเคยอุปการะกันมาในที่สุดถึงรบกัน แต่พระวอสู้ไม่ได้อพยพหนีมาตั้งอยู่นครจัมปาศักดิ์แล้วเลื่อนไปตั้งอยู่ดอนมดแดง เข้าในแขวงพระราชอาณาจักรกรุงธนบุรีชอกขอสวามิภักดิ์มายังใต้เบื้องบทมาลย์

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็โปรดให้รับไว้ในพระราชอาณาจักร ฝ่ายนครเวียงจันทน์ได้ทราบว่าพระวอออกจากนครจัมปาศักดิ์ไปตั้งอยู่
ณ ดอนมดแดง ซึ่งบัดนั้นยังเป็นชายพระราชอาณาเขตกรุงธนบุรี เข้าใจว่าทางกรุงธนบุรีคงจะไม่เหลียวแลถึง กำลังของกรุงธนบุรีเห็นจะยังไม่มีพอปกแผ่รักษาทั่วกันได้ หากจะจู่โจมลอบเข้าทำการล้ำเกินสักครั้งคราวหนึ่งอย่างรวดเร็ว ก็น่าจะไม่มีเรื่องร้าวรานถึงกรุงธนบุรีเป็นแน่

นี่เป็นการคาดคะเนผิดถนัดของนครเวียงจันทน์ ถ้าเป็นสมัยก่อนนั้นขึ้นไปสักหน่อย คงไม่มีเรื่องวู่วามจริง เพราะการปกครองอ่อนแอมาก

แต่สมัยกรุงธนบุรีไม่เหมือนสมัยก่อน ไม่ยอมให้ใครลูบคมง่าย ๆ อาณาเขตทุกทิศทุกทางอยู่ในความระแวดระวังทั่วถึงกัน ครั้นเจ้านครเวียงจันทน์อุกอาจยกทัพตามมาทำร้ายพระวอในพระราชอาณาเขตประเทศไทย ความทราบถึงกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงโปรดให้กองทัพไทยขึ้นไปปราบโดยด่วน

กองทัพไทยตีได้นครเวียงจันทน์ทั้งนครหลวงพระบางก็ยอมสวามิภักดิ์ด้วย พระเจ้าบุญสารผู้ครองนครเวียงจันทน์หนีเล็ดลอดไปได้ กองทัพไทยจึงให้พระยาสุโภอยู่รักษานคร แล้วเชิญราชบุตรราชธิดาของพระเจ้าบุญสารลงมา ณ กรุงเทพฯ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้ทะนุบำรุงราชบุตรราชธิดาของพระเจ้าไว้เป็นอันดี


ที่ตรงนี้มีเรื่องเกร็ดแทรกคำเล่าของชาวอีสานบางคนเล่าว่า เมื่อกองทัพไทยกลับกรุงธนบุรี กราบทูลถวายบรรดาและเชลยศึกตามหน้าที่ ปรากฎเจ้าหญิงราชธิดาพระเจ้าบุญสารหนึ่งกราบบังคมทูลพระกรุณาว่าได้เสียตัวกับแม่ทัพไทยในระหว่างเดินทางแล้ว หาควรถวายเข้าหลวงไม่ เมื่อไต่สวนได้ความ จึงโปรดให้จำคุกแม่ทัพไทย พ้นโทษแล้วให้คงยศตามเดิม


เรื่องนี้จะจริงเท็จประการใดสุดที่จะวินิจฉัย เพราะเป็นเพียงคำพูดอย่างเดียว หาหลักฐานอย่างอื่นสนับสนุนไม่ถนัด

แต่อย่างไรก็ตาม ทุกคราวสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จปราบ ไม่ว่าเมืองใด ทรงห้ามให้ทหารทำร้าย หรือทำอันตรายพวกเจ้าเมือง ใครจับได้ต้องเป็นของหลวง เพื่อมิให้ลูกหลานเจ้าต้องอัปยศ ผู้ใดขัดขืนมีโทษ

หากว่าเรื่องที่เล่ามานั้นมีมูลบ้าง จะเห็นได้ว่าการลงโทษแก่ใครผู้บังอาจนั้นเบาเกินไป แต่ที่แม่ทัพมีความชอบในการตีนครเวียงจันทน์ได้ จึงโปรดให้ลงโทษแต่ก็เห็นจะสมควรกันแล้วกระมัง


รุ่งขึ้นปีฉลู กลางปี พระเจ้าสารลอบยกกำลังมาตีนครเวียงจันทน์ฆ่าพระยาสุโภ ผู้รักษานครเวียงจันทน์ ความทราบมาถึงกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงทรงพระกรุณาตั้งเจ้านันทเสนราชบุตรพระเจ้ามูญสารเป็นพระเจ้านันทเสนราชพงษ์มะลานเจ้าพระนครเวียงจันทน์ ณ วันพฤหัสบดี เดือนอ้าย ขึ้น ๑๔ ค่ำ พ.ศ. ๒๓๒๔ โปรดให้พระเจ้านันทเสนราชพงษ์มะลาน เดินทางขึ้นไปครองนครเวียงจันทน์ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำนั้น การเมืองทางนครเวียงจันทน์ก็สงบ นับว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ดำเนินพระราโชบาย เหมาะแก่สภาพการณ์เป็นอย่างดี

พระเจ้านันทเสนราชพงษ์มะลานเป็นผู้เข้มแข็งมาก และภักดีมั่นอยู่ในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อได้รับตำแหน่งครองนครเวียงจันทน์แล้ว ก็รีบทะนุบำรุงบ้านเมืองเต็มที่ หัวเมืองต่าง ๆ ที่แตกแยกออกไปในสมัยอ่อนแอ ก็อุตส่าห์รวบรวมกลับคืนมาตามเดิม และติดต่อสมัครสมานกับนครหลวงพระบาง ไม่วิวาทร้าวรานกันดังแต่ก่อน ราชอาณาจักรไทยเวลานั้น ในด้านอีสานร่วมด้วยดุดดีจึงแผ่ไปตลอดสิบสองจุไทย หัวพันห้าทั้งหา และหัวเมืองพวน

วันเดียวกับที่พระเจ้านันทเสนฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เดินทางขึ้นไปครองนครเวียงจันทน์นั้น เกิดเรื่องร้ายขึ้นในหมู่ชนชาวญวนสวามิภักดิ์ ซึ่งมีองเชียงชุนเป็นหัวหน้า องเชียงชุนเป็นอาขององเชียงสือ (คือพระเจ้าเวียดนามยาลอง) องเชียงชุนแตกหนีพวกราชวงศ์เล้ (พวกไตเชิง หรือไกเซิล) เช้ามาอยู่ในเมืองพุทไธมาศ (ฮาเตียน) ต่อจากเมืองตราดออกไป กองทัพไทยไปปราบเมืองพุทไธมาศจับองเชียงชุนได้ในคราวนั้น องเชียงชุนยอมสวามิภักดิ์อยู่กับไทยโดยดี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงเชียงชุนให้มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาราชาเศรษฐี เทียบเท่าบรรดาศักดิ์เจ้าเมือพุทไธมาศ

การสวามิภักดิ์ทำนองนี้ หมายความว่า มิใช่ตั้งใจมาสวามิภักดิ์โดยตรง หากเป็นเพราะไม่มีทางไปอีกแล้ว ก็จำต้องสวามิภักดิ์พอผ่อนหายใจ จนกว่าจะมีลู่ทางอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไป

พระยาราชาเศรษฐี (องเชียงชุน) ได้รับพระมหากรุณาเข้ามาอยู่ในกรุงและรับราชการตั้งแต่ตอนต้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมาจนถึงปีฉลู พ.ศ. ๒๓๒๔ วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือนอ้าย ก็ถูกจับโดยข้อหาว่าเป็นกบฏ พร้อมกับพรรคพวกอีกหลายคน

ทำไมพระยาราชาเศรษฐี (องเชียงชุน) จึงคิดกบฏ ข้อนี้จะต้องเล่าเหตุการณ์ในเมืองญวนนำทางเล็กน้อยเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น

เมื่อตอนต้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมืองญวนยังไม่มีไมตรีกับไทย ขณะที่กองทัพไทยออกไปปราบเมืองพุทไธมาศและกัมพูชาในปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๑๔ ญวนได้กระทบกระทั่งกับหน่วยทหารของกองทัพไทยบ้างเล็กน้อย โดยกองทหารฝ่ายญวนทำการขัดขวางการสื่อสารของไทยบางแห่ง แชะเข้าแทรกแซงเมืองปาสักอีกด้วย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้โกษาธิบดีมีหนังสือไปว่ากล่าวญวนในทางไมตรีก่อน แต่น่าจะไม่เป็นผล เพราะความเข้าใจผิดและความปรารถนาอันผิดของญวน ทำให้ญวนมองไม่เห็นทางไมตรีกับไทยได้ถนัด

ปรากฏในพงศาวดารของญวนเองว่า บางคราวเรือสินค้าหลวงของประเทศไทยเคยถูกญวนตีปล้น พวกตีปล้นไม่ใช่ญวนสามัญ เป็นพวกกรมการหัวเมืองของญวน ความประพฤติเลวทรามข้อนี้ ย่อมจะเพิ่มความเกลียดชังให้แก่ชาวไทยมากขึ้น แม้พงศาวดารของญวนยังจารึกความข้อนี้ไว้ ต้องเข้าใจว่า คงไม่ใช่ครั้งเดียวและไม่ใช่การเล็กน้อย ที่กรมการหัวเมืองของประเทศญวนทำการรังควานเรือค้าขายของไทย ในทำนองปล้นอย่างสลัด แต่ด้วยพระราชหฤทัยอันหลักแหลมและลึกซึ้ง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพยายามที่จะไม่ถือโทษ ทรงหาทางที่จะทำความเข้าใจอันดีต่อกันมากกว่า เพราะไม่ต้องพระราชประสงค์ที่จะเป็นศัตรูกับญวนเลย จึงทรงพระกรุณาให้รับองเชียงชุนผู้เป็นอาขององเชียงสือมาชุบเลี้ยงจนได้เป็นที่พระยาราชาเศรษฐีดังกล่าวแล้ว แต่ทางเมืองญวนอนำก๊กจะคิดเห็นอย่างไรในข้อนี้ไม่ปรากฏเรื่องราว

ครั้นเมื่อพวกเจ้าเมืองอนำก๊กถูกพวกราชวงศ์เล้ตีแตกยับเยินลงมาทางใต้ กำลังต้านทานเหลือน้อยลงทุกทีจึงคิดหากำลังทางเมืองเขมรโดยด่วนพยายามเข้าแทรกแซงการเมืองเขมรจนเกิดกบฏขึ้นในเมืองเขมร พ.ศ.๒๓๒๓ ทำให้เขมรย่อยยับลงไปมากมาย พวกกบฏปลงพระชนม์สมเด็จพระรามราชา กษัตริย์วีรราชแห่งเขมร พร้อมทั้งราชบุตรที่ยังทรงพระเยาว์วอดวายหมด ญวนเร่งส่งกำลังหนุนเขมรฝ่ายกบฏ และพยายามสูบหาประโยชน์จากเมืองเขมรอย่างเร่งร้อน เพื่อนำไปใช้สู้รบกับราชวงศ์เล้ ในระยะใกล้ ๆ กันนี้ยังหาโอกาสส่งคนสนิทเข้ามาติดต่อกับพระยาราชาเศรษฐี (องเชียงชุน) ในกรุงธนบุรีอีก จนทางราชการของไทยจับได้สืบสวนได้ความว่าพระยาราชาเศรษฐี (องเชียงชุน) กับพวกเป็นกบฏจึงต้องรีบจัดการปราบทันที และมิให้ญวนลุกลามเข้ามายึด เมืองเป็นที่มั่น จึงโปรดให้กองทัพออกไปจัดการเมืองเขมร แล้วให้ทางไปรับมือกับญวนให้เด็ดขาดทีเดียว


สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพระมหาอุปราช องค์รัชทายาทพระราชวงศ์กู้ชาติ เป็นแม่ทัพเจ้าพระยาจักรี (ด้วง) เจ้าพระยานครสวรรค์ เจ้าพระยาสรศรี (น้องชายเจ้าพระยาจักรี ด้วง) พระเจ้าหลานเธอ กรมขุนราม เหล่านี้เป็นแม่ทัพรอง ๆ ลงมา


โปรดให้กองทัพไทยออกใน เดือนยี่ ปีฉลู พ.ศ. ๒๓๒๔ คือจากปราบกบฏญวนในพระนครครึ่งเดือนเท่านั้น

ในชั้นต้น พวกกบฎขอให้พระสงฆ์เข้าไปถวายพระพร ทูลขอให้พระองค์เสด็จออกทรงผนวช เพื่อสะเดาะพระเคราะห์เมืองสัก ๓ เดือน สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ทรงรับคำทูล โปรดให้ข้าราชการผู้ใหญ่ที่ปรึกษาดูตามความสมควร เวลานั้นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มรพระยาสรรคบุรี (บรรพบุรุษแห่งสกุลแพ่งสภา) พระสารามัญวงศ์ (มะซอน บรรพบุรุษแห่งสกุลศรีเพ็ญ) เป็นต้น ล้วนแต่ซื่อสัตย์จงรักภักดีในพระองค์อย่างยิ่งยวด ข้าราชการเหล่านั้นคงจะได้คำนึงถึงกำลังส่วนใหญ่ที่ต้องส่งออกไปภาคตะวันออก จะทำผลีผลามลงไปในขณะนี้ ฉวยว่ามีการผันแปรต่างประเทศด้านอื่นเกิดขึ้นแทรกแซง จะเรียกกำลังจากภาคตะวันออกกลับมาไม่ทันท่วงที อีกประการหนึ่งพวกราษฎรก็ถูกปลุกปั่นให้เข้าใจผิด ความเข้าใจผิดอาจลุกลามไปมาก ในเมื่อไม่รีบหาทางแก้ไขเสียในชั้นต้น ฉะนั้นควรจะมีทางมองเห็นทางเดียวที่ควรกระทำก่อน คือขอให้ทรงยอมตามความประสงค์ดังที่พวกกบฎขอให้พระสงฆ์ทูลแล้วนั้น

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไม่ทรงขัดข้องอย่างใด ตกลงเสด็จออกทรงผนวชวันอาทิตย์ เดือน ๙ แรม ๑๒ ค่ำ ที่วัดแจ้ง อันเป็นวัดในพระบรมมหาราชวัง (เช่นเดียวกับวัดพระแก้วมรกตในวังหลวงทุกวันนี้) ในการเสด็จออกทรงผนวชนี้ ความจริงหาขาดจากพระราชตำแหน่งไม่ เพราะมีกำหนดแน่นอน ว่าจะเสด็จนิวัติกลับสู่ราชบัลลังก์ภายหลังเมื่อทรงผนวชแล้ว ๓ เดือน ส่วนราชการบ้านเมืองก็มีข้าหลวงรักษาพระนครตามธรรมเนียม (เหมือนคราวเสด็จออกทรงผนวชในรัชกาลที่ ๕)


เหตุไฉนพวกกบฏจึงขอให้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จออกทรงผนวช ทำไมจึงไม่บุกบั่นเข้าถึงพระองค์แล้วจับสำเร็จโทษเสียเล่า


ข้อนี้คงเป็นเพราะกำลังของพวกกบฏยังไม่พอจะทำได้เช่นนั้นประการหนึ่ง หรือบางทีอีกประการหนึ่งคงเป็นเพราะราษฎรไม่ต้องการเช่นนั้น แม้ว่า เหล่าราษฎรที่ถูกหลอกให้เข้ากองทัพมาทำการกบฎ ก็คงจะไม่ลืมพระคุณถึงกับคิดฆ่าพระองค์ทีเดียว ขอเพียงให้พระองค์ทรงผนวชชั่วคราวเท่านั้นก็พอแล้ว หากพวกกบฏแท้ ๆ จะคิดหักหาญเกินไป ความลับจะแดงขึ้นถึงต้องปะทะกับราษฎรอีกก็เป็นได้ จึงจำใจขอเพียงให้ทรงผนวช ๓ เดือน เพื่อให้ถูกใจราษฎรที่หลงเชื่อคำปลุกปั่นพลาง ๆ เมื่อราษฎรกลับคืนบ้านเรือนของตน ๆ หมดแล้ว เรื่องต่อไปคิดอ่านภายหลังก็คงได้ เพราะผนวชแล้วจะเชือดเนื้อถือหนังอย่างไร เมื่อไม่เกรงบาปในการทำลายพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ก็ย่อมจะทำได้ง่าย ๆ แต่ความโหดร้ายจะติดแผ่นดินอยู่ไม่รู้สิ้น

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงผนวชแล้ว ๑๒ วัน พระยาสุริยอภัย (ทองอิน) หลานเจ้าพระยาจักรี (ด้วง) ซึ่งโปรดให้ออกไปเป็นเจ้าเมืองนคราชสีมา ยกทัพมาจากนครราชสีมา โดยมิได้รับพระบรมราชานุญาต แต่ในพงศาวดารว่าเจ้าพระยาจักรี (ด้วง) ให้รีบยกเข้ามาฟังเหตุการณ์ในกรุงก่อน พระยาสุริยอภัย (ทองอิน) ยกทัพเข้ามาตั้งมั่นอยู่ที่ตำบลบ้านปูน ตอนเหนือพระราชวังหลวง พงศาวดารได้เสริมความตอนนี้ให้รุนแรงขึ้นไปอีกว่า พระยาสุริยอภัย (ทองอิน) กับพระยาสรรค์ปรึกษากันให้สึกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชออกจากเพศพระภิกษุแล้วพันะนาการไว้ด้วยเครื่องสังขลิกพันธ์ (โซ่ตรวน)

แต่ข้อนี้ ไม่อาจจะเป็นไปได้ เพราะจดหมายเหตุความทรงจำยืนยันว่า จนถึงเวลาทีพระเจ้าหลานเธอกรมขุนอนุรักษ์สงคราม ยกกองไปปราบกองทัพ พระยาสุริยอภัย (ทองอิน) นั้น สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยังทรงผนวชอยู่ตามเดิม ทั้งพระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ (ด้วง) ทรงชำระเรียบเรียงพิมพ์เป็นประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๕ ก็รับรองว่า ขณะที่เจ้าพระยาจักรี (ด้วง) ยกทัพรีบรุดเข้ามาถึงกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยังทรงเพศเป็นพระภิกษุอยู่ เป็นอันฟังได้ว่า ในตอนนี้ยังไม่ถูกจับสึกและพระยาสุริยอภัย (ทองอิน) คงไม่กล้าพอที่จะหักหาญจับพระผู้กู้ชาติสึกง่าย ๆ

แต่การมาของพระยาสุริยอภัย (ทองอิน) ในลักษณะเช่นนี้ คงทำให้พวกข้าหลวงรักษาพระนครคิดไปในแง่ร้าย เพราะพวกกบฏมีนายบุนนาค หลวงสุระ เป็นต้น เข้าสมทบกับพระยาสุริยอภัย (ทองอิน) การบริหารราชการจึงยากที่จะเป็นไปตามปกติความไม่สงบก็พลันที่จะเกิดขึ้นทั่ว ๆ ไป พวกพลอยผสมผสานก็เทไปเทมาตามที่เห็นว่าจะได้ประโยชน์แก่ตัวในขณะนั้น พวกเหล่านี้ไม่มีเวลาคำนึงถึงความมั่นคงของประเทศ บ้านเมืองเลย ลางแห่งความระส่ำระสายปรากฏขึ้นเฉพาะหน้าแล้ว ก็จำเป็นที่ข้าหลวงรักษาพระนครจะต้องรีบจัดการตัดต้นเหตุเสียโดยเร็ว ปรึกษาตกลงกัน ขอให้พระเจ้าหลานเธอกรมขุนอนุรักษ์สงครามทรงดำเนินงานตามที่เห็นสมควรต่อไป

กรมขุนอนุรักษ์สงครามจึงระดมกำลังเท่าที่จะหาได้ในเวลานั้น รีบยกไปตีกองทัพพระยาสุริยอภัย (ทองอิน) ที่ตำบลบ้านปูน ณ วันอังคาร ที่ ๒ เมษายน พ.ศ.๒๓๒๕ เป็นเวลาภายหลังที่พระยาสุริยอภัย (ทองอิน) เดินทัพเข้ามาในกรุง และตั้งมั่นอยู่ ๑๑ วัน แต่กำลังของกรมขุนอนุรักษ์สงครามน้อยนัก เป็นธรรมดาน้ำน้อยต้องแพ้ไฟ กรมขุนอนุรักษ์สงครามจึงไม่สามารถตีทำลายกองทัพพระยาสุริยอภัย (ทองอิน) ลงได้ตามความประสงค์ ต้องล่าถอยไปทางวัดยาง ในที่สุดถูกพวกพระยาสุริยอภัย (ทองอิน) จับได้ พระยาสุริยอภัย (ทองอิน) จึงขยายวงค่ายแผ่กว้างออกมา จนใกล้พระราชวังหลวง

นี่เป็นข้อประจักษ์ชัดแล้วว่า พวกชาวกรุงเก่าถูกหลอกให้เฮโลเข้ามาทำการกบฎต่อพระผู้กู้ชาติของตนเองแต่ผลแห่งการกบฎนั้น พวกราษฎรคงนึกไม่ถึงว่าจะเป็นเหตุให้พระผู้กู้ชาติของตนต้องถูกปลงพระชนม์
ทั้งที่ทรงเพศเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา (และเขาได้สำนึกดีต่อเมื่อคราวถวายพระเพลิงพระบรมศพในปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๒๗ โดยร้องไห้บูชาพระคุณอย่างน่าสังเวช)

ในขณะที่จะเกิดรบกัน ระหว่างกรมขุนอนุรักษ์สงคราม กับกองทัพพระยาสุริยอภัย (ทองอิน) นั้น สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ทรงทราบล่วงหน้าแล้ว มีพระราชดำรัสห้ามมิให้ต่อรบกัน เพราะทรงต้องการความสงบแก่บ้านเมืองเป็นสำคัญ แม้จะมีการเปลี่ยนแปลง ก็ควรเปลี่ยนในลักษณะที่สงบ เพราะเป็นไทยด้วยกันทั้งนั้น ไม่ใช่ข้าศึกต่างเมืองมาแต่ไหน และพระองค์เอง ก็คือ พระผู้กู้ชาติให้ไทยกลับฟื้น ไม่ใช่ยักษ์มารหรือคนทรยศชาติอย่างใดอย่างหนึ่งเลย พระองค์โปรดให้เลือกดำเนินในทางสงบ ก็เพื่อมิให้ราษฎรต้องพลอยเสียเลือดเนื้อ สงวนเลือดเนื้อไว้ใช้เพื่อชาติดีกว่า แต่พระราชปรารภสันติภาพเพื่อสันติสุขแก่ชาติไทยเช่นนี้ สำหรับสมัยนั้นต้องนับว่าสูงเกินไปมิใช่หรือ ใครเล่าจะเข้าใจถึงพระราชประสงค์อันแท้จริง

เมื่อกรมขุนอนุรักษ์สงครามถูกจับแล้ว ๓ วัน พอเช้าวันที่ ๖ เมษายนเจ้าพระยาจักรี (ด้วง) ก็รีบเดินกองทัพใหญ่มาถึงพระนคร แต่ก่อนจะมานั้นได้ให้กองทัพญวนและเขมรช่วยล้อมกองทัพสมเด็จพระมหาอุปราชเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ไว้

ในวันที่กองทัพเจ้าพระยาจักรี (ด้วง) เข้ามาถึงนั้นเอง ได้มีการสอบถามความเห็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เป็นจำนวนมาก ว่าเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้แล้วจะควรทำอย่างไรต่อไป

บรรดาข้าราชการที่ยังจงรักภักดีในพระราชกิจจานุกิจ และเชื่อในพระราชปรีชาสามารถของพระองค์ ก็ยินคำว่จะไปกราบทูลอันเชิญเสด็จขอให้ลาผนวชออกมาครองราชสมบัติบริหารการแผ่นดินโดยด่วน


ในเรื่องนี้ได้ความตามคำบอกเล่าจากเจ้านายบางองค์ในราชวงศ์จักรีว่า ข้าราชการพวกที่กล้าพูดเช่นนั้น เพราะเป็นคนรักความจริงอย่างเด็ดเดี่ยว คนเหล่านั้นทราบดีว่าถ้าพูดก็ต้องตาย แต่ไม่กลัวตายจึงกล้าพูด ในที่สุดก็ถูกคุมตัวไปประหารชีวิตทั้งหมด ส่วนสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ถูกปลงพระชนม์ในวันนั้นเอง ณ พระวิหารที่ประทับในวัดแจ้ง (วัดอรุณราชวรารามในปัจจุบันนี้) รวมวันตั้งแต่เสด็จออกทรงผนวช จนถึงวันถูกปลงพระชนม์ได้ ๒๘ วัน โหรจดไว้ว่าดับขันธ์ ไม่ใช้คำว่าสิ้นพระชนม์ หรือ สวรรคต ก็เพื่อยืนยันว่า


พระองค์ท่านถูกปลงพระชนม์ทั้งที่ทรงเพศเป็นพระภิกษุ จึงใช้คำว่าดับขันธ์ เพื่อให้เข้าใจว่ามิได้สวรรคตเมื่อลาผนวชออกมาความจริงพระองค์ดำรงสมณเพศจนตลอดพระชนม์ชีพ


เมื่อการปลงพระชนม์เสร็จเรียบร้อยแล้ว เชิญพระศพไปฝังไว้ที่วัดอินทารามบางยี่เรือ ใกล้ตลาดพลู คลองบางหลวง (เวลานั้นยังเรียกวัดบางยี่เรือ) บรรดาศพข้าราชการที่จงรักภักดีในพระองค์ มีเจ้าพระยานครราชสีมา (บุญคงต้นสกุลกาญจนาคม) พระยาสรรค์ (บรรพบุรุษสกุลแพ่งสภา) พระยารามัญวงศ์ (ต้นสกุลศรีเพ็ญ) พระยาพิชัยดาบหัก (ทองดี ต้นสกุลวิชัยขัทคะและพิชัยกุล) เป็นต้น จำนวนมากกว่า ๕๐ นาย ก็ถูกฝังเรียงรายใกล้พระศพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนั้น

ต่อจากนี้เจ้าพระยาจักรี (ด้วง) ก็ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งประมุขไทย เริ่มการสร้างพระราชวังใหม่ที่ฟากตะวันออก ตรงที่ตั้งค่ายมั่นทหารบกของกรุงธนบุรี ริมฉางหลวง


ฝ่ายพระราชวงศ์กู้ชาติที่ยังเหลือ ถ้าเป็นเจ้าชายชั้นทรงพระเจริญวัยก็ถูกจับปลงพระชนม์หมด เอาไว้แต่ที่ทรงพระเยาว์และเจ้าหญิง ถอดพระยศออกแล้วเรียกว่า “หม่อม” เหมือนกันทุกพระองค์ แม้จนกระทั่งสมเด็จพระราชินี และสมเด็จพระน้านาง เป็นการถอดอย่างที่ไม่เคยมีมา แต่กระนั้นพระราชวงศ์กู้ชาติยังคงสืบสายไม่ขาดมาจนถึงทุกวันนี้


ฝ่ายเจ้าพระยาอินทวงศา อัครมหาเสนาธิบดีฝ่ายกลาโหม ขณะนั้นตั้งวังปราบบัญชาการทัพอยู่ที่ปากพระใกล้เมืองถลาง ทราบว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชถูกปลงพระชนม์แล้ว ท่านก็ฆ่าตัวตายตามสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเพราะไม่ยอมเป็นข้าคนอื่น แต่ก็ไม่ปรารถนาหาอำนาจแก่ตัว ในท่ามกลางความเดือดร้อนของพี่น้องชาวไทย

เมื่อข่าวการปลงพระชนม์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแพร่ออกไปแล้ว เมืองตะนาวศรีและเมืองมะริดอันเป็นเมืองสำคัญทางตฃภาคตะวันตกก็หลุดลอยไปจากไทยตกอยู่แก่พม่าในปีนั้นเอง ส่วนความเกี่ยวข้องกับญวนตามสัญญาลับ ไทยต้องช่วยญวนต่อรบพวกราชวงศ์เล้ (ที่เรียกไตเซิง) ๒ ครั้ง และช่วยอาวุธยุทธภัณฑ์อีกนับไม่ถ้วน ผลสุดท้ายเมื่อญวนกลับตั้งราชวงศ์องเชียงสือสำเร็จ มีอำนาจใหญ่โตขึ้น ไทยต้องเสียเมืองพุทไธมาศแก่ญวนอย่างน่าอับอาย และเสียประโยชน์อีกมากต่อมาก เรื่องนี้ใครเป็นผู้รับผิดชอบขอยกไว้ไม่ต้องกล่าว


ลองหันไปตรวจดูปีสุดท้ายของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชอีกครั้งหนึ่ง จะเห็นได้ว่าเป็นปีที่เต็มไปด้วยพระคุณ เป็นปีที่ไทยจะเกรียงไกรยิ่งขึ้น แต่โชคยังไม่อำนวยให้แก่แผ่นดินไทย เพราะฉะนั้น พอปลงพระชนม์พระองค์ท่านไม่นานนัก ก็ต้องเสียเมืองสำคัญ เสียชีวิตแม่ทัพนายกอง เสียความเข้มแข็ง เสียมาตามลำดับกาลเวลา กว่าโชคจะกลับอำนวยความรุ่งเรืองก็เริ่มขึ้นใหม่ ดังที่เริ่มอยู่ในบัดนี้


ปรีดา ศรีชลาลัย

ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๓
ฉบับที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๒๔


คัดโดย : ตามที่ร้องขอ
ที่มา : Historical and Archaeological Webboard

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำไปตามความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

ไม่มีความคิดเห็น: