วันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์


พระราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ที่มีความงดงามและเจริญถึงขีดสุดกว่ายุคใด ๆ ในประวัติศาสตร์สยาม ก็เพราะพระปรีชาสามารถขององค์พระมหากษัตริย์ ที่ได้ทรงทำนุบำรุงพระราชอาณษจักร ไพร่ฟ้า ข้าแผ่นดิน ให้อยู่เย็นเป็นสุขได้ แม้จะเป็นยุคสมัยที่เกิดการสงครามรุมเร้ามากที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติสยาม

ดูเหมือนว่าเราจะชอบให้ประวัติศาสตร์คงภาพที่งดงามไว้เช่นนั้นตลอดไป เราภูมิใจ เจากล้าเอ่ยถึง กล้าเล่าให้คนรุ่นต่อ ๆ ไปฟังอย่างอิ่มเอมใจ

ประวัติศาสตร์ก็น่าจะเป็นอย่างนั้น และมันก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ


แต่…ประวัติศาสตร์ไม่ใช่นวนิยาย ไม่ใช่เรื่องประโลมโลก ไม่ใช่ของมึนเมา เพียงแต่คล้ายนวนิยาย มีไว้ประโลมโลก และบางครั้งก็สร้างขึ้นมามอมเมาผู้คน


เบื้องหลังพระราชอำนาจ เบื้องหลังของราชบัลลังก์ ทั่งการได้มา และการรักษาไว้ บางครั้งก็โหดร้ายทารุณ โดยเฉพาะฉากวันผลัดแผ่นดิน วันทำรัฐประหาร ที่จบลงด้วยการ “สำเร็จโทษ” เป็นฉากสุดท้ายของพงศาวดารในแต่ละตอน ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ไม่มีใครอยากพูดถึง

ถ้าอย่างนั้นจะเอามาพูดถึงทำไม ?

ขอตอบว่า อยากเห็นตอนจบให้เต็มตาเสียที

แน่นอนว่าคงจะไม่ยุติธรรมนัก หากเราเอาวิธีคิดในปัจจุบันไปตัดสินการกระทำของพระมหากษัตริย์ในอดีต โดยเฉพาะการใช้พระราชอำนาจตามกฎมณเฑียร-บาลในการ “สำเร็จโทษ” ด้วยเงื่อนไขความคิดทางสังคมที่แตกต่างด้วยสภาวะทางการเมืองที่ดุเดือดและซับซ้อน ความเข้มแข็งของราชตระกูลที่ต่างฝ่ายต่างมีกำลัง และท้ายที่สุดคือ “แบบแผน” ของการตัดสินกันด้วยกำลัง ที่ไม่มีทางเลือกอื่นให้ใช้มากนัก ดังนั้นจะแน่ใจได้อย่างไรว่าถ้าพระองค์ไม่ใช้พระราชอำนาจเช่นนั้นแล้วพระองค์จะอยู่เหนือบัลลังก์ที่เต็มไปด้วยหอกดาบได้อย่างไรโดยไม่เกิดศึกสายเลือดขึ้นวันใดวันหนึ่ง

เมื่อเงื่อนไขการทำรัฐประหารเกิดขึ้นได้โดยง่าย บางครั้งมีกำลังไม่ถึงร้อยก็คิดการใหญ่กันแล้ว ดังนั้นการใช้พระราชอำนาจในการสั่งสำเร็จโทษก็เกิดขึ้นได้ง่ายพอ-กัน

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการสเร็จโทษก็เป็นไปตามระเบียบแบบแผน เพื่อรักษาศักดิ์ศรีอันทรงเกียรติของขัตติยะ ราชตระกูลไว้อย่างเคร่งครุด เพื่อมิให้ความเป็นเจ้านั้นเสื่อม-เสียไป ตั้งแต่วาระแรกของชีวิต จนถึงลมหายใจสุดท้าย



กฏมณเฑียรบาล

พระราชอำนาจในการ “มล้าง” ศัตรูทางการเมืองของกษัตริย์อยุธยานั้น ทรงใช้ผ่านกฎหมายบ้านเมือง กำหนดไว้ในกฎหมายตราสามดวง และสำหรับการ “มล้าง” อดีตกษัตริย์พระราชโอรส พระมเหสี นางสนม จะอยู่ในหมวดของ “กฏ มณเฑียรบาล” มาตรา ๑๗๔ ถึง ๑๗๖

ในที่นี้จะกล่าวถึงแต่มาตรา ๑๗๖ เป็นหลัก ว่าด้วยการสำเร็จโทษพระราชกุมาร รวมไปถึงอดีตพระมหากษัตริย์ ในกรณีที่ได้รับโทษสูงสุด ให้สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ มาตรา ๑๗๖ ในกฎมณเฑียรบาลว่าไว้ดังนี้


ถ้าแลโทษหนักถึงสิ้นชีวิตไซ้ ให้ส่งแก่ทลวงฟันหลังและนายแวงหลัง เอาไปมล้างในโคกพญา นายแวงนั่งทับตักขุนดาบ ขุนผู้ใหญ่ไปนั่งดู หมื่นทลวงฟันกราบ ๓ คาบ ตีด้วยท่อนจันทน์แล้วเอาลงขุม นายแวงทลวงฟันผู้ใดเอาผ้าธรงแลแหวนทองโทษถึงตาย เมื่อตีนั้นเสื่อขลิบเบาะรอง



ปริศนาในกฎมณเฑียรบาล

อันที่จริงภาษาในกฎหมายตราสามดวงไม่ได้ใช้ภาษาที่มีความสลับซับซ้อน หมกเม็ด ที่เรียกว่า “ภาษากฎหมาย” เหมือนในกฎหมายปัจจุบัน ที่มนุษย์ไม่มีวันเข้าใจ แต่ห้ามอ้างว่าไม่รู้

โดยธรรมชาติของกฎหมายตราสามดวงนี้ ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ตรงไปตรงมา เพียงแต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายร้อยปี ทำให้คนในรุ่นหลังไม่เข้าใจได้เหมือนกัน คำบางคำเลิกใช้ไปแล้ว ทำให้ต้องมีการ “ตีความ” กันอยู่เสมอ เช่นเดียวกับกฎมณเฑียรบาลมาตรานี้ ปรากฎคำหลายคำที่ทำให้นึกภาพได้ลำบากเหมือนกัน ครั้นเมื่อจะตีความเอาเองก็อดนึกถึงคำของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ไม่ได้ ที่ว่า “ข้าพเจ้าไม่อยากจะรับผิดชอบที่จะเดาแปลง” แต่จนแล้วจนรอดท่านก็อด “เดาแปลง” ไว้ไม่น้อยซึ่งเป็นประโยชน์กับคนรุ่นต่อมาได้อาศัยเป็นแนวทางในการค้นคว้าต่อไป

ครั้งนี้จึงขอ “เดาแปลง” บ้าง ไม่ใช่เพื่อให้เป็นแนวทางแต่เพื่อใหห้เกิดข้อถกเถียง และท้วงติง เพื่อความกระจ่างต่อไป



โทษสถานไหนจึงต้องสำเร็จโทษ


“ถ้าแลโทษหนักถึงสิ้นชีวิตไซ้…”


เท่าที่ปรากฎในเอกสารต่าง ๆ พระมหากษัตริย์ หรือพระราชโอรส ที่ถูกสำเร็จโทษตามมาตรานี้ จะมีโทษอยู่ไม่กี่อย่าง คือ แพ้รัฐประหาร กษัตริย์ผู้มาใหม่จำเป็นต้องกำจัดศัตรูทางการเมือง คือกษัตริย์องค์เดิม รวมไปถึงการขุดรากถอนโคนพระราชวงศ์ ต่อมาคือโทษฐานคิดกบฏ หรือ ก่อการกบฏ แล้วทำไม่สำเร็จ

สรุปก็คือเพื่อรักษาราชบัลลังก์ และโค่นราชบัลลังก์ โทษประหารเกิดขึ้นจากสองอย่างนี้เป็นหลัก นอกนั้นก็เป็นโทษของการล่วงเกินพระมเหสี นางใน ซึ่งก็เกิดขึ้นเพียงไม่กี่ครั้งในประวัติศาสตร์

ให้ส่งแก่ทลวงฟันหลัง แลนายแวงหลัง

ทลวงฟัน และนายแวงเป็นใคร ?

ทลวงฟัน นั้นชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นหน่วยหน้ากล้าตายในสนามรบ เป็นนักดาบที่มีจิตใจเด็ดเดี่ยว ไอ้เสมาในขุนศึกก็ได้ดีกับตำแหน่งนี้มาก่อนจะเป็นใหญ่ ส่วน ทลวงฟัน ในการสำเร้จโทษนั้นคือทำหน้าที่ เพชฌฆาต

ปัญหาอยู่ที่ นายแวง ซึ่งปรากฎหน้าที่หลากหลายในพระราชวัง ถ้าดูตามศัพท์ แวงในภาษาเขมรแปลว่า เส้นตรง ,แถว ส่วนราชบัณฑิตแปลเพิ่มมาอีกว่า ดาบ กับ ล้อมวง

ในการเนรเทศพระราชโอรสให้ไปรับโทษต่างเมือง ไม่ว่าโทษนั้นเป็นโทษเบา หรือโทษถึงตาย ท่านกำหนดให้นายแวงทำหน้าที่ดังนี้


“ส่งนายแวงหน้า ๒ แวงหลัง ๒ ตำรวจในถือกฎสั่งเรือในพิเนศ และเรือขุนดาบแห่หน้าเรือ ชาววังตามหลัง หัวหมื่นองครักษนารายหลังตามไปส่งถึงที่ จึ่งนายแวงตำรวจในลงเรือหน้า แลเอากฎไปแก่เจ้าเมืองแลกรมการ…”


ระหว่างเดินทางถ้ามีเรือเข้ารบกวนกระบวนเรือนี้ นายแวงมีหน้าที่จับโทษฐานขบถ


“เมื่อไปนั้นถ้ามีเรือผู้ใดเข้าไปผิดปหลาดอายการนายแวงท้าวพญาหัวเมืองมนตรีมุขลูกขุนแต่นา ๑๐๐๐๐ ถึงนา ๖๐๐ ผู้ใดส่งลูกเธอก็ดี ให้ของส่งของฝากก็ดี อายการนายแวง ได้กุมเอาตัวเปนขบถตามโทษานุโทษ”


ส่วนนายแวงในหน้าที่เกี่ยวกับการสำเร็จโทษนั้นน่าจะมีหน้าที่คล้ายกันในการกำกับดูแลให้การลงโทษนั้นเป็นไปตามพระอาญา คือดูแลความเรียบร้อย และรักษาความปลอดภัย หรือ “ผู้คุม” นั่นเอง


เอาไปมล้างในโคกพญา

กฎมณเพียรบาลระบุชัดเจนว่าสถานที่สำหรับสำเร็จโทษนั้นให้เป็น
“ในโคกพญา”

ปัญหาก็คือ โคกพญา คืออะไรกันแน่ เป็นวัดหรือป่าช้า แล้วอยู่ที่ไหน ขอตั้งข้อสังเกตแรกไว้ก่อนว่า การสำเร็จโทษ หรือการฆ่าแกงกันนั้นไม่น่าจะทำ “ในวัด” เพราะพระท่านคงไม่ยอม พระมหากษัตริย์ท่านจึงไม่อยากจะทำผิดศีลในวัด คนทั่วไปก็คงไม่เห็นดีด้วยแน่ แต่น่าจะเป็นการไปสำเร็จโทษกันที่ว่างข้างวัด ซึ่งก็น่าจะเป็นป่าช้านั่นเอง เพราะต้องขุดหลุมฝังพระศพในที่เดียวกัน

ในจดหมายเหตุวันวลิต ที่กล่าวถึงการสำเร็จโทษพระมหาอุปราช (พระ-เชษฐาของพระเจ้าทรงธรรม) ที่ถูกออกญากลาโหม (ต่อมาคือพระเจ้าปราสาททอง) นำไปสำเร็จโทษที่โคกพญา


“…พระมหาอุปราชจึงถูกนำตัวไปที่วัชื่อพระเมรุโคกพญา (Watphahimin Khopirja) ตรงข้ามกับพระราชวัง…”


บังเอิญว่าตรงข้ามกับพระราชวังก็มีวัด “หน้าพระเมรุ” ซึ่งเดิมชื่อว่า วัดพระเมรุราชิการาม พระราชพงศาวดารหลายฉบับเรียกวัดนี้ว่า “วัดพระเมรุ” เฉย ๆ ก็มี

เป็นไปได้หรือไม่ว่า “โคกพญา” ก็คือชื่อสถานที่ บริเวณ หรือตำบลที่ตั้งหมู่บ้าน หรือวัดวันวลิตจึงเรียกว่า “วัดพระเมรุโคกพระยา” เหมือนกับเราเรียก “วัดพระศรีมหาธาตุบางเขน”

ดังนั้นลานประหารอาจจะอยู่ในบริเวณใกล้ ๆ วัดหน้าพระเมรุนี่เอง ซึ่งบริเวณที่เลือกเป็นลานประหารนั้นก็ใช้บริเวณที่เป็นป่าช้าของวัดนั่นเอง

วันวลิตยังเขียนถึงเหตุการณ์เดียวกันนี้ในหนังสืออีกเล่มที่ชื่อว่า พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับเยเรเมียส ฟาน ฟลีต กล่าวถึงพระปิตุลา ก็คือคนเดียวกับพระมหาอุปราชในจดหมายเหตุวันวลิต ในนั้นกล่าวไว้ว่า


“พระปิตุลาถูกนำไปที่ ป่า-ช้า อันน่าสังเวชแห่งหนึ่ง ณ ที่แห่งนั้นพระองค์ถูกจับให้นอนลงบนเสื่อสีแดง แล้วตีด้วยท่อนจันทร์ที่พระอุระ…”


ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวถึงบริเวณนี้ว่าเป็นโคกพญาเช่นกัน ในคราวที่สมเด็จพระมหาจักพรรดิยาตราพระคชธาร “ข้ามฟากไป” ตั้งทัพก่อนเกิดศึกพระสุริโยทัย “สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าเสด็จยืนพระคชธารประมวลพลและคชพายุหโดยกระบวนตั้งอยู่ ณ โคกพระยา”

อีกคราวที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสด็จออกทำสัญญาสงบศึกกับพระเจ้าบุเรงนอง ในพื้นที่เดียวกัน คราวนั้นทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกราลสัณฐาคารบนพื้นที่ระหว่างวัดพระเมรุราชิการาม กับวัดหัสดาวาสต่อกัน

สรุปก็คือ พื้นที่บริเวณวัดหน้าพระเมรุ วัดหัสดาวาสนั้นเรียกว่า “โคกพระยา” แน่ ดังนั้นการที่วันวลิตจะเรียกวัดหน้าพระเมรุว่า วัดพระเมรุโคกพระยา ก็คงจะไม่ผิดอะไร แต่ป่าช้าที่ว่าอยู่ตรงไหน ซึ่งกึงไม่ใช่ระหว่างวัดทั้งสอง เพราะสมเด็จพระมหาจักรพรรดิไม่น่าจะมา “ยืนช้าง” หรือทำสัญญากันในป่าช้าแน่

ด้านทิศใต้ของวัดหน้าพระเมรุ ติดกับคลองเมืองเป็นพื้นที่จัดพิธีงานพระเมรุ อยู่หน้าพระราชวังพอดี อาจจะเป็นที่ตรงนี้ที่ใช้สำเร็จโทษ แต่คงไม่เหมาะจะเป็นที่ฝังพระศพ ด้านทิศตะวันออกติดคลองสระบัว ไม่มีพื้นที่ว่าง ส่วนทางด้านทิศเหนือของวัด เขตต่อกับวัดตะไกร เป็นพื้นที่ว่าง บริเวณนี้อาจจะเป็นลานประหารก็เป็นได้ แต่… ?

แต่ปัญหาก็คือในพระราชพงศาวดารหลายฉบับระบุว่าสถานที่สำเร็จโทษนั้นคือ “วัดโคกพระยา”แล้วบริเวณใกล้เคียงกันนั้นก็เผอิญมี “วัดโคกพระยา” ขึ้นมาจริง ๆ

ตามข้อสันนิษฐานของ น. ณ ปากน้ำ ในเบื้องต้นก็ยังไม่แน่ใจว่า วัดที่อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัดหัสดาวาสนั้นที่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดโคก” บ้าง “วัดสามพระยา” บ้าง ว่าจะเป็นวัดโคกพระยาจริงหรือไม่ “ชวนให้สงสัยว่าจะเป็นวัดโคกพระยาจริงหรือไม่ หรือว่าวัดโคกพระยาแท้ ๆ จะอยู่แห่งอื่น ซึ่งใกล้กับพระราชวังแทนที่จะอยู่ไกลเสียสุดกู่เช่นนี้” (น. ณ ปากน้ำ,ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา,เมืองโบราณ,๒๕๔๐)

แต่ภายหลังเมื่อท่านได้ตรวจสอบกับเอกสารของวันวลิตจึงปักใจเชื่อว่านี่คือวัดโคกพระยาจริง ๆ “จดหมายเหตุวันวลิตได้เขียนไว้ชัดเจนว่า วัดนี้ตั้งอยู่ระหว่างวัดหน้าพระเมรุและวัดหัสดาวาส เยื้องไปข้างหลัง” เสียดายว่าท่านไม่ได้ระบุว่าฉบับที่ท่านใช้อ้างอิงนั้นเป็นฉบับไหน แต่ฉบับที่ใช้อยู่นี้ระบุตำแหน่งวัดเพียงแค่ว่า “ตรงข้ามพระราชวัง” เท่านั้น

ปัจจุบันกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ตามราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๒๓ ระบุว่าชื่อ “วัดโคก” ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัดหัสดาวาส เป็นวัดร้างเล็ก ๆ ที่มีบ้านคนอยู่ล้อมรอบ ที่น่าแปลกอีกอย่างคือตำแหน่งที่ตั้งของวัดโคกพระยานี้ไม่น่าจะเรียกว่า
“อยู่ระหว่าง” วัดหน้าพระเมรุ กับวัดหัสดาวาส เพราะวัดนี้อยู่เลยวัดหัสดาวาสไปด้านหลังทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือแล้ว

แต่อย่างไรก็ดี ยังมีอีกหลายตอนที่เกี่ยวกับการ “มล้าง” ในจดหมายเหตุวันวลิตซึ่งพูดถึงลานประหารที่มีลำน้ำอยู่ข้าง ๆ เช่นตอนที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองสั่งประหารพระราชมารดาของสมเด็จพระอาทิตยวงศ์ ว่า “คร่าตัวพระนางไปริมฝั่งน้ำ” กับอีกตอนที่เป็นการขุดรากถอนโคนบรรดาพระราชโอรสที่ยังเหลืออยู่


“พระองค์จึงให้นำเจ้าชายไปที่หน้าวัดพระเมรุโคกพญาอันเป็นที่ซึ่งกษัตริย์และเจ้านายองค์อื่น ๆ ถูกสำเร็จโทษ ด้วยทรงตั้งพระทัยยที่จะให้ประหารเจ้าชายทั้งสองเสียโดยวิธีเดียวกันพระอัยกีองค์เดียวกันของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งทรงเป็นผู้ทักท้วงในการประหารชีวิตเป็นส่วนมาก พร้อมทั้งมเหสีเอก ๒ องค์และพระพี่นาง ๒ องค์ ของเจ้าชายทั้งสอง ทรงเพ็ดทูลขอความกรุณาให้แก่เจ้าชาย แต่พระเจ้าแผ่นดินไม่ฟังเสียง จนกระทั่งพระมารดาทรงขู่ว่าจะกระโดดลงไปในแม่น้ำ และพระมเหสีทั้งสองเตรียมเสวยยาพิษ…”


เช่นเดียวกับในหนังสือรายงานละเอียดและถูกต้อง เกี่ยวกับการปฎิวัติอันยิ่งใหญ่ และมหัศจรรย์ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ในพระราชอาณาจักรสยาม (A Full and True Relation of The Great and Wonderful Revolution That happened lately in the Kingdom of Siam) ไม่ปรากฎนามผู้เขียนพิมพ์ครั้งแรกในปีพุทธศักราช ๒๒๓๓ ประเทศอังกฤษ กล่าวถึงภายหลังจากที่สำเร็จโทษว่า “แล้วให้โยนพระศพลงไปในแม่น้ำ”


นอกจากนี้ยังมีการ “มล้าง”
อีกหลายครั้งหลายหนที่ใช้วิธี “ถ่วงน้ำ”

เป็นไปได้หรือไม่ว่า “โคกพญา” อันเป็นที่สำเร็จโทษนั้น น่าจะอยู่ติดลำน้ำ

วัดหน้าพระเมรุนั้นมีคลองเมืองอยู่ทางด้านทิศใต้หน้าวัดกับคลองสระบัวอยู่ทางด้านทิศตะวันออก แต่ “วัดโคกพระยา” นั้นอยู่บนที่ดอนไม่มีลำน้ำสายไหนไหลผ่าน ซึ่งชื่อ “วัดโคก” ตามที่ชาวบ้านเรียกนั้นก็ถือว่าเป็นคำสามัญที่ใช้เรียกวัดที่อยู่บนที่ดอนโดยทั่วไป

มาถึงตรงนี้ก็เกือบจะเชื่อแล้วว่า “วัดโคกพระยา” ก็คือ “วัดหน้าพระเมรุ” นั่นแหละ ซึ่งเป็นการเรียกอย่างลำลองตามสถานที่ตั้ง แต่ก็ยังติดปัญหาอีกหลายอย่าง คือวัดหน้าพระเมรุเป็นวัดใหญ่ เป็นวัดสำคัญ มีมาแต่ต้นกรุงศรีอยุธยา (ตามความในพงศาวดารเหนือ) คนจดพงศษวดารไม่น่าจะเรียกเป็นอย่างอื่นได้ กับข้อความในจดหมายเหตุวันวลิตอีกตอนหนึ่งที่ระบุว่าเป็น “วัดปรักหักพังรกร้างวัดหนึ่ง ชื่อว่าวัดพระเมรุโคกพญา”

วัดหน้าพระเมรุไม่น่าที่จะถึงขั้นปรักหักพังในสายตาของวันวลิต เพราะเป็นวัดสำคัญในงานพิธีพระเมรุของพระมหากษัตริย์

ที่อุตส่าห์ร่ายยาวมาขนาดนี้ก็เพราะยังเชื่อไม่หมดใจว่าวัดโคกพระยาที่กรมศิลปากรไปปักป้ายนั้น “ชวนให้สงสัยว่าจะเป็นวัดโคกพระยาจริงหรือไม่” เป็นอันว่ายังหาข้อยุติไม่ได้และไม่ต้องการที่จะ “เดาแปลง” ว่า “วัดโคกพระยา” อยู่ที่ไหนกันแน่ ?


นายแวงนั่งทับตักขุนดาบ ขุนผู้ใหญ่ไปนั่งดู

ทำไมนายแวงต้องไปนั่ง “ทับตัก” ขุนดาบด้วย ไม่มีที่ว่างอื่นจะนั่งแล้วหรือไง ทำไมจึงมีข้อกำหนดที่พิสดารขนาดนี้ข้อนี้จนด้วยเกล้า ขออนุญาตหลับตกนึก แล้ว “เดาแปลง” เอาดื้อ ๆ ว่า ในที่ประหารนั้นนายแวงมีหน้าที่เป็นผู้คุม มากำกับดูแลการสำเร็จโทษให้เป็นไปตามพระอาญา ส่วนขุนดาบนั้นก็ต้องมาทำหน้าที่ป้องกันเหตุร้ายที่อาจจะเกิดขึ้น เช่นการชิงตัวหรือการบุกเข้าทำบายพิธีโดยฝ่ายที่ยังจงรักภักดีอยู่ ทางด้านขุนผู้ใหญ่ก็ไปนั่งเป็นประธาน สักขีพยาน เพื่อจะนำความไปกราบทูลว่าทุกอย่างเป็นไปตามพระบัญชาแล้ว

ทีนี้ระหว่างการทุบ หรือตีด้วยท่อนจันทน์นั้น ย่อมก่อให้เกิดภาพและเสียงที่น่าสลดหดหู่อยู่ไม่น้อย บรรดานายแวง และขุนดาบที่นั่งแถวล้อมวงเป็น รปภ.อยู่นั้น ต่างก็มีดาบเตรียมป้องกันภัยอยู่พร้อม หากคนใดคนหนึ่งในกลุ่มนี้เกิดอาการทนไม่ไหว สงสารขึ้นมาจับใจ หรืออาจจะยังมีความจงรักภักดี กับอดีตพระมหากษัตริย์ หรือพระราชกุมารอยู่ อาจจะคิดลุกขึ้นมากระทำการอย่างใดยอ่างหนึ่งอันเป็นการขัดขวางเพชฌฆาตไม่ให้ลงมือหรือคิดจะชิงองค์พระมหากษัตริย์ขึ้นมา ก็ย่อมเป็นไปได้ ดังนั้นการ “นั่งทับตัก” หรือจริง ๆ แล้วอาจจะนั่งชิดกันอย่างมาก ทำให้นายแวงและขุนดาบสามารถระวังป้องกันเหตุร้าย หรือ “คุมเชิง” จากอีกฝ่ายหนึ่งได้ทันท่วงที ถ้าคิดจะ “ลุกยืน” ขึ้นมากระทำการดังกล่าว

ตามบันทึกก็มักจะเกิดเหตุการณ์สยดสยองอยู่บ่อยครั้งในการสำเร็จโทษ บางครั้งอาจจะมีเสียงร้องอย่างโหยหวนด้วยความเจ็บปวด และถ้ายิ่งตีครั้งไม่อยู่ ต้องตี หรือทุบซ้ำหลาย ๆ ครั้ง ยิ่งทำให้เกิดความเวทนาต่อผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นอย่างมาก นายแวง และขุนดาบเป็นกลุ่มคนที่อยู่ใกล้ชิดที่สุดจึงจำเป็นต้องมีการป้องกันเรื่องคาดไม่ถึงไว้ก่อน


หมื่นทลวงฟันกราบ ๓ คาบ

อันนี้ไม่มีปัญหา เป็นการขอสมาลาโทษตามปกติของเพชฌฆาตก่อนลงมือ ว่าที่ทำไปนี้ทำไปด้วยเป็นหน้าที่ บังคับ ขออย่าได้ถือโทษ อาฆาตแค้นกันเลย


ตีด้วยท่อนจันทน์แล้วเอาลงขุม

ในกฎมณเฑียรบาลกำหนดว่าให้ตี หนังสือบางเล่มก็บอกว่าตี บางเล่มก็บอกว่าทุบ ข้อนี้อาจทำให้ “ภาพ” ของการสำเร็จโทษแตกต่างกันได้เหมือนกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ว่าตีหรือทุบ ก็อยู่ใน “คอนเซ็ปต์” เดียวกัน คือ เลือดของกษัตริย์จะตกถึงพื้นดินไม่ได้

กฎมณเฑียรบาลยังไม่ได้กล่าวถึงขั้นตอนสำคัญตอนหนึ่งคือ ก่อนที่จะตีหรือทุบนั้น ท่านให้จับใส่ถุงแดงก่อน ทั้งนี้หลักใหญ่คือ ป้องกันไม่ให้มันผู้ใดแตะต้อง หรือสัมผัสองค์พระมหากษัตริย์ พระราชกุมาร หรือพระมเหสีอันเป็นการผิดข้อห้ามตามโบราณราชประเพณี โดยป้องกันทั้งการอัญเชิญเสด็จไปยังแดนประหาร และการอัญเชิญพระศพหลังการประหาร ผลพลอยได้ตามมาก็คือ ถุงแดงนี้จะช่วยซับพระโลหิต ไม่ให้เล็ดลอดออกมาถึงพื้นดินเป็นชั้นแรกอีกด้วย


ทีนี้ก็มาถึงตอนสำคัญของเรื่อง คือตี
หรือทุบตรงไหน ทำอย่างไร

ถ้าว่ากันตามกฎมณเฑียรบาลท่านไม่ได้กล่าวไว้ละเอียดถึงข้อนี้ ในพงศาวดารฉบับต่าง ๆ ก็กล่าวไว้ต่างกัน ตามแต่ที่ได้รับฟังมา เพราะเชื่อว่าคงไม่มีใครได้เห็นพิธีกรรมนี้กับตาจริง ๆ และการสำเร็จโทษคงไม่ได้ทำเป็นการเอิกเกริก เนื่องจากต้องป้องกันผู้ที่ยังมีใจภักดีอยู่ตามที่กล่าวข้างต้น ต่างจากนักโทษประหารสามัญที่ทาง-การต้องการประจาน และมิให้คนเอาเป็นเยี่ยงอย่างจึงมักจะทำที่ตะแลงแกง หรือสี่แยก มี “ไทยมุง” ได้ตามสะดวก


วันวลิตพูดถึงตอนนี้ไว้อย่างนี้

“ทุบที่พระนาภี” คือตรงท้อง ซึ่งกว่าจะสิ้นพระชนม์คงต้องทรมานอย่างมาก แต่ในพระราชพงศาวดารของวันวลิตอีกเปมือนกันบอกว่า “ตีที่พระอุระ” คือหน้าอก ต่างกันทั้งตำแหน่ง และวิธีการ สรุปในเบื้องต้นจากวันวลิตคือ ไม่ตีก็ทุบ ที่ท้องหรือหน้าอก


ลาลูแบร์

บันทึกไว้โหดร้ายกว่าว่า “เอาท่อนจันทน์ทิ่มเขาในพระอุทร” ลักษณะอาการของการทิ่มนั้นเป็นไปได้หรือไม่ว่าคือการทุบของวันวลิต ตำแหน่งตรง-กันคือ พระนาภี กับพระอุทร คือที่ท้อง

ในหนังสือรายงานละเอียดและถูกต้อง เกี่ยวกับการปฎิวัติอันยิ่งใหญ่ ฯ กล่าวถึงตอนนี้ว่า

“ทุบพระเศียรเสียด้วยท่อนไม้ใหญ่อันมีกลิ่นหอม”

ส่วนเอกสารในชั้นหลังก็พูดถึงตอนนี้แตกต่างกันออกไป คือ


ปาลเลกัวซ์ บอกว่า

“ใช้ไม้จันทน์ขนาดใหญ่สองท่อนทุบต้นพระศอ” คือทุบที่ต้นคอ ซึ่งตรงกับพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ที่ว่า “การประหารพระราชวงศ์จะต้องใช้ทุบที่ต้นพระศอ” พระองค์จุล ฯ ได้ทรงสอบทานเรื่องนี้กับแพทย์ชาวอังกฤษถึงผลของการทุบที่ต้นคอได้ความว่า ผู้ถูกทุบจะตายอย่างรวดเร็วโดยไม่รู้สึกเจ็บแต่อย่างใด


ในคำให้การชาวกรุงเก่า

ได้พูดถึงการสำเร็จโทษพระศรีสิงห์ (พระศรี-ศิลป์) ผู้คิดกบฎต่อสมเด็จพระนารายณ์ว่า “เอาท่อนจันทน์ทุบจนละเอียด”

แม้จะพอเห็นราง ๆ ว่า เพชฌฆาตต้องทำอย่างไร แต่ก็ยังมีข้อมูลที่สับสนอยู่ในตำแหน่งที่ตี หรือทุบ ดังนั้นต้องพิจารณาเพิ่มเติมถึงลักษณะของ ท่อนจันทน์และท่าทางของผู้ถูกสำเร็จโทษมาประกอบกัน



ลักษณะของท่อนจันทน์

ลักษณะของท่อนจันทน์นั้นคงต้องเป็นท่อนกลม ไม่มีเหลี่ยมมุม หรือคม ที่จะบาดผู้ถูกสำเร็จโทษให้เลือดออก ปัญหาอยู่ที่ขนาด และรูปร่าง ว่าเป็นอย่างไร

ลาลูแบร์ไม่ได้อธิบายถึงลักษณะรูปร่างของท่อนจันทน์เพียงแต่บอกว่า “ไม้ชนิดนี้มีกลิ่นหอม และถือกันว่าเป็นของสูง” เช่นเดียวกับวันวลิตที่บอกแต่เพียงว่าเป็นท่อนจันทน์

แต่ในหนังสือรายงานละเอียดและถูกต้อง เกี่ยวกับการปฎิวัติอันยิ่งใหญ่ ฯ บอกลักษณะไว้ชัดเจนขึ้นมาหน่อยว่าเป็น “ท่อนไม้ใหญ่อันมีกลิ่นหอม” ใหล้เคียงกับปาลเลกัวซ์ที่บอกว่าเป็น

“ไม้จันทน์ขนาดใหญ่สองท่อน”

เหตุที่เป็น ๒ ท่อนก็อาจจะเป็นไม้สำรอง ป้องกันความผิดพลาด เช่นเดียวกับการตัดคอนักโทษทั่วไปที่จำเป็นต้องมีดาบหนึ่ง ดาบสอง หรือไม่ก็ปาลเลกัวซ์นั้นเก็บความมาจากบาทหลวงเดอะเบส ซึ่งเข้ามากรุงศรีอยุธยาตอนปลายแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ ความว่า

“…ใช้ท่อนไม้จันทน์สองท่อนบีบอัดเสียให้สิ้นพระชนม์ อย่าให้พระโลหิตตกต้องถึงแผ่นดินได้…”

ดูเหมือนว่าท่อนจันทน์ที่ใช้ในการสำเร็จโทษนั้นจะมีขนาดใหญ่ แต่จะใหญ่ขนาดไหนนั้นคงต้องดูวิธีใช้งานประกอบด้วยหากพิจารณาจากคำขยายคำว่าไม้จันทน์ขนาด “ใหญ่” ก็น่าจะสันนิษฐานได้ว่าขนาดต้องใหญ่กว่าปกติ เทียบกับเดี๋ยวนี้คือใหญ่กว่ากระบองตำรวจหรือไม้เบสบอล

ยังมีการบ่งบอกลักษณะของท่อนจันทน์ที่แตกต่างออกไปจากนี้ คือในพระราชพงศาวดารฉบับบริติชมิวเซียม ในตอนหนึ่งเรียกไม้จันทน์ที่ใช้สำเร็จโทษว่า “ไม้ค้อนท่อนจันทน์” ในที่นี้คงจะไม่ได้มีรูปร่างเหมือนค้อนตอกตะปู แต่คำ “ไม้ค้อน” นั้นพจนานุกรมอธิบายว่า ซื่อไม้ที่ใช้เป็นเครื่องตี เช่น ตะพด เรียกว่า ไม้ค้อน คือปลายด้านหนึ่งจะใหญ่กว่าอีกด้านหนึ่ง “ไม้ค้อนท่อนจันทน์” ก็น่าจะมีลักษณะเหมือนสากตำ-ข้าว หรือไม้เบสบอล นั่นเอง เมื่อเอาไปรวมกับ “ขนาดใหญ่” สากตำข้าวน่าจะใกล้เคียงกับกรณีนี้มากกว่า

ส่วนลักษณะของไม้จันทน์ที่อธิบายแตกต่างจากที่อื่นอย่างสิ้นเชิง คือโคลงปราบดาภิเษก เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย อันเป็นบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ รัชกาลที่ ๓ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ได้ทรงบัญชาการปราบกบฎเจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิต พระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ท้ายสุดได้ทรงสำเร็จโทษเจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิตด้วยท่อนจันทน์ โคลงพระราชนิพนธ์นี้กล่าวถึงท่อนจันทน์แตกตางจากที่อื่นคือ


ใครฤาไป่คิดคุณ ขบถต่อ ท่านนา

แม่นจะปลงชีพด้วย ดาพไม้จันทน์จริง


โคลงพระราชนิพนธ์นี้อาจจะเปรียบเปรย “ท่อนจันทน์" เป็น “ดาบ” เพื่อให้เกิดภาพเหมือนกันลักษณะการประหารนักโทษสามัญ ที่ใช้การตัดคอด้วยดาบก็เป็นได้

เพื่อให้ได้ลักษณะของท่อนจันทน์ชัดเจนขึ้น คงต้องพิจารณาวิธีการสำเร็จโทษประกอบด้วย เพื่อดูความเหมาะสม ประสิทธิภาพ และความเป็นไปได้ของ “อุปกรณ์” ชิ้นนี้


สำเร็จโทษในท่านั่งหรือนอน ?

ตามที่เราเคยเห็นภาพการประหารนักโทษสามัญนั้น นักโทษจะอยู่ในท่านั่ง ผูกติดกับหลัก พนมมือ รอดาบจากเพชฌฆาต แต่การสำเร็จโทษนั้น วันวลิตบอกว่า “เพชฌฆาตให้พระองค์นอนลงบนผ้าแดง” แล้วจึงทุบด้วยท่อนจัทน์ ซึ่งก็ดูสมเหตุสมผล เพราะผู้ที่ถูกนำมาสำเร็จโทษนั้นจะอยู่ในถุงผ้าสีแดงอยู่แล้ว คงจะเป็นการลำบากที่จะต้องมัดพระองค์ติดกับหลักทั้งถุงผ้าเช่นนั้น

ลาลูแบร์กล่าวไว้สอดคล้องกันคือ

“จับพระองค์ให้บรรทมเหนือเจียมสักหลาด”

ดังนั้น “ให้พระองค์นอนลง” ก็น่าจะหมายถึงจับพระองค์นอนลงบนเสื่อ และเบาะที่รองอยู่ เพื่อป้องกันพระโลหิตตกถึงพื้น เมื่อผู้ถูกสำเร็จโทษอยู่ในท่านอน ก็เป็นการลำบากที่หมื่นทลวงฟัน เพชฌฆาตในที่นั้นจะใช้การตี หรือฟาด เหมือนกับการใช้ดาบกับนักโทษที่ถูกผูกติดกับหลัก

กิริยาที่เหมาะสมในสถานการณ์นี้ก็น่าจะได้แก่การทุบหรือทิ่ม โดยที่ไม้นั้นตั้งฉากกับพื้นตามคำบรรยายของลาลูแบร์

“เอาท่อนจันทน์ทิ่มเขาในพระอุทร”

ในกรณีนี้พูดให้ง่ายคือลักษณะเหมือนตำข้าวนั่นเอง แล้วอาจจะกด หรือบดตามคำของบาทหลวงเดอะเบส

“บีบอัดเสียให้สิ้นพระชนม์”

ถ้าหากจะต้องตีโดยที่ไม้จันทน์ขนานกับพื้น ดูเหมือนว่าแรงและน้ำหนักจะน้อยกว่าการ “ตำข้าว” ซึ่งนั่นจะทำให้พระองค์ทรมานอย่างแสนสาหัส นอกจากจะตีที่พระศอ ซึ่งจะทำให้สิ้นพระชนม์อย่างรวดเร็ว

แต่การตีที่พระศอ หรือต้นคอนั้น ยังมีปัญหาว่าจะขัดกับท่านอน ซึ่งก่อนที่เจ้าพนักงานจะอัญเชิญเสด็จลงถุงแดงนั้นจะต้องมีการพันธนาการอย่างแน่นหนา โดยปกตินักโทษประหารจะถูกพันธนาการให้อยู่ในท่าพนมมือ ลาพระลาเจ้าก่อนตายแล้วถ้าต้องพันธนาการพระองค์ในท่าพนมมือ การจะให้นอนคว่ำเพื่อให้เพชฌฆาตตีพระศอนั้น ก็จะติดมือที่พนมอยู่ การจับนอนหงาย มือที่พนมอยู่นี้จะทำให้ปิดตำแหน่งพระอุระไปด้วยเช่นกัน จึงเหลือพื้นที่ที่พระนาภี และพระเศียรที่พระเศียรนั้นเป็นไปได้ แต่ไม่กล้าคิดถึงข้อนี้เพราะโหดไป

เพชฌฆาตจะกล้าขนาด “ตีหัว” พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นของสูงที่สุดเชียวหรือ

ในที่นี้จึงขอ “เลือกที่จะเชื่อ” ลาลูแบร์ไว้ก่อน คือการทิ่ม หรือทุบที่พระอุทร ลักษณะเหมือนตำข้าว


นายแวงทลวงฟันผู้ใดเอาผ้าธรงแลแหวนทองโทษถึงตาย

ในที่นี้เท่ากับว่าห้ามแกะถุงแดงเลยทีเดียว คือเมื่อเสร็จพิธีแล้วให้รีบฝังโดยเร็ว ห้ามผู้ใดขโมยทรัพย์สมบัติของผู้ถูกสำเร็จโทษเด็ดขาด ในมาตราที่ว่าด้วยเรื่องการสำเร็จโทษพระสนมนั้นถึงกับห้ามใครเห็นศพ “ถ้ามล้างพระสนมใส่ถุงเสีย อย่าให้เหนศภ ถ้าเหนศภเป็นโทษผิดอายการ”


เมื่อตีนั้นเสื่อขลิบเบารอง

อันนี้เป็นการป้องกันพระโลหิตไหลลงสู่แผ่นดิน พระราชพงศาวดารบางฉบับว่าเป็นผ้าแดงบ้าง พรมแดงบ้าง ลาลูแบร์พูดถึงเสื่อขลิบเบาะรองนี้ว่า เป็นเจียมสักหลาด หรือพรมสักหลาดนั่นเอง “นับว่าเป็นกรณีที่สำคัญจริง ๆ ด้วยว่าผ้าสักหลาดขนแกะนั้นหายาก และมีราคาแพงมาก”

ในกรณีนี้ก็คงใช้ “อุปกรณ์” ที่แตกต่างกันออกไปแล้วแต่เจ้าพนักงานจะจัดเตรียม แต่ต้องเป็นอุปกรณ์ที่สมพระเกียรติในฐานะของพระมหากษัตริย์ หรือพระราช-โอรส



ภาพเต็ม ๆ
ในฉากการสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์

ทีนี้เราลองมาปะติดปะต่อเรื่องราวทั้งหมดใหม่อีกที ตั้งแต่ต้นจนจบ แล้วเรียบเรียงใหม่ เพื่อจะได้เห็นภาพเต็ม ๆของการสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทร์

เมื่อมีพระมหากษัตริย์ พระราชโอรส หรือพระราชวงศ์ ต้องพระอาญาถึงชีวิต ก็จะมีการกุมตัวไปประหารชีวิตทันที หรืออาจจะมีการกุมขังรอหมาย ที่กำหนดวันลงพระอาญาอีกที ระหว่างนี้อาจจะมีการทรมานในรูปแบบต่างๆ ได้คล้ายกับกรณีเจ้าฟ้ากุ้งที่เบื้องต้นถูกลงพระอาญาให้เฆี่ยนก่อนที่จะลงพระอาญาให้สำเร็จโทษ แต่ก็สิ้นพระชนม์ตั้งแต่การเฆี่ยนเสียก่อน

จนกระทั่งมีหมายสั่งสำเร็จโทษเป็นที่แน่นอนแล้ว เจ้าพนักงานจึงจัดเตรียมสถานที่ บริเวณใกล้เคียงกันเจ้าพนักงานขุดหลุมรอฝังพระศพ

ย่ำรุ่ง “ให้นิมนต์พระสงฆ์บังสกุลร้อยหนึ่ง ให้ธูปเทียนสมา…”

บริเวณพิธีจัดเตรียม “เสื่อขลิบเบาะรอง” ณ ที่นั้นนายแวงและขุนดาบนั่ง “ทับตัก” ล้อมวง มีขุนผู้ใหญ่นั่งเป็นประธาน

เมื่อได้เวลากำหนด เจ้าพนักงานพันธนาการอย่างแน่นหนา แล้วอัญเชิญเสด็จลงถุงสีแดง นำมายังแดนประหาร เมื่อถึงแดนประหาร เจ้าพนักงานอัญเชิญพระองค์นอนลงเบาะรอง

หมื่นทลวงฟันไหว้ครู แล้วกราบถวายบังคม ขอขมาต่อเจ้าผู้ต้องพระอาญา แล้วจึงทุบด้วยท่อนจันทร์ที่พระนาภีจนสิ้นพระชนม์ ณ ที่นั้น

เสร็จแล้วเจ้าพนักงานอัญเชิญพระศพบรรจุลงใน “ขันสาคร” พร้อมท่อนจันทร์ แล้วนำไปฝัง หลังจากนั้นกำหนดให้มีคนเฝ้าหลุมพระศพอยู่ ๗ วัน จึงแล้วเสร็จการสำเร็จโทษตามประเพณี

เหตุที่ต้องเฝ้าพระศพอยู่ ๗ วันนั้น ก็เพื่อให้แน่ใจว่าสิ้นพระชนม์จริง และป้องกันฝ่ายที่ยังจงรักภักดีมาขุดพระศพไปเพราะเคยมีกรณี
“ฝังทั้งเป็น” แล้วมีการลักลอบช่วยเหลือจากผู้ที่เป็นฝ่ายเดียวกัน

สำหรับพระศพจะยังคงถูกฝังอยู่ที่เดิมนั้นตลอดไป ไม่มีการขุดขึ้นมาทำตามพิธีทางศาสนาแต่อย่างใด นอกเสียจากว่าพระราชวงศ์ของพระองค์รุ่นต่อมากลับขึ้นมามีอำนาจใหม่ จึงจะมีการขุดพระศพขึ้นมากระทำการตามราชประเพณีต่อไป ซึ่งโอกาสเช่นนี้เป็นไปได้น้อยมาก เนื่องจากว่าการสำเร็จโทษแต่ละครั้งนั้น มักจะเป็นการขุดรากถอนโคนจนสิ้นสายสกุล เพื่อป้องกัน “ศึกสายเลือด” นั่นเอง

เพราะฉะนั้นหากกรมศิลปากรมั่นใจว่าวัดที่ไปปักป้ายนั้นว่าเป็น วัดโคกพระยา ที่ใช้สำเร็จโทษจริง ก็น่าจะมีพระศพที่ยังไม่ได้ขุดขึ้นมากระทำตามราชประเพณีอีกหลายพระองค์ จึงเป็นการสมควรที่จะได้มีการขุดค้นเพื่อนำพระศพขึ้นมาบำเพ็ญกุศล และจัดการตามพิธีให้ถูกต้องต่อไป

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ทำได้เลย และสำคัญไม่น้อยกว่าเรื่อง “รักชาติ” อื่นๆที่ทำกันอยู่



การสำเร็จโทษด้วยวิธีอื่น

นอกจากการสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทร์แล้ว ยังมีวิธีการอื่นที่ใช้อีก เช่น ขุดหลุมแล้วให้อดอาหารอยู่ในหลุมนั้น การฝังทั้งเป็น ถ่วงน้ำ ทั้งหมดนี้ยังอยู่ใน “คอนเซ็ปต์” ที่ป้องกันพระโลหิตตกถึงแผ่นดินเช่นกัน ส่วนการกระทำที่ไม่ได้ยึดถือแนวความคิดนี้ก็มีเช่นกัน พระมหากษัตริย์บางพระองค์ พระราชโอรสหลายพระองค์ ก็ถูกตัดคอเช่นเดียวกับนักโทษสามัญได้เหมือนกัน

การสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทร์นี้มีมาตั้งแต่ต้นกรุงศรีอยุธยา แม้หลักฐานจะไม่แน่ชัดนัก แต่ก็เชื่อได้ว่า พระเจ้าทองลัน กษัตริย์องค์ที่ ๔ ของอยุธยา พระราชโอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิราช (ขุนหลวงพะงั่ว) กษัตริย์สายสุพรรณ เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่ถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทร์ โดยพระราชโองการของสมเด็จพระราเมศวร

การสำเร็จโทษด้วยวิธีนี้ยังคงใช้สืบมาจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จนเมื่อการเมืองในราชสำนักสงบเรียบร้อย จึงไม่มีการประหัตประหารกันด้วยการนี้อีก ส่วนพระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้ายที่ถูกสำเร็จโทษ แต่ไม่ได้ใช้ท่อนจันทร์ตามกฎมณเฑียรบาล คือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงถูกตัดพระเศียร ที่หน้าป้อมวิชัยประสิทธิ์หน้าพระราชวังของพระองค์เอง

ดังที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า


“...จึงมีรับสั่งให้เอาตัวไปประหารชีวิตสำเร็จโทษเสีย เพชฌฆาตกับผู้คุมก็ลากเอาตัวขึ้นแคร่หามไปกับทั้งสังขลิกพันธนาการเจ้าตากจึงว่าแก่ผู้คุมเพชฌฆาตว่า ตัวเราก็สิ้นบุญจะถึงที่ตายอยู่แล้ว ช่วยพาเราไปแวะเข้าหาท่านผู้สำเร็จราชการ (คือสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ) จะขอเจรจาด้วยสักสองสามคำ ผู้คุมก็ให้หามเข้ามา ได้ทอดพระเนตรเห็น จึงโบกพระหัตถ์มิให้นำมาเฝ้า ผู้คุมและเพชฌฆาตก็หามออกไปนอกพระราชวัง ถึงหน้าป้อมวิชัยประสิทธิ์ก็ประหารชีวิตตัดศรีษะถึงแก่พิราลัย

ทั้งหมดนี้คือฉากจบของพงศาวดารในแต่ละตอน การสำเร็จโทษก็ได้จบบริบูรณ์ไปนานแล้วเช่นกัน



ปรามินทร์ เครือทอง

นิตยสารศิลปวัฒนธรรม
ปีที่ 22 ฉบับที่ 6 เษายน 2544


คัดโดย : ขุนนางอยุธยา

ที่มา : Historical and Archaeological Webboard

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

ไม่มีความคิดเห็น: