วันเสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

ชวนดู ชวนคิด เรื่อง ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ "แบบใหม่" (?)


เปิดประเด็น

ผมคิดว่า ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง-พระราชินี (ฉายจากเบื้องพระปฤษฎางค์) ที่ตีพิมพ์ในหน้า 69 ของ ดวงใจแผ่นดิน หนังสือรวมภาพงานพิธี 60 ปีครองราชย์ ของ มติชน เป็นภาพที่ "แปลก" หรือ "ไม่ธรรมดา" (unusual) น่าสนใจดี สะท้อนความใหม่ของ "รูปแบบการนำเสนอ" (representation) พระมหากษัตริย์-พระราชินี ใครมีโอกาสลองช่วยกันดูหน่อย (อันที่จริง หลายภาพในหนังสือนี้อาจจะเข้าข่ายทีว่านี้ได้)

ผมสงสัยว่า การที่หนังสือจัดทำขึ้นโดยมี "เส้น" คือ มูลนิธิเจ้าฟ้าเพ็ชรรัตน์ อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ได้ภาพที่มีลักษณะ "ไม่ธรรมดา" อย่างที่ว่า (ช่างภาพสามารถเข้าไปถ่ายภาพได้เองใน setting ที่มีลักษณะ private หลายภาพ) หรือผมจะดูหนังสือประเภทนี้ไม่ทั่วถึง คือเล่มอื่นๆก็คล้ายๆกัน ก็ไม่ทราบได้ (ขออภัย ผมไม่สามารถนำมาแสดงได้ เพราะหนังสือแพงเกินกว่าที่ผมจะควักกระเป๋าซื้อ - 999 บาท ปกแข็ง ปกอ่อน ดูเหมือน 800 กว่าบาท - ผมใช้วิธีเปิดดูเอาที่ซีเอ็ด และศูนย์หนังสือ มธ.)


ภาพพระบรมฉายาลักษณ์




นี่คือภาพพระบรมฉายาลักษณ์จาก ดวงใจแผ่นดิน ถ่ายด้วยมือถือ แสงไม่ค่อยดี ใช้แฟลชก็ไม่ได้ เพราะจะสะท้อนกระดาษออกมาไม่เป็นรูป แต่คิดว่า น่าจะพอได้ไอเดียว่าเป็นอย่างไร

ผมรู้สึกว่าไม่ธรรมดา ไม่ทราบท่านอื่นเห็นอย่างไร

ผมขอขยายความเล็กน้อย ผมกำลังเขียนบทความชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงด้านมโนทัศน์ (representation) เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ในระยะ 1-2 ทศวรรษที่ผ่านมา ผมรู้สึกว่า ภาพนี้เป็นตัวอย่างที่ดีตัวอย่างหนึ่ง

ขอเพิ่มเติมด้วยว่า ผมได้ถือโอกาส สำรวจดูหนังสือรวมภาพงานพิธี 60 ปีครองราชย์ที่มีการพิมพ์กันออกมาหลายเล่มในปีที่ผ่านมาด้วย รู้สึกว่า ไม่มีภาพลักษณะนี้จริงๆ (มีอยู่เล่มหนึ่ง ใกล้เคียง ฉายจากมุมเดียวกัน แต่ close up มากกว่า เป็นภาพครึ่งพระองค์มากกว่าเต็มพระองค์ และในหลวงทรงหันพระองค์ทางด้านข้างมากกว่า)

ในความรู้สึกของผมคือ โดยทั่วไป ภาพในหนังสือต่างๆเหล่านั้น (รวมทั้งใน ดวงใจแผ่นดิน ) มีลักษณะ informal กว่าภาพพระบรมฉายาลักษณ์ที่ผ่านๆมาไม่น้อย (ในความเห็นผม) หรือมีลักษณะของภาพแบบ photo journalism ทั่วไป เมื่อถ่ายภาพบุคคลธรรมดามากขึ้น

(ผมขอขยายความ เชิงยกตัวอย่างเล็กน้อย เช่น ภาพที่รู้จักกันดี ที่มีพระเสโทอยู่ที่พระนาสิกนั้น มองในแง่หนึ่ง มีลักษณะ informal - ตัวภาพนี้เอง ก็มีความเป็นมา ที่ผมตั้งใจจะวิเคราะห์ - แต่ถ้าดูจริงๆ จะไม่ใช่ลักษณะ informal อย่างภาพที่ปรากฏในหนังสืองาน 60 ปีหลายเล่มที่ว่านี้)


สมศักดิ เจียมธีรสกุล
2007-01-28


เริ่มต้นการพูดคุย


แฟนคลับอ.สมศักดิ์ :

ผมขอลองหาความ "ใหม่" ของภาพพระบรมฉายาลักษณ์นี้โดยอาศัยแนวคิดเรื่อง "มุมมอง" ที่ใช้กันในแวดวงวรรณกรรมศึกษานะครับ (ดู ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ "อ่านไม่เอาเรื่อง")

เวลาที่เราอ่านนวนิยายเรื่องหนึ่ง คำถามที่ต้องตั้งคือ เหตุการณ์ที่เรา "เห็น" นั้น เราเห็นตามสายตาหรือมุมมองของใคร ใครคือผู้กำหนด focus ให้เราเห็นเหตุการณ์นั้นๆ อย่างในสี่แผ่นดิน ความอลังการณ์แห่งสังคมศักดินานั้น ผู้อ่านจะต้องระลึกเสมอว่า เป็นการ "มอง" ของแม่พลอย เราเห็นความวิเศษของสังคมสมัยนั้นผ่านสายตาแม่พลอย

ทีนี้ ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ที่เราเห็นตามปรกตินั้น มักจะมีมุมมองเดียวกัน กล่าวคือ เป็นภาพที่เสมือนกับมีใครสักคนกำลังมองพระเจ้าอยู่หัวอยู่ เราเห็นภาพ (ในหลวง) ตามสายตาของบุคคลดังกล่าว และผมขอเสนอในที่นี้ว่ามุมมองดังกล่าวมักแฝงคติ "รู้ที่สูงที่ต่ำ" ของผู้มอง (ทั้งผู้มองที่แฝงในภาพและคนที่ดูภาพจริงๆจนเกิดเป็น common sense) เพราะ มีลักษณะ "แหงนหน้ามอง" คือมอง จากล่างขึ้นบนเป็นส่วนใหญ่

ตรงกันข้าม ภาพที่อาจารย์นำมาลงนั้น มีการเปลี่ยนมุมมองอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือสิ่งที่เราเห็นนั้น เราเห็นตาม พระเนตร ของพระเจ้าอยูหัว คือเปลี่ยนจาก "เรากำลังมองในหลวง" เป็น "เรากำลังเห็นในสิ่งที่ในหลวงทรงเห็น" อนึ่งแม้ "โวหารของภาพ" จะใหม่ แต่ผมยังเห็นว่าภาพตอกย้ำคติเดิม คือไม่ "ล่างขึ้นบน" ก็ "บนลงล่าง" ซึ่งเราอาจเรียกอย่างลำลองว่า "สังคมแนวตั้ง"

สอง การที่เราเห็นตามใครนั้นเรากำลังผนวกตัวเข้ากับผู้มอง คำที่เราอาจเคยได้ยินคือ "สงสารในหลวง" ก็อยู่ในกระบวนการเดียวกันนั่นแหละ การรู้สึกตาม เห็นตามบุคคลที่เคารพรักยิ่งทำให้เรารักหรือแสดงว่าเรารักมิใช่หรือ


saraburian :

ลักษณะใกล้เคียงกับรูปในนิตยสาร Hello ที่ผมนั่งอ่านเวลารอตัดผมเลยครับ ฉบับต้น ม.ค. ก็มีรูปของ เจ้าฟ้าชาย และครอบครัว ก็เป็นรูปในลักษณะแบบนี้ครับ

อนึ่ง นิตยสาร Hello เป็นนิตยสารหัวนอกที่มีจุดขายว่า เป็นนิตยสารที่มีการสัมภาษณ์และเข้าถึงกลุ่มผู้อยู่ในสังคมชั้นสูงแบบ exclusive ครับ


นักศึกษาวารสารฯ มธ. :

มันขึ้นกะว่า อ.สมศักดิ จะใช้ทฤษฎีสำนักไหนมาวิเคราะห์มั้งครับ จะใช้แนวคิดของ ฟูโกต์ ในการวิเคราะห์วาทกรรม แบบเดียวกับที่ฟูโกต์ ใช้วิเคราะห์ ภาพเขียนชื่อ Las Meninas

หรือใช้แนวคิด แบบ visual anthropology ที่บ่งบอกสถานะของผู้ที่จ้องมอง และถูกจ้องมอง

แต่ผมว่า คนถ่ายภาพเมืองไทย อาจจะไม่ได้คิดอะไรลึกซึ้งก็ได้นะครับ


สมศักดิ เจียมธีรสกุล :

ที่ผมคิดได้ประเด็นหนึ่ง อาจจะไม่ดีหรือไม่มีอะไรนักก็ได้

แต่ที่ผมเข้าใจ หรือสังเกต ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ทุกภาพ (หรือแทบทุกภาพ?) ในอดีต ต้องมีลักษณะที่ คนดูสามารถแสดงความเคารพสักการะ (หรือชื่นชม) ได้โดยตรงโดยตัวภาพนั้นเอง ภาพนี้ ซึ่งฉายจากเบื้องปฤษฎางค์ล้วนๆ ถ้านำไปแยกต่างหากเดี่ยวๆ ไม่สามารถ - หรือคงไม่มีใครสามารถ - เป็นภาพในลักษณะที่แสดงความเคารพสักการะได้ จริงไหมครับ? แต่แน่นอนว่า ภาพถ่ายปุถุชนอื่นๆ ทั่วไป ไม่ว่าจะถ่ายในมุมใด จากจุดไหน เนื่องจากไม่ได้มีจุดมุ่งหมาย (หรืออาจเรียกว่า function) เพื่อการเคารพสักการะ จึงไม่ใช่ประเด็นสำคัญของการถ่าย (หรือนำแสดง นำเสนอ) คือช่างภาพ สามารถถ่ายจากมุมใดก็ได้ อันที่จริง การถ่ายยิ่งได้มุมที่แปลกใหม่ ที่คาดไม่ถึง ยิ่งถือว่า "เก่ง" แต่ภาพพระบรมฉายาลักษณ์มี function อยู่ที่เพื่อนำเสนอ หรือนำแสดง เพื่อการเคารพสักการะ ดังนั้น มุมที่ถ่ายจึงสำคัญ...

การที่ช่างภาพผู้ฉายภาพนี้ และผู้พิมพ์ภาพนี้ สามารถเลือกภาพนี้มาเสนอได้ แสดงว่า ไม่ได้คำนึงถึง function ของภาพพระบรมฉายาลักษณ์ ในลักษณะเดิม กล่าวเช่นนี้จะได้หรือไม่?


นักศึกษาวารสารฯ มธ. :

อืม ผมพอเข้าใจประเด็นของ อ.สมศักดิ แล้วละครับ

เพียงแต่ว่า ถ้าเรามองว่า ภาพถ่ายทุกภาพเป็น "การเมือง" และ / ล้วน ถูก setting ขึ้นมา อย่างเป็นระบบ ด้วยความตั้งใจทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการเลือกมุมกล้อง / การจัดแสง / องค์ประกอบภาพ การจัดลำดับตีพิมพ์ ก่อน - หลัง ในแต่ละภาพ ฯลฯ

ผมว่า คิดแบบนี้ เราจะมาวิเคราะห์โดยใช้ภาพแค่ภาพเดียว มาเป็นตัวตัดสินไม่ได้นะครับ มันคงต้องดูทั้งระบบ หรือหมายถึง ดูร่วมกันทั้งเล่มนะครับ ว่าภาพที่ตีพิมพ์ในหน้าแรก ๆ และในหน้าสุดท้าย เป็นประการใด จึงจะสามารถวิเคราะห์ความหมายได้ ใช่หรือไม่ครับ


สมศักดิ เจียมธีรสกุล :

ประเด็นเรื่องใช้ภาพถ่ายภาพเดียว ที่คุณ นศ.วารสาร ตั้งข้อสังเกต ผมมองอย่างนี้นะ กรณีช่างภาพถ่ายรูปในหลวงพระราชินีนี่ ผมเชื่อว่า เขาถ่ายโดยมีจิตสำนึกที่ต่างจากช่างภาพเวลาจะถ่ายรูปผู้นำทั่วไป ดังที่ผมบอกว่า ในกรณีหลัง การหามุมกล้องที่ "แปลก" เป็นบางอย่างที่ปกติ หรือพยายามทำกันด้วยซ้ำ และอย่างน้อยที่สุด แม้แต่ในการถ่ายภาพทีมีลักษณะ routine นั้น ผู้ถ่ายจะไม่คำนึงว่าภาพจะออกมาอย่างไรเท่าไร อันนี้ เชื่อมโยงถึงผู้เลือกภาพตีพิมพ์ เท่าที่ผมเข้าใจ การเลือกภาพตีพิมพ์ผู้นำทั่วไป

แม้จะมีลักษณะที่พยายามไม่ให้ออกมาดู "น่าเกลียด" มาก แต่โดยทั่วไป ถ้าได้มุมที่แปลก ก็มักถือเป็นเรื่องที่ต้องโชว์ออกมากัน เช่น ผู้นำกำลังแสดงท่าเหนื่อยล้าหลังขึ้นเวทีปราศรัย หรือผู้นำกำลังปะหน้า แต่งหน้า ก่อนออกทีวี ส่วนที่ว่าไม่ให้ดู "น่าเกลียด" มาก ก็เช่น ผู้นำกำลังแคะจมูก.. แต่อันนี้ ในทางกลับกัน ถ้าได้ภาพเหล่านี้ (ซึ่งไม่ค่อยได้ เพราะตัวผู้นำ จะสำนึกว่าตัวเองอยู่ใต้กล้องตลอดเวลา) บรรณาธิการก็ชอบด้วยซ้ำนะผมว่า ...

กรณีในหลวง เราไม่เคยเห็นภาพเหล่านี้ใช่ไหมครับ? เพราะอะไร นี่คือประเด็นของผมครับ ภาพในหลวงพระราชินี มี function สำคัญต่างจากภาพทั่วไป คือทุกภาพ จะต้องออกมาให้สำหรับเคารพสักการะ (หรือชื่นชมโสมนัส) ได้ แม้แต่ภาพ ที่ดู "ลำลอง" เช่นภาพเสโทย้อยพระนาสิก ที่รู้จักกันดี ก็มี function ในแง่นี้ แต่ภาพที่ผมยกมาให้ดูนี้ ขอให้ลองจินตนาการต่อไปดู หากคุณตีพิมพ์ภาพนี้ หรือดูภาพนี้ เดี่ยวๆ เพียงภาพเดียว คุณสามารถใช้ใน function ที่ว่านี้ได้หรือครับ? ผมคิดว่าไม่ได้ (ผมจินตนาการไม่ออก)

และนี่คือความแปลกมาก (ในทัศนะของผม) ของภาพเดียวนี้ หลายวันมานี้ ผมได้พยายาม ดูภาพในหลวงพระราชินี รวมทั้งภาพงาน 60 ปีด้ว ผมไม่เห็นภาพที่มีลักษณะแบบภาพนี้เลย คือทุกภาพ (หรือแทบทุกภาพ - อย่างที่บอกว่า นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ "ภาพเดียว" เสียทีเดียว คือ มีลักษณะทำนองนี้ให้เห็น แต่ไม่มากเท่าภาพนี้) คุณสามารถเอาไปแสดงเดี่ยวๆได้ โดยรับใช้ function ที่ว่า เพื่อให้แสดงความเคารพสักการะ (หรือชื่นชม) ได้

ที่เพิ่งพูดไปใน 2 ย่อหน้าสุดท้าย คิดว่า น่าจะตอบความเห็นคุณ freemind ได้ว่า ไม่มีอะไร ในภาพนี้ .. ผมอยากขอย้ำ และเรียกร้องเชิญชวนอีก ให้ลองมองอย่างที่ผมเสนอ ลองคิดดูว่า (ก) ภาพนี้ ถ้าแสดงเดี่ยวๆ สามารถมี function ของการเคารพสักการะ ชื่นชม ได้หรือไม่ และ (ข) คุณเคยเห้นภาพใด ที่เมื่อแสดงเดี่ยวๆ มีลักษณะ (ถ้าเห็นด้วยกับข้อ ก) ไม่สามารถแสดง function การเคารพสักการะ แบบภาพนี้หรือไม่?


freemind :

อ๋อครับ ถ้ามองในขั้นการที่คนถ่ายภาพเลือกมุมนี้ ผมว่าไม่แปลก

แต่ถ้ามองในแง่หัวหน้าช่างภาพมานั่งดูทุกรูปแล้วเอามุมนี้ และ บ ก ก็เลือกมุมนี้มาลง อันนี้แปลกจริงๆตาม อจ ว่า

ถ้าให้ผมเดาต่อ ผู้ยกมือถือมาถ่ายรูปนี้คงไม่ธรรมดา น่าจะเป็นพระเจ้าลูกเธอหรือพระเจ้าหลานเธอองค์ใดองค์หนึ่ง การนำมาลงดิบๆแบบนี้จึงทำได้ และผู้ถ่ายก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการเล่าเรื่อง


สมศักดิ เจียมธีรสกุล :

เรื่อง "ไม่แปลก" นี่ผมว่าต้องอย่างนี้ไม่ใช่หรือครับ คือ เราต้องสามารถยกตัวอย่างว่ามีกรณีอื่นๆ เหมือน กรณีนี้ จึงกล่าวได้ว่า กรณีนี้ "ไม่แปลก" ทีนี้ประเด็นของผมก็คือ เท่าที่ผมเคยเห็น ผมไม่เคยเห็นมุมกล้องในลักษณะนี้ เลย (ซึ่งทำให้ภาพออกมา โดยไม่สามารถรับใช้ function ที่กล่าวข้างต้นได้)

ที่ผมพูดนี่ก็เพื่อจะถามอย่างซีเรียสว่า ที่คุณ freemind ใช้คำว่า "ไม่แปลก" นี่ แสดงว่าเคยเห็น หรือสามารถ ยกตัวอย่าง มุมกล้องเดียวกันแบบนี้ได้? คือ ผมเองไม่เคยเห็น แม้จะดูพระบรมฉายาลักษณ์ไม่น้อย

(ปล. ที่วา "มือถือ" ถ่ายนี้ ผมหมายถึง ผม ถ่ายรูปนี้จากหนังสือด้วยมือถือของผมครับ ไม่ใช่ต้นฉบับ ต้นฉบับที่พิมพ์น่ะ ถ่ายด้วยกล้องอย่างดี ภาพคมกริบ สีสวยงามมาก)


z :

ผมว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญ สถาบันกำลังปรับตัว ให้เข้ากับโลกยุคใหม่ขึ้นเรื่อยๆ

ความศักดิ์สิทธิ์ กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ เดือนก่อนเคยเห็นกระทู้ทำนอง โยนความผิดพลาด(หรือการสร้างสรรค์เรื่องที่ผิดความจริง) ของโครงการต่างๆ ให้เป็นความผิดของชาวบ้านที่ ตั้งความหวังมากเกินไป ผมว่าสถาบันกำลังถอย อย่างน้อยสองด้าน ๑ ด้านความศักดิ์สิทดิ์ ๒ ด้านอัจฉริยะ ที่เป็นเลิศเหนือมนุษย์ ที่เหลือ ๑ จริยธรรม ๒ โปรประกันดาให้หนัก แต่อุปสรรค์ยังมี จริยธรรมมีปัญหาที่ บางคน ในสถาบันด้อยจริยธรรมเหลือเกิน ส่วนโปรประกันดา ก็เอาทรัพยากร ของชาติไปใช้ มันก็ดันขัดกับ๑ เสียอีก

.....เฮ้อออออออออออออออ.........


GAGABOY (s) :

ผมเห็นด้วยกับความน่าสังเกตุของภาพนี้อย่างที่ อ.สมศักดิ์ ตั้งข้อสังเกตุมา ว่า มันเป็นภาพที่ไม่ว่าดูในแง่มุมไหนมันก็ดูเป็นภาพที่ธรรมดาสามัญมาก ๆ แต่สิ่งที่ผมพยายามคิดตามก็คือ ในส่วนของ การที่ภาพนี้ถูกเลือกตีพิมพ์ออกมา เป็นส่วนหนึ่งในหลาย ๆ ภาพที่ถูกนำเสนอ ผมกลับคิดว่าจุดสำคัญอยู่ที่การที่ภาพนี้ถูกเลือกออกมานำเสนอมากกว่าองค์ประกอบที่ปรากฏอยู่ในตัวของภาพเอง (ส่วนหนึ่งผมพูดจากประสบการณ์ที่เคยถ่ายภาพมา)

ผมคิดว่าบรรดาภาพทั้งหลายเหล่านี้เป็นเพียงบางส่วนที่ถูกนำเสนอหรือถุกตีพิมพ์ออกมา แน่นอนว่ามันยังมีหลาย ๆ ภาพที่ไม่ได้ถูกเลือกออกมา และหลาย ๆ ภาพที่ไม่มีวันปรากฏออกมา ที่ผมพยายามสังเกตเช่นนี้เพราะกการถ่ายรูป, โดยเฉพาะการถ่ายรูปงานใหญ่ ๆ อย่างนี้, คนถ่ายรูปเองไม่มีโอกาสได้รอเลือกมุมที่ดีที่สุดหรือมุมที่ต้องการในการเก็บภาพออกมานักหรอก

ดังนั้นการที่จะได้มุมที่ต้องการนั้น หมายความว่า ต้องกระหน่ำกดชัตเตอร์ เท่านั้น ถ้ามุมนั้น อย่างน้อยมีความน่าสนใจ หรือใช่ หมายถึงนิ้วต้องกดท้นที และในหลาย ๆ ภาพ บางครั้งมันก็ต้องยอมรับว่ากดไว้ก่อนไปอย่างนั้น แต่แน่นอนไม่ได้หมายความว่ามั่ว ดังนั้นประเด็นเรื่องมุมมองของช่างภาพเองจึงไม่น่าจะเป็นประเด็นที่สำคัญนัก แต่ในทางกลับกันประเด็นที่มันถูกเลือกออกมามากกว่าน่าจะมีความสำคัญมากกว่าตรงนี้

และตรงนี้คือจุดที่ผมพยายามคิดต่อจากโจทย์ของ อ.สมมศักดิ์ เอง ถ้าภาพนี้ถูกนำเสนออย่างเดี่ยว ๆ จะเป็นหรือหมายความว่าอย่างไร แน่นอนมันย่อมบอกถึงความเปลี่ยนแปลง ซึ่งผมคงต้องบอกว่า "บางอย่าง" ในความหมายของบางอย่างจริง ๆ ในการรับรู้ที่ส่งผ่านออกมาจากตัวพระบรมฉายาลักษณ์แน่ ๆ และถ้าผมเข้าใจไม่ผิด อ. กำลังถามว่าอะไรที่นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงการนำเสนอและบางทีอาจจะรวมถึงการรับรู้ตรงนี้...


ลูกศิษย์อาจารย์ :

ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ว่าการเลือกรูปนี้สะท้อนว่า function ศักการะของรูปเปลี่ยนไป

ผมคิดว่าเราอาจจะเอาประเด็นเรื่องทุนวัฒนธรรม (แบบอ.รังสรรค์) มามองได้นะครับ อย่างที่เราเห็นๆ อยู่ว่า การขายมือถือสมัยนี้ ไม่ได้ขายที่ตัว product ล้วนๆ แล้ว แต่ในแง่การตลาดจะต้องพยายามก้าวล่วงเข้าไปในตัวตนและความรู้สึกของลูกค้า จึงต้องเสนอโฆษณาแบบ "สร้างเรื่องราว" ผมขออิงจากงานของนันทขว้าง สิรสุนทร

"...เหมือนโฆษณามือถือแหละครับ เล่นเรื่องนอกกรอบแล้ว ก็เล่นเพื่อนสนิท เล่นเพื่อนสนิทแล้วก็เล่นเรื่องการทำตามความฝัน ก่อนจะไปจบที่การเดินทางตามหาตัวตน"

คือ ยิ่งให้คนซื้อ in กับสินค้าได้เท่าไร โอกาสที่เขาจะมองข้ามเรื่องประโยชน์ใช้สอยที่แท้จริงก็เพิ่มขึ้น

ทีนี้ผมคิดว่าการปรับตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนมากของ "วัง" คือ นำเรื่อง "ในวัง" มาแปรเป็นสินค้า หรือก็คือการใช้เรื่องเหล่านั้นมาเป็นทุนชนิดหนึ่งในการผลิตและสร้างความสัมพันธ์กับมวลชน เราจึงเห็นตั้งแต่ เสื้อทองแดง, หนังสือขนมลูกๆ ทองแดง, สัตว์เลี้ยงวังสะปทุม, เสื้อเหลือง, ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของสมเด็จพระเทพรัตนฯ ในงานดังกล่าว ฯลฯ (ซึ่งมี product diffenrentiate มากกว่าพวกหนังสือตีพิมพ์ในวาระพิเศษต่างๆ และดู official)

ในแง่มูลค่าตลาดของสินค้าเหล่านี้ผมเชื่อว่าทุกคนย่อมอนุมานได้อยู่ว่าไม่น้อยเลย และการที่สินค้าเหล่านี้พัฒนาตัวเองขึ้นมาได้ย่อมเกิดขึ้นควบคู่กับการคลี่คลายบทบาทของสถาบันที่เกี่ยวข้อง พูดง่ายๆ ว่าคลี่คลายจากความศักดิ์สิทธิ์ มาสู่ภาพของสถาบันที่เราเข้าถึงได้ เป็นครอบครัวคนธรรมดาที่มีสัตว์เลี้ยง มีความกันเองของคนในครอบครัว ฯลฯ ซึ่งผมเองมองว่าสิ่งนี้เริ่มเปลี่ยนมาได้ราวๆ ทศวรรษที่ผ่านมา

กลับมาที่ตัวภาพ ผมมองว่า เป็นสื่ออย่างหนึ่งที่ใครอาจจะมองว่ามี function ของการโฆษณาก็ได้ เพราะสอดคล้องกับกระแสที่เป็นอยู่ ภาพลักษณะนี้ถามว่าจะได้ขอพระบรมราชานุญาตก่อนถ่ายมั้ย? ย่อมไม่ได้ขอแน่นอน แต่การที่เลือกมันมาเท่ากับว่า คนที่อยู่เบื้องหลัง (ช่างภาพหลวง, ข้าราชบริพาร, ราชองครักษ์) ซึ่งมองเห็นเบื้องพระปฤษฎางค์ ก็มีโอกาส "สัมผัส" พระองค์ท่านโดยผ่อนคลายความเครียด-ความยำเกรง ถ่านรูปจากเบื้องหลังและนำมาบอกให้คนที่ไม่ได้เห็นในมุมนั้นได้ทราบด้วยว่า

เราต่างเข้าถึงท่านได้ในแง่มุมที่ธรรมดา แม้จะยังต้องยกย่องเทิดทูนท่านเช่นเดิมด้วย แต่ผมคิดว่ามีการพยายามสื่อแน่นอนว่า เราสามารถรับรู้-เห็นท่านในแง่มุมที่ต่างไปจากการศักการะ ภาพจึงเป็นไปในทิศทางเดียวกับการนำเรื่องในวังมาเป็นสินค้าวัฒนธรรม ในลักษณะ mass consumption อย่างที่เห็นอยู่ เพราะสินค้าเหล่านั้นเองก็ทำหน้าที่ของมันมาตลอดคือ ให้คนนอกวังสามารถเข้าใกล้-รับรู้-โสมนัส กับสิ่งที่ปกติไม่เคยได้รับการถ่ายทอดออกมา


นักศึกโษ :

สารคดีที่ถ่ายทอดทางโทรทัศน์เมื่อช่วงงานฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปี มีภาพฟ้าชายฟ้าหญิงสมัยยังทรงพระเยาว์ที่ทรงเล่นประสาเด็กทั่วไป ในแง่หนึ่งความเป็นคนธรรมดาที่ถูกนำเสนอมากขึ้นเรื่อยๆ กลับยิ่งทำให้ทรงเป็นที่เคารพสักการะเป็นที่รักอย่างสูงสุดของปวงชนชาวไทยมากขึ้น หรือภาพในหลวงราชินีในลักษณะรูปถ่ายในพระอิริยาบถทั่วไปก็ถูกตีพิมพ์มากขึ้นเรื่อยๆ เป็นการปรับตัวอย่างหนึ่งของสถาบันกษัตริย์ ถ้ามองในแง่หลักการตลาดแล้วถือว่าประสบผลสำเร็จมากในการสร้าง "ภาพลักษณ์" ที่ประทับซึ้งตรึงใจผู้ชมอย่างถึงที่สุด


ศรัทธา :

เห็นด้วยกับสมศักดิ์ ว่านี่เป็นภาพไม่ธรรมดา เพราะมันแสดงถึงความธรรมดาของเจ้าของภาพ เป็นธรรมดาว่าภาพคนเรานั้นมีได้หลายอิริยาบท แต่ถ้ามองในฐานะภาพแทน (representation) การเลือกนำเสนอภาพพระมหากษัตริย์ในอิริยาบทเช่นในรูปนี้ ซึ่งคือหันหลังให้ผู้ดูต้องถือเป็นเรื่องแปลก ยิ่งถ้าทางราชสำนักยินยอมให้เผยแพร่ก็ต้องถือว่าแปลกยิ่งไปอีก

แปลกเพราะภาพแทนภาพนี้ตอกย้ำความเป็นมนุษย์ปุถุชน มิใช่สมมุติเทพ เหมือนภาพแทนที่คุ้นเคยในอดีต ในลักษณะเดียวกันสโลแกน "เรารักในหลวง" ซึ่งนิธิเคยวิเคราะห์ไว้แล้ว สโลแกนนี้สะท้อนทัศนคติของชนชั้นกลางที่มองในหลวงเป็นมนุษย์ ที่พวกเขาสามารถ "รัก" ได้ มิใช่ต้อง "จงรักภักดี" เหมือนที่ไพร่ฟ้าประชาชีในอดีตจะพึงมีต่อพระมหากษัตริย์ ผมว่านิธีวิเคราะห์ประเด็นนี้ไว้ชัดเจนดีแล้ว ข้อน่าสังเกตประการหนึ่งจากความเห็นหลายความเห็นในกระทู้นี้คือ การเติมสิ่งที่ไม่ปรากฏในภาพให้กับภาพนี้ เช่นที่ว่า

"วิเคราะห์จากที่มาของรูป เป็นเหตุการณ์ที่มีการแสดงถึงความล้นหลามของผู้คน ที่ยังคงสนับสนุนต่อพระองค์ท่าน และภาพก็ (ผมคิดว่า) ยังคงพยายามแสดงถึงแง่นี้อยู่"

ในภาพที่สมศักดิ์โพสต์ เราไม่เห็นประชาชนเลยสักคนเดียว เราเห็นแต่ด้านหลังของในหลวงและราชินีครับ ความน่าสนใจของภาพนี้จึงอยู่ที่ว่าทำไมคนดูภาพจำนวนจึงพร้อมและไม่รีรอ จะเติมความหมายที่ตอกย้ำสถานภาพอันสูงส่งให้พระองค์ท่าน

เพราะถ้าว่ากันตามเนื้อผ้าและพิจารณาภาพโดยตัวมันเองแล้ว น่าจะสื่อความหมายตรงกันข้ามเลยด้วยซ้ำไป ทำนอง "หันหลังให้ประชาชน" ฟ้าเดียวกันน่าจะนำไปเป็นภาพปกหนังสือ (ไม่สงวนลิขสิทธิ์การตีความครับ และไม่ต้องกลัวถูกข้อหาหมิ่นฯด้วย)


.............................................

หมายเหตุ

กระทู้นี้เปนการพูดคุยกันถึงเรื่อง "ภาพพระบรมฉายาลักษณ์" ในมุมที่เราๆท่านๆทั้งหลายไม่ค่อยได้พบเห็น ผมเห็นว่ามีการพูดคุยกันอย่างน่าสนใจจากหลากหลายความเห็น เลยจับเอามาลงไว้อ่านกัน และก็จะได้เก็บเอาไว้เปนอีกหนึ่งข้อมูล สำหรับการศึกษาในวันข้างหน้า

ที่มาของกระทู้ :

1. บอร์ดฟ้าเดียวกัน (เก่า) : ชวนดู ชวนคิด-อภิปราย : ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ "แบบใหม่" (?)

2. บอร์ดฟ้าเดียวกัน (เก่า) : นี่คือภาพพระบรมฉายาลักษณ์จาก ดวงใจแผ่นดิน....

ไม่มีความคิดเห็น: