วันศุกร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

ผู้พิชิตสมรภูมิบางเขน ด้วยกระสุน ป.ต.อ. เพียง ๙ นัด


บทความนี้คัดจากบันทึกของ "นายหนหวย" เรื่อง "พลโทบุศรินทร์ ภักดีกุล นายทหารประชาธิปไตย ผู้พิชิตสมรภูมิบางเขนด้วยกระสุน ป.ต.อ. เพียง ๙ นัด" ซึ่งลงพิมพ์ในหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลโทบุศรินทร์ ภักดีกุล ม.ว.ม., ป.ช., ท.จ. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร วันเสาร์ที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๒

ผมได้รู้จักคุ้นเคยกับพลโทบุศรินทร์ ภักดีกุล ผู้เป็นอาจารย์รุ่นก่อตั้งโรงเรียนนายร้อยเทคนิคท่านนี้เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๐๖ เป็นการพบในราชการสนามที่โคกกระเทียม ปีนั้นมีการฝึกความพร้อมรบเป็นครั้งแรกของซีโต้ การฝึกครั้งนี้ได้ชื่อว่า "การฝึกธนะรัชต์" เพื่อให้เกียรติแก่ท่านจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายพลสามเหล่าทัพขึ้นรสบัสคันใหญ่รวมกันในฐานะผู้สังเกตการณ์ ผมเป็นผู้สังเกตการณ์ด้านสื่อมวลชน ความจริงผมได้รู้จักท่านฝ่ายเดียวมานานแล้ว

แต่ไม่เคยได้วิสาสะพูดจากัน เพราะท่านเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ เพื่อนผมที่สำเร็จออกเป็นนายทหารจากโรงเรียนนายร้อยเทคนิค ได้พูดถึงความเป็นเอตทัคคะในวิชาปืนใหญ่ และเป็นคนสำคัญคนหนึ่งในจำนวนอาจารย์ที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาการทหารชั้นสูง ท่านไม่ชอบเป็นข่าวจึงเป็นการยากที่ผู้มีอาชีพทางการข่าวอย่างผมจะเข้าไปวิสาสะ จากการติดตามข่าวทางการเมืองและการทหาร ผมรู้ว่าท่านเป็นกำลังสำคัญยิ่งของทหารฝ่ายรัฐบาลเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ที่เรียกกันว่า "ศึกบวรเดช"

วันนั้นหลังอาหารกลางวันแบบช่วยตัวเองในสนามแล้วก็เป็นเวลาพัก ผมจึงเลียบเคียงเข้าไปคุยกับท่านสองต่อสอง ขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่งเจ้ากรมแผนที่ทหาร สังเกตว่าท่านอารมณ์ดีพอสมควร ผมก็เริ่มสัมภาษณ์เรื่องในอดีตเมื่อครั้งปี ๒๔๗๖ ที่ท่านมียศร้อยโท ป.ต.อ. รุ่นแรกของเมืองไทย ท่านตรึกตรองอยู่ครู่หนึ่งแล้วก็เอ่ยขึ้นว่า

"ผมไม่อยากพูดถึงเหตุการณ์คราวนั้น เพราะมันอัปยศทหารไทยรบกันเองโดยเฉพาะผมต้องรบกับน้องชายของผมเอง"

ท่านหมายถึงร้อยโทเอกรินทร์ ภักดีกุล น้องชายร่วมสายโลหิตผู้สำเร็จวิชาทหารช่างจากเมืองนอกมาสดๆ ร้อนๆ กำลังจะเป็นมันสมองของเหล่าทหารช่าง แต่เวลานั้นโชคชะตาบันดาลให้อยู่ในตำแหน่งผู้บังคับหมวดทหารช่างในกองพันทหารช่างที่ ๑ มีที่ตั้งปกติอยู่อยุธยาร่วมกับกองพันทหารช่างที่ ๒ ทหารช่างสองกองพันนี้ พันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม นำลงเรือมาขึ้นที่รังสิตอย่างเงียบกริบในคืนวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๔๗๖ เป็นกำลังส่วนหน้าของฝ่ายปฏิวัติหลังจากเข้ายึดดอนเมืองในก่อนรุ่งอรุณของวันที่ ๑๒ แล้ว พันเอก พระยาศรีสิทธิสงครามก็สั่งให้พันตรี หลวงลบบาดาลนำทหารช่างส่วนหนึ่งที่รุกคืบหน้าเข้ามายึดสถานีรถไฟบางเขนทันที นายทหารช่างหนุ่มๆ ที่สำเร็จจากต่างประเทศมาสดๆ ร้อนๆ เพื่อเป็นมันสมองของเหล่าทหารช่างประจำการอยู่ในกองพันนี้ทั้งนั้น คือ ร้อยโทเอกรินทร์ ภักดีกุล ร้อยโท หม่อมหลวงชวนชื่น กำภู กับอีกหลายนาย ซึ่งต่อมาอยู่ในวงการวิศวกรชั้นนำของเมืองไทย

ท่านเล่าให้ฟังว่าหลังจากท่านสำเร็จวิชาทหารปืนใหญ่จากโรงเรียนโปลีเทคนิคของเบลเยียม ท่านก็กลับมาตุภูมิในปี ๒๔๗๖ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ไม่ถึงปี และก่อนวิกฤตการณ์ทางการเมืองเล็กน้อย นับได้ว่าเป็นนายทหารในระบอบประชาธิปไตยยุคเริ่มแรกและเป็นนายทหารปืนใหญ่คนล่าสุดของกองทัพบกที่สำเร็จจากยุโรปมาสดๆ ร้อนๆ ปืนใหญ่ที่ท่านเรียนสำเร็จมานั้นคือปืนใหญ่ชั้นสูง ต่อสู้อากาศยาน เป็นวิชาใหม่และเหล่าใหม่ที่ยังไม่มีในเมืองไทย แต่อยู่ในความดำริของพันโท หลวงพิบูลสงคราม ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองคนสำคัญ

ดังนั้นกองทัพบกจึงได้สั่งซื้อปืนต่อสู้อากาศยาน หรือที่เรียกกันว่า ป.ต.อ. พร้อมรถสายพานติดตั้งปืนมาเสร็จ ๑๐ คัน จากบริษัท บาโรเบราน์ตัวแทนขายในกรุงเทพฯ รถสายพานติดตั้ง ป.ต.อ. ขนาด ๔๐ มม. ทั้งรถทั้งปืนเป็นของบริษัท วิคเกอร์อาร์มสตรอง แต่ทางโรงงานส่งเข้ามาให้รุ่นแรกเพียง ๒ คัน ในเดือนสิงหาคม ๒๔๗๖ ก่อนจะเกิดการต่อสู้ระหว่างทหารรัฐบาลกับทหารหัวเมืองในสมรภูมิบางเขน เมื่อเข้ามาถึงกองทัพบกได้มอบหมายให้ร้อยโท หม่อมหลวงขาบ กุญชร ฝึกด้านการขับและเครื่องยนต์ ท่านเป็นครูฝึกการยิงปืน เวลานั้นยังไม่ได้จัดตั้งหน่วย ป.ต.อ. อาวุธใหม่จึงรวมอยู่ในกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๑ รักษาพระองค์

ท่านเล่าว่ามีเวลาฝึกอยู่เพียงเดือนเศษ โดยใช้นายทหารที่สำเร็จจากโรงเรียนนายร้อยมาใหม่ๆ ทำหน้าที่พลยิง ที่จำได้และเป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิ คือว่าที่ร้อยตรีพิสิษฐ์ ฉายเหมือนวงษ์ ขณะที่คุยกันท่านได้ชี้ให้ผมดูรถถังของทหารอเมริกัน ๔-๕ คัน ที่ขับปุเลงๆ มาจากไหนไม่ทราบเข้ามาร่วมในการฝึกด้วย ท่านพูดยิ้มๆว่า"อเมริกันเขาคุยนักว่าเขาเป็นชาติแรกที่เอาปืนใหญ่ขึ้นติดตั้งบนรถถัง ที่จริงแล้วกองทัพไทยทำมาก่อนตั้งสามสิบกว่าปี" แล้วท่านก็หัวเราะ ผมมีเวลาคุยกับท่านเพียงเล็กน้อย เพราะท่านต้องเข้าไปรวมกลุ่มนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ท่านบอกกับผมว่า"วันหลังว่างๆ พบกันใหม่ที่กรมแผนที่ทหาร"

ผมได้พบกับท่านหลายครั้งทั้งในงานราชการและงานสังคมอื่นๆ จนเรียกได้ว่าคุ้นเคย ผมได้รับความรู้ต่างๆ ทั้งด้านการทหารและการเมืองจากท่านมากมายล้วนแต่ไม่อาจจะหาเรียนได้จากที่ไหน เพราะท่านมีประสบการณ์ในชีวิตสูงกว่าคนระดับเดียวกับท่าน เท่าที่ผมได้วิสาสะมา ในปีต่อมาผมได้มีโอกาสคุยกับท่านอย่างสนุกสนานเกือบตลอดคืน เพราะพบท่านในรถนอนชั้น ๑ ของรถด่วนกรุงเทพฯ-อุบลฯ ผมไปราชการและจองตู้นอนไว้ล่วงหน้า พอขึ้นรถก็พบท่านแต่งเครื่องแบบพลโทนั่งอยู่ในตู้นอนแล้ว มีนายทหารคนสนิทยศพันตรีติดตาม ๑ คน

ผมแปลกใจจึงเรียนถามก็ได้รับคำตอบว่า ท่านจะไปจังหวัดศรีสะเกษเพื่อนำระฆังใหญ่ใบหนึ่งไปถวายวัดอะไรผมก็ลืมเสียแล้ว ทราบแต่ว่าอยู่นอกตัวจังหวัดออกไปอีก ผมเรียนถามเพราะแปลกใจที่นายทหารยศพลโทตำแหน่งเจ้ากรมสำคัญกรมหนึ่งเดินทางไปทำบุญระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร มีผู้ติดตามเพียงนายทหารคนสนิทเพียงคนเดียว ท่านบอกหน้าตาเฉยว่า "การทำบุญเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ต้องกวนใคร"

ท่านให้คนงานยกระฆังใบใหญ่หนักประมาณ ๕๐-๖๐ กิโลกรัม ขึ้นรถไฟ ชาวบ้านที่ติดต่อให้มาคอยรับที่สถานีเข้าจะยกระฆังลงเอง เสร็จพิธีถวายแล้วท่านก็จะกลับกรุงเทพฯ ในเย็นของวันเดียวกัน โดยรถด่วนขบวนเก่าขาล่อง คุยกันจนดึกท่านก็เอาแซนด์วิชที่เตรียมมาออกมาสู่ผมกินไม่ต้องไปวุ่นวายรถเสบียงให้คนเกรงใจ เพราะท่านแต่งเครื่องแบบพลโท เมื่อได้ที่แล้วผมก็เรียนถามท่านว่า


"เมื่อคราวปะทะกับฝ่ายทหารหัวเมืองที่ทุ่งบางเขนปีศึกบวรเดช ฝ่ายรัฐบาลได้เปรียบเพราะมี ป.ต.อ. ๔๐ มม. ยิงกวาดล้างจนวัดเทวสุนทรพังใช่ไหม"


ท่านเล่าอย่างไม่ปิดบังเพื่อต้องการให้คนรุ่นหลังรู้ความจริง เพราะผมบอกว่าผมจะนำเอาเรื่องราวทั้งหมดไปเขียนเป็นสารคดีออกเผยแพร่ โดยมีใจความดังต่อไปนี้


เมื่อได้ทราบว่าพระองค์เจ้าบวรเดชนำทหารต่างจังหวัดเข้ามายึดดอนเมือง ส่งส่วนล่วงหน้าขึ้นมายึดสถานีบางเขนไว้ ทหารส่วนหน้าเป็นทหารช่างอยุธยา ซึ่งน้องชายของท่านประจำการอยู่ แต่หน้าที่ก็คือหน้าที่ ท่านได้เข้าประจำกองผสมซึ่งพันโท หลวงพิบูลสงครามตั้งขึ้นโดยฉับพลันรวบรวมทหารทุกเหล่าในกรุงเทพฯ เป็นกำลังหลักทางฝ่ายรัฐบาลไม่สามารถปฏิบัติตามคำขาดซึ่งเป็นข้อเสนอของฝ่ายทหารหัวเมืองได้ จึงตัดสินใจใช้กำลังจากฐานสถานีบางซื่อเข้าตี

โดยใช้กำลังทหารราบกองพันที่ ๘ ในบังคับบัญชาของพันตรี หลวงอำนวยสงคราม ในเช้าของวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๔๗๖ เสียงปืนของทั้งสองฝ่ายกึกก้องท้องทุ่งบางเขนได้ยินไปถึงปทุมธานีและอยุธยาบางอำเภอ หลังจากการปะทะไม่กี่ชั่วโมง กองพันนี้ซึ่งรุกคืบหน้าบนรางรถไฟพร้อมกันทั้งสองราง โดยนำรถถังขึ้นบรรทุกรถ ข.ต. แล้วใช้รถจักรดันหลังให้เคลื่อนที่เข้าหาฝ่ายตรงกันข้าม ทหารราบอยู่ในรถคันหลัง มีรถบังคับการกองพันอยู่กลางขบวน เคลื่อนที่ช้าๆ ออกไปจากบางซื่อ มีวิธีเดียวเท่านี้ที่จะรุกคืบหน้าเข้าไปหาฝ่ายตรงกันข้ามในยามที่น้ำเจิ่งท้องทุ่งบางเขน

รุกเข้าไปไม่นานก็ได้รับการต้านทานอย่างหนักด้วยปืนกลของฝ่ายหัวเมืองซึ่งเป็นทหาร ม.พัน ๔ สระบุรีขึ้นมาสับเปลี่ยนทหารช่างอยุธยาเมื่อตอนค่ำของวันที่ ๑๓ สักประเดี๋ยว กองพันนี้ก็ถอยกรูดกลับมาสถานีบางซื่อ เพราะพันตรี หลวงอำนวยสงคราม ผู้บังคับกองพันผู้เป็นมือขวาของพันโท หลวงพิบูลสงคราม ถูกกระสุนปืนกลที่ยิงเฉียงเข้ามาจาก
โบสถ์วัดเทวสุนทรเลยวัดเสมียนนารีไปเล็กน้อย ร้อยตรีเผ่า ศรียานนท์ ซึ่งอยู่ในรถบังคับการร้องไห้เข้าไปรายงานพันโท หลวงพิบูลสงคราม เมื่อได้เก็บศพพันตรี หลวงอำนวยสงครามอย่างมิดชิดพร้อมกำชับให้ปิดข่าวแล้ว พันโท หลวงพิบูลสงคราม ก็ตัดสินใจเผด็จศึกด้วยอาวุธใหม่ที่เพิ่งตกเข้ามาทันที

ท่านได้เล่าให้ผมฟังถึงสมรรถนะของ ป.ต.อ. วิคเกอร์อาร์มสตรอง ขนาด ๔๐ มม. รุ่นแรกของกองทัพบกว่า ทันสมัยที่สุดในเวลานั้นเป็นชนิดเดียวกับที่ใช้ในกองทัพอังกฤษ ใช้กระสุนเจาะเกราะและกระสุนระเบิดยิงได้นาทีละ ๒๐๐ นัด ทั้งวิถีราบและต่อสู้อากาศยาน ระยะยิงไกล ๖ กิโลเมตร กับ ๑๐๐ เมตร ส่วนรถสายพานเครื่องยนต์ ๘๗ แรงม้าไต่ลาดได้ ๔๕ องศา จัดได้ว่าเป็นปืนใหญ่ที่ทรงอานุภาพที่สุดแห่งยุคทหารไทยไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อนเลย (ปืนที่ลำกล้องตั้งแต่ ๒๐ มม.ขึ้นไปจัดเข้าประเภทปืนใหญ่)

ในวันที่ได้รับคำสั่งนั้น ท่านบอกว่าได้ใช้เพียงกระบอกเดียว อีกกระบอกหนึ่งเก็บสำรองไว้ก่อน เมื่อนำรถไปขึ้นบรรทุกบนรถ ข.ต. ที่หัวลำโพงก็เคลื่อนมาที่สถานีบางซื่อแล้วเคลื่อนขึ้นไปตามทางรถไฟโดยมีรถจักรดันหลัง รถปืน ป.ต.อ. นี้ใช้ทหารประจำรถเพียง ๕ คน รวมทั้งตัวท่านเอง เมื่อเคลื่อนเลยวัดเสมียนนารีไปได้หน่อยหนึ่งก็ตกอยู่ในวิถีกระสุนของฝ่ายตรงข้าม แต่ก็ไม่ได้ยิงโต้ตอบ คงเคลื่อนที่เข้าไปช้าๆ เพราะมีเกราะกำบัง จนในที่สุดก็สังเกตเห็นได้ชัดเจนว่ารังปืนกลถาวรของฝ่ายตรงข้ามก็คือหน้าต่างโบสถ์วัดเทวสุนทร โดยพาดปืนกลเบาเข้ากับหน้าต่างโบสถ์ยิงต้านทานอย่างเหนียวแน่น เพราะได้ที่กำบังอย่างแข็งแรง เมื่อจำเป็นเช่นนี้ก็ต้องยิงทำลายที่มั่นถาวรของฝ่ายตรงข้ามเพื่อเผด็จศึกตามคำสั่ง

"ผมได้บอกทหารทุกคนที่อยู่ในรถ ป.ต.อ. ให้ยกมือไหว้ขอขมาที่จำเป็นต้องยิงโบสถ์และอธิษฐานขออย่าให้ถูกพระประธาน"

ครั้นแล้วท่านก็ทำหน้าที่พลยิงด้วยตนเอง เพราะเป็นการยิงครั้งแรกของปืนชนิดนี้ ท่านได้ใช้กระสุนระเบิดในตับติดๆ กันไปอีก ๔ นัด เท่านี้เองฝ่ายตรงข้ามก็ชะงักทันที เพราะเพิ่งเคยเห็นปืนใหญ่ยิงได้รวดเร็วราวกับปืนกลและกระสุนระเบิดแม่นยำเกินกว่าที่เคยพบเห็นมาในเวลาซ้อมยิงปืนใหญ่แบบเก่าที่เคยมีในกองทัพบก ท่านเล่าต่อไปว่าได้ส่องกล้องดูเห็นคนวิ่งหนีออกไปจากโบสถ์ ๔-๕ คน

ที่หมายต่อไปที่สงสัยว่าจะเป็นที่มั่นของฝ่ายตรงกันข้ามคือสถานีวิทยุต่างประเทศที่หลักสี่ จึงได้ยิงข่มขวัญไปอีก ๕ นัด เล็งสูงจากตัวอาคารเพราะเกรงจะได้รับความเสียหาย จากนั้นก็นำทหารราบรุกคืบหน้าไปโดยไม่ได้ยิงอีกเลย นับว่าเป็นยุทธวิธีที่ค่อนข้างแหวกแนวที่ปืนใหญ่ออกนำทหารราบและยิงวิถีราบอย่างปืนกล บทบาทของท่านมีเพียงวันเดียวฝ่ายทหารหัวเมืองถอนตัวจากดอนเมืองขึ้นตั้งรับในเทือกเขาดงพระยาเย็นต่อไป ซึ่งตอนนี้หมดภารกิจของท่านแล้ว ตกลง ป.ต.อ. รุ่นแรกของกองทัพบกได้บุกเบิกชัยชนะให้ฝ่ายรัฐบาลด้วยกระสุนเพียง ๙ นัดเท่านี้เอง


คอลัม : เล่าไว้ในวันก่อน

ศิลปวัฒนธรรม
วันที่ 01 กันยายน พ.ศ. 2548 ปีที่ 26 ฉบับที่ 11

ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม : เล่าไว้ในวันก่อน

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำไปโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

ไม่มีความคิดเห็น: