17.20 น. วันที่ 18 ก.พ. 49
หน้าโรงภาพยนต์ SFX cinema ที่ The Emporium
แต่เริ่มแรก ผมคิดจะทำการทดลองนี้ไม่ให้เกิดการเจ็บตัวมากนัก
ครั้งแรก ผมคิดจะไม่ยืนตรงเมื่อเพลงชาติดังขึ้น ในช่วง6โมงเย็น ที่สยามแสควร์ (เนื่องจากคนกำลังพลุกพล่าน) ทว่าจากการไตร่ตรองอีกรอบ ผมพบว่า ปฏิกิริยาตอบโต้ที่จะได้จากการกระทำเช่นนั้นไม่น่าจะมีมากนัก เนื่องจากปัจจุบันก็มีคนมากมายอยู่แล้วที่เลือกจะไม่ยืนตรงเมื่อเคารพธงชาติ – หรือเคารพก็เพราะเห็นคนอื่นยืนจึงยืนด้วย (อันเกิดจากConfromity) ดังนั้นการทำตัวขัดกับnormsดังกล่าว จึงไม่น่าจะทำให้เกิดปฎิกิริยาที่เข้มข้นพอ จนสามารถนำมาเขียนได้
ผมจึงได้ทบทวนถึงสิ่งที่จะทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองจากผู้คนรอบข้าง (ที่กำลังปฏิบัติตาม Norms) อีกครั้ง และในครั้งนี้ เป็นการทบทวนเพื่อที่จะได้สถานการณ์ที่ทำให้เกิดปฎิกิริยาอันเข้มข้นมากขึ้น
สถาบันที่ประชาชนชาวไทยศรัทธา sensitive และให้ความเคารพมากนั้นมี3สถาบัน คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยทั้ง3 สถาบันต่างก็มีพิธีและNormsที่ควรพึงปฏิบัติอยู่ควบคู่ไปกับการดำรงอยู่ของสถาบัน
สถาบันศาสนา (พุทธ) ก็มี norms เช่น การไม่แต่งตัวไม่สุภาพ(โป๊)เข้าวัด
สถาบันชาติ ก็มี norms คือ การเคารพธงชาติ, การยืนตรงให้ความเคารพ
สถาบันกษัตริย์ ก็เช่นเดียวกัน มี norms บางอย่าง เช่น การจุดเทียนเฉลิมพระเกียรติ การไม่พูดให้ร้ายราชวงศ์ และการยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี และ สดุดีมหาราชา
ซึ่งดูเหมือนว่า สถาบันลำดับหลังสุด
จะเป็นสถาบันที่คนไทย sensitive เป็นพิเศษ
ผมเลือก เย็นวันเสาร์ที่ 18 ก.พ. 49 เป็นวันทำการทดลอง เนื่องด้วยวันดังกล่าวเป็นวันเสาร์ วันหยุดแรกหลังจากภาพยนต์ใหม่ส่วนใหญ่ มาลงฉายกัน (ภาพยนต์ใหม่ส่วนใหญ่จะมาลงฉายกันวันพฤหัส แต่ผมคิดว่าวันพฤหัสนั้นไม่ใช่วันหยุด จำนวนคนที่มาดูจึงไม่ควรมีมากนัก) และที่เลือกเวลาเย็นก็ด้วยเหตุผลเดียวกัน คือ จำนวนคนที่คาดว่าจะมากกว่าช่วงกลางวัน
ภาพยนต์ที่เลือกคือ Fun with Dick and Jane (เข้าฉายเมื่อวันพฤหัสที่ 16 ก.พ. 49 วันเสาร์ที่18จึงเป็นเสาร์แรกหลังจากภาพยนต์นี้เข้าฉาย) ในที่นั่ง D12 ซึ่งเป็นที่นั่งช่วงกลางพอดี ถัดจากแถวหลังสุดของโรงหนัง (แถวA) มา4แถว และถัดจากแถวหน้าสุดที่มีคนนั่ง (เท่าที่ผมคาดการณ์) ไม่เกิน 7-8 แถว
จากการสอบถามเพื่อนนิติศาสตร์ท่านหนึ่ง ได้ความว่า สิ่งที่ผมจะทำนี้ เป็นเพียงการกระทำที่ผิดบรรทัดฐานสังคมเท่านั้น มิได้ผิดกฏหมายแต่อย่างใด “แต่normทางสังคมก็มีบทลงโทษที่หนักหนากว่าทางกฏหมายมาก อย่าลืมข้อนี้ด้วย” เพื่อนผมกล่าว เวลา 17.40 น. ที่หน้าโรงหนัง ผมไตร่ตรองอีกรอบ และตัดสินใจลงมือทำการทดลอง
18.10 น. วันที่ 18 ก.พ. 49
ณ โรงภาพยนต์ที่5 แถวD12 SFX cinema, The Emporium
ขณะนี้ ผมกำลังนั่งอยุ่กลางไฟสลัวๆของโรงภาพยนต์ ซึ่งมีผลต่อการเขียนDiaryของผมมาก
ระหว่างที่นั่งดูโฆษณาและภาพยนต์ตัวอย่างนี้ ผมอยากออกตัวไว้เป็นอันดับแรกว่า มิได้มีเจตนาอันใดจะล้มล้างราชวงศ์ และมิได้มีเจตนาจะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพใดๆทั้งสิ้น เป็นเพียงการทดลองไม่ปฏิบัติตามNormsเท่านั้น
ทางด้านซ้าย (ที่นั่งD11) เป็นชายชาวต่างประเทศผิวดำร่างยักษ์ท่านหนึ่ง มากับหญิงสาวชาวไทย และถัดไปทางด้านซ้ายอีก4-5คน ก็มีคนนั่งจนเต็ม
ทางด้านขวา (ที่นั่ง D13) เป็นต้นไปยังคงเป็นที่นั่งว่างอยู่
ทางด้านหน้า (ที่นั่ง E 11 – 14) เป็นชาวไทย วัยรุ่น อายุประมาณ18-20 คู่หนึ่งมาในฐานะแฟน (อนุมานจากการกระทำ) ส่วนอีกคู่คาดว่าเป็นเพื่อนกับคู่รักดังกล่าว และแถวE มีคนนั่งอยู่จนเต็มแล้ว เช่นเดียวกับแถวC ที่อยู่ข้างหลังผม
ทางด้านหลังขวาของข้าพเจ้า เป็นชายชาวต่างประเทศผิวขาวคนหนึ่ง มาพร้อมกับหญิงชาวไทย ส่วนด้านหลังซ้าย เป็นหญิงไทย วัยกลางคนคู่หนึ่ง
18.15น. (เวลาภาพยนต์ฉาย)
เป็นธรรมดาของภาพยนต์ไทย (ซึ่งดูเหมือนจะกลายเป็นNormsไปแล้ว) ว่าหนังจะฉายหลังจากเวลาที่กำหนดไว้ที่หน้าโต๊ะซื้อบัตร ประมาณ 5-10นาทีโดยไม่มีสาเหตุ
หลังจากภาพยนต์ตัวอย่างเรื่อง “เด็กหอ” ผ่านไป และโฆษณาอีกหลายชุด ที่นั่งด้านขวาของข้าพเจ้าก็มีหญิงชาวต่างประเทศผู้หนึ่งมานั่งที่นั่งD14 เป็นหญิงผิวขาว วัยรุ่น ทำผมทรงเดรดล๊อค และหลังจากนั้น แถวของผมก็ไม่มีใครมานั่งอีก
เขียนต่อไปได้สักพัก เพลงสรรเสริญพระบารมีก็เริ่มขึ้น ทุกคนเริ่มลุกขึ้นยืน ไม่ว่าจะเป็นชาวต่างประเทศหรือชาวไทย
ผมไม่ได้ยืน
รอฟังเสียงนินทาและปฏิกิริยารอบข้าง โดยนั่งในท่าปกติ มีหนังสือวางอยู่บนตัก และไม่นั่งไขว่ห้าง
หญิงชาวต่างประเทศที่นั่งที่เบาะD14 แสดงปฏิกิริยาสับสนเล็กน้อยระหว่างที่กำลังตัดสินใจว่าจะลุกขึ้นยืนดีหรือไม่ และมองมาทางผม (คาดว่าเป็นเพราะเห็นว่าผมเป็นคนไทย แต่ยังไม่ยอมลุกขึ้นยืน อย่างไรก็ตาม หญิงต่างประเทศ ก็ลุกขึ้นยืนตามคนทั้งโรงในที่สุด)
เนื่องจากทั้งแถวทางด้านขวาของผม มีเพียงที่นั่งD14เท่านั้นที่มีคนนั่งอยู่ ดังนั้น แถวทางด้านหลังขวาจึงมีผู้ที่สังเกตเห็นการกระทำของผมได้อย่างเต็มที่
จากการชำเลืองมองเป็นระยะ เริ่มแรก ผู้ชมแถวC บางคนจ้องมองผมด้วยความสงสัย (คาดว่าภายหลัง เปลี่ยนจากสงสัย เป็นตำหนิ โดยเฉพาะหญิงไทยวัยกลางคน 2 คน ด้านหลังซ้าย) ต่อมาได้มีเสียงตำหนิบ้างเล็กน้อยจากทางที่นั่งด้านหลัง ว่า
“แก ทำไมเค้าไม่ยืนวะ”
(ไม่เห็นคนตำหนิ แต่อนุมานว่าเป็นเสียงของหญิงไทยวัยกลางคน เนื่องจากเป็นเสียงผู้หญิงที่มีอายุพอสมควร)
ทางด้านความรู้สึกส่วนตัวระหว่างทำการทดลอง ในประมาณ 1นาทีดังกล่าวนั้น ผมรู้สึกถึงแรงกดดันที่ถูกทำให้เป็นแกะดำและการไม่ยอมรับ (จะด้วยความรู้สึกของตัวเอง หรือสายตาของคนรอบข้างก็แล้วแต่) จนทำให้ความรู้สึกว้าวุ่นเล็กน้อย และกำลังจินตนาการว่า ถ้าเป็นเพลงที่ยาวกว่านี้ เช่น สดุดีมหาราชาที่มีการเล่นถึง2รอบ ผมจะโดนอะไรหรือไม่
ผมนั่งนิ่งจนจบเพลง และทุกคนนั่งลง
หลังภาพยนต์จบ
เมื่อภาพยนต์จบและเริ่มมีคนเดินออก ผมลุกขึ้นยืนด้วย เดินออกจากโรงผ่านหน้าผู้ชมแถวCไป เมื่อหันกลับไปมองดู มีผู้ชมแถวCและแถวอื่นบางท่านมองมาที่ผม (ด้วยสายตาที่ตำหนิ หรือสงสัย ไม่สามารถอนุมานได้) และเมื่อเดินออกจากโรงมาที่ทางเดิน ผู้ชมบางท่านที่เดินออกมาก่อนผม มี2คนที่คาดว่าเป็นวัยรุ่นแถวหน้า หันกลับมามองและสบตา จนกระทั่งผมเดินลงมาที่ชั้นอื่นของห้าง ก็ไม่มีผู้ใดหันมามอง หรือตำหนิอีก อย่างไรก็ตาม การทดลองดังกล่าวมีข้อจำกัดที่คาดไม่ถึง เช่น
1. เชื้อชาติ เนื่องจากโรงภาพยนต์ดังกล่าวตั้งอยู่ในห้าง The Emporium ซึ่งลูกค้าส่วนหนึ่งเป็นชาวต่างชาติ ในโรงภาพยนต์รอบนี้จึงเป็นเช่นเดียวกัน คือ มีชาวต่างชาติอยู่จำนวนหนึ่ง ทั้งด้านขวา ซ้าย และด้านหลังของผม เสียงตำหนิติเตียน ไปจนถึงปฏิกิริยาต่อต้านที่มีต่อผู้ที่ไม่เคารพกษัตริย์นั้นจึงอาจลดน้อยลงไปเนื่องจาก
- ชาวต่างชาติโดยเฉพาะตะวันตกนั้น อาจไม่ศรัทธาในสถาบันกษัตริย์(สังเกตได้จากอังกฤษ) อาจไม่สนใจถ้าใครจะไม่เคารพสถาบัน โดยเห็นว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคล
- จากงานวิจัยเรื่อง 7 Dimension ของอ.อุบลวรรณนา ประเทศไทยมีระดับของpower distance ที่สูงมาก ต่างจากตะวันตกเช่นเยอรมัน ระดับpower distanceต่ำ อำนาจของผู้ที่เหนือกว่าเช่นเจ้านาย จะมีไม่มากกว่าคนที่อยู่ต่ำกว่าเช่นลูกน้องมากนัก (ประเทศไทย ถึงแม้ตำแหน่งจะไม่ห่างกันมาก แต่อำนาจที่มี จะแตกต่างกันมาก ลูกน้องจะเกรงกลัวเจ้านาย) ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่สังคมไทยอันมีความห่างของอำนาจมากนั้น จะมองคนที่ไม่เคารพกษัตริย์อย่างแปลกประหลาด ไปจนถึงตำหนิติเตียน
ดังนั้นผมจึงคาดว่า ถ้าผู้ชมส่วนใหญ่เป็นคนไทย สิ่งที่ผมได้รับเป็นปฏิกิริยาตอบโต้ควรจะได้อย่างเด่นชัดกว่านี้ เนื่องจากก่อนทำการทดลอง ได้สอบถามความรู้สึกจากกลุ่มตัวอย่างประมาณ10คนที่เป็นคนไทย คำตอบที่ได้คือ 7 ใน 10 จะโมโหที่ไม่ยืนทำความเคารพกษัตริย์ ส่วนอีก3คนใน7 บอกว่าตนจะมีอารมณ์ถึงขนาดเดินเข้าไปเตือนให้ลุกขึ้นยืน (และ1ใน3คนที่จะเข้าไปเตือนให้ลุกนั้น บอกว่าผมบ้า)
2. มุมมองจากบางที่นั่ง ที่ไม่สามารถมองเห็นคนที่กำลังนั่ง(ระหว่างเพลง)อยู่ได้ อันเกิดมาจากลักษณะทางกายภาพ ของคนที่นั่งรอบๆส่วนหนึ่ง กล่าวคือ ทางด้านซ้าย (D11) มีชาวต่างชาติผิวดำร่างยักษ์มานั่ง ซึ่งจากขนาดตัวของเขา สามารถปิดมุมมอง ของคนด้านหลังซ้ายของผมได้จนมิด คนทางด้านหลังซ้าย (ประมาณช่วง C1 – C9) จึงอาจมองไม่เห็นพฤติกรรมการไม่ลุกขึ้นยืนดังกล่าว
ได้มีการพยายามแก้ข้อจำกัดทางด้านนี้มาก่อนแล้ว ด้วยการให้เพื่อน1-2คนแกล้งทำเป็นคนที่ไม่รู้จัก เข้าไปนั่งในที่นั่งห่างๆกัน (เช่นแถวหน้าขวา, ซ้าย) และหันกลับมามองดูพฤติกรรมที่ไม่ยอมยืน รวมทั้งสังเกตเสียงนินทาและปฏิกิริยาของคนรอบข้างไปด้วย (ผมอนุมานเอาว่า เสียงนินทาที่นินทากันโดยไม่ให้เจ้าตัวได้ยินนั้น คงมีมาก และเหมาะแก่การเก็บข้อมูล) เพียงแต่วันดังกล่าว เพื่อนกลุ่มที่ตกลงกันไว้กลับไม่ว่างขึ้นมากระทันหัน
3.การอนุมานของคนด้านหลัง เนื่องจากคนด้านหลังบางส่วนที่เห็นข้าพเจ้า อาจอนุมานกันไปเองว่าข้าพเจ้าหลับอยู่ โดยส่วนนี้ได้พยายามแก้ไข ด้วยการทำเป็นเขียนหนังสือบางอย่างบนหน้าตัก เพื่อให้คนรับรู้ได้ว่าผมไม่ได้หลับ เพียงแต่คนที่อยู่ระยะไกลอาจมองไม่เห็นว่าเขียนหนังสืออยู่
4. ประเภทของภาพยนต์ ภาพยนต์บางประเภทอาจกำหนดกลุ่มคนดู ภาพยนต์Comedyนั้น คนดูส่วนหนึ่งอาจเป็นส่วนที่ไม่จริงจังกับการกระทำที่ขัดnorms แต่ถ้าเป็นภาพยนต์Drama กลุ่มคนดูอาจมีการต่อต้านพฤติกรรมขัดnormsมากกว่านี้
โดยสรุปแล้ว
ผมคิดว่า Norms เป็นสิ่งที่สามารถทำให้คนคล้อยตามได้จริง เพราะระหว่างที่นั่งอยู่ (จะด้วยการกดดันตัวเอง หรือสายตาจากคนรอบข้างที่ทำให้ผมรู้สึกเหมือนเป็นกบฏ) แรงกดดันที่บอกว่า “คุณต้องทำตามกลุ่ม” ก็เกิดขึ้นจริงๆ เพลงสรรเสริญพระบารมี เป็นเพลงที่ความยาวประมาณ1 นาที ถ้าเป็นเพลงที่ยาวกว่านี้ ผมจะไม่แปลกใจที่เห็นใครบางคนจงใจไม่ยืน แต่สุดท้ายก็โดนการคล้อยตามกลุ่มกดดัน จนทำให้ยืนขึ้นในที่สุด
อนึ่ง..ความรู้สึกกดดันดังกล่าว ส่วนหนึ่งมากจากชาวต่างประเทศที่นั่งข้างๆด้วย เพราะชาวต่างชาติ ถึงแม้ไม่ใช่กษัตริย์ของเขาก็ยังยืน แต่ผมเองที่เป็นคนไทย กลับไม่ยืน จนชาวต่างชาติสับสนตามไปด้วยว่าเขาควรจะยืนหรือไม่
ทดลองโดย. ชายคนหนึ่ง
ที่มา : การทดลอง py226 เรื่อง Conformity
วันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551
การทดลองของชายคนหนึ่ง : ว่าด้วยเรื่อง Conformity
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 1:16 ก่อนเที่ยง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น