หมายเหตุ:
ข้างล่างนี้ เป็นบทสัมภาษณ์ของผมเกี่ยวกับขบวนการ 14 ตุลา โดยเฉพาะในประเด็นความสัมพันธ์กับ พคท. บทสัมภาษณ์นี้ตีพิมพ์ครั้งแรก ใน เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ 9 ฉบับ 437 วันที่ 16-22 ตุลาคม 2543 (4 ปีก่อน) ในการตีพิมพ์ครั้งนั้น ผู้สัมภาษณ์ คือ คุณ ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข ได้เรียบเรียงใหม่ ในลักษณะกึ่งรายงาน-บทความ (คือ บางตอนเป็น direct quotations บางตอน ก็เป็นการเขียนสรุปของ คุณชูวัส เอง) แล้วตั้งชื่อว่า “แลไปข้างหลัง 2516-2619 ขบวนการนักศึกษากับซ้ายไทย” เนื่องจากผมไม่มีโอกาสตรวจทานก่อนตีพิมพ์ (ซึ่งเป็นปกติของการสัมภาษณ์แบบนี้) จึงมีบางตอน ที่ข้อความ คาดเคลื่อนไป ผมได้แก้ไขและนำมาเผยแพร่ซ้ำในที่นี้ ก็เพราะเห็นว่า อาจจะมีความน่าสนใจ นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่สนใจในเชิง “ประวัติศาสตร์นิพนธ์” ของการอธิบาย 14 ตุลา ในการสัมภาษณ์นี้ ผมได้เสนอไอเดีย 2 อย่าง
(1) การอธิบาย 14 ตุลา เราต้องมองว่า มีกระแสความคิดหลายกระแส (ที่บางส่วนขัดแย้งกัน) ในขบวนการนักศึกษาก่อน 14 ตุลา (ไม่ใช่เพียงมองว่า แบ่งเป็น “ศูนย์นิสิต” กับ “กลุ่มอิสระ” อย่างที่เคยพูดกันก่อนหน้านั้น) เหตุการณ์ 14 ตุลา เป็นการบรรจบร่วมกันของกระแสความคิดเหล่านี้ ไอเดียนี้ ผมสรุปขึ้นในช่วงระหว่างที่ทำวิทยานิพนธ์ (ปลายทศวรรษ 2520) และได้นำเสนอบางส่วนในบทนำของวิทยานิพนธ์นั้น (2535) หลังจากนั้น ก็ได้นำเสนอในการบรรยายในที่ต่าง ๆ เรื่อยมา โดยเฉพาะในระหว่างการสอนที่ธรรมศาสตร์ตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมา บทสัมภาษณ์ในปี 2543 ชิ้นนี้ เพิ่งเป็นครั้งเดียวที่ผมมีโอกาสนำเสนอในลักษณะเป็นสาธารณะ ผมได้แต่หวังว่าในอนาคต อันใกล้จะมีเวลามากพอจะเรียบเรียง เรื่องนี้ขึ้นเป็นงานเขียนขนาดยาวได้
(2) ความเปลี่ยนแปลงของปัญญาชนไทยที่เติบโตขึ้นจาก 14 ตุลา ในระยะตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา โดยเฉพาะในการหันไปยอมรับ สถาบันกษัตริย์ ผมคิดเรื่องนี้อย่างจริงจังประมาณ 2-3 ปีก่อนหน้าการสัมภาษณ์นี้ คือ ในช่วงประมาณปี 2540 ความจริง ตอนให้สัมภาษณ์ ผมได้ขอให้เป็นการ "คุยให้ฟังเฉย ๆ ไม่ต้องไปตีพิมพ์" เพราะในปี 2543 นั้นการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ตรง ๆ ยังไม่ใช่เรื่องที่ทำกันบ่อยนัก (แม้ผมจะได้บรรยายในห้องเรียนและในวงอภิปรายต่าง ๆ เป็นประจำ) แต่คุณชูวัส คงจำที่ขอไม่ได้ จึงนำไปเรียบเรียงลงพิมพ์สั้น ๆ ในตอนท้ายรายงาน (ผมพูดจริง ๆ ยาวกว่านี้) ซึ่งเมื่อมองย้อนหลังไป ผมก็ได้แต่ต้องขอบคุณ (สำหรับเรื่องนี้ ผมได้เขียนเพิ่มเติมไว้ใน "ชัยชนะของปัญญาชน 14 ตุลา" ที่เคยเผยแพร่ไปก่อนหน้านี้)
............................................
เศรษฐกิจสังคมไทยจะฟื้นหรือไม่ฟื้น ยังเป็นเรื่องถกเถียงกันอยู่ ทว่า ความเคลื่อนไหวของกลุ่มองค์กรภาคประชาชนที่คึกคักกันอยู่ในเวลานี้บ่งบอกอะไรไม่น้อยต่อกระบวนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ จนมีบางคนบอกว่า สังคมนิยมจะกลับมา และนั่นทำให้เราแสวงหาโอกาสพูดคุยกับ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประจำสาขาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้นำนักศึกษาเดือนตุลาเพื่อค้นหารากและที่มาของความคิดที่กำลังเบ่งบานหลากหลายในสังคมไทยขณะนี้ รวมทั้งเพื่อร่วมชำระประวัติศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 อีกทางด้วย
เราเริ่มคำถามแรกจากคำกล่าวว่า เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นอุบัติเหตุ เพื่อหารอยความคิดรอยต่างๆ ก่อนที่ อ.สมศักดิ์ จะอธิบายว่า "ที่ว่าเหตุการณ์ 14 ตุลาคม เป็นอุบัติเหตุนี่มองได้หลายแง่มุม เนื่องจากฝ่ายนักศึกษาไม่ได้วางแผน ไม่ได้ต้องการอำนาจรัฐ คนอื่นเลยได้ประโยชน์ไป นี่ก็เป็นอุบัติเหตุ วันที่ 14 ตอนเช้าที่ปะทะ นั่นก็คืออุบัติเหตุ เมื่อจอมพลถนอมต้องถูกไล่ออกไป ทำไมจอมพลถนอมจึงออกอาจจะเป็นปัญหาเรื่องการต่อรอง นั่นก็เป็นอุบัติเหตุ"
"กลุ่มคุณธีรยุทธ บุญมี ที่เคลื่อนไหวเรื่องรัฐธรรมนูญและกลุ่มในธรรมศาสตร์อย่างองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.)หรือกลุ่มอิสระทั้งหลายก็เป็นคนละกลุ่ม คนละกระแสกัน นั่นคือ ก่อน 14 ตุลาฯ ขบวนการนักศึกษาไม่ได้มีความเป็นเอกภาพอะไรเลย มองในแง่นี้เหตุการณ์ 14 ตุลาก็เป็นอุบัติเหตุ ไม่เหมือนในช่วงหลังในปี 2518-2519 ที่การเคลื่อนไหวแต่ละครั้งจะมีการคุยกันมีการกำหนดจังหวะก้าว"
5 กระแส แต่ 1 เป้าหมาย ...
"กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญของธีรยุทธ บุญมี โดนจับขึ้นมา แรกทีเดียวศูนย์นิสิตฯ จะไม่ทำอะไร เพียงแต่เสนอประเด็นเรียกร้องให้ขึ้นศาล โดยเร็วเพื่อสู้คดีกันในศาลเพราะวิธีคิดของเขาตอนนั้นคิดแบบเป็นทางการ ในขณะที่กลุ่มนักศึกษาจำนวนหนึ่ง บอกว่า อย่างนี้ไม่ได้ต้องประท้วง ก็เลยมีการหยุดเรียน หยุดสอบ ในแต่ละขั้นตอนเหล่านี้จึงต้องเรียกว่าเป็นไปเอง ไปจนกระทั่ง เหตุการณ์วันที่ 12-13 จนถึงเช้าวันที่ 14 แล้วก็เกิดการปะทะ" ต่อจากนั้น อ.สมศักดิ์ก็จำแนกกลุ่มและกระแสความคิดในช่วงนั้นว่า
"ความแตกต่างในขบวนการนักศึกษานั้น เราเคยแบ่งคร่าว ๆ ออกเป็นฝ่ายศูนย์นิสิตฯ กับกลุ่มอิสระ แต่ถ้าดูแล้วอาจจะแบ่งได้ถึง 5 กระแส ที่ผมเรียกว่าเป็นกระแสไม่ใช่เป็นกลุ่มเพราะถ้ามองเป็นกลุ่มก็ต้องคิดว่าคนนี้อยู่กลุ่มนี้ ไม่อยู่กลุ่มอื่นซึ่งไม่ใช่ แม้กระทั่งที่ผมพูดว่ามีความขัดแย้งระหว่างศูนย์ฯ กับกลุ่มอื่นๆ แต่ถึงที่สุด ก็คือ เพื่อนกัน เห็นหน้าเห็นตากันแต่วิธีคิดท่วงทำนองไม่เหมือนกันซึ่งคนหนึ่งอาจจะอยู่ในกระแสความคิด คือ ได้รับอิทธิพลด้านกระแสความคิด มากกว่าหนึ่งกระแสก็ได้ในความเห็นผมอาจจะนับได้ถึง 5 กระแส
"หนึ่ง ผมเรียกเองว่า กระแสวรรณกรรม-แสวงหา ไล่ตั้งแต่พระจันทร์เสี้ยวของสุชาติ สวัสดิ์ศรี วิทยากร เชียงกูล สุรชัย จันทิมาธร นิคม รายวา จรัล ดิษฐาอภิชัย กลุ่มสภาหน้าโดมยุคแรก (เสกสรรค์ มีพื้นฐานมาจากกระแสนี้) พวกนี้เขาโตขึ้นมาเอง ส่วนมากจะได้รับอิทธิพลจากฝรั่ง กระแสพวกฮิปปี้อะไรพวกนี้ เพราะพวกนี้ส่วนใหญ่จะอ่านภาษาอังกฤษกันได้"
"สอง คือ กระแสหลัก พวกนี้ไอเดีย ก็คือ เล่นการเมืองแบบเป็นทางการ แรก ๆ อาจจะคิดเรื่องการสังเกตการเลือกตั้ง ไปร่วมกับพรรคการเมือง อาจจะคิดในเชิงลงสมัครรับเลือกตั้ง คือ วิธีคิดแบบนี้กระแสแบบนี้ตอนหลังมันพัฒนาเป็นศูนย์นิสิตฯ สืบมาถึงธีรยุทธ บุญมี ถึง สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ก็จัดอยู่ในกระแสนี้ แม้หลัง ๆ ธีรยุทธหรือสมบัติ อาจจะไม่ได้คิดเล่นการเมืองในลักษณะนั้น แต่หมายความว่า วิธีคิดมันเป็นวิธีคิดที่ทำอะไรเป็นทางการ ทำอะไรตามกรอบ ตามลู่ทาง"
"จุดที่สำคัญที่ผมคิดว่าเป็นจุดเปลี่ยน ก็คือ ตอนที่ธีรยุทธขึ้นมาเป็นเลขาศูนย์ กลางปี 15-16 ในแง่วิธีคิด ธีรยุทธอาจจะเป็นกระแสหลักจริง แต่ถ้าจะเทียบไปแล้ว ถ้าใช้ภาษาในยุคหลัง เขาซ้ายที่สุดในหมู่พวกกระแสหลัก และเขามีวิธีคิดที่มีความยืดหยุ่นที่สุดถ้าพูดอีกอย่าง ก็คือ เขาฉลาด เขา intelligent ที่สุดในพวกกระแสหลัก พอเขาขึ้นมาจับงานศูนย์นิสิตฯ เขาเลยทำให้ศูนย์ฯกลายมาเป็นกลุ่มต่อรองทางการเมืองทันทีด้วยการจับเรื่องการต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น ก่อนหน้านี้ ศูนย์นิสิต ไม่มีอะไร ความจริงการต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นนี่เริ่มจากที่มหาวิทยาลัยเกษตรฯ แต่อย่างที่บอกว่าธีรยุทธเป็นคนที่ฉลาดและจับสถานการณ์เก่ง เขาเลยมาจับเรื่องนี้ (ปัจจุบันก็อาจจะเห็นได้ในเรื่องโพลล์ เรื่องการออกมาให้สัมภาษณ์เป็นครั้ง ๆ ซึ่งเขาเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว คือ จับสถานการณ์เก่ง)"
"กระแสที่สาม เป็น กระแสกลุ่มอิสระ คือพวก "กลุ่มอิสระ" ที่เราเรียกกัน ได้แก่ สภาหน้าโดม กลุ่มโซตัสใหม่ นี่อยู่ในกระแสนี้ สภาหน้าโดมนี่มีสองระยะ ระยะแรกเป็นระยะแสวงหา (กระแสแรกสุดของผมข้างต้น) แต่ระยะหลังที่มี สมชาย หอมละออ เทียนชัย วงศ์ชัยสุวรรณ เข้ามา นี่จะเป็นอีกพวกหนึ่งแล้ว เป็นกระแสที่สามนี้ เพราะพวกนี้ทิศทางมันออกมาเป็นแบบซ้าย ๆ กว่าเพื่อน ซ้ายในลักษณะคนที่ไม่ชอบจะเรียกพวกนี้ว่าเป็นพวกสังคมนิยม แต่พวกนี้ก็ไม่ใช่สังคมนิยมแบบที่มีการจัดตั้งหรืออะไร"
"ถ้าเปรียบเทียบ กับพวกกระแสวรรณกรรมข้างต้นหลายคนจะมาทางซ้ายเหมือนกัน (เช่น เสกสรรค์) แต่มีความแตกต่างกันอยู่ พูดง่าย ๆ กระแสกลุ่มอิสระนี้เหมือนพวกนักปฏิบัติมากกว่า ถ้าดูตัวบุคคล ก็อย่างเช่น เกรียงกมล เลาหะไพโรจน์ ยุค ศรีอาริยะ (เทียนชัย วงศ์ชัยสุวรรณ) พวกนี้เป็นนักกิจกรรม ขณะที่พวกแรกจะเป็นพวกปัญญาชน นักคิด เป็นพวกนักอ่านหนังสือ"
"กระแสที่สี่ พวกเขาเรียกกันเองว่าเป็น กระแสเสรีนิยม คือ พวกที่คำนูณ สิทธิสมาน เล่าไว้ในหนังสือ "ประวัติศาสตร์ 14 ตุลา ฉบับสามัญชน" ในลักษณะเป็นตำนานว่า พวกนี้เป็นพวกที่ไปอุดรูกุญแจประตูหรือพวกที่ขึงผ้า "เอาประชาชนคืนมา" ตอนเริ่มชุมนุม 14 ตุลา คำนูญเขาหมายถึงกลุ่มนี้ เขาไม่ได้หมายถึงกลุ่มอิสระ คนที่อาจจะพอรู้จักชื่อก็เช่น วิจิตร ศรีสังข์ ผมเข้าใจว่าอาจารย์สังศิต พิริยะรังสรรค์ ก็อาจจะคลุกคลีอยู่กับกลุ่มนี้"
"กระแสสุดท้าย ที่ผมจัดไว้ก็คือกระแสพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.) มีความเข้าใจผิดว่าพคท.นั้นมาทีหลังความจริง กระแสพคท.มีนักกิจกรรมร่วมอยู่ในขบวนการนักศึกษา ตั้งแต่ต้น อย่างเช่น กลุ่มสังเกตการณ์การเลือกตั้งปี 12 ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวครั้งแรกของนักศึกษา คนที่มีบทบาทมาก ๆ ในนั้น 1-2 คนเป็นคนของพคท. เป็นลูกหลานพคท. แล้วก็ทำหนังสือออกมาในนามกลุ่มสังเกตการณ์การเลือกตั้ง แล้วใส่พวกบทกวีซ้าย ๆ สมัยปี 2490 ลงไป หรือแม้กระทั่งกลุ่มอิสระต่าง ๆ ก่อน 14 ตุลา ก็มีแอคติวิสต์ของพคท.เข้าไปมีบทบาท กลุ่มผู้หญิง กลุ่มอะไรต่าง ๆ ในธรรมศาสตร์ที่ร่วมกันก่อตั้งพรรคพลังธรรม (พรรคนักศึกษา) นั้น ก็มีกระแส พคท.มาตั้งแต่ต้น เป็น 1 ใน 5 กระแสที่ว่า ซึ่งคนมักเข้าใจผิดว่า พคท.มาฉวยโอกาสทีหลัง"
เหตุการณ์ 14 ตุลา ก็เกิดขึ้น เพราะกระแสที่ซ้อนๆ กันอยู่นี้ ทั้งหมดมีจุดร่วมประการหนึ่งตรงที่ ต่อต้านทหาร เกลียดรัฐบาลทหาร มองในแง่นี้ เหตุการณ์ 14 ตุลา จึงเกิดขึ้นและชนะโดยขบวนการนักศึกษา ทั้ง ๆ ที่ไม่มีความเป็นเอกภาพมาก่อน หรือแม้หลังจากนั้น ชัยชนะก็ใช่จะนำมาซึ่งเอกภาพไม่
"อย่างที่รู้กันอยู่ว่า มีความขัดแย้งในช่วงการเดินขบวน (วันที่ 13 ตุลาคม 2516) หลัง 14 ตุลาเสร็จ ก็เริ่มทะเลาะกันว่า ทำไมจึงเดินขบวน ทำไมจึงเคลื่อนไปหน้าสวนจิตรลดา? พวกที่เข้าไปเจรจากับรัฐบาล มีการตกลงกับทรราชหรือเปล่า? ทำไมมากล่าว หาผู้นำขบวน (เสกสรรค์) ว่าเป็นคอมมิวนิสต์? ก็ทะเลาะกัน แล้วก็ออกมาในรูปที่สมบัติ เลขาธิการศูนย์นิสิตฯขณะนั้นต้องแสดงสปิริตลาออก มีการเลือกตั้งใหม่แต่สมบัติก็ได้รับเลือกใหม่ ซึ่งแสดงว่า วิธีคิดแบบสมบัติ (กระแสหลัก) ยังครอบงำขบวนอยู่ คนที่ลงแข่งกับเขาที่เป็นตัวแทนกลุ่มอิสระหรือว่าไปทางซ้ายหน่อยก็คือ ธเนศวร์ เจริญเมือง แต่ธเนศวร์ก็แพ้ไป...
หลังจากนั้นไม่นาน สมบัติก็ลาออกหรือหมดวาระไป แต่ช่วงประมาณ 1 ปี เศษ จากเดือนปลายปี 2516 หรือต้นปี 2517 จนกระทั่งถึงปลายปี 2517 ก็หาเลขาศูนย์ฯคนใหม่แทนสมบัติไม่ได้ ได้แต่ รักษาการณ์ ซึ่งสะท้อนความไม่เป็นเอกภาพของขบวนการนักศึกษา คือ เลือกได้แต่ รักษาการณ์เลขาฯศูนย์ หาเลขาฯตัวจริงไม่ได้ คนที่เคยเป็นรักษาการณ์ ก็เช่น ชั่งทอง โอภาสศิริวิทย์ และ วิรัช ศักดิ์จิระภาพงศ์"
"ช่วงปี 2517 เป็นช่วงที่กระแส 4-5 กระแสในขบวนนักศึกษาที่กล่าวข้างต้น ต่อสู้ทางความคิดกัน กระแสหลักแบบพวกสมบัติก็เริ่มอ่อนลง ธีรยุทธเองก็หันมาทางซ้าย ๆ พอจบแล้วก็ตั้งกลุ่มของเขาเองชื่อ ปช.ปช. (ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย) ก็ออกมาในทางซ้าย ๆ ปลายปี 2517 ต่อ ต้นปี 2518 กระแสฝ่ายซ้ายที่ได้รับอิทธิพลจาก พคท. เริ่มเข้ายึดกุมองค์การนักศึกษาในมหาวิทยาลัยหลัก ๆ ได้ ทำให้หนุนส่งเกรียงกมล เลาหะไพโรจน์ เป็นเลขาธิการศูนย์ฯได้ในเดือนมิถุนายน 2518 จากนั้นเอกภาพในขบวนนักศึกษาจึงเริ่มเกิดขึ้น พูดง่าย ๆ เอกภาพของขบวนการนักศึกษาเกิดขึ้นประมาณปีเศษก่อน 6 ตุลาเท่านั้นเอง"
การเข้ามาของ พคท. 1 ปีเศษ ๆ ภายใต้อิทธิพลความคิดของ พคท. องค์กรภาคประชาชนที่เข้มแข็งและทรงพลังมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย อาจจะสร้างเอกภาพในขบวนการนักศึกษาได้ แต่อะไรที่ทำให้ พคท.มีผลงานในเมืองชนิดก้าวกระโดดจนกระทั่งยึดกุมขบวนการนักศึกษาอันทรงพลังที่สุดได้รวดเร็วขนาดนั้น อ.สมศักดิ์ อธิบายว่า
"เรื่องนี้มีการพูดกันบ่อย ตอนที่ผมทำวิทยานิพนธ์ ก็ได้ถามความเห็นหลายคนว่าพคท.ครอบงำศูนย์นิสิตได้ เพราะอะไร ซึ่งก็แล้วแต่ แต่ละคนจะอธิบาย บางคนจะบอกว่าเป็นเพราะเรื่องจัดตั้งเขา(พคท.)แข็งกว่า โดยส่วนตัวผมคิดว่านี่ไม่ใช่เหตุผลชี้ขาด ผมเห็นว่าที่พคท.ครอบงำจริง ๆ เป็นเรื่องความคิด เอาเข้าจริง ๆ จนกระทั่งถึง 6 ตุลา คนที่อยู่ในจัดตั้ง พคท. ในแง่จำนวน เป็นตัวเลขจริง ๆ อาจจะไม่สูงแต่ทางความคิดนี่สูงมาก คนที่ไม่รู้เรื่องพรรค ไม่รู้จักจัดตั้ง ไม่รู้จักพรรคเลย แต่เชื่อวิธีคิดแบบพรรค อ่านหนังสือแล้วเชื่อ ฟังเพลงแล้วเชื่อ หรือเจอสถานการณ์การเเมืองแล้วเชื่อ ผมว่ามีลักษณะเป็นอย่างนี้ เป็นเรื่องความคิด มากกว่า เรื่องจัดตั้งในความหมายที่ว่า มี ย. (สมาชิกสันนิบาตเยาวชนแห่งประเทศไทย) มี ส. (สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) ผมว่าไม่ใช่ประเด็นหลัก อาจจะมี ย. มี ส.ที่มีบทบาทสำคัญ เป็นที่ยอมรับในขบวนการนั้นใช่ แต่ถ้าไม่มีกระแสความคิดบางอย่างที่คนในขบวนสมัยนั้นเชื่อถือ ผมว่าพรรคครอบงำไม่ได้"
"บางครั้งเวลาผมถามเรื่องนี้ คำตอบบางคน ฟังแล้วอาจจะดูตลก คือ บอกว่า พคท. ครอบงำขบวนการนักศึกษาได้เพราะศูนย์นักเรียน กับยุวชนสยาม ผมเองเคยเป็นสมาชิกยุวชนสยาม และเคยทำงานกับศูนย์นักเรียน แต่ไม่ได้อยู่ในสายจัดตั้ง ตอนทำวิทยานิพนธ์ ผมก็มาถามคนที่เป็นสายจัดตั้งจาก พคท.ว่ามันจริงหรือเปล่าที่ศูนย์นักเรียนและยุวชนสยามทำให้ขบวนการนักศึกษาเป็น พคท. เขาบอกว่า มีส่วนจริง แต่ไม่จริงทั้งหมด จริงตรงที่ว่า ตอนที่เกิด 14 ตุลา หรือก่อนและหลังจากนั้นใหม่ ๆ มีพวกนักเรียนที่ยังไม่ทันได้เข้ามหาวิทยาลัยหันมาสนใจทำกิจกรรมแล้ว พวกนี้จะได้กระแสของ พคท.ตั้งแต่แรก ๆ และ พคท.สามารถจัดตั้งกลุ่มนักเรียนบางส่วนได้ ถึงขนาดที่สมาชิกพรรคบางคนบอกว่า เราจัดตั้งระดับนักเรียนแข็งกว่าระดับนักศึกษา"
"พอพวกนี้เข้าไปในมหาวิทยาลัย เลยกลายเป็นกำลังหลักของกิจกรรมในมหาวิทยาลัยไป ที่เด่นที่สุดคือที่รามคำแหง รุ่นที่ดังๆ อย่าง บุญส่ง ชเลธร พินิจ จารุสมบัติ วิสา คัญทัพ ตอนเกิด 14 ตุลา พวกนี้บางคนอาจจะยังไม่จบ เพราะเรียนนาน แต่พวกนี้เป็นนักกิจกรรมรุ่นเก่า ไม่มีไอเดียเรื่องการจัดตั้ง มีแต่การเคลื่อนไหวแต่พอมีนักกิจกรรมที่มาจากนักเรียนจำนวนหนึ่งเข้าไปในปี 17-18 พวกนี้เริ่มรับกระแส พคท. ตั้งแต่เป็นนักเรียน พอเข้าไปถึงก็เข้าไป takeover พรรคสัจธรรม แล้วก็กลายเป็นกำลังหลักของพรรคสัจธรรมไป เป็นต้น ธรรมศาสตร์เองก็เช่นกัน พร้อมๆ กันนั้นพวกนี้ (อดีตนักเรียนที่ได้อิทธิพล พคท.) ก็มีส่วนกระตุ้นทำให้นักศึกษาที่ทำกิจกรรม รุ่นที่เพิ่งเข้ามหาวิทยาลัยในช่วงนั้นพร้อมพวกเขา กลายเป็นซ้ายแบบพคท. (ซึ่งต่างจากรุ่นเก่าก่อน 14 ตุลา) ไปด้วย"
"ที่ผมว่าพคท.เข้ามา เป็นเรื่องความคิดมากกว่าเรื่องการจัดตั้งนั้น ถ้าเราเริ่มมองจากกรณีนิทรรศการจีนแดงในต้นปี 2517 ตอนที่จัดนิทรรศการจีนแดงนั้น คนของพคท.ไม่ได้เป็นคนจัดนะ คนที่จัดนั้นมาทางซ้าย แต่มาทางกลุ่มอิสระ (กระแสที่ 3 ข้างต้น) มากกว่า คือ ความสนใจเรื่องจีนแดงนั้นมาจากกระแสในขบวนการนักศึกษาที่ไม่ใช่กระแสหลัก ในปีนั้น กระแส พคท.ก็ยังไม่ครอบงำ นิทรรศการนั้นประสบความสำเร็จมาก คนดูล้นหลาม เป็นการระเบิดของความอยากรู้ที่โดนกดก่อนมานานก่อนหน้า 14 ตุลา คนที่ทำนั้นไปทางซ้าย ๆ จริง แต่ไม่ได้ซ้าย แบบ พคท. อาจจะมีการแปลหนังสือกันเอง ยกตัวอย่างเช่น อมธ. แปล The Communist Manifesto เอง แปลจากภาษาอังกฤษ สมัยหลังนี่ไม่ต้องแปลจากภาษาอังกฤษแล้ว เพราะ พคท.มีฉบับที่แปลจากภาษาจีนออกมาพิมพ์ให้ แต่สมัยนั้นเป็นประเภทซ้ายแบบเป็นไปกันเองเลยต้องแปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย"
"ไม่เฉพาะเรื่องนิทรรศการจีนแดง อย่างเรื่องนาทราย ต้นปี 2517 ธีรยุทธก็ทำไปเอง เรื่อง 4 กรกฎา 2517 แอนตี้อเมริกา แล้วก็เกิดกรณีจลาจลพลับพลาชัย เรื่องเหล่านี้นักศึกษาทำไปเองทั้งนั้น พอถึงกลางปี 2517 นักศึกษาก็เริ่มโดนโจมตี ศูนย์ฯเริ่มป่วน ไม่มีการนำระดับกว้าง เคลื่อนไหวไม่เป็นทิศเป็นทาง หาเลขาฯก็ไม่ได้ เริ่มมีคนด่าแล้ว ตอนที่เริ่มโดนโจมตีตอนนั้นกระแส พคท.ก็ยังไม่ได้ครอบงำ แต่ช่วงนี้เองที่คุณผิน บัวอ่อน อดีตกรมการเมือง พคท. ที่โดนจับและถูกปล่อยตัว แต่ด้วยเหตุผลอะไรไม่แน่ชัด แกไม่กลับเข้าไปในพรรค ไม่กลับเข้าป่า ก็เสนอบทความออกมา 3-4 ชิ้น หนึ่งในนั้น คือ "สถานการณ์ปัจจุบันและภาระหน้าที่ของขบวนการนักเรียน นิสิตนักศึกษา" ใช้นามปากกา "อำนาจ ยุทธวิวัฒน์" บทความออกมาวิจารณ์ขบวนการนักศึกษาว่า ซ้ายเกินไป ผมยังจำได้ ตอนที่เอกสารออกใหม่ ๆ คนในขบวนการนักศึกษาบางคนยังเข้าใจว่านี่เป็นเอกสาร พคท. เพราะสำนวนการเขียนเหมือน พคท.มาก"
ผิน บัวอ่อน-เช กูวารา-จิตร ภูมิศักดิ์ ...
จุดกระตุ้นให้ พคท. ครอบงำขบวนการนักศึกษาทางความคิด
"ในความเห็นส่วนตัวของผม นี่เองที่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ พคท.เข้ามาครอบงำขบวนการนักศึกษาได้ซึ่งคนอื่นอาจจะไม่เห็นด้วยในจุดนี้ ผมคิดว่าก็เพราะคุณผินนี่แหละที่เป็นตัวกระตุ้น พอคุณผินออกเอกสาร พคท.ก็ออกเอกสารมาโต้ แล้วพอ พคท.ออกเอกสารมาโต้ ขบวนการนักศึกษาซึ่งก่อนหน้านี้รู้จักแนวทาง พคท. แบบไม่ชัดเจน พออ่านการโต้กันก็เลยสว่าง ชัดเจนในแนวทาง กลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้กระแส พคท.ครอบงำ นี่คือการตีความของผม"
"จุดหลัก ๆ ที่คุณผินเสนอ ก็คือ อย่าซ้ายเกินไป อะไรทำนองนี้ แต่ พคท.โต้ว่า การวิจารณ์ของคุณผินว่าไม่ควรซ้ายเกินไป ก็เพื่อต้องการจะหลอกนักศึกษาว่า ต้องให้เดินแนวทางรัฐสภา พคท.บอกว่า ถึงที่สุดแล้ว สังคมไทยมันต้องปฏิวัติด้วยชนบทล้อมเมือง ทีนี้ในสถานการณ์ตอนนั้นถ้าให้เลือกระหว่าง 2 อันนี้ - - ผมคิดว่าถ้าจะแฟร์ต่อคุณผิน แกไม่ได้เขียนว่าต้องชูระบบรัฐสภาเสียทีเดียว แต่ขณะเดียวกัน แกก็ไม่ได้เขียนในทำนองว่าต้องปฏิวัติด้วยชนบทล้อมเมืองเสียทีเดียวเหมือนกัน งานของแกนั้นกำกวม มองในแง่ร้ายก็อาจจะบอกว่า แกเขียนกำกวมเพื่อให้นักศึกษาหันไปในแนวทางปฏิรูป ผมเคยคุยกับแก แกเองก็บอกว่า แกเป็นนักปฏิวัติ แต่ที่แกเขียนแบบนี้ เพราะว่าแกเองก็อยู่ในเมือง เขียนให้ซ้ายมากไม่ได้ - - ทีนี้ถ้าให้เลือกระหว่าง 2 อัน ระหว่างคุณผินที่เสนอไม่ให้ซ้ายเกินไป กับ พคท.ที่เสนอตูมลงมาเลยว่า ต้องปฏิวัติด้วยชนบทล้อมเมือง กระแสส่วนใหญ่มันก็ไปทาง พคท."
"ปัจจัยที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ การยอมรับ จิตร ภูมิศักดิ์ การยอมรับจิตรนั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ผู้นำ พคท.ในเมืองบางคนที่รู้จักคุณจิตร ด้วยเหตุผลทั้งในแง่ส่วนตัวที่สะเทือนใจที่คุณจิตรเสียชีวิต กับทั้งเหตุผลในแง่ต้องการส่งอิทธิพลต่อเยาวชน ที่เติบโตขึ้นมาในช่วง 14 ตุลา(ซึ่ง พคท.เรียกว่าเป็นพวก "ซ้ายใหม่")ผู้นำพคท.คนนี้ เขาก็มีความคิดว่า วิธีที่ดีที่สุดที่จะส่งผลสะเทือนต่อพวกเยาวชน ("ซ้ายใหม่") เหล่านี้ ก็คือ การสร้างฮีโร่ให้พวกเขา ครั้งแรกเขาก็พยายามปล่อย เช กูวารา ออกมา มีการโฆษณาเรื่อง เช กูวารา ก็ได้รับการต้อนรับกันเยอะ คนที่ไม่รู้จัก พคท. ก็รับเช พอเชที่เหมือนเป็นกระแสที่ปูพื้นได้รับการยอมรับแล้ว เขา (ผู้นำพคท.ในเมือง)ก็ปล่อยจิตร ภูมิศักดิ์ตามออกมา พิมพ์หนังสือจิตร ออกมาผ่านมาทาง "ชมรมหนังสือแสงตะวัน" ที่เป็นหน่วยงานของ พคท. แรก ๆ หนังสือจิตรที่พิมพ์นั้นมาจากสายงาน พคท.ทั้งนั้น บางเล่มนักศึกษาเอาไปพิมพ์โดยบังเอิญเองก็ใช่ แต่เล่มที่มาจาก พคท. ซึ่งเป็นชิ้นที่สำคัญ เช่น "โฉมหน้าศักดินาไทย", "ทีปกร ศิลปินนักรบของประชาชน" การที่นักศึกษานิยมจิตร ที่เป็นตัวแทนของปัญญาชนที่จับอาวุธ โดยปริยาย คือ เป็นการยอมรับว่า นี่เป็นหนทางที่ถูกนะ หนทางชนบทล้อมเมืองเป็นทางเลือกที่ถูก ปัจจัยเหล่านี้ก็รวมๆ กันเข้า (การถกเถียงกับผิน-เช-จิตร) ความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ที่ทำกิจกรรมสมัยนั้น ก็เริ่มยอมรับว่าต้องปฏิวัติด้วยชนบทล้อมเมือง"
"แม้ช่วงหลัง เช จะหายไป เพราะมีการทะเลาะกันในสายงาน พคท. บางสายว่า เช นี่มันไม่ถูกนะ เป็น "ลัทธิเสือจร" คือ ตอนนั้นสายงาน พคท.ในเมือง มีอยู่ใหญ่ ๆ 2 สาย สายหนึ่งเป็นสายหลัก อีกสายเขาเรียกว่า สายลุงประโยชน์ (มาโนช เมธางกูร) ซึ่งเป็นคนที่ปล่อยเรื่อง เช ออกมา มีการพูดกันว่า เช ไม่ถูก อะไรประเภทนี้ แต่ถึงที่สุดแล้วที่ เช หายไป ผมคิดว่าเพราะเรื่องจิตรได้เข้ามากลบไปหมด เช ก็ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป จิตร เองไม่ได้เขียนงานเกี่ยวกับทฤษฎีปฏิวัติอะไรไว้ แต่ว่าจิตร คืออะไร จิตรคือปัญญาชนที่เลือกการต่อสู้ด้วยอาวุธ และบทกวีของจิตรจำนวนมาก รวมทั้งพวกเพลงพวกอะไรก็ออกมาในทำนองนั้น- -เช่น "วีรชนปฏิวัติ", "ภูพานปฏิวัติ" จิตรจึงเป็นสัญลักษณ์ อย่างที่บอกว่า เรื่องความนิยมมาทางหนทางต่อสู้ด้วยอาวุธในชนบท เริ่มมาตั้งแต่ เช แล้ว ตอนนั้นประวัติ เช พิมพ์ซ้ำ 7-8 ครั้ง ขายได้เป็นหมื่นเล่ม "เช นายแพทย์นักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่" เป็นหมอที่ลุกขึ้นจับอาวุธ เรื่องจิตรก็สอดขึ้นมากับกระแสนี้พอดี คือ ปัญญาชนต้องเลือกทางนี้ ทางที่ต่อสู้ด้วยอาวุธ ตอนนั้นเป็นเรื่องของความคิด คุณจะเข้าป่า หรือไม่ ยังไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่คือ การยอมรับต้องการปฏิวัติด้วยการต่อสู้ด้วยอาวุธในชนบท"
"ปี 2516 ขบวนการนักศึกษายังไม่เป็นเอกภาพ ตีกันหลายกระแส พอปี 2517 นี่เหมือนกับเป็นช่วงเปลี่ยน ช่วงที่กระแสทั้งหลายมาตีกัน เสกสรรค์เองก็พยายามเสนอแนวทางของเขาออกมา แล้วก็มีผิน บัวอ่อน มีพคท. พอขึ้นปี 2518 พคท.ก็ชนะหมด แต่จุดที่ชนะจริงไม่ใช่มาจากการจัดตั้งเรื่องคนหรืออะไร แต่มาจากความคิด คือ ถ้าให้เลือกในความรู้สึกของคนตอนนั้นว่าอะไรคือทางออกต่อไป คือ ทุกคนยอมรับว่า 14 ตุลา ไม่ได้แก้ปัญหาให้หมดไป ทุกคนยอมรับเหมือนกัน แม้กระทั่งนักวิชาการก็ยอมรับ แต่ถ้าเช่นนั้น แล้วจะแก้ด้วยอะไร จะทำยังไงต่อไป ข้อเสนอแบบ พคท.นั้น มันดึงดูดใจที่สุด”
“คนที่เติบโตในสมัยนี้อาจจะไม่เข้าใจว่า ทำไมพวกเราในขบวนการนักศึกษาถึงเลือกแบบนี้ (แบบพคท.) แต่ถ้าเราลองไล่เรียงงานนักวิชาการในปัจจุบันตั้งแต่นิธิ เอียวศรีวงศ์ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ชัยอนันต์ สมุทวณิช ไปจนถึงคนอื่นๆ ในช่วง 2517-18 พวกนี้ยังไม่ผลิตงาน เพราะฉะนั้นในแง่หนึ่ง ผมว่าไม่เป็นการเกินเลยที่จะพูดว่า งานเชิงที่เสนอไอเดีย พคท.นี่ถือว่า แข็งที่สุดในช่วงนั้น ไม่ว่าจะวัดจากบรรทัดฐานอะไรก็แล้วแต่ นิธิเองเพิ่งจะเริ่มเขียนหลังปี 2522 เพราะฉะนั้น บรรยากาศทั้งหมดตอนนั้นมันไม่มีอะไรที่เข้าท่าไปกว่า พคท.อีกแล้ว ในความรู้สึกของคนรุ่นนั้น คือ คุณต้องปฏิวัติ ทำกิจกรรมเฉยๆ ด้วยการลงเลือกตั้ง อย่างนั้นไม่ได้ ไม่เรียกปฏิวัติ แต่ต้องสนับสนุนการต่อสู้ด้วยอาวุธ มันโรแมนติก ภาพที่ว่าขึ้นเขาภูพาน ประกอบกับที่คนรู้ว่าจิตรไปตายที่ภูพาน นายผีอยู่ในป่า สมัยนั้นพอมีงานเขียนหลุดออกมาจากป่าเมื่อไร เป็นเรื่องฮือฮามากเลย มันอาจจะเป็นวัยของคนรุ่นนั้น เป็นความโรแมนติก นักปฏิวัติที่เป็นตำนานอย่างนายผี เปลื้อง วรรณศรี ยังสู้นะ อุตสาห์ไปสู้ในป่า เรื่องจิตร เรื่องคุณภาพงาน พคท.ทั้งหมดมันผสมผสานกัน"
จากคำบอกเล่าของ อ.สมศักดิ์ บรรยากาศใน พ.ศ.นั้น จึงอบอุ่นอยู่ภายใต้ตะวันสีแดงอย่างไม่ต้องสงสัย ก่อนจะถูกทำลายลงด้วยการล้อมปราบในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 กระนั้นก็ตามขนาดอันใหญ่โตของประวัติศาสตร์หน้านี้ย่อมไม่อาจจะปิดบังลงได้ด้วยมือของใคร โดยเฉพาะเมื่อ อ.สมศักดิ์ ให้สถานะกับ พคท.ว่าเป็นขบวนการฝ่ายซ้ายไทยขบวนการเดียวตลอดประวัติศาสตร์ไทย
14 ตุลา: ฝ่ายซ้ายไทยที่ไม่ใช่ พคท.?
"ถ้าถามผม ตลอดประวัติศาสตร์ของขบวนการฝ่ายซ้ายไทย มันมีแต่ พคท.ที่เป็นกำลังฝ่ายซ้ายจริง ๆ ไม่มีกระแสอื่น ๆ ซึ่งอาจจะมีกระแสอื่นหลัง 2475 ใหม่ ๆ ถ้านับปรีดี พนมยงค์ แต่มาสมัยหลัง ภาพปรีดีก็ไม่ใช่ซ้ายแล้ว แต่ถ้ามองซ้ายจริง ๆ ในสังคมไทย ผมไม่คิดว่ามีกระแสอื่นนอกจาก พคท. ถ้าจะมีก็อาจจะเป็นปัจเจกบุคคลไป น้อยมาก แต่การเคลื่อนไหวใหญ่ ๆ อย่างกบฏสันติภาพ ก็เป็นของ พคท.ทั้งนั้น ถ้าจะมีข้อยกเว้น ก็คือ 14 ตุลา นี่แหละ กลุ่มนักศึกษาซ้ายก่อน 14 ตุลา คือ ตัวอย่างซ้ายที่ไม่ใช่ พคท. แต่หลังจากนั้นเพียงสั้น ๆ ก็ถูกกลืนเข้าไปอยู่ในกระแส พคท. แต่ก็ยังอาจจะมองได้ว่า กลุ่มนักศึกษาซ้ายก่อน 14 ตุลา คือ กระแสซ้ายนอก พคท.กระแสแรกในประวัติศาสตร์ไทย (แต่ก็ไม่ใช่ "นอก พคท." ทั้งหมด เพราะได้อิทธิพลความคิด พคท. ผ่านงานสมัยทศวรรษ 2490 ที่นักศึกษาซ้ายก่อน 14 ตุลาอ่านกัน) แต่ถ้าคิดว่าเป็นซ้ายอิสระ ที่แยกต่างหากจากพรรคคอมมิวนิสต์ แบบที่ฝรั่งมี คือ เป็นคอมมิวนิสต์พวกหนึ่ง กับสังคมนิยมประชาธิปไตยอีกพวกหนึ่งนั้น ไม่มี สังคมไทยไม่เคยมี"
การพูดคุยเรื่องฝ่ายซ้ายของเราวันนั้นจบลง แต่มีของแถมเมื่อเราถามถึงฝ่ายซ้ายในปัจจุบัน ใครจะไปเชื่อ แม้วันนี้ไม่มีขบวนการฝ่ายซ้ายแล้ว แต่ร่องรอยนั้นยังปรากฏ ดังที่ อ.สมศักดิ์วิเคราะห์ไว้เป็นการทิ้งท้ายว่า "มาดูในปัจจุบันที่ไม่มีฝ่ายซ้าย ระยะประมาณ 10 ปีหลัง ในหมู่ปัญญาชนไทยที่เป็นผลผลิตจากช่วง 14 ตุลา 6 ตุลา มันเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ๆ ที่เป็นแก่นหลักเลย 3 อัน อันแรก คือ การหันมายอมรับสถาบันพระมหากษัติริย์ อันที่สองคือ การแอนตี้นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง อันที่สาม เป็นเรื่องความเป็นไทยกับเรื่องภูมิปัญญาชาวบ้าน"
"ทั้ง 3 เรื่องนี้ เรื่องที่ 2-3 มันเป็นร่องรอยส่วนหนึ่งของ พคท.เหมือนกันโดยไม่รู้ตัว เรื่องที่ 2-3 มันไปด้วยกันได้กับเรื่องที่ 1 ดังนั้น เมื่อมีพระราชดำรัสออกมา (เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง) เลยกลายเป็นฉันทามติในหมู่ปัญญาชนไทยไป จะเห็นได้ชัดเลยในเศรษฐกิจพอเพียง หรือในการปฏิรูปการเมือง อันที่เปลี่ยนจริงๆ คือ เรื่องที่ 1 แต่ 2 และ 3 นั้นสามารถดูร่องรอยได้ว่ามาจาก พคท."
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
6 ต.ค. 47
ที่มา : ThaiNGO.org : ขบวนการ 14 ตุลา กับ พคท.
วันเสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551
ขบวนการ 14 ตุลา กับ พคท.
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 1:45 ก่อนเที่ยง
ป้ายกำกับ: บทสัมภาษณ์
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น